แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านนั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจน และจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
เวลาที่ขึ้นมายืนปาฐกถาตรงนี้ทีไร ก็นึกถึงท่านมหาบุญเลี้ยงทุกที เพราะว่าถ้าท่านมหาบุญเลี้ยงอยู่นี่ เวทีมันสะอาดเรียบร้อย ขี้ฝุ่นมันไม่ค่อยมี แต่นี่ท่านมหาบุญเลี้ยงไม่มี ขี้ฝุ่นจับจนไม่สามารถจะเอามือไปจับตรงนี้ได้ เพราะว่ารังเกียจขี้ฝุ่น แลว่าเห็นขี้ฝุ่นแล้วก็นึกถึงท่านมหาบุญเลี้ยง แต่เวลานี้ท่านมหาบุญเลี้ยงสิ้นบุญไปเสียแล้ว แลไม่มีมหาบุญเลี้ยงตัวแทน ท่านพุทธทาสบอกว่า “ท่านสิ้นบุญแล้ว ทุกคนเป็นพุทธทาสก็แล้วกัน โดยช่วยกันเป็นพุทธทาส เพราะพุทธทาสไม่ตาย” แต่นี่ท่านมหาบุญเลี้ยงตาย แล้วไม่มีใครเป็นมหาบุญเลี้ยงแทน พระในวัดมีหลายองค์ก็เป็นแทนไม่ได้ แกไม่สนใจที่จะมาดู มาทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ไม่ค่อยคิดทำชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ถ้าเราคิดว่าวันนี้เราควรทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้บ้าง มีงานเยอะที่จะต้องจัดต้องทำ สิ่งเหล่านั้นเรียกร้องให้เราทำหน้าที่ ให้เราปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นในแง่มุมต่างๆทำได้ทั้งนั้น ในวัดนี่มีงานเยอะ และก็ถ้าเป็นคนมีหัวใจก็ทำได้ แต่ว่าคนเรามัน..คนโบราณเขาว่าคนประเภท “สิ่ว” สิ่วที่เขาเจาะไม้ โยมเคยเห็นไหม เอาสิ่วมาวางลงบนไม้ มันไม่กินไม้หรอกสิ่ว วางเฉยๆ ไม่กินไม้ ต้องเอาค้อนทุบหัวมันลงไป เอาค้อนทุบแรงๆ ทุบลงไป ทุบลงไปแล้วมันก็เจาะไม้ได้ ไม้ลักษณะสิ่วมันเป็นอย่างนั้น คนเรามันเป็นแบบนั้นเยอะ ต้องให้เขาใช้ให้ทำนั้นทำนี่ ที่จะมีความคิดขึ้นทำเองมันหาได้ยาก ไม่ค่อยมี เป็นประเภทสิ่วทั้งนั้น คนเราถ้าว่า ให้เขาใช้ให้ทำนั้นมันเป็นทาส แต่ถ้าทำเองเป็นไท เป็นอิสระ คือเราคิดได้แล้วเราก็ทำ ไม่ต้องให้มีใครใช้
คนที่คิดได้แล้วทำนั้นเป็นคนประเภทที่เรียกว่า รู้จักหน้าที่อันตัวจะต้องทำ แล้วก็ทำหน้าที่นั้นด้วยความสบายใจ นั่นเป็นการประพฤติชอบอันหนึ่งในแง่ธรรมะ คือผู้ประพฤติธรรมนี่ เห็นอะไรพอจะทำได้ก็ทำ ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างปฏิบัติหน้าที่ เดี๋ยวมันก็เรียบร้อย
เวลาไปพักอยู่กับพระที่ประเทศอังกฤษคือ วัดป่าจิตตวิเวกก็ดี วัดอมรวดีก็ดี หรือวัดไหนที่เป็นสาขาเดียวกันที่ประเทศอังกฤษ เขาจะทำอะไรของเขาเอง พระทุกรูปรู้จักหน้าที่แล้วก็ทำงาน ไม่ต้องมีใครใช้ ไม่ต้องมีใครบอกว่าต้องให้ทำนั่นทำนี่ ต่างรูปต่างทำ เช่นว่าทำความสะอาด ทำความสะอาดห้องน้ำ ทำความสะอาดห้องถ่าย ทำความสะอาดในที่หุงหาอาหาร ถูบันได เช็ดกระจกหน้าต่าง ทุกคนก็แค่ ทำกันอย่างพร้อมเพียง ทุกรูปก็ทำกันด้วยความเต็มใจ ไม่มีใครบอกให้ทำ แล้วก็ไม่มีใครชมว่าองค์นั้นทำดี องค์นั้นไม่ดี ไม่มีใครชม ไม่มีใครติ ทุกรูปทำหน้าที่เรียบร้อยเป็นตัวอย่างอันดี เขาจึงสามารถดึงฝรั่งให้มาสนใจพุทธศาสนา เพราะฝรั่งที่สนใจในทางพุทธศาสนานั้นเขาจะมาดูก่อน เขาจะมานอนด้วยที่วัดแล้วก็จะเห็นว่าพระนี่ทำอะไร ตื่นขึ้นทำอะไร เวลานั้นทำอะไรเวลาต่อไปทำอะไร เขาทำกันอย่างถูกต้องเรียบร้อย เขาก็เลื่อมใส แล้วก็ทำกันทุกวันติดต่อกันตลอดเวลา พวกที่มาเห็นก็เลื่อมใส เรื่องอย่างนี่ความจริงมันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ว่าเป็นเรื่องดึงดูดคนในมาศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนา ก็ได้เห็นเป็นตัวอย่าง
ที่มาชิคาโกนี่ วัดพุทธธรรมนี่ ท่านสุนทร ดร.สุนทรเป็นเจ้าอาวาส อาตมาไปพักอยู่บ่อยๆ ไปพักแล้วก็เห็นว่าดร.สุนทรนี่ขยันจริงๆ เอางานจริงๆดึกดื่นเที่ยงคืนแล้วยังไม่หลับไม่นอน อาตมาจำวัดแล้วก็ตื่นขึ้นราวตี ๑ ลงไปดูสุนทรยังพิมพ์ดีดอยู่ ยังหมุนเครื่องโรเนียว ยังทำนู้นทำนี่อยู่ เลยถามว่า
อ้าว สุนทรตื่นไวจริง ท่านก็ยิ้ม แล้วบอกว่า
“ผมยังไม่ได้นอน” บอก โอ้ว ถ้าอย่างนั้นนอนเสียบ้าง ทำงานมากเกินไป ไม่ได้ต้องพักบ้าง
“ไม่เป็นไรเพราะงานยังไม่เสร็จ” แล้วเขาก็ทำไป ทำแล้วพอถึงเวลาจำวัดก็จำวัด แต่ว่าพอตี ๔ ครึ่งต้องตื่น ตื่นทำวัตร สวดมนต์ แกก็ตื่นทันเวลา แล้วก็ทำงาน ทำงานไม่พูดไม่จา ไม่บ่นกับใครทั้งนั้น ตั้งใจทำงานจริงๆ
ญาติโยมบางคนก็มาถามว่า “จะให้ดิฉันช่วยทำอะไรบ้าง” ท่านสุนทรแกก็ยิ้มแล้วบอกว่า “ช่วยกันพูดให้มันน้อยๆหน่อยเถอะ” (หัวเราะ) ท่านว่าโยมนี่พูดมาก มาวัดกันก็พูดมาก พูดมากแล้วมันก็สร้างปัญหา แล้วท่านก็บอกว่า ช่วยกันพูดให้มันน้อยๆหน่อยก็แล้วกัน (หัวเราะ) โยมก็นิ่งเงียบไป ท่านเรียกว่าเป็นพระรักงาน เอางานจริงๆ ทำงานจริงๆ
ท่านธรรมปาละอีกคนหนึ่งเป็นชาวลังกา ก่อตั้งสมาคมมหาโกธิกในประเทศลังกาอินเดีย แล้วก็ไปอยู่อินเดีย เอาสามเณรไปด้วย ๑๐ รูป เอาไปฝึกหัดอบรบบ่มนิสัย ท่านเคี่ยวเข็ญสามเณรทั้งหลายทั้งเหล่านั้นอย่างเหลือเกิน เห็นใครนั่งเฉยๆนี่ไม่ได้ ถูกดุถูกว่าเลย “เกิดมาทำไม เกิดมานั่งเฉยๆมันได้อะไร” สามเณรนั้นต้องลุกขึ้นไปทำงาน ทุกรูปต้องทำงาน ท่านไปพักอยู่พารานสีเป็นครั้งคราว เพราะมีงานที่นั่น แล้วก็กลับมาที่โคลคัตตา พอรู้ว่าท่านธรรมปาละจะมาโคลคัตตา ทุกรูปกระปรี้กระเปร่ากันไปตามๆกัน กวาดเสร็จบริเวณก็เช็ดถูกกระจกจน ตรงไหนที่ต้องเช็ดต้องถู เช็ดเรียบร้อย พอท่านมาถึงเห็นขี้ฝุ่นจับตรงไหนท่านก็เรียกเณรมา มาบอกว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้ เห็นอะไรสกปรกก็เรียกเณรมาประชุมถามว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเณรก็รู้ว่าท่านธรรมปาละจะมาก็ทำกันอย่างกูรีกูจอ จัดนู่นจัดนี่ ปัดกวาดให้เกลี้ยงไปหมดทุกหนทุกแห่ง หัดคนให้ขยันให้ตื่นตัวว่องไวก้าวหน้าด้วยการให้ทำงาน แล้วตัวท่านเองก็ขยันทำงานเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าไปไหนอยู่ที่ใดทำงานทั้งนั้น นั่งเดินทางในรถไฟท่านก็ทำงาน ในรถยนต์ก็ทำงาน เขียนนั่นเขียนนี่ บันทึกนู่นนี่อยู่ตลอดเวลา คนที่รู้จักคุณค่าของเวลาย่อมใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อยู่ตลอดไป ไม่ทำลายเวลาให้สูญเสียไปเสียเปล่าๆลักษณะเป็นอย่างนั้น
หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน เป็นคนที่เรียกว่า active ว่องไวที่สุด เอางานเอาการ ทำงานอย่างจริงจัง นั่งในรถยนต์ก็นั่งอ่านหนังสือ เซ็นหนังสือตลอดทาง จากกรุงเทพฯถึงบางละมุงนู้น อ่าวอุดมจะไปพักที่นั่น ทำงานไปตลอดทาง ที่นู่นก็มีวิทยุ สั่งงานมาตั้งแต่เช้ามืดให้ทำนั่นทำนี่ ถ้าวันไหนฝนตกหนักน้ำจะท่วมบ้านท่วมเมืองไม่หลับไม่นอน หัวหน้ากองทุกคนก็ต้องอยู่ด้วยกัน ท่านเลี้ยงอาหารแล้วก็ฟังข่าวว่าน้ำมันมาทางไหนมากอย่างไร สั่งวิทยุเตือนให้แบ่งน้ำไปนั่นไปนี่ ไม่ให้น้ำเข้ามาท่วมกรุงเทพฯ ทำงานอย่างจริงจัง ลูกน้องทุกคนก็ต้องขยันขันแข็ง บ้านพักรับรองแขกของชลประทานไม่ว่าที่ใดสะอาดที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างสะอาดเรียบร้อย เพราะท่านไปเห็นสกปรกแล้วพวกเจ้าหน้าที่จะต้องเรียกมาดุว่ากันเป็นการใหญ่ พวกนั้นกลัว พานต้องสะอาดไว้ตลอดเวลา เพราะว่าไม่รู้ท่านจะมาเมื่อใด อยู่ๆเดี๋ยวมาถึงแล้ว อ้าว มาเจอของไม่สะอาดเขาก็ถูกดุถูกว่า เป็นอย่างนั้น ลูกน้องก็เรียบร้อย เอางานเอาการ ไม่มีใครเฉื่อยชาเป็นอันขาด เพราะถ้าเฉื่อยชาก็ไม่ได้ ท่านเล่นงาน มอบงานให้ ทำให้เสร็จภายในวันนี้ ทำให้เสร็จภายในวันนั้น ต้องให้เสร็จ แล้วพอถึงเวลาที่สั่งต้องเรียกมาถามด้วยว่าเสร็จหรือยัง ติดตามงาน ทำงานอย่างนี้กรมชลประทานก็เจริญก้าวหน้าเป็นไปด้วยดี แล้วคนเซ็นก็รีบตัดสินใจอะไรไว มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นตัดสินทันที สั่งทันที รับผิดชอบในงาน งานมันก็ก้าวหน้า ชีวิตคนเรามันก็ดีขึ้น
อันนี้เราทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท มีหน้าที่จะต้องช่วยกัน ดูแลพระศาสนา ช่วยกันรักษาพระศาสนา ให้ดำรงตั้งมั่นในบ้านเมืองของเราต่อไป พระพุทธศาสนาที่จะดำรงมั่นอยู่ได้ก็ด้วยคน ๔ จำพวก มี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ว่าสมัยนี้ภิกษุณีไม่มีแล้ว เกิดไม่ได้ เพราะว่ามันขาด สูญพันธุ์ไปแล้ว เกิดไม่ได้ ใครจะพยายามให้เกิดขึ้นมันก็ไม่สมบูรณ์ไม่เรียบร้อย ตามพระวินัยที่พระองค์บัญญัติไว้ จึงเกิดไม่ได้ ก็มีแต่ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา
“ภิกษุ” คือ นักบวชผู้ชาย
“อุบาสก อุบาสิกา” ก็คือ ผู้ที่เป็นชาวบ้าน นับถือพระพุทธศาสนา เป็นผู้อยู่ใกล้พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
คำว่า “อยู่ใกล้” นั้นหมายความว่า “ใจ” อยู่ใกล้ ใจระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ตลอดเวลา จะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร จะเกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็นึกถึง พระพุทธเจ้า นึกถึงหลักธรรมของพระพุทธเจ้า นึกถึงพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า แล้วก็ถามตัวเองว่า สิ่งที่จะทำนี้มันถูกต้องหรือไม่
คำว่า “ถูกต้อง” ไม่ใช่ถูกต้องตามความคิดของตัว แต่ว่าถูกต้องตามหลักการที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ถ้าผิดไปจากนั้นก็ถือว่าไม่ถูกต้อง เขาว่าคนเราจะตัดสินอะไรด้วยตนเองนั้นมันไม่ค่อยได้ ก็มักเข้าข้างตัว ถ้าเราไปถามคนดื่มสุรา ว่าดื่มสุรานี้ดีไหม เขาก็ต้องบอกว่าดีเพราะเขาชอบ ไปถามนักการพนัน เขาก็ว่าการพนันดี เรื่องอะไรที่เขาชอบทำเขาก็บอกว่าดีทั้งนั้น อันนี้ก็เรียกว่า “ดีตามความชอบของตัว” ชอบใจ ถูกใจ พอใจ แต่ไม่ถูกตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า จะว่าสิ่งนั้นถูกต้องก็ไม่ได้ จึงต้องวินิจฉัยด้วยเอาหลักธรรมมาพิจารณา
ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีความ จะตัดสินเอาตามอารมณ์ก็ไม่ได้ แต่ต้องเอากฎหมายมาเป็นหลักในการพิจารณา เอาคำพยานสองฝ่ายมาเป็นหลัก แล้วก็พิจารณาว่าอะไรถูกอะไรผิด จึงจะตัดสินลงไปว่า อะไรถูกอะไรผิด คำตัดสินนั้นเป็นการตัดสินที่ถูกต้อง ถ้าไม่ได้สอบถามพยานโจทย์ พยานจำเลย แล้วก็ตัดสินลงไปก็ไม่ถูกต้อง เรียกว่าทำฝ่ายเดียวไม่ได้
ในชีวิตของเราก็เหมือนกัน เราจะทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องเอาหลักธรรมมาเป็นหลักพิจารณาว่า ถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว เสื่อมหรือเจริญ เอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นหลักในการพิจารณาแล้วก็ทำตามนั้น ความผิดพลาดอาจจะน้อย ไม่เกิดเลยก็ได้ เพราะเรามีกฎเกณฑ์มีระเบียบในการกระทำ
แต่นี่ความรับผิดชอบในเรื่องพระศาสนาก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับพุทธบริษัท คือกับ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้ช่วยกันศึกษา ให้ช่วยกันปฏิบัติ ให้ช่วยกันเผยแผ่ให้ประชาชนได้เกิดความรู้ความเข้าใจ เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำก่อนเพราะถ้าไม่ศึกษาเราก็ไม่รู้ ทำตามที่เขาทำกันก็ไม่ได้ ตามเขาว่ามันก็ไม่ได้ เราจะต้องศึกษาพระสูตร ศึกษาพระวินัยเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง แล้วก็ปฏิบัติตามความรู้ความเข้าใจนั้น ปฏิบัติดีด้วยตน ชักชวนคนอื่นแนะนำคนอื่นให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ส่งเสริมสนับสนุนคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้มีกำลังใจที่จะได้ทำความดีมากยิ่งขึ้นไป อันนี้เป็นการถูกต้อง ทีนี้ถ้าหากว่ามีอะไรไม่เหมาะไม่ควรเกิดขึ้นในวงการพระศาสนา สมมติว่ามีคนแสดงความคิดความเห็นบางอย่างไม่ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตั้งลัทธิใหม่ ตั้งเอาเองตามชอบใจ ตีความคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าตามชอบใจ ไม่มีหลักเกณฑ์อะไร ไม่เข้าใจภาษาของพระพุทธเจ้าถูกต้อง เช่น ไม่รู้ภาษาบาลีแล้วก็แปลผิดแปลถูก แปลตามอารมณ์ตามชอบใจ เหมือนพวกลิเกแปลกัน อย่างนี้ก็ไม่ได้ และอาจจะสอนคนให้เข้าใจผิด กระทำผิด ก็เกิดความเสียหาย หรือว่ามีผู้ที่กระทำอะไรนอกลู่นอกทางผิดธรรมวินัย เกิดความเสื่อมแก่พระศาสนา ผู้ที่มีความรักพระศาสนาไม่อยากให้ศาสนาเศร้าหมองก็ต้องแก้ไข ต้องจัดการกับบุคคลที่กระทำความผิดนั้น การกระทำเช่นนั้นไม่ได้ผิดไม่ได้เสียหายอะไร แต่เป็นการกระทำด้วยเจตนาที่จะรักษาสิ่งถูกต้องไว้ เรียกว่า “ทำ เพื่อ ธรรม” ไม่ได้ทำเพื่อตัวเรา ไม่ได้ทำเพื่อหมู่คณะใดๆ แต่ว่าทำโดยธรรม เพื่อรักษาธรรมไว้ ให้ธรรมเจริญงอกงามต่อไป อาจจะมีคนชอบใจก็ได้ อาจจะไม่ชอบใจก็ได้ ความชอบใจไม่ชอบใจของคนนั้นเอามาเป็นมาตรฐานอย่างแท้จริงก็ไม่ได้
“ประชาธิปไตย” ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้เสมอไป “เสียงข้างมาก” ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป ถ้าเราถือว่า เสียงข้างมาก ว่าอย่างนั้น ถ้าเราประชุมพวกขี้เมาแล้วก็ถามว่า การเสพสุรายาเมาดีหรือไม่... เลิกต้มกลั่นสุราดีหรือไม่... เสียงส่วนมากก็ต้องบอกว่าไม่ดี ไม่ให้รื้อ แล้วเราจะถือว่านั่นเป็นเสียงข้างมาก เสียงข้างมากที่ผิด ก็ไม่เป็น “ธรรมาธิปไตย”
“ประชาธิปไตยต้องเป็นธรรมาธิปไตยด้วย” คือ ถูกต้องมีเหตุผล เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ผิด ไม่มีเหตุผล ไม่เป็นประโยชน์ก็ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเสียงข้างมากก็ต้องดูว่าพวกเสียงมากเป็นพวกไหน เป็นพวกเห็นแก่ตัวหรือเป็นพวกปัญญาอ่อน ก็ต้องรู้ต่อไป ถ้าเห็นว่าเสียงข้างมากเป็นพวกเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก็ใช้ไม่ได้ เราต้องมีจัดการแก้ไข ตามหน้าที่ อันนี้ผู้ที่จะทำความผิดพลาดเสียหายลงไป ถ้าหากว่ามีคนไปจุดร่วมขึ้น หากเราเป็นคนมีจิตใจเป็นธรรม ก็อย่าวู่วาม อย่าเร่าร้อน อย่าพูดอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร ควบคุมตัวเองด้วยควบคุมลูกน้องด้วย เพราะว่าลูกน้องมักจะพูดอะไรตามชอบใจ ฟังแล้วไม่ค่อยจะไพเราะเสนาะหู ขาดเหตุขาดผล ก็ควรจะบอกว่าอย่าพูดดีกว่า ใครจะมาถามอะไรก็อย่าพูด บอกอย่าพูดเสียดีกว่า เพราะคนชอบถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกนักหนังสือพิมพ์นี่ชอบไปขุดคุ้ย ไปขุดคุ้ย
“มันมีแผลกลัดหนองอยู่ พวกนักหนังสือพิมพ์ก็ชอบเอาเข็มไปเขี่ยให้หนองมันทะลักออกมา”
“ไข่ไก่เน่าอยู่ในไข่ไม่เป็นไร เอามาลูบแก้มก็ได้ ลูบจมูกก็ได้ไม่เหม็น อันนี้เราไปต่อยให้มันแตกออกมามันก็เหม็นหึ่งเท่านั้นเอง”
คนประเภทนั้นมีเยอะ ต้องการจะมาถามเพื่อเอาไปเขียนลงหนังสือให้คนอ่าน แล้วคนเรานี่ก็ชอบอ่านเสียด้วย ชอบอ่านเรื่องที่คนเขาทะเลาะกัน เรื่องปกติไม่ค่อยชอบอ่านเท่าไร ถ้ามีอะไรทะเลาะเบาะแว้งกันเกิดการแตกแยกแตกร้าวกัน ชอบ ถ้าลงข่าวว่าคนนั้นอย่างนั้น คนนั้นอย่างนี้ไม่ดีไม่งาม ชอบ อ่านแล้วก็แล้วไป แต่ไม่เคยคิดว่าจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไร ใช้วิชาที่ตัวมี ความสามารถที่ตัวมี สมองที่ตัวมีนี้ให้เป็นประโยชน์อย่างไร นี้ไม่คิด ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ด้วยประการต่างๆ แม้เป็นนักวิชาการ นักวิชาการนี่คือ บุคคลที่เป็นผู้รู้ แต่บางทีนักวิชาการนั้นเป็นแต่เพียงผู้รู้แต่ไม่มีธรรมรักษาใจ เขาเรียกว่าเป็น “ปราชญ์ แต่ขาดธรรม” ไม่ใช่เป็นปราชญ์แล้วก็มีคุณธรรมด้วย เป็นปราชญ์ถ้าไม่มีคุณธรรมก็ไม่ได้เรื่อง ใช้ความรู้ของตัวนั้นไปในทางที่เสียหายได้ พูดจาคำที่ไม่สมควรก็ได้ ดูข่าวในหนังสือพิมพ์นักวิชาการพูดไม่น่าฟัง บางคนก็เรียกว่ามีศักดิ์มีศรี เกิดในสกุลสูง เป็นเหลนเจ้าแผ่นดินด้วยซ้ำไป แต่ว่าพูดเหมือนชาวบ้านพูด ใช้คำคนในตลาดเอามาพูด อย่างนั้นมันลดเกียรติของตัวเอง ฝรั่งเขาเรียก discredit ของตัวเอง แต่ก็ไม่ค่อยได้คิด อยากจะพูดให้ดังเท่านั้นเอง ให้คนฟังก็เท่านั้นเอง อ่านแล้วก็เสียหาย ไม่ได้สาระอะไร แล้วไม่ได้แนะนำว่าควรทำอะไรในเรื่องนั้นในเรื่องนี้ ไม่ได้แนะนำ เอาแต่วิพากษ์วิจารณ์แต่ไม่มีการชี้แนะว่าควรทำอย่างไรโดยวิธีใดจึงจะก้าวหน้านั้นไม่ค่อยมี แล้วก็ชอบประชุมกันวิพากษ์วิจารณ์กันบ่อยๆ เขาเรียกว่า “เสวนา” เรื่องนั้นเรื่องนี้ ฟังดูแล้วสิ่งที่เป็นสาระมันน้อยแต่เป็นเรื่องที่คุยกันสนุกๆเฮฮาเหมือนกับในวงเหล้าเขาคุยกัน อย่างนี้มันก็ไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีเท่าใด
มันน่าคิดอยู่เหมือนกันในเรื่องอย่างนี้ โลกเราวุ่นวายเพราะการพูดไม่ได้สาระนี่ พูดไม่เป็น “สัมมาวาจา” สัมมาวาจานั้นต้องพูดคำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำที่สมานสามัคคี พูดคำที่มีประโยชน์แก่ผู้ฟังจึงจะเรียกว่าเป็น สัมมาวาจา เป็นวาจาชอบตามหลักอริยมรรคมีองค์๘ ที่พระพุทธเจ้าว่าไว้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้พูดสัมมาวาจากันเท่าใด พูดเพื่อให้อร่อยปากเท่านั้นเอง ก็เกิดปัญหาไม่รู้จักจบ ผู้ใดที่เป็นผู้กระทำอะไรผิดพลาดเสียหายก็ควรจะรู้ตัว คือความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์นี้เป็นเรื่องเฉพาะคน พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย” “ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องของผู้นั้น ผู้อื่นจะทำผู้นั้นให้บริสุทธิ์ก็ไม่ได้ ให้เศร้าหมองก็ไม่ได้” ก็ได้ตามระเบียบเท่านั้นเอง
ผู้ร้ายบางคนฆ่าคนตาย แต่ว่าได้ทนายที่เก่งทนายฉลาด แก้คดีในศาลลึกไปเลย ศาลตัดสินปล่อย เราก็ถือว่าคนนั้นบริสุทธิ์ก็ยังไม่ได้ บริสุทธิ์ตามคำพิพากษาของศาล แต่ว่าเนื้อแท้จะบริสุทธิ์หรือไม่ยังเป็นปัญหาอยู่ จึงต้องพิจารณาต่อไป
ในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเรานี่ก็เหมือนกัน เรื่องความบริสุทธิ์ของใครนั้น คนอื่นจะพูดว่าบริสุทธิ์นั้นก็ลำบาก แต่ตัวเราผู้กระทำนั้นแหละรู้เองว่าบริสุทธิ์ขนาดไหนอย่างไร เราก็ต้องมีการแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเราให้ดีขึ้น อันนี้เรื่องบางเรื่องบางอย่างพุทธบริษัทมองเห็นว่าเป็นข้อที่จะเสียหายแก่พระพุทธศาสนาแล้วก็ไปพูดไปจากันขึ้น คนบางคนอาจจะพูดว่า อย่าไปยุ่งกับพระเลย มันเรื่องไปเดินอยู่ขอบนรก ไม่ใช่อย่างนั้น มันไม่ใช่ไปเดินอยู่ขอบนรก แต่ว่าเราทำตามหน้าที่ ก็เรามีหน้าที่รับผิดชอบในพระพุทธศาสนา เราก็ทำตามหน้าที่ เห็นอะไรไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นในสังกมลคนหรือในหมู่พุทธบริษัทก็ต้องเข้าไปแก้ไข ไปพูดจา …… (29.16 เสียงไม่ชัด) กันขึ้นเพื่อให้ใครรู้ว่ามันมีความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นที่นั้น มี “มิจฉาทิฏฐิ” เกิดขึ้นที่นั้น และจะทำให้คนไขว้เขวหลงผิดไปด้วยประการต่างๆ เพราะคนที่เรียกตนเองว่าเป็นชาวพุทธในบ้านเมืองของเรานี้ ที่ยังไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนาคืออะไรนั้นยังมีอยู่มาก ที่ไม่รู้ก็จะไปโทษชาวบ้านก็ไม่ได้ แต่ควรจะโทษพระที่ไม่สอนให้เขารู้ ไม่สอนให้เขาเข้าใจ ไม่ได้พูดให้มันชัดเจนลงไปว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พูดคลุมๆเครือๆ พูดด้วยความเกรงใจ ไม่กล้าพูดความจริงกับญาติโยม โยมก็เลยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถูกหลอกถูกต้มกันอยู่บ่อยๆในเรื่องต่างๆ
เมื่อวานนี้ไปเชียงราย แล้วก็ไปเทศน์ที่วัดเขาเรียกว่า สวนโมกขพลาราม คือตั้งเลียนแบบไชยาน่ะ เป็นที่ประมาณ๒๐ไร่ แล้วก็จัดสรรที่ มีขุดสระน้ำ มีน้ำ ก็ยังมีน้ำอยู่ มันคัน อาบแล้วคันตัว ก็ต้องหาน้ำที่อื่นมาอาบ แต่รดต้นไม้ได้ ก็ไปพูดเวลาบ่ายโมง ๒โมงครึ่ง คอแห้ง ก็บอกหยุดกันก่อนโยมละ พักก่อน โยมออกไปยืดเส้นยืดสายกันก่อนแล้วค่อยมาพูดกันใหม่ ๓โมงค่อยพูดกันใหม่ พอโยมเข้ามาแล้วก็พูดหลักการเป็น “อุบาสกอุบาสิกา” เป็นอุบาสกอุบาสิกานั้นควรเป็นอย่างไร มีความเชื่ออย่างไร มีศีลอย่างไร มีความรู้ความเข้าใจอย่างไร พูดกันให้ชัดเจน เสร็จแล้วก็มีการถามปัญหาในรูปต่างๆ โยมก็ถามกัน
มีโยมคนหนึ่งถามว่า “พระพุทธรูปที่เราไหว้ที่บ้าน ถ้ามีขี้ฝุ่นจับนี้ผู้หญิงจะไปจับพระพุทธรูปนั้นได้ไหม” อาตมาฟังแล้วก็นึกขำในใจว่า อ้าย โยมนี้เห็นแย่จริงๆจับพระพุทธรูปมันจะเป็นอะไรไป ก็ตอบว่าจับได้ จับเอามาล้างอาบน้ำได้ เอามาขัดให้แวววาวได้ ไม่มีอะไร พระพุทธรูปไม่รู้สึกอะไร แต่โยมจะไปจับพระสงฆ์มาอาบน้ำถูเนื้อถูตัวท่านไม่ได้เพราะพระสงฆ์มีจิตใจ มีความรู้สึก ทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่พระพุทธรูปโยมจับได้ ทำได้
แล้วก็ถามว่า “พระพุทธรูปไว้ที่บ้านนี้ควรจะหันหน้าไปทิศไหน” ก็เป็นปัญหา ก็เลยบอกว่าหันหน้าไปทิศไหนก็ได้สุดแล้วแต่บ้านของเรา สุดแล้วแต่ห้องที่เราจะจัด เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้นั่งไปในทิศเดียว ท่านอาจจะนั่งหันหน้าไปทิศตะวันออกบ้าง ทิศเหนือ ทิศใต้ ตามโอกาส ตามเวลาได้ทั้งนั้นแหละ ไม่มีอะไร พระวัดชลประทาน โบสถ์วัดชลประทานนี้หันหน้าไปทิศตะวันตก ก็ไม่เห็นเสียหายอะไร บางวัดโบสถ์หันหน้าไปตะวันออกแต่ไม่ค่อยมีคนมาวัดเลย แต่วัดชลประทานวันอาทิตย์ก็คนมาเต็มวัด แม้โบสถ์หันหน้าไปทิศตะวันตกคนก็มากันอยู่ ถ้าจะหันหน้าไปทิศตะวันออกมันก็เป็นหลังวัดไป ถนนมันอยู่ข้างหน้า ถ้าใครไปอุตริเอาโบสถ์หันหลังไปทิศตะวันออกมันก็ไม่เข้าเรื่องแล้ว
ก็อธิบายให้ฟังอย่างนั้นเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในแง่มุมต่างๆที่โยมสงสัย ก็ดี ก็เขาถาม ถามเราก็อธิบายให้เขาฟัง แต่ว่าพระเราไม่ค่อยจะเปิดโอกาสให้โยมถามแล้วก็เทศน์ก็ไม่ตรงเป้าหมายที่ควรจะอธิบายให้โยมเข้าใจ ฟังกันมานานแต่ก็ยังกวัดแกว่งอยู่ ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง อันนี้คือความผิดพลาดในการแสดงธรรม พระเราจึงควรจะพูดเป็นเรื่องเป็นราวไป ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงที่สุดให้คนเข้าใจความหมายเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาแล้วคนก็จะรู้จะเข้าใจในเรื่องอะไรๆต่างๆ ไปไหนก็พยายามพูดจาอย่างนั้น โยมก็ไม่ได้โกรธเคืองอะไร แม้เป็นเรื่องที่เขาเคยทำกันมาก่อน แต่ถ้าบอกให้เขาเข้าใจว่ามันไม่ถูก เขาก็เลิก เขาไม่ทำต่อไป แต่ถ้าไม่มีการบอกเขาก็ทำอยู่อย่างนั้นตามความเคยชิน ตามสิ่งที่เคยปฏิบัติกันมาในหมู่ชาวบ้าน อันนี้ก็เป็นความเสียหาย
เวลานี้สมควรเวลาแล้วที่เราจะพูดให้โยมเข้าใจเรื่องของพระพุทธศาสนาถูกต้อง ให้รู้จักพระพุทธเจ้าถูกต้อง ให้รู้จักพระธรรมถูกต้อง ให้รู้จักพระอริยสงฆ์ถูกต้อง แล้วให้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ไม่ให้มีความเชื่อผิดทาง ไม่มีการกระทำอะไรที่นอกลู่นอกทางซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา อะไรที่เคยกระทำกันมาแต่มันเป็นความฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายเราก็บอกว่าไม่ถูกต้อง ต้องทำในรูปอย่างนั้นอย่างนี้ก็ว่ากันไป คนที่เขาฟังแล้วเขาเอาไปปฏิบัติ เขาก็ได้ประโยชน์อย่างนี้เป็นต้น คนบางคนไปเห็นอะไรที่มันไม่เหมาะไม่ควร เช่นพระทำอะไรไม่เหมาะไม่ควร เขาเป็นผู้มีความรู้ มีความเข้าใจในเรื่องอะไรต่างๆ ก็เลยพูดจาขึ้น คนบางคนอาจจะเห็นว่าคนๆนั้นไม่เข้าเรื่องไปยุ่งกับพระทำไม คือ ถ้าพระทำถูกทำชอบ เราก็ไม่ต้องยุ่งอะไร แต่ถ้าพระทำไม่ถูกไม่ชอบเราก็เข้าไปยุ่งกับท่านได้ ไปพูดจากับท่านได้ ทำความเข้าใจกับท่านได้ ไม่ต้องให้อื้อฉาว แต่ไปแนะแนวให้ท่านวางแผนกันใหม่ ทำอะไรกันใหม่ ก็มีความสงสัยในเรื่องอะไรต่างๆอยู่ อย่างนี้ไม่เสียหาย ทำได้ แล้วก็เป็นบุญด้วย ไม่ได้เป็นบาปเป็นกรรมอะไร เพราะเราช่วยขัดถูสิ่งสกปรกออกจากพระศาสนาไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย ถ้าเห็นคนใดมีขี้ไคลเต็มตัวมีเหาเต็มหัวนี้ เราเห็นแล้วเราจะเฉยๆนี้ ช่างหัวมันไม่ใช่หัวกูมันก็ไม่ได้ ถ้ามียาอะไรที่ให้เขาใส่แล้วเหามันตายไปก็ไม่ได้เป็นบาปเป็นเวรอะไรหรอก แต่คนนั้นจะมีสุขภาพดีขึ้น หรือมีอะไรที่เรียกว่าแปดเปื้อน เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้ไม่เข้าใจหลักการที่ถูกต้อง เราก็ไปพูดจาให้เขาเข้าใจ เป็นการเปิดหูเปิดตาให้เขาสว่างด้วยปัญญาไม่เสียหาย ถ้านิ่งสิเสียหายไม่พูดไม่จา ถือหลักว่า “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” ก็ไม่ได้
ปล่อยตามเรื่องก็ไม่ได้ เพราะว่าพระนี่เป็นของเรา เราเลี้ยงมา โยมเลี้ยงพระ โยมเป็นเจ้าของ ถ้าเห็นว่ามันไม่เหมาะไม่ควรก็ต้องบอกได้ บอกว่า “ทำอย่างนั้นไม่เหมาะไม่ควรท่าน ให้เปลี่ยนวิถีชีวิตท่านเสียใหม่” ท่านเชื่อท่านก็เปลี่ยน แล้วถ้าพระที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว มีทิฏฐิน้อย มีความเห็นแก่ตัวน้อย ท่านก็เปลี่ยน ถ้าท่านเปลี่ยนเราก็ได้บุญกุศลที่ได้ทำให้ท่านได้เปลี่ยนสภาพชีวิตจิตใจไป ทำให้เป็นประโยชน์ขึ้น ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ถ้าหากว่าเราช่วยทำอย่างนั้นก็ได้ แล้วก็เราทำแล้วก็สบายใจ ไม่ต้องมานั่งเป็นทุกข์ว่า แหม... กูไปทำพระอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่นึกไม่เสียหายอะไรทำไปเถอะ
อันนี้ฝ่ายพระเรานี่ก็เหมือนกัน ถ้าเห็นว่าเรื่องมันจบแล้ว จบกันเสียที อย่าไปตอแยให้เรื่องมันลุกลามต่อไป อย่าคิดจะไปฟ้องคนนั้นฟ้องคนนี้ให้มันวุ่นวาย พระเรานี้เป็นพวกใฝ่สันติ ใฝ่ความสงบ ไม่ชอบต่อให้มันยาว พระพุทธเจ้าสอนว่า “อย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น” คำบาลีว่า “ (39.23 ไม่แน่ใจตัวสะกด) “มาทีคํปตฺส มารสํปตฺส น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ” บอกว่า
“อย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น ในกาลไหนๆเวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวรกัน แต่ระงับด้วยการไม่ผูกเวร” คือ หยุดกันเสียที จบกันที ว่าจบเรื่องแล้ว อ้าวจบกันที อย่าไปต่อเวรต่อกรรม บางทีพระไม่ทำลูกศิษย์จะทำ ลูกศิษย์จะทำ จะเข้าชื่อกัน จะฟ้องคนนั้นจะฟ้องคนนี้ ทำทำไม มันไม่ใช่วิถีทางของสันติธรรม หลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราทำอย่างนั้น แต่ให้อภัยกัน เลิกแล้วกันไป ถ้าเรามัวไปต่อกรกับคนที่เป็นศัตรูกัน เราไม่เป็นมิตรกัน เราก็ไม่มีเวลาทำอื่น จิตฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิที่จะคิดจะทำอะไรต่อไป เสียเวลามากมาย คนจีนเขาพูดไว้คำหนึ่งว่า “เป็นถ้อยร้อยความกัน” ขออภัยเขาพูดว่า “กินขี้หมาดีกว่า”
เป็นความกันนี้กินขี้หมาดีกว่า ความจริงขี้หมาไม่มีใครกินได้แต่เขาว่า ถ้าไปเป็นความกัน กินขี้หมาดีกว่า ก็หมายความว่า อย่าเป็นถ้อยร้อยความกันเลย ถ้าว่ามีเรื่องอะไรที่เราจะไปสู่โรงศาล ตกลงกันเสียก่อนไปถึงโรงศาลมันก็เรียบร้อย เขาเรียกว่า ประนีประนอม การประนีประนอมนั้นตัดปัญหา แต่ถ้าไม่ยอมประนีประนอมกันก็ไม่จบเรื่อง จะมีเรื่องต่อไป จะทำไปทำไม พวกเราไม่ควรจะแสดงสิ่งที่เป็นกิเลสแต่ควรจะแสดงสิ่งที่เป็นความสงบสะอาดสว่างทางใจ อะไรที่เป็นเรื่องกิเลสก็หยุดทำเสีย ทำทำไม ทำไปก็ไม่ได้อะไร แต่เป็นการเพิ่มราคะ โทสะ โมหะ ความคิดเห็นที่เห็นแก่ตัวไม่เข้าเรื่อง เราเป็นนักบวชที่มีคนเคารพบูชาสักการะ เราสงบ (41.55 เสียงไม่ชัดเจน) ไม่ทำอะไรซึ่งจะเป็นเครื่องต่อให้ยาว
“อย่าเห็นแก่ยาว” หมายความว่า อย่าโกรธกันนานๆ อย่าเกลียดกันนานๆ อย่าพยาบาทกันนานๆ โกรธกันสักนิด เดี๋ยวเดียวจบเรื่อง ไม่โกรธต่อไป นี่ไม่เห็นแก่ยาว
“อย่าเห็นแก่สั้น” หมายความว่า อย่าด่วนแตกมิตร ถ้าเราเป็นมิตรเป็นเพื่อนกับใครแล้วก็อย่าด่วนแตกกัน สมานสามัคคีกันต่อไป หันหน้าเข้ายิ้มกันต่อไป แล้วมันก็จะเรียบร้อยไม่มีปัญหา
อันนี้ในครอบครัวก็มีปัญหากันบ่อยๆ สามีภรรยามีปัญหากัน ขัดคอกัน รังเกียจเดียดฉันท์กัน แล้วก็ไม่ยิ้มกัน มีปัญหา อยู่กันอย่างไรอยู่ในครอบครัวเดียวกันไม่ยิ้มกันจะอยู่กันอย่างไร คือเก็บเอาเรื่องที่ไม่ดีมาไว้ในใจ เรื่องที่ไม่ดีไม่งามพระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้เก็บ “ของบูดของเน่า” เราจะเก็บไว้ในบ้านทำไม มันส่งกลิ่นไม่ดี เมื่อรู้ว่าอยู่ตรงไหน ก็เก็บไปทิ้งเสีย ฝังเสีย กลบมันเสีย อย่าให้มันฟื้นคืนชีพต่อไป ความคิดที่ไม่ถูกต้องของใครๆ การกระทำไม่ถูกต้องก็หัดลืมเสียบ้าง สามีทำอะไรผิดพลาดเราลืมๆเสีย ไม่สนใจทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้ไม่ชี้นี้ดีแน่ มันไม่ยุ่ง เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้เสีย ยิ้มแย้มแจ่มใสพูดจากันตามปกติ “อย่าไปกวนน้ำให้ขุ่น” น้ำมันใสพอจะกินได้อยู่แล้ว แล้วเอาไม้ไปกวนให้มันขุ่น ตะกอนมันก็ฟุ้งไปในน้ำ กินไม่ได้ อาบก็ไม่ได้ มันไม่ได้สาระอะไร คนเราอยู่ด้วยกันในเรื่องขุ่นอย่าเอามาพูดกัน เรื่องเศร้าหมองใจ เรื่องร้อนใจอย่าเอามาพูด จะพูดอะไรกันก็พูดแต่เรื่องสบายใจ ชื่นใจ ยิ้มกันเสีย เรียกว่าพูดกันดีๆ อย่าไปต่อว่าต่อขานกันว่าเธอมันอย่างนั้น เธออย่างนู้น เริ่มแล้ว เริ่มก่อไฟเผาบ้าน แล้วไฟกองใหญ่ก็เผาบ้าน นั่งร้อนกันไปตามกัน พ่อแม่ร้อนลูกก็พลอยร้อนไปด้วย เรื่องอะไรอยู่ดีๆ ไปเอาไฟมาเผาบ้านตัวเอง เผาเรือนตัวเอง มันไม่เข้าเรื่อง ทำไปด้วยอวิชชา ด้วยความโง่ความเขลา ไม่ได้สาระอะไร จะทำอะไรจึงต้องคิดต้องตรองเสียก่อนให้รอบคอบ เขาเรียกว่า มนสิการ “โยนิโสมนสิการ” หมายความว่าคิดให้รอบคอบ คิดให้แยบคาย คิดให้ลึก คิดให้กว้าง ให้เห็นทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งเสื่อมทั้งเจริญในเรื่องที่เราจะทำ ถ้าหากว่าเราทำลงไปแล้วมันร้อน มันวุ่นวาย มันเศร้าหมองมันมืดมัว ทำทำไม บ้านสว่างๆไปทำให้มันมืดทำไม บ้านสงบทำให้วุ่นวายทำไม บ้านสะอาดไปทำให้มันสกปรกทำไม คิดเสียก่อน พอคิดขึ้นได้พอมันหยุดได้ ทีนี้ไม่หยุด ไม่หยุดก็เพราะไม่ยอมนั่นเอง ตัวไม่ยอมนั่นมาจากอะไร มาจากเขาเรียกว่าทิฏฐิมานะ เห็นผิด ถือตัว ฉันไม่ยอม หนูไม่ยอม ไม่ยอมแล้วมันได้อะไรขึ้นมา เราไม่ยอมนี้มันได้อะไร ลองคิดดูเถอะ อะไรๆที่ไม่ยอมแล้วมันได้อะไร ได้ความครุ่นเครียด ได้ความโกรธ ได้ความเกลียด หน้าตาก็เศร้าหมอง จิตใจก็วุ่นวาย ถ้าไปยืนดูกระจกแล้วจะมาจำตัวเองไม่ได้ เพราะมันมีแต่ความมืดความมัวอยู่ในดวงหน้า ก็ลงโทษตัวเอง หาเรื่องให้ตัวเองเป็นทุกข์ไปเปล่าๆ มันไม่ได้อะไร แล้วทำไมจึงทำเช่นนั้น ก็เพราะไม่คิด อันนี้จะพูดอะไรคิดเสียก่อน จะทำอะไรก็คิดเสียก่อน จะต่อว่าต่อขานอะไรก็มันจะได้อะไรขึ้นมา ถ้าเราพูดกันเช่นนั้นเราจะได้อะไร ก็เห็นว่า เอ้อ ไม่ได้อะไร ไม่ได้อะไรแล้วพูดทำไม พูดให้เสียเวลาทำไม คิดอย่างนี้มันก็หยุดได้ เรื่องมันสำคัญอยู่ที่ว่า “ไม่ยอม” ตัวเดียว
ผู้ชายก็ไม่ยอม ผู้หญิงก็ไม่ยอม ไม่ยอมรับผิด แล้วมันก็ไปกันใหญ่ อันนี้เราอยู่ด้วยกันเมื่อมีอะไรผิดก็ยอมกันเสีย สามีทำอะไรผิดก็สารภาพต่อภรรยากันเสีย ปลงอาบัติกันเสีย ภรรยาทำอะไรผิดก็สารภาพต่อสามีแล้วลืมมันเสียเถิดเรื่องนั้น หันมาเปลี่ยนตั้งต้นชีวิตที่ถูกต้องต่อไป ยิ้มกันต่อไป อะไรที่มันยุ่งก็ยืดเสีย หยุดมันเสีย สามีที่ชอบเที่ยวก็หยุดเที่ยวเสีย ชอบดื่มก็หยุดเสีย ชอบคบเพื่อนไม่ดีก็หยุดคบกันเสีย ตัดมันเสีย ตัดแล้วมันก็หาย สิ่งทั้งหลายก็เรียบร้อย แต่มันอยู่ที่ว่าเราทำไม่ค่อยได้ เพราะมีความเห็นแก่ตัว มีทิฏฐิมานะ แล้วเพื่อนฝูงมิตรสหายก็พวกยุ อย่าไปยอม ยอมไม่ได้ แหมถ้าเป็นฉันแล้วไม่ยอมเด็ดขาดเรื่องอย่างนี้ อย่าไปยอมเขา แหม พวกยุให้เสียหาย ไม่ใช่ผู้หวังดีหรอกคนที่มาพูดอย่างนี้ ไม่ได้หวังดีกับเรา หวังให้เราแตกกันต่อไปเขาจะได้ดู เพราะคนเราชอบดูที่คนทะเลาะกัน คนตีกัน คนแตกกัน ถ้าคนนั่งยิ้มกันไม่มีใครดู ถ้าเห็นก็เฉยๆ ไม่ประหลาดอะไร แต่ถ้าคนแยกเขี้ยวยิงฟันเข้าใส่กัน คำรามกันละคนดู มุงกันเต็มเชียว เมื่อไรมันจะฉะกันเสียทีนะ ชอบ มันเป็นอย่างนั้น ไม่ได้เรื่องอะไร
เราไม่ควรจะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นในที่ใด แต่ควรจะประสานรอยร้าว ไฟมันลุกขึ้นมาเราหาน้ำมาดับเสีย อะไรสกปรกก็มาปัดมากวาดมาชำระชะล้างเสีย มันก็สบาย อยู่กันสบาย ไม่มีเรื่องไม่มีปัญหา สงครามเล็กสงครามน้อยที่ทำกันอยู่นี้เพราะเรื่องอย่างนี้ เรื่องไม่ยอมกัน ถือผิดในเรื่องธรรมเรื่องศาสนา ความจริงคนนับถือศาสนานี้ ถ้าเอาธรรมล้วนๆแล้วมันไม่แตกกันเลย เพราะธรรมล้วนนั้นไม่มีชื่อ ตัวธรรมไม่มีชื่อ ไม่มีอะไรทั้งนั้นมีแต่หลักปฏิบัติที่ทำผู้ปฏิบัติตามให้สะอาดสงบสว่างทางใจ ก็ธรรมในคำภีร์ต่างๆนั้นเอามาอ่านดูให้ดีแล้วมันก็มีจุดหมายอันเดียวกัน จุดหมายอันเดียวกันคือ ต้องการให้สงบ ให้สะอาดสว่างให้ดับทุกข์ได้กันทั้งนั้นแหละ แต่ว่าผู้สอนธรรมไม่เข้าถึงธรรม แล้วก็มีความเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ธรรม ไม่รักธรรม ไม่บูชาธรรม ไม่เอาธรรมมาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันเลยสอนผิด สอนลูกศิษย์ว่า “อย่าไปยุ่งกับพวกนั้น พวกนั้นมันพวกนอกศาสนา” ก็เขาประพฤติธรรมอยู่เหมือนกัน จะเรียกว่านอกธรรมได้อย่างไร นอกศาสนาได้อย่างไร จนศาสนิกในศาสนานั้นเข้ากันไม่ได้ เพราะผู้สอนสอนไว้อย่างนั้น เข้าไม่ได้
วันหนึ่งเข้าไปในสำนักงานแห่งหนึ่งที่เมืองซาน ฟรานซิสโก คนไทยนั่งทำงานอยู่คนหนึ่งผู้หญิง พอเข้าไปถึง
“หนูไหว้ไม่ได้คะ” ทำไมหนูไหว้ไม่ได้
“หนูเป็นคริสเตียนไหว้ไม่ได้” อ้าว ใครสอนให้หนูเป็นคริสเตียนแล้วไหว้คนไม่ได้
“อาจารย์เขาบอกไว้ไหว้ไม่ได้” การไหว้คนนี้มันเป็นบาปเป็นโทษอะไร
“ก็เขาสอนอย่างนั้นคะ” แล้วไปถือเอาคำอาจารย์ที่สอนผิดไม่ให้ไหว้ แล้วถ้าหนูพบคนที่แก่กว่าหนู ใครๆที่เข้ามาในสำนักงานหนูไหว้ได้ไหม
“ไหว้ได้” แล้วคนห่มผ้าอย่างนี้ไหว้ไม่ได้ แล้วคนห่มผ้าอย่างนี้มันเสียหายอะไร
“ไม่ได้คะ ไหว้ไม่ได้” เออ...มันโง่อย่างนั้น มันยืนยันอยู่ไหว้ไม่ได้เท่านั้นเอง ก็เขาสอนไว้อย่างนั้น ไม่สอนให้เข้ากัน ไม่รักไม่สามัคคีกัน ไหว้ไม่ได้ ว่าทำบุญอายุ ๘๐ปี ท่านเจ้าคุณพุทธทาส พวกบาทหลวงก็มากันหลายคน แม่ชีก็มากันหลายคน พวกนั้นเวลาชาวพุทธเขาทำการไหว้พระสวดมนต์ “อรหัง สัมมา สัมพุทโธ...” พวกเขาก็ไหว้ เวลาเขากราบ เขาก็กราบ เรียบร้อยไม่มีใครดื้ออยู่สักคนเดียว แล้วเวลาท่านเจ้าคุณท่านเทศน์ แม่ชีทุกคนนั่งพนมมือฟังเรียบร้อย เสร็จเทศน์แล้วเจ้าคุณกลับกุฏิตามไปอีก ไปสนทนา เวลาพูดกับท่านเจ้าคุณก็พนมมือทุกคำ พวกนั้นเป็นพวกมีธรรม ทิฏฐิมันลดไปเยอะ ความถือตัวก็ลดลงไป ความเห็นผิดมันก็ลดลงไป นั่งพนมมือได้ พูดจากัน แล้วท่านเจ้าคุณแจกหนังสือคนละห่อใหญ่ๆ แบกกันไหล่ลู่ไปตามๆกัน เอาไปอ่านให้เข้าใจ
มันเป็นอย่างนั้น คือถ้าเราพูดให้เขาเข้าใจว่าเป็นเพื่อนกัน เป็นผู้ประพฤติธรรมร่วมกันไม่ได้แตกต่างอะไรกัน พูดไม่ได้ ทำไมพูดไม่ได้ “ประโยชน์” เรื่องประโยชน์ ทำอะไร “ประโยชน์” ตัวนี้เป็นใหญ่ กลัวจะเสียประโยชน์ กลัวลูกศิษย์จะโอนเอียงไปเข้ากับพวกนู้นเสีย แล้วประโยชน์ที่ตัวจะมีจะได้จากคณะศิษย์มันจะหายไป นี้แหละ
โยมที่มันยุ่ง คนเราที่มันทะเลาะเบาะแว้งกันยิ้มกันไม่ได้ “ประโยชน์” ตัวเดียว ประโยชน์ตัวเดียวที่ทำให้มีปัญหา ถ้าเราไม่นึกถึง “ประโยชน์” เราแต่เรานึกว่าเรา “สอนธรรม” สอนให้คนเข้าถึงธรรม ให้ประพฤติธรรมแล้วมันไม่มีเรื่องอะไร แล้วถ้าเราถือธรรมนี้มันไม่ยุ่ง มีคนโทรศัพท์มาถามบ่อยๆ ว่า
“เวลานี้มีเหตุการณ์ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์กระทบกระเทือนต่อพระพุทธศาสนาไหม” หลวงพ่อตอบไม่กระทบกระเทือนเลย
“เอ๊ะ ทำไมไม่กระทบกระเทือนเล่า” มันเรื่อง “บุคคล” ไม่ใช่เรื่อง “ธรรม” คนละเรื่องมันต้องรู้จักแยกว่า เรื่องบุคคลกับเรื่องธรรม ธรรมยังเรียบร้อย ยังบริสุทธิ์ ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติอยู่ ไม่ได้กระทบกระเทือน ไม่ได้เสียหาย แต่คนไม่เข้าใจ แหม พุทธศาสนาชอกช้ำมาก โอ๊ย ใครจะมาทำให้ศาสนาชอกช้ำได้ พุทธศาสนายังเหมือนเดิมไม่ได้เสียหายอะไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนานั้นไม่ใช่ของปลอม ไม่ใช่ของที่หักง่ายแตกง่าย เป็นสิ่งมั่นคงที่สุด มั่นคงประดุจเพชร ซึ่งสิ่งใดมาจะทำลายไม่ได้ ใครจะมาทำลายไม่ได้ และเป็นสิ่งที่จะอยู่คู่โลกตลอดไป แต่ว่าเรื่องของบุคคลนั้นอาจจะมีผิดพลาดเสียหายบ้าง นั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลเราอย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องของส่วนรวมคือธรรม ธรรมยังอยู่ เรายังเอาไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ได้ พูดไปอย่างนั้นให้เขาเข้าใจ ถ้าเขาถามว่า “ท่านจะทำอะไร” ไม่ต้องทำอะไร เพราะว่าอยู่กันเรียบร้อย ธรรมเรียบร้อยไม่ต้องทำอะไร เรื่องคนก็ต้องแก้กันไปตามเรื่อง เขามีเจ้าหน้าที่เขาจัดกันอยู่แล้วหลวงพ่อไม่ต้องไปยุ่งกับพวกนั้นหรอก ท่านก็วางหูไป แต่ไม่ค่อยเขียนอะไรหรอก ตอบอย่างนั้น มันไม่เอาลงหรอก กะตอบว่ามันประหลาดๆ จั่วหน้าให้มันแปลกๆ ไว้ เขียนเลยว่าท่านปัญญาว่าอย่างนั้น มันจะได้ขายได้สตางค์ ไม่ใช่อะไร แต่นี้เราตอบแบบถูกต้องเป็นธรรมมันไม่ลง พวกนั้นก็มันก็ดูเหมือนกันว่ากูจะขายหนังสือได้หรือไม่ มัน “ประโยชน์” อีกนะโยมไม่ใช่เรื่องอะไร
อันนี้วันนี้ก็โยมจะเห็นว่ามีการจัดสถานที่ เก็บผ้าอะไรต่ออะไรตามเรื่อง พระเขาทำกัน เพราะว่า จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านทรงตั้งขึ้นเพื่อให้คนได้ศึกษาเล่าเรียน เขาก็มองเห็นว่าหลวงพ่อนี้ทำงานเป็นประโยชน์กว้างขวาง เขียนหนังสือให้คนอ่านเข้าใจ พูดให้คนเข้าใจมานานแล้ว ควรจะยกย่องชมเชย ก็ด้วยการ กรรมการตกลงกันว่าจะให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ปริญญาดุษฎีบัณฑิต ปริญญาเอกนะไม่ใช่เล็กน้อย แล้วก็ในวันพิจารณานั้น ๓ คน ในหลวง พลเอกเปรม แล้วท่านปัญญาที่เข้าไปด้วย ถวายในหลวงแล้ว ให้พลเอกเปรมและอาตมาไปนอกเสียก็ไม่ได้ให้ เขาก็คอยให้อยู่ พอกลับมาเขาก็มานัดว่า เอาวันที่ ๑๓ ก็แล้วกัน เลข ๑๓ ก็เป็นมงคลดีอยู่ ไม่ได้เสียหายอะไรแล้วก็มากันวันนี้ตอนบ่าย คือ ๑๔ นาฬิกา แต่ว่าก่อนจะถึงเวลานั้นถ้าโยมอยู่ที่นี่ก็จะได้ฟังธรรมจากอาจารย์วรศักดิ์ พระอาจารย์วรศักดิ์นี้เป็นพระที่สวนโมก แล้วก็ไปอยู่ที่วัดพุทธธรรมที่ชิคาโก ก็ได้ประโยชน์ ไปอยู่นี้ เพราะว่าได้สอนธรรมกับฝรั่ง ท่านวรศักดิ์มีความรู้ธรรมดี ภาษาอังกฤษใช้ได้ ก็เลยพูดสอนธรรมกับฝรั่ง บรรยายธรรมให้ฝรั่งเข้าใจ อ้าว แสดงมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ตอนนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที