แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ต่อนี้ไปก็ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน แล้วอาทิตย์หน้าก็เป็นวันที่ ๑ เดือนธันวาคม เป็นเดือนสุดท้ายของปี ในรอบปีหนึ่งๆ ที่ผ่านมานั้น เราได้ตั้งใจมาวัดเพื่อฟังธรรมได้กี่อาทิตย์ ก็ค่อยคิดกันในวันสิ้นเดือนธันวาคม จะได้เห็นว่า เรามาวัดกันสม่ำเสมอหรือเปล่า หรือว่าไม่ได้มาเพราะติดธุระอะไรบ้าง และมาฟังแล้ว ได้รู้ได้เข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างไร ได้นำธรรมะนั้นไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ขนาดไหน เรามีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจก่อนที่จะมาฟังธรรม หรือว่าก่อนที่จะเข้าวัด มาศึกษาธรรมะ ภายหลังเมื่อได้มาเข้าวัด ศึกษาธรรมะแล้ว สภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือว่าเหมือนเดิม ถ้าเหมือนเดิมก็ยังใช้ไม่ได้ แต่ถ้าดีขึ้น ก็เรียกว่า ใช้ได้ เราจึงควรจะได้สังเกตตัวเราเอง ว่าเรามีผลทางธรรมเป็นอย่างไรบ้าง มีความสุข มีความสงบขนาดไหน เมื่ออะไรมากระทบ มีความยินดียินร้ายอย่างไร สภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ต้องสังเกต ต้องพิจารณาเป็นการตรวจสอบตัวของเราเอง เพื่อให้รู้จักตัวเองถูกต้อง ได้รู้สิ่งที่มันเกิดขึ้นในตัวของเรา แล้วจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงกันต่อไป เพราะการมาวัดนั้น เรามาเพื่อศึกษาให้เกิดปัญญาเกิดความรู้ความเข้าใจในน้ำธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่ามีความรู้มีความเข้าใจแล้ว ก็ต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราไม่ได้ใช้ก็ยังไม่เกิดประโยชน์อะไร ธรรมะจะเป็นประโยชน์เมื่อเราใช้ ธรรมะจะเป็นประโยชน์เมื่อเรามาเอาไปปฏิบัติ ถ้าเราไม่ปฏิบัติตาม เราก็ไม่ได้รับผลจากธรรมะ
คำที่พระองค์ตรัสว่า “ธมฺกฺ ธมฺมจารี” ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม วรรคท้ายนี่สำคัญ คำท้ายนี่สำคัญมาก ว่า รักษาผู้ประพฤติธรรม ถ้าบุคคลไม่ประพฤติธรรม ธรรมะก็ไม่รักษา ไม่คุ้มครอง เหมือนเรามีร่ม ถ้าเราไม่กาง จะกันแดดได้อย่างไร กันฝนได้อย่างไร เพียงแต่ถือไปเฉยๆ มันก็ไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า แต่เมื่อใดฝนตก เรากางร่ม แดดจัดเรากางร่ม เราก็กันฝนได้ กันแดดได้ฉันใด พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เหมือนกัน จะเป็นประโยชน์แก่เราทั้งหลาย ก็ต่อเมื่อเราได้นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน การปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั่นแหละเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่เราจะได้ประโยชน์จากธรรมะอย่างแท้จริง ได้ประโยชน์จากพระศาสนาอย่างแท้จริง การนับถือพระศาสนาก็อยู่ตรงที่ว่า เราเอาคำสอนในศาสนาไปใช้ เป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาชีวิตของเรา เพื่อทำชีวิตของเราให้ดีขึ้น
การทำชีวิตให้ดีขึ้นนั้น เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องทำ ถ้าเราเกิดมาเพื่อความดีขึ้น เกิดมาเพื่อความเจริญขึ้น อันความเจริญทางร่างกายนั้น มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ กินอาหารถูกส่วน หายใจ ดื่มน้ำ ร่างกายก็เจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็เจริญในทางที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ต่อไป นั่นมันเป็นเรื่องธรรมชาติ ต้นไม้มันก็เจริญเติบโตได้ หัวเผือกหัวมันที่เราปลูกลงไปในพื้นดิน มันก็เจริญเติบโตได้ตามธรรมชาติของมัน แต่ว่า คนเรานั้นไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่หัวเผือกหัวมัน แต่เราเป็นคนที่มีจิตใจ มีปัญญา มีความคิดความอ่าน ร่างกายของเรานี้มีสมองเป็นเครื่องประกอบการคิดนึกตรึกตรอง สมองมนุษย์แม้จะไม่ใหญ่เท่าสมองช้าง แต่ก็มีคุณค่าพิเศษมากกว่าสมองของช้าง สมองช้างมันใหญ่แต่ก็ไม่ค่อยจะรู้จักคิดนึกอะไร มันทำอะไรตามที่เขาสั่ง เขาบอกให้ทำอะไร มันก็ทำได้ ทำได้เท่านั้น ไม่มีการปรุงแต่งเพื่อให้ดีให้วิเศษขึ้นไปจากเรื่องที่เขาให้ทำ ให้ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ทำได้ หรือว่านกขุนทองพูดได้ มันก็พูดได้เท่าที่เราสอนให้พูด แต่จะพูดอะไรเป็นพิเศษต่อไปนั้น มันพูดไม่ได้ ก็สมองของช้างก็ดี ของนกขุนทองก็ดี มีความรู้จำกัด มันไม่สามารถจะปรุงแต่งอะไรได้ แต่สมองของคนเรานั้น มีลักษณะพิเศษ ที่สามารถจะคิดนึกตรึกตรอง ในเรื่องอะไรต่างๆ คนเราจึงเจริญกว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย
สัตว์เดรัจฉานมันอยู่อย่างใดมันก็อยู่อย่างนั้น ไม่มีการพัฒนา ไม่มีความเจริญขึ้น สัตว์ใหญ่ที่เรียกว่าไดโนเสาร์ ซึ่งเวลานี้ไม่มีอยู่ในโลกแล้ว มันก็สูญพันธุ์ไป เหลือแต่โครงกระดูกที่เขาขุดได้ จากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศอเมริกา เขาเอามาร้อยให้เป็นโพรงไว้ ให้เห็นว่า มันใหญ่โตขนาดไหน เดี๋ยวนี้มันไม่มี สัตว์บางอย่างหายไป เพราะไม่มีการพัฒนา ไม่มีการปรุงแต่ง แต่ว่าคนเรานั้นมีสมองพิเศษที่สามารถจะคิดนึกตรึกตรองในเรื่องอะไรต่างๆ จะมีการคิดประดิษฐ์อะไรต่างๆ ขึ้น ซึ่งเป็นของใหม่ สร้างความเจริญให้โลกบ้าง สร้างความทุกข์ให้แก่โลกบ้างเหมือนกัน นั่นคือความคิด เช่นว่า ความคิดด้านวิทยาศาสตร์ในรูปต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก บางอย่างก็เป็นประโยชน์ เป็นคุณเป็นค่า เช่น คิดค้นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ อันนี้เป็นคุณค่าแก่เพื่อนมนุษย์มาก แต่ถ้าคิดค้นในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือดินระเบิดชนิดร้ายแรง ก็มีการเอาไปใช้เพื่อการทำลายกัน ในระหว่างสงคราม รบกันจนกระทั่งแพ้ไปข้างหนึ่ง แล้วก็ฝ่ายแพ้มันก็คิดแก้แค้นต่อไป เป็นเรื่องไม่จบไม่สิ้น เพราะชนะกันด้วยกำลัง ไม่ใช่ความชนะเด็ดขาด
การชนะที่เด็ดขาดนั้นต้องชนะโดยธรรม ชนะโดยคุณงามความดี ถ้ามนุษย์เรามีปัญญา ใช้ปัญญาให้ถูกต้อง เพื่อเอาชนะผู้อื่น แล้วก็ชนะด้วยความงามความดี ไม่เอาชนะกันด้วยอาวุธ ชนะกันด้วยอาวุธมันก็ไม่จบ รบกันจนกระทั่งตายไปทั้งสองฝ่าย ตายกันเป็นจำนวนมากๆ เหตุการณ์ในสงครามที่ผ่านมาในชีวิตของพวกเราทั้งหลาย อย่างน้อยก็สองครั้ง แล้วก่อนนั้นมันก็มี ประวัติศาสตร์ที่เขาจารึกอะไรไว้นั้น ไม่มีเรื่องอะไร จารึกเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งของมนุษย์นั่นเอง ทะเลาะกันระหว่างพวก ระหว่างชาติ ระหว่างประเทศ แล้วก็บันทึกไว้เป็นหลักเป็นฐานให้คนได้อ่านกัน การศึกษาประวัติศาสตร์ก็ศึกษาเรื่องรบราฆ่าฟันกัน เรื่องกิเลสทั้งนั้น แต่ก็เป็เครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้คนที่ได้ศึกษาได้รู้ว่า สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาจากอะไร เราควรจะป้องกันไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น จึงจะอยู่กันด้วยความสุข ความสงบ โดยเฉพาะคนที่คิดค้น ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แก่สังคมโลก ก็คือ คิดค้นธรรมะ สำหรับให้คนเรานำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่มีคนเกิดขึ้นในโลก คนก็มีสิ่งหนึ่งอยู่ในใจ คือ ความกลัวต่อสิ่งต่างๆ กลัวความทุกข์ กลัวความเดือดร้อน กลัวภัยอันตราย ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนในรูปต่างๆ ท่านจึงกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมสะดุ้งกลัวต่อภัยอันตราย ไม่อยากให้ภัยอันตรายนั้นเกิดขึ้นแก่ตน แต่ว่า ถ้าเราให้ความทุกข์แก่เขา เราก็ได้รับความทุกข์กลับมา ถ้าเราให้ความสุขแก่เขา เราก็ได้ความสุขกลับมา ถ้าเราก็ได้สิ่งถูกต้องได้รับฟังสิ่งถูกต้อง แต่ว่าคนเราบางครั้งบางคราว จิตใจตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำ อำนาจฝ่ายต่ำที่เป็นตัวสำคัญที่ดึงเราลงไปในทางต่ำ ก็คือ ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ลืมคิดไปถึงความเสียหาย ลืมคิดถึงไปถึงความทุกข์ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น มุ่งเอาแต่ว่า เอาให้ได้ก็แล้วกัน ตัวได้แล้วก็เป็นพอ ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดที่เป็นความเห็นแก่ตัว มีมาตั้งแต่เกิดก็ว่าได้ สัญชาติญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีความเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน ต้องการที่จะมี ที่จะได้ เพื่อตัวทั้งนั้น ผู้ที่มีปัญญา มีความคิดความอ่าน มองเห็นทุกข์โทษของสิ่งเหล่านี้ ก็คิดว่าจะทำอย่างไร ให้คนเราได้ลดความเห็นแก่ตัว หรือความเห็นแก่ตัวให้มันน้อยลงไปนี้จะทำอย่างไร ก็มาคิดค้นในเรื่องธรรมะ เรื่องศาสนา
เรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องระเบียบของชีวิตที่คนเอาไปใช้แล้วทำให้สังคมดีขึ้น ให้ชีวิตส่วนบุคคลดีขึ้น เมื่อคนดีขึ้น แต่ละคน ที่เรียกว่า ปัจเจกชน ดีขึ้น สังคมมันก็ดีขึ้น เพราะสังคมนั้นประกอบด้วยตัวบุคคลที่มารวมกันเข้า จากหนึ่งกลายเป็นสอง สาม สี่ ห้า เป็นร้อยเป็นพัน ถ้าคนในสังคมนั้นเป็นคนดี มีปัญญา มีความคิดถูกต้อง มีการพูดถูกต้อง มีการกระทำที่ถูกต้อง สังคมนั้นก็เป็นสังคมแห่งสัตตบุรุษ เป็นสังคมคนดี ถ้ามีแต่ความสุข มีแต่ความเจริญ ไม่มีปัญหา คือ ความทุกข์ ความเดือดร้อนเกิดขึ้น แต่ว่าจิตใจคนเรามันไม่แน่นอน บางครั้งก็ดี บางครั้งก็ไม่ดี ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า ยังไม่ได้ฝึกฝนในด้านธรรมะ ยังไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่ได้ปฏิบัติธรรมะ สภาพจิตใจก็ไหลไปตามอารมณ์ ถ้าได้สิ่งที่พอใจก็เป็นความสุขชั่วขณะหนึ่ง ถ้าได้สิ่งที่ไม่พอใจก็เป็นความทุกข์ ทุกข์มันจะชั่วขณะหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าสิ่งที่ยั่วยวนชวนใจนั้น ทำให้เราหลง เรามัวเมา เราประมาท แล้วก็ไปติดอยู่ในสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น ติดสิ่งเสพติด คนดื่มเหล้าแล้วก็ไปติดเหล้า สูบบุหรี่ ติดบุหรี่ สูบกัญชา ติดกัญชา ดื่มกาแฟ ติดกาแฟ ต้องยี่ห้อนั้นโดยเฉพาะ ถ้ายี่ห้ออื่นแล้วก็ไม่เอา วิ่งหนีไปเลย อย่างนี้ก็แสดงว่า เราติดอยู่ในสิ่งนั้น ตกเป็นทาสของสิ่งนั้น การเป็นทาสไม่ว่าอะไร เป็นความทุกข์ทั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
“สัปปัง ปรวสัง ทุกขัง” ความเป็นทาสของสิ่งทั้งปวงเป็นความทุกข์ ในทางตรงกันข้าม “สัปปัง อิสริยัง สุขขัง” ความเป็นไท มีใจเป็นอิสระ อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง ก็มีความสุข ความสุขมันอยู่ที่จิตใจเป็นไท ความทุกข์มันอยู่ที่จิตใจเป็นทาส เมื่อใดเราเป็นทาสของอะไร เราก็เป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น อันนี้ต้องสังเกตที่ตัวของเราเอง ว่า เวลาใดเกิดความทุกข์ขึ้นนี้ มันทุกข์เพราะอะไร ใจเราไปอยู่ที่อะไร ไปพัวพันอยู่กับอะไร ไปติดอยู่กับอะไร จึงได้มีความทุกข์ มีความเดือดร้อน ต้องศึกษา ต้องสังเกตขึ้น จากประสบการณ์ในชีวิตของเราเอง เมื่อเราศึกษาสังเกต เราก็จะพบความจริงว่า ทุกครั้งที่มีปัญหา คือมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ใจเราไม่เป็นไท ไม่เป็นอิสระ แต่ว่า เราตกเป็นทาสของอำนาจอันใดอันหนึ่ง เป็นทาสของวัตถุก็เป็นทุกข์เพราะวัตถุ เป็นทาสในเรื่องอะไรก็เป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น แต่ถ้าเราแก้ไข ปลดปล่อยความเป็นทาสออกจากใจ พูดตามภาษาที่เค้าใช้ เค้าว่า ปลดแอก
ในทางการเมือง เขาชอบใช้กันว่า ปลดแอก พวกคอมมิวนิสต์ชอบใช้กันว่า ปลดแอก แต่มันก็ไม่ได้ปลดแอกที่แท้จริงอะไร ปลดแอกอันหนึ่ง ก็เอาแอกอันหนึ่งสวมเข้า เอาแอกไม้ออกไป เอาแอกเหล็กมาสวมเข้าไป แล้วก็ติดหนักเข้าไปอีก ไม่สามารถจะปลดได้ อย่างนี้ก็เป็นปัญหา ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นบรมครูของพวกเราทั้งหลายนั้น ท่านปลดหมดเลย ไม่มีอะไรมาสวมทับบนคอของเราอีกต่อไป ปลดปล่อยตนเองออกจากความเป็นทาส ให้เป็นไทอย่างแท้จริง ไม่เป็นทาสของอะไรๆ อีกต่อไป ความคิดในเรื่องนี้ มีมาตั้งแต่เริ่มมีความทุกข์นั่นเอง เพราะมนุษย์มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ ความคิดที่จะแก้ทุกข์มันก็เกิดขึ้น บรรดาฤาษีชีไพร ที่ไปอดแห้งอดแล้ง อยู่ในป่า ไปทรมานร่างกาย ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้จิตใจสงบ แล้วจะได้มีการคิดค้น ให้พบเห็นในสิ่งที่ถูกต้อง เขาก็ไปคิดไปค้นกัน มีจำนวนมากมาย ในประเทศอินเดียนั้น มีฤาษีจำนวนมากมาย ออกไปอยู่ในป่า แล้วก็ปฏิบัติธรรม คิดค้นในเรื่องข้อปฏิบัติ เพื่อให้คนเรามาใช้เป็นกรอบป้องกันตน ไม่ให้หลุดไปสู่ความชั่ว ความร้าย แต่ว่ามันไม่ถึงที่สุด คิดได้เป็นขั้นๆ เป็นตอนๆ ฤาษีผู้หนึ่งคิดได้เพียงชั้นนี้ แล้วต่อมาฤาษีอีกผู้หนึ่งคิดต่อไปสูงขึ้นไปอีกหน่อย สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่หลุดพ้นอย่างแท้จริง เพราะไปติดอยู่ในเรื่องอะไร ไปติดอยู่ในความมีตัวมีตน เขาเรียกว่า อัตตา หรือปรมาตมัน ซึ่งเป็นตัวใหญ่ เป็นต้นเรื่องของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไปติดอยู่ในสิ่งนั้น จิตยังเป็นทาสสิ่งนั้นอยู่ เมื่อจิตยังติด ยังเป็นทาสของสิ่งนั้น มันก็ไม่หลุดพ้น
เจ้าชายสิทธัตถะเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย เป็นเจ้าชายที่มีปัญญา มีความคิดก้าวหน้า มองเห็นการประพฤติการปฏิบัติของพวกนักบวชทั้งหลายที่มีอยู่ในสมัยนั้น พระองค์ก็เห็นว่า เขาทำกันอย่างไร แต่ก็ยังสงสัยว่า การกระทำเช่นนั้นจะช่วยให้หมดทุกข์จริงหรือไม่ จึงได้ออกจากวังไปอยู่ในป่า เพื่อทำการทดสอบ เอาชีวิตของพระองค์เข้าไปแลกเลยทีเดียว เข้าไปเสี่ยงเพื่อการศึกษาค้นคว้า ไม่มีใครจะเสี่ยงถึงขนาดเจ้าชายสิทธัตถะกระทำ เพราะการอยู่ในวังนั้น แสนสะดวกสบาย ตามแบบของชาวบ้าน มีความสุขทุกอย่าง มีความสะดวกทุกอย่าง ต้องการอะไรก็ไม่เคยขัดข้อง เพียงแต่เอ่ยวาจาเท่านั้น ว่าจะอยากได้สิ่งนั้น เดี๋ยวของมันก็มาถึง เพราะมีคนคอยรับใช้ใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา แต่หาได้หมกมุ่นมัวเมาอยู่ในสิ่งนั้นไม่ ยังคิดอยู่เสมอว่า อันนี้ไม่ใช่ตัวที่สุดของความสุขของชีวิต ไม่ใช่สิ่งดีที่สุดที่เราต้องการ สิ่งที่ดีที่สุดต้องดีกว่านี้ ต้องประเสริฐไปกว่านี้ เพราะมองเห็นความทุกข์อยู่ในสิ่งเหล่านั้น
ความทุกข์ในสุขนี้ท่านมองเห็นอันนี้ คนบางคนมองไม่เห็นความทุกข์ในความสุข เลยติดสุข แต่เป็นสุขประเภทมีเครื่องล่อ เครื่องจูงใจ ทำให้หลงไหลมัวเมาอยู่เรื่องนั้น ด้วยประการต่างๆ มันไม่ใช่เป็นความสุขแท้ จิตใจยังเร่าร้อน ยังมีความเผาลนอยู่ในจิตใจ เพราะในเรื่องเหล่านั้น ถ้าเราสังเกตเห็นตัวเราได้ว่า เราอยากได้อะไร อยากเป็นอะไร ใจมันร้อน ถูกเผาด้วยความอยาก เช่น ชายหนุ่มหญิงสาวรักกันชอบกัน แล้วก็นัดหมายกันว่าจะไปพบกันที่นั่นที่นี่ ใจมันก็ร้อนไปทั้งสองฝ่าย เมื่อพบกันแล้วก็สบายใจชั่วขณะหนึ่ง ต่อจากนั้นก็ร้อนต่อไป ถ้าหากว่า ไม่ได้ดั่งใจ มีใครมาขัดคอ ไม่ให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ ก็เกิดความร้อนรุนแรง จนลุแก่ความโกรธ ความเกลียด แล้วก็ฆ่ากัน ให้ถึงแก่ความตาย ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์บ่อยๆ ที่ฆ่ากัน การฆ่ากันนั้น ไม่ใช่เรื่องอะไร แย่งวัตถุกัน แย่งคนกัน แย่งสิ่งที่เราต้องการ แล้วไม่ได้คิดว่า ถ้าเกิดฆ่าเขาได้แล้ว เราจะได้หรือเปล่า เราจะอยู่ด้วยความสุขหรือเปล่า เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะปัญญามันไม่เกิดในขณะที่ใจถูกโมหะครอบงำ ถูกความอยากครอบงำ มันก็มืดไปหมด มืดเหมือนกับเวลาเมฆก้อนใหญ่บดบังแสงอาทิตย์ ไม่มีแสงสว่างส่องลงมาเลย
จิตใจคนเรามันก็เป็นเช่นนั้น เวลาถูกความอยากหุ้มห่อจิตใจ มันก็มืดแปดด้าน มืดไปทุกทิศทุกทาง เบื้องบนก็มืด เบื้องล่างก็มืด มองอะไรไม่เห็น คิดแต่เรื่องที่ตนอยากจะได้ อยากจะเป็นเท่านั้นเอง แล้วถ้ามีใครมาขัดคอ ก็โกรธเคืองกัน ต้องฆ่าต้องแกงกัน ซึ่งเห็นได้ง่ายๆ เช่น ความอยากในทางการเมือง คนอยากจะเป็นผู้แทนประเทศต่างๆ อยากจะเป็น สจ. บ้าง อยากจะเป็นผู้แทนเทศบาลบ้าง อยากจะเป็นพวก สส. บ้าง แล้วก็เป็น สส. แล้วก็อยากจะเป็นรัฐมนตรีบ้าง ทำไมจึงแย่งกันนักหนา ทำไมจึงอยากเป็นกันหนักหนา มันมีเครื่องยั่ว เครื่องจูงใจ คือ ตัววัตถุที่จะมีจะได้ เพียงแต่เป็นผู้ใหญ่บ้าน เงินเดือนไม่กี่บาท ก็ยังจะแย่งกัน แล้วก็ถึงฆ่ากันตาย ความจริงนั้นอะไรมันก็ไม่ได้เท่าไรหรอก แต่ว่าทิฐิมานะ แข่งขันกัน กูไม่ยอม กูแพ้ไม่ได้ นี่แหละคือตัวมานะ ตัวอัตตา หรือความเห็นแก่ตัวที่รุนแรงเกิดขึ้นว่า กูแพ้ไม่ได้ในเรื่องนี้ ก็ลงทุนกัน หาอุบายต่อสู้ สู้กันด้วยเพราะปกติไม่ได้ ก็ทเอาด้วยเล่ห์กล สู้กันด้วยกันฆ่า การทำร้ายกัน ตายกันไป เลือกผู้ใหญ่บ้านก็ตาย เลือกกำนันก็ตาย ถ้า สจ.ก็ยิ่งฆ่ากันใหญ่ ทุกจังหวัดมีเรื่องอย่างนี้ เพราะความอยากมันรุนแรง ไม่ได้เข้าไปเพื่อธรรมะ ไม่ได้มีจิตใจที่เป็นธรรม ไม่ได้เข้าไปเพื่อให้ แต่เข้าไปเพื่อจะเอา จากตำแหน่ง จากหน้าที่ที่ตนเข้าไปนั้น แล้วตนคิดว่าจะมีจะได้อะไรบ้าง ก็เลยเข้าไป ไปเป็น สส.ก็เหมือนกัน เพราะว่า สส. มันเป็นรัฐมนตรีได้ ก็คิดวางแผนว่า จะไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้น กระทรวงนี้ แล้วก็จะได้มีทางได้ มีรายได้พิเศษ มีเช็คของขวัญอะไรมาหา คิดฝันไปเป็นอย่างนั้น มืดไปหมด ถ้าใครมาขัดคอต้องฆ่ากัน ต้องทำร้ายกัน ต้องเบียดเบียนกัน เป็นอย่างนั้น เพราะความอยากนั้นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร แล้วถ้าได้เข้าไปสมใจ ก็ไปทำสิ่งเหลวไหล เพราะฐานทางจิตใจมันไม่ดี ฐานทางจิตใจมุ่งอามิส มุ่งสินจ้างรางวัล มุ่งวัตถุ เป็นนักวัตถุนิยม ไม่ใช่ธรรมนิยม
ถ้าเป็นพวกธรรมนิยมก็ไม่มีอะไร เพียงแต่เสนอตัวให้ประชาชนเขาเลือก แล้วก็บอกเรื่องของตัวว่า ตัวเป็นมาอย่างไร ไม่ลงทุน ไม่ลงทุนซื้อเสียง ไม่ลงทุนอะไร แต่ว่าไปติดต่อกับประชาชน เล่าเรื่องชีวิตให้เขาฟัง ให้เขาเห็นว่า คนๆ นี้มีชีวิตเป็นมาอย่างไร มีพฤติกรรมอย่างไร การดำเนินชีวิต ประกอบกิจการงานอย่างไร มีศีลมีธรรมขนาดไหน คนมีปัญญามีเยอะแยะในบ้านเมืองของเรา เขาก็รู้ว่า เป็นคนดีพอใช้ได้ เขาก็เลือกเข้าไปให้เป็นนั่นเป็นนี่ แต่คนอย่างนั้นเข้าไป มันก็ไม่ได้คิดจะเอาอะไร เพราะเขาไม่ได้เอามาแล้วตั้งแต่ต้น ไม่หวังจะเอา จะเป็นอะไร แต่เข้าไปเพื่อรับใช้บ้านเมือง รับใช้ประเทศชาติ เพื่อช่วยเหลือตามความรู้ ความสามารถ ตามแนวคิดที่ตัวมีอยู่ เป็นอยู่ เพื่อสร้างชาติ สร้างบ้านเมือง หรือว่ากีดกันคนอื่นที่เป็นคนโกง คนทุจริต ไม่ให้ตกไปอยู่ในตำแหน่งนั้น เพราะว่าขึ้นไปแล้วเงินมันเยอะ เขาก็อยากไปใช้เงินนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เขาคิดอย่างนั้น คนมันก็เลือกให้ แล้วก็ไปทำกิจที่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่ดี เรื่องงามต่อไป
อันนี้ การตั้งระเบียบขึ้นในสังคมนี้ก็เหมือนกัน การตั้งระเบียบขึ้นในสังคมนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับฐานแห่งความเห็นตัว เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว เหมือนกัน ถ้าเราตั้งระเบียบเป็นฐานในเรื่องความเห็นแก่ตัว ระเบียบเหล่านั้นมันก็ไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม เช่นว่า เขียนระเบียบธรรมนูญ ธรรมนูญนี้เป็นกฏหมายหลักของประเทศชาติ เรียกว่า รัฐธรรมนูญ คือ กฏหมายหลักของชาติของประเทศ คณะที่เข้าไปเขียนนี้ ถ้ามีจิตใจไม่เป็นธรรม มีอคติสี่ประจำจิตใจ มีความรัก ลำเอียงด้วยความรัก ลำเอียงด้วยความชัง ลำเอียงด้วยความกลัว ลำเอียงด้วยความหลง ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ การเขียนนั้นมันก็ไม่เป็นธรรม เพราะมีความลำเอียงเกิดขึ้นในจิตใจ ลำเอียงเพราะรักคนนั้น เพราะรักคนนี้ ลำเอียงเพราะชังคนนั้น เพราะชังคนนี้ ลำเอียงเพราะกลัวอำนาจบาทใหญ่ของคนนั้น ของพวกนั้นพวกนี้ ลำเอียงเพราะหลง ไม่รู้จักหน้าที่ ไม่รู้ว่า ควรทำอะไร ควรจะทำอย่างไร ไม่เข้าใจในเรื่องอย่างนั้น เลยเขียนไม่เรียบร้อย เมื่อเขียนไม่เรียบร้อยขึ้นมา ประชาชนที่มีการศึกษามีปัญญา เขารู้ว่าการกระทำอย่างนั้นไม่เรียบร้อย อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า ก็มีการประท้วงกัน มีการคัดค้านกัน
ที่ใดมีการคัดค้านในเรื่องอะไรก็ตาม แสดงว่า ที่นั่นมันไม่เป็นธรรม ถ้ามันไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรมแล้ว จึงได้มีการประท้วงกัน ถ้ามันเรียบร้อย ใครมันจะไปประท้วง ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย ก็ไม่มีใครจะประท้วง คนทุกคนมีความเป็นธรรมอยู่ในใจพอสมควร ถ้ามันเป็นธรรมมันถูกต้องแล้ว ใครไหนจะไปนั่งประท้วงให้เสียเวลา ใครจะไปอดข้าวให้ท้องแห้ง ท้องบด ท้องเหี่ยว ถ้าว่ามันถูกต้องแล้ว ก็ไม่ต้องลงทุนอะไร แต่ว่าคนที่ไปลงทุนทำอะไรอย่างนั้น แสดงว่า เขามองเห็นว่า มันไม่ถูกต้อง มันไม่เป็นธรรม จึงได้ไปกระทำการอย่างนั้น แสดงว่า ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในที่นั้นแล้ว ไม่ทว่าที่ไหน ไม่ว่าสังคมไหน แม้ในวัดวาอารามก็เหมือนกัน ถ้าลูกวัดขึ้นประท้วงสมภารละก็ แสดงว่า สมภารนั้นไม่เอาไหนแล้ว ประพฤติไม่ถูกต้อง ทำอะไรไม่เป็นธรรม ลูกวัดก็ต้องประท้วง เกิดความไม่เป็นธรรมมันเกิดขึ้น แม้ในครอบครัว ถ้าว่าลูกๆ ลุกขึ้นประท้วงคุณพ่อคุณแม่ แสดงว่า มันแย่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ประพฤติตนที่ไม่เป็นธรรม ลูกที่มีความรู้สึกนึกคิด เรียกว่า รู้เดียงสา ก็ต้องประท้วงคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ถูกลูกประท้วง ก็แสดงว่า เกิดไม่เป็นธรรม ในโรงเรียนถ้านักเรียนประท้วงครูนี่ ก็แสดงว่า ครูไม่ได้เรื่องแล้ว มีความเบาปัญญาเกิดขึ้นแล้ว นักเรียนจึงได้เกิดการประท้วงขึ้น ไม่ว่าการประท้วงเกิดขึ้นในที่ใด แสดงว่า ที่นั้นไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม จึงได้เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าถูกต้องเป็นธรรมแล้วก็ไม่มีเรื่องอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย
รัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ นี้ เขาเขียนกันขึ้นมา ที่เป็นธรรมแล้วมันก็ไม่มีเรื่อง ประเทศอังกฤษนี่เขาไม่มีรัฐธรรมนูญนะ ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เขาถือเป็นธรรมเนียมกันมานาน ไม่มีไม่มีรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่เหมือนชาติอื่นๆ แต่เขาถือเป็นธรรมเนียมกันว่า ต้องทำอย่างนั้น ต้องเลือกผู้แทนอย่างนั้น และถ้าใครมีเสียงข้างมาก ก็เป็นทันที หัวหน้าพรรคนั้นก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีทันที ไม่มีเรื่องอะไร ไม่ลำบากอะไร ประชาชนก็รู้จักเลือก การเลือกพรรค เลือกคน ให้เข้าไปเป็นผู้แทนของเขา เพราะเขามองเห็นว่า พรรคนั้นมีนโยบายดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ สามารถจะทำประโยชน์แก่ชาติ แก่บ้านเมืองได้ เขาก็เลือกเข้าไป เช่นว่า มาดามแธตเชอร์ ซึ่งเป็นผู้หญิง เขาเรียกว่า นายกรัฐมนตรีเหล็กของอังกฤษ แกได้เป็นถึงสองสามครั้ง คนมันเลือกแกเพราะแกสามารถ แกกู้ฐานะเศรษฐกิจได้ แกทำอะไรได้ ทำอย่างกล้าหาญชาญชัย แล้วไม่ได้ทำเพื่อตัว ทำเพื่อส่วนรวม คือ ประเทศชาติ คนก็เลือกให้แกเข้าไปเป็นถึงสามครั้งสามหน แต่ว่าพอตอนนี้แกออกไปแล้ว ให้คนอื่นเป็นกันต่อ นี่เขาไม่มีธรรมนูญ ไม่ทมีเขียนเป็นตัวบทลายลักษณ์อักษร แต่ว่าประเทศอื่นนั้น เขาเขียนกันขึ้น บางประเทศกว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญได้นี่ ต้องฆ่าต้องแกงกัน เพราะผู้ปกครองไม่เป็นธรรม คนมันก็ลุกฮือขึ้นไปตามเรื่อง จนกว่าจะเรียบร้อยก็หลายปีเหมือนกัน
แต่ว่าประเทศใกล้บ้านเรานี้ ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย เขาตั้งแต่ได้อิสรภาพจากประเทศอังกฤษ ปลดออกอังกฤษออกได้แล้ว เขาก็มีรัฐธรรมนูญฉบับเดียว เขียนทีเดียวเรียบร้อย แล้วก็ใช้กันต่อมาถึงจนกระทั่งบัดนี้ ไม่มีปัญหา ไม่มีความยุ่งยาก ไม่มีการปฏิวัติ ไม่มีการรัฐประหารอะไรทั้งนั้น เพราะเขาไม่มีคนที่จะทำรัฐประหาร เขาทำกันเองเรียบร้อย อีกการเลือกตั้งทุกทีก็เรียบร้อย คนก็เลือกเอาพรรคที่มีคนดีเป็นหัวหน้าพรรค ทำประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองได้ ก็มากันอย่างนั้น แสดงว่า มันมีความเป็นธรรม จึงไม่ได้มีการทำอะไรให้เกิดการยุ่งยาก
ประเทศอินเดียนี่ ควรจะเป็นตัวอย่างอีกประเทศหนึ่ง คนที่เขียนธรรมนูญของประเทศอินเดียนี้ คนอินเดียเค้าถือว่า เป็นคนชั้นต่ำ เขาเรียกว่า วรรณะศูทร ประเทศอินเดียแบ่งคนเป็น 4 วรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ (พวกพ่อค้า) ศูทรคนชั้นต่ำ แล้วถ้าพวกศูทรไปแต่งงานกับคนผิดวรรณะนี้ คนที่เกิดมาก็เรียกว่า เป็นจัณฑาล เป็นคนที่แตะกันไม่ได้ เข้าไปยุ่งกันไม่ได้ เป็นคนชั้นต่ำ เข้าบ้านใครก็ไม่ได้ ไปกินน้ำบ่อไหนร่วมกันก็ไม่ได้ ทำอะไรกันก็ไม่ได้ ถือว่าเป็นบาป เป็นโทษไปหมด อินเดียมันเป็นอย่างนั้น ถือแบบที่บ้าๆ บอๆ อยู่พอสมควรเหมือนกัน พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในระบบนี้ เขาถือกันอยู่แล้ว แต่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า คนเราไม่ได้ดีเพราะวรรณะ ไม่ได้ชั่วเพราะวรรณะ ไม่ได้เป็นอะไรเพราะวรรณะ แต่เป็นด้วยการกระทำ ไม่ใช่เรื่องชาติสำคัญ แต่เรื่องกระทำเป็นเรื่องสำคัญ
คนเกิดในวรรณะต่ำ ถ้าไปเป็นนักบวช มีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ควรแก่การกราบไหว้บูชา แต่คนอยู่ในวรรณะสูงแต่ประพฤติตนไม่เรียบร้อย ขี้เหล้าเมายา ประพฤติตนเกเรเกะกะ ก็ไม่มีใครยกย่องให้เกียรติ มันดีตรงที่การกระทำ ไม่ใช่ดีตรงที่วรรณะ พระองค์ก็แก้ไขปัญหาไว้ แล้วใครจะมาบวชในพระพุทธศาสนา รับทั้งนั้น คนวรรณะต่ำก็บวชได้ วรรณะสูงก็บวชได้ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร มาบวชได้ทั้งนั้น บวชแล้วก็นับถือกันตามอายุพรรษา เช่นว่า วรรณะต่ำมาบวชก่อน พวกกษัตริย์บวชทีหลังก็ต้องให้เกียรติคนที่บวชก่อน ไม่ถือวรรณะต่อไป เวลาพวกกษัตริย์ศากยะหลายคน มีพวกที่ออกบวชพร้อมๆ กัน มีหลายคนด้วยกัน แต่ว่ามีอยู่คนหนึ่งเป็นช่างตัดผม ชื่ออุบาลี อุบาลีนี้เป็นช่างตัดผมของพวกนั้น ออกบวชพร้อมกับพวกที่เป็นเจ้าเป็นนาย แต่พอจะบวชนี้ พวกเจ้านายบอกว่า เราต้องให้อุบาลีบวชก่อน อุบาลีบวชก่อนเราจะได้เคารพ จะได้นับถือ แต่ถ้าให้อุบาลีบวชทีหลังเรา ก็ฐานะมันเท่าเดิมนะ ยังเป็นคนใช้อยู่เท่าเดิม ฐานะมันไม่ดีขึ้น ฉะนั้น เราต้องให้อุบาลีบวชก่อน แล้วเราจะได้ให้ความเคารพนับถือ นี่เป็นคนมีใจกว้างขึ้นแล้ว ศากยะมีใจกว้างขึ้น เพราะได้รับหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เลยเกิดมีใจกว้าง เลยยอมให้คนที่เคยรับใช้ตัวบวชก่อน แล้วตัวจะได้เคารพนับถือ นี่คือความใจกว้างเรื่องชั้นวรรณะ เมื่อท่านอุบาลีก็บวชเข้ามาก็เรียบร้อย มีความรู้มีความสามารถ เวลาทำปฐมสังคายนา เพื่อพระพุทธเจ้าเสด็จนิพพานไปได้ 3 เดือนนี่ เขาทำสังคายนาครั้งแรก ที่ถ้ำสัตปัณณิคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ ท่านอุบาลีนี้ได้รับเลือกเป็นกรรมการทำสังคายนา เพราะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องพระวินัย พระมหากัสสปะเป็นประธาน พระอานนท์ พระอุบาลี สามองค์นี้เป็นตัวจักรใหญ่ในการกระทำสังคายนา แม้ท่านอุบาลีจะเป็นคนที่เรียกว่า ช่างตัดผม แต่ว่าเมื่อบวชมาแล้ว ก็เก่ง มีความรู้มีความสามารถเป็นใหญ่เป็นโตได้
อันนี้เป็นตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนให้เลิกสิ่งเหล่านี้ แต่ว่าคนอินเดียมันก็ยังถือกันอยู่ มันไม่เลิกตามพระพุทธเจ้า ทำไมจึงยังถือกันอยู่ เพื่อผลประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องอะไร พวกวรรณะสูงต้องการรักษาผลประโยชน์ของตน แล้วก็กดวรรณะต่ำไว้ ไม่ให้หือขึ้น กดมันไว้เรื่อยๆ ไป ปรากฏเป็นข่าวเมื่อปีก่อนนี้ นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งแกเข้าไปเป็นนายกฯ แกก็บอกว่า ต้องให้ตำแหน่งงานในราชการแก่พวกวรรณะศูทรบ้าง เพราะวรรณะศูทรก็มีการเรียน มีการศึกษา มีปัญญาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่รู้ ไม่เรียน ต้องเปิดให้ตำแหน่งแก่เขาในราชการ ให้เข้าสอบเท่าเทียมกัน พวกวรรณะสูงไม่ยอม เกิดประท้วงขึ้นมา อันนี้ไม่ใช่ประท้วงเพราะไม่เป็นธรรม ประท้วงเพราะเห็นแก่ตัว เพราะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ กลัวว่าประโยชน์ของตัวจะเสีย การประท้วงบางอย่างนั้นมันดี แต่บางอย่างไม่ได้เรื่อง แต่พวกนี้ประท้วงไม่ยอมให้วรรณะศูทรหือขึ้นมา เลยอยู่อย่างนั้นต่อไป เลยมีการประท้วงเป็นการใหญ่ ไอ้คนวรรณะสูงมันมาก นายกรัฐมนตรีนั้นถูกออกไปเลย ถูกออกเพราะความเป็นธรรมแท้ๆ นี่มันเป็นอย่างนี้ ความถือรุนแรงในเรื่องอย่างนี้ อันนี้เมื่อได้รับอิสรภาพจากประเทศอังกฤษนี้ อังกฤษปกครองอยู่ตั้งสองสามร้อยปีนะ ไม่ใช่เวลาเล็กน้อย พอได้อิสรภาพมา บัณฑิตเนรูห์ บัณฑิตเนรูห์นี้เป็นคนฉลาด เป็นคนที่มีหัวคิดมีความก้าวหน้า ไม่ถือวรรณะ แกไม่ถือวรรณะ คานธีนี้ก็ไม่ถือ ไม่รังเกียจอะไรเหมือนกัน นี่ก็ตั้งคณะรัฐบาลพวกอะไรเสร็จแล้ว ก็หวังจะให้ใครเขียนรัฐธรรมนูญของประเทศอินเดีย ก็เห็นว่า ดร.เอ็มเบดการ์นี้แหละ ให้เขียน เป็นประธานในการเขียนรัฐธรรมนูญ
ดร.เอ็มเบดการ์นี้ แกเกิดที่ไหน เกิดในย่านสลัมของบอมเบย์ ย่านสลัม เมืองบอมเบย์นี้ถ้าเราไปเห็นแล้ว สลัมคลองเตยนั้นยังดีกว่าเป็นไหนๆ ยังมีบ้าน แต่มันหนาแน่นเท่านั้นเอง เรียกว่า สลัมบ้านเรานี้ชุมชนหนาแน่น แต่สลัมที่เมืองบอมเบย์ที่เอ็มเบดการ์เกิดนี้ มันไม่เป็นบ้านเป็นเรือน มันเอาไม้อะไรมาวางๆ เอาอะไรกั้นไว้ เศษกระดาษบ้าง อะไรบ้าง มากั้นๆ อยู่กันไปอย่างนั้น มีลูกมีเต้า กันอยู่ในนั้นแหละ ไปเห็นแล้วสภาพความเป็นอยู่นั้น ข้ออภัย คล้ายกับสัตว์เดรัจฉานมากกว่าเป็นคนด้วยซ้ำไป แต่เอ็มเบดการ์ไปเกิดที่นั่น คุณพ่อของเอ็มเบดการ์นี้เคยรับราชการเป็นตำรวจ เป็นตำรวจผู้น้อย ไม่ได้ใหญ่โตอะไรหรอก เป็นตำรวจผู้น้อย แต่ว่ามีความคิดก้าวหน้า อยากจะให้ลูกชายมีการศึกษา ก็พยายามสอนลูกให้เรียนหนังสือ สอนอีก แล้วก็ส่งไปโรงเรียน ไปโรงเรียนนี้ไปเข้าเรียนร่วมกับพวกวรรณะอื่น เขาก็รังเกียจ เขาไม่ค่อยชอบ พ่อก็ต้องสอนให้เล่าให้เรียน เรียนเก่ง จนสอบชิงทุนได้ ทุนของมหาราชาแห่งบาโรด้า ซึ่งเป็นพระราชาที่ร่ำรวยมาก เป็นที่หนึ่งของอินเดียก็ว่าได้ แล้วก็เลยได้ทุน ส่งไปเรียนอเมริกา แกไปเรียนก็สำเร็จวิชา ได้เป็นปริญญาเอก ทางด้านกฏหมาย ได้จากอเมริกาแล้ว ยังไม่พอ มาทำปริญญาเอกที่อังกฤษอีก ทำปริญญาเอกแล้วยังทำปริญญาเอกทางด้านอื่นอีก แกมีสามเอก เป็นคนได้ปริญญาสามเอก เป็นคนมีความรู้มีความเชี่ยวชาญ แต่ว่าแกต่อสู้เพื่อวรรณะมาก เช่นว่า ในสระน้ำแห่งหนึ่ง เขาไม่ยอมให้พวกวรรณะต่ำเข้าไปกิน แกเดินขบวนเลย เอาพวกวรรณะต่ำเดินขบวนไปกินน้ำในสระนั้น ไปเอาน้ำในสระนั้นมาอาบ อาบที่นั่น ไปทำอย่างนั้น พวกวรรณะสูงก็โกรธกันเป็นการใหญ่เลยทีเดียว แกทำ
เวลาแกเรียนจบมาจากอเมริกา เขาให้ไปทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หาบ้านอยู่ไม่ได้ หากบ้านอยู่ไม่ได้ ไปเช่าบ้านใครเขาพอรู้ว่าเป็นวรรณะต่ำ เขาไม่ให้เช่าบ้าน ความจริงคนอินเดียนั้น อยากได้เงินเหลือเกิน แต่ว่าคนวรรณะต่ำมาเช่าเขาไม่ยอมให้เช่า ทำไมไม่ยอมให้เช่า เดี๋ยวคนนั้นออก คนอื่นจะไม่มาเช่า เพราะว่า วรรณะต่ำเคยอยู่ เขาจะรังเกียจ เลยไม่ให้เช่า แกก็ลำบาก แต่มีอาจารย์คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยบอก มาอยู่บ้านฉันแล้วกัน อาจารย์อนุญาตให้อยู่ แต่เมียไม่อนุญาต พอขนของจะเข้าบ้าน เมียออกจากบ้านไปเลย บอกว่า เออ ถ้ารับคนนี้เข้ามาอยู่ในบ้าน ฉันไม่อยู่ในบ้านนี้ อ้าว เลยไม่ได้อยู่อีก ไม่ได้อยู่ แกก็ต้องไม่ได้ทำงานที่นั่น ต้องไปหางานที่อื่น เวลาไปเป็นอาจารย์สอนนักเรียน นักเรียนบางคนพออาจารย์คนนี้เข้าสอน ออกไปเลย ออกไปนอกชั้น ไม่รับฟังคำสอนจากคนวรรณะต่ำ แต่แกพยายามพูดทำความเข้าใจ แกสอนเก่ง จนว่าทุกคนมาเรียนด้วยความตั้งใจ แล้วแกก็ได้เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาเขียนอยู่เจ็ดเดือน แกบอกว่า แกเขียนคนเดียว กรรมการอื่นไม่ได้มายุ่ง ไม่ได้มาช่วยอะไรแกเขียน แต่ว่าเขียนเสร็จแล้วเอาไปเสนอคณะกรรมการ เสนอสภานิติบัญญัติ ก็ไม่มีใครคัดค้าน เรียบร้อย ใช้มาจนกระทั่งบัดนี้ ใช้มาหลายสิบปีแล้ว
เมืองไทยเรานี้มันเมืองที่พิศดาร เพี้ยนที่สุด ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุดเลย ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองนี่ ใช้มาไม่รู้กี่ฉบับแล้ว ฉบับที่ไม่เปลี่ยน มีอยู่ฉบับเดียว ฉบับที่ไปวางอยู่บนอนุสาวรีย์ ที่ถนนราชดำเนิน ฉบับนั้นไม่มีใครเปลี่ยน มันยังอยู่ แต่มันอ่านไม่ออก ฉบับนั้นมันเป็นรูปเฉยๆ เป็นแต่เพียงรูปหล่อ ไม่ได้เรื่องอะไร ฉบับนั้นไม่มีใครเปลี่ยน แต่ฉบับสมุดข่อยนี้ ทุกฉบับที่เขียนขึ้น มีคนเปลี่ยนเรื่อย มีคนมาเปลี่ยนเรื่อย ทำให้เกิดเป็นปัญหา แล้วพอเขียนอันใหม่ก็ไม่ได้ดีกว่าฉบับเก่า แล้วบางทีก็ดึงไว้ เขียนดึงไว้เป็นประโยชน์แก่พรรคแก่พวกของตัว มันก็ไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม ก็เลยมีการคัดค้านขึ้นมาเป็นอย่างนี้ มีคนเคยถามหลวงพ่อ หลวงพ่อเคยเทศน์เรื่องธรรมนูญแล้วยัง บอก “ยัง ยังไม่ได้เทศน์เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่จะเทศน์อาทิตย์นี้” แล้วก็เทศน์แล้ววันนี้ (หัวเราะ) ให้เห็นว่า บ้านเมืองเรามันแย่ เพราะว่าคนเขียนไม่มีใจเป็นธรรมพอ คนบางคนก็ดูว่า ท่าทางจะดี พอเข้าไปในวงนั้นแล้ว มันก็ไม่ดีขึ้น จิตใจมันเปลี่ยนไปได้ ไม่ดีขึ้น มันเป็นอย่างนั้น คนร่างก็ไม่ดี คนกรรมการก็ไม่ดี สมาชิกสภานิติบัญญัติก็เป็นพวกฝ่ายที่เห็นด้วยกับธรรมนูญฝ่ายนั้น แต่คนภายนอกไม่เห็นด้วย นักศึกษาปัญญาชนทั้งหลายไม่เห็นด้วย ต้องมีการคัดค้านกันด้วยประการต่างๆ ยังดีอยู่หน่อย เมืองไทยนี้พระไม่ออกไปคัดค้านเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นเมืองพม่าแล้ว พระเดินขบวนเลย ออกมาคัดค้านจีวรปลิวกันเลยทีเดียว คนไทยไม่มี ไม่ออกไปอย่างนั้น การจะคัดค้านบ้าง ก็คัดค้านอยู่ในวัดเท่านั้นเอง
เพียงแต่พูดออกไป ให้แต่คิดกันบ้าง ว่า เราทำอะไรให้มันถูกต้อง ให้มันเป็นธรรม อย่าทำเพื่อตัวเอง เพื่อพวกของตัว แล้วมันก็จะยุ่งไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น ที่มันยุ่งๆ กันเพราะอย่างนี้ มันคงไม่เรียบร้อย มันไม่เรียบร้อย เขียนไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้องเลยเกิดปัญหา เลยยกตัวอย่างมาพูดว่า ที่ใดมันไม่เป็นธรรม สิ่งใดไม่เป็นธรรมก็ต้องมีการคัดค้าน มีการประท้วงกัน แต่ถ้าถูกต้อง เป็นธรรมแล้ว ใครมันจะไปประท้วงกัน พระบาทสมเด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงศีล ทรงธรรม แล้วใครไปประท้วง มีแต่คนยกย่อง เชิดชู บูชา เป็นที่เคารพสักการะของมหาชนทั่วไป ไม่ว่าคนชั้นไหน ผู้มีการศึกษา ผู้ไร้การศึกษา ชาวนา ชาวสวน คนยากคนจน ถ้าไปถามแล้ว รักในหลวงทั้งนั้น รักเพราะท่านมีธรรมะ ประพฤติพระองค์โดยธรรม ทรงทศพิธราชธรรมทุกประการ ไม่มีข้อบกพร่อง คนก็เคารพบูชา แต่ว่าลงมาจากนั้น บางทีก็อยู่ในฐานะที่เขาบูชา เพราะมีอำนาจ แต่พอตกลงไปแล้ว คนก็ไม่ค่อยสนใจ มันก็เป็นอย่างนั้น นี่มันคือตัวปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะฉะนั้น เราจะทำอะไร มันต้องนึกถึงธรรมะก่อน ว่า มันเป็นธรรมหรือไม่ คนที่ทำอะไรเป็นธรรม ผู้ทำมันต้องมีใจเป็นธรรม ถ้าจิตใจของผู้นั้นไม่เป็นธรรม มีความลำเอียง ด้วยความรัก ด้วยความชัง ด้วยความหลง ความเป็นธรรมมันจะเกิดได้อย่างไร มันก็มีปัญหา แม้ในสิ่งที่เรียกว่า ควรจะเป็นธรรม เช่น ระบบตุลาการนี่ ควรจะเป็นธรรม พอว่ามันเกิดความไม่เป็นธรรม จึงได้มีการยุ่งยากกันด้วยประการต่างๆ ตามปกติที่เคยเป็นมานั้นในระบบตุลาการนี่ ถ้าใครเป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์แล้ว มีหวังเป็นประธานศาลฎีกาทั้งนั้น ได้เป็นกันทุกคน ทำมาตั้งแต่จำความมา ก็เป็นกันมาอย่างนั้น เป็นการอย่างนั้น ขึ้นเป็นการโดยลำดับอย่างนั้นๆ แต่มันเกิดวิปริตขึ้นมาในคราวหนึ่ง ในสมัยนั้น คุณสรรเสริญ ไกรจิตติ เป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์ สิ่งที่มันควรจะได้ขึ้น ตามระบบที่ทำกันมา แต่ไม่ได้ขึ้น เพราะ ก.ต. ไม่ให้ แล้วก็ไปเลือกคนอื่น พอเลือกเสร็จปุ๊บ ฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาเลย ฟ้าไม่เห็นด้วย ฟ้าผ่าลงมาจริงๆ พอพูดอย่างนั้น ฟ้าผ่า คือผ่ามาจริงๆ ที่ศาลฎีกา ผ่าลงมาที่หลังคาศาลฎีกา พังไปเลย ฟ้าผ่า แสดงว่า ฟ้าก็ไม่เห็นด้วยในการกระทำเช่นนั้น แล้วพอเสนอชื่อให้ในหลวง มีพระบรมราชโองการ ในหลวงทรงถามว่า “เอ๊ะ เป็นประธานศาลฎีกานี่ คะแนนเท่านี้ มีสามคะแนนเท่านั้น ชนะสามคะแนนเท่านั้น มีเท่านี้เองหรือ” ก็บอก “เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า” ในหลวงเซ็น เซ็นแล้วก็คนอื่นก็เป็นกันไปตามเรื่อง แต่คุณสรรเสริญไม่ได้เป็น ในหลวงเห็นว่า ไม่ได้เป็นก็เลยเรียกมาประทาน เหรียญชั้นสูงสุด นพรัตน์ราชวราภรณ์ แหวนแพรวพราวไปทั้งหมดเลย เอามาให้ เป็นเครื่องปลอบใจ ว่าแม้จะไม่ได้เป็นประธานศาลฎีกา ก็เอาเครื่องอิสราภรณ์ชั้นสูงไปแขวนคอหน่อย อย่างนั้น เอ้าเป็นไป
ต่อไปก็คุณโสภณ รัตนากร เป็นประธานศาลฎีกาเรียบร้อย ก็ได้ขึ้น ปีหนึ่งออกไป อ้าว พอถึงตอนนี้ มีอธิบดีศาลอุทธรณ์ ชื่อ คุณสวัสดิ์ โชติพาณิชย์ ก็เป็นคนเรียบร้อย ซื่อสัตย์สุจริต ทำงานมาด้วยดี ไม่เคยมัวหมอง ไม่เคยมีชื่อเสียงเสียเลยแม้แต่น้อย แล้วก็ไม่ได้ผิด กลับไปเอาคนที่อยู่ในฐานะระดับต่ำกว่าขึ้นมา ก.ต. เลือกขึ้นมา รัฐมนตรียุติธรรมไม่พอใจ ก็คัดค้านเลย เรื่องคาราคาซัง เดือนกันยาตุลานี่ มันมาเสร็จเอาพฤศจิกา นี่สองสามเดือนกว่าจะเรียบร้อยลงไปได้ ผลที่สุด คุณสวัสดิ์ โชติพาณิชย์ก็ได้เป็นนั่นแหละ แต่ว่าเป็นทุกขลาภ กว่าจะได้นี่ก็แย่เลย เรียกว่า ทรมานน้ำใจกันพอสมควร แต่ว่า ธรรมะยังอยู่ ธรรมยังชนะอยู่ ยังชนะอยู่ ธรรมะ อันนี้แสดงให้เห็นว่า ทำไมมันเป็นอย่างนั้น มันมีอะไรเกิดขึ้น มันมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น มีปัญหาเกิดขึ้น เรื่องอะไร เรื่องวัตถุ เรื่องเงินเรื่องทอง อะไรกันอย่างนี้แหละ มันมีเรื่องที่วางแผนกันล่วงหน้า เอาเป็นนั้นพอ พูดยาวไปก็ไม่ได้ เดี๋ยวเขาหาว่า พระนอกเรื่องนอกราว มันมีการวางแผนล่วงหน้า เรื่องเงินก้อนใหญ่ที่จะมา เงินก้อนใหญ่ที่โอนไปให้ศาล มันเงินมหาศาลก้อนใหญ่ ก็มีคนวิ่งเต้น มีคนวิ่งเต้น วางตัวดักไว้ วางแผนล่วงหน้า เอาคนนี้ไปวางไว้ตรงนั้น เมื่อเรื่องไปถึงแล้ว มันจะได้อย่างนั้นๆ วางแผน เงินน่ะซีไม่ใช่เรื่องอะไร เงินนี้บุกเข้าไปตรงไหน ฉิบหายตรงนั้น ไม่ใช่เจริญ มันแหลกเข้าไปตรงนั้น คนเหลวไหลกันไปหมด เพราะตราบใดคนจิตใจต่ำนี่เห็นแก่เงินแล้วมันก็แหลกกันเอง แต่ถ้าคนจิตใจสูง ไม่เห็นแก่เงิน ไม่เป็นไร เงินมาเท่าใด เขาก็ไม่อยากได้
มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่งที่เชียงใหม่ บ้านผู้ว่านี่ติดกับพุทธสถานที่อาตมาไปเทศน์ทุกเดือนอยู่ที่นั้น ตื่นเช้าออกมานั่งนี่ จีนฮ่อเข้ามานั่งนี่ สองคน มาถึงก็ถามว่า “มีธุระอะไร” บอกว่า “ขอความช่วยเหลือท่านผู้ว่าหน่อย” “อะไร ช่วยเหลือเรื่องอะไร” “พวกผมถูกจับฝิ่นเถื่อน” “แล้วจะให้ช่วยยังไง” “ให้ท่านผู้ว่าไม่อนุมัติ ไม่อนุมัติในการฟ้อง ผู้ว่ามีอำนาจนี่” บอกว่า “ฉันทำไม่ได้” “ให้สองแสน” เอาเงินให้สองแสน ท่านผู้ว่าก็เล่าให้อาตมาฟังว่า “แหม มันได้ตั้งสองแสน มันก็น่าเอาอยู่เหมือนกัน” (หัวเราะ) แต่ก็พูดขำๆ ก็น่าเอาเหมือนกัน แต่คิดมาว่า เรานี่ออกจากมหาวิทยาลัย เรียนรัฐศาสตร์ จบแล้วไปเป็นปลัดอำเภอ แหม กว่าจะได้เป็นเจ้าเมืองนี่ มันเหนื่อยพอสมควร แล้วถ้าหากว่า เราจบเกษียณอายุราชการ ก็มีเงินบำนาญ มีเงินกิน ไม่ได้เดือดร้อนอะไร มันได้มากกว่าที่เขาให้เสียอีก เราอย่าทำลายตัวเองเลย ก็เลยบอกว่า “ไม่ได้ ทำไม่ได้” ก็แล้วก็นึกว่า มันน้อยไป เลยเพิ่มมาอีกสองแสน เป็นสี่แสน ให้สี่แสน ท่านก็ไม่เอา ท่านเลยบอกว่า “นี่ อย่าเซ้าซี้อยู่นาน ฉันทำไม่ได้ แล้วก็รีบออกจากจวนไปนะ ถ้าไม่ไปฉันจะโทรศัพท์เรียกตำรวจ แน่จริงมาให้จัดการ ฐานมาติดสินบนท่านผู้ว่า” ไอ้นั่นก็ถอยไป แต่ความจริงไอ้พวกนั้นก็ไม่ได้อยู่ไกลอะไร อยู่คนละฟากถนนเยื้องกับบ้านผู้ว่า ตรงนั้นมันเป็นแหล่งฝิ่น มันเป็นพวกจีนฮ้อ อยู่ตรงข้ามบ้านผู้ว่า มันก็ข้ามถนนมา แล้วก็ข้ามถนนกลับไป มันก็ทำอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไรมันก็ทำมา แต่ท่านผู้ว่าท่านไม่ยอมรับสินบนของคนเหล่านั้น อันนี้เรียกว่า เป็นคนเข้มแข็ง เดี๋ยวนี้ท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว มรณะไปแล้ว แต่ว่าก็ยังฝากความเข้มแข็งไว้ ให้คนอื่นได้ยิน
ครั้งหนึ่งอาตมาเดินทางจากปีนัง กลับเมืองไทย มารถยนต์ รถยนต์มาเสีย เสียแล้วก็สตาร์ทไม่ติด ทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็ต้องจอดอยู่นั่นแหละ จอดอยู่ รอประเดี๋ยว อยู่สักชั่วโมง ก็มีรถคันหนึ่งมา ปรากฏว่า เป็นรถนายอำเภอสะเดาเข้ามา มาถึง ท่านก็ใจดี เอื้อเฟื้อ “เป็นไง รถเป็นไง” บอกว่า “มันเสีย ไปไม่ได้นะ” “เอ้า ก็คนรถอยู่ที่นี่ พาคนบนรถไป พาไปเลย” ก็ไปนอนที่บ้านนายอำเภอคนนั้น ท่านนายอำเภอพอถึงบ้านนี้ มีคนสามสี่คน เอาน้ำแข็งกาละมังหนึ่ง แล้วก็เบียร์เต็มเลย มาหานายอำเภอ “หาเรื่องอะไร” ก็เรื่องฝิ่นอีกแหละ เรื่องถูกจับ แล้วบอกให้นายอำเภอช่วย พวกนั้น ก็เปิดเบียร์จะให้นายอำเภอดื่ม นายอำเภอไม่ดื่ม แต่เอาเบียร์ในตู้ของตัวมาดื่มเอง แล้วพวกนั้นก็นั่งเซ้าซี้ อาตมาก็นั่งอยู่ใกล้ๆ ได้ยินเสียง เขาก็เซ้าซี้อยู่นั่นแหละ กวนจะให้ช่วย แต่นายอำเภอบอก “ช่วยไม่ได้ มันผิดกฎหมาย” แล้วพวกนั้นก็ถอยออกไป ไม่ได้รับการช่วยเหลืออะไร
นายอำเภอคนนั้นต่อมาก็เจริญขึ้นได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกอาตมาไปเทศน์นครฯ ก็ไปเห็น อ้อ นี่นายอำเภอสะเดานี่เอง ก็เลยเล่าให้ฟังว่า ผู้ว่า นายอำเภอคนนี้เคยพบกันในสมัยหนึ่งที่อำเภอสะเดา เล่าละเอียดให้ฟัง พอเทศน์จบแล้ว บอกว่า “หลวงพ่อยังจำได้ ผมลืมไปหมดแล้ว” “อาตมาจำได้ซี ไม่ลืม อย่างนี้แล้วไม่ลืม เคยยกเอาไปเป็นตัวอย่างที่ไหนๆ มาหลายครั้งหลายหนแล้ว” นี่คนใจแข็ง ไม่ยอมงอ เขาก็อยู่ได้ในราชการจนเจริญก้าวหน้า จนออกจากราชการ ฝากลายไว้ชื่อ เขาว่า “ชาติเสือมันต้องไว้ลาย ชาติชายมันต้องไว้ชื่อ” แต่ลายมันต้องเป็นลายดีๆ หน่อย อย่าลายเพราะถูกเฆี่ยน ไม่ได้เรื่องอะไร หลังลายนี่ไม่ได้เรื่อง ลายเสือมันเป็นลายธรรมชาติ เป็นลายที่ดี คนที่เขามีความละอายบาป กลัวบาป เขาไม่ทำอย่างนั้น แม้จะเอาเงินมาล่อสักเท่าใด เขาไม่ยอมรับ แต่ถ้าไม่ละอายบาป กลัวบาปนั้นเอา เอาเข้าเลย นี่ถ้าเอาสักครั้งหนึ่ง ก็ต้องให้เรื่อยไป
พ่อค้าวาณิชย์ทั้งหลายนี่ ก็ต้องการความสะดวก ไม่ใช่เรื่องอะไร ต้องการความสะดวก เอามาให้ เอาให้รับไม่พูด ไม่จา แล้วก็ให้เรื่อย อ่อยเรื่อย อ่อยเหยื่อ ตกเบ็ด ตกเบ็ดต้องมีเหยื่อ แล้วก็ตกเบ็ดเรื่อยไป ถ้าปลากินเบ็ด ก็ต้องตกเรื่อยไป ครั้งแรกเอามาให้น้อยๆ ต่อมาก็ค่อยเพิ่มจำนวนขึ้น เป็นทาสผู้ให้ ผู้ให้จะต้องใช้ทีหลัง ใช้อย่างนั้นอย่างนี้ วิงวอน ใช้นั่น ใช้นี้ ด้วยประการต่างๆ เขาใช้ เพื่อเอาประโยชน์ของเขา อย่างนี้มันมีอยู่
เขาตัดทางด่วนผ่านไปถนนนี่ มีที่งามวงศ์วาน มีร้านขายสิ่งก่อสร้างร้านใหญ่ ไม่ยอมรื้อ วิ่งเต้น เข้าไปหาผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็มาพูดกับผู้ว่าการทางด่วน บอกว่า “เลี่ยงได้ไหม ไม่ต้องรื้อร้านนั้น” ผู้ว่าการทางด่วน บอกว่า “มันเลี่ยงไม่ได้ มันตรงไปตรงนั้น ไปเลี่ยงได้อย่างไร แล้วเมื่อทางมันคดไป มันไม่ใช่ทางด่วนนะ มันเป็นทางธรรมดา มันช้า มันเลี่ยงไม่ได้” “ทำให้นิดได้ไหม อย่าให้กระทบกระเทือนร้านนั้น” “มันนิดไม่ได้ เพราะนิดแล้วทางมันแคบ แล้วบริเวณมันแคบ ตรงนั้นมันทางลง ถ้าทางมันแคบ จะชนกันใหญ่ ลองมองไม่เห็นกัน รถชนกันใหญ่ เลี่ยงไม่ได้ เลี่ยงไม่ได้” ไอ้คนที่วิ่งเต้นคงจะเสวยเข้าไปมากแล้วพอสมควร แต่ว่า กรรมการทางด่วนโดยเฉพาะคณะเอ็นจิเนียร์ วิศวะนี่ ไม่ยอม “ต้องรื้อ” นี่ถ้าหากว่า เป็นคนโอนอ่อนล่ะก็ ... เลี่ยงไม่ได้ ทางด่วนนี่ผ่านมาตรงนั้น ตึกหยองหยอย หลังใหญ่ ของบริษัททิฟฟี่ ที่แก้หวัด
อาตมาก็เคยไปฉันที่บริษัทนี้ ถ้าไปดูนี่ เฉียด มันเฉียดมุมเข้าไปนั้น ไม่ใช่เฉียดข้างหลัง แต่เฉียดมุมแล้วจะอยู่อย่างไร ทางมัน ก็เลยว่า “อย่าเฉียดมุมเลย เอามันทั้งหลังเลย เอาไป ยกให้ทั้งหลังเลย จะคิดเงินทั้งหลังเลย” เพราะเบี่ยงไม่ได้ หลีกไม่ได้ มันต้องไปตรงนั้น ต้องเป็นธรรม ก็ต้องว่ากันไปตามเรื่อง ก็ต้องว่าไปอย่างนั้น เสวยสุขก็ไม่มี ต้องเอา ต้องรื้อบ้านหลังนั้น บ้านใหญ่ไม้สักชั้นดี ทำสวยงามเรียบร้อย พวกเฟอร์นิเจอร์นี่ก็ขนได้ แต่ว่า ตัวบ้านมันสวยงาม รื้อก็เสีย รื้อไป ก็ไปสร้างกันใหม่ต่อไปอีก ความเป็นธรรมมันก็ต้องทำตามกฏหมาย กฏหมายที่สร้างไว้ คือ ธรรมะ ทำอะไรมันก็ต้องทำตามกฏหมาย เมื่อตามกฏหมายแล้วก็ต้องว่ากันไปตามเรื่อง ถ้าเอียงไป ตาชั่งมันเอียง ตามจริงนี้มันเอียง เอียงก็ใช้ไม่ได้ มันต้องตรงดิ่ง ไม่เอียงขวา ไม่เอียงไปข้างหน้า ไม่เอียงมาข้างหลัง เป็นคนถือเส้นตรงบรรทัดจริงๆ จึงจะเป็นการใช้ได้
คนสมัยก่อนเขาถือกันมาอย่างนั้น ลูกทำผิดยังเฆี่ยนเลย เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ลูกชายไปค้าฝิ่น เรียกมาถามมาสารภาพ ให้นอนคว่ำให้ทนายมาเฆี่ยนทันที เฆี่ยนหลังลายเลย เวลาเข้าเฝ้าในหลวงนี่ เข้าแล้วเวลาออกนี่ถอยหลังไกล กลัวในหลวงจะเห็นหลัง แต่ในหลวงท่านทรงทราบก็เลยว่า “เอ๊ะ ทำไมแกถอยหลังอย่างนั้น ผิดปกติ” “เพราะว่า เกรงว่า ฝ่าบาทจะเห็นหลังของข้าพระองค์” “หลังแกเป็นยังไง” “หลังถูกเฆี่ยน” “ใครเฆี่ยน” “พ่อเฆี่ยนพระเจ้าข้า” “ทำไมพ่อเฆี่ยน ใครเห็นมั่ง” ถาม “ไอ้นั่น ไอ้นี่” พระยาทั้งหลายที่นั่ง ในหลวงเรียกไอ้ “ไอ้ทิงเห็นไหม ไอ้แก้วเห็นไหม แล้วทำไมไม่ห้าม” “ไม่ได้ ห้ามไม่ได้พระเจ้าค่ะ ขืนห้าม เดี๋ยวเฆี่ยนเอาฝ่าพระบาทเข้าเลย” เด็ดขาด นี่เรียกว่า เขาเด็ดขาด เฆี่ยนก็ต้องเฆี่ยน ไม่ช่วย ใครทำผิดก็ต้องลงโทษ ไม่อุ้มไม่ชูคนผิด อุ้มแต่คนถูกต้อง เขารักษาศีล รักษาธรรม บ้านเมืองมันจึงอยู่มาได้ด้วยความเรียบร้อย มีความสุข มีความสงบ อันนี้มีต่อไปมันก็ต้องรักษาศีล รักษาธรรม ไอ้สิ่งใดถูกต้อง เราต้องรักษา สิ่งใดผิดเราก็ต้องทำลาย จึงจะเป็นการถูกต้อง ให้โยมเข้าใจอย่างนี้ พูดมาก็สมควรแก่เวลาแล้ว ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที