แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านที่อยู่ในบริเวณวัดนี้พึงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัด ตามสมควรแก่เวลา เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคมที่ผ่านมา อาตมาได้เดินทางไปไชยา เพื่อไปร่วมงานวันอนุสรณ์ท่านเจ้าคุณพุทธทาส วันอนุสรณ์ท่านเจ้าคุณพุทธทาสคือวันที่ ๒๗ เดือนพฤษภาคม เป็นวันเกิดของท่าน วันที่ ๒๗ พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อวานซืนนี้ก็เป็นคล้ายวันเกิด เพราะว่าท่านได้ดับไปแล้วยังเหลืออยู่แต่คุณธรรม ความงาม ความดีที่เราจะต้องระลึกถึง ก็ใคร่ที่จะให้ญาติโยม พุทธบริษัทได้ถือว่าวันที่ ๒๗ พฤษภาคม เป็นวันพุทธทาส คือเป็นวันที่ท่านได้เกิดมาในโลกนี้ และได้ทำประโยชน์แก่พระศาสนา และประเทศชาติอันเป็นส่วนรวม และได้ดับไปเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ และได้เผาสรีระร่างกายเรียบร้อย ตามคำสั่งที่ท่านทำไว้ทุกประการ นี่เราก็อยากจะให้วันที่ ๒๗ พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันที่ทำบุญอุทิศให้ท่าน การทำบุญก็ไม่ได้ทำตามอย่างที่เคยกระทำกันมา แต่ว่าไปชุมนุมกันที่นั่น และในวันนั้นก็เป็นวันที่ทุกคนอดอาหารกัน ไม่ใช่อดแบบคนฉลาดที่อดอยู่ที่สนามหลวง นั่นเป็นการอดแบบไม่เข้าใจเรื่อง แต่ว่าเราอดเพื่ออุทิศให้แก่ท่าน เพราะว่าเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่พอถึงวันเกิด ท่านก็อดอาหาร ความจริงปกติท่านก็อดมาทุกสัปดาห์ คือ อดในวันพฤหัสบดี เพราะอะไรก็ไม่รู้ แต่ว่าพอถึงวันพฤหัสบดี พระในวัดนั้นไม่ฉันอาหาร อยู่เงียบๆเป็นการพักผ่อน คิดถึงธรรมะ เจริญสติภาวนา ทำมาอย่างนั้นตลอดมา แต่พอถึงวันเกิดท่านก็ล้ออายุ ไม่ใช่เจริญอายุ เพราะว่าเจริญมันก็ไม่ได้ มันต้องไหลไปตามอำนาจของธรรมชาติจนกว่าจะหยุดไหล คือแตกดับไป ท่านจึงได้ทำพิธีเรียกว่า ล้ออายุ เมื่อสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ วันล้ออายุคนก็ไปกันมาก ไปอดข้าวร่วมกัน ฟังธรรมร่วมกัน เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ท่านเทศน์วันล้ออายุ ๓ กัณฑ์รวด คือเทศน์ตอนเช้าตั้งแต่ ๙ โมงครึ่งจนถึงเวลาเที่ยงและตอนบ่าย ๓ โมงถึงเวลา ๕ โมงเย็น ตอนกลางคืน ๓ ทุ่มก็เทศน์อีกกัณฑ์หนึ่ง การเทศน์ ในวันล้ออายุนี้เป็นการเทศน์ที่น่าฟัง มีประโยชน์มาก ซึ่งเขาก็อัดเทปกันไว้เรียบร้อย เพื่อจะให้คนชั้นหลังได้ฟังกันต่อไป ท่านทำมาอย่างนั้นทุกปี และมีคนไปกันมากมาย ปีนี้ก็นึกว่าเหมือนกับท่านยังอยู่ เพราะท่านเขียนเป็นคำกลอนไว้ว่า “พุทธทาสไม่ตาย ร่างกายนั้นต้องแตกดับไปตามธรรมชาติ แต่ว่าท่านเป็นผู้ไม่ตายโดยธรรม เพราะธรรมะเป็นสิ่งไม่ตาย ธรรมมะเป็นสิ่งที่คงอยู่คู่โลกต่อไป กิจกรรมอันใดที่ทำเพื่อธรรมะ กิจกรรมอันนั้นก็เป็นสิ่งไม่ตาย จึงเรียกว่าพุทธทาสไม่ตาย” และท่านก็ร้องว่าขอให้ช่วยกันเป็นพุทธทาสมากๆ เป็นได้ทุกคน พระก็เป็นได้ และควรเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านก็เป็นได้ คือเป็นพุทธทาสได้ เป็นพุทธทาสนั้นหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเรามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะปฏิบัติตนตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็ชื่อว่าพุทธทาส คือเป็นทาสพระพุทธเจ้า เป็นทาสที่มีความจงรักภักดี มีความแน่วแน่ในการที่จะเดินตามเส้นทางที่พระองค์ได้ชี้ไว้ให้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นพุทธทาสกันทั่วหน้า ท่านได้ขอร้องได้วิงวอนให้ทุกคนจงเป็นเช่นนั้น เพื่อไม่ให้ธรรมะเสื่อมไปจากจิตใจ เพราะว่าธรรมะเสื่อมไปจากจิตใจแล้ว จิตใจก็จะตกต่ำ ชีวิตก็ตกต่ำ การงานก็ตกต่ำ ความสุขความเจริญที่ควรจะเกิดมันก็ไม่เกิด ถ้าเราไม่ได้ประพฤติธรรมะ เมื่อท่านสอนอย่างนั้นถึงเวลาท่านก็จากโลกนี้ไป แต่ว่าสิ่งทั้งหลายที่ท่านได้ทำไว้โดยเฉพาะในด้านธรรมะเป็นสิ่งที่ไม่ตาย สิ่งที่เป็นวัตถุแม้นเหลืออยู่แต่ก็ย่อมชราไปตามวันเวลา สถานที่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปแต่ว่าธรรมมะก็ไม่เปลี่ยน
บรรยากาศเมื่อวันที่ ๒๕, ๒๖, ๒๗ วันที่ ๒๘ นี้หลวงพ่อกลับมาเสียแล้ว แต่ก็ยังทำอยู่ต่อมา เพราะว่าเป็นวันที่ยังพักผ่อนกันอยู่ ก็รู้สึกว่าชื่นมื่นกันไปตามๆกัน ญาติโยมมาจากที่ไกลยังคงมา ด้านตะวันออกก็มาจากจังหวัดตราด จังหวัดชลบุรี ด้านใต้ลงไปก็จากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ใต้สุดมาจากนราธิวาส ตะวันตกก็มาจากตะกั่วป่า จากระนอง ภาคกลางก็ไปจากกรุงเทพฯบ้าง จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุพรรณฯ เหนือขึ้นไปก็มาจากเชียงใหม่ก็มี เชียงรายก็มี อุตส่าห์มากัน เพราะว่ายังคิดถึงคุณงามความดีที่ท่านเจ้าคุณได้ทำไว้กับชาวบ้านชาวเมือง เขาเหล่านั้นก็ยังคิดถึงและอุตส่าห์มา ความจริงการโฆษณาเพื่อให้คนไปปีนี้ไม่ได้ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คือว่าไม่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็เพราะต้องการลองดูว่าชาวพุทธที่ยังระลึกถึงท่านนั้นจะมีปริมาณสักเท่าไหร่ แต่ไม่ต้องบอกให้ทราบ แต่เค้าก็มากัน ในปีต่อไปก็ต้องพูดกันนานล่วงหน้าเพื่อให้คนได้รับรู้รับทราบแล้วจะได้ไปชุมนุมกัน การไปชุมนุมกันนั้นเราไม่ได้หวังอะไรที่เป็นวัตถุปัจจัยมากนัก แต่หวังว่าจะได้ไปสนทนาธรรมกัน ได้พูดธรรมะกันให้เกิดความรู้ความเข้าใจ การจัดก็มีการจัดในรูปเผยแผ่ธรรมะ หลวงพ่อไปถึงวันที่ ๒๕ ตอนเที่ยงวัน พักนิดหน่อย ตอนบ่ายเขาก็ให้พูดกับญาติโยม ก็ไปพูดกันประมาณ ๑ ชั่วโมงกว่าๆ และวันที่ ๒๖ ก็พูดตอนเช้า ๙ โมงครึ่ง พูดไปจนถึง ๑๑ โมงครึ่ง จึงไปฉันอาหาร วันที่ ๒๗ ก็มีการพูดอีก แล้วก็มีคนอื่นช่วยพูดด้วย มีการอภิปราย พูดหลายคน ให้ญาติโยมได้ฟังกัน ญาติโยมก็นั่งกันใต้ต้นไม้ บนทราย แต่ก็มีอาสนะ คือ เสื่อปูให้ เขาก็นั่งกันตามชอบใจ เพ่นพ่านไปตามเรื่อง ก็ถือว่าให้เสรีภาพแก่การนั่ง แต่ว่าได้ยินเสียงกันทั่วถึง มีลำโพงดอกใหญ่หลายดอกติดทั่ว ฟังกันทั้งวัด พอเข้าเขตวัดก็ได้ยินเสียงพระพูดแล้ว เดินตามเสียงมาก็จะพบตัวคนพูด แล้วก็นั่งฟังกันเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ไม่ค่อยมีอะไรวุ่นวาย ไม่หนวกหู ทุกคนทำเหมือนกับทำต่อหน้าท่านเจ้าคุณ แม้ว่าท่านเจ้าคุณไม่ได้นั่งอยู่ที่ลานหิน แต่ทุกคนคิดว่าท่านเคยนั่งที่ตรงนั้น ท่านเคยพูด แล้วก็มีการเปิดเทปธรรมะที่ท่านพูดในวันล้ออายุปีก่อนๆ เอามาเปิดให้ฟังเวลาว่าง ญาติโยมก็ได้ฟังกัน แต่ว่าเป็นปกติธรรมดาของฤดูนี้ ฝนตกตอนบ่าย วันที่ ๒๖ ตกบ่าย ๓ โมง วันที่ ๒๗ ก็ตกเวลาบ่ายโมง ร่นขึ้นมาหน่อย เพราะว่าเป็นฤดูฝน เค้าก็ตกตามธรรมชาติเพื่อให้น้ำให้ท่าแก่ประชาชน จะได้รับความสะดวกสบาย เวลาฝนตกก็หยุดพูดกัน ให้หลบฝนกันไปนั่งตามที่ที่มีหลังคา ตรงไหนก็ได้ แต่พอฝนหายก็ตีระฆังเรียกโยมมานั่งกันต่อไป คุยธรรมะกันต่อไป ก็รู้สึกว่ามีความสุขกันทั่วหน้า กิจกรรมอย่างนี้เราทำขึ้นเพื่อสนองเจตจำนงของท่านเจ้าคุณที่เคยกระทำเรื่องอย่างนี้มาก่อน เราก็ทำกันต่อไป สืบต่อ อยากจะให้กิจกรรมอย่างนี้สืบต่อๆไป ตลอดเวลาที่คนยังรู้สึกนึกถึงบุญคุณของท่าน ก็ให้ทำกันต่อไป
อันนี้หลวงพ่อได้พูดให้คนทั้งหลายทราบว่า เรานึกถึงว่า ถ้าไม่มีท่านเจ้าคุณพุทธทาสเกิดขึ้นในโลก ไม่เกิดขึ้นที่ไชยาจะเป็นอย่างไร ถ้าท่านไม่ออกบวชในพระศาสนา พระศาสนาของเราจะเป็นอย่างไร ความตื่นตัวของพุทธบริษัท ความตื่นตัวของพระสงฆ์องค์เณรทั้งหลาย ที่จะทำหน้าที่ของพระศาสนานั้นจะเป็นอย่างไร ถ้าว่านั่งคิดทบทวนในเรื่องอย่างนี้ ก็จะมีความซาบซึ้งในการเกิดของท่าน ในการได้บวชในพระศาสนามากขึ้น เพราะว่าท่านเป็นผู้มาฟื้นฟูกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา มาสอนสิ่งควรสอน นำปฏิบัติในสิ่งควรปฏิบัติ แล้วก็เป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ เที่ยงตรง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีเรื่องเขวออกไปนอกลู่นอกทาง ไม่ได้ทำอะไรเพื่อลาภ เพื่อสักการะ เพื่ออะไรเป็นอันขาด ทำเพื่อธรรมะจริงๆ ปกติในชีวิตของท่านที่เป็นพระ ไม่เคยขอร้องอะไรจากใคร ไม่เคยบอกบุญกับญาติโยมที่ไปทำบุญที่วัดสวนโมกข์ เช่นว่ากำลังสร้างอะไรอยู่เป็นอาคารเพื่อประโยชน์การเผยแผ่แล้วก็ยังไม่เสร็จ คนจะไปเที่ยวกี่หมู่ กี่หมู่ก็ตามใจ ท่านไม่เคยเอ่ยบอกว่า นั่นแลโยม ยังไม่เสร็จเลย ยังขาดเงินอยู่อีกมาก ท่านไม่พูดคำเช่นนี้ ไม่เคยพูดเลย ไม่ขอร้องอะไรจากใคร ให้เขาเห็นเอง คิดเอง ทำเอาเองตามความรู้สึกนึกคิดของเขา ไม่กระตุ้นในเรื่องอย่างนั้น แต่ว่ากระตุ้นในเรื่องอื่น ถ้าใครเข้าไปนั่งใกล้ท่านก็จะพูดธรรมมะให้เขาฟัง บางคนก็อยากจะถามปัญหา ท่านก็ตอบให้เขาฟังอย่างชนิดแจ่มแจ้ง ให้เขาเข้าใจกลับไป เรื่องนี้ธรรมมะ แต่เรื่องขอปัจจัยนี้ไม่ค่อยได้ทำเลย ท่านทำไปตามเรื่อง เมื่อคราวทำบุญอายุ ๘๐ ปี หลวงพ่อเป็นประธานในการทำงาน ก็เข้าไปกราบขออนุญาต ขออนุญาตว่าขอใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ญาติโยมทราบหน่อยว่าใครต้องการจะทำบุญให้ไปทำ ณ ที่ตรงนั้น ท่านบอกว่า “ไม่สมควรที่จะกล่าวเช่นนั้น เพราะการกล่าวเช่นนั้นผิดหลักการของสวนโมกข์ ผิดหลักการที่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มแรก” ก็เลยพูดไม่ได้ ใช้เครื่องขยายเสียงบอกที่ให้เขามาทำบุญก็ไม่ได้ ท่านบอกว่าเขาอยากจะทำเขาก็เที่ยวสืบเอาเอง เราไม่ต้องไปบอกเขา ให้เขาคิดเอาเอง ให้มีเจตนาเกิดขึ้นในใจของเขาเอง ไม่ต้องไปกระตุ้นในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นที่วัดสวนโมกข์นี้มันแปลกกว่าวัดใดๆในโลก คือไม่มีหีบตั้งไว้ให้คนหยอดสตางค์ เขาเรียกว่าหีบบริจาค มีฝรั่งชาวต่างประเทศมาเที่ยวเดินดูวัดแล้วก็ไปพูดกับท่าน วัดนี้ไม่เหมือนวัดใดในโลก ท่านถามว่ามันไม่เหมือนอย่างไร เขาบอกว่าวัดนี้ไม่มี charity box ไม่มีหีบให้คนบริจาค ไม่มี ไม่ให้ทำ ใครอยากจะทำก็ไปเที่ยวสืบเอา แล้วก็ไปทำ ถ้าทำแล้วก็แจกหนังสือ ถ้าคนทำบุญ ๕,๐๐๐ นี้หิ้วไม่ไหว หนังสือที่ให้นี้หิ้วไม่ไหว ต้องแบกไปเลยทีเดียว เขาให้สูงอย่างนี้ ๒ เมตร อ่านกันไม่หวาดไหว เพราะหนังสือพิมพ์มาเยอะแยะ เมื่อวานก็หนังสือพิมพ์ที่เขาส่งมาจากกรุงเทพฯ เป็นห่อๆ มากมาย แจกกันไม่หมดไม่สิ้น ยังมาอีก ยังแจก แจกแต่ธรรมะเรื่องเดียว ไม่แจกเรื่องอื่น แล้วก็ไม่ทำเรื่องอื่น ที่คนไปทำบุญสถานที่เช่นว่าสร้างอาศรมนานาชาติ อะไรพวกที่ทำขึ้น ได้เงินก็เพราะว่าหลวงพ่อเป็นผู้บอกเอง ท่านไม่บอก แต่หลวงพ่อประกาศทางวิทยุ ประกาศทางโทรทัศน์ ให้คนทำบุญในเรื่องนี้ แล้วเขาเอามาบริจาคไว้ จดชื่อจดเสียงไว้ให้เรียบร้อยแล้วเอาไปถวายท่าน เพื่อจะได้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่อไป
มีอยู่คราวหนึ่งเคยขออนุญาตทอดกฐิน เพราะว่าที่วัดสวนโมกข์ไม่เคยทอดกฐินเลย ก็นึกว่าเอ้า ทอดกันสักที อ้อ มีอยู่ครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้ทอดที่วัด ไปทอดกันในแม่น้ำ ในแม่น้ำไชยาแหละ ไอที่มันไหลไปภุมเวียง มีต้นไทรย้อยสวยงาม เอาเรือไปจอด ทอดกันในเรือนั่นแล ท่านบอกว่ามันก็สนุกกันดี เพราะมันไม่เคยมี แต่มันลำบากในการกระทำ ทำครั้งนั้นครั้งเดียวแล้วก็ประกาศเลิกเลย บอกว่าทอดกฐินครั้งนี้เป็นครั้งแรก แล้วก็เป็นครั้งสุดท้าย ทางวัดสวนโมกข์จะไม่มีการรับกฐินต่อไป ก็เลยไม่มี ก็นึกในใจว่าไปขอร้องหน่อย ก็เลยเข้าไปขอท่าน นึกว่าท่านจะให้ แต่ท่านบอกว่าเคยพูดไว้แล้วว่าไม่มีทอดกฐินที่วัดนี้ต่อไป จะมาทอดไม่ได้ เปลี่ยนเป็นผ้าป่าไปก็แล้วกัน ก็เลยต้องเปลี่ยนเป็นผ้าป่า ที่ว่าไปกันจำนวนมากคราวนั้น ไปทอดผ้าป่า ไม่ให้เป็นกฐิน เพราะว่าไม่ได้ทอด ไม่ให้ทอดมานานแล้ว ถ้าจะริทอดขึ้นเขาก็จะว่าได้ว่าไม่จริง ก็เลยไม่ให้ทอด มันเป็นอย่างนั้น ท่านไม่ให้กระทำ อะไรที่ตั้งใจว่าไม่กระทำ ก็ไม่กระทำ เพราะว่าเป็นการไม่ถูกต้อง ไม่ได้เปลี่ยนไปตามความต้องการของประชาชน หรือความต้องการของคนที่จะมาทำ ท่านไม่ยอมในเรื่องอย่างนั้น เป็นผู้มีสัจจะในการกระทำอย่างจริงจัง อันนี้ปรากฏอยู่ มีเรื่องอื่นอีกหลายเรื่องที่ท่านไม่อนุญาตให้ทำ ใครก็ไปทำก็ไม่ได้ ท่านก็ทำของท่านอยู่อย่างนั้น เช่นถ้าท่านตั้งใจว่าจะไม่ไปข้างนอก ไม่รับนิมนต์ อายุ ๖๐ แล้วท่านบอกว่าเกษียณแล้ว จะไม่ไปข้างนอก ไม่ไปไหน ใครมานิมนต์ท่านก็ไม่ไป แม่ ญาติตาย ท่านก็ไม่ไป เพราะว่าได้ตั้งใจว่าอย่างนั้นแล้วก็เลยไม่ไป กรุงเทพฯ เขาก็อยากนิมนต์ท่านให้มา ท่านก็ไม่ยอมมา เคยเทศน์ที่กระทรวงยุติธรรม อบรมผู้พิพากษา ๑๐ ปี ทำติดต่อกันมา พออายุ ๖๐ ท่านบอกว่า อาตมา ๖๐ แล้ว เกษียณอายุ อย่านิมนต์ต่อไป ถ้าอยากจะให้พระมาสอนก็เอาท่านปัญญา อยู่ใกล้ดี แล้วก็มานิมนต์ไปเทศน์ต่อมา เทศน์ไปเทศน์มาก็ลดเวลาลง สั้นไป ก่อนนี้เทศน์กัน ๑๐ ชั่วโมง ๒๐ ชั่วโมง ครั้งละ ๒ ชั่วโมง ๑๐ วัน ลดไปลดมาก็เหลือเพียง ๒ ชั่วโมง อาตมาบอกว่าลดบ่อยๆ ก็คงจะหายไปเอง เดี๋ยวนี้ก็ชักจะเลือนหายไปเพราะเปลี่ยนคน คนบางคนก็ไม่ค่อยชอบฟังธรรมะเท่าไร และไม่สนใจก็ค่อยเปลี่ยนไป มันเป็นอย่างนั้น ท่านได้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ไปก็ไม่ไป คงอยู่แต่ในวัด อยู่ในวัดก็มีงานเหลือเฟือ คืองานค้นคว้า ศึกษา คิดค้นในเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมะ มีคนมานิมนต์ไปท่านบอกว่าพระอื่นเยอะ ไม่ต้องรบกวนฉันหรอก ฉันจะทำสิ่งที่พระอื่นเขาไม่ทำกัน เพราะฉะนั้นอย่ามารบกวนเลย ไปนิมนต์พระวัดอื่นก็ได้ สิ่งเหล่านั้นใครๆก็ทำได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องไป ก็เลยไม่ไปตามที่เขาต้องการ ท่านเป็นคน เป็นผู้ที่ประพฤติตนอยู่อย่างนั้นตลอดมา ตั้งใจทำหน้าที่อันควรกระทำ เคยพูดเปรยๆ กับหลวงพ่อว่า มันแก่เต็มทีแล้ว ใกล้จะตายแล้ว มีอะไรที่จะต้องพูดต้องรีบพูด มีอะไรที่จะทำต้องรีบทำ เพราะเวลามันน้อยเต็มที เดี๋ยวจะไม่ได้ทำ ท่านคิดถึงอย่างนั้น คิดอยู่ในใจว่าเวลาล่วงไป ล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ แล้วก็ต้องทำสิ่งที่ควรทำ ควรปฏิบัติตามหน้าที่ ท่านคิดอยู่อย่างนั้นตอดเวลา แล้วก็ทำไม่หยุดไม่หย่อน ทำได้ง่าย ทำอย่างเพลิดเพลิน จิตเป็นสมาธิ เวลาจะเขียนอะไรก็เขียนง่ายๆ ไม่มีโต๊ะให้นั่งหรอก ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ดีๆ ให้ท่านนั่งหรอก ท่านนั่งบนม้าโยก เวลาพักผ่อนก็ไปนั่งตรงนั้น
เดี๋ยวนี้เขาก็ยังเก็บไว้ เอาถุงพลาสติกคลุมไว้ ขี้ฝุ่นก็จับถุงพลาสติกเต็มไปหมด บอกว่าเช็ดเสียมั่งตรงนี้ที่เจ้าคุณเคยนั่ง แล้วก็ม้านั่งตัวนี้ต้องเก็บไว้ด้วย อย่าให้หายไปไหน เพราะวันหนึ่งจะสร้างพิพิธภัณฑ์ให้มันพอเก็บของได้ จะเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ที่ท่านเคยใช้ เอาไว้ให้คนดูต่อไป ท่านก็นั่งโยกไป เอนไป อ่านหนังสือ ข้างที่นั่งนั้นหนังสือเต็มไปหมด กองระเกะระกะเชียว ถามพระท่านที่อยู่ว่าทำไมไม่จัดตรงนี้ให้มันดีหน่อย บอกไม่ได้ จัดไม่ได้ ท่านไม่ให้แตะต้องสิ่งเหล่านี้ วางไว้อย่างใดให้อยู่อย่างนั้น คือหยิบง่าย ท่านวางไว้ท่านก็หยิบง่าย แต่ถ้าใครไปจัดแล้วมันหยิบยาก ไม่รู้ว่ามันหายไปไหน หนังสือเล่มนั้นหายไปไหน กระดาษชิ้นนั้นหายไปไหน เพราะฉะนั้นแตะต้องไม่ได้ อยู่อย่างใดก็ให้อยู่อย่างนั้น ท่านก็นั่งอยู่ตรงนั้น เอื้อมไปหยิบหนังสือเล่มนั้นมาอ่าน แล้วถ้ามีอะไรที่ต้องเขียนก็มีกระดานแผ่นหนึ่ง ยาวแค่นี้ กว้างขนาดนี้ เอามาวางขึ้นบนขา แล้วก็นั่งเขียน เราเห็นท่านเขียนแล้วก็เขียนได้ เขียนได้ตัวเรียบร้อย ตัวหนังสือเรียบร้อย ดูในคำนำหนังสือชุด ธรรมครูฑ (25.20) นั้นไม่ได้เขียนบนโต๊ะสวยๆ ไม่ได้เขียนบนเก้าอี้ที่นั่งสบายๆ แต่นั่งเขียนบนม้าโยก แค่กระดานวางบนขาแล้วก็เขียนสิ่งเหล่านั้นออกมา เขียนกลอน เขียนโคลง เขียนอะไรต่ออะไร ก็เขียนแบบนั้น นึกอะไรขึ้นมาท่านก็เขียนลงไป บางอันเขียนตอนใกล้รุ่ง ตอนตี ๔ ตี ๕ คือนึกอะไรขึ้นมาก็เขียนทิ้งไว้ ในห้องที่ท่านนอนมีกระดาษแผ่นเล็กๆ อย่างนี้ติดไว้เต็มไปหมด พอจัดห้องแล้วอาตมาถามว่า เศษกระดาษแผ่นเล็กแผ่นน้อยที่ติดรุงรังเอาไปไหนหมด เขาบอกว่ารวมใส่กล่องกระดาษไว้แล้ว บอกว่าพวกเราอย่าทำให้หายนะ เพราะว่าเศษกระดาษเหล่านั้นมีค่ามาก ท่านเขียนอะไรไว้ เขียนในเวลาที่มันเกิดความคิดอะไรก็เขียนไว้ แล้วก็ติดไว้ๆ วันหนึ่งจะต้องรวบรวมสิ่งเหล่านั้นพิมพ์เป็นเล่มหนังสือได้ อย่าทำลายเสียเป็นอันขาด เพราะว่าเขารื้อห้องแล้วเอาหนังสือมากองไว้ที่กุฏิไม้ กองเต็มไปหมดเลย กองไว้ที่พื้น บอกว่าอย่างนี้ไม่ได้ หนังสือกองกับพื้นนี้มันชื้น อากาศที่ไชยาไม่เหมือนที่นี่ มันชื้น แล้วหนังสือจะเสีย ให้เอาไม้กระดานมาตีเป็นที่รอง แล้ววางหนังสืออย่าให้ถูกกับพื้น บอกกับคุณเมตตา หลานชาย บอกว่าสั่งเขาทำอยู่ ยังไม่เสร็จ บอกเออ ดีแล้ว หนังสือเหล่านั้นเป็นหนังสือมีค่า คือชุด ธรรมครูฑ นี้เขาพิมพ์แล้วต้องเอาไปเก็บไว้ ๒๐๐ เล่ม ชุดหนึ่ง เล่มหนึ่ง เก็บไว้ ๒๐๐ เล่ม มัน ๖๐ เล่ม แล้วไว้ ๒๐๐ นี่เอา ๖๐ คูณไปแล้วมันจะขนาดไหน เอามากองตรงนี้แล้วมันใหญ่โตพูนเข้าไปแล้ว ท่านห้ามไม่ให้เปิดตู้เมื่อยังมีชีวิต บอกไว้ว่าเมื่อใดเราตายให้เอาหนังสือนี้แจกไป แจกไปตามโรงเรียน ตามมหาวิทยาลัย ตามวัดต่างๆที่สนใจ เลยเอามากองไว้ ยังไม่ได้แจกไปในที่ต่างๆ บอกว่าอย่าแจกสุ่มสี่สุ่มห้านะ อย่าเอาแก้วไปให้ลิงนะ ลิงมันไม่รู้ว่าแก้วมีค่าอย่างไร เอาไปแล้วมันก็จะสูญเปล่า เอาให้แก่คนที่ต้องการ อยากได้ แล้วเขาเอาไปไว้อ่าน เก็บไว้ก่อน สั่งให้เก็บไว้อย่างนั้นก่อน ของมีค่า ถ้าเราให้กับคนที่ไม่รู้จักค่ามันก็ไม่มีความหมายอะไร เราจะให้ของใครก็ต้องพิจารณาว่าเขาใช้เป็นหรือเปล่า เขารู้จักค่าของสิ่งนั้นหรือเปล่า ถ้าว่าเขาไม่รู้จักคุณค่า ใช้ไม่เป็น ให้ไปก็อย่างนั้น เหมือนลิงได้แก้ว มันไม่เกิดประโยชน์อะไร เก็บไว้ก่อน ไว้ให้แก่คนที่ควรจะให้ และก็สั่งไว้ให้เขาเก็บไว้ก่อน เป็นหนังสือมากมายก่ายกอง ไม่ใช่น้อย ราคาเยอะ ไม่ให้ขาย แต่ให้แจกตามสถาบันต่างๆ เอาไปไว้เป็นสมบัติของหอสมุด อย่างนั้นก็ดีเหมือนกัน ท่านสั่งไว้อย่างนั้น แล้วปกติท่านตื่นขึ้นท่านก็เขียนบ้าง อะไรบ้าง อัดเทปไว้บ้าง เทปนี้ก็สำคัญ เพราะว่าอัดเรื่องที่มันเกิดขึ้นในใจแล้วก็อัดทิ้งไว้ กลัวเรื่องมันจะหายไป สิ่งเหล่านี้มีค่ามาก หากว่าไม่รู้จักรักษาแล้วมันก็ไร้ค่า ไร้ความหมาย คนไทยเรานี้ยังบกพร่องอยู่ในเรื่องสถิติ ในเรื่องการเก็บอะไรต่ออะไร ไม่ค่อยรู้จักเก็บเท่าใด
แต่ว่าท่านเจ้าคุณนี้ท่านสั่งเก็บทุกอย่าง ใครพิมพ์หนังสือที่ไหนก็ต้องบอกว่าต้องส่งมาให้ท่าน จำนวนเท่านั้น ส่งมาแล้วก็เก็บไว้ ต้นฉบับมีอยู่ทุกเรื่อง ท่านเก็บไว้หมด เทปมีทุกเรื่อง ก็เก็บ ของใช้ไม้สอยของท่าน ท่านใช้อย่างประหยัด คุณโยมสงวน เศรษฐภักดี เห็นว่าท่านทำงานเป็นประโยชน์ อยากจะให้กำลังใจ เลยซื้อเครื่องพิมพ์ดีด สมิท พรีเมียร์ แบบตั้งโต๊ะให้เครื่องหนึ่ง ใช้อยู่จนบัดนี้ เวลาจะเขียนจดหมายถึงใคร ท่านไม่ได้เขียน พิมพ์ดีด พิมพ์ดีดใส่ไปรษณียบัตร ใส่กระดาษแผ่นน้อยๆ ใส่ซองไป จะใช้พิมพ์ดีดตลอดเวลา พิมพ์ดีดอยู่ พิมพ์เรื่อย ทำหนังสือก็ใช้พิมพ์ดีดเครื่องนั้นแล วางไว้ข้างที่นอน ลุกขึ้นก็ใช้ ที่ท่านนอนมีอะไรบ้าง หนังสือเต็มหมด บนเตียงเขาซื้อเตียงไปให้ เตียงคนป่วย เพราะว่าตอนนั้นท่านป่วยก็นึกว่าให้นอนสบายหน่อย ซื้อเตียงแบบโรงพยาบาลไปให้ ไม่ได้นอน ให้หนังสือนอนเต็มไปหมด หนังสือกองบนเตียงเต็ม ใต้เตียงก็เต็มอีก แล้วท่านนอนอยู่กับพื้น พื้นซีเมนต์ มีเสื่อปู แล้วก็มีหมอนไม้ท่อนแบนๆยาวแค่คืบ เป็นหมอนที่ท่านหนุน เขาเรียกว่านอนหนุนหมอนไม้ อยู่อย่างนั้น แล้วก็ด้านหนึ่งก็หนังสือสูง นอนอยู่ในกองหนังสือ เต็มเลย หนังสือเต็ม ไม่มีใครค่อยได้เห็น อาตมาขอเข้าไปดูหน่อย ถามว่าพี่ท่านนอนอย่างไร นั่นแล นอนตรงนั้นแล ที่นอนตรงไหนท่านก็นอนได้ ไม่ได้นอนนานอะไร นอนหลับพอตื่นก็ตื่นมาทำงานทำอะไรต่อไป แล้วมีเครื่องอัดเสียงเครื่องหนึ่งวางไว้ข้างๆ เตรียมพร้อม ตื่นมานึกอะไรขึ้นมาได้ก็อัดลงไป ที่เอามาออกอากาศทางวิทยุประเทศไทย วันอาทิตย์ที่ ๓ ของเดือน ท่านอัดเวลาตี ๔ ตื่นขึ้นก็อัดไว้ จึงมีเสียงนก มีเสียงไก่ที่อยู่ใกล้ๆกุฏิ มันขัน มันขันมันไปตามเรื่อง ก็เข้าไปในเทปด้วย เป็นแบ็คกราวน์ดีเหมือนกัน ท่านอัดเวลานั้น อัดทีหนึ่งก็ ๔ ม้วน ๘ ครั้ง ส่งมาให้เขาใช้ไปหลายเดือน ทีหลังท่านก็อัดส่งมาอีกโดยลำดับ เทปเหล่านี้มากมาย กรมประชาสัมพันธ์เขาเก็บไว้ ทำจดหมายติดต่อไปบอกว่าให้เอามาเปิดใหม่ในวันอาทิตย์ที่ ๓ นั่นแล ยังไม่ได้สัมฤทธิ์ประโยชน์ ยังไม่ได้พบท่านอธิบดี จะพูดกับท่านให้เข้าใจว่าเป็นเสียงที่ควรรับฟัง เอามาเปิดทบทวนได้ เทปมันยังอยู่ เก็บไว้ทำอะไร ให้เขาเอามาเปิดให้คนฟังกันต่อไป ท่านสิ้นบุญไปแล้วคนยิ่งอยากจะฟังมากขึ้น แล้วจะเป็นประโยชน์มากขึ้น เพราะว่าการลงทุนทำนั้นมันต้องใช้เวลา ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ แต่ก็ทำได้ด้วยความเรียบร้อย อันนี้เป็นการถูกต้อง
พูดถึงการเป็นอยู่ท่านมีการเป็นอยู่แบบง่ายๆ ไม่มีอะไร เรียกว่าไม่มีอะไรยุ่งยากด้วยปัญหา ที่มีมากก็หนังสือ คนกรุงเทพฯที่เป็นพวกเพ่งโทษคนอื่น ไปถึงมาก็โอ้ ท่านพุทธทาสนี้อยู่ป่า สมบัติเต็มเลย ในกุฏิ นอกกุฏิ ของเต็มไปหมด ไม่มีอะไร หนังสือทั้งนั้น ที่กองอยู่บนโต๊ะเอาผ้าคลุมไว้กันขี้ฝุ่น หนังสือทั้งนั้นไม่มีของอื่น ไม่มีอะไร ของอื่นไม่ค่อยมี แต่ว่าคนที่ไปบางคนไม่ได้ไปนมัสการ ไม่ได้ไปหาความรู้อะไร แต่ไปเพื่อจะเพ่งโทษ แล้วเอามาเที่ยวโพนทะนาว่าท่านพุทธทาสอย่างนั้น อย่างนี้ พวกนี้มันพวกตาถั่ว ไม่ค่อยได้เรื่องอะไร ไปแล้วไม่ได้เห็นอะไรที่เป็นของดี ของงาม เคยมีอยู่คราวหนึ่ง โยมชื่น จากเชียงใหม่ ท่านได้อ่านหนังสือพุทธศาสนาของคณะธรรมทาน เลื่อมใสในวิธีการ แล้วก็คิดอยู่ว่าจะต้องไปดูหน่อย แต่ว่ามีพระอีกพวกหนึ่งไป เอาหนังสือนี้ไปให้ท่านอ่าน แล้วก็ไปอยู่ที่นั่น ไปอยู่กับท่าน ท่านก็ปรารภว่า แหม ผมนี้อยากจะไปเยี่ยมท่านพุทธทาสสักหน่อย พระเหล่านั้นห้าม โอ๊ย โยมอย่าไปเลย ไม่มีอะไรหรอก สิ่งที่ท่านพุทธทาสสอน ที่นี่ก็สอนอยู่แล้ว โยมจะไปทำไม ไม่ให้ไป แต่ว่าโยมอยากจะไป แต่เมื่อถูกห้ามก็เลยให้ลูกเขยกับลูกชาย ๒ คนไปกัน ไปดูว่าท่านพุทธทาสเป็นอย่างไร ลูกเขย ลูกชายก็ไป ได้ฟังธรรมอะไรแล้วกลับมาบอก บอกถูกต้อง บอกเรื่องดีเรื่องงามทั้งนั้น ผลที่สุดท่านก็อยากไปให้ได้ เลยไปลาพระเหล่านั้น พระเหล่านั้นไปด้วยองค์หนึ่ง คุมโยมไป ตามไปด้วย ไปด้วยก็ไม่อะไร โยมเสียสตางค์ค่าเดินทางอะไรให้ พาไปด้วย พอกลับมาถึงแล้วเที่ยวไปพูดตามบ้านญาติโยมที่เชียงใหม่ ไปบ้านไหนก็ โอ้ อาตมาไปไชยามา ไปเยี่ยมสวนโมกข์มา ไม่มีอะไร สวนโมกข์ไม่มีอะไร ขุดบ่อล่อปลา โยมคงจะไม่รู้ว่าขุดบ่อล่อปลาเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยล่อ อยู่กรุงเทพไม่ได้ล่อปลา ล่อในตลาด ขุดบ่อล่อปลาที่ว่าปลาในหนองนี้มันมีปลาเยอะ เราไม่ต้องเอาแหไปทอด เอาอวนไปจับ ขุดบ่อไว้ ขุดบ่อแล้วก็ให้น้ำมันไหลจากบ่อ ไหลไป ธรรมชาติของปลานี่ถ้าน้ำไหลมาทางไหนมันจะทวนน้ำไป ทวนน้ำไปก็ตกบ่อ ตกบ่อแล้วก็ไปลงหม้อแกงก็เท่านั้นเอง วิธีการเขา เขาทำอย่างนั้น เขาเรียกว่าขุดบ่อล่อปลา จะได้กินปลาง่ายๆ ไม่ต้องลำบาก แต่ลำบากตรงขุดบ่อ เหนื่อยหน่อย แล้วก็ต้องหาน้ำมาให้มันไหล น้ำไหลไปเป็นน้ำใหม่ ปลาชอบ มีอะไรใหม่ ทางเหนือนี้คงจะมีกระแสน้ำ มีบ่อน้ำ ก็ว่ายทวน ทวนกันเป็นฝูงเลย ทวนมาเต็มบ่อก็หล่นลงไปในบ่อ หล่นแล้วขึ้นไม่ได้ เพราะในบ่อนั้นเขามีเหล็กกั้นไว้ ขึ้นไม่ได้ ชาวบ้านก็มาจับเอาไปแกงได้ตามสบาย เขาเรียกว่าขุดบ่อล่อปลา อันนี้หาว่าท่านเจ้าคุณไปขุดบ่อไว้ที่สวนโมกข์ ล่อปลา คือ ญาติโยมนี้แล ให้ไปตกบ่อ ไปเที่ยวเล่าใครต่อใคร ตามเชียงใหม่ ไอคนที่ไปรับบอกเล่าก็ไปบอกให้โยมชื่นฟัง โยมชื่นแกไม่ว่า ยิ้มๆ โยมชื่นนี่ใจดี เวลานี้อายุ ๙๘ หายใจเป็นเรื่องธรรมะตลอดเวลา อยากจะพิมพ์หนังสือแจกอย่างนั้นอย่างนี้ ดร.มหาจรรยาอยู่บอกว่า โยม ไอที่พิมพ์ไว้แล้วยังแจกไม่หมดเลย ค่อยๆ พิมพ์ก็ได้ ท่านบอกว่าแหมผมอายุมันน้อยลงไปทุกวันนะ อยากจะพิมพ์หนังสือ อยากจะทำนั่น ทำนี่ วัดจะทำอะไรขอให้บอก พอบอกแกก็จะทำเท่านั้นเอง บางทีพระไม่บอก เกรงใจ แกไปเห็นเข้า แกก็ทำของแก นิสัยเป็นอย่างนั้น พอไปกับพระแล้วกลับมา นึกว่าไม่ได้ ต้องนิมนต์ท่านเจ้าคุณมาเทศน์เชียงใหม่สักที เลยนิมนต์มา อยู่ ๑๕ วัน ออกเทศน์ทุกวันๆ ตามที่ต่างๆ คนก็ชอบพอ
คนเมืองเหนือเขาชอบ ธรรมะนี่เขาชอบ เรื่องอื่นนี่เขาไม่ค่อยชอบเท่าใด ท่านก็รู้สึกว่าเป็นประโยชน์ และก็นิมนต์ท่านอาจารย์มาช่วยเชียงใหม่สักหน่อยเถอะ มาช่วยปลุกให้ชาวเชียงใหม่ตื่นจากความหลับเสียที ท่านบอกว่าอาตมาจะมาได้อย่างไร งานที่ไชยามันเยอะ ยังทำค้างๆไว้เยอะแยะ แต่ไม่เป็นไร จะหาพระให้ ก็เลยหาพระ คือหลวงพ่อ ส่งไปให้ ให้ไปอยู่เชียงใหม่ ให้ไปทำงาน เค้าเรียกว่าหลวงพ่อเหมือนกับไปเกิดที่เชียงใหม่ ก็ได้รู้จักชื่อท่านปัญญานันทะ ก็ที่เชียงใหม่นั้นแล ได้ทำงานกว้างขวาง คนได้รู้จักกันทุกหนทุกแห่งก็เพราะโยมชื่น ตัวการใหญ่ แล้วก็ทำงานที่นั่น ท่านเจ้าคุณท่านก็เป็นผู้หนุนอยู่ข้างหลัง ให้คำปรึกษา คำแนะนำ นานๆท่านก็ไปเยี่ยมเชียงใหม่สักทีหนึ่ง แล้วก็ให้ท่านเทศน์ให้คนฟัง สนทนาธรรมกับชาวบ้าน อะไรอย่างนั้น ท่านก็ไม่อยากจะไปไหนหรอก แต่ว่าโยมชื่นไปเสนอว่าท่านอาจารย์ควรจะไปอินเดียสักครั้ง เพื่อไปศึกษาดูงาน ดูอะไรต่ออะไรที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เลยตกลงก็ไป ไปเอาไม่ใช่เล็กน้อย ไปกัน ๓ เดือนเอย โยมชื่น โยมฉาย ลูกสาว พระ ไปกันเป็นขบวน และในขบวนนั้นมีคนอิสลามไปด้วยคนหนึ่งชื่อประยูร วจายนะกุล คุณประยูรนี่แกเป็นอิสลามที่เข้าถึงธรรมะของอิสลาม เลยไปพักอยู่สวนโมกข์สองสามเดือน ไปศึกษาธรรมมะ คุยธรรมะอยู่กับท่านเจ้าคุณตั้ง ๓ เดือน เลยเรียกว่าท่านอาจารย์ คราวนี้พอท่านเจ้าคุณจะไปอินเดีย พอมากรุงเทพฯคุณประยูรก็มาพบ มาพบว่าท่านอาจารย์มาคราวนี้มีธุระอะไร โอ้ จะไปอินเดีย โอ้ ไปเมื่อไร ไปพรุ่งนี้ ไปก่อน ผมไปตามไป ไปพบกันที่กัลกัตตา ผมจะไปวีซ่าก่อน แกก็ไปวีซ่า ตามไป พบกันที่กัลกัตตา แล้วก็ช่วยกันสะพายย่าม หิ้วกล้องถ่ายรูปตามหลังท่านเจ้าคุณ ไปเรื่อยไป ๓ เดือน ท่านไปเที่ยวไม่เหมือนกับพวกทัศนาจรทั้งหลายหรอกนะ รีบไปรีบมา เพราะหัวหน้าทัวร์เค้ากลัวว่าจะได้ทุนน้อยไป กำไรน้อยไป เพราะฉะนั้นต้องรีบไปรีบมา เร่งรีบพอได้เห็นแล้วก็ไป แต่ท่านเจ้าคุณนี่เจ้าของทุนเขาไม่เดือดร้อนอะไร ไปกัน ไปหุงข้าว ต้มแกง ก็ฉันกันไปตามเรื่อง ท่านวิเวทนันทะ สีลานันทะ นี่ก็ไปด้วย เรียกว่าทำหน้าที่เป็นพ่อครัวไปในตัว หุงหาอาหาร มีอยู่คราวหนึ่ง สีลานันทะก็กำลังทำอาหารอยู่ ท่านเจ้าคุณเข้าไป ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ สีลานันทะก็ฉุนขึ้นมา บอกว่า ท่านอาจารย์ไปนั่งตรงนู้น ไม่ใช่หน้าที่ หน้าที่ทำกับข้าวผมเอง ท่านก็ว่านอนสอนง่ายดี ไปนั่งเฉย สีลาเขาบอก แหม กระผมเป็นทุกข์อยู่ตั้งหลายปี ก็ไปดุท่านเจ้าคุณอาจารย์เข้า กลับมาแล้วไปขอโทษขอโพย ท่านบอกลืมไปแล้วไม่รู้เรื่องอะไร ไม่ได้จดจำไว้หรอก คราวนั้นท่านไปอินเดียก็ไปถ่ายภาพปูชนียสถาน ภาพสลักหิน อะไรต่ออะไร เอามาเยอะ แล้วก็เอามาทำในประเทศไทย เอามาแกะพิมพ์ลงไปบนดินเหนียวแล้วก็เทปูนเป็นแบบ รูปดีกว่ารูปเก่าอีก นวลกว่า ทำดีกว่า เอาติดไว้ตามโรงหนัง ตามโรงมหรสพทางวิญญาณ ติดไว้ตามที่ต่างๆ ให้คนได้ศึกษา ได้สนใจ กรมศิลปากรเขาบอก แหม รูปเหล่านี้กรมศิลปากรก็ไม่มี ขอท่านอาจารย์ช่วยอัดให้สักชุดเถอะ ท่านก็อัดให้ เรื่องรูป ถ่ายรูปนี้ ท่านเจ้าคุณนี้มีความชำนาญมาก เล่นกล้องมานาน ตั้งแต่หนุ่ม ถ่ายเก่ง ล้าง อัด ขยาย ทำได้เรียบร้อย ถ้าใครจะไปถ่ายรูปท่าน ท่านถามเปิดกล้องเท่าไร ระยะเท่าไหร่ แสงเท่าไหร่ พวกนั้นก็ต้องจัดตามที่ท่านสั่ง ต้องไปยืนตรงนั้น ต้องไปยืนตรงนี้ สอน ใครไปถ่ายภาพก็ได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่ท่านสอนให้ เพราะท่านเล่นมานานจนคล่อง เดี๋ยวนี้เลิกนานแล้ว เดินไปถ่ายไม่ไหว แต่ท่านก็ไม่ได้ถ่ายรูปอะไร รูปโบราณวัตถุ แผ่นหินสลัก อะไรที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษา ก็ไปเก็บเอามา ถ่ายเก็บไว้ ให้เป็นประโยชน์ ภาพด้านหลังนะโยม นั่งๆก็เดี๋ยวไปดู ภาพเหล่านั้น นั่นแล อยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ไปอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครสนใจอะไร ท่านก็มาเที่ยวค้นเที่ยวเปิดดู ถ่าย เอากล้องถ่ายเป็นรูปๆ ถ่ายเอาไปเพื่อเขียนฝาผนัง ให้คนได้ศึกษา มีเวลาต้องดูตั้งแต่ภาพ ๑ ไปดู ลำดับ ดูให้มันหมดทุกภาพ เป็นธรรมะ เป็นหลักปฏิบัติทั้งนั้น ภาพเหล่านั้น เอามาสร้างโรงเรียนนี้ เราก็นึกว่าเอ เอาภาพมาติดไว้บ้าง เลยให้โกวิทย์ เขมนันโท เดี๋ยวนี้ ศึกไปสอนธรรมะแบบคฤหัสถ์อยู่ มาช่วยเขียนให้ เขาก็มา เอาภาพมาฉายเป็นสไลด์ แล้วก็ไปที่ข้างฝาแล้วก็เขียน เรียบร้อย โยมมาๆ นี่ไม่ค่อยได้อ่านหรอก เพราะว่ารีบไป ถ้าอ่านดูแล้ว หนังสือเขาเขียนบอกไว้ทุกภาพ จะได้ความรู้ความเข้าใจ จากภาพเหล่านั้น ภาพเหล่านี้ท่านไปเก็บมาจากสมุดข่อย ซึ่งมีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ แต่ก็มันอยู่ในหอสมุด ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครพบ ท่านไปค้นพบเอามา ภาพดีๆ หลายอย่าง เอามาพิมพ์เป็นหนังสือ แจกเขา ให้ชาวบ้านได้ศึกษา ให้เห็นว่าคนโบราณนี้ไม่โง่ ฉลาดในการสอนคน คนไม่รู้หนังสือก็สอนด้วยภาพ เขาจึงเขียนภาพไว้ตามฝาผนังโบสถ์ ตามระเบียงโบสถ์ ตามศาลาพักร้อน ตามศาลาพักร้อนเขาเขียนภาพนะ ภาพนรก คนตกนรกโดนยมบาลจับโยนไปในกระทะทองแดง ขึ้นต้นงิ้ว อะไรต่ออะไรเยอะแยะ เขียนหนังสืออธิบาย คนได้เห็นภาพเหล่านั้น ก็กลัวนรกขึ้นมา ไม่กล้าทำบาป วิธีการของคนโบราณเขาทำไว้อย่างนั้นแล แต่มันอยู่ในสมุดข่อย คนไม่ค่อยสนใจเลยสมุดข่อย โบราณ ไม่อ่านไม่ดูหรอก แต่มันมีของมีค่า มีเพชร มีอยู่ในนั้น ท่านก็ไปขุดไปคุ้ยเอามา เอามาเขียนไว้ตามที่ต่างๆ ฉายเป็นภาพสไลด์ไว้ เอาไปสอนคนด้วย บางคราวไปเทศน์ต้องฉายภาพสไลด์ อธิบายภาพไปในตัว ให้คนเข้าใจธรรมะ ก็เลยเอามาเขียนไว้อย่างนั้นตามข้างฝาผนัง คนโบราณทำไว้เราจะได้เห็น ได้เป็นเครื่องเตือนใจกันต่อไป
สิ่งเหล่านี้ท่านไปหยิบไปค้นเอามา ให้คนได้ศึกษาได้ทำความเข้าใจ แม้ท่านจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่สิ่งนั้นก็ยังอยู่คู่โลกต่อไป หลายเรื่องหลายอย่าง ทีนี้ที่สำคัญที่สุด ที่เป็นประโยชน์ที่สุดก็คือว่า ท่านมีการค้นคว้าหลักธรรมในพระไตรปิฎก ท่านอ่าน เรียนบาลีแล้วก็ใช้บาลีเป็นเครื่องมือสำหรับศึกษา เปรียญ ๙ ประโยคได้แล้ว ไม่อ่านพระไตรปิฎก ไม่ศึกษา กลับไปนั่งเป็นหมอดูหาเงิน รวย หมอดูนี่หาเงิน บางองค์เป็นหมอดูบอก นั่งอยู่นี่เสียเวลา นี่ถ้าอยู่ที่วัดได้สักหมื่นแล้ว โอย รายได้ดี แต่ว่าคนมาหามาก พ่อค้าวานิชก็มา มาหาอะไรต่ออะไรเยอะ ก็ได้อย่างนั้น แต่ว่าบาลีที่ได้เรียนมา ไม่ได้ใช้ เพราะเอาไปใช้เป็นเรื่องหมอดูไป มีชื่อทางนั้น แต่ท่านเจ้าคุณไม่ถึง ๙ ประโยคหรอก เรียนหนังสือเพียง ๓ ประโยคเท่านั้นเอง ประโยค ๔ ก็เรียน สอบไม่ได้ แล้วท่านว่า ความคิดของเรากับกรรมการมันไม่ตรงกัน เลยไม่ต้องเรียนแล้ว เอาความรู้นี้ไปใช้ได้แล้ว แล้วไปค้น ค้นคว้าบาลีนี้ เขาเรียกว่าปทานุกรมทุกอย่างที่มี ปทานุกรมภาษาอังกฤษ ภาษาอะไรต่อมิอะไร เอาใช้หมด ในห้องนั้นมีแต่หนังสือวางเต็มไป มืดๆ ก็หยิบถูกว่าจะหยิบเล่มไหน ก็หยิบอยู่เสมอ พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม แม้ไม่มีไฟก็หยิบได้ เพราะหยิบมันอยู่ทุกวัน หยิบมานั่งอ่าน ดูปทา ดูพจนานุกรม ดูบาลี แล้วก็ดูดิกชันนารีภาษาอังกฤษ บาลี ท่านมีครบ เครื่องมือประกอบ แล้วก็แปล แปลออกมาอ่าน ค้นคว้า อ่านทั่วถึง ก็ใช้เวลาอยู่ในสวนโมกข์นาน เริ่มอยู่ในสวนโมกข์ที่ภุมเรียง ๒ ปี ไม่คุยกับใครเลย ไม่พูด ไม่มีเวลาจะพูดกับคน แล้วไม่รับแขก ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่ง ปิดประตู ใส่กุญแจ ไม่ให้เข้า คนก็ไม่ได้ไปรบกวน จนพวกอิสลามแถวนั้นบอก นั่นแหละ พระบ้า เขาไปกักตัวไว้ในป่า ประตูก็ใส่กุญแจไม่ให้ใครเข้า มันหาว่าพระบ้า เวลาออกบิณบาตร เจ้าๆลูกอิสลามเที่ยวเล่นก็บอกไปๆๆๆ พระบ้ามาแล้ว อย่าไปยุ่ง หนีหมดเลย หาว่าท่านเป็นบ้า เป็นอย่างนั้น อยู่เงียบๆ อ่านหนังสือค้นคว้า ใช้ตะเกียงลาน สำหรับทำงานกลางคืน ด้วยแสงสว่างของตะเกียงลานนั้นผลิตหนังสืออกมาตั้งหลายเล่ม ที่เราได้อ่านได้ศึกษารุ่นแรกๆ ท่านเขียนออกมา ให้คนได้อ่าน ทำงานอย่างเดียว ไม่พูดกับคน ไม่นิมนต์ไปไหน ไม่รับแขก ๒ ปี ๒ ปีนี้ไม่พบคนเลย พบแต่หนังสือเท่านั้น อ่าน ค้นคว้า ต่อมาก็มีคนเข้าไปคุยได้ แต่ว่าเป็นเวลา ไม่ได้คุยพร่ำเพื่อ แล้วคนก็ไม่ชอบไปคุยเท่าใด เพราะว่าคนสนใจธรรมะมีจำนวนไม่มาก ท่านก็มีเวลา ได้ทำงานได้บ้าง ได้ทำงานได้ดี หลายปีที่อยู่ในสวนโมกข์ .ภุมเวียง. มีหนังสือเล่มหนึ่งเรียกว่า ๑๐ ปี ในสวนโมกข์ เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก เขียนเรื่องต่างๆ ไว้ ความเป็นมา การเป็น การอยู่ อุปสรรค ข้อขัดข้อง อะไรในการอยู่ป่าเป็นอย่างไรเขียนไว้ละเอียด เป็นหนังสือเล่มใหญ่ เรียกว่า ๑๐ ปีสวนโมกข์ แล้วต่อมาก็ ๕๐ ปีสวนโมกข์ พร้อมกับฉลอง ๒๐๐ ปีของกรุงเทพมหานคร สวนโมกข์ครบ ๕๐ ปี ท่านก็พิมพ์หนังสือเล่มใหญ่ ๕๐ ปี สวนโมกข์ ใครด่าท่านกี่รายก็เอาไปพิมพ์ไว้ด้วย พิมพ์ไว้ว่า เมื่อเขาด่าเรา เขียนไว้หมดแล ไอคนไหนด่าอย่างไรก็เก็บไว้หมด ไม่ทิ้ง เอามาพิมพ์ลงไปหมด ให้รู้ว่าคนที่มีความคิดไม่เข้าเรื่องมีอะไรบ้าง บางคนเราเรียกว่านักปราชญ์ แต่ก็ด่าคนเก่ง ท่านก็เอามาพิมพ์ไว้ ใส่ชื่อ ใส่เสียง ชัดเจน แจ่มแจ้ง ให้คนได้รู้ได้เห็นว่าใครด่าท่าน ถ้าใครไปถามท่านว่าท่านอ่านหนังสือที่คนนั้นเขียนด่าแล้วยัง อ้อ ยังไม่ได้อ่าน ถ้าอ่านแล้วท่านจะรู้สึกอย่างไร ก็ไม่รู้สึกอะไร ถ้ามีบ้างก็สงสารคนที่เขียนก็เท่านั้นเอง เช่นว่านายตำรวจคนหนึ่ง เขียนด่าท่าน หาว่าเป็นเดียรถีย์ คำสอนเดียรถีย์ ก็เอาไปให้ท่านดู พลิกดูๆ ท่านว่าจะด่าคนก็ด่าไม่เป็น เพราะคำว่า เดียรถีย์นั้นมันไม่ได้ชั่วร้ายอะไร มันเป็นคำกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว เหมือนคำว่า ธรรมะ นี่มันไม่ดีไม่ชั่ว แต่ถ้าว่าอธรรมแล้วมันชั่ว มันไม่ดี อะไรอย่างนี้เป็นต้น ทิฐิ ไม่ดีไม่ชั่ว ถ้ามิจฉาทิฐิ มันชั่ว ถ้าสัมมาทิฐิมันก็ดี แต่ไม่รู้ เป็นคำสอนเดียรถีย์ คนเขียนนึกว่า เดียรถีย์ มันเลว
แต่ท่านบอกมันไม่ได้เสียหายอะไร เดียรถีย์ไม่ได้เสียหาย แต่ถ้าว่าอันยเดียรถีย์ก็เสียหายนิดหน่อย เพราะว่าเป็นคำสอนอยางอื่น ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านยิ้มๆ แล้วบอกว่า จะด่าเขาก็ด่าไม่เป็น ท่านว่าอย่างนั้น แล้วก็ไม่ได้สนใจอะไร เขาด่าท่าน ท่านก็ไม่ได้สนใจ ไม่ได้พูดตอบกับคนเหล่านั้น แต่ถ้าจะตอบก็ตอบในรูปการแสดงธรรม เช่นว่า คราวหนึ่งมาพูดเรื่องปฏิจสมุทบาท คืออะไร แล้วก็พูดไปกระทบพวกอภิธรรมเข้า 2-3 ประโยค คือท่านพูดว่า อภิธรรมมมิได้มาในรูป พระพุทธพจน์ อภิธรรมมิได้มาในรูปพระพุทธพจน์ ถ้าคนที่ไม่ยึดถืออภิธรรมอ่านก็ไม่โกรธอะไร เพราะพูดว่ามิได้มาในรูปพระพุทธพจน์ ก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสคำเหล่านั้น แต่เป็นคำที่เก็บเอามาจากพระไตรปิฎกเอามาเขียนขึ้นอีกชุดหนึ่งเรียกว่า อภิธรรม แต่ว่าพอพูดเช่นนั้นพวกอภิธรรมโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเลย ถ้าหากว่าสายตาเป็นไฟเขาก็มองท่านพุทธทาสเป็นขี้เถ้าไปแล้ว โกรธมาก เหมือนกับฤๅษีในอินเดียโกรธคน แกเพ่งมอง มองจนคนนั้นกลายเป็นขี้เถ้ากองอยู่เลย กองอยู่ที่ตรงนั้น เพราะว่าฤทธิ์แกแรง พวกอภิธรรมโกรธมาก โกรธมากก็รวมหัวกันคัดค้าน คัดค้านเป็นหนังสือเล่มเท่านี้ หลวงพ่อเอามาอ่านดู หลายคนรู้จักมักคุ้น อ่านดูแล้วก็ โอ้ ถ้าเป็นมวยเขาเรียกว่าหมัดแย๊บ แย๊บ ไม่มีหมัดน็อคสักหมัดเดียว แย๊บทั้งนั้น ไม่ได้เจ็บช้ำอะไร ชกแย๊บเท่านั้นเอง พวกนักดูมวยคงจะรู้ว่าหมัดแย๊บมันไม่ได้เรื่อง แย๊บเอาคะแนน นิดๆ หน่อยๆ แต่อีกฝ่ายหนึ่งหมัดมันแรง มันน็อคทีเดียวหักล้างหมัดแย๊บหมดเลย แต่ท่านไม่ได้โต้ตอบ อ่านแล้วก็เฉยๆ ไม่ได้โต้ตอบอะไร แต่ว่าใช้วิธีการมาเทศน์ครั้งหลัง คือเขาพูดว่าสิ่งที่ท่านเจ้าคุณพูดไม่มีในพระไตรปิฎก ว่าอย่างนั้นเชียวนะ ท่านก็ไม่ว่าไร แต่ทีหลังมาเทศน์ที่ธรรมศาสตร์ เรื่องพุทธศาสนาสำหรับคนหนุ่ม อ้างที่มาหมดทุกเรื่องเลย เรื่องนี้มีอยู่ในพระสูตรนั้น พระไตรปิฎกเลขนั้นเลย เพื่อไม่ให้มีการโต้เถียงว่าไม่ได้มาจากพระไตรปิฎก ท่านก็แก้ไปในรูปอย่างนั้น ทำให้พวกที่ด่าท่านก็ เงียบๆ ไป ไม่รู้จะโต้ตอบอย่างไร เพราะท่านพูดไม่ได้พูดลอยๆ แต่พูดสิ่งที่มันมีอยู่ แต่ว่าสิ่งนั้นถูกปกปิดอยู่ไม่มีใครเอามาเปิดเผย ไม่มีใครพูดใครจากันในเรื่องนั้น เช่นเรื่องเกี่ยวกับ อนิจตา อนัตตา ธรรมตา อาตมยตา อะไรอย่างนี้ ไม่มีใครพูด เขาไม่พูดกัน เรื่องนิพพานนี่ไม่มีใครพูด แม้พระผู้ใหญ่ก็ยังพูดว่าเรื่องนิพพานไม่ควรเอามาสอน เพราะว่าคนมันไปไม่ได้ มันไม่เข้าถึงได้ ปิดซะอย่างนั้นแล้วคนจะไปได้อย่างไร แต่ท่านพูดว่าเรื่องนิพพานเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ และเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิต ไม่ว่าเราจะเป็นนักธุรกิจ เป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการ ที่จะมีชีวิตสดชื่นอยู่ในโลกได้ก็ต่อเมื่อรู้จักคำว่านิพพานถูกต้องแล้วปฏิบัติอยู่ตามหลักการเพื่อนิพพาน นิพพานคือการดับทุกข์ได้ ดับร้อนได้ ทำใจให้เย็นได้ ให้สงบได้ มันเป็นเรื่องจำเป็นแก่คนทุกคน แต่ว่าคนเขาไม่ค่อยพูด พระบางองค์เป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่ เอ้ย เรื่องนิพพานอย่าเอามาพูดเลย มันถึงไม่ได้ แย่มาก องค์นี้แย่มาก ตายแล้ว ไม่ได้เรื่อง แล้วเกาหัวด้วย ของมันเหลือวิสัย พระพุทธเจ้าจะไม่สอนในสิ่งที่เหลือวิสัยของมนุษย์ แต่จะสอนสิ่งที่มนุษย์ทำได้ ไม่ว่าเรื่องอะไร มนุษย์ทำได้ แต่เรามันท้อแท้เกินไป อ่อนแอเกินไป นึกว่าไปไม่ถึง ไม่ได้ลองผิด ไม่ได้ลองเดิน แล้วบอกว่าไม่ไหว เห็นภูเขาสูง พอยืนอยู่เชิงเขาก็บอกไม่ไหว ขึ้นไม่ไหว แล้วไม่ได้ลองขึ้นสักหน่อย มันต้องลองขึ้นดูก่อน แสดงมาก็สมควรแก่เวลา ก็ยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อจากนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ เป็นเวลา ๕ นาที
- ปาฐกถาธรรมประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗