แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ปาฐกถาธรรม (00.01 เสียงไม่ชัดเจน) ที่ ๓๑ กรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอทุกท่านอยู่ในอาการสงบ อย่ามัวเดินไปเดินมา นั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจน แล้วตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา และเวลาจบปาฐกถามีการนั่งสงบใจ ๕ นาที เมื่อยังไม่ทำการแผ่เมตตา ญาติโยมอย่าลุกขึ้นเดินรีบร้อนเพื่อจะไปตักบาตร ให้นั่งสงบอยู่ก่อนจนกว่าจะแผ่เมตตาเสร็จ พอแผ่เมตตาเสร็จแล้วก็เดินไปตักบาตรได้ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงขอแนะนำญาติโยมด้วย
วันอาทิตย์นี่คนมาวัดกันมากๆ ที่กุฏิพอใกล้เวลาจะปาฐกถามักจะมีโยมมาบริจาคเงินสร้างวัดปัญญานันทาราม เมื่อโยมมาก็ต้องต้อนรับ จดบัญชี ออกใบเสร็จ ยังช้าอยู่นิดหน่อย โยมเห็นว่าหลวงพ่อนี่ช้า ไม่ได้ช้าเรื่องอะไร ช้าเพราะรับปัจจัยนี่เอง ก็คนเอามาให้ใกล้เวลาจะมาฟังธรรม ยังไงก็ต้องมา ช้าไปหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร พยายามที่จะให้ตรงเวลาเสมอ แต่ก็บางทีมันก็อย่างนั้น ภาระมันมาติดขัด ก็เลยต้องช้า
วันนี้ใคร่ที่จะทำความเข้าใจในเรื่องที่เราสวดกันอยู่ทุกวันๆ เราสวดว่า อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ แล้วมีคำอธิบายต่อว่า ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง นั่นเป็นคำแปลที่มีความหมาย เราสวดมนต์แปลนี่รู้ความหมายชัดเจน และเมื่อเรารู้ความหมายแล้วเราเอามาคิดพิจารณาตามที่เราจำได้ ไม่ใช่ท่องไปเฉยๆ การท่องเฉยๆนั้นยังไม่เกิดปัญญาแต่ว่าเป็นเหตุให้ใจสงบได้เหมือนกัน เพราะว่าเราท่องสวดมนต์ เพราะขณะที่สวดมนต์นั้นบาปไม่เกิด ความเศร้าหมองในใจไม่มี เพราะมีสมาธิอยู่ในการสวด การสวดมนต์จึงเป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์อยู่เหมือนกัน แต่ว่าจะให้เกิดประโยชน์มากขึ้นเราก็ต้องรู้ความหมายในบทที่เราสวด รู้แล้วเอาไปคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนในข้อนั้น แล้วจะได้นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป
การคิดให้เกิดความเข้าใจนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญ ในภาษาธรรมะเรียกว่าโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการนี้แปลว่าทำในใจโดยแยบคาย หมายความว่าคิดให้รอบคอบคิดให้ละเอียด หาเหตุหาผลในเรื่องนั้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง และเมื่อเรามีความเข้าใจแล้วก็นำสิ่งนั้นเป็นหลักปฏิบัติแก้ไขปัญหาชีวิตต่อไป
โยมมาวัดในวันอาทิตย์ก็มีการสวดมนต์แปลทุกวันอาทิตย์ เมื่อสวดนั้นเราก็สวดได้ แล้วเราก็ต้องตีความในเรื่องที่เราสวดว่ามันหมายความว่าอย่างไร เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติต่อไป โดยเฉพาะสวดมนต์ขึ้นต้นว่า อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้า ภะคะวานั้นเป็นพระนามที่เราใช้เรียกพระองค์ คือเราจะเรียกว่าพระพุทธเจ้า เป็นการไม่เคารพ ไม่ถูกต้องเหมือนเรารู้จักคนนี้ เราไปถึงเรียกชื่อเขานี่ ไม่สุภาพ ไม่สุภาพ เช่น เรียกนายกรัฐมนตรีว่า นายชวน อย่างนี้มันไม่สุภาพ ไม่เรียบร้อย เราเรียกตำแหน่ง ถ้ามีตำแหน่งก็เรียกตำแหน่งว่าท่านนายกรัฐมนตรี เรียกพระก็เหมือนกัน ถ้าเราไปรู้จักพระเราก็เรียกชื่อท่าน เป็นการไม่สุภาพ เราต้องเรียกคำสรรพนาม
สรรพนามนี้เป็นคำใช้แทนชื่อในภาษาไทย เราเรียกว่า จะเรียกอย่างไรก็ได้เรียกว่า พระคุณท่าน พระเดชพระคุณ ใต้เท้า ท่าน อะไรอย่างนั้น สุดแล้วแต่ฐานะ เพราะคำไทยนั้นมันมีสูงมีต่ำตามขั้นตอน ไม่เหมือนคำฝรั่ง คำฝรั่งเขาสรรพนามไม่มากถ้าแทนตัวเราก็ I ฉัน ถ้าแทนผู้อื่นก็ว่าท่าน หรือหลายคนก็ว่า we มีเท่านั้น I you we เท่านั้น ไม่มาก พูดกับพระเจ้าแผ่นดิน ก็ you ก็ได้ ไม่เหมือนคำไทยเรา คำไทยเราพอพูดกับพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องพูดว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม มันยาวก็ต้องพูดเป็นเหมือนกัน พูดให้ถูก
ถ้าเราไปพูดกับในหลวงก็ต้องพูดให้ถูก ถ้าว่าพูดไม่ถูก เค้าก็หาว่าเป็นคนไม่มีการศึกษา เว้นไว้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพเช่น พระบางองค์ในสมัยก่อน ที่เชียงใหม่มีพระอยู่องค์หนึ่งเรียกว่าครูบาวัดฝายหิน ท่านเป็นพระที่มีอายุมากคนเคารพนับถือมาก แต่ท่านพูดคำเดียว มึงกูทั้งนั้น สมมุติว่าเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ไปหาท่าน ท่านก็พูดว่า “เอ้อ มึงมา กูยินดีแต๊” พูดอย่างนั้น ทีนี้ในหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเชียงใหม่ ก็ว่าท่านเป็นพระที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนเคารพนับถือ ในหลวงไปนมัสการ ท่านก็ว่า “เอ้อ มึงมาเยี่ยมกู กูดีใจแต๊” ในหลวงพอพระทัยมาก ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ฟังแล้วพอพระทัยมากเพราะว่าเป็นการพูดตรงไปตรงมา เรียกว่าอู้ซื่อๆ เลยตั้งให้เป็นพระราชาคณะ ว่าพระอภัยสารทะ เป็นเจ้าคุณอภัยสารทะ แปลว่าผู้แกล้วกล้าในสิ่งที่ไม่เป็นภัย ชื่อนั้นก็ได้ตั้งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่มาจนบัดนี้ เกิดก็อย่างนั้น
หลวงพ่อคูนนี่ก็เหมือนกัน มึงกูทั้งนั้นแหละไม่ว่าใคร “กูให้มึง” อะไรอย่างนี้ คือปกติท่านพูดอย่างนั้น ไม่ได้มีเจตนาอันเป็นอกุศล คนก็ไม่ถือ มันเฉพาะบางคน บางรูป ถ้าว่าไม่เคยพูด พูดไม่ได้ องค์หนึ่งทำได้ แต่อีกองค์หนึ่งทำไม่ได้ เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์นี่ไปเทศน์ในวัง วันนั้นพระสนมองค์หนึ่งคลอดโอรส ในหลวงท่านอยากจะไปดูให้รู้ว่าเป็นอย่างไร ทีนี้มันตรงกับเวลาที่นิมนต์พระมาเทศน์ มหาดเล็กก็เข้าไปกระซิบบอกสมเด็จฯว่า “พระคุณท่าน ในหลวงท่านอยากจะไปดูพระโอรสนะ วันนี้ เทศน์น้อยๆหน่อย” สมเด็จฯว่า “ข้ารู้น่ะ” ท่านก็ตอบว่า “ข้ารู้น่ะ” ว่าท่านเทศน์อย่างไร พอขึ้นก็ว่า นะโม เสร็จขึ้น บาลี เสร็จก็ลงว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างมหาบพิตรราชสมภารทรงทราบดีแล้วไม่ต้องวิสัชนา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร” ในหลวงชอบนัก เพราะท่านต้องการจะไปดูลูกของท่าน ก็พอพระทัย บังเอิญมีพระวัดโมลี (วัดโมลีโลกยาราม) อยู่ใกล้ (09.55 เสียงไม่ชัดเจน) เข้าไปเทศน์ในวังก็เอาอย่างสมเด็จฯสักที วันนี้พอขึ้นเข้าที่ดังนั้นก็ “ทุกสิ่งทุกอย่างมหาบพิตรพระราชสมภารทรงทราบแล้วไม่ต้องวิสัชนา” ในหลวงกริ้วเลย ถอดเลย ถอดจากเจ้าคุณเลย บอกว่า “ท่านนี่ไม่ใช่สมเด็จฯ เทศน์แบบนี้ไม่ได้ ไม่รู้จักเวลา กาลเทศะ ถอด” อ้าว เลยถอดเลย
พระเจ้าแผ่นดินสมัยก่อนพูดเป็นกฎหมาย ถ้าพูดว่าถอดก็เสร็จ พูดให้เป็นก็เป็นได้อย่างนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ไปเห็นครูคนหนึ่งสอนหนังสือเก่ง เลยก็บอกว่าครูสอนดีมาก ขอให้รับพระราชทานเงินเดือน ๙๐ บาทตลอดชีวิต รับอยู่เท่านั้นแหละไม่ได้ขึ้นเลย ออกราชการแล้วก็ ๙๐ อยู่นั่นแหละ ใครจะขึ้นก็ไม่ได้เพราะขัดพระราชโองการ เป็นคุณหลวงนะคนนั้น ได้ ๙๐ บาทตลอดชีวิต ไม่ขึ้นไม่ลง เพราะในหลวงสั่งอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น
กาลเทศะ อันนี้เราเรียกคน ถ้าไปถึงเรียกชื่อเช่นบางคนไปถึง “อ้าว ท่านปัญญา สบายดีหรือ” ไม่ได้ความ พูดไม่รู้กาลเทศะ พูดอย่างนั้นมันไม่ถูก บอก “เออ ท่านเจ้าคุณสบายดีหรือครับ” หรือว่า “พระคุณท่านสบายดีหรือขอรับ” มันค่อยถูกต้องหน่อย “ท่านปัญญาสบายดีหรือ” ไม่ได้ เราไปพูดออกชื่อคนเฉพาะหน้านี่ไม่สุภาพ ไม่เรียบร้อย เวลาเขาเรียกพระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาไม่เรียกว่าพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่าพระผู้มีพระภาค ใช้คำนี้ พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาค แปลว่าผู้มีความกรุณาต่อสัตว์โลกพระผู้มีพระภาคเจ้า ใส่ เจ้าเข้าไปอีกคำ เป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง อรหันต์นั้นแปลว่าดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง อันนี้สัมมาสัมพุทโธ แปลว่าตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ตรัสรู้ด้วยพระองค์แล้วสิ่งที่ตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งชอบ ชอบด้วย ดีด้วย ถูกต้องด้วย เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะนำไปปฏิบัติด้วย เรียกว่าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง เป็นความหมายลึกซึ้ง เป็นความหมายที่เราควรจะวินิจฉัยให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ใช้คำเรียกทั่วไป ถ้าเอ่ยชื่อพระองค์ก็เรียกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า แปลว่าผู้ยิ่งด้วยความกรุณาต่อชาวโลก เพราะพระองค์ออกบวชนี่ออกบวชด้วยความกรุณาสงสารชาวโลก เพราะเห็นความทุกข์ของชาวโลก เห็นชาวโลกมีความทุกข์นานัปการ ก็คิดว่าจะช่วยเขาให้พ้นจากปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อน จะช่วย ช่วยอย่างไร
นี่เป็นปัญหาที่ทรงคิดมากว่าจะช่วยอย่างไร เป็นพระเจ้าแผ่นดินช่วยได้ไหม ช่วยได้แต่เฉพาะในขอบเขตของพระองค์ แล้วขอบเขตที่พระองค์ครอบครองก็เป็นอาณาจักรเล็กๆ ไม่ใหญ่โตอะไร แคว้นศากยะนี้มันเป็นแคว้นเล็ก ความจริงก็อยู่ในอำนาจของแคว้นโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลครอบงำอยู่ เหมือนกับว่าบางประเทศ ประเทศใหญ่ครอบงำ เพราะว่าเล็ก แม้จะทำอะไรก็ทำได้เฉพาะในขอบเขต จะไปทำที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะเป็นการล่วงล้ำอธิปไตย อาจจะเป็นเหตุให้เกิดการขัดแย้งกันในทางการเมือง ก็ทรงคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน ก็มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือเป็นนักบวช
เพราะนักบวชนี่เป็นของโลก เป็นของประชาชนชาวโลก ไม่ใช่เป็นของชาติใดชาติหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่เป็นของรัฐใดรัฐหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นของโลก สามารถที่จะเดินเข้าไปในเมืองใดก็ได้ ในแคว้นใดก็ได้ ไม่มีใครกีดกัน มีโอกาสที่จะไปสั่งสอนแนะนำคนเหล่านั้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง เลยตัดสินพระทัยว่าต้องบวช แต่ว่าก่อนจะตัดสินนั้นก็ได้เห็นนักบวช ในวันที่เสด็จชมเมือง พอเห็นนักบวชท่านก็ว่า “เอ้อ เข้าทีดี” เปล่งวาจาว่า (15.18 สาธุผู้ปัพพัชชา) แปลว่าบวชนี้ดี หรือพูดง่ายๆว่าเป็นนักบวชนี้เข้าที ไม่มีภาระกังวลห่วงใย ไปโดดเดี่ยว สามารถจะทำงานอะไรได้กว้างขวาง ก็เลยตัดสินพระทัยออกบวช การออกบวชนั้นแหละเป็นเหตุให้ได้พระนามว่า ภะคะวา หรือเขาเรียกว่า ภะคะวัน หมายความถึงผู้มีกรุณาอันยิ่งใหญ่
การออกบวชของพระองค์ไม่ใช่เรื่องเล็ก ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะว่าคนเราทั่วไปนั้นย่อมติดอยู่ในสิ่งที่เป็นความสุขความสบาย พระองค์เป็นเจ้าฟ้าชาย เป็นมกุฎราชกุมาร มีที่อยู่สบายถึง ๓ ปราสาท ปราสาทหนึ่งเหมาะฤดูหนาว อีกหลังหนึ่งสำหรับฤดูฝน อีกหลังหนึ่งสำหรับฤดูร้อน สบายมาก ถ้าเป็นคนธรรมดาเราๆท่านๆ ก็คงจะติดอยู่ในความสบายนั้น จะไม่ออกไปนั่งใต้ต้นไม้ นุ่งผ้าเก่าๆขาดๆ รับอาหารจากชาวบ้านที่ยากๆจนๆมาเสวย คงทำไม่ได้ เพราะว่าติดในความสุขความสบาย
น้ำใจที่ตัดสินใจออกบวชนั้นไม่ใช่ใจเล็กๆ เขาเรียกว่าเป็นใจใหญ่ เป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเราทั้งหลายผู้เกิดมาในภายหลัง ถ้านึกคิดพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า พระองค์เสียสละอันยิ่งใหญ่ เขาจึงใช้คำว่า (17.13 มหาพิเนก/// มหาพิเนก///) แปลว่าการออกที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ธรรมดา ถ้าเป็นคนจนๆออกบวชก็ไม่มีอะไรเสียสละ หรือว่าเป็นคนไม่มีสมบัติอะไร แต่ออกไปทำกิจสอนคนก็ไม่แปลกประหลาดอะไร แต่นี่พระองค์มีทุกอย่าง สมบูรณ์ทุกอย่าง ทิ้งหมด ความสมบูรณ์เหล่านั้นทิ้งหมด แล้วไปอยู่อย่างไม่สมบูรณ์เลย ไม่มีอะไร จากความมั่งมีไปสู่ความจน จากความสบายไปสู่ความไม่สบาย กลายเป็นเหมือนว่าพลิกฝ่ามือเลยทีเดียว เปลี่ยนสภาพชีวิตไปเป็นคนละรูป ออกไปอยู่ในป่า
ในวันที่ออกบวชใหม่ๆนี้ อาหารมื้อแรกที่ไปบิณฑบาตได้มาจากชาวบ้านแถวนั้น ก็เป็นบ้านป่า อาหารบ้านป่าธรรมดาของคนอินเดียก็ไม่วิเศษวิโสอะไร เรียกว่าพอรับประทานได้ ฝืดๆคอหน่อย กว่าจะฉันลงไปได้นี่ก็ต้องว่ากันเสียหลายนาที ต้องพิจารณานาน ต้องสอนตัวเองอย่างมาก ด้วยการพูดกับตัวพระองค์เองว่า เธอไม่ใช่เจ้าชายแล้ว เป็นนักบวช ถือบาตรไปขออาหารชาวบ้าน นุ่งผ้าแบบนักบวช นั่งบนดินบนทราย นอนใต้ต้นไม้ เป็นคนไม่มีสมบัติอะไร อาหารที่ชาวบ้านให้นี้เป็นอาหารที่ดีที่สุดของเขา เขาให้แก่นักบวช เป็นนักบวชก็ต้องฉันอาหารนี้ได้ ถ้าเป็นเจ้าชายมันก็ฉันไม่ได้ แต่เวลานี้เธอไม่ได้เป็นเจ้าชายอย่างเมื่อก่อนแล้ว แต่เธอเป็นนักบวช สภาพชีวิตเปลี่ยนไปแล้ว ก็ต้องรับสิ่งที่พอจะรับได้ ต้องพิจารณาพูดจากับพระองค์เอง แล้วก็เสวยพระกระยาหารนั้นด้วยความฝืดๆ แต่ก็เสวยพออยู่ได้ จะได้ใช้ร่างกายนี้เป็นพาหะสำหรับศึกษาค้นคว้าต่อไป
อันนี้น่าคิด เราทั้งหลายน่าคิด ถ้าเรารับประทานอาหาร เกิดมันไม่ชอบใจไม่สบายใจ ก็เอาหลักการของพระพุทธเจ้ามาใช้ ว่าพระพุทธเจ้าลำบากกว่าเรา อาหารไม่เหมือนอย่างนี้ รสชาติไม่ได้เรื่อง แต่พระองค์ก็ฉันได้ เราได้อย่างนี้ก็ดีแล้ว แล้วก็รับประทานด้วยความพอใจ ความพอใจนั่นแหละมันเป็นรสชาติอย่างยิ่ง ไม่ว่าอาหารอะไร ถ้าเราพอใจรับประทานแล้วมันเป็นอาหารวิเศษ อาหารวิเศษรสอร่อย แต่ถ้าเราไม่พอใจมันก็ไม่ได้เรื่อง หรือว่าเราไม่หิวมันก็ทานไม่ได้ แต่ถ้าหิวอะไรๆก็ใช้ได้ทั้งนั้น เราก็ฉันได้ แล้วก็อยู่อย่างธรรมดา อย่างแบบนักบวช
แต่เราไปเห็นนักบวชในประเทศอินเดียในยุคปัจจุบัน เป็นอยู่อย่างง่ายๆไม่มีสมบัติอะไรเลยนักบวช มีผ้าน้อยชิ้น บางคนก็มีแต่ผ้านุ่ง ไม่มีผ้าห่ม บางคนหนักไปกว่านั้น ไม่นุ่งเลย เดินล่อนจ้อนใครจะดูใครจะอะไร เฉยๆไม่ว่าอะไร วางใจเป็นเฉยได้ เป็นปกติ เขาฝึกมาอย่างนั้น นั่งตรงไหนก็ได้ นอนตรงไหนก็ได้ ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับร่างกาย แต่มีความคิดมากๆในเรื่องธรรมะ ถ้าแบบที่เรียกว่าเป็นอยู่อย่างต่ำ แต่กระทำอย่างสูง คือคิดค้นเรื่องธรรมะเพื่อนำไปสอนคน ชาวบ้านเขาก็ยินดีรับฟังเสียงของนักบวช เขาไม่คำนึงว่านักบวชจะเป็นอย่างไร เขาคิดแต่ว่าเสียงที่ออกมาจากปากนักบวชนั้นเป็นคำแนะนำให้เราปรับปรุงชีวิตให้เราคิดถูก พูดถูก ทำถูก ชีวิตจึงจะได้เรียบร้อย เขาก็ฟังด้วยความตั้งใจ เขามีความเคารพต่อบุคคลประเภทอย่างนั้น ก็ถือว่า ถึงอย่างไรอย่างไรท่านก็สละได้ ดีกว่าเราที่ยังพัวพันด้วยปัญหาต่างๆ ยังมีเรื่องยุ่งอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่พระท่านเหล่านั้นไม่ยุ่ง เราก็เลื่อมใสศรัทธา
การออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่โลกจนกระทั่งทุกวันนี้ ถ้าเรานึกไปให้มันกว้างกว่านั้น นึกว่าถ้าพระพุทธเจ้าไม่เกิดขึ้นในโลกนี้จะเป็นอย่างไร พุทธศาสนาก็ไม่ปรากฎแก่ชาวโลก ชาวโลกก็จะเป็นอยู่อย่างชนิดที่เรียกว่าไม่เข้าใจเรื่องชีวิตถูกต้อง ไม่ค่อยจะเกิดปัญญาสว่างไสวในทางธรรมะ เป็นอยู่อย่างชนิดที่เรียกว่าต้องวิงวอนขอร้องบนบานศาลกล่าวไหว้เจ้าไหว้ผี อะไรกันไปตามเรื่อง เพราะไม่มีคำสอนที่ทันสมัยทันเหตุการณ์ เราก็อยู่ในสภาพมืดบอด เดินอย่างคนบอดมันลำบาก แต่เดินอย่างผู้มีตาสว่างนี้มันง่าย ไม่สะดุดตอไม้ ไม่ตกหลุม ไม่เหยียบสิ่งโสโครก ชีวิตดีขึ้น
แต่ว่าในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทในยุคนี้ ก็ยังมีความบกพร่องอยู่บางประการ คือยังไม่เข้าถึงเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา ยังนับถือแต่เพียงประเพณีพิธีต่างๆที่ทำกันมา บรรดาประเพณีพิธีต่างๆนั้นไม่มีในครั้งพระพุทธเจ้า แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคหลัง เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วตั้ง ๑,๐๐๐ ปีก็ว่าได้ จึงเกิดอะไรๆขึ้นมากมาย แล้วก็สืบต่อกันมา เราก็ทำตามกันมาอย่างนั้น ยังไม่ค่อยจะเข้าถึงเนื้อแท้ของคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันนี้ต้องช่วย พระเรานี้ต้องช่วยกัน ปอกเปลือกที่หุ้มห่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้โยมได้เห็นเนื้อใน เหมือนช่วยกันปอกทุเรียนให้ได้เห็นเนื้อในของทุเรียนแล้วได้รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกห่อหุ้มด้วยพิธีขนบธรรมเนียมอะไรหลายอย่างหลายประการ คนก็จะติดอยู่ในสิ่งนั้นไปทำเฉพาะสิ่งนั้นแต่ไม่เดินต่อไปให้ถึงเนื้อแท้ของสัจธรรม จึงไม่ได้รับผลจากพระธรรมเต็มเม็ดเต็มหน่วย ยังไม่สามารถจะเอาพระธรรมมาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาชีวิต เพราะเราไม่เข้าถึงสิ่งนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันแก้ไข ต้องช่วยกันชี้แจงแสดงเหตุผลให้ญาติโยมเข้าใจ
พระเราจะต้องลุกขึ้นก้าวไปข้างหน้าทำงานแข่งกับเวลา เพื่อพัฒนาจิตใจญาติโยมให้เข้าถึงสิ่งถูกต้อง ไม่ใช่ทำสักแต่ว่าทำตามประเพณีเพียงเท่านั้น แต่ต้องรู้ ให้เขารู้ให้เขาเข้าใจว่าทำทำไม ทำเพื่ออะไร ทำแล้วจะได้อะไร นี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสอน คนสอนยังมีน้อย ไม่พอใช้ จึงต้องสร้างนักสอนขึ้นเพื่อให้ช่วยกันสอนญาติสอนโยม ให้โยมได้เกิดปัญญาเกิดความรู้ความเข้าใจ พูดตามแบบท่านเจ้าคุณพุทธทาสก็พูดว่า เรามาช่วยกันเป็นพุทธทาส ทุกคนมาช่วยกันเป็นพุทธทาส
คำว่าเป็นพุทธทาสนั้นหมายความว่า ช่วยกันทำงานอย่างจริงจัง ตามหลักการของพระผู้มีพระภาคเจ้า ธรรมวินัยอันใดที่พระองค์สอนไว้ให้พุทธบริษัทปฏิบัติ แต่ว่ามันมีอะไรบางอย่างมาหุ้มมาห่อ มองไม่เห็นสิ่งนั้น เราก็ต้องช่วยกันปอกสิ่งที่หุ้มห่อนั้นออกไปให้เห็นว่าข้างในนั้นเป็นอะไร แล้วก็ช่วยกันศึกษาทำความเข้าใจเอาไปปฏิบัติ เรื่องนี้ก็จะเป็นที่เข้าใจกัน แต่ว่าการกระทำดังกล่าวนั้นยังน้อย ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะไม่มีการปลุกใจ ไม่มีการเร่งเร้า ความคิดนึกหรือความสำนึกในหน้าที่การงานอันเราจะพึงปฏิบัติจึงเป็นอยู่อย่างเฉื่อยชา ชักช้า
ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าต้องเป็นคนตื่นตัว ว่องไว ก้าวหน้า จึงจะถูกต้อง แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เฉื่อยชา ชักช้า ไม่ค่อยลืมตาดูโลก ไม่ใช้หูฟังเสียงของโลก ไม่ใช้ปากให้เป็นประโยชน์ในการพูดจาสิ่งถูกต้อง เพื่อทำความเข้าใจแก่ประชาชนพลโลกทั้งหลาย อันนี้แหละคือความเสียหาย เราจึงต้องตื่นตัว ลุกขึ้น นึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าให้มาก นึกถึงคำสอน นึกถึงแนวทางปฏิบัติ นึกถึงวิธีการปฏิบัติเผยแผ่พระธรรมแก่ประชาชนของพระองค์ แล้วเราก็มาใช้ให้เต็มที่ การทำอย่างนั้นได้เรียกว่าเราเป็นพุทธทาส เป็นผู้มอบกายถวายชีวิตแด่พระองค์ แล้วก็ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์บอกให้ทำ ไม่ทำเพียงเพื่อลาภ เพื่อสักการะ หรือทำสักแต่ว่าพอผ่านพ้นไป แต่ทำด้วยมีจุดหมาย ทำด้วยความเพียร ทำด้วยความอดทน ทำด้วยความตั้งใจมั่น แน่วแน่ในอุดมการณ์ ไม่เปลี่ยนแนวทาง
เมื่อตั้งใจว่าจะไปทางนี้ซึ่งเป็นทางถูกทางชอบที่พระองค์ชี้ไว้แล้ว เดินบุกเรื่อยไม่ย่อท้อ ไม่ถอยหลัง ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรคใดๆที่จะเกิดขึ้น มีความคิดแน่วแน่ พระผู้มีพระภาคเคยตักเตือนว่า ภิกษุทั้งหลายเมื่อเธอจะเดินไปสู่จุดหมายคือความดับทุกข์ ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้นเธอจะหยุดไม่ได้ ท้อแท้อ่อนแอก็ไม่ได้ ต้องมีความเข้มแข็งก้าวหน้าต่อไปด้วยสติด้วยปัญญาจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง อันนี้สำคัญมาก ไม่เฉพาะแต่พระเท่านั้น แม้ญาติโยมชาวบ้านก็ต้องเอาหลักการนี้ไปใช้
อยู่อย่างมีเป้าหมาย รู้จักทางไปสู่เป้าหมายแล้วพยายามเดินไปตามทางที่จะไปสู่สิ่งนั้น เมื่อยังไม่ถึงปลายทาง ไม่หยุด ไม่ท้อถอย ไม่อ่อนแอ ไม่ปล่อยวางสิ่งนั้น ทำต่อไปๆ ก็จะถึงจุดหมายที่ต้องการได้ พร้อมกับว่าถ้าเธอเดินไม่หยุด เธอก็จะถึงจุดหมายที่เธอตั้งใจไว้ อย่างว่าเราเป็นพุทธทาส เรามอบกายถวายชีวิตแด่พระองค์ แด่ธรรมะที่พระองค์สอนไว้ ปฏิบัติตามแนวทางพระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อสร้างสิ่งถูกต้องให้เกิดขึ้นในโลก ให้เกิดขึ้นในสังคม อันนี้จึงจะเป็นการถูกต้อง สมกับเราเป็นลูกศิษย์พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ เรื่องความเป็นพระอรหันต์นี้มันไม่ใช่ของ มีคนต้องการมานานแล้ว ชาวอินเดียมีอุดมการณ์ว่าต้องเป็นพระอรหันต์ แต่พระอรหันต์ของเขานั้นเป็นอย่างไรเขาไม่ค่อยจะเข้าใจ ไม่รู้ความหมายถูกต้อง ก็นึกว่าคนนั้นเป็นพระอรหันต์ คนนี้เป็นพระอรหันต์อะไรกันต่างๆ เช่นว่า มีใครคนหนึ่งไปค้าขายทางเรือ เรือแตกเพราะถูกลมพายุในอ่าวเบงกอล แล้วก็ตัวล่อนจ้อนขึ้นมานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ คนมาเห็นเข้าก็ว่านี่พระอรหันต์ เพราะไม่นุ่งผ้า เพราะว่าสันโดษ พอใจในสิ่งที่มีที่ได้ คนก็มาไหว้กันใหญ่มาบูชามาสักการะ โดยสำคัญว่าเป็นพระอรหันต์ ผู้นั้นก็นึกในใจว่ากูเป็นอย่างนี้ก็ดีแล้ว เพราะว่ามีของกินของใช้สมบูรณ์ ก็เลยเป็นต่อไป นั่งเป็นอยู่อย่างนั้น แต่มีคนคนหนึ่งมาเห็นเข้า เลยเข้าไปกระซิบบอก “นี่ท่าน ไม่ได้ความแล้วนะ ท่านไม่ได้เป็นอะไร ท่านเป็นคนยากจนเพราะเรือแตกเท่านั้นเอง แล้วมานั่งอยู่ตรงนี้คนหลงผิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์ มันโง่นะ พระอรหันต์จริงๆมีอยู่ในโลกคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปหาเถิดท่านจะได้รู้ว่าพระอรหันต์ที่แท้เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นอย่างไร” นายคนนั้นแกก็ดี พอมีคนไปกระซิบบอกอย่างนั้นแกก็รู้สึกตัวว่าเรานี่กลายเป็นคนหลอกลวงชาวบ้านให้เขาเข้าใจผิด พอค่ำคืนนั้นแกก็หนีไปเลย เดินทางออกจากสถานที่นั้นไปหาพระพุทธเจ้า พบพระผู้มีพระภาคได้รับฟังคำสอนที่ถูกต้องแล้วตั้งใจปฏิบัติบรรลุเป็นพระอรหันต์ พ้นจากปัญหาไปได้ อย่างนี้ก็มี คนมันเข้าใจผิดกัน
ชฏิล ๓ พี่น้อง ที่เป็นชฏิลอยู่ในอาศรมริมแม่น้ำเนรัญชราก็เคยเหมือนกัน เวลาพระผู้มีพระภาคเจ้ามาขอพักด้วย บอกว่า
“ไม่ได้ ไม่มีที่พัก”
พระองค์บอกว่า “ในโรงนั้นใครอยู่”
“นาค นาคใหญ่อยู่ ดุนะ นาคนี้ดุมีพิษแรงกล้า”
พระองค์บอกว่า “เราจะเข้าไปอยู่ในนั้น อยู่กับพญานาค”
พวกนั้นก็นึกว่าอวดดี ให้นาคพ่นพิษใส่เสียให้เจ็บไปเลย “เอ้า ได้ เข้าไปอยู่ได้” เข้าไปอยู่ได้เรียบร้อย รุ่งเช้าขึ้น จับเอานาคออกมาให้พวกนั้นดูเสียด้วย พวกนั้นเห็นบอกว่าคนนี้เก่ง แต่ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา ไม่ยอมนะ ก็นึกว่าตัวยังเก่งอยู่ ต้องใช้วิธีการหลายอย่างเพื่อให้คนเหล่านั้นเห็นว่าไม่แท้ ของตัวไม่แท้ ผลที่สุดก็ยอมรับว่าพระองค์เป็นพระอรหันต์ ตัวไม่ใช่ ก็เลยบวชเป็นลูกศิษย์ แล้วก็ได้ฟังธรรมคำสอนที่เรียกว่า อาทิตตปริยายสูตร สูตรว่าด้วยของร้อน แล้วก็บรรลุมรรคผลไปตามๆกัน ได้เป็นพระอรหันต์ตัวจริงเสียที อันนี้เป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นว่าคนในประเทศอินเดียนั้น เขามีความหวังว่าพระอรหันต์จะเกิดขึ้น ถ้าใครทำอะไรแผลงๆก็จะสมมุติกันว่าคนนี้หละพระอรหันต์
ในเมืองไทยเรานี้ก็เหมือนกัน เวลานี้พระอรหันต์เยอะ พระองค์ไหนปฏิบัติเคร่งครัด อยู่ในป่าในดง ไม่พูดไม่จากับใคร ชาวบ้านว่าพระองค์นี้เป็นอรหันต์ ว่าเอาเองทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่ใครว่า แล้วชาวบ้านก็เล่าลือกันไปบูชา ไปสักการะ จนพระอรหันต์ไม่ได้หลับได้นอน ชาวบ้านมายุ่ง แล้วบางทีก็ไปขอพิมพ์รูป เอามาปั๊มเหรียญขายเสียด้วย เป็นอย่างนั้น นี่แหละเขาเรียกว่าไม่เข้าใจ ว่าที่แท้นั้นเป็นอย่างไร แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเกิดขึ้นในโลก เพราะการตรัสรู้ธรรมะ พระองค์ไม่ได้ประกาศว่าเราเป็นพระอรหันต์อะไรหรอก แต่ว่าได้พูดจาทำความเข้าใจให้พวกนักบวชในประเทศอินเดียเก่าๆนั้นเข้าใจว่าธรรมะที่แท้นั้นเป็นอย่างไร ตัวนิพพานนั้นเป็นอย่างไร ความสงบที่แท้นั้นเป็นอย่างไร ชี้ให้เห็นชัดขึ้นมา ท่านเหล่านั้นก็เข้าใจความหมาย แล้วก็มาบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นๆดังปรากฎในประวัติของพระพุทธศาสนา
เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็เรียกว่าดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ไฟที่มันเผาอยู่ในใจของเราแต่ละคนนั้นมี ๒ อย่าง เรียกว่าไฟกิเลส แล้วก็ไฟทุกข์ เพลิงกิเลสกับเพลิงทุกข์ เพลิงกิเลสนั้นเป็นเหตุให้เกิดเพลิงทุกข์ ถ้าไม่มีเพลิงกิเลสมันก็ไม่มีเพลิงทุกข์ เพลิงทุกข์จึงเป็นตัวผล เพลิงกิเลสนั้นเป็นตัวเหตุที่จะให้เกิดเพลิงทุกข์ขึ้นมาในใจของเรา คือเรามันถูกเผาไหม้ด้วยกิเลสประเภทต่างๆ
ดังปรากฎในอาทิตตปริยายสูตร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า (38.00) ตาเป็นของร้อน รูปเป็นของร้อน ความรู้ทางตาเป็นของร้อน ความสัมผัสที่เกิดจากตาก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะราคะ ความกำหนัดยินดี ร้อนเพราะโทสะ ความไม่ยินดีในสิ่งนั้น ร้อนเพราะโมหะ คือความหลง สิ่งนี้ทำให้ร้อน ราคะ โทสะ โมหะนี้เป็นกิเลส เป็นไฟที่ทำให้เกิดร้อนขึ้นในใจของเรา เราต้องมาศึกษาจากตัวเราเอง ว่าเวลาเราเกิดความต้องการอะไร อยากได้อะไร มันร้อนหรือไม่ เรียนธรรมะต้องเรียนจากตัวเอง ขั้นแรกก็เรียนจากหนังสือ เรียนจากการฟังผู้อื่น แต่ความรู้ที่แท้จริงนั้นต้องรู้จากตัวเราเอง จากประสบการณ์ของเราเอง เช่นท่านบอกว่าไฟราคะเป็นของร้อน เราก็ต้องมองดูสภาพจิตใจของเรา ว่าเวลาใดราคะเกิดขึ้นนี่มันร้อนหรือเปล่า
ราคะนั้นมีสภาพอย่างไร มีความพอใจยินดีเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งนั้น อยากได้สิ่งนั้น อยากได้รุณแรงก็ถูกเผาแรง อยากได้น้อยๆก็เผาพออุ่นๆ แต่ถ้าแรงขึ้นๆ ก็เผาให้เรานั่งไม่ได้ นอนไม่ได้ ผุดลุกผุดนั่งกระสับกระส่ายเพราะไฟมันเผาลนจิตใจ ทำให้ร้อน แล้วมันร้อนจริงหรือไม่ โยมคิดดู เช่นเราอยากไปตลาด แล้วไม่ได้ไป มันร้อนไหม เพราะจิตไม่ถึงตลาด กลัวตลาดจะปิด มันร้อนไหม พอไปถึงเขาขายหมดแล้ว กูมาช้าไม่ได้ซื้อ ก็ร้อน แล้วมานั่งร้อนอยู่ที่บ้านว่า เสียดายไม่ได้ไปซื้อสิ่งนั้น เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น เมื่อวานนี้ลูกชายนำพ่อมา ลูกชายนั้นมาวัด แต่พ่อไม่ค่อยมา แทนที่พ่อจะนำลูก ลูกกลับนำพ่อ พอมาก็บอกว่า
“คุณพ่อผมมักจะไม่ค่อยสบาย”
เลยถามว่า “โยมเป็นอย่างไร สุขภาพกายเป็นอย่างไร”
“ก็อย่างนั้นแหละครับ คนแก่”
“สุขภาพจิตเป็นอย่างไร”
“ไม่ค่อยดี มีความทุกข์”
“ทุกข์เรื่องอะไรโยม”
“ผมเมื่อก่อนนี้จะไปซื้อบ้านอยู่สักหลัง และไปดูที่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง ไปดูแล้วก็พอใจ ภูมิประเทศก็ดี อะไรสิ่งแวดล้อมดีทุกอย่าง เงินผมก็มี แต่ผมไม่ได้ซื้อ เมื่อไม่ได้ซื้อ คนอื่นก็มาซื้อเอาไปเสีย ผมผ่านตรงนั้นทีไรมันเสียใจ เสียใจว่าไม่ได้ซื้อไว้ เป็นทุกข์อยู่จนบัดนี้ แม้ไปอยู่บ้านดีๆจิตมันก็คิดถึงบ้านหลังนั้น แล้วก็เป็นทุกข์”
เป็นทุกข์กับบ้านที่ยังไม่ได้ซื้อ เพราะคนอื่นมาซื้อเอาไปเสีย นั่นแหละ ไฟราคะมันเผาใจอยู่ แล้วบอกว่า
“ทำยังไง”
“ก็อย่าไปคิดถึงมัน”
“มันมาเอง นั่งอยู่ดีๆมันผลุบขึ้นมา บ้านหลังนั้นมันดี มันเรียบร้อย มันน่าซื้อ ไม่ได้ซื้อ เสียใจอีกไม่สบายใจเพราะบ้านหลังนั้น”
แล้วบอกว่า “โยม โยมคิดให้ดีนะ ไอ้ที่โยมคิดเป็นทุกข์เพราะบ้านหลังนั้นได้อะไรบ้าง ถามตัวโยมเองว่าโยมได้อะไรบ้าง เวลาเป็นทุกข์เพราะไม่ได้ซื้อบ้านหลังนั้นมันได้อะไร”
“ก็ไม่ได้อะไร ได้ความทุกข์”
“แล้วมันเรื่องอะไรให้ไปแส่หาเรื่องให้เป็นทุกข์ล่ะ”
นี่แหละคนโบราณเขาเรียกว่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน เสี้ยนมันอยู่ในกองขยะไปแกว่งหาให้มันตำเล่น หรืออีกคำหนึ่งก็ว่า ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ตะเข็บตะขาบมันอยู่ในกองขยะมูลฝอย มันก็อยู่นิ่งๆเงียบๆนะ เอานิ้วชี้ไปเที่ยวเขี่ยๆให้มันตกใจแล้วมันกัดให้ อ้าวปวดๆๆๆ ปวดจนนิ้วบวม ตะขาบกัดนี่นิ้วบวม นี่เรียกว่าแส่ไปหาความทุกข์ คนเรามันอย่างนั้นอยู่ว่างๆไม่มีอะไรทำ ก็ไปแส่หาเรื่องให้เป็นทุกข์
คิดถึงเรื่องที่ล่วงไปแล้วเป็นทุกข์ คิดถึงเรื่องที่ยังไม่มาถึงด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจก็เป็นทุกข์ แล้วบอกว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าไปคิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้วด้วยอาลัย (43.10 อตีตังนัง) บอกว่าอย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้วด้วยเสียดาย ด้วยอาลัย
จานมันแตกไปหลายวันแล้ว นั่งๆอยู่นึกเสียดาย ใบนั้นราคามันแพงนะ หายากนะ เป็นของโบราณนะ คิดแล้วเป็นทุกข์ พอคิดแล้วไม่สบายใจ ก็คิดถึงจานใบนั้นนี่เราเรียกว่านึกถึงสิ่งที่ล่วงแล้วด้วยความอาลัยก็เป็นทุกข์ นึกถึงเรื่องที่ยังไม่มาถึง ไอ้ลูกคนนั้นไปอยู่ที่นั่นไม่รู้มันจะเป็นยังไงนะ จะอะไรต่ออะไรเที่ยวคิดฟุ้งเรื่อยๆแล้วก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ถึงเรื่องลูก เรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่องเรือกสวนไร่นา เรื่องเงินเรื่องทอง ที่มันไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นไฟมันจะไหม้บ้าน โจรจะปล้น ไอ้นั่นจะเป็นอย่างนั้น ไอ้นั่นจะเป็นอย่างนี้ อ้าว กลุ้มใจ เป็นทุกข์ ที่ว่าคิดถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึงด้วยความเป็นทุกข์ ผิดทั้งคู่
พระองค์สอนให้คิดอย่างไร ให้คิดเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าด้วยปัญญา คิดด้วยปัญญาก็ถึงจะ อ้อ สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่มันไม่เที่ยง มันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตามสภาพ ขณะนี้มันเป็นอย่างนี้ แต่ไม่เท่าไรมันอาจจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปก็ได้ มันถ้ามันเป็นอย่างอื่นไปก็อย่าไปเสียดมเสียดายอย่าไปเป็นทุกข์กับมันเลย เพราะธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น บอกตัวเองให้คิดให้มีปัญญา แล้วความทุกข์มันก็จะลดน้อยลงไป
โยมๆนี่มีความทุกข์แบบนั้นหรือเปล่า เพลิงแบบนั้นมันเผาบ้างหรือเปล่า เผาให้เป็นทุกข์ เพลิงกิเลส คือราคะ ความกำหนัด โทสะ ความประทุษร้าย โมหะ ความหลง ริษยา ไม่อยากให้ใครได้ดิบได้ดี นั่นก็เป็นเพลิงประเภทหนึ่ง แล้วก็เพลิงกองเล็กกองน้อยเอามาสุมไว้รอบตัว นั่งร้อนอยู่ทุกวันแหละ เยอะแยะ
เราต้องรู้จักเพลิง รู้จักเหตุที่จะให้เกิดเพลิงขึ้น และรู้ว่าเพลิงนั้นมันทำให้ร้อนอย่างไร ให้เห็นโทษของมัน และให้รู้ว่าจะหนีจากกองเพลิงอย่างไร หรือจะป้องกันไม่ให้เพลิงมันลุกขึ้นไหม้เราอย่างไร จึงจะเอาตัวรอด มันต้องเป็นอย่างนั้น ทีนี้ศึกษาเรื่องอย่างนี้ก็ต้องศึกษาจากประสบการณ์ในชีวิตของเรา เพราะสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละเรื่องนั้น เป็นบทเรียนทั้งนั้นสอนใจให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง อย่าปล่อยให้อะไรเกิดขึ้นผ่านไปเฉยๆ แต่ต้องหยิบสิ่งนั้นขึ้นมาพิจารณาด้วยสติปัญญา
ใช้สติปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา มองให้มันลึก ให้แทงตลอดในสิ่งนั้น จนเข้าใจสิ่งนั้นถูกต้องว่ามันเป็นอะไร เนื้อแท้มันเป็นอย่างไร ให้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง เพลิงจะไม่เกิดขึ้นรบกวนจิตใจหรอก เราก็อยู่ด้วยความสงบไม่วุ่นวาย เพราะไม่มีเพลิงกิเลสและก็ไม่มีเพลิงทุกข์ เพลิงทุกข์มันเกิดจากเพลิงกิเลส เกิดจากความโลภ เกิดจากความโกรธ ความหลง ความริษยา ความพยาบาท ความแข่งดี ความถือตัว มีมากมาย ของเล็กของน้อย ทำให้เราร้อนทั้งนั้นแหละ เราต้องรู้จักลักษณะเพลิง รู้จักการเกิดของมันแล้วก็รู้ว่าเมื่อมันเกิดแล้วมันร้อนขนาดไหน เป็นทุกข์ขนาดไหน ให้รู้ไว้ แล้วก็ป้องกันอย่างไรไม่ให้มันเกิด ก็ต้องใช้ธรรมะเป็นเครื่องป้องกัน
สติปัญญานั่นแหละ ป้องกันไว้ ด้วยการพิจารณาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา หรือพิจารณาที่ตรง คือที่ใจของเราว่าอะไรมันเกิดขึ้น ความกำหนัดเกิดขึ้น มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ มีอะไร มีนิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งเกิดขึ้น มันเกิดมาจากอะไร อะไรเป็นเหตุให้เกิดตัวนี้ แล้วเราก็หาทางขจัดสกัดทางเดินของสิ่งนั้นไม่ให้เข้ามาสู่ใจของเรา ใจก็จะอยู่ในสภาพสงบ เพราะธรรมชาติของจิตนั้นมีความสงบอยู่ สะอาดอยู่ สว่างอยู่ แต่เศร้าหมองเพราะสิ่งที่ซ้อนเข้ามา สิ่งที่ซ้อนเข้ามาก็คืออารมณ์เรียกว่ารูป เสียง กลิ่น รส สิ่งกระทบประสาทแล้วเข้าไปถึงใจ ใจเราก็ปรุงแต่ง
เออ ไอ้นี่น่ารัก กูอยากได้ สร้างกองทุกข์ขึ้นแล้ว สร้างกองเพลิงขึ้นแล้ว
ไอ้นี่กูไม่ชอบ ไม่อยากได้ ก็เป็นทุกข์อีกเหมือนกัน
อยากได้ก็เป็นทุกข์ ไม่อยากได้ก็เป็นทุกข์
อยากดึงเข้ามาก็เหนื่อย ผลักออกไปมันก็เหนื่อยเหมือนกัน
คนเรามันอยู่อย่างนั้น ดึงเข้า ผลักออก ของชอบดึงเข้ามา เวลาดึงก็ต้องออกแรง เวลาผลักออกก็ต้องออกแรงเหมือนกันเหนื่อยทั้งคู่ อ่อนเพลียทั้งคู่ อันนี้จะอยู่อย่างไรอยู่ด้วยปัญญารู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร แล้วไม่เอาเข้ามา ไม่ต้องผลักออกไป ให้เห็นว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอยู่อย่างนั้น เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันเป็นไปตามเรื่องของมัน เราอย่าไปเกี่ยวข้องกับมัน
เพียงแต่รู้ๆไว้ด้วยปัญญา อย่าเอาใจเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่าไปนึกว่าของฉัน ฉันอยากได้สิ่งนั้น ฉันไม่อยากได้สิ่งนี้ นี่มันยุ่ง เอาฉันเข้าไปเกี่ยวข้องอย่าเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรๆวางใจเป็นกลางไว้ แล้วพิจารณาว่าสิ่งนั้นกำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราจะไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่งว่าเป็นตัวเราก็ไม่ได้ เป็นของเราก็ไม่ได้ เพราะจับแล้วมันทุกข์ทั้งนั้น ถ่านไฟนี่แม้เย็นแล้วก็ยังร้อน กำลังแดงอยู่ก็ร้อน ลุกเป็นเปลวอยู่ก็ร้อน อย่าไปยุ่งกับมัน แต่รู้ว่าไอ้นี่ถ่านไฟเป็นของร้อนอย่าไปจับอย่าไปต้อง ให้เข้าใจอย่างนั้นแล้วเราก็สบาย
นี่การศึกษาเรื่องชีวิตต้องศึกษาอย่างนี้ ไปโดยลำดับ ค่อยทำค่อยไป ให้หมั่นพิจารณาสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในใจของเรา ว่ามันทำให้เราร้อน เราทุกข์อย่างไรแล้วก็ระวังไม่ให้มันเกิด เพราะมันไม่ได้เกิดมาที่ไหน มันเกิดมาในใจของเรานั่นแหละ ให้เรามีสติคอยกันไว้อย่าให้มันเกิด อย่าให้มันปรุงแต่งต่อไป จิตใจก็จะสงบเรียบร้อย แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้