แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านที่มีโอกาสมาวัดในวันนี้ จงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา ในบทสวดมนต์แปลที่เราสวดกันอยู่บทหนึ่งว่า ภาราหะเว ปัญจัก ขันธา ขันธ์ทั้งหลายห้าเป็นของหนักเน้อ ภาราหะโร จะปุคคโล บุคคลนั่นแหละเป็นผู้แบกของหนักพาไป ภารานิกเข ปะนังสุขัง การปล่อยวางภาระเป็นความสุข ภารัง อะนาทิยะ อย่าไปถือเอาสิ่งอื่นเข้ามาแบกไว้อีก นิจฉาโต ปะระนิพโตติ ย่อมเที่ยงต่อการไปถึงซึ่งพระนิพพาน เป็นบทสวดที่ปรากฎอยู่ในหนังสือสวดมนต์ เราอาจจะสวดกันได้บ่อยๆ เป็นพระพุทธภาษิต ที่แสดงออกมาจากความรู้สึกของพระองค์ ภายหลังที่ได้ปล่อยวางสิ่งที่เข้ายึดเข้าถือไว้เป็นเวลานานแล้ว จิตใจก็เบา มีความสงบสงัด ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยประการทั้งปวง ซึ่งเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ในเรื่องนี้ อาตมามีประสบการณ์อยู่เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการสร้างโรงพยาบาล 80 ปีปัญญานันทะ เมื่อรับอาสาแล้วว่าจะช่วยหาเงินสร้างโรงพยาบาลก็เรียกว่าเข้าไปแบกภาระโรงพยาบาลไว้ เหมือนกับทูนไว้บนหัว แต่มันหนักอยู่ที่ใจ หนักมันที่ใจหนักเรื่องอะไร หนักเรื่องว่าเงินมันมากที่จะต้องหาจากญาติจากโยมมันจะพอหรือไม่ จะพอใช้หรือไม่ สร้างลงไปแล้วถ้าหากเงินไม่พอมันก็ค้าง การทำอะไรค้างนั้นมันก็เป็นความทุกข์ ไม่เป็นมงคลแก่ชีวิตเหมือนกัน อันนี้เป็นเรื่องที่หนักอกหนักใจพอสมควร แต่ว่าก็ไม่ว่าหนักเกินไป เพราะอาศัยหลักธรรมะที่ได้ศึกษาอบรมบ่มจิตใจมาตลอดเวลานั้น ก็ทำให้ปลงได้วางได้ว่า เสร็จไม่เสร็จก็ช่างมัน ว่าเราทำแล้วก็ทำไปตามหน้าที่ ถ้าไม่เสร็จก็คงจะไม่เป็นไร แต่ถ้าเสร็จได้มันก็เป็นการดี แล้วก็เลยรับภาระว่าจะช่วยจัดช่วยทำให้สำเร็จเรียบร้อย อันนี้การรับภาระว่าจะทำให้เสร็จนี่มันไม่ได้อยู่ที่ตัวไม่มีเงินพอที่จะเอาไปสร้างตึกใหญ่ๆอย่างนั้น มีอยู่บ้างเล็กๆน้อยๆสำหรับไว้ใช้จ่ายในกิจการธรรมดาๆ แต่จะไปสร้างของใหญ่อย่างนั้นคิดว่ามันคงจะหนักพอสมควร แล้วก็คิดว่าน่ากลัวจะไม่สำเร็จ แต่ว่า ที่กลัวหนึ่ง อย่าไปกลัวว่าจะไม่สำเร็จ เพราะอาศัยธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า บารมี พระธรรม ที่เราได้สะสมอบรม ทำการสั่งสอนญาติโยมมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วนั้น คงจะช่วยให้สิ่งที่ต้องการสำเร็จได้ตามความประสงค์ จิตดวงหนึ่งมันเกิดขึ้นอย่างนั้นก็นึกว่ามันต้องสำเร็จ เพราะว่าทำอะไรก็สำเร็จมาหลายครั้งหลายสิ่งหลายอย่างแล้ว มาอยู่ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์นี้ก็สร้างสิ่งแรกก็คือโรงเรียนหลังนี้สำหรับให้ญาติโยมมานั่งฟังธรรม จะได้กว้างขวางสะดวกสบาย เมื่อก่อนนี้เรานั่งฟังกันในศาลาที่เป็นที่ฉันอาหาร สถานที่มันจำกัด บริเวณก็จำกัด คนมากขึ้นเต็มศาลาล้นศาลาก็ไม่พอจะนั่งกัน ก็คิดว่ามันต้องสร้างที่ใหม่ เลยมาสร้างโรงเรียนลงที่ตรงนี้ วางแปลนไว้ จะสร้างสัก 2 ชั้น ชั้นบนเป็นสถานที่สำหรับพระทำวัตรสวดมนต์ เพราะโบสถ์มันแคบ พระบวชตั้งร้อยกว่าเข้าไปนั่งไม่ได้ นั่งได้แต่กราบพระไม่ได้ มันคับแคบเต็มที่ เลยต้องสร้างเป็น 2 ชั้น ชั้นบนสำหรับพระสวดมนต์ไหว้พระ อบรมพระ ทำกรรมฐาน ชั้นล่างเป็นที่ให้โยมฟังธรรม บริเวณก็จัดให้เป็นสวนมีร่มไม้ แล้วก็มีความร่มรื่น ให้โยมนั่งสะดวกสบายใต้ร่มไม้เหล่านั้น นั่นคือวางแผนไว้ในใจว่าจะสร้าง แล้วมาคิดจะสร้างแล้วก็ประกาศทางวิทยุโทรทัศน์ให้ญาติโยมได้รับทราบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสถานที่ สำหรับเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน เพราะที่เก่านั้นมันไม่เพียงพอ เมื่อประกาศวิทยุโทรทัศน์อออกไป แล้วตั้งวงเงินไว้ว่าประมาณห้าแสนบาท เงินในตอนนั้นมันก็แค่นั้นราวห้าแสนก็จะพอ แต่ว่าพอได้เงินครบห้าแสน ของวิ่งหนีไปเลย มันขึ้นราคากันเป็นการใหญ่ เงินไม่พอ เงินห้าแสนมันไม่พอแล้วต้องหาเพิ่มเติมอีก ในที่สุดก็ต้องสร้างสิ้นเงินไปหนึ่งล้านห้าแสนบาท โรงเรียนหลังนี้ก็สำเร็จเรียบร้อย เอามาให้ญาติโยมใช้เป็นประโยชน์ในการฟังธรรมต่อไป
อันนี้เป็นหลังแรกที่สร้างขึ้นในวัดชลประทาน ในยุคที่อาตมามาอยู่ที่วัดนี้ หลังที่สองก็คือกุฏิสี่เหลี่ยมตรงนั้น เพราะว่าคนมาบวชมากขึ้นสถานที่ไม่พอ เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่พอ โดยเฉพาะเดือนเมษายนนี้แออัดยัดเยียดกันอย่างที่สุด เพราะว่าพระที่มาบวชนั้น 140 กว่ารูป บวชวันที่ 1 เมษายน สามเณรที่จะบวชวันพรุ่งนี้เกือบ 200 รูป รวมกันแล้วมันตั้ง 300 กว่าที่อยู่ไม่พอ บริเวณกุฏิสี่เหลี่ยมนั้นอัดเข้าไปห้องละสี่คน เด็กๆนอนกันได้ไม่เป็นไร อันนี้ผู้ใหญ่ที่บวชเป็นพระเอาไปไว้ในเขตกรรมฐาน หลังหนึ่งสามองค์อยู่ด้วยกัน ให้หัดอยู่ร่วมกัน อยู่คนเดียวไม่ได้ เพราะที่ไม่พอ ก็ยังไม่พออยู่นั่นเอง เพราะมีคนมาบวชเพิ่มขึ้น แต่ว่าในตอนนั้นยิ่งไม่พอใหญ่ก็เลยสร้างกุฏิสี่เหลี่ยมก็ไม่กว้างเดินได้รอบหกสิบห้อง ความจริงจะสร้างมากกว่านั้น แต่มันติดที่มีกุฏิขวาง ไม่ต้องรื้อ เอาเพียงหกสิบห้องเป็นห้องน้ำสี่ เหลืออยู่ห้าสิบหกห้อง ไม่ถึงหกสิบดี พอให้พระได้อยู่อาศัย สร้างกุฏิเล็กๆ ญาติโยมเป็นเจ้าภาพสร้างเรื่อยๆสมัยก่อนสร้างด้วยไม้ หลังหนึ่งก็ไม่แพงอะไรสี่ห้าพันบาทก็ได้ แต่ว่าอันที่ทำด้วยไม้นั้นปลวกมันชอบ มันก็กินเสียหมดเกลี้ยงเลย ทีหลังไม่เอาแล้วใครจะสร้างต้องสร้างเป็นตึก สร้างเป็นตึกเงินเพิ่ม เพราะเงินมันลดราคาข้าวของแพงขึ้น เงินมันมีค่าน้อยแต่ก็สร้างอยู่ แต่ก็ว่ามันไม่พอ ว่าไม่มีที่จะสร้างแล้ว เพราะที่ที่มันว่างไว้นี่ ก็ต้องให้มันว่างไว้บ้าง มีช่องไฟไว้บ้างไม่ใช่อัดแน่นไปหมดดูแล้วมันก็ไม่สวยไม่งาม จึงเอาเพียงเท่านั้น สร้างกุฏิหลังนั้นหมดเงินไปสี่ล้านก็สำเร็จเรียบร้อยภายในหนึ่งปี ก็นึกว่าคงจะทำได้ ก็เลยรับคำอาราธนาขอร้องของคณะหมอโรงพยาบาล ก็เอาลองดูจะใช้เงินสักเท่าไหร่หมอก็บอกว่าสักห้าสิบล้านก็พอ บอกว่าห้าสิบล้านนี่ก็หนักนะ เพราะว่าอาตมาเทศก์มานานแล้ว ยังไม่ได้เงินจำนวนล้านเลยมันได้นิดๆหน่อยๆ ใช้ไปมันก็หมดไป แต่นี่จะเอาตั้งห้าสิบล้านน่ากลัวแต่ว่าคณะหมอที่มาขอร้องบอกว่าหลวงพ่อมีคนรู้จักทั่วประเทศ อันนั้นมันก็ถูก คือเขารู้จักอาตมา อาตมาไม่รู้จักเขา ไม่รู้ว่าใครชื่ออะไร พวกโยมที่มานั่งฟังธรรมทุกวันอาทิตย์นี่อาตมาไม่รู้ว่าชื่ออะไร อย่างที่นั่งอยู่นี่ไม่รู้ว่าชื่ออะไร รู้แต่โยมยอดโยมเพ็ญเพราะเอาน้ำส้มมาถวายทุกวัน โยมสองคนสามีภรรยามาอยู่ตั้งแต่เริ่มสร้างวัด มาฟังกันตั้งแต่เริ่มสร้างวัดคนที่มาฟังตั้งแต่เริ่มสร้างวัดมีหลายคนรู้จักชื่อแต่ว่าที่มาใหม่ไม่ค่อยรู้จัก รู้จักหน้าทุกคนแต่ไม่รู้ว่าชื่ออะไร ใครมาหาก็คุยกันไปอย่างนั้น แต่ว่าชื่ออะไรก็ไม่รู้ บางคนมาถึงถามว่าจำชื่อฉันได้มั้ย ไอ้ความที่จำไม่ได้เพราะคนมันมากหน้าหลายตา แต่จะบอกว่าจำไม่ได้โยมก็จะเสียใจ เลยบอกว่าก็พอนึกออกอยู่ ไอ้ความจริงมันนึกไม่ออก แต่บอกว่าพอนึกออก นั่งคุยกันไปก็นึกกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งโยมกลับ จึงนึกได้ว่าโยมเคยมาอย่างนั้นอย่างนี้ มันมีอยู่คนรู้จักแต่ไม่ค่อยได้พูดได้สนทนากัน พวกที่ฟังวิทยุมันก็ได้ฟังแต่เสียงทั่วบ้านทั่วเมือง เสียงวิทยุไปถึงไหนคนก็ได้ฟัง เวลาไปที่ไหนคนก็พูดว่าเสียงเหมือนทางวิทยุ ก็บอกว่าใช่แล้ว เขาก็ดีอกดีใจว่าได้พบตัวจริง เพราะฉะนั้น เมื่อเขาพูดว่าหลวงพ่อมีคนรู้จักมากถ้าหากบอกให้เขาบริจาคเขาก็คงจะช่วยเหลือ ก็มีข้อภูมิใจอย่างนั้นก็เลยรับว่าตกลง แต่ว่าตอนนี้ยังไม่ทำก่อน เพราะมีโปรแกรมว่าจะไปต่างประเทศ ก็เลยไปซะสองสามเดือนไปอเมริกาไปเยี่ยมญาติเยี่ยมโยม แต่ไปเยี่ยมญาติเยี่ยมโยมนั้นก็บอกทุกแห่ง พบใครก็บอกว่าอาตมาจะสร้างโรงพยาบาล มูลค่าประมาณสักห้าสิบกว่าล้านบอกตามที่เขาขอ เขาก็ช่วยปัจจัยมาเหมือนกัน ทุกแห่งเขาก็ช่วยคนละเล็กละน้อยก็ได้เงินมา กลับมาก็เดือนกรกฎาคม มันพ้นวันที่ อาทิตย์แรกของเดือนไปเสียแล้วก็เลยถึงเดือนสิงหาคมวันที่หกสิงหาคมเป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนสิงหา ก็เลยไปออกโทรทัศน์วิทยุประกาศให้ญาติโยมทราบว่า อาตมาตั้งใจจะสร้างตึกแปดสิบปีปัญญานันทะเป็นอนุสรณ์ในการอายุแปดสิบปีให้แก่โรงพยาบาลชลประทานญาติโยมที่มีปัจจัยเหลือกินใช้ก็มาช่วยกันสร้าง ก็ว่าไปอย่างนั้น ไม่ต้องพิมพ์ฎีกา ไม่ต้องเสกพระออกขายอะไรต่ออะไรสักอย่างบอกไปอย่างนั้น บอกไปสิงหา กันยา ตุลา พฤศจิกา ธันวา ห้าเดือนก็ได้เงินห้าสิบล้าน แล้วก็มกรา กุมภา มีนา เมษา พฤษภา ได้เงินเพิ่มอีกห้าสิบสามล้าน รวมเป็นเงินหนึ่งร้อยสามล้าน ก็ไปถามเจ้าหน้าที่ที่ออกแบบว่าแบบเสร็จแล้วหรือยัง ยังไม่เสร็จ เงินมันพอแล้วรีบเขียนให้มันเสร็จซิ จะได้ลงมือสร้างไม่ต้องนั่งหนักอกหนักใจกันนานๆ เขาก็รีบเขียน เขียนแปลนเสร็จเรียบร้อย ก็ตอกเข็มเสียก่อนยังไม่ได้หาช่างมาสร้าง ตอกเข็มเหล็กเจาะลงไปเอาเหล็กใส่ลงไปในหลุมเทคอนกรีตลงไป เข็มต้นใหญ่วัดเส้นศูนย์กลางมันห้าสิบเซ็นติเมตร ใช้ปูนห้าตันเทมันลงไปต้นหนึ่งปูนตั้งห้าตันไม่ใช่เล็กน้อย ต้นเล็กก็สามสิบห้าเซ็นติเมตร สี่ร้อยต้นลงเข็มไว้เพื่อจะสร้างเป็นตึกหกชั้น แต่ว่าชั้นแรก เกรงว่าเงินจะไม่พอก็เอาเพียงสี่ชั้นก่อนครั้นตอกเข็มสำเร็จเรียบร้อยก็มีการประมูล ชั้นแรกไม่ได้ประมูล แต่ว่าเจ้าหน้าที่กรมชลประทานไปหาช่างมาเอง คือไม่ต้องประมูลกันแต่ว่าช่างที่หามานั้น มันคิดเอาร้อยยี่สิบห้าล้าน ตึกสี่ชั้นเอาร้อยยี่สิบห้าล้าน อาตมาบอกว่ามันแพงไป เงินที่ได้มันร้อยสามล้านมันจะเอาร้อยยี่สิบห้าเดี๋ยวมันจะลำบาก ไม่เอาต้องประมูลดีกว่าให้เรียกประมูล หลายบริษัทก็มาประมูล ก็มีบริษัทหนี่งประมูลต่ำคือร้อยเจ็ดล้าน สี่ชั้นสร้างร้อยเจ็ดล้าน นอกนั้นก็ร้อยสิบห้าล้าน ร้อยยี่สิบห้าล้านทั้งนั้น ก็เลยบอกว่าเอาบริษัทนี้มันถูกหน่อย เค้าว่าไอ้ที่ถูกๆมันไม่ค่อยดี ดูผลงานว่าเค้าเคยทำที่ไหนบ้าง เคยสร้างตึกที่ไหนบ้างไปดู เค้าเคยสร้างตึกอาคารของบริษัท ปลาทองที่โฆษณาใหญ่โต เขาทำเกือบจะเสร็จแล้ว ใช้ได้ก็เลยเอาบริษัทนี้ร้อยเจ็ดล้านก็ลงมือทำในวันที่ยี่สิบเก้าสิงหาคมสองพันห้าร้อยสามสิบสาม เป็นวันเอาของเข้ามาที่จะทำงาน เขาคิดตั้งแต่วันนั้นเป็นวันเริ่มเข้าทำงานในวงเงินร้อยเจ็ดล้าน ก็พอสบายใจก็ยังบอกบุญเรื่อยๆไปทางโทรทัศน์ ประกาศให้ทราบว่าเงินยังไม่พอยังขาดอีกเท่านั้นเท่านี้ ก็เป็นที่ชื่นใจ ญาติโยมก็นำเงินมาโมทนาทุกสัปดาห์ มาตั้งแต่วันจันทร์จนถึงวันอาทิตย์ บางสัปดาห์ถึงสองล้านบาท บางสัปดาห์ก็ได้แปดแสนเก้าแสนบาท ทุกสัปดาห์เรื่อยมาเรื่อยมาจนกระทั่งในบัญชีเวลานี้รวมเงินที่ได้รับสองร้อยสามสิบล้านบาท เงินสองร้อยสามสิบล้านจ่ายไปเรื่อยๆตามงวดที่จะเบิก งวดสุดท้ายยังไม่ได้เบิก งวดสุดท้ายจะเบิกก็ราวยี่สิบล้านแต่ว่าเงินจริงๆที่อยู่ในบัญชีเวลานี้เป็นเงินที่จะจ่ายได้มันมีอยู่แปดสิบล้าน ก็ต้องใช้ยี่สิบล้านเป็นงวดสุดท้ายแล้วก็จ่ายค่าเครื่องมือแพทย์ตั้งไว้ว่ายี่สิบล้านก็หมดไปสี่สิบล้าน แล้วเครื่องเฟอร์นิเจอร์เอาไปใส่ในตัวตึก เตียงตั่งที่นั่งที่นอนเครื่องใช้ตู้โต๊ะอะไรต่างๆบรรจุเข้าไปเต็มอัตราจะใช้เงินประมาณสิบสี่ล้านมันก็เกือบจะหมดแต่ว่ายังเหลืออยู่บ้างนิดๆหน่อยๆไม่หมดทีเดียว
เวลานี้จะตั้งเป็นมูลนิธิความจริงตั้งแล้วมีตราสารมีกรรมการเรียบร้อยแล้ว เวลานี้ได้เงินไว้แล้วสิบแปดล้าน มูลนิธินี่ไม่ใช้เงินต้นแต่เอาดอกผลใช้จ่ายบำรุงจิตใจของหมอของนางพยาบาลให้เขาได้ไปดูงานต่างประเทศบ้างไปห้าเดือนหกเดือนเราก็ให้เงินเค้าแล้วก็ใช้จ่ายบำรุงภิกษุสามเณรที่เรียนดี ใครเรียนดีก็ช่วยเหลือ เรียนจบที่นี่แล้วจะไปเรียนต่อต่างประเทศก็ช่วยเหลืออุดหนุนจุนเจือไป พระเณรที่วัดนี้องค์ไหนขยันเรียนเอาใจใส่ก็ช่วยเหลือให้เงินนี่มาเป็นดอกผลให้ถ้าเรามีทุนไว้ยี่สิบล้านดอกก็พอจะได้ใช้ เวลานี้ได้เปิดเรียบร้อยแล้วแต่ว่ายังไม่ได้รับคนไข้เข้าไปพัก เพราะว่าเครื่องมือเครื่องใช้มันยังไม่สมบูรณ์ ยาก็ยังไม่เข้าไปวางที่ห้องเภสัช ห้องยา จะเปิดร้านค้ามันต้องมีของใช้ของขาย มีตู้แต่ยังไม่มีของขายก็ต้องเอาของเข้าไปใส่อะไรให้เรียบร้อยต้องใช้เวลาหลายวัน ก็จะเปิดรับคนไข้ให้เข้ามาอยู่อาศัยต่อไป คุณโยมนวลนิดพร้อมด้วยบุตรธิดาได้ให้รถยนต์คันหนึ่งสำหรับรับคนไข้คนป่วยเวลาไปไหนมาไหน ก็เป็นความสะดวกสบาย สมเด็จพระเทพท่านก็มาช่วยทอดกฐินเป็นประธาน ท่านมาเป็นประธานแต่ว่าพวกเราต้องหาปัจจัยเอาไว้เหมือนกัน ท่านเป็นประธานเอาชื่อเอาเสียงได้เงินเข้ามามากพอสมควรก็ไม่มากนัก นับเป็นความสบายใจเบาใจว่าที่มันหนักอยู่ในอกในใจมันหมดไปแล้วสบายใจแล้ว เพราะได้เปิดแล้วมอบให้แล้ว หมดภาระไปในเรื่องเกี่ยวกับการหาเงินแต่ว่ามันยังไม่จบเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์หรือตั้งทุนไว้สำหรับดำเนินกิจการต่อไป ญาติโยมที่ยังไม่ได้ทำก็ยังทำได้อยู่ตอนนี้มีคนมาทำอยู่ทุกวันเหมือนกัน ยังไม่ได้ทำก็ยังมาทำกันเรื่อยๆแต่ว่าวันที่ห้าเมษายนนี้อาตมาก็จะไม่อยู่เดินทางไปต่างประเทศ ได้พักเสียบ้างเพราะว่าเหน็ดเหนื่อยมาหลายปี สามสิบสองสามสิบสามสามสามสิบสี่สามสิบห้าย่างเข้ามาก็หลายเดือนต้องแบกภาระต้องเหนื่อยพอสมควร แต่ถ้าใครถามก็บอกว่าไม่เหนื่อยแต่จริงๆก็เหนื่อยตามสภาพของร่างกาย เช่น ต้องนั่งรับเงินอยู่ตลอดวัน มันก็เหนื่อยพอสมควรไม่ค่อยได้ไปไหน ตื่นเช้าก็มานั่งอยู่ที่โต๊ะวันเสาร์เนี่ยนั่งตลอดวัน วันอาทิตย์อาตมาเทศก์ เทศก์แล้วก็มานั่งจนกระทั่งเย็นตอนมีโยมมามอบปัจจัย วันอื่นๆก็ต้องนั่งเพราะมันไม่แน่ว่าคนจะมาเช้ามาสายมาบ่ายมาเย็นมากลางคืนก็มี บางคนมากลางคืนมาเคาะประตูมาทำบุญมากลางคืนก็ต้องรับเขา มาแล้วอดหลับอดนอนบ้าง กลางวันควรจะได้พักผ่อนก็ไม่ได้พักผ่อนต้องทนนั่งไปตามเรียกว่านั่งหนัก เมืองเหนือเขาเรียกนั่งหนัก เช่นว่า คนจะสร้างอะไรเนี่ยนิมนต์ครูบาศรีวิชัยไปนั่งหนัก นั่งนานๆกว่าจะเสร็จพิธี เสร็จแล้วท่านก็ลุกขึ้นไป ไปทำที่อื่นต่อไปไปนั่งหนักที่อื่นต่อไปท่านทำอย่างนั้น อาตมาก็นั่งหนักมาสองสามปีเกี่ยวกับโรงพยาบาลหลังนี้ แต่ว่าเสร็จแล้วก็สบายใจภูมิใจว่าที่เราทำการเผยแผ่แก่ญาติโยมทั้งหลายนี่ ญาติโยมก็ได้ช่วยแบ่งเบาภาระทุกคนได้ช่วยกันจึงขอขอบใจญาติโยมทุกถ้วนหน้า ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร เขาให้เขียนลงนิตยสารเกี่ยวกับโรงพยาบาลก็ไม่รู้จะเขียนอย่างไร ก็เขียนว่าขอบใจญาติโยมทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างตึกหลังนี้ให้สำเร็จเรียบร้อยขึ้นได้ ตึกหลังหนึ่งมันต้องประกอบด้วย ทราย ซิเมนต์ที่เป็นผง ด้วยเหล็ก ด้วยหิน ด้วยน้ำเอามาผสมกันเข้ามันหล่อเป็นคอนกรีตสำเร็จเรียบร้อย ในเวลาที่รับเหมาไปใหม่ๆมันอยู่ในสมัยที่ปูนขาดแคลน ราคาปูนสูงแต่ว่าเบาใจไปได้อย่างหนึ่ง เพราะว่าผู้อำนวยการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย คุณการณ อิสรเสนา ท่านบอกว่าหลวงพ่อไม่ต้องเป็นทุกข์เรื่องปูน เหล็ก เครื่องสุขภัณฑ์ ที่จะใช้ในโรงพยาบาล บริษัทเครือซิเมนต์จะขายให้ในราคาพิเศษแล้วรับรองไม่ให้ขาด เพราะฉะนั้นปูนนี่ไม่ขาดเลย เรียกว่าสั่งเมื่อใดก็มา สั่งเมื่อใดก็มาโดยมากสั่งปูนสำเร็จรูปที่เขาผสมคอนกรีตเสร็จเรียบร้อยต่างก็ทยอยกันมาเรื่อยๆ แต่ว่าบริษัทปูนเกรงว่าจะไม่มีเงินให้ ก็เลยให้มีการประกันไว้สิบล้านบาท เงินประกันนั้นก็อยู่ในสมุดบัญชีแล้วก็ได้ดอกไปตามปกติ แต่ว่าถอนใช้ไม่ได้ การก่อสร้างเสร็จแล้วก็บอกบริษัทว่าไปเอาใบประกันมาคืนด้วยงวดสุดท้ายต้องมีใบประกันมาคืนด้วยเพราะว่าจะได้ถอนเงินนั้นได้เอาให้แก่ผู้รับเหมาต่อไป เขาก็ช่วยเหลือสนับสนุนเรื่องปูน เรื่องเหล็ก เรื่องอะไร เรียบร้อยไม่เคยขัดข้องเรียกว่าไหลคล่องอยู่ตลอดเวลา อันนี้ก็เป็นบุญอย่างหนึ่งในการก่อสร้าง เพราะการก่อสร้างบางแห่งขัดข้องเหมือนกับการสร้างโบสถ์นี่ โบสถ์หลังใหญ่ๆสร้างกันยี่สิบปีกว่าจะเสร็จมันขัดข้องเพราะเงิน ไม่ใช่ขัดข้องอะไรเงินมันไม่มี ซื้อปูนไม่ได้ ซื้อเหล็กไม่ได้ ซื้อหินซื้อทรายไม่ได้ ให้คนมาสร้างก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่มีเงินให้ มันขัดข้องอย่างนั้น แต่ว่าในการสร้างโรงพยาบาลคราวนี้ทุกอย่างมันไหลคคล่องสะดวกสบายไม่มีข้อขัดข้องเลยแม้แต่น้อยเข้าไปตรงไหนก็ได้รับความสะดวกทั้งนั้นไม่ว่างานราชการ เอกชนหรือว่าอะไรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโรงพยาบาลไปขอแล้วเขาก็อำนวยความสะดวกด้วยดี ไม่มีขัดข้องอันนี้เป็นเรื่องที่สบายใจ หลวงพ่อสบายใจ โยมก็คงสบายใจ ที่ว่ามันเสร็จสิ้นได้เรียบร้อยในชั่วระยะเวลาไม่นานเกินไป เรียบร้อยแล้วเป็นประโยชน์ต่อไปที่นี่ในวันเปิดนี่ บางคนโทรศัพท์มาต่อว่าว่าเปิดโรงพยาบาลไม่เห็นบอกผมด้วย ขอโทษที่ไม่ได้บอกเพราะคนมันมากรายชื่อผู้บริจาคเป็นปึกหนา มีบางคนขอไปไม่ได้บอกที่อยู่ไว้ไม่ได้จดไว้ทำบุญแล้วก็ไม่ได้บอกที่อยู่ไม่รู้จะส่งไปอย่างไรก็เลยถามว่าทำบุญสองแสนนี่มารับเหรียญหรือยัง บอกมารับแล้วได้รับเหรียญไปแล้วก็ใช้ได้แต่อีกคนที่ยังไม่ได้รับเขาก็มารับกันทั้งหมดเกือบสามร้อยคนแต่ว่าที่ยังไม่ได้รับก็มี ผู้ใดที่ยังไม่ได้รับก็มารับทีหลังก็ได้มารับกับหลวงพ่อก็ได้ไม่ต้องรับกับสมเด็จพระเทพต่อไป เพราะว่าจะไปเชิญท่านมาแจกอีกก็ไม่ไหว ภาระของท่านมากมายเหลือเกิน เช้าทำงานบ่ายทำงาน สมเด็จพระเทพท่านเหน็ดเหนื่อยมากทรงงานอยู่ตลอดเวลาไปโน่นไปนี่ วันนั้นมาเปิดโรงพยาบาล เสร็จจากโรงพยาบาลก็ไปเปิดสัมมนาสภากาชาดนนทบุรี แล้วก็ยังไปเปิดงานกาชาดที่ลานพระบรมรูปทรงม้าวันเดียวต้องไปถึงสามงานบางวันก็ตั้งสี่งานบางวันก็ต้องไปไกลไปต่างจังหวัดแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านก็ทรงพระชราไม่มากหกสิบกว่าแล้วก็ควรจะได้รับการพักผ่อนบ้างแต่ว่าท่านก็ไม่ได้รับการพักผ่อนเวลาเสด็จไปหัวป่าหัวเมืองเช่นว่าไปอยู่เชียงใหม่น่าจะได้ไปพักก็ไม่ได้พัก ไปดอยนั้นไปดอยโน้น ไปอำเภอนั่นไปอำเภอนี่ ไปทุกจังหวัดเลย ในภาคเหนือไปดูห้วยน้ำไปดูเขื่อนไปดูการปลูกแฝก ปลูกคา ไปดูการปลูกป่าอะไรต่างๆตามโครงการที่ได้ทรงพระราชดำริไว้แล้วก็ไปดูว่าเค้าทำไปถึงไหนแล้ว มีอะไรขัดข้องอะไรควรจะแก้ไขต่อไป เป็นผู้ที่มีความขยันเหลือเกิน มีความรักงานมีความขยัน มีความเอาใจใส่ คิดค้นในเรื่องทำงานทำการอยู่ตลอดเวลา
ทรงเหน็ดเหนื่อยกว่าข้าราชการทั้งหลายทั้งปวง เหน็ดเหนื่อยกว่ารัฐบาลผู้บริหารประเทศ รัฐบาลทำงานไม่ค่อยจะเรียบร้อยหรอกแต่บางอย่างควรทำไม่ได้ทำในหลวงท่านมองเห็นว่านี่จะต้องรีบทำ ท่านขอร้องไม่ได้สั่ง ท่านบอกว่าฉันไม่มีอำนาจจะไปสั่งใครได้แต่ว่าขอร้องให้ทำในโครงการนั้นโครงการนี้ พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ทรงมีอำนาจอะไรแต่ว่ามีพระเดชพระคุณ ไม่ใช่พระเดชมีพระคุณ อยู่เหนือเกล้าเหนือหัวของประชาชนทั่วไปว่าไปบอกรัฐบาลว่าควรทำนั้นควรทำนี่ตามโครงการพระราชดำริ เขาก็ไปทำด้วยความตั้งใจ ทำเพราะความจงรักภักดี ท่านเสด็จไปตรวจ ไปดู ไปแนะแนวให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทรงเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าพอสมควร สมเด็จพระบรมราชินีนาถก็ร่วมงานกันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปีนี้ก็ทรงมีพระชนมายุจะขึ้นหกสิบพรรษาในวันที่สิบสอง สิงหาคม สองพันห้าร้อยสามสิบห้านี้ ครบหกสิบปีบริบูรณ์เขาจึงได้มีการทำอะไรๆกัน เป็นพิเศษมากมายหลายที่หลายแห่ง ประกาศโฆษณากัน วัดนี้ก็ทำอยู่แต่ไม่ได้โฆษณา เพราะมันทำมานานแล้ว ทำมาทุกปีถวายเหรียญทุกปี ก็นึกอยู่ในใจถวายไปไม่ต้องโฆษณา มันวุ่นวายอะไรโฆษณาเข้ามันก็ยุ่งไปกันใหญ่ เพียงแต่ว่าไม่โฆษณาก็รับไม่ไหวอยู่แล้ว คนที่มาบวชมาเรียนกันมาก ถึงโฆษณาก็คนก็มากันใหญ่ ไม่มีที่จะให้อยู่ให้อาศัยก็เลยไม่มีการโฆษณา เพราะทำมานาน ที่วัดนี้ทำอะไรก่อนเขาทั้งนั้น เช่น โครงการสั่งให้วัดต่างๆ ปลูกต้นไม้ ก็มาดูเอาเองก็แล้วกัน เราทำมาก่อนมีความคิดปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น มีหลายเรื่องกรมสั่งทีหลังวัดนี้ วัดนี้ทำมาก่อนทั้งนั้น ได้แต่รายงานว่าทำมานานแล้ว ให้เขารู้ว่าทำอะไรบ้าง และก็ทำมาแต่เริ่มต้นในเรื่องต่างๆ หลายเรื่องหลายอย่าง เป็นต้นว่า ฉันอาหารแล้วอนุโมทนา สั่งให้ล่าวอนุโมทนาเป็นภาษาไทยก่อน เราทำมาตั้งสี่สิบปีแล้ว ทำมาก่อนแล้ว สมาคมสั่ง แต่ก็รายงานไปบอกว่าวัดชลประทานรังสฤษฏ์ทำการอนุโมทนาเป็นภาษาไทยมาก่อนคำสั่งของมหาเถรสมาคมมาหลายปีแล้ว เราทำมาก่อน อะไรที่ควรทำก็ทำ ทำแล้วมันเป็นประโยชน์แก่ชุมนุมชน สิ่งเหล่านี้ก็มีความคิดริเริ่มในเรื่องที่จะทำอะไรๆตามสมควร ทีนี้การเดินทางไปต่างประเทศที่จะไปวันที่ห้า เทศก์ที่นี่แล้ว เทศก์วิทยุ เทศก์โทรทัศน์ วิทยุไปอัดไว้แล้วโทรทัศน์ก็จะไปเทศก์ก่อนตอนเช้าแล้วก็มาเทศก์กับญาติโยมที่นี่ ไปกลางคืนเครื่องบินออกเดินทางกลางคืน ไปประเทศเยอรมันก่อนเพราะว่าที่ประเทศเยอรมันนั้นมีคนไทยไปอยู่มากเหมือนกัน เขาก็ขอร้องว่าให้ไปเยี่ยมบ้างเพราะได้ข่าวว่าไปประเทศอังกฤษบ่อยๆ แต่ไม่ถึงเยอรมันปีนี้ตั้งใจจะไปประเทศเยอรมันไปสักสิบวันแปดวันแล้วก็เดินทางมาประเทศอังกฤษ พักประเทศอังกฤษอีกสักสองสามอาทิตย์ วันที่หกพฤษภาคมก็ไปชิคาโก ต่อไปก็บินไปรัฐโน้นรัฐนี้ วันที่ยี่สิบสามมิถุนาก็กลับเมืองไทยมาบวชนาคเข้าพรรษาอันนี้เป็นเรื่องที่ต้องไป ไปเยี่ยมเยียนญาติโยม ไม่ได้ไปเที่ยวแต่ก็เที่ยวไปในตัว เวลาว่างจากงานการก็พาไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ชมนั่นชมนี่เป็นการศึกษาวัฒนธรรมประเพณีการกินการอยู่ของคนในประเทศนั้นๆจะได้นำมาบอกเล่าเก้าสิบให้ญาติโยมทั้งหลายในเมืองไทยได้รับทราบว่าเขามีความก้าวหน้าอย่างไรมีความเจริญในแง่ใดบ้างได้เอามาเล่าสู่กันฟังไม่ใช่ไปเที่ยวเฉยๆ ให้ไปเที่ยวเฉยๆก็ไม่อยากไปแล้ว อายุมันมาก เดินทางไกลๆมันก็เหน็ดเหนื่อยพอสมควร แต่เพื่อประโยชน์ทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะในอเมริกาคนไทยเค้าไปอยู่กันมาก เขาก็อยากจะพบปะเพราะเคยไปเยี่ยมมาทุกปี สามสิบสองไป สามสิบสามไม่ได้ไป สามสิบสี่ไม่ได้ไปแต่ไปเอาปีสามสิบห้า ในเดือนพฤษภาก็จะไป เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ว่าเป็นการพักไปด้วยในตัวเพราะภาระมันน้อยไม่ต้องแบกภาระในวัดวาอาราม อยู่ที่นี่เป็นสมภารก็แบกภาระเหมือนกัน เขาจึงพูดว่าทุกข์กษัตริย์ ทุกข์เจ้าวัด ทุกข์แม่เรือน สามคนมีความทุกข์เหมือนกัน พระมหากษัตริย์มีความทุกข์ ทุกข์เท่าประเทศไทย ในหลวงท่านแบกประเทศไทยไว้
สมัยก่อนนี้ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชพระเจ้าอยู่หัวทรงมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองบ้านเมืองแต่ว่าก็ไม่ได้ทรงเป็นเผด็จการมีที่ปรึกษา มีเสนาบดี มีการประชุมกันปรึกษาหารือกันในเรื่องอะไรๆต่างๆ ในหลวงท่านก็รับสั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ตามอำนาจของพระองค์ พระองค์ก็ทรงเหน็ดเหนื่อยพอสมควรเพราะต้องคิดบริหารประเทศว่าจะต้องทำอย่างไร การศึกษาจะทำอย่างไร การสาธารณสุข การปกครอง การคมนาคมในเรื่องอะไรต่างๆ ควรจะจัดควรจะทำอย่างไรให้มีความเจริญก้าวหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาติที่เขาเจริญแล้วทั้งหลายก็มีความหนักใจ ไม่หลับนอนเล็กน้อย พระเจ้าแผ่นดินท่านไม่นอนมากหรอกนอนเวลาดึกๆในหลวงปัจจุบันนี้เข้าบรรทมตีสาม เคยถามพวกในวังบอกว่าในหลวงท่านเข้าบรรทมเวลาตีสาม เวลาตีสามพวกเราจะตื่นแล้วนอนกันหลับไป เราตื่นแล้วในหลวงพึ่งนอนจะตื่นแล้วพระบรมราชินีท่านก็ทรงทำงาน ลูกสาวท่านก็ว่าพ่อแม่ตื่นไวจังหาว่าแม่ตื่นไวแม่บอกว่าแม่ยังไม่ได้นอนยังไม่ได้นอนเลย แต่ลูกเข้าใจว่าแม่ตื่นไว ความจริงยังไม่ได้นอนลูกตื่นแม่ถึงจะเข้านอนในหลวงก็เหมือนกันเคยถามว่าทรงทำอะไร ในหลวงไม่ได้อยู่นิ่งเลยทำงานตลอดเวลา ทำงานโน่นงานนี่ในวังห้องนั้นเป็นห้องทรงงานมีเครื่องประกอบในเรื่องการทำงานหลายเรื่องหลายอย่าง ของที่ทันสมัยเครื่องใช้บางอย่างบางทีก็นั่งอยู่กับพื้นบางทีก็นั่งเก้าอี้ทรงทำงานไม่รู้จักเหน็ดไม่รู้จักเหนื่อย แต่ว่าพอตีสามก็เข้าที่บรรทมแต่ไปตื่นสายหน่อยไม่ได้ตื่นเช้าเว้นไว้แต่มีราชกิจต้องกระทำเช้าๆท่านก็ตื่นเช้าได้เหมือนกันจะเป็นอย่างนั้น ฟังแล้วในหลวงขยันกว่าประชาชน ขยันกว่าข้าราชการ ขยันกว่านักการเมืองทั้งหลายแล้วก็ไม่มีวันพักผ่อนไม่มีการลาพักในหลวงไม่เคยลาพักไม่มีholidayข้าราชการมีลาพักเจ็ดวันบ้างสิบห้าวันบ้างไปพักผ่อน ในหลวงท่านไม่ได้พักอะไรแม้ท่านจะไปต่างจังหวัดก็ไม่ได้พัก ไปพักหัวหินก็ไม่มีโอกาสจะไปเดินเล่นชายหาดไปออกกำลังตามชายหาดไม่มีเวลา ท่านมีแต่เรื่องที่จะต้องทำพอเสวยพระกระยาหารกลางวันเสร็จ ขับรถเข้าไปในป่าในดงไปพบกับพวกกระเหรี่ยงชายแดน ไปผูกมิตรกันไว้ไม่ให้พวกกระเหรี่ยงมายุ่งทรงทำงานที่นั่นที่นี่ ไม่ได้หยุดเลยแม้แต่น้อย กลับมาก็กลางคืนดึกดื่นจนถึงที่พักทรงพักผ่อน อย่างนั้นท่านพักอยู่ในตัวเป็นความทุกข์ของกษัตริย์ ความทุกข์ของสมภารเจ้าวัด เจ้าวัดสมภารนี่ต้องรับภาระตั้งแต่เรื่องโบสถ์ เรื่องวิหารทุกอย่าง ในวัดนี่ต้องรับภาระต้องดูต้องแลต้องเอาใจใส่ ต้องไปดูต้นไม้ตรงนั้นไปดูกุฏิไปดูนั้นดูนี่ กลางค่ำกลางคืนบางทีก็ต้องตื่นขึ้นเดินไปใครนอนตามไฟมั่งใครเปิดไฟทิ้งไว้ไปปิดจะให้ตามปิดไฟ บางทีเช้าๆก็ไปดูน้ำไหลไม่ปิดก๊อกเปิดไว้น้ำก็ไหลล้นออกไปลงไปท่วมใต้ถุนไปดูไปเรียกมาเตือนว่า ทีหลังเปิดก๊อกน้ำถ้าน้ำไม่ไหลก็หมุนกลับอย่าเปิดทิ้งไว้ อย่าเปิดไฟทิ้งไว้ โดยเฉพาะพระบวชใหม่ อยู่บ้านไม่ได้สนใจเรื่องน้ำเรื่องไฟไม่ได้เสียตังเองคุณแม่เสีย ลูกไม่รู้เท่าไหร่ค่าน้ำเท่าไหร่ค่าไฟเท่าไหร่ในเดือนหนึ่ง เดือนหนึ่งๆไม่รู้เรื่องใช้ตามสบาย เวลานอนก็เปิดพัดลมเพื่อให้ตัวเย็นใช้พัดลมเวลาพระมาบวชญาติโยมเอาพัดลมมาให้ด้วย ให้พัดลมมาให้อย่างเดียวไม่ได้ต้องเอาเงินค่าไฟมาให้ด้วยถึงจะถูกต้อง ถ้าใช้พัดลมค่าไฟมันก็เพิ่ม ต้องเอาค่าไฟมาให้ด้วยมันถึงจะถูกต้อง แต่ว่าบางทีก็ไม่ได้ให้ คนเข้ามาอยู่มากค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มมากเป็นธรรมดา นี่เป็นภาระของสมภารเจ้าวัด คนเจ็บไข้ได้ป่วยต้องดูแลรักษาเอาไปส่งโรงพยาบาล ตายลงก็ต้องทำศพให้จัดการเผาอะไรกันไปตามเรื่องตามราว เด็กที่เข้ามาอยู่ก็ต้องคอยดูแลอบรมบ่มนิสัยเป็นภาระทั้งนั้น รับผิดชอบอย่างแม่บ้านเป็นทุกข์ขนาดไหน โยมทุกคนเป็นแม่บ้านอยู่ทั้งนั้นรับผิดชอบในครอบครัวข้าวสารไม่มี น้ำไม่มี ไฟไม่มี ปัจจัยไม่มีที่จะต้องใช้ ต้องไปกู้ไปยืมเขามา ยืมเขามาก็เป็นทุกข์อีกเพราะเสียดอกเบี้ยมีภาระความวุ่นวายทางจิตใจเป็นทุกข์กันอยู่ทั้งนั้นแหละเค้าถึงบอกว่าทุกข์กษัตริย์ ทุกข์เจ้าวัด ทุกข์แม่เรือน ทำไมไม่บอกว่าพ่อเรือนด้วย พ่อเรือนไม่รู้เรื่องไม่รู้ว่าข้าวสารมีหรือไม่มี น้ำมีหรือไม่มี เงินทองมีหรือไม่มี พ่อบ้านไม่รู้เพราะมอบแม่บ้าน แม่บ้านเป็นใหญ่ในครอบครัวในเรื่องการเงินทองการจับจ่ายใช้สอยเรื่องอะไรต่างๆมันอยู่ที่แม่บ้านทั้งนั้นแม่บ้านเป็นผู้รับภาระในเรื่องภายในบ้านจึงเป็นผู้รู้มีทุกข์อยู่ในใจ พ่อบ้านไม่รู้แต่ก็ไปถามก็รู้เหมือนกันว่ามีความทุกข์เวทนา ก็ต้องเอามาช่วยชดเชยอย่าให้ขาดแคลน มันเป็นอย่างนี้ คนเราทุกคนก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น ปัญหาคืออะไรคือการเข้าไปยึดถือในเรื่องต่างๆ ที่เราสวดกันว่า พาหะลา เวลา ขันท์ห้านี่เป็นของหนัก ขันธ์ห้าคือตัวเราทั้งตัวคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้มันเห็นชัดว่ามันประกอบด้วยของห้าอย่างชีวิตคนเราประกอบด้วยของห้าอย่างคือ รูปที่เราเห็นได้ง่ายรูปคือสิ่งที่สัมผัสด้วยขันธ์ห้า ตาเห็นได้ หูได้ยินได้ จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รสจากสิ่งนั้น มือจับต้องสิ่งนั้นได้ เรียกว่าเป็นเรื่องของรูป รูปคน รูปสัตย์ รูปต้นไม้ ในรูปนั้นมันมีใจร่างกายเรามันมีใจ ใจนี่เป็นเรื่องสำคัญเป็นผู้มีหน้าที่และคิดกำหนดจดจำในเรื่องอะไรๆต่างๆสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตมันเกิดที่ใจ ทุกข์ก็อยู่ที่ใจ ยินดีก็อยู่ที่ใจ ยินร้ายก็อยู่ที่ใจ เสียใจก็อยู่ที่ใจ ดีใจก็อยู่ที่ใจ ตกใจก็อยู่ที่ใจ ปลื้มใจก็อยู่ที่ใจ ด้วยใจทั้งนั้น หน้าที่ของใจนั้นมีหน้าที่ทำอะไรบ้างแบ่งเป็นสี่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณรวมรูปด้วยก็เป็นห้า เวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือว่าเฉยๆ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายเมื่อถูกต้องด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันก็เกิดความรุ้สึกขึ้นที่ใจ เมื่อเกิดขึ้นที่ใจมันก็เรียกว่าเวทนา เวทนาเป็นของผสมไม่ใช่ของแท้ ผสมด้วยเครื่องประกอบอะไรบ้าง ตา- รูป หู-เสียง จมูก-กลิ่น ลิ้น-รส กาย-ถูกต้อง สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ เรียกว่า ธรรมารมณ์ สิ่งเหล่านี้เขาเรียกแตกเป็นสองเรื่องเรียกว่าอายตน อายตนแปลว่าเครื่องต่อ อายตนภายในคือ ตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ คืออายตน เกิดในใจเรา อายตนภายนอก คือ เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ มันคู่กับ รูปคู่กับตา เสียงคู่กับหู กลิ่นคู่กับจมูก รสคู่กับลิ้น สิ่งถูกต้องคู่กับกาย ความรู้คู่กับใจ ของภายในหกภายนอกหกมันมากระทบกันเข้า เช่นว่า ตากระทบรูปเกิดความรู้สึกขึ้น เรียกว่า จักษุวิญญาณ เรียกความรู้ทางตา เสียงเรียกว่าความรู้ทางหู เรียกว่าโสตวิญญาณ จมูก กลิ่นมากระทบกันเข้าเกิดความรู้เกิดทานะวิญญาณ แล้วก็เกิดกายวิญญาณ แล้วก็เกิดมโนวิญญาณ โดยเริ่มที่ใจ รูป เสียง รูปกับตาก็เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ พอเกิดวิญญาณก็เกิดเวทนา เวทนาคือ ให้หลง ให้ริษยา ให้พยาบาท อะไรๆมันเกิดขึ้นตาม
เราจึงได้เกิดความรู้สึกเรียกว่าเวทนา เมื่อเกิดเวทนาก็เกิดสัญญา คือ จำได้หมายรู้ในเรื่องอะไรๆต่างๆ เกิดสังขารคือการปรุงแต่งจิตใจ ปรุงแต่งให้เกิดความรู้ ความโกรธ ความหลง ความริษยา ความพยาบาท อาฆาตจองเวร ในใจของเรา เรียกว่า สังขาร แล้วก็วิญญาณคือความรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นเรื่องในตัวเรา เรื่องที่อยู่ในตัวเรา เรียกว่า ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คุณโยมสวดมนต์ทุกเช้า รูปูปาทานะขันโธ เวทนา เวทนูปาทานะขันโธ สัญญูปาทานะขันโธ สังขารูปาทานะขันโธ วิญญาณูปาทานะขันโธ หมายความว่า รูปที่เข้าไปยึดถือมันเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเราเข้าไปยึดถือในรูป ถ้าลำพังรุปเฉยๆ มันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เรียกว่าเป็นทุกข์ตามสภาพ ตามธรรมชาติของสิ่งนั้น แต่ใจเราไม่เป็นทุกข์ด้วย แต่ใจเป็นทุกข์เพราะเข้าไปยึดอยู่ ยึดถือว่ารูปนี้ของฉัน เวทนาของฉัน สัญญาของฉัน สังขารของฉัน วิญญาณของฉัน เอาเรื่องต่างๆเข้ามาเป็นทุกข์ ชีวิตของคนเรานั้นมันมีทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทุกข์เพราะเรื่องของเรามั่ง เรื่องของคนอื่นมั่ง คนอื่นก็เกี่ยวข้องกับเรา เช่น คุณยาย คุณย่านี่ เป็นทุกข์เพราะหลาน หลานไม่ใช่ลูกแต่เป็นหลานคือลูกของลูกเรียกว่าหลาน ความผูกพันทางจิตใจนั้นมากไปกว่าลูกอีก ผูกพันกับลูกนี่ชั้นหนึ่ง ต่อไปถึงหลานมันหนักเข้าไปกว่า เคยถามคุณโยมเป็นคุณย่า คุณยาย ถามว่า ลูกกับหลานรักใครมากกว่ากัน บอกว่ารักหลานมากกว่า ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะหลานมันตัวน้อยๆ มันน่ารักน่าเอ็นดู แต่ลูกมันโตแล้ว ไม่น่ารักไม่น่าเอ็นดูแล้ว แต่ลูกมันก็ไม่ค่อยทำอะไรให้น่ารักด้วย น่าเอ็นดูด้วย มันมีแต่เรื่องขัดคอ แต่หลานมันไม่ขัดคออะไร มันคอยประจบประแจง คุณย่าอย่างนั้น คุณยายอย่างนี้ จะเอาโน่น จะเอานี่ คุณยายก็ให้ตามใจ หลานเสียคนก็เพราะคุณย่าคุณยาย คุณย่าคุณยายทำให้หลานเสีย เสียอย่างไร เอาใจมากเกินไป ตามใจมากเกินไป จนกระทั่งเด็กเสียผู้เสียคน เราอย่าตามใจเด็กให้มันมากนัก อะไรควรให้ อะไรไม่ควรให้ อะไรควรปฏิเสธ อะไรไม่ควรปฏิเสธ แต่เราไม่ควรจะทำอย่างนั้น เพราะกลัวว่าหลานจะเป็นทุกข์ การกลัวว่าหลานจะเป็นทุกข์เพราะเราตามใจ เด็กจะเสียคน เพราะยายตามใจ ตามใจหลานมากเกินไป คุณป้าตามใจหลานมากเกินไป คุณน้าคุณอาก็ตามใจ การเลี้ยงลูกของคนอื่น ลูกของน้องบ้าง ลูกของพี่บ้าง เราเอามาเลี้ยงเป็นลูก เอาใจมากเกินไปจนเด็กเสียผู้เสียคน นี่เป็นความผิดของคนที่เลี้ยง ไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ถือเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เอาใจมากเกินไป เวลาเด็กต้องการอะไรก็ซื้อให้ทุกอย่าง จนเด็กมันนึกว่าชีวิตนี้สบาย ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องเรียนหนังสือ ไม่ต้องไปทำงาน เพียงแต่แบมือ คุณย่าก็ให้แล้วคุณยายก็ให้แล้ว เด็กมันเลยคิดผิดว่าเกิดมานี่สบาย มันไม่เห็นความทุกข์ อันนี้เราต้องสอนเด็กให้รู้จักความทุกข์เสียบ้าง ให้รู้ความลำบากเสียบ้าง เด็กที่เกิดมาสบายเกินไปจะเอาตัวไม่รอด อ่อนแอ เหมือนกับต้นไม้ที่เราเพาะในมุ้ง พอเอาไปปลูกกลางแจ้ง ถูกแดดเข้ามันก็ตาย อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเราเพาะกลางแจ้งมันเติบโตขึ้นด้วยแสงพระอาทิตย์ที่ถูกทุกวันมันก็อยู่ได้ เหมือนคนเราออกเวรแต่เช้า แดดก็ร้อนขึ้นๆๆจนเที่ยง ตอนเย็นก็ค่อยเย็นลงๆๆ จนกระทั่งเย็น ร่างกายมันสู้ได้ แต่ถ้าเราออกไปเดินกลางแจ้ง โดนแดด มันก็ทนไม่ไหว เพราะมันไม่ได้สู้มาแต่เริ่ม เด็กก็เหมือนกัน ต้องให้มันต่อสู้ ให้รู้จักความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ พุดให้เด็กฟังเสียบ้าง ว่าชีวิตมันเป็นอย่างไร มันมีปัญหาอย่างไร มันมีความบกพร่องอย่างไร เราพูดให้เขาฟัง อธิบายธรรมะของพระพุทธเจ้าในเรื่องความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ พูดให้ฟังได้รู้ได้เข้าใจ ในปัญหาชีวิตตั้งแต่ตัวน้อยๆ เมื่อโตขึ้นมันก็มีปัญญา ที่จะรักษาตัวรอดปลอดภัย ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อันนี้ตัวของเราเองแต่ละคนมันมีปัญหา มันมีความทุกข์ มีความกลุ้มใจ เวลากลุ้มใจนี่อย่ากลุ้มร้อยเปอร์เซนต์ เปิดช่องว่างไว้บ้างให้มันมีโอกาสที่จะคิดนึกตรึกตรองว่าเรามีปัญหาอะไร เช่น กลุ้มใจเรื่องอะไร ความกลุ้มมันมาจากไหน ก็ต้องเชื่อตามหลักการของพระพุทธเจ้า หลักการของพระพุทธเจ้าสอนว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น เกิดที่ตัวเราเอง เราทำให้มันเกิดขึ้น คือ เราคิด เราพูด เราทำ เราคบหาสมาคม เราไป เรามา ที่นั่น ที่นี่ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเรา เราต้องค้นคว้าต้องศึกษาทำความเข้าใจ อย่าไปโทษดวงชะตาราศี อย่าไปโทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ ว่าให้คุณแก่เราให้โทษแก่เรา ไม่ถูก ให้ไม่ได้ อะไรๆให้โทษแก่เราไม่ได้ ให้คุณแก่เราก็ไม่ได้ เราทำเอาเองไม่มีสิ่งใดจะทำให้เราเป็นอะไร เราต้องทำของเราเองต้องมองที่ตัว ต้องค้นหาที่ตัว ว่าเราได้คิดอะไรได้พูดอะไรได้ทำอะไรได้ไปคบกับใครได้ไปสู่สถานที่ใดมันจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น คิดให้ดี คิดให้ละเอียด ประเดี๋ยวก็เจอปัญหา เจอตัวปัญหา เจอความทุกข์ เราพบความทุกข์เราก็แก้ให้มันรู้ว่าเหตุนั้นมาจากไหน มาจากการกระทำอย่างไร คิดอย่างไร อย่างน้อยมันก็เกิดจากความคิด คือ เราคิดเรื่องทุกข์มันก็เป็นทุกข์ ถ้าคิดเรื่องสุขมันก็สบายใจ ถ้าคิดเรื่องที่ให้หัวเราะมันก็หัวเราะอยู่คนเดียว อันนี้เราคิดได้ ทุกข์มันเกิดจากความคิด แล้วเรามาคิดนึกต่อไปว่าทุกข์ตัวนั้นมันมีอะไรต่อ มันมีลูกคู่ติดต่อกันมาโดยลำดับ เราก็ต้องสาวไปถึงต้นตอของเรื่องเพื่อให้พบว่าต้นตอของเรื่องอยู่ที่อะไร แล้วเราค่อยตามไปแก้ไขปรับปรุงสิ่งนั้น สิ่งทั้งหลายก็จะเรียบร้อยดีขึ้นตามสมควรแก่การปฏิบัติธรรม ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
ในเดือนมีนาคมนี้ก็จะพ้นไปแล้ว เพราะวันนี้วันที่ยี่สิบเก้า พรุ่งนี้ก็วันที่สามสิบ วันที่สามสิบเอ็ดก็บวชสามเณรกันเป็นการใหญ่ วันที่หนึ่งก็บวชพระบวชกันทั้งวันตลอดกลางคืน เพราะว่ามาก บวชเป็นสามเณรหมดแล้วก็เข้าโบสถ์สี่สิบตอนเช้า ตอนบ่ายเข้าอีกชุดหนึ่งสี่สิบ ชุดนั้นจบเข้าไปอีกสี่สิบ ห้าสิบกว่าว่ากันไป สามทุ่มจึงจะเสร็จกันบวชกันเป็นยกใหญ่ บางคนมาบวชต้องการบวชคนเดียว ถามว่าทำไมต้องการบวชคนเดียว บวชพร้อมๆเพื่อนไม่ได้เหรอ ต้องการบวชผู้เดียว วัดนี้ไม่ต้องการจะบวชแบบคนเดียว เพราะมันเสียเวลาที่จะต้องไปนั่งสอนคนคนเดียว สอนทีเดียวมันได้หลายคนจะบวชร้อยห้าสิบพร้อมกัน พูดทีเดียวกับคนร้อยห้าสิบคน ไม่ต้องพูดทีละคนๆ บวชทีละคนต้องพูดกันทีละคน ๆ มันเสียเวลา มันไม่คุ้มกับการลงทุน ทำอะไรสมัยนี้มันต้องประหยัด ต้องอดออม ประหยัดเสียง ประหยัดเรี่ยวแรง เพื่อทำให้มันสำเร็จจะได้สะดวก ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจอย่างนี้ พูดมาก็สมควรแก่เวลา