แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านที่ได้มาสู่สถานที่นี้พึ่งตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่มีผลมาก ตกมาตั้งแต่อาทิตย์ก่อน แล้วอาทิตย์นี้ก็เมื่อตอนเช้านี้ ต้อนรับญาติโยมเยอะ..พอสมควร แต่ว่าพอถึงเวลาปาฐกถาฝนก็หาย สะดวกสบายแก่พวกเราทั้งหลายที่จะทำกิจศาสนากันต่อไป ในวันนี้จะพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เจ้าหน้าที่มาทำการอัดเสียง เพื่อจะเอาไปออกโทรทัศน์ช่อง ๕ ต่อไป เพราะฉะนั้นขอให้ญาติโยมตั้งใจฟังด้วยดี
เรื่องของพระบรมราชินีนาถของพวกเราทั้งหลายนั้น เป็นเรื่องที่เราทุกคนไม่ว่าพระหรือชาวบ้าน เอ่ยพระนามของพระองค์ด้วยความปลื้มอกปลื้มใจ เพราะว่าพระองค์ได้อุบัติบังเกิดขึ้นในประเทศไทยในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๕๙ ปีมาแล้ว แล้วก็ได้เจริญเติบโตขึ้นจนได้เป็นคู่บารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคู่บุญคู่บารมีด้วยกัน ทรงบำเพ็ญประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนมาด้วยกัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นผู้ที่มีศรัทธาในพระศาสนาเหมือนกัน มีศีล มีระเบียบเหมือนกัน มีปัญญาสามารถเท่าเทียมกัน เป็นผู้มีความเสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนเท่าเทียมกัน นับว่าเป็นผู้อยู่ครองบ้านครองเมืองด้วยดี ได้ทำแต่ประโยชน์และความสุขแก่ประชาชน
พวกเราชาวไทยทั้งหลายที่ได้เกิดมาบนพื้นแผ่นดินไทยนี้ นับว่ามีบุญ มีบุญอยู่ตรงที่เรามีประมุขของชาติ เป็นผู้ทรงศีล ทรงธรรม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า บ้านเมืองเราจึงได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา แม้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในบ้านในเมืองของเราบ้าง แต่เหตุการณ์นั้นก็ไม่ยืนยาว เกิดแต่เพียงสั้นๆ แล้วก็จบลงด้วยความเรียบร้อย เช่น เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการเมืองที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม บางคนเรียกเดือนพฤษภาคมว่า “พฤษภาทมิฬบ้าง” “พฤษภาคมโหดบ้าง” ความจริงเดือนพฤษภาคมนี้ไม่ได้เสียหายอะไร เป็นเดือนที่มีคุณค่าแก่ชีวิต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายก็ประสูติในเดือนพฤษภาคม คือวันเพ็ญกลางเดือน๖ ตรัสรู้ก็ในเดือนพฤษภาคมวันเพ็ญกลางเดือน๖ เสด็จปรินิพพานก็ในเดือนพฤษภาคม วันเพ็ญกลางเดือน๖เหมือนกัน เดือนพฤษภาคมจึงเป็นเดือนที่ไม่ได้เสียหาย เป็นเดือนที่มีคนดีๆเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรามากเหมือนกัน ท่านเจ้าคุณพุทธทาสซึ่งเป็นพระมหาเถระ ที่รักที่เคารพของประชาชนทั่วบ้านทั่วเมือง ท่านก็เกิดในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม เมื่อหลายปีมาแล้ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขาถือว่าเป็นเสาหลักประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นในเดือนเมษายน ก่อนหน่อยเดือนเมษายน
แต่ว่าท่านปัญญานันทะนี้ก็เกิดในเดือนพฤษภาคมเหมือนกัน มีคนเกิดเดือนพฤษภาหลายคน ล้วนแต่เป็นคนดีๆ แก่ทำงานเป็นประโยชน์แก่ชาติแก่พระศาสนา เราจึงไม่ควรจะเรียกเดือนพฤษภาคมว่า “พฤษภาคมทมิฬบ้าง” “พฤษภาคมโหดบ้าง” ควรเรียกเดือนพฤษภาคมว่า เป็น “เดือนมหามงคล” ที่เราทั้งหลายควรจะดีอกดีใจ
ที่นี้เดือนสิงหาคมก็เป็นเดือนที่มีคุณค่าเหมือนกัน เดือนสิงหาคมนี้ก็มีคนเกิดดีๆหลายคน จอมพลถนอม นี้ก็เกิดเดือนสิงหาคมเหมือนกัน ก็ได้เป็นผู้ทำคุณทำประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองมาพอสมควร เดี๋ยวนี้ก็ชราแล้ว อยู่บ้านสบายๆ แล้วก็มีข้าราชการผู้ใหญ่เกิดเดือนสิงหาคมนี้หลายคนเหมือนกัน สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็ประสูติในเดือนสิงหาคม คือวันที่ ๑๒ และก็ได้เป็นพระบรมราชินีนาถของชาติไทย พระบรมราชินีนาถกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชาติแก่บ้านเมือง จะเรียกว่าเกิดเหมาะเวลาก็ได้ เพราะประเทศชาติกำลังต้องการ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่๗ คือพระปกเกล้า สละราชสมบัติ พวกเราชาวไทยทั้งหลายก็มีความวิตกกังวลกัน ว่าใครหนอจะได้มาเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมืองต่อไป เพื่อให้บ้านเมืองได้อยู่เย็นเป็นสุขกันต่อไป ในชั้นแรกก็ได้กราบทูลเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งพระเจ้าอานันทมหิดลได้สวรรคตไปเสียแล้วเป็นรัชกาลที่ ๘
แล้วก็ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชของเรา ได้เสวยราชเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มาเหมาะแก่เวลา เหมาะแก่เหตุการณ์ เหมาะแก่ความต้องการของชาติของบ้านเมือง เพราะประชาชนกำลังขวัญเสีย กำลังต้องการประมุขที่ดีที่งามของชาติ จะได้ช่วยกันสืบชาติ ศาสนา ให้เจริญวัฒนาถาวรต่อไป พระองค์ก็ได้ทรงมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวก็อยู่ไม่ได้ ก็มีคู่บารมีคือพระราชินี พระนางเจ้าสิริกิติ์บรมราชินีนาถก็มาเป็นคู่บุญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคู่บุญที่มีความเชื่อมั่นคงในพระศาสนา มีศีล มีปัญญา มีการบริจาค มีความเสียสละประโยชน์และความสุขส่วนพระองค์ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ส่วนรวมอยู่ตลอดเวลา
มาพูดกันในแง่พระศาสนากันก่อน คือถ้าพูดถึงพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็อดที่จะพูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ เพราะทั้งสองพระองค์นี้ไปไหนไปด้วยกัน ทำอะไรก็ทำด้วยกัน ปรากฏแก่ประชาชนในที่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งสองพระองค์ จึงไม่สามารถจะพูดแยกออกไปได้ว่าพระราชินีทำนั้น ในหลวงทำนี่ เพราะทำพร้อมๆกัน ไม่ว่าเรื่องอะไร ทรงกระทำด้วยกันทั้งนั้น เช่นไปเยี่ยมเยียนประชาชนก็ทำด้วยกัน เข้าไปไต่ถามสารทุกข์สุขดิบของประชาชน ในหลวงนั่งตรงนี้ พระราชินีประทับตรงนี้ แล้วก็พูดกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่ได้มาเยี่ยมเยียน มาเฝ้ารับเสด็จด้วยถ้อยคำสำนวนที่เป็นธรรมดาๆ ไม่ถือพระองค์เป็นกันเองกับประชาชน เข้าหลักธรรมของพระพุทธเจ้าในเรื่องสังคหวัตถุ
สังคหวัตถุคือธรรมเป็นเครื่องประสานไมตรีจิต มิตรภาพ เป็นเครื่องผูกมิตรกับคนทั่วๆไปมีอยู่ ๔ ประการคือ
ทาน การให้
ปิยวาจา พูดจาอ่อนหวานสมานใจ
อัตถจริยา ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่เขาหล่านั้น
สมานัตตา ไม่ถือพระองค์
ในหลวงและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ แม้เกิดในราชตระกูล ซึ่งเราทั้งหลายถือว่าเป็นตระกูลสูงศักดิ์ เป็นสมมุติเทวดา สมมุติเทพ แต่ว่าพระองค์ไม่ได้ทำพระองค์ให้สูงยิ่งไปกว่าประชาชนทั้งหลาย เสด็จไปที่ไหนก็เข้าไปใกล้ประชาชน คลุกคลี ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกับคนเหล่านั้น ทำให้คนเหล่านั้นมีความสบายอก สบายใจ ว่าได้เฝ้าในหลวงและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ในภาพข่าววีดีโอที่เขาออกมาทางโทรทัศน์ มีภาพที่ประทับใจอยู่อันหนึ่ง คือมีคนแก่คนหนึ่ง ก็แต่งตัวแบบคนบ้านนอกทั่วๆไป เขาซื้อน้ำอัดลมไปขวดหนึ่ง มีแก้วใบหนึ่งและมีที่เปิดด้วย ไปนั่งตรงโน้น..ห่างไกลประชาชน คาดหมายว่าในหลวงต้องเสด็จมาในทางเส้นนี้ ในหลวงท่านก็เยี่ยมเยียนประชาชนนานแล้ว คงมาทางนี้แหละ แล้วในหลวงก็เสด็จมาทางนั้น พอมาถึงตรงนั้น คุณยายคนนั้นก็เปิดน้ำอัดลมรินใส่แก้ว ยื่น..ถวายในหลวง ในหลวงเมื่อได้รับแก้วน้ำอัดลมจากคุณยายก็ทรงดื่มทันที ดื่มหมดแก้ว แล้วก็ส่งแก้วนั้นให้แก่คุณยาย คุณยายคนนั้นคงจะโห..ปลื้มอก ปลื้มใจ เหมือนกับว่าทำบุญกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ว่าได้ ปลื้มใจเหมือนกับได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นก็ว่าได้ และก็คงจะปลื้มใจไปจนกระทั่งหมดลมหายใจ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย คุณยายคนนั้นก็นึกถึงภาพว่าครั้งหนึ่ง เราได้ถวายน้ำอัดลมแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงดื่มน้ำอัดลมนั้นจนหมดแก้ว อันนี้เป็นภาพที่น่าปลื้มใจ
ชาวต่างประเทศที่เขาไม่ใช่คนไทยเวลาเขาดูภาพข่าวต่างๆที่พระบทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถเสด็จไปที่ไหนๆ เขาประทับใจกันทั้งนั้น ถ้าเขามีโอกาสได้พูดจากับพวกเราคนไทย เขาก็บอกว่า โอ้..ผมภูมิใจแทนพวกคุณเหลือเกิน ที่มีประมุขของชาติเป็นผู้เจริญด้วยคุณธรรม มีความประพฤติเหมือนอย่างกับคนธรรมดาทั่วๆไป ไม่ถือพระองค์เลย เขาเห็นภาพเช่นนั้น เขาก็มีความปลื้มใจ เพราะพระเจ้าแผ่นดินของเรากับสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงประพฤติธรรมตามหลักการของพระพุทธศาสนา ทรงให้.. การไปนั้นก็คือไปให้ ไม่ได้ไปเพื่อจะเอาอะไรจากประชาชน แต่ประชาชนก็ถวาย มีอะไรเอามาถวาย มีมะเขือเอามาถวาย มีฟักทองเอามาถวาย มีฟักเขียวก็เอามาถวาย มีถั่วฝักยาวก็เอามาถวาย ถวายไปตามเรื่อง ถวายด้วยน้ำใจศรัทธา เลื่อมใสในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีอะไรก็ถวายอย่างนั้นละ ตามมีตามเกิด
ในหลวงท่านก็ทรงรับด้วยความปลื้มใจ อิ่มเอมใจ ในการที่คนเหล่านั้นเอามาให้ พระองค์ก็ไปให้ คือไปใกล้ชิด สนิทสนมกับคนเหล่านั้น ทำให้คนเหล่านั้นได้มีความปลื้มอก ปลื้มใจ นี่คือการให้ ทรงพูดจากับประชาชนก็พูดจาด้วยถ้อยคำที่เรียบร้อย เรียกคน เหมือนกับเป็นญาติกัน คุณป้า คุณยาย คุณย่า คุณนั้น คุณนี้ อะไรต่างๆ ทำให้คุณเหล่านั้น โห..พระราชินีเรียกเราเหมือนกับเป็นญาติ พระราชินีเรียกฉันว่าคุณย่านะ เรียกฉันว่าคุณยายนะ เรียกฉันว่าคุณป้านะ ก็เที่ยวคุยๆกับใครๆ ว่าพระราชินีเรียกอย่างนั้น อย่างนี้ เป็นความปลื้มอก ปลื้มใจ ในภาษาที่สมเด็จท่านทักกับคนเหล่านั้น ทุกคำพูด ทุกถ้อยคำ ท่าทางยิ้มแย้ม แจ่มใส ใจเบิกบาน แล้วก็ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่เขา
ไปที่ไหนก็ไปทำประโยชน์ทั้งนั้น ไปช่วยเขา ไปบรรเทาความทุกข์ไปแก้ปัญหา ให้ประชาชนได้อยู่เย็นเป็นสุขตามสมควรแก่ฐานะ ไม่ถือพระองค์ หัน (13.32) เป็นการประพฤติธรรมต่อประชาชนทั้งหลาย ชาวบ้านชาวเมืองก็มีความสบายอก สบายใจในสิ่งที่ได้รับจากสมเด็จทั้งสองพระองค์ จึงมีความสุขใจตามสมควรแก่ฐานะ ที่นี้การเสด็จไปไหน นี้เรียกว่าไปให้ ไปให้ความสุขความสบายแก่เขา เช่นว่าเสด็จไปทางภาคเหนือของประเทศไทย ไปสร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ไว้ บนยอดเขา ใกล้กับพระธาตุดอยสุเทพ แต่สูงกว่านิดหน่อย ไม่ได้ไปเพื่อพักผ่อน หรือไปหลับนอนเพื่อความสะดวกสบายสำหรับพระองค์เลย แต่ว่าเป็นที่พักชั่วคราว เป็นที่พักในขณะเสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือไปเยี่ยมเยียนชาวเขา
ชาวเขามีหลายเผ่า พวกแม้ว พวกกระเหรี่ยง พวกอีก้อ พวกมูเซอ พวกอะไร หลายอย่างมากมาย ชาวเขาเหล่านั้น เป็นคนที่ทำอะไรๆ สร้างปัญหาให้แก่คนชาวเรา คือเรานี้อยู่ในที่ราบ ชาวเขามาอยู่บนที่สูง มาสร้างปัญหาแก่คนชาวเราด้วยการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ภูเขาเตียนโล่งไป แล้วฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้เกิดความแห้งแล้ง พวกเราก็ทำนาไม่สะดวก น้ำก็ไม่พอใช้ เหมือนแห้งแล้ง ๒-๓ ปีนี้ น้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์นั้นขาดไป ลดน้อยลงไปมาก ไม่มีน้ำตามห้วย ตามหนองน้ำขาด มันเสียหาย แก่ประชาชนทั่วไป เพราะชาวเขาทำลายป่า แต่ว่าในหลวงท่านเสด็จไปทรงเห็นด้วยพระองค์เอง ก็ทรงดำริโครงการของพระองค์ขึ้นมาว่า ต้องพัฒนาชาวเขาการที่จะพัฒนาชาวเขาก็ต้องไปคลุกคลีกับชาวเขา ไปเป็นกันเอง เอาของไปแจก ไปช่วยเหลือ รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ไปสร้างโรงเรียนให้ลูกเขาได้เรียนหนังสือ พ่อแม่ไม่สบายก็เอาไปส่งโรงพยาบาล ให้ได้รับการรักษาเยียวยาด้วยดี จนเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนเหล่านั้น คนเราถ้ารักกันชอบกันแล้ว พูดอะไรกันง่าย ถ้าไม่ชอบกันพูดมันก็ไม่ได้เรื่องอะไร แล้วมารักกัน ชอบกัน ในหลวงท่านก็แนะนำว่า ไม่ควรจะถางป่า ทำไร่เลื่อนลอย แล้วก็ไม่ควรจะปลูกฝิ่น เพราะฝิ่นนี้มันเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนชาวโลก
สมัยก่อนก็ทำฝิ่นออกมาขาย คนก็นอนชอบฝิ่นกัน แต่ว่าคนสูบนั้นก็จำกัดจำนวน คนแก่ๆ คนที่มั่งมีคนเงินทอง เป็นเถ้าแก่ เจ้าสัว นอนสูบฝิ่นได้ แต่คนธรรมดาก็จะไปสูบไม่ได้ เพราะสูบในโรงยาฝิ่น สูบที่อื่นมันก็ไม่ได้ ต่อมาก็เลิกการขายฝิ่น เผากล้องยาฝิ่นกันกลางสนามหลวง ก็เกิดสิ่งชั่วร้ายขึ้นมาแทน คือ เฮโรอีนหรือผงขาว ซึ่งผลิตออกมาจากฝิ่น แล้วก็ส่งไปขายต่างประเทศ ตั้งแต่เด็กน้อยๆ เด็กวัยรุ่น หนุ่มสาว สูบกันทั่วไป เป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนมาก ในหลวงท่านทรงเห็นว่ามันเป็นเรื่องเสียหาย ต้องแก้ไข ไม่ให้ชาวเขาปลูกฝิ่นกันต่อไป
แล้วจะให้ทำอะไร? ก็หาผลไม้เมืองหนาว ที่ปลูกได้ในภาคเหนือ เพราะอากาศบนภูเขามันหนาวเหมือนกับเมืองหนาว ก็หาผลไม้เมืองหนาวมาให้ปลูก ปลูกแล้วก็ต้องช่วยหาตลาดให้ขาย ก็ทรงมีตลาด มีร้านจิตลดาอยู่ตามสถานีการบิน เช่นเชียงใหม่ เชียงราย ก็มีร้านขายของเหล่านี้ ส่งมาขายที่กรุงเทพ ส่งไปขายต่างประเทศ เป็นการช่วยคนเหล่านั้นให้เปลี่ยนสภาพการเป็นอยู่ เปลี่ยนการทำมาหากิน เปลี่ยนนิสัยใจคอ ให้เป็นคนที่ไม่เป็นชาวเขาต่อไป แต่จะกลายเป็นชาวเรา การสงวนป่าก็ดีขึ้น การตัดไม้ทำลายป่าก็สูญหายไป อันเป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่คนทุกถ้วนหน้า ไม่เฉพาะแก่ชาวเขา แต่ชาวเราซึ่งอยู่ในที่ราบที่ลุ่ม ก็พลอยได้รับประโยชน์ด้วยเหมือนกัน พระองค์ไปทุกปี ไปเชียงใหม่ทุกปี ก็ไป ไม่ได้ไปประทับพักผ่อนอะไร
พอเสวยพระกระยาหารกลางวันเสร็จแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็ไป นั่งเฮลิคอปเตอร์ไป ไปลงยอดดอยนี้ แล้วก็เดินไปที่นั้น เดินไปที่นี่ พระองค์เดินอย่างรวดเร็ว สมเด็จพระเทพตามหลังไม่ค่อยทัน สมเด็จพระราชินีก็เดินตามคู่กันไป เหมือนกับพระเวชสันดรต้องออกไปอยู่ป่า แล้วนางมัทรีก็ไปด้วย ไปปฏิบัติวัฏฏะพระเวชสันดร พระเวชสันดรไปเป็นฤาษี นางมัทรีก็ไปเป็น ตราปราษณีย์ (18.46) คือฤาษีผู้หญิง แต่ว่าก็ต้องทำหน้าที่ ไปหาผลหมากรากไม้ เอามาถวายพระเวชสันดรและลูกน้อยทั้งสองพระองค์ เป็นผู้ติดตามสามีไปทุกหนทุกแห่ง ในเรื่องพระเวชสันดรชาดกที่เราเคยศึกษาเคยอ่านก็เป็นอย่างนั้น
สมเด็จพระบรมราชินีก็ติดตามในหลวงไปทุกหนทุกแห่ง จะลำบาก จะยากเข็น จะเดินจะลำบากอย่างไรไม่ทรงกลัว แต่ทรงคิดถึงประโยชน์และความสุขของประชาชนมากว่าเรื่องใดอื่น จึงทรงทำทุกสิ่งทุกประการให้เกิดประโยชน์เกิดความสุขแก่พวกเราทั้งหลายทุกถ้วนหน้า เดี๋ยวนี้ทางภาคเหนือนับว่าดีขึ้นเยอะ ตั้งแต่ในหลวงกับพระราชินีไปประทับอยู่ที่นั่น บ้านเมืองก็ดีขึ้น คนก็ดีขึ้น อะไรก็เรียบร้อยขึ้น ทรงไปตามภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือภาคอีสาน ที่เราเรียกกันทั่วๆไป ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี่ มีพระที่ปฏิบัติกรรมฐานอยู่ในวัดป่าๆ มีอยู่มาก
สมเด็จพระบรมราชินีนาถและในหลวงก็เสด็จไปเยี่ยมเยียนพระสงฆ์องค์เจ้าเหล่านั้น ไปเยี่ยมหลวงปู่ฝ่อนไปเยี่ยมหลวงปู่อะไรๆที่มีอยู่ในสมัยนั้นทุกหนทุกแห่ง ไปเยี่ยมไปเยียนไปถวายข้าวของ ไปถามสุขภาพอนามัย มีอะไรควรจะได้รับการช่วยเหลือเจือจุนบ้าง ทั้งสองพระองค์ก็ช่วยเหลือ เช่นพระองค์ไหน เจ็บไข้ได้ป่วย ก็นำมากรุงเทพ เอามารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาบ้าง รามาบ้าง ศิริราชบ้าง รักษาให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็ส่งกลับไปอยู่สำนักเดิมของท่าน
ทั้งสองพระองค์เป็นผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระมหาเถระทั้งหลายที่อยู่ป่าเหล่านั้น ทรงคุ้นเคย ทรงไต่ถาม ศึกษาข้อธรรมะ เพื่อนำมาปฏิบัติให้พระองค์มีความสุข มีความสงบต่อไป ชีวิตจะได้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมต่อไป ได้ทรงกระทำเป็นอาจิณตลอดมา แต่ว่าสภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มันแห้งแล้ง ไม่ค่อยจะเกิดความชุ่มฉ่ำอะไร ทรงเห็นว่ามันลำบากมากหลายเรื่องหลายประการ ก็เห็นที่ชาวบ้านว่างๆ ก็ทรงขอ
ชาวบ้านก็ถามว่า “จะขอเอาไปไปทำอะไร” สมเด็จท่านก็บอกว่า “ฉันจะเอามาปลูกป่า” ชาวบ้านก็ถามว่า “จะปลูกป่าทำไม” “ปลูกป่าเพื่อรับน้ำ ให้มีน้ำฉ่ำ น้ำเย็น พวกเราจะได้ไม่เกิดความแห้งแล้งกันต่อไป” ชาวบ้านฟังชั้นแรกก็ยังไม่ค่อยจะเชื่อเท่าไร ยังไม่เลื่อมใส แต่ก็ทรงปลูกป่าในบริเวณนั้น ต้นไม้ก็ขึ้น ขึ้นเขียวชอุ่ม พอป่าไม้เขียว คนไปนั่งใต้ต้นไม้ก็เกิดความเย็น ทำไมจึงเกิดความชุ่มเย็น เวลาเราไปนั่งใต้ต้นไม้ คือในอากาศทั่วๆไป มันมีความชื้น มากหรือน้อยตามสิ่งแวดล้อม ที่ไหนมีป่ามาก ความชื้นมันก็มาก ที่เราอยู่มาได้เวลานี้เพราะมีความชื้น ความชื้นปรากฏอยู่ในที่ทั่วๆไป
ที่เราเห็นง่ายว่ามีความชื้นแล้วจะมีน้ำมา มาจับในสิ่งที่มันจะจับได้ ตัวอย่างเช่นว่า เมื่อมีน้ำแข็งมาขายใหม่ๆ แล้วเขาก็ใช้ใส เลื่อยกบ ใสเป็นฝอย ใส่ลงไปในแก้วแล้วเอาน้ำหวานเติมนิดหน่อยเอามาวางไว้ ไอ้คนที่ไปซื้อน้ำแข็งคนแรกๆนะ ก็ต่อว่าจีนที่ขายน้ำแข็ง “ลื้อ!ทำไมเอาแก้วแตกมาใส่น้ำแข็งให้อั๊วกิน” เจ๊กว่า “ไม่ได้แตก” “ไม่ได้แตกแล้วทำไมน้ำมันถึงรั่วออกมา” เพราะว่ามันมีน้ำไปจับที่แก้ว น้ำจับเต็มไปหมด “ไม่แตกแล้วทำไม มันรั่วออกมาได้” เจ๊กก็บอกว่า “ว่ามันไม่ใช่ของข้างใน แต่ว่ามันมาจากไหนก็ไม่รู้” เจ๊กมันก็ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์เหมือนกัน เลยบอกไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่มันมาจากแก้ว ทำไมแก้วมีน้ำ นี่แสดงว่าความชื้นมันมีอยู่ทั่วไป ร่างกายของคนเราก็มีความชื้นพอสมควร จึงจะมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่มีความชื้น หนังจะแห้ง แล้วก็จะแตก จะเกิดผื่นคันตามผิวหนัง แล้วก็จะเป็นรูป (23.23)
สังเกตได้เวลาหน้าหนาว ในเมืองหนาว อากาศมันแห้ง ความชื้นมันน้อย ถ้าหากว่าเราไปอยู่เมืองหนาวไม่ได้ทาน้ำมันอะไรให้มันหนังชุ่มๆ มันก็แห้ง แห้งแล้วมันก็เกรียม แล้วมันก็แตก คนเรามี อโรคาพยาธิเกิดขึ้นได้เพราะความแห้ง แต่ถ้ามีความชื้นไม่เป็นไร เพราะนั้นเมื่อเราเข้าไปนั่งใต้ต้นไม้มันมีความชื้น ความชื้นมันก็ลอยอยู่ในอากาศ แต่ตรงไหนมีร่มมีอะไรมาก มันก็ลอยรวมอยู่ที่นั่น มารวมกันมากๆ ก็มีอำนาจที่จะดึงเมฆให้ลอยลงมา ลอยลงมาแล้วมันก็ตกเป็นน้ำฝนลงมา ทำให้เราได้รับน้ำเพราะอาศัยความชื้นในบริเวณใต้ต้นไม้ ที่ไหนเป็นป่ารกชัฏ เป็นป่าดงดิบ เย็น.. เข้าไปในป่าแล้วจะรู้สึกเย็น หูเย็นเลย
สมัยก่อนเมื่อเป็นเด็กๆอยู่จังหวัดพัทลุงนี่ เคยเดินทางผ่านป่าที่เป็นป่าชัฏ เงียบสงัด แล้วก็มีแต่เสียงจิ้งหรีด เรไร ที่มันร้อง หรีด ดึ๋งๆๆๆ ดั๋ง ก้องป่าเลย แล้วก็เย็น ไม่มีความร้อนเลย เพราะมันเป็นป่าใหญ่ ความชื้นมันเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ป่าเหล่านั้นหายหมดแล้ว คนถางหมด แล้วก็ทำสวนยาง ทำไร่ ทำอะไรไป เพราะความควบคุมไม่เพียงพอ อันนี้เป็นความเสียหาย
สมเด็จท่านเห็นว่าเป็นความเดือดร้อนของประชาชน เลยปลูกป่าเป็นตัวอย่างก่อน เมื่อปลูกเป็นตัวอย่างแล้ว ประชาชนก็เห็นว่า โอ้โห!ดี เลยมีที่ว่างตรงไหนก็ปลูกป่ากันบ้าง ปลูกป่าขึ้นทำให้เกิดความสะดวกสบายขึ้นบริเวณนั้น นี่..เป็นเรื่องการริเริ่มของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เวลาเสด็จไปที่ไหนๆ แล้วทรงเห็นอะไรก็ทรงกระทำ ไม่ชักชาไม่ให้เสียเวลา พระองค์เป็นชาวพุทธที่ดีแท้ ชาวพุทธที่ดีนั้นต้องมีลักษณะพิเศษ ๓ ประการคือ
๑. ตื่นตัว
๒. ว่องไว
๓. ก้าวหน้า
สมเด็จพระบรมราชินีและในหลวงของเรานั้นทรงตื่นพระองค์จริงๆ แล้วก็ว่องไวจริงๆ ทรงก้าวหน้าจริงๆ ในการปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ประชาชนราษฎรทั้งหลาย ราชการสักอีกยังชักชา ถ้าไม่มีในหลวงนี่ โครงการตามภูเขาตามป่าคงจะไม่เกิด เพราะอะไรขออภัยเถอะ ข้าราชการเหล่านั้นไม่ค่อยขยันเท่าไร ไม่อยากจะไปบุกป่าฝ่าดง ไม่อยากจะไปเยี่ยมเยียนประชาชนบ้านนอกบ้านนาที่เขาอยู่กันลำบาก แต่ในหลวงท่านไม่ได้กลัวความลำบาก ทรงไม่ถึงทุกทนทุกแห่งที่ลำบาก ยากเข็นแค่ไหนก็เสด็จไป ในหลวงไป พระราชินีไป เจ้าฟ้าหญิงไป ไปกันทั้งนั้น ไปกัน ทำงานกลมเกลียวกัน คนละทิศละทาง เป็นเรื่องที่พวกเราทั้งหลาย ปลื้มอกปลื้มใจในกิจกรรมส่วนนี้อยู่ตลอดเวลา
มีอีกเรื่องหนึ่งที่ท่านเสด็จไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเป็นเหตุให้เกิดโครงการใหญ่ขึ้นในประเทศไทย ที่เรียกว่า “ศิลปาชีพ” ซึ่งสำนักงานใหญ่ก็อยู่ที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เวลานี้จะไปศิลปาชีพนี้ไปสะดวก..โยม นั่งรถหน้าวัดนี่ละ ไปทางนี้ ตรงไป อย่าไปเมืองปทุม ตรงไป แล้วก็ก่อนขึ้น สะพานที่จะเข้าไปเมืองปทุม สะพานข้ามคนนะ แล้วก็เลี้ยวขวา ถนนลาดปูนซีเมนต์เรียบร้อย ผ่านป่าตาล ผ่านทุ่งนาไป แล้วก็ไปถึงบริเวณที่เรียกว่า “ศิลปาชีพ”
ศิลปาชีพนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะสมเด็จท่านไปเห็นของเก่าๆที่คนเถ้าคนแก่ เอามา เวลามารับเสด็จ เช่นคุณยายนุ่งผ้าสวยๆ ผ้าซิ่นมีลวดมีลายสวยๆงามๆ เป็นของเก่าแก่ เก็บไว้ใช้เป็นครั้งเป็นคราว ถ้ามีงานพิเศษจึงจะนุ่งนะ ไม่ได้นุ่งเสมอไปหรอก นานๆออกเดต (27.47) สักที ก็นุ่งเฝ้าสมเด็จ สมเด็จท่านก็สังเกต อืม..ผ้านี้สวย ลายสวย แล้วก็เลยไปถามว่า
“คุณยายนุ่งผ้าอะไร?”
เค้าเรียกว่า “ผ้าลายจิ้งจก” ลายอะไรก็ว่าไป กราบทูลไปตามเรื่อง
“ทอด้วยอะไรจ๊ะ”
“ทอด้วยผ้าไหม ด้วยไหม”
“แล้วคุณยายทอเองหรือ?”
“สมัยก่อนทอเอง เดี๋ยวนี้ตามันมองไม่ค่อยเห็นแล้ว จะไปจับเส้นด้ายมันก็ไม่เห็น เลยไม่ได้ทอแล้ว”
“ แล้วคุณยายสอนลูกสอนหลานให้ทอผ้านี้หรือเปล่า?”
“ไม่ได้สอน..เดี๋ยวนี้ลูกหลานมันก็ไม่ค่อยสนใจ มันไปทำงานบางกอกหมด ไปเที่ยวตามโรงงานทอผ้า โรงงานอะไรต่ออะไร เขาไม่ค่อยจะสนใจ ไม่ได้สอนให้ ถึงสอนเขาก็ไม่ทำ เพราะว่าทำแล้วมันขายถูก มันไม่ค่อยคุ้มค่าแรง ขายแพงก็ไม่ค่อยมีคนซื้อ” ว่าอย่างนั้น กราบทูลให้สมเด็จทรงทราบ
สมเด็จก็นึกโอ้! ไม่ได้ ของดีๆในประเทศไทยมันจะหายไปหมด ต้องให้ฟื้นฟูไว้ ต้องให้ทำกันต่อไป เลยก็จัดการเอาคุณยายเหล่านั้นมาสอน วิธีการทอ วิธีการย้อมด้าย วิธีทำอะไรต่างๆ มันเป็นศิลปะ เป็นเรื่องที่เขาทำกันมาโดยไม่มีหลักสูตร ไม่ได้มีสูตรว่าต้องเท่านั้น เท่านี้ ทำด้วยความชำนาญ เหมือนกับคนตำส้มตำนี่ บางคนตำอร่อย แต่บางคนตำแล้วมันไม่อร่อย มันเปรี้ยวไปบ้าง มันเผ็ดไปบ้าง อะไรไปบ้าง มันไม่กลมกล่อม แต่บางคนตำแล้วมันกลมกล่อม อันนี้มันเป็นศิลปะ เป็นฝีมือ ของคนบางคน โดยไม่ต้องใส่ผงชูรส มันก็เรียบร้อย อร่อยได้ ก็เอาคนเหล่านั้นมาช่วยสอนคนรุ่นหลังให้ทำการทอกันต่อไป จึงต้องตั้งโรงงานสำหรับทอผ้าเหล่านี้ ทอขึ้นมามากๆแล้วจะเอาไปไหนล่ะ? มันก็ต้องขาย ขายอย่างไร? ขายถูกมันไม่คุ้มค่าแรง ขายแพงไม่มีคนซื้อมันก็ลำบาก ก็ต้องขายกับต่างประเทศ เพราะชาวต่างประเทศเงินเขาหนา เงินเขาหนักหน่อย ทำอย่างไร?
เวลาพระองค์ได้รับเชิญให้ไปต่างประเทศ พระองค์ไม่ได้ไปเฉยๆ แต่นำสินค้าเหล่านี้ไปด้วย นำผ้าไหมไปด้วย แล้วพระองค์ก็แต่งพระองค์ด้วยชุดไหมไทย แต่งชุดไหมไทย เพราะคนมองก็เห็นโอ้!สวย ควีนของเมืองไทยนี่รูปร่างสง่าสวยงาม แต่งตัวตัวสวยกว่าควีนใดๆในโลกก็ว่าได้ เขาก็เข้าไปใกล้ไต่ถาม ท่านก็บอกว่าผ้าเหล่านี้เป็นของผลิตในเมืองไทย ทำด้วยผ้าไหม ทำอย่างดี มีตัวอย่างให้ดู วางนิทรรศการไว้แล้ว คนก็ไปซื้อกัน สั่งซื้อกันเป็นการใหญ่ อ้าว..กลับมาก็ต้องเพิ่มคน เพิ่มโรงงาน โครงการ
เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ในวังสวนจิตรดาเต็มไปด้วยโรงงานแล้ว เวลานี้ มีทุกอย่าง มีโรงวัวนม มีนาข้าว มีอะไร..เลี้ยงปลานิล แล้วก็มีโรงงานทอผ้า มีอะไรต่ออะไรหลายอย่าง เป็นโครงการที่เรียกว่าทำเพื่อทดสอบ ทดสอบว่าทำอย่างนี้มันจะเกิดผลอะไร ทำนมผงบ้าง ทำอะไรบ้าง ปลูกข้าวได้ข้าวพันธุ์ดี แล้วควรจะเอาไปปลูกให้แพร่หลาย ก่อนลงแจกพันธุ์ข้าว ในวันฉัตรมงคลแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง เอาพันธุ์ข้าวเหล่านี้ไปแจก ชาวนาก็เอาไปปลูก เพาะพันธุ์กันต่อๆไป เป็นโครงการมากมายในพระราชดำริ ในหลวงนี่ท่านทำนั่นทำนี่ คือทำไม่ได้หยุด ในหลวงกับพระราชินีนี่ทรงทำงานร่วมกัน เวลาเข้าที่บรรทมกลางค่ำกลางคืนนี่ นอนดึก บางทีเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์บรรทมแล้ว ตื่นแล้วๆ โอ้! แม่ตื่นไวจริง นึกว่าสมเด็จท่านตื่นไว แต่สมเด็จว่า แม่ยังไม่ได้นอนเลย คือยังไม่ได้นอนไม่ใช่ตื่น คือยังไม่ได้นอนยังไม่ได้นอน ทำอะไร? ทำไมยังไม่ได้นอน? ในหลวงทำอะไรจึงไม่เข้าสู่ที่บรรทม งานเยอะ!
ในห้องของพระองค์งานเต็มห้อง เป็นงานที่ซ้าย งานที่ขวา (32.22) ติดไว้รอบทิศ เครื่องมือเครื่องใช้ แผนที่ เครื่องประกอบในการที่จะพิจารณา ภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ลำห้วย ลำคลองดีอย่างไร บางทีเวลาเสด็จไปตามหัวบ้านหัวเมืองไปถามเขาว่าห้วยนั้นมันอยู่ไหนนะ? ชาวบ้านไม่รู้จัก มันไม่มีนานแล้ว ห้วยมันหายไปนานแล้ว คือมันไม่เคยมีน้ำ ห้วยมันก็หายไป ในหลวงว่ามีห้วยชื่ออย่างนั้น มันยาวอย่างนั้น เขาก็พาไปดู อ๋อ..รอยมันมีๆ แต่น้ำมันไม่มีเพราะว่าป่าถูกทำลาย ลำคลองหนองบึง ท่านรู้หมดละ ไปไหนท่านก็รู้ เวลาเสด็จขึ้นภูเขาในหลวงเสด็จขึ้นอย่างรวดเร็ว เดินเร็ว ขึ้นไปบนยอดเขาเลย ทรงดูไปรอบทิศ ว่ามันมีอะไรบ้าง พวกข้าราชการบางคนที่ท้องมันใหญ่ๆ เดินไม่ค่อยไหว เดินย้ายพุงไม่ค่อยไหว ตามในหลวง ในหลวงขึ้นไปตามดูแล้ว พวกนั้นยังย้ายพุงอยู่เลย เพราะว่าร่างกายมันอ้วนถ้วน ไม่ค่อยปฏิบัติงาน เสียงไม่ชัด ฟังไม่รู้เรื่อง (33.23) ในหลวงท่านคล่องพระองค์ เดินไปเดิน ทำอะไรเรียบร้อยทุกหนทุกแห่ง
เคยไปที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ท่านก็ไปพักกับบ้านประชาสงเคราะห์ เช้าขึ้นก็เดิน เดินไปคนเดียว เดินไป มันไม่มีภัยอันตรายอะไร เดินไปตามถนน ไปถึงก็เห็นบ้านพวกชาวเขา บ้านพวกคนที่เขาเรียกว่าอีก้อ อีก้อนี่เขาอยู่บ้านไม่ได้อยู่กับดิน เขายกใต้ถุนสูง ผิดกับพวกม้งหรือแม้ว แม้วมันอยู่กับดิน บ้านอยู่กับดิน แต่อีก้อนี่ยกใต้ถุนสูงขึ้นมา ห่างจากพื้นดินประมาณเมตรครึ่ง ก็เดินขึ้นบันไดขึ้นไปนั่ง มีเก้าอี้ไม้ไผ่ตัวเตี้ยๆ ก็ไปนั่งตรงนั้นละ นั่งจนเจ้าของบ้านก็ออกมาต้อนรับขับสู้ แล้วบอกว่าในหลวงเคยมานั่งตรงนี้ ในหลวงไหนละ? ในหลวงที่บางกอกนะ เคยมานั่งตรงนี้ แล้วมาดื่มน้ำชาถ้วยนี้ ไอ้ถ้วยเล็กๆนะ ดูมันก็ไม่สะอาดเท่าไร คือมันก็ได้ไม่สกปรกอะไร แต่น้ำชามันจับนะ น้ำชาจับสีมันเปลี่ยน ดื่มกับถ้วยนี้ ในหลวงดื่มกับถ้วยนี้ ดื่มน้ำชากับถ้วยนี้ แล้วก็มาเยี่ยมพวกหมู่เฮา
แล้วก็เห็นวัวเที่ยวเดินเผ่นพล่านอยู่ ๙ ตัว ๑๐ ตัว เลยถามว่า วัวไพล่? เขาบอกว่าวัวในหลวงนะ แล้วทำไมเอามาไว้นี่? เขามาฮือให้พวกหมู่เฮาเลี้ยง ช่วยเลี้ยงไว้ให้ในหลวง เลี้ยงวัวเหล่านั้น วัวตัวใหญ่ๆ ในหลวงเอาไปให้ชาวบ้านเลี้ยง จะได้เพาะพันธุ์กันต่อไป คนเหล่านั้นเขาก็ปลื้มอกปลื้มใจเพราะในหลวงได้ขึ้นไปนั่งบนบ้านเขา ไปดื่มน้ำชาของเขา เขาจะคุยกับทุกคนที่ขึ้นไปบ้านว่า ในหลวงเคยมานั่งตรงนี้.. มาดื่มน้ำชาถ้วยนี้ เขาคุยว่าเขาเป็นคนมีบุญ พวกเราอยู่นี่อยู่ใกล้กรุงเทพ ในหลวงไม่ได้ขึ้นบ้านหรอก เพราะว่าไม่รู้จะขึ้นมาทำไม แต่ว่าชาวบ้านนะมีบุญได้พบในหลวง
พระสงฆ์องค์เจ้าก็เหมือนกัน พระบ้านนอกได้พบในหลวงบ่อยๆ พระในกรุงนี้ไม่ค่อยมีโอกาสได้พบ อาตมานี้ก็ไม่ได้พบในหลวง ได้พบเวลาไปรับสมณศักดิ์เท่านั้นเอง แต่ว่าไม่ได้คุยอะไรกับพระองค์ท่าน ก็อยากจะพบแต่มันไม่มีโอกาส ไม่รู้จะไปอยู่วัดบ้านนอกตรงไหน ดักพบในหลวงเสียที ดักพบในหลวงกับพระราชินี ไปนั่งอยู่ตามวัดบ้านนอก จะได้สนทนากับท่านจะได้เกิดความชื่นบานทางจิตใจว่าได้สนทนาพาทีกับในหลวงอะไรอย่างนั้น ชาวบ้านมีบุญอยู่เหมือนกัน ไปเยี่ยมไปเยียนไปถามสารทุกข์สุขดิบอะไรต่างๆทุกหนทุกแห่ง ภาคเหนือดีขึ้นเพราะในหลวงไปประทับ
นี้ไปทางภาคใต้ โน้น..ไปไกลภาคใต้ ภาคใต้ไปถึงนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดน ไปสร้างตำหนักอยู่เรียกว่า “ทักษิณราชนิเวศน์” อยู่ที่เขาตันหยง เขาตันหยงนี้มันมีต้นไม้ปกคลุมสวยงาม แล้วก็ติดชายหาด แต่ในหลวงไม่ได้ไปเดินเล่นชายหาดอะไร บริเวณนั้นไม่ได้ทรงไปเดิน ไปอยู่เพื่อไปทำงาน เสวยพระกระยาหารกลางวันเสร็จแล้วก็ออก ขับรถไป ไม่บอก ไม่บอกว่าวันนี้จะไปที่นั่น วันนี้จะไปที่นี่ บอกไม่ได้ บอกแล้วคนจะไปเที่ยวปลูกผักชีขวางหน้าไว้เยอะแยะ ไม่ได้เห็นของจริง ในหลวงท่านจริงไม่บอกใคร ต้องการไปเห็นของจริง
ท่านก็ขับรถไปถนน ไปอะไร ไปอย่างนั้น ไปตามเรื่องไป ไปบางทีก็แวะไปในบ้านเขา แวะไปบ้านก็ขึ้นไปบนบ้าน ขึ้นไปบนบ้านนี่ พวกพี่น้องชาวไทยอิสลามตกใจ! ในหลวงขี้นมาบนบ้าน ไม่รู้จะต้อนรับอย่างไร ไม่รู้จะให้นั่งตรงไหน กุลีกุจอหาเสื่อหาสาดมาปูให้ในหลวงประทับนั่ง แล้วในหลวงพูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง เพราะเขาพูดไทยไม่ได้ ต้องใช้ล่าม ในหลวงพูดผ่านล่าม ถามสารทุกข์สุขดิบ มีลูกกี่คน? ลูกเรียนอะไร? ทำมาหากินอย่างไร? มีเงินได้ปีละเท่าไร? พอกินพอใช้ไหม?
พวกนั้นก็ไม่เคยทำสถิติในเรื่องอะไรไว้ก็ตอบไม่ค่อยจะถูก อึกอักๆกันไปตามๆกัน แต่เขาปลื้มใจว่าในหลวงอุตส่าห์ขึ้นมาบนบ้านของเขา เขามีความปลื้มใจมาก ไปบ่อยๆ แล้วจะไปพบมัสยิด วัดของพวกเขา มัสยิดไหนชำรุดทรุดโทรม ในหลวงกับพระบรมราชินีนาถก็เข้าไปเยี่ยม ดูหลังคา ดูฝา ดูพื้น โอ้!..ไม่ไหวละ ทรงบริจาคเลย แห่งละ สองหมื่น สามหมื่น ห้าหมื่น ให้สร้างทำให้ดีขึ้น เขาก็ได้เงินไปซ่อมสร้างทำให้สวย เรียบร้อย จะได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติกิจศาสนาต่อไป การกระทำของพระองค์อย่างนี้ เป็นเหตุให้คนปัตตานี ยะลา นราธิวาส อยากพูดภาษาไทย อยากเรียนหนังสือไทย เวลานี้คนเรียนมากขึ้น หัดพูดภาษาไทยมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องอะไร เอาไว้พูดกับในหลวงและสมเด็จพระบรมราชินี เวลาไปเยี่ยมคนก็มานั่งกันเต็มคลุมหัวหลายสี และไม่มีโอกาสได้พูดกัน เพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็หัดพูดหัดคุยกับในหลวงเขาสบายใจ
สมัยก่อนนี้เขาเรียกในหลวงของเราว่า “รายอซะแย” (39.18) คำๆของปัตตานี ยะลาเรียก “รายอซะแย”ๆ แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินสยาม แต่เวลานี้เขาเปลี่ยนแล้ว เขาเรียก “รายอกีโต้” (39.32) “รายอกีโต้”แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินของเรา
เปลี่ยนแล้ว ก่อนนี้เรียกพระเจ้าแผ่นดินสยาม เดี๋ยวนี้เปลี่ยนว่าพระเจ้าแผ่นดินของเรา เขาเข้าไปยึดถือในหลวงแล้ว ไปรักในหลวงแล้ว เลยเรียกพระเจ้าแผ่นดินของเรา พระราชินีของเรา เจ้าฟ้าเทพของเรา ก็เรียกไปอย่างนั้น เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ของเรา เจ้าฟ้าชายของเรา เป็นของเราขึ้นมา ถ้าเราไปยึดถือว่าของเรามันดีขึ้นนะ เหมือนกับโยมว่าวัดนี้บ่อยๆ วัดเรา.. ฟังแล้วมันค่อยชื่นใจหน่อย เพราะว่าโยมเป็นเจ้าของ ท่านปัญญาของเรา.. มันก็ค่อยสบายใจหน่อย ถ้าพูดท่านปัญญาไม่มีเรา ไม่ก็ไม่ค่อยชื่นใจอะไร อันนี้เป็นความสุขจากการพูดของพระองค์ทั้งสองทำให้คนสบายใจ
มีอยู่บ้านหนึ่งที่เขาเรียกว่า “บ้านลำภู” คนไทยมาก ตรงนั้นบ้านคนไทย แล้วก็กำนันเก่า ชื่อ “กำนันอ้วน” กำนันอ้วนนี่ เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา ในบ้านสะอาดเรียบร้อย สวนลองกอง ปลูกลองกองเยอะ แล้วก็สวนสะอาด ในหลวงขับผ่านไปเห็นสวนนี้สะอาดดี เลยแวะไปเลย แวะรถเข้าไป เข้าไปก็เขาก็เอาเสื่อมาปูใต้ต้นไม้ มันมีฐานทำด้วยไม้ไว้ ในหลวงนั่งบนนั้น ชาวบ้านก็มานั่งกับพื้น สนทนากับในหลวง ในหลวงก็ถามเรื่องปลูกลองกอง ปลูกอย่างไร? บำรุงอย่างไร? พระราชินีถามกระมัง อะไรต่ออะไรไปตามเรื่อง รู้เรื่อง ได้คุยสบายใจ
กำนันนั้นคุ้นกับหลวงพ่อ เขียนจดหมายมาบอก “ท่านเจ้าคุณเอ๋ย..ผมตามเมื่อไร ผมไม่เสียใจแล้ว เพราะผมได้มีโอกาสสนทนากับในหลวงแล้ว แล้วผมยกต้นลองกอง ๒ ต้น ถวายพระเทพไว้ ถ้าลองกอง ๒ ต้นนั้นออกลูก ต้องส่งไปถวายพระเทพ แต่ไม่ต้องส่งมากรุงเทพหรอก เพราะฤดูลองกอง ในหลวงท่านไปนราธิวาส สมเด็จพระเทพท่านก็ไป ก็เก็บไปถวาย”
ต่อมานายอ้วนได้ถึงแก่กรรม สมเด็จพระเทพเสด็จไปเผาศพนายอ้วนที่วัดลำภูแล้วก็ต่อมาเขาได้มีการทำบุญประจำปี สมเด็จท่านก็เอาพวงมาลัยมาลาไปวางที่อนุสาวรีย์กำนันอ้วน เรียกว่าเป็นที่คุ้นเคยกัน นับถือกัน เอื้อเฟื้อกัน เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าในหลวงท่านเข้าใกล้คนเหล่านั้น วัดวาอารามก็แวะไปเหมือนกัน มีอยู่วัดหนึ่ง วัดนั้นมันอยู่ไกล อาตมานี่เป็นรองเจ้าคณะภาคแถวนั้น ยังไม่เคยไปวัดนั้น ไม่เคยไป ท่านสมภารมาต่อว่า เจ้าคุณไม่เคยไปวัดผมเลย ในหลวงท่านยังไปนะที่วัด ในหลวงกับพระราชินียังไปเลย แล้วในหลวงพระราชินีไปรับอย่างไร รับที่ลานวัด คือว่าลานวัดของปักษ์ใต้มันเป็นสาย (42.52) สะอาดเรียบร้อย เอาเสื่อมาปูที่สายนั้นละ แล้วในหลวงก็มานั่ง พระก็มานั่ง ชาวบ้านก็มานั่ง มากันหมดทั้งหมู่บ้าน มาเฝ้าในหลวง
ในหลวงก็ถามว่า “หลวงพ่อสบายดีหรือ? แล้วชาวบ้านแถวนี้สบายดีหรือ?” ท่านสมภารบอก “ไม่ค่อยสบายเท่าไร ขัดคล่อง”
ในหลวงถามว่า “ขัดคล่องอะไร ทำนาไม่ค่อยจะได้ผล”
“ทำไมจึงไม่ได้ผล”
“เพราะน้ำมันมากเกินไป เวลาทำข้าวน้ำมาท่วมยอดข้าว ต้นข้าวตายหมด ทำนาไม่ค่อยจะได้ผล ลำบากอยู่”
ในหลวงท่านก็ “อืม..แล้วจะทำอย่างไรล่ะ? ทำอย่างไรจึงจะเกิดผลขึ้นละ?”
ท่านก็บอกว่า “มันต้องขุดคลอง ขุดคลองเอาน้ำไปทิ้งทะเล”
ในหลวง “โอ้..ขุดคลองคงจะไปไกล ต้องลงทุนหลายสิบล้าน”
ท่านสมภารว่า “คงไม่มากถึงขนาดนั้น ระยะทางมันไม่ไกลเท่าไร ขุดคลองแล้วก็ทำประตูไว้ ระบายน้ำออกพอสมควร แล้วน้ำเหลือไว้ทำนาต่อไป” ในหลวงทรงสนพระทัย เพราะท่านสมภารนั้นพูดให้ฟัง แล้วบอกถ้านั้นก็ไปดูกันหน่อย แล้วก็ลงเรือ ในหลวงกับสมเด็จก็นั่งเรือ ชาวบ้านก็พาย ในวีดีโอมีนะ..ภาพนั้น พายเรือไปนั้นละ คลองแถวนั้น พายเรือไปดู ดูสภาพ เห็นน้ำมันมาก ท่านก็บอกปักษ์ใต้ ฝนมันตกชุก น้ำมันก็มาก แต่สมภารบอกว่าถ้าเอาทิ้งทะเลเสียกระมัง มันก็ไม่มากหรอก
เลยสั่งเจ้าหน้าที่ชลประทานให้ไปสำรวจบริเวณนั้น ว่าจะทำการระบายน้ำได้อย่างไร? ระบายไม่ใช่อย่างเล็กน้อยนะ มันเป็นพลุใหญ่ เนื้อที่ตั้งหลายร้อยตารางกิโลเมตร หลายอำเภอ อยู่รอบขอบบึงนั้น เป็นบึงเก่าแก่ มีจระเข้ มีปลา มีอะไรต่ออะไร ป่าไม้ก็เยอะ ผึ้งก็เยอะ น้ำผึ้งที่นั้นไม่แดงอยู่สีขาว ชาวบ้านเคยเอามาถวาย บอก โยมหยิบขวดผิดเอาน้ำส้มมาแล้วกระมัง น้ำผึ้ง! แล้วทำไมมันสีขาว ดอกไม้แถวนี้มันสีขาว เลยน้ำผึ้งก็เป็นสีขาว น้ำผึ้งจริงๆเอามากินมันก็หวาน ป่ามันใหญ่ ผลที่สุดในหลวงถวายเงินเพราะท่านสร้างโบสถ์ ถวาย ๒๐,๐๐๐ แล้วไปทุกปี ปีละ ๒๐,๐๐๐ ปีละ ๒๐,๐๐๐ ..หลายหมื่นแล้ว
ต่อมาก็ขุดคลองระบายน้ำ พอน้ำออกก็ทำนาได้ผล ในหลวงเสด็จไปบอกต่อไปนี้โบสถ์คงจะเสร็จไว เพราะว่าชาวบ้านทำนาได้ผล และจะได้ทำบุญ สร้างโบสถ์ให้เสร็จไวๆ สมภารก็ดีอกดีใจ เลยหลวงพ่อถามว่าแล้วในหลวงมาถึงวัดเอาอะไรให้ในหลวงบ้าง ถวายน้ำผึ้งไป ๖ ขวด และก็มะพร้าว ๔๐๐ มะพร้าว?..ในหลวงเอาไปทำอะไร ท่านเอาไปให้พวกทหารกินกัน เอาไปแกงตามเรื่อง เราก็ไม่รู้จะถวายอะไร ที่นั่นมีมะพร้าว ถวายมะพร้าว มีมะม่วง ถวายมะม่วง เป็นการแสดงความจงรักภักดี ในหลวงท่านก็โปรดปรานวัดนั้น ที่นราธิวาส อำเภอตากใบ มีวัดอยู่แห่งเรียก “วัดพระพุทธ” เป็นวัดเก่าแก่ มีพระพุทธรูปทำด้วยไม้สวยงาม องค์ไม่ใหญ่ วัดพระพุทธนี้เป็นที่เกิดของพระสงฆ์ พระสงฆ์ที่จังหวัดนราธิวาส เป็นลูกบ้านพระพุทธทั้งนั้น ได้บวช ได้เรียนอยู่นานๆ ก็มาเป็นเจ้าคณะอำเภอ มาเป็นเจ้าอาวาส มาเป็นเจ้าคณะตำบล อยู่ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส พวกพระพุทธทั้งนั้น เป็นวัดสำคัญ
ในหลวงก็เสด็จไปเยี่ยมเยียนทุกปี เกิดผ่านนั้นต้องไปแวะนมัสการหลวงพ่อวัดพระพุทธ แล้วก็ได้สนทนากับสมภารท่านเจ้าวัด เพื่อจะได้ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบเรื่องอะไรต่างๆให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป มีเรื่องขำเรื่องที่เกี่ยวกับพระ คือในหลวงท่านเสด็จจากหาดใหญ่ไปทางสะเดา ประชาชนแถวนั้น อันผ่านไปก็มีวัดเรียก “วัดกู้” (47.39) มีพระนอนองค์ใหญ่ ท่านสมภารก็มาตั้งปรัม สำหรับชยันโต พอในหลวงมาก็ชยันโต แต่ว่าสมภารไม่ชยันโต ไปยืนดักรถในหลวงอยู่ พอรถในหลวงมาก็ลงไปหยุด ยกมือเลย พระบ้านนอก ในหลวงลงมาก็ “มีอะไร?” “แวะหน่อยๆ” แล้วไม่ได้พูดภาษากรุงเทพด้วยนะ .. “แว้วซะนิดๆ” พูดภาษาปักษ์ใต้กับในหลวง ในหลวงก็ลงจากรถกับสมเด็จก็ไป ไปถึงพระนอนก็ไปกราบไหว้ ไหว้แล้วจะให้ทำอะไร เขียนชื่อหน่อยๆ เขียนชื่อที่หมอนพระนอน ต่ไปจะได้ทำเป็นหลักฐานต่อไป ในหลวงท่านก็เขียนให้ เขียนให้เรียบร้อย ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ให้สมภารองค์นั้น สมภารองค์นั้นก็พูดภาษาปักษ์ใต้ตลอดเวลา ไม่พูดภาษากลางกับในหลวง พอเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีเท่านี้ ดีใจเหลือเกิน ที่ในหลวงได้มาเยี่ยมที่วัดนี้ เป็นศิริมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง
ในหลวงก็ทรงไปเยี่ยมเยียนประชาชนตามที่ต่างๆ ขากลับชาวบ้านให้ผลหมากรากไม้ ในหลวงขากลับมาก็แวะอีก ก็เอาผลหมากรากไม้ที่ชาวบ้านถวาย ถวายวัดหมด ถวายสมภารองค์นั้นละ สมภารองค์นั้นเที่ยวคุยวัดนั้นวัดนี้ วัดไหนๆก็ไม่เหมือนวัดผม วัดผมในหลวงลงนะ วัดอื่นสวดชยันโตในหลวง ผ่านยกมือไหว้ แต่ของผมลงนะ ก็ไม่ลงได้ ไปดักรถนี่ ในหลวงก็ต้องลงมา แล้วให้อะไรให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ในหลวงท่านไม่ว่าเลย ทรงโปรดปรานความเป็นกันเอง ของพระ ของชาวบ้านในที่ต่างๆ ทั่วไปๆ เป็นอย่างนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงสนพระทัยในธรรมะมากพอสมควร ทรงอ่านหนังสือธรรมะบ่อยๆ อ่านให้ในหลวงฟังด้วยนะ ในหลวงฟังธรรมนั้นคือสมเด็จท่านอ่าน ในหลวงงานท่านเยอะ สมเด็จก็อ่านธรรมะให้ฟัง แล้วก็ปฏิบัติธรรมะ อะไรต่ออะไรไปตามหน้าที่ของท่าน เป็นผู้ใกล้ชิดกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ห่างไกลจากคุณพระรัตนตรัย ได้ปฏิบัติหน้าที่ ทุกสิ่งทุกประการเรียบร้อยดีงาม เป็นบุญของเมืองไทยเราเหลือเกินที่ได้ในหลวงกับพระบรมราชินีนาถอย่างนี้ นับว่าเป็นบุญ เหมาะแก่เวลา เหมาะแก่เหตุการณ์ที่เราทั้งหลายต้องการประมุขของชาติที่มีสภาพอย่างนี้ แล้วเรียกว่าท่านจุติจากสวรรค์มาเกิดในเมืองไทย ทั้งสองพระองค์ทำประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมือง
ในวันที่ ๑๒ สิงหาคมนี้ เป็นวันสำคัญ ที่เราทั้งหลายควรจะทำอะไรบ้าง เพื่อตอบสนองพระคุณของพระองค์ท่าน เขาทำอะไรมากมายก่ายกอง หนังสือพิมพ์ลงข่าวทุกวัน วิทยุโทรทัศน์ประกาศ ที่นั่นทำอย่างนั้น ที่นั่นทำอย่างนี้ มากมายก่ายกอง หลายสิ่งหลายอย่าง แต่ว่าดูๆแล้วมันเป็นเรื่องทางวัตถุมาก วัตถุนี้ก็จำเป็นเหมือนกัน เช่น ช่วยสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระราชินีที่จุฬาลงกรณ์ ของในหลวงสร้างเสร็จแล้ว ตึกภูมิพล แล้วตึกพระราชินีต่อไปสร้างเคียงกัน ตึกนี้สำหรับเด็กของลูกที่แม่ชอบไปทิ้ง พ่อมันเหลวไหล แม่ก็ไม่อยากได้ไว้ เอาไปทิ้งไว้ เขาก็ต้องเลี้ยงดูกันต่อไป มากขึ้นทุกวัน แสดงว่าศีลธรรมของประชาชนมันเสื่อมลงไปเรื่อยๆ จึงเกิดเด็กที่พ่อแม่เอาไปทิ้ง เกิดแล้วไปเลย พอสมควรเวลาก็ไปไม่บอกไม่กล่าว หนีไปเลย ทิ้งลูกไว้ ก็เป็นภาระโรงพยาบาล ต้องมีสถานที่สำหรับเลี้ยงดูสิ่งเหล่านี้
ก็มีพระราชดำริที่จะทำสิ่งนี้ขึ้น ประชาชนได้ทราบข่าวก็เลยช่วยกันบริจาคสร้างตึกหลังนั้น สูงหลายสิบชั้น ต้องใช้เงินตั้ง ๗๐๐-๘๐๐ ล้าน ถึงสร้างได้สำเร็จ พวกเราก็ไปช่วยบ้าง เรียกว่าในวันนี้ เราก็ไปช่วยให้ได้ประโยชน์ แต่ว่าที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเราทั้งหลายที่เป็นประชาชนคนไทยก็ดี ชาวต่างประเทศก็ดีที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้รับความสุขความสบายทุกสิ่งทุกประการนี้ เราควรจะได้ทำอะไร อันเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่าน ด้วยการปฏิบัติบูชา
การปฏิบัติบูชาคือการชวนกันมาเลิก กันละ สิ่งที่มันไม่สมควร ที่ทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหาย เช่น อบายมุข การพนัน สิ่งเสพติด การท่องเที่ยวยามค่ำคืน สนุกสนานในทางสิ้นเปลืองเงินทอง คบเพื่อนเหลวไหล เกียจคร้านการงาน ซึ่งมีอยู่ทั่วๆไป อันนี้ ถ้าเรามาระลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่าน เราก็นึกว่าเราจะบูชาสมเด็จพระบรมราชินีนาถด้วยการปฏิบัติบูชา ก็ตัดสินใจว่าจะเลิกในเดือนสิงหาคมนี้ละ ภายหลังจากได้ฟังปาฐกถานี้ทางโทรทัศน์แล้ว ญาติโยมก็มาอธิษฐานใจ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอบูชาพระคุณอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการตั้งใจละสิ่งชั่วร้าย จะไม่เล่นการพนันต่อไป จะไม่เสพสิ่งเสพติดมึนเมา จะไม่เที่ยวกลางค่ำกลางคืน จะไม่คบคนชั่วคนร้าย จะอยู่อย่างประหยัดอดออม ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แล้วก็เป็นคนขยันในการทำมาหากิน เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นคนมีความเจริญก้าวหน้าตามสมควรแก่ฐานะต่อไป
ถ้าชาวไทยทั้งประเทศได้มาตั้งจิตอธิฐาน ละความชั่ว ประพฤติความดี ทำจิตใจให้สะอาด ผ่องใส ตามแนวทางที่พระองค์ทั้งสองได้เดินไป พระพุทธเจ้าสอนว่าจงเดินตามทางที่ผู้ใหญ่เดินแล้ว อย่าละฝ่ามือที่เปียกชุ่มเสีย อันนี้สำคัญ เดินไปตามทางของพระองค์ ในหลวงและพระบรมราชินีนาถเดินทางดี เราเดินทางดี เดินทางถูกเดินทางชอบ เราก็เดินตามไป เราก็จะได้รับความสุขความเจริญ สมความปรารถนา ดังที่แสดงมา เพื่อเป็นการบูชาพระคุณของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในการที่พระองค์มีพระชนมายุครบ ๖๐ พระชันษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคมนี้ ในที่สุดนี้ก็ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นสิ่งที่เราเคารพสักการบูชา จงมาคุ้มครองรักษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ให้ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ปราศจากโรคาพยาธิ ปฏิบัติ (55.39) ทรงประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใด อันเป็นไปในทางที่จะช่วยให้ประเทศชาติบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ขอให้ทรงสำเร็จในสิ่งนั้นในทุกประการทุกเมื่อเถิด ขอถวายพระพร