แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อ้าว! ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายต่อนี้ไปขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งที่สามารถจะได้ยินเสียงชัดเจน แล้วจงตั้งใจฟังธรรมะที่จะกล่าวสู่กันฟังต่อไป วันนี้ลองถอดฟันออกแล้วพูดปากเปล่าดีกว่า เพราะว่าใส่ฟันอยู่มันหลุดๆหลวมๆ มันไม่เรียบร้อยแล้วก็เอาออกมาวางไว้แล้ว...แล้วก็พูดโดยไม่ต้องมีฟันมันก็คล่องดีเหมือนกัน
อ้าว! วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๒ ของเดือนมกราคม เมื่อวานนี้เป็นเสาร์ที่11 แล้วก็วันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนมกราคม ก็ถือว่าเป็นวันเด็ก เมื่อวานนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเสียภาษี ให้แก่เด็กเพื่อนำไปเที่ยวไปเตร่สนุกสนานเฮฮากันในที่ต่างๆซึ่งทางรัฐได้จัดขึ้นเป็นการปล่อยเด็กกันไปวันหนึ่ง ที่เขาจัดให้มีวันเด็กขึ้นนี่เพื่ออะไร วันเด็กบ้าง วันแม่บ้าง วันพ่อบ้าง วันผู้สูงอายุบ้าง นะ หลายวันตั้งขึ้นหลายวัน ตั้งขึ้นตามนโยบายขององค์ การสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติก็ได้คิดโครงการอะไรต่างๆ แล้วบอกประเทศต่างๆให้ทำกัน เราก็ทำกันตามระเบียบขององค์การสหประชาชาติ เพราะเราเป็นสมาชิกขององค์การนั้นเมื่อองค์การจะมีอะไรเขาก็บอกให้สมาชิกได้จัดทำกัน แล้วก็ทำกันอย่างทั่วถึงจุดหมายของการที่จัดให้มีวันเด็กขึ้นนั้น ก็เพื่อจะให้พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และท่านผู้บริหารประเทศชาติบ้านเมืองได้สำนึกว่าอนาคตของชาติอยู่ที่เด็ก
เด็กในปัจจุบันนี้คือผู้ใหญ่ในวันต่อไปข้างหน้า และเด็กจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ที่ถูกต้องได้ ก็ต้องอาศัยผู้ใหญ่ช่วยกันดูแลรักษาเด็กเหล่านั้นเพื่อให้เจริญเติบโตทั้งกายทั้งใจจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติ ของประเทศ ของโลกต่อไป นั้นคือจุดหมายสำคัญที่ได้มีวันเช่นนี้ขึ้น ทีนี้เราทั้งหลายที่เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นครู เป็นอาจารย์ รวมมาถึงพระสงฆ์องค์เจ้าซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการที่จะทำให้เด็กเป็นเด็กดีมีความคิดถูกต้อง ในการจะพูดถูกต้อง ทำถูกต้อง จะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปในการข้างหน้าภาระอันนี้เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ ที่ผู้จัดทำจะพึงกระทำพร้อมๆกันไปในตัวเช่นว่า..พ่อแม่ทั้งหลาย พ่อแม่ได้รวมไปทั้งคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอนาคตของเด็กว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กของเราเป็นคนดีมีความรู้มีความสามารถและมีความประพฤติดีเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราทั้งหลายจะต้องช่วยกันพิจารณาวางแผน เพื่อสร้างจิตใจเด็กให้เป็นคนที่มีประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองต่อไป เพราะอนาคตของเด็กนั้นขึ้นอยู่กับผู้หลักผู้ใหญ่เช่น..พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ให้การศึกษาอบรมเด็กเหล่านั้น จะปั้นเด็กให้เป็นอะไรก็ได้ เพราะเด็กเป็นไม้อ่อนที่ดัดได้ง่าย หรือเป็นดินเปียกที่สามารถจะปั้นอะไรก็ได้ แต่ถ้าหากว่าเป็นไม้แข็งก็ดัดไม่ได้ เป็นดินแข็งก็เอาไปปั้นอะไรไม่ได้ ต้องเป็นดินอ่อนเปียก เราก็สามารถจะปั้นให้เป็นอะไรได้
ผู้ที่เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ตลอดจนถึงท่านผู้บริหารประเทศ จึงต้องวางแผนว่าจะให้เด็กของเราเป็นอะไรในกาลต่อไปข้างหน้า ให้มีความคิดอย่างไร มีการพูด มีการกระทำอย่างไร จึงจะเป็นคนดีมีประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองได้ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นเรื่องที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันคิดกันทำให้พร้อมเพียงกัน ถ้าต่างคนต่างทำมันก็ไม่พร้อม เช่นสมมุติว่าพ่อแม่เอาใจใส่อบรมลูกดี แต่พอไปถึงโรงเรียนครูไม่เอาใจใส่ในการอบรมสั่งสอนให้แต่วิชาความรู้แก่เด็ก แต่ไม่ให้คุณค่าทางจิตใจแก่เด็กก็ไปไม่รอด หรือว่าทางการบ้านเมืองซึ่งมีหน้าที่บริหารกิจการของประเทศชาติ แต่ว่าปล่อยให้สิ่งเหลวไหลต่างๆเกิดขึ้นในบ้านในเมืองมากมาย สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องยั่วยวนชวนใจทำให้เด็กเสียไปก็ได้ แต่ไม่ได้จำกัดสิ่งเหล่านั้นปล่อยตามเรื่องตามราวเด็กของเราจะเป็นคนดีไม่ได้ เพราะได้เห็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีอยู่ตลอดเวลา เด็กก็โน้มเอียงไปในทางที่เสียหาย
ภาพต่างๆ ที่ออกมาทางโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อสำคัญที่จะให้เด็กได้พบได้เห็น แล้วเด็กก็ชอบใจในภาพเหล่านั้น ภาพเหล่านั้นเป็นเครื่องส่งเสริมการสร้างนิสัยของเด็กถ้าเป็นภาพสร้างสรรค์เป็นภาพที่ดีงาม เด็กของเราก็ได้รับการสร้างสรรค์ที่ถูกต้อง ถ้าเป็นภาพที่ไม่ได้เรื่องที่แสดงออกมาโดยไม่ได้คำนึงว่าจะกระทบกระเทือนแก่เด็กอย่างไร กระทบกระเทือนต่อสังคม ต่อพระศาสนาอย่างไร เขาไม่ได้คิดเรื่องอย่างนั้น คิดแต่ว่าให้มันสนุกเพลิดเพลินแล้วก็จะได้เงินจากสิ่งที่ตัวทำอย่างนั้น การกระทำอย่างนั้นไม่เป็นการช่วยส่งเสริมจริยธรรมของเด็ก แต่เป็นการทำให้เด็กมีจิตใจตกต่ำ เพราะเด็กนั้นยังไร้เดียงสายังไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรจะทำอะไรไม่ควรจะทำเขายังไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่เด็กได้เห็นได้ยินได้ฟัง อยู่บ่อยๆนั้นก็จะมีอิทธิพลเหนือเด็กเหล่านั้น ทำให้เด็กเหล่านั้นมีนิสัยโน้มเอียงไปในทางที่ไม่ถูกต้องก็เป็นความเสียหายแก่เด็กอยู่มากเหมือนกัน
เด็กที่เกิดในย่านชุมชนแออัด มีแต่เรื่องไม่ค่อยจะเรียบร้อย การพูดจาของผู้ใหญ่ก็พูดจากันด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ด่าว่ากันในเรื่องต่างๆ เด็กได้ยินบ่อยๆ ก็จะเอาสิ่งนั้นมาใส่ไว้ในใจ โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมันไม่ถูกต้อง ไม่สมควรที่จะเก็บไว้ในใจ แต่เด็กไม่เข้าใจเพราะยังไม่รู้อะไร พ่อแม่ก็ไม่ได้สั่งสอนอบรม ให้เด็กมีความรู้มีความเข้าใจ เด็กก็รับสิ่งเหล่านั้นไว้ในใจ เอาไปใช้เป็นเครื่องมือปฏิบัติก็เกิดความเสื่อมความเสียหาย เพราะเด็กนั้นเป็นเหมือนกับกระดาษซับ ถ้าเราเอาไปซับน้ำหมึก..หมึกก็ติดกระดาษ ซับหมึกดำกระดาษก็เป็นสีดำ ซับหมึกแดงกระดาษก็เป็นสีแดง เพราะว่ามันซับไว้ได้ จิตใจของเด็กก็เหมือนกับกระดาษซับ ที่เราจะเอาไปซับอะไรก็ได้ ซับน้ำสกปรกก็ได้ ซับน้ำสะอาดก็ได้ มันขึ้นอยู่กับผู้ที่เป็นผู้นำของเด็กเป็นผู้มีหน้าที่สั่งสอนอบรมเด็กเพื่อให้เด็กเป็นอย่างไร เด็กก็จะเป็นอย่างนั้น อันนี้ทำให้เกิดความเสียหายไม่ใช่น้อย
ในสมัยก่อน ... สมัยที่ญาติโยมทั้งหลายยังเป็นเด็ก คือถอยไปสัก หกสิบ เจ็ดสิบปี เราก็ยังเป็นเด็กกันอยู่สิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เด็กเหลวไหลไม่มี เพราะไม่มีหนัง ไม่วิทยุ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีภาพอะไรต่างๆให้เด็กดู เด็กก็เจริญเติบโตขึ้นกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสมัยนั้นยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง ยังไม่มีอะไรเสียหายเด็กได้พบได้เห็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ที่บริสุทธิ์ ป่าที่บริสุทธิ์ ทุ่งที่มีความบริสุทธิ์ น้ำในห้วย ในคลอง ในหนองเอามาดื่มได้ เพราะยังเป็นน้ำสะอาด ไม่มีอะไรจะเข้าไปเจือปน สิ่งที่ได้เห็นได้ยินได้ฟังก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ ไม่มีเรื่องพิเศษ ที่จะให้เด็กได้พบ ได้เห็น สภาพของเด็กในสมัยนั้น ก็เจริญเติบโตขึ้นเป็นคนดี ช่วยกันสร้างชาติสร้างบ้านเมืองต่อมาแต่ว่าในยุคปัจจุบันนี้... ญาติโยมทั้งหลายลองพิจารณาว่าสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เด็กดูดซึมเข้าไปนั้นมันโน้มเอียงไปในทางที่จะเพิ่มกิเลส เพิ่มราคะ โทสะ โมหะ เป็นสิ่งช่วยทำลายความดีความงามของเด็กให้หายไป เพราะสภาพสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยจะดี แล้วก็มีอยู่ทั่วๆไป ไปได้ทุกหนทุกแห่ง คนเอาอย่างกันอย่างรวดเร็วในทางที่มันไม่ค่อยจะถูกต้อง เช่นการไว้ผมแบบยาวๆ ของพวกวัยรุ่นนักศึกษามหาวิทยาลัยมันก็แพร่หลายไปจนถึงบ้านนอกบ้านนา บ้านที่อยู่ริมป่าริมภูเขาก็ได้เห็นภาพเหล่านั้นแล้วก็ทำตามเหล่านั้นเพราะเขาคิดว่าคนที่อยู่มหาวิทยาลัยนั้นเป็นคนเจริญ เขาทำอะไรก็เอาอย่างประพฤติตามนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องทำลายจิตใจของคนเหล่านั้น การแต่งหน้าแต่งตัวก็แต่งตามแบบที่ได้เห็นภาพในโทรทัศน์ ตามแบบที่เป็นภาพในหน้าหนังสือพิมพ์ หนังสืออ่านเล่นประเภทต่างๆสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยั่วยุให้คน..คิดทำ..ในสิ่งที่เป็นเช่นนั้น ความสับสนวุ่นวายก็เกิดขึ้นในครอบครัว เพราะเด็กไม่ค่อยจะเชื่อฟังพ่อแม่ พอไปโรงเรียนก็ไม่เชื่อฟังครูบาอาจารย์ ถือหลักเสรีภาพ ทำอะไรตามใจตัวตามใจอยากไม่คำนึงว่ามันจะกระทบกระเทือนต่อผู้ใดบ้าง หรืออาจจะเกิดความเสียหายแก่ตนในการต่อไปข้างหน้าอย่างไรบ้าง ไม่มีความคิดอย่างนั้น เพราะผู้ให้แนวคิดไม่ค่อยจะมีพ่อแม่ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญ ในการสร้างสรรค์จิตใจเด็กนั้นก็เมินเฉยไม่ช่วยกันทำในสิ่งที่ดีที่ถูกต้องแก่เด็กเหล่านั้น เพราะนึกว่าไม่เป็นไร มันโตขึ้นหน่อยมันก็คงรู้เองความคิดอย่างนี้แหละเป็นความคิดที่ทำให้เกิดความเสียหายเพราะเด็กจะรู้เองไม่ได้
เด็กที่มีปัญญามีความคิดถูกต้องเปอร์เซ็นต์มันน้อยแล้วจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดนี่มันก็น้อยแต่มักจะไหลไปตามพวกตามเพื่อนที่เขาจะจูงไปในที่ต่างๆก็ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ดูตัวอย่างง่ายๆนักเรียนนายร้อย ทหารบก ทหารเรือ หรือทหารอากาศ สมัยเป็นนักเรียนนั้นตัดผมสั้นเกรียนทั้งนั้น เพราะว่าทางสถาบันการศึกษาเขาบังคับให้ไว้ผมทรงอย่างนั้น แต่ว่าพอพ้นจากสภาวะของนักเรียนแล้วออกมาเป็นนายทหารก็ไว้ผมกัน “รุ่มร่ามรุงรัง” แม้กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บัญชาการเป็นอะไรก็ตามไว้ผมรุ่มร่าม ไม่ค่อยจะเรียบร้อย เด็กเหล่านั้นก็คงคิดว่าเราเป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ไว้ผมแบบนี้ แต่เมื่อใดเราพ้นจากความเป็นนักศึกษา เรามีสิทธิ มีเสรีภาพ ในการตามใจตัวเองเขาก็ไว้ทรงผมแบบยาวๆ ซึ่งมันไม่ค่อยจะถูกต้องเท่าใด แต่ก็มีกันทั่วไปอย่างนั้น เพราะผู้ใหญ่ทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้น้อยแล้วก็ผู้น้อยก็ทำตามผู้ใหญ่ จะพูดจาทำความเข้าใจกันมันก็ไม่ได้เพราะตัวผู้ใหญ่เองก็เป็นเช่นนั้น พ่อแม่ก็เป็นเช่นนั้นเด็กก็เลยไม่ได้รับการอบรมเต็มที่ในทางความคิดเห็นที่ถูกที่ชอบเขาก็ทำอะไรตามใจตัวตามใจอยากเรื่อยไปซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่เด็กได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ คือพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้บริหารประเทศชาติ ควรจะทำอะไรที่เป็นตัวอย่างในทางสร้างสรรค์ เป็นตัวอย่างที่ดีที่งามแก่เด็กเหล่านั้น เด็กของเราก็จะดีขึ้นเพราะพ่อแม่เป็นผู้ดูแลว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอน หน้าที่ของพ่อแม่นั้นมีอะไรบ้าง
ห้ามลูกไม่ให้กระทำความชั่ว แนะนำลูกให้กระทำความดี เอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียนของลูก เพื่อให้มีความรู้สมชั้นสอบได้ๆ คะแนนที่ดีๆ หน่อย
ครั้นเมื่อจบการศึกษาแล้วก็ต้องหางานให้ทำไม่ให้อยู่นิ่งอยู่เฉยเพราะการอยู่เฉยๆนั้นเป็นการไม่ถูกต้องเป็นการที่ไม่รู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่ตนมีให้เป็นประโยชน์แก่ครอบครัวแก่ตนเอง และแก่ประเทศชาติ ให้อยู่เฉยๆไม่ได้ พ่อแม่บางคนอาจจะมีสตางค์มากลูกไม่ต้องทำงานก็ได้..ได้เงินที่พ่อแม่ให้ทุกเดือน..ทุกเดือน ต้องการอะไรก็ได้จะไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์มาขี่ให้คอหักเล่นก็ได้ ซื้อรถยนต์มาขับเล่นแล้วก็ไปชนกันถึงแก่ความตายก็ได้ จะไปเที่ยวสนุกสนานตามบาร์ ตามสถานที่ต่างๆก็ได้เพราะเงินที่ได้มานั้นมีอยู่แล้วก็ใช้ตามหน้าที่ของเขา โดยไม่ได้คิดคำนึงว่าเงินนี่มาอย่างไร เงินมันเกิดขึ้นอย่างไร ไม่รู้คุณค่าของเงินไม่รู้คุณค่าของงาน ที่ทำให้เกิดปัจจัยคือเงินทอง เขานึกแต่เพียงว่าแบมือได้ขอทีไรก็ได้ทุกทีคุณแม่ให้ การกระทำเช่นนั้นของคุณแม่ถูกต้องหรือไม่ ?
ถ้าเราคิดถูก คิดให้ดีแล้วก็จะเห็นว่ามันไม่ถูกต้องเพราะทำให้ลูกไม่รู้จักช่วยตัวเองไม่รู้จักพึ่งตัวเอง ครั้นเมื่อพ่อแม่ตายไปแล้วลูกจะอยู่อย่างไร ลูกก็จะกลายเป็นคนอ่อนแอไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ เพราะไม่เคยช่วยตัวเองไม่เคยพึ่งตัวเอง ตามหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนาเขาก็จะกลายเป็นคนที่ใช้เงิน ที่ได้รับมรดกจากพ่อแม่ตามสบายใช้ไป..ใช้ไป มันก็หมด หมดแล้วก็ไม่รู้จักหา ผลที่สุดชีวิตตกต่ำ เมื่อชีวิตตกต่ำก็เป็นทุกข์แล้วเที่ยวพูดกับใครต่อใครว่าผมนี่มันดวงไม่ดี เกิดมาลำบากความจริงมันไม่ได้ลำบากมากเมื่อเป็นเด็ก ลำบากเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เพราะพ่อแม่สอนให้เป็นเช่นนั้น อันนี้มันไม่ถูกต้อง ลูกเมื่อจบการศึกษาแล้วก็ต้องให้มีงานทำ ให้ไปหางานทำไปสมัครงานที่ไหนก็ได้ให้รู้จักทำงานรู้จักคุณค่าของชีวิต ว่าชีวิตกับงานนี่เป็นของคู่กัน งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขขณะทำงาน
เขาจะได้ประสบประการณ์ มีความเข้าใจในเรื่องอย่างนั้นเพราะพ่อแม่ส่งเสริมให้ได้ทำงานเมื่อทำงานแล้วเขาก็มีเงินใช้ ก็ต้องบอกให้เขาใช้เงินเท่าที่ได้นั้นให้เป็นประโยชน์ อย่าใช้หมดแล้วก็มาขอคุณแม่อีก เป็นการไม่สมควร เด็กที่โตแล้วอายุยี่สิบกว่าแล้ว ถ้ายังเป็นลูกแหง่อยู่มาแบมือขอสตางค์จากคุณแม่ไปใช้ ก็เป็นการไม่ถูกต้องพ่อแม่ควรจะสอนเขาด้วยการชี้อะไรให้ดูเป็นตัวอย่างเช่น...ชี้ให้ดูลูกไก่น้อยๆๆ เมื่อมันเล็กๆมันเขี่ยอาหารไม่เป็นแม่ไก่ช่วยเขี่ยให้ พอพบอาหารก็ร้อง ก๊อกๆๆๆ เรียกลูกมากินอาหารนั้น แต่ว่าลูกไก่เมื่อโตขึ้น ก็พ้นจากความคุ้มครองของพ่อแม่ ลูกไก่เหล่านั้นหากินเองได้ เขี่ยอาหารกินเองได้ ตามที่ต่างๆ รู้จักช่วยตัวเอง พึ่งตัวเองหรือให้ดูจากตัวโตๆๆเช่นว่า...วัว ควาย ช้าง ม้า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพอน้ำนมหมดสัตว์เหล่านั้นก็พึ่งตัวเอง ช่วยตัวเอง ด้วยการไปทำไปหากินตามประสาของสัตว์ไม่มีสัตว์ตัวใดที่โต แล้วจะมาขอหญ้าจากแม่หรือมาขออะไรจากแม่มันไม่มีสภาพเช่นนั้น สัตว์เดรัจฉานจึงเป็นผู้ที่ช่วยตัวเองได้มาก พึ่งตัวเองได้มาก ก็เรียกว่าดีกว่าลูกคนซึ่งช่วยตัวเองไม่ได้พึ่งตัวเองไม่ได้ ถ้าพ่อแม่ชี้แบบสาธิตของสัตว์ ให้ลูกดูเป็นตัวอย่างลูกก็จะมีความ “ละอายใจ” ละอายใจว่าเรานี่โตแล้วแต่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ น่าละอาย ลูกไก่ ลูกหมา ลูกแมว ลูกวัว ลูกควาย ที่มันรู้จักช่วยตัวเองพึ่งตัวเอง แล้วก็จะไปหางานทำ เด็กคนนั้นก็จะมีชีวิตที่ถูกต้องขึ้น และเมื่อทำงานได้อะไรมาแล้วก็รู้จักที่จะเก็บจะใช้จะทำให้เจริญงอกงามต่อไปคิดถึงกาลอนาคต เขาเป็นคนที่สร้างตัวเองได้ พึ่งตัวเองได้
คนที่ต้องไปทำงานสร้างตัวสร้างตนนั้นนะ เป็นคน “มีโชคมีวาสนา” มีบารมีแต่คนที่อยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา ไม่รู้จักทำมาหากินนั้นเป็นคนโชคร้าย เป็นคน “อาภัพอับโชค” ด้วยประการทั้งปวง เพราะไม่รู้จักใช้สิ่งที่ตนมี ให้เป็นประโยชน์ ไม่รู้จักใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ ไม่รู้จักใช้ความสามารถให้เป็นประโยชน์สิ่งนั้นมีก็เหมือนกับไม่มี เพราะไม่ได้เอามาใช้ ใครเป็นคนทำผิด? พ่อแม่นั้นแหละเป็นคนทำผิด ที่ไม่ให้ลูกไปช่วยตัวเองพึ่งตัวเอง ไม่สอนให้ลูกไปทำงานทำการคนบางคนเป็นคนมั่งมีทรัพย์สมบัติ เมื่อลูกโตขึ้นแล้ว ก็ให้ออกจากบ้าน ให้ไป..ไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่กับเพื่อนของพ่อของแม่ แล้วก็กำชับไปว่าให้ไปทำงาน ไปทำงานกับเขาเป็นลูกจ้างเขาเป็นคนรับใช้เขาทำงานตั้งแต่ ตำแหน่งลูกจ้างทั่วไปแล้วก็ยังส่งจดหมายลับไปถึงเพื่อนที่ลูกไปอยู่ด้วยว่าใช้ให้มันเต็มที่ให้ทำงานทุกอย่าง อย่านึกว่าเป็นลูกของเพื่อนแล้วก็ไม่ให้ทำอะไร ให้อยู่สบายๆ การที่ไม่ให้ทำอะไร ให้อยู่สบายคือการฆ่า... ฆ่าเด็กคนนั้น ฆ่าคนๆนั้นให้สูญเสียสภาพของความเป็นคนที่แท้จริง เพราะไม่รู้จักทำมาหากินเป็นการทำที่ผิด ช่วยคนไม่ถูกต้อง เด็กคนนั้นโตขึ้นก็เอาตัวไม่รอดรู้จักแต่จะจ่ายสตางค์ แต่ไม่รู้จักหาทรัพย์สมบัติอันใดที่พ่อแม่หาไว้ได้ก็ค่อยขายไปเรื่อยๆ ขายจนไม่มีอะไรจะขายแล้วก็ตกต่ำ มีเยอะแยะ ตัวอย่างมีเยอะแยะในบ้านเมืองใหญ่ๆเช่นกรุงเทพฯ หาดใหญ่ เชียงใหม่ อุบลฯ อุดรฯ อะไรอย่างนี้เป็นเมืองใหญ่ คนประเภทนี้มันก็มีอยู่ แล้วก็เป็นคนที่น่าสงสาร เพราะไม่รู้จักคุณค่าของชีวิต ไม่ได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราอย่าถนอมเขามากเกินไป อย่าถนอมมากเกินไป ต้นไม้ที่เราปลูกไว้ในร่ม พอ..พอย้ายไปปลูกกลางแดดมันตาย มันไม่ขึ้นคำโบราณเขาพูดว่าเหมือน...เหมือนลูกยาที่หว่านในร่ม ยาสูบนะก่อนที่เขาจะปลูกเขาไปว่านในที่ที่มันร่มๆ ไม่ถูกแดดพอย้ายไปปลูกถูกแดดมันทนไม่ได้แล้วก็ตายไป เป็นคำภาษิตเตือนใจคน “ว่าอย่าทำลูกของตนให้เป็นยาในร่ม” เพราะยาในร่มนั้นพอถูกแดดมันทนไม่ได้แล้วก็ตาย ลูกเรานี่ก็เหมือนกันถ้าเราเลี้ยงเขาให้อ่อนแอ เขาก็จะเป็นคนอ่อนแอต่อไปกระทบนิดไม่ได้กระทบหน่อยก็ไม่ได้เปราะบาง ไม่มีความอดทนที่จะต่อสู้กับธรรมชาติ เลยเอาตัวไม่รอดอันนี้เป็นความผิดของพ่อแม่ ที่ไม่ช่วยลูกให้เป็นคนขยันขันแข็งเอางานเอาการ
ในนิทานอีสป ซึ่งเป็นหนังสือให้เด็กอ่านในสมัยก่อน มีเรื่องว่าสอนลูกให้เป็นโจร สอนลูกให้เป็นโจรนั้นทำอย่างไร คือว่าจะเล่าให้ฟังว่า เอาเด็กไปฝากเข้าโรงเรียน พอไปโรงเรียนก็หยิบดินสอของเพื่อนมาแท่งเอามาเขียนหนังสือ แม่ก็ถามว่าเธอเอามาจากไหน เด็กก็บอกว่าของเพื่อนหยิบเอามา แล้วเพื่อนรู้เพื่อนเห็นหรือเปล่า ไม่รู้ไม่เห็น เออดี แม่ก็บอกว่าดี อย่าให้เขาเห็นแต่เอามาใช้ วันหลังก็ไปลักสตางค์ของเพื่อน คือไปหยิบมาใช้ ไม่ได้มีเจตนาจะลักขโมยหรอก เพราะมันไม่รู้เรื่องหยิบมา พ่อแม่เองก็ว่า เออดี แล้วอย่าให้เขารู้นะ อย่าให้เขาเห็นสอนอย่างนั้นแล้วมันก็เขยิบฐานะขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั้ง เป็นนักฉกชิงวิ่งราว แล้วผลที่สุดตำรวจจับได้.. จับได้แล้วก็ต้องถูกลงโทษ ถูกลงโทษอย่างหนักเลย คือส่งประหารชีวิต เพราะทำผิดอาญาใหญ่โต แม่ก็เดินตามลูกชายไปในวันที่เขาจะเอาไปฆ่า คนก็ไปกันเยอะไปดูเขาฆ่าคนกัน เขาไม่เคยเห็นหรอกเขาฆ่าคนอย่างไร ดูกันขึ้นไปบนปีนป่ายบนต้นไม้ เพื่อดูให้มันชัดดูเขาฆ่าคนแต่ว่าก่อนที่เขาจะถูกฆ่ามีคนเห็นผู้หญิงคนหนึ่งร้องไห้โฮๆ ด้วยความเสียใจ เลยถามว่าร้องไห้ทำไม? คิดถึงลูก แล้วลูกท่านอยู่ที่ไหนละ? นั้นแหละที่เขาผูกพันด้วยเครื่องพันธนาการจะเอาไปฆ่านะลูกฉัน เจ้าหน้าที่เข้าไปบอกนายคนนั้นว่าคุณแม่เสียใจมากร้องไห้ร้องห่มตีอกชกตัว โอ้ว! คุณแม่มาด้วยหรือ ดีแล้วบอกให้คุณแม่มาใกล้ฉันหน่อย ฉันจะพูดอะไรกับคุณแม่ บางสิ่งบางอย่าง เขาก็มานำคุณแม่มาให้ มือเขาถูกมัด แต่เขาพูดได้ว่าคุณแม่เข้ามาใกล้ๆผมหน่อย ผมมีเรื่องที่จะกระซิบบอกคุณแม่ คุณแม่ก็เอียงหูไปใกล้ปาก ไอ้เจ้านักโทษคนนั้นกัดหูคุณแม่จนขาด กัดหูเสียเลยกัดหูขาด แม่ก็เจ็บปวดรวดร้าว แล้วเขาก็บอกว่าแม่ไม่น่าจะร้องไห้ ไม่น่าจะเสียใจ เพราะลูกเสียผู้เสียคนนี่เพราะคุณแม่แท้ๆ คุณแม่ไม่สอนไม่เตือนไม่บอกในสิ่งที่ลูกกระทำ แต่เห็นดีเห็นงามกับการกระทำของลูก..ลูกจึงได้เสียคนอย่างนี้ ไม่รู้จะทำอย่างไร คนนั้นก็ถูกฆ่าไปตามกฎหมายของบ้านเมืองเรื่องนี้มันไม่ใช่แต่มีในนิทานอีสปแต่มันมีทั่วๆไป ลูกไปได้อะไรมาแม่ไม่ถาม.. ไม่ถามให้มันรู้เรื่อง แล้วก็ไม่อธิบายให้รู้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เป็นการไม่สมควร ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ขอลูกอย่าได้ประพฤติเช่นนั้นต่อไป แล้วก็เด็กคนนั้นมันก็จะไม่ทำเพราะโดยปกติเด็กทั่วไปนั้นมักชอบความดีความถูกต้องอยากดีอยากเด่นกันทั้งนั้นแหละแต่มันก็ไม่รู้ว่าอยากดีคืออะไร ความเด่นที่ถูกต้องคืออะไรเขาไม่รู้ไม่เข้าใจ คุณแม่ก็ไม่ได้แนะนำพร่ำเตือนในเรื่องอย่างนั้น เขาทำอะไรผิดเขาก็นึกว่าดีแล้วถูกต้องแล้วเพราะไม่เห็นแม่ว่าอะไรต่อไปมันก็มือเติบไปทำสิ่งผิดใหญ่โตขึ้นผลที่สุดก็ไปอยู่ในคุกในตะรางเสียหาย
ในเมืองอเมริกานั้นเขามีคุกใหญ่เรียกว่าเป็นคุกกลางของทุกรัฐ ณ ที่อุกฉกรรจ์ มหันตโทษ ก็เอามาไว้คุกนั้นเหมือนกับคุกบางขวาง..คุกบางขวางนี่เป็นคุกใหญ่ นักโทษที่อยู่ในคุกบางขวางอย่างน้อย ๑๐ ปีขึ้นไป ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๕๐ ปี หรือว่าขังกันจนตลอดชีวิต เก่งๆทั้งนั้น คนที่มาอยู่บางขวางเรียกว่าเก่งๆทั้งนั้น ได้ปริญญา BK มาแล้วทั้งนั้น แต่ได้เข้าไปอยู่บางขวางมากมายก่ายกองคนเหล่านั้นได้ทำผิดเสียผู้เสียคน ก็เพราะว่าแม่ไม่เตือนไม่สอน ได้อะไรมาก็ไม่ถามว่าได้มาอย่างไร ??(นาทีที่ 34.00 ฟังเสียงหลวงพ่อได้ไม่ชัดเจน) ไม่ได้สอนก็เลย เด็กมันก็นึกว่าดีแล้วถูกแล้ว ก็เขยิบเลื่อนชั้นขึ้นไปโดยลำดับจนเป็นโจรมีชื่อเสียงโด่งดัง มีชื่อ “เสีย” ไม่ใช่ชื่อ “เสียง” เอาตัว “งอ” ออกแล้วมันก็เสียเป็นอย่างนั้นนี่คือความผิดที่รู้เท่าไม่ถึงกาล แล้วไม่ได้คิดว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปข้างหน้า เพราะคุณแม่ไม่บอกไม่สอน เด็กก็ทำเรื่อยๆมาจนเสียผู้เสียคน อันนี้ถ้าเราสะกัดได้เด็กมันก็หยุดไม่กระทำเช่นนั้นต่อไป
พาหลานคนหนึ่งไปอยู่เชียงใหม่สมัยเป็นเด็กน้อย ไปเข้าโรงเรียนอนุบาล แล้วครูเขามาบอกว่าเด็กชายหลานของท่านนี่ มันหยิบสตางค์ของเพื่อนนักเรียนไปเป็นส่วนตัวพอรู้เรื่องเช่นนั้นก็เรียกมาถาม บอกว่าเธอ..เธอทำอย่างนั้นจริงไหม เขาก็บอกว่าจริง หยิบมาจริง เลยบอกว่าไม่ถูกต้องการกระทำเช่นนั้นไม่ถูกต้อง ถ้าเธอมีของอะไรอยู่แล้วก็เพื่อนมาเอาไปซะ เธอจะสบายใจไหม? เธอจะเสียใจไหม? เขาก็ถาม (35.35 หลวงพ่อใช้คำผิด น่าจะใช้คำว่า “ตอบ”) ว่าเสียใจ เพราะมันเป็นของของผม เพื่อนมาเอาไปผมก็เสียใจ แล้วเธอไปเอาของคนอื่นมานี่เขาจะเสียใจไหมละ ก็คงจะเสียใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การกระทำของเธอมันไม่ถูกต้อง ไม่ควรกระทำเช่นนั้นต่อไป เขาก็รับปากรับคำว่าจะไม่ประพฤติเช่นนั้น ให้เสียชื่อของลุงต่อไป แล้วไม่ทำเลยตั้งแต่นั้นมาไม่ทำ ไม่ไปหยิบของใครมา ไม่เอาของอะไรใครมา เพราะเขารู้ว่ามันไม่ถูกต้องถ้าเขา คนอื่นมาเอาของเรา เราก็ไม่ชอบ คนเรามันต้อง เอาใจเขา..มาใส่ใจเรา..เอาใจเรา...ไปใส่ใจเขา แต่เด็กมันทำไม่เป็น เพราะไม่รู้เรื่อง ผู้ใหญ่จึงต้องแนะนำสั่งสอนเขา ให้เข้าใจเรื่องอย่างนั้นๆ แล้วเขาจะไม่กระทำความผิดเช่นนั้นอีกต่อไป อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่พ่อแม่จะต้องคอยดูแลลูก กลับจากโรงเรียนต้องมาไหว้คุณพ่อ คุณแม่ แล้วก็แม่ก็ต้องดู.. ดูเครื่องแต่งตัว มันเปื้อนอะไรบ้าง ดูสมุดดินสอว่ามันเรียบร้อยหรือเปล่า เอาไปเมื่อเช้ากี่เล่มตอนเย็นเอากลับมากี่เล่ม ที่มันเหลือมาบ้าง มีอะไรติดมือติดไม้มาบ้างหมั่นตรวจสอบ แนะนำพร่ำเตือนให้เด็กได้รู้ได้เข้าใจว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรไม่ควร เด็กก็จะไม่เสียผู้เสียคน ไม่ประพฤติสิ่งที่เลวร้าย มีเด็กคนหนึ่ง พ่อแม่ตายหมดแล้ว อยู่กับยาย แต่ยายนั้นเป็นคนที่พร่ำสอน พร่ำสอนหลานอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องว่าอย่าไปเอาอะไรมาเป็นของตัว โดยไม่ถูกต้อง เราเป็นคนจน..จนเงินจนทอง..จนข้าวของ แต่เราไม่จนความงามความดี
ถ้าเรามีความงามความดีไว้ในใจนั้น มันประเสริฐกว่ามีทรัพย์ภายนอกเป็นไหนๆ เพราะทรัพย์ภายในนั้นเป็นของเราทรัพย์ภายนอกไม่แน่มันจะสูญจะหายไปเมื่อไหร่ก็ได้แต่ทรัพย์ภายในนั้นอยู่กับเราตลอดไป เป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายในทรัพย์ประเสริฐ พูดให้ฟังบ่อยๆ ปลุกใจบ่อยๆ อบรมบ่อยๆ ลูกก็เป็นคนที่ดี เอ้อ! (38.45) หลานก็เป็นคนดีเชื่อฟังคุณยาย ถึงฤดูใกล้สอบไล่ เด็กนั้นก็ไปอ่านหนังสือที่วัดเบญจมบพิตรหลังโบสถ์จะเงียบอ่านไป...อ่านไป ก็ใกล้ถึงเวลากินข้าวเที่ยงก็เลยเก็บหนังสือจะไปกินข้าว ก็มองเห็นว่าเอะ! ใครเอากระเป๋ามาวางไว้ตรงนี้เด็กมันอ่านหนังสือเพลินไปไม่ได้มองดูข้างหลังมีคนเอากระเป๋ามาวางไว้ ลืม! ไม่ใช่อะไร ลืมไว้ เมื่อลืมไว้เช่นนั้นเด็กนั้นก็นึกถึงคำสั่งของคุณยาย ว่าอย่าเอาอะไรของผู้อื่นมาเป็นของตัวกระเป๋านี้ไม่ใช่ของเรา แต่มีใครมาลืมไว้ก็นั่งดูไปก่อนเผื่อเจ้าของเขานึกได้เขาจะได้มาเอายังไม่แกะดอกมองดูไว้ ให้คนอื่น (39.59) ไม่ให้คนอื่นมาเอาไป เขาก็มองดูไปเอ... ไม่เห็นใครมาตั้งชั่วโมงกว่าแล้ว ไม่มีใครมา หยิบกระเป๋ามาเปิดในนั้นมีเงินเป็นปึกๆ ๒ปึกใหญ่ แต่ว่ามีบัตรชื่อ มีบ้านที่อยู่อาศัยเขาก็อ่านชื่อในบัตรก็รู้ว่าคนนั้นอยู่ที่ไหน อยู่ไกลหมู่บ้านปัฐวิกรณ์นู้น เด็กหญิงคนนั้นทำอะไร..ก็เรียกรถแท็กซี่มา แล้วก็ให้ขับไปจนถึง ถึงบ้านพอเข้าไปในบ้านก็พบผู้หญิงคนหนึ่ง ตามจริงก็เป็นเจ้าของกระเป๋าใบนั้นแหละ เมื่อพบแล้วก็ไต่ถามว่า คุณน้ารู้จักคนชื่อนี่ไหม? ชื่อในบัตร ผู้หญิงคนนั้นก็บอกว่าฉันเองหละ พูดชักจะ “กระฟัดกระเฟียด” หน่อยเพราะใจไม่สบายเงินหาย ฉันเองหละ ออ! คุณน้าไปลืมกระเป๋าไว้ที่วัดเบญจฯใช่ไหม? ใช่! แล้วก็เอากระเป๋ายื่นให้ เมื่อยื่นให้ก็ดีอกดีใจ ชักออกมาใบหนึ่ง สองร้อย สองใบ ให้เด็กคนนั้นเป็นรางวัลเด็กคนนั้นตอบว่าหนูไม่รับ หนูเพียงแต่เอากระเป๋ามาให้คุณน้าเท่านั้นหนูไม่รับ แกนึกว่ามันน้อยไป สองร้อยน้อยไป เลยเพิ่มเป็น ห้าร้อย เด็กคนนั้นไม่เอา วิ่งออกจากบ้านขึ้นรถแท็กซี่กลับไป ไม่ได้รับอะไรตอบแทน คุณคนนั้นแกจะไปต่างประเทศเลยไปเบิกเงินจากธนาคารมาใส่กระเป๋าไว้ แล้วก็ไปไหว้พระ ขึ้นไปกราบ หลวงพ่อคชินราชขอศีลขอพรที่จะเดินทางไป ออกมาก็นั่งที่ม้านั่งพักผ่อนลืมกระเป๋าไว้ เด็กนั้นเอาไปคืนให้ด้วยความเรียบร้อย นี่คือผลของการอบรมสั่งสอนของคุณยาย คอยเขก คอยเป่า ลงไปในจิตใจว่าอย่าเอาของใครมาเป็นของตัวให้หาเอาเองทำเอาเองในทางที่ถูกที่ชอบเด็กก็ประพฤติตาม นับว่าได้ผลตามคำสั่งของคุณยายทุกประการ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ว่า ยังไม่ได้ผลทางวัตถุ คือไม่รับรางวัลอะไร
ผิดกับเด็กที่ประเทศอียิปต์ เด็กคนนั้นเป็นเด็กขายหนังสือพิมพ์ เด็กไปเที่ยวขายหนังสือพิมพ์ขายพวงมาลัยเยอะแยะตามบ้านเราก็มี เขาก็ไปขายหนังสือพิมพ์อยู่ที่สนามบิน คนลงเรือบินเขาก็ Paper..Paper ! (Newspaper) มันเรียกสั้นว่า Paper..Paper คนก็ซื้อเอาไปอ่านราคาก็ไม่ได้มากอะไร แต่มีฝรั่งคนหนึ่งมา..มาซื้อ ไม่มีเงินตราของ อียิปต์ เลยให้ดอลล่าร์... ให้ดอลล่าร์ไป เด็กไม่เอา ไม่รับ เขาบอกว่าไม่รับ เพราะเงินนี้ไม่ใช่เงินของประเทศนี้ เขาไม่รับ เขาบอกว่าก็ทำอย่างไรฉันไม่มีเงินนี่ แต่ฉันอยากอ่านหนังสือพิมพ์ เด็กคนนั้นบอกว่าเอาไปเลย เอาหนังสือพิมพ์ไปเลยไม่ต้องจ่ายเงินก็ได้เพราะท่านมาจากต่างประเทศเขาก็ให้เงินไป (44.27) ให้หนังสือพิมพ์ไป ฝรั่งคนนั้นประทับใจเวลาจะกลับอเมริกาได้ไปสั่งสถานทูตไว้บอกว่าให้ไปสืบดูเด็กขายหนังสือพิมพ์นั้นมันอยู่ที่ไหน เขาก็ไปสืบได้เรื่องได้ราวว่าเป็นเด็กกำพร้าอยู่กับคุณแม่ ไม่มีคุณพ่อ เด็กโดยมากมักจะกำพร้าพ่อนะ แม่มักจะไม่ตายอยู่นานๆ..ทำไมมันเป็นเช่นนั้นเพราะพ่อนี่เหลวไหลชอบดื่มเหล้าอะไรต่ออะไรมึนเมา หาโรคใส่ตัวเลยตายก่อนแต่คุณแม่เป็นคนไม่ดื่มเหล้า ตายช้า อยู่ในสภาพยากจน เขาก็ส่งข่าวไปให้ฝรั่งคนนั้นทราบ เขาส่งเงินมาให้ ๑๐๐ ดอลล่าร์ ให้สถานทูตแลกต่อให้เป็นเงินพื้นบ้านแก่ เขา เขาก็เอาไปให้ เขาก็รับเพราะว่าได้มาโดยสุจริต แล้วฝรั่งคนนั้นยังมีใจเอื้อเฟื้อ บอกว่าเด็กนั้นมันคงจะไม่ได้เรียนหนังสือ ขอให้สถานทูตจัดการให้ได้เข้าเรียนหนังสือ แล้วเขาจะส่งเงินมาให้ เขาก็ส่งมาให้เรื่อย จนกระทั่งเขาโตเป็นหนุ่ม ฝรั่งคนนั้นตาย เวลาตายได้ทำพินัยกรรมไว้ให้เงินก่อนหนึ่งแก่เด็กคนนั้น เด็กคนนั้นก็ได้รับมรดกจากฝรั่งเพราะความซื่อสัตย์นั้นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะเป็นคนซื่อสัตย์ไม่เห็นแก่ได้ ไม่เอาอะไรที่ไม่ใช่ของตัวมาเป็นของตน ชีวิตเขาประสบความสุข เรียกว่า Happy ending ฝรั่งเขาว่าดังนั้นนะ ว่า Happy ending เขาสบายเพราะเขาทำถูกต้อง
ที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่กรุงเทพ ฝรั่งชาวรัสเซีย ไปนอน เวลาไปก็ลืมกระเป๋าไว้ใต้เบาะ คนใช้เข้าไปทำความสะอาดพบเงินนั้นเข้าเขาก็ไปดอนเมืองทันฝรั่งเอาเงินให้ฝรั่งคนนั้น ฝรั่งคนนั้นรับเงินแล้วก็พูดว่าขอบใจเท่านั้นเอง ไอ้ฝรั่งคอมมิวนิสต์มันไม่ค่อยมีคุณธรรมมากกว่านี้ มันพูดแต่ว่าขอบใจเท่านั้นเอง แล้วคนนั้นก็กลับไปทำงานโรงแรมต่อไป ก็เป็นอย่างนั้น ก็ไม่เป็นไรเขายังรักษาเกียรติ์รักษาศักดิ์ศรีของประเทศไทยไว้ได้ ว่าคนมาพักโรงแรมแล้วของไม่หาย ไม่เสียหาย ก็ดีเป็นประโยชน์แก่การท่องเที่ยวต่อไป อันนี้ก็เกิดจากน้ำใจ
คนเราไม่ใช่ว่า...จนแล้วจะรับเสมอไป... เขาบอกว่าคนมันจนมันจึงไปขโมย ไอ้คนจนขโมยมันก็มีบ้าง แต่ว่าคนรวยขโมยนี่น่ากลัว เพราะคนรวยขโมยทีไม่ใช่ขโมยเอาเพียง สิบบาท ยี่สิบบาท มันเอาตั้งล้าน สิบล้าน ยี่สิบล้าน เอาไปเพื่อประโยชน์ตน มีตัวอย่างถมไป พวกขโมยที่ร่ำรวย ร่ำรวยแล้วก็ยังกินสินบนยังหา “ลำไพ่” พิเศษอย่างนี้ ก็ขโมยนั้นแหละ ผิดศีลข้อสองทั้งนั้นแต่ก็ทำกันอยู่ คนจนมันไม่สามารถที่จะโกงได้ถึงขนาดอย่างนั้น ได้นิดๆหน่อยๆ ไม่มากมายอะไร แต่ถ้าเขาได้รับการอบรมบ่มนิสัย เขาก็เปลี่ยนใจได้เหมือนกันเป็นคนดีได้
อันนี้มันขึ้นอยู่กับว่า การคบหาสมาคม คบคนเช่นใดก็จะเป็นเช่นคนนั้นอันนี้เป็นความจริงพระพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นความจริงถูกต้อง เราอยู่กับคนเช่นใดเรามักจะเป็นเช่นนั้นเราอยู่กับคนขี้เหล้า ไม่เท่าใดก็เป็นขี้เหล้า อยู่กับคนนักการพนัน ไม่เท่าใดก็เป็นนักการพนัน อยู่กับคนเที่ยวหาโรคเอดส์ก็เป็นโรคเอดส์ไปในคนนั้นด้วยมันเป็นเช่นนั้น เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น เราต้องสอนลูกให้รู้ว่าควรคบคนเช่นใด คนเช่นใดควรคบคนเช่นใดไม่ควรคบ สถานที่เช่นใดควรไป สถานที่เช่นใดไม่ควรไป อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ต้องหมั่น “พร่ำสอน” แต่ว่าสอนห่างๆก็ไม่ต้อง หมั่นสอนมันเตือนมันพูดให้ฟังปลุกปลอบจิตใจด้วยความรู้สึกที่ถูกต้องเด็กก็ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เขาก็กลายเป็นคนที่เชื่อฟังคำสั่งคำเตือนของปู่ย่าตายาย พ่อแม่ เพราะได้ยินอย่างนั้นบ่อยๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องสำนึกในเรื่องนี้ วันเด็กอย่าให้มันผ่านไปเฉยๆ แต่เราควรจะลูกมา ควร (50.26) เรียกลูกมาให้รู้จักสำรวจตัวเอง รู้จักตัวเอง แล้วจะได้แก้ไขตัวเอง ควรทำบ่อยๆ สิ้นเดือนนี้ควรทำ สิ้นปีก็ควรทำ สิ้นวันหนึ่งก็ค่อยทำได้ ทำบ่อยๆ เรียกลูกมาสอน มาเตือน มาชี้ มาแนะให้เข้าใจ ให้ลูกรู้จักพระศาสนาที่เรานับถือ สอนเขาให้รู้จักพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ให้ดูแบบแผนที่พระพุทธเจ้าท่านทำไว้ แบบแผนที่ดีที่งาม ที่ทำให้เกิดประโยชน์ เกิดความสุขแก่ตนแก่ท่าน พยายามสอนอบรม ถ้าเขาทำผิดมาบ้างเขาก็รู้สึกตัวว่าเราผิด คิดเปลี่ยนแปลง เข้าหาความถูกต้องต่อไป
พ่อแม่ที่ได้ทำหน้าที่อย่างนี้ถูกต้องเรียกว่าเป็นพ่อประเสริฐ พ่อพระแม่พระของลูก พ่อเทวดา แม่เทวดาของลูก พ่อพระพรม แม่พระพรมของลูก เพราะว่าเราให้สิ่งถูกต้องแก่เขา คือให้ธรรมะแก่เขา เรียกลูกมาสอน มาปลอบโยนจิตใจ แต่ว่ามักจะไม่ได้สอน พ่อแม่ไม่ค่อยได้สอน ไม่ “จ้ำจี้จ้ำไช” ในเรื่องนี้ เด็กจึงไปคบเพื่อนชั่ว ไปเที่ยวไปเล่นไปสนุก เสียผู้เสียคน เด็กบางคนสอนไม่ได้ เพราะมันแก่แล้ว มันต้องสอนมันตั้งแต่ตัวน้อยๆ เช่นสอนให้รู้จักกราบพ่อแม่ กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบครูบาอาจารย์ ให้กราบทุกวันทุกวัน มันก็ทำเป็น วันไหนไม่ได้กราบแม้วันนี้ยังไม่ได้ไปกราบหลวงปู่ มันก็ต้องมากราบ กราบทุกวัน กลับจากโรงเรียนก็ต้องมากราบ กลับไปบ้านก็กราบ เช้ามาถึงก็มากราบ เป็นนิสัย สอนไว้อย่างนั้นมันเป็นนิสัย อ่อนน้อมถ่อมตัว เราควรฝึกลูกให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตัว ให้เชื่อฟังคำสั่งคำสอน เพราะว่าความเชื่อฟังนี่เป็น เป็นคุณธรรมข้อแรก ที่ควรสอนเด็กคือสอนให้เชื่อฟัง เด็กถ้ามันเชื่อฟังแล้วมันก็ดีขึ้น ไม่ดื้อย่างเดี่ยวทุกอย่างดีหมดนี่แหละ จำไว้ เราสอนไม่ให้เขาดื้อ แต่ให้เขารู้จักเชื่อฟังพ่อแม่ เกรงใจพ่อแม่ จะปรึกษาอะไรก็ต้องปรึกษาพ่อแม่ ไม่ทำเอาเองตามชอบใจ
มีเด็กคนหนึ่ง อยู่เป็นสมเณรอยู่ที่ตะกั่วป่า “พระยาวิชิตวงศ์มุชิตไตร” ท่านเป็น “เกษาภูเกต” ก็ไปตรวจงานไปเห็นเณรสอนหนังสือเด็กก็ชอบใจ รูปร่างดีด้วย แต่ละคนเชื่อถือ ท่านก็ถามว่าเณรไปกรุงเทพไหม? เณรบอกว่าต้องไปถามคุณยายก่อน ต้องไปถามคุณยายก่อน คำพูดคำนี้ทำให้เจ้าคุณประทับใจ.. ประทับใจว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กดี เพราะจะทำอะไรต้องไปปรึกษาคุณยายก่อน เป็นเด็กนับถือคุณยายเพราะแม่ไม่อยู่ เชื่อฟังคุณยาย แม้จะมากรุงเทพก็ต้องปรึกษาคุณยายก่อนเจ้าคุณก็ถามว่า คุณยายอยู่ไหน อยู่หน้าวัดนี่เอง ไปเณรพาโยมไปหน่อย ไปก็ “บอกเล่าเก้าสิบ” ให้คุณยายรู้ ว่าจะพาสามเณรไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ คุณยายก็โอ๊ยดีอกดีใจยกมือท้วมหัวเอาไปเถอะเจ้าพระคุณดีแล้ว ก็เลยเอามาได้เรียนเป็นนักธรรม แล้วต่อมาเณรก็อยากจะเรียนโรงเรียน นายร้อย ได้ลาสึกไปเป็นนายร้อย รับราชการจนได้เป็นถึงนายพลโท เป็นเจ้ากรมแผนที่ นี้ก็มาจากพื้นฐานอันเดียวว่าเชื่อฟังผู้ใหญ่ เคารพผู้ใหญ่ คนเราอยู่กับใครมันต้องปรึกษา อยู่ในวัดจะทำอะไรก็มาปรึกษาสมภารท่านเจ้าวัด อย่าทำเอาตามชอบใจ เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็แสดงว่า ไม่เคารพผู้ใหญ่ เห็นผู้ใหญ่เป็นหัวตอ เป็นต้นไม้ไป ไม่ถูกต้อง อยู่บ้านก็เหมือนกัน เราต้องฝึกเด็กให้มาปรึกษาพ่อแม่ อยู่โรงเรียนก็ต้องปรึกษาครูบาอาจารย์ สร้างฐานจิตใจให้เขา มีความมั่นคง ในความอ่อนน้อมถ่อมตัว ความเชื่อฟัง แล้วก็อบรมให้ขยันขันแข็งเอางานเอาการทำอะไรทำจริงอย่าทำแบบเหลวไหลอ่อนแอเอาตัวไม่รอด
อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญนำมาพูดกับญาติโยมวันนี้ เพราะวันเด็กได้ผ่านไปแล้ว มันไม่ได้ตรงกับวันอาทิตย์แต่เอามาฟื้น มาพูดจาทำความเข้าใจเพื่อจะได้ช่วยกันสร้างลูกหญิงลูกชายของประเทศไทยให้มีจิตใจเป็นไทย เป็นมนุษย์ เป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้อง เพื่ออนาคตของชาติบ้านเมืองต่อไป อ้าว แสดงมาก็พอสมควรต่อเวลา
- ปาฐกถาธรรมประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕