แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้ วันอาทิตย์ที่ 23 ของเดือนพฤษภาคม ถ้าหากว่าท่านเดินผ่านเข้ามาในวัดแล้วก็ผ่านตรงที่ต้นไทร ศาลาเล็ก จะเห็นว่ามีรูป รูปปั้นของท่านพระธรรมโกศาจารย์หรือเรียกว่าท่านพุทธทาส ที่เรารู้จักกันดีในนามท่านพุทธทาส เขาปั้นไว้เพื่อจะนำไปประดิษฐานที่สวนโมกข์ไชยา ในวันที่ 25 พฤษภาคม เป็นวันเดินทาง แล้วก็มีญาติโยมสมัครเดินทางร่วมไปด้วยหลายคนด้วยกัน เมื่อก่อนนี้ อาตมาตั้งใจที่จะไปด้วยเหมือนกัน แต่ว่าเมื่อมาดูปฏิทินรายวันที่บันทึกการรับนิมนต์ไว้ ไปไม่ได้ เพราะวันที่ 25 ก็ติดงาน 26,27 ก็ติดงานทั้ง 3 วัน เหนื่อยก็ไม่สามารถจะไปได้ คณะที่ไปก็ขอร้องว่า ไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าเทศน์ที่โรงเรียนพุทธธรรมวันนี้ ขอให้เทศน์เกี่ยวกับท่านพุทธทาส จะได้นำไปเปิดให้ญาติโยมฟังที่ไชยาและที่งานบุญด้วย เพราะว่าเดินทางออกแต่เช้า แล้วก็ไปฉันอาหารเพลที่สุญญตา ที่ปราณบุรี ชาวปราณบุรีเขาจะได้ต้อนรับเลี้ยงอาหารแก่พระและญาติโยม เสร็จแล้วก็จะได้เดินทางต่อไป เพียงขอร้องให้อัดเสียงเรื่องเกี่ยวกับท่านพุทธทาส เรียกว่าวันพุทธทาส วันที่ 27 ที่เราถือว่าเป็นวันท่านพุทธทาส ก็เป็นวันที่ท่านได้อุบัติเกิดขึ้นในโลก ในวันที่ตอนนั้น คำนวณอายุเวลานี้ก็ได้ครบ 87 ปี ในวันที่ 27 ต่อจากนั้นก็ย่างเข้าปี 88 เวลานี้สุขภาพของท่านไม่ค่อยจะดีนัก เมื่อวานซืนนี้ก็ได้แวะไปเยี่ยม เวลานี้ลงไปแถวสุราษฎร์บ่อยๆ ไปทีไรก็แวะเยี่ยมทุกที เพื่อไปสนทนากับท่าน เวลาไปเยี่ยมก็ท่านก็พักอยู่ในห้อง ปิดประตู ปิดหน้าต่าง แต่ว่ามีการเปิดเครื่องปรับอากาศไว้ ท่านก็นั่งบ้างนอนบ้างไปตามเรื่องตามคำสั่งของหมอ เพื่อไม่ให้มีการรับแขก แต่ว่าตอนเย็นท่านก็ออกมานั่งที่ม้าหินที่เคยนั่ง ใครไปใครมาก็เข้าไปกราบไหว้นมัสการได้ และก็พูดจาปราศรัยกับคนเหล่านั้นบ้างตามสมควรแก่เวลา บางทีก็พูดนานถึง 2 ชั่วโมง วันก่อนไปเยี่ยม พระสิงห์ทองที่อุปัฏฐากท่านบอกว่า ท่านอาจารย์พูดกับชาวบ้านตั้ง 2 ชั่วโมงเพิ่งจบเมื่อตะกี้นี้เอง เลยก็บอก อ้าว คุณทำไมไม่ปล่อยให้ท่านพูดนานอย่างนั้น แล้วผมจะทำอย่างไร ท่านก็พูดเรื่อยๆ ไป คนก็นั่งฟังกันเรื่อยๆ ทีหลังคุณทำป้ายไว้เป็นแผ่นกระดาษ แล้วเขียนว่า ท่านอาจารย์ป่วย อย่ารบกวนให้พูดมาก แล้วเอาไปชูด้านหลัง ท่านนั่งพูดก็ไปชูป้ายที่ข้างหลังทำสั่นๆ ให้เขาดูหน่อย คนก็จะได้อ่าน พออ่านแล้วเขาจะได้เตรียมใจลุกขึ้นไป บอกว่าเดี๋ยวท่านเห็นเข้าผมก็จะถูกดุอีก ก็บอกว่าถ้าท่านดุก็ไม่เป็นไร บอกว่าท่านอาจารย์ปัญญานันทะสั่งไว้ให้ทำอย่างนั้น เรื่องมันก็จะจบไป คือถ้าเมื่อมีแขกนั่ง ท่านก็คุยเรื่อยๆ คุยเรื่องธรรมะน่ะ ไม่ได้คุยเรื่องอะไร แม้อาตมาเข้าไปเยี่ยมในห้อง ท่านก็ลุกขึ้นนั่ง เรากับท่านก็พูดธรรมะกัน พูดเรื่องนิพพานบ้าง เนื่องอิทัปปจจยตาบ้าง เรื่องปฏิจจสมุปบาทบ้าง พูดเรื่อยไป พูดบ้างหยุดบ้าง เวลาพูดพูดไปก็หยุดเสียหน่อย แล้วก็พูดต่อไปเรื่อยๆ ตามความคิดของท่าน
หมอก็แนะนำว่าให้ท่านทบทวนเรื่องเก่าๆ เรื่องอะไรที่เคยจำ เคยนึก เคยคิด เอามาทบทวนเป็นการฝึกสมอง เพื่อให้มันได้มีความจำดีขึ้น เพราะงั้น ใครไปพูด ท่านก็มักพูดเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ แล้วก็จำคำบาลีเอามาแปลให้ฟัง ก็แปล จำได้เรียบร้อย พูดเข้าใจได้ไม่ลำบากอะไร เป็นการทบทวนทางสมอง เพราะว่าสมองนั้นมันชักจะเสื่อม จำอะไรไม่ค่อยได้ ที่จำไม่ได้ก็เพราะหมอบอกว่า เลือดมันไม่ขึ้นไปเลี้ยงสมอง ขึ้นไปได้น้อย ไม่สมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน โดยสมองของคนเรานั้น ต้องมีเลือดขึ้นไปหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา และก็มีออกซิเจนติดไปกับเลือด หล่อเลี้ยงสมอง สมองก็ทำงานได้เป็นปกติ แต่ว่าท่านเองนั้น เลือดที่ไปเลี้ยงสมองไม่ค่อยจะคล่องตัวเท่าใด จึงขึ้นไปช้า ทำให้เกิดความเฉื่อยชาในความนึกคิด คนเราถ้าโลหิตไม่ไปเลี้ยงสมอง มันก็จำอะไรไม่ได้ สลึมสลือไป มองอะไรก็จำไม่ได้ เวลาเป็นใหม่ๆ นี่เมื่อเป็นแล้ว ท่านตื่นขึ้น (07.12) ดูนาฬิกาก็ไม่รู้ว่าเวลาเท่าไร พระที่เคยอุปัฏฐากใกล้ชิดที่ชื่อสิงห์ทอง เอายาเข้าไปถวาย ท่านมอง มองแล้วก็ถามว่าคุณมาจากไหน สิงห์ทองก็บอกว่า สิงห์ทองครับสิงห์ทอง ท่านก็ถามว่า สิงห์ทองไหน จำไม่ได้ ท่านภูซึ่งเป็นผู้รับใช้ในการบริหารวัด เป็นสมภารวัด ทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง ใกล้ชิดกับท่านมาก เข้ามาจับ ท่านก็มอง แล้วก็ถามว่า เออ คุณนี่มาจากไหน ท่านภูก็บอว่า ผมภูครับ ภู ท่านบอกว่าภูไหน นี่เป็นอย่างนั้น แปลว่าไม่ได้เลี้ยง สมองใช้ไม่ได้แล้ว แต่ว่ายังพูดได้เท่านั้นเอง ก็เลยต้องโทรศัพท์มากรุงเทพบอกเจ้าหน้าที่หมอ คุณหมอประดิษฐ์ เจริญไทยทวีให้รับทราบว่าอาจารย์ของท่านเป็นอย่างนี้ หมอก็ส่งหมอผู้ชำนาญไปทำการตรวจสอบร่างกายของท่าน แล้ววางแผนว่าจะรักษาอย่างไร ตอนนั้น อาตมาก็ลงไปด้วยเหมือนกัน ก็เป็นห่วงในอาการของท่าน ลงไปแล้วก็พบหมอประเวศ หมอประดิษฐ์ หมอหลายคน ก็บอกว่า เอ้า ให้ท่านเจ้าคุณเข้าไปพูดก่อน พูดชักชวนให้ท่านไปกรุงเทพ เพื่อพาไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช อาตมาก็เข้าไปพูดในเชิงเชิญชวนให้ท่านมากรุงเทพ แต่ท่านไม่พูดเรื่องมากรุงเทพ ท่านพูดเรื่องธรรมะ เรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ฟัง ฟังธรรมก็เห็นว่าท่านเลี่ยง ก็เลยออกมา ก็เลยส่งหมอประเวศเข้าไป หมอประเวศก็พูดเรื่องอาการป่วยควรจะได้ไปรักษาที่กรุงเทพ ท่านก็ไม่พูดเรื่องนั้นแต่พูดเรื่องอิทัปปจจยตาในหัวข้อธรรมะให้ฟัง หมอประเวศฟังแล้วก็เลยถอยออกมา ออกมาแล้วก็ปรึกษากันว่า ไม่ได้แล้ว พูดอย่างไรก็ไม่ได้แล้ว เราไปปรึกษากันที่ศาลาโน่นเถอะ แล้วก็ไปเปิดการประชุมปรึกษาหารือกันว่า จะรักษาท่านอย่างไร ก็ตกลงว่าต้องรักษาที่นั่น ไปเอาไปไหนไม่ได้ เอาไปหาดใหญ่ก็ไม่ได้ ความจริงที่หาดใหญ่นั้น หลานชายของท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลใหญ่ที่หาดใหญ่ในมหาวิทยาลัย เครื่องมือเครื่องใช้ครบสมบูรณ์ ท่านก็ไม่ยอมไป ไปสุราษฎร์ก็ไม่ยอมไป ท่านบอกทีหลังว่า พระป่าในสมัยก่อนนี้ ท่านอยู่ป่า ป่วยในป่าก็รักษากันในป่า หายก็มี ตายไปก็มี ผมนี่มันอยู่ป่ามาตั้งห้าหกสิบปีแล้ว ถ้าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องรักษาที่นี่ ถ้ามันจะตายก็ให้มันตายที่นี่ ถ้ารักษาได้ก็รักษาที่นี่แหละ ไม่ไปไหน เลยตกลงกันว่า ต้องรักษาให้ท่านที่นั่น ก็เลยเตรียมห้องหับที่จะให้ท่านเข้าไปพักผ่อน
เรือนกุฏิของท่านตรงกลางมันมีอยู่หลังหนึ่งเป็นสองชั้น หลังนี้คุณโยมปู (11.04) ชาวยะลาได้มาสร้างให้ เพราะว่ากุฏิที่อยู่เดิมนั้นเป็นไม้ เสาไม่ถาวร เป็นไม้หน้าสองหน้าสามอย่างนั้น เอามาตีๆ เข้าเป็นสองชั้น แล้วก็เอาเชือกเดิน 4 เส้น เชือกดึงไว้ทั้ง 4 เส้น พอลมพายุพัดมันจะล้ม อันนี้โยม ... (11.30) แกมาเห็นเข้า แกก็บอกว่า ท่านเจ้าคุณอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ท่านเจ้าคุณเป็นพระมีราคา เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ถ้ากุฏิมันพังทับลงมาก็จะลำบาก ฉันจะสร้างกุฏิให้ใหม่ ท่านต้องขึ้นไปอยู่นะ ท่านก็ไม่ตอบอะไร ท่านเฉยไม่ตอบว่าอยู่หรือไม่อยู่ แต่โยมแกก็นั่ง ไปเอาช่างมาจากยะลามาสร้าง แล้วแกก็ไปจำพรรษาที่นั่นด้วย เพื่อคุมการก่อสร้างด้วย 3 เดือนเสร็จเรียบร้อย ก็ท่านเข้าไปอยู่เหมือนกันแหละ แต่ว่าอยู่ไม่นานก็ออกมาอยู่ในห้องใหม่ ด้านตะวันออกมีห้องน้ำ ก็อยู่ในห้องน้ำ อยู่ในห้องน้ำมันก็กว้างพออยู่ได้ มีที่สำหรับอาบน้ำ ที่ถ่ายแต่ก็ใช้เฉพาะการขับถ่าย ส่วนอาบน้ำท่านมาอาบข้างนอก ก็มีโอ่งรองน้ำไว้ที่ข้างกุฏิ พอเวลาอาบท่านก็มายืนอาบข้างนอกนั่นแหละ แต่เวลาถ่ายก็เข้าไปนั่งที่ส้วม เวลาถ่ายนี้ ท่านมักจะนั่งนานๆ เพราะว่าท้องมันไม่ค่อยจะปกติเท่าใด จึงนั่งไปเรื่อยๆ บางทีก็อ่านหนังสือไปด้วย นั่งไปด้วย จนกว่ามันจะออกเรียบร้อย และในห้องที่ท่านนอนน่ะ เคยแอบเปิดประตูดูเข้าไป ก็มีแต่หนังสือเต็มไปหมด อยู่บนโต๊ะ ซื้อเตียงนอนแบบของคนไข้ที่โรงพยาบาลไปให้เตียงหนึ่ง เพื่อให้ท่านนอนสบายหน่อย แต่ท่านไม่ได้นอนหรอก บนเตียงนั้นหนังสือเต็ม ใต้เตียงก็หนังสือเต็ม ข้างๆ ก็หนังสือทั้งนั้น วางเต็มไปหมดเหลือช่องขนาดอย่างนี้เป็นที่นอน มีเสื่อธรรมดา เสื่อกระจูดเอามาปูแล้วก็มีท่อนไม้ เพราะว่าท่านนอนหนุนหมอนไม้ขนาดยาวเท่านี้ สูงนิดหน่อย นอนหนุนหมอนไม้ตลอดเวลา นอนตรงนั้นหลับอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ได้มีอะไร และก็จะเข้าไปปัดกวาดก็ไม่ค่อยได้ ไปช่วยหยิบหนังสือ วางผิดที่ท่านหาไม่ได้ ท่านก็จะไม่สบาย เลยไม่มีใครเข้าไปยุ่งในห้องนั้น อยู่กันไปอย่างนั้น และเมื่อป่วยขึ้นจะทำห้องนั้นให้เป็นที่อยู่ก็ไม่ไหว เพราะว่าหนังสือเต็มหมด รื้อไม่ไหวก็เลยมีอีกห้องหนึ่งด้านทิศตะวันตก เขาทำเป็นห้องน้ำ และก็มีอ่างอาบน้ำ อ่างอาบน้ำนั้นมีเพื่อไปเอาน้ำร้อนจากที่เขาบรรทุกรถมา เอามาใส่ในอ่างแล้วให้ท่านลงไปแช่ จะได้สะดวกหน่อย แต่ก็ท่านไม่ค่อยอาบ อาบน้ำธรรมดา เรื่องอาบน้ำนี่ ท่านเจ้าคุณท่านอาบน้ำธรรมดา ไปเชียงใหม่หน้าหนาวนี่พวกเราหนาว ก็ไม่กล้าอาบน้ำตอนเช้าๆ แต่ท่านตื่นเช้ามา ก็ไปอาบน้ำเสียงซู่ซู่ทุกวัน อาบเฉย อาบแล้วก็มานั่งสบายๆ ท่านบอกว่าอาบน้ำแล้วมันอุ่นดี พออาบแล้วเลือดน่ะวิ่งทั่วร่างกาย เพื่อไปต่อต้านกับความเย็น เกิดความสบาย ท่านก็อาบแบบนั้น ไม่ได้มีน้ำร้อนอะไรอาบกับเขา อันนี้อยู่ในห้อง ท่านก็อาบอย่างนั้น ถึงมีอ่างก็ไปอาบน้ำเย็นธรรมดา ก็จัดให้เอาเตรียมไปวางให้ท่านนอนพัก เอาแอร์ไปติดให้ ให้ความสะดวกหน่อย จะได้ปิดหน้าต่างได้สะดวก แล้วก็อยู่ในห้องนั้น แล้วก็ที่วัดสวนโมกข์นี่ไม่มีโทรศัพท์ เวลาจะเรียกหมออะไรก็ลำบาก แต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนายอานุช สงวนนาม ขณะนี้ย้ายมาอยู่เป็นผู้ตรวจราชการแล้ว ท่านมา อ้าว บอกไม่มีโทรศัพท์เจ็บไข้ได้ป่วยจะเรียกหมอได้อย่างไร ก็เลยบอกองค์การโทรศัพท์ บอกให้ติดโทรศัพท์ให้ ท่านเจ้าคุณพุทธทาสสักเครื่องเถอะ แต่เดี๋ยวนี้มีโทรศัพท์ติดต่อได้ แต่จะติดต่อไปไหนก็ได้ โทรมากรุงเทพก็ได้ จะได้รับความสะดวกขึ้นหน่อย ทำให้ท่าน แต่ท่านก็อยู่อย่างนั้น อาหารการขบฉันนี่ ท่านบอกว่ามันแย่มาก เพราะว่าฉันไม่อร่อยแล้วก็ไม่ค่อยหิว แต่ก็ฉันไปตามหน้าที่ เขาเอามาให้ก็ฉัน ตานี้หมอไม่ให้ฉันเกลือ ไม่ให้ฉันน้ำปลา ไอ้ของเค็มๆ นี่ไม่ให้ฉันเลย มันก็หมดเรื่องกันเท่านั้นเอง กินจืดๆ ชืดๆ กินไปอย่างนั้นเอง เราลองกินอาหารโดยไม่มีเกลือไม่มีน้ำปลามันจะเป็นอย่างไร โยมลองไปทานดูมั่งก็ได้ แล้วจะรู้ว่ารสชาติมันเป็นยังไง
อันนี้เหมือนไม่มีอาหาร รีบๆ เติมน้ำปลาเติมไม่ได้ หมอไม่ให้ฉัน ก็ฉันจืดๆ แกงผัก แกงเลียงจืดๆ อย่างนี้นะ ก็ฉันไปตามเรื่อง ฉันได้นิดๆ หน่อยๆ เพราะไม่ค่อยหิวเท่าใด แล้วก็ตอนเพลก็ฉันผลไม้ ตอนเอาข้าวมาให้เหมือนกัน ก็ไม่ค่อยได้ฉัน ฉันผลไม้ สมมติว่ามีแอ๊ปเปิ้ลก็ฉันสักลูกหรือกล้วย ฉันผลไม้และก็อยู่อย่างนั้น ตอนเย็นก็มีน้ำปานะให้ท่านฉันบ้าง ก็ไม่ค่อยกระวนกระวายในเรื่องเกี่ยวกับอาหารเท่าใด แต่ท่านบอกว่ามันเพลีย มันอ่อน มันไม่มีกำลัง จะมีกำลังได้อย่างไร เพราะว่าอาหารมันไม่พอ แล้วจะไปมีกำลังได้อย่างไร ท่านจึงไม่ทำไม่ไปไหน ลุกขึ้นเดินช้าๆ เดินๆ ไปรอบบริเวณ มีพระสององค์คอยเดินเคียงข้างไป เผื่อว่าจะล้ม จะได้พยุงไว้ก็เดินประมาณ 300 ก้าว คือเดินนับก้าวไปก็ได้ สัก 300 ก้าว หลวงพ่อก็เลยถามว่า เดินไปสัก 350 ก้าวไม่ได้หรือ เดินไป 400 ไม่ได้ ท่านบอกว่ามันจะล้มแล้ว เดินเพียง 300 ก้าวนี่มันก็จะล้มแล้ว มันเหนื่อยเต็มทีแล้ว ต้องนั่งแล้ว ต้องนั่งพัก แล้วต้องนั่งพัก แล้วก็ค่อยลุกเดินใหม่ อิริยาบถท่านเป็นอย่างนั้น ไม่สามารถจะเดินมากๆ ได้ เพราะว่ามันเพลีย มันอ่อนเป็นไปตามธรรมชาติของร่างกาย ถ้ามันปกติอยู่อย่างนั้น ก็รู้สึกว่าเหนื่อย อ่อนเพลีย แต่ว่ายังพูดจาถูกต้อง พูดธรรมะถูกต้องอะไรถูกต้องนี่ พอใช้ได้ แต่หมอห้ามพูด หมอบอกว่าไม่อยากให้ท่านพูด ให้ท่านพักผ่อน เมื่อวานนี้ วานซืนนี้ก็พบคุณหมอประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ที่งานศพ เขาเล่าให้ฟังว่า ได้ไปเยี่ยมท่านมา แล้วบอกว่าท่านรับแขก ไม่อยากให้ท่านรับแก ไม่อยากให้ท่านพูดอะไร ให้พักผ่อนจริงๆ แต่ว่าพอออกมานั่งตากอากาศนอกห้องบ้างแล้วคนมันก็มาหา มากราบมาไหว้ ท่านก็ทักทายปราศรัย พูดธรรมะให้ฟังกันไปตามเรื่อง เป็นอย่างนั้นเวลานี้ ปกติของท่านก็เป็นอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถที่จะสอนอะไรมากๆ ได้ แต่ความจริงถึงไม่สอนมันก็พอแล้ว เพราะว่าสอนมามากแล้ว สอนมาตั้ง 60 ปีแล้วไม่ใช่เล็กน้อย สอนมาตั้งแต่หนุ่มจนกระทั่งอายุ 87 เนี่ย เป็นเวลาเท่าใด เราคิดเสียว่าบวชเมื่ออายุ 20 และก็เวลานี้ 87 ท่านก็เริ่มสอนตั้งแต่บวชพรรษาแรก บวชพรรษาแรกนี่ ท่านก็พูดให้ชาวบ้านฟังแล้ว พูดปฏิภาณ เคยไม่อ่านหนังสือไม่เขียนหนังสือ เที่ยวอธิบายธรรมะให้ญาติโยมฟัง ญาติโยมฟังแล้วก็พออกพอใจว่าพระท่านนี้ยังไม่ได้เป็นมหา ท่านนี้พูดจาพูดปริศนาธรรมะคนเข้าใจ แต่ทำไมจึงเทศน์ได้ เพราะว่าก่อนบวชนี่ก็ชอบอ่านหนังสือธรรมะ ก็ศึกษาธรรมะอยู่ตลอดเวลา เพราะที่บ้านของท่านนั้น เปิดตู้ธรรมะไว้ เพื่อว่ามีหนังสือมาไว้ ใครจะมาอ่านก็ได้ ยืมไปอ่านที่บ้านก็ได้ และก็มีการสนทนาธรรมกันบ่อยๆ ในหมู่คนที่สนใจก็เอาร้านค้านั่นแหละเป็นสถานที่สนทนาธรรม เพราะว่าการค้าขายนี่ไม่ได้ขายอยู่ตลอดเวลามันมีเวลาว่าง คนก็มานั่งคุยธรรมะกัน ส่วนมากก็เป็นผู้มีอายุรุ่นผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นลุงเป็นตาเป็นน้าอะไรอย่างนั้น ท่านก็คุยกับเขาได้ความรู้ความเข้าใจ ท่านว่ามาบวชในพระศาสนาก็เลยเทศน์กลางคืนให้ญาติโยมฟัง เพราะว่าแถวนั้น (22.00) กลางคืนก็มีเทศน์ทุกคืน คนฟังก็ไม่กี่คนหรอก 9 คน 10 คน แล้วคนฟังก็ค่อยหายไปเรื่อยๆ คือตายไปเรื่อยๆ จำนวนคนก็จะลดน้อยลงไป บางวัดเวลานี้ก็ไม่ได้เทศน์แล้วถามว่าเมื่อก่อนเทศน์ เดี๋ยวนี้ทำไมไม่เทศน์ล่ะ อ้าว ก็ไม่มีคนฟังจะไปเทศน์อะไร ถามว่าคนฟังหายไปไหน ก็ตายไปเรื่อยๆ ทีละคนทีละคน ตายไปก็จะหมดคนฟัง คนหนุ่มมันไม่แก่ แก่ไม่ทัน คนเจ็บคนแก่ก็เลยตายไปเสียก่อน (22.37) จะแสดงธรรมกัน เป็นอย่างนั้น
แต่ว่าท่านแสดงธรรมที่วัดนั้นก็คนมาฟัง เพราะว่าวัดที่พุมเรียงมันอยู่กลางบ้านทั้งนั้น มีหลายวัดด้วยกัน ท่านจำพรรษาที่วัดใหม่ วัดใหม่มันก็มี วัดเก่าลึกเข้าไปมีเป็นวัดใหม่ ท่านอยู่ที่นั่นก็เลยเทศน์ให้ญาติโยมฟัง คุณโยมผู้หญิงของท่าน ชื่อโยมเพื่อน ท่านเป็นอุบาสิกาที่สนใจในธรรมะมาก และก็ลูกชายพวกท่านก็มาฟังทุกคืน แม้ย้ายบ้านมาอยู่ไชยา มาเปิดร้านค้าที่ไชยาใกล้สถานีรถไฟ ก็เอาบ้านนั่นแหละเป็นที่แสดงธรรม แสดงชั้นบน เมื่อหลวงพ่อมาอยู่กับท่านพุทธทาส เช้าเนี่ยมาก็เดินมาที่ไชยา มาเทศน์ทุกวันพระ บางทีวันพระก็มาเทศน์ให้ญาติโยมฟังกัน ที่บ้านของคุณโยมมารดาของท่านก็ท่านเป็นผู้สนใจธรรมะ สนใจธรรมะมาตั้งแต่ยังไม่แก่ไม่เฒ่า ก็ยังไม่ได้บวชในพระศาสนา ต่อมาเมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน สอบนักธรรมกับเขาก็สอบได้ สอบนักธรรมโทก็ได้ นักธรรมเอกก็ได้ 3 ปีแล้วก็สอบนักธรรมเอกได้ แล้วก็ได้ไปเที่ยวสอนหนังสือที่วัดมหาธาตุ วัดพระบรมธาตุซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองไชยา เจ้าคณะอำเภออยู่ที่นั่น ก็เลยให้ท่านไปสอน ท่านไปสอนนี่สอนพระเข้าใจ เพราะว่า 31 ปี เวลาสงฆ์เข้าสอบไล่นี่ได้ 30 ครบองค์เดียว ไอ้องค์ที่ตกนั้นคงจะปัญญามันไม่เต็มที ถึงสอบไม่ได้ก็เลยสอบได้มาก เมื่อสอบได้มาก ก็คุณโยมชื่อสงวน เจตภักดี ที่กลุ่มพระมารดร ท่านเป็นผู้สร้างโรงเรียนนักธรรมที่วัดนั้น แล้วก็ท่านเจ้าคุณท่านไปสอนก็สอนได้นะก็ดีใจ เราพูด (25.05) เครื่องพิมพ์ดีดให้อยู่เครื่องหนึ่งใช้อยู่จนกระทั่งบัดนี้ เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนั้น จำได้ว่า ท่านจะเขียนจดหมายถึงใคร ท่านไม่เขียนหรอก พิมพ์ดีด พิมพ์ดีดเครื่องนั้นเก่าแก่เต็มทีแล้ว อาจเพราะวางบนโต๊ะ ยกไปไหนก็ไม่ไหว ยังใช้อยู่ เรื่องของใช้นี่ท่านมีอะไร ท่านใช้นานๆ เพราะว่าใช้อย่างรู้จักใช้ ประคับประคองรักษามันอย่างดี มีดที่เคยใช้เมื่อสมัยหนุ่มๆ ก็ยังอยู่ พิมพ์ดีดนี่ก็ยังอยู่ กล้องถ่ายรูปที่เคยใช้ก็ยังอยู่ ยังเก็บไว้เรียบร้อย ถ้าจะเอามาถ่ายอีกก็ถ่ายได้ เพราะว่ารู้จักเก็บของรักษาของ ไม่ค่อยชำรุดทรุดโทรมเท่าใด จึงได้ใช้เครื่องพิมพ์ดีดนั้นอยู่ สำหรับพิมพ์ดีดภาษาอะไรต่างๆ เวลามาเรียนหนังสือกรุงเทพ ก็เอาเครื่องพิมพ์นั้นมาด้วย เวลาทำแบบฝึกหัดก็มักจะพิมพ์ดีดส่งครูบาอาจารย์ เพราะว่าใช้สะดวกดี เรื่องที่ได้มาเรียนหนังสือกรุงเทพ นี่ก็เพราะเหตุว่าก็ไปสอนหนังสืออยู่ที่วัดพระธาตุนั่นแหละ วัดพระธาตุนี่มีลำคลองไหลผ่านวัด น้ำไหลตลอดเวลา กลางคืนเดือนหงายก็ไปอาบน้ำในคลองกับท่านพระครู อาบน้ำแล้วก็เห็นเดือนหงาย ท่านพระครูก็ถามว่า เขาว่าโลกมันหมุนนี่มันหมุนอย่างไร มันหมุนได้อย่างไร ก็พอดีมะพร้าวที่กระรอกเจาะมันลอยมาถึง ท่านเจ้าคุณก็ยกมะพร้าวนั้นขึ้นมาถือ นี่สมมติว่าเป็นโลก นั่นเป็นดวงจันทร์ที่ลอยอยู่ แล้วก็ดวงอาทิตย์ กลางคืนมองไม่เห็น โลกมันหมุนไปอย่างนั้น สมมติว่าประเทศไทยอยู่ตรงนี้แล้วโลกก็หมุนไป พอลับเหลี่ยมมันก็มืด แล้วพอหมุนไปก็สว่างนิดหน่อยจนสว่างเมื่อมันไปตรงกับดวงอาทิตย์ อธิบายให้ท่านพระครูเข้าใจ ดวงจันทร์ก็เคลื่อนไหว ดวงอาทิตย์ก็เคลื่อนไหว เอามะพร้าวนั้นเป็นแบบสาธิต อธิบายให้ท่านพระครูเข้าใจ ท่านก็เข้าใจแล้วท่านก็เลยตั้งปัญหาขึ้นถามว่า
คุณนี่ คุณมีจิต (27.43) จะสึกมั้ยท่านบอกว่า ท่านยังคิดจะสึกอยู่ไหมท่าน เพราะว่างานการก็ยังไม่ได้สะสางกัน จะบวชต่อไปมันก็ลำบาก งานค้างานขายทิ้งไว้คุณแม่อยู่ผู้เดียว ผู้ช่วยก็คุณธรรมชาติก็ยังเรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพ ท่านจะบวชไปมันก็เป็นปัญหาแก่ครอบครัว ท่านพระครูท่านก็ตอบว่า เดี๋ยว ขอถามหน่อยว่า คุณมีอุดมการณ์ในชีวิตอย่างไร ท่านก็ตอบว่า ผมมีความคิดประจำอยู่ในใจว่าจะใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นให้มากที่สุดที่จะมากได้ โดยจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นให้มาก ท่านพระครูก็เลยบอกว่า ถ้าคุณออกไปอยู่บ้าน มีครอบครัว แต่งงานมีลูกมีเต้า แล้วจะทำชีวิตให้เป็นแบบประโยชน์แก่ผู้อื่นได้มากอย่างไร มันผิดหลักคนมีครอบครัวนี่ ทำประโยชน์ไม่ได้เต็มที่หรอก เพราะว่ามีปัญหาภายในบ้าน คนจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นเต็มที่มันต้องไม่มีครอบครัว ต้องเป็นนักบวช พระพุทธเจ้าท่านจะออกบวช เพราะถ้าอยู่ในวังมีปัญหาเยอะ มีเรื่องมีอะไรวุ่นวาย ท่านเลยหนีออกไปบวช จึงได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่ลูก คนคิดไม่ดี ท่านบอกว่าอย่างนั้นก็ไม่ต้องสึก จะบวชต่อไป จะบวชต่อไปต้องไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ เพราะว่ากรุงเทพเป็นสำนักเรียนใหญ่ ถ้าอยากจะมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ก็เลยตกลงกัน ท่านก็เลยมากรุงเทพ เวลามากรุงเทพ ท่านก็เขียนจดหมายไปบอกคุณธรรมชาติว่ามากรุงเทพนี่ท่านผิดหวัง ผิดหวังเพราะว่าเคยสร้างภาพกรุงเทพไว้ว่าเป็นภาพสวยสดงดงาม พระสงฆ์องค์เจ้าก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อะไรต่างๆ แต่แรกเป็นอย่างนั้น แต่มาถึงกรุงเทพเข้าเห็นความเป็นอยู่ของพระไม่เหมือนดั่งที่ฝันไว้ ไม่เหมือนภาพที่ตั้งไว้ เป็นอย่างนั้น แต่ว่าก็ต้องจำใจอยู่ เพื่อต้องการเรียนหนังสือ พอเรียนหนังสือจบแล้ว หรือว่าพอแก่ความรู้แล้ว ก็ไม่อยากจะอยู่กรุงเทพ อยากจะไปอินเดีย ไปถึงทิเบตเพื่อไปดูการพระศาสนา ในขั้นแรกท่านคิดอย่างนั้น แต่ต่อมาก็เปลี่ยนใจ เขียนจดหมายบอกคุณธรรมชาติว่า ไอ้เรื่องไปอินเดีย ไปทิเบตอะไรนั้น พูดคิดแล้ว เราจะมาทำงานที่บ้านของเราเอง จะมาฟื้นฟูการศึกษาการปฏิบัติทีบ้านของเราเอง ตั้งใจจะกลับบ้านไม่เรียนต่อไป ก็เรียนได้เพียงสามประโยค แล้วก็สอบประโยค 4 ก็ไม่ได้ ท่านบอกว่าพอแล้วการเรียนนี่ ไอ้ของเราความคิดของเรากับกรรมการมันไม่ตรงกัน ก็เลยไม่ต้องเรียนต่อไป เลยก็ขนของกลับบ้าน ไปอยู่ที่วัด วัดที่เคยบวช
แต่ว่าเมื่ออยู่ไปก็นึกว่า อยู่ในวัดนี่ทำอะไรมันไม่สะดวก ต้องไปหาที่สักแห่ง ซึ่งเป็นที่เหมาะสงบเงียบ แล้วก็ได้ตั้งหน้าศึกษาค้นคว้าธรรมบาลีในของพระพุทธเจ้า ก็เลยพาญาติโยมไปเที่ยวดูวัดร้าง ก็ไปเห็นวัดปางจิต วัดปางจิตนี่เป็นวัดเก่าแก่ สมัยก่อนเป็นที่อยู่ของเจ้าคณะเมืองแต่ว่าต่อมาเจ้าพระยากลาโหม พวกตระกูลบุนนากแหละ ท่านไปจากนี่แถวนั้น ทำงานช้า กลับมากลัวในหลวงจะดุเอา เลยเข้าข้างวัดสร้างวัดอย่างเร่งรีบ ช่างฝีมือแถวนั้นตีนดำหมดเลย คนนั้นทำนั้นคนนั้นทำนั้นเอามาทุบกันเข้าให้เป็นโบสถ์เป็นศาลา เป็นกุฏิ ทำรั้วเสร็จเรียบร้อย ทำให้เสร็จภายในไม่กี่เดือน สร้างวัดได้เรียบร้อย ชื่อวัด สมุหนิมิต สร้างเสร็จแล้วก็กลับกรุงเทพ ในหลวงก็ถามว่า เธอไปทำงานอย่างไรชักช้า ก็กราบทูลว่า ที่ช้านี่เพราะไปสร้างวัดอยู่ ขอถวายพระราชกุศล ในหลวงก็อนุโมทนาได้กุศลที่สร้างวัด วัดนั้นก็เกิดขึ้นพอวัดนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ไปนิมนต์เจ้าคณะเมืองที่อยู่วัดปางจิตมาอยู่วัดนี้ วัดนั้นก็ร้างไป ร้างไปหลายสิบปี แต่ว่าเป็นป่า มีหนองน้ำ มีต้นยางต้นใหญ่ๆ ขึ้นเต็มไปหมด ท่านก็มาเห็นว่า โอ ไอ้นี่เหมาะเป็นที่เหมาะสำหรับบำเพ็ญภาวนา สำหรับศึกษาค้นคว้า แต่มีโบสถ์เก่าไม่มีหลังคา มีเสาแต่ไม่มีหลังคา มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านชอบไปไหว้บอกว่าคนไม่มีลูกไปไหว้ขอลูกจากหลวงพ่อองค์นั้นได้ และต่อมาก็มีลูกเขานับถือกันเช่นนั้น ท่านก็ไปอยู่ที่ที่โบสถ์นั้นแหละ แต่ว่าหลังคามันไม่มี ก็เลยไปบ้านดอน ไปหาโยมสงวนที่ให้ซื้อพิมพ์ดีดให้นี่แหละ ท่านเรียกว่า คุณน้าที่เป็นญาติกัน บอกว่า น้า ช่วยซื้อสังกะสีให้หน่อยจะเอาไปมุงโบสถ์วัด ท่านก็ว่า เอ๊ะ คุณนี่แปลก วัดดีๆ ไม่อยู่ จะไปอยู่วัดร้างทำไม ไปดู (34.47) แกเป็นผู้ใหญ่ แกมีตังค์ด้วย แกพูดเชิง (34.50) คุณนี่แปลกวัดที่ดีมีไม่อยู่ จะไปอยู่วัดร้างทำไม ท่านก็ไม่ตอบอะไรแต่ว่าก็ซื้อให้ ได้สังกะสีมาก็มุงหลังคาเรียบร้อย แล้วก็ต่อไปข้างหลังเขาเอาจากมามุงไว้ ท่านก็พักอยู่ที่นั่น ทำการศึกษาค้นคว้า แล้วต่อมาก็สร้างกุฏิเล็กๆ อยู่ริมสระ กุฏิเล็กนั้น หน้าต่างเปิดได้กว้าง เวลาปิดก็ปิดได้เลย ยุงไม่เข้า ทำงานเขียนหนังสือค้นคว้าตามเทียนก็ใช้ตะเกียงลาน ไม่มีไฟฟ้า แต่ว่าตะเกียงลานที่ใช้ในสมัยนั้น ก็เขียนหนังสือได้หลายเล่มเหมือนกัน เช่น พุทธประวัติจาก.พระโอษฐ์นี่เขียนจากแสงตะเกียงลาน ทำงานได้ ทำรั้วรอบขอบชิดปิดหมด ประตูก็มีประตูปิดใส่กุญแจ คล้องกุญแจ ออกไปบิณฑบาต บิณฑบาตกลับมาถึงก็ปิดใส่กุญแจ ไม่รับแขกอยู่ 2 ปี ไม่มีใครเข้ามาหาเลย ไม่มีแขกไหนมาหาท่าน อยู่เงียบๆ ศึกษาอ่านพระธรรม มีพระไตรปิฎกค้นคว้า 2 ปีไม่พูดกับใคร พวกอิสลามแถวนั้นมันพูดกันว่า พระองค์นั้นเป็นบ้า เขาเลยเอาไปขังไว้ ไปขังไว้ในป่า แต่ใส่กุญแจประตู ไม่ให้ใครเข้า อย่าไปยุ่งกับแก ดีแต่ว่าออกไปบิณฑบาต บอกว่า พระบ้ามาแล้วอย่าไปยุ่งๆ พระบ้าหาว่าเป็นพระบ้าพระบอ ไปอยู่นั้นถึง 2 ปีไม่มีใครมายุ่งกับท่าน ก็มีเวลามาก ได้อ่านหนังสือ ได้ค้นคว้าได้เขียนอะไรๆ มากมาย อยู่มาปีที่ 3 นี่ อาตมากับท่านเจ้าคุณประกาศิตพุทธศาสตร์ อยู่ที่ชุมพร เป็นเพื่อนกันมานาน ก็เลยชวนกันไปอยู่ที่วัดนั้น อยู่ 3 องค์ 4 องค์ ทั้งหมด 4 องค์ แล้วก็มีสามเณรองค์หนึ่งชื่อสำเริง ไปจากอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
สามเณรสำเริงเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ยังอยู่เคร่งครัดมาก ไปอยู่ใหม่ๆ นี่ เวลาฉันมังคุด ถามว่า นี่ลูกอะไร ไม่รู้ ไม่รู้ว่ามังคุดคืออะไร ถามลูกเงาะแกก็ไม่รู้จัก บอกว่าที่บ้านสามเณรน่ะไม่มีบ้างหรือผลไม้ ไม่มี มีอะไร มีแต่ต้นไผ่ ที่พนมทวน กาญจนบุรีมีแต่ป่าไผ่ ผลไม้อื่นล่ะไม่มี มีแต่ต้นไผ่ ลูกไผ่กินไม่ได้ แกไม่เคยรู้จักเงาะรู้จักมังคุดอะไร แกก็อยู่แล้วก็เรียนหนังสือ ไปเรียนที่วัดใหม่จนได้เป็นเปรียญ 3,4 ประโยคเหมือนกัน แล้วก็ช่วยท่านเจ้าคุณแปลหนังสือค้นคว้าอะไรต่ออะไร มาเดี๋ยวนี้ก็สุขภาพไม่ค่อยดี เพราะว่าเคร่งเกินไป เคร่งกินผักมากไป ไอ้กินผักมากไปร่างกายมันขาดอาหาร เพราะว่าไปอยู่ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณไม่ใช่อยู่ใกล้ตลาด อยู่ไกลออกไป มันไม่ค่อยมีผักกินน่ะ มันมีแต่ยอดไม้ กินแต่ผักบุ้งอะไรพรรค์นั้น กินเหมือนกับเต่า แล้วร่างกายมันจะเจริญได้อย่างไร สุขภาพแย่ และท่านเจ้าคุณเรียกให้ไปอยู่ไชยา ให้ไปอยู่โน่นจะได้ฉันอาหารอะไรดีๆ ขึ้นหน่อย สุขภาพก็จะได้ดีขึ้นต่อไป อยู่กัน อาตมานี่อยู่ 1 พรรษาแต่ว่าอยู่สวนโมกข์ โมกข์เก่า ทำไมจึงชื่อว่า โมกขพลาราม เพราะว่าที่สวนนั้นมีต้นไม้ 2 ชนิด คือ ต้นโมก ไม้โมกดอกขาวๆ ต้นเตี้ยๆ เนี่ยมาก แล้วก็ไม้พลา ไม้พลาเป็นต้นไม้ที่ต้นโต เนื่อไม้มันแข็งดีเอาทำถ่านดี เช่นว่า ผู้หญิงคลอดลูก เขาอยู่ไฟกัน สมัยก่อนนี้อยู่ไฟ สามีก็ต้องไปเตรียมหาไม้พลา เอามาตัดเป็นท่อนยาวขนาดนี้ก็ตากให้แห้ง เวลาภรรยาคลอดลูกก็เอาไปผิงไฟ เอาไปติดไฟในห้อง เอาไม้พลาเผามันร้อนดี ที่สวนนั้นมีมากได้ให้ชื่อว่า โมกขพลาราม แปลว่า สวนเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น โมกขะ แปลว่า หลุดพ้น หลุดพ้นจากกิเลสจากความทุกข์ จากความเดือดร้อน พลา หมายถึง กำลัง อารามก็คือ สวน รวมเข้าเรียกว่า โมกขพลาราม แปลว่า สวนเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น ใครไปสวนโมกข์ มันต้องหลุดพ้นมาเสียมั่ง ถ้าไปสวนโมกข์แล้วไม่หลุดอะไรเลย มันไม่ได้เรื่องอะไร เคยสูบบุหรี่ไปสวนโมกข์กลับมายังสูบบุหรี่ มันก็ไม่พ้น เคยทำอะไรเหลวไหลกลับมามันก็ไม่พ้น ไปสวนโมกข์มันก็มืด หมายความว่าหลุดพ้น หลุดพ้นจากสิ่งชั่วสิ่งร้ายสิ่งไม่ดีไม่งาม จึงจะใช้ได้ เราก็อยู่กัน แปลว่ามาอยู่ไม่ได้ตลอดพรรษา คือว่า ต้องเดิน 7 วันเดิน 7 วันนี้เพราะว่าที่วัดไชยา วัดพระธาตุ ครูสอนนักธรรมป่วย ป่วยจนสอนไม่ได้ อาตมากับท่านเจ้าคุณก็ไปเยี่ยมเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะอำเภอก็บ่น เฮ้อ เหนื่อยแล้ว ไม่มีครูจะสอนนักธรรม เพราะครูสอนนักธรรมป่วย ก็ท่านก็มองมาแล้วก็บอกว่า น้องท่านมาช่วยสอนได้มั้ย ก็บอกว่าได้ ก็เลยเรียกว่า มาสอน 7 วัน ก็เดินกลับไปสวนโมกข์นอนคืนหนึ่งแล้วก็เดินมาสอนว่ากันจนตลอดพรรษา สอนนักธรรมให้พวกพระได้เล่าได้เรียนกันในสมัยนั้นแต่ก็เรียกว่า ได้ไปเกิดความคุ้นเคยและอยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันในวัดนั้น ปกติก็ตื่นแต่เช้า ก็ไปบิณฑบาต เดินเป็นแถว อันนี้มีบ้านญาติโยมที่เขาอุปถัมภ์น่ะ เขาก็มีแกงห่อใบตอง ไม่มีถุงพลาสติก เวลานั้นห่อใบตอง ตักแกงแล้วก็รวบเข้ามากลัดไว้ ทำเป็นห่อ ให้ 2 ห่อไปแกง 2 อย่างอะไรอย่างนั้น ใส่ๆ ผักพืช อะไรก็ใส่ลงในบาตร พอจะฉัน กลับมาถึงก็ขึ้นไปนั่งฉันกันบนร้าน คือ ต้นไม้มันมีกลิ่น แล้วก็ไปทำนั่งร้านไว้บนนั้น นั่งร้านมีเสื่อด้วยนะ มีบันไดขึ้น ก็ขึ้นไปนั่งฉันกันบนนั้นแหละ 3 องค์ พระนอกนั้นเขาฉันที่กุฏิเขา ไม่มาฉันก็นั่งฉันไปคุยกันไป คุยธรรมะกัน คนที่คอยขัดคอก็คือ ท่านเจ้าคุณภาษากิจ ท่านพุทธทาสพูดอะไร แกก็คอยขัดคอเรื่อยไป แต่ว่าขัดคอเยอะ เลยถามว่าทำไมต้องขัดคอล่ะ อ้าว ไม่ขัดคอแล้วมันจะมีเรื่องพูดกันได้อย่างไร มันก็คอยขัดเรื่อย เรื่องมันจะได้ยาว จะได้คุยกัน เวลาฉันข้าวก็คุยขัดคอกันไปเรื่อยๆ ไม่ได้โกรธได้เคืองอะไร แต่ว่าชอบขัดคอ ให้มันเกิดปัญหา ท่านเจ้าคุณก็ใจเย็น ไม่ว่าอะไร แล้วก็กลางวันก็พักผ่อนตามกุฏิของตนของตน กุฏิเล็กๆ มีความกว้างอยู่ประมาณเท่านี้ แต่ว่ามีฝาเปิดได้ทุกด้าน ไม้ค้า (43.43)
แล้วก็เตียงนอนก็คือ ไปซื้อเป็นที่เขียนหนังสือไปด้วยในตัว เอาติดกับฝา เวลาจะใช้ก็เอามาปูกางออกมา เอาเก้าอี้มาง่ายๆ นั่งเขียนหนังสือ ถ้าไม่ใช้ก็พับลงไป ห้องมันก็กว้างขึ้นหน่อย เมื่อไปอยู่คืนแรกน่ะ ก็มีกะโหลกศรีษะอยู่ในห้อง พอขึ้นไปถึงก็เจอกะโหลกศรีษะวางไว้ ให้เรามานอนกับผีก็มันจะชักจะกลัว กลัวผี กลัวผีก็เลยเปิดหน้าต่างไว้ ไม่ปิดหน้าต่าง แล้วท่านเจ้าคุณท่านเดินมาบอก อ้าว น้องครับ ยังไม่นอนอีกรึ เปิดหน้าต่างไว้อย่างนั้น ยุงมันก็เข้าสิ อ้าว ไหนว่าปิดหน้าต่าง ปิดหน้าต่างแล้ว ไม่บอกไปว่ามันกลัวผี มันเสียชื่อหน่อย ก็เลยต้องนั่งนึกในใจว่า เอ๊ะ กลัวอะไร ถามตัวเองว่า กลัวอะไร กลัวไอ้นี่ไอ้กะโหลกนี้ แล้วไอ้กะโหลกนี่มันเดินได้มั้ย เดินไม่ได้ อ้าว เขกกบาลมันหน่อย ปุ๊ก เขกหัวกะโหลก ไม่เห็นมันว่าอะไรแล้วมันไม่พูดตอบเลย เขกแล้วมันก็อยู่เฉยๆ เราไปกลัวไม่เข้าเรื่อง นอนดีกว่า ก็เลยนอน นอนก็สวดมนต์เรื่อย ภาวนาพุทโธ พุทโธ จำศีลไว้ จะหลับตื่น (45.24) ก็ไม่มีอะไร ก็เลยหายกลัวไป ก็ปลงตกลงไปว่า ไอ้กะโหลกมันทำอะไรเราไม่ได้ แต่อย่างนั้น (45.33) ถึงตอนเย็นก็มาเลี้ยงน้ำปานะ ไม่มีอะไร ใบชุมเห็ดนี่ ชุมเห็ดใบใหญ่ๆ นะ ไอ้ชุมเห็ดนี่ ถ้าเอายอดมาต้ม แล้วเอาไปจิ้มน้ำพริกจะระบายท้อง ใครท้องผูกไม่ต้องกินยาถ่าย เอายอดชุมเห็ดมาต้ม ต้มกะทิก็ได้ แล้วก็จิ้มน้ำพริกกินเข้าไปมันก็ระบายท้อง ใบมันก็ระบายท้องเหมือนกันแต่ไม่เหมือนยอด ยอดมันไปช่วยระบายท้องได้ เอาใบแก่ๆ มาแล้วก็เอามาอังไฟ อันที่ผ่านไฟให้มันเกรียมๆ แล้วก็ใส่ในกาน้ำร้อน ชงใบชุมเห็ด ไอ้ชงใบชุมเห็ดนี่มีทุกวัน แล้วก็ฉันกับน้ำตาลทราย น้ำตาลทรายแดงเขาซื้อมาไว้เป็นปี๊บ ซื้อมาให้เดือนละปี๊บแล้วก็ฉันชงกระป๋องใบใหญ่ เอาชงๆ แล้วก็ฉันกัน ฉันกันไปคุยกันไป คุยธรรมะธรรมโมกันไปตามเรื่อง ท่านเจ้าคุณประกาศิตก็คอยขัดคอไปตามหน้าที่ คุยอะไรก็ขัดคอถามโยกไปโยกมาอย่างนั้นอย่างนี้ให้มันเรื่องมันยาว คุยกันไปอย่างนั้น ปกติประจำวันก็อยู่อย่างนั้น แล้วก็ค้นคว้าอ่านหนังสือ ค้นคว้าธรรมะธรรมโม จะเขียนอะไรบ้างก็ได้ ตอนอยู่นั้นก็เขียนบางเรื่องไปลงหนังสือพิมพ์ เพราะว่าต่อมาเนี่ยออกหนังสือพิมพ์ชื่อ พุทธศาสนา ราย 3 เดือน ปีหนึ่ง 4 เล่ม เรียกว่า รายไตรมาส ส่วนมากก็ท่านเจ้าคุณท่านเขียนเอง แต่ใช้นามปากกาสิริวยาสบ้าง อินทปัญโญบ้าง พุทธทาสบ้าง ธรรมโยธบ้าง หลายนาม ปากกาหลายอัน แต่มีคนเดียว เขียนเรื่องเป็นเรื่องต่างๆ เขียนแรงๆ อาตมาได้อ่านหนังสือ มาอยู่นคร อ่านหนังสือ พุทธศาสนานคร ชอบใจว่าท่านพูดดีเขียนเข้าที ชอบเหมือนกัน แต่ว่ายังไม่ได้มาพบตอนนั้นทีหลังมาพบกันก็เกิดเรียกว่า ดวงมันเข้ากันได้ ก็เลยชอบอกชอบใจกัน ปฏิญาณกันว่า เรา 3 คน เป็นพี่น้องกันในทางธรรมะ ช่วยกันทำงานให้เกี่ยวกับพุทธศาสนา ท่านเจ้าคุณท่านเป็นอายุมากก็เป็นพี่ใหญ่ ท่านเจ้าคุณชุมพรก็อายุอ่อนกว่าท่าน 1 ปี ก็เป็นคนกลาง อาตมาอ่อน 5 ปี ก็เรียกว่าเป็นน้องน้อย คนกลางมรณภาพแล้วเหลือ 2 คนหัวท้ายยังมีชีวิตอยู่ ยังทำงานกันต่อไป อยู่กันอย่างนั้นแล้วก็ออกพรรษา สอบนักธรรมเสร็จ อาตมาก็ไปสงขลา ไปเที่ยวเทศน์เที่ยวสอนคนกันต่อไป ไม่ได้พบปะกันแต่ว่าติดต่อกันอยู่ทางหนังสือ (48.53) ติดต่อกันทางใจกันอยู่ตลอดเวลา
ทีนี้ท่านเจ้าคุณท่านอยู่ที่สวนโมกข์เก่า หลายปีต่อมาก็คุณโยมเพราะว่าเปิดร้านค้าขาย พุมเรียงมันตกไปเพราะเขาย้ายอำเภอ ย้ายสถานที่ราชการ ก็เลยย้ายบ้านมาอยู่ไชยา มาอยู่ใกล้สถานีรถไฟ แล้วก็คุณธรรมชาติ แกก็เมื่อท่านเจ้าคุณบวช คุณธรรมชาติก็เลยออกจากมหาวิทยาลัย เรียนแพทย์แค่เรียนปีที่ 2 นะ คุณธรรมชาติสอบชั้น 8 สวนกุหลาบได้แล้วก็เข้าเรียนแพทย์ปีที่ 2 เพียงแค่เตรียมแพทย์ยังไม่เป็นแพทย์ ปีที่ 2 แล้วก็เลยลาออกไปช่วยงานบ้านคือค้าขาย เป็นกำลังสำคัญของท่านเจ้าคุณในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการทอง ดูแลกิจการทุกอย่าง คณะกรรมการไชยา ถ้าไม่มีคุณธรรมชาติจะลำบาก เพราะไม่มีคนที่ไว้ใจได้ แต่คุณธรรมชาติทำงานสะอาดเรียบร้อยละเอียดทุกประการ พิมพ์หนังสือก็เรียบร้อย ติดต่ออะไรประสานงานก็เรียบร้อยเป็นอันดี เป็นกำลังสำคัญ แล้วก็แกก็ดูแลกิจการค้าขายแทนท่านเจ้าคุณอยู่ที่บ้าน เจ้าคุณก็ได้อยู่วัดสบายๆ คุณธรรมชาติเดี๋ยวนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ยังบริหารงานได้อยู่ ไม่เสียหายอะไรก็ได้ช่วยงานกันอย่างเต็มเหยียด เหมือนกับว่า 2 คนพี่น้องนี้นัดมาเกิดเพื่อช่วยพระศาสนา เกิดในครอบครัวเดียวกัน นิสัยคล้ายๆ กัน แต่คุณธรรมชาตินั้นมีนิสัยสงบมากกว่าท่านเจ้าคุณอีก เมื่อเป็นสามเณรคุณแม่อยากให้ท่านเจ้าคุณสึก ครั้งหนึ่งไปหาเจ้าคณะ บอกว่าจะให้คุณเนื่องสึก ให้ยี่เก้ยมันบวชบ้าง ชื่อเดิมชื่อยี่เก้ย แต่มาเปลี่ยนเป็นธรรมชาติ ให้ยี่เก้ยมันบวชบ้าง ท่านพระครูบอก โอ้ย ยี่เก้ยมันไม่ต้องบวชแล้วมันอยู่เหมือนพระอยู่แล้ว ไม่ต้องบวช อยู่เหมือนพระอยู่แล้ว เพราะว่าแกเป็นคนสงบ อาบน้ำยังไม่ค่อยใช้สบู่กับเขา อาบๆ จับสองทีแล้วเพียงเอามือลูบนะได้การแล้ว ไม่ต้องถู ไม่ชอบใช้เครื่องสำอางอะไร แกอยู่อย่างนั้นแหละแต่แกทำงานด้วยความขยัน มีความรู้ภาษาอังกฤษ ค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องอะไรต่ออะไร สมัยอยู่มหาวิทยาลัยน่ะ แกแปลเรื่องทางพระพุทธศาสนาจากหนังสือต่างประเทศ จากสมาคมมหาโพธิ ที่อินเดียน่ะเอามาลงบ่อยๆ ลงบ่อยๆ ลงก็ใช้ชื่อของยี่เก้ยพาณิชย์ ให้คนได้อ่านได้ศึกษาแล้วแกก็เป็นสมาชิกถาวร เรียกว่า เป็นสมาชิกตลอดชีพของหนังสือพิมพ์มหาโพธิที่ออกในประเทศอินเดีย สำหรับหนังสือพิมพ์มหาโพธิเป็นของมหาโพธิสมาคม เป็นสมาคมที่ชาวลังกาตั้งขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา แกเป็นสมาชิกตลอดชีพ ในสมัยนั้นสมาชิกตลอดชีพก็ร้อยกว่าบาทเท่านั้น เป็นมาจนกระทั่งบัดนี้ เขาส่งหนังสือมาให้แกอ่านอยู่ตลอดเวลา ก็ได้เป็นสมาชิกตลอดชีพไว้ เป็นคนไทยคนแรกที่มีการติดต่อกับสมาคมพุทธศาสนาในต่างประเทศ แล้วต่อมาแกก็แปลเรื่องประวัติท่านยมปาละ ผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ แปลออกมาลงหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องน่าอ่าน อาตมาอ่านแล้วก็ชอบใจ แล้วก็ประวัติของท่านผู้นี้ก็เป็นเครื่องดลบันดาลจิตใจพอสมควร เพื่อดลบันดาลจิตใจให้คิดที่จะทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา เป็นงานแปลของคุณธรรมชาติ คุณธรรมชาติจึงเป็นกำลังสำคัญช่วยเหลือท่านเจ้าคุณในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านเจ้าคุณท่านอยู่ประจำก็ทำงานค้นคว้าหนังสือ เคยมีสมเด็จองค์หนึ่งตายไปแล้ว สมเด็จองค์นั้นตายไปแล้ว แกนั่งคุยๆเสร็จถาม
เฮ้ย ปัญญา พุทธทาสมันทำอะไรเว้ย ถามอย่างนี้ อาตมานึกในใจว่า โอ้ย แย่จริง เป็นสังฆมนตรี ปกครองสงฆ์ทั้งประเทศ ยังไม่รู้ว่าท่านพุทธทาสทำอะไร ก็เลยตอบ ตอบว่า ท่านพุทธทาสท่านทำงานที่พระกรุงเทพทำไม่ได้ ตอบอย่างนั้นแหละ เฮอะ ทำอะไรเว้ยที่พระกรุงเทพทำไม่ได้ ก็บอกว่า งานค้นคว้าพระไตรปิฎก ท่านอ่านพระไตรปิฎก หยิบยกสิ่งที่มันยาก มันนึกเอามาอธิบายให้พูด ให้คนได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ อือม์ เอ๊ะ มากรุงเทพบ่อยๆ ไม่มาหาข้าบ้างเลย นึกจะตอบแต่จะตอบแล้วก็สวดกันจนตาย นึกจะตอบว่าอย่างไร นึกจะตอบว่า คนฉลาดเขาต้องไปหาคนที่ฉลาดกว่าตัวครับ ถ้าตอบอย่างนี้ก็ชวนตายนะ ก็เลยไม่ตอบ ไม่ตอบ เฉยๆ เพราะถ้าขืนตอบก็ไม่ต้องพูดกันต่อไป คนฉลาดเขาต้องไปหาคนฉลาด ท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านมากรุงเทพ ท่านไปหาสมเด็จ 2 องค์ สมเด็จวัดมหาธาตุ เขาเรียกว่า สมเด็จปวันรัตน์เสรีเขมจารี องค์นี้เป็นเปรียญ 9 ประโยค ภาษาบาลีดีมาก ท่านอ่านแต่พระไตรปิฎกองค์นี้ ไม่อ่านหนังสือเลย เวลาว่างท่านก็เปิดพระไตรปิฎกอ่าน แล้วก็ชมท่านพุทธทาสกับพระลูกศิษย์ของท่านว่า เออ ไอ้พวกแกนี้ แปลหนังสือไม่เอาไหน ไม่ดูมหาเนื่องเขามั่ง เขามีความรู้ 3 ประโยคเท่านั้นแหละแต่เขาแปลบาลีชัดแจ๋ว เข้าใจง่าย ท่านก็ชมเชย อันนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์อยู่วัดเทพศิรินทร์ สมเด็จองค์นี้อุตส่าห์ไปเยี่ยมท่านเจ้าคุณพุทธทาสถึงวัดสวนโมกข์เก่า ลงจากรถไฟแล้วต้องเดินไป ระยะทาง 10 กิโลเมตร ถนนก็ไม่เรียบร้อย เดี๋ยวขาดตรงนั้นขาดตรงนี้ (56.18) ขึ้นรถเดินลุยโคลน ท่านอุตส่าห์ไป แล้วขาของท่านก็ไม่ใช่ปกติ สมเด็จโตนั้น ขออภัยขาท่านเสีย แต่ท่านอุตส่าห์ไป ไปนอนคืนหนึ่งที่สวนโมกข์เก่า ได้ฉันอาหารใต้ต้นยาง ท่านเจ้าคุณบอกว่า ยางต้นนี้ ยางสมเด็จ ใครอย่าไปยุ่งเป็นอันขาด อย่าไปตัด อย่าไปฟันอย่าไปเจาะเอายางให้รักษาไว้เพราะเป็นต้นยางสมเด็จ ท่านกรุณาไปถึง ท่านเจ้าคุณมาก็ไปเยี่ยมเสีย ถ้าไปเยี่ยม ท่านก็ต้องถามว่า เออ เธออ่านสูตรนั้นแล้วยัง ท่านจะบอกว่าอ่านแล้ว เออ เธอมีความคิดอย่างไร สนทนากันในแง่ธรรมะ ท่านก็พูดไป (57.11) ความคิดของฉันมันก็เป็นอย่างนั้น แล้วท่านแนะนำอะไรบางเรื่องบางประการ เดี๋ยวท่านเจ้าคุณ มีข้อหนึ่ง ท่านบอกว่า เป็นพระ จะไปหาใครที่เป็นพระ อย่าไปเวลาใกล้เพล เจ้าบ้านลำบากใจจัดไม่ทันก็ไม่ถึงฉุกเฉินหรอก จะเอาอะไรให้ฉันล่ะต้องไปก่อนเพลสัก 1 ชั่วโมง หรือไปหลังเพลไปเลย ท่านสอนท่านเจ้าคุณว่าให้ไปอย่างนั้น แล้วก็สอนอีกอย่างว่า ถือย่าม ถือย่ามนี่อย่าให้ย่ามถูกเนื้อ (57.51) ให้ถูกจีวร เพราะย่ามถูกเนื้อมันก็ดำจะสกปรก ท่านบอกให้ถูกจีวร ไอ้เรื่องเล็กน้อยท่านอบรมท่านเจ้าคุณ ท่านชมท่านเจ้าคุณว่า เธอเป็นนักฟังที่ดีของฉัน ชมท่านเจ้าคุณพุทธทาสว่า เธอเป็นนักฟังที่ดีของฉัน เพราะว่าท่านพูดอะไร ท่านก็ฟังด้วยความตั้งใจ แล้วก็ไต่ถามสนทนาในเรื่องที่ควรจะถาม สมเด็จจึงชมว่า เธอเป็นนักฟังที่ดีของฉัน เรื่องมันเป็นอย่างนั้น นี่เอามาคุยในวันที่จะถึงวันท่านพุทธทาส เทศน์วันนี้เขาจะเอาไปไชยาด้วย เวลาคนไปก็ให้เปิดให้ฟังว่า หลวงพ่อพูดถึงท่านอย่างไร เรื่องมันยาว พูดย่อๆ สั้นๆ ผลงานที่ท่านทำไว้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา เรียกว่ามากมาย จะเอาเงินมากองเข้าท่วมหัว กองท่วมหัวท่านแล้วอ่านมาก พวกเราคิดกันอยู่ในใจ ถ้าท่านสิ้นบุญก็เสียดาย แต่ว่างานไม่ตาย งานที่ทำไว้ไม่ได้ตายยังอยู่ต่อไป หนังสือยังมีเยอะแยะที่เราจะอ่านจะศึกษา เราจะเข้าถึงท่านพุทธทาสได้เมื่ออ่านงานของท่าน เพราะมีอยู่มากมาย ท่านจึงแต่งเพลงให้หลวงพ่อว่า พุทธทาสไม่ตาย แต่ว่าจำไม่ได้บทเพลงนั้น เวลาท่านป่วยเด็กมาร้องให้ฟังทุกที แต่โรงเรียนนั้น โรงเรียนที่ท่านอุปถัมภ์มาร้องเพลงนอกห้องให้ท่านได้ยินได้ฟังว่า พุทธทาสไม่ตาย เป็นเพลงท่านแต่งไว้ เพราะไม่ตาย งานของท่านไม่ตาย ตัวตาย ร่างกายมันก็ต้องตายเป็นธรรมดา แต่ก็เป็นของผสมเป็นของไม่เที่ยงธรรมถาวร ท่านก็ต้องแตกไปตามเรื่อง แต่ว่างานไม่ตาย ยังมีงานให้เราศึกษาให้เราค้นคว้า ให้เราปฏิบัติต่อไป จึงไม่ควรจะคิดว่ามันมาก สังขารทั้งหลายเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เราห้ามไม่ได้ กันก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ แต่ว่าผลงานนั้นไม่ตาย ยังอยู่ต่อไป ขอให้โยมเข้าใจอย่างนี้ พูกมาก็สมควรก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้