แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ หยุดเดินกันเสียที หาที่นั่งตรงใดตรงหนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจนแล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัด ตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๔ เดือนสิงหาคม วันศุกร์ที่ ๑๒ นี้เป็นวันใหญ่ของเมืองไทย เพราะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ชาวบ้านชาวเมืองแสดงความปลื้มอกปลื้มใจในการที่พระองค์ได้มีพระชนมายุมาถึง ๖๒ ปี ปีหน้าก็ ๖๓ ว่ากันไปตามลำดับ ตามวัยของสังขารที่เปลี่ยนแปลง การเป็นอยู่ของพระราชินีนาถเป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่ประชาชน ประชาชนจึงได้แซ่ซ้องสาธุการ อวยพรให้ท่านมีพระอนามัยสมบูรณ์ มีความสุขความเจริญอยู่คู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะได้เป็นหลักเป็นที่พึ่งของประชาชนชาวไทยต่อไป ญาติโยมทั้งหลายก็คงจะได้แผ่เมตตา อวยพรให้พระองค์ท่านมีความสุข ความเจริญเสร็จไปแล้ว วันนี้เราก็มาวัดกันตามที่เคยมา เพราะวันอาทิตย์ที่วัดชลประทานมีการแสดงธรรม มีการพูดชี้แนวทางชีวิตให้ญาติโยมได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจแล้วจะได้นำไปแก้ไขปัญหาชีวิตต่อไป เพราะชีวิตของคนเรานั้นมีปัญหา คือมีเรื่องอะไรต่างๆเกิดขึ้นในชีวิตบ่อยๆ เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันก็เป็นความไม่สบายใจบ้าง เป็นความสบายใจบ้าง สุดแล้วแต่เครื่องปรุงแต่ง ถ้าสบายใจก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่สบายใจก็มีปัญหา มีความกลุ้มใจ มีความเดือดร้อนใจกันด้วยประการต่างๆมีเยอะแยะ มีคนโทรศัพท์มา ถามเรื่องความทุกข์เรื่องปัญหาบ่อยๆ ก็ชี้แจงไปให้เกิดความเข้าใจให้รู้จักตัวปัญหาให้รู้เหตุของปัญหา แล้วให้รู้ว่า เราจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวัน การแก้ปัญหานั้นต้องอาศัยธรรมะเรื่องเดียว เรื่องอื่นช่วยไม่ได้ เราต้องแก้ด้วยธรรมะ จึงต้องศึกษาธรรมะ ทำความเข้าใจในหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อหยิบไปใช้ทันท่วงที เหมือนเรามีกองของใช้พร้อมอยู่ในบ้าน มีอะไรเกิดขึ้นเราก็หยิบใช้ได้ เพราะเราวางไว้เป็นที่เป็นทาง และเราเข้าใจว่าการแก้นั้นทำอย่างไร หยิบใช้ถูก เมื่อหยิบใช้ถูกเราก็คล่องตัวในการที่จะแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเด็กน้อยๆ เช่นเป็นนักเรียนก็มีปัญหาเกิดขึ้น เราก็ต้องรู้จักว่าจะแก้อย่างไร ต้องใช้หลักธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องช่วยในการแก้ปัญหา ความจริงเรื่องการแก้ปัญหานั้นเราจะต้องแก้เองไม่ใช่ ให้คนอื่นมาช่วยแก้ให้ ผู้ใดทำเรื่อง ผู้นั้นก็แก้เรื่องนั้น แต่ว่าผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องก็คือช่วยชี้แนะแนวทางให้เราเข้าใจ ให้รู้ว่าปัญหามันคืออะไร เหตุของปัญหาคืออะไรและเราควรจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ทำได้ทั้งนั้น
พระเป็นผู้ช่วยแก้ เป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้คอยชี้คอยบอกแนวทางให้แก่ เรา เราได้รับคำบอกแล้วก็ต้องเอาไปพิจารณาศึกษาให้เข้าใจ เพื่อตัวของเราเองว่าเข้าใจเรื่องถูกต้องแล้ว เราก็เอาไปใช้แก้ปัญหา เหมือนเรารู้จักวิธีทำกับข้าว ถ้าเราไม่ทำจะเอากับข้าวที่ไหนมากิน เราจึงต้องไปลองทำดู ทำดูแล้วชิมดูว่ารสมันพอใช้ได้ไม๊ อร่อยไม๊ เปรี้ยวไปไม๊ เค็มไปไม๊ เผ็ดจัดไปไม๊ แล้วต้องแก้อย่างไร เราทำเป็น ทำเป็นก็แก้ไป เราได้รับประทานอาหารดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ธรรมะนี่ก็เป็นอาหารใจ เป็นอาหารใจที่เราจะต้องใช้อยู่ตลอดเวลา เพราะใจเรานั้น ถ้าไม่มีธรรมะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงก็จะเกิดอ่อนกำลัง ไม่มีกำลังภายในที่จะต่อสู้กับอะไรๆที่เกิดขึ้นกระทบ เราก็พ่ายแพ้ เราอยู่ในสภาพลำบาก เราจึงต้องหากำลังเตรียมไว้ เรียกว่ากำลังภายใน ก็คือ ธรรมะนี่แหละเป็นกำลังภายใน เป็นอาหารใจ เป็นแสงสว่างทางใจ เป็นยาสำหรับแก้โรคทางใจ เพราะใจเรามันอาจจะมีโรคขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ โรคทางใจก็คือโรคกิเลสนั่นเอง กิเลสคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วทำใจให้เราให้เศร้าหมอง ให้เปลี่ยนสภาพจากจิตที่ปกติ เป็นจิตที่ไม่ปกติ จิตปกติของคนเรานั้นเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า (06.50) ปภัสรเมทัง ภิคเว จิตตังตันจคู อาตันตุเก อิหุ ปเกริทัง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีปกติผ่องใสแต่เศร้าหมองเพราะสิ่งที่เข้ามากระทบ สิ่งที่มากระทบนั้นเราเรียกว่าอารมณ์ อารมณ์ ภาษาบาลีว่า อรมณัง พูดทับศัพท์ในภาษาไทยว่าอารมณ์
อารมณ์คือสิ่งที่เข้ามากระทบ เข้ามาทางตาก็เรียกว่า รูปารมณ์ เข้ามาทางหูเรียกว่า สัททารมณ์ เข้ามาทางจมูกเรียกว่า คันธารมณ์ เข้ามาทางลิ้นเรียกว่า รสารมณ์ เข้ามาทางกายเรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์ แล้วใจเป็นผู้รับรู้เรียกว่าธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์คือความรู้สึกเกิดขึ้นในใจของเรา รู้สึกเป็นสุขก็ชอบใจ รู้สึกเป็นทุกข์ก็ไม่ชอบใจ หรือรู้สึกเฉยๆ กลางๆ ไม่ชอบไม่ชัง ไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในใจของเรา เพราะสิ่งภายนอกมากระทบ เพราะงั้นเราจะต้องรู้ว่าใจของเรานั้น ถ้าปกติก็ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรมากระทบก็ไม่มีอะไร ญาติโยมเคยเห็นดังแมลงมุม แมลงมุมมันชักใย ถ้าเป็นในป่าแล้วใยใหญ่โตมาก คล้ายกับเครื่องเรดาร์ ชักยาวไปใหญ่ ขึงไปรอบๆทิศ เพื่อดักสัตว์ที่ผ่านเข้ามา แล้วตัวแมลงมุมนั้นมันอยู่ตรงไหน มันอยู่ตรงกลาง ส่วนกลางของใย ที่ตรงกลางและมันก็อยู่ตรงนั้น หมอบนิ่งอยู่ตรงนั้นแต่ว่าไม่ได้หลับหรอก หมอบนิ่งเตรียมพร้อม คอยดูว่าเส้นใยด้านใหนกระทบกระเทือน พอเส้นใยด้านใหนกระเทือนก็พุ่งแปร้บไปที่นั่น แมลงตัวเล็กๆ มาชนแมลงชนแมลงใยแมลงมุม พอชนมันไปก็จับเอามาดูดเอาน้ำภายในร่างกายของตัวแมลงนั้นกินเป็นอาหาร เหลือแต่ซากแห้งๆทิ้งไว้ เราไปตามที่มีใยแมลงมุมจะเห็นว่าซากสัตว์ติดอยู่จำนวนมากมาย ส่วนเนื้อในนั้นเป็นอาหารของแมลงมุมแล้ว และเมื่อกินอาหารแล้วก็มาหมอบนิ่งต่อไป พอมีอะไรเกิดขึ้นก็ไป ด้านขวา ด้านซ้ายด้านบนด้านล่าง ไปรอบทิศ สภาพเป็นเช่นนั้นจะ แมลงมุมทำอาการอย่างไร ใจเราก็เป็นอย่างนั้น ใจเรานั้นอยู่สงบนิ่งเมื่อไม่มีอะไรมากระทบ แต่พอมีรูปกระทบตาก็ไปรับรู้ที่ตา กระทบหูก็ไปรับรู้ที่หู กระทบจมูกก็ไปรับรู้เรื่องกลิ่น กระทบลิ้นก็ไปรับรู้เรื่องรส สิ่งใดกระทบปลายประสาท ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก็ไปรับรู้ที่นั่น แล้วเอามาปรุงแต่งให้เป็นของชอบของชัง ถ้าว่าอารมณ์นั้นเป็นที่พอใจ ก็พอใจอยากได้ก็ไปกันใหญ่ ถ้าไม่พอใจก็ไม่อยากได้ อยากผลักดันให้มันออกไป ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้นทำจิตอยู่สองประการ คือชอบดึงเข้ามา ชังก็ผลักออกไป ชอบดึงเข้า ชังผลักออกไป เวลาดึงเข้ามันต้องใช้แรงงาน ผลักออกไปมันก็ใช้แรงงานเหมือนกัน มันเกิดปัญหาเกิดความเหนื่อยทางใจเป็นความทุกข์ทางใจ เพราะผลักดึงกลับเข้ามา
เหมือนเราออกกำลังกาย ผลักอะไรออกไปก็ใช้แรงงาน ดึงกลับมาก็ใช้แรงงาน ใจก็เป็นอย่างนั้น แล้วมันก็เหนื่อยๆๆใจ เหนื่อยใจนี่หนักกว่าเหนื่อยกาย เพราะว่าถ้าเราเหนื่อยกายนั้น นอนพักเสียสักครู่มันก็หาย นั่งพักก็หาย เรียกว่าเหนื่อยกายทำง่าย แต่ว่าเหนื่อยใจ หลับไปตื่นหนึ่งแล้วตื่นขึ้นมาเหนื่อยต่อไป หนักต่อไป เพราะไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง ชอบเก็บเริ่องนั้นมาครุ่นคิดนึก โกรธบ้างเกลียดบ้าง พยาบาทบ้าง อะไรๆ ต่างๆ ทำให้ใจเศร้าหมองอยู่ตลอดเวลา ไม่สงบ ไม่นิ่งกับเขาได้เลย อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นโรคแล้ว เป็นโรคทางใจ โรคทางใจคือรู้ความทุกข์ ความเดือดร้อนใจนั่นแหละ ที่มันเกิดขึ้นเพราะไม่รู้ทัน ไม่รู้เท่าต่อสิ่งเหล่านั้น ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันมาจากอะไร และมันเป็นไปอย่างไร เราไม่รู้ไม่เข้าใจ เราก็เกิดความไม่สบายใจ มีความทุกข์ เป็นอย่างนี้ ญาติโยมทั้งหลายเป็นอย่างนี้รึเปล่า เด็กน้อยๆ มีอาการเป็นอย่างนี้รึเปล่า บางทีก็นั่งหน้ามุ่ยไม่ยิ้มกับโคร ไม่พอใจใคร เพื่อนมาชวนอะไรไปเล่นก็ไม่ไปแล้ว นั่งซึมไปอย่างนั้นแหละ ผิดปกติแล้ว เรียกว่ามีโรคเกิดขึ้นในใจของเราแล้ว ถ้าเราไม่รู้จักโรคไม่รู้จักเหตุของโรค แล้วไม่รู้จักวิธีแก้ไขโรค เราก็เป็นโรคเรื่อยไป เป็นบ่อยๆ มันก็เป็นนิสัยเป็นสันดาน เราจึงเห็นคนบางคนว่ามีนิสัยอย่างนั้น มีสันดานอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ของเดิมแล้ว มันถูกปรุงถูกแต่ง ทำให้เกิดอะไรๆขึ้นในใจของเราสับสนวุ่นวายด้วยประการต่างๆ ก็เป็นความไม่สบายกายแล้วก็ไม่สบายใจ อวัยวะภายในก็ทำงานไม่เรียบร้อย กระเพาะอาหารไม่ย่อยอาหาร ลำไส้ไม่ทำงาน ท้องไส้ผิดปกติ ไม่ถ่ายตามปกติ ท้องผูก นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร มันไปกันใหญ่ๆ ที่มันไปมากอย่างนั้นก็เพราะว่าเรามีโรคที่ใจของเรา เราอึดอัดใจ ขัดใจไม่ชอบใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วมันก็กระเทือนไปหมดทั้งร่างกาย เพราะในร่างกายเรานั้นมันมีเส้นประสาทที่คอยรับรู้อะไรต่างๆ อันนี้เมื่อส่วนกลางมันเสีย ส่วนประกอบมันก็พลอยเสียไปหมด เหมือนกับเครื่องจักรในโรงงาน ถ้าตัวจักรใหญ่ตัวจักรสำคัญมันเสีย มันก็เสียหมด เดินเครื่องไม่ได้ ผลิตผลไม่ได้ เกิดความบกพร่องขึ้นด้วยประการต่างๆเป็นความเสียหาย ในชีวิตเรานี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเกิดอาการเช่นนั้นขึ้น เราก็เสียหาย หน้าตาไม่ผ่องใส จิตใจขุ่นมัว พูดไม่ถูกต้อง ทำไม่ถูกต้อง อะไรๆเขวไปหมด ยุ่งไปหมด มันก็เป็นอย่างนี้ เป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน ถ้าเราไม่รู้ไม่เข้าใจมันก็เป็นมาก เป็นมากก็อาจจะถึงแก่ความตายไปก็ได้ เพราะโรคมันรุนแรง แต่ถ้าหากว่าเราได้เรียนรู้ธรรมะไว้ เราก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง มีอะไรเกิดขึ้นเราก็รู้ ก็รู้ สิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ไม่เที่ยง ไม่เท่าไรมันก็เปลี่ยนแปลงไป มันก็ดับไปไม่มีอะไรคงทน ไม่มีอะไรถาวร เราอย่าไปตกอกตกใจเลย อย่าไปดีใจนักเลย ถึงคราวเสียก็อย่าไปตกใจ ถึงคราวได้ก็อย่าไปดีใจ ดีใจมันขึ้นเสียใจมันลง ขึ้นลงๆๆ เต้นอยู่ตลอดเวลา มันจะดีที่ตรงไหนละ ถ้าเต้นอยู่อย่างนั้น มันดีตรงที่เราสงบนิ่งไม่ขึ้นไม่ลงกับสิ่งที่มากระทบ เราเรียกว่าเป็นคนคงที่ คือไม่ยินดีและไม่ยินร้าย
ในมงคล ๓๘ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น มงคลที่สูงสุดคือ เมื่อโลกธรรมมาถูกต้อง ใจไม่หวั่นไหว ไม่หวั่นไหว ใจไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรม โลกธรรมคือ ความสุข ความทุกข์ ความนินทา สรรเสริญ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ฝ่ายดี ฝ่ายพอใจก็เรียกว่า นิทรารมณ์ คือ อารมณ์ที่พอใจ ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้ความสุขสบายใจ พอใจ แต่ว่าพอเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ไม่ชอบ ไม่ชอบใจ เราขึ้นบ้างลงบ้าง เพราะสิ่งเหล่านั้นมากระทบ แต่ถ้าเรารู้ว่าของในรูป มันมี ๘ อย่าง ฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว ฝ่ายชอบ ฝ่ายชัง ฝ่ายดีก็คือ ลาภยศสรรเสริญสุข ใครๆก็อยากได้พอใจ ฝ่ายไม่ดีก็คือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ นี่ไม่ชอบใจ สิ่งทั้งสองอย่างนี้มันกระทบเราบ้างเป็นธรรมดา ในการเดินทางนั้น เราจะต้องพบอะไรแปลกๆ ดีบ้าง สบายบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ขึ้นบ้าง ลงบ้าง แพเดินทางก็ขึ้นบ้าง ลงบ้าง ข้ามห้วย ข้ามหนอง ไปกันตามเรื่องตามราว มันเป็นอย่างนั้นในชีวิตเราก็แบบเดียวกัน บางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ บางทีก็สบายใจ บางทีก็ไม่สบายใจ บางทีก็มีเรื่องชื่นบาน บางทีก็มีเรื่องเหี่ยวแห้งมีบ่อยๆในชีวิตของเรา สิ่งเหล่านี้มันเป็นโลกธรรม แปลว่าธรรมสำหรับโลก มีอยู่แก่คนทั่วไปไม่เลือกที่รักมักที่ชัง คนมั่งมี คนยากจน คนโง่ คนฉลาด คนมีอำนาจ ไร้อำนาจ มันถูกทั้งนั้น มันถูกกระทบด้วยสิ่งนี้ทั้งนั้น มีการได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้นินทา ได้สรรเสริญ ได้สุข ได้ทุกข์ ย่อมได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่บางคนแม้สิ่งนี้เกิดขึ้นเขาเฉยๆ เขาไม่หวั่นไหว ไม่โยกโยนไปกับสิ่งนั้น นั่นเขามีความสุขแท้ แต่ว่าบางคนดีใจเมื่อได้ เสียใจเมื่อเสีย ถ้าเราดีใจเมื่อได้ เวลาเสียไปมันก็เสียใจ เราขึ้นต้นไม้ ขึ้นสิบเมตรลงกี่เมตรลองคิดดู ขึ้นสิบเมตรมันก็ลงสิบเมตรนั่นแหละ ขึ้นเท่าใด มันก็ลงเท่านั้น ไม่ใช่ว่าขึ้นสิบเมตรจะลงสองเมตรมันก็ไม่ได้ มันก็ลงสิบเมตรเท่ากัน เรายินดีเท่าใด ยินร้ายก็เท่านั้น รักมากทุกข์มาก ชอบมากก็ทุกข์มาก ไม่ว่าเรื่องอะไร สิ่งใดที่เรารักมากหมายความว่าเรายึดถือมาก เอาเป็นเจ้าของมาก เราก็เป็นทุกข์มากพราะสิ่งนั้น แต่สิ่งใดเราไม่รักก็เฉยๆ ไม่มีอะไร แต่ว่าไม่รักมันก็ยุ่งใจอีก เพราะว่าไม่ชอบไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากได้ยินเสียงไอ้คนๆนั้น แม้คนอื่นมาเอ่ยชื่อ อย่าๆเอ่ย อย่าเอ่ยชื่อฉันมันรำคาญ ไม่ชอบ หาเรื่อง หาเรื่องให้เป็นทุกข์ไม่มีอะไร นั่งอยู่ดีๆก็หาเรื่องให้เป็นทุกข์ ให้เศร้าหมองใจให้ใจขุ่นมัวด้วยประการต่างๆ อันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องในชีวิตของเราแต่ละคน เราจึงต้องเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลายว่าโลกเรานี้มันมีการได้การเสีย มีสุขมีทุกข์มีนินทา มีสรรเสริญมีอะไรปนกันไป เราจะได้อย่างเดียวก็ไม่ได้ เสียอย่างเดียวก็ไม่ได้ ในวันหนึ่งวันหนึ่งเราอาจจะได้ลาภก็ได้ เสื่อมลาภก็ได้ ได้สุขก็ได้ ได้ทุกข์ก็ได้ คนเขานินทาก็ได้ เขาติเขาว่าก็ได้ เขาชมก็ได้ สุดแล้วมีอะไรมากระทบก็ปลงไปวางไป เช่นว่าถ้าได้ลาภ ก็ลาภนี้เกิดขึ้นแก่เรา แต่ว่ามันก็ไม่เที่ยงมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ มันอาจจะสูญจะหายไปเมื่อใดก็ได้ บอกตัวเองอย่างนั้น เตรียมตัวเตรียมฐานทางจิตใจไว้ต้อนรับสถาณการณ์ เมื่อเวลาสิ่งนั้นเสื่อมไปเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้นเพราะเราได้เตรียมตัวไว้แล้ว พอสิ่งนั้นเสียไปเราก็พูดว่า เออ เหมือนที่ว่าแล้ว กูนึกแล้ว ว่ามันจะเป็นอย่างนั้น แล้วมันก็เป็นจริงๆมันไม่เป็นทุกข์เพราะเรารู้ทันรู้เท่าต่อสิ่งนั้น สภาพจิตใจเราก็ไม่หวั่นไหวโยกโยงกับสิ่งนั้น เวลาใครมาพูดชม เราก็อย่าไปหลงคำชมเขา อย่านึกว่าเป็นของหวาน กลืนเข้าไป กลืนเข้าไป มันจะเป็นลมเป็นแล้งไปตามๆกัน คำชมของคนอื่นเราก็ฟังด้วยความระมัดระวัง อยู่ดีๆมีคนมาชมเรา มันมีเรื่องแล้ว ไอ้คนนั้นมันจะมาประจบเราแล้ว จะมายืมตัง หรือจะขอความช่วยเหลือ อะไรกับเราแล้ว เราต้องเตรียมตัวไว้ว่าอย่าหลงลมปากของคนๆนั้นที่มาพูดจาอย่างนั้น ไอ้เราก็นึกว่า เดี๋ยวมันจะขออะไรเรา เดี๋ยวมันจะขอความช่วยเหลืออะไรเรา ต้องเตรียมรับสถาณการณ์ไว้ อย่าเมาเพราะถ้าเมาแล้วก็จะเสียท่า เดี๋ยวมันขอสตางค์เรา เรามันเพลินกับคำชมเราก็เลยให้ ให้ไปแล้วเสียใจ เอ๊ะไม่น่าให้เลย ให้ไปแล้วมันจะเอามาคืนรึเปล่าก็ไม่รู้ พลาดท่าแล้วอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องระวังเวลาใครมาชม มันจะมาทำอะไรเราสักอย่างแล้ว อย่าไปหลงนะ ฟังไว้เฉยๆ อย่างนี้ก็ไม่เสียหาย เวลาเขาด่าก็เหมือนกัน บางคนมันไม่ชอบมันก็ด่า คนในโลกมันก็อย่างนั้นละโยม เวลาชอบมันก็ชม เวลาไม่ชอบมันก็ด่า คนๆเดียวกัน ถูกชมถูกด่าจากคนๆเดียวกันได้เหมือนกัน
เช่น นาย ก ชม นาย ข ก็ได้ แต่บางเวลา นาย ก ก็ด่า นาย ข เหมือนกัน ติ นาย ข ได้เหมือนกัน เราจึงนึกว่ามันชมเราวันนี้แต่ว่าวันอื่นมันอาจจะด่าเรา ติเราก็ได้ เราอย่าถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไรเลย ถือแต่เพียงว่าเป็นลมปากออกมาจากความคิดที่ไม่ถูกต้อง ใครพูดด่าเรา ก็เอ้อ นี่มันออกมาจากจิตที่เป็นอกุศล มันมองคนในแง่ร้าย แล้วก็พ่นออกมาด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะไม่ควร มันก็ออกมามันก็หายไปเป็นอากาศธาตุไป เราอย่าไปเก็บมายึดไว้ อย่านึกว่า เออ มันด่ากู มันทำกับกูอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเกิดโกรธเกิดเกลียด เกิดอะไรขึ้นมามันก็เสียหาย เราเฉยๆ นึกว่ามันเป็นแค่เพียงลมปากออกมาแล้วก็หายไป ลมที่พัดมาตามปกติ บางทีมันเย็น บางทีมันร้อน ทำให้เราเป็นหวัดก็ได้ ไม่สบายก็ได้ ในขณะนี้ ฝนตกบ้าง แดดออกบ้าง อากาศเปลี่ยนแปลง เด็กอาจจะเป็นหวัดได้ง่าย ผู้ใหญ่ก็อาจจะเป็นได้ ถ้าร่างกายภูมิต้านทานไม่ดีพอ เราจึงต้องระมัดระวังไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นฉันใด คำพูดของคนอื่นที่มาชมเรา เราอย่าไปหลง เขาด่าก็อย่าไปหลงว่าเขาด่า เขาว่าอะไร พระสงฆ์เดินทางไปกับพระพุทธเจ้า แล้วก็มีพวกปริพพาชก เดินตามหลังพระพุทธเจ้าไป เวลาเดินตามหลังพระพุทธเจ้าไป อาจารย์ปริพพาชก ติว่าพระพุทธเจ้าตลอดเวลา แต่ลูกศิษย์นั้นชมพระพุทธเจ้า พวกเดียวกัน อาจารย์ติ แต่ลูกศิษย์นินทาพระพุทธเจ้า เดินทางไปนินทาไปสรรเสริญไป เดินไปอยู่ด้วยกันนั่นแหละ พระสงฆ์ทั้งหลายได้ยินพระได้ยินก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า ภิกษุทั้งหลาย เธออย่าไปหวั่นไหวกับคำติคำชมของคนอื่น เราไม่ได้ชั่วเพราะเขาว่าเราชั่ว เราไม่ได้ดีเพราะว่าเขาว่าเราดี ดีชั่วมันอยู่ที่ตัวเราเอง อยู่ที่ความคิดการพูดการกระทำของเราเอง ไม่ใช่ดีชั่วเพราะคำพูดของคนอื่น เธออย่าไปหวั่นไหวกับคำติเหล่านั้น ถ้าเขาว่าเธอชั่ว เธอก็มองดูตัวเอง ดูตัวเองว่าเรามันชั่วเหมือนที่เขาว่ารึเปล่า ถ้าว่าพบความชั่วอันใดในตัวเธอ รีบเลิกรีบละความชั่วนั้นเสีย เธอก็จะดีต่อไป แต่ถ้าหากว่าเขาว่าดี เราก็ต้องดูเหมือนกัน ว่าในตัวเรานี้มีดีอย่างเขาว่ารึเปล่า ถ้าไม่มีดีก็อย่าไปเพลิดเพลินกับเขาเลยเพราะมันไม่มี เราควรจะทำดีให้เกิดขึ้น เมื่อเห็นคนอื่นเขาว่าดี อย่างนี้ใช้ได้ ให้คิดอย่างนั้น แล้วก็สบายใจ อย่าไปหวั่นใหวกับคำพูด ชมเชย คำนินทาของคนเหล่านั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราทำใจอย่างนั้น แล้วก็สบายใจ
ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเข้าไปในเมืองโกสัมพี พวกนางมาคันทิยา แกไม่ชอบพระพุทธเจ้า ไม่ชอบพระพุทธเจ้าก็จ้างคนให้ไปเที่ยวด่าพระพุทธเจ้าทุกหนทุกแห่ง พระองค์เสด็จไปบิณฑบาตรที่ไหนคนก็ไปยืนด่าสาดใส่เทใส่พระพุทธเจ้าต่างๆนาๆ พระองค์เดินเฉยๆไม่ได้แสดงอาการอะไร ไม่ได้มีความรู้สึกอะไรจากคำเหล่านั้น แต่พระอานนท์นี่ท่านยังไม่เป็นพระอรหันต์ ท่านรำคาญเพราะเสียงคำด่าของคนเหล่านั้น เลยกราบทูลว่าเมืองนี้ไม่ไหวมีคนขี้ด่ามากเหลือเกิน เราไปกันเมืองอื่นเถอะ พระพุทธเจ้าถามว่าไปเมืองไหนอานนท์ อานนท์ว่าไปเมืองที่คนไม่ขี้ด่า ถ้าเราไปอย่างนั้นเกิดมีคนด่าขึ้นมาอีกละ ไม่ต้องเดินหนีคนด่ากันเรื่อยไปเหรอ เหตุมันเกิดที่ไหนต้องให้ดับที่นั่น พระพุทธเจ้าบอกว่ าเหตุเกิดที่ไหนให้ดับที่นั่น ดับที่ไหน ดับที่ใจเรา อย่าไปดับคนอื่น อย่าไปต่อยปากให้มันหยุดด่าเลยมันยุ่ง แต่ว่าเรามาดับตัวเราเอง มาบอกตัวเองว่าอย่าไปยินดียินร้ายกับคำด่าว่าของคนนั้น คนพาลมันก็ชอบพูดอย่างนั้นแหละ บัณฑิตเขาไม่พูดคำเช่นนั้น แล้วพระองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์ เรานี่เป็นเหมือนช้างออกศึก ช้างที่ออกศึกนั้นเขายิงด้วยลูกศรมาที่ช้างเหมือนกับห่าฝน ยิงระดมมา ช้างตัวมันใหญ่ยิงง่ายหน่อย ลูกศรปักเต็มตัวช้าง ช้างไม่ถอย ยืนเฉยอยู่ตลอดเวลา พระองค์จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า (17.14) นาคูวสังคามี จาปาตูปติ วังครัง ทวาจิติสัง หิโรหิภาชวี บอกว่าอานนท์ เราเป็นเหมือนช้างออกศึก ลูกศรมาต้องตัวเหมือนกับห่าฝน เราไม่ ช้างนั้นไม่หวั่นไหว มีความอดทนยืนนิ่งอยู่อย่างนั้นฉันใด เราก็ต้องหยุดฟังคำพูดเหล่านั้น ด้วยใจเย็น ด้วยใจสงบ เราจะไม่โต้ตอบกับคนเหล่านั้น เพราะการโต้ตอบไม่ได้เรื่องอะไร
อีกตอนนึงพระพุทธเจ้าตรัสว่าเราไม่ทะเลาะกับชาวโลก ว่าเรานี้ไม่ทะเลาะกับชาวโลก แต่ชาวโลกชอบมาทะเลาะกับเรา ถ้างั้นเราก็ต้องเฉย เขาว่าเราอะไรถ้าเราไม่ได้เป็นดังเขาว่าเราก็เฉยๆ อย่าไปโต้เถียงกับเขา อย่าไปแก้ตัว อย่าไปทำอะไร อยู่มันสงบๆ สบายๆ ทำเป็นหูทวนลมซะบ้าง พระพุทธเจ้าท่านสอนในที่บางแห่งว่า มีตาดีทำเป็นตาบอดซะบ้าง มีหูได้ยินก็ทำเป็นคนหูหนวกซะบ้าง มีลิ้นพูดได้ก็ทำเป็นคนใบ้เสียบ้าง เมื่อมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็เอาผ้าคลุมหัวนอนเสีย อย่าไปสนใจเรื่องเหล่านั้น เรื่องมันก็สงบได้ ไม่มีปัญหาอะไร อันนี้ดีมาก ควรจะเอามาใช้ในยุคปัจจุบัน เพราะว่าคนชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ชอบลงข่าว ที่เป็นๆกันอยู่เราเห็นข่าวเยอะแยะ อันนี้เราผู้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์นั้นอ่านแล้วก็เฉยๆ อย่าไปสนใจเลย เพราะหนังสือพิมพ์นี่คนอ่านวันเดียวก็ทิ้งนะโยม ไม่มีใครเก็บไว้เป็นอนุสรณ์หรอก หนังสือพิมพ์อ่านแล้วทิ้ง แล้วทิ้ง กลายเป็นกระดาษห่อของไปซะอย่างนั้นแล้ว เราจะไปเก็บไว้ทำไมของอย่างนั้น ของไม่ดีไม่ถูกเราเก็บไว้ทำไม เก็บให้มันเป็นทุกข์ทำไม ให้มันหนักอกทำไม ปล่อยมันไป วันเดียวมันก็เลิกแล้วแต่ถ้ามีเรื่องมันก็เขียนต่อไป เรื่องของเขา เรื่องทำมาหากินเขา เขาก็ต้องทำอย่างนั้นแหละ ไม่ทำอย่างนั้นก็จะขายยังไงล่ะ ไม่มีอะไรจะขาย ก็ทำอย่างนั้นเราก็ดีว่า ช่วยให้พวกหนังสือพิมพ์ได้มีงานทำ ได้มีข่างลงหนังสือพิมพ์ก็จะได้ขาย เราเฉยๆอย่าไปต่อล้อต่อเถียงกับใคร ทำใจให้สบายเข้าป่าเข้าดงไปเลยก็ได้ ไปนั่งสงบ นั่งหันหน้าเข้าหาก้อนหินแล้วก็คุยกับก้อนหินดีกว่า เพราะก้อนหินมันไม่ยุ่งอะไร กับใคร คุยกับคนมันยุ่ง หยุดพักเสียบ้างพักสมองเสียบ้างก็สบายไม่มีเรื่องอะไรอย่างนี้ใช้ได้ แต่บางทีเราก็ลืมไป ไม่ได้นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า อุบายวิธีต่างๆที่พระพุทธเจ้าแนะไว้มีมากมาย แต่เราไม่ค่อยได้นำมาใช้ พระองค์มักจะเปลี่ยนสิ่งชั่วให้กลายเป็นสิ่งดี เปลี่ยนลูกศรอาบยาพิษให้กลายเป็นดอกไม้ขึ้นมาทันที
โดยอย่างเช่นว่า พระองค์เสด็จไปบิณฑบาตรบ้านพราหมณ์คนนึง พราหมณ์ ชั้นพราหมณ์ แต่เป็นพราหมณ์ขี้โมโหโทโส ไม่ถึงธรรมะก็เลยลงมาไม่ได้เอาข้าวมาให้หรอก มาถึงด่าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอูฐเป็นลาเป็นวัวเป็นควาย เป็นคนศรีษะโล้น เที่ยวถือบาตรขอทาน ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ พระองค์ก็ยืนเฉย ยืนเฉยๆ ด่าๆจนเหนื่อยนะ พอด่าเหนื่อยแล้วพระองค์ก็ถามว่า มีอะไรที่ท่านจะด่าเราให้มันหนักไปกว่านี้อีกไม๊ละ บอกว่าหมดแล้ว หมดแล้วก็ฟัง เรามั่งสิ พระองค์ก็พูดให้ฟังว่า พราหมณ์ ถ้ามีแขกมาที่บ้านของท่านๆ ทำอะไรเพื่อต้อนรับ ธรรมเนียมอินเดียมีแขกมาบ้านก็มีขนมมาให้กิน มีน้ำมาให้กินนะ บ้านเราก็เอาหมากบุหรี่มาเลี้ยงนะ หรือว่ามีขนมมีอาหารมาเลี้ยงเป็นธรรมดา อันนี้ท่านจัดของไปเลี้ยงแขก ถ้าแขกที่มานั้นเขาไม่รับประทานของนั้น ของนั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์บอกก็เป็นของเจ้าบ้าน เมื่อแขกไม่กินมันก็เป็นของเจ้าบ้าน ขนมนมเนยทั้งหลายถ้าแขกไม่กินมันก็เป็นของเจ้าบ้าน เออ เมื่อตะกี้ท่านต้อนรับเราด้วยคำที่แสลงหูด้วยประการต่างๆ เราไม่รับนะ บอกตรงๆเราไม่รับนะพราหมณ์ละอายใจ ละอายใจว่าตายแล้วไปด่าคนที่ไม่รับคำด่า ว่าคนที่ไม่รับคำว่าเสียแล้ว งั้นเราไปยืนด่าก้อนหิน หินมันไม่รับ ยืนด่าต้นไม้ ต้นไม้มันก็ไม่รับ พระสมณโคดม ท่านไม่รับ นี่มันตกบนหัวกูฉันใด เลยก้มลงกราบพระพุทธเจ้า ขอโทษที่พูดไปเมื่อตะกี้นี้ไม่ถูกต้อง เราก็พูดให้ฟังว่า คำคนเลวน่ะมันเป็นอย่างไร มีปรากฏเรียกว่า วสลสูตร เรามาสวดกันอยู่บ้าง ปราภวสูตร เกิดจากคนด่าทั้งนั้น สูตรสองสูตรนี้เกิดจากคนด่า เมื่อด่าพระองค์ๆก็เลยเทศน์ให้ฟังว่าที่ท่านว่าคนนั้นเลวคนนี้เลวนั้นรู้ไม๊ว่าไอ้คนเลวมันเป็นยังไง ไม่รู้ด่าตามเขาว่า เหมือนนกแก้วนกขุนทองพูดภาษาคนนั้น เราบอกนี่ความเลวมันเป็นอย่างนั้นๆๆ ว่าให้ฟังหมดนะ พราหมณ์ได้ฟังแล้วก็เลยเลื่อมใส ขึ้นไปบนบ้านจะเอาอาหารมาถวาย พระองค์ไม่ยอมรับ บอกว่าเราไม่รับอาหารอย่างนี้ วันอื่นค่อยมาใหม่ แล้วเดินไปรับอาหารบ้านอื่นต่อไป ตัวอย่างมีเยอะ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรามีความอดทน มีความหนักแน่น ไม่โต้ตอบกับคำของคนพาล คนที่มาด่าเรานั้นเป็นคนพาล ไม่ใช่เป็นคนมีปัญญาอะไร มีปัญาอ่อนแล้วเราจะไปโต้ตอบกับเขาทำไม คนไทยเราพูดเป็นภาษาคำคมว่า อย่าเอาพิมเสนไปแลกเกลือ พิมเสนราคามันสูงกว่าเกลือ อย่าเอาไปแลกกัน อย่าเอาเนื้อไปแลกหนัง อย่าเอาทองไปถูกับกระเบื้อง ไอ้คำเหล่านี้เป็นคำเตือนใจทั้งนั้น ให้เราได้คิดและเราไม่โต้ตอบกับคนเหล่านั้น ในทางที่เสียหาย ให้นึกว่าคนนั้นมันเป็นกระเบื้องเก่าๆ ที่หล่นลงมาจากหลังคาโบสถ์ เราจะเอาทองไปถูทำไม และมันเป็นเกลือเก่าๆเราจะเอาพิมเสนไปแลกทำไม ไอ้นั่นมันเป็นเนื้อเน่าเราจะเอาเนื้อดี เป็นหนังที่กินไม่ได้แล้วจะเอาไปแลกทำไม นึกอย่างนั้น อย่างนี้มันเกิดได้ด้วยมีสติ มีปัญญากำกับจิตใจ มีสติรู้ทันปัญญารู้เท่าเกิดขึ้น ควบคุมตัวเองได้ คนเราจะต้องฝึกเหมือนกันในเรื่องเหล่านี้ เรียกว่าฝึกการควบคุมตัวเอง ให้มีความสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่หวั่นไหว ไม่โยกโยงไปตามอารมณ์นั้นๆ อันนี้ถ้าเราไม่หัดควบคุม พอเขาด่ามา ด่าตอบ ตีมา ตีตอบ มันไม่ได้เรื่องอะไร มันไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นการเพิ่มปัญหา
พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าเพิ่มความชั่ว อย่าเพิ่มคนชั่ว ไอ้คนนั้นมันชั่วอยู่แล้วเราอย่าไปเพิ่มอีกคนหนึ่งเลย ความชั่วมีอยู่ที่คนนั้นจำนวนหนึ่ง เราก็อย่าไปเพิ่มความชั่วขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง แต่ช่วยลดความชั่ว ช่วยลดปัญหา ลดสิ่งที่ไม่ถูกต้องไปจากโลกนี้จากชีวิตนี้ จึงจะเป็นการถูกต้องไม่เสียหายแก่ชีวิตของเรา ท่านสอนไว้อย่างนั้น เราก็ต้องนึกถึงบ่อยๆ เวลามีเรื่องอะไรเกิดขึ้น บางทีเรื่องมันเล็กๆน้อยๆ ไม่น่าจะฆ่าจะแกงกันเลยละเรื่องนิดหน่อย แต่ถึงกับฆ่ากันเลย ยิงกันเปรี้ยงป้าง ต้นเหตุมันนิดเดียว เรียกว่าแมลงวันกับหยดน้ำผึ้ง หรือว่าน้ำผึ้งหยดเดียว ก่อเรื่องทะเลาะกันทั้งบ้านทั้งเมือง เดี๋ยวนี้ที่รบกันก็เรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวทั้งนั้นละ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมโหฬารอะไร แต่มันก็รบกันอยู่ คนตายไปเป็นแสน บ้านเมืองเสียหาย เศรษฐกิจตกต่ำไม่มีอะไรดีขึ้น มันเป็นอย่างนั้นเพราะมันคิดไม่ได้ เรื่องที่คิดไม่ได้เพราะอะไร ไม่มีกัลยาณมิตร ไม่มีกัลยาณมิตรเป็นเครื่องชี้แนะแนวทางให้เข้าใจ ทางเดินที่ถูกที่ชอบ มีแต่มิตรที่เรียกว่า ปาปมิตร มิตรที่ไม่เอาเรื่อง ไม่เอาไหนไม่มีคนคอยชี้คอยแนะคอยชักคอยจูงให้เข้าเส้นทางที่ถูกต้องไม่มีคนประเภทนั้นเสียหายมาก คนเราที่ได้ดิบได้ดีมีความเจริญก้าวหน้า ตัวนี้ล่ะสำคัญนะโยมจำไว้ ตัวมิตรนี่แหละสำคัญ เราได้มิตรดี แล้วก็เจริญ เช่นพวกเด็กๆวัยรุ่น พวกหนูๆที่เป็นนักเรียนทั้งหลาย ถ้าได้เพื่อนเลวแล้วเสียท่าละ เพื่อนนั้นจะจูงเราไปในทางชั่วทางต่ำ ชวนไปเที่ยวกลางคืน ไปดิสโก้เธค ไปดื่ม หัดเบียร์ดื่มเหล้า อะไรต่างๆ ถ้าเราไม่ทำก็เฮ้ย โตขนาดนี้แล้วจะเป็นผู้เป็นคนได้ยังไงวะ แต่มันพูดภาษาสมัยใหม่ว่า มันจะเป็นแมนได้ยังไง หมายความว่าจะเป็นคนได้อย่างไรถ้าไม่กินเหล้า ไม่รู้จักเที่ยว จักเตร่ นี่มันพูดให้เราเกิดมุมานะแล้วจะไปทำเรื่องให้เสียหาย พวกหนูต้องระวังไว้เพื่อนประเภทอย่างนั้น คอยพูดยั่วพูดยุให้เราเสียคนน่ะ ถ้าเราไม่ทำตามเขาก็ตัดพ้อต่อว่า แหม ไม่รักฉันไม่เห็นใจฉัน ฉันหวังดีต่อเธอนะแต่ความจริงไม่ได้หวังดี หวังร้ายต่อการจะทำลายเรา จะจูงเราไปในทางที่เสีย ไม่ได้หวังดีอะไร อันนี้ถ้าเราไป นี่ละเพื่อนแท้ของผม เพื่อนแท้คือเพื่อนที่ไม่ได้เรื่อง อย่างนั้นมันใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านย้ำไว้นักหนาเรื่องนี้ละ พวกเราเยาวชนทั้งหลายจำๆไว้ด้วย บอกว่าอย่าคบคนพาลให้คบหาเพื่อนบัณฑิต คนพาลคือคนประเภทปัญญาอ่อน ไม่ค่อยมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องชีวิต ไม่ได้อ่านหนังสือธรรมะ ไม่ได้เข้าวัด ไม่ได้ฟังคำสอนของพระ เรียกว่าเป็นคนไม่มีปัญญา ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วเขาก็ชักจูงเพื่อนไปในทางเสีย เพราะนึกว่าเขาทำถูก เขาทำดีเขาทำถูกอยู่ก็เข้าใจว่าอย่างนั้น
เคยมีคนๆหนึ่งเป็นชาวกรุง มาอยู่กรุงเทพได้ภรรยาไปคนนึง เอาไปทิ้งไว้ ทิ้งไว้ที่บ้าน แล้วแกก็ไปเทียวไปสนุก เป็นคนสำส่อนไม่ค่อยได้เรื่อง แล้วแกมาวัดแกพูดว่า ในเมืองไทยมีคนอย่างผมมากๆ เมืองไทยเจริญ แกพูดได้ พูดด้วยความโง่แท้ๆ ถ้ามีคนอย่างคนๆนั้นมันจะเจริญได้อย่างไร ไม่รู้จักหน้าที่ ไม่ได้เลี้ยงดูครอบครัว แต่ว่าแม่บ้านที่พาไปจากกรุงเทพแกดีจริงๆ เป็นคนที่พอใจในสิ่งที่มีที่ได้ ไม่ว่าอะไร ทำมาหากินไปตามเรื่อง ปลูกผัก ปลูกพืช ตัวดำ อยู่ในทุ่งนา แต่เจ้าตัวนั้นหยิบโหย่ง แต่งตัวไป เที่ยวไป สนุกไปไหนต่อไหน แกบอกถ้ามีคนอย่างผม บ้านเมืองเจริญ เจริญอะไร เจริญในทางเสื่อม อย่างนี้คือเขาเข้าใจผิด เขาไม่รู้ตัวว่าเขากำลังทำผิดอยู่ คนทำผิดไม่รู้ตัวว่าผิดนี่มันผิดใหญ่โตเลยนะโยมจำไว้ พวกหนูจำไว้ คนทำผิดแล้วไม่รู้ตัวว่าผิด นี่มันผิดนักผิดหนานะ เหมือนกับคนโง่แต่ไม่คิดว่าตัวโง่น่ะ มันโง่ดักดานเลยทีเดียว ไม่มีทางจะฉลาดขึ้นได้เลยละ แต่ถ้าคนใดรู้สึกว่า โอนี่ไม่ไหวแล้วเป็นอยู่อย่างผิดทางไม่ถูก จะดีขึ้นแล้ว ความรู้สึกอย่างนี้จะทำให้คนนั้นดีขึ้น คนโง่ที่สำนึกได้ว่า เรานี้มันโง่กว่าใครๆจะดีแล้ว คนๆนั้นจะดีแล้ว จะดีแล้ว เพราะรู้สึกตัว รู้จักตัวเองว่าโง่แล้วคิดจะเป็นคนฉลาดเลยหันหน้าเข้าคบคนดี สนใจในการศึกษาเล่าเรียนให้มีความรู้ใส่ตัว มันก็ดีขึ้นนะอย่างนี้ใช้ได้
เมื่อวานนี้มีพ่อแม่มาสองคน อยู่ไกลอยู่ถึงอ่างทอง มานั่งคอยหลวงพ่อ ถามว่ามีธุระอะไร ผมมันมีลูกสองคน ผู้ชายคนหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงนี่เรียบร้อยแต่ผู้ชายนี่ไม่ค่อยเรียบร้อย บอกว่าเขาเรียนอะไร เขาเรียนวิชาศิลปะจบแล้ว แต่ไม่ทำอะไรอยู่กับบ้านเฉยๆ เดี๋ยวขอเงินแม่ สี่ห้าพันไปซื้อกระดาษซื้อสี แต่ได้เงินแล้วไม่เห็นซื้ออะไรมาเลย มันก็เอาไปเที่ยวไปเล่นไปสนุกอะ เราบอกคุณแม่ให้ทำไม มันจะทำงานก็นึกว่ามันจะเรียนมันจะซื้อ แล้วพ่อบอกทำไมไม่ไปหางานทำบ้าง ก็โอ้ ผมนี้ไม่ชอบอยู่ใต้อำนาจของใคร ไม่ชอบอยู่ใต้อำนาจของใคร ไม่ชอบอยู่ใต้บังคับบัญชาของใครแต่ว่าไม่ได้ทำตัวให้เป็นเอก คนเราถ้าไม่ชอบให้คนอื่นบังคับเรา มันต้องเป็นเอก เอกในทางเก่ง ทางดี ทางเจริญ ทางก้าวหน้าและไม่ต้องเป็นขี้ข้าใคร แต่นี่มันไปทำกับใครไม่ได้ เขาว่าอย่างนั้น ว่าอย่างนี้เป็นคนใจน้อย ขี้โกรธ ขี้น้อยใจ ถ้าใครพูดอะไรกระทบกระเทือน ทิ้งเครื่องมือไปเลย ไอ้อย่างนี้มันจะเจริญได้ไง ไปไม่รอด เลยคิดจะเอามาบวช บวชตอนนี้ไม่ได้ ต้องเอามาปีใหม่ เอามามกรา แล้วก็มาอยู่วัดเดือนหนึ่ง แล้วจึงจะให้บวช ลองมาขูดมาเกลากัน ให้ทำงาน มาอยู่วัดก็ให้กวาดขยะ ให้ล้างท่อ ให้ล้างถ้วย ล้างชาม ให้ทำงาน ให้ทำงานทุกอย่างที่คนทำได้ให้ทำ ให้เขาได้เกิดความรู้สึกตัวว่าหน้าที่ งานคือหน้าที่ๆเราจะต้องทำ เมื่อครั้งอยู่เชียงใหม่มีเด็กกรุงเทพไปคน ไปนอนคืนหนึ่ง ตื่นเช้าก็มาหามากราบมาไหว้ กระผมอยากมาอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดนี้ด้วย เออดีๆมาปฏิบัติธรรมดี ไม่ขัดข้องอะไร มาอยู่ได้ แต่เธอต้องทำงานบ้างนะมาอยู่ที่นี่น่ะ ให้ผมทำอะไร พระไปบิณฑบาตรเธอต้องไปปูอาสนะ เอากระโถนไปวางเอาจานไปวาง เอาน้ำท่าไปวางให้เรียบร้อย แล้วก็ดูแลพระฉันท์อาหาร พระฉันท์อาหารเสร็จแล้วเธอก็รับประทานอาหารไป อาหารมันเยอะแยะ ทานแล้วก็ต้องเก็บกระโถนไปเท เก็บเสื่อเก็บสาดปัดกวาดให้เรียบร้อย เขาบอกทันทีว่าผมไม่ได้มาทำงานอย่างนี้ครับ ผมมาปฏิบัติธรรม ดูๆดูสิ ความคิดมัน มันไม่รู้เรื่องอะไร ธรรมะคืออะไร ปฏิบัติธรรมคืออะไร มันไม่รู้ ผมมาปฏิบัติธรรม ผมไม่ได้มาล้างกระโถน ผมไม่ได้มากวาดขยะ เลยบอกว่านี่แหละคือการปฏิบัติธรรมนะ ถ้าเธอล้างกระโถนได้กวาดขยะเป็น รู้จักรับใช้คนอื่น เธอมันดีขึ้น มันลดความเห็นแก่ตัว มันลดความเหลวใหลออกจากตัว ทำได้ไม๊ ผมว่าผมไม่ทำแล้ว ผมจะกลับแล้ว มันไม่อยู่มันกลับเลย มันตกร่องลึกดึงไม่ขึ้นเลยทีเดียว พูดจาก็ไม่เข้าใจมันมีความคิดแผลงๆ เธอนึกจะไปปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมของเขาหมายถึงอะไรก็ไม่รู้ แต่ความจริงน่ะคือการกวาดขยะ การเทกระโถน การเก็บเสนาสนะ นี่คือปฏิบัติธรรมอยู่ในตัวแล้ว ทำให้ ทำได้ เหมือนเราอยู่บ้านน่ะ พวกหนูอยู่บ้านกับคุณแม่ ช่วยคุณแม่บ้างคุณแม่ทำอะไร คุณแม่ไปในครัวจะต้มจะแกงอะไรไป ให้หนูช่วยอะไรบ้างคุณแม่คะ ช่วยทำเครื่อง ช่วยหั่นผัก ช่วยล้างจาน ช่วยทำนั่นทำนี่ คุณแม่จะเห็นว่า โอแหม ลูกแม่นี่น่ารักๆ เพราะว่ารู้จักทำงานทำการ กวาดบ้านถูเรือน ซักผ้า เช็ดถู อะไรๆภายในบ้านของเรา รักษาความสะอาด ช่วยทำให้คุณแม่เบาแรง ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมากเกินไป เห็นคุณแม่ จับไม้กวาด แม่ไม่ต้องเป็นหน้าที่ของลูก ลูกกวาดเสียเอง เช็ดถู ทำความสะอาด อย่างนี้ก็เรียกว่าเราช่วยแม่ ให้ขึ้นสวรรค์อยู่แล้วให้ท่านสบายใจ ว่าลูกนี้เป็นคนเอาใจใส่ในหน้าที่การงาน คนประเภทอย่างนี้ไปไหนไม่ตกต่ำ จะมีความก้าวหน้าเพราะว่าไปไหนก็ไปช่วยเขา คนมันก็เอ็นดู
มีตาแก่คนนึงเป็นคนยากจนหน่อยแล้วเจ็บหนักใกล้จะตาย เห็นว่าตายแน่แล้วไปไม่รอดเลยเรียกลูกเข้ามาข้างตัว กระซิบบอกว่าลูกเอ๋ย พ่อนี่เป็นคนยากคนจนลูกก็เห็นอยู่ไม่มีสมบัติอะไรจะให้ลูกหรอก แต่ว่าพ่อจะสอนลูกไว้สักหน่อยให้ถือปฏิบัตินะลูกนะ ลูกก็ตั้งใจฟัง เอียงหูฟังคุณพ่อเสียงแผ่วเต็มที เข้าไปฟังใกล้ๆ พ่อก็บอกลูกจำไว้นะเวลาไปไหนถ้าเห็นเขาทำงานต้องช่วยทำ ถ้าเขาชวนให้กินข้าวต้องกิน แล้วถ้าอยู่กับใครอย่าเอาเรื่องในบ้านนายไปพูดกับใครๆนะ เห็นใครทำงานต้องช่วย เห็นเขาชวนให้กินอาหารก็กินกับเขาแลก ถ้าทำงานอยู่บ้านใครอย่าเอาเรื่องในบ้านไปนินทานอกบ้าน สามอย่างนี้สำคัญนะ สามอย่างนี่ก็สำคัญ คนบางคนนินทานาย นายเราไม่ไหวอย่างนี้ๆมันใช้ไม่ได้ นินทานาย นินทาครู นินทาพ่อแม่ ไม่ดีทั้งนั้น นินทาคนมันใช้ไม่ได้ เขาก็จัดการเผาศพคุณพ่อเรียบร้อยแล้วก็เดินทางไปเที่ยวหางานทำ ไปๆก็เห็นคนกำลังลากไม้ขึ้น ลากไม้ขึ้นจากแม่น้ำจะเข้าโรงเลื่อย โอ้ พ่อสั่งว่าเห็นใครทำงานให้เข้าไปช่วยก็เข้าไปเฮโลกับเขา ช่วยลาก พักกินอาหารกลางวันพวกนั้นเขาก็มากินอาหารด้วยกัน พ่อสั่งว่าใครชวนให้กินอาหารต้องกิน เพราะการกินอาหารคือการผูกมิตร เรากินอาหารกับใครเราต้องผูกมิตรกัน เพราะอะไร เพราะว่าเรากินอาหารเขาจะต้องถามเราว่ามาจากไหน จะไปไหน มาธุระอะไร เขาก็คุยกันในเวลากินอาหาร ก็ต้องคุย เราก็บอกให้เขาทราบ คนนั้นไปกินอาหารกับเพื่อนก็เออมาจากไหน ฉันมาเที่ยวหางานทำ ยังไม่ได้งานมาเห็นท่านทั้งหลายลากไม้ก็เลยเข้ามาช่วย ท่านชวนให้มากินข้าวด้วยกันก็เลยมากินด้วย ไม่ต้องไปไหนก็ทำงานอยู่ที่นี่เพราะที่นี่มีงานเหลือเฟือ อยู่กันได้และเขาก็ได้งาน ได้งานแล้วเขาก็ภักดีต่อนาย ดูแลการงานเรียบร้อยตามคำสั่งของพ่อ กิจการงานก็เจริญก้าวหน้าเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ตกต่ำเพราะเป็นคนประพฤติธรรม ประพฤติธรรมคือ ทำหน้าที่ให้เรียบร้อย ทำตามคำสั่งของพ่อ เข้าใจคำสั่ง เป็นคนฉลาดเพราะรู้ความหมายคำที่พ่อสั่งแล้วก็ทำตามเรื่องมันก็เรียบร้อย
เมื่อวานนี้ไปที่พาต้าโน้น ไปแต่เช้าก็นั่งรถไป ขึ้นทางด่วนค่อยยังชั่วหน่อย แปดโมงก็มีการชุมนุมคนงานของพาต้าแล้ว พาต้าเขาทำดี เขามาบวชที่นี่ นำคนงานสวดมนต์ เขาก็สวดตอนเช้าๆแต่สวดไม่ยาวเท่าไรก็แสดงธรรม แสดงธรรมเสร็จแล้วก็ถวายข้าวของอะไรต่างๆ ก็ไปพบเด็กคนหนึ่งเข้ามาไหว้เรียบร้อย ก็ปรากฏว่าเป็นน้องชายของพระมหาบำรือ มหาบำรืออยู่ จบไปอยู่นิวยอร์ก เธอมายังไงล่ะ ผมก็เรียนหนังสือ ปวส แล้วก็ไม่มีงานทำ อยู่วัดหลวงพ่อนั่นแหละ แล้วพี่มหาก็มาฝากที่พาต้า พาต้าเขาก็รับไว้ ผมก็ทำงานอยู่ที่นี่ล่ะ ผมทำงานไม่จำกัดเวลาหรอก ห้างเลิกแล้วผมก็ยังทำต่อไป แล้วผมก็นอนที่นี่แหละไม่ไปนอนไหน หลังอาทิตย์นอนตรงไหนก็ได้ ทำงานเดี๋ยวนี้เธอได้เงินเดือนเท่าไหร่ เดือนละหมื่น ได้มากนะได้เดือนละหมื่น ไม่ค่อยได้จ่ายเท่าไร ทำไมถึงได้เงินเดือนขึ้นขนาดนั้นแล้วเป็นที่ไว้ใจของนายห้าง เพราะเห็นว่าเป็นคนที่รักงาน เป็นคนขยัน เป็นคนเอาใจใส่ ความรักงานความขยันความเอาใจใส่ แล้วทำงานให้ดี นี่คือเขาประพฤติธรรมอยู่แล้ว เด็กหนุ่มคนนั้นเขาประพฤติธรรม เขาประพฤติธรรม ในเรื่องเขารักงาน ขยัน เอาใจใส่ คิดค้นเพื่อให้งานเจริญ หัวหน้าเขาพอเห็นก็คนนี้ขยัน ค่อยเลื่อนกันมาโดยลำดับ ขั้นแรกก็เป็นคนงานธรรมดา เรียกว่าเวลานี้อยู่ในฐานะป็นกรรมการคนหนึ่งเหมือนกัน แล้วทำงานล่วงเวลาบ่อย เพราะว่างานไม่เสร็จก็ทำต่อไปจนเสร็จ เขาไม่เสียดายแรงงาน เป็นคนชอบให้ คนเราจะให้แล้วมันได้นะ โยมไปสอนลูกสอนหลานถ้าให้แล้วมันจะได้ แต่ถ้าไม่ให้แล้วมันก็ไม่ได้ ขี้เหนียวแรงงานไม่ให้ใคร ไม่ช่วยเหลือใครแล้วใครมันจะช่วยเหลือ ถ้าเราไม่ให้แล้วใครจะช่วย อันนี้ถ้าเราให้แล้วคนก็เอามาให้อีก มันมาเองละ บุญ เรียกว่าบุญมาวาสนาช่วย เราทำอะไรแล้วมันก็ได้ดังที่เราต้องการ นี่เขาเรียกว่าการให้ และมันคือการได้ ยิ่งให้ก็ยิ่งได้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะงั้นเราที่เป็นเยาวชน วันนี้มากันหลายคนจำๆไว้ เราอยู่อย่างเด็กดีเชื่อฟัง พ่อแม่เชื่อฟังครูบาอาจารย์ เคารพระเบียบของโรงเรียน ตั้งใจเรียน ตั้งใจศึกษาให้มีความรู้มีความสามารถ แล้วก็จะได้ทำงานไปทำงานที่ไหนนะ ตั้งใจทำให้เขาก่อนแล้วเขาให้เราเอง ผู้ที่เป็นเจ้าของงาน เขาดูเหมือนกันคนใหนเอางานเอากร ทำงานประณีต ทำงานด้วยความตั้งใจเขาก็เลื่อนให้ ไปโดยลำดับ แต่คนไหนขี้เกียจทำงาน ทิ้งๆขว้างๆให้กวาดขยะก็ไม่เรียบร้อยเก็บของก็ไม่เรียบร้อย ไม่มีนิสัยรักงาน ไม่ขยันไม่เอาใจใส่ไม่สนใจงาน เขาก็ไปไม่รอด ตัวเองเลื่อนชั้นตัวเอง ตัวเองลดชั้นตัวเอง บางทีเราก็เลื่อนตัวเองขึ้นไป ทำไม่ดีก็ตกลงไปอยู่ที่ตรงนี้เรียกว่าเราประพฤติธรรม ธรรมก็ช่วยเรา เราไม่ประพฤติธรรม ธรรมะก็ไม่ช่วย เราก็ตกต่ำให้จำหลักนี้ไว้ เอาไปใช้ชีวิตจะเจริญก้าวหน้าต่อไป แสดงมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้