แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ต่อนี้ไปขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ มีอากาศปลอดโปร่งแจ่มใสฝนคงจะหยุดแล้ว แต่ถึงเป็นฤดูฝน วันอาทิตย์ฝนก็ไม่ตกเปิดโอกาสให้เราได้มาทำบุญกันสะดวกสบาย แต่ว่ามีความวิตกกังวลกลัวว่าฝนจะตกในตอนเช้าวันอาทิตย์ แต่ต่อนี้ไปไม่ต้องวิตกกังวลแล้ว เพราะว่าฤดูหนาวได้มาแล้ว ฤดูฝนก็ได้ผ่านพ้นไปอากาศเริ่มเย็น ในกรุงเทพเย็นไม่นานหนาวไม่นาน แต่ว่าต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคเหนือคงหนาวนานหน่อย ชาวบ้านที่ลำบากยากจนก็ต้องทนหนาวไปหน่อยเพราะขาดแคลนเครื่องนุ่งห่ม แต่ว่ารัฐบาลก็ได้อนุเคราะห์เอาผ้าห่มไปแจกปีหนึ่งมากมาย แจกแล้วคงจะห่มไปได้สักปีสองปี เพราะเป็นผ้าที่ทนหน่อย
สำหรับเราทั้งหลายไม่มีความหนาวอย่างนั้น แต่ว่ามีความหนาวทางด้านจิตใจ ความหนาวกายนั้นพอแก้ได้แต่หนาวใจนั้นมันแก้ยากหน่อย ความหนาวทางจิตใจนั้นเกิดจากกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นในใจของเรา คือมีความอยากนั่นอยากนี่อยากมีนั่นอยากมีนี่ อยากได้นั่นอยากได้นี่ มันก็เป็นความหนาวใจอยู่ เพราะไม่อุ่นทางจิตใจ ถ้าได้มาสมใจก็สบายใจชั่วขณะหนึ่ง แต่ว่าพ้นจากนั้นก็อยากได้ใหม่ต่อไป เราอยู่ในการไม่อิ่มไม่พอในเรื่องความต้องการ เมื่อต้องการในรูป ในรส กลิ่นเสียง สัมผัส อันเป็นสิ่งที่น่าปราถนาพึงใจของคนสามัญทั่วไป ถ้าเรามีความต้องการมากเท่าใดความทุกข์ก็มีมากเท่านั้น แต่ถ้าเราบรรเทาความต้องการให้น้อยลงไปความเบาใจก็จะเกิดขึ้น
การที่จะช่วยให้บรรเทาความอยากได้นั้นก็อาศัยหลักธรรมะอันเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะว่าหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นหลักธรรมะเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิต ในชีวิตประจำวัน เราผู้เป็นพุทธบริษัท เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า “พุทธบริษัท”แปลว่า “ผู้นั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้า” เมื่อไปนั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้าก็ต้องให้ได้ประโยชน์จากพระพุทธเจ้า เหมือนนั่งแวดล้อมกองไฟในฤดูหนาว เราก็ได้ความอบอุ่นจากกองไฟบ้างฉันใด เรานั่งใกล้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็ได้รับสิ่งเป็นประโยชน์จากพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นั่งใกล้พระพุทธเจ้าก็ใจคิดถึงพระพุทธเจ้า มั่นอยู่ในพระพุทธเจ้า นั่งใกล้พระธรรมก็ใจคิดถึงพระธรรม มั่นอยู่ในธรรมะ ไม่โอนเอนเอียงไปในทางอื่นซึ่งมิใช่ทางของธรรมะ เราเข้าใกล้พระสงฆ์ก็เพื่อฟังธรรมจากพระสงฆ์ ไปเรียนไปรู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า การไปวัดทุกครั้งเราไปหาพระสงฆ์ การไปหาพระสงฆ์ ก็ไปหาธรรมะ ไปหาแสงสว่างสำหรับชีวิต พระสงฆ์ก็มีหน้าที่สอนธรรมะแก่ประชาชน เมื่อประชาชนเข้าใกล้ก็ต้องพยายามพูดชี้แนะแนวทางชีวิตให้เขาเข้าใจ ถ้าเรารู้จักตัวบุคคลนั้นชัดเจนแจ่มแจ้ง เราก็ชี้บอกสิ่งที่เขาคิดผิด พูดผิด ทำผิด คบคนผิดไปสู่สถานที่ผิด ๆให้เขาเกิดปัญญา เกิดความรู้ เกิดความเข้าใจ จะได้กลายเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นคนมีความเห็นชอบ จะได้ประพฤติดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยน้ำใจ อันนี้เป็นหน้าที่ของพระที่จะต้องทำกับชาวบ้านตลอดเวลา อย่าไปทำเรื่องอื่น เช่นไปนั่งดูหมอ ไปนั่งสะเดาะเคราะห์ ไปทำพิธีรีตรองต่าง ๆ ตามแบบไสยศาสตร์ เพราะนั่นไม่ใช่ตัวพระพุทธศาสนา ไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์อย่างเด็ดขาด แต่มันพอสบายใจ หลอกตัวเองไปชั่้วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
การที่จะพ้นทุกข์ได้เด็ดขาดนั้นต้องรู้จักตัวทุกข์ รู้จักเหตุของความทุกข์ รู้ว่าทุกข์นี้ มาจากอะไรแล้วก็รู้ว่าทุกข์เป็นเรื่องแก้ไขได้ ไม่ใช่เรื่องเหนือวิสัยที่จะแก้ไม่ได้ และเมื่อแก้เราจะแก้โดยวิธีใด พระพุทธเจ้าสอนไว้สมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง คือสอนเรื่องความทุกข์ และก็สอนเรื่องเหตุให้เกิดความทุกข์ด้วย สอนเรื่องการดับทุกข์ได้ และก็สอนข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ได้ เป็นคำสอนที่สมบูรณ์ ถ้าพูดตามภาษาสมัยใหม่ ก็พูดว่า ครบวงจร คำสอนของพระพุทธเจ้าครบวงจร แต่ว่าเราที่เป็นพุทธบริษัท ไม่ค่อยจะได้เข้าใกล้พระพุทธเจ้า ไม่เข้าใกล้พระธรรม ไม่เข้าใกล้พระสงฆ์ แม้ไปวัดก็ไม่ได้ไปเพื่อเข้าใกล้ แต่ไปด้วยอย่างอื่น วัดกลายเป็นสิ่งอื่น ไม่ใช่เป็นสิ่งเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้า ญาติโยมเข้าวัดก็ไม่ได้เปิดหูเปิดตาให้สว่างไสว เพื่อปัญญาตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ไปพบความมืดความบอดในเรื่องไสยศาสตร์ ๆ เป็นศาสตร์สำหรับคนบอด คนโง่ คน หลง คนปัญญาอ่อน ถ้าเราไปเชื่อสิ่งนั้นปัญญาก็อ่อนลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเชื่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ชีวิตเราก็จะดีขึ้น มีปัญญา มากขึ้น มีความเข้าใจถูกต้องขึ้น ความหลงผิดต่าง ๆ หายไป ความเข้าใจผิดหายไป ชีวิตสดใสรุ่งเรืองด้วยสัมมาทิฏฐิ อันเป็นตัวต้นในอริยมรรคมีองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้า เรื่องนี้เราจะต้องทำให้เกิด ทำให้มีขึ้นในจิตใจของเรา ถ้าไม่ทำให้เกิดให้มี ก็ไม่ได้มีความหมาย เราเป็นพุทธบริษัท ต้องเป็นอย่างมีความหมาย ไม่ใช่เป็นเพียงสักแต่ว่าชื่อ เพียงสักแต่ว่าได้จดทะเบียนในสำมะโนครัวว่าเรานับถือพุทธศาสนา แต่เราไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เวลาใดมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ เราไม่นึกถึงพระพุทธเจ้าไม่นึกพระธรรม คำสอน ไม่นึกถึงพระอริยสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า แต่เราไปนึกถึงเรื่องอื่นเสียหมด จะเป็นทางดับทุกข์ได้อย่างไร และก็ไม่สมศักดิ์ศรีของความเป็นพุทธบริษัท เพราะมัวไปคิดแต่เรื่องอื่น นึกแต่เรื่องอื่น ไม่สมกับคำที่เราสวดมนต์ว่า “นัตถิ เม สรณัง อัญญัง” “ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าอันประเสิรฐ ด้วยการกล่าวความสัตย์ความจริงนี้ ขอความเจริญในทางธรรมจงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า” ก็หมายความว่าเราจะต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลักใจ เอาพระธรรรมเป็นหลักใจ เอาพระสงฆ์เป็นหลักใจ อย่างแท้จริง ชีวิตเราจึงจะเจริญก้าวหน้าในทางธรรมะ แต่ถ้าเรา เพียงสักแต่ปากพูด แต่ใจไม่ได้คิดถึงสิ่งนั้น ไม่ได้น้อมนำสิ่งนั้นมาเป็นหลักปฏิบัติ เหมือนเราเรียนวิธีทำกับข้าว แต่เราไม่เคยหุงข้าวหุงแกงกิน ความรู้นั้นมันจะให้ประโยชน์อะไร ในทางการปฏิบัติธรรมะ ก็เหมือนกัน เราต้องเรียนให้รู้ธรรมะ เข้าใจธรรมะถูกต้อง และเราก็ต้องนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
คนไทยเรานับถือพระพุทธศาสนามานาน แต่ว่าเราไม่ได้ใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้า อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นอยู่กันเท่าที่เป็นอยู่นี้ ถ้าเราใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้า ให้สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง ประเทศของเราเจริญกว่านี้ ชาติไทยเจริญกว่านี้ จิตใจคนไทยก็สูงกว่านี้ ปราณีตกว่านี้ แต่นี่เราใช้ไม่สมบูรณ์เรายังใช้กันอย่างบกพร่อง ขาดบ้างเกินบ้าง การทำอะไรก็ทำสักแต่ว่าพอเป็นพิธี เช่นวันสำคัญในทางศาสนา เราก็ไปวัด ก็ไปทำพิธีกัน คือไปวัดก็ไปทำบุญตักบาตรตอนเช้า แล้วก็ไปอีกทีหนึ่งตอนเย็นไปทำการเวียนเทียน เวียนไปอย่างนั้นแหละ แต่ใจไม่ได้คิดนึกถึงสิ่งที่ควรคิดนึก เวียนไปพอเป็นพิธี เช่นพอถึงวันมาฆะ วันวิสาขะ ขอให้ได้ไปเวียนเทียนหน่อยก็เพียงเท่านั้น พอพ้นวันนั้นแล้วก็ไม่ได้นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้เอาพระรัตนตรัย มาใช้ เหมือนเราใช้ลมหายใจเข้าออก ในชีวิตของคนเรานั้นเราต้องหายใจเข้าหายใจออก เวลาหายใจเข้าเอาออกซิเจนเข้าใป หายใจออกเอาคาร์บอนออกมา ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่ตลอดเวลา เราจึงมีชีวิตอยู่ได้ แต่การมีชีวิตนั้นเป็นการมีชีวิตทางกายทางวัตถุ ยังไม่มีชีวิตสมบูรณ์ทางด้านจิตใจ
การมีชีวิตสมบูรณ์ทางจิตใจนั้นเราต้องเอาพระธรรมเข้ามาหล่อเลี้ยงใจ ถ้าเราใช้ธรรมะหล่อเลี้ยงใจ ชีวิตเราสมบูรณ์ขึ้น แต่ถ้าเราไม่ใช้ธรรมะ ชีวิตบกพร่อง และก็มีความทุกข์ มีปัญหา อยู่คนเดียวก็เป็นทุกข์แบบคนเดียว อยู่สองคนก็เป็นทุกข์สองคน ทะเลาะเบาะแว้งกัน อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นพวกก็ไม่ได้อยู่กันด้วยความรักความสามัคคี ไม่ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน เราก็แตกแยกแตกร้าวกัน ความแตกแยกแตกร้าวนั้น เพราะไม่มีธรรมะเป็นหลักใจ แต่มีกิเลส คือความเห็นแก่ตัวเป็นหลักครองใจ เราเป็นทาสของอำนาจอัตตาตัวตน หรือความเห็นแก่ตัว ทำอะไรเพื่อตัว แม้ทำบุญให้ทานก็ทำเพื่อตัวทั้งนั้น ไม่ได้ทำเพื่อเสียสละเพื่อบริจาคสิ่งนั้น และก็บริจาคกิเลสให้เป็นจาคะ ทำแต่เพียงทาน ทานยังหวังผลตอบแทนอยู่ เช่น เราเอาของไปถวายพระ แม้เรากล่าวในคำสังฆทาน ลงท้ายก็ว่า “อัมหากัง หิตายะสุขายะ” “เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย” อันนี้มันไม่ถูกต้องตามหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ให้เราทำอะไรเพื่อตัวเราเอง แต่ให้ทำเพื่อคนอื่น เพื่อให้คนอื่นเป็นสุข ถ้าทุกคนที่เป็นพุทธบริษัท ช่วยกันคิดช่วยกันพูดช่วยกันทำเพื่อให้คนอื่นเป็นสุขแล้วโลกมันก็เป็นสุข แต่นี่เราไม่ได้คิดเพื่อให้คนอื่นเป็นสุข แต่เราคิดเพื่อตัวเราเป็นสุข เอาความสุขเฉพาะตัว คนอื่นจะได้ทุกข์เดือดร้อนอย่างไร ก็ช่างเขา อย่างนี้ความเห็นแก่ตัวมันออกหน้า ปัญญาไม่มี แต่ถ้าเรามีปัญญา เราคิดถึงหลัก ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้เราชำระขูดเกลา ขูดเกลาอะไร ขูดเกลาความเห็นแก่ตัว ซึ่งความเห็นแก่ตัวนั้นมันแตกดอกออกช่อมาเป็นความโลภ เป็นความโกรธ เป็นความหลง เป็นความริษยา พยาบาท อาฆาต จองเวร แข่งดี ถือตัว ด้วยประการต่าง ๆ สิ่งนี้มันแตกดอกมาจากความเห็นแก่ตัวนั่นเอง เมื่อเรามีความเห็นแก่ตัว เราก็รู้ อยากได้ เพื่อตัว เรามีโทสะประทุษร้ายคนอื่นเพราะคนอื่นขัดประโยชน์ของตัว เรามีความหลง ไม่รู้ทันไม่รู้เท่าต่อสิ่งนั้นจาก ป...... (13.47) ความเป็นจริง และเรามีความพยาบาทเคียดแค้น ต่อบุคคลใด ๆ ที่ทำอะไรให้เกิดการกระเทือนใจแก่เรา ตอบแทนกันด้วยกรรมชั่ว ไม่ตอบแทนกันด้วยการกระทำความดี มีอะไรเกิดขึ้นก็ชำระชะล้างด้วยบาปด้วยอกุศล ด้วยการก่อเวรก่อกรรม ไม่ให้อภัยแก่กันและกัน ปัญหามันก็เกิดมากขึ้น ความทุกข์มันก็เกิดมากขึ้น นี่ก็เพราะฐานในใจมันไม่ถูกต้อง มันเป็นฐานแห่งความเห็นผิด เมื่อมีฐานแห่งความเห็นผิดความทุกข์ก็เกิดขึ้น เราจึงต้องตั้งฐานให้เป็นสัมมาทิฏฐิ โดยเฉพาะทำอะไรทุกอย่างต้องทำเพื่อการขูดเกลา ความเห็นแก่ตัวให้เบา ให้บาง ให้น้อยลงไป ทุกเวลานาทีของชีวิต แล้วก็ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
การทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นน้ั้น ต้องทำโดยไม่หวังอะไรตอบแทน ถ้าเราหวังอะไรตอบแทนมันก็เป็นกิเลส เป็นตัณหา เป็นการเพิ่มสิ่งโสโครกขึ้นในจิตใจ ใจไม่สะอาด ใจไม่สว่าง ใจไม่สงบ เพราะยังมีเอาอะไรเข้ามาใส่ไว้ในใจอีกมากมาย แต่ถ้าหากว่าเราทำอะไรโดยไม่หวังตอบแทนแก่ตัว ทำตามหน้าที่ ทำเพราะสำนึกว่าเราเป็นผู้ที่ควรทำอะไรแก่คนอื่น เช่นเรามีทรัพย์ควรจะให้แก่คนอื่นได้ เราก็ให้โดยไม่หวังอะไรตอบแทน เรามีความรู้ ควรจะแจกความรู้ให้แก่คนอื่นได้ เราก็ไม่หวังอะไรตอบแทน เราคิดอะไร เราพูดอะไร เราทำอะไร คิดพูดทำเพื่อการชำระชะล้างกิเลสในจิตใจของเราให้หมดไป ให้สิ้นไป ไม่หวังเอาไม่หวังมีอะไร นั่นแหละเป็นการกระทำที่ถูกต้อง แต่ว่าการสอนของพระเรามันไม่ถูกต้อง สอนให้โยมเกิดกิเลส ให้โยมอยากได้ อันนี้ทำไมสอนในแนวนั้น ก็เพราะว่าต้องการอะไรจากโยมนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร และก็สอนให้โยมอยากเป็นนั่นอยากได้นี่ เวลาจะทำอะไรก็มักจะบอกญาติโยมว่า "เอ้า จบให้ดี อธิษฐานให้ดี " อันนี้โยมอธิษฐานจะเอาอะไร อธิษฐานจะเอาทั้งนั้นนะ ลองคิดดูเวลาทำอะไรโยมยกขึ้นทูนหัว ซุบซิบ ๆ กับตัวเองน่ะ พูดเรื่องอะไร พูดเรื่องจะเอาทั้งนั้น “ขอด้วยอำนาจวัตถุทานที่ข้าพเจ้าให้” ให้จีวรก็อธิษฐานจะเอาอะไร ให้อาหารก็จะเอา แม้ทำวัตถุปัจจัย บำรุงกิจการพระศาสนา สาธารณูคุณะกุศล ก็จบทุกทีๆ ก็เอาทุกที อยากได้จากสิ่งนั้น มันเป็นการแบบลงทุนเพื่อค้ากำไร และก็เอากำไรมากเสียด้วย บริจาคเพียงสัก ๑๐ บาท อย่างนี้ ยกจบอยู่ตั้งนานกว่าจะวางลงไปได้ แปลว่าจะเอาจากเงิน ๑๐ บาทนั้น จะเอารูปสวย จะเอารวยทรัพย์ จะเอาความสุข จะเอาความมั่งคั่ง เอานั่นเอานี่ เหมือนกับไปซื้อเอามาอย่างนั้น อันนี้มันไม่ถูกต้อง แต่ว่าสอนกันมาอย่างนั้นตั้งแต่นานแล้ว สอนให้คนอยากแล้วก็ทำกันไป อันนี้การกระทำตามอำนาจความอยากก็ย่อมทำสิ่งที่มันเหลือเฟือไป มันเกินความต้องการไป ก็จะมีหนังสือประเภทหนึ่งเขาเรียกว่าอานิสงส์ การสร้างนั่นสร้างนี่ อานิสงส์ทอดผ้าป่า อานิสงส์ทอดกฐิน อานิสงส์สร้างเสาธง อานิสงส์สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้าง ...... (17.44) สร้างกุฏิ สร้างบ่อน้ำ สร้างอะไรมีทั้งนั้น ท่านพรรณาไว้อย่างละเอียด แล้วผู้ที่ทำอย่างนั้น ตายแล้วเกิดสวรรค์ทุกคน ไม่ได้ไปไหน เกิดสวรรค์มีวิมานสูงหลายโยชน์ๆ หนึ่งมัน ๔๐๐ เส้น ถ้าสูง ๕๐ โยชน์ โยมจะอยู่กันอย่างไร มันสูงกว่าคอนโดมิเนียมในสมัยปัจจุบันที่สร้างแล้วกลัวแผ่นดินไหวจะพังกันอยู่ในปัจจุบันนี้ วิมานเทวดาสูงกว่านั้น อันนั้นที่บอกให้ทำอย่างนั้น ให้ปราถนาอย่างนั้นก็เรียกว่า พอกกิเลสให้เกิดแก่ในใจโยม และโยมจะทำอะไรก็มักจะถามว่า “จะได้อะไร” “ทำอะไรจะได้อะไร” จะเอาอะไรจากการกระทำนั้น ทำเพื่อเอาทั้งนั้น ทำเพื่อจะได้ทั้งนั้น แต่ถ้ารู้ว่าทำแล้วก็ไม่ได้อะไร แต่เราเป็นการทำเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การทำก็น้อยลงไป เรายังเป็นเด็กอยู่ในเรื่องทาน เป็นเด็กอยู่ในเรื่องศีล เป็นเด็กอยู่ในเรื่องการเจริญภาวนา ทำทานก็ทำอย่างเด็กนั่นแหละ คือยังมีความต้องการ จะเล่นไอ้ตุ๊กตาบ้าง อะไรบ้าง ของน้อย ๆ สำหรับเด็กเล่น เรายังสิ่งเหล่านั้น ต้องการในชาตินี้ด้วย ต้องการในชาติหน้าต่อไป อันนี้พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นการพอกกิเลส ให้เกิดขึ้นในใจของเรา ไม่เป็นไปเพื่อการขูดเกลา
การปฏิบัติจิตในทางพุทธศาสนา เช่นให้ทานก็เพื่อการขูดเกลา รักษาศีลก็เพื่อการขูดเกลา เจริญภาวนาก็เพื่อการขูดเกลา เรามาฟังธรรมนี่ก็ฟังเพื่อการขูดเกลา มารับเครื่องมือเอาไปขูดเกลาจิตใจเรา ให้สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ ผู้แสดงธรรมก็แสดงธรรมเพื่อการขูดเกลาเหมือนกัน ไม่ใช่แสดงธรรมเพื่อจะเอาอะไร ถ้าแสดงธรรมเพื่อหวังเครื่องกัณฑ์ หวังชื่อหวังเสียง หวังอะไรนั้น มันก็เป็นการแสดงธรรมที่เศร้าหมอง ไม่ผ่องแผ้วทางจิตใจแล้วมันก็เกิดปัญหา ไปเทศน์ที่ไหนเขาให้น้อยก็ไม่อยากจะไปเทศน์อีกในสถานที่นั้น เพราะเขาให้น้อยเกินไป อย่างนี้มันก็ผิดหลักของนักเทศน์นักสอน ไม่ได้เทศน์เพื่อการขูดเกลา ญาติโยมผู้ฟังก็เหมือนกัน ต้องฟังเพื่อการขูดเกลาๆ ก็ ต้องฟังเพื่อให้เกิดปัญญาแล้วก็นำปัญญานั้นไปเป็นเครื่องมือขูดเกลาจิตใจของเรา เอาไปใช้เป็นแว่นกระจก สำหรับมองดูตัวเรา ว่าเรามีความบกพร่องอะไรบ้าง เราไม่ดีไม่งามอยู่ที่ตรงไหนบ้าง ความประพฤติของเราเป็นอย่างไร เอาศีล ๕ เข้ามาจับว่าเรามีศีล ๕ กี่ข้อ มีความสมบูรณ์ในศีลขนาดไหน เราเอาจิตที่เป็นสมาธิเข้ามาคิดดู ว่าเรามีสมาธิอย่างไร เราเจริญภาวนา เพื่อเห็นนรกเห็นสวรรค์อะไรอย่างไร มันเป็นไปเพื่อวัตถุ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการขูดเกลา ให้ทานก็มักจะเป็นอย่างนั้น รักษาศีลก็เพื่อจะเป็นอย่างนั้น เพื่อจะมีจะได้ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาว่าพวกผู้หญิงแห่งเมืองสาวัตถีมีจำนวนมาก ไปถือศีลในสำนักพระ พุทธเจ้า ทีนี้เมื่ออยู่ถือศีลในสำนักนั้น ก็มีคนมาถามขึ้น ถามพวกผู้หญิงเหล่านั้นว่ามาถือศีลเพื่ออะไร คำตอบเป็นไปเพื่อกิเลส ทั้งนั้น เช่นว่าถือศีลเพื่อไม่ให้สามี มีภรรยาคนที่สอง ไม่อยากให้หญิงอื่นมาร่วมกับสามีของตัวบ้าง ถือศีลเพื่อให้รูปสวยบ้าง ถือศีลเพื่อให้รวยทรัพย์บ้าง ให้ได้เกียรติได้ชื่อเสียงบ้าง ถือศีลเพื่อตายแล้วได้เกิดบนสวรรค์บนวิมานสวยๆ งามๆ อย่างนั้นบ้าง เรื่องนี้ก็ทราบไปถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ๆ ก็ตรัสสอนพวกเหล่านั้นว่า เธอมาถือศีลเพื่อจะมีลาภเพื่อสักการะ เพื่อจะมีเพื่อจะได้ในเรื่องกามารมณ์ ในเรื่องวัตถุ ๆ มันก็เป็นเรื่องกามคือเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัส อยากได้สิ่งนั้นอยากมีสิ่งนั้น ให้ประณีต ให้สวยงาม ให้มั่นคงขึ้นไป การถือศีลเช่นนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เราถือศีลเพื่อพรหมจรรย์
“พรหมจรรย์” หมายความว่ามีการครองชีวิตอย่างบริสุทธิ์ ถือศีลเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ เราไม่ฆ่าใคร เพราะเราต้องการความบริสุทธิ์ในจิตใจ เราไม่ลักของใคร ก็เพื่อสร้างความบริสุทธิ์ในจิตใจ ไม่คิดเอาของคนอื่นมาเป็นของตัว เราไม่ประพฤติผิดในเรื่องกามารมณ์ เพียงศีล ๕ ก็เพื่อจะให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีปัญหา ไม่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าเราถือศีล ๘ ก็งดจากการประพฤติผิด ในกิจที่มิใช่พรหมจรรย์ คือไม่มัวเมาในเรื่องกามารมณ์ ด้วยประการทั้งปวง งดเว้นกามารมณ์ แม้การอยู่ร่วมกับภรรยาของตัวก็เป็นการผิดศีลพรหมจรรย์ เพื่อความบริสุทธิ์ทางจิตใจ ให้มันหายจากราคะ จากความกำหนัด จากตัณหา ความอยากได้อยากมีอยากเป็นด้วยประการต่าง ๆ หากเป็นการถือศีลด้วยการขูดเกลา เราพูดคำจริง คำอ่อนหวาน คำสมานสามัคคี ก็เพื่อเป็นการบังคับตัวเองให้รู้จักใช้ลิ้น ให้รู้จักใช้ปาก จะพูดอะไรกับใคร ก็พูดแต่คำที่เป็นความจริง คนพูดจริงนั้นพูดน้อย พูดไม่มาก ถ้าว่าพูดมาก มันต้องพูดสิ่งไม่จริงบ้าง และก็พูดคำหยาบบ้าง พูดคำเหลวไหลบ้าง พูดคำเพ้อเจ้อ เพ้อไปวันยังค่ำ ไม่ค่อยได้เนื้อได้สาระ เข้าแบบว่าน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ไม่มีผักบุ้งสักกอหนึ่ง มีอยู่นิดๆ หน่อยๆ เอามาทำอะไรก็ไม่ได้ คนพูดมาก เค้าเรียกว่าพูดหว่านไป พระอรรถกถาจารย์ท่านพูดว่า “พูดเหมือนแกงถั่ว” คือแกงถั่วนั้นเป็นแกงสามัญของประเทศอินเดีย ประเทศศรีลังกา คนกินถั่วมาก ทีนี้ใครพูดมาก ก็เลยว่าพูดเหมือนแกงถั่ว คือมันมากเกินไป และจิตใจพุ่งพล่านไม่มีความสงบ หรือว่าเราพูดเรื่องการถกเถียงกัน เวลาเถียงกันมันต้องพูดมาก เมื่อพูดมากจิตก็ไม่มีสมาธิ ห่างจากสมาธิ ฟุ้งซ่านแล้วเกิดกิเลสอื่นตามมา เพราะฉะนั้นการถือศีลข้อที่ ๔ ก็เพื่อสำรวมจิตใจ บังคับปากบังคับลิ้น ให้พูดแต่สิ่งจำเป็น เรื่องน้อย ๆ ไม่มีเรื่องใหญ่โตมโหฬารอะไร พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง เป็นประโยชน์แก่ผู้พูดทั้งสองฝ่าย อย่างนี้ก็สำรวมได้ จิตใจดีขึ้น การถือศีลข้อ ๕ เพื่อรักษาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้เรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพทางกายทางใจจะดีขึ้น สุขภาพกายมันดีขึ้นเพราะไม่เสพของมึนเมา ไม่ดื่มกินสิ่งเสพติดเพื่อประการต่างๆ
อยากจะพูดศีลข้อ ๕ เพื่อให้ญาติโยมที่นุ่งเสื้้อเหลืองมาจากที่อื่นฟังสักเล็กน้อย โยมที่นี่ฟังมาหลายหนแล้วคือว่าศีลข้อ ๕ นี่มันมีอยู่ ๓ คำ มีคำว่า “สุรา” คำหนึ่ง “เมรัย” คำหนึ่ง “มัชชะ” คำหนึ่ง
สุรา คือของเมาที่ต้มกลั่นแล้ว เช่นเหล้าแม่โขง รวงทอง วิสกี้ ของนอกที่ใส่ขวดสวย ๆ ถ้าดื่มเข้าไปแล้วเมาทุกราย ทำให้สุขภาพเสื่อม เสียทรัพย์ เกิดโรค ก่อการทะเลาะวิวาท หน้าด้านไม่รู้จักละอาย คนดีเขาดูหมิ่น สติปัญญาเสื่อม สิ่งเหล่านี้เรียกว่าสุรา อันนี้เมรัย หมายถึงของเมา ประเภทที่ไม่ได้ต้มให้สุก ไม่ได้กลั่นอะไร เอามาแช่ไว้ มาหมักมาดองไว้ให้มันล่วงเวลา พอล่วงเวลาก็เกิดเมาขึ้น เช่น น้ำปานะ น้ำกล้วย น้ำสัปรด น้ำส้ม อะไรอย่างนี้ ถ้าเราทิ้งไว้ล่วงเวลาเกิน ๓ ชั่วโมง มันก็กลายเป็นเมรัย ของเหล่านี้เค้าเรียกว่า “ยามกาลิก” ยามะแปลว่า ๓ ชั่วโมง คือยามหนึ่ง ถ้าว่าเกินนั้นไปพระฉันไม่ได้ แต่ว่าสมัยนี้เขามีตู้เย็น มันไม่เปลี่ยนสภาพ เอาใส่ตู้เย็นไว้สามสี่ชั่วโมงก็ไม่เปลี่ยน แต่ถ้าไว้ในอากาศที่มีความร้อนสูง มันก็เปลี่ยนสภาพเป็นเมรัย เช่น น้ำตาลโตนด นี่ถ้าเราขึ้นตอนเช้า ทิ้งไว้จนบ่ายจนเย็น เอาไปกินเข้ามันก็เป็นเมรัย ฝาด ๆ เฝื่อน ๆ จะมีรสชาติเหมือนลูกโพธิ์ ลูกไทร กินเข้าไปแล้วก็เมาหัวทิ่มบ่อได้เหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่าเมรัย พระฉันไม่ได้ ชาวพุทธบริษัท ก็ไม่ควรดื่มเมรัย
แล้วมีคำหนึ่งว่า”มัชชะ” คำว่ามัชชะนี่พระไม่ค่อยแปล เวลาแปลศีลข้อ ๕ แปลทิ้งเสีย คือแปลว่า “ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท” คืองดเว้นจากดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี่ตกไปคำหนึ่งคือคำว่ามัชชะนี่ไม่แปล ทำไมพระจึงไม่แปล เพราะพระกินหมากกันอยู่ทั้งนั้น สูบบุหรี่กันอยู่ทั้งนั้น ออกจากวัดเดินไปไหนก็สูบบุหรี่พ่นควันโขมง วันนั้นมีคนมาคนหนึ่งมาจากต่างจังหวัด มาบอกว่า “หลวงพ่อทำอย่างไร อย่าให้พระเดินสูบบุหรี่” เพราะเดินสูบบุหรี่นี่ดูน่าเกลียด ถ้าสูบแต่ในห้องมองไม่เห็นแต่ก็ไม่ควรสูบ แต่นี่เดินสูบสามองค์สี่องค์ เดินไปออกจากวัดเดินไปไหนสูบบุหรี่พ่นควันโขมง แปลว่าต้องเผาหัวให้เครื่องมันร้อนก่อนจึงจะเดินไปได้ อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง และเป็นการน่าเกลียด ท่านช่วยเทศน์หน่อย “ บอก “โอ๊ย ฉันเทศน์มานานแล้ว เทศน์ทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ ไปเทศน์ที่ไหนก็เทศน์บอกทุกที บอกว่าพระไม่ควรสูบบุหรี่ ไม่ควรฉันหมาก เพราะมันเป็นมัชชะอยู่” มัชชะคือของเสพติด เช่น ใบกะท่อม ใบกัญชา ใบยาสูบ ใบพลู เอามาปนกับปูนกับหมาก กับยาปนกันเข้า ก็เป็นของเสพติดเหมือนกัน เป็นมัชชะเหมือนกัน แล้วก็ยางฝิ่นพวกดูดฝิ่น ก็ดูดมัชชะเข้าไป เป็นพิษเป็นภัยแก่ร่างกาย โดยเฉพาะบุหรี่เป็นพิษเป็นภัยมาก เวลานี้เขากำลังรณรงค์เพื่อให้คนเลิกสูบบุหรี่ รัฐบาลไม่ได้คิดว่าโรงงานบุหรี่จะล้มหรอก หรือว่าถึงอย่างไรมันก็ไม่ล้ม เพราะคนมันยังดื้ออยู่เยอะแยะ ยังดื้อสูบกันอยู่ แต่ว่าเราที่เป็นคนเข้าวัดเข้าวา ถือศีลถือธรรมก็ควรจะงดสูบบุหรี่ เวลามาวัดไม่ควรเอาบุหรี่มาสูบ เวลาเข้าสู่ที่ประชุมไม่ควรสูบบุหรี่ ไปในงานศพไม่ควรสูบบุหรี่ ไม่ควรกินหมาก เที่ยวทิ้งบ้วนน้ำหมากเลอะเทอะเปรอะเปื้อน พวกกินหมากนี่ต้องมีปูน ๆ เอามาป้ายพลูเหลือก็เที่ยวเช็ดไว้ตามข้างฝาบ้าง ตามข้างเสาบ้าง ตามข้างเรือน เที่ยวเช็ดเปื้อนไปหมดเลย เลอะเทอะ บ้วนน้ำหมากก็ปริ๊ดไปตรงนั้น ปรี๊ดไปตรงนี้ เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปด้วยประการต่าง ๆ มันให้โทษ แล้วคนสูบบุหรี่มันล่อแหลมต่อการเป็นโรคมะเร็งที่ขั้วปอด เมื่อวานนี้มีคนนิมนต์ไปเทศน์ที่วัดโสมนัส คน ๆ นั้น ก็เป็นคนปักษ์ใต้เหมือนกัน แล้วก็ตายไป อายุ ๗๔ ปี ตาย ถามว่าตายด้วยโรคอะไร เป็นโรคมะเร็งที่ขั้วปอด บอกว่ามันจับขั้วเลยทีเดียว จับไปที่ขั้วปอด แล้วก็ป่วยอยู่ตั้ง ๒ ปี แต่มันมาหนักอยู่ ๒ เดือน กระวนกระวายกินข้าวก็ไม่ได้ นอนก็ไม่หลับ แล้วจนกระทั่งตายไป ถามว่า “สูบบุหรี่มากมั้ย” “โอ๊ยสูบวันยังค่ำเลย” สูบบุหรี่มากเลยเป็นอย่างนั้น ใครที่สูบบุหรี่เลิก ๆ เสียบ้าง ใครที่ไม่เคยสูบอย่าสูบ มีลูกมีเต้าโดยเฉพาะลูกชาย ลูกหญิงไม่ค่อยสูบบุหรี่ แต่ลูกชายชอบสูบ เราพ่อไม่สูบสอนลูกได้ แต่ถ้าพ่อสูบจะไปสอนลูกได้อย่างไร เพราะพ่อทำให้ดูเป็นตัวอย่างอยู่ เราจึงควรงดเว้นสิ่งที่เรียกว่ามัชชะ ศีลของเราจะได้สมบูรณ์ขึ้น
ศีลข้อ ๕ นี่มันรักษาทุกอย่าง รักษาร่างกาย รักษาชีวิต รักษาทรัพย์สมบัติ รักษาครอบครัว รักษาคำพูด รักษาสุขภาพกายให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย รักษาสุขภาพจิตให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จึงควรงดเว้น ที่วัดนี้จึงไม่ส่งเสริมการสูบบุหรี่ ใครจะมาบวชวัดนี้ก็ต้องเลิกบุหรี่ บวชแล้วสูบไม่ได้ บวช ๓ เดือน ไม่ได้สูบบุหรี่ ออกไปอยู่บ้านก็เลยไม่สูบ ติดเป็นนิสัยไป มาบวช ๑๕ วัน ก็ไม่ให้สูบ แล้วผลที่สุดก็เลิกได้ ต้องการให้เลิก
เวลามีงานการต่าง ๆ ไม่ให้เอาบุหรี่ถวายพระ โยมใส่เสื้อเหลือง กลับบ้านจำไว้ด้วย เวลาทำบุญสุนทานอะไร อย่าจัดบุหรี่ถวายพระ อย่าจัดหมากถวายพระ อันนี้ถ้าเขาถามว่า “ เอ๊ะ เมื่อก่อนถวาย หมู่นี้ทำไมไม่ถวาย” บอก “โอ๊ยไปฟังเทศน์วัดชลประทานมา หลวงพ่อปัญญาฯ ท่านบอกว่าถวายหมากแก่พระ ถวายบุหรี่แก่พระเป็นบาป” “ เป็นบาปเรื่องอะไร” “เป็นบาปเพราะเอาของเสพติดไปถวายพระ” แล้วทำให้พระเป็นพระขี้ยาไปตาม ๆ กัน เราก็เป็นบาป เป็นทูตส่งเสริมความชั่วร้ายในวงการของพระ เพราะฉะนั้นเราไม่ถวายเป็นประเสริฐที่สุดสิ่งเหล่านี้ ถวายน้ำ น้ำส้ม น้ำหวาน หรือว่าน้ำธรรมดากลั้วคอนิดหน่อย แล้วก็ไม่ถวาย อันนี้พระที่สูบบุหรี่ท่านก็ไม่ได้สูบ โยมไม่ถวาย แล้วก็กระดากเอง ถ้าเห็นสูบบุหรี่ เราก็บอกว่าท่านศีลข้อ ๕ นี่เขามีคำว่ามัชชะ อยู่ด้วยคำหนึ่ง บุหรี่เป็นมัชชะหรือเปล่า ถามปัญหาพระอย่างนั้น พระท่านก็ละอาย ๆ แล้วจะได้เลิกกันไปตาม ๆ กัน อันนี้ช่วยให้ศาสนาดีขึ้น แต่ถ้าเราถวายก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น เรื่องเกี่ยวกับศีลข้อ ๕ ฝากโยมที่มาจาก สัตหีบไปด้วย ให้เอาไปเผยแพร่ เพราะพระแถวนั้นก็ สูบบุหรี่กัน งอมแงมกันอยู่ทั้งนั้น กินหมากปากเปรอะกันอยู่ทั้งนั้น เราไปช่วยแก้ปัญหา ช่วยส่งเสริมกิจกรรมฝ่ายดีฝ่ายกุศลให้ เกิดขึ้นในสังคมชาวพุทธต่อไป นี่เรื่องศีล
อันนี้เรื่องการเจริญภาวนา เราไปเจริญภาวนานี่ เจริญภาวนาเพื่ออะไร จุดหมายของการเจริญภาวนานั้นมี ๓ จุดเท่านั้น คือหนึ่งเพื่อฝึกจิตให้มีความสงบ ให้ตั้งมั่น ให้อ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งานใช้การต่อไป เพราะจิตของคนเรานั้นมันยังไม่ได้ฝึก มันดิ้นรนกลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก แต่ว่าทำได้รักษาได้ ห้ามได้ แต่เราไม่ได้ฝึก ก็ปล่อยไปตามเรื่อง แล้วมันก็ซุกซนยิ่งกว่าลิงซนซะอีก เพราะมันเดี๋ยวคิดเรื่องนั้น คิดเรื่องโน้น คิดเรื่องนี้ อะไรต่าง ๆ ตัวนั่งอยู่ที่นี่ บางทีใจไปแล้ว ใจไปคิดเรื่องอื่น เลยฟังปาฐกถาไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าหลวงพ่อเทศน์เรื่องอะไร เพราะใจไม่อยู่ ไม่ได้จดจ่ออยู่กับเรื่องเทศน์ ไม่สงบ ไม่ตั้งมั่นไม่อ่อนโยนที่จะบังคับให้เป็นอย่างนั้นได้ มันชอบไปโน้นมานี้วันยันค่ำ แล้วมันชอบตกไปในที่ต่ำ จิตนี้ชอบไปในที่ต่ำ ไปในที่ ๆ เป็นกิเลส ไหลไปตามอำนาจความรู้ ไหลไปตามอำนาจความโกรธ ไหลไปตามอำนาจของความหลง ความริษยา ความพยาบาท รูปมากระทบตาก็ไหลไปตามรูป เสียงกระทบหูก็ไหลไปตามเสียง กลิ่นกระทบจมูกก็ไหลไปตามกลิ่น รสกระทบลิ้นก็ไหลไปตามรส เอ้อไอ้นี่อร่อย ตักเอา ๆ เลยทีเดียว แล้วก็กายถูกต้องสิ่งไรเป็นที่พอใจเพลิดเพลิน มันก็ไหลไปติดอยู่กับสิ่งนั้น ใจมันก็ไหลไปกับสิ่งเหล่านั้น อย่างนี้เรียกว่ามันไม่หยุด ไม่สงบ ไม่ตั้งมั่น ไม่อ่อนโยน ไม่เหมาะที่จะใช้งานประณีตสูงขึ้นไป เราจึงต้องการไปฝึกสมาธิตามสำนักต่าง ๆ แต่ว่าการฝึกสมาธิบางสำนัก ก็ฝึกไปในทางที่ล่อคนให้หลง ให้งมงายเหมือนกัน เช่นฝึกสมาธิเพื่อเห็นนรกบ้าง เห็นสวรรค์บ้าง พาไปดูนรก พาไปดูสวรรค์ ซึ่งความจริงนั้นนรกสวรรค์ไม่ใช่ภาพที่จะดูได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่านรกอยู่ใต้ดินสวรรค์อยู่บนฟ้า แต่นรกมันอยู่ในใจของเรา สวรรค์มันก็อยู่ในใจของเรา นิพพานก็อยู่ที่ใจของเรา คนไทยโบราณจึงพูดไว้ถูกต้อง พูดว่า “สวรรค์ในอกนรกในใจ นิพพานอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ใจนั่นแหละ” อะไร ๆ มันอยู่ที่ใจของเราทั้งนั้น ความสุขก็อยู่ที่ใจ ความทุกข์ก็อยุ่ที่ใจ อะไรที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา มันเกิดจากใจเราคิดก่อนทั้งนั้น เมื่อใจเราคิด ปากเราพูด มือเราทำ มันก็เป็นตัวกรรมขึ้นมา กรรมมันเกิดขึ้นจากใจตั้งใจ ถ้าใจไม่ตั้งใจก็ไม่เป็นกรรม เมื่อเป็นกรรมขึ้นมาแล้ว กรรมนั้นก็ก่อให้เกิดผลกรรมต่อไป แล้วเราก็ทำกรรมอีก แล้วก็เกิดวนเวียนอยู่ ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น คือมีกิเลส และก็มีกรรม และก็มีผลแห่งกรรม มันเวียนอยู่เป็นวง ๆ อยู่ในชีวิตของเรา มันตัดไม่ได้ตัดไม่ขาด พระพุทธเจ้าท่านตัดได้ เขาเรียกว่าตัดวงจรแห่งสังสารวัฏ วงจรแห่งสังขาระ ก็คือเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในนี้ อยู่ในกรรมภพ ในรูปภพ ในอรูปภพ ที่เวียนว่ายตายเกิด ๆ อยู่ทุกวินาทีของชีวิต ไม่ใช่ตายไปแล้วเกิดรอบหนึ่ง รอบนั้นมันไกลเกินไป แต่ว่ามันเกิดอยู่ในวงจรของกิเลส เช่นเราเห็นรูป เกิดอยากได้ในรูป แล้วก็ขวนขวาย แสวงหา นี่มันก็เกิดตายอยู่ในรูปนั้น เกิดตายอยู่ในเสียง เกิดตายอยู่ในกลิ่น เกิดตายอยู่ในรส เกิดตายอยู่ในสัมผัส เกิดตายอยู่สิ่งที่กระทบถูกต้อง วนเวียนกันอยู่อย่างนั้น ใจเรามันเวียนอยู่
เหมือนเราไปดูหนังไปดูลิเก ถ้าไปดูแล้วชอบใจ “เอ้อวงนี้ ชอบเล่นดี” วันหลังก็ไปดูอีก นั่นก็เรียกว่าเป็นวงจรหนึ่งของชีวิต ที่เวียนไปดูลิเก ไม่จบ เวียนไปดูหนังไม่จบ ไปฟังเพลง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ชอบอกชอบใจ เขาเต้นแร้งเต้นกาให้ดูเราก็ชอบใจ พอรู้ว่าวัดไหนมี “ พุ่มพวง” ก็ไปอีก วัดก็รู้ว่าโยมอยากฟังเพลง ก็ต้องเอา “แม่พุ่มพวง ดวงจันทร์”ไปร้อง เอา ”สายัณห์ สัญญา” ไป เอา ”สังข์ทอง”ไป อ้าวนี่ตายแล้วไม่ได้มาร้องแล้ว “สังข์ทอง สีใส” นักดนตรี ป้ายยาวเท่าห้องนี้ ป้ายงาน มีนั่งรถมาจากสระบุรี มาเห็นป้ายเขียน มีมหรสพ ยาวไปตั้ง ๗ กิโล ป้ายนั้นปักไว้ มีงานผูกพัทธสีมา วัดราชบรรจง เคยไปเทศน์ที่วัดนี้ ทางเข้าก็แคบ คนมาก ๆ ก็ไปไม่สะดวก แต่ว่ามีงานเท่าไหร่ ๑๕ วัน ฝังลูกนิมิตร ๑๕ วัน ทำงานมากอย่างนี้วัดบูด ๆ อย่างไรโยม ของเน่าเต็มวัด อุจจาระถ่ายเต็มวัด ปัสสาวะเต็มวัด ขยะเต็มวัด บูดเลย เป็นการส่งเสริมเชื้อโรคภายในวัด ทำงานอะไรตั้ง ๑๕ วัน แล้วก็มีมหรสพทุกประเภท มีหมอรำ มีโนราห์ มีหนังตลุง มียี่เก มีคณะดนตรีเป็นคณะ ๆ ละ ๒ คืนๆ มีกี่คณะก็ไม่รู้ละ โยมนั่งรถไปก็จะเห็นว่าประกาศวัดนี้ช่างบ้าบอเสียเหลือเกิน มันยาวเกินไป เพียงแต่ทำป้ายไปติดตามอยู่ สี่แยกห้าแยก ทุ่นเงินหลายหมื่นแล้ว ยังไม่มีรายได้แต่หมดไปตั้งหลายหมื่นแล้ว นี่มันเรียกว่ากรรมการวัดมันชักจะไม่ค่อยเต็มเต็ง สิ้นเปลืองมาก คิดว่าจะได้เงินมาก ปีนี้งานผูกพัทธสีมานี่จะต้องได้เงินน้อย เพราะอะไร ชาวนาลำบาก ฝนมันแล้ง ทำนาไม่ได้ ทีนี้พอตก ๆ ใหญ่ ท่วมหมดๆ ข้าวท่วมหมด แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปสนุก เอาเงินที่ไหนไปทำบุญ อันนี้เราไม่ดูกาลเทศะ ทำบุญอย่างนั้นเหมือนกับพระที่ชุมพรองค์หนึ่งมานิมนต์หลวงพ่อ บอกว่านิมนต์ไปงานผูกพัทธสีมา บอกเอ๊ะ “ผูกอะไร จะทำงาน ผูกพัทธสีมาอะไร ชาวบ้านอำเภอปะทิว อำเภอท่าแซะ เรียบไปหมดเลย พายุเกย์กวาดไปหมดแล้ว จะไปทำงานทำไม ควรจะงด” ไม่รู้จักสงสารชาวบ้านบ้าง เอาแต่จะทำงานสนุก ผูกพัทธสีมามันไม่ได้เรื่องอะไร เตือนแล้วแต่แกก็ดื้อ แกก็ไปทำจนได้ ก็ได้เงินไม่มากเท่าไหร่ เพราะคนมันจน พายุเกย์เอาไปหมดแล้วไม่เหลืออะไร อันนี้เราต้องดูสภาพดินฟ้าอากาศของบ้านเมือง ประชาชนเป็นอยู่อย่างไร งานอะไรที่ไม่จำเป็นก็อย่าไปทำเลย เพาะว่าไม่ทำปีนี้ก็ได้ไม่ได้เดือนร้อนอะไร ไม่ใช่ว่าไม่ทำปีนี้สมภารจะตาย ไม่ใช่อย่างนั้น รอไว้ไปปีหน้าต่อไปก็ยังได้ ปีที่มันอุดมสมบูรณ์หน่อย อย่างนั้นก็ได้ นี่เขาทำงานกันอย่างนั้น นี่ก็เครื่องล่อใจ เอาลิเกมาล่อ เอาหนังเอาดนตรี เอาเครื่องสนุกมาล่อให้คนไปทำบุญ ไอ้เงินที่ได้จากหนังจากละคร ไม่ค่อยเข้าวัด คือมันหมด ไปกับไอ้พวกนั้น เพราะว่าดนตรีวงหนึ่ง คืนหนึ่ง ตั้งสองหมื่นเนี่ย คืนหนึ่งสองหมื่นห้า สองหมื่นกว่าจะเอาเงินที่ไหนให้ คนมาดูไม่พอก็ต้องชักเงินอื่นไปให้ แล้วก็เรื่องลิเก ก็มากมายก่ายกอง ดูแล้วไม่สบายใจ ว่าทำไมทำอย่างนั้น คณะสงฆ์น่าจะห้ามเสียบ้าง ว่าให้ทำงานแบบที่ทำให้ง่าย แบบประหยัด อย่าหาเงินด้วยวิธีจ้าง วงดนตรีมาแสดง เพราะเคยศึกษาไถ่ถามวัดต่าง ๆ ที่ทำงาน แบบอย่างนี้ ขาดทุนทุกวัดเลย ได้เงินนิดหน่อย เขาเรียกว่าเป็นกำไร แต่ความจริงขาดทุน ถ้าคิดรายละเอียดแล้วขาดทุน แต่คนไทยเราไม่เป็นนักบัญชี ไม่รู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่าย ไม่คิดละเอียด ก็เลยขาดทุนกันยุบยับไปตามๆ กัน นี่น่าคิด นี่เพราะอะไร เพราะใจคนมันหลง อันนี้ใครทำให้คนหลง ทางการศาสนาเรานี่ไม่เอาหลัก ธรรมของพุทธเจ้ามาสอน แต่ว่าไปมอมเมาประชาชนด้วยวิธี ด้วยละคร ด้วยวงดนตรีอะไรต่างๆ เอาไปมอมเมา ทำให้คนหลงอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
ที่วัดนี้ไม่เคยมีมหรสพอะไร คนข้างวัดเขาบอกว่าวัดนี้ไม่ไหว อยู่มาตั้ง ๒๐ กว่าปีแล้วไม่มีงานสนุกอะไรเลย หลวงพ่อไม่ชอบ ไม่ชอบมีงานสนุกในวัด เพราะวัดไม่ใช่สถานที่สำหรับคนมาสนุก มาทิ้งกิเสล สกปรกในวัดมากมาย ทั้งนั้น แต่เป็นสถานที่ ๆ จะฟอกล้างจิตใจคน ทำให้จิตใจคนสะอาดผ่องใสด้วยรับฟังธรรมะ อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจึงไม่มีอะไร แต่เวลาต้องการปัจจัยสำหรับทำอะไร ก็ไม่เดือดร้อน ได้มากกว่าที่เขามีงานวัดด้วยซ้ำไป เพราะว่าเราไม่ทำอะไรแบบฟุ่มเฟือย ได้มา ๑๐ บาท ก็เรียกว่าเต็มสิบบาท ได้ร้อยก็เต็มร้อย แต่เอาไปทำกิจที่เป็นประโชน์แก่พระศาสนา เรื่องมันเป็นอย่างนี้ จึงเป็นเรื่องน่าคิด เพราะจิตใจคนมันไหลไปตามอำนาจเหล่านั้นไม่ได้ฝึกฝน อันนี้สำนักบางสำนักก็ล่อคนโดยให้ดูนรก ภาพนรก อันนี้เขาเรียกว่าพูดจูงใจ ให้หลับตาแล้วก็พูดจูงใจให้เคลิ้มไปด้วยคำพูดนั้น เป็นวิธีการจูงใจให้เห็นนรก แล้วนรกที่เห็นก็เหมือนภาพข้างฝาผนังที่เขาเขียนไว้ ถามว่าเห็นนรกมีอะไรบ้าง มีกระทะใบใหญ่แล้วก็มีน้ำเดือดปุดๆๆ ตลอดเวลา สัตว์นรก ลงไปว่ายเหมือนว่ายน้ำเล่นข้างบ้านอย่างนั้นแหละ แต่มันว่ายแล้วมันตาย ตายแล้วมันเกิด ๆ ตลอดเวลา นี่ก็พูดเป็นตัวเปรียบให้ฟัง ความจริงนั้นพูดถึงชีวิตปัจจุบัน เรามันเวียนว่ายจมลงผุดขึ้น จมลงผุดขึ้น ในกองทุกข์อยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่าความทุกข์คืออะไรเหตุให้เกิดทุกข์คืออะไรความทุกข์เป็นเรื่องดับได้ ดับได้โดยวิธีใด เราไม่รู้ไม่เข้าใจ เราก็ดำผุดดำว่ายอยู่ในกระทะทองแดง กระทะทองแดง คือเป็นภาวะที่เป็นทุกข์ๆ ก็อยู่ในใจของเรา ใจที่เป็นทุกข์ ไม่ใช่เขาทำภาพอย่างนั้น สำหรับสอนเด็ก สมัยก่อนนี้ไม่มีหนังสือจะอ่าน ได้เขียนภาพ ภาพนรก ภาพสวรรค์สำหรับสอนเด็ก คนโบราณเขาก็ฉลาดเหมือนกัน เขาสอนด้วยภาพ ตามฝาผนังโบสถ์ ตามศาลา ตามที่ต่าง ๆ เขาเขียนภาพนรกบ้าง สวรรค์บ้าง คนได้เห็นแล้วก็กลัว การตกนรกหมกไหม้ แล้วก็อยากได้ไปสวรรค์ เขาเขียนไว้เช่นนั้น ทีนี้เราไปนั่งกรรมฐานก็ไปดู ดูพวกภาพเหล่านั้น แล้วก็หลงผิดอยู่ในภาพเหลานั้น ไปดูสวรรค์ ๆ ก็บอกว่าวิมานประดับด้วยแก้วแวววาว ก็เหมือนกับตามวัดต่าง ๆ ทำรูปเจดีย์ประดับ ด้วยแก้ว เขาก็เห็นเป็นรูปอย่างนั้น เห็นนางฟ้าไหม แต่งตัวอย่างไร แต่งตัวด้วยผ้าน้อยชิ้น นางฟ้าในกรุงเทพเยอะแยะ กลางคืนย่านพัฒน์พงศ์ เต็มไปด้วยนางฟ้าโรคเอดส์ทั้งนั้น นางฟ้าเป็นโรคเอดส์ บ้านเมืองของเราก็มีมากมาย อันนี้ภาพเหล่านั้น เป็นภาพของกามารมณ์ เป็นภาพแห่งความสุขทางเนื้อทางหนัง ทำให้คนหลงไหลมัวเมาไปด้วยประการต่างๆ
มีพระองค์หนึ่งจะไปเอาเงินโยมๆ นั้นมีเงิน อันนี้แกก็รู้ว่า คุณโยมนั้นคิดถึงสามีที่ตายไปแล้วมาก ก็เลยไปเยี่ยม ก็พูดว่าอาตมาได้นั่งเข้าฌาน แกไม่ละอาย แกพูดสิ่งที่เหลวไหล นั่งเข้าฌานแล้วไปถึงสวรรค์ ไปพบวิมานของคุณหลวงเข้า ว่าเป็นวิมาน สวยงามอย่างนั้นอย่างนี้ คุณหญิงก็ชอบใจ บอกว่าโอ้แล้วมีอะไรขาดบ้างล่ะท่าน บอกว่าทุกอย่างเรียบร้อย ร่างกายสมบูรณ์พูนสุข ที่อยู่ที่กินก็สบาย แต่ยังขาดรถยนต์อยู่ ไม่มีรถยนต์จะใช้ คุณหญิงเลยซื้อรถยนต์ให้นั่งไปคันนึง อันนี้ได้มาด้วยสกปรก ด้วยการล่อลวง มันเป็นการไม่ถูกต้องไปพูดจาอย่างนั้นเพราะรู้ว่าเขาชอบอย่างนั้น เลยทำอย่างนั้น อยากได้จีวรก็บอกว่าไม่มีผ้านุ่งผ้าห่มเขาก็ถวายจีวร อยากได้อาหารก็บอกว่าอดอยากปากแห้งไม่มีอาหารจะกินเลย เลยนิมนต์พระ ๙ รูป ถวายสังฆทาน เลี้ยงอาหารฉันกันบานไปเลย อย่างนี้เป็นอุบายหลอกชาวบ้านให้หลงเชื่อหลงผิด มีเยอะแยะโยม ไอ้แบบ อย่างนี้มีบ่อยๆ ทำบุญด้วยวิธีหลอก แล้วก็ยังวิธีอื่นอีก เช่นว่าทางวัดต่างๆ ก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ล่อใจคน ให้คนหลงให้คนงมงายไปกราบไปไหว้ ไม่ไปเข้าถึงเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา จุดหมายของการเจริญภาวนานั้น มิใช่เพื่ออะไรเพื่อฝึกจิตของเราเอง ฝึกจิตให้มันสงบ มันไม่วิ่งไปวิ่งมา ให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว แล้วก็ให้อ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งาน เหมือนที่เราฝึกสัตว์ป่าน่ะ สัตว์ในป่าที่เราได้มาใหม่ๆ มันไม่เชื่อง เช่นว่าม้าป่ามันก็ไม่เชื่อง ช้างมันก็ไม่เชื่อง อันนี้เราต้องฝึกๆ ให้มันหยุดนิ่งก่อนให้มันเชื่อฟังคำสั่ง แล้วต่อไปก็เอาไปใช้ใด้ เหมือนชาวสุรินทร์ฝึกช้างนะ ชาวสุรินทร์เขาเก่งเรื่องช้าง เขาฝึกช้างเอามาเตะฟุตบอลได้ ปีหนึ่ง ๆ พวกนักท่องเที่ยวฝรั่ง ไปดูช้างเมืองสุรินทร์ ได้เงินหลายสิบล้านนะ ช้างป่าเขาเอามาฝึกๆ ขั้นแรก ฝึกให้หยุด ให้มันสงบก่อน อันนี้ให้เชื่อฟัง ๆ แล้วมันก็ทำตาม เราเรียกช้างตัวนั้นว่าเชื่อง ๆ นั่นแหละเรียกว่าอ่อนโยน ถ้าเปรีบบด้วยใจคนว่ามันเชื่องๆ คือ มันอยู่ในอำนาจ อยู่ในอำนาจของสติ อำนาจของปัญญา เราควบคุมมันได้ เวลาจะให้เป็นอะไรก็ได้ ให้คิดอะไรก็ได้ ให้อ่านหนังสือก็อยู่กับหนังสือ ให้ทำสมาธิก็อยู่กับเรื่องที่ทำสมาธิ เราต้องฝึกอาการเช่นนั้น ทุกคนฝึกได้ง่าย ๆ ไม่ลำบากยากเข็ญอะไร
สมาธิแบบง่ายที่สุด เป็นประโยชน์มากที่สุดก็คือ “เจริญอานาปานสติ” เมื่อวานนี้พบคน ๆ หนึ่ง เขาเป็นนายตำรวจ แกเป็นโรคๆ เกี่ยวกับหัวใจ ที่ได้เกิดเป็นโรคหัวใจเพราะว่าพายุเกย์ อีกนั่นแหละ พายุเกย์ เกิดขึ้นที่ชุมพร แกมีสวนปาล์มประมาณ ๓๐๐ ไร่ แกไม่อยากไปดู ๆ แล้วมันไม่สบายใจ แต่เจ้าหน้าที่เขาบอกว่า ต้องไปรายงานผลเสียหาย จะได้ให้สตางค์ชดเชยบ้าง ก็จะรู้ว่าเสียหายอะไร ก็ไป นั่งทำใจไปตลอดทาง ก็เห็นตั้งแต่เริ่มเข้าเขตประจวบคิรีขันธ์ แล้วไปบางสะพาน ดูไปเรื่อยๆ โอ้มันล่มจมเสียหาย แต่ไปเห็นสวนของตัว พอเห็นสวนปาล์มมันล้มหมด ๓๐๐ ไร่ล้มหมดเลย ก็แน่นหน้าอก ขึ้นมา แล้วก็มือนี่รู้สึกว่ามันหลุดจากหัวบ่าไปเสียแล้ว มือมันหายไป มันชานั่นเองไม่ใช่เรื่องอะไร รู้สึกว่ามือหายไป ยืนนิ่ง ลูกชายไปด้วย ลูกชายเห็นพ่อมีอาการอย่างนั้นก็เลยบอกพ่อ ๆ แกก็พูดคำเดียวว่า “โรงพยาบาล” ลูกก็พาไป มันเป็นสุขศาลาไม่ใช่โรงพยาบาลใหญ่โตอะไร โรงพยาบาลอำเภอ เข้าไปในห้องฉุกเฉิน แกรู้สึกว่า พวกนางพยาบาลที่มาช่วยดูแก ๆ ดูนางพยาบาลตัวเล็กนิดเดียว เหมือนเด็ก ๆ สองสามขวบอย่างนั้น ดูเด็ก ดูเล็ก สายตามันเปลี่ยน สายตาคนนี่พอมันมีโรคอะไรนี่มันเปลี่ยน ดูของเล็กลงไป ดูอะไรมันเล็กไปหมด ไม่เหมือนเดิมสักที ดูไปอย่างนั้น แล้วเขาก็ช่วย นอนอยู่ในห้องฉุกเฉิน ห้าหกวัน เห็นบอกว่า เวลานอนอยู่ห้องฉุกเฉิน รู้สึกว่าหัวใจมันนิดเดียวเหลือนิดเดียว มันอยู่ที่ตรงนี้เหลืออยู่ที่ขั้วตรงนี้นิดเดียว เท่านั้นมันจะขาดจะวิ่นไปแล้ว ความรู้สึกเป็นอย่างนั้น ยังบอกว่านึกถึงอานาปานสติได้ ก็ภาวนา หายใจเข้าพุทธ หายใจออกโธ พุทโธๆๆ กำหนดลมหายใจ หายใจเพิ่มขึ้นเรื่ยย ๆ มันก็ค่อยๆ ดีขึ้นๆๆ เลยอาศัย เลยเห็นผลเจริญอานาปานสติ คือกำหนดลมหายใจเข้าออก ช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับหัวใจได้ ถ้าพูดในแง่วิทยาศาสตร์ ขณะเรากำหนดลมหายใจ การหายใจมันเป็นจังหวะ มันมีจังหวะหายใจดีขึ้น แล้วคุมมันได้ อันนี้สภาพหัวใจก็ดีขึ้น การเต้นหัวใจก็ ดีขึ้นแล้วก็หาย เมื่อวานนี้ก็ไปพบกันที่ทำบุญบ้านของคน ๆ หนึ่ง ก็คุยกัน แกก็บอกว่าเข้าที่ เห็นผลอยู่เหมือนกัน เพราะว่าได้ภาวนาก็เห็นผล เพราะฉะนั้นเวลาเราไม่สบายใจ มีความทุกข์ทางใจ ทำอานาปานสติ
อานาปานสติ ทำง่ายๆ นั่งตัวตรง หรือนอนก็ได้ ถ้าเรามันลุกขึ้นไม่ได้ ก็นอนทำ หายใจเข้า หายใจช้าๆ หายใจออกช้าๆ หายใจเข้ากำหนดรู้ตามลมหายใจ หรือจะภาวนา ว่า พุทธ หายใจออกว่าโธ ก็ได้ หรือไม่ใช้คำนั้นแต่กำหนดรู้ว่าหายใจเข้ารู้ๆ ตามลมเข้าไป หายใจออกก็รู้ตามลมออกมา นั่งทำที่ไหนก็ได้ นั่งตามชายหาดก็ทำได้ โยมอยู่สัตหีบนี่ โอ๊ย ชาดหาดสวย ๆ ไปนั่้งเจริญอานาปานสติชายหาด ลมพัดเย็นสบายหลับตาเสียไม่งั้นฟุ้งซ่าน มันเห็นของอื่นแล้วมันยุ่งใจ เราไปนั่งทำได้ เราไปในสวน ทำงานเหนื่อยก็นั่้งลง เจริญอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเสียหน่อย หายใจเป็นระเบียบขึ้น ความเหน็ดเหนื่อยมันก็หายไป เราจะล้มลงนอน แล้วก็หายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ ทำสักห้าสิบหกสิบครั้ง แล้วจะรู้สึกว่ามันกระปรี้กระเปร่าขึ้น มันมีอะไรดีขึ้น เวลาเรากระทบอารมณ์อะไรที่มันจะเป็นทุกข์นะโยมนะ พอรู้สึกว่าอารมณ์มันไม่ค่อยดี รีบหายใจแรง หายใจแรงๆ อย่างนั้น พอหายใจแรง มันเปลี่ยนแล้ว อารมณ์มันเปลี่ยน ความโกรธมันก็ลดลง อะไรมันก็ลดลงไป หายใจแรงแล้วอัดเข้าไปในปอด หายใจเข้าแล้วอัดไว้ๆ นานหน่อย แล้วก็หายใจออก อัดเข้าไปหายใจออก อารมณ์นั้นหายไป ไอ้ความโกรธหายใป ความเกลียดหายไป มันตั้งตัวได้ตอนเอาลมหายใจกำหนดนี่เอง แล้วถ้าเราทำไว้บ่อยๆ จนกระทั่งชิน ทำบ่อยๆ เวลาจิตหนักใกล้จะหมดลมหายใจ เราจะได้กำหนดลมหายใจของเรา จะได้หลับตาตายอย่างสงบ ไม่กังวลห่วงใยในเรื่องอะไร คนไม่ทำอานาปานสติ ไม่ฝึกภาวนา จิตมันฟุ้งซ่าน เวลาจะตายนึกถึงวัว นึกถึงควาย นึกถึงไร่นึกถึงนา นึกถึงไอ้หลานน้อยๆ ว่าใครจะเลี้ยงดู ไปแล้วใครจะเลี้ยง ตายด้วยความกังวลใจมีความทุกข์ ไปสู่ทุกขคติไม่ได้ไปสู่สุขคติ คือที่ความสุขใจ เพราะฉะนั้นเราหัดไว้ก่อนตาย คือการทำความดีนี่ต้องรีบทำ ก่อนที่มันจะอ่อนเพลีย ร่างกายจะเพลียไปไม่ไหว อยากจะไปรักษาศีล แต่ให้เขาหามไปรักษา นี่มันรักษาไม่ไหวแล้วเพราะว่ามันอ่อนเพลียเต็มที แล้วเวลาใกล้จะตายเขาบอก “อรหัง”ๆ อะไรหังๆ กูไม่รู้เรื่อง ก็เพราะไม่เคยรู้จักว่า อรหังคืออะไร ไม่รู้ว่าพุทโธคืออะไร ก็ว่าส่งเดชไปเท่านั้นเอง มันไม่ได้เรื่องนะ อันนี้เขาเรียกว่าข้าศึกประชิดกำแพง ไม่ฝึกทหารไว้จะไปรบกับใครได้ มันต้องเตรียมไว้ก่อน ต้องรักษาศีลไว้ก่อน ต้องเจริญภาวนาไว้ก่อน หมั่นฟังธรรม หมั่นประพฤติดี ประพฤติชอบ เข้าหาพระศาสนา อยู่ไกลก็ไม่มีโอกาสมาฟัง ก็เอาเทปไปฟังก็ได้ นี่เวลาจบเทศน์ แล้วไปเอาเทปที่กุฏิตรงโน้นดู โอ้ซื้อกันไปคนละ ๕ ม้วน๖ ม้วน เอาไปเปิดฟังที่บ้าน เพื่อนฝูงมาบ้าน เอ้อฟังเทปหน่อย หลวงพ่อปัญญาฯเทศน์ ฟังเทปกันคนก็จะได้กำไรชีวิต มีงานมีการก็เปิดเทปไว้ ถ้ามีงานศพ ให้พระสวดนี่ไม่ต้องสวดมาก ศพไม่ต้องสวด เขาไม่ได้สวดให้ศพ เขาสวดให้คนเป็นฟัง แต่คนเป็นฟังไม่รู้เรื่อง เอ้าเปิดเทปฟัง เอาเทปเกี่ยวกับงานศพเปิดให้คนฟัง ๆ คนก็จะได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ เกิดความเข้าใจ อะไรมันก็ดีขึ้น นั่งรถไปไหน ๆ เอาเทปธรรมะไปด้วย พอขับรถไปก็เปิดเทปให้โยมฟัง ๆ ไปด้วยความสงบใจ ไม่เป็นทุกข์เพราะการจราจรติดขัด ไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องอะไรต่างๆ เพราะว่าเราได้เอาธรรมะไปใช้ ประคับประคองจิตใจ
ธรรมะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมาก ถ้าเราใช้ แต่ถ้าเราไม่ใช้ เราถูกลงโทษๆ จากธรรมชาติๆ ลงโทษให้เราเดือดร้อนใจ ให้เรามีปัญหา เพราะเราไม่ใด้ใช้ธรรมะ ไหนๆ เราก็เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราก็เดินตามเส้นทางของพระพุทธเจ้า เส้นทางนั้นคือตัวธรรมะนั่นเอง ธรรมะเป็นแผนที่บอกทางชีวิตให้เราเข้าใจ สังฆคือตัวปฏิบัติ เราปฏิบัติตามนั้น ปฎิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติให้ถูกต้อง ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ เราก็จะพ้นจากทุกข์ได้สมความปราถนา แสดงมาพอสมควรแก่กาลเวลา