แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมแล้ว ขอให้หยุดเดิน นั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลาแล้วเวลาจบปาฐกถามีการนั่งสงบใจ ๕ นาที โยมอย่าเดินก่อนอย่ารีบร้อนไปตักบาตร ต้องหยุดนั่งอยู่ก่อนจนกว่าจะเสร็จการนั่งภาวนา จึงจะเป็นการเรียบร้อย ขอให้ทุกคนได้ปฏิบัติตามนี้
วันนี้เป็นวันที่เราเรียกกันว่า วันเพ็ญมาฆบูชา วันเพ็ญมาฆะ ตามปกติก็เป็นวันเพ็ญเดือน ๓ แต่ว่าปีนี้เป็นเดือน ๔ ที่ได้เป็นเดือน ๔ ก็เพราะว่าปีนี้เป็นปีที่มีเดือนเหลือ เขาเรียกว่า อธิกมาส คือ เดือน ๘ มัน ๒ หน เป็นการชดเชยกัน ทางจันทรคติ สุริยคติ เราจึงถือวันมาฆะ ว่าเป็นวันเพ็ญเดือน ๔ คือวันนี้ วันเพ็ญเดือนมาฆะนี้เป็นวันวันสำคัญวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่มีประวัติศาสตร์ เกี่ยวเนื่องกับพระอริยสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า คือในสมัยนั้น พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ พระองค์ ได้จาริกไปสอนธรรมะตามที่ต่างๆ ตามคำสั่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้สั่งแก่พระเหล่านั้นด้วยถ้อยคำว่า
“เธอทั้งหลายพ้นแล้วจากบ่วงทิพย์ พ้นแล้วจากบ่วงมนุษย์ เธอทั้งหลายจงเที่ยวไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่มหาชน จงประกาศพรหมจรรย์อันไพเราะ เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดแก่เขา คนที่มีไฝมีฝ้าบังดวงตาน้อยๆมีอยู่ แต่เพราะไม่ได้ยินได้ฟัง เขาจึงไม่เข้าใจธรรมะ เธอจงไปพูดให้เขาฟัง ไปทำให้เขาดู อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป ต่างรูปต่างไป” สั่งไว้อย่างนั้น พระเหล่านั้นก็ออกเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ตามคำสั่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อไปปฏิบัติงานตามที่ต่างๆนานแล้ว ก็คิดถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าอยากจะมาเฝ้ามาฟังธรรมะเพิ่มเติม อันเป็นเรื่องธรรมดาของคนเรา ท่านเหล่านั้นจึงได้เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ต่างรูปต่างมาไม่ได้มีการนัดหมายในเรื่องนี้ ไม่มีการนัดพบกันเหมือนในสมัยนี้ ต่างรูปต่างมาถึงเวฬุวัน อันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า เวลาตะวันบ่าย ในวันเพ็ญมาฆะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่าเป็นเรื่อง อัศจรรย์ เพราะพระเหล่านั้นมาเอง โดยไม่ได้นัดหมาย พระเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ หมดจากกิเลสด้วยประการทั้งปวงแล้ว พระเหล่านั้นได้บวชกับพระผู้มีพระภาคเจ้า เรียกว่าเป็น เอหิภิกขุ อุปสมบท และวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน ๓ พระองค์จึงเสด็จมาสู่ที่ประชุมนั้น แล้วก็ประทาน โอวาทปาฏิโมกข์
คำว่า โอวาทปาฏิโมกข์ แปลว่า คำสอนอันเป็นเบื้องต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ หรือคำสอนอันเป็นเบื้องต้นแห่งความพ้นทุกข์แก่พระเหล่านั้น พระเหล่านั้นก็ได้รับฟังได้ประโยชน์เอาไปสอนคนต่อไป การประทานโอวาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์นั้น ความจริงพระอรหันต์ท่านก็หมดกิจแล้ว ตามภาษาบาลีเรียกว่า “กะตัง กะระณียัง” แปลว่ากิจที่จะทำนั้นทำหมดแล้ว เรื่องที่จะละอะไรก็ไม่มีแล้ว เรื่องที่จะทำเพิ่มก็ไม่มีแล้ว เรียกว่า “กะตะ กะระณียะ” แปลว่าไม่มีกิจอะไรจะต้องทำอีก
แต่ที่มาฟังคำสอนพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเพื่อจะได้รับเอาไปสอนผู้อื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าประกาศคำสอน ก็เพื่อเป็นหลักสูตรสำหรับให้พระเหล่านั้นไปสอน เพราะการสอนอาจจะไม่เหมือนกัน ชาวบ้านผู้ฟังก็จะสับสน จึงได้วางหลักสูตรลงไปว่า ควรจะสอนอะไรแก่พระเหล่านั้น คำสอนอันนั้นเรียกว่า “โอวาทปาฏิโมกข์” เป็นคำสอนเบื้องต้นแห่งการพ้นทุกข์ โอวาทปาฏิโมกข์นั้นมีใจความว่าอย่างไร พระองค์ได้ตรัสสอนพระเหล่านั้นว่า
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา “ความอดกลั้นทนทาน เป็นตบะอย่างยิ่ง เป็นเครื่องเผาผลาญอย่างยิ่ง”
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา “ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอย่างยิ่ง เป็นบรมธรรม”
นะหิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต “ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็น บรรพชิตหรือนักบวช ถ้ายังมีการเบียดเบียนผู้อื่นอยู่โดยวิธีใดก็ตาม ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเป็นสมณะ"
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง “การไม่ทำบาปทั้งปวง”
กุสะลัสสูปะสัมปะทา “การทำกุศล คือความดีให้ถึงพร้อม”
สะจิตตะปะริโย ทะปะนัง “การทำจิตของตนให้ขาวสะอาด”
เอตังพุทธานะสาสะนัง "นี่เป็นคำสอนของพระพุทธทั้งหลายของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"
แล้วก็ตรัสต่อไปว่า
อนูปะวาโท “อย่าไปกล่าวคำร้ายกับใครๆ”
อนูปะฆาโต “อย่าเข้าไปเบียดเบียนทำร้ายใครๆ”
ปาติโมกเข จะสังวะโร “ให้ตั้งตนอยู่ในพระปาติโมกข์ คือระเบียบแบบแผนอันดีอันงาม”
มัตตัญญุตา จะภัตตัสมิง “เป็นผู้รู้จักประมาณในการกินอาหาร”
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง “เป็นผู้ชอบอยู่ในที่สงบสงัด”
อะธิจิตเต จะอาโยโค “เป็นผู้หมั่นทำจิตให้ยิ่งให้สูงขึ้นไป”
เอตังพุทธานะสาสะนัง "เหล่านี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"
เป็นการประกาศให้รู้ว่า พระพุทธเจ้า ที่เกิดขึ้นมาในโลก จะต้องสอนอย่างนี้ คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะต้องอย่างนี้ และพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็รับรองคำสอนอย่างนี้
เพราะฉะนั้นเมื่อจะไปสอนใครที่ใดก็ตามให้สอนตามแนวนี้ อันนี้เรามาพิจารณาดูว่า หลักโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระผู้มีพระภาคแสดงนั้นขึ้นต้นด้วย ขันติ ความอดทน “ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา” ความอดกลั้นทนทาน เป็นตบะอย่างยิ่ง คำว่า ตบะ หมายความว่าเครื่องเผา เผาอะไร เผากิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยาพยาบาท อาฆาต จองเวรที่เกิดขึ้นในใจของเรานั้นให้หายไปหรือว่าเผาเชื้อแห่งกิเลสให้หายไปไม่ให้เกิดก่อจับในใจของเรา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญของการปฏิบัติเบื้องต้น เพราะว่าจิตใจของตนเรานั้น ย่อมชอบไปเกาะไปจับอยู่กับสิ่งต่างๆอันเป็นสิ่งที่น่ารักใคร่พอใจ ตามนิสัยของคนที่ยังไม่หลุดพ้นจากอำนาจเหล่านั้น ก็พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ว่ามีความพอใจก็อยากได้ ถ้าได้สมอยาก ก็สบายใจชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าไม่ได้สมอยาก ก็มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจเป็นกังวลอยู่ในใจด้วยประการต่างๆ
คนเราที่เป็นทุกข์นั้นมันเป็นทุกข์ ๒ เรื่อง เป็นทุกข์เรื่องบวกกับเป็นทุกข์เรื่องลบ พูดตามภาษาวิชาคำนวณว่า เป็นทุกข์เพราะบวกเป็นทุกข์เพราะลบ เป็นทุกข์เพราะเรื่องบวกก็คือ เรื่องจะเอาเข้ามา เป็นทุกข์เรื่องจะเอาเข้ามา แล้วเป็นทุกข์เรื่องจะผลักดันออกไป ในชีวิตของคนเรานั้นเหมือนกันทุกคน อยากเอาเข้ามา อยากผลักดันออกไป สิ่งใดชอบใจพึงใจก็อยากเอาเข้ามา อยากได้อยากเป็นเรื่องต่างๆ ทีนี้สิ่งใดไม่เป็นเรื่องพอใจ ไม่ชอบใจก็อยากจะผลักให้มันออกไป เราสังเกตที่ตัวเราเอง เวลาอยากได้นี่มันเป็นอย่างไร สบายใจไหม เย็นใจไหม สงบใจไหม แล้วเวลาเกิดไม่ชอบนี่ มันสบายใจไหม เย็นใจไหม สงบใจไหม ไม่มีความสงบ มีความเร่าร้อน ถูกมันเผาให้ร้อนอยู่ตลอดเวลา
เรียนธรรมะนี่ก็ต้องเรียนที่ตัวเอง ศึกษาจากตัวเอง ด้วยการสังเกตดูว่า เวลาเราอยากอะไรนี่ สภาพจิตใจเป็นอย่างไร มันร้อนหรือเย็น มันสงบหรือวุ่นวาย มันมืดหรือสว่าง ต้องสังเกต สังเกตดูที่ใจเรา อย่าไปดูที่อื่นแล้วมันยุ่ง ดูที่ใจก็จะเห็นสภาพของใจ เมื่อสิ่งอะไรมากระทบ เช่นว่า เราอยากได้อะไรนี่ เราดูว่า เออ มันเป็นยังไง จะรู้สึกว่าร้อน ไม่ต้องอะไรหรอก โยมนัดใครไว้สักคนหนึ่ง ว่าไปพบกันที่วัดชลประทาน ก่อน ๘ โมงนะ หรือก่อน ๙ โมง โยมก็มานั่งอยู่ที่ศาลาเล็ก หรือมานั่งตรงใดตรงหนึ่งที่คนนั้นเดินผ่านมาก็จะได้เห็น ต้องดูนาฬิกาบ่อยๆ ดูนาฬิกาบ่อยๆ ทำไมดูนาฬิกา เพราะนัดเวลาไว้ แล้วก็ดู ทุกครั้งที่ดูนาฬิกานะใจมันเย็นไหม สงบไหม เป็นสุขไหม คิดคิดดูเห็นว่ามันเป็นอย่างไร ถ้าเราคอยใครก็ตาม สภาพจิตเป็นอย่างนั้น
หรือว่าเราอยากจะได้อะไร ใจมันก็แบบเดียวกัน มันร้อน สับสนวุ่นวายนั่งไม่ได้ ลุกขึ้นเดินกันไป เดินไปเดินมาให้วุ่นไปเลย มันเผาสิ่งนั้นเข้ามาเผาจิตใจจนเรานั่งไม่ได้ ต้องเดินไปเดินมา กระสับกระส่าย ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆเป็นเรื่องสำคัญที่เราอยากได้แรงๆ มันก็เผาแรงเหมือนกัน ไฟน้อยๆมันก็เผาน้อยๆ ไฟกองโตขึ้นมันก็เผามากขึ้น ถ้าไฟไหม้บ้านนี่ ร้อนจนอยู่ในบ้านไม่ได้ ต้องไปยืนอยู่ในสนาม ยืนดูเปลวไฟที่มันลุกโพลงๆ ร้องไห้ร้องห่ม บ้านของกู บ้านของกู ไฟไหม้หมดแล้ว นี่คือความร้อน เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ มีบ่อยๆ วันหนึ่งมันถูกเผากี่ครั้งกี่หน มันสบายไหม มันเย็นไหม คิดดู ถ้าเราคิดดูก็เห็นมันไม่ได้เรื่อง แล้วทำไมมันจึงเผา ก็เรามันจุดเผาตัวเราเอง ไม่มีใครมาเผาเรา เราเผาตัวเอง เผาด้วยอะไร เผาด้วยความอยากที่เกิดขึ้น ตัณหา เขาเรียกว่า ตัณหา แปลว่า ความอยาก อยากจะมีอยากจะเป็น อยากไม่มีไม่เป็น เผาทั้งนั้น อยากจะมีมันก็เผา อยากจะเป็นมันก็เผา อยากไม่มีไม่เป็นมันก็เผา แล้วเราก็ร้อน นั่งอยู่ในห้องปรับอากาศเย็นเจี๊ยบ แต่ว่าใจมันร้อน ไม่เย็น แม้อากาศจะเย็นแต่ใจมันไม่เย็น มันถูกเผา แล้วเราก็ไม่รู้ตัวว่าเราถูกเผา ไม่รู้ว่าถูกเผาด้วยอะไร เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ทำไมจึงไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ ไม่ได้ศึกษาธรรมะอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ไม่ได้ศึกษาก็เพราะว่า ยังไม่เห็นประโยชน์ของธรรมะ ว่าจะเป็นน้ำมาชโลมใจ ให้เย็นให้สงบให้สะอาดสว่าง เรายังไม่เห็นประโยชน์ แล้วเราก็สมัครที่จะนั่งอยู่ในกองไฟ ให้ไฟมันเผา เผาๆ รู้สึกว่ามันสนุกในการที่ถูกเผา
คนเรานี้ทั่วๆไป เขาเรียกว่าเป็นทาสของ อายตนะ ของตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ หรือว่าพูดตามแบบใหม่ว่า เป็นทาสของระบบประสาท ระบบประสาทก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกนึกคิด ด้วยประการต่างๆแล้วมีความสนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับสิ่งนั้น อยากได้อยากเป็นในสิ่งเหล่านั้น ในขณะที่ได้มาก็ลืมอะไรหมด สนุกเพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ทั้งๆที่สิ่งนั้นมันเป็นยาพิษ เป็นเหตุให้เกิดความร้อนภายนอก ภายใน จิตใจกระวนกระวายอยู่กับสิ่งนั้น แต่เราเข้าใจว่านั้นแหละคือความสุขของเรา ความสุขที่เกิดจากการได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านั้น คล้ายๆกับสุนัขตัวน้อยๆที่ฟันมันกำลังขึ้น มันก็ชอบแทะกระดูก กระดูกแท้ๆไม่มีอะไร เนื้อไม่มีสักนิด แต่มันก็กัดแล้วกัดอีก
ที่กุฏิมีลูกหมาอยู่ ๓ ตัว แม่มันมาเกิดที่นั่นก็สงสาร เลี้ยงมันไว้มันก็ดี เรียบร้อย ไปไหนมาก็กระดิกหางต้อนรับ เคล้าแข้งเคล้าขา เหมือนจะพูดว่า หลวงพ่อมาแล้วๆ มันเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าโยนกระดูกไปให้มันก็กัดกันแย่งกัน กัดกัน ถ้าเราให้ผ้าขี้ริ้ว หรือฟองน้ำ หรืออะไรโยนไปสักชิ้นหนึ่ง มันกัดกันใหญ่เลย ตัวนั้นก็จะเอา ตัวนี้ก็จะเอา ๓ ตัวแย่งกันเอา มันเป็นสุข มันหลงในความสุขนั้น มันสบาย ถ้าได้กัดสิ่งเหล่านั้นแล้วมันก็สบาย เพลิดเพลินสนุกสนาน
ความสนุกสนานเพลิดเพลินนั่นแหละ มันเป็นสิ่งยั่วยุทำให้คนติด คนเราจึงติดสิ่งนั้นสิ่งนี้ พวกชอบเล่นไพ่ ถ้าได้ไปนั่งแจกไพ่กันแล้วมันสนุก เพลิดเพลินอยู่กับไพ่ ปวดท้องก็ไม่ไป ปวดเอวก็ไม่ลุกขึ้น นั่งอยู่นั่นแหละยังไม่จบเกมส์ ไปไม่ได้ เขาเรียกว่าหลงในความสนุกสนานเหล่านั้น
คนดูหนัง ดูละคร ก็หลงในหนังในละคร ชอบเพลงก็สนุกในเรื่องเพลง เพลงตลับหนึ่งก็ไม่ใช่เล็กน้อย ๖๕, ๗๐ บาท วันนั้นไปแต่งงานพบเจ้าสาว ก็เลยถามว่าหนูทำงานอะไร ทำงานกับบริษัททำตลับเพลงขาย เป็นบริษัทใหญ่ ทำได้มากขายมาก ถามว่าขายตลับละเท่าไร ๖๐ บาท ๖๕ บาทถึง ๗๐ ถ้าเป็นเพลงของคนเก่งๆ เช่น เบิร์ด แมคอินไตย์ มันแพง ตลับหนึ่งตั้ง ๕, ๖๐, ๗๐ บาท แล้วให้คนร้องเท่าไร คนร้องก็ ๕ บาท ถ้านายเบิร์ดนี่ให้ ๖ บาท นายแซมนี่ก็ ๖ บาท คนร้องเก่งๆได้ ๖ บาท แล้วอัดเทปที่หนึ่งอัดเป็นหมื่นๆเทป หมื่นๆตลับ ถ้าหมื่นๆตลับตลับละ ๕ หมื่นก็ไม่ใช่น้อย พวกนี้ก็ร้องกันคอแหบคอแห้ง เวลาร้องมันก็สนุกอยู่ สนุกกับเพลงแล้วมันสนุกตรงที่ๆได้รับเงินมา ได้เงินมาเอาไปจ่ายก็สนุกกันต่อไปอีก เลยหลงอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ไปไหนไม่ได้ หลงติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น คนเรานี่มันติดอะไรๆบางอย่าง เรียกว่า หลงในสิ่งเหล่านั้นเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ก็เป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ยังไม่รู้สึกตัวว่าเป็นทาส ยังไม่เห็นทุกข์เห็นภัยในสิ่งเหล่านั้น ก็ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งนั้นต่อไป ส่วนมากเราเป็นอย่างนั้น
แต่ถ้าเราศึกษา ธรรมะ ของพระพุทธเจ้า มองเห็นความจริงของชีวิต มองเห็นความสุขที่ถูกต้อง จิตมันก็ค่อยคลายไปจากสิ่งเหล่านั้น ไปแสวงหาสิ่งที่มันดีกว่านั้น ประเสริฐกว่านั้น แล้วก็ไม่ต้องลงทุนแสวงหา ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งเหล่านั้น อันจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ความเดือดร้อนใจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความสงบในใจของเรา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง “สุขอื่น ยิ่งไปกว่าความสงบ ไม่มี”
ความสงบนั้นมันเย็น ไม่ร้อนไม่ตื่นเต้น ไม่ขนลุกขนพอง มันเป็นความสุขที่เรียบๆง่ายๆ เป็นความสุขตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในใจของเรา พูดอย่างนี้คนที่มีชีวิตอยู่ในโลกที่กำลังเจริญในทางวัตถุมองไม่เห็น เขาไม่เห็นว่ามันจะเป็นสุขอย่างไร เขามองเห็นสุขที่ว่า ตาได้เห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ได้ถูกได้ต้อง ได้เพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เขาเรียกว่าชีวิตมีรสมีชาติ คล้ายๆกับกินอาหาร ถ้าเป็นอาหารจืด มันไม่ค่อยอร่อย ต้องเผ็ด เค็ม เปรี้ยว กินเข้าไปแล้วมัน ซูดซิ้ดๆ น้ำตาไหล น้ำมูกไหล ทั้งน้ำมูกน้ำตาไหล อร่อยถึงใจ “แซ่บอีหลี” ภาษาภาคตะวันออก (26.58 ควรพิมพ์คำเต็มว่า “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”) ว่าแซ่บอีหลี เมืองเหนือก็ว่า “ม่วนแท้” เป็นงั้น
เพราะสิ่งเหล่านั้นมันยั่วประสาท ทำให้เกิดความตื่นเต้น แล้วเราก็นึกว่านั่นแหละคือ สิ่งที่เราปรารถนา ก็ไปแสวงหาสิ่งเหล่านั้น กว่าจะได้มาก็ลำบาก ได้มาแล้วก็ต้องถนอมรักษากลัวมันจะหาย จะหมดสิ้นไปเป็นทุกข์ทั้งนั้น ได้พยายามจะหามา ได้มา รักษามันก็เป็นทุกข์ พอมันหายไปก็ทุกข์อีก ทำไมจึงเป็นทุกข์ เพราะเราไม่มีปัญญา ไม่เข้าใจเรื่องทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ก็เลยเป็นทุกข์ กลุ้มอกกลุ้มใจด้วยเรื่องเหล่านั้น แล้วก็สิ้นเปลืองในการแสวงหา
คนที่เป็นสุขเพราะเสื้อผ้า ต้องไปซื้อแล้วซื้ออีก ซื้อเสื้อผ้าสีต่างๆ รูปต่างๆ แฟชั่นใหม่ๆ ซื้อมาใส่ พอได้ใส่แล้วก็สบายใจ เดินยิ้ม ยิ้มกริ่มๆอยู่ในใจ เห็นใครมองก็นึกของฉันสวย แล้วก็สบายใจ แต่ถ้าเห็นคนอื่นสวยกว่า ใจเหี่ยวใจแห้งสู้ชุดนั้นไม่ได้ อันนี้มันออกใหม่มันทันสมัยกว่า ไม่ได้ พรุ่งนี้ต้องไปหาซื้อสักชุด แล้วมันเดือดร้อนตรงไม่มีสตางค์จะซื้อ พอไม่มีสตางค์จะซื้อก็กลุ้มใจเป็นทุกข์ ต้องไปกู้ไปยืมเขา ความอยากมันรุนแรงขึ้น เพื่อเอาหน้าเอาตา เอาเกียรติเอาชื่อเสียง ก็เป็นทุกข์อีก ต้องไปหามา ก็ตกเป็นทาสผู้ให้ยืม ต้องเสียดอกเบี้ยแพงๆ แต่ก็ต้องเอา เพราะว่าใจมันอยากได้ แล้วมันก็เป็นความสนุกสนาน เพลิดเพลินในสิ่งนั้น นี่คือสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน
ถ้าเราไม่มีธรรมะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ จิตใจก็ไหลไปตามอำนาจของสิ่งเหล่านั้น แล้วความเจริญในทางวัตถุนี่เขาสร้างขึ้นเพื่อจูงใจคน ให้หลงให้มัวเมาให้ติดในสิ่งเหล่านั้น จริงๆต้องประดิษฐ์ให้มันแปลกๆใหม่ๆเพื่อให้คนพอใจ เราก็เป็นทาสของความแปลกใหม่เหล่านั้น ก็ต้องไปซื้อไปหามา ซื้อเครื่องแต่งตัว ซื้อเครื่องประดับกาย ซื้อรถยนต์คันใหม่ รถยนต์เก่ามันก็มีแล้ว ๔ ล้อยังใช้ได้ เครื่องก็ยังดีอยู่ แต่ว่ามันล้าสมัยต้องเปลี่ยนใหม่ แล้วในรถยนต์ก็ต้องใส่อะไรให้มันรุงรัง ข้างหน้าข้างหลัง อัดเข้าไปจนเต็มรถเลย แล้วก็เบื่อ เบื่อแล้วก็ทิ้งไปเอาใหม่ ใส่ใหม่ต่อไป
เหมือนเราใส่ฟืนเข้าในเตา ใส่ถ่านเข้าในเตา ใส่เข้าไปมันก็ไหม้ ถ้ายังไม่เดือดก็ใส่เข้าไปอีกเราต้องไปซื้อถ่านมาใช้มากๆ ถ้าเป็นหม้อไฟฟ้าไม่ต้องใส่ ไฟมันเดินมิเตอร์มันก็ขึ้น พอถึงวันสิ้นเดือนทำไมมันถึงมากอย่างนี้ เป็นทุกข์อีกเพราะจ่ายค่าไฟมาก ปัญหาทั้งปวงเกิดขึ้นเพราะเราไม่มีน้ำอดน้ำทนต่อสิ่งเหล่านั้น จึงได้เกิดปัญหาขึ้นด้วยประการต่างๆ
อันนี้อีกเรื่องหนึ่งคือ อารมณ์ที่มากระทบที่เรียกว่ายินดียินร้าย มีอยู่ตลอดเวลา อะไรพึงใจพอใจก็ยินดี อะไรไม่ชอบใจพึงใจก็ยินร้าย พระท่านจึงสอนว่าให้ระวัง ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย เพราะยินดีมันก็เป็นทุกข์ ยินร้ายมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน หรือพูดง่ายๆว่า ดีใจก็เป็นทุกข์ เสียใจก็เป็นทุกข์เหมือนกัน แต่ดีใจนั้นมันยังมองไม่เห็นทุกข์ เพราะยังดีใจอยู่ยังเพลิดเพลิน ยังสนุกสนาน แต่พอสิ่งนั้นจบลงก็เสียดาย ทำไมมันจบเร็วเกินไปมันน่าจะต่อไป เป็นทุกข์แล้วเสียใจ อันนี้ถ้ายินร้ายถูกเผาทันที ยินดีเหมือนกับเหล้าหวาน ยินร้ายเหมือนกับเหล้าแรงๆ เหล้าหวานดื่มแล้วมันหวานชื่นใจ แต่พอดื่มไปๆชักจะตาลาย ชักจะตาลาย ชักจะมึนแล้วลุกขึ้นเดินก็โซซัดโซเซแล้ว ฤทธิ์เหล้าหวาน แต่เหล้าที่ไม่หวานนั้นร้อน พอดื่มเข้าไปนี่ร้อนซ่ากลืนลงไปในคอ มันร้อนเข้าไปถึงกระเพาะ มันเผาให้ร้อนเจ็บปวดทันที นี่อันนี้ยินดียินร้ายมันก็เป็นทุกข์ แต่ว่าเราไม่ได้พิจารณา มันเกิดแล้วก็ดับไปตามเรื่องตามราวของธรรมชาติ เราไม่ได้ศึกษาเรื่องยินดียินร้าย เรื่องสุขทุกข์ เรื่องสุข เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องมีเรื่องไม่มี เรื่องเป็นเรื่องไม่เป็นนี่เราไม่ได้ศึกษา ชีวิตมันจึงอยู่กันอย่างนั้น เพราะไม่ได้ศึกษาสิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจว่า มันอะไรกันแน่ มันเกิดขึ้นตั้งอยู่อย่างไร ให้อะไรแก่เรา เราไม่ได้ศึกษา เพราะไม่มีใครแนะแนวให้คิดให้ศึกษาในเรื่องอย่างนี้
สภาพจิตใจก็เหมือนลูกฟุตบอลที่อยู่ในสนาม เราเคยดูฟุตบอลนัดสำคัญๆ นัดไม่สำคัญก็เหมือนกันฟุตบอลเหมือนกัน เตะไปก็เตะมา เตะไปเตะมา ถ้าลูกฟุตบอลมันพูดได้มันคงร้องก้องสนาม “แหมกูนี้แย่ มีแต่คนเตะกูทั้งนั้น เตะไปเตะมาตลอดเวลา” เราก็เหมือนฟุตบอล ถูกเตะด้วยอารมณ์ที่มากระทบ ถูกเตะให้กระเด็นไปนั้นกระดอนมานี้ ให้ดีใจให้เสียใจให้หัวเราะทั้งน้ำมูกน้ำตา นี่เป็นอยู่อย่างนี้ นี่คือชีวิตที่เป็นอยู่ตามปกติ เพราะว่าเราไม่ได้ประพฤติธรรม ไม่ได้เอาธรรมะเป็นกระจกส่องดูสิ่งเหล้านั้นเพื่อให้รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง เห็นอย่างชนิดคลุมเครือ เห็นแต่ผิวเผินข้างนอก แต่ไม่ได้มองซึ้งไปข้างในว่า อะไรมันเป็นอะไร เราไม่ได้มอง ไม่ได้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา จึงมองเห็นแต่เปลือกนอกผิวเผิน แล้วก็พอใจยินดีในสิ่งนั้น หรือไม่พอใจไม่ยินดีในสิ่งนั้น เรียกว่าเราถูกหลอก ถูกต้มอยู่ตลอดเวลา
ตื่นเช้าขึ้นก็ถูกหลอกด้วยสีสันวรรณะต่างๆ ที่เขาปรุงเขาแต่งขึ้น โดยเราไม่ได้คิดให้มันลึกซึ้งละเอียด ก็ทำให้มีอารมณ์ขึ้นๆลงๆ สภาพจิตใจไม่คงที่ เพราะขึ้นไปสิ่งที่เราชอบ ลงไปกับสิ่งที่ไม่ชอบ ชีวิตขึ้นๆลงๆเต้นไปเต้นมาตามจังหวะของอารมณ์ที่มากระทบ แล้วมันสุขที่ตรงไหน มันสบายที่ตรงไหน ที่เราต้องวิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนั้น ถูกเตะถูกถองอยู่อย่างนั้น เรานึกว่ามันสนุกดี มีชีวิตหลายแบบ เพลิดเพลิน เข้าใจอย่างนั้น นั่นคือความหลงชนิดหนึ่ง
ความเข้าใจผิดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิต โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่านี้มีอยู่ สิ่งที่ประเสริฐกว่านี้มีอยู่ เราควรจะตัดสิ่งนี้ออกไป แล้วก็ก้าวออกไปข้างหน้า หรือเราควรจะออกจากมุมมืด ไปอยู่ในมุมที่สว่าง คล้ายนักมวยที่ถูกต้อนเข้ามุม พอต้อนเข้ามุมแล้วมันก็ป้อนหมัดเข้าไป ทั้งขวาทั้งซ้าย …... (36.55 เสียงไม่ชัดเจน) กรรมการก็เข้ามาห้าม ฝ่ายหนึ่งก็ชนะไป มันเป็นอย่างนั้นเอง
เรานี่ถูกต้อนบ่อยๆ จนมุมบ่อยๆ แล้วก็มานั่งกลุ้มใจ นั่งเป็นทุกข์ เพราะไม่มีกรรมการห้าม ถูกชกหน้าบวม บวมทั้งนอกบวมทั้งใน เจ็บช้ำใจไปตามกัน มีอยู่อย่างนี้บ่อยๆ ยิ่งคนอยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ หนุ่มๆสาวๆมีความหลงใหลในเรื่องสิ่งต่างๆอยู่พอสมควร โดยไม่นึกว่าอะไรมันเป็นอะไร ไม่ได้นึกว่าสิ่งทั้งหลายมีความเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ไม่ถาวร ชอบอะไรก็ทุ่มตัวลงไปเลยชอบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เกลียดอะไรก็เกลียด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน รุนแรง เขาเรียกว่าอารมณ์รุนแรง ความคิดรุนแรง ก็หนักหน่อย เวลาทุกข์ก็ทุกข์หนัก เวลายินดีก็เพลิดเพลินสนุกสนาน ไหลไปตามจังหวะเพลงแห่งอารมณ์ ทำให้เราตื่นเต้นไปตามเรื่อง แต่พอมีเรื่องเกิดขึ้น ใจเหี่ยวใจแห้ง เหมือนกับถูกชกเข้ามุม นับสิบก็ลุกขึ้นไม่ได้ เป็นทุกข์นอนทุกข์อยู่คนเดียว เอาน้ำตาไปรดหมอนอยู่คนเดียว ไม่รู้จะทำยังไง
บางทีก็บ่นว่า “ทำไมฉันจึงเกิดมาอย่างนี้ ทำไมฉันจะต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ ทำไมทำกับฉันอย่างนี้” ใครทำให้ ทำเองทั้งนั้น ทุกคนทำเอาเองทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้แล้วว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะทำใครให้เป็นอะไร แต่ละเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น มันเกิดเพราะความคิด การพูดการกระทำ การคบหาสมาคม การไปการมาของเราเอง แต่เราไม่มองตัวเอง ไม่ได้พิจารณาตัวเอง มองไปแต่ข้างนอกไม่เคยหันแสงเข้ามาที่ตัว ไม่มีเวลาสำหรับตัวเสียเลย มีเวลาสำหรับสิ่งอื่นภายนอกเยอะแยะ วิ่งๆเต้นๆอยู่ในเวทีของโลกแต่ไม่ได้เข้าฉาก ไม่ได้หลบเข้าไปในฉากแล้วไปนั่งดูว่า
“กูมันคืออะไร กูเกิดมาทำไม กูมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่สุดมันคืออะไร เราควรจะทำอย่างไรจึงจะได้สิ่งเหล่านั้น” ไม่มี คิดไม่ได้ เพราะแต่ละคนที่อยู่รอบๆตัวเรานั้น ก็ตามืดเหมือนกัน บอดเหมือนกัน แล้วก็ถูกเจ็บช้ำน้ำใจกันมาเหมือนๆกัน แต่ว่าอยู่ไปอย่างนั้นแหละ อยู่ไปตามเรื่องซังกะตาย อยู่ไปตามเรื่อง ความจริงประตูออกมันมี แสงสว่างมันมีแต่เราปิดมันเสีย ไม่เปิดให้แสงสว่างเข้ามาส่องใจ ผู้รู้ก็มีแต่เราไม่อยากเข้าใกล้ การเข้าใกล้ผู้รู้นั้น มันจืดชืด ไม่มีรสไม่มีชาติ
ไปหาพระนี่ ท่านพูดแต่เรื่องตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราต้องการ พูดแต่เรื่องความทุกข์ให้เราฟัง แต่ความจริงนั้นท่านพูดเรื่องจริงให้เราฟัง แต่เราไม่อยากฟังเรื่องจริงๆ เราอยากฟังแต่เรื่องหลอกๆ เรื่องที่เป็นมายา ภาพที่เขาแต้มสีไว้สวยๆ เราชอบอย่างนั้น แล้วก็หลงอยู่ในสิ่งเหล่านั้น จึงถูกสิ่งนั้นเป็นพิษเป็นภัยทำให้เจ็บช้ำน้ำใจไปตามๆกัน ต่อเมื่อใดเจ็บหนักทนไม่ไหว เลยกระเสือกกระสนไปหาผู้รู้ ช้ำเต็มที่แล้วต้องเข้าวัดแล้ว ปรากฏว่า ดาราบางคนถอยเข้าวัด ไปเป็นชีมันเสียเลย พูดภาษาธรรมดาว่า ไปเลียแผลอยู่ที่นั่น เพราะว่ามันทำเอาเจ็บนัก ไม่ใช่ ไม่ใช่โลกทำให้ฉันเจ็บ แต่ฉันเสือกเข้าไปให้โลกมันทุบเอง โลกไม่ได้ทำให้เรา แต่เราเสือกเข้าไปหาโลก ไปหาสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง
เพราะความหลง ความเข้าใจผิด ไม่ได้ศึกษาเรื่องชีวิตให้ถูกต้องมาตั้งแต่เริ่มต้น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ก็ไม่สอนให้เราเข้าใจเรื่องชีวิต สอนแต่เรื่องธรรมดาๆ ที่เขาเรียนนั่นแหละ แต่ไม่สอนให้เกิดปัญญา ให้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ไม่สอนให้รู้เทคนิคในการต่อสู้ปัญหาชีวิต เลยเราไม่มีเทคนิคในการต่อสู้เลย พอขึ้นเวทีก็ถูกน็อก ล้มลงไปเท่านั้นเอง หน้าตาปูดบวมไปตามๆกัน เพราะไม่มีเทคนิค หมัดของนายเขาทราย นายอะไรๆที่มันชกกัน มันไม่แรงหรอกไม่แรง แต่หมัดคือความหลงความเข้าใจผิดมันแรงเหลือเกิน มันชกเอาจนตาปิด หมัดเขาทรายตามันไม่ปิดชกแล้วก็มันเปิดได้ แต่ว่าหมัดของอารมณ์ร้ายๆที่มากระทบเรา ตามืดไปเลย พร่าไปเลย มองอะไรไม่เห็น เห็นก็ไม่ชัด มืดๆมัวๆแล้วก็ทำให้ชีวิตเสียหาย น่าเสียดาย เกิดมาชาติหนึ่งไม่ได้พบกับความสุขที่แท้จริง ไม่ได้พบพระ ไม่ได้พบธรรมะเสียเลยนี้มันน่าเสียดาย เหมือนนกอยู่ในอากาศก็ไม่รู้จักอากาศ ปลาอยู่ในน้ำก็ไม่รู้จักน้ำ มันอยู่กันอย่างนั้น เรียกว่า “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ” เราเป็นอย่างนั้น จึงเกิดปัญหาขึ้น
ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่นวันนี้ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา เรียกว่าเป็นวันพระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ราชการก็หยุดให้คนได้พักผ่อนทางกายเพื่อให้ไปวัด แต่ว่าหยุดแล้วกลับไปบางแสนไปพัทยา ไปหาความสนุกสนาน ไปให้มันถูกเตะถูกถองต่อไป ไม่เข้าวัดเข้าวาไม่มาฟังธรรม นั่นพวกหนึ่ง แต่อีกคนพวกหนึ่งนั้นอุตส่าห์มาวัด วันนี้ก็เรียกว่ามากเป็นพิเศษ เพราะเป็นวันสำคัญนั่งกันเต็มไปหมด บางคนก็นั่งคุยกันกระหนุงกระหนิงไปตามเรื่อง พระเทศน์ให้ฟังก็ไม่สนใจเท่าไร เพราะชีวิตมันยังมืดยังหลง ใครเอาแสงสว่างมาจ่อตาก็หลับตาเสีย มันสว่างมากหลับตา กูไม่ดู พอมาจ่อหู ก็ปิดหูเสียไม่เปิด ไม่เปิดรับแสงสว่างทางธรรมะ ก็อยู่ในสภาพเดิม เรียกว่าโปรดไม่ได้ เพราะเราไม่ยอมรับสิ่งที่พระจัดให้ บางทีฟังๆนี่หลวงพ่อนี่ว่ากู ด่ากูแล้วหาว่าด่า เราพูดสิ่งที่มันตรงกันข้ามกับต้องการแล้วก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่าวันหนึ่งเราจะต้องการสิ่งนี้ ชีวิตมันบังคับให้เกิดความต้องการขึ้นมา แล้วเราก็ต้องการสิ่งที่ถูกต้อง แต่บางทีมันก็สายเกินไป ปรับตัวไม่ทัน นี่ก็น่าเสียดาย
เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวนี่ ถ้าเริ่มเข้าหาธรรมะเสียบ้าง รับแสงสว่างทางธรรมของพระพุทธเจ้าไปใช้เสียบ้าง ชีวิตจะดีขึ้น จะก้าวหน้าอย่างปลอดภัย ไม่ต้องรับความทุกข์เจียนตาย หรือได้รับความเจ็บช้ำบอบช้ำทางใจ เพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน ธรรมะมีอยู่ แสงสว่างมีอยู่ แต่เราหันหลังให้ เราไม่เข้าไปใกล้แสงสว่าง ไม่ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต แต่ชอบฟังเพลงจากตลับราคา ๖๐ กว่าบาท เทปธรรมะตลับละ ๒๕ บาท ซื้อเทปเพลง ๑ ตลับ ซื้อเทปธรรมะได้ ๒ ตลับ ๔ หน้า เอาไปฟังได้ นั่งรถติดการจราจรก็เอาไปเปิดเทปฟังไปไม่นั่งกลุ้มใจ บางคนกลุ้มใจกับการจราจร เครียด หงุดหงิด ได้อะไร
เครียด ก็คือ ทำให้ประสาทมันเสียทรงเสียรูป ไม่สมดุลเป็นทุกข์ มีปัญหา ถ้าเครียดเพราะการจราจรแล้ว อยู่กรุงเทพไม่ได้ มันจะเครียดๆหนักเข้าเป็นโรคจิตทางประสาท เราไม่เครียด ธรรมดา นั่งรถก็นั่งสบายไปมันติดก็เฉยๆ พอเขาเปิดให้ไปได้ก็ไป ไปตามเรื่องตามราว
หลวงพ่อนั่งรถเข้ากรุงเทพ มันก็เห็นอย่างนั้นพอไปถึงปลายทางก็ถามทุกราย “รถติดไหมครับหลวงพ่อ” อย่าถามว่ารถติด ควรจะถามว่า”โล่งดีไหม” ไอ้เรื่องรถติดมันเรื่องธรรมดาของกรุงเทพ ไปถามทำไม มันติดทุกที ไอ้วันไหนรถไม่ติดนะมันผิดปกติ วันไหนเราขับรถไปไม่ติดนี่มันผิดปกติแล้ว กรุงเทพผิดปกติแล้ว แต่ว่าปกติแล้วมันก็ต้องติดเป็นธรรมดา พอจะออกจากบ้านต้องนึกว่าวันนี้รถต้องติดเป็นธรรมดา
เตรียมใจให้มันสงบสบาย อย่าไปอึดอัดขัดใจเรื่องรถติด นั่งไปเฉยๆมันติดก็ติดไป ถ้าเรานั่งกลุ้มใจแล้วมันจะไปได้ไหม กลุ้มใจนี่จะไปได้ไหม ร้อนใจจะไปได้ไหม ไอ้ข้างหน้ามันอัดแน่น ร้อนใจก็เผาตัวเองอยู่ในรถ ติดแอร์ก็นั่งร้อน เรื่องอะไร เรื่องอะไรที่มาลงโทษตัวเองอย่างนั้น เรื่องอะไรที่ไปหาความทุกข์มาเผาตัวเองอย่างนั้น ไม่เรียกว่าโง่ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอย่างไร คือ เราอาจจะฉลาดในเรื่องอื่นร้อยแปด แต่โง่ในเรื่องไม่รู้จักปรับตัวเองให้เหมาะแสถานการณ์ แล้วก็นั่งกลุ้มใจ กลุ้มใจทีไรก็โง่ทุกที ปัญญาอ่อนทุกที ให้เข้าใจอย่างนั้น
พอกลุ้มใจก็เอาอีกแล้ว ปัญญาอ่อนอีกแล้ว ชี้หน้าตัวเอง ชี้ไปตรงนี้ก็ได้ หัวใจ เอาอีกแล้วปัญญาอ่อนอีกแล้ว ทุกข์อะไร ทุกข์ทำไม ทุกข์แล้วมันได้อะไร เวลาเราทุกข์แล้วมันได้อะไร สภาพจิตเป็นอย่างไร อารมณ์จิตเป็นอย่างไร ความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างไร
คนรถคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟัง นายผมขึ้นรถนั่งรถนี่แหม หงุดหงิด บ่นวาว่าผมขับรถยังไง ทำไมไม่ไป มันจะไปยังไง มันก็ติดอยู่ ก็เห็นอยู่แล้ว แต่ก็บ่น คนขี้บ่นนั่นเอง ขี้หงุดหงิดงุ่นง่าน อารมณ์เสีย ได้ปริญญาก็ไม่เอาไหน ไม่ได้ปริญญาทางธรรมะ … (50.55 เสียงไม่ชัดเจน)
ปริญญา แปลว่า รู้รอบ แต่มันไม่รอบ มันไปขาดตอนใดตอนหนึ่ง เช่น มันไม่ต่อ ไปขาดตรงนั้นไปขาดตรงนี้ รู้สิ่งที่ไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์ มันยังใช้ไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ในสิ่งที่จะช่วยให้เราพ้นทุกข์ พ้นปัญหาไม่สร้างปัญหาให้แก่ชีวิต นั่นแหละรู้แท้ ปริญญาแท้ปริญญาทางธรรมะ เป็นปริญญาแท้ใช้ได้ ให้โยมเข้าใจอย่างนั้น
อันนี้ วันนี้ก็ควรนั่งสงบจิตสงบใจ นั่งมองดูตัวเองเสียบ้าง หาที่นั่งสงบๆ ไม่พูดไม่คุยกับใคร ขอเวลาพูดกับตัวเองหน่อย แล้วก็มองข้างใน มองว่าเรานี้อายุเท่าไร มีความรู้อะไร ทำการงานอะไร ในชีวิตประจำนี่ถูกเผาด้วย ความรัก ความโกรธ ความหลง ความริษยาพยาบาท ด้วยความหลงผิดมีประมาณเท่าไร ชีวิตเป็นปกติหรือวุ่นวายอย่างไร แล้วมันผิดปกติเพราะอะไร มันวุ่นวายเพราะอะไร ศึกษาเหตุผลของชีวิต เรียนเรื่องชีวิตให้เข้าใจ รู้อะไรถ้าไม่รู้จักชีวิตของตัวถูกต้องมันก็ยังยุ่งอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ในวันมาฆบูชา ควรจะพูดจะสนทนากันแต่เรื่อง ความดับทุกข์ เรื่องความทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องปัญหาชีวิตเอามาคุยกันก็ได้ คุยกับผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน ถ้าไม่มีจะคุยใคร ก็ไปนั่งเงียบๆตามข้างกอไผ่ ตามริมสระน้ำที่ร่มรื่น ปลีกตัวออกจากโลกที่วุ่นวายเสียสักวันหนึ่ง คืนหนึ่ง มานั่งอยู่ที่วัด รับประทานอาหารตอนกลางวันก็เยอะแยะกินกันไม่หวาดไหว กินง่ายๆกินพออยู่ได้ ไม่ได้กินเพื่อให้อ้วนให้พี ให้สวยให้งาม ให้อะไรอย่างนั้น กินอย่างนั้นมันแพง เรากินนึกว่ากินพออยู่ได้ จะได้ใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป คิดเท่านั้นมันก็สบายใจ วันมาฆบูชาควรจะคิดอย่างนั้น
ตอนบ่าย ก็มีการพูดธรรมะกันที่ลานไผ่ แล้วก็ใกล้เวียนเทียน ๔ โมงก็มีการแสดงธรรม แต่ว่าหลวงพ่อไม่ได้แสดงตอนบ่าย เพราะว่าเขานิมนต์ไปเทศน์ที่แห่งหนึ่ง สถานที่เขาอบรมคน อบรมพ่อค้าให้เป็นพ่อค้าที่ดี แต่ถ้าไม่ให้ธรรมะมันก็อย่างนั้น เลยก็นิมนต์ไปปิดรายการโดยให้ฟังธรรม แล้วให้แจกวุฒิบัตรแก่คนเหล่านั้น แจกมาหลายชุดแล้ว วันนี้ตรงกับวันมาฆะพอดี ก็จะได้ไปพูดให้เขาเข้าใจ เรื่องชีวิต ตามแบบที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ สำหรับตอนนี้ ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้