แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา วันอาทิตย์นี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑ ของเดือนตุลาคม เดือนตุลาคมเป็นเดือนที่ ๑๐ ของปี อีก ๒ เดือนก็จะหมดปี ๒๕๓๓ ตามปฏิทินใหม่ เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคมเป็นวันที่พระสงฆ์ท่านทำกิจอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ปวารณา”
ปวารณานี่เป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งของพระสงฆ์ เป็นกิจที่จะต้องทำภายในสีมา เพราะเป็นสังฆกรรม สังฆกรรมทุกอย่างต้องทำภายในสีมา เพราะฉะนั้นวัดต่างๆจึงต้องมีโบสถ์และมีสีมา อันเป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ผู้จรมาแต่ทิศทั้ง ๔ ใช้ทำกิจกรรมได้สะดวกสบาย ไม่เก็บภาษีอากร งดเว้นจากเรื่องภาษีทุกประเภทภายในเขตนั้น เวลาพระจะทำกิจ เช่น อุโบสถ สวดพระปาฏิโมกข์ บวชนาคก็ต้องไปทำภายในสีมา ทำนอกสีมาไม่สำเร็จไม่สมบูรณ์ตามพระวินัยนิยม จึงต้องมีสีมาไว้
สังฆกรรมที่เรียกว่า “ปวารณากรรม” เป็นการกระทำแทนอุโบสถ ตามปกติทุกเดือนมีการลงอุโบสถวันกลางเดือนและวันสิ้นเดือน การลงอุโบสถของพระก็คือไปประชุมกันเพื่อฟังปาฏิโมกข์ อันเป็นพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่าศีล ๒๒๗
ศีล ๒๒๗ นี่เป็นระเบียบสำหรับภิกษุ เป็นบัญญัติที่เกิดขึ้นตามลำดับเรื่องและเหตุการณ์ ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นทีเดียวครบจำนวนเท่านั้นหามิได้ แต่ว่าทรงบัญญัติตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือถ้าไปกระทำผิดในเรื่องอะไรขึ้นแล้วชาวบ้านก็ติเตียนโพนทะนาว่าสมณศากยบุตรทำไมจึงประพฤติอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า (03.03) ทรงทราบก็เลยประกาศเป็นพระวินัยบัญญัติขึ้นว่าไม่ควรกระทำเช่นนั้น ผู้ใดกระทำเช่นนั้นก็ชื่อว่าเป็นอาบัติตามมากตามน้อย
อาบัติมี ๗ อย่าง คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ (03.17 คาดว่าหลวงพ่อเทศน์ตกไปหนึ่งข้อ จึงเพิ่มเติม) ทุกกฏ ทุพภาสิต ปรับโทษตามขั้นตอน อาบัติหนักก็คือปาราชิก ใครทำแล้วก็ขาดจากความเป็นพระไป อาบัติเบาขึ้นมาหน่อยก็เป็นสังฆาทิเสส ต้องแสดงในสงฆ์ แล้วต้องประกาศให้สงฆ์รับรองใหม่ เหมือนกับบวชใหม่อย่างนั้นแหละ แต่ว่ายอมให้แก้ตัวได้ เรียกว่าสังฆาทิเสส นิสสัคคิยปาจิตตีย์เป็นอาบัติแล้วต้องเสียสละของนั้นด้วย ปาจิตตีย์เป็นอาบัติปาจิตตีย์ล้วนไม่ต้องมีของเข้าไปเกี่ยวข้อง อาบัติถุลลัจจัยเป็นอาบัติหยาบรองลงไป อาบัติทุกกฏ เรื่องเล็กๆน้อยๆ เผลอก็เป็นอาบัติได้ง่าย อาบัติทุพภาสิตคือการพูดส่อเสียด ทำให้คนอื่นรำคาญใจ นี่เป็นอาบัติของพระ ถ้าทำผิดก็ต้องปลงอาบัติ
การปลงอาบัตินั้นเป็นการสารภาพผิด แล้วก็มีคำปฏิญาณสอนไว้ว่า “นะปุเนวัง กะริสสามิ นะปุเนวัง ภาสิสสามิ นะปุเนวัง จินตะยิสสามิ” แปลว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีก ไม่พูดอย่างนี้อีก ไม่คิดอย่างนี้อีก เป็นคำสัญญากล่าวกับผู้ที่เราปลงอาบัติด้วย การปลงอาบัติก็ต้องปลงกับพระด้วยกัน เป็นการขอขมาโทษแล้วก็สัญญาว่าจะไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำอย่างนี้อีกต่อไป นั่นเป็นเรื่องที่ทำตามปกติ พอถึงวันอุโบสถก็ไปลงทำสังฆกรรม เรียกว่า “อุโบสถ” คือไปฟังพระปาฏิโมกข์ ฟังไป ฟังไป ถ้านึกได้ว่าเราทำผิดก็สารภาพต่อสงฆ์ในขณะนั้น แต่ว่าเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีอย่างนั้น เพราะว่าปลงเสียก่อนที่จะขัดคอ โดยการปลงอาบัติพระจะได้สวดรวดเดียว พระองค์ใดองค์หนึ่งเป็นผู้สวด เรียกว่า “ผู้ทรงจำปาฏิโมกข์” สวดแล้วพระทั้งหลายก็นั่งฟัง เมื่อจบลงแล้วท่านก็กล่าวเตือนในบทสุดท้ายว่า ให้อยู่กันด้วยความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันบำรุงพระศาสนา อย่าอยู่กันด้วยความแตกแยกแตกร้าว ก็เป็นเรื่องเตือนจิตสะกิดใจพระให้เกิดความสำนึกในหน้าที่อันตนจะพึงปฏิบัตินั่นเอง
เมื่อถึงวันปวารณา คือ วันเพ็ญกลางเดือน ๑๑ ไม่ได้สวดพระปาฏิโมกข์ แต่ทำการปวารณา ปวารณาองค์ละ ๓ ครั้งบ้าง อย่างน้อยองค์ละ ๓ ครั้ง คือ ถ้าพระมากอย่างวัดเรานี่พระมันตั้งสองร้อยก็ปวารณาเพียงครั้งเดียว คำปวารณาก็แปลเป็นไทยว่า ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ ถ้าท่านได้เห็น ได้ยิน ได้รังเกียจด้วยเรื่องข้อใดของข้าพเจ้า โปรดบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทราบแล้วจะได้กระทำคืนเพื่อจะได้แก้ตัวให้หายข้องใจกันต่อไป
ทำไมจึงทำอย่างนั้น ก็เพราะว่า พระอยู่ด้วยกันตั้ง ๓ เดือน เรื่องนี้ต้องทราบก่อนว่าสมัยก่อนนั้นพระไม่ค่อยได้อยู่ร่วมกันนานๆ เพราะว่าพระทุกรูปมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำ คือเดินทางไปเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชนตามสถานที่ต่างๆ แม้พระพุทธเจ้าท่านก็เสด็จเดินทางไปเที่ยวสอนคนตามสถานที่ต่างๆ พระทุกรูปต่างก็ไป ไปกันรูปเดียวบ้าง สองรูปสามรูปบ้าง ห้ารูปบ้าง ไปช่วยกันสอนประชาชนให้เข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่ว่าพอถึงฤดูกาลเข้าพรรษามีพระวินัยบัญญัติไว้ว่าพระทุกรูปต้องหยุดอยู่กับที่ ไม่ไปไหนตลอด ๓ เดือน การที่ไม่ให้ไปไหนก็เป็นฤดูฝน การเดินทางไม่สะดวก ในทุ่งในนาก็ปลูกพืชผักต่างๆไว้เต็มไปหมด พระจะเดินไปเหยียบพืชพันธุ์ธัญญาหารนั้นให้เสียหาย เป็นเรื่องครหานินทาของชาวบ้าน หาว่าพระสมณศากบุตรนี่ไปไหนไม่รู้จักหยุดกันสักที ฝนตกฟ้าร้องยังไม่หยุด
ความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงบัญญัติพระวินัยว่า เมื่อถึงวันแรมค่ำ ๑ พระต้องอยู่จำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน ตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ จนถึงกลางเดือน ๑๑ ความจริงฤดูฝนมี ๔ เดือน แต่ว่าทิ้งท้ายไว้เดือนหนึ่งสำหรับทำจีวร เพราะว่าพระสมัยก่อนนั้นไม่ได้ซื้อจีวรจากชาวบ้าน ไปเก็บผ้าที่เขาทิ้งๆขว้างๆเอามารวบรวมแล้วเอามามัดย้อมทำจีวร เรียกว่า “บังสุกุลจีวร”
บังสุกุลจีวรนี่แปลว่าผ้าเปิ้อนฝุ่น เปื้อนสิ่งสกปรก เช่น ผ้าห่อศพ ผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกองขยะมูลฝอย มีส่วนใดใช้ได้ก็เอามาตัดเอาส่วนนั้น ส่วนใดที่ผุก็ทิ้งไป รวมกันแล้วก็ทำจีวร ปีหนึ่งทำจีวรเพียงครั้งเดียว คือในวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ เรื่อยไปจนถึงกลางเดือน ๑๒ ฤดูนี้เรียกว่าฤดูทำจีวร เรียกว่า “จีวรกาลสมัย” บ้าง “จีวรทานสมัย” บ้าง ชาวบ้านชาวเมืองเค้ารู้ว่าพระทำจีวรก็นำผ้าเอามาถวายพระ ด้วยนำทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ พระเดินไปพบเข้าก็เอามาตัดเย็บย่อมทำจีวร ทำอยู่อย่างนี้หลายปี แต่ต่อมาก็มีหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นหมอที่รักษาโรคเก่งในสมัยนั้น เป็นปรมาจารย์ทางแพทย์แผนโบราณ เรื่องเภสัชแผนโบราณ ท่านไปเที่ยวรักษาคนนั้นคนนี้ รักษาเศรษฐีคหบดี ครั้งหนึ่งไปรักษาพระเจ้าจันทปัชโชติหายโรค เพราะเจ้าจันทปัชโชติก็เลยรางวัลผ้าไหม ๘๐ พับ แกนั่งดูกองผ้าแล้วไม่ไหว จะนุ่งกันไหวหรือมันตั้ง ๘๐ พับนี่ (10.02 ระบุรางวัลผ้าไหม 80 พับ แต่นาทีที่ 11.09 ระบุถึงผ้า 30 พับ) จะนุ่งเท่าไรไม่หมดไม่สิ้น นึกถึงพระ พระท่านมีจีวรคร่ำคร่า เก่าๆขาดๆ เราควรจะเอาผ้านี้ไปถวายเถอะ แต่ว่าถวายไม่ได้เพราะพระองค์ยังไม่ทรงอนุญาต
คนสมัยก่อนเขาเคารพเรื่องวินัย อะไรที่พระพุทธเจ้ายังไม่อนุญาตเขาก็ไม่ทำ แต่เมื่อทรงอนุญาตแล้วจึงทำ เขาเคารพอย่างนั้น จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลขอพร พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้ามีเหตุผลเราก็จะให้ เลยทูลขอพรว่าต่อไปนี้ขอให้ชาวบ้านได้มีโอกาสถวายผ้าเพื่อทำจีวรแก่พระได้ พระองค์ก็ถามเหตุผลวาเป็นอย่างไร หมอบอกว่าไปรักษาพระเจ้าจันทปัชโชติเมืองอุชเชนี พระเจ้าจันทปัชโชติให้รางวัลผ้ามา ๓๐ พับ(11.09) เป็นผ้าไหมทั้งนั้น ข้าพระองค์มองผ้าแล้วมันมากเกินความต้องการ มันเป็นส่วนเกินไป คนสมัยโบราณเขาใช้แต่พอดี ไอ้ส่วนเกินนั้นก็เอาไปให้แก่คนอื่นต่อไป เลยคิดว่าควรจะถวายพระ เพราะพระไม่มีผ้าสำหรับใช้ จึงมาขอพรกับพระองค์เพื่อให้ทรงอนุญาต พระผู้มีพระภาคเจ้า (11.37) ได้ฟังแล้วก็พอพระทัยเลยอนุญาตว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปให้ชาวบ้านถวายผ้าแก่พระได้” พอได้ประกาศออกไปอย่างนั้นชาวบ้านก็มาถวายผ้ากับพระเป็นการใหญ่ พระท่านก็เอาไปตัดเป็นรูปจีวรบ้าง สบงบ้างเผื่อใช้
พระสมัยก่อนมีฝีมือในการตัดเย็บจีวร พวกเราในสมัยนี้เสาชิงช้าทำให้เสียหายหมด เพราะว่าคุณโยมเตี่ยทำไว้ให้หมด เลยพาตัดผ้าก็ไม่เป็น เย็บก็ไม่เป็น พระสมัยก่อนเย็บด้วยมือ สมัยนี้เย็บด้วยมือก็ไม่ได้ เย็บด้วยจักรก็ไม่เป็น แต่พระที่วัดป่านานาชาติหรือวัดสายอาจารย์ชา สุภัทโท ที่เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ที่เมืองอุบล ท่านสอนให้พระเย็บผ้าทุกๆรูป ทำเอง พระที่วัดป่านานาชาติ พระฝรั่งเค้าตัดจีวรเอง เย็บเอง ย้อมเอง เขาไม่ยอมซื้อผ้าจากตลาดที่เป็นจีวร คนเอามาถวายในฤดูกรานกฐินเนี่ยถวายเป็นพับๆ พระก็เอาไว้ตัดจีวร ตัดในวันทอดกฐินสักตัวหนึ่ง แต่ว่ามักจะเตรียมไว้ก่อน แล้วก็เหลือนั้นถ้าใครไม่มีผ้าก็ไปตัดได้ อาตมายังเอาผ้าไหมที่ชาวสุรินทร์ถวายส่งไปที่นั่นบอกว่าช่วยตัดสักที ตัดให้หน่อย เค้าก็ตัดให้เรียบร้อย ย้อมแก่นขนุนให้เรียบร้อย เอามาใช้อยู่เป็นประจำ การทำผ้าสมัยนี้เราทำกันไม่เป็น ควรจะฝึกเหมือนกัน ฝึกตัดสบง ฝึกตัดจีวรให้เป็น แล้วก็มีจักรไว้ที่วัดสักคันหนึ่งเอาไว้เย็บผ้า ที่วัดป่านานาชาติเค้ามีจักรอยู่คันหนึ่ง พระฝรั่งช่วยกันตัดแล้วช่วยกันเย็บ จีวรสบงผืนหนึ่งเนี่ย จีวรทั้งผืนเขาตัดวันเดียวเสร็จ ทำตั้งแต่เช้า เย็นก็เสร็จเรียบร้อย แล้วเอาไปย้อมด้วยแก่นขนุนทำเป็นจีวรได้ เดี๋ยวนี้เราทิ้งการช่วยตัวเองพึ่งตัวเองเพราะโยมให้ความสะดวกมากนั่นเอง เพราะโยมก็ถวายจีวรบ่อยๆ จีวรไม่ค่อยจะขาดแคลนเพราะเรามีการถวาย การทอดกฐินก็เพื่อเอาผ้ามาถวายพระ พระจะได้ทำจีวรใช้ สำหรับสมัยก่อนเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเขาจึงได้ไปถวายกัน
ผ้ากฐินนี่ถ้าเกิดขึ้นก็ต้องประชุมสงฆ์ ทอดถวายสงฆ์ ไม่ไช่ถวายบุคคล ไม่ถวายเจ้าคุณ ท่านพระครู ท่านมหาองค์นั้น ไม่ใช่ แต่ถวายลงในท่ามกลางสงฆ์ คำที่กล่าวก็คือ กล่าวว่า “เป็นดุจผ้าทิพย์ลอยลงมาจากนภาดลอากาศตกลงมาในท่ามกลางสงฆ์” เหมือนผ้าตกมาจากอากาศลงในท่ามกลางสงฆ์ ไม่เฉพาะแก่พระรูปหนึ่งรูปใด เราจะทำอย่างไรกับผ้านี้ปรึกษาหารือกันก่อน แล้วก็พระองค์หนึ่งพูดว่าเราก็ควรจะกรานกฐิน แล้วจะให้ใครกราน ผ้านี้ยกให้ใคร ต้องดูว่าในวงนั้นใครมีผ้าเก่าที่สุด คร่ำคร่าที่สุดก็ต้องยกให้องค์นั้น ถ้าหากว่าไม่มีใครมีผ้าเก่าก็ยกถวายสมภารไป โดยมากก็เจ้าอาวาสรับทุกที ลูกวัดไม่ค่อยเอา ถวายสมภาร สมภารก็เอาไปทำอะไรเล็กๆน้อยๆแล้วก็กรานกฐิน
คำว่า “กรานกฐิน” หมายความว่า ทำพิธีตัดผ้านั่นเอง คือเอาไม่สะดึงมาวาง ต้องเอาไม้สะดึงมากางเป็นรูปจีวรแล้วตัดผ้าวางลงไปตามนั้น วางไปตามรูปช่อง จีวรนี่ทำเหมือนกับคันนาของชาวมคธ พระพุทธเจ้าท่านประทับอยู่บนเขาคิชกูฏแล้วมองลงไปเห็นทุ่งนาเลยเรียกพระอานนท์มาบอก “อานนท์ เธอจะทำผ้าจีวรให้เหมือนกับคันนาของชาวมคธได้ไหม” พระอานนท์กราบทูลว่า “ทำได้”
เพราะฉะนั้นจีวรที่เราใช้อยู่นี้เป็นฝีมือพระอานนท์วางแบบฉบับไว้เป็นช่องๆ ช่องยาวบ้าง ช่องสั้นบ้าง ในช่องนั้นก็เรียกว่า “ขันธ์” แปลว่า ผืนเล็กๆ เป็นขันธ์นั้นขันธ์นี้ ๗ ขันธ์บ้าง ๑๑ ขันธ์บ้าง บางทีตั้งสองสามร้อยขันธ์ คือผ้ามันเล็กๆเอามาต่อๆกันทำเป็นขันธ์เล็กๆก็มี ทำอย่างนั้น เวลาจะตัดก็ตัดผ้ามาวางลง วางแล้วก็เอาเข็มเย็บจาวๆให้พอผ้าติดกัน แล้วก็เย็บอย่างละเอียด ล้มตะเข็บเย็บเป็นผืนผ้า ช่วยกันเย็บ แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงช่วย เวลาทำกฐินพระพุทธเจ้าท่านมาทรงช่วยเย็บด้วยเหมือนกัน เย็บกันไปสนทนาธรรมะกับพระภิกษุทั้งหลายไปพลางๆ เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจ ครั้นเมื่อเย็บเสร็จแล้วก็เอาไปย้อมน้ำย้อมเตรียมไว้ก่อน น้ำย้อมสมัยก่อนก็น้ำดินแดงๆ เอาดินมาละลายน้ำ ละลายน้ำแล้วมันก็เป็นสี สีหม่นๆ เอามาย้อมอยู่ ๒-๓ ครั้งแล้วผึ่งแดดให้แห้ง แล้วสะบัดให้ขี้ฝุ่นออกไปก็เป็นอันใช้ได้
แต่ว่าสมัยต่อมาเมื่อมีวัดมีวาอยู่แล้ว พระสมัยก่อนไม่มีสีย้อมผ้าใช้ขมิ้น แต่ว่าขมิ้นนี่ย้อมมันเหลือเกินไป สีเหลืองนี้ไม่ใช่สีของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แต่ไม่รู้จะใช้อะไรก็เอาขมิ้นมาใช้ย้อมสีเหลือง หากว่าย้อมสีกรักก็ต้องไปเอาแก่นขนุนท่อนใหญ่ๆ เอามาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆเป็นสะเก็ดเล็กๆแล้วไปต้ม ต้มเอาน้ำแก่นขนุนมาย้อมผ้า ต้มกันหลายที ต้มจนงวดแล้วเอามาดองไว้ แล้วไปต้มอีกทีแล้วเอาผ้ามาลงย้อม ย้อม ๒-๓ ครั้ง น้ำฝาดของแก่นขนุนก็ติดเสื้อผ้าถาวร ไม่ลอกไม่อะไรเลย เพราะว่ามันเป็นน้ำปาดติดผ้าดีมาก เขาย้อมอย่างนั้น
พระสมัยก่อนเวลาซักจีวรนี่ไม่มีสบู่ใช้ ใช้ลูกมะเฟือง สมัยเด็กๆไปกับพระบ่อยๆ ไปหาลูกมะเฟืองตามวัดที่อยู่บนเนิน เขาเรียกว่า ควน ปักษ์ใต้เรียกว่า “ควน” ภาคเหนือเรียกว่า “ม่อน” ภาคอีสานเรียกว่า “นูน” ภาคกลางเรียกว่า “เนิน” มันหลายภาษาไอ้ตัวนั้นตัวเดียว คือว่าเป็นดินที่สูงขึ้นไป สูงกว่าระดับน้ำประมาณสัก ๑๐ เมตร สูงขนาดนั้นแล้วยาวไป ดินมันดีบนควนต่างๆนี่ปลูกต้นไม้เช่นว่าขนุนนี่งามมาก ปลูกสะตอ ปลูกทุเรียน ปลูกมังคุด ปลูกสวนยางมันก็งามบนเนินเหล่านั้น
ต้นขนุนที่เขาปลูกไว้นานๆแก่ไม่เป็นลูกเขาก็ตัดทิ้งไว้ พระเราไปเห็นเข้าก็ไปขอมาทำ เขาเรียกว่าทำน้ำกรักย้อมจีวร จีวรที่ย้อมอย่างนี้เวลาซักก็ไปเอาลูกมะเฟืองมา มะเฟืองนี่มันเปรี้ยว ไม่หวานสักลูกเดียว มะเฟืองหวานคือมะเฟืองจืดๆ มันไม่เปรี้ยวเหมือนมะเฟืองทั่วไป เอามาถึงก็ใส่ลงในรางไม้ทำเป็นรูปเรือ ไอ้รางสำหรับย้อมผ้านี่มีทุกวัด แล้วก็มีหลุมสำหรับย้อมผ้า มีกระทะสำหรับต้มน้ำ เอามาขยำให้มันเป็นชิ้นเล็กๆ กัดมือเหมือนกันเวลาขยำ แล้วใส่น้ำลงไป ใส่น้ำแล้วเอาผ้าแช่ลงไปในน้ำมะเฟือง ขยำเหมือนกับเราซักผ้า พอสมควรแล้วก็เอาไปล้างน้ำอีกทีหนึ่ง แล้วเอาไปผึ่งแดดให้แห้ง แล้วก็ซักจีวรตามแบบสมัยก่อน เพราะไม่มีสบู่ใช้ ก็ใช้มะเฟืองของเปรี้ยวๆมันกัดดี สมัยเด็กๆไปหามะเฟืองถวายพระเยอะต้องมากันบ่อยๆ มะเฟืองเวลามันดกมันหล่นกองก็ไปเก็บเอามาทำแทนสบู่ย้อมผ้า ก็ใช้กันมาอย่างนั้น ผ้าที่ตัดเย็บเรียบร้อยแล้วก็เอามาบอกสงฆ์ให้ทราบอีกว่าบัดนี้ผ้าสำเร็จแล้ว ให้พระสงฆ์ทั้งหลายอนุโมทนา พระสงฆ์ก็อนุโมทนา เป็นอันว่าเสร็จพิธีเรื่องผ้ากฐินกันไป
กฐินในสมัยก่อนมุ่งทอดเพื่อเอาผ้าถวายพระ แต่ในปัจจุบันนี้มันพัฒนา เรื่องผ้าไม่ค่อยพูดถึงกันเท่าไร แต่ว่าพูดเรื่องปัจจัยกันมากกว่า เพราะวัดวาอารามต่างๆชอบสร้างสถานที่ต่างๆเพิ่มขึ้น แล้วปัจจัยมันไม่มี ก็รอวันกฐินนู่นแหละ ใครเป็นเจ้าภาพกฐินก็คงจะได้เงินกัน เอามาซ่อมสร้างเสนาสนะต่อไป
ท่านพยอม กัลยาโณของเราเวลานี้กำลังขยายที่วัดออกไปข้างหน้าให้มันติดถนน ที่มันว่างอยู่แล้วกลัวว่าคนจะมาซื้อที่นั้นแล้วมาสร้างทาวน์เฮ้าส์บังวัด ก็เลยไปทำสัญญาซื้อกับเจ้าของที่ในวงเงิน ๒๕ ล้าน จีวรท่านพยอมคงจะขาดกันคราวนี้ เพราะว่า ๒๕ ล้านนี่มันไม่ใช่น้อยนะ หาเงิน ๒๕ ล้านนี่ แต่ว่าสัญญากันว่า ๒ ปี จ่ายให้ไปเรื่อยๆ พอครบ ๒ ปีก็ให้หมด ท่านพยอมก็ต้องเที่ยวเดินเทศน์ทั่วประเทศ ปกติก็เดินเทศน์อยู่แล้วไม่ได้หยุดได้หย่อน ทีนี้จะต้องออกเทศน์กันจนคอแห้ง
เมื่อเช้านี้มีคนเอาใบปลิวมาให้บอกว่าจะเอามาแจกที่วัดนี้ หลวงพ่อบอกว่าวัดนี้แจกไม่ได้ คือวัดนี้ไม่ให้คนมาแจกฎีกา ญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาอย่าเอาฎีกามาแจกกันที่นี่ เพราะถ้าเปิดให้แจกแล้วแจกกันใหญ่ เหมือนในศาลอุบาสกวันพระนี่แจกกัน คนนั้นเอามา คนนี้เอามา แจกกันให้ว่อนไปหมด เรียกว่ามาวัดนี้มาแลกฎีกาเท่านั้นไม่มีเรื่องอะไร เลยประกาศห้าม บอกว่าไม่ให้เอามาแจก ใบปลิวเรี่ยไรทุกประเภทไม่ให้เอามาแจกที่วัดนี้ ถ้าจะให้ประกาศหลวงพ่อประกาศให้เอง แต่ก็บางราย รายท่านพะยอมเองก็ช่วยประกาศให้
วันนี้เค้าทอดกฐินกันที่วัดสวนแก้ว ใครจะไปก็ได้ แต่ว่ามันเจียนจวนเกินไปโยมกลับตัวไม่ทันแล้ว มาบอกวันนี้นี่มันแผนการโฆษณาไม่ดี มันต้องบอกไว้อาทิตย์ก่อนญาติโยมก็จะได้ไปได้ นี่มาบอกเจียนจวนอย่างนี้มันฉุกละหุกเกินไป แต่ก็มีอะไรพอช่วยได้โยมก็ไปช่วยกัน เพราะว่าซื้อที่ดินให้วัดมันก็เป็นผลประโยชน์แก่วัด เป็นของพระศาสนาต่อไป ต้องไปศึกษาดูว่าตารางวาละเท่าไร ไร่ละเท่าไร ๒๕ ล้าน ๗ ไร่นะ ๗ ไร่ราคา ๒๕ ล้าน เพราะมันติดถนนใหญ่ ถนนดินเมืองนนท์นี่เขาเรียกว่ากำลังบูม กำลังขึ้นราคากัน แต่ว่าถ้าไม่ซื้อตอนนี้เดี๋ยวคนอื่นมาซื้อแล้วจะสร้างทาวน์เฮ้าส์บังวัด คนไม่เห็นวัด ท่านก็คิดดีเหมือนกัน ทำเป็นประโยชน์ต่อไป
ตามบ้านนอกบ้านนาไม่ค่อยมีคนไปทอดกฐิน ทายกทายิกาก็มาหากฐินกัน พระนี่ไปบอกโยมให้ทอดกฐินไม่ได้นะโยมจำไว้นะ คือพระบอกไม่ได้ จะไปบอกว่า โยมไปช่วยทอดกฐินที่วัดอาตมาหน่อย ไม่ได้ มันไม่เป็นกฐินนะ ถือว่าไม่เป็นกฐิน บอกไม่ได้ ทำเลศนัยก็ไม่ได้ เช่น บ่นว่าวัดอาตมายังไม่มีใครมาจองกฐินเลย อย่างนี้ก็ยังไม่ได้นะ พระพุทธเจ้าไม่ให้พูด ไม่ให้เอ่ยถึงเลย มันเป็นเรื่องของทายกทายิกาที่จะไปหาเอง นี่ทายกตามบ้านนอกก็เข้ากรุงนะตอนนี้ มาหาคนนั้นหาคนนี้ หารัฐมนตรีบ้าง หาเลขารัฐมนตรีบ้าง หาคนที่มีสตางค์ บอกว่าช่วยไปทอดกฐินสักหน่อยเถอะ คนนั้นก็จัดการแจกฎีกาใบปลิวเป็นประธานให้ ได้เงินไปสักสี่ห้าหมื่น สักแสนสองแสน เอาไปช่วยพอได้สร้างสิ่งที่ค้างๆคาๆอยู่ เพราะการสร้างวัตถุบ้านนอกมันค้างอยู่เยอะ เพราะเงินมันไม่ค่อยมี แล้วก็ชอบสร้างใหญ่เสียด้วย ชาวบ้านยากจนแต่สร้างโบสถ์ใหญ่โตมโหฬาร อันนี้มันไม่สมฐานะของหมู่บ้าน ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนก็เที่ยววิ่งวุ่นไปหากฐินให้เขาไปทอดกัน กฐินบ้าง ผ้าป่าบ้าง
ผ้าป่ากับกฐินนี่ใครเกิดก่อน ผ้าป่าเกิดก่อน คือ ผ้าป่าเกิดเพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้รับผ้าจากชาวบ้าน ชาวบ้านอยากถวายผ้าแก่พระก็ไปทิ้งไว้ ทิ้งไว้ตามทางเดิน พาดไว้ตามกิ่งไม้ เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้า พระไปพบเข้าก็เลยชักเอามาทำเป็นผ้าจีวร อย่างนี้เรียกว่า “ทอดผ้าป่า” เอาผ้าไปทอดไว้ในป่า ไปทิ้งไว้ในป่า พระก็ไปชักเอามา นี่เกิดก่อน
แล้วต่อมาก็เกิดกฐินขึ้น เกิดกฐินก็เพราะว่าพระจากเมืองปาทา (25.53 เสียงไม่ชัดเจน) ๓๐ รูป รีบร้อนมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พอออกพรรษาแล้วก็ไปเลยทีเดียว คิดถึงพระพุทธเจ้ามานาน ก็เลยไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเนื้อตัวเปื้อนโคลน จีวรเปื้อนโคลน พระพุทธเจ้าเห็นเช่นนั้นก็เห็นว่าไม่เหมาะ รีบมาในฤดูที่ฝนยังไม่ขาดเม็ด ฝนยังตกอยู่บ้าง เลยบัญญัติว่า “ออกพรรษาแล้วไม่ให้ไปไหน ให้ทำกฐินกันเสียก่อนแล้วจึงจะไป” พระเราก็ไม่ต้องไปเที่ยว นี่เริ่มมาแล้ว พระหัวเมืองเริ่มมาที่จังหวัดนี้แล้ว มา ๒ องค์แล้ว มาถึงถามว่า
“คุณมาทำไม ออกพรรษาใหม่ๆทำไมมา”
บอกว่า “ไม่สบาย”
“ไม่สบายเป็นโรคอะไร”
“เป็นโรคจิต”
“เอ๊ะ...โรคจิตนี่มันเป็นยังไงนะ ผมไม่เคยเป็น ไหนลองเล่าให้ฟังสิมันเป็นยังไง” บอกว่า “มันมึนๆหัว สมองก็ไม่ค่อยดี เรียนหนังสือก็ไม่ค่อยได้ ตามันมองไปทางนี้มันเห็นไปทางโน้น ตามันหรี่”
เลยบอก “ไปหาหมอตา ซื้อแว่นใส่เสีย แล้วไอ้โรคนั้นก็จะหายไป แล้วก็บอกว่าที่นี่พักได้คืนเดียว พรุ่งนี้ก็ไปได้ ไม่ให้พัก พักคืนเดียว”
ที่ต้องบัญญัติอย่างนั้น มากันใหญ่ มาวัดชลประทาน มาแล้ว พอมาถึงแล้ว พอฉันเพลเสร็จออกเป็นแถว ขึ้นรถหน้าวัดเต็ม ไปเที่ยว ชมบ้านชมเมือง หรือไปไหนก็ไม่รู้ทีหลังบอกไม่ให้พัก พักคืนเดียว ถ้ามาหาบอกให้พักคืนเดียว พรุ่งนี้ไปนะ กลับบ้าน อะไร...พอออกพรรษาแล้วก็มาทันที มันมากไปหน่อย อยู่รับกฐินกระโถนอะไรกันก่อน อย่ารีบมา ต้องกวดขันอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นแล้วมากันใหญ่ มาวัดนี้ทั้งนั้น ชื่อเสียงท่านปัญญามันดังอยู่หน่อย ไอ้ดังนี่มันก็ไม่ดี เป็นทุกข์เหมือนกันนะไอ้ชื่อดังๆเนี่ย คนมันมาหามากแล้วมันก็ยุ่งไง ทีนี้บอกว่ามาอยู่ไม่ได้วัดนี้ อยู่ได้คืนเดียว ตอนนี้อยู่ไม่ได้ ไม่ให้อยู่นาน คือถามก่อนมาทำไม มาเที่ยวเลยบอกว่าคืนเดียวไป ที่นี่ไม่ใช่ที่คนเที่ยว บางคนบอกว่ามาอยากจะศึกษาธรรมะ บอกว่าไม่ต้องมาที่นี่ หนังสือเยอะแยะ ซื้อไปสักหอบแล้วไปนอนอ่านอยู่ที่วัดก็ได้ ไม่ต้องมาที่นี่ก็ได้ บอกอย่างนั้น มันเป็นระเบียบ ไม่ให้ออกเดินทางหลังจากพรรษาแล้ว เว้นว่าแต่ไปเพื่อศึกษาจริงๆ
พระที่วัดนี้ ๗๐ รูป เมื่อวานนี้เดินทางไปไชยา ให้ไปอยู่ ๗ วัน แล้วก็เดินทางกลับ ไม่ให้ไปเที่ยวไหน เพราะว่าตั๋วรถไฟทำใบเดียว ไม่ใช่แจกตั๋วองค์ละใบๆ เดี๋ยวเถลไถล ให้ใบเดียว กลับพร้อมกันไปพร้อมกัน จะได้มาอยู่ที่วัดต่อไป แล้วก็ลาสึกก็สึกกันไป เมื่อวานนี้สึกไป ๔๐ ออกพรรษาแล้วร่วงเรื่อยเชียว สึกไปเมื่อวันที่ ๑๒ สึกไปเรื่อยๆ พอหลังกฐินนี่ก็สึกหมดแล้ว ไม่มีเหลือ
ตอนนี้ยังไม่บวชนาค มีคนมาขอบวชบ่อยๆ บอกว่าไม่ใช่ฤดูบวชนาคตอนนี้ เป็นฤดูที่จะทำกิจอื่น จะไปบวชอีกทีหนึ่งก็โน่นแน่ะ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ บวช ๔ ชุด หน้าร้อน ๑ กุมภา ๑ มีนา ๑ เมษา ๑ พฤษภา ใครจะบวชก็ไปสมัครตรงนั้น เว้นไว้พิเศษ กรณีพิเศษคือว่า นักเรียนจะไปเรียนเมืองนอกแล้ว พ่อแม่อยากให้บวชเสียสัก ๑๕ วัน ไอ้อย่างนี้ก็บวชให้ แต่ถ้าธรรมดาๆ ไม่ได้ไปไหน ไม่มีอะไร ก็บอกเอ้า...ไปบวชเดือนกุมภา
ทำไมจะต้องไปบวชกุมภามีนาเมษา คือทำให้มันเป็นระบบ บวชพร้อมกันหลายๆคน บวชหลายคนเปิดชั้นเรียนได้เลย แล้วก็พระมาสอนเป็นระบบ ถ้าบวชทีละคนนี่จะไปสอนยังไง บวชคนนี้วันที่ ๑ บวชคนนี้วันที่ ๕ สอนองค์นี้แล้วต้องไปสอนองค์นั้นตั้งต้นอีก ดูมันลำบาก การที่จะให้ความรู้แล้วจะกวดขันในการปฏิบัติก็ไม่สะดวก แต่ถ้าเราบวชเป็นชุดทำได้ง่าย สอนอบรมธรรมะ สอนกรรมฐานอาจารย์ก็ไปนั่งสอน มีคนเดียวไปนั่งติวกันอยู่ นั่งสอนกันอยู่ มันเสียเวลา เลยไม่รับบวช ญาติโยมบอกญาติมิตรที่อยากจะบวชว่า โอ๊ย...ต้องไปเดือนกุมภา
วันที่ ๑ กุมภา สมัคร ๑๕ มกรา สมัครล่วงหน้า ๑๕ วัน ไม่ว่าเดือนไหน ถ้าบวชกุมภาก็ ๑๕ มกรา บวชมีนาก็ ๑๕ กุมภา บวชเมษา ๑๕ มีนา บวชพฤษภาก็ ๑๕ เมษา วางเป็นระบบไว้ เขียนไว้แล้ว ติดไว้ที่ป้าย โยมไม่ค่อยอ่าน มาแล้วไม่ค่อยดู มาแล้วต้องดูว่าเค้าโฆษณาประชาสัมพันธ์อะไรไว้ตรงไหนบ้าง จะได้รู้เรื่อง เค้าทำไว้เรียบร้อยหน้ากุฏิหลังเก่า มาอ่านได้ เรื่องมันก็สะดวกสบาย
โบราณนั้นพระไม่ได้ไปเที่ยวก่อนถ้ายังไม่ได้ทำจีวร เพราะไปเที่ยวแล้วมันไม่มีเวลาจะเย็บจีวร จะทำให้เกิดปัญหา ไม่มีกังวลด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม จะได้ไปสอนคนสบายๆ ท่านจึงให้ทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติอะไรไว้เหมาะแก่เรื่อง เหมาะแก่เหตุการณ์ เหมาะแก่บุคคลทั้งนั้น ถ้าเราทำตามระเบียบของพระองค์
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะสนทนาให้ญาติโยมทั้งหลายได้รับทราบไว้ก็เรื่องเกี่ยวกับกฐิน วัดนี้ก็ทอดวันที่ ๓๑ ตุลาคม เป็นวันพุธ ไม่ใช่วันอาทิตย์ แต่ว่าจะรวบรวมทุนกันในวันอาทิตย์ เพราะญาติโยมมาสะดวก วันพุธนี่คนไม่ได้หยุดงาน มากันไม่สะดวก อาจจะมีข้าราชการกรมชลประทานเขามาตั้งแถวรับ นักเรียนตั้งแถวรับสมเด็จพระเทพฯ ที่ท่านจะเสด็จมาเป็นประธานในการทอดกฐินคราวนี้ ปัจจัยที่ได้รับก็เข้าส่วนเข้าโรงพยาบาลต่อไป เวลานี้โรงพยาบาลก็สร้างมาถึงทำเสา ๕๘ ฐานแล้ว ทั้งหมดมัน ๔๐๐ กว่าต้น ก็ทำไปได้ ๕๐ กว่าฐาน แต่ว่าจะเสร็จสมบูรณ์ปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๓๔ แล้วก็จะทำการฉลองกันราวเดือนกันยายน ก็วางโครงการฉลองกันไว้ในวันนั้น ไม่ทันวันเกิดก็ไม่เป็นไร วันเกิดอาตมา ๑๑ พฤษภาคมนี่มันไม่ได้สำคัญอะไร มันสำคัญที่โรงพยาบาลเสร็จแล้วก็ทำการฉลองกันในวันนั้น ส่วนวันเกิดนั้นไม่ทำอะไรมากมาย นิดๆหน่อยๆตามเรื่อง นิมนต์พระมาฉันอาหารสักมื้อ อะไรต่ออะไร ไม่ใหญ่โตอะไร แต่ว่าไปใหญ่เอาตอนฉลองโรงพยาบาล ญาติโยมเข้าใจไว้อย่างนั้น
เดือนตุลาคมนี่เป็นเดือนสำคัญทางบ้านเมืองเดือนหนึ่ง เพราะว่ามีบุคคลสำคัญเกิดในเดือนตุลาคมถึง ๒ ราย รายแรกก็คือสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึก วันที่ ๒๓ ตุลาคม เรียกว่า วันพระบรมรูปทรงม้า เป็นเดือน ๑๒ ถ้ามีพระบรมรูปทรงม้าแล้วก็ต้องมีงานวัดสระเกศ แล้วก็ต้องมีงานปฐมเจดีย์ ใกล้วันเพ็ญเดือน ๑๒ แล้วน้ำมักจะท่วมบ้านท่วมเมือง น้ำเหนือมันลงมา สมัยก่อนไม่มีเขื่อนเจ้าพระยา แล้วคนก็ได้สนุกกัน ลอยกระทงกระเทิงกันไปตามเรื่อง
ในวันที่ ๒๓ ตุลาคมนั้นเป็นวันที่เราควรจะระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงวางฐานของบ้านเมืองในทุกแง่ทุกมุม กระทรวงต่างๆเกิดขึ้นในสมัยของพระองค์ทั้งนั้น บางวันตั้งถึง ๓ กระทรวงพร้อมๆกัน วันเกิดกระทรวงถึงจะตรงกัน ได้พัฒนาการปกครองบ้านเมืองเป็นสมัยใหม่ ในรูปใหม่ ตามแบบของประเทศต่างๆที่เขาเจริญแล้ว เพราะพระองค์ได้เสด็จไปยุโรป เป็นกษัตริย์เอเชียองค์แรกที่เสด็จประพาสยุโรป แล้วกลับมาก็พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญ ให้ก้าวหน้าในแง่มุมต่างๆ เรียกว่าเริ่มตั้งฐานไว้ แผ่ความเจริญไว้ แล้วในหลวงรัชกาลที่ ๖ มาสืบต่อ ให้มีความก้าวหน้าต่อไป
ประชาชนรักพระองค์มาก เพราะว่าเสวยราชย์อยู่นานกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในประเทศไทย แล้วสิ้นพระชนม์ไปด้วยความอาลัยของประชาชน เขาสร้างพระบรมรูปทรงม้าไว้ สร้างก่อนสวรรคต สร้างภายหลังกลับจากยุโรป แล้วให้ช่างฝรั่งในยุโรปปั้นหล่อให้ เวลานั้นการหล่อเมืองไทยยังไม่เจริญ ยังไม่ก้าวหน้า พระองค์ต้องเสด็จไปนั่งประทับให้เขาดู เขาดูพระพักตร์ ดูอะไรต่ออะไรลักษณะอย่างไรก็ทำได้เหมือนมาก ฝรั่งเขาเก่ง หล่อแล้วก็เอามาวางที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เปิดฉลองเป็นการใหญ่ก่อนที่เสด็จสิ้นพระชนม์ด้วยซ้ำไป แล้วพอสิ้นพระชนม์แล้วเราก็ถือว่า ๒๓ ตุลาคม เป็นวันอนุสรณ์พระจุลจอมเกล้า เป็นวันไปนมัสการวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า
นั่นเป็นเรื่องฝ่ายวัตถุที่เราทำกันอยู่ทั่วไป ทีนี้ถ้าว่าเรามาทำด้านจิตใจกัน ในวันเช่นนั้นหรือก่อนวันเช่นนั้น เราก็ควรจะน้อมระลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่าน ต้องศึกษาหน่อย อ่านประวัติศาสตร์ของชาติไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในหลวงท่านพิมพ์พระชนมายุ ๖๐ พรรษาเล่มโตๆ ถ้าเรามีเวลาก็ไปอ่านดู รู้เรื่องราวของกรุงรัตนโกสินทร์มาก มีอะไรใหม่ๆแปลกๆเกิดขึ้น ทรงกระทำทุกอย่างเพื่อชาติเพื่อบ้านเมือง ทรงรับภาระหนักในการปกครองบ้านเมือง เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดินแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รับผิดชอบในงานทั้งหมด แม้แต่จัดเป็นกระทรวง เสนาบดีของกระทรวงต่างๆรับผิดชอบไป แต่การตัดสินว่าอะไรจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจของพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นทรงทำงานหนัก ไม่ค่อยจะมีเวลาพักผ่อนเท่าใด
ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ท่านพักผ่อนด้วยการเขียนบทละครหรือหนังสือประเภทต่างๆ หนังสือที่เขียนไว้มีหลายเล่ม เล่มหนึ่งที่สำคัญก็คือ เรื่องอาบูหะซัน มาจากอาหรับราตรี พันทิวาพันราตรีของนิยายอาหรับ ยกมาเรื่องหนึ่งคือเรื่องอาบูหะซัน ในเรื่องว่าอาบูหะซันนี่เป็นลูกเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติ ไม่ยากไม่จน เป็นคนใจกว้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ประตูบ้านเปิดอยู่ตลอดเวลา ต้อนรับคนทุกคนที่มาบ้าน ให้กินให้อยู่ ขัดข้องอะไรก็ให้ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เอามาเป็นเพื่อนทั้งนั้น ผลที่สุดก็หมดเนื้อหมดตัว ลำบากยากแค้น ไปพึ่งใครก็ไม่ได้ เพื่อนที่เคยให้นี่ไปพึ่งเขาก็ไม่ให้อะไร อันเป็นเรื่องแสดงถึงการคบมิตร มันเข้าในเรื่องมงคลสูตร “อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา” ให้คบหาสมาคมด้วยบัณฑิต อย่าคบคนพาล ไปปรากฏอยู่ในมงคลสูตรของเรา นิทานเรื่องอาบูหะซันนี่เป็นเรื่องแสดงถึงการคบคนไม่เลือกหน้า เป็นคนใจใหญ่ใจกว้างจนกระทั่งหมดเนื้อหมดตัว ใครขออะไรให้ทั้งนั้น สายสร้อยแขวนคอประดับเพชรพลอยต่างๆ คนขอก็ถอดให้ เหมือนพระเวสสันดร พระเวสสันดรแบกแดด แต่ว่าแบกแดดก็มีโจรใหญ่เกิดขึ้นเวลานี้ ซัดดำฮุสเซน ไม่เหมือนอาบูหะซัน กลายเป็นโจรของโลกไป ทำปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยประการต่างๆ แต่ว่าผลที่สุดอาบูหะซันนี่ได้พบกับพระเจ้าแผ่นดิน
พระเจ้าแผ่นดินชอบเที่ยวกลางคืน ไม่ใช่เที่ยวไปหาโรคเอดส์เหมือนสมัยนี้ ไม่ใช่ แต่ว่าไปเที่ยวแอบฟังความชาวบ้านเขาคุยกัน เขาจะด่าพระเจ้าแผ่นดินหรือว่าจะติเตียนอะไรก็มักจะคุยกัน วิพากษ์วิจารณ์ ชมมั่งอะไรมั่ง ก็เที่ยวไปเรื่อยๆ จนเข้าไปในบ้านอาบูหะซัน เข้าไปในบ้านอาบูหะซันก็คุยกันก็ไม่รู้ว่าเป็นเจ้าแผ่นดิน
อาบูหะซันบอก “แหม...อยากจะเป็นเจ้าแผ่นดินสักวันหนึ่ง” พระเจ้าแผ่นดินถามว่า “ถ้าเป็นแล้วจะทำอะไร” บอกว่า “จะจับอิหม่ามมาเฆี่ยนหลังสักหน่อย เพราะอิหม่ามนี่มันเลอะเทอะอยู่สักหน่อย หัวหน้ามัสยิดหัวหน้าศาสนานี่อยากจะเอามาเฆี่ยนสักทีให้รู้สึกสำนึกเสียบ้าง”
พระเจ้าแผ่นดินก็เอายาใส่ในน้ำให้ดื่ม อาบูหะซันก็หลับใหล สั่งมหาดเล็กแบกเข้าไปในวังเลย แล้วพอตื่นภายในวังก็ให้ตื่นมาเจอเสียงบรรเลงเพลงดนตรีต้อนรับเหมือนกับพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าแผ่นดินหลบไปเสีย ไอ้นั่นตื่นขึ้น โอ๊ะ...อะไร ตกใจ มันเป็นความฝันที่เป็นจริงขึ้น ตกอกตกใจ ก็เลยได้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว พอเป็นเจ้าแผ่นดินก็สั่งคนให้ไปจับอิหม่ามมาเลย เอามาเฆี่ยนหลังเสีย ๑๐๐ ทีแล้วก็ปล่อยไป แล้วก็ทำนู่นทำนี่หลายเรื่องหลายอย่าง แต่วันวันเดียวเท่านั้น วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง พอรุ่งขึ้นพระเจ้าแผ่นดินให้กินยาแล้วก็แบกกลับเอาส่งไว้ในบ้าน (40.13) เมื่อตื่นขึ้นอีกทีก็ไม่มีอะไร มันเป็นแค่ความฝันไปเสียแล้ว นี่เรื่องในหลวงรัชกาลที่ ๕ ท่านแต่งไว้
แล้วก็มีละครเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเงาะ พระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า เงาะป่านี่ท่านไปได้มาจากไหน เสด็จปักษ์ใต้ ไปจังหวัดตรัง ไปพัทลุง เรียกว่าเดินทางผ่านพัทลุงตรัง ไปตรังที่เขาเรียกว่าบ้านทับเที่ยง คือว่าในหลวงไปประทับที่นั่นมันเที่ยงพอดี เขาปลูกพลับพลาที่ประทับ เลยชื่อว่า “ทับเที่ยง” ติดเป็นชื่อบ้านชื่อเมืองอยู่ถึงบัดนี้ ตัวตลาดใหญ่เมืองตรังเขาเรียกว่าตลาดทับเที่ยง ใครไม่รู้คิดว่า เอ๊ะ...มันเที่ยงยังไง ทับมันอย่างไร มันเที่ยงอย่างไร คือ “ทับ” นั่นหมายถึงว่าพลับพลา ภาษากรุงเทพฯ เขาเรียกว่า พลับพลา สร้างที่ประทับในหลวงเขาเรียกว่าทับ คนจะไปทำงานทำการชั่วคราวในวัดก็ไปปลูกทับ ปลูกเป็นโรงยาว เป็นโรงครัว เป็นที่รับแขก มีห้องนิดหน่อยสำหรับเก็บข้าวเก็บของ เรียกว่าทับทั้งนั้น หรือว่ากระท่อมน้อยๆที่ไปปลูกเฝ้าไร่เฝ้าสวนเขาเรียกว่าทับเหมือนกัน เขาไม่เรียกกระท่อม เขาเรียกว่าทับ หรืออีกคำหนึ่งเรียกว่า “กระหนำ” เรียกว่า “หนำ” “หนำนา” ภาษาปักษ์ใต้
ในหลวงท่านไปพักที่นาวงก่อน แล้วก็ไปตรังพักที่ทับเที่ยง แล้วลงไปกันตัง สมัยก่อนเมืองมันไม่ได้อยู่ที่ทับเที่ยง อยู่ที่กันตัง อยู่ที่ท่าเรือเมืองกันตัง ตระกูลใหญ่คือ ตระกูล ณ ระนอง เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองในเวลานั้น ท่านเสด็จไปที่นั่น ทีนี้เมื่อไปถึงพัทลุงได้ทราบว่ามีเงาะอยู่ ก็บอกว่าอยากจะได้เงาะสักคนหนึ่ง เงาะหนุ่มๆวัยรุ่นนะ ทีนี้พวกเจ้าเมืองเขาก็ไปจับเงาะเขาปู่มาให้ ชื่อคนัง ในหลวงท่านตั้งชื่อให้ว่า “นายคนัง” เอามาถึงกรุงเทพฯ มาอยู่ในวัง อยู่เป็นตัวเงาะอยู่ในวังเลย ท่านแต่งพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า ก็เรื่องชีวิตของนายคนังนั่นเอง เอาจับมาจากพัทลุงแล้วมันมีชีวิตอยู่จนในหลวงสวรรคต แล้วก็รัชกาลที่ ๖ ขึ้นครองราชย์ แล้วมันก็ถึงแก่กรรมไป
มันเป็นเงาะป่า เงาะนี่มันเป็นคนเผ่าในป่า คล้ายพวกแม้ว พวกอีก้อ พวกมูเซอตามภาคเหนือ แต่เงาะนี่อยู่ตามภูเขา ผมมันหยิกเหมือนกับพวกนิโกร ผิวดำ ตัวเล็ก ไม่ใหญ่เท่าใด อยู่ชีวิตง่ายๆ อยู่ตามป่า เขามีกระบอกลูกดอกกระบอกยาวตั้งวา เอาลูกดอกอาบยาพิษใส่เข้าไปแล้วมันเป่า มันเห็นค่างเห็นอะไรเนี่ยมันเป่า มันเป่าแรงลูกดอกหลุดจากกระบอกไปถูกค่าง ยาพิษไปถูกค่าง ค่างตกลงมาเลย แล้วมันจับไปกินกัน เอาไปปิ้งกินกัน เงาะมีลูกดอกเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เงาะเจริญแล้ว เดี๋ยวนี้อยู่บ้านอยู่เรือนรู้จักใช้เงินใช้ทอง สมัยก่อนไม่รู้จักใช้ ให้เงินมันก็ไม่เอา มันเห็นไม่รู้อะไร จะเอาไปทำไม ซื้ออะไรกิน มันไม่รู้จักซื้อรู้จักขาย แต่เดี๋ยวนี้รู้จักซื้อรู้จักขาย แต่ยังมีอยู่ในมาเลเซียมากกว่าบ้านเรา มาเลเซียป่าเขาใหญ่กว่าปักษ์ใต้ ภูเขาใหญ่ๆมีป่า
ฝรั่งเขาเคยไปศึกษาชีวิตของพวกคนพวกนี้ เขาเรียกว่าพวกเซมังกับพวกซาไก เงาะบ้านเรานี่คือพวกซาไกนั่นเอง แล้วพวกนั้นก็อยู่ในป่า ฝรั่งไปศึกษาธรรมชาติ มานุษยวิทยา ไปศึกษาพวกนี้ เมื่อไปถึงก็เอาปัดให้ ของแดงๆชอบใช้ เหมือนเรื่องพระสังข์ชอบดอกไม้แดง เอาดอกไม้แดงมาล่อเจ้าเงาะก็วิ่งตามมา ความจริงมันเงาะไม่แท้ เงาะพระสังข์ใส่คราบมา
ทีนี้ก็เอาผ้าแดงให้บ้างลูกปัดให้บ้าง กำไรที่เขาทำในตลาดขายราคาถูกไปให้ แล้วขอร้องบอกว่าให้ช่วยร้องเพลงให้ฟัง เล่นดนตรีให้ฟังหน่อย แต่พวกนั้นไม่แสดง ไม่ยอมเล่นดนตรี ไม่ยอมเล่นอะไร ไม่ร้องเพลงให้ฟัง ฝรั่งจึงให้ล่ามถามว่าทำไมจึงไม่ร้อง เขาบอกร้องไม่ได้ เพราะว่าญาติตาย เอาไปฝังไว้ตรงนู้น กิ่งไม้ที่ปักบนหลุมญาติยังไม่เหี่ยวไม่แห้ง แล้วเราจะสนุกกันได้อย่างไร
อันนี้ก็น่าคิดนะ พวกเงาะมันมีวัฒนธรรมพอใช้ ญาติตายมันสนุกกันไม่ได้ แต่ว่าคนเราที่เจริญนี่พอญาติตายเปิดพิณพาทย์เลย บรรเลงพิณพาทย์ เล่นการพนันกันในงานศพ แล้วก็มีการฟ้อนการรำสนุกสนานกันเต็มที่ ลองไปเทียบเคียงดูว่าคนป่ากับคนเมืองอันไหนมันเจริญกว่ากัน ไหนมีวัฒนธรรมสูงกว่ากัน พวกเงาะเค้าไม่ร้อง ไม่กล้าร้องเพลงเพราะญาติตาย กิ่งไม้ยังไม่แห้งเขาจึงไม่กล้าร้องเพลง นี่แสดงว่ามีจิตใจสูงพอสมควร ของเราพอตายเอาเลยเปิดเหล้าเปิดเบียร์เลี้ยงกัน เปิดบ่อนการพนันเล่นกัน แล้วก็มีพิณพาทย์ประโคม พระก็สวดสลับเสียงพิณพาทย์ พระเลิกแล้วพิณพาทย์ยังไม่เลิก เอาผู้หญิงมารำต่อหน้าศพกันต่อ เติ๊ดเติ่งติ๊งต่าง ว่ากันไป
เออ ... ดูๆ แล้วมันก็ขำเหมือนกัน ที่วัดนี้เลยประกาศห้ามไม่ให้เอามาแสดง เดี๋ยวนี้พิณพาทย์ไม่บรรเลงศพวัดชลประธาน แล้วไม่มีรำมอญ เพราะแถวนี้คนมอญเขาเยอะ เขาชอบรำหน้าศพกัน มารำตรงนี้ พระนั่งอยู่ตรงนี้ เอาอวดพระนะ พระก็จีวรร้อนไปตามๆกัน เพราะมารำบ่อยๆมันก็ไม่ดีเหมือนกัน มันยั่วกิเลสคน มันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ก็เลยตัดปัญหาไป นี่เรื่องอย่างนี้เรื่องในหลวงรัชกาลที่ ๕ มีพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า หนังสือร้อยแก้วที่ในหลวงทรงนิพนธ์สำคัญมากเรื่องหนึ่ง เขาเรียกว่าพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน หนังสือเรื่องไกลบ้านนี่เป็นจดหมายที่เขียนถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี สมเด็จกรมขุนอู่ทองนี่ร่วมพระมารดากับกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ แล้วก็ท่านไปยุโรปท่านเขียนจดหมายถึง โอ๊ย...น่าอ่าน
หนังสือไกลบ้านนี่เป็นสำนวนร้อยแก้วน่าอ่าน ใครอยากไปเที่ยวยุโรปยุคในหลวงไปกับหนังสือไกลบ้าน ท่านเขียนเล่าไว้ละเอียด ในเรือไปอย่างไรๆ ปวดเมื่อยอย่างไรให้หมอนวด นายจ่ายวดนวดก็ไม่หายปวดสักที แล้วก็เอากระจกมาส่องดูพระทนต์ มันชักจะดำๆขึ้นอีก เพราะว่าอยู่เมืองไทยเสวยหมาก ไปนู่นไม่ได้เสวยหมาก ไปขัดฟันให้ขาว ไปหาหมอชาวเยอรมันช่วยแต่งฟันให้ขาวสะอาด จะได้ไปยิ้มกับพวกฝรั่งได้ไม่ต้องกระดากปาก อะไรอย่างนี้ ท่านเขียนเล่าไว้ แล้วเวลาเล่านี่สมมติว่านั่งเสวยพระกระยาหารนี่มีใครนั่งบ้าง กี่คน อาหารมีอะไรบ้าง แต่งตัวอย่างไร โอ๊ย...ละเอียดมาก แสดงว่าทรงสังเกต แล้วกำหนดจดจำ เล่าให้ลูกสาวฟัง
ไม่ใช่เขียนจดหมายถึงคนคนเดียว ในวันเดียวกันเขียนยาวๆ เขียนถึงลูกสาว แล้วเขียนถึงพระพันปี เขียนถึงเจ้าพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ เขียนถึงผู้สำเร็จราชการ เขียนถึงพระมหาสมณเจ้า เขียนเยอะแยะ ในหลวงขยันเขียนจดหมาย เรียกว่าวันหนึ่งๆเขียนจดหมายถึงคนกี่คน จดหมายเหล่านี้เป็นจดหมายเหตุสำคัญที่ควรแก่การศึกษาสำหรับคนรุ่นหลัง พระองค์ใช้ภาษาอย่างไร เล่าเรื่องอะไรบ้าง ทุกเรื่องที่เสด็จประพาส เช่น เสด็จประพาสชวา สุมาตรา ก็เขียนไว้ละเอียด แต่ประพาสยุโรปนี่ผ่านลังกาเกิดเรื่องไม่ค่อยดีหน่อย
ตอนผ่านลังกาท่านก็เขียนว่า มันจำเป็นที่จะต้องแสดงอาการโกรธหน่อย ถ้าไม่แสดงอาการโกรธแขกมันดูหมิ่น เพราะว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้ ท่านจะไปไหว้พระแก้ว พระธาตุพระเขี้ยวแก้วเมืองโคลัมโบ ก็ไปเรือมันก็หยุดที่เมืองโคลัมโบ แล้วพระเขี้ยวแก้วก็อยู่ที่เมืองแกนดี นั่งรถไฟไปเมืองแกนดีประมาณสัก ๕ ชั่วโมง ไปไหว้พระเขี้ยวแก้ว พระองค์จะจับ ไอ้คนเฝ้ามันห้ามไม่ให้จับ ห้ามไม่ให้จับพระเขี้ยวแก้วเพราะถือว่าไม่ควรจับ
ท่านบอกว่ามันต้องทรงกริ้วหน่อย ต้องแสดงอาการกริ้ว เขียนจดหมายถึงกรมพระยาวชิรญาณ พระมหาสมณเจ้า บอกว่าต้องขออภัยที่หม่อนฉันจะต้องกริ้วเขาหน่อย เพราะถ้าไม่กริ้วนี่มันเป็นการดูหมิ่นมากเกินไป ไม่ให้เกียรติแก่พระมหากษัตริย์ที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนูปถัมภก มีองค์เดียวในโลก กษัตริย์ที่ถือพระพุทธศาสนามีองค์เดียว จะไปจับเขี้ยวแก้วสักหน่อยมันก็ไม่ให้จับ เลยรับสั่งให้เอาเครื่องถวายจีวร เครื่องนมัสการขนกลับหมด ไม่ถวาย ขนกลับหมดเลย ทีนี้พอฝรั่งรู้เข้าว่าไอ้พวกแขกมันทำกัน แขกลังกาน่ะ ฝรั่งรู้ก็ไปหาอ้อนวอนว่าให้เสด็จไปอีกทีหนึ่ง แล้วจะทรงจับต้อง ยกขึ้นดูอะไรก็ได้ ท่านก็ทรงบอกว่าไม่จำเป็นอะไร ที่บ้านฉันก็มีเหมือนกัน ที่บ้านเมืองไทยก็มีเหมือนกัน ไม่ต้องมาจับถึงที่นี่หรอก ไม่ยอมไป นี่เป็นเรื่องที่ขลุกขลักกันนิดหน่อย แล้วก็ไม่มีอะไร ต่อจากนั้นก็เสด็จไปมาเรียบร้อย
ทำไมจึงต้องเสด็จยุโรป เวลานั้นเกิดเรื่อง ร.ศ. ๑๑๒ ฝรั่งเศสเดินเรือรบเข้ามาสู่อ่าวไทย ป้อมพระจุลก็ยิงห้าม มันก็ยังวิ่งเข้ามา ก็ยิงตู้มเข้าให้ เรือเสียหายไป ฝรั่งเศสหาว่าไทยรังแก โจรมาปล้นบ้าน เจ้าของบ้านยิงโจร หาว่ารังแกโจร แหม...อย่างนี้มันถูกต้องที่ไหน มันมารังแกแล้วมันยึดเอาเมืองจันทบุรีและเมืองตราดไว้เป็นประกัน มายึดครอง คนที่เกิดในสมัยนั้นเคยเขียนหนังสือเล่าไว้ มายึดครองไว้เพื่อให้ไทยเสียค่าเสียหาย ในหลวงท่านทรงเสียพระทัยมาก ไม่เป็นอันทรงเสวย ไม่เป็นอันทรงบรรทมเพราะเรื่องนี้
พวกน้องๆกรมพระยาเทวะวงศ์ฯ กรมพระยาดำรงฯ กรมพระสวัสดิ์ ใครๆเจ้ากรมอะไรก็เข้าไปบอกว่า ไม่ได้ พระองค์นี่เป็นกัปตันเรือ หากว่าทิ้งเรือแล้วลูกเรือจะอยู่กันอย่างไร เรือก็จะเคว้งคว้างในกลางกระแสชล จะลำบาก เพราะฉะนั้นพระองค์ต้องเข้มแข็ง ต้องต่อสู้ต่อไป แล้วก็นิมนต์พระมหาสมณเจ้าไปแสดงธรรม เจ้านายเวลามีความทุกข์เขานึกถึงธรรมะเหมือนกัน เอาธรรมะไปปลอบโยนจิตใจ พระมหาสมณเจ้าก็เสด็จไปเทศนาโปรด อุปมาเปรียบเทียบเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้คลายพระทุกข์คลายพระโศก คลายพระโรคภัย แล้วก็ผลที่สุดก็คิดได้ว่า มันต้องไปหาเพื่อน ต้องไปยุโรป
ไปยุโรปสมัยนั้นต้องไปเรือ ลงเรือเมืองไทยแล้วไปขึ้นเรือที่สิงคโปร์เปลี่ยนเรืออีกทีหนึ่ง ไปกัน แต่สมัยนั้นดูเหมือนเรือไทย เรือพระที่นั่งจักรีฯ พาไปจนถึงยุโรปเหมือนกัน ไปก็แวะทุกประเทศที่เราไป ประเทศรัสเซีย ตอนนั้นมีพระเจ้าซาร์เป็นใหญ่ คุ้นเคยกัน ไปแล้วเอากรมหลวงพิษณุโลกไปฝากให้เป็นบุตรบุญธรรมเลย บอกว่าช่วยดูแลรักษาเลี้ยงดู ให้เล่าให้เรียน ก็ผูกมิตรกันไว้ แล้วไปประเทศเยอรมันนั่นเอง พระเจ้าไกเซอร์ เอากรมพระนครสวรรค์ไปฝากไว้ให้เรียนวิชาการทหาร แล้วไปประเทศอังกฤษก็ฝากฝังลูกชาย ๔ คน ให้ไปเรียนหนังสือที่นั่น จะส่งไปภายหลัง
เสด็จไปทุกประเทศ สเปน โปรตุเกส ไปหมด ประเทศเล็กประเทศน้อยก็ไป แต่ไม่แวะประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสก็เสียหน้าสิ่ พระเจ้าแผ่นดินไทยไปทุกประเทศ แม้ประเทศใกล้ๆประตูบ้านฝรั่งเศส แต่ไม่ไปเยี่ยมกรุงปารีส ซึ่งเป็นนครใหญ่ มีชื่อเสียงทางสวยงาม ก็เสียหน้าเลยมาเชิญให้เสด็จไป พอเชิญเสด็จไปก็ได้พูดคุยกับรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ใหญ่มีอำนาจ ในที่นี้มันผู้สำเร็จราชการ ข้าราชการชั้นผู้น้อย มันใช้อำนาจมากไป ก็เลยประนีประนอมยอมความกันได้ ฝรั่งเศสยินดีถอนทัพไป แต่นั่นแหละ โจรเข้าบ้าน ออกจากบ้านมันไม่ไปมือเปล่า วิทยุทรานซิสเตอร์ อะไรต่ออะไร ของหยิบติดไม้ติดมือก็เอาไปมั่ง หยิบเอาไปมั่ง ฝรั่งเศสมันไม่หยิบของเล็ก มันหยิบเอาพระตะบองมา มณฑลพระตะบอง เสียมราบ มันหยิบเอาไปหมดเลย ก็ต้องให้เขา
เวลานั้นผู้ปกครองพระตะบอง เจ้าพระยาอภัยวงศ์ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บิดานายควง อภัยวงศ์ เรานี่เอง ทีนี้ท่านก็ขนของกลับเป็นกองเกวียน ขนสมบัติพัสถาน ทองคำ กระถางต้นไม้ ร่ำรวยนะ ...... (51.31 เสียงไม่ชัดเจน) เอ...คนมันมากนี่ จะเข้ากรุงเทพฯ มันไม่ไหว จะไปอยู่ตรงไหน เลยอยู่ที่ปราจีน สร้างบ้านใหญ่โตแบบฝรั่งเศส แล้วสร้างวัดวัดหนึ่ง ชื่อวัดแก้ว ทำอย่างดี ศิลปะฝรั่งเศสทั้งนั้น แล้วท่านก็พักอยู่ที่นั่น ไม่เข้ากรุงเทพฯ เพราะคนมาก บริวารเยอะ เขาเรียกว่าไปกินเมือง สมัยก่อนครองเมืองเขาเรียกว่าไปกินเมือง มีอำนาจเด็ดขาด ปกครองในเขตนั้น ท่านก็ขนลูกน้องกลับบ้านหมด เวลานี้บ้านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโรงพยาบาล โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตึกนั้นยังอยู่ ใหญ่โตกว้างขวาง เคยไปแสดงธรรมกับพวกหมอพยาบาลเวร โอย...กว้างขวางใหญ่โต สร้างอย่างดี มีศิลปะ เป็นที่พักร้อนของท่าน ฝรั่งเศสก็เลยเอาเมืองไปกินหมด ด้วยเหตุนั้นในหลวงจึงต้องเสด็จประพาสยุโรปเพื่อหามิตร แล้วก็ได้มิตรมา
ไทยเรามันใจเย็น ทำอะไรใจเย็น ไม่เร่าร้อน ถ้าพวกถือพุทธด้วยกันนี่ไทยใจเย็นกว่าเพื่อน พม่าใจร้อน หุนหันพลันแล่น เอะอะชอบชกชอบต่อย ต่อยกันเองมั่ง อะไรต่ออะไรมั่ง ไทยเรามันเรียบร้อยดี เพราะพระเจ้าแผ่นดินท่านมั่นคงในศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า นี่เป็นเรื่องที่เราควรระลึกถึงพระคุณของท่าน ว่าท่านช่วยให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ช่วยสร้างสิ่งต่างๆไว้ในบ้านเมืองของเรา
ในด้านพระศาสนา ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็พิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนนี้พระไตรปิฎกนี่พิมพ์อยู่ในอักษรเขมร อักษรขอม จารึกในใบลานเป็นอักษรขอม แล้วก็พิมพ์เป็นตัวอักษรไทยเหมือนหนังสือไทยธรรมดา พิมพ์เป็นครั้งแรก แต่ว่าพิมพ์คราวนั้นไม่สมบูรณ์ ขาดคัมภีร์ไปคัมภีร์หนึ่ง เรียกว่า คัมภีร์สุตตนิบาต คงจะหาต้นฉบับไม่ได้ เลยพิมพ์แล้วก็ส่งหนังสือที่พิมพ์นี้ไปมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ ไปเบอร์ลิน ไปที่ฝรั่งเศส ตามมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศยุโรป ส่งหนังสือไปไว้คนเขาจะได้ศึกษาค้นคว้า ฝรั่งมันก็เรียนบาลีเหมือนกันจะได้อ่านได้ ส่งไปไว้แต่ไม่ได้แปลออกเป็นภาษาไทย
พระไตรปิฎกแปลเป็นไทยเมื่อรัชกาลที่ ๖ สวรรคตไปแล้ว แล้วก็พิมพ์อีกทีหนึ่ง พิมพ์บาลี เรียกว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” เรียบร้อยสมบูรณ์ทุกประการแล้วก็ส่งไปไว้ต่างประเทศ การแปลนี่เพิ่งมาแปลในหลวงรัชกาลปัจจุบัน แปลเป็นภาษาไทยแต่ไม่ค่อยจะเรียบร้อยเท่าใด แปลไม่ค่อยจะเรียบร้อยแต่พอใช้เป็นเครื่องมือศึกษาได้ นี่ในด้านการพระศาสนา แล้วจัดสังฆมณฑลให้อยู่กันด้วยความเรียบร้อย แบ่งเขตปกครองเป็นเจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะจังหวัด อำเภอ ตำบล เจ้าอาวาส มีกฎหมายรองรับ
ท่านจัดทำทุกอย่างเพื่อความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง เป็นเรื่องที่ชาวไทยเราควรระลึกถึงในวันที่ ๒๓ ตุลาคม แล้วก็ระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีของในหลวง ซึ่งมีพระชนมายุ ๙๐ พรรษา ในวันที่ ๒๑ นี้ แต่เขาเริ่มฉลองกันแล้วเวลานี้ ฉลองกันเป็นการใหญ่ เพราะท่านทรงทำแต่ความงามความดี เกิดมาเพื่อให้ ไม่ได้เอาอะไร เกิดมาเพื่อให้ เที่ยวแจกๆๆๆ เป็นพระเวสสันดรคนหนึ่งเหมือนกัน เรียกว่าวิญญาณพระเวสสันดรเข้าสิงสู่ในองค์สมเด็จ แจกหยูกแจกยา แจกเสื้อแจกผ้า ที่ไหนในหลวงไปไม่ถึงท่านไปถึง ตามริมทะเล ไปเรือรบ ท่านไปกับนายเรือแล้วก็ขึ้นเรือไปเที่ยวแจกข้าวแจกของตามที่ต่างๆ เป็นบุคคลตัวอย่างในทางเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งชาวไทยเราทั้งหลายควรจะเอาอย่างท่านบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองควรจะเอาอย่างสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้วเดินตามรอยเท้าของท่าน ก็เดินตามอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ว่าเดินตามแต่กาย ใจไม่ค่อยตามเท่าไร เลยไม่ค่อยจะก้าวหน้าในทางเสียสละ อันนี้เป็นเรื่องที่เราควรระลึกถึงในวันนั้น พูดทางวิทยุมาแล้วมันนิดเดียว มันสั้น เวลาไม่พอเลยมาพูดต่อให้ญาติโยมทั้งหลายฟังกันในวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
- ปาฐกถาธรรมประจำวันอาทิตย์ที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๓