แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายต่อนี้ไปขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา เรามาวัดมาเพื่อการศึกษาเพื่อปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ นั่นเป็นจุดหมายสำคัญของการที่มาวัด ถ้าเรามาวัดด้วยเรื่องอื่นก็ไม่ถูกต้อง วัดก็เหมือนกันต้องทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน ประกาศคำสอนของพระพุทธเจ้าให้คนได้รู้ได้เข้าใจได้นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป พระสงฆ์องค์เจ้าที่อยู่ในวัดก็ต้องทำหน้าที่อย่างนี้ คือหน้าที่เผยแผ่ธรรมะให้ญาติโยมได้รู้ได้เข้าใจ ได้นำไปปฏิบัติต่อไป ถ้าหากวัดใดพระสงฆ์องค์เจ้าไม่ช่วยกันเผยแผ่ธรรมะ ก็เรียกว่าอยู่เปล่าไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่สังคม สังคมเลี้ยงพระ พระก็เลี้ยงสังคม สังคมเลี้ยงพระในทางวัตถุ พระเลี้ยงสังคมด้วยการ ทางจิตใจทางวิญญาณ คือ ให้ได้รู้แนวทางของชีวิตจะได้ปฏิบัติถูกต้องไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในชีวิตของเราต่อไป
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เรามีความสุข มีความสงบในชีวิตประจำวัน การที่จะมีชีวิตเป็นสุขในทุกวันได้ก็ต้องอาศัยธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ ถ้าเราได้ปฏิบัติธรรมะเราก็มีความสุขความสบาย จิตใจผ่องใส ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แม้เราจะอยู่บ้านทำงานทำการ ก็ทำไปอย่างผู้มีธรรมะ ทำอย่างผู้มีธรรมะก็ไม่เป็นทุกข์เพราะงานนั้นๆ แต่ถ้าทำโดยไม่มีธรรมะ มีความทุกข์
ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดขึ้นเพราะความต้องการในสิ่งต่างๆ ที่ตนจะพึงมีพึงได้ นั่นแหละคือตัวปัญหาที่สร้างความทุกข์ ถ้าเราอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ดังใจก็มีความทุกข์เกิดขึ้น ได้น้อยไปก็มีความทุกข์ ได้ช้าไปก็มีความทุกข์ เป็นทุกข์ทั้งนั้น
การเป็นทุกข์เพราะใจคิดให้มันเป็นทุกข์ ใจคิดให้เป็นทุกข์ก็เพราะไม่รู้จักเลือกที่จะผ่อนคลายจิตใจ เลยเป็นโรคเครียด ประสาทเครียด สมองเครียด ก็มีความทุกข์ทางใจเกิดขึ้นมากๆ จนเป็นบ้าเป็นหลังไปก็มี อันนี้เพราะเราไม่รู้จักธรรมะ ไม่เอายาวิเศษของพระพุทธเจ้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันความยุ่งเหยิงไม่ให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ถ้าเรามียาเราใช้เป็น ชีวิตก็จะมีความสงบ แต่ถ้าเราไม่มียา แล้วไม่ขวนขวายแสวงหายา ความทุกข์ก็เกิดมากขึ้น
จะเห็นตัวอย่างง่ายๆ คนที่มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ ไม่ใช้ยาของพระพุทธเจ้า แต่ไปใช้วัตถุเป็นเครื่องแก้ เช่น ไปดื่มของมึนเมาบ้าง ไปเที่ยวกลางคืน ไปสนุกสนานตามสถานที่ต่างๆ การกระทำเช่นนั้นไม่ช่วยให้เราพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน แต่เป็นการเพิ่มความทุกข์ความเดือดร้อนมากขึ้น เพราะสิ่งนั้นมันไม่ใช่ทางแก้ทุกข์ให้ชีวิตประจำวัน
ทางที่จะช่วยให้เราสบายคลายปัญหาได้ ก็อยู่ที่ว่าเรารู้จักใช้ธรรมะที่เราได้ศึกษามาจากพระในวัดเอาไปใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา ใช้กันก็ได้ คือใช้ได้ทั้ง ๒ อย่าง ใช้กันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นก็ได้ ใช้แก้เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ได้ เพราะงั้นในความเพียรชอบที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ว่า
ความเพียรที่ถูกต้องความพยายามที่ถูกต้องนั้น คือ เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในจิตใจของเรา เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วในใจของเรา เพียรทำความดี คือ กุศล ให้เกิดขึ้น และรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้อยู่ถาวรต่อไป
นี่เป็นสัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ ตามหลักการในทางพระพุทธศาสนา ตามหลักอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เราจึงต้องใช้ความเพียรอย่างนั้น เวลามีปัญหามีความข้องใจ อย่าไปทำอย่างอื่น ตามที่คนปัญญาอ่อนบอกให้ทำ ให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ หลายเรื่องหลายอย่างแต่ผลที่สุดก็แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ ทางที่จะแก้ได้ถูกต้องมีอยู่ แต่เราไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ไม่เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน จึงมีเรื่องมีปัญหามากขึ้น ถ้าเราได้ใช้ธรรมะเป็นเครื่องแก้ก็สบายใจ
การใช้ธรรมะเป็นเครื่องแก้นั้น เราก็ต้องรู้หลักการของพระพุทธเจ้า หลักการที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเรา ได้แก่ การสอนให้เรารู้ว่าทุกข์คืออะไร ทุกข์คืออะไร และก็เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ทุกข์เป็นเรื่องแก้ได้ และก็แก้ได้โดยวิธีใด อันนี้เป็นหลักปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าเทศน์ให้ปัญจวัคคีฟังที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พอเทศน์เรื่องนี้ให้ท่านเหล่านั้นได้เกิดปัญญาเกิดความรู้ความเข้าใจ
ในสมัยปัจจุบันนี้ความรุ่มร้อนทางอารมณ์มีมากกว่าสมัยก่อน ปัญหามีมากกว่าสมัยก่อน ถ้าเราไม่มีเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหา เราก็จะมีความทุกข์ทางใจมากขึ้น เพื่อให้เกิดความทุกข์น้อยๆ หรือไม่เกิดเลย เราจึงต้องหันเข้าหาเครื่องมือ คือ ธรรมะของพระพุทธเจ้า เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน การมาวัดในวันอาทิตย์ ก็มาศึกษาเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเรานั่นเอง ให้รู้ว่าทุกข์คืออะไร เหตุของทุกข์คืออะไร ทุกข์เป็นเรื่องแก้ได้ ไม่ใช่เรื่องเหนือวิสัยที่จะแก้ไม่ได้ แก้ได้โดยวิธีใด พระพุทธเจ้าท่านแสดงทางไว้ทั้งหมด พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “เราชี้ทางให้เธอเดินแล้ว เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางนั้น”
เมื่อเดินไปตามทางนั้น เราก็รู้เองเห็นเองว่าผลแห่งการเดินทางนั้นเป็นอย่างไร จิตใจเป็นอย่างไร ชีวิตเป็นอย่างไร เป็นเรื่องปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตัว หรือเป็นสันฐิติโก อันผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตัวเองต่อเมื่อเราได้เดินตามแนวทางนั้น ชีวิตของเราเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกันได้ว่าเมื่อก่อนกับเดี๋ยวนี้มีความเป็นอยู่แตกต่างกันอย่างไร เมื่อก่อนเราไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เรามีความทุกข์มากมีปัญหามาก กิเลสก็เกิดกลุ้มรุมจิตใจมากมายหลายเรื่องหลายประการ เป็นเรื่องที่เราแก้ไขไม่ได้ และก็มีความทุกข์ขนาดหนัก แต่พอได้มาศึกษาธรรมะ ได้เข้าใจเรื่องชีวิตถูกต้อง เข้าใจเรื่องที่มันเกิดขึ้นในชีวิตถูกต้อง เข้าใจว่าเรื่องทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นเรื่องแก้ไขได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องแก้ไม่ได้ และจะแก้โดยวิธีใด
พระผู้มีประภาคก็ชี้ทางไว้ให้เราเข้าใจ และให้เราปฏิบัติ ถ้าเราไม่ปฏิบัติเราก็ไม่ได้ประโยชน์จากพระธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ประโยชน์จากวัดวาอารามที่เค้าสร้างไว้เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่ธรรมะให้คนเกิดปัญญาเกิดความรู้ความเข้าใจ เราไม่มาวัดเราก็ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ฟังธรรมเราก็ไม่ได้ประโยชน์ เราจึงควรได้มาวัดและก็ฟังธรรม เสียเวลาไปนิดหน่อยในวันหยุดงานหยุดการ ความจริงเค้าหยุดงานก็เพื่อให้คนเข้าหาธรรมะ ให้ไปสู่ศาสนสถานตามที่ที่เค้าได้ตั้งไว้
สมัยก่อนคนไปวัดกันมาก ไปศึกษาธรรมะแต่ว่าการศึกษาก็ไม่ค่อยจะกว้างขวาง เพราะว่าพระมีการเรียนน้อยการศึกษาน้อย บวชเข้ามาแล้วไม่ค่อยได้เรียนธรรมะ เรียนแต่สวดมนต์ท่องคำบาลีได้ แล้วก็ไปทำพิธีให้แก่ชาวบ้าน เช่น ไปสวดมนต์ตามบ้านอะไรต่างๆ เจ้าของบ้านก็ไม่รู้ว่าพระสวดเรื่องอะไร ไม่รู้ความหมาย พระที่ไปสวดก็ไม่รู้เหมือนกันเพราะไม่ได้เรียนแปลว่ามันมีความหมายว่าอย่างไร แต่อาศัยความเชื่ออยู่มาได้จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ศาสนิกของเรานั้นอยู่ด้วยความเชื่อ เชื่อว่าอย่างนั้นเชื่อว่าอย่างนี้ บางทีก็เชื่อถูกบางทีก็เชื่อผิด แล้วก็มีความเชื่อถูกการกระทำก็ถูกต้องผลก็เป็นความสุขเป็นความสบาย ถ้ามีความเชื่อผิดการกระทำก็ต้องผิดแล้วผลก็ต้องเป็นทุกข์เป็นความเดือดร้อนใจเป็นอยู่อย่างนั้น
แต่ต่อมามีการศึกษาเจริญขึ้น พระสงฆ์องค์เจ้าเราได้ศึกษาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ก่อให้เกิดการศึกษาขึ้นมาก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นโอรสของรัชกาลที่ ๔ แต่ท่านได้บวชในพระศาสนา บวชเพื่อจะเพื่อ (11:00) ศาสนาได้ทำการศึกษาค้นคว้าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป ท่านจึงได้วางหลักสูตรให้พระเรียน โดยหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ถ้าสอบได้นักธรรมชั้นเอกก็แสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ มีความเข้าใจในธรรมะเหล่านั้นจนกระทั่งสอบได้นักธรรมชั้นเอก แต่บางทีสอบได้แล้วก็อยู่เฉยๆ ไม่นำธรรมะไปแจกแก่ประชาชน เรียกว่าเทศน์ไม่เป็นเพราะไม่สนใจในการแสดงธรรม หรือยังเป็นมหาเปรียญ คือเป็นมหาสามประโยค สี่ประโยค ห้า หก เจ็ด แปด เก้า
บางองค์ (11.47) บางรูปก็สอนไม่ได้ เทศน์ไม่ได้ เวลาจะเทศน์ก็ต้องเขียนไปก่อน แล้วไปอ่านให้โยมฟัง ถ้าเป็นเวลาฉุกเฉินโยมนิมนต์ก็พูดไม่ได้ ก็ไม่ได้ทำการค้นคว้าในข้อธรรมะ ไม่ได้มี “ธรรมะวิตก” คือการนึกถึงพระธรรม นั่งคิดนั่งตรองในเรื่องธรรมะ เพื่อให้เกิดความรู้ความใจถูกต้อง แล้วก็ได้ปฏิบัติตามหลักธรรมะที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว มีประสบการณ์ในชีวิตว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นเค้าแก้ไขอย่างไร เมื่อว่ามีประสบการณ์อย่างนั้น เมื่อมีประสบการณ์ขึ้นในชีวิตมากเรื่องมากประการ เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นที่ญาติโยมสนใจก็เอาธรรมะที่ตนได้คิดได้ค้นมาพูดมาสอนให้ญาติโยมเกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจเพื่อแก้ไขปัญหา ดับทุกข์ดับร้อนให้แก่ชาวบ้าน
พวกเราชาวบ้านอยู่บ้านอยู่เรือน บางคนก็อยู่.....(12:51) เหมือนอยู่ในกองไฟ เร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา ร้อนด้วยความคิดมันร้อน คิดไปในทางราคะ ก็ร้อนด้วยไฟราคะ คิดไปในทางโทสะ ก็ร้อนไปด้วยไฟโทสะ คิดด้วยโมหะ คือ ความหลง ก็ร้อนด้วยความหลง ร้อนด้วยความริษยา ด้วยความพยาบาท อาฆาต จองเวร ชอบเก็บอารมณ์ต่างๆที่มันผ่านพ้นไปแล้ว เอามานั่งคิดนั่งตรอง เรียกว่าเป็นผู้คิดผิด แล้วพอคิดผิดก็ทำผิด ปัญหาก็เกิดมากขึ้น
เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ต้องคิดให้มันถูกต้อง คิดถูกต้อง คือ คิดออกจากกามารมณ์ คิดในอันไม่พยาบาทใคร คิดในเรื่องที่จะไม่เบียดเบียนใคร มีใจเมตตา ปรารถนาความสุขความเจริญแก่เพื่อนมนุษย์ เราคิดแต่เรื่องอย่างนั้น ยกแต่เรื่องอย่างนั้น จิตใจก็ผ่องใสไม่ขุ่นมัว ด้วยอารมณ์ร้อนๆ แต่ว่าความร้อนทางกายมันมีอยู่ ไอ้ความร้อนทางกายถ้าใจไม่ร้อนมันก็ไม่เป็นไร เพราะกายไม่ร้อน คือว่าไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหา
พระพุทธเจ้าเคยไปนั่งอยู่ในที่ร้อน คือไม่มีต้นไม้เป็นที่กลางแจ้ง เพราะต้องการจะไปห้ามญาติไม่ให้ฆ่าแกงกัน เรื่องญาติห้ามจะฆ่าจะแกงกันนั้น เพราะว่าพวกศากยะญาติฝ่ายพ่อ พวกโมลียะญาติฝ่ายแม่ อาศัยแม่น้ำสายเดียวกัน คือ แม่น้ำโรหิณี สำหรับเป็นที่ทำมาหากิน เอาน้ำขึ้นมาทำการเพาะปลูก ปีนั้นฝนแล้งมากน้ำมันก็น้อย พอน้ำน้อยก็ต่างคนต่างก็แย่งน้ำกัน แล้วก็ทะเลาะวิวาทกันจะฆ่าจะฟันกัน พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปห้าม ไปห้ามทัพไม่ให้คนเหล่านั้นรบราฆ่าฟันกัน ก็ไปนั่งอยู่ที่แจ้ง
อีกคราวหนึ่งวิทูทัพพะยกทัพไปจะรบกับพวกศากยะ พระองค์ก็ไปนั่งอยู่ที่กลางแจ้ง แดดร้อนเปรี้ยงๆ วิทูทัพพะมาเห็นเข้าก็เข้าไปกราบไหว้บอกว่าทำไมพระองค์มานั่งอย่างนี้ ไม่นั่งใต้ต้นไม้ แต่บอกว่าไอ้ความร้อนทางร่างกายของเราไม่มีแต่ว่าญาติของเรากำลังร้อนด้วยการจะถูกฆ่าถูกฟัน วิทูทัพพะนึกได้เลยยกทัพกลับไม่มาปราบปรามพวกศากยะให้เสียหาย อันนี้เป็นการแสดงความมีธรรมะที่พระองค์ได้ใช้อยู่ในชีวิตของพระองค์ ไปนั่งกลางแจ้งก็ไม่ร้อน ไม่อึดอัดขัดใจ นั่งที่ไม่ร้อนก็มีอย่างเดียวกัน คือน้ำพระทัยของพระพุทธเจ้าไม่ขึ้นไม่ลง ไม่กระทบกระเทือนด้วยอารมณ์ อารมณ์ใดจะมากระทบ จิตของพระองค์ก็ไม่หวั่นไหว เหมือนใน มงคลสูตร ที่พระท่านสวดให้ชาวบ้านฟังว่า
จิตที่ถูกโลกกระทำแล้วไม่หวั่นไหว นั่นแหละเป็นจิตที่สงบ สะอาด สว่างอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ สาวกของพระพุทธเจ้าก็ดีเป็นผู้มีจิตใจมั่นคง เป็นหนึ่งเดียวในเรื่องเดียว ไม่ฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์อื่นจึงไม่เกิดความทุกข์ ไม่เกิดความเดือดร้อนใจไม่มีปัญหา แต่เราชาวบ้านไม่ได้ศึกษาธรรมะถึงขั้นก็มีความทุกข์บ้าง ร้อนใจบ้างเป็นครั้งเป็นคราว
ถ้าเราจะแก้ไขปัญหาก็ต้องศึกษาเรื่องนี้ เพื่อให้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา ความทุกข์อะไรเกิดขึ้น ความร้อนใจอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา ให้รู้จักตัวทุกข์ก่อน ทุกข์คือความร้อนใจ ความไม่สบายใจในเรื่องต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในใจของเรา เราต้องรู้ต้องเข้าใจก่อน การที่จะรู้ที่จะเข้าใจนั้น เราก็ต้อง ต้องมองด้านในคือที่ใจของเรา อย่าไปมองด้านนอก ถ้ามองด้านนอกไม่ได้อะไร แต่ถ้าเรามองข้างในคือมองที่ความคิด การกระทำของเรา เราก็จะรู้ว่าจิตใจของเรามีสภาพอย่างไร รู้ว่าร้อน รู้ว่าทุกข์ แต่ว่าต้องคิดต่อไปว่า ร้อนเรื่องอะไร ทุกข์เรื่องอะไร ทำไมจึงได้ร้อนใจ ทำไมจึงได้เป็นทุกข์ อะไรเป็นตัวเหตุเป็นตัวการ ที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ขึ้นในใจของเรา เราจะต้องพิจารณาตรวจสอบให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ หัดทำตนให้เป็นคนมีสติ มีปัญญากำกับความคิด กำกับการพูด กำกับการกระทำ กำกับการไปการมาไม่ให้เผลอ ไม่ให้ประมาท ถ้าเรามีสติปัญญากำกับอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าเราประพฤติธรรมในเรื่อง ๒ ข้อ คือในเรื่องสติปัญญา สติปัญญานี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะต้องมีไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน
ถ้าเราได้ใช้สติคอยกำหนดอยู่ ใช้ปัญญาคอยคิดค้นอยู่ บาปมันก็ไม่เกิด กิเลสมันก็ไม่เกิด
ถ้าเรารู้ทันรู้เท่าของปัญหาที่เกิดขึ้น สติเป็นผู้รู้สึกก่อนพามาพบก่อน พอสติมาพบแล้ว ปัญญาก็ตามมาช่วย เหมือนกับว่าเราแสวงหาอะไร...(18:33) การแสดงหานั้นเป็นเหมือนกับว่าเราค้นคว้าในเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ความยากในชีวิต ในขณะแสวงหาพอเราพบ เรารู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ปัญญาก็ตามมาช่วย ช่วยคิดช่วยค้นว่าจะทำอย่างไรจึงได้สิ่งนั้นสมความตั้งใจ ปัญญามันก็ตามมาช่วยแก้ปัญหา ทำให้เราหลุดพ้นจากความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ เพราะความไม่รู้ ความไม่เข้าใจนั้น มันก็เป็นต้นเหตุของเรื่องให้ใจเกิดปรุงแต่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา ใจเราที่ถูกปรุงแต่งด้วยอำนาจกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยาพยาบาท อะไรต่างๆนั้น เพราะขณะนั้นเราไม่รู้ เราไม่มีสติกำหนดรู้ แล้วไม่มีปัญญาตามมาเพื่อวิจัยวิจารณ์ในเรื่องนั้น เราก็นั่งกลุ้มใจ
ทุกครั้งที่เรานั่งเป็นทุกข์นั่งกลุ้มใจ ถ้าพูดกันโดยไม่เกรงใจก็พูดว่า เรากำลังโลภ กำลังหลง กำลังมัวเมาในสิ่งนั้น ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ไม่ได้ใช้สติปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาให้เข้าใจปัญหานั้นอย่างถูกต้อง เราก็มีความทุกข์เรื่อยไป
บางทีเรื่องมันเกิดมาตั้งนานแล้วแต่เราอุตส่าห์คุ้ยเขี่ยเอามานั่งเป็นทุกข์ตรมตรอมใจ ถ้าใครถามว่าเป็นทุกข์เรื่องอะไร ทุกข์ด้วยเรื่องเก่ามันเกิดมานานแล้ว พอนึกถึงมันแล้วก็ไม่สบายใจ แล้วเราไปนึกถึงทำไม เรื่องอะไรที่เราไม่สบายใจ เราไปคิดทำไม ไปนึกถึงทำไม เป็นความโง่ความเขลาในจิตใจ เมื่อใดเรานั่งเป็นทุกข์เราก็เป็นคนโง่ แต่เมื่อใดเรารู้จักความทุกข์ ความฉลาดก็เกิดขึ้นทันที เข้าใจเรื่องนั้นอย่างถูกต้องแล้วก็มองสิ่งนั้นด้วยปัญญา
การคิดเรื่องอดีต คิดได้เหมือนกันไม่ใช่ห้ามไม่ให้คิด แต่ไม่ใช่คิดด้วยอาลัย
ในคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “อะตีตัง นานวาคะเมยยะ นัปปะฏิกังเข อะนาคะตัง ปัจจุปปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ” บุคคลที่เกิดความทุกข์ เพราะคิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว คิดถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ไม่คิดถึงเรื่องปัจจุบันเฉพาะหน้า เลยเกิดเป็นปัญหามีความทุกข์ มีความเดือดร้อนทางจิตใจ เพราะเราไปคิดเรื่องเก่าที่ผ่านมาแล้ว คนตายไปหลายปีแล้ว เรายังคิดถึงแล้วก็เศร้าโศกเสียใจ ของหายไปหลายปีแล้ว พอเรานึกถึงเราก็เสียดาย เสียใจของนั้น นั่นแหละเค้าเรียกว่าคิดด้วยความอาลัย อาลัยถึงคนที่ตายไป อาลัยถึงของที่หายไป อาลัยถึงเรื่องต่างๆ ที่มันผ่านมาในชีวิตแล้วมันก็หายไป ถ้าคิดด้วยความอาลัยด้วยความอยากอย่างนั้น เราก็มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจ
อันนี้โยมจำไว้เอาไปนั่งพิจารณาดูว่าเวลาที่เราเป็นทุกข์ ทุกข์เรื่องอะไร ไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นเฉพาะหน้า แต่มันเป็นเรื่องอดีตที่ล่วงเลยมาแล้ว ในเรื่องต่างๆเราก็เอามาคิดให้ทุกข์ใจ ราวกับว่าความกลุ้มใจนั้นเป็นแฟชั่นที่เราจะต้องนำมาใช้ทุกวันทุกเวลา ความจริงสิ่งนั้นไม่ได้เรื่อง ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรแก่เรา เราไปคิดเรื่อยๆไปอย่างนั้น ก็เป็นทุกข์เปล่าๆ เราจึงต้องศึกษาว่าเวลาเรานั่งคิดถึงเรื่องอะไรแล้วเป็นทุกข์ แสดงว่าเราคิดโดยไม่มีปัญญา ไม่มีสติปัญญากำกับความคิด เราก็มีความทุกข์ทางใจ แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญาคิดนึก ด้วยสติด้วยปัญญามาควบคุมความคิด มันก็ไม่เกิดความทุกข์ แต่เกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างถูกต้อง เข้าใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
ที่พระพุทธเจ้าสอนว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ๓ อย่างนี้เป็นหลักควรจะได้พิจารณา เช่นว่ามีอะไรเกิดขึ้น จะเป็นฝ่ายดีก็ตาม ฝ่ายชั่วก็ตาม เราก็รู้ทันท่วงทีว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ว่ามันไม่เที่ยง มันมีความเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวมันก็ดับหายไป สิ่งทั้งหลาย เกิด-ดับ เกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นหลักใหญ่ เป็นหลักสำคัญ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาชีวิต
คือเราเข้าใจว่า สิ่งทั้งหลาย เกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา ตัวเราเองก็เกิด-ดับ ความคิดมันก็เกิด-ดับ ไม่มีอะไรคงทนถาวร ถ้าฝ่ายดีเกิดขึ้น เราก็ไม่หลง ไม่มัวเมา แต่เราบอกกับตัวเองว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา มันเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเราไปยึดดีมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เพราะงั้นเราจะไม่ยึดถือสิ่งนี้ เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ดับไป เราปล่อยให้มันดับไปตามเรื่อง ปล่อยให้มันดับไปด้วยความรู้เท่าทันต่อสิ่งนั้น เพราะงั้นเราจะไม่ยึดถือสิ่งนี้ เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ดับไป เราปล่อยให้มันดับไปตามเรื่อง ปล่อยให้มันดับไปด้วยความรู้เท่าทันต่อสิ่งนั้นเพราะเราใช้สติปัญญา
ถ้าหากว่าเป็นเรื่องเสียหายเกิดขึ้น เช่น ของหาย สมาชิกในครอบครัวตายจากไป หรือโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นแก่ตัวเรา เราก็คิดว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่พอมันไม่เที่ยงแท้ถาวร มันมีความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงอยู่โดยลำดับ แล้วมันก็แตกดับไปตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ที่ถาวร ต่อเมื่อถ้าเราเข้าไปยึดไปถือสักอย่างเดียว เราคิดเห็นอย่างนั้น มีปัญญาเกิดขึ้นก็มีความสบายใจ เรานั่งเพ่งมันด้วยปัญญา มันก็ไม่เกิดปัญหา คือความทุกข์ แต่ถ้าเราเพ่งด้วยความโง่ ความเขลา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆ เราก็มีความทุกข์มีความไม่สบายใจ
กิจประจำวันของเราชาวพุทธ จึงควรหัดเพ่งพิจารณาสิ่งทั้งหลาย ให้มันสลายไปตามธรรมชาติ ให้ดับสิ้นไปตามธรรมชาติ เพราะตัวธรรมชาติมันเกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา สังขารทั้งหลายมีการเกิด-ดับ เมื่อแก่แล้วมันก็หายไป หายไป แต่เราไม่เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริง เราอยากให้มันมีอยู่ถาวร จึงจ้องความคิดไว้ในใจของเรา ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของเราเป็นตัวเรา เป็นสิ่งที่เนื่องกับเรา แล้วเวลามันเกิดความเสียหาย เราก็เป็นทุกข์มีความเดือดร้อนใจ อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจความจริง
ถ้าเราเข้าใจความจริง คิดนึกอยู่เสมอว่า อะไรมันไม่เที่ยง เช่นได้ยินอะไร แต่พูดกับตัวเองว่า มันเป็นสิ่งหนึ่งกระทบหูเรา เรามีความรู้ทางหู แล้วมันก็ดับไป สิ่งใดที่เป็นรูปเป็นร่าง มากระทบตาประเดี๋ยวเดียวมันก็หายไป และกลิ่นที่เกิดขึ้นกระทบจมูกมันก็หายไป รสที่เกิดขึ้นกระทบลิ้นมันก็มีเวลาจางหายไป โผฏฐัพพะ คือเรื่องกระทบทางร่างกายของเรา ไม่เท่าใดมันก็หายไป ไม่มีอะไรที่เรียกว่าคงอยู่ ให้เราได้ยึดได้ถือ แต่ที่เราเข้าไปยึดถือเพราะเราไม่เข้าใจในสิ่งนั้น เราเข้าไปแต่ไปยึดไว้ด้วยความรู้ไม่ถึงไม่เท่าทันในสิ่งนั้น
เหมือนเราไม่รู้จักงู เราอาจจะจับงูมาลูบมาคลำก็ได้ แล้วงูมันก็จะกัดเรา เหมือนชาวนากับงูเห่าในเรื่องอีสป นิทานของอีสป ชาวนาเดินทางออกไปในทุ่งนา ไปเห็นงูตัวหนึ่งพึงมีความหนาวกระทบมาก เรียกว่านอนแข็งอยู่ด้วยความหนาว ชาวนาก็สงสารเลยจับมันมาอุ้มไว้ให้เกิดความอบอุ่น …... (28.05) ไอ้นี่ไปอุ้มงูพิษเข้า พองูมันได้ความอบอุ่นมันก็ตื่นตัวขึ้น แล้วก็กัดชาวนานั้นถึงแก่ความตาย
อันนี้เปรียบได้กับอารมณ์ งูนั้นเหมือนกับอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ทางตาเป็นพวกรูป อารมณ์ทางหูเป็นเสียง อารมณ์ทางจมูกเป็นกลิ่น อารมณ์ทางลิ้นเป็นรส อารมณ์ที่ถูกต้องถึงตายได้ก็เป็นโผฏฐัพพะ แล้วก็ไหลเข้าไปถึงใจเป็นธรรมารมณ์ สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแล้วเราเข้าไปจับไปเกี่ยวไปยึดไปถือเอาสิ่งนั้นไว้ว่าเป็นของเรา เป็นของของเราขึ้นมา เราก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น เป็นทุกข์เพราะความยึดถือ
พระพุทธเจ้าทรงตรัสทรงสอนว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ” แปลว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือเรื่องเกี่ยวกับธรรมารมณ์ที่เกิดกับใจ ท่านสอนให้ไม่ยึดถือ ไม่เอาใจใส่กับสิ่งนั้น ด้วยการเข้าใจผิด หรือด้วยอาลัยอาวรณ์ แต่ท่านสอนให้รู้ว่าสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วมันก็แตกดับไป ไม่มีอะไรคงทน ไม่มีอะไรถาวรที่เราควรเข้าไปจับไปต้องไปยึดไปถือในสิ่งนั้น เพราะการยึดถือเป็นตัวอุปาทาน อุปาทาน คือการยึดถือให้เป็นทุกข์ ให้มีความเดือดร้อนใจไปเปล่าๆ
เราจึงควรจะเข้าใจนั้นโดยธรรมชาติ ว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ว่าอะไรการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นั่นแหละคือลักษณะของอนิจจตา อนิจจตา การไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลาย สรรพสิ่งทั้งหลาย ตัวเรา และผู้ที่อยู่ใกล้เรา สิ่งที่แวดล้อมเรา มันตกอยู่ในสภาวะอย่างเดียวกัน คือมีความไม่เที่ยงอย่างเดียวกัน มีความเป็นทุกข์อย่างเดียวกัน มีความเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรเป็นของตนถาวรเหมือนกันทุกอย่าง ให้เราคิดในรูปอย่างนั้น
ถ้าเราคิดในรูปอย่างนั้นไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น เราก็มองเห็นว่ามันเกิดขึ้นจริง แต่มันก็อยู่ไม่ได้มันก็แตกดับไปแล้ว เราจะไปยึดไปถือมันทำไมว่าเป็นตัวเราว่าเป็นของเรา เราไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น แต่เรามีความเข้าใจในสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง ไม่หลงไม่มัวเมาอยู่ในสิ่งนั้น เพราะว่าเราหลงเมื่อใด เราก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ให้คอยสังเกตเรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ความทุกข์อันใดเกิดขึ้นก็รู้ทันทีว่านี่เป็นความทุกข์ ทุกข์เพราะเราไปยึดถือสิ่งนั้นไว้ ไปกอดไปรัดมันไว้ ถ้าเราปล่อยมันก็ไม่เป็นอะไร จับไว้มันก็วุ่นวายใจเปล่าๆ เราก็พิจารณาว่ามันเกิดขึ้นแล้ว มันตั้งอยู่นิดหน่อย แล้วมันก็ดับไป ไอ้ที่ว่าตั้งอยู่นิดหน่อยนั้นมันไม่นาน ก็เหมือนเอาเมล็ดงาไปวางไว้ที่ปลายเข็มมันอยู่ไม่ได้ อารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบเราก็เป็นเช่นนั้น ไม่มีอะไรที่เรียกว่าคงทนถาวรอยู่กับเราเสมอไป คือเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
เราจึงควรเอากฎของธรรมชาติ คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตามาพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งนั้นมันไม่มีอะไรที่เราควรจะเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของของเรา ให้มันเสียเวลา ให้เหนื่อยแรงเปล่าๆ และเราเข้าใจชัดว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตลอดเวลา แม้ร่างกายของเราทุกคนก็เหมือนกัน เวลานี้มันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
เราเห็นคนบางคนเราพูดว่าท่านไม่แก่ คนนั้นไม่แก่ อันนี้พูดไม่ถูกลักษณะความจริง ความจริงแก่ลงทุกวินาที แต่ว่าแก่ช้า บางคนแก่ช้า แก่ไม่ไวเกินไปเพราะส่วนประกอบของร่างกายมันสมบูรณ์ ธาตุต่างๆ ที่เข้ามารวมตัวเป็นชีวิตร่างกายของเรานั้น มันสมบูรณ์ดีอยู่ เราจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงน้อย แต่ก็เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ถ้าเราจะพูดให้ถูกตามหลักธรรมะ อย่าพูดว่าท่านไม่แก่ หลวงพ่อไม่แก่ เราพูดว่า หลวงพ่อเปลี่ยนแปลงช้าหน่อย มันเปลี่ยนแปลงช้า เห็นใครมีรูปร่างที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เราบอก รูปร่างของคุณนี่มันเปลี่ยนแปลงช้า แก่ช้า อย่างนั้นก็เรียกว่าพูดถูกต้อง แต่ว่าเค้าไม่ค่อยชอบพูดกันเท่าใด เพราะคนเราชอบยอ ถ้าใครไปยอแล้วก็ชอบใจ แล้วคนที่พูดยอก็เพื่อให้เป็นที่พอใจ ให้เบิกบานใจ เช่น ชมว่าดูไม่แก่ อย่างนี้พูดไม่ถูกตามธรรมชาติ ถ้าพูดให้ถูกต้องก็บอกว่า สภาพชีวิตของคุณป้านี่แก่ช้าหน่อย แก่ช้า เปลี่ยนแปลงน้อยๆ เปลี่ยนแปลงช้าๆ ทำไมมันจึงเปลี่ยนแปลงช้า เพราะส่วนประกอบมันดี ธาตุทั้ง ๔ ที่ควบคุมกันเข้าเป็นตัวร่างกายนั้นมันดี มันประชุมพร้อม ความต้านทานสูงโรคภัยไข้เจ็บก็ไม่เกิดขึ้นรบกวนร่างกาย เราจึงเห็นว่าแก่ช้าลงไปหน่อย
ไม่ใช่ว่าไม่แก่ แก่อยู่ทุกวินาที เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวินาที แต่ว่าเปลี่ยนแปลงน้อย
เหมือนกับสินค้าบางอย่างที่เราซื้อมาใช้สอย ถ้าเป็นสินค้าที่เค้าทำดีคงทนถาวร มันก็สลายช้า แต่ถ้าไปซื้อสินค้าที่ไม่คงทนไม่ถาวร ราคาถูก มันก็เปลี่ยนแปลงเร็ว เสียเร็ว อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไม้สอยทุกอย่าง บางอย่างมันก็เสียเร็ว ความเปลี่ยนแปลงมันไว แต่บางอย่างเสียช้า ความเปลี่ยนแปลงมันช้า ร่างกายของคนเราก็เหมือนกัน สังขารร่างกายนี้มีเครื่องปรุงแต่ง อันนี้เครื่องปรุงแต่งที่เราได้มานั้นสมบูรณ์ ควรขอบคุณคุณแม่คุณพ่อที่ให้ร่างกายเราสมบูรณ์กว่าปกติ ทำให้แก่ช้าเปลี่ยนแปลงช้า ชีวิตจะมีค่ามีราคา เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มากขึ้น เพราะเราอยู่ในโลกอยู่เพื่อทำประโยชน์ ไม่ใช่อยู่ไปเฉยๆ อยู่ไปเพื่อทำประโยชน์แก่ตนบ้าง แก่เพื่อนมนุษย์บ้าง ให้มีความสุขความสบาย เราคิดอย่างนั้น จิตใจก็ค่อยเข้าใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราจะเข้าใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอย่างถูกต้องแท้จริง ไม่เกิดความหลงไหลมัวเมาในสิ่งนั้น เพราะทุกอย่างมันก็เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไป
ให้ดูอย่างนี้ว่าคนบางคนอยู่ใกล้เรา เราไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าว่าคนนั้นจากเราไปสัก ๕ ปี ๑๐ ปี กลับมาเร็วก็เห็นว่าร่างกายเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิม มันเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น อะไรๆ ที่เกิดขึ้นในใจของเรานั้น ให้เราเพ่งพิจารณาว่า มันไม่คงที่ไม่ถาวร เรื่องดีก็เป็นอย่างนั้น เรื่องเสียก็เป็นอย่างนั้น อะไรที่เป็นอารมณ์ที่เรารับได้ มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพไม่ถาวร อะไรที่เรารับไม่ได้ มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของมัน ไม่ว่าอะไรมันเปลี่ยนไปทั้งนั้น เราทำอย่างเดียวว่า ไม่เปิดประตูรับ ไม่ยอมรับสิ่งนั้น เพียงแต่ผ่านตา ผ่านหู ผ่านจมูก ผ่านลิ้น ผ่านกายประสาท ผ่านพ้นไป อะไรเกิดขึ้น มันก็ผ่านพ้นไป ผ่านพ้นไปตามกฎตามเกณฑ์ของธรรมชาติ เราไม่พอใจ เราไม่เข้าเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น แต่เรามองด้วยปัญญา ด้วยความรู้ทัน ด้วยความรู้เท่า ถ้าเรามองอย่างนี้เราก็ดีขึ้นชีวิตก็สบาย เพราะไม่เข้าไปยึดถืออะไรให้มากเกินไป
คนที่ยึดถือในเรื่องตัวตนมากก็เป็นทุกข์มาก เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนใจมากๆ แต่ถ้าเราไม่ค่อยยึดค่อยถือ อะไรเกิดขึ้นเราก็รู้ว่ามันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป เราจะไปจับฉวยเอามาเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลทำไม เรานึกอย่างนั้นสภาพชีวิตก็ดีขึ้น อยู่ในโลกในสังคมปัจจุบันนี้ต้องใช้ธรรมะมาก ถ้าไม่ใช้เราก็จะเป็นทุกข์มาก เพราะสังคมกำลังมีมากในทางวัตถุ ความเจริญทางวัตถุมีมากขึ้น แต่ก็เป็นพิษเป็นภัยแก่จิตใจของคนผู้ไม่รู้ธรรมะ เกิดความทุกข์เกิดความเดือดร้อนใจ
แต่ถ้าผู้ใดมีธรรมะเป็นหลักครองใจ อะไรจะเกิดจะเป็นก็ไม่ต้องเป็นทุกข์มากเกินไป เพราะเราเข้าใจธรรมชาติที่ว่ามันเกิดแล้วมันก็เปลี่ยนแปลงแล้ว มันก็ดับไปแล้ว
แต่มันก็เกิดดับๆ ต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด เหมือนอารมณ์ต่างๆที่เคยเกิดขึ้นในใจของเรา เช่น ความโกรธเกิดขึ้น มันก็ดับไปแล้ว ความริษยาเกิดขึ้นมันก็ดับไปแล้ว ความโลภเกิดขึ้นมันก็ดับไป ความหลงเกิดขึ้นมันก็ดับไป แต่เราไม่ยอมให้มันดับ เราไปหาเชื้อมาเพิ่มเติม เหมือนเราจุดไฟผิงเวลาหน้าหนาว แล้วเราก็ไปนั่งใกล้กองไฟแล้วเราหาไม้ฟืนเหยื่อมาใส่ไฟขึ้นอีกไฟมันก็ลุกโพลงต่อไป ถ้าเราไม่เพิ่มเชื้อให้ไฟมันก็ดับไปโดยธรรมชาติ ไฟมันก็เกิดดับอยู่เหมือนกัน แต่ว่ามันไม่ดับหมดเพราะเราเอาเชื้อเข้าไปใส่ เอาไม้ฟืนใส่เอาน้ำมันราดลงไป มันก็ลุกฮือต่อไปเป็นเครื่องสร้างปัญหา เพราะเราทำให้มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ
ในจิตใจเราก็เหมือนกัน มีอะไรมากระทบจิตใจของเราเป็นฝ่ายดีเราก็รับไว้ แต่เป็นฝ่ายชั่วเราปัดทิ้งคือเราไม่เอา แต่ว่าบางทีก็เอาเหมือนกัน เอามาเก็บไว้ในใจ ผูกใจมั่นไว้ว่ามันด่าเรา มันตีเรา มันลักของของเรา มันทำเราให้เจ็บช้ำน้ำใจ เราจะต้องแก้แค้น คิดอย่างนี้ก็เป็นบาปเป็นอกุศล
จำไว้ง่ายๆ ว่าคิดด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยาพยาบาทมันเป็นบาปเป็นอกุศลทำให้จิตใจเศร้าหมอง จิตที่ถูกกิเลสครอบงำนั้นเป็นจิตบาปจิตอกุศลมันเศร้าหมองไป ถ้าเราไม่อยากให้มันเกิดเราก็คิดด้วยปัญญาว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ อะไรดับไป เราก็คลายจากปัญหา คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น เพราะเห็นว่ามันไม่ได้เรื่องอะไรมันเป็นความทุกข์เสียเปล่าๆ เราไม่ควรจะอยู่ด้วยความทุกข์ความร้อนใจ แต่เราควรอยู่ด้วยจิตว่าง จิตสะอาด จิตสงบ หัดทำใจให้ว่างจากกิเลสเสียบ้าง
คำพูดที่ว่าทำใจว่างคือไม่ให้มันมีกิเลส ไม่ให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยา ความพยาบาท หรือที่เป็นตัวการสำคัญก็คือ ถือเนื้อถือตัว สำคัญตนเราเองว่าเป็นนั่นบ้างเป็นนี่บ้าง แล้วเราก็ยึดถือไว้ว่าเป็นของเรา เป็นเรื่องของเรา เกี่ยวข้องกับเราอย่างนี้มันก็เป็นทุกข์มีปัญหา จิตมันไม่ว่างเพราะมีกิเลสมาปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา
แต่ถ้าเราทำจิตให้ว่าง แม้เราจะทำงานเราก็ทำด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ว่าเราทำไปตามหน้าที่ เรามีหน้าอะไรก็ทำไป หน้าที่เลี้ยงลูกก็เลี้ยงไปตามหน้าที่ เลี้ยงให้ดีเลี้ยงให้มันเจริญขึ้น ไม่ต้องไปยึดถือว่าลูกของฉัน ถ้าเราไปยึดถือเข้าเวลาลูกตายก็เป็นทุกข์มีความเดือดร้อนใจ เราทำงานทำการก็ทำไปตามหน้าที่ ทำให้ไม่เป็นทุกข์ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ แต่เราถือว่าสิ่งนี้เป็นหน้าที่ของเราที่เราจะต้องจัดต้องทำ เราต้องทำด้วยความมีปัญญา ไม่ทำด้วยความโง่เขลาเข้าไปยึดไปแบกมันไว้ และไอ้สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่ยอมรับกับเรา ไม่ได้สัญญากับเราว่าจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ มันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเราก็รู้อยู่แก่ใจ ถ้าเรารู้อยู่แก่ใจอย่างนี้ สิ่งนั้นก็ไม่เป็นพิษไม่เป็นภัยแก่เรา แต่จะช่วยให้เราเกิดปัญญา
ถ้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรอย่าเกี่ยวข้องด้วยอวิชชา ด้วยความโง่ความเขลา แต่พึงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญา เหมือนเราจะจับอสรพิษเราก็ต้องจับด้วยปัญญา ถ้าจับด้วยไม่มีปัญญาอสรพิษมันก็แว้งมากัดแขนของเรากัดเท้าของเราได้ ทำให้เราถึงแก่ความตาย จิตใจของคนเรามันตายเพราะเรื่องนี้ ก็ด้วยเรื่องเข้าไปสอดแทรก คิดถึง นึกถึงในเรื่องที่ไม่จำเป็นด้วยประการต่างๆ แล้วเราก็เป็นทุกข์ตรมตรอมใจเพราะสิ่งนั้นๆ การเป็นทุกข์อย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง เราควรจะไม่เป็นทุกข์เกี่ยวข้องกับอะไร ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์แล้วมันก็เกิดปัญญา
เราสังเกตุตัวเราเองเมื่อมีอะไรมากระทบเรารับด้วยปัญญาหรือรับด้วยความโง่ความเขลา ถ้ารับด้วยความโง่เขลามันก็ครอบงำจิตใจเรา ทำให้เราเกิดปัญหาขึ้นตลอดเวลา แต่ถ้าเรารับด้วยปัญญาสิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา คือทำให้เราไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ก็เพราะจิตมันว่างจากความยึดถือว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นเรา เป็นเขา เราทำอะไรกับใครก็ทำด้วยความไม่ยึดถือ คือทำไปตามหน้าที่ตามที่เราพอจะช่วยได้ เราก็ทำไปตามหน้าที่ของเรา แต่เราไม่คิดว่าจะมีอะไร จะได้อะไรจากคนนั้น ถ้าคิดอย่างนั้นมันเป็นอัตตาธิปไตย คือยังเห็นแก่ตัว ไม่เป็นธรรมาธิปไตย คือเห็นแก่ธรรมะ ทำด้วยความมีธรรมะ ทำด้วยจิตใจสูง จิตใจเราก็สะอาด สว่าง สงบ ไม่ต้องลำบากใจ
นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตที่ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้เข้าใจในเรื่องชีวิต เรื่องความทุกข์เรื่องความเดือดเนื้อร้อนใจด้วยประการต่างๆ ให้เห็นว่าสภาพที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร มองอะไรก็มองด้วยปัญญา เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็เกี่ยวข้องด้วยปัญญา อย่าเกี่ยวข้องด้วยความโง่ความเขลา ชีวิตเราก็สะดวกสบาย ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อนขุ่นข้องหมองใจ การอยู่โดยไม่มีความทุกข์ อยู่ด้วยความสงบจิตสงบ อารมณ์ต่างๆกระทบก็ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสิ่งที่มากระทบ เราเป็นไทแก่ตัว ไม่เป็นทาสของสิ่งนั้นๆ ชีวิตก็จะเรียบร้อยเป็นไปด้วยดีอันนี้เป็นข้อคิดสำหรับญาติโยมทั้งหลายในวันนี้ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ที่เรามาฟังธรรมกันตามปกติ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา
ที่มา ปฐกถาธรรมเรื่อง “หลักการแก้ทุกข์” โดย พระเทพวิสุทธิเมธี (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎิ์ ปากเกร็ด นนทบุรี ได้แสดงไว้เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๓๔