แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านที่...ได้มาวัดในวันนี้, ฝนฟ้าไม่ตก ตกแล้วเมื่อเย็นวาน เมื่อคืน ตอนเช้าวันอาทิตย์นี่...ไม่ตก เพราะว่าถ้าตกแล้วมันยุ่ง ญาติโยมไปทำบุญตักบาตรพระสงฆ์องค์เจ้าก็ไม่มีที่นั่ง เดือดร้อน เพราะฉะนั้นขอไว้ อย่าได้ตกเป็นอันขาด ค่อยไปตกตอนบ่าย เพราะตอนบ่ายญาติโยมไม่มากแล้ว ไม่เป็นไร
ไอ้เรื่องดินฟ้าอากาศนี่ มันเป็นเรื่องธรรมดา เราจะไปห้ามก็ไม่ได้ ไปขอก็ไม่ได้ เป็นไปตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ หรือว่าตามกฎอิทัปปัจจยตา ที่ท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านพูดอยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ใครจะไปขัดขวางก็ไม่ได้ ย่อมเป็นไปตามเรื่องของมัน แต่ว่าเราใช้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต แก่การงาน ด้วยการไม่วิตกกังวลในเรื่องฝนเรื่องแดด อันเป็นเรื่องของธรรมชาติ มันจะตกก็ตกไป มันจะเกิดอะไรก็เกิดขึ้นไป
ในประเทศอเมริกาโน่นก็เกิดลมพายุใหญ่หนักมาก หนักที่สุดในรอบหลายปีผ่านมา ประชาชนพลเมืองเสียหาย บ้านเรือนพังทลาย วัดมีอยู่วัดหนึ่งก็พลอยไปด้วย ความจริงวัดก็ไม่มีอาคารอะไรมากมาย มีอยู่หลังเดียว เป็นเรือนชั้นเดียว เคยไปพักสองสามครั้งแล้ว ได้ข่าวว่าลมพัด คงจะหลังคาเปิงไป พระที่อยู่ก็คงจะลำบากนิดหน่อย แล้วก็คิดถึงโยมที่เคยไปพักบ้าน โยมประกิจ คล่องตรวจโรค (02.24) เคยไปพักที่บ้าน แล้วอุตส่าห์ขับรถไปเที่ยวดิสนีย์เวิลด์ ไปดูอะไรต่ออะไรตั้งสองคืน ก็...คิดถึงอยู่ในใจ ช่วยอะไรไม่ได้ จะโทรศัพท์ไปเยี่ยมมันก็ไม่ได้ เขียนจดหมายมันก็ไม่ทัน ได้นึกแต่ในใจว่าขอให้ปลอดภัย ไม่ถึงกับเสียหายมากมายเกินไป
นี่เรื่องธรรมชาติ มันก็ต้องเกิดตามเรื่องของมัน เมื่อเกิดแล้วเราก็ต้องคิดปลงไป อย่าไปวิตกกังวลให้มันมากเกินขอบเขต เราทำอะไรกันไปตามหน้าที่ เคยมาวัดก็มาตามปกติ ฝนอาจจะตกบ้าง แต่ก็คงจะไม่รุนแรงมากเกินไป เราอย่าไปหวั่นไหว โยกโคลงกับสิ่งเหล่านั้น เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติดังที่ว่าแล้ว
เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีข่าว ในหน้าหนังสือพิมพ์ ว่ามีอัยการผู้หนึ่งที่อยู่จังหวัดราชบุรี ฆ่าลูกสาวสองคน ฆ่าภรรยา แล้วฆ่าตัวเองตาย ก็เป็นข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วก็มีการเขียน ว่า ท่านผู้นี้ตายเพราะว่า ทำสมาธิ แล้วก็ได้...พบได้เห็นอะไร ซึ่งผิดปกติ ก็นึกว่าตัวนี่ ได้บรรลุอะไรแล้ว แล้วได้พบธาตุอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าหากว่า เอามาใช้ในร่างกายมันจะใหญ่กว่าลูก บ้าแล้ว จะใหญ่กว่าลูก แล้วอาจจะทำลายลูกด้วยนะ อันนี้แกก็ยังไม่อยากจะทำลายลูก เลยทำลายตัวเองเสียก่อน เลยฆ่าตัวคนเดียวมันไม่พอ กลัวเกรงลูกจะลำบาก เลยฆ่าลูกเสียด้วย ฆ่าเมียด้วย ตายหมดทั้งครอบครัว รวมเป็นสี่คนด้วยกัน
ไอ้ตอนที่จะไปเอาลูกมาฆ่านี่ แกก็ไปรับลูกที่โรงเรียนอนุบาล ครูนั้นชื่อครูสายพิณ ก็...เห็นสีหน้าพ่อนี่ มันผิดปกติ คือหน้าเคร่งเครียด เอาจริงเอาจริงเหลือเกิน แกนึกว่า เอ...ถ้ามันจะไม่ดีแล้ว มารับลูก แล้วก็บอกว่าต้องมารีบรับลูกไป กลัวจะไม่ทันเวลา เหตุการณ์ร้ายมันจะเกิดขึ้นในครอบครัว ครูแกก็วิตกกังวล กลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ด้วยความปรารถนาดี ก็โทรไปบอกตำรวจ ที่โรงพักเมืองราชบุรี ตำรวจก็เอาใจใส่ดีเหมือนกัน ส่งตำรวจสองคนไปรักษาการณ์ ตำรวจสองคนก็ไปเดิน...อยู่หน้าบ้าน เดินไปเดินมาอยู่ บนบ้านก็ยังมีไฟสว่างอยู่ เดินอยู่จนถึง ประมาณเที่ยงคืน เห็นไฟดับก็นึก เอ้อ เขานอนกันแล้ว ไม่มีเรื่องอะไร ไม่มีศัตรูผู้มุ่งร้ายอะไร ก็โทรไปบอกผู้บังคับบัญชาบอก ไม่ ปกติ เหตุการณ์ปกติ ไม่มีอะไร ผู้บังคับบัญชาก็เรียก เอ้า ถ้าอย่างนั้นก็กลับได้ แกก็กลับไป รุ่งเช้าจึงรู้เรื่องว่าในบ้านนั้นมีการฆ่าตัวตายกัน คือให้ลูกกินยา แล้วก็ไปฆ่าเมีย ฆ่าแล้ว ห่มผ้าให้เรียบร้อย แต่ว่าเลือดมันก็ออกไหลผ้าอยู่ (06.19) มีกริชวางอยู่ข้างตัว แกก็มา นั่งบนเก้าอี้ใกล้หน้าต่าง เอาเชือกไนล่อน ผูกคอ แล้วไปผูกกับหน้าต่าง คงจะผูกกับขอสับหรืออะไรนั่น ผูกกับวงกบจะไปผูกไม่ได้ แล้วก็ ลดตัวลงไปหน่อยมันก็รัดคอ ลิ้นห้อย ลิ้นหล้อ (06.44) ถึงแก่ความตาย เมื่อตำรวจไปพิสูจน์
เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะอะไร เมื่อสองปีก่อนนี่ก็เกิดขึ้นที่จังหวัดนนทบุรี ครอบครัวนั้น คือไปนับถือพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า นับถือพระนารายณ์ แล้วคิดว่าจะต้องตายกันไปอยู่กับพระนารายณ์ เลยผู้คอหมด ลูกสาว ลูก เมียแกเอง แขวนเป็นแถว...ไปในบ้าน ตายกันเป็นแถวไป มันเรื่อง จิตมันวิปริต ผิดปกติขึ้นมา
แล้วก็ที่อเมริกานั่น นายโจอะไรนั่น แกก็เป็นหัวหน้าสอนศาสนาในนิกายของแก นิกายที่ไม่ค่อยจะเต็มเต็ง แล้วแก, คนก็มีความศรัทธา คนอเมริกานี่ที่โง่...ก็โง่นักหนานะ ไอ้ที่ฉลาดก็ฉลาดยอดคนเหมือนกัน ไอ้โง่ก็โง่ดักดาน ไปเชื่อไอ้นาย-นายโจนโจคนนั้นละ แล้วก็ชวนไปประเทศกายอานา ไปฆ่าตัวตายกัน ดื่มน้ำยาพิษ เพื่อฆ่าตัวตาย ตายแล้วจะไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ก็ตายกันไป เกือบพันคน แต่หัวหน้ามันกินน้อยไปหน่อย เลยไม่ตาย ต้องอยู่รับโทษต่อไป เป็นข่าว ปรากฏอยู่ในเรื่องนี้
นั่นเรียกว่า ตายเพราะความเชื่อผิดทาง ตายเพราะ “มิจฉาทิฏฐิ” คือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกิดขึ้นในใจ หนังสือพิมพ์เขาก็เขียนว่าอัยการคนนี้ เป็นผู้สนใจในการฝึกสมาธิมานาน แต่ว่าคงเป็นสมาธิที่ไม่ได้เรื่อง ฝึกเอาเอง โดยไม่มีครูมีอาจารย์ ไม่ได้ปรึกษาใคร ตามวิสัยของคนที่มีความรู้ แล้วก็ มีความหยิ่งในความรู้ของตัว นึกว่าไม่ต้องพึ่งครูบาอาจารย์ก็ได้ แล้วก็เลยถึงแก่กรรมกันไปในรูปอย่างนั้น มีคนอ่านแล้วเขาก็เขียนจดหมายมาถาม บอกว่าให้หลวงพ่อเทศน์ด้วย เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด ในเรื่องว่าคนไปทำสมาธิแล้วก็ เป็นบ้าไปก็มี ฆ่าตัวตายก็มี อันนี้มันเป็นการเสียหายแก่...สมาธิภาวนา ซึ่งคนสนใจไปประพฤติปฏิบัติกันอยู่ ไอ้คนที่ไม่ค่อยมีความรู้ ไม่ค่อยมีความเข้าใจ ก็อาจจะนึกว่า ไปทำเข้าเดี๋ยวจะเป็นบ้า ไปทำเข้าเดี๋ยวก็จะฆ่าตัวตาย ก็เลยไม่ไปฝึกสมาธิที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สนใจในเรื่องนี้ เขาขอร้อง เขียนจดหมายบอกให้หลวงพ่อช่วยพูดด้วย
วันนี้ก็จะพูดให้ญาติโยมฟังเสียหน่อย เพราะว่าการฝึก “สมาธิ” นั้นมันไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นเรื่องให้ประโยชน์แก่ชีวิตแก่การงาน และความเป็นอยู่ในครอบครัว ไม่ได้เสียหายอะไร เป็นข้อปฏิบัติอันหนึ่งในสามประการในทางพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า “สิกขา ๓” สิกขาคือเรื่องที่ต้องเรียนต้องศึกษามี ๓ ประการ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
“สีลสิกขา” ก็การเรียนการศึกษาเรื่องศีลให้เข้าใจ แล้วนำไปปฏิบัติ
“จิตตสิกขา” หรือ “สมาธิสิกขา” คือการเรียนเรื่องจิตเรื่องสมาธิ ให้เข้าใจแล้วเอานำไปปฏิบัติ
“ปัญญาสิกขา” คือศึกษาให้เข้าใจ สภาพต่างๆตามที่มันเกิดขึ้น เป็นอยู่ ดับไป ตามสภาพที่เป็นจริง ให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง แล้วเอาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อผ่อนคลายความทุกข์ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในชีวิต
เป็นเรื่องให้ประโยชน์ถ่ายเดียว ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหาย ไม่เป็นเรื่องที่ช่วยส่งเสริมความไม่เข้าใจ หรือความหลงผิด แล้วก็ทำอะไรที่ผิดๆพลาดๆนั้นไม่มี มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเข้าใจถูกต้อง เพื่อ “สัมมาทิฏฐิ” เท่านั้น
แต่ว่าคนมันมีพื้นฐานทางจิตใจไม่ค่อยถูกต้องอยู่ก่อน เช่นมีความเชื่อในเรื่องความขลังความศักดิ์สิทธิ์ ของอะไรๆต่างๆ อันเป็นความเชื่อแบบไสยศาสตร์ ความเชื่อแบบไสยศาสตร์นี้ ถ้ามีเป็นพื้นฐานในจิตใจ เวลาไปทำอะไรเข้า จิตมันก็โน้มเอียงไปตามพื้นฐานความเชื่อนั้น แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดปัญหาขึ้นในชีวิตได้
พระที่วัดนี้ก็มีอยู่องค์หนึ่ง พรรษานี้ไม่อยู่ ไปไหนก็ไม่บอก ไปทุกที ไม่บอก ถ้ากลับมา ถามอ้าวหายไปไหน ไม่เห็นบอกกล่าว อ้าว ไม่ต้องบอกหลวงพ่อ เบื้องบนสั่ง เบื้องบนสั่งให้ไป แล้วก็ไปหายไปเลย โน่น...ไปอยู่เชียงใหม่ ไม่ได้อยู่วัดวาอารามกับเขาหรอก ไปอยู่ป่าช้า อยู่องค์เดียว นี่ก็ไปอยู่โน่นละ หายไป เครื่องขยายเสียงเสียก็ไม่มีใครแก้ ไฟฟ้าเสียก็ขาดผู้แก้ คือว่า ท่านเป็นผู้มีความรู้เพราะเป็นทหารสื่อสารมาก่อน เป็นนายสิบ มีความรู้มีความเข้าใจเรื่องเครื่องขยายเสียงอะไรพอสมควร ก็ได้ใช้อยู่ อยู่ๆก็หายไปแล้ว หายไปหลายหนแล้ว แล้วเวลามาก็มาเอง มาแล้วถามว่าไปไหนมา “เบื้องบนสั่ง” ไอ้ความเชื่ออย่างนี้มันมีอยู่ในใจ เรื่องเบื้องบน ไม่รู้อะไรเบื้องบนของแก หลวงพ่อก็ไม่อยากซักถามให้มันเกิดความวุ่นวายใจ อยู่ๆแกขึ้นไปเดินบนกำแพง สบงโจงกระเบนเข้า ผ้าโพกหัว ขึ้นไปเดินอยู่บนกำแพงกลางคืน พระไปบอกอาตมา บอกว่า ทองหล่อขึ้นไปเดินอยู่บนกำแพงแล้ว อ้าว แล้วไง ก็มา มาถึงก็ “หล่อ” หันมา “ทำไมไปเดินอยู่บนกำแพงที่มันแคบ เดี๋ยวมันตกลงไปจะเดือดร้อนนะ ลงมาเสีย” อ่ะ ลงมา ลงมาดีนะ ไม่ว่าอะไร ลงมา บอกว่า “ไปนอนเสีย อย่าไปเดินอยู่” บอก “ไปหลับไปนอน” อย่าไปถามอะไรแกมากตอนนั้น มันจะยุ่ง เวลาให้ปกติค่อยถาม เวลาปกติก็ถามว่า “วันนั้นไปเดินอยู่บนกำแพงเรื่องอะไร” “เบื้องบนสั่งให้ไปเดินบนกำแพง” “เอ...ไอ้เบื้องบนนี่เลอะเทอะจริงๆ สั่งให้เดินในที่ไม่ควรเดินนี่ ถนนกว้างๆไม่สั่งให้เดิน แล้วไปเดินบนกำแพงที่แคบๆ แล้วก็ตกลงไปแข้งขาหักก็จะเดือดร้อนนะ อย่าไปเชื่อเบื้องบนนักต่อไปนี้น่ะ” ก็พยักหน้าอะไรไปตามเรื่อง มันยังไม่หาย แล้วก็ คราวหนึ่งต้องส่งไปอยู่โรงพยาบาลศรีธัญญา สองปี ไปอยู่นั่นสองปี อยู่จนกระทั่งปกติ แล้วก็กลับมาอยู่วัด อยู่ไป งานการขยัน ได้งานได้การ ไม่เหลวไหลอะไร แต่ถ้าว่า วันไหนมันเดือดขึ้นมา ก็เบื้องบนสั่งแล้วก็ไป เป็นอย่างนั้น ตลอดเวลา ปีนี้ก็ไปแล้ว หายไปแล้ว เบื้องบนสั่งอีกแล้ว แล้วก็ไป พื้นฐานทางจิดใจมันเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ชอบทรงเจ้าเข้าผี มาก่อน มีความเชื่อผิดมาก่อน อันนี้มาบวชแล้ว ถึงแม้ว่าจะสั่งสอนอบรมความเชื่อใหม่ให้กว้าง ไอ้นั่นมันยังอยู่ในใจ ฐานที่ผิดมันยังอยู่ เวลามาทำอะไร ฝึกสมาธิอะไร มันก็เขว...ออกไปนอกลู่นอกทาง เป็นอย่างนี้มีอยู่อย่างหนึ่ง คือ ฐานมันผิด ความเชื่อมันผิด
นี่อีกพวกหนึ่งไปฝึกสมาธินี่ ไม่รู้จุดหมายอันแท้จริงว่าเราฝึกสมาธิเพื่ออะไร การ “ฝึกสมาธิ” ก็เพื่อ ฝึก “จิต” ให้มัน “สงบ” ให้ “ตั้งมั่น” ให้ “อ่อนโยน” เหมาะที่จะใช้งาน ฝึกจิตให้มันสงบ ให้ตั้งมั่น ให้อ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งาน เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น ฝึกจิตเพื่อให้ มีฤทธิ์มีเดช มีปาฏิหาริย์ ให้มีตาทิพย์ หูทิพย์ อะไรไปอย่างนั้น ให้ได้เห็นนรกเห็นสวรรค์ ไปต่างๆ
มีพระองค์หนึ่งอยู่ทางภาคใต้ แกก็ไปฝึกจิตโน่น... ไปที่สำนัก ที่เขามีชื่อมีเสียง ไปทำๆก็ยังไม่ได้อะไร แต่ก็ยังจะไปทำ ถามว่าคุณไปทำทำอะไร “ผมทำเพื่อให้ได้มโนมยิทธิ” แล้วได้ “มโนมยิทธิ” คือฤทธิ์ทางใจแล้วคุณจะเอาไปทำอะไร เอาไปใช้ทำอะไรไอ้มโนมยิทธิน่ะ บอกว่า “ก็จะได้มีฤทธิ์มีเดช” “คุณจะเหาะข้ามภูเขาไปฝั่งโน้นรึ” แกก็ว่า “ถ้ามันมีฤทธิ์ มันอาจจะไปได้ก็ได้” ความเชื่ออย่างนี้มันมีอยู่ เรียกว่าเชื่อทางฤทธิ์เดช ไปทำสมาธิเพื่อได้ฤทธิ์ได้เดช ทำไปทำไปบางทีนั่งอยู่บนที่สูง ตัวมันเป็นสมาธิ ตัวมันเบาขึ้น พอรู้สึกตัวเบา กระโดดลงไป แข้งขาหักไปเลย กระโดดจากที่สูงมันก็ได้เรื่องไปละนี่ นี่เรียกว่าเข้าใจผิด จึงทำอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องที่เป็นสาเหตุให้คนทำสมาธิเกิดความหลงผิดด้วยประการต่างๆ
ทีนี้บางทีไปนั่งทำสมาธิ แล้วก็มันมี...อะไรเกิดขึ้นให้เห็น เช่นเห็นภาพต่างๆ เห็นภาพโน้นบ้างนี้บ้าง เห็นผีบ้างเห็นเปรตบ้าง เห็นอะไรต่างๆ ความจริงมันไม่ใช่ผลของสมาธิอะไร แต่มันเป็นผลของความฟุ้งซ่านของจิตที่คิดไปเอง คือทำไปทำไปแล้วมันก็เขวคิดไป คิดถึงเปรตก็มองเห็นเปรตเป็นภาพปรากฏ มองเห็นผีบ้าง มองเห็นช้าง มองเห็นเสือ แล้วมันก็เดินเข้ามาหาตัว เดินเข้ามาหาตัวก็เลยลุกขึ้นวิ่งหนีกระเจิดกระเจิงไป เสียสติไปเลย อย่างนี้ก็มี พระธุดงค์บางองค์ไปป่า ไปนั่งอยู่ในกลดน่ะ ความจริงช้างก็ไม่ได้มา เสือก็ไม่ได้มา แต่ว่าเที่ยวเห็นไป เห็นไปแล้วก็ออกจากกลดวิ่งหนีไป วิ่งไป ตัวล่อนจ้อนไปเลย จนกระทั่งต้องตามจับกันเอามาเข้ากรง ขัง รักษาทางหยูกทางยาอะไรกันต่อไป อย่างนี้ก็มี มีบ่อยๆ เพราะความ “ไม่เข้าใจ” พื้นฐานการศึกษามันน้อย แล้วก็ไม่ได้อาจารย์ที่ถูกต้อง อาจารย์บางองค์ก็มีความ “หลงผิด” เข้าใจผิด ในเรื่องการฝึกสมาธิ ต้องการฤทธิ์ ต้องการเดช ต้องการอยู่ยงคงกระพันอะไรต่างๆ
มีพระองค์หนึ่งไปอินเดียด้วยกัน ก็ห่มจีวรคร่ำๆ ท่าทางเคร่งๆขรึมๆน่ะ ก็เลยชวนคุย ชวนคุยกัน แกบอกว่า “ผมทำสมาธิมานานแล้ว ยังไม่ได้เห็นอะไรซักที” ก็ถามว่า “คุณอยากเห็นอะไร” “ผมอยากเห็นเลขสามตัว” ดู...เถอะ อุตส่าห์ไปนั่งทำสมาธิอยากจะเห็นเลขสามตัว ให้มันลอยเด่น...ออกมา เห็นเอาไปทำอะไร “ก็จะได้ไปบอกญาติโยมให้ไปซื้อให้มันถูกกันมากๆ แล้วจะได้มาทำบุญกับผมบ้าง” บอก อา...นี่มันไม่ได้เรื่อง เขวแล้ว คุณนี่มีความคิดผิดปกติแล้ว อุตส่าห์ไปนั่งหลังคดหลังแข็ง เพื่อจะให้เห็นเลขสามตัว มันไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่จุดหมายของการฝึกสมาธิตามหลักการในทางพระพุทธศาสนา แต่ว่า ไม่ได้รับการศึกษาถูกต้อง การศึกษาน้อย เรียนนิดๆหน่อยๆ แล้วก็มุ่งจะทำสมาธิ เสียดายเวลา เรี่ยวแรง และความตั้งใจของท่านรูปนั้น ที่เอาไปใช้ไม่ถูกทาง ถ้าหากว่ามี “พื้นฐาน” ถูกต้อง มี “ความคิด” ถูกต้อง มี “ความเข้าใจ” ถูกต้อง แล้วใช้เวลาที่ทำสมาธิเพื่อเห็นเลขสามตัวนั่น เอามาตั้งให้มันถูกทาง ก็จะได้สงบใจ มีความตั้งมั่น มีความอ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งานใช้การต่อไป แต่ว่า ไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะว่าอยู่บ้านนอก อันนี้พื้นฐานของคนในที่นั้นเป็นอย่างไร ของภาคนี่เป็นอย่างไร ก็เอาพื้นฐานนั้นเป็นที่รองรับ แล้วก็ไปปลูก...สมาธิขึ้นเพื่อให้ได้ผลตามที่ตนต้องการ แล้วก็ไม่ได้ผลอะไร ก็อธิบายให้ฟังว่าคุณเข้าใจผิด การทำสมาธิไม่ใช่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าให้ฝึกสมาธิไม่ได้เป็นไปเพื่ออะไร แต่เป็นไปเพื่อให้จิตสงบ ให้ตั้งมั่น ให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งานใช้การต่อไป นั่นคือจุดหมาย แต่ว่าไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่พบครูบาอาจารย์
บางทีก็ได้ครูเหมือนกัน แต่ว่าครูผิด เช่นการเจริญภาวนาในสมัยก่อนนี้ ต้องมีพิธีอะไรหลายอย่าง ต้องมีเทียนน้ำมนต์ เทียนขี้ผึ้ง ใช้จำนวนเท่านั้น เท่าอายุ แล้วก็มีเงินสามบาทใส่ขันน้ำมนต์ แล้วก็มีพิธีรีตอง อาจารย์มานั่งทำพิธีให้ ด้วยวิธีการไสยศาสตร์ จิตมันก็เขว...ไปตามแบบไสยศาสตร์ ไปทำอะไรก็มุ่งไปทางไสยศาสตร์ ทางฤทธิ์ทางเดช ทางขลัง เหมือนกับเรียนคาถาอาคม แล้วก็จะเอาไปปลุกไปเสก เสกใบไม้ให้เป็นตัวต่อตัวแตน หรืออะไรอย่างนั้น ถอนใบไม้มากอง...ท่วมหัว นั่งเสกอยู่นั่นแหละ... มันไม่เป็นซักที แล้วมันจะเป็นได้อย่างไร ก็มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำเช่นนั้น ไอ้นั่นเขาทำกันมาในสมัยก่อน เรียกว่าวิปัสสนา ซึ่งมันไม่ถูกต้อง คำว่า “วิปัสสนา” หมายถึงตัวปัญญา หมายถึงความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นๆตามสภาพที่เป็นจริง แล้วสภาพที่เป็นจริงที่เราควรจะรู้ควรจะเข้าใจนั้น ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า
สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา
ซึ่งพระบาลีที่เราสวดอยู่ทุกเช้า “สัพเพ สังขารา อนิจจา” สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง “สัพเพ สังขารา ทุกขา” สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ “สัพเพ ธรรมา อนัตตา” ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา เธอไม่มีตัวตน ไม่มีเนื้อแท้ที่ถาวร เราเรียกสั้นๆว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” นั่นแหละเป็นเรื่องที่จะต้องรู้ ต้องเข้าใจ ให้เกิดขึ้นในใจของเรา เป็นเรื่องที่เราต้องรู้ วิปัสสนาหมายถึงว่ารู้เห็นสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง เรา “เรียน” นี่เรียกว่าเรา “รู้” แต่ว่ามี “ปัญญา” เกิดขึ้นก็เรียกว่า “เห็น” ประจักษ์แก่ใจถูกต้อง ในเรื่องนั้น แล้วก็ไม่มีความ “หลง”ไม่มีความ “มัวเมา” ไม่มีความ”ยึดถือ” ในเรื่องนั้นต่อไป นั่นคือจุดหมายที่ต้องการ แต่ว่าไม่เข้าใจ ก็นึกว่าไปนั่งแล้วจะเห็นนั่นเห็นนี่ บางคนไปนั่งแล้ว ไปถามว่านั่งแล้วเห็นอะไรบ้างล่ะ เห็นอะไรบ้าง เห็นนรกไหม เห็นสวรรค์ไหม บางคนก็ไปนั่งดู อยากจะรู้ว่าคุณพ่อที่ตายแล้วไปอยู่ไหน คุณแม่ที่ตายแล้วไปอยู่ไหน ไม่ได้เรื่อง เรียกว่าไปทำที่ไม่ถูกทาง ไปอยากรู้ในสิ่งที่ไม่น่าจะรู้ ไม่น่าจะเข้าใจ ก็เลยทำให้เกิดความไขว้เขวขึ้นในใจด้วยประการต่างๆ มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจเพราะไม่ได้ ไม่เห็นสิ่งนั้น แล้วก็เบื่อหน่ายในการบำเพ็ญจิตที่เป็นบุญเป็นกุศล เคยเข้าวัดก็ ไปเลย ไม่มาวัดต่อไป เพราะไม่ได้สิ่งที่ตนต้องการ มันผิดมาตั้งแต่ต้น “ฐานผิด” ปลูกต้นไม้ลงไปก็ผิด ดอกผิด ผลผิด ผิดหมด เลยมันเสียหาย นี่เป็นอย่างนี้ เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็เหมือนกับอัยการคนนั้น แกไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไร แล้วก็ไม่ไปหาพระหาเจ้า หมกมุ่นอยู่คนเดียว นึกว่าเป็นทางที่ตนทำถูกแล้ว ชอบแล้ว แล้วก็เข้าใจผิดจนกระทั่งฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยแม้แต่น้อย ก็น่าสงสาร อ่านข่าวแล้วก็นึกสงสารในใจว่า ปัดโธ่เอ๊ย มีความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด ความจริงพระสงฆ์องค์เจ้าก็ไม่ไกลจากบ้านที่ตัวพักในจังหวัดราชบุรี ก็ควรจะไปนมัสการ ไปสนทนา ไปทำความเข้าใจกันบ้าง แต่ไม่ไป เพราะนึกว่า เรามัน “รู้กว่าพระ” ไอ้นี่ก็มีเหมือนกัน รู้กว่าพระแล้ว เลยไม่ไปหาพระ ไอ้สิ่งที่ตัวรู้กว่าพระน่ะ คือไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไรถูกต้อง รู้ผิดทั้งนั้น เข้าใจผิดทั้งนั้น แล้วก็ไม่ไปศึกษา อันนี้ก็เป็น เหมือนกับว่า “ภูเขากั้น” ไม่ให้เราเดินไปถูกทาง เที่ยวปีน...อยู่หน้าผา มันไม่ได้ถึงยอดภูเขาซักที ปีนไปปีนมาก็หมดแรงเลยก็ถึงแก่ความตายไปเท่านั้นเอง เรื่องมันเสียหายอย่างนี้
จึงขอให้ญาติโยมเข้าใจว่า การฝึกสมาธิที่ถูกต้อง ไม่ได้ทำคนให้เป็นบ้า ไม่ได้ทำคนให้เสียอะไรๆจนถึงกับฆ่าตัวตาย แต่ถ้าเราไปฝึกสมาธิให้ถูกต้อง จิตเราจะ “สงบ” ขึ้น จะ “สะอาด” จะ “สว่าง” ขึ้น และจะมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ให้เข้าใจอย่างนี้ ก็จะไม่มีความไขว้เขวไปในเรื่องอะไรต่างๆ ตั้งฐานให้มันถูกแล้วมันก็ดี มันไม่เสีย
อันนี้จิตของคนเรานั้น โดยปกติมันเป็นอย่างไร จิตของคนเรานั้น ถ้าพูดกันถึงว่าจิตเดิมแท้ๆของเรานั้น เป็นสิ่งที่สะอาด ผ่องใส เอี่ยม พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสคำยืนยันว่า “ปภัสสรมิทัง ภิกขเว จิตตัง ตัญจโข อาคันตุเกหิ อุปกกิลิฏฐัง” ว่า “ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นธรรมชาติผุดผ่อง คือสะอาดอยู่ตลอดเวลา” แต่มันเศร้าหมองเพราะสิ่งที่มากระทบ สิ่งที่มากระทบจิตให้เศร้าหมองนั้นคืออะไร เราเรียกกันว่า “อารมณ์” อารมณ์ ที่เรามักจะพูดว่า อารมณ์ไม่ดี ไอ้ความจริงมันไม่ใช่อารมณ์ไม่ดี แต่พูดกันอย่างนั้นละ คือ “ใจ” เราไม่ดี ใจเราไม่ดีก็เพราะว่ามีอะไรเข้ามาครอบงำ เข้ามากระทบ สิ่งที่มากระทบใจเรานั้นก็ได้แก่ “รูป” เข้ามาทางตา “เสียง” เข้ามาทางหู “กลิ่น” เข้าทางจมูก “รส” ผ่านลิ้น “โผฏฐัพพะ”ผ่านกาย แล้วก็ไปถึงใจ ใจขาดสติขาดปัญญา ไม่รู้ทันไม่รู้เท่าต่อสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง เลยไปรับสิ่งนั้น ไหว้ผิด พอรับไหว้ผิดก็เกิดความยินร้าย เกิดความ “ยินดี” บ้าง เกิดความ “ยินร้าย” บ้าง ความยินดีก็ไม่ถูกต้อง ความยินร้ายก็ไม่ถูกต้อง ถ้ายินดีมันก็ “ฟู” ขึ้น ยินร้ายมันก็ “แฟบ” ลงไป ถ้าเปรียบด้วยของฟูของแฟบ มันก็อย่างนั้น พอเรายินดีมันก็ฟู...ขึ้น พอเรายินร้าย มันก็แฟบ...ลงไป มันมีการขยายตัวแล้วก็หดลงไป เป็นสภาพอย่างนั้น จิตที่มีสภาพอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวแท้แล้ว ไม่ใช่จิต “ดั้งเดิม” แล้ว เป็นจิตที่ถูก “ปรุงแต่ง” ด้วยอารมณ์ที่มากระทบ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่มากระทบ ทำให้ใจเราเป็นอย่างนั้น เขาเรียกว่า “ไม่เป็นตัวเอง” แล้วต่อไปมันก็เกิดความอยากได้ เกิดความอยากผลักดัน ก็มีอยู่สองอย่างที่มันมีอยู่โดยปกติก็คือว่า อยาก “ดึงเข้า” มา “ผลักดัน” ออกไป ถ้าสิ่งใดเราชอบ เราพึงใจ เราก็จะดึง...เข้ามา ดึงเข้ามา แต่สิ่งใดที่เราไม่ชอบไม่พึงใจ เราก็ผลักออกไป อันนี้การดึงกับการผลักนี่ เราลองนึกถึงด้านวัตถุ เช่นเราจะดึงอะไรมา มันต้องออกแรงหรือไม่ มันต้องออกแรง ดึงอะไรมันต้องออกแรง มันต้องเหนื่อย แล้วจะผลักออกไป มันก็ต้องออกแรงอีกเหมือนกัน สิ่งใดที่ก่อให้เกิดความยินดีก็ดึงเข้ามา สิ่งใดที่ก่อให้เกิดความยินร้ายก็ผลักดันออกไป ให้เรานึกถึงเรื่องร่างกาย เราจะดึงอะไรนี่มันก็เหนื่อย ผลักดันอะไรมันก็เหนื่อยด้วยเหมือนกัน สิ่งที่กระทบใจก็เป็นสภาพเช่นนั้น ถ้าเราเกิดไม่พอใจก็ผลักดัน ไม่อยากพบไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยินได้ฟังสิ่งนั้น เพราะเราไม่พอใจ แต่ถ้าสิ่งใดพอใจก็อยากดึงเข้ามา แม้สิ่งนั้นผ่านไปก็ (30.21 เสียงขาดหาย) ตามดูไปว่าเขาไปไหน เขาทำอะไร นี่มันชอบใจ ความชอบใจก็ไม่ถูกต้อง ความชังก็ไม่ถูกต้อง ยินดีก็ไม่ถูกต้อง ยินร้ายก็ไม่ถูกต้อง
แล้วความ “ถูกต้อง” มันอยู่ตรงไหน มันอยู่ที่ความ “สมดุลทางจิตใจ” คือว่าไม่เอียงไปขวา ไม่เอียงไปซ้าย มันตรงดิ่งอยู่ที่เดียว ตรงดิ่งอยู่ที่เดียวก็หมายความว่า “ไม่ยินดี” แล้วก็ “ไม่ยินร้าย” ในเรื่องนั้น การที่จะไม่ยินดีไม่ยินร้ายในเรื่องนั้นก็เพราะว่า เรามี สติคอยกำหนดรู้อยู่ มีปัญญาคอยพิจารณาอยู่ เขาจึงฝึกให้มีสติมีปัญญา เพื่อให้มีสติคอยควบคุม ให้มีปัญญาคอยกำหนดรู้ “สติ” คือความ “รู้ทัน” “ปัญญา” ก็คือความ “รู้เท่า” ต่อสิ่งนั้น รู้ทันนี่มันมาก่อน แล้วรู้เท่าตามมา พอสติเกิดขึ้น ปัญญาก็ตามมาเสริม ให้เกิดความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรขึ้นมา เช่นเราเห็นอะไร เรารู้ทัน คือตัวสติ ปัญญาก็มาว่านั่นคืออะไร วิจัยวิจารณ์ คิดค้นในเรื่องนั้นขึ้นมาตามมา เราก็รู้ว่ามันคืออะไร ควรจะเข้าไปยึดถือไหม ควรจะเข้าไปยินดียินร้ายกับสิ่งนั้นไหม หรือนึกแต่เพียงว่า สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปตามกฎของธรรมชาติ ไม่ว่าเรื่องอะไร มันก็มีสามเรื่องเท่านั้น “เกิดขึ้น” “ตั้งอยู่” “ดับไป” เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันมีสามมุม แค่ว่า …… (32.07) เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วเราจะไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่ง ในเรื่อง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนั้น มันเป็นการไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะพึงกระทำเช่นนั้น แต่เราควรจะมีความรู้ทันรู้เท่าว่า สิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งตั้งอยู่ สิ่งนั้นดับไป มีสติอยู่อย่างนี้ สติถ้าคอยกำหนดรู้อยู่ ความทุกข์ก็ไม่เกิด ความทุกข์ไม่เกิด ความทุกข์ไม่เกิดเพราะเรามีสติคอยควบคุม ควบคุมที่อะไร ที่ “ผัสสะ” ที่การกระทบนั่นเอง ตาเห็นรู้ เกิดความรู้ทางตาเรียกว่า “จักขุวิญญาณ” ความรู้ตา ความรู้ทางตาเป็นสามเรื่อง (32.57) เรียกว่าผัสสะ พอเกิดผัสสะ คุมตรงนี้ได้ คุมไว้ด้วยสติด้วยปัญญา ถ้าเราคุมไว้ด้วยสติปัญญา ความทุกข์มันก็ไม่เกิด เพราะถ้าคุมได้ ความโง่มันก็ไม่เกิด เมื่อความโง่ไม่เกิด ทุกข์ก็ไม่เกิด ทุกข์เกิดขึ้นเพราะ “ความโง่” คือไม่รู้ไม่เข้าใจ ได้เข้าไป “ยึด” สิ่งนั้น เอาว่าเป็นตัวตน เป็นของเรา อะไรขึ้นมา แล้วมันก็เป็นทุกข์ ถ้าเรามีสติมีปัญญากำกับอยู่ ความทุกข์นั้นก็จะไม่เกิด เพราะใจเรานั้นคิดได้ทีละอย่าง คิดสองอย่างไม่ได้ในเวลาเดียวกัน เวลาใดใจมีสติมีปัญญา สิ่งอื่นมันก็ไม่เกิด แต่ถ้าไม่มีสติปัญญา สิ่งอื่นก็เกิดขึ้นได้ เกิดขึ้นแล้วทำใจของเราให้เศร้าหมอง ไม่ผ่องแผ้ว ทำให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนขึ้นในใจของเรา และเมื่อความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว เราก็ไม่รู้ว่า ความทุกข์นั้นคืออะไร คิดแต่เรื่องทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ อยู่อย่างเดียว แต่ไม่ได้คิดว่าทุกข์นี้มาจากอะไร ไม่ได้เอาหลักการของพระพุทธเจ้าไปใช้
หลักการของพระพุทธเจ้าคือสอนให้รู้ว่า ทุกข์คืออะไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ทุกข์เป็นเรื่องแก้ได้ แล้วจะแก้ได้ด้วยวิธีใด
สอนครบ ทั้งสี่เรื่อง สอนเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับได้ ดับได้โดยอะไร ท่านสอนไว้ทุกเรื่อง อัน “หลักการ”นี้ เป็นหลักการที่เราจะต้องนำมาใช้ ในชีวิตประจำวัน แก้ได้ทุกเรื่อง เรื่องชีวิต เรื่องการงาน เรื่องการสังคม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการบ้านการเมือง ก็ใช้หลักการ ๔ ประการนี้เป็นมาตรฐาน เป็นสิ่งสำหรับเป็นเครื่องพิจารณา โดยอาศัยว่า มีอะไรเกิดขึ้น เกิดขึ้นจากอะไร แล้วดับได้ไหม ดับได้ด้วยอะไร เราต้องคิดในแง่อย่างนั้น แต่ส่วนมากไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดแต่เรื่องทุกข์ ทุกข์ทุกข์ทุกข์ นั่งกลุ้มใจ เป็นทุกข์เพราะเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วไม่คิดหาทางแก้ไขในความทุกข์นั้น เพราะไม่ได้ใช้หลักการของพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวแล้ว เราก็มีแต่ความกลุ้มใจไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นจึงควรจะหัดใช้ “ปัญญา” เป็นเครื่องพิจารณา
เช่น นักเรียนนี่ สอบไล่จบ นักเรียนมานั่งฟังอยู่ ข้างหลังนี่ พวกหนูฟังให้ดี สอบไล่จบ เสียใจ เสียใจเสียดาย ร้องไห้ร้องห่ม ว่าสอบไล่ตก แล้วก็เสียใจอยู่อย่างนั้น บางคนก็ ไม่เรียนละ เพราะสอบไม่ได้ เลิกเรียนเลย อ้าว เลิกเรียนแล้วมันจะได้อะไร ก็กลายเป็นคนไม่มีความรู้ไม่มีความเข้าใจ โตขึ้นก็ มีชีวิตอย่างลำบาก เพราะจะไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปสมัคร ไม่มีความรู้สำหรับใช้ ไม่มีความสามารถในการที่จะใช้ความรู้ และบางทีก็ประพฤติออกนอกลู่นอกทาง พอไม่เรียนหนังสือก็ไปเที่ยวไปเตร่ คบเพื่อนชั่วตามหน้าโรงหนัง ไปดมทินเนอร์ ไปสูบผงขาว ไปสูบกัญชา เรื่องเหลวทั้งนั้น ชีวิตก็เริ่มออกไปนอกทางแล้ว ไม่เดินอยู่ในเส้นทางที่ถูกที่ชอบ ชีวิตตกต่ำไม่ก้าวหน้า แต่เพื่อนฝูงที่เขาสอบได้ เขาก้าวหน้าไป โดยลำดับ จนกระทั่งเรียนสำเร็จได้ทำงานทำการ ตัวนั่งคิดถึงเพื่อนแล้วเศร้าใจเสียใจ เสียใจแล้วพูดกันไป “ไอ้เรามันโชคไม่ดี เกิดมาอย่างนี้” อ้าว มันไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่โชคไม่ดี ไม่ใช่เกิดมาอย่างนี้ เราทำให้มันเกิดขึ้น ทำให้มันเกิดขึ้นเองในชีวิตของเรา ไม่ใช่ใครทำให้ เราทำให้แก่ตัวเอง เพราะเราไม่รักการเรียน ไม่ขยัน ไม่เอาใจใส่ ไม่คิดไม่ค้น กลับบ้านก็โยนหนังสือเข้ามุมห้อง ไปเที่ยวเล่นอยู่ในสนามโน่น ไปเที่ยวไปเตร่ กลางคืนก็ไม่ทำการบ้าน ไม่อ่านหนังสือ ไปดูโทรทัศน์ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ว่าไม่เตือน ผสมโรงกันเข้า ทำให้ลูกเสียหาย เอาตัวไม่รอด นี่เรียกว่าช่วยกัน คุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยกันให้เสียผู้เสียคน ชีวิตก็ไปไม่รอด
“เหตุ” มันอยู่ที่อะไร เหตุมันอยู่ที่ตัวของนักเรียนเอง ที่ไม่รักการเรียน ไม่ขยัน ไม่เอาใจใส่ ไม่คิดไม่ค้น ไม่ศึกษาให้มันละเอียด แล้วก็สอบตก ถ้าเราสอบตกแล้วเราก็มอง “ตัวเอง” เราเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า คือเอามาเป็นหลักพิจารณาว่าอะไรๆที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น มันเกิดขึ้นเพราะ การกระทำของเราเอง ไม่ใช่เกิดเพราะดวงไม่ดีโชคไม่ดี หรือเพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้มาดลบันดาลให้เราเป็น ไม่ใช่อย่างนั้น อย่าไปเชื่อหลักนั้น ถ้าไปเชื่อหลักนั้นแล้ว ชีวิตจะไปไม่รอด เพราะไม่มีการปรับตัวเอง ไม่มีการ “แก้ไข” ตัวเอง แล้วจะไปได้อย่างไร จะไปขอร้องให้สิ่งนั้นมาช่วยสิ่งนี้มาช่วย มันก็ช่วยไม่ได้ ช่วยเราไม่ได้ เราไม่ช่วยตัวเอง เราช่วยไม่ได้
เหมือนในเรื่องนิทานอิสป ที่คนขับเกวียนไปในป่า ล้อเกวียนตกหล่มลึก แล้วก็ไม่คิดช่วยตัวเอง ไม่คิดพึ่งตัวเอง ลงไปนั่งยกมือประนม... อ้อนวอนเทพเจ้า ให้มาช่วยสักทีเถอะ... อ้อนวอนอยู่นั่นแหละ เทพเจ้าก็เกลียดขี้หน้ามันแล้ว ก็เลยแปลงตัวเป็นคนลงมาถึงบอกว่าเจ้ามัวแต่นั่งอ้อนวอนแล้วล้อเกวียนมันจะขึ้นจากหล่มได้ยังไง ลองเอาบ่าไปแบกล้อกวียนเข้าสิ แล้วเอาไม้ เฆี่ยนควายเข้า ให้มันกระชากไป มันก็ขึ้นได้นั่นแหละ อ่ะ พอเทวดาบอกอย่างนั้นก็เลยไปเอาบ่าแบกล้อเกวียน เฆี่ยนควาย ให้มันเจ็บหน่อย มันก็กระชากไปได้เท่านั้นเอง มันก็เท่านั้น มันช่วยตัวเองแล้วมันก็ไปได้ ถ้าไม่ช่วยตัวเองมันไปไม่ได้ นั่งอ้อนวอนเทวดาก็ช่วยไม่ได้ แต่ว่าในเรื่องอิสปเขาสอนใจว่า ต้องช่วยตัวเอง ต้องพึ่งตัวเอง
เมื่อวานนี้ก็คนหนุ่มมางานศพน่ะ ขับรถ ฝนมันตกหนักเมื่อวาน แล้วมันก็มีคูมีที่, ข้างถนนมันเป็นคู หลังเมรุ ตกมาหลายรายแล้ว ตกมาหลายรายแล้ว ที่ตกนั้นก็เพราะประมาท ขับรถไม่ระมัดระวัง ก็ตกลงไปทั้งสองล้อ นอนตะแคง หลวงพ่อเทศน์เสร็จแล้วมาเจอ อ้าว เป็นไง เห็นหรือเปล่าว่ามันเป็นน้ำน่ะ ขับลงไปทำไม บอกว่านึกว่ามันไม่ใช่น้ำลึก ว่าอ้าว ลึกไม่ลึกมันก็น้ำนั่นแหละ เธอขับลงไปทำไม อ้าวทำยังไงล่ะ ให้ขึ้นน่ะ ลองไปยกดูสิ ยกมันก็ไม่ขึ้น มันหนักไง เลยบอกนี่ รถปิคอัพมีตั้งหลายคัน ไปไหว้เขาสิ หาเชือกมาผูกให้เขาลากไป เลยไปขอรถปิคอัพ เอาเชือกผูก ช่วยกันลาก แต่ว่าลากอย่างเดียวมันก็ไม่ขึ้นละ ต้องช่วยกันยกล้อ ให้ขึ้น แล้วก็ลาก มันก็พ้นไปได้ มันก็ได้ด้วยช่วยตัวเอง ถ้าไปนั่งอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดนี้อยู่ มันก็ช่วยไม่ได้ หรือจะไปบนบานศาลกล่าวกับหลวงพ่อให้ช่วย มันก็ช่วยไม่ได้ เราช่วยไม่ได้ เราต้องช่วยตัวเอง
มีอยู่คืนหนึ่ง เทศน์ที่บนธรรมาสน์เสร็จแล้ว พอจะลงจากธรรมาสน์ มีคน ผู้ชาย เอาผ้าเช็ดหน้า ล้วงกระเป๋ามาถึงปู... ถามว่ามาปูทำไม “ปูให้หลวงพ่อเหยียบ” มันจำเป็นอะไรที่ต้องเหยียบผ้าด้วย “เหยียบเอารอยเท้าหน่อย ผมจะเอาไปไหว้บูชา” เอ...ไอ้อย่างนี้มันทำแบบโง่ๆนี่นา เลยคิดต่อว่าแบบโง่ๆ อะไรเอาขี้ตีนไปบูชา มันได้เรื่องอะไร เขาเอา “ธรรมมะ” หลวงพ่อเทศน์ไปตั้งเกือบชั่วโมงแล้ว เอาไอ้นั่นละไป เอาไปปฏิบัติ ไม่ใช่เอาผ้ารองเท้าเหยียบให้ได้ อย่างนั้น คนอย่างนั้น กราบพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มาแล้ว โอย มาแล้วปูผ้าเป็นแถว... พระท่านก็เดินเหยียบสบาย...ไป คือช่วยให้คนโง่หนักลงไปอีก ไม่ใช่เรื่องอะไร ไปเหยียบทำไม เหยียบแล้วมันได้อะไรขึ้นมา มันไม่ถูกต้อง เราควรจะบอกว่า “โยม เก็บผ้าด้วย อาตมาไม่เหยียบละ ผ้าโยมจะสกปรก เพราะอาตมาเดินตีนเปล่ามามันเปื้อน อย่าให้เหยียบเลย” เออ คนมันก็จะฉลาดขึ้น ให้เอาธรรมมะไป
เหมือนกับว่าเราไหว้พระพุทธเจ้า ไปไหว้ “พระบาท” นี่ ไม่ใช่ว่าไปไหว้พระบาทแล้วมันจะได้ขึ้นสวรรค์นะ เขาบอกไปไหว้เจ็ดครั้งแล้ว ไม่ตกนรกแล้วละ ให้ไปไหว้ซักสามสิบสี่ครั้ง มันก็ยังตกอยู่ถ้าไปไหว้ด้วยความโง่ความเขลา เราไปไหว้พระบาทนี่ อาตมาก็เคยไป คือไปดูว่ามันเป็นอย่างไรตอนนี้ สภาพพระบาทมันเป็นอย่างไร เขาทำอย่างไร คือเขาเจาะลงไปในหินนั่นเอง หินนั่นเป็นรูอยู่แล้ว ก็ไปสลักให้มันเป็นรูปเป็นรอยต่างๆ ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าทรงธรรมนี่แกเป็นพระมาก่อน เป็นชั้นสมเด็จนะ สมเด็จวันรัตน์วัดป่าแก้ว แล้วแกก็ ถูกลูกบุญธรรมไปอ้อนวอนให้สึก เพราะลูกบุญธรรมนั้นไปคิดปฏิวัติรัฐประหาร กบฏนะ สมัยก่อนนี่ แต่ว่าทำสำเร็จ ทำสำเร็จ ไอ้ตัวจะขึ้นครองราชสมบัติเอง มันก็ไปไม่รอด บารมีไม่พอ เลยก็ไปหาหลวงพ่อในวัดดีกว่า เป็นหลวงพ่อ เป็นบุตรบุญธรรมกัน บอกว่าหลวงพ่อสึกแล้วไปครองบ้านครองเมือง แล้วไปสึกไปครองเมือง คนมันก็นินทา ซุบซิบกันทั่วบ้านทั่วเมือง โอ... พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้สึกออกมาแย่งราชสมบัติเขา อ่ะ ว่ากันบ่อยๆ ต้องการจะกลบเกลื่อนภาพพจน์ที่ไม่ดีนั้น ก็เลยไปให้คนไปทำรอยพระบาทไว้ที่ใน ที่... วัดพระพุทธบาทเดี๋ยวนี้น่ะ แล้วให้นายพรานไปพบ แผนการทั้งนั้นน่ะ แผนการพระเจ้าทรงธรรมทั้งนั้น ให้คนไปพบมา แล้วก็เลยเสด็จไปไหว้พระบาท ไอ้คนมันก็ได้รู้ พระเจ้าแผ่นดินนี้มีบุญ ได้พบรอยพระบาทพระพุทธเจ้า ไอ้เรื่องปล้นราชสมบัติมันก็หายไป กลบเกลื่อน แต่เทศน์อย่างนี้ก็ไม่ได้เหมือนกัน เขาว่าเอา แต่ว่าความจริงมันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องอะไร
อันนี้เขาทำพระบาทไว้เพื่ออะไร พระบาทของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในยุคที่ไม่มีพระพุทธรูป ในยุคนั้นยังไม่มีพระพุทธรูป แต่ว่าการไหว้รูปเคารพมีทั่วไปแล้ว อิทธิพลการไหว้รูปเคารพนี่มันแพร่หลาย มีมาก พุทธบริษัททนไม่ไหว ก็ต้องทำรูปบ้าง ก็ทำรูปพระบาทให้คนไหว้ ไอ้ชั้นแรกทีเดียวก็ทำ “แท่น” ไม่มีอะไร แท่นเฉยๆ วัดพระแท่นศิลาอาสน์ สถานบุรีอะไรนั่นน่ะ มาจากยุคไม่มีพระพุทธรูป พระแท่นอุตรดิตถ์ก็เหมือนกัน ยุคไม่มีพระพุทธรูป แล้วต่อมาก็ เออ ไหว้แต่พระแท่น เอ้า ไหว้พระบาท รอยเดียวบ้าง สองรอยบ้าง
ที่วัดจังหวัดอุตรดิตถ์น่ะ มีทั้งวัดพระแท่นและวัดพระยืน วัดพระยืนนั่นมีรอยพระบาท วัดพระแท่นนั้นมีพระแท่น สมภารสองวัดนี่ทะเลาะกันเกือบทุกเดือน แย่งผลประโยชน์กัน ไม่ใช่เรื่องอะไร ทั้งสององค์นั้นไม่ได้เดินตามรอยพระบาทพระพุทธเจ้า ไม่เดินตามพระพุทธเจ้า แย่งลาภ แย่งสักการะกัน เป็นข้อร้อย (45.38) ความกันให้วุ่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ขายหน้าเขาบ้างเลย มันเป็นอย่างนั้น เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจ เราจะไปแย่งกันทำไม ไอ้ของ ของภายนอก มันไม่จำเป็นอะไร มันเป็นอย่างนั้น เพราะไม่รู้
อันนี้เราไปไหว้พระบาท ก็ไปไหว้เพื่อ เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธเจ้า “รอยแท้จริง” ของพระพุทธเจ้าก็มีสามรอย “รอยศีล” “รอยสมาธิ” “รอยปัญญา” เราเดินตามรอยนั้น เดินด้วยการถือศีล ด้วยการทำจิตให้เป็นสมาธิ ด้วยการคิดค้นให้เกิดปัญญา แล้วเราจะพบพระพุทธเจ้า องค์ “พุทธะ” ที่เราพบก็คือความ “สะอาด” “สว่าง” “สงบ” ในจิตของเรา เมื่อจิตเราสะอาดปราศจากกิเลส ทุกประเภท เราก็เรียกว่าเป็นพุทธะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรียกว่าพบองค์พระพุทธเจ้าเข้าให้แล้ว นั่นแหละเป็นเนื้อแท้
แต่คนก็ต้องการอย่างนั้นแหละ ต้องการ “วัตถุ” ต้องการชานหมากที่พระเคี้ยวแล้วบ้าง ต้องการดอกไม้บ้าง ต้องการผ้าที่ท่านนั่งบ้าง ถ้าจีวรฉีกได้ มันจะฉีกเอาจีวรไปเลย ไอ้เวลาเป็นไม่ฉีก พอตายแล้ว ผ้าอ่อนจีวรนี่ โอย แย่งกัน แย่งฉีกกันไปเอาคนละชิ้น คนละชิ้น ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องไม่รู้ทั้งนั้นแหละ เอากันไป พระก็ส่งเสริม ให้เอาไป เพราะว่ามันได้อะไรตอบแทนเป็นวัตถุ ซึ่งมันไม่จำเป็นอะไร ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจอย่างนี้ วันนี้ก็ฝนฟ้าไม่ตกดี พูดมาก็พอสมควรแก่กาลเวลา ต่อนี้ไปก็ ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ