แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลายต่อจากนี้ไปขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 2 ของปี มกราคมผ่านพ้นไปแล้วเข้าถึงกุมภาพันธ์ได้เป็นวันที่ 7 วันเวลาล่วงไปล่วงไปตามธรรมชาติเพราะว่าการหมุนเวียนของโลก ของดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดวัน เกิดกลางคืน เวลาไดโลกไปตรงกับแสงอาทิตย์ก็สว่างพอพ้นไปก็มืด มืดแล้วสว่าง สว่างแล้วก็มืด เป็นอยู่อย่างนี้ซ้ำซากกันอยู่ตลอดเวลาแล้วก็ต้องสมมติชื่อให้ว่าเป็น วันนั้นวันนี้ เดือนนั้นเดือนนี้ ปีนั้นปีนี้ เพื่อสะดวกแก่การกำหนดจดจำเพื่อสะดวกกับการใช้สอย ถ้าไม่มีการสมมติชื่อก็พูดกันลำบาก พูดว่าวันพูดว่าคืน วันไหนคืนไหนก้อไม่รู้ กำหนดเรื่องกันไม่ได้ การบันทึกเหตุการณ์ก็จะเกิดปัญหาทำให้สังคมวุ่นวาย จึงได้ตั้งขึ้นเป็นเครื่องนัดหมาย แต่ว่ามันมีลัทธิของพวกโหรเค้าถือว่าวันนั้นดี วันนี้ไม่ดี อะไรต่างๆ เวลานั้นดี เวลานี้ไม่ดี นี่เป็นเรื่องของพวกโหราจารย์ทั้งหลายได้พูดได้ทำกันขึ้นไว้ คนก็ไปเชื่อตามตำรานั้น ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในการประกอบกิจการงาน ไม่ใช่หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา แม้พระเราจะเป็นโหร เป็นหมอดูอะไรกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอย่างนั้น กลับสอนให้ทุกคนเข้าใจว่าวันเวลาเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่ชั่ว พูดตามภาษาธรรมมะเรียกว่า “อัพยากตา” อัพยากตา แปลว่า กล่าวว่าเป็นอะไรก็ไม่ได้ ว่าดีก็ไม่ได้ ว่าชั่วก็ไม่ได้ แต่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติธรรมดาอย่างนั้น เราเอาอะไรใส่เข้าไปมันก็เป็นขึ้นมา ถ้าเราทำดีในเวลาได เวลาก็ดีกับเราด้วย ทำชั่วเวลาไดเวลาก็ชั่วตามเราไปด้วย ลำพังเวลานั้นไม่ดีไม่ชั่วอะไร เราจึงไม่ควรจะถือว่าเวลานั้นดีเวลานี้ดี เวลานั้นให้โทษ เวลานี้ให้คุณ มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เรื่องที่ถูกต้องนั้นมันอยู่ที่ความคิด การพูด การกระทำของเรา ว่าเราคิดอะไร พูดอะไร ทำอะไร เราเกี่ยวข้องกับใคร แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเรา ถ้าหากว่าเกี่ยวข้องถูกต้องก็เกิดความเจริญงอกงาม ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ถูกต้องก็เกิดความเสื่อมความเสียหาย ความเสื่อม ความเจริญ ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่วที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรานั้นไม่ได้เกิดจากอำนาจของ วัน คืน เดือน ปี หรือของเวลานั้นเวลานี้แต่มันมีอำนาจอยู่ในตัวของมัน ความดีก็มีอำนาจอยู่ในความดี ความชั่วก็มีอำนาจอยู่ในความชั่ว มันก่อให้เกิดผลขึ้นมาด้วยตัวของมันเองเรียกว่าเป็นกรรมของมันเอง “ยถาปจฺจยํ ปวตฺตนฺติ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง ปัจจัยเครื่องปรุงแต่งก่อให้เกิดอะไร มันก็เกิดเรื่องอย่างนั้น ถ้าปัจจัยเครื่องปรุงแต่งก่อให้เกิดดีมันก็ดี ถ้าปัจจัยเครื่องปรุงแต่งก่อให้เกิดชั่วมันก็ชั่ว ปรุงแต่งให้เกิดทุกข์มันก็เป็นทุกข์ ปรุงแต่งให้เกิดสุขมันก็เป็นสุข มันเป็นอยู่อย่างนั้นตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติไม่มีอะไรมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องแทรกแซงในสิ่งนั้น มันมีเรื่องในตัวของมันเอง เรียกว่าดีในตัวเอง ชั่วในตัวเอง อยู่ที่การกระทำของเรา ถ้าเราเชื่อในรูปอย่างนี้ สะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ สะดวกในการเป็นอยู่ ไม่ต้องคำนึงถึงอะไร เราคิดแต่เรื่องเดียวว่าสิ่งที่เราจะคิด จะพูด จะทำ จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับใครกับอะไรนั้น มันถูกหรือผิด มันดีหรือชั่ว มันเสื่อมหรือว่าจะเจริญ เราคิดแต่เรื่องอย่างนั้นแล้วก็หาเหตุหาผลให้เข้าใจว่ามันเป็นไปอย่างไร แล้วก็ทำโดยการหลีกเลี่ยงจากทางเสื่อม ทำในสิ่งที่เป็นความเจริญ ทำในสิ่งที่หลีกเลี่ยงจากความทุกข์ เราทำในสิ่งที่จะให้เกิดความสุขในชีวิตของเรา มันก็เรียบร้อยไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ไม่มีความลำบากยากเข็ญในเรื่องอะไรนัก มีคนจะมาบวชคนหนึ่งเขาเป็นนายทหาร มาถึงบอกว่าผมจะบวช วันนั้น วันนี้ (เค้าบอกวันนะ) ถามว่าทำไมต้องบวชวันที่เธอต้องการ เพราะไปปรึกษาผู้เฒ่าผู้แก่แล้ว ท่านบอกว่าให้บวชวันนั้น ก็เลยบอกว่าในวัดนี้ไม่ถือวันนั้นวันนี้แต่ถือเอาความสะดวกเป็นใหญ่ ถ้าเธอจะบวชกับฉันมันต้องดูวันที่ฉันอยู่ ถ้าฉันไม่อยู่เธอจะบวชได้อย่างไร ไม่มี “อุปัชฌาย์” มันก็บวชไม่ได้ เรื่องบวชนี่ผู้เฒ่าผู้แก่ว่าวันนั้นดี แต่ว่าวันนั้นฉันไม่อยู่จะดีได้อย่างไร แล้วเธอจะบวชได้อย่างไร เธอจะบวชได้เมื่อวันที่ฉันอยู่ อันนี้มันต้องดูว่าฉันอยู่วันไหนจึงจะบวชได้ แล้วการบวชคราวต่อไปก็ต้องบวชวันที่ 1 มีนาคม เธอจะบวชก็ต้องมาบวชวันที่ 1 มีนาคม วันที่ 1 มีนาคมนั้นเป็นวันดีที่สุดสำหรับการบวชชองเธอ แต่ถ้าเธอจะไปบวชวันที่ 8 วันที่ 9 ตามผู้เฒ่าผู้แก่ว่าก็บวชไม่ได้เพราะฉันไม่อยู่ ฉันไปธุระที่อื่น วันนั้นมันจึงบวชไม่ได้พูดให้เขาเข้าใจ เลยเค้าบอกว่าสุดแล้วแต่หลวงพ่อก็แล้วกัน มันก็จบเรื่องกันก็เท่านั้นแหละ โดยมากมักจะเป็นเช่นนั้น เราไปถามคนเฒ่าคนแก่ คนเฒ่าคนแก่ประเภทปัญญาอ่อนมันก็มีเยอะเหมือนกัน คือเชื่อสิ่งที่เหลวไหลไม่ถูกไม่ตรงตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่ว่าจะไปโทษโยมเฒ่าโยมแก่เหล่านั้นก็ไม่ได้ คือ พระเราไม่สอนให้คนเข้าใจ ไม่พูดให้คนรู้เรื่อง ในเรื่องที่ถูกต้อง แต่ว่าทำอะไรก็ตามใจญาติโยม โยมจะเอาวันไหนอะไรก็ได้ แล้วก็ช่วยดูให้โยมด้วยว่าวันไหนดีวันไหนไม่ดี ดูฤกษ์ให้ พระก็เป็นคนดูฤกษ์ดูยามเยอะแยะ ความจริงพระเราดูฤกษ์ดูยามไม่ได้ เพราะมันขัดกับหลักพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ แต่ก็ทำกันอยู่ก็เพื่อเอาใจญาติโยม ไม่ใช่เรื่องอะไร กลัวโยมจะไม่เข้าวัดแล้วจะลำบาก เลยก็ต้องทำตามใจโยมทุกอย่าง เลยผลที่สุดก็อยู่ในอำนาจของญาติโยม สุดแล้วโยมจะดึงสมภารไปทางไหนสมภารก็เลยตามโยมไปตามนั้น มันไม่ถูกต้อง พระมันต้องนำโยมไม่ใช่โยมนำพระ ถ้าโยมนำพระมันก็เลอะ
แต่คราวนี้พระต้องนำโยมนำให้ถูกต้องถ้าใครเข้าใจผิดก็พูดให้เข้าใจถูก ใครหลงก็ต้องทำไม่ให้หลง ใครงมงายก็ต้องแก้ไม่ให้งมงาย เรื่องมันควรจะเป็นอย่างนั้น ความเข้าใจจึงจะถูกต้องขึ้น เพราะฉะนั้นเราที่เป็นพุทธบริษัทอย่าไปถามหมอไดว่าจะทำอะไรวันไหนเลย ดูวันเอาเองก็ได้ว่าวันไหนมันเหมาะจะไปไหน จะทำอะไร ต้องไปให้มันทันเวลา ถ้าวันอาทิตย์ก็ไม่ต้องไปถามหมอไหน มาวัดชลประธาน ดีกว่าเพราะได้มาฟังธรรมเหลือวันไหนจะไปไหนก็ไป ขับรถให้มันเรียบร้อยก็แล้วกัน ออกรถในเวลาที่รถมันไม่จอแจเกินไปนั่นแหละเวลาดีเราก็ทำไปอย่างนั้นจะไม่มีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับวันเวลา เพราะพระพุทธเจ้าสอนไว้ชัดเจน ว่าวันเวลาไม่ดีไม่ชั่ว เรามันทำให้ชั่วเอง ทำให้ดีเอง ดีชั่วมันอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่วันเวลาให้เข้าใจอย่างนี้ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ก็สะดวกขึ้น ทีนี้เราในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทก็ควรจะสนใจในเรื่องธรรมมะให้มากเป็นพิเศษ สนใจธรรมมะ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน การนำเอาธรรมมะมาใช้ก็คือ เอามาใช้เพื่อเป็นสิ่งป้องกันอย่างหนึ่ง แก้ไขอย่างหนึ่ง ธรรมมะเป็นเครื่องรางก็ได้ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่เราจะใช้ป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดขึ้นแก่ตัวเรา แก่ทรัพย์สมบัติของเรา แก่ครอบครัวของเรา รวมถึงประเทศชาติบ้านเมืองของเราก็ได้ เราใช้ธรรมมะเป็นเครื่องป้องกันได้ แล้วถ้าหากว่าเราเผลอเราประมาท คิดผิดพลาด พูดผิดพลาด ทำผิดพลาด คบหาสมาคมผิดพลาด ไปสู่สถานที่ที่มันไม่ถูกต้องแล้วก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้น เราก็ใช้ธรรมมะนี่แหละเป็นเครื่องแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ด้วยการศึกษาว่า อะไรมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร เราควรจะแก้ไขสิ่งนั้นโดยวิธีใด ถ้าพระท่านบอกแนวทางไว้ให้เราเข้าใจ ถ้าเราดำเนินตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้ เราก็แก้ไขปัญหานั้นได้โดยไม่ลำบากยากเข็ญอะไร ในเรื่องการป้องกันไม่ให้อะไรเกิดขึ้นในใจของเรา หรือ ในชีวิตของเรานั้น เราก็ต้องรู้ว่าอะไรมันเกิดขึ้นอย่างไร ต้องให้เข้าใจว่าอะไรมันเป็นอะไรอย่างถูกต้อง อะไรมันเกิดขึ้นโดยวิธีไดอย่างถูกต้อง แล้วเราก็สามารถป้องกันได้ ถ้าเราไม่รู้ทางของมันเราก็ป้องกันไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ามันมาทางไหน มันก่อให้เกิดขึ้นอย่างไร หรือ พูดอีกอย่างหนึ่งว่าไม่เข้าใจเหตุผลของเรื่องนั้นๆอย่างถูกต้อง เมื่อไม่เข้าใจเหตุผลเราก็จัดการกับมันไม่ได้ เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุ ผลเกิดขึ้นไม่ได้แต่เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดขึ้นและมันเกิดขึ้นโดยวิธีใดเราไม่เข้าใจ อย่าไปตัดตัวเหตุมันไม่ได้เพราะไม่รู้จักมัน จึงต้องรู้จักเหตุของเรื่องนั้นๆให้เข้าใจถูกต้องก็ต้องใช้หลักธรรมมะเป็นเครื่องพิจารณาว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา มันเกิดมาจากอะไร ทำไมจึงได้เกิดขึ้น ที่ว่าเกิดจากอะไรนั้นก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งที่ทำให้เกิดอะไรขึ้นนั้นคือ ตัวเราเอง อย่าไปคิดว่าสิ่งอื่นก่อให้เกิดขึ้น อย่าไปคิดว่าคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ เหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ ทำให้เกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเรา ให้สิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงเครื่องประกอบ ไม่ใช่ตัวการสำคัญ ตัวการสำคัญนั้นอยู่ที่ตัวเราเอง อันนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าตัวการใหญ่ ตัวการสำคัญของเรื่องทั้งหลายทั้งปวงนั้นอยู่ที่ตัวเราและคำว่าอยู่ที่ตัวเรานั้นก็อยู่ที่ความคิดของเรา อยู่ที่ใจของเรา ถ้ามันได้รวมยอดอยู่ที่ใจ เพราะว่าใจเป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องต้นเค้าของเรื่องทั้งหลายทั้งปวง สุข ทุกข์ เสื่อม เจริญ ดี ชั่ว มันตั้งต้นที่ใจของเราทั้งนั้น คือตั้งต้นที่ความคิดของเรา อยู่ที่ข้างในไม่ได้อยู่ข้างนอกเราเข้าใจหลักนี้ให้ถูกต้องเมื่อเข้าใจถูกต้องว่าอะไรๆที่มันเกิดขึ้นในชีวิตของเรานี้มันเกิดที่ใจของเรา ใจเราคิดเราสร้างมันขึ้นมา ก็ต้องมาดูว่าเราคิดอะไร เราเกี่ยวข้องกับอะไร อะไรมันเกิดขึ้นในใจของเรา ความโลภเกิดขึ้นแล้วให้ทำอะไร ความโกรธเกิดขึ้นแล้วให้เราทำอะไร ความหลงเกิดขึ้นให้เราทำอะไร ความริษยาพยาบาทเกิดขึ้นแล้วมันบังคับเราให้ไปทำอะไร นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบก็ต้องอาศัยฐานที่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากภายในอย่าไปเอาไว้ที่ภายนอกเพราะภายนอกนั้นมันกว้างเหลือเกินแก้ไม่ไหว หาไม่พบ เพราะมันไกล แต่ถ้ามองเข้ามาข้างในมองที่ตัวเรา ตัวเรานี่มันแคบนิดเดียว ยาววา หนาคืบ กว้างศอกหนึ่ง เนื้อที่มันไม่มากเกินไปแต่ถ้าเรามองไปภายนอกมันมากมายก่ายกอง ยิ่งมองไปในท้องฟ้าก็นึกว่าดาวให้โทษยิ่งไปกันใหญ่เลย ดาวมันมีกี่ล้านดวงก็ไม่รู้ที่ลอยเคว้งคว้างอยู่ในอากาศแล้วไอ้ดาวพวกนั้นมันดวงไหนที่เป็นดาวจัญไร ทำให้เราเกิดปัญหาเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเราจะไปค้นมันได้อย่างไร ไปค้นดาวได้อย่างไรแล้วมารู้ว่าดาวดวงนั้น แล้วไปดันดาวได้อย่างไร มันลอยอยู่ตรงจุดนี้ บอกออกไปหน่อยไปหน่อย ให้หลีกไปหน่อยให้พ้นเราหน่อย มันทำไม่ได้ ทำไม่ได้ มันเป็นงานของคนโง่เท่านั้นเอง ไม่ใช่งานของคนมีปัญญาเฉลียวฉลาดอะไร คนฉลาดนั้นต้องมองที่ตัว มองด้านในอย่าไปมองด้านนอก อย่าไปนึกว่าสิ่งภายนอกให้ทุกข์ให้โทษแก่เรา แต่เรานึกตามหลักการของพระพุทธเจ้าว่า เรื่องทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นแก่ตัวเรานั้นเป็นเรื่องออกมาจากข้างใน คือ ออกมาจากใจของเราเอง เราคิดเรา พูดเราทำ สถานมันอยู่ที่ใจ ถ้าเจาะลงไปอย่างนี้จุดมันแคบเข้า การค้นหาก็จะง่ายขึ้น การแก้ไขก็จะง่ายขึ้น หลักการมันง่ายอย่างนี้ ขอให้โยมสร้างฐานไว้ในใจอย่างนี้ก่อน แล้วก็ไม่ต้องลำบากเวลามีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่ต้องไปให้หมอดู ไม่ต้องไปเที่ยวเสี่ยงทาย ไม่ต้องไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไดๆที่คนปัญญาอ่อนสร้างขึ้นไว้ให้คนไปไหว้ไปบูชา ซึ่งมีอยู่มากมายในแผ่นดินไทย แล้วคนก็ไปไหว้ไปบูชา ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าจะไม่ไปไหว้สิ่งเหล่านั้น เพราะถ้าเราไปไหว้สิ่งเหล่านั้น ไปขอร้องวิงวอนจากสิ่งเหล่านั้น เรามันไม่เลื่อมใสในพุทธเจ้า เขาเรียกกันว่า “สรณาคมน์” มันขาดไป
สรณาคมน์ แปลว่า การถึงพระพุทธเจ้า ที่เราเปล่งวาจาว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ นั่นแหละเรียกกว่า สรณาคมน์ สรณาคมน์ คือ การถึงแระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้วก็เปล่งวาจาประกาศให้ใครรู้ ว่าเราถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง ถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ทั้งเมื่อเราเปล่งวาจาเช่นนั้นแล้ว เราก็ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เวลามีปัญหามีอะไรเกิดขึ้นไม่นึกถึงสิ่งอื่น อย่าไปนึกถึงผี ถึงเทวดา ถึงต้นไม้ศักดิสิทธิ์ ถึงเสาหลักเมือง ถึงอะไรๆ ต่างๆที่อยู่บนแผ่นดินนี้ อย่าไปนึกถึง ถ้าเราไปนึกถึงสิ่งเหล่านั้นก็แสดงว่าเราไม่ไว้ใจพระพุทธเจ้า ไม่ไว้ใจพระธรรม ไม่ไว้ใจพระสงฆ์ สรณาคมน์มันก็ขาดทอนไป เศร้าหมองไป เพราะเราไม่มีความไว้วางใจในสิ่งที่เรานับถือ เราไปนึกถึงนั่นถึงนี่ถึงอะไรต่างๆซึ่งเป็นเรื่องภายนอก ไตรสรณคมน์ มันก็ขาดตอนหรือเศร้าหมอง ความไว้วางใจในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็หายไป เป็นการไม่ถูกต้อง เราจะต้องไว้วางใจในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม พระสงฆ์ หรือ ไว้วางใจในธรรมมะของพระพุทธเจ้าอย่างหนักแน่นมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เหมือนคำสวดมนต์ที่เราสวดว่า “นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง” ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี “พุทโธ เม สรณัง วรัง” พุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าอันประเสริฐ ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นที่พึงอันประเสริฐ ด้วยการกล่าวสัจจะวาจานี้ขอความสุขความเจริญจงเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ด้วยการเข้าถึงพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ นั้น อันนี้ต้องเป็นหลักมั่นในใจไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน แล้วก็ไม่ต้องไปหาอะไร ถ้าเรานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วตัดสิ่งอื่นทิ้งออกไปหมดเลยเราไม่อาลัยใยดีกับสิ่งเหล่านั้น เราไม่กลัวสิ่งเหล่านั้นว่าจะทำร้ายเรามันทำร้ายเราไม่ได้ อะไรๆที่เป็นสิ่งวัตถุอยู่บนพื้นแผ่นดินนี้ทำร้ายเราไม่ได้ คนที่ทำร้ายเราได้นั้นคือใคร คือ มิจฉาทิฏฐิ นั่นเองที่มันจะทำร้ายเรา จิตที่ตั้งไว้ผิดมันจะทำร้ายเรา มันจะลงโทษเราให้เกิดปัญหาขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ สิ่งภายนอกไม่ทำร้าย เสาหลักเมืองไม่เดินไปทุบหัวใครให้แตกร้าวเลยแม้แต่น้อย หรืออะไรๆก็ไม่ได้ทำร้ายใครแต่ความเห็นผิดที่อยู่ในใจองเรา เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ มันทำร้ายเรา จิตที่ตั้งไว้ผิดทำร้ายผู้นั้น เราอย่าเอาจิตเราไปตั้งไว้ในที่ผิด อย่าไปมีหลักผิดทาง มันจะทำร้ายเราทำให้เราเสียหาย แต่เราจะต้องตั้งความคิดไว้ให้ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ในเมื่อเรามีความเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราจะเป็นคนกล้าหาญ เป็นคนกล้าหาญไม่กลัวอะไรทั้งนั้น เราไม่กลัวแม้กระทั้งผีที่กลัวกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะผีที่ไหนมันจะทำร้ายเรามันจะทำอันตรายเรามันไม่มี นอกจากผีในภูตแม่โขงเท่านั้นเอง ที่เค้าฉายให้ดูกันอยู่ทุกคืนทุกวัน เรื่องอย่างนี้ไม่ควรจะเอามาฉายในจอโทรทัศน์เพราะมันจะทำให้เด็กกลัวแล้วให้เด็กมีความคิดเหลวไหลไปฝังในหัว ว่ากลัวผี เจ้าอู้ดมันตัวมันน้อยๆถ้าบอกว่า “เอ้าอู๊ดอยู่ที่นี่นะ” “อุ้ยไม่ได้ๆผมเป็นคนกลัวผี” อ้าวผีที่ไหน เคยเห็นตัวมันไหมผี ไม่เคยเห็นแล้วไปกลัวอะไร ทำไมถึงกลัว คำว่าผีมันฝังอยู่ในหัวของเด็ก ทำให้เด็กกลัว อาตมานี่ก็กลัวผีเหมือนกัน เมื่อก่อนกลัวจริงๆ กลางคืนมืดๆไม่กล้าไปไหน ถ้าไปก็มักไปกับคนอื่น เวลากลับมาพอขึ้นบันไดต้องกระโดดขึ้นไปเลย กลัวว่าผีมันจะจับแข้งเราคิดเอาเองเราสร้างขึ้นเอง สร้างว่าผีมันมาจับแข้งจับขา เราสร้างขึ้น ผีนั้นคืออารมณ์ที่เราสร้างขึ้นหลอกตัวเราเอง ถ้ามันเป็นอย่างนั้น เป็นเด็กมันก็คิดอย่างนั้น โตแล้วมันก็ยังคิดอยู่ นานๆ เข้าศึกษาธรรมมะปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าความคิดนั้นมันค่อยจางค่อยหายไป สมัยก่อนนี้กลัวนักหนา ไปเลี้ยงควายกลางทุ่งเวลาตีสี่ตีห้า ก็กลัวผีไม่รู้จะทำอย่างไรต้องไปเดินอยู่ใกล้ควาย ควายกินหญ้าก็เดินมันไปด้วยตามมันไป เหมือนกับว่าไปพึ่งควายอย่างไงอย่างนั้น มีควายเป็นที่พึ่ง อันนี้ควายมันโยกเยก เราเห็นต้นตอไม้มองไปเหมือนกับคน เลยนึกไปถึงผี แลเห็นมันโยกเยกควายมันเดิน เห็นต้นไม่มันแกว่งตอมันแกว่งก็จ้องดูมันไว้ แต่ว่าอยู่ใกล้ควายก็จ้องดูไว้จนมันสว่าง พอสว่าง ไอ้นี่ตอไม้นี่เองกูนึกว่าผี มันก็ค่อยฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเราหัดพิจารณาถ้าศึกษามันก็ค่อยฉลาดขึ้น
ความกลัวมันค่อยจางไป คือบรรดาความกลัวทั้งหลายทั้งปวงนี่เกิดเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง เช่น เรากลัวผีเพราะไม่รู้ว่าผีคืออะไรแล้วเราก็ชอบสร้างผีขึ้นหลอกตัวเราเอง เรากลัวสิ่งนั้นสิ่งนี่ก็นึกเอาเองทั้งนั้น สร้างขึ้นเองทั้งนั้น ใจของเราสร้างอะไรขึ้นในใจของเรา แล้วเราก็กลัวบ้าง เรารักบ้าง ยินดีบ้างยินร้ายบ้างเป็นไปตามเรื่องมันอยู่ในใจทั้งนั้น แล้วถ้าเราควบคุมใจของเราไม่ให้คิดผิดทางไม่ให้สร้างสิ่งต่างๆขึ้นมาหลอกตัวเอง เราก็พอจะเบาใจไม่มีอะไรทำให้เกิดปัญหาขึ้นในชีวิตได้ แต่ว่าเค้าก็มีอุบายเหมือนกัน วิธีการที่จะให้คนเปลี่ยนความคิด มาคิดในเรื่องที่ไม่ต้องกลัวไม่ต้องหวาดเสียว เช่นสมติว่าเรามีความกลัวในอะไรขึ้นมา เราก็สวดมนต์ซะ สวดมนต์ สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นี่แหละ ว่าสวดมนต์ อิติปิโสภควา อรหังสัมมา สัมพุทโท สวดดังๆ สวดนิดๆมันไม่ค่อยได้ยิน ต้องสวดให้ดัง คราวนี้เมื่อสวดมนต์ ตัวได้ยินเสียงสวดมนต์ ใจมันคิดได้ทีละเรื่อง อันนี้ให้เข้าใจไว้ให้ดีว่าจิตของคนเรานั้นคิดได้ทีละเรื่อง จะไปคิดเรื่องสองเรื่องในเวลาเดียวกันไม่ได้เมื่อใจได้ยินเสียงสวดมนต์ หูได้ยินเสียงสวดมนต์ แล้วสมองมันจะทำงานในเรื่องสวดมนต์ ก็ต้องนึกล่วงหน้าแล้วก็สวดได้ถูกต้อง จิตมันก็ไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ มันอยู่แต่เรื่องสวดมนต์ เรื่องที่จะไปคิดกลัว คิดอะไรต่อมิอะไรมันไม่มี ไม่เกิดขึ้นในใจ เพราะมันมีเรื่องนั้นอยู่แล้ว คนโบราณจึงสอนคาถาให้คนเอาไปภาวนาในที่ต่างๆ แต่คาถานั้นก็ไม่พ้นไปจากพระคุณของพระพุทธเจ้าหรอก เช่นให้ท่อง พุทธโท บ้างท่อง อรหังบ้าง หรือว่ายาวไปกว่านั้น ให้ท่องเรื่องไดเรื่องหนึ่งให้ว่าคาถาไว้ เป็นคาถาประเภทต่างๆ คนที่รับคาถานั้นไปท่องไม่เข้าใจความหมาย ไม่รู้ว่าเป็นหลักจิตวิทยาเพื่อช่วยให้ตนไม่ต้องขลาดต้องกลัว กลับไปคิดว่าคาถานั้นเป็นสิ่งศักดิสิทธ์ ป้องกันผีได้ก็เลยสวดไปในรูปอย่างนั้น ยังไม่เจริญด้วยปัญญาเพราะเข้าใจเขวในเรื่องความเชื่ออยู่ แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องว่าคาถาทั้งหลายนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของใจ ไม่ให้ใจไปคิดเรื่องอื่นแต่ให้คิดเฉพาะเรื่องที่เราสบายใจ ก็จะง่ายกว่า ท่องคาถา ท่องพุทธโทบ้าง ท่องนะโมหลายครั้งบ้าง หรือสวดอะไรต่ออะไร ชาวจีนเค้าก็มีลูกประคำ ให้ถือลูกประคำแล้วก็ท่องคาถา นะโมโอมิทอวุธ ก็คือนึกถึงพระพุทธเจ้า ความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้า นะโมพุทก็คือพระพุทธเจ้า นะโมพุทก็คือพระธรรม นะโมเก่งก็คือพระสงฆ์ ...... ให้ท่องตลอดเวลา แต่เอาย่อๆว่า นะโมโอมิทอวุธ แล้วก็ถือลูกประคำ ชักไป ชักไป ใจมันก็อยู่กับคำว่า นะโมโอมิทอวุธ มือก็อยู่ที่ลูกประคำมันไม่คิดฟุ้งซ่านไม่คิดอะไร ท่องไปเดินในป่าช้าก็ได้เพราะใจมันไม่กลัวที่ไม่กลัวก็เพราะว่าไม่ได้คิดถึงสิ่งที่เรากลัวแต่คิดถึงสิ่งที่เราสบายใจ อันนี้เป็นอุบาย สอนให้คนทำใจ การทำใจในรูปอย่างนี้ถ้าเรียกตามหลักการเค้าเรียกว่า ให้เปลี่ยนอารมณ์ เราคิดถึงเรื่องนี้อยู่ เรากลัว หวาดเสียว ขนลุกขนพอง อ้าวเปลี่ยนมาคิดเรื่องนี้ มาคิดเรื่องนี้เสีย ในพระสูตร เรียกว่า ธชัคคสูตรก็เล่าเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน ว่าเทวดาทำสงครามกับพวกอสูร ก็ออกรบ ผู้ที่เป็นหัวหน้าเทวดาก็คือ พระอินทร์ แกก็สั่งพวกเทวรบเทวดาทั้งหลายว่า ถ้าเทออกรบแล้วมีความหวามกลัวให้มองดูธงของพระอินทร์หรือให้ดูธงของท้าวท้าวปชาบดี มีหลายองค์ด้วยกันมีแม่ทัพสี่คนให้ดูตรงนั้น ถ้าดูตรงนั้นใจก็จะไม่กลัวเกิดความกล้าหาญในการที่จะออกรบ แล้วก็ไปรบกับพวกอสูรได้ ตีทัพอสูรแตกพ่ายไป นี่ก็เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านเล่าให้พระฟัง
แต่ว่าพระพุทธเจ้าบอกว่าภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอไปอยู่ในป่า ในเรือนร้าง เรือนว่าง หรือว่าที่ไดๆอันเป็นที่เปลี่ยวจิตของเธอก็จะมีความหวาดกลัวต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งเคยสร้างความกลัวไว้แก่โลกนี้ เมื่อจิตเกิดความหวาดกลัว ขนพองสยองเกล้าอย่างนั้นเธอจงนึกถึงพระพุทธเจ้า ด้วยการนึกว่า “อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ” ท่านสอนให้พระอย่างว่าอย่างนั้น พระในสมัยนั้นท่านเข้าใจความหมายเพราะท่านพูดภาษานั้น ภาษาบาลีเป็นภาษาท้องถิ่นของคนในประเทศอินเดียในสมัยนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าสอนให้สวดเค้าก็สวดไปเค้าก็เข้าใจความหมาย ใจมันไปจดจ่ออยู่กับคุณพระพุทธเจ้าเห็นคุณพระพุทธเจ้า ก็ให้คิดถึงคุณของพระธรรมว่า “สวากขาโต ภควตา ธัมโม” เหมือนที่เราสวดนั่นแหละ ถ้าเราไม่นึกคุณพระธรรมก็นึกถึงคุณพระสงฆ์ว่า “สุปะฏิปปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ” ว่าเรานึกถึงคุณพระสงฆ์ ความกลัวก็จะหายไป ความสะดุ้งขนพองก็จะสงบลงไป เพราะนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นอุบายเป็นเครื่องจูงใจให้เกิดความคิดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เกิดความกล้าหาญ ไม่หวาดกลัวต่อสิ่งเหล่านั้น เช่นกลางคืนเราเดินไปไหนๆถ้ารู้สึกว่าน่ากลัว เราก็เดินท่อง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ไป เรียกว่าเดินสวดมนต์ไปตลอดทางความกลัวจะไม่เกิด เพราะใจมันไม่ได้คิดถึงเรื่องความกลัว มันคิดแต่เรื่องจะสวดมนต์ ความกลัวมันก็ไม่มี นี่เป็นเครื่องแก้ปัญหาให้ทำกันอยู่สำหรับคนทั่วไปก็ควรจะทำอย่างนั้นเป็นเครื่องช่วยขจัดความกลัวได้ ป้องกันความหวาดความกลัวไม่ให้เกิดขึ้น หรือเป็นการสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นในใจของเรา การสร้างกำลังใจก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจในทางเสริมกำลัง ในทางกล้าหาญ ในทางที่จะมีสติมีปัญญาเป็นเครื่องประเล้าประโลมใจให้คิดนึกในทางที่ถูกที่ชอบ เราก็ต้องเอาสิ่งนั้นมาใช้ลองเอาไปใช้ได้ เพราะฉะนั้นเช่นว่าเวลาจะนอน ท่านจึงสอนว่าให้ไหว้พระสวดมนต์ ให้นั่งสงบใจ ให้นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในรูปภาษาไทย แล้วเราก็นอนด้วยความสงบ เวลานอนถ้าว่ามันยังฟุ้งซ่านก็ภาวนาไว้ พุทโธ พุทโธ ทุกลมหายใจเข้าออก หายใจออกว่าพุท หายใจเข้าว่าโธ หรือหายใจเข้าพุท หายจออกโธ ก็ได้ สุดแล้วแต่เราตั้งลงไป ณ จุดใด เราก็ภาวนาไป ขณะภาวนานั้นใจก็อยู่กับสิ่งนั้น มันไม่คิดกลัว ไม่คิดถึงเรื่องร้ายๆอะไรต่างๆ ภาวนาไปก็เคลิ้มไปก็หลับไปด้วยจิตใจที่สงบ อันนี้เป็นเรื่องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในใจของเรา เป็นวิธีแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่ง แต่ว่าการแก้ปัญหาโดยวิธีนี้มันไม่ถาวรไม่ลึกซึ้งเท่าไร ต้องมีวิธีการแก้ปัญหาประเภทถาวรลึกซึ้ง การแก้แก้ปัญหาประเภทถาวรลึกซึ้งนั้น คือ เราจะต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาในสิ่งนั้นให้เห็นว่ามันไม่มีอะไร ไม่มีตัวตนอะไรที่จะมาหลอกเราได้หรือมาทำร้ายเราได้ ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริงเอาหลักพระไตรลักษณ์ของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องพิจารณา คือ พิจารณาเห็นว่า มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา
ไม่เที่ยงก็คือว่า มันเปลี่ยนแปลงอยู่ เป็นทุกข์ก็คือ มันเป็นทุกข์ตามสภาพ แล้วก็มันเป็นอนัตตา ตัวอนัตตาเป็นตัวสำคัญที่จะเอามาปราบสิ่งทั้งหลายที่เป็นที่ตั้งแห่งความกลัว ความสะดุ้งกลัวต่างๆ เราก็เอาหลักอนัตตามาพิจารณาว่า เนื้อแท้มันไม่มี อะไรๆในโลกนี้ไม่มีเนื้อแท้ ไม่มีตัวที่ถาวร มันเป็นแต่เพียงประกอบกันเข้าไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง แล้วมันก็ดับไปทั้งนั้น ไม่มีอะไรคงทนถาวร พิจารณาให้เห็นด้วยปัญญา ว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนี้มีความไม่เที่ยงอยู่ มีความเป็นทุกข์อยู่ และมีความเป็นอนัตตา คือ ไม่มีเนื้อแท้ในตัวของมันเอง และเมื่อมันไม่มีตัวแท้มันจะมาทำเราได้อย่างไร จะทำให้เรากลัวได้อย่างไร ให้เราตื่นเต้นได้อย่างไร เพราะสิ่งนั้นมันไม่มีตัวมีตนถาวรอะไร คิดพิจารณาไปให้เกิดปัญญา ขนาดคิดผิดมันก็อยู่กับเรื่องที่เราคิด เรียกว่าสนใจอย่างลึกซึ้งอยู่กันสิ่งนั้น ตัวอื่นมันจะแซงเข้ามาได้อย่างไรความกลัวความสะดุ้งต่อสิ่งต่างๆมันจะแซงเข้ามาไม่ได้ แล้วเรานึกไปคิดไปก็จะเห็นด้วยปัญญา เมื่อเห็นด้วยปัญญาก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรที่น่ากลัว ไม่มีอะไรที่น่าจะหวาดเสียว ไม่มีอะไรที่จะมาทำร้ายเรานอกจากจิตของเราคิดไปเอง ถ้าเราคิดอย่างนั้นความเข้าใจมันค่อยเกิดขึ้น เกิดขึ้น ความสว่างก็เกิดขึ้นในใจของเรามากขึ้น แล้วเราก็ไม่กลัวอะไร ไม่หวาดเสียงต่อสิ่งอะไร กลายเป็นคนกล้าที่สุด มีความกล้าหาญชาญชัย ทหารที่ออกไปรบทัพจับศึก ถ้าหากว่าเราสอนทหารให้เข้าใจหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง ให้เข้าใจหลักอนัตตาอย่างลึกซึ้ง ทหารจะไม่กลัวต่อข้าศึกที่จะมาโจมตี เพราะเข้าใจว่าตัวข้าศึกที่แท้มันก็ไม่มี ไอ้ตัวเราที่แท้มันก็ไม่มี มันมีแต่เรื่องสมมติเข้าไปใส่กันเท่านั้นเองตัวแท้ตัวจริงไม่มีแล้วเราจะไปกลัวอะไรกับการถูกท้า จะกลัวอะไรกับการถูกทำร้าย กลายเป็นคนกล้าที่มีสติปัญญา มีความคิดเห็นถูกต้องความกลัวสิ่งเหลวไหลมันก็หายไป ไม่ต้องอาศัยเครื่องรางเป็นเครื่องปลุกปลอบจิตใจ ไม่ต้องอาศัยภาพลวงตาประเภทต่างๆ แต่อาศัยความรู้ความเข้าใจถูกต้องตาหลักเกณฑ์ของพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาจะทำคนให้กล้าหาญขึ้นมาได้ นักกีฬาที่เข้าใจธรรมมะถูกต้องแล้วเล่นกีฬาด้วยความมีปัญญาตามหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เค้าจะเล่นกีฬาอย่างดี แล้วก็อาจจะมีชัยชนะได้ เพราะว่าเขาไม่คิดถึงอะไร เค้าไม่คิดถึงตัวที่จะมีแต่ได้ ไม่คิดถึงเกียรติชื่อเสียงของการเล่น แต่เขามีความสำนึกว่าหน้าที่ของเราจะต้องเล่นกีฬา ต้องเล่นให้ดีเล่นให้เรียบร้อยเล่นด้วยสติปัญญาเขาคิดเท่านั้น ตัวจิตมันก็จะเกิดความกล้าหาญมีความเห็นถูกต้องขึ้นในใจ แล้วเขาเล่นอย่างดี ไอ้คนที่มันเล่นไม่ค่อยเรียบร้อยเพราะมันคิดเอาหน้าบ้าง เอาเกียรติบ้าง เอาเงินบ้าง แล้วบางทีมันก็โกงเขา เล่นด้วยการโกง ทำลายคนอื่น ปัดแข้งปัดขาคนอื่นนั้นจิตมันไม่เป็นธรรม ไม่มีพระอยู่ในใจ แต่มีผี คือความเห็นแก่ตัวเข้าไปอยู่ในใจ ความเห็นแก่ตัวเมื่อเกิดขึ้นแก่ใครทำให้คนนั้นเศร้าหมองทางจิตใจ มีบาปมีอกุศลขึ้นมา จิตไม่เรียบร้อย แต่ถ้าเราทำอะไรและสำนึกแต่เพียงว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ หน้าที่ที่จะต้องจัดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วก็ทำไปตามหน้าที่ เช่น มารดามีหน้าที่เลี้ยงลูก มีหน้าที่คลอดลูกออกมา แล้วก็เลี้ยงไป ก็เลี้ยงเพื่อหน้าที่ ทำตามหน้าที่ เลี้ยงด้วยความตั้งอกตั้งใจ อย่าไปรักลูกให้มันมากเกินไป อย่าไปทำอะไรที่มันเกินขอบเขต แต่ว่าทำตามหน้าที่ เด็กก็จะเรียบร้อยเป็นไปด้วยดี แม่ก็จะเรียบร้อยเพราะใจไม่ได้คิดอะไร นอกจากว่าหน้าที่ของฉัน คือ ความเป็นแม่ฉันจะเป็นแม่ให้ถูกต้อง พ่อก็เหมือนกันมีความคิดโดยธรรมมะ คิดว่าฉันเป็นพ่อคนแล้ว เพราะฉันทำคนให้เกิดขึ้นในท้องของคนเป็นแม่ เราก็ต้องเป็นพ่อที่ดี เป็นพ่อที่ถูกต้อง พ่อที่รู้จักหน้าที่ สิ่งใดเป็นหน้าที่ของพ่อก็ทำให้สมบูรณ์ ให้เรียบร้อยไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
เมื่อต่างฝ่ายต่างประพฤติธรรม คือ ทำหน้าที่ของความเป็นพ่อและเป็นแม่ให้ถูกต้องเด็กนั้นต้องเป็นเด็กดี ดีเพราะอะไร เพราะเห็นภาพที่แสดงออกเรียบร้อยอยู่ตลอดเวลา ภาพพ่อที่มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ภาพแม่ที่มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ภาพพ่อภาพแม่ที่คุยกันด้วยสำเนียงอันไพเราะเสนาะหู แม้เด็กยังฟังไม่ได้ แต่เพราะดูหน้าพ่อก็รู้ดูหน้าแม่ก็รู้ ว่าพ่อแม่คุยกันด้วยอารมณ์สดชื่น เด็กก็สบายใจ แต่ถ้าพ่อทำเป็นยักษ์วัดแจ้งแม่เป็นยักษ์วัดโพธิ์ขึ้นมาแล้วก็ทะเลาะกันเด็กมันก็รู้ มันมองเห็น มันมองเห็นมันเกิดอารมณ์ไม่ดี ภาพไม่ดีเกิดขึ้นในใจเด็ก ทำให้เกิดความกลัวทั้งพ่อทั้งแม่ สุขภาพจิตของเด็กก็เสื่อมตั้งต้นในทางที่ไม่ดี แต่ถ้าพ่อแม่ทำหน้าที่ถูกต้องเรียบร้อย ทำหน้าที่ไม่บกพร่อง ลูกก็เห็นแต่ภาพที่สวยสดงดงาม ได้ฟังคำพูดที่อ่อนหวานไพเราะ ทุกอย่างเรียบร้อยมันเป็นภาพที่ถ่ายลงไปในจิตใจของเด็ก จิตใจของเด็กเหมือนกับกล้องถ่ายรูปที่เปิดปากกล้องไว้ตลอดเวลาแล้วก็มีฟิล์มอยู่พร้อม ถ่ายทุกอย่างที่มันเห็นจากพ่อจากแม่ สิ่งนั้นก็เข้าไปประทับอยู่ในใจองลูก พ่อแม่ที่ทำหน้าที่เป็นธรรมมะลูกก็เรียบร้อย ไอ้ลูกที่มันไม่เรียบร้อยมันเนื่องมาจากพ่อไม่เรียบร้อยบ้าง แม่ไม่เรียบร้อยบ้างหรือไม่เรียบร้อยทั้งคู่ เด็กก็ไม่เรียบร้อย มันมีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไดที่พ่อเรียบร้อยแม่เรียบร้อย ลูกก็จะเรียบร้อยขึ้นมา เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เมื่อรู้สึกตัวว่าเราจะต้องทำหน้าที่พ่อก็ทำหน้าที่พ่อให้สมบูรณ์ รู้ตัวว่าต้องทำหน้าที่แม่ก็ต้องทำหน้าที่แม่ให้สมบูรณ์ เวลาลูกเกิดมามันก็ออกมาจากความคิดที่ถูกต้อง ทั้งสองฝ่ายรวมกันคือทั้งฝ่ายพ่อทั้งฝ่ายแม่ ความคิดนั้นมันเป็นธรรม ออกมาลูกก็เป็นธรรม ว่านอนสอนง่ายสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ไม่มีปมด้อย ไม่มีอะไรทำให้เด็กน้อยเนื้อต่ำใจ เขามีแต่ความสุขในครอบครัวสุขภาพจิตมันก็ดีตลอดไปไม่ความเสียหายอันนี้ก็เนื่องจากว่าภาพที่เขาเห็นนั่นเอง เป็นเครื่องสร้างจิตใจของเขา อยู่ในสังคมภาพลวงตาทางสังคมมันก็ทำให้เด็กเสียมากเหมือนกัน เช่น ภาพทางโทรทัศน์ที่แสดงออกมาทุกวันทุกเวลา พ่อแม่ต้องกวดขันเหมือนกัน ต้องเลือกสรรว่าให้ลูกควรดูอะไร สิ่งไดไม่ควรดู สิ่งไดเหมาะกับเด็กสิ่งไดไม่เหมาะกับเด็กเราก็ต้องให้เลือกดู ไม่ใช่ว่าให้ดูทุกอย่าง อาหารที่จะให้ลูกกินธรรมดาก็ต้องเลือกอยู่แล้ว อะไรกินได้อะไรกินไม่ได้ อะไรดื่มได้อะไรดื่มไม่ได้ แม่ก็ต้องพิจารณาเป็นหน้าที่ของแม่อยู่แล้วที่จะต้องพิจารณาเรื่องนั้น อาหารใจที่ออกมาจากจอแก้ว หรือ ออกมาจากกระดาษหรืออะไรก็ตามใจ เราก็ต้องเลือกเฟ้นให้เด็กดูให้เด็กพิจารณา โดยเฉพาะเด็กที่พออ่านหนังสือได้ ติดหนังสือการ์ตูน ดูกันใหญ่เลย แต่นี้คนทำการ์ตูนก็ไม่ได้คิดถึงอนาคตของเด็ก ไม่ได้คิดถึงอนาคตของชาติของบ้านเมืองอะไร เอาให้มันสนุกท่าเดียว ใช้ถ้อยคำพูดก็ไม่สมควรเยอะแยะ เด็กติด ติดการ์ตูนแล้วก็ถ่ายทอดเรื่องในภาพการ์ตูนมาไว้ในใจ เด็กมันก็กลายเป็นการ์ตูนไปด้วยเหมือนกัน ก็มันติดภาพนั้น เห็นอะไรมากมันก็ติดภาพนั้น พระท่านจึงสอนให้เราฉายภาพที่ดีให้เด็กเห็น คนสมัยก่อนไม่มีภาพชั่วร้ายให้ได้เห็นได้พิจารณาเพราะมันไม่มี สมัยที่อาตมาเป็นเด็กๆมันไม่มีอะไร เครื่องล่อไม่มี เครื่องจูงใจให้เสียคนไม่มี มีแต่ภาพป่า ภาพทุ่งนา ภาพวัวควายเป็นฝูงๆ อะไรอย่างนั้น มันไม่มีหนัง ไม่มีละครให้ดู บ้างก็ดูหนังตะลุง หนังตะลุงมันก็ไม่ค่อยมีอะไรที่เสียหายเท่าไร เพราะว่าเล่นไปตามระเบียบ ตามบทที่เข้าให้เล่น เขาเขียนไว้ให้เล่นก็เล่นไปอย่างนั้น ดูไปอย่างนั้น บางทีก็ได้คติธรรมจากเรื่องที่เขาแสดงคือจำมาได้แต่ว่ามาคิดทีหลังว่าไอ้นี่แสดงเข้าที มโนราห์แสดงดูไว้จำได้เอามาคิดทีหลังว่านี่เป็นธรรมมะ เป็นข้อเตือนใจ มันมีประโยชน์ เขาเล่นในทางนั้นไม่มีการแสดงอะไรเป็นเครื่องยั่วให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ ในจิตใจจึงไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร
แต่ในสมัยนี้ยาพิษมาเหลือเกินเพราะสั่งมาจากต่างประเทศทั้งนั้น ผลิตกันในบ้านเมืองเราบ้างแต่เราก็ผลิตเอาอย่างต่างประเทศ เช่น หนังไทย ไม่ใช่หนังไทย ภาพยนตร์ไทยไม่ใช่ภาพยนตร์ไทยเอาอย่างมาจากต่างประเทศ โดยมากก็เป็นหนังบู้ เรื่องโจรเรื่องผู้ร้าย เรื่องยิง เรื่องฆ่า ถนัดนัก จำภาพอย่างนั้นถนัด เรื่องไหนก็เป็นเรื่องอย่างนั้นแหละ มันเป็นหนังประเภทที่ทำให้เด็กเกิดอารมณ์ในทางต่อสู้ในการมีอะไร หนังของอินเดียนี่เขาดี นานๆจะมาฉายซักที ไม่ค่อยฉายเท่าไรความจริงดีมากเขาแสดงเป็นตัวอย่างทางศีลทางธรรม เป็นเรื่องดีดีให้ลูกกตัญญูต่อพ่อแม่อะไรอย่างนั้นแหละ เขาแสดงแต่ละเรื่องดีทั้งนั้น ดูมาหลายเรื่องแต่ละเรื่องมันมีคติเป็นเครื่องสอนใจ ไม่มีภาพประเภทยั่วกิเลสให้เด็กเห็น เช่น บทรักของเค้าไม่มีเค้าฉายให้พ้นไปมันไม่เหมือนหนังฝรั่งกับหนังไทยเวลาถึงบทรักก็แหมรักดูดดื่มจับจิตจับใจเลย ทำให้คนดูวับๆหวามๆไปตามๆกันอันนี้มันไม่ถูกต้องแต่ว่าก็ทำกันอยู่ คราวนี้เจ้าหน้าที่ตรวจภาพก็อย่างนั้นแหละ ตั้งไว้ทำอะไรก็ไม่รู้ ตั้งไว้เอาเบี้ยเลี้ยง ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไร ถ้าจะตรวจถ้ากระทบรัฐบาลก็ต้องจับหน่อยเท่านั้นแหละ ถ้ากระทบจิตใจคนเสียหายไม่สนใจเท่าไร มีความคิดแคบๆไม่กว้างขวาง สิ่งเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ทำลายจิตใจคน สร้างนิสัยไม่ดีไม่งามขึ้น แล้วพ่อแม่บางคนก็ชอบให้เด็กเล่านของที่ไม่ควรเล่น ซื้อปืนให้ลูกเล่น ปืนเล็กๆ ปืนไม่มีกระสงกระสุนมันไม่ได้ เด็กผู้หญิงบางคนเล่นปืนทำท่าแต่งตัวเป็นคาวบอยเป็นอะไรไป มันไม่ถูกลูกหญิงจะไปเล่นปืนได้อย่างไร เล่นหนังสติ๊กนี่มันไม่ได้ เป็นเครื่องเพาะนิสัย ชอบทำลาย นิสัยโหดร้าย มันขัดต่อกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราไม่ควรให้เล่นสิ่งเหล่านั้น ให้เล่นสิ่งที่เป็นการสร้างเสริมนิสัยทางดีทางงามให้เด็กรักสัตว์รู้จักเลี้ยงสัตว์ เช่น เรามีสัตว์ในบ้านให้เด็กเอาอาหารไปให้ ถ้าหมาน้อยๆเกิดให้เด็กเอาอาหารไปให้เอานมไปให้มันก็ดีขึ้น เด็กมีนิสัยรักสัตว์ไม่ทำลายสัตว์ แต่ว่าเอ็นดูต่อสิ่งเหล่านั้น สัตว์บางตัวมันก็ฉลาดเหมือนกัน มีหมาตัวหนึ่งใครเอามาจากไหนก็ไม่รู้ มันมา มันดูหาที่พึ่ง มันไปนอนอยู่ตรงประตูกุฏิเก่า นอนขวางประตูใครเดินข้ามไปข้ามมามันก็ไม่ว่าอะไร ไม่ดุไม่ว่าอะไรนอนเฉย ใครๆเขาเอ็นดูมัน ต่อมามันก็มีท้อง มันก็จะเกิดลูก เกิดไว้ใต้ศาลาที่กำลังสร้างใหม่ขุดหลุมลงไปเอาลูกไปวางไว้ที่นั่น เขาจะปิดพื้นศาลามันก็จะมันรำบาก นายน้อยเขาไปเห็นเลยสงสาร เลยหอบมาทั้งแม่ทั้งลูก เอาแม่ไปลูกมันก็ตามไปเอง มันก็ตามมาเอาไปไว้ที่กุฏิหลวงพ่อ ข้างหลังมันมีกำแพงมีเหล็กกั้น มันก็อยู่สบายหมาตัวอื่นก็ไม่เข้าไปรบกวนให้อาหารมันเอานมไปให้มันบ้าง บอกเด็กๆ ตื่นเช้าให้ไปดูลูกหมา ไปดูซิลูกหมาโตขนาดไหนแล้ว เขาไปดูกันเดี๋ยวนี้มันโตแร้วพอเดินได้มันหยอกกันได้กำลังหยอกเล่นกัน เวลาไปยืนใกล้ๆมันก็มาเลียที่รองเท้า มันก็รู้ว่าใครมายืนอยู่แล้วรองเท้าที่เลียนี้มันไม่เป็นพิษเป็นภัย มันไม่กระทืบพวกกูแน่มันนึกอย่างนั้น มันก็เกิดความรักความอาลัย เวลาเดินเข้าไปใกล้มันก็ออกมาเลียกระดิกหาง ด๊อกแด๊กๆ แสดงกิริยาท่าทางน่าเอ็นดู มันรู้จักทำให้เรารักมันเอ็นดูมัน ก็ต้องให้อาหารเพิ่มมันเพราะว่าแม่มันให้ลูกกินนมมาก ให้นมถาดใหญ่แม่มันก็กินหมด ลูกไม่กินเพราะยังกินไม่ได้เพียงแต่มาดมๆแล้วก็ไม่กิน แม่กินเองแล้วก็กลายเป็นนมไปเลี้ยงลูกต่อไปมันกลายเป็นของน่าเอ็นดูไป มีเด็กอยากได้เหมือนกัน มาถึงจึงถามว่า “ทำไรหนู” เด็กตอบว่า “อยากได้ลูกหมา” โอ้โหไม่ได้ ตอนนี้ยังให้ไม่ได้เพราะมันยังกินนมแม่ เราอย่าไปพรากลูกจากแม่มันเป็นบาปเป็นกรรม ต่อไปข้างหน้าหนูจะต้องจากพ่อจากแม่ เขาอาจเอาไปขายที่ไหนก็ได้ลำบากเดือดร้อน เด็กเลยหายไปไม่มาขออีกเลย เลยบอกว่าเดี๋ยวค่อยมาเอาให้มันโตอีกหน่อย ถ้าโตอีกหน่อยใครมาขอก็จะให้ไป ตัวเมีย 2 ตัว ตัวผู้ตัวเดียว แต่ตัวผู้จะไม่ให้จะเลี้ยงไว้ดูหน่อย เลี้ยงในรั้วไม่เป็นไรให้มันอยู่ในนั้น เอาเชือกผูกไว้อย่าให้มันไปเที่ยวไปคบค้าสมาคมกับหมาขี้เรื้อน เดี๋ยวไปคบพวกอันธพาล เดี๋ยวเสียนิสัยจะกลายเป็นหมาอันธพาลต่อไป ต้องดูแลมันให้ดี ดูว่ามันจะอยู่อย่างไร เคยเลี้ยง 2 ตัวแล้ว ตายหมดเพราะยุงกัด ทีหลังเลี้ยงใหม่ถ้ากลางคืนต้องจับเข้ามาอยู่ในกุฏิยุงไม่รบกวนเช้าก็ปล่อยมันอยู่ได้นานหน่อยได้ดูมันว่าสภาพมันเป็นอย่างไร คือเลี้ยงไว้ดูไว้ศึกษาว่าหมานั้นมันเป็นอย่างไร ไว้ไปศึกษาหาความรู้ความเข้าใจ เลี้ยงคนไว้ก็ต้องศึกษาเหมือนกัน คนบางคนเลี้ยงไว้ก็น่าศึกษาแต่บางคนมันก็ไม่เอาไหน มันเหลวไหล วันก่อนนี้ทางโรงพักโทรศัพท์มาให้บอกพระบอย ให้ไปประกันน้องชายของพระบอย บอกว่าน้องชายของพระนี่ไปเล่นการพนัน บอกว่าอย่าไปๆๆๆ (หลวงพ่อบอก) หลวงพ่อบอกว่าอย่าไปรับประกันทำผิดระเบียบเล่นการพนันไม่ได้ มันเล่นการพนันอย่าไปรับประกันให้มันนอนในกรงให้ตำรวจทำเรื่องฟ้องสารไปตามเรื่องของมัน ให้มันชิมรสของการถูกขังเสียบ้าง แหมมันจะได้ไม่เหลวไหลอีกต่อไป ปล่อยไปมันไปหาเรื่องของมันเอง อย่างนี้มันไม่ได้อย่าไปช่วยให้มันรู้เรื่องให้มันได้เรียนรู้ได้มีประสบการณ์ว่า อ่อ ตำรวจจับนี่ไปนอนที่ไหน อยู่ในสภาพอย่างไร แล้วมันจะได้เกิดเป็นบทเรียนจะได้เข็ดได้กลัวต่อไป จะได้ไม่ทำชั่วสิ่งนั้น ไม่ต้องช่วยเค้าถ้าให้เค้าสะดวกสบาย เค้าก็คิดว่าไม่เป็นไรถ้าถูกจับก็ให้หลวงพี่มารับประกันได้ แล้วมันก็ไม่เลิกเล่นเพราะหลวงพี่ก็ไปรับประกันทุกที ช่วยให้มันเสียคน ต้องให้มันรู้รสชาดของการนอนในกรงซะบ้างว่ามันนอนอย่างไรหลายคนนะไปนอนด้วยกัน ทั้งชุดนะเค้าจับไปหมด ใครประกันก็หลุดไป ใครยังไม่ประกันก็อยู่ต่อไป มันมีอย่างนั้นก็ได้เรียนรู้ว่านิสัยมันเป็นอย่างไร อยู่ในโลกนี่มันก็ต้องเรียนเรื่องโลกเรื่องอะไรต่อไป เมื่อวานนี้เค้าเรียกว่าวันการศึกษาโลก เค้ามาประชุมกันที่นี่ มีมากันหลายคน สมาคมครูสอนศีลธรรมแห่งประเทศไทยเค้ามาประชุมกันเมื่อวาน อาตมาไม่ได้มาพูดเพราะติดุระอื่น แต่ก็นึกว่าวันศึกษาโลกควรเป็นวันที่เราศึกษาตัวเอง โลกไม่ต้องไปศึกษามัน มันหมุนอยู่อย่างนั้นมันหมุนอยู่อย่างนั้นแต่มาศึกษาตัวเองดีกว่า ศึกษาตัวเราเองเพื่อให้รู้จักตัวเองถูกต้อง ให้รู้จักสิ่งที่มันเกิดขึ้นในตัว ให้รู้เหตุของสิ่งนั้นแล้วให้รู้ทุกข์โทษประโยชน์ของสิ่งนั้น แล้วให้รู้ว่าจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไรนั่นเป็นการศึกษาโลก โลกที่แคบๆ ร่างกายเราก็เป็นโลกหนึ่ง โลกคือแผ่นดินนั่นก็โลกหนึ่ง โลกที่เป็นร่างกายนี่ก็เป็นโลกหนึ่งเรามาศึกษาโลกคือร่างกายให้รู้เห็นตามสภาพที่เป็นจริงชีวิตก็จะดีขึ้นให้ญาติโยมเข้าใจอย่างนี้ พูดมาก็คอแห้งพอดีสมควรแก่เวลาขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
- ปาฐกถาธรรมประจำอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536