แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนมิถุนายน ๒๕๓๗ วัน คืน เดือน ปี นี้ช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราตั้งต้นดีกันเมื่อมกราคม แล้วก็มาบัดนี้เข้าไปถึงเดือนมิถุนายนแล้ว ชีวิตของเราก็ผ่านไป ตามเวลาที่ผ่านไป เพราะเวลาที่ผ่านไปนั้นไม่ได้ผ่านไปแต่เวลา มันพาเราไปด้วย เราถูกเวลาฉุดคร่าไปทุกวินาทีของชีวิต สิ่งที่เราได้รับจากเวลาที่ผ่านไปก็คืออายุ อายุก็หมายถึงความแก่ของร่างกาย อายุเท่าใดก็หมายความว่าเราแก่เท่านั้น แล้วก็ไปเรื่อยๆตามเวลา ผลที่สุดชีวิตก็ต้องดับไปตามธรรมชาติ ไม่มีใครจะหนีเรื่องนี้ไปได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงสอนให้เราหมั่นพิจารณา ว่าเวลาล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ การที่สอนให้พิจารณาอย่างนั้นก็เพื่อจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเราเกิดมาเพื่อหน้าที่ เราอยู่เพื่อหน้าที่ การมีหน้าที่ทำนั้นเป็นเรื่องสบายใจ แต่ถ้าเราไม่มีหน้าที่อะไรจะทำ ใจไม่สบาย คนที่มีความฟุ้งซ่านก็เพราะว่าไม่มีอะไรจะทำ อยู่เฉยๆ ก็ไม่สบายใจ แต่ถ้าเราได้ทำอะไรเสียบ้าง ใจก็สบาย ใครอยากจะสบายใจต้องหางานทำ งานภายนอกก็ได้ งานภายในก็ได้
งานภายนอกก็คือกิจกรรมต่างๆที่เราทำกันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น เป็นคนค้าขาย เป็นข้าราชการ หรือเป็นอะไรๆตามหน้าที่ที่เราควรจะเป็น เรามีความรู้ เรามีความสามารถเท่าใด เราก็ปฏิบัติหน้าที่นั้นตามความรู้ ตามความสามารถของเรา เมื่อเราได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ เราก็สบายใจ แต่บางคนอาจจะไม่สบายใจ ไม่สบายใจเพราะอะไร เพราะไม่ชอบ งานอะไรก็ตามเป็นงานเบา งานหนัก งานใกล้ งานไกล ถ้าเราไม่ชอบก็ไม่สบายใจ แต่ถ้าเราชอบเราก็สบายใจ
ทำอะไรแล้วไม่ชอบเป็นทุกข์ แล้วการเป็นทุกข์มันได้อะไรบ้าง มันมีอะไรเป็นกำไรแก่ชีวิตของเราบ้าง ถ้าเราพิจารณาแล้วไม่ได้อะไร เป็นการลงโทษตัวเองเปล่าๆ ทำให้ชีวิตของเราเสียสภาพที่ถูกต้อง เรียกว่าเสียสุขภาพกาย เสียสุขภาพจิต เพราะทำชีวิตไม่ถูกต้อง คือไม่พอใจ แล้วก็ไม่สบาย ไม่ได้เรื่องอะไร จึงไม่ควรจะคิดอะไรให้ไม่สบายใจ แต่ควรจะคิดอะไรให้ใจสบาย
การทำใจให้สบายนั้นเป็นการถูกต้อง ทำชีวิตเราให้สมบูรณ์ ให้เรียบร้อย จึงควรจะคิดอย่างไรให้ใจสบาย ทำอะไรก็ต้องพอใจในสิ่งนั้น ตามภาษาพระเรียกว่ามีฉันทะ ฉันทะแปลว่าพอใจ ถ้าเราพอใจแล้วเราทำได้อย่างดี เพราะพอใจแล้วเราก็รักสิ่งนั้น เราขยันในสิ่งนั้น เราเอาใจใส่ในสิ่งนั้น มันมาหมด แต่พอไม่พอใจเท่านั้นแหละ ความเครียดก็เกิดขึ้น ความขี้เกียจก็เกิดขึ้น ความไม่เอาใจใส่ในหน้าที่ก็จะเกิดขึ้น เพราะเราไม่ชอบใจ การไม่ชอบใจนั้นจะเป็นคน เป็นวัตถุ เป็นดิน ฟ้า อากาศ สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา ถ้าเราไม่พอใจแล้วเราก็เป็นทุกข์ ขัดใจ อึดอัด อะไรต่างๆ สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในใจของเรานั้นไม่ได้ให้อะไรแก่เรา ไม่ให้ความเบาใจ โปร่งใจแก่เรา แต่ให้ความหนักใจแก่เรา มันทำลายสุขภาพของตัวเราเอง ทั้งกายทั้งใจ
ผู้ฉลาดจึงไม่หาเรื่องให้กลุ้มใจ ไม่หาเรื่องให้เป็นทุกข์ ถ้าเราเผลอไป เราประมาทไป เราก็เกิดความทุกข์ขึ้น พอเกิดความทุกข์ขึ้นก็รีบรู้ทัน รู้เท่า ให้ทันท่วงที อย่าให้มันลุกลามใหญ่โต เหมือนกับเห็นไฟลุกขึ้นในบ้าน รีบดับ หาน้ำมาดับ หาวัตถุดับไฟมาดับเสีย มันก็จะไม่ลุกลาม แต่ถ้าเรารู้แล้ว ตกใจ งง ไม่ดับไฟ ไฟก็จะไหม้มากขึ้น ผลที่สุดไหม้บ้านหมดทั้งหลัง ข้าวของในบ้านก็พลอยเสียหายไปด้วยฉันใด ในจิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นในใจ เช่น มีความโกรธ มีความเกลียด มีความพยาบาท มีความริษยาในบุคคลอื่น เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมันก็เปลี่ยนสภาพจิตใจเราให้เศร้าหมองทันที ให้เร่าร้อน ให้มืดบอดทันที ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะหามาใส่ใจ ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเลี้ยงไว้ในใจของเรา แต่เป็นเรื่องที่เราต้องกำหนดรู้ ว่ารู้แล้วก็รีบแก้ไข ขับสิ่งนั้นออกไปจากใจของเรา
การกำจัดสิ่งที่ไม่ดี ที่เกิดขึ้นในใจให้หายไปนั่นแหละ เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว เราจะอยู่ที่บ้าน อยู่ที่สำนักงาน อยู่ที่ไหนอะไรก็ตาม ถ้ามีอะไรทำให้เราขุ่นใจ เศร้าหมอง เราก็ต้องรีบรู้ รู้แล้วรีบแก้ไข อย่าให้สิ่งนั้นมันตั้งหลักตั้งฐานลงในใจของเราได้ เราก็เป็นผู้ชนะ เป็นผู้อยู่อย่างปลอดภัย เพราะเราระวังไว้ไม่ปล่อยให้มันลุกลามใหญ่โต อย่างนี้เป็นการถูกต้อง เราจะมีชีวิตสดชื่น ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราจะทำอะไร เราเกี่ยวข้องกับใคร เราก็จะมีแต่ความสดชื่น มีความสุขสดชื่นในชีวิตประจำวัน อันนี้เป็นเรื่องที่ญาติโยมผู้มาศึกษาธรรมะ ควรจะเอาธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวันไว้
การใช้ธรรมะคือใช้ไม่มาก ใช้สติกับปัญญาเท่านั้น สติคือความรู้ทันท่วงทีในสิ่งที่มันเกิดขึ้นในใจของเรา ความโกรธขึ้นเรารู้ทัน ความเกลียดเกิดขึ้นเราก็รู้ทัน ความริษยาเกิดขึ้นเราก็รู้ทัน อะไรที่มันไม่ถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มันเกิดขึ้นในใจของเรา เราก็ต้องรีบรู้ทัน รีบรู้จักมัน พอเรารู้ทันในเรื่องนั้น ปัญญาก็มาทันทีเหมือนกัน เพราะสติปัญญาเขาเป็นเพื่อนกัน เขามักไปไหนไปด้วยกัน คอยช่วยเหลือกัน คอยแก้ไขปัญหาชีวิต แต่ถ้าสติไม่มา ปัญญาก็ไม่มี เพราะว่าสติต้องมาก่อน พอสติคือรู้ทันแล้ว ปัญญาก็มาวินิจฉัยอะไรๆ มาตั้งปัญหาขึ้นถาม อะไรมันเกิดขึ้น อะไรทำให้เราเป็นอย่างนั้น ให้เราเป็นอย่างนี้ ปัญญามาสืบสวนหาสาเหตุของเรื่อง เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องนั้นถูกต้อง แล้วเราก็จะได้แก้ไขปัญหานั้นต่อไป อันนี้คือการเป็นอยู่ด้วยธรรมะในชีวิตประจำวัน
เราไม่ละเลย ไม่เพิกเฉย ไม่ปล่อยให้มันเกิด แล้วมันก็ดับไปเองตามธรรมชาติ เพราะสิ่งทั้งหลายมีเกิด มีดับ มันก็ดับไป แต่ดับไปเราไม่ได้อะไร เพราะเราไม่ได้กำหนดรู้ แต่ถ้าเราได้กำหนดรู้ เราได้กำไร คือเราได้ปัญญา ได้ความเข้าใจในกระบวนการของสิ่งนั้นว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร มันอยู่ในตัวเราแล้ว มันทำให้เราเป็นอย่างไร และเราควรจะเก็บไว้ดี หรือรีบกำจักมันเสียดี เราก็พิจารณาอย่างรอบคอบ
เมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้อง เราก็รีบแก้ไข ชีวิตของเราก็ดีขึ้นๆ มีความสุขมากขึ้น มีความสดใสมากขึ้น มีปัญญารู้ทันต่อสิ่งต่างๆมากขึ้น นี่คือประโยชน์ของธรรมะที่เราจะได้ อาจจะมีปัญหาว่า เช่นบางคนมาถามปัญหาว่า ผมไม่อยู่บ้าน ทำงานทำการ ไม่มีโอกาสจะมาวัด ไม่มีโอกาจะได้ปฏิบัติธรรมะ เขาก็สงสัยอย่างนั้น ก็บอกให้ทราบว่า ธรรมะไม่ได้อยู่แต่ที่วัด มันอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราหยิบมาใช้ได้
แต่ว่าที่ไม่ได้มาวัด มันขาดบางเรื่อง คือไม่ได้สดับฟัง ไม่ได้เรียน ไม่ได้รู้หลักธรรมะจากพระที่จะสอนให้ เราก็เลยไม่รู้ว่าจะใช้ธรรมะอย่างไร ไม่เข้าใจวิธีการของธรรมะ เพราะไม่ได้มาวัด แต่ถ้าเรามาวัด ได้มาฟังคำสอนของพระ อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เราก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ได้เกิดความสำนึกรู้สึกตัวในเรื่องอะไรต่างๆ พอเรามาวัดเราก็เกิดความคิด ในทางที่จะขจัดปัดเป่าสิ่งนั้น ในทางที่จะชำระชะล้างสิ่งนั้น แล้วเราก็เอาชนะมันได้
การมาวัดมันก็ได้ประโยชน์ ควรรีบมา อย่างน้อยก็เดือนหนึ่งมาสักครั้ง ๒ ครั้ง เดือนหนึ่งมันมี ๔ อาทิตย์บ้าง ๕ อาทิตย์บ้าง เราก็ควรมา เช่นว่าวันต้นเดือน หรือวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน เราก็มาฟัง หรือถ้าไม่ได้มาฟัง ก็หาหนังสือไปไว้ที่บ้าน พอมีเวลาว่างก็อ่านหนังสือธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะก็เหมือนกับเราไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เหมือนเราไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้า ได้ฟังเสียงของพระองค์ท่าน เสียงนั้นก็คือธรรมะที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนั่นเอง เป็นสิ่งแทนเสียงของพระพุทธเจ้า เราได้อ่าน ได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ ความเข้าใจ คนที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยการอ่านบ่อยๆจะเป็นคนที่มีสติปัญญาสมบูรณ์ขึ้น มีความรู้อะไรมากขึ้น
หรือมิฉะนั้นสมัยนี้มีวัตถุเครื่องประกอบ คือเทปอัดเสียงธรรมะ เรามีวิทยุใส่เทปได้ อย่าใช้วิทยุเพื่อฟังเรื่องที่เป็นข่าวคราว หรือเรื่องสนุกสนานอย่างเดียว แต่เราใช้วิทยุนั้นเป็นเครื่องเปิดเทปธรมะ เสียงธรรมะดังออกมาเข้าหูเราก็เหมือนกับว่าเราได้ไปนั่งใกล้พระ ได้ฟังเสียงพระ ได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง ก็ได้ประโยชน์ เดี๋ยวนี้นับว่าดีขึ้นมาก เพราะว่าเทปมีอัดเสียงไว้ คนก็เอาไปฟังที่บ้าน ส่งไปเป็นของขวัญแก่เพื่อนฝูงมิตรสหาย เช่นวันเกิดของเพื่อน แทนที่เราจะซื้อเหล้านอกไปให้ เหมือนกับเอาไปทำให้เพื่อนตายไว เพราะดื่มเหล้ามันก็ตายไว เราไม่น่าจะทำอย่างนั้น แต่ว่าเราเอาหนังสือธรรมะ หรือเทปธรรมะห่อสวยๆ ส่งไปเป็นของขวัญ เวลาเขาเปิดห่อนั้นเห็นหนังสือ เขาก็คงจะดีใจ หรือประหลาดใจว่าไอ้เพื่อนคนนี้มันเข้าวัดเข้าวาแล้ว คงจะนึกอย่างนั้น แล้วยังอุตส่าห์เอาธรรมะมาแจกให้ข้า แล้วก็จะเป็นประโยชน์ เพราะเขาอาจจะเปิดฟังเมื่อมีความกลุ้มใจ เมื่อมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ เขาเปิดธรรมะจากเทป ก็จะได้ปัญญา ได้ความรู้ ความเข้าใจ
คนบางคนอายุมาก ตาไม่ค่อยดี อ่านหนังสือไม่ไหว เพราะว่าตามัว อ่านไม่ได้ หูยังดี เราก็เอาเทปไปเปิดให้ฟัง เช่น คุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยาย ที่อยู่ที่บ้าน เอาเทปไปเปิดให้ท่านฟังบ้าง เป็นการสงเคราะห์ผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นการเลี้ยงน้ำใจท่านให้มีความสุข ด้วยการได้ยินได้ฟังธรรมะ ท่านก็อาจจะมีความคิดถูกต้องขึ้น แล้วก็ขอบใจลูกหลานที่เอาธรรมะมาให้ อันนี้ทำได้
เรามีลูกไปเรียนต่างประเทศ ส่งเทปธรรมะไปให้เขาบ้าง เขาจะดีใจมาก เพราะไปอยู่ต่างประเทศนั้น เป็นโรคกระหายของประเทศไทย เรียกว่ากระหายอยากได้ อยากได้หนังสืออ่าน อยากได้เทปธรรมะ อยากจะพบคนไทย อย่างนั้นมีอยู่ วันก่อนก็มีรายหนึ่ง โทรมาถามว่าวัดที่เมืองชิคาโกมันอยู่ตรงไหน ลูกไปเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย ที่เมืองชิคาโก เขาส่งจดหมายมาว่าอยากไปวัด อยากจะไปพบพระ แต่ไม่รู้วัดมันอยู่ตรงไหน เลยไปไม่ถูก อาตมาก็บอกว่า บอกชื่อวัด ตำแหน่งแห่งที่ ถนนหนทางที่จะไปให้ ให้เขาส่งไปให้ลูกชายที่อยู่ที่นั่น
ความจริงมันไปไม่ยากถ้าจะไปหาวัด ถ้าคนขวนขวายจริงๆ ไปที่สถานกงสุล เพราะท่านรองกงสุลท่านเป็นผู้หญิง ท่านมาวัดบ่อยๆ มาวัดที่หลวงพ่อไปอยู่นี้บ่อย มาบ่อยๆ ชวนเพื่อนชวนฝูงมากัน ถ้าเราไปที่นั่น ท่านก็พาไปด้วย นั่งรถท่านไปได้เลย ก็ได้ประโยชน์ อันนี้แสดงว่าคนไปอยู่ต่างประเทศกระหายธรรมะ
บางทีก็ถูกฝรั่งมันต้อนเอา คือมันถามว่าถือศาสนาอะไร เราบอกถือพุทธ ฝรั่งมันก็ถามว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องอะไร ก็ไม่รู้ว่าจะตอบอะไร ตอบว่าให้ถือศีล ๕ ฝรั่งบอก ถือศีล ๕ เท่านั้นเองหรือ พุทธศาสนามีเท่านั้นหรือ มีมากกว่านั้น แต่ว่าฉันไม่รู้ ลำบากใจ ไม่รู้ ก็อยากจะเรียน จะรู้ เพื่อให้เข้าใจ แล้วจะได้ตอบปัญหาฝรั่งที่ถามได้
บางคนอยู่เมืองไทยไม่รู้เลย แต่พอไปอยู่ต่างประเทศ ท่านด๊อกเตอร์คนหนึ่งไปเรียนประเทศเยอรมัน ฝรั่งเขาก็กะเกณฑ์เอาเลย บอกวันเสาร์ที่เท่านั้น เดือนนั้น ให้ท่านมาพูดเรื่องพระพุทธศาสนาในประเทศไทย จะไปพูดยอย่างไร ก็ไม่รู้เรื่องเลย ไปจากเมืองไทยไม่ได้เตรียมตัวไปเลยแม้แต่น้อย ตายแล้วทำอย่างไรดี ก็ไปที่ห้องสมุดใหญ่ของเขา ประเทศฝรั่งนี้มันมีห้องสมุดเกือบทุกถนน เพื่อให้คนได้เข้าไปอ่านหาความรู้ แล้วก็มีเครื่องโรเนียว เครื่องอัดสำเนา อ่านหน้าไหนชอบอกชอบใจก็อัดเอาไปเลย เอาไปอ่านที่บ้าน บางคนขยันอัดตั้งครึ่งเล่ม เพราะเขาให้อัด เสียค่าอัดนิดหน่อย เขาให้ความสะดวกแก่คนที่ใคร่จะศึกษา
ท่านผู้นี้ก็ไปหอสมุดของประเทศ คือไปอยู่เยอรมัน ไปถึงตกใจ ตกใจว่าตายแล้วหนังสือพุทธศาสนาเยอะแยะ แต่เป็นภาษาเยอรมัน เขาแปลไว้เยอะแยะ ก็เลยอ่านใหญ่เลย อ่าน ศึกษาใหญ่ เลยได้รู้จักพระพุทธศาสนา เคยเชิญท่านมาพูดที่นี่ ท่านบอกว่าผมอยู่บ้านไม่รู้เรื่อง แต่ไปถึงฝรั่งมันเกณฑ์ให้ไปพูด จะไปพูดกับมันอย่างไร ก็เลยไปห้องสมุดเจอหนังสือเยอะแยะ เขาแปลไว้ พระไตรปิฎกเขาแปลไว้ทั้งหมด มีเรื่องอื่นๆอีกมากมายเลยอ่านๆๆ แล้วก็รวบรวมเอามาพูดให้ฝรั่งฟังได้ เป็นอย่างนั้น มีบ่อยๆ
แล้วก็มีหลายคนที่มีสภาพเช่นนั้น คือเราอยู่เมืองไทยเหมือนกับอยู่ใกล้ เขาเรียกว่าใกล้เกลือกินด่าง กินด่างมันไม่ได้นะ ตายนะ แต่คนโบราณเขาพูดเหมือนว่า แปลว่าไม่รู้จักของดี ไม่แสวงหา ไม่เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ จึงพูดเปรียบเทียบไว้อย่างนั้น เราอยู่ชินกันก็เลยไม่ค่อยสนใจ คนที่อยู่ใกล้เจดีย์ใหญ่ๆที่สำคัญ เช่นว่าพระธาตุของจังหวัดต่างๆ คนไกลๆมาไหว้ มานมัสการ แต่คนที่อยู่ใกล้เจดีย์นั้น บางคนแก่แล้ว อายุ ๗๐ บอกว่าโยมเคยเข้าไปในพระเจดีย์ไหม ไปไหว้พระไหม ไม่เคย อยู่ใกล้ไม่เคย นี่แหละกินด่าง คือไม่ได้สนใจเลย เพราะว่าเห็นยอดเจดีย์ทุกวัน เลยไม่เข้าไปข้างใน ไม่ไปนั่งสงบใจ ไม่ได้คิดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เลยแม้แต่น้อย คนอื่นเขามาไกล อุตส่าห์มาไหว้ มานมัสการ คนอยู่ใกล้กลับไม่สนใจ
ของที่อยู่ใกล้เราไม่ค่อยจะสนใจ แต่เราไปสนใจของไกลๆตัวไป มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นคนที่ คืออยากจะให้ชีวิตมันดีขึ้น อยากจะให้ชีวิตไม่ค่อยมีปัญหา ไม่มีเรื่องวุ่นวาย ทำได้ เพราะปกติของชีวิตมันก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว สงบอยู่แล้ว สะอาดอยู่แล้ว แต่ว่าที่มันมีปัญหาก็เพราะว่าเราไม่รู้จักใช้ชีวิตของเราเอง เรามีตาใช้ไม่เป็น มีหูก็ใช้ไม่เป็น มีจมูก มีปาก มีอะไรๆใช้ไม่เป็น ใช้หาเรื่อง มีปากก็ใช้หาเรื่อง เที่ยวพูดเรื่องที่มันไม่เป็นเรื่อง ทำเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ตาก็เที่ยวมองสิ่งที่มันไม่เป็นเรื่อง หูก็ฟังเสียงที่ไม่เป็นเรื่อง มันก็สร้างปัญหา
ปัญหามันเกิดขึ้นเพราะเราสร้างมันขึ้น แล้วสร้างด้วยความหลง ด้วยความเข้าใจผิด ชีวิตจึงมีปัญหา ถ้าไม่พบกับผู้รู้ ผู้เข้าใจในเรื่องนี้ ก็แก้ไม่ได้ แต่ถ้าเรามาวัด มาศึกษา ได้สนทนากับพระ ได้ฟังอะไรต่ออะไร เกิดความรู้ ความเข้าใจ
มีอยู่ข้อหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับญาติโยมทั่วไปก็คือว่า เกรงใจ ไม่กล้าถาม เกรงใจพระไม่กล้าถาม แล้วก็เกรงใจว่าจะรบกวนท่านมากไป อันนี้อย่าได้ทำเช่นนั้น อย่าได้เกรงใจเลย อย่าได้วิตกกังวลว่าจะเป็นการรบกวนท่านเลย เพราะว่าพระที่เสียสละเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ญาติโยม จะสบายใจที่สุดเมื่อโยมมาปรึกษาหารือในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาชีวิต หรือมาถามปัญหาอะไรต่างๆ ที่ไมรู้ ไม่เข้าใจ ก็จะตอบอธิบายกันจนเข้าใจไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องนั้น
เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่มีแต่ในสมัยนี้ แม้ในสมัยพระพุทธเจ้ายังอยู่ ท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิก เรียกว่าเป็นโยมอุปัฏฐากผู้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ไปหาพระพุทธเจ้าทุกวัน ดูแลวัดวาอาราม พระสงฆ์องค์เจ้า ช่วยแก้สิ่งขัดข้องให้ไม่ขัดข้อง แต่เศรษฐีไม่เคยถามปัญหาพระพุทธเจ้าเลย ไม่เคยถาม ไม่เคยถามปัญหาอะไรกับพระพุทธเจ้า ที่ไม่ถามก็เพราะว่าเกรงว่าจะเป็นการรบกวนพระผู้มีพระภาค เลยไม่กล้าถามอะไร แต่อยู่มาวันหนึ่งเศรษฐีเข้าไปเฝ้า แล้วก็มีปัญหาอยู่ในใจ แต่ไม่กล้าถาม พระองค์ทรงทราบ เพราะพระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของคนอื่นด้วยญาณพิเศษที่พระองค์มี พระองค์ก็เลยบอกว่า คฤหบดี ท่านใช้คำบาลีว่าคฤหบดี คือพ่อบ้าน พ่อเรือน บอกว่า ท่านคฤหบดี ตถาคตได้บำเพ็ญบารมีมาเป็นเวลานาน ได้บำเพ็ญบารมีมาเป็นเวลานานเพื่อให้รู้สิ่งถูกต้อง แล้วจะได้นำสิ่งที่เป็นความรู้นั้นมาแก้ไขปัญหาชีวิตของชาวโลกทั้งหลาย ถ้าหากว่ามีปัญหาแล้วไม่กล้าถาม เรียกว่ามันผิดหลักการของพระพุทธเจ้า อย่าเกรงใจ ว่าจะเป็นการรบกวน หรืออะไรเป็นอันขาด เพราะว่าตถาคตนี้พร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะตอบปัญหาที่คนสงสัย ที่จะชี้ทางแห่งการดับทุกข์ให้คนได้รู้ ได้เข้าใจ ท่านไม่ต้องเกรงใจ มีอะไรก็ถามได้เสมอ พระพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น
ท่านเศรษฐีก็บอกว่าเมื่อก่อนคิดอย่างนั้น คือเกรงพระทัยว่าพระองค์ทำงานมาก เราบอกว่าเราไม่ได้ทำงานมาก ไม่ทำงานหนักใจอะไร เราทำงานโดยไม่หนักใจ ทำงานโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ทางใจ เพราะมันเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ที่จะชี้ทางสว่างให้แก่พุทธบริษัท หรือคนทั่วไป ท่านอย่าได้คิดอย่างนั้น มีอะไรที่เป็นปัญหาข้อข้องใจแล้ว ให้ถามได้ทุกเมื่อไม่ว่าเวลาไหน ท่านเศรษฐีก็ค่อยเบาใจ แล้วก็ทีหลังมาก็ทูลถามปัญหาอะไรต่ออะไรเรื่อย เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านรู้ว่าคิดอย่างนั้นแต่ไม่กล้าถามอย่างนั้น คนเราในสมัยนี้ก็มักจะเป็นอย่างนั้น ไม่กล้า ไม่กล้าถามในสิ่งควรถาม จะถามอะไรก็ แหม ต้องขอโทษขอโพยเสียใหญ่โต ขออภัยหลวงพ่อ อยากจะรบกวนถามอะไรเสียหน่อย เกรงว่าหลวงพ่อจะต้องหนักอกหนักใจ ให้คิดเสียใหม่ว่าไม่มีความหนักใจ ไม่มีความทุกข์เพราะการที่ถูกถาม แต่ว่าหนักใจเพราะไม่มีใครถามนี่ ไม่ค่อยถาม ก็ต้องอธิบายไปว่า ถูกไม่ถูกก็ไม่รู้ เหมือนกับว่าต้มยาให้คนไข้กินโดยไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร แต่ต้มไปตามเรื่อง แต่ถ้ารู้ว่าเป็นโรคอะไร ยามันจะสะดวกขึ้น จะได้ให้ยาถูกต้อง แก่ที่ความเป็นโรคของบุคคลนั้น
เรื่องชีวิตนี้ก็เหมือนกัน เราอาจจะมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เมื่อมาวัด มาพบพระแล้ว ขออย่าได้เกรงใจเลย บางเรื่องถ้าคนอื่นนั่งอยู่ก็ไม่อยากให้ใครรู้ ก็มีเหมือนกันบางปัญหา แต่ว่าถ้าว่าปลอดคนแล้วก็ถามได้ ยินดีที่จะตอบให้เข้าใจในข้อสงสัยนั้นๆ อย่างนี้ก็จะดี แต่เดี่ยวนี้คนที่ไม่มาถามที่กุฏิมากขึ้น โทรศัพท์มาถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ บางทีก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถามนะ แต่ว่าก็ไม่ว่าอะไร ไม่ติไม่ว่า เพราะโยมแกไม่รู้ ก็เลยอธิบายให้ฟังว่าอะไรเป็นอะไร ตามสภาพที่เป็นจริง คนนั้นก็คลายสงสัย มีความเข้าใจในเรื่องนั้นขึ้น มันเป็นอย่างนี้
โดยเฉพาะโยมที่มาวัด มาฟังกันนานๆ แล้วอาจจะมีข้อคิดหรือว่าสงสัยบ้าง หรืออาจจะแนะนำบ้างก็ได้ ถ้ามีอะไรที่มันไม่เหมาะ ไม่ควร ช่วยแนะนำ ไอ้ตรงนั้นมันไม่ค่อยจะเรียบร้อย หลวงพ่อควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เรียกว่าช่วยบอก ช่วยให้ความคิด ความเห็น ในเรื่องการจัดสถานที่ ในเรื่องอะไรต่ออะไร ที่เราเห็นว่าควรแก้ไข อันนี้เรียกว่าเป็นการช่วยเหลืออย่างยิ่ง เพราะว่าจะได้รู้ว่าอะไรมันบกพร่อง ตัวหลวงพ่ออาจจะมองไม่เห็นว่าอะไรยังบกพร่อง แต่โยมเห็น เมื่อเห็นก็มาบอก ไม่ต้องเกรงใจ ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นโทษ เป็นบาปอะไร แต่การทำเช่นนั้นเป็นการชี้แนะ เหมือนกับเราไปชี้ขุมทรัพย์ให้แก่คนที่ยากจน ชวนไปตรงนี้ ขุดลงไปตรงนี้จะได้เงิน ทำอย่างนั้นมันก็เป็นประโยชน์แก่คนนั้น คนนั้นก็จะได้รับประโยชน์จากเราชี้แนะให้
ขอให้ชี้แนะช่วยบอก ช่วยอะไรได้ บอกมันไม่ได้เป็นบาป เป็นโทษอะไร เขียนหนังสือมาบอกก็ได้ แล้วไม่ต้องเขียนบัตรสนเท่ห์ บางคนก็ชอบเขียนแต่ว่าไม่ลงชื่อ อะไรเขียนไม่ลงชื่อ ไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่ได้ผิดอะไรทั้งนั้นแหละ เราพูดกันด้วยความปรารถนาดี ก็มาบอกให้ทราบ เรื่องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ก็จะได้มีการแก้ไข
แม้กระทั่งพุทธกาล คนก็ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ในเรื่องความบกพร่องของพระ พระทำอะไรไม่เหมาะ ไม่ควร ชาวบ้านก็ไปบอกพระพุทธเจ้า กราบทูลพระพุทธจ้าให้ทรงทราบ พอทรงทราบพระองค์ก็เรียกประชุม แล้วก็ติเตียนว่าการกระทำเช่นนั้นไม่ถูกต้อง แล้วบัญญัติพระวินัย เป็นพระวินัยขึ้นมา เพราะมีคนไปบอก ส่วนมากมีคนไปบอก พระองค์นั่งอยู่ที่วิหารจะรู้เห็นอะไรทั้งหมดไม่ได้ คนไปบอก แล้วเรียกประชุม ติเตียนพระที่ทำความผิด ไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง แล้วก็บัญญัติพระวินัยขึ้น
พระวินัยทั้งหมดที่มีอยู่ เรียกว่า ๒๒๗ ข้อ เกิดจากอย่านี้ มีคนไปบอก ไปกล่าว ว่ามีการกระทำอย่างนั้น พระองค์ก็บัญญัติห้าม พระในสมัยก่อน ถ้าพระพุทธเจ้าห้ามแล้วไม่ทำ ไม่มีดื้อ ทำไปเพราะยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่มีวินัยบัญญัติธรรม แต่พอห้ามแล้วไม่มีใครฝืน ไม่ทำสิ่งนั้น เพราะผู้ที่มาบวช มาบวชด้วยความตั้งใจที่ถูกต้อง บวชเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง จึงไม่ค่อยมีปัญหา ไม่มีเรื่องให้เกิดเรื่องเกิดราว เรื่องมันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นโยมอย่าไปเที่ยวคิดให้มันวุ่นวายใจ หรือลำบากใจ มีอะไรก็บอกได้ จะได้ช่วยกันแก้ไขสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น
แม้ไม่ใช่เรื่องที่นี่ ไปเห็นที่อื่นก็บอกได้ เพราะว่าเมื่อรู้แล้วก็จะได้บอกเจ้าของท้องถิ่นให้รับทราบ เช่นเห็นเรื่องอะไรเกิดขึ้นในกรุงเทพ มาบอก บอกอาตมา อาตมาโทรศัพท์ไปบอกเจ้าคณะกทม. ไปบอกให้ทราบ แล้วท่านก็สั่งลูกน้องให้ไปจัดการแก้ไข เช่นว่ามีพระมาเที่ยวทำอะไรไม่เหมาะไม่ควร เขาโทรศัพท์มาบอก หลวงพ่อก็โทรศัพท์ไปวัดมหาธาตุทันที บอกให้ทราบ เจ้าคุณแกก็ แกตั้งพระไว้เป็นแห่งๆ อยู่ใกล้ตรงไหน เช่นว่ามอบให้พระวัดหัวลำโพงดูแลแถวนั้น ถ้าเรื่องเกิดแถวนั้น ท่านก็สั่งไปวัดหัวลำโพง ให้ไปดูแล ว่าตรงนั้นมีพระทำอะไรผิด แล้วถ้าพบแล้วก็เอาตัวมาเลย เอาตัวมาที่วัดมหาธาตุ โดยมากถูกสึก เพราะว่าทำไม่ถูกต้อง ตรวจหนังสือสุทธิไม่มี พระปลอม ไม่ใช่พระจริงก็ต้องสึกไป ส่งให้ตำรวจไปจัดการต่อไป ทำได้ถ้ามีคนบอก สะดวก ช่วยกันแก้ไขเสี้ยนหนามที่เกิดขึ้นในพระศาสนา ให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นบรมครูของพวกเราทั้งหลายนั้น พระองค์ทรงปกครองพระสงฆ์ด้วยวิธีใด ในชั้นแรกพระน้อย พระองค์ทรงปกครองอย่างชนิดที่เรียกว่า ทำโดยพระองค์เอง ไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องบอกสงฆ์ทั้งลาย ท่านทำเอง ตักเตือนแนะนำด้วยพระองค์เอง แต่ว่าต่อมาพระสงฆ์มากขึ้น เช่นเรื่องการบวชนี้ สมัยก่อนเริ่มแรกนี้คนมันน้อย ก็มาบวชกับพระองค์ บวชแบบง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไร บอกว่าเธอจงเป็นภิกษุ ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำ (37.46) ใช้ถ้อยคำเท่านั้น ผู้นั้นก็ชื่อว่าได้รับอนุญาตให้บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว
ทีนี้ต่อมาพระสงฆ์สาวกไปเที่ยวประกาศธรรมะ มีคนเลื่อมใสศรัทธาจะบวช ก็บวชให้ไม่ได้ เพราะยังไมได้รับอนุญาต ก็ต้องพาคนเหล่านั้นมา มาหาพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นความลำบากในการเดินทาง ทั้งอาจารย์ ทั้งลูกศิษย์ เดินทางลำบาก ก็เลยเพื่อแก้ปัญหา ก็อนุญาตว่า ถ้าผู้ใดมีใจเลื่อมใสจะบวชในพระศาสนา ให้พระสาวกที่คนนั้นมาเลื่อมใสบวชให้ได้เลย แล้วก็แนะวิธีบวชว่าอย่างไร ให้เปล่งวาจาว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ๓ ครั้ง ก็เรียกว่าให้เป็นพระสงฆ์ได้ง่ายๆ ไม่ลำบากอะไร ก็บวชเพื่อแบบนั้น
ต่อมาเมื่อคนมากขึ้น การบวชพระก็มีมากขึ้น แล้วก็มีคนๆหนึ่ง เป็นพราหมณ์อายุมากแล้ว อยู่บ้านไม่สบาย เพราะว่าลูกๆไม่ค่อยเอาใจใส่ อึดอัดขัดใจก็เลยไปอยู่วัดดีกว่า ไปอยู่วัด ช่วยกวาดวัด ช่วยเหลือพระอะไรตามสมควร อยากจะบวช แต่พระไม่บวชให้ เห็นว่าเป็นคนแก่ เพราะคนแก่บวชแล้วเป็นหลวงตา มักจะไม่ค่อยเรียบร้อย สมัยก่อนก็ไม่ค่อยให้บวช
แต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงทราบว่าใจของพราหมณ์ ชื่อราคะ ว่าพราหมณ์ราคะนี้มีจิตใจดี เจตนาบริสุทธิ์ที่จะบวชเพื่อความพ้นทุกข์ แล้วไม่ได้บวชก็ผอม ตรมตรอมใจ แต่ไม่ถึงกับอดข้าวประท้วงพระพุทธเจ้าหรอก เขาก็ไม่ทำอย่างนั้น แต่ว่ามันผ่ายผอม ซูบซีด พระองค์ทรงทราบก็เดินมาในบริเวณนั้น เดินมาพบกับราคะพราหมณ์ เลยตรัสถามว่าเป็นอย่างไร ดูผิวพรรณซูบซีด ไม่ค่อยสบายด้วยเรื่องอะไร ก็ถามด้วยความกรุณา ราคะพราหมณ์ก็บอกว่า ไม่สบายด้วยเรื่องจะบวช แต่ไม่มีใครบวชให้ พระองค์ก็เลยเรียกประชุม ประชุมพระทั้งหมดในวัดนั้น ในบริเวณนั้น แล้วก็บอกว่าใครระลึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์คนนี้ได้บ้าง คือถามพระว่าใครนึกถึงได้บ้างไหมว่าพราหมณ์คนนี้ได้ช่วยอะไรตนบ้าง พระสารีบุตรนั่งอยู่ในที่นั้นได้ลุกขึ้นประนมมือ แล้วก็ตอบว่าข้าพระองค์นึกได้ พราหมณ์คนนี้เคยให้อาหารแก่ข้าพระองค์ คือเคยใส่บาตร พูดง่ายๆว่าเคยใส่บาตรให้แก้ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ยังจำได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงชมเชยพระสารีบุตรว่าเป็นผู้มีคุณธรรม คือว่าไม่ลืมในสิ่งที่คนอื่นทำให้ มีน้ำใจ กตัญญูกตเวที
พระสารีบุตรนี้ได้รับการสรรเสริญว่ามีความกตัญญูกตเวทีหลายเรื่อง เช่นว่าเวลานอนนี้ ถ้าท่านรู้ว่าพระอัสสชินอนอยู่ทิศนี้ ท่านหันหัวไปทิศนี้ ถ้าพระอัสสชินอนทิศนี้ ท่านหันหัวไปทิศนี้ทุกที พระทั้งหลายก็นินทา ซุบซิบกัน ท่านสารีบุตรนี้ เดี๋ยวนอนหันหัวไปทิศนั้น เดี๋ยวนอกหันหัวไปทิศนี้ คงจะถือฤกษ์ ถือยาม ถือทิศอะไรต่ออะไร ตามแบบไสยศาสตร์ พระก็ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ได้หาพระสารีบุตร ความจริงพระองค์รู้แล้วว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร แต่ต้องการจะถามให้ปรากฏในที่ประชุม ก็เรียกมาถามว่าสารีบุตร ได้ข่าวว่าเธอนี้นอนหันศีรษะไปทิศนั้นบ้าง ทิศนี้บ้าง ถือทิศหรือ พระสารีบุตรบอกไม่ใช่อย่างนั้นพะยะค่ะ พระเจ้าค่ะ ข้าพระองค์เวลาจะนอนนี้นึกถึงพระอัสสชิ เพราะว่าพระอัสสชิเป็นผู้บอกธรรมะให้เข้าใจเป็นองค์แรก ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิแล้วมาเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เลยนึกถึงบุญคุณท่าน พระพุทธเจ้าเลยตรัสว่าเราได้เรียนธรรมะจากบุคคลใด ก็ควรจะบูชาบุคคลนั้นเหมือนพราหมณ์บูชาไฟ คือพวกพราหมณ์เขาบูชาไป แต่ว่าพระองค์บอกว่าเราได้เรียนธรรมะจากใคร ให้บูชาคนนั้นเหมือนพราหมณ์บูชาไฟ พระสารีบุตรท่านบูชาพระอัสสชิจึงทำอย่างนั้น ก็ไมได้ทรงติเตียน แต่สรรเสริญ เป็นตัวอย่างแก่พระองค์อื่นต่อไป อย่างนี้ก็มี
และเวลาท่านจะนิพพาน ท่านลาพระพุทธเจ้า กลับไปบ้านเดิมที่นาลันทา อยู่ใกล้เมืองราชคฤห์ เพราะว่ามารดายังไม่ได้เป็นพุทธบริษัท ยังไม่เข้าใจธรมะของพระพุทธเจ้า อยากจะไปเทศน์โปรดมารดาเป็นครั้งสุดท้าย และก็ลาพระพุทธเจ้าเพื่อไปนิพพานที่นั่น ไปนิพพานในห้องที่ท่านเกิด ในบ้านที่ท่านเกิด เพื่อจะได้สอนแม่ แล้วก็ไปสอนแม่ เทศนา พูดจาในคุณแม่เข้าใจ คุณแม่ก็ได้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้วท่านก็นิพพานที่นั่น อันนี้ก็คือความกตัญญูทั้งนั้น
พระสารีบุตรท่านแม้เขาให้ข้าวเพียงตักบาตรให้ก้อนหนึ่งก็ยังไม่ลืม ยังจำได้ พระองค์จึงสอนว่าใครทำอะไรแก่เราแม้เล็กน้อยให้จำไว้ เพื่อหาช่องตอบแทน แต่เราทำอะไรกับคนอื่นแม้โตเท่าภูเขาไม่ต้องจำก็ได้ เพราะไม่จำเป็นอะไร แต่ถ้าเขาทำกับเรานี่ต้องจำไว้ เพื่อหาทางตอบแทน พระสารีบุตรท่านเป็นอย่างนั้น เมื่อพระสารีบุตรกราบทูลว่าจำได้ว่าพราหมณ์คนนี้เคยให้ข้าวแก่ข้าพระองค์ ดีแล้ว สารีบุตรบวชพราหมณ์นี้ให้เป็นภิกษุในพุทธศาสนา พระสารีบุตรก็ถามว่าจะบวชอย่างไร พระองค์ก็เลยบัญญัติแบบบวชที่เราใช้กันทุกวันนี้ ต้องมีพระอุปัชฌาย์องค์หนึ่ง แล้วก็ต้องมีพระสงฆ์มาประชุมกัน ถ้าในมัชฌิมประเทศ หมายถึงว่าในส่วนกลางของอินเดีย ต้องมีพระ ๑๐ รูป แต่ถ้าห่างไกล ไม่ถึงนั้นก็ได้
แล้วก็ในการบวชนั้นถือว่าสงฆ์เป็นใหญ่ คือพระที่ประชุมกันเป็นใหญ่ เป็นสังฆาธิปไตย เหมือนกับประชาธิปไตย ระบบประชาธิปไตยนี้เกิดขึ้นในพุทธศาสนาก่อน เพื่อให้พระทุกรูปมาประชุม แล้วพระอุปัชฌาย์ก็เสนอว่าคนชื่อนี้ต้องการจะบวชในพระพุทธศาสนา แล้วก็ให้ถามอะไรหลายเรื่อง ที่พระท่านออกไปยืนหน้าโบสถ์แล้วไปถาม ถามว่าเป็นโรคเรื้อนหรือเปล่า เป็นโรคหอบหืดหรือเปล่า หรือเป็นอะไรหลายเรื่อง มารดาบิดาอนุญาตหรือเปล่า เป็นข้าราชการได้รับอนุญาตหรือเปล่า อายุครบ ๒๐ ปี แล้วหรือยัง บริขารเครื่องใช้มีครบหรือเปล่า ท่านถาม เราจะได้ยินเสียงเจ้านาคตอบว่านัตถิภันเตๆ ไม่มี เรื่องห้ามไม่มี แล้วก็ตอบว่า อามะภันเต หมายความว่า ครบ ได้รับอนุญาตแล้ว อายุครบ บริขารครบ อะไรครบ เรียกว่าอามะภันเต
พระก็ไปถามข้างนอก ไปซักซ้อม ไปซักซ้อมนอกบริเวณ แล้วก็พระที่ไปซักซ้อมก็กลับมาท่ามกลางสงฆ์แล้วก็บอกให้พระสงฆ์ทราบว่า คนชื่อนี้เป็นศิษย์ของอุปัชฌาย์ชื่อนี้ ได้สอบถามอันตรยิกธรรมแล้วเรียบร้อย แล้วก็เรียกเข้ามาถามต่อหน้าสงฆ์อีกทีหนึ่ง พระสงฆ์ฟังแล้วก็สวดญัตติ ๔ ครั้ง พอสวดญัตติจบ ๔ ครั้ง เงียบ พระไม่คัดค้าน ผู้นั้นก็เป็นสงฆ์ขึ้นในพุทธศาสนา นี่เรียกว่ามอบอำนาจให้สงฆ์ พระองค์ไม่ทำแล้ว ต่อไปพระองค์ไม่ได้บวชเอง ไม่ให้ใครบวช แต่ว่าใครจะบวชต้องให้สงฆ์บวชให้ สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้
เรียกว่าเป็นระบบสังฆาธิปไตย คือให้สงฆ์เป็นใหญ่ เหมือนกับระบบในโลก การปกครองบ้านเมืองให้ประชาชนเป็นใหญ่ ให้ปะชาชนเลือกผู้แทนเข้ามา ประชุมกันในสภา แล้วก็คัดเลือกคนชุดหนึ่งขึ้นเป็นรัฐมนตรี เป็นนายกบริหารประเทศชาติ แล้วก็ต้องแถลงนโยบายกับสภาผู้แทน ว่ามีโยบายการศึกษาทำอย่างไร การปกครอง การเศรษฐกิจ การคมนาคม การอนามัยทำอย่างไร แถลงไว้ให้เข้าใจกันอย่างละเอียด แล้วพวกผู้แทนก็คอยดูว่าทำตามหรือเปล่า คอยประท้วง ทำไมไม่ทำก็ประท้วงตามหลักของประชาธิปไตย
ในหลักของประชาธิปไตยนั้น ประชานเป็นใหญ่ แต่ว่าประชาชนที่เป็นใหญ่นี้ถ้ายังขาดการศึกษา ไม่มีปัญญาที่จะคิดว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร ประชาธิปไตยก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อย ไม่เรียบร้อยตรงไหน ตรงคนเลือก เขาเลือกไม่เป็น ใครเอาเงินมาให้ฉันก็เลือก เลี้ยงเหล้าฉันให้เมา ให้เพียบไปสักมื้อหนึ่ง ฉันก็เลือก หรือเลือกว่าคนนี้เป็นเพื่อกับคนนั้น เรารักเพื่อนคนนั้น ไปเลือกมันหน่อย มันไม่บริสุทธิ์ เป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะคนเลือกยังเลือกไม่เป็น ประเทศก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไปตามเรื่อง
ประเทศใดที่เปลี่ยนระบบมาเป็นประชาธิปไตยนี้ กว่าจะเรียบร้อยใช้เวลาตั้ง ๑๐๐ ปี อย่างน้อยต้อง ๑๐๐ ปี จึงจะเรียบร้อย ประเทศในตะวันตกที่เขาเป็นประชาธิปไตยเรียบร้อยแล้ว เขาเป็นมานาน คนเขารู้ เขาเข้าใจ แล้วคนเขาเจริญด้วยการศึกษา มีปัญญา เคารพหลักศีลธรรม ถ้าว่าผู้แทนราษฎร หรือรัฐมนตรีคนใดประพฤติผิดศีลธรรม ไม่ได้ เขาไม่เอาเลย เขาถือว่าใช้ไม่ได้ คนจะเข้าไปบริหารประเทศต้องเป็นผู้ที่สะอาดทางใจ ร่างกายสะอาดกันอยู่แล้ว อาบน้ำกันทั่วไป แต่ใจมันต้องสะอาด ไม่เป็นคนเหลวไหล เขาจึงจะให้เป็น
แม้เลือกเข้าไปแล้ว ถ้ามีข่าวว่าผิด เขาประท้วง แล้วคนที่ทำผิดนั้นเขามีความสำนึก เขาลาออกไป เขาไม่อยู่ให้ขายหน้า เขาไป เพราะว่าคนเขามีความสำนึก เขาละอาย ในการที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเป็นเช่นนั้น เขาละอาย เขาลาออก เป็นตัวอย่าง เช่นประเทศอังกฤษนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศไปเที่ยวคบผู้หญิง เที่ยวกลางคืน แล้วเป็นผู้หญิงต่างชาติ คือรัสเซีย พวกหนังสือพิมพ์มันรู้ พวกหนังสือพิมพ์นี้หูตาไว ลงข่าวมีภาพด้วย พอออกข่าวไปในหน้าหนังสือพิมพ์ รัฐมนตรีคนนั้นลาออกเลย หมดเรื่อง ข่าว (52.28) ก็ลาออกไปแล้ว เขามีความสำนึกผิด เขารีบลาออก ไม่ให้เกิดความวุ่นวายเสียหาย เขาเป็นอย่างนั้น เพราะคนเขามีคุณธรรม เขาได้อบรมคนให้มีคุณธรรมมานาน จึงเหมาะแก่การปกครองเมืองแบบนั้น เขามีคุณธรรม
มีคนๆหนึ่งจะสมัครเป็นประธานาธิบดีในอเมริกา หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเป็นคนไม่ค่อยจะเรียบร้อย เพราะชอบเที่ยวกลางคืน ชอบไปเที่ยวกลางคืน คนชอบเที่ยวกลางคืนก็ดี ก็ตาม นักการพนันก็ตาม ค้าของเถื่อนก็ตาม เป็นเจ้าของบ่อน เจ้าของกิจการที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ได้ มาเป็นนักการเมืองไม่ได้ มาอาสาสมัครเพื่อบริหารประเทศชาติไม่ได้ เพราะจิตใจตกต่ำ เขาไม่เอา ทีนี้เมื่อคนนั้นสมัครเข้ามา พวกหนังสือมาคอยศึกษาประวัติของคนๆนั้น แล้วมันก็เขียนข่าวว่าคนๆนี้ไม่เรียบร้อย แกก็ท้าหนังสือพิมพ์เลย ท้าว่าหาว่าฉันไม่เรียบร้อยนี่ก็เอาหลักฐานมาสิ ไอ้หนังสือพิมพ์มันช่วยหาหลักฐาน มันคอยติดตามลับๆ คอยถ่ายภาพ วันหนึ่งเขาถ่ายภาพออกมาจากโรงแรมกับผู้หญิงประเภทไม่เอาไหน ตีข่าวลงไปในหน้าหนังสือพิมพ์เลย ถอนตัวไม่สมัคร สมัครไม่ได้ คนมันไม่เลือก เพราะว่ามีความประพฤติไม่เรียบร้อย เขาไม่เอา บ้านเมืองเขามีความเป็นประชาธิปไตยมานาน คนได้รับการอบรมมานานเป็นอย่างนั้น
แต่ของเรานี้ยังไม่ถึงอย่างนั้น แม้ได้ข่าวว่าทำไม่ถูกต้องก็ไม่ว่าอะไร ไม่เป็นไร เรื่องธรรมดา ผู้แทนเข้าบ่อนไม่ได้หรือ พูดอย่างหน้าด้านๆ แล้วบางคนพูดว่าเป็นความผิดของรัฐบาลที่ไม่เปิดบ่อนให้ถูกต้องตามกฎหมาย มันแย่ เรียกว่ามันไม่มีความสำนึกเลย ขาดคุณธรรม นี่ถ้าเป็นต่างประเทศแล้ว ตายเลย คนนี้ไม่ได้เป็นต่อไป ไม่มีใครเลือกๆ เพราะเขาได้ยินคำพูดแบบนั้น คนอย่างนี้จะมาเป็นผู้บริหารประเทศ จะเป็นผู้แทน ผู้ทรงเกียรติได้อย่างไร เขาไม่เอา เขาไม่เลือก คนเขามีความสำนึก เขาเข้าใจ ของเรานั้นขออภัย คนยังไม่ถึงขนาด ผู้สมัครก็ยังไม่ถึงขนาด คนเลือกก็ยังไม่ถึงขนาด มันถึงยุบ เลือกเพราะว่าได้รับสินบน ได้ค่าจ้าง เอาเงินจ่ายมา ได้เป็น ไม่ได้คำนึงถึงผลกรรมอะไรทั้งนั้น ของเขาไม่ได้ เขาถือว่า โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับชู้สาวนี้เขาถือมาก ถือว่าเป็นความเสียหายทางจริยธรรมรุนแรง คนเขาเป็นอย่างนั้น ต้องรออีกหน่อย การศึกษาค่อยดีขึ้น คนมีความสำนึก คือรู้จักสิทธิ รู้จักหน้าที่ของตัวมากขึ้น แล้วก็เอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของผู้เข้าไปทำงานเพื่อประเทศชาติ คอยศึกษา คอยเอาใจใส่ดูแลว่าคนๆนั้นเป็นอย่างไร ผู้แทนคนนี้เราเลือกเข้าไปแล้วมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร ชาวบ้านเขาคอยจ้องดู เขาเอาหูใส่ เอาตาดู เอาใจสนใจ เขาคอยจับผิด ถ้าผิดขึ้นมาแล้วเขาโวยวาย โวยวาย พอโวยวายก็ คนเหล่านั้นก็ขายหน้า ลาออกไปเท่านั้นเอง แต่ของเราถึงโวยวายก็ไม่ลาออกกูจะอยู่ต่อไป แม้ศาลลงโทษว่าผิด พ้นโทษกูจะไปสมัครอีก มันพวกหน้าด้านเยอะแยะ มันไม่ไหว
บ้านเมืองเรามันยังมีคนประเภทอย่างนั้น ยังไม่ได้อบรมบ่มนิสัย ยังห่างวัด ห่างพระ ไปวัดก็ไม่ได้ไปให้พระสอน ไม่ได้ไปหาธรรมะ ไปหาเสียง ยังไม่ค่อยจะเรียบร้อย ก็ต้องทนต่อไป แล้วก็คนในระบอบประชาธิปไตยมันต้องเคารพกฎหมาย ไม่ทำอะไรแบบแปลกๆ ไม่บังคับให้รัฐบาลทำให้ตามที่ตนต้องการ เพราะการบังคับอย่างนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการ ตัวพูดว่าเพื่อประชาธิปไตย แต่การกระทำนั้นมันไม่เป็นประชาธิปไตย มันเป็นเด็จการ ว่าต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น จะอดข้าวให้ตายไปเลย แต่มันไม่ตาย ไม่รู้ว่ากินอะไรบ้างกลางคืน เดี่ยวนี้อาหารเสริมมันเยอะอยู่ ไม่ต้องกินข้าวเป็นจานๆหรอก กินวิตามันก็ได้ อยู่ได้ แล้วก็หมอก็ไปคอยให้น้ำเกลืออยู่ น้ำเกลือก็คือกลูโคส เป็นน้ำตาลที่ละลายละเอียด ซึมซาบเร็ว ก็เป็นกำลัง ยังไม่ตาย ถ้าจะให้ตายจริง มันต้องหยุดหายใจ อย่าหายใจ อย่าดื่มน้ำมันก็ตาย แต่ว่าไม่ได้จริงจังอย่างนั้นหรอก ทำเพื่อให้มันดังหน่อย ให้ดังแปลกๆ แต่ว่าเป็นที่น่ารำคาญ ของปัญญาชนทั้งหลาย ไม่ใช่กิจกรรมที่ถูกต้อง กิจกรรมที่ถูกต้องไม่ใช่ทำอย่างนั้น เพราะว่าเขามีสภา มีกรรมาธิการที่จะจัดการเรื่องนี้ เราก็เสนอเข้าไปได้ ถ้าเขาเห็นด้วย ก็ได้ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไปบังคับเขาไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยนั้นใช้การบังคับไม่ได้ ต้องมีให้เขาแสดงความคิดความเห็นตามหลักเกณฑ์ของเขาจึงจะถูกต้อง อันนี้ก็เอามาคุยฝากๆไว้หน่อย เผื่อคนจะได้อ่าน ได้รู้ว่าพระท่านก็ประท้วงเหมือนกัน แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที