แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถัดจากนี้ไปเป็นการแสดงปาถกฐาธรรมเรื่องความสุขเป็นรางวัลจากธรรมะ โดยพระเทพวิสุทธิเมธี ปัญญานันทะภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ปากเกร็ด นนทบุรี ได้แสดงไว้เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๕ ขอเชิญท่านสาธุชนรับฟังได้ ณ บัดนี้ค่ะ
ปาถกฐาธรรมประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๖ กรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๕๓๕
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย วันอาทิตย์นี่ ดูอากาศมันครึ้มไปหน่อย เพราะฝนตกตั้งแต่ตอนใกล้รุ่ง แต่ว่าตอนนี้ก็หยุดไปแล้ว ไอ้เรื่องฝนตกแดดออกนี่ มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ มันเป็นไปอย่างนั้น หากบางคราวมันก็ฝนตกตกหนัก บางคราวก็ตกน้อยๆ บางคราวก็ร้อน แต่บางคราวก็ไม่ร้อนเกินไป
ชีวิตของคนเรานี้ได้ผ่านฝนผ่านร้อนผ่านหนาวมาโดยลำดับ จนกระทั่งบัดนี้ ที่มีชีวิตอยู่ได้นี่ก็ด้วยความอดทน ด้วยความเข้มแข็ง เราจึงเอาตัวรอดมาได้ แล้วก็จะอยู่ต่อไป ตามเวลาที่มันจะอยู่ได้ เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้าส่วนผสมของร่างกายยังแข็งแรง เราก็อยู่ต่อไปได้ ถ้าส่วนผสมร่างกายไม่แข็งแรง อ่อนแอ ภูมิต้านทานน้อย เราก็แพ้แก่เชื้อโรค เราอาจจะถึงแก่ความแตกดับเมื่อใดก็ได้
ความแตกดับของร่างกายนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ มันเป็นไปอย่างนั้น เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เราจะไปห้ามไปกันมันก็ไม่ได้ มันเป็นไปตามเรื่องของมัน เราเพียงแต่รู้ทันรู้เท่าของเรื่องนั้น ว่าความจริงมันเป็นอย่างไร แล้วก็อย่าไปคิดเพิ่งเสียดมเสียดาย อย่าไปคิดให้มันเป็นทุกข์ เพราะหน้าที่ของเรานั้นไม่ได้เกิดมาเพื่อความทุกข์ แต่เราเกิดมามีชีวิตอยู่อย่างสดชื่น ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ ไม่มีปัญหากระทบกระเทือนจิตใจให้มันมากเกินไป แม้ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ไม่หวั่นไหว โยกโคลงไปตามปัญหานั้น แต่เรามีสติมีปัญญากำกับจิตใจ เรารู้ว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ อะไรดับไป แล้วก็รู้ว่ามันเกิดมาอย่างไร มันตั้งอยู่ด้วยอะไร มันดับไปเพราะอะไร รู้ที่เกิด รู้ที่ตั้ง รู้ที่ดับของปัญหา สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่ทำร้ายเรา ไม่ทำให้เราเกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนใจ แต่ถ้าเราไม่รู้ ไม่เข้าใจ ในเรื่องอย่างนั้น ก็ขาดการศึกษา ไม่ได้สนใจในเรื่องธรรมะอันเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงค้นพบ เปิดเผย ทำให้ตื้น ทำให้ปรากฏแก่ชาวโลกทั้งหลาย
แต่ชาวโลกที่ไม่มีความสนใจคือไม่มีตาจะดู ไม่มีหูจะฟัง ไม่มีใจที่จะคิดนึกในเรื่องอย่างนั้น ก็ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจ เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจจึงเกิดปัญหา เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เหมือนกับถูกลงโทษ เวลาเรามีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ มีความกลุ้มใจ เรียกว่าถูกลงโทษ ธรรมชาติลงโทษให้เราได้รับความเจ็บปวด ธรรมชาติลงโทษเราเพราะอะไร ก็เราไม่ศึกษากฎเกณฑ์ของธรรมชาติ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราศึกษา ให้เราเข้าใจในเรื่องนั้นตามสภาพที่มันเป็นจริง แต่เราละเลยเพิกเฉย ไม่ได้สนใจศึกษาในเรื่องนั้น จึงต้องถูกลงโทษให้เจ็บช้ำด้วยประการต่างๆ เวลาใดที่เรามีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจขึ้น เราก็ต้องรีบรู้สึกตัวว่านี่แหล่ะ คือธรรมชาติลงโทษเราแล้ว ที่ฝรั่งเขาว่าพระผู้เป็นเจ้าลงโทษ พระผู้เป็นเจ้าก็คือตัวธรรมชาตินั่นเอง ธรรมชาติ ธรรมดา ที่มันมีอยู่ทั่วไปในรูป เฮ้ย ลงโทษใคร ก็ลงโทษคนที่ละเลยเพิกเฉย ไม่ทำตามหน้าที่
หน้าที่ของเราคือการศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติให้รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง แต่ว่าเราไม่สนใจศึกษา ไม่สนใจปฏิบัติในเรื่องนั้น ก็ถูกธรรมชาติเล่นงานเอา ทำให้มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจด้วยประการต่างๆ ญาติโยมเคยมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจด้วยปัญหาอะไรอะไรหรือไม่ ถ้าเรียกมาถามเป็นรายบุคคล ก็คงจะตอบแนวเดียวกัน คือว่าเคยเป็น เคยมี เคยเป็นทุกข์ เคยมีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ ที่จะไม่มี ไม่เป็น ในเรื่องนี้มันน้อย น้อย น้อยเหมือนกับเขาวัว ขนวัวนี่มันมากกว่าเขาวัว เขาวัวมันมีสองเขาในตัว แต่ขนนี่นับไม่ถ้วน ไม่รู้ว่าจำนวนเท่าไร คนเราที่ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องความทุกข์ถูกต้อง ก็มีมากเหมือนกับขนโค ซึ่งมีมากมายที่ได้รู้ ได้เข้าใจ แล้วไม่มีความทุกข์นั้น มีจำนวนเหมือนกับเขาโคเท่านั้นเอง เขาโคมันมีสองเขาเท่านั้น แต่ขนไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าไร เพราะงั้นเราอย่าอยู่ในประเภทขนวัว แต่ว่าอยู่ในประเภทเขาวัว
คือเราจะต้องศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องนั้นให้เป็นการถูกต้อง เรามีสิทธิที่จะรู้ มีสิทธิที่จะปฏิบัติในแนวทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนไว้ เพื่อทำชีวิตของเราให้ปลอดจากปัญหา ปลอดจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจด้วยประการต่างๆ ทุกคนทำได้ อย่านึกว่าทำไม่ได้ หรืออย่าพูดว่าฉันทำไม่ได้ อย่าพูดเช่นนั้น เพราะถ้าว่า คนทำไม่ได้ พระผู้มีพระภาคก็คงจะไม่สอนเรื่องนั้นไว้ เรื่องที่คนทำไม่ได้นี่พระพุทธเจ้าไม่สอน แต่จะสอนในสิ่งที่ทุกคนทำได้ และพระองค์ก็ได้ทำเป็นตัวอย่างแล้ว พระอรหันต์สาวกทั้งหลายก็ได้ทำเป็นตัวอย่าง ได้ปฏิบัติตนให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน เป็นตัวอย่างแก่คนทั่วไป
ในการไปประกาศคำสอน พระผู้มีพระภาคก็สั่งว่าเธอทั้งหลายจงเที่ยวไป เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่มหาชน จงแสดงตนให้เขาเห็นว่าเราเป็นผู้ประพฤติธรรมมีความสุขอย่างไร มีความสบายใจอย่างไร แล้วจงพูด จงอธิบายให้เขาเข้าใจในแนวทางปฏิบัตินั้นๆ คนที่มีดวงตา มีไฝ มีฝ้าน้อยๆ มีอยู่ แต่เพราะไม่ได้ยินได้ฟัง ไม่ได้ศึกษา จึงไม่ได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ เธอจงไปสอนเขาให้เกิดความรู้ความเข้าใจ พระท่านก็ออกเดินทางไป เที่ยวสั่งสอนประชาชนในที่นั้นๆ สอนบุคคลทุกจำพวก ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวสวน พ่อค้าคหบดี ข้าราชการ พระราชา มหากษัตริย์ เศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติ พระท่านก็เข้าไปสอนทั้งนั้น ไปพูดชี้แนะแนวทางให้เขาเข้าใจ ว่าอะไรเป็นอะไร ตามสภาพที่เป็นจริง คนเหล่านั้นได้ยินได้ฟังแล้ว ก็นำไปคิดไปตรอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น แล้วนำไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ชีวิตเขาก็ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเมื่อก่อน มีความสงบกว่า มีความสุขกว่า มีความวุ่นวายน้อยกว่า ก็แสดงว่าได้ผลอยู่
มีคนเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย ที่ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าชี้ไว้ เขาก็เดินไปตามทางนั้นก็พ้นจากปัญหา เราจึงต้องเป็นผู้เดินทาง อย่าไปยืนอยู่ที่ปากทาง อย่าไปชมมาลัยอยู่ที่ปากทาง เพราะมันทำให้ชักช้าทำให้เสียเวลา เราจะต้องเดินเข้าไปทันที เมื่อไปถึงทางเดินก็รีบเดินไป เดินไป เดินไป เดินอย่าหยุด สองข้างทางอาจจะมีอะไรๆชั่วชวนให้เราเพลิดเพลิน ให้เราหลงใหลได้ แต่เราก็ไม่พอใจในสิ่งนั้น เพราะเห็นว่านั้นเป็นแต่เพียงเครื่องล่อ เครื่องจูงใจ เราจะไม่ไปหลงใหลในสิ่งเหล่านั้น เราจะเดินไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง
พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง อย่าได้หยุดเป็นอันขาด อย่าได้ท้อแท้ อย่าให้เกิดความอ่อนแอทางด้านจิตใจ แต่จงมุมานะเพื่อจะเดินทางต่อไปจนกว่าจะถึงจุดหมาย” อันนี้เป็นคำตรัสที่กระตุ้นเตือนพระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลายว่าอย่าท้อแท้ อย่าอ่อนแอทางจิตใจ จงก้าวหน้าต่อไป คนอ่อนแอนี่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเมื่อมีความอ่อนแอ มันก็ขาดความอดทน ขาดความตั้งใจมั่น ขาดความเพียร ขาดไปหมดทุกอย่างเพราะความอ่อนแอทางจิตใจ เลยเอาตัวไม่รอด ไม่สามารถจะก้าวหน้าไปได้ เพราะความอ่อนแออย่างนั้น
มีพระองค์หนึ่งบวชในพรรษา บวชก็เข้าพรรษา อธิษฐานใจเข้าพรรษาเหมือนกัน แต่ว่าอยู่มาได้ไม่กี่วันก็ไปบอกว่า
“ผมอยู่ไม่ได้แล้ว” ถามว่า “มันเป็นอย่างไร”
“ผมนึกว่าบวชแล้วมันจะได้สบายหน่อย แต่บวชมาแล้วมันไม่สบาย”
“ไม่สบายอย่างไร”
“โคตรเรื่องมาก ไม่ได้หยุดพักผ่อนเลย เช้าก็ต้องไปอบรม บ่ายก็ต้องอบรม กลางคืนก็ต้องอบรม บิณฑบาตก็ไม่ให้ใส่รองเท้า ไอ้หินเม็ดเล็กๆ แก้วข้างถนนมันตำเท้าผมทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน ผมทนไม่ไหวแล้ว พระผู้ใหญ่นี้แย่มาก”
อ้าว หาว่าพระไม่ดี ถามว่า “แย่อย่างไร”
“ไม่เห็นใจพระผู้น้อยเลย ไม่อนุญาตให้ใส่รองเท้าออกบิณฑบาต แล้วก็จะอยู่ลำบาก โลกสมัยนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะแยะแล้ว พระวินัยของพระพุทธเจ้ามันต้องเปลี่ยนบ้าง” ไปกันใหญ่แล้ว เลยบอกว่า “ไอ้นี่มันเรื่องเธอตามใจตัวเอง ที่บวชเข้ามาตั้งร้อยกว่าองค์ ก็มีองค์เดียวเป็นพิเศษที่ทนไม่ได้ ทนต่อความเจ็บปวดไม่ได้ ไอ้หินบนถนนเม็ดเล็กๆ มันคมนักหนา เราเดินไปเท้าเปล่ามันก็ตำเท้า ตำเท้าแล้วมันก็เป็นทุกข์”
คุณอุทัย พิมพ์ใจชน เคยบวชที่นี่ บวชแล้วไปบิณฑบาตน่ะมันถูกตำเท้า บอกว่า “มันเจ็บน้ำตาจะไหล แต่ว่าบอกตัวเองว่าคนอื่นอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้ เราต้องอดทน สู้กับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้จะไปสู้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร ก็เลยทน” จนกระทั่งครบเวลาที่ลาสิกขาออกไป เขาทนได้ แต่นี่ทนไม่ได้ เลยต้องขอลา ขอลากลับไปอยู่บ้าน เขาบอกถามว่า
“เธอเรียนจบอะไร”
“ผมเรียนวิทยาศาสตร์”
“อ้อ ความรู้ก็ใช้ได้ แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เธอรับได้มั้ย”
“ไม่ได้เรื่อง ผมรับไม่ได้ อาจารย์สอนว่าร่างกายนี้ประกอบด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม นี่ผมรับไม่ได้”
“ทำไมเธอรับไม่ได้ มัน ดิน น้ำ ไฟ ลม มันจะเกิดมาเป็นร่างกายได้ยังไง” เลยถามว่า “แล้ววิทยาศาสตร์เขาว่าอย่างไร”
“เขาว่าร่างกายนี้เป็นสสาร”
“สสารมันหมายความว่ายังไง”
“มันเป็นวัตถุมารวมตัวกันเข้าแล้วก็เกิดเป็นนั้นเป็นนี้ขึ้นมา”
“แต่บ่อเกิดแห่งสสารนั้นมันคืออะไร เธอเข้าใจมั้ย มันเป็นธาตุ ธาตุนั้นมันมีมากมาย หลายสิบอย่าง แต่ว่าที่เขาเน้นธาตุใหญ่ๆ มันก็มี ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดินก็คือของแข็ง ธาตุน้ำก็คือของเหลว ธาตุลมก็คือแก๊ส ธาตุไฟก็คืออุณหภูมิ เธอรู้จักมั้ย”
“รู้” แล้วเขาบอกว่า “มันประกอบด้วยธาตุนี้พอรับได้มั้ย” “ถ้าพูดอย่างนี้มันก็พอรับได้” มันแย่ เลยก็สึกไปแล้ว แล้วไปพูดกับเพื่อนฝูงว่า “ผมนี่ อยู่บ้านไม่ได้ทำให้คุณแม่สบายใจเลย นึกว่าบวชคราวนี้จะทำให้คุณแม่สบายใจ แต่อยู่ไม่ได้ เลยคุณแม่ก็ไม่สบายใจอีก ต้องมาสึกกลางพรรษา”
ไม่ได้เรื่อง ความอ่อนแอ ความอ่อนแอทางด้านจิตใจ เลี้ยงมาให้ลูกอ่อนแอ ไม่ให้เข้มแข็ง ไม่ให้พบกับธรรมชาติเสียบ้าง เลยก็อยู่อย่างนั้น เป็นคนประเภทที่เรียกว่า “ต้นไม้ในร่ม” เหมือนเราเพาะพืชผักเฉพาะในร่ม เอาไปปลูกมันไม่ค่อยขึ้น เพราะมันไม่ถูกแสงแดด พอไปปลูกเข้า ถูกแสงแดดเข้าก็ตาย ก็อยู่ในร่ม เป็นต้นไม้ในร่ม คนเรานี่ก็เหมือนกัน ถ้าอยู่ในร่ม อยู่ในความสบาย ไม่ค่อยจะมีชีวิตลำบาก มันก็สู้โลกไม่ได้ มันต้องลำบาก
ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในวังนี่จะได้อะไร ก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ว่าออกไปอยู่ในป่า นอนบนดินบนทราย เอาต้นไม้เป็นหลังคา บิณฑบาตอาหารจากคนยากคนจนมาฉันไปวันละมื้อ ทรมานร่างกายให้ลำบากด้วยประการต่างๆ จนกระทั่งสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ความเป็นพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของที่ได้มาง่ายๆ ไม่ใช่สิ่งที่จะได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลา แล้วก็ตั้ง ๖ ปีจึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เล็กน้อย ศึกษาปฏิบัติค้นคว้าเป็นเวลานานถึง ๖ ปี จึงได้พบสัจธรรมอันเป็นความจริงตามธรรมชาติ แล้วก็เอามาสอนคนอื่นต่อไป นี่ได้มาด้วยความอดทน ด้วยความบากบั่น ไม่ใช่มาด้วยสิ่งง่ายๆ
นักวิทยาศาสตร์ในสมัยปัจจุบันที่ค้นคว้าอะไรออกมาได้ ก็ไม่ใช่ได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลา ใช้ความเพียร ใช้ความอดทน ความตั้งใจจริงอย่างมาก จึงสำเร็จในสิ่งนั้น บางทีมันก็จะไม่ได้แล้ว นึกว่า เฮ้ เลิกทีเถอะ แต่พอใกล้จะเลิก มันเกิดรู้ขึ้นมา ได้อะไรขึ้นมา กลายเป็นคนมีชื่อมีเสียงในด้านวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นผู้ค้นพบในสิ่งนั้นๆ พระพุทธเจ้าของเราก็ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านนามธรรม คือด้านเกี่ยวกับจิตใจ ได้ทรงพบกฎ ทรงพบกฎเกณฑ์แห่งความจริงตามธรรมชาติ แล้วก็ปฏิบัติได้ผลด้วยพระองค์เอง จึงนำมาประกาศแก่ชาวโลก ชาวโลกเราก็เอามาใช้เป็นหลักปฏิบัติ ชีวิตมันก็ดีขึ้น
เรื่องนี้ให้สังเกตตัวเราเองแต่ละคน ว่าเมื่อก่อนกับเดี๋ยวนี้มันแตกต่างกันอย่างไร เมื่อก่อนนี้ไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยพบพระ ไม่เคยอ่านหนังสือธรรมะ ไม่ได้ฟังอะไรเรื่องธรรมะนี่ไม่ได้สนใจเลย หมกมุ่นอยู่กับการทำมาหากิน ซึ่งก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งเหมือนกัน การทำมาหากินนั้นก็เป็นหน้าที่ เป็นธรรมะอันหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าเป็นธรรมะฝ่ายโลกีย์ ฝ่ายโลก มันก็เป็นไปเพื่อความมีปัญหาเหมือนกัน อาจจะมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนขึ้นในใจเมื่อไรก็ได้ เพราะเราไม่มีธรรมะเป็นเครื่องกำกับจิตใจ ต่อมามันจะเป็นอะไรเกิดขึ้นในชีวิตก็ตาม หรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม ได้พบพระ ได้อ่านหนังสือธรรมะ หรือได้ฟังอะไรอะไรที่เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนจิตใจ ก็เลยเกิดความคิดว่าดี เราควรจะไปศึกษาดู แล้วก็ศึกษาเรื่องธรรมะ เอาไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไป
มีคนคนหนึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปเสียแล้ว เป็นผู้จัดการบริษัทกระจกใหญ่ในเมืองไทย เป็นนักธุรกิจที่ผู้ยิ่งใหญ่ เดินทางไปต่างประเทศเหมือนกับไปบางแสนบางปู ไปบ่อยๆ วันหนึ่งเพื่อนคนหนึ่งไปส่งที่ดอนเมืองบอกนี่ เอานี้ไปด้วย เอาไว้อ่านในเรือบิน เพราะว่าไม่มีอะไรจะทำ อ่านหนังสือ เขาก็อ่าน อ่านด้วยความตั้งใจ ก็นั่งไปในเรือบินมันว่าง ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยอ่าน อ่านด้วยความตั้งใจ อ่านจนจบแล้วอ่านอีก ขากลับก็อ่านอีก อ่าน อ่านแล้วก็เกิดความรู้ขึ้นในใจว่า แหม เรานี่ มันเที่ยวหลงอยู่ตั้งนาน เที่ยววกเที่ยววนอยู่ ไม่เข้าทางสักที หนังสือเล่มนี้มันชี้ทางให้เราเดิน แล้วก็ตอบปัญหาได้ทุกอย่างในชีวิต ปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็คำสอนในหนังสือนี้มันตอบปัญหาได้ พอใจมาก กลับมาแล้วก็ ว่างก็ไปไชยา ไปหาท่านเจ้าคุณพุทธทาสเจ้าของหนังสือ ไปสนทนาธรรมกันกับท่าน ก็เป็นที่ประทับใจ ได้รับความสบายใจมาก เลยขออนุญาตพิมพ์หนังสือเล่มนั้น หนังสือเล่มนั้นมันเป็นที่เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ขออนุญาตพิมพ์สัก ๕,๐๐๐ เล่ม เพื่อเอาไปแจกเพื่อนที่มันยังหลับหูหลับตากันอยู่มากมาย ให้มันได้ลืมหูลืมตากันเสียบ้าง ท่านเจ้าคุณก็อนุญาตให้เขาไปพิมพ์ ก็พิมพ์มาแจกจ่ายกัน ส่งมาไว้ที่นี่ก็แจกจ่าย คนไหนอ่านภาษาฝรั่งได้ก็ให้ไป ฝรั่งมาก็ให้ไป
หนังสือนั้นก็คือ “คู่มือมนุษย์” นั่นเอง แต่ว่าแปลเป็นสากลเรียกว่า “The Handbook of Mankind” “Handbook of Mankind” แปลว่า “คู่มือมนุษย์” นั่นแหล่ะ คนก็เอาไปอ่าน หนังสือเล่มนี้เรียกว่าเป็นการเปิดทางให้คนเดิน ให้คนเข้าใจเรื่องชีวิตถูกต้องขึ้น เขาก็อ่านด้วยความตั้งใจ มีคนหลายคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ในภาษาไทย แล้วก็เปลี่ยนเข็มชีวิตเข้าหาธรรมะ ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อช่วยเหลือธรรมะ ให้มันเข้าไปถึงคน ให้คนได้เข้าถึงธรรมะมากขึ้น คือผลที่ได้เปลี่ยนชีวิตเข้าหาธรรมะ ทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่เฉพาะแต่คนในเมืองไทย แม้ชาวต่างประเทศก็เหมือนกัน เขาก็อยู่กันตามเรื่องตามราว สุขบ้างทุกข์บ้าง ปวดหัวบ้างอะไรบ้าง นอนไม่หลับบ้างไปตามเรื่อง แต่ว่าเมื่อได้พบหลักธรรมของพระพุทธเจ้า หรือได้สนทนากับพระในพระพุทธศาสนา เขาเกิดความเข้าใจอะไรขึ้น แล้วก็เอาไปปฏิบัติ ชีวิตดีขึ้น การงานดีขึ้น มีความสุขความสบาย เลยกลายเป็นสมาชิกของวัด ที่เขามาช่วยวัดวาอาราม ในกิจการเผยแผ่ธรรมะในพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลกต่อไป อันนี้ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาได้พบทางเดินที่ถูกต้อง แล้วก็ได้เดินตามทางนั้น เดินไปด้วยอารมณ์สดชื่นรื่นเริง ทุกก้าวกับชีวิตที่ทำงานแต่มันไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนนั้นทำงานด้วยความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ มีปัญหาเยอะแยะ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร แต่พอมาศึกษาธรรมะเข้าก็รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไรถูกต้อง ชีวิตก็ดีขึ้น นี่เป็นผลของการที่เลี้ยวเข้ามาหาพระ เลี้ยวมาหาพระ ไม่ใช่เลี้ยวขวาเจอซาสี่อะไรนั่น ไอ้นั่นมันขายเครื่องดื่ม โฆษณาว่าเลี้ยวขวาเจอซาสี่ ไม่ใช่เจอซาสี่ แต่ว่าเลี้ยวขวามาเจอพระธรรมเข้าให้ เจอแสงสว่าง เจอความสงบ สะอาดของชีวิต แล้วก็เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
ญาติโยมทั้งหลายที่มาวัด แล้วก็มาเรื่อยๆ มาติดต่อกันตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เปิดแสดงธรรมที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์นี่ กี่ปีมาแล้ว เปิดที่ศาลาหน้าวัดโน้น มันคับแคบ ก็มาสร้างตรงนี้ อาตมาก็พูดอยู่ตรงนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ จนกระทั่ง ๒๕๓๕ เป็นเวลา ๓๐ กว่าปี ญาติโยมที่จำหน้าได้ก็มาอยู่ทุกอาทิตย์ ขาดบ้าง ไปงานกฐินบ้าง ไปงานบวชบ้าง ไปไหนๆ บ้าง ก็ขาดไป แต่ก็มาอยู่ มาเกือบจะได้รับรางวัลแล้ว รางวัลคนฟังธรรม แต่ว่าอย่าเอาเลย รางวัลมันเป็นวัตถุ รางวัลที่ได้รับมีอยู่แล้วคือรางวัลแห่งความสุขใจ เรามาวัดมาฟังธรรมอยู่บ่อยๆ มันได้รับรางวัลคือความสุขใจ สบายใจ สภาพจิตใจดีขึ้น มีความสุขทางจิตใจ นี่คือรางวัลที่เราได้รับ
คุณนายคนหนึ่งแกก็มาฟังอยู่ทุกอาทิตย์ ฟังอยู่หลายปี วันหนึ่งมาก็มีถาดเครื่องสักการะมา ไม่ใช่วันเข้าพรรษา ไม่ใช่วันอะไรมา เอาของมาถวาย ถามว่าคุณนายมีอะไร เอาของมาถวายเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อทำให้ดิฉันดีขึ้น ก็เล่าเรื่องให้ฟังว่าเมื่อก่อนมันไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไร มักโกรธ ใจร้อน ใจเร็ว ตื่นเช้าถ้าไม่ได้ด่าคนใช้แล้วจะกินข้าวไม่ได้ ต้องดุคนนั้น ต้องว่าคนนี้ อะไรต่ออะไรเรื่อยไป …… (29.26 เสียงไม่ชัดเจน) สามีก็เป็นนายทหาร แกบอกว่าผมนี่ไม่ต้องไปฝึกความอดทนที่ไหน ก็มีบทเรียนทุกเช้า ทุกเย็น บทเรียนก็คือแม่บ้านนี่สอนผมทุกวัน ทุกวัน แต่ก็อยู่มาได้ก็ด้วยอาศัยความอดทน อดกลั้น อย่างเกจิ แต่เดี๋ยวนี้ผมสบาย เพราะไม่พบอารมณ์เช่นนั้นจากแม่บ้าน แม่บ้านก็สบายเพราะตื่นขึ้นก็ไม่ต้องมีจิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง ตื่นขึ้นแล้วก็สบายเหมือนกับว่าได้พบวันใหม่ ชีวิตใหม่ เป็นสุขขึ้น ในครอบครัวก็มีความสุข คนใช้ทุกคนก็พลอยมีความสุข สุขกันหมด ถ้าหากว่าพ่อบ้านแม่บ้านเป็นคนใจร้อนใจเร็ว หุนหันพลันแล่น คนทุกคนในบ้านก็กลัวหงอกันไปตามๆ กัน คอยดูตาว่าขุ่นรึเปล่า พอเห็นตาขุ่นก็เตรียมเนื้อเตรียมตัวคอยรับการดุการด่าว่า เฮ้อ เป็นอย่างนั้น แล้วมันจะสุขอย่างไร จะสบายจิตใจอย่างไร แต่ว่าเมื่อได้มาฟังธรรมบ่อยๆ เกิดความรู้สึกขึ้นในจิตใจ มันเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ใจมันสงบขึ้น สะอาด สว่างขึ้น แล้วก็เลยละไอ้สิ่งเหล่านั้นไปได้สบาย เดี๋ยวนี้ก็สบายใจ ก็ยังมาฟังอยู่ แต่ว่าไม่ค่อยเข้ามาในศาลา มักจะมานั่งข้างนอก ก็มาฟังอยู่สม่ำเสมอ แกได้รับผลจากธรรมะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
แม้บางคนไม่ได้มาวัด แต่ว่าได้ฟังทางวิทยุบ้างโทรทัศน์บ้าง ก็ได้เปลี่ยนชีวิตจิตใจ หันเข้าหาความถูกต้อง ละ เลิก สิ่งที่เคยกระทำมาก่อน ซึ่งมันเป็นการไม่ถูกต้องหายไป มีชีวิตเรียบร้อย ครอบครัวก็สบาย มีความสุข มีอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน เขาเขียนจดหมายมาบอกมากล่าว บอกว่าชีวิตผมเมื่อก่อนมันเป็นยังไง เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ที่ได้เป็นอย่างนี้เพราะอาศัยฟังธรรมจากวิทยุยานเกราะที่หลวงพ่อเทศน์มา เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ไปเทศน์แล้ว ให้ลูกศิษย์เขาไปเทศน์กันอยู่ ครั้งก่อนนี่ก็ ๒๐ กว่าปี คนได้ฟังกันทั่ว เดี๋ยวนี้เขาก็ยังฟังแต่เป็นเสียงพระองค์อื่น เขาก็เอาไปเป็นหลักปฏิบัติ คือฟังไปฟังไป แล้วมันเกิดรู้จักตัวเองขึ้น มองเห็นตัวเองถูกต้องขึ้น เมื่อก่อนนี้ไม่รู้จักตัวเอง ไม่เห็นตัวเอง ว่าตัวเราคือใคร สภาพชีวิตเป็นอย่างไร ความคิดความอ่านเป็นอย่างไร มีอะไรเป็นเจ้าเรือนอยู่ในจิตในใจของเรา เขาไม่รู้ เพราะไม่มีใครชี้ให้รู้ เลยไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักสิ่งที่มันมาก่อจับอยู่ในจิตใจ ไม่รู้จักทุกข์โทษเพราะสิ่งนั้น แล้วก็ไม่คิดแก้ไข บางทีก็นึกว่าตัวถูกเสียด้วย ตัวทำถูกเสียด้วย มันก็ไปกันใหญ่ แต่ต่อมาเมื่อมีธรรมะปรากฎขึ้นในใจ ก็การอ่าน การฟัง หรือการได้คบหาสมาคมกับผู้ที่ประพฤติธรรม จิตใจก็ได้รู้ขึ้น อะไรเป็นอะไร รู้จักตัวเอง รู้จักสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ในชีวิตของตัว แล้วเห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งนั้น เลยแก้ไข หัดเป็นคนมีสติมีปัญญากำกับจิตใจ รู้ทัน รู้เท่าต่อสิ่งนั้นขึ้นมา สภาพชีวิตก็ดีขึ้น สิ่งที่เคยปฏิบัติก็เลิกละไป ชีวิตเข้าสู่แนวใหม่ เดินตามทางของพระ เดินตามเสียงพระเรื่อยไป มันก็เปลี่ยนไปได้อย่างนี้ คือออกจากมืดมาอยู่ที่สว่างได้ ออกจากความผิดมาอยู่กับความถูกต้องได้ จากความหลงใหลมาอยู่กับสิ่งที่ไม่ทำให้หลงใหลมอมเมาต่อไป มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น เพราะว่าเราได้เข้าหาธรรมะ
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งที่ควรจะเรียกว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ไอ้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จอมปลอม ไม่ได้แท้จริงอะไร หลอกเราให้หลงใหลมอมเมาไปอย่างนั้นล่ะ แต่ว่าพระธรรมนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จริงๆ
“ศักดิ์คืออำนาจ”
“สิทธิคือความสำเร็จ”
อำนาจที่จะให้เกิดความสำเร็จขึ้นในชีวิตนั้น มันต้องอยู่ที่ธรรมะ ที่เรานำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถ้าเรานำธรรมะมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ความสำเร็จมันก็เกิดขึ้นด้วยอำนาจของพระธรรม พระธรรมจึงสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้เกิดขึ้นในใจของเรา ในการแสวงหาอะไรอะไรมาเป็นสิ่งช่วยตนนั้น เราก็ต้องแสวงหาธรรมะ เอาธรรมะมาช่วย อย่าเอาสิ่งอื่นมาช่วย อย่าไปพึ่งสิ่งอื่นหรืออย่าไปขอร้องวิงวอนให้มาช่วยเลย ช่วยไม่ได้ อะไรอะไรมาช่วยเราไม่ได้ เช่นเราไปทำการอ้อนวอนเซ่นสรวงบวงบนต่ออะไรอะไรต่างๆ นั้น ช่วยไม่ได้ มันเกิดขึ้นเพราะเราทำเอง เราทำ เราไปบนบานศาลกล่าวแล้วเราก็มาทำ เมื่อทำมันก็เกิด แต่ว่ายกประโยชน์ให้สิ่งนั้นไป พอเกิดขึ้นก็วู้ สิ่งนั้นช่วย สิ่งนี้ช่วย ดูหมิ่นตัวเอง ไม่รู้จักตัวเองว่าทำอะไร ผลมันเกิดจากความคิด การพูด การกระทำของตัวแท้ๆ แต่ยกประโยชน์ให้ไปกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่เป็นวัตถุเหล่านั้น อันนี้มันไม่ถูกต้อง
เราควรจะได้คิดว่าสิ่งนี้เกิดเพราะอะไร เกิดเพราะเรากระทำ เราเคลื่อนไหว เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วมันเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา มันเป็นไปตามกฎ ที่ท่านพุทธทาสพูดว่า “อิทัปปัจจยตา” กฎอิทัปปัจจยตา หมายความว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะมีสิ่งให้เกิดขึ้น เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น มีสิ่งนี้ สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น มันเกิดกันตามลำดับของเรื่อง เป็นไปตามลำดับ แต่ว่าเราไม่เข้าใจกฎเกณฑ์อันนี้ แล้วก็ไม่ได้ยินได้ฟังด้วยซ้ำไปว่าสิ่งนี้มันเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นระเบียบของสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในโลกนี้ ใครๆ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อันนี้ กฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา เพราะมีเหตุมีปัจจัยจึงได้เกิดสิ่งหนึ่งขึ้น แล้วก็เกิดสิ่งอื่นต่อไปตามลำดับ มันมีเหตุทั้งนั้น เหตุนั้นมันอยู่ที่การคิดการพูดการกระทำของเรา ไม่ได้อยู่ที่อำนาจอะไรจะมาทำให้เราเป็นอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น แต่มันขึ้นอยู่กับว่า เราคิดเราพูดเราทำ แต่ว่าคนเรามักจะไม่ได้มองที่ตัว ชอบมองไปที่ภายนอก ดูภายนอก นึกว่าสิ่งนั้นช่วยเรา สิ่งนี้ช่วยเรา ดลบันดาลให้เราเป็นอย่างนั้น ให้เราเป็นอย่างนี้ อยากจะบอกให้ญาติโยมทราบว่าไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องนั้นเราต้องเข้าใจว่า สิ่งนี้เกิดจากการกระทำของเรา ถ้าเราทำดีทำถูก มันก็เกิดผลในทางดีทางเจริญ เรียกว่าเป็นฝ่ายบวก ถ้าเราคิดไม่ดีพูดไม่ดีทำไม่ดีคบคนไม่ดี ไปสู่สถานที่ไม่ดี มันก็เป็นผลทางลบ คือทำให้มีปัญหาเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ มันเกิดที่เรา ไม่ได้เกิดที่อื่น แล้วผลที่เกิดขึ้นนั้นก็อำนาจของธรรมะที่เราปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องตามธรรมะก็ได้รับรางวัล คือได้รับผลที่เป็นความสุขเป็นความเจริญ แต่ถ้าเราทำผิดธรรมะก็ถูกลงโทษ ลงโทษตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ยุติธรรมที่สุด กฎหมายก็ยังไม่ยุติธรรม ผู้พิพากษาก็ยังลำเอียงได้ เพราะเห็นแก่อามิสสินจ้างรางวัล คนผิดอาจจะไม่ถูกลงโทษขังคุกก็ได้ คนไม่ผิดอาจจะติดคุกก็ได้ มีเยอะแยะในเรือนจำ เวลาไปเทศน์ไปสอน นี่ก็ลองศึกษาชีวิตของคนเหล่านั้น บางคนก็ไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอะไร คือเขาว่าเขาไม่ผิด แต่ความจริงเขาผิดเหมือนกัน ผิดตรงที่ว่าไปเดินร่วมกับอันธพาล เมื่อเพื่อนถูกจับ ตัวก็ผิดไปด้วย ก็ไปเดินร่วมกับอันธพาล ไม่ได้ไปทำในเรื่องนั้นแต่ว่าเคยเดินร่วมกัน เป็นเพื่อนกัน สนิทสนมกัน ผลก็เลยตกมาถึงตัวด้วย ถ้ามันมีผล หรือว่าบางทีในกรณีนี้ เราไม่ได้ทำ แต่ว่าเราทำมาก่อน ในเรื่องก่อน ไม่ได้ฆ่าคนนี้ตาย แต่ว่าเคยฆ่าคนอื่นมาก่อน แต่ว่าจับไม่ได้ ไม่มีหลักฐานที่จะจับกุม แต่ที่หลังมา ไอ้คนนี้เราไม่ได้ฆ่า คนอื่นมันฆ่าทิ้งไว้ ไอ้ตัวเดินไปสะดุดเข้าแล้วก็นั่งลงคลำไปคลำมา ดูล้วงกระเป๋าว่ามันมีทรัพย์อะไรบ้าง เพราะว่ามันชินกับการล้วงกระเป๋าคนอื่น ไปเห็นศพก็เลยล้วงมันบ้าง ล้วงไปล้วงมามือเปื้อนเลือด เจ้าหน้าที่ตำรวจมาพอดีก็เลยจับเอาไปขึ้นศาลติดคุก ๒๐ ปี
ถามว่า “เราฆ่าเขาจริง” “รายนี้ไม่ได้ฆ่า”
“แล้วเคยฆ่าบ้างรึเปล่า” “เคย”
ไอ้ตอบว่าเคย ตอบเบาๆ บอกว่าเคย ก็เราเคยฆ่าไง ก็ต้องติดคุกไง รายนี้ไม่ฆ่าแต่ ฆ่ารายอื่น รายนี้ไม่ได้ลัก แต่ว่ามันลักรายอื่นมาแล้ว มันก็กรรมมันมาสนอง จึงต้องไปติดคุกติดตาราง แต่เขาไม่เข้าใจ ยืนยันว่า ผมไม่ได้ฆ่า แต่ว่าติดคุก ไม่ยุติธรรม ไอ้นั่น ความจริงมันยุติธรรมแล้ว เพราะเขาเคยฆ่า เคยทำร้ายคนอื่น เลยก็เป็นอย่างนั้น คนที่เคยกระทำความผิดมาในเรื่องอะไรเกิดขึ้น ตัวไม่ได้ผิดก็มีแต่ว่าความผิดเก่ามันมี มันก็มาช่วยให้เกิดการลงโทษตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ จึงเป็นเช่นนั้น ธรรมชาตินี้เป็น เป็นสิ่งยุติธรรม แล้วลงโทษแก่ทุกคนที่ทำผิดกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ หนีไม่พ้น เราหนีกฎหมายได้ หนีอาชญากรรมทางกฎหมายได้ แต่หนีกฎธรรมชาติไม่ได้ เพราะงั้นจึงเกิดผลแก่ผู้นั้นตามเรื่องราวที่มันเกิดขึ้น มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจเรื่องอย่างนี้ ก็ควรจะได้มีความยับยั้งชั่งใจ มีความละอายต่อบาป กลัวบาปกันมากขึ้น แล้วผลกรรมที่ทำไว้มันก็จะเบาบางลงไป
ฉะนี้อยากจะชี้กรรมทางการบ้านการเมืองให้ญาติโยมฟังสักเล็กน้อย มันมีกรรมเหมือนกัน กรรมทางการเมือง มันสนอง เราเปลี่ยนการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ มีคนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขอรัฐธรรมนูญจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไอ้ความจริงคนที่เปลี่ยนการปกครองนี่ทรงทราบ ทราบน้ำใจในหลวงดี ว่าในหลวงเตรียมจะให้อยู่แล้ว จะให้อยู่แล้ว แต่รออีกหน่อย ที่รออีกหน่อยก็เพราะทรงเห็นว่ามันยังไม่พร้อม ประชาชนพลเมืองนี่ยังไม่พร้อม การศึกษามันยังไม่พอ อะไรๆ มันยังไม่พร้อม ให้รออีกหน่อย แต่ว่าคณะเปลี่ยนการปกครองนี่เป็นคนไปเรียนเมืองนอกเมืองนา มีความรู้สมัยใหม่ แล้วก็อยากจะเปลี่ยน ก็เลยใช้กำลัง ใช้กำลังทหารเอามาทำการเปลี่ยนการปกครอง จับกุมเจ้านายเอาไปคุมขังไว้ ให้ได้รับความทุกข์ทรมานพอสมควร หลายวัน ตั้งเดือนก็มี เข้าไปขังไว้ กักตัว แต่ว่ากักตัวมันก็ไม่สบาย ท่านเคยอยู่ในวังก็ได้รับความสะดวกสบายพอสมควร เอาไปกักไว้ก็ไม่สบาย แล้วเมื่อท่านบอกว่า เอาล่ะ ปล่อยฉันเสียที ฉันจะไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ปล่อยไป ท่านก็ไปอยู่ในต่างประเทศ คนที่พลัดบ้านพลัดเมืองนั้นมันไม่มีความสุข เหมือนนกจากรัง ความสุขมันไม่ค่อยมีเท่าไร อยากกลับบ้านกลับช่อง แต่กลับไม่ได้
แล้วก็ได้อำนาจไป ก็ไปใช้อำนาจกันอยู่ อ้าวเกิดปฏิวัติ ปฏิวัติขึ้นมาเอาคนนั้น เอาคนนี้เข้า ปฏิวัติ แล้วก็ทำไปทำไป เพื่อนมาปฏิวัติอีก ปฏิวัติกันมาเรื่อยๆ ก็เอาปฏิวัติเป็นการตอบแทนกันในตัว ปฏิวัติคนที่ปฏิวัติ “นาย ก ปฏิวัติ” “นายข ปฏิวัติ นาย ก” “นาย ค ปฏิวัติ นาย ข” “นาย ง ปฏิวัติ นาย ค” ต่อไป กรรมมันสนองกันมาเรื่อยๆ เป็นกรรมที่จะต้องได้รับมาโดยลำดับ ยังไม่ตัดกรรมกันสักที ตัดกรรมก็หมายความว่าเลิกกันเสียทีไอ้เรื่องปฏิวัติรัฐประหาร เลิกกันเสียที ให้รัฐธรรมนูญเขา ให้ประชาชนเขาเป็นรัฐบาล ไปให้เขาเลือกกันไป มันจะโกงกันมั่ง ก็ช่างมันเถอะ มันกินไม่หมด ประเทศมันตั้งใหญ่ตั้งโต กินเท่าไรมันก็ไม่หมดไม่สิ้น เอาไปบ้าง เหมือนเราเอาน้ำตาลมาวางไว้ มดมันขนไปบ้าง มันก็ไม่หมดกระสอบ มันยังเหลือเยอะแยะ ไม่เป็นไร ค่อยเป็นค่อยไป มันก็ได้ ทีนี้ไม่หยุด ก็มีการชดเชยกันไปเรื่อยๆ ชดเชยกันไป
จนกระทั่งถึงระยะสุดท้ายที่ ๒๓ กุมภาที่แล้ว ก็มีการปฏิวัติที่รัฐบาลออกไป แล้วก็มีคณะ รสช. เป็นผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง ตั้งรัฐบาลขึ้นมาปฏิบัติงาน แต่ว่าคนที่มาเป็นรัฐบาลนั้น เป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่อ่อนข้อให้ใคร ก็เป็นคนมีปัญญา มีความรู้ มีความสามารถ ก็ทำงานมาตลอด จนได้มีรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อย คือเขียนเพื่อให้พวกตัวได้เข้าไปต่อไป เปิดช่องไว้ ในรัฐธรรมนูญ ประชาชนทั้งหลายก็คัดค้านกัน บอกว่ารัฐธรรมนูญมันไม่เป็นประชาธิปไตย ด้วยมีบทนั้น บทนั้น บทนั้น เขาก็ชี้แจงออกไป แต่ว่าคณะที่ร่างรัฐธรรมนูญก็ฟังเสียงผู้ยืนอยู่ข้างหลัง เลยก็ต้องออกมาอย่างนั้น ไม่เรียบร้อย
เมื่อไม่เรียบร้อย ก็มีการเลือกผู้แทนราษฎร เสียงข้างมากมันก็ตกอยู่แก่พรรคๆ หนึ่ง ซึ่งควรจะได้เป็นรัฐบาล แต่ว่ามันเกิดปัญหาว่าหัวหน้าพรรคนั้น ถูกหาว่าค้าเฮโรอีน ค้าจริงหรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่ว่ามันเป็นเรื่องการเมือง ก็ว่ากันไป เอาฝรั่งมาช่วย ไปสอบไปถาม แกก็ไม่ได้ทำอย่างนั้น แต่ว่าพรรคพวกมันเคยมีไปติดคุกอยู่ที่ออสเตรเลีย ผู้แทนเก่าจังหวัดหนึ่งไปติดคุกอยู่ ก็เลยว่าไม่เหมาะที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี พอไม่เหมาะก็ต้องซาวเสียงกันใหม่ ก็เลยมีคนคนหนึ่งเข้ามาเป็นแทน ไม่เป็นที่พอใจของประชาชน ก็ฐานแห่งความไม่พอใจมันมีอยู่แล้ว แล้วเมื่อมาเป็นเข้าอีกก็เลยไม่พอใจ ก็มีการไปคัดค้านกันที่สนามหลวง ก็คือไปนั่ง นั่งประท้วง อดข้าวอดน้ำกันไปตามเรื่อง แต่อดนานๆ ก็อ้าว เดินออกกำลังกันหน่อย ก็เดินมาตามถนนราชดำเนิน จะผ่านสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไปหน้าพระบรมรูปทรงม้า ก็คงไม่มีเรื่องอะไร ถ้าปล่อยให้เดินไป เดินไปเถอะ
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลาย คนมันเดินกันบ่อยๆ เดินกัน ขยันเดิน อินเดียนี่คนชอบเดินขบวนจริงๆ อาตมาไปกับญาติโยมบ่อยๆ ไปเมืองกัลกัตต้านี่ ไปเที่ยวไหนก็เห็นคนเดินทุกที่ เดินขบวน เลยถามว่ามีอะไร เมืองนี้เดินทุกวัน ใครไม่ ไม่พอใจเรื่องอะไร ก็เดินขบวน เดินกันไป เรียบร้อย เดินเรียบร้อย เข้าแถวเดินก็เหมือนกับแถว เดินไป ไปถึงโน่น (นาทีที่ 49:47 ฟังเสียงหลวงพ่อได้ไม่ชัดเจน) ทุ่งใหญ่โตกว่าสนามหลวงของเราตั้ง ๒-๓ เท่า ไปพูดกันที่นั่น พูด พูด พูดจนตะวันตกดิน พอตะวันตกดินก็เลิกพูด เป็นระเบียบของอินเดียเขาอย่างนั้น
สมัยสงครามเขาเรียกว่าสงครามภารตะของอินเดีย มันรบแต่กลางวันนะ พอตะวันขึ้น ก็ออกมารบกันที่ทุ่งคุรุเกษตร รบกันไปรบกันมา ตะวันตกดินเข้าค่าย ไม่มีการปล้นค่าย ไม่มีการโจมตีเวลาหลับ รบกันอย่างผู้มีธรรมะพอสมควร สว่างเข้ามารบกัน แล้วพอตะวันตกดินเข้าค่าย ไม่ยุ่งอะไร อินเดียก็ยังใช้ระบบอย่างนั้น มาประชุมกันตลอดเวลา พอตะวันตกดินก็แยกย้ายกลับบ้าน ตำรวจไม่ต้องออกแรง ไม่ต้องเข้าไปยุ่งอะไร โดยมากเป็นหน้าที่ตำรวจ ทหารก็ไม่ยุ่ง
ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย ทหารเขาอยู่ในค่าย เขารักษาป้องกันชาติจากนอกประเทศ เขาไม่มายุ่งกับภายใน เขาก็เดินกันอยู่อย่างนั้น ไม่ได้มีเรื่องอะไร ไม่ถึงกับรบราฆ่าฟัน แต่ก็มีรบกันบ้าง เวลาระหว่างศาสนา อิสลามกับฮินดู มันเป็นขมิ้นกับปูนกัน รบกันบ้าง แต่ว่าเรื่องเดินขบวนนี่เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราปล่อยให้เดินไป ทางตำรวจก็เดินคุมไป ไปจนถึงพระบรมรูปทรงม้าก็ไปนั่งอยู่ที่นั่น พูดกันไป ถกกันไปตามเรื่อง คอยดูเขาไป เอารถส้วมไปจอดไว้สักคัน เผื่อมันจะถ่าย จะไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนในบริเวณนั้น มันก็เท่านั้นแหล่ะ เขาก็กลับกันไป แต่มันไม่เท่านั้น มันเกิดการอะไรกันขึ้นมา ใช้กำลังกันขึ้นมา เป็นภาพที่น่าสลดใจหน่อย
อาตมาไม่อยู่เมืองไทยตอนนั้น อยู่ที่ชิคาโก้ ประเทศอเมริกา ก็ดูข่าวทางวิดีโอ ทีวี ข่าวสดไม่ใช่ข่าวแห้ง ออกทุกตอนเช้า ตอนบ่าย ตอนเย็น ออกเรื่อย ออกมา ดูภาพแล้วสลดใจ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เมืองเราเป็นเมืองพุทธศาสนา พูดจากันได้ รู้เรื่องกันได้ ไม่ต้องใช้กำลังก็ได้ แต่ว่าได้ใช้กำลังไป เสียหาย ความอดทนมันน้อยไป เลยต้องใช้กำลัง เกิดความเสียหายแก่ เกิดความล้มตายกัน เจ็บปวดกันไปตามๆ กัน
นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ว่ามันก็จะดีไปอย่าง คือได้หยุดสักที หยุดวงจร วงจรการปฏิวัติรัฐประหารนี่จะได้หยุดกันเสียที จะไม่ต้องแก้ไขกันต่อไป ไม่งั้นต้องทำกันมาเรื่อยๆ วงจรนี้ทำกันมาเรื่อยๆ แล้วผู้ที่ทำก็เป็นคนในเครื่องแบบทุกที คนอื่นมันทำไม่ได้ เพราะไม่มีอาวุธ ก็เลยต้องทำอย่างนั้น เลยมันก็ซ้อนกันมาซ้อนกันมาเรื่อยๆ จอมพล ป. ปลดพลเอกพหล ต่อมาก็มีคนมาปลดจอมพล ป. ออกไป หาข้าราชการพลเรือนมาตั้งอยู่ จอมพลผินก็มาปลดลงไป เอาจอมพล ป. เข้ามา จอมพล ป. มาทำทำไป จอมพลสฤษดิ์มาไล่ไป แต่แล้วจอมพลสฤษดิ์ก็ตายไป เพื่อนไม่ได้ปฏิวัติ ตายไป จอมพลถนอมท่านรับมรดกมา ทำงานทำการมา ความจริงก็เรียบร้อยแต่ว่าไม่เป็นที่พอใจของประชาชนบางกลุ่มบางเหล่า เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญ เลยเกิด ๑๔ ตุลา ขับไล่ท่านจอมพลถนอมออกไป ทำแล้วก็ทำกันมาอีก มีรัฐบาล รัฐบาลก็ทหารเข้ามา พลเอกเปรมเข้ามา ก็เรียบร้อย ต่อมาคุณสัญญาเข้ามาขัดตาทัพ ต่อมาก็พลเอกเปรม พลเอกเปรมนั้นท่านเป็นคนซื่อ เป็นคนไม่รู้จักกิน ไม่รู้จักโกง เพราะว่าตัวคนเดียว ไม่มีหลังบ้าน ได้แต่เข้าหลังบ้านก็ไม่มีใครจะรับตังค์หลังบ้าน เข้าหน้าบ้านท่านก็ไม่ยิ้มด้วย ท่านเป็นคนอย่างนั้น ก็เรียบร้อยอยู่ได้ถึง ๘ ปี ท่านเห็นว่าพอสมควรแล้ว พอเขาเลือกผู้แทนกันแล้ว ก็บอกเป็นกันไป คุณชาติชายก็ขึ้นมา พอชาติชายมาเป็นไม่ทันไรก็เกิดรัฐประหาร ไล่ออกไป ทีนี้เวลานี้คุณชาติชายก็เข้ามาสมัครเลือกตั้ง ไอ้คนที่ไล่กลับเดือดร้อน คนถูกไล่กลับจะเป็นใหญ่ต่อไป ก็เป็นอย่างนี้
อันนี้ต้องปล่อยให้เขาเป็นไป อย่าไปยุ่ง อย่าไปยุ่ง ให้เขาเป็นไปตามครรลองคลองธรรม เมื่อครบวาระเลือกตั้งก็เลือกกันไปตามเรื่อง ให้เป็นกันไปอย่างนี้ หลายๆ ปีมันก็ดีเอง มันค่อยเป็นค่อยไป อย่าใช้กำลัง ถ้าใช้กำลังแล้วมันก่อกรรมทำเข็ญ ทำให้เกิดการซ้อนกรรม กรรมสนองกรรมกันไป ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ตอนนี้เรียกว่าตัดกระแสกรรม คือตัดไปเสียที เลิกไป ไอ้วงกลมนั้นมันหมุนอยู่นี่ ตัดมันเสีย ตัดกระแส เหมือนกับพระพุทธเจ้าตัดกระแสแห่งความเกิด ตัดกิเลส ตัดกรรม ตัดวิบาก วงจรมันก็หยุดไป ในทางการบ้านการเมืองก็เหมือนกัน คือตัดเรื่องนี้ออกไป ไม่เอาไปก่อขึ้นอีก ปล่อยเขาไป ยุคต่างคนต่างทำหน้าที่ ทหารก็ทำหน้าที่ ทหารรักษาป้องกันประเทศชาติบ้านเมือง ข้าศึกศัตรูภายนอกมาออกไปสู้อย่างเต็มที่ ภายในก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาดูแลรักษากันไปตามหน้าที่ของเขา อย่าเข้ามาสอดแทรกให้เกิดปัญหา อะไรๆ มันก็จะเรียบร้อยเป็นไปด้วยดี
อันนี้ไม่ได้ว่าใคร แต่ว่าพูดชี้กฎแห่งกรรมให้เห็นว่ามันเป็นกรรมทางการเมือง ประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องแสดงผลกรรมทั้งนั้น ผลกรรมทั้งนั้น กรุงศรีอยุธยานี่กรรมสนองกรรมกันมาเรื่อยๆ คนนี้ล้มกษัตริย์องค์นั้น ถูกล้มต่อไปอีก ล้มกันต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเราอ่านแล้วจะเห็นกฎแห่งกรรม ว่ามีอยู่ในที่นั้นๆ ตลอดเวลา แม้เรื่องของธรรมชาติดินฟ้าอากาศ ก็เป็นกรรมสนองกรรม คนทำลายป่า ทำให้ฝนแล้ง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล พอตกก็น้ำท่วมบ้านท่วมเมือง ก็เป็นผลกรรมที่เราทำกันไว้ เกิดการทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติก็ลงโทษให้เราได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนต่อไป เรื่องมันเวียนกันอยู่อย่างนี้ ฉะนี้เราอย่าสร้างกรรม ผลแห่งกรรมมันก็ไม่เกิด ถ้าจะสร้างกฎ สร้างกรรมดี อย่าให้มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัวเป็นฐานแห่งการกระทำ ให้มีความเมตตาปราณี ปรารถนาดีต่อส่วนรวมเป็นฐานแห่งการกระทำ การกระทำนั้นก็เป็นกุศลกรรม ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นความสุข เป็นความเจริญแก่ผู้กระทำต่อไป แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา