แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ต่อนี้ไปก็ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา ฤดูนี้เป็นฤดูที่เรียกว่าฤดูหนาวแต่ความจริงก็ไม่ได้หนาวเท่าใด แต่มันดีกว่าฤดูร้อนเพราะฤดูร้อนอากาศร้อนมาก ฤดูนี้ร้อนน้อยลงไปหน่อยก็เรียกว่าเป็นฤดูหนาว ความจริงมันไม่มีหนาว แต่มันมีร้อนมากร้อนน้อย ถ้าร้อนมากก็เรียกว่าเป็นฤดูร้อน ถ้าร้อนน้อยก็เรียกว่าเป็นฤดูหนาว พอถ้าฝนตกก็เรียกว่าเป็นฤดูฝน บ้านเมืองเรานั้นมี ๓ ฤดูกาล คือ ร้อน หนาว ฝน สับเปลี่ยนกันไป ตามวันเวลาที่โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไป พอถึงฤดูร้อนก็อึดอัดขัดใจหน่อย ฤดูร้อนน้อยค่อยสบายใจหน่อย แต่ก็ต้องระวัง ฤดูนี้โรคภัยอาจจะเกิดได้ง่ายเหมือนกัน โดยมากเป็นหวัด ปอดบวม เพราะว่าเราไม่ระวังตัว เวลานอนไม่ใส่เสื้อไม่ห่มผ้าให้มันอุ่นๆ ไว้ เวลาหัวค่ำมันไม่หนาวเท่าใดแต่พอตอนดึกมันหนาวมากแต่ไม่ได้ห่มผ้าก็อาจจะเป็นหวัดได้ง่าย จึงต้องระวังตัวเพื่อรักษาสุขภาพของร่างกายของเราไว้ให้เป็นไปปกติไม่เกิดอาการผิดปกติ เพราะถ้าเกิดอาการผิดปกติเราก็เป็นทุกข์ ไม่สบายกายแล้วก็ไม่สบายใจ แต่ถ้ามันเป็นไปปกติก็มีความสบายทำงานอะไรก็ได้สะดวกไม่ขัดข้องด้วยเรื่องสุขภาพอนามัย ใครๆ ก็ต้องการสุขภาพดีอนามัยดีด้วยกันทั้งนั้น เพราะว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์มีความประสงค์อย่างนั้น ความไม่มีสุขภาพไม่มีอนามัยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ เพราะมันสร้างปัญหาสร้างความทุกข์ความเดือนร้อนด้วยประการต่าง ๆ
ความทุกข์นั้นมันมี ๒ แบบ เรียกว่า ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจ คำว่าทุกข์ทางกายหมายความว่าร่างกายเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ แล้วก็ทุกข์ทางใจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในใจของเราเอง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นทางกายเพราะร่างกายมันผิดปกติไม่อยู่ในสภาพปกติเราก็มีความทุกข์ทางกาย ความจริงมันทุกข์อย่างเดียว มันทุกข์อยู่ที่ใจ เพราะว่าใจเข้าไปยึดถือกาย เมื่อใจเข้าไปยึดถือกายก็เลยเป็นทุกข์อันเนื่องมาจากกาย เรียกว่า “กายิกทุกข์” แปลว่าทุกข์เนื่องจากกาย “เจตสิกทุกข์” ทุกข์เนื่องจากจิต คือจิตมันคิดมันสร้างอารมณ์ความทุกข์ให้เกิดขึ้น เช่น ความวิตกกังวล ความหวาดกลัว ความระแวงต่างๆ เมื่อเกิดขึ้นในใจของเราก็ทำให้เราไม่สบายใจมีควาามทุกข์ เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการสร้างของจิต นั่นเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ความทุกข์อย่างหนึ่งเกิดจากความเกี่ยวเนื่องกับร่างกาย เช่น เราเกิดไม่สบายทางร่างกาย เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน ท้องเสีย หรือเป็นอะไรต่างๆ ตามที่มันเป็นอยู่ ใจก็เข้าไปเป็นทุกข์ด้วย ที่ใจเข้าไปเป็นทุกข์ด้วย ก็เพราะใจนึกว่าร่างกายของฉัน อะไรของฉัน ความยีดถือนั่นแหละมันเป็นตัวทุกข์
เราจึงพูดว่าขันธ์ ๕ เป็นความทุกข์ ทุกข์ก็เพราะเข้าไปยึดถือว่าขันธ์ ๕ เป็นตัว ตัวเป็นขันธ์ และก็มีความคิดว่าเรื่องนั้น ถ้าเราไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่มีความทุกข์อะไร สมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงประชนม์อยู่ ที่เราสวดมนต์ว่า “ธะระมาโน โส ภะคะวา พะหุลัง สา วะเก วิเนติ” เมื่อพระพุทธะเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ย่อมสั่งสอนสาวกส่วนมากดังนี้ คือสอนว่า “รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนาอนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญาอนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขาราอนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณังอนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง” แล้วก็สอนต่อไปว่า “รูปัง อนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา อนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญา อนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารา อนัตตา สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณัง อนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”
อันนี้เป็นคำสอนจากคำสอนที่สูงสุดในทางพระพุทธศาสนาที่ให้เราได้พิจารณาได้ศึกษาได้ทำความเข้าใจ คำสอนนี้มันก็อยู่ที่ตัวเรานั่นแหละคือตัวที่สมมติ คือ ร่างกายกับจิตใจ กายกับใจรวมกันเรียกว่าเป็นตัวขึ้นมา เป็นคนขึ้นมา อันนี้มันเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่มันเป็นอย่างนั้น กายก็เป็นของธรรมชาติ จิตใจก็เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ว่าเราไม่มีปัญญาในเรื่องนั้น ไม่เข้าใจเรื่องนั้นถูกต้องเลยเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายของฉัน อะไรของฉัน ของฉันมันมากเต็มบ้านเต็มเรือน ก็ยังออกไปถึงนอกบ้าน ชาติของฉัน ประเทศของฉัน อะไร ๆ เป็นของฉันไปหมด การเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวฉัน เป็นของฉัน นั่นแหละมันเป็นตัวเหตุให้เกิดความทุกข์ ให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ
พระผู้มีพระภาค (06.53) สอนแนวทางเพื่อให้เราพิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ ไม่ให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจในเรื่องนั้น ก็สอนให้พิจารณารู้จักแยกร่างกายออกเป็นส่วน ๆ ที่เรียกว่าเป็นขันธ์ คำว่า “ขันธ์” แปลว่า “กอง” ให้แยกออกเป็นกอง ๆ ไป คือถอดออกมาเสียให้หมด อย่ารวมไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้ารวมกันมันก็เห็นเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขาขึ้นมา ถ้าเราแยกออกไปหมดแล้ว ตัวมันก็หายไป ทีนี้คนเราไม่ค่อยได้แยก มักมองเป็นกลุ่มเป็นก้อน เขาเรียกว่า “คณะสัญญา” “คณะ” แปลว่า “ก้อน” “สัญญา” คือ “ความหมายมั่น” หมายมั่นว่าเป็นก้อนเป็นกลุ่ม เช่น ร่างกายเรานี้ ถ้าเราแยกออกไปมันก็ไม่มีตัวอะไร แต่เราไม่แยก เรามองเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และก็เป็นของเราของเขาขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านสอนให้แยก ให้แยกออกไปเป็นส่วน ๆ ขั้นแรกขอให้แยกออกเป็นกอง ๕ กอง เรียกว่า กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ เรียกว่าขันธ์ ขันธ์ก็แปลว่ากองนั่นเอง ให้แยกออกเป็นกอง ๆ เป็น ๕ กอง เอารูปไปวางไว้ที่หนึ่ง เอาเวทนาวางไปไว้ที่หนึ่ง สัญญาไปวางไว้ที่หนึ่ง สังขารไปวางที่หนึ่ง วิญญาณเอาไปวางไว้ที่หนึ่ง แบ่งแยกออกไป เมื่อแยกออกไป ตัวเนื้อมันก็ไม่มี ไม่มีที่ตัวที่ตน เหมือนกับวัตถุสิ่งหนึ่ง เช่นว่า ตะกร้า หรือชะลอม สำหรับใส่ข้าวใส่ของที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ๆ นั้น ถ้าเราถอดออกหมดคำว่าตะกร้ามันก็หายไปมันไม่มีตัว เก้าอี้ที่เรานั่งมันมีส่วนประกอบกันเข้า แล้วก็กลายเป็นเก้าอี้ขึ้นมา ถ้าเราถอดออกหมด ตัวเก้าอี้นั้นก็หายไป โต๊ะที่เราใช้หากถอดออกหมด โต๊ะมันก็หายไป อะไร ๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราแยกออกไปแล้วมันก็ไม่มีเนื้อแท้ ไม่มีตัวที่ปรากฎ ถอดออกได้หมด ทุกอย่างเป็นของรวมกันเข้าไหลไปตามอำนาจของการปรุงการแต่ง ถ้าเราถอดออกเมื่อใด เมื่อนั้นมันก็ไม่มี ทีนี้เราไม่ค่อยเรียนถอด แต่เรียนรวมไว้ รวมไว้เป็นกลุ่มเป็นก้อน แล้วเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวฉันเป็นของฉันอยู่ตลอดเวลาเหมือนอาคารหลังนี้ ถ้าทุบทิ้งเสียแล้วมันก็ไม่มี ทุบออกไปแล้วก็ไปกองเป็นเศษๆ ไป เป็นเศษปูน เศษไม้ เศษเหล็ก เศษกระเบื้องเอาไปกอง ๆ ไว้แล้ว เศษ ๆ นั้นถ้าแยกออกไปอีก มันก็ไม่เหลืออะไร
ในทางพระพุทธศาสนาจึงสอนวิธีแยกนามรูปออกไป ร่างกายกับจิตใจนี่แบ่งออกเป็น ๒ เรื่องก่อน เรียกว่าเป็นรูป กับ เป็นนาม รูปเป็นสิ่งที่สัมผัสด้วยประสาท ๕ ตาดูได้ หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องได้ สิ่งนั้นเรียกว่าเป็นรูป อะไร ๆ ที่เราสัมผัสด้วยประสาท ๕ ได้ เรียกว่าเป็นรูปขึ้นมา รูปประกอบขึ้นด้วยอะไร รูปประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุทั้ง ๔ มาประสมกันถูกส่วนก็เกิดเป็นรูปร่างขึ้นมา ถ้าเราแยกออกไป เอาธาตุทั้ง ๔ ออกไปเสีย แยกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนนั้นมันก็หายไปเหมือนกัน เรียกว่าตัวหายไป สิ่งที่ประกอบด้วยธาตุนั้นในร่างกายของเรานี้ ของใดเป็นของแข็ง เราเรียกว่าเป็นธาตุดิน ของเหลวก็เรียกว่าเป็นธาตุน้ำ ของที่ให้ความอบอุ่นก็เรียกว่าเป็นธาตุไฟ ของที่เลื่อนไปมาได้เรียกว่าเป็นธาตุลม ลมก็คือแก๊ส ที่มีอยู่ในร่างกายของเรา มันหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในท้อง ลมในไส้ ลมที่พัดไปตามที่ต่าง ๆ ที่มีช่องว่าง เรียกว่ามีลม มีแก๊ส หรือมีลมในร่างกาย ส่วนของแข็งเป็นตัวประกอบสำคัญ แล้วก็มีน้ำเป็นเครื่องประกอบ มีไฟเป็นเครื่องประกอบ ในร่างกายของเรานี้มีครบทั้ง ๔ อย่าง มีดินคือของแข็ง มีน้ำคือของเหลว มีไฟคือความร้อน แล้วก็มีแก๊สคือลมอยู่ในร่างกาย ถ้าส่วนทั้ง ๔ นี้ประชุมพร้อมเพรียงกันอยู่ ร่างกายก็เป็นปกติ ถ้าหากว่าเกิด ๔ อย่างนี้ประชุมเกิดไม่พร้อมร่างกายก็ผิดปกติ คือ มีความเจ็บไข้ได้ป่วย
ความเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้นจากความผิดปกติของร่างกาย เมื่อร่างกายเราผิดปกติ มันก็เป็นอย่างนั้น ความผิดปกติก็เกิดจากจากธาตุไม่สมบูรณ์ เครื่องประกอบมันไม่สมบูรณ์ พวกหมอแผนโบราณเขาจึงค้นว่าคนป่วยเพราะขาดธาตุอะไร เขามีหลักมีวิธีการที่จะค้นคว้าตามหลักคำนวณว่าคนเรานี้ประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง แล้วมันขาดธาตุอะไรเขาก็เติมธาตุนั้นลงไป การให้กินยาเป็นการเติมธาตุ ขาดธาตุดินก็เติมยาที่จะให้เกิดธาตุดิน ขาดธาตุน้ำเติมยาที่จะให้เกิดธาตุน้ำ ขาดธาตุไฟก็เติมยาประเภทที่มีธาตุไฟ คือยาร้อนๆ พวกขิง ข่า ...... (13.11 เสียงไม่ชัดเจน) พวกอะไรต่าง ๆ มันเป็นความร้อน มันเป็นเครื่องเทศ ทำให้เกิดความร้อนขึ้นในร่างกาย เขาเติมธาตุความร้อนลงไป แล้วถ้าหากขาดธาตุลม ก็เติมธาตุลมลงไป มียาเครื่องประกอบ เรียกว่าเติมธาตุให้ร่างการแข็งแรงขึ้นมีสภาพเป็นปกติต่อไป เวลาใดมันสบายก็ไม่ต้องเติม ถ้าขาดก็ต้องเติม นี่เป็นแผนโบราณ ยาแผนใหม่เขาก็มีการเติมวัตถุบางอย่างในร่างกาย เช่นว่าขาดวิตามิน เครื่องหล่อเลี้ยงร่างกาย เมื่อขาดวิตามินใดก็เติมวิตามินนั้นลงไป ให้กินวิตามินนั้น ให้กินวิตามินรวม ก็เป็นการเติมธาตุเข้าในร่างกายให้ร่างกายเราจะได้อยู่ในสภาพปกติต่อไป ร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ อย่างนี้ ถ้าแยกออกไป แยกไปมันก็หมด สิ่งที่เป็นธาตุนั้น ของแข็งเป็นธาตุดิน เช่นเราตรวจอาการ ๓๒ ในร่างกาย อัตถิ อิมัสมิง กาเย ในร่างกายนี้มี เกสา ผมทั้งหลาย โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตะโจ หนัง มังสัง เนื้อ นะหารู เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ตับ ปอด ไต ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า จนสุดท้าย เยื่อในสมอง กะโหลกศรีษะ รวม ๓๒ อย่าง ใน ๓๒ อย่างนี้ก็แบ่งส่วนออกไปได้เป็นธาตุ ๔ ส่วนใดแข็ง ๆ เส้นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่ก็เป็นธาตุดิน ส่วนใดที่เป็นน้ำเอือบอาบซึมซาบในร่างกายก็เป็นธาตุน้ำ ส่วนใดที่ให้ความร้อนก็เรียกว่าเป็นธาตุไฟ ส่วนใดที่พัดไปพัดมาเคลื่อนไหวอยู่ในท้องในไส้ก็เรียกว่าธาตุลม ธาตุลมนี่เราเห็นได้ว่ามันพัดไปในร่างกาย เช่นบางคราวท้องลั่นจ๊อกแสดงว่าลมมันเคลื่อนไหว บางทีท้องอืดก็ลมมันมาก ท้องแฟ่บลมมันก็น้อยลงไป มันมีอยู่ในร่างกาย ถ้าแยกส่วนเหล่านี้ออกเป็นส่วน ๆ ตัวร่างกายมันก็ไม่มี มันก็หายไป หายไปแล้วเราก็ไปยึดตัวเราว่าเป็นตัวเราว่าเป็นของเรา เพราะมันไม่มีตัวที่จะให้ยึด ท่านสอนให้แยกให้พิจารณาออกเป็นส่วน ๆ อย่างนี้ ก็เพื่อจะไม่ให้ไปหลงติดอยู่ในร่างกายนั้น เพราะคนเราโดยทั่วไปมักจะนึกเป็นก้อนเป็นกลุ่มอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า คณะสัญญา คณะสัญญาก็คือสำคัญมั่นหมายว่าเป็นก้อนเป็นกลุ่ม เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขานั่นเอง อันนี้สอนให้แยกออกเพื่อทำลายสิ่งนั้นให้หมดไป เมื่อแยกออกแล้วไอ้ส่วนนั้นมันก็หายไป
ชื่อนี่เป็นของสมมติ สมมติตั้งชื่อว่าเป็นสัตว์ ว่าเป็นคน เราเรียกคนเป็นสัตว์ สัตว์เป็นคนก็ได้ สมมติช้างให้เป็นม้าก็ได้ ม้าเป็นช้างก็ได้ แต่มันสมมติกันมาอย่างนั้นเสียแล้ว สมมติว่าสัตว์อย่างนั้นเรียกว่าเป็นม้า สัตว์อย่างนั้นเรียกว่าเป็นช้าง สัตว์อย่างนั้นเรียกว่าเป็นสุนัข สัตว์อย่างนั้นว่าเป็นแมว สัตว์อย่างนั้นเป็นวัวเป็นควาย นั่นเป็นเรื่องสมมติที่เราตั้งชื่อให้มัน ถ้าเราจะสมมติเป็นอย่างอื่น สมมติว่าช้างเป็นม้าก็ได้ ยอมรับกัน คนเรายอมรับสมมติ เมื่อสมมติอันใดแล้วก็ยอมรับว่ามันเป็นสมมติ ไอ้ตัวสมมตินั้นเป็นความจริงอย่างหนึ่งเหมือนกัน เขาเรียกว่า “สมมติสัจจะ” มันเป็นความจริงแบบสมมติ แต่ไม่เป็นความจริงโดยปรมัตถ์โดย ...... (17.13 เสียงไม่ชัดเจน) ลึกซึ้ง ไม่เป็นความจริงอย่างนั้น เช่น เราเรียกว่าเป็นช้างมันก็เป็นคำสมมติขึ้นมา เรียกว่าเป็นม้า เป็นแมว เป็นสุนัข เป็นอะไรต่าง ๆ มันเป็นคำสมมติ แล้วก็สมมติว่าคน โดยเดินตามยาวตามส่วนสูงของโลก สัตว์เดรัจฉานนั้นมันขวางโลก เดรัจฉานแปลว่าขวาง คือมันเดินขวางของเส้นโลก ไอ้เรานี่มันเดินตรงตามเส้นของโลกเรียกว่าส่วนสูงของโลก สัตว์เดรัจฉานไปตามส่วนกว้าง เราก็สมมติเรียกว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานมันมีหลายชนิด เพราะฉะนั้นต้องตั้งชื่อสมมติลงไปว่านี่เป็นแมว นี่เป็นหมา นั่นเป็นคน นั่นเป็นไก่ นั่นเป็นหมู นั่นเป็นช้าง นี่เป็นม้า นี่ก็สมมติกันขึ้น คนที่เห็นคนแรกเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นอะไร แล้วก็เลยตั้งชื่อติดต่อกันมาเป็นอย่างนั้น ในตัวคนเรานี้ก็เหมือนกัน เราออกมาจากท้องแม่ก็เรียกว่าเป็นคน คราวนี้คนมันเยอะแยะ มันต้องสมมติลงไปสักอย่างหนึ่งก็คือตั้งชื่อให้ ตั้งชื่อผู้หญิงอย่างหนึ่ง ผู้ชายอย่างหนึ่ง เช่นชื่อแก้ว ชื่อจัน ชื่อขวัญ ชื่อมี ชื่อศรี ชื่อสา ก็เป็นชื่อที่คนสมมติตั้งให้ แล้วคนถูกตั้งก็ติดในชื่อนั้น ถ้าเขาเรียกว่าแก้วก็ขานรับทันที เรียกว่าจันก็ขานรับ เรียกมีก็ขานรับ เรียกศรีเรียกสาก็ขานรับ การขานรับนั้นเป็นการยอมรับสมมติ รับว่าเราชื่อนั้น เราชื่อนี้ ความจริงชื่อที่ตั้งไว้นั้นเป็นเครื่องหมายสำหรับเรียกร้องกันเพื่อทำความเข้าใจกันในการพูดการจา แล้วเราสมมติวันเวลา เช่น สมมติว่าสว่าง มืด สว่างว่าเป็นกลางวัน มืดว่าเป็นกลางคืน และก็มันมีกลางวันมีกลางคืนมาก ๆ เราเรียกยากไม่รู้จะเรียกอย่างไร เลยจัดเป็นวัดขึ้นมา วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันศุกร์ วันเสาร์ นี่เราตั้งชื่อให้ เป็นเรื่องสมมติชื่อทับลงไปในวันคืนนั่นเอง แล้วก็หลายๆ วันเข้า มันก็ลำบากอีกไม่รู้จะเรียกอย่างไร ก็เรียกว่าเป็นเดือน 4 สัปดาห์ก็เป็นเดือนหนึ่ง เดือนก็มีชื่ออีก ถ้าไม่มีชื่อมันก็เรียกกันไม่ได้ พูดกันไม่รู้ภาาษา เลยตั้งชื่อเดือนนั้นเดือนนี้ เดือนมันก็หลายเดือน ก็ตั้งให้เป็นปีเสียที จะได้สะดวกแก่การคำนวณ ก็เลยเป็นปี ที่นี้เป็นปีไม่มีชื่อก็ลำบาก เลยตั้งชื่อ กุล ชวด ฉลู ขาล มะโรง มะเส็ง อะไรก็ตามเรื่อง เป็นชื่อปีสมมติกันขึ้น แล้วคนเข้าไปติดชื่อสมมติในเรื่องปีนั้นปีนี้ สมมติว่าคนเกิดปีนั้นดี เกิดปีนั้นไม่ดี เกิดวันนั้นดี เกิดวันนั้นไม่ดี วันนั้นเป็นมงคล วันนั้นไม่เป็นมงคล อันนี้เป็นการสร้างขึ้น ตามแบบไสยศาสตร์ มันไม่ใช่ความจริงอะไร วันเดือนปีที่แท้จริงนั้นไม่มีแล้วก็ไม่เชื่อ ไม่มีอะไร อยู่ตามธรรมชาติ ก็อาศัยโลกมันหมุนไป โลกหมุนไปแล้วก็เกิดกลางวัน เกิดกลางคืน ส่วนใดที่รับแสงอาทิตย์ก็เป็นกลางวัน ส่วนใดที่ไม่ถูกแสงอาทิตย์ก็เป็นกลางคืน แล้วโลกมันหมุนผลัดเปลี่ยนวันเวียนกันไปอย่างนั้น จนต้องตั้งวันเป็นวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้นขึ้นมา ก็เป็นเรื่องสมมติกันทั้งนั้น มันไม่ใช่ตัวความจริง
ตัวความจริงนั้นมันไม่มีชื่อ มันเป็นแต่ธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตลอดเวลา ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติทั้งหลายไม่เที่ยง ธรรมชาติทั้งหลายมีความทุกข์ ธรรมชาติทั้งหลายไม่มีเนื้อแท้ที่เป็นตัวเป็นตน นี่เราต้องพิจารณาให้มันละเอียด การพิจารณาในเรื่องนี้เพื่ออะไร เพื่อถอนความยีดมั่นถือมั่นอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เรามารู้ว่าทุกข์มันเกิดจากอะไร เกิดจากความยึดถือ เช่นว่า ปัจจัย ...... (21.39 เสียงไม่ชัดเจน) ธนบัตร หรือว่าเหรียญบาท มันก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ที่นี้คนเข้าไปยึดว่า เงินของฉัน ของของฉัน เสื้อผ้าของฉัน บ้านเรือนของฉัน ไอ้ของฉัน ของฉันนี่แหละ มันเป็นตัวให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ตัวคำว่าของฉันมันสร้างปัญหา สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เราก็เป็นทุกข์
ความทุกข์นั้นเรียกว่าเกิดจากความยีดถือ ภาษาธรรมะ เรียกว่า “อุปาทาน” ถ้าลำพังแค่ขันธ์มันก็ไม่มีอะไร มันเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติมันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าอะไรมันเปลี่ยนอยู่ทั้งนั้น ต้นหมากรากไม้ที่เราเห็นมันก็ไม่คงที่มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนขึ้นแล้วก็เปลี่ยนลงเป็นเรื่องธรรมดา คนเรานี้ก็เหมือนกัน ร่างกายก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนขึ้นเรียกว่าเจริญขึ้น แล้วก็เปลี่ยนลงเรียกว่าความแก่ ไม่ได้หยุดนิ่ง เราเห็นคนบางคนแล้วทักว่าดูท่านไม่แก่ อันนี้พูดไม่จริงพูดไม่ถูก พูดตามแบบมายา ไม่ได้พูดตามแบบสัจจะธรรมหรือความจริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ความจริงสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ เปลี่ยนมาตั้งแต่เราปฎิสนธิในครรภ์ของมารดา แล้วก็เปลี่ยนมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แล้วจะเปลี่ยนเรื่อย ๆ ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น จนกว่ามันจะแตกดับถึงที่สุด ความแตกดับนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งหลาย เมื่อมีเกิดแล้วก็ต้องมีการแตกดับ จากจุดเกิด มันก็เปลี่ยน ๆ ไปเรื่อย ๆ ไปจนมันหยุดเปลี่ยน มันก็ดับไปเหมือนกับล้อที่มันหมุน ถ้าเราทำให้ล้อหมุน เรากลิ้งไป ๆ มันก็หมุนไปตามแรงที่เรากลิ้ง พอหมดแรงกลิ้งมันก็หยุด ล้มลงบนแผ่นดิน ก็เรียกว่า เป็นจุดจบของสิ่งนั้น ชีวิตของคนเรานี้ก็เหมือนกัน มันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดจบก็ล้มทับแผ่นดิน ล้มทับแผ่นดิน ก็เรียกว่า ตาย มันก็จบไปฉากหนึ่ง แล้วตัวสังขารร่างกาย ธาตุ ๔ มันก็ไปผสมปรุงแต่งอะไรต่อไป เกิดเป็นอะไรขึ้นก็ได้ อาจจะไปผสมเป็นต้นไม้ก็ได้ เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้หรือเป็นอะไร ๆ ก็ได้ มันก็เป็นของธรรมชาติหมุนเวียนอยู่ในโลกนี้ เราจะไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่งว่าเป็นตัวเราก็ไม่ได้ เป็นของเราก็ไม่ได้ เพราะถ้าไปจับเข้ามันก็เป็นทุกข์ ไม่ว่าอะไร เราลองเข้าไปยึดถือ ไปยึดถือปั๊ป (24.46 ปั๊ป เป็นภาษาพูด) มันก็เป็นทุกข์ เป็นห่วง เป็นกังวลกับสิ่งเหล่านั้น เข็มเล่มหนึ่งถ้าเรายึดถือว่าของฉัน ก็เป็นทุกข์เป็นกังวล ต้องเก็บตรงนั้น ต้องวางตรงนี้ แล้วก็ไปเที่ยวหา ถ้าหายไปก็เป็นทุกข์ วัตถุใหญ่ก็ทำให้เป็นทุกข์ วัตถุเล็กก็ทำให้เป็นทุกข์ จิตใจเป็นทุกข์ สภาพของมันธรรมดามันก็เป็นทุกข์ตามสภาพ เรียกว่า ทุกข์ตามธรรมชาติของสิ่งนั้น แต่ว่าเราเข้าไปยึดถือมันก็เป็นทุกข์ขึ้นไปอีกทีหนึ่ง เรียกว่า ทุกข์ด้วยความยึดถือ ด้วยอุปาทาน ถ้าเราไม่เข้าไปยีดถือ ทุกข์เพราะอุปาทานไม่มีแต่มันก็เป็นทุกข์ตามธรรมชาติของมัน ต้นหมากรากไม้ วัตถุสิ่งของ มันก็เป็นทุกข์ตามสภาพ คำว่าทุกข์ แปลว่า ทนไม่ได้ คือมันต้องเปลี่ยนไปตามสภาพของมัน หรืออีกอย่างหนึ่งแปลว่าน่าเกลียด ไม่น่าดู ไม่น่าดูเพราะว่ามันไม่คงที่ ไม่ถาวร มันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจึงเรียกว่ามันเป็นทุกข์ มันของธรรมชาติ ต้นหมากรากไม้ก็เป็นทุกข์ตามธรรมชาติของต้นหมากรากไม้ แผ่นดินที่เราอาศัยมันก็เป็นทุกข์ตามธรรมชาติของแผ่นดิน ทีนี้มันเป็นทุกข์ซ้อนขึ้นมา ถ้าเราเข้าไปยึดถือว่า ดินของฉัน ต้นไม้ของฉัน บ้านเรือนของฉัน เสื้อผ้าของฉัน ลูกฉัน หลานฉัน อะไรของฉัน อันนี้แหละที่เกิดขึ้นเป็นความยีดถือขึ้นมาในใจ ไอ้ความยึดถือเหล่านั้นมันก็สร้างปัญหาขึ้นในใจของเรา สร้างความทุกข์ความเดือนร้อนขึ้นในใจของเราด้วยประการต่าง ๆ แต่เราไม่รู้ว่าเราทุกข์เพราะอะไรไม่รู้เหตุของความทุกข์ เพราะคนเราไม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ ไม่เข้าใจเรื่องนี้ไม่รู้ว่าเราเป็นทุกข์และไม่รู้ว่าเราเป็นทุกข์เพราะอะไร อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราก็ไม่รู้และก็ไม่รู้ต่อไปว่า ทุกข์เป็นเรื่องดับได้ แก้ได้ แก้ได้โดยวิธีใด เราต้องปฏิบัติตามวิธีนั้น
อันนี้พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ เวลาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็รู้เรื่องนี้ รู้เรื่องของความทุกข์ของสัตว์โลก รู้เหตุของความทุกข์ รู้ว่าทุกข์เป็นเรื่องแก้ได้ แก้ได้โดยวิธีใดก็สอนแนวทางไว้ให้ คือว่ามรรคมีองค์ ๘ เป็นทางดับทุกข์ เราก็ปฎิบัติตามทางนั้น เราก็จะดับทุกข์ได้ ใครอยากจะดับทุกข์ก็ต้องเดินตามทางที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เดิน ถ้าใครไม่อยากดับทุกข์ก็ไม่ว่าอะไร เราไม่ได้บังคับอยากจะทรมานตนต่อไปให้ธรรมขาติมันกัดเราเจ็บต่อไปท่านก็ไม่ว่า แต่ว่าท่านสงสารชาวโลกที่กำลังเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ด้วยการบอกทางให้ ว่าเดินทางนี้แล้วท่านจะพ้นทุกข์ด้วยตัวท่านเอง ถ้าเราดื้อไม่เดินมันก็ไม่พ้น แต่ถ้าเราไม่ดื้อเราพยายามเดินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าท่านชี้ไว้ให้เราเดิน เราก็จะพ้นไปจากความทุกข์ความเดือนร้อนในชีวิตประจำวัน การที่เรามาวัดมาศึกษาธรรมะมาศึกษาเพื่ออะไร ศึกษาเพื่อเอาไปปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นเราต้องเอาไปใช้ ถ้าเราไม่ใช้ก็เหมือนกับเรารับยาจากหมอ เวลาเราป่วยไข้ เราก็ไปหาหมอแล้วหมอก็ตรวจเช็คร่างกาย รู้ว่าเป็นโรคอะไร ก็จัดยาให้ใส่ซองใส่ขวดให้เรียบร้อย เมื่อเราได้รับยาจากหมอแล้วเราเอาไปวางไว้เฉย ๆ เราไม่กินยานั้น ไม่กินตามที่หมอสั่ง ว่ากินเช้า กินกลางวัน กินเย็น ก่อนอาหาร หลังอาหาร เราไม่ทำตามคำสั่งของหมอ เราเป็นคนดื้อ โรคมันจะหายได้อย่างไรโรคมันก็ไม่หาย ยานั้นมันมีประสิทธิภาพต่อเมื่อเรากินเข้าไป ถ้ามันอยู่ในซองมันก็มีคุณภาพตามสภาพของยา แต่ไม่เกิดคุณค่าแก่ร่ายกาย เพราะเราไม่กิน แต่เมื่อเรากินยานั้นเข้าไปยานั้นก็เกิดเป็นคุณขึ้นแก่ร่างกายทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายไปฉันใด ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่บัญญัติไว้จำนวนมากมายนั้นก็เป็นยาขนานหนึ่ง ๆ เป็นยาแก้ทุกข์ของชาวโลก เป็นยาที่เราควรจะเอามารับประทานเอามาปฎิบัติในชีวิตประจำวัน ถ้าเราได้ปฎิบัติตามธรรมะหรือยานั้นในชีวิตประจำวันเราก็หายจากความทุกข์หายจากความเดือดร้อนใจ เราก็ไม่ต้องนั่งเศร้าโศกเป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้นต่อไป อันนี้มันก็เนื่องอยู่กับการปฎิบัติของเรา ยาสำคัญด้วย แต่ว่าการปฎิบัติก็สำคัญด้วย ตัวธรรมะเป็นสิ่งถูกต้องเป็นสิ่งมีประโยชน์ แต่ถ้าเราไม่ปฎิบัติ ไอ้สิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น มันก็ไม่เกิดประโยชน์แก่เราสมดังความตั้งใจ เพราะฉะนั้นจึงประกอบกันเข้าคือมีคนเจ็บ แล้วก็มียา คนเจ็บต้องกินยาเมื่อกินยาโรคมันก็หายไป ธรรมะเป็นยาแก้โรคทางจิต แก้โรคทางวิญญาณ เราก็ต้องศึกษาธรรมะด้วยการฟัง ด้วยการอ่าน ด้วยการคิดค้นให้เกิดความเข้าใจ เมื่อคิดค้นให้เกิดความเข้าใจแล้วเอาไปปฏิบัติ
การเอาไปปฎิบัติก็คือเอาไปใช้เป็นเครื่องพิจารณาประกอบเข้ากับปัญญาชั้นพื้นฐานของเรา เอาธรรมะเข้าไปประกอบปัญญามันก็แก่กล้าขึ้น แล้วเอาไปพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่เรามีความทุกข์ เช่นเรามีความทุกข์ด้วยเรื่องอะไร เราไม่เอาแต่ความทุกข์ แต่ว่าเรามีปัญญาเกิดขึ้นว่าเรานี้มีความทุกข์ ตัวที่รู้ว่าทุกข์นั้น เรียกว่าตัวสติ มีสติเกิดขึ้นในใจว่าเรานี้กำลังเป็นทุกข์ ปัญญาก็มาช่วยคิดว่าทุกข์เรื่องอะไร ทุกข์เรื่องอะไรเราก็ต้องเอาธรรมะไปเป็นหลักพิจารณาว่าเราทุกข์เรื่องอะไร ทุกข์เพราะเรื่องอะไรเพราะเราเข้าไปยีดถือในเรื่องนั้น ไปสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งนั้นเป็นตัวเราบ้างเป็นของเราบ้าง เราจึงได้เกิดความทุกข์ ได้เกิดความเดือนร้อนใจเพราะสิ่งนั้น ทีนี้ถ้าเรารู้ว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เราก็ควรจะปล่อยสิ่งนั้นเสีย เหมือนเราไปจับของร้อนมันร้อนมือ พอร้อนมือเราก็รู้ว่าร้อน ตัวสติมันรู้ทันทีว่าร้อน ประสาทมันบอกว่าร้อนเมื่อร้อนเราเกิดปัญญาก็คิดว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ร้อน ปัญญาบอกว่าก็วางเสียสิ อย่าไปจับมันไว้ เราก็วางสิ่งนั้นออกไป พอวางสิ่งนั้นได้ ความร้อนมันก็เบาไปแต่มันยังร้อนอยู่เพราะมือเราไหม้ ปัญญาก็คิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มันร้อน ก็ไปหายามาสิ เอายาอะไรมาทาเข้าก็ได้ ไปตัดต้นว่านหางจระเข้มาสักต้นหนึ่ง แล้วปอกเปลือกผิวออก แล้วเอาส่วนข้างในมาปะไว้ที่แผลนั้น ไม่กี่นาทีมันก็เย็นเยือกไป แล้วมันก็หายไป ไอ้ต้นหัวจระเข้ (32.41 น่าจะเป็นต้นว่านหางจระเข้) นี่แก้น้ำร้อนลวก แก้ไฟไหม้ชะงัดนัก พอปะเข้าแล้วมันก็เย็นทันที แล้วมันก็หายทันทีเหมือนกัน อาตมาเคยเป็น ทีนี้พอเป็นเด็กคนนึงมันบอกว่าเดี๋ยวผมไปเอายามาให้ มันก็ไปเอาต้นหางจระเข้นั่นแหละมา มาถึงก็ตัดตรงกลางแล้วก็ปะเข้า ๆ มันก็เย็นเยือก แล้วมันไม่ไหม้ มันไม่พอง ไม่เป็นแผล นี่ฤทธิ์มันดี ปลูกไว้มั่ง เอามาใส่กระถางปลูกไว้ ใส่ดินทรายมาก ๆ ใส่ปุ๋ยพอสมควร เราปลูกไว้สำหรับกับบ้านกับเรือน เป็นยาแก้น้ำร้อนลวกก็ได้ ไฟไหม้ก็ได้ แก้พิษสัตว์ต่อยอะไรก็ได้เหมือนกัน มันช่วยได้หลายเรื่อง ก็เป็นยา ปัญญามันบอกเอง ปัญญาให้แสวงหาสิ่งสำหรับแก้ความทุกข์ความเจ็บความปวดในเรื่องนั้น
ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตเราก็เหมือนกัน ถ้าเรามีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ อะไรเกิดขึ้นในชีวิตของเรา เราก็พยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยความรู้สึกก่อน รู้ว่าเราเป็นทุกข์ ไอ้คนที่ทำความชั่วแล้วก็ทำอยู่ไม่หยุด เพราะเขาไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมันเป็นความชั่ว แล้วไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมันเป็นตัวปัญหา เป็นตัวสร้างความทุกข์ให้แก่ตัว คือ เขาเข้าใจผิดนั่นเอง เข้าใจผิดว่าสิ่งนั้นทำให้เกิดความสนุกสนาน ร่าเริงเบิกบานใจ เช่น คนดื่มเหล้าเขาไม่ได้นึกว่าเหล้าเป็นสิ่งให้เกิดทุกข์ แต่เขานึกว่ามันช่วยให้ใจสบาย พอดื่มแล้วมันหมดความเดือดเนื้อร้อนใจหมดความวุ่นวายใจ มันหมดจริงเหมือนกัน เพราะเวลานั้นมันไม่รู้สึกตัว ไม่รู้ว่าเราลืมความเป็นคน และก็ลืมความยึดถือในเรื่องอะไรต่าง ๆ ไป แต่ว่าตัวเหล้านั้นมันไปทำลายร่างกาย ทำลายประสาท ทำลายสุขภาพร่างกาย มันช่วยให้หายด้านหนึ่งแต่มันเพิ่มด้านหนึ่งขึ้นมา จึงไม่ใช่ยาแก้ทุกข์ที่แท้จริง แต่ว่าคนหลงชอบไปติดอยู่ในสิ่งนั้น เอาสิ่งนั้นมาใช้กัน พอกลุ้มใจก็ดื่มเหล้า ตัวละครต่าง ๆ ในเรื่อง นักเขียนเขาเขียนให้ดื่มเหล้าทุกเรื่อง พระเอกเสียใจก็ไปนั่งดื่มเหล้า นางเองเสียใจก็ไปดื่มเหล้า ใครเป็นทุกข์เป็นร้อนก็ไปดื่มเหล้า ทำให้คนเข้าใจว่าเหล้านี่เป็นยาแก้ทุกข์ เลยดื่มกันเป็นการใหญ่ ดื่มกันทั่วไป ถ้ายังโง่อยู่ก็ยังดื่มกันต่อไป แต่ถ้าเมื่อใดเราเกิดความรู้สึกตัวเกิดฉลาดขึ้นมาว่าสิ่งนี้มันไม่ใช่สิ่งที่เป็นของจำเป็นแก่ร่างกาย เราดื่มเข้าไปทำไม เป็นการหาความทุกข์ใส่ตัวเปล่า ๆ ทำลายสุขภาพกาย ทำลายสุขภาพจิตให้เสียหาย ทำความปกติให้มันหมดไป แต่ทำให้ร่างกายผิดปกติ เช่น พอเดินปั๊บ (35.48 ปั๊ป เป็นภาษาพูด) มันก็ผิดปกติ เดินโซซัดโซเซ ตาถลึง ทะมึงทึง มองดูอะไรก็มองทะมึงทึง หน้าก็เปลี่ยนสภาพ คำพูดก็เปลี่ยนสภาพ กิริยาท่าทางก็เปลี่ยนสภาพไป นี่เรียกว่าผิดปกติ คนปกติหน้าตาอย่างหนึ่ง แต่พอดื่มเหล้า หน้าตาเปลี่ยนสภาพไป ความรู้สึกเปลี่ยนไป พฤติกรรมต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปหมด เราได้เห็น แต่คนที่เปลี่ยนมันไม่รู้สึกตัวไม่รู้ว่าตัวเป็นอะไรในเวลานั้น เพราะไม่เคยไปดูกระจก ไม่ได้เอาปัญญามาเป็นกระจกส่องมองที่ตัวเองว่าเรากำลังเป็นอะไร เรากำลังมีสภาพอย่างไรไม่รู้เลยไม่รังเกลียดตัวเองไม่ชังตัวเองนึกว่าตัวเองนั้นเป็นผู้อย่างนั้นอย่างนี้ไปต่าง ๆ นานา เลยก็ไปหลงไปติดอยู่ในสิ่งนั้น นั่นมันเป็นความหลงใหล เป็นความมัวเมาเรื่องหนึ่ง
ในเรื่องอื่นอีกก็เหมือนกัน เช่นคนหาความสุขด้วยการเล่นการพนัน ก็เพราะนึกว่าการพนันช่วยให้สบายใจ เวลาใดกลุ้มใจก็เปิดวงเล่นไพ่กัน ได้เสียกันมาก ๆ แล้วก็เป็นทุกข์เพราะเสีย เป็นเครื่องสบายใจเมื่อได้ชัยชนะ แต่ว่าฮึกเหิมใจอยากจะไปเล่นต่อไปจึงเล่นติดต่อกันมาไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น สภาพชีวิตก็เสื่อม การงานก็เสื่อม ความเป็นอยู่ในครอบครัวก็เสื่อม ประเทศชาติก็พลอยเสื่อม เพราะเรื่องอย่างนั้น นี่มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นปัญหาเกิดขึ้น แต่ว่าเขาไม่รู้จักปัญหา ไม่รู้เหตุของปัญหา ไม่รู้วิธีการแก้ไขปัญหาแล้วก็แก้ไม่ได้เลยตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นอยู่ตลอดไป นี่เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่ถ้าคนเหล่านั้นได้หันหน้าเข้าวัดได้มาพบพระเสียบ้างได้สนทนาพาทีกันในเรื่องอย่างนี้บ้าง ความแจ่มแจ้งทางใจก็เกิดขึ้นเหมือนกับเราไม่เคยดูกระจกเงา คนที่ไม่เคยดูกระจกนี่มองไม่เห็น ว่าตัวมีหน้าตาผมเผ้าเป็นอย่างไร แต่พอไปดูกระจกเข้า ตกใจ เพราะผมรูปร่างเหมือนกับคนบ้า หน้าตาก็เปลี่ยนสีเปลี่ยนสภาพไม่เหมือนคนทั้งหลายทั้งปวง สุขภาพทางกายก็เสื่อมโทรมสุขภาพทางจิตก็เสื่อม ก็เกิดนึกได้พอเกิดนึกได้ก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ชอบขึ้น เหมือนกับหมอคนหนึ่งแกชอบดื่มเหล้ามากที่สุด เป็นหมอไม่ควรจะดื่มของมึนเมาไม่ควรดื่มเหล้าไม่ควรสูบบุหรี่เพื่อรักษาสุขภาพให้เป็นตัวอย่างแก่คนไข้แล้วจะได้ไปช่วยคนไข้ให้ดีขึ้น แต่หมอนั้นเป็นคนที่เรียกว่าบังคับตัวเองไม่ได้ ขาดความอดทน ขาดความเสียสละในทางจิตใจ เลยกลายเป็นนักดื่มหัวราน้ำ กลางวัน เช้าๆ นี่พอรักษาคนได้ พอตอนบ่ายเมากันตลอดเวลา สภาพชีวิตไม่ดีขึ้นทำอะไรก็ไม่ก้าวหน้า ไปอยู่บ้างเมืองที่มีการเศรษฐกิจดี ถ้าเป็นหมอนี่เขาก็เจริญ หมอที่ปกติไปอยู่นั้นอยู่ได้ ๒ ปี สร้างบ้าน ๒-๓ ชั้นเป็นคลินิกให้คนไข้มาพักได้ แต่ว่าคุณหมอคนนี้อยู่มา ๑๐ ปีแล้ว ก็ซอมซ่ออยู่อย่างนั้น อยู่ห้องแถวเก่า ๆ ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะความเมามันทำให้เกิดความเสียหายไม่รู้สึกตัว ต่อมาก็มีคนที่ขายยาเอาหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาสไปทิ้งไว้แล้วก็บอกว่าวันไหนไม่เมาให้อ่านเสียบ้าง แกก็อ่านเวลาใกล้รุ่งเพราะเวลาใกล้รุ่งมันสร่างเมาแล้ว อ่านไปๆ ก็รู้สึกตัวว่าเรานั้นมันแย่เต็มที ชีวิตไม่ดีไม่งามเพราะไม่ประพฤติธรรม เลยรีบหันมาประพฤติธรรม เรียบร้อย แต่ประพฤติธรรมอยู่ไม่เท่าใด มะเร็งจับเข้าที่กระเพาะอาหาร และก็ตายด้วยโรคมะเร็งเพราะพิษสุรานั่นเองไม่ใช่เรื่องอะไร นี่น่าเสียดายชีวิตที่เป็นอยู่อย่างนั้น แต่ก็มารู้สึกตัวเอาได้ก่อนตาย ๒-๓ ปี รู้สึกตัวว่าเรามันเหลวไหล ที่รู้สึกตัวก็เพราะว่าได้กระจกแผ่นใหญ่คือตัวธรรมะนั่นเอง ธรรมะเป็นกระจกเงาที่เรายกขึ้นมาส่องดูตัวเราได้พิจารณาตัวเราได้ เพื่อแก้ไขเพื่อปรับปรุงตัวเราได้ ถ้าเรามีธรรมะเอามาส่อง เราก็จะรู้ จะเห็น สภาพความเป็นจริง คนที่ไม่เคยดูกระจกก็ไม่รู้ว่าเราสกปรกแต่ไปดูเข้าก็ตกใจ เหมือนกับคนที่ไม่เคยฟังธรรมะ ก็ไม่รู้ว่าตัวมีสภาพอย่างไร ชีวิตจิตใจเป็นอย่าางไร ความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่ว่าพอมาฟังธรรมะเกิดความรู้สึกตัว มีชีวิตจิตใจ ตัวอย่างมีมากมายในครั้งพุทธกาล แม้ในปัจจุบันนี้ก็มีมากเหมือนกันที่ได้เปลี่ยนชีวิตจิตใจไป วันก่อนนี้ไปเทศน์วัดพระศรีมหาธาตุ ก็มีคนคนหนึ่งมารับไป มารับพาไป พอขึ้นนั่งรถแกก็บอกว่าผมเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มา โดยไม่เคยพบตัวท่านอาจารย์แต่ได้อ่านหนังสือของท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้อ่านมากอะไร อ่านเพียงวรรคเดียวเท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไร วรรคเดียวที่อ่านนั้นคืออ่านว่า “ คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้แค้น” หนังสือมันเขียนไว้ว่าอย่างนั้น แกมีอารมณ์แค้นอยู่ในใจ แล้วเป็นทุกข์อยู่ด้วยเรื่องความแค้น เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ถูกอันธพาลเบียดเบียนทำให้เกิดความเสียหายย่อยยับก็ว่าได้ แกก็รู้สึกตัวว่าโกรธอยู่ในใจแค้นอยู่ในใจนึกว่าจะต้องเล่นงานไอ้พวกนี้สักวันนึง แล้วก็ไปทำความคุ้นเคยกับพวกทหารเพื่อจะขอซื้อลูกระเบิดมาแล้วจะเอาไปขว้างพวกนั้นให้มันตายหมดทั้งบ้านไปเลย แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ เป็นบุญนักหนาที่ได้มาพบหนังสือเข้า ยังไม่ได้เปิดอ่านทั้งเล่มอ่านแค่หลังปกเท่านั้นเอง พออ่านเข้าก็รู้ตัวว่า อ๋อเราเป็นคนจัญไรไม่ใช่คนดี คนดีชอบแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นแต่คนจัญไรมันคิดแต่เรื่องจะแก้แค้นจะทำลายคนอื่น คิดขึ้นได้ นี่เค้าเรียกว่ามีบุญมีวาสนา มีอุปนิสัยทางธรรมะอยู่บ้าง ก็เลยเปลี่ยนความคิดไม่คิดแก้ไขแก้แค้นใครต่อไปแล้วก็ตั้งหน้าศึกษาเล่าเรียน มีความรู้ความสามารถ ได้ทำงานการก่อสร้างเป็นบริษัทก่อสร้าง มีกิจการเจริญก้าวหน้า นั่งรถราคาแพงพอสมควร นี่ก็เพราะว่าได้หันหน้าเข้าหาธรรมะ ไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่ไม่เที่ยวเหลวไหลในเวลากลางคืน รักษาเนื้อรักษาตัวทำงานเป็นไปด้วยดี นี่ก็เพราะว่าได้พบกระจกแผ่นเล็ก ๆ ไม่ใหญ่ไม่โตอะไร เพราะกระจกและข้อความเล็กน้อย และได้เอาข้อความนั้นมาพิจารณา คนบางคนอาจจะพบแต่ไม่ได้คิด คืออ่านแล้วไม่คิด ไม่คิดมันก็ไม่ได้ เรามันต้องอ่านแล้วเอาไปคิด คิดแล้วเอามาตรองที่ตัว เขาเรียกว่า “โอปะนะยิโก” คือน้อมเข้ามาที่ตน น้อมเข้ามาศึกษาตัวเองพิจารณาตัวเองว่าเรานี้มีความเป็นอยู่อย่างไรมันถูกต้องตามหลักการในทางพระศาสนาหรือไม่
เราเอากระจกธรรมของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องพิจารณา เช่นว่าเอาศีล ๕ มาเป็นเครื่องพิจารณาตัวเรา ศีล ๕ มี ๕ ข้อ คือ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดคำโกหก คำหยาบ คำเหลวไหล ไม่เสพสิ่งเสพติดมึนเมา เราก็เอามาพิจารณาว่าใน ๕ ข้อนี่เรามีอะไรบ้าง เราไม่มีอะไรบ้าง ข้อที่ ๑ เราไม่ฆ่า ไม่ทำร้ายใคร เราได้ปฎิบัติอยู่หรือเปล่า ได้ปฏิบัติอยู่เพราะเราไม่ฆ่าใคร ไม่ทำร้ายใคร แต่ว่าในส่วนลึกมันยังมีหรือเปล่า ยังโกรธ ยังเกลียดคนเหล่านั้นอยู่หรือเปล่า ถ้ายังโกรธยังเกลียดอยู่ก็ยังไม่ดี แก้ส่วนหยาบ ๆ ก่อน คือ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ลักขโมยของใคร ไม่คอรัปชั่น ไม่กินสินบน เช่น เราทำงานราชการ คนเอาสินบนไปให้ ถ้าเรากินสินบนมันก็ผิดศีลข้อที่ ๒ เหมือนกัน เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เป็นการผิดระเบียบทางธรรมะ ถ้าเรารู้สึกตัวว่าทำอยู่ พอนึกถึงศีลข้อ ๒ ก็เลยเลิก ไม่กระทำเรื่องนั้นต่อไป แต่กลายเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ไม่เห็นแก่เล็กแก่น้อยที่ใครจะเอามามอบให้ เพราะเขามอบสิ่งเหล่านั้นให้แก่เราเขาทำลายเรา ใครเอาสินบนมาให้เราไม่ใช่ว่าช่วยเหลือเรา แต่เขาทำลายเราทำลายให้เราหมดศีลหมดธรรมหมดคุณงามความดี กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ ไอ้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วคนให้เขาก็ไม่ได้ยกย่องสรรเสริญอะไร เขาอาจจะนึกพอใจว่า เออ ช่วยกูได้ แต่เขานึกในใจว่ามันช่วยเพราะกูจ้างมัน กูให้สินบนมัน มันก็เป็นทาสของน้ำเงิน ไม่ได้เป็นคนดีคนวิเศษอะไร คนเขาก็ดูหมิ่นถิ่นแคลนว่าเป็นคนใช้ไม่ได้ ความชั่วมันก็เกิดมากขึ้นเพราะทำอย่างนั้น นี่ถ้าเราไม่ทำเราก็สบายใจมีความภูมิใจแก่ตัวเอง ว่าเราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่เห็นแก่เล็กแก่น้อยไม่เห็นแก่ได้ ว่ากินสินบนที่คนจะให้ แม้เราจะช่วยก็ช่วยได้ตามระเบียบแบบแผนไม่ช่วยนอกลู่นอกทาง ช่วยให้งานมันเร็วขึ้นให้ความสะดวกขึ้น เราช่วยตามระเบียบไม่ได้ช่วยเป็นพิเศษอะไร อย่างนี้เพราะเราเอากระจกธรรมะ เอากระจกศีลมาพิจารณา เราไม่ประพฤติผิดในเรื่องกามารมณ์ เราไม่เที่ยวกลางคืน มีบ้านมีครอบครัว เลิกงานแล้วเราก็กลับบ้านเราไม่ไปเที่ยวเตร่หาความสนุกนอกบ้านไม่ไปเที่ยวตามสถานยามราตรี เช่น ตามบาร์ ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น เป็นที่สนุกสนานยั่วกิเลสทำคนให้จิตใจต่ำทราม แล้วก็จ่ายสตางค์ ได้โรคภัยไข้เจ็บในที่เหล่านั้น บ้านเมืองใหญ่ ๆ นี่ถ้าคิดดูให้ดีแล้วไม่น่าไปเที่ยว เราเข้าไปเพื่อทำงานทำการ ทำงานเสร็จแล้วควรจะรีบกลับมาอยู่บ้านที่มันมีมลพิษน้อยมีภาวะสะอาดกว่ามีความสุขกว่า ถ้าเราไปเที่ยวตามสถานที่คนมากๆ เช่น ไปดูหนัง ไปฟังเพลง ไปสนุกสนาน ก็ไปดูดสิ่งเป็นพิษเข้าไปในร่างกาย เพราะในที่คนมากคนมันก็นั่งกันมาก ๆ มันไม่โปร่ง ไม่แจ่มใส อยู่ในห้องที่มีปรับอากาศมันไม่ได้ถ่ายเทเท่าใด อะไรหายใจออกมาก็ถ่ายเทกันอยู่อย่างนั้น
เราไปถ่ายเชื้อโรคมาจากคนพวกนั้นพวกนี้ ไปถ่ายความไม่ดีใส่ในร่างกายด้านจิตใจก็ไม่ดี เพราะไปสนุกสนานหลงไหลเฮฮากับสิ่งสนุกสนานประเภทไม่เข้าเรื่อง ทำให้เราเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้นงอมแงม มันไม่ได้เรื่องอะไร แต่ถ้าเราถือศีลข้อที่ ๓ ไว้ได้ เราไม่ไป ถือศีลข้อที่ ๓ เป็นหลักประกัน ไม่ให้เราต้องเป็นโรคบางชนิดที่มันรุนแรงเช่นในสมัยนี้มีโรคเอดส์แพร่หลาย ถ้าเราไม่เที่ยวซุกซน เลิกงานแล้วกลับบ้านเป็นปกติเป็นนิสัย โรคนั้นมันจะเกิดแก่เราไม่ได้ เราจะไม่เป็นโรคอย่างนั้นเราก็ปลอดภัย เพราะเรามีศีลเป็นข้อบังคับเราเอาศีลมาเป็นกระจกส่องดูตัวเรา ว่าเราประพฤติดีประพฤติชอบอยู่ในศีลข้อนี้หรือเปล่า ถ้าเห็นว่าบกพร่องก็รีบแก้ไข ถ้าเห็นว่าสมบูรณ์อยู่แล้วก็ต้องให้สมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ ให้ประณีตขึ้นไปกว่านี้ ควบคุมจิตใจให้สูงขึ้น เราไม่พูดคำหยาบกับใคร ๆ ไม่พูดคำโกหกหลอกลวงใคร ไม่เคยพูดคำยุยงให้ใครแตกกัน ไม่เสี่ยมเขาควาย เดี๋ยวนี้มีการเสี่ยมเขาควายกันอยู่บ่อย ๆ ตามหนังสือพิมพ์ เสี่ยมคนนั้นเสี่ยมคนนี้ให้เกิดความระแวงกันให้เกิดความสงสัยกันให้เขาทะเลาะกัน ไอ้คนพวกนี้มันชอบเห็นคนทะเลาะกันเลยไปยุแยงตะแคงรั่วให้คนทะเลาะกัน ไปถามคนนั้นพูดอย่างนั้นเอามาลง ถามคนนั้นพูดอย่างนี้เอามาลง ก็เลยเกิดขัดใจกันเกิดเขม็นกันทำให้เกิดแตกแยกแตกร้าว มันเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะกระทำเช่นนั้น ควรช่วยกันทะนุทะนอม ประคับประคองสิ่งซึ่งควรจะทำตามหน้าที่ เช่นว่าอย่าไปยุแหย่ อย่าไปนินทาอะไรกันให้มันรุนแรงเกินไปจนรัฐบาลปวดหัว นี่นายกรัฐมนตรีลาออกไปแล้ว ก็ลาออกไปตามเรื่อง
เดี๋ยวรองประธานวุฒิสภาก็ไปกราบทูลอีก กราบทูลว่าให้ชาติชายเป็นนายกต่อไป แต่ว่ามันมีสิทธิที่จะเลือกคนหน่อย จะเลือกว่าคนไหนไม่เหมาะจะได้เขี่ยออกไป คนไหนใช้ได้ก็เอามาทำงานกันต่อไป ไอ้จะปรับก็เกรงใจคนนั้น เกรงใจคนนี้ มันลำบาก เป็นผู้ใหญ่มันต้องเข้มแข็ง ไม่โอนเอียงไปตามอารมณ์ ไม่มีอคติ คือไม่มีรัก ไม่มีชัง ไม่มีกลัว ไม่มีหลง ถ้ามีอคติมันก็ยุ่ง มันไม่สามารถทำอะไรได้ เกรงคนนั้น เกรงคนนี้ มันก็ลำบาก อันนี้มันไม่สามารถจะปรับได้ ก็เลยลาออกให้หมดไปทั้งพวก ลาออกแล้วรัฐมนตรี ...... (50.41 เสียงไม่ชัดเจน) จะเลือกใครอีก เลือกดีก็ดี เลือกไม่ดีก็เหมือนเดิม มันไม่เรียบร้อย มันก็ลำบากเหมือนกัน เพราะว่าคนที่จะมีให้เลือกมันก็มีไม่กี่คน มีแต่คนไม่ดีที่จะต้องเลือก มันมีพรรคมันมีพวกบ้าง มีเงินมีทองบ้าง มีอิทธิพลบ้าง เรื่องความกลัวอีก มีอคติ เลือกด้วยความรักก็ไม่ได้ เลือกด้วยความกลัวก็ไม่ได้ เลือกด้วยความไม่รู้เท่าถึงการณ์ก็ไม่ได้ มันยุ่งทั้งนั้น ถ้ามีอคติแล้วมันก็ยุ่ง ทีนี้มันต้องไม่มีอคติ เอาความถูกต้องเป็นประมาณ เอาคนที่มันซื่อสัตย์จริง ๆ ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริง ๆ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่เงินไม่เห็นแก่อะไรที่จะพึงมีพึงได้ คนเราถ้าเป็นใหญ่เป็นโตนี่ตามันลาย เงินมันเยอะ เงินมากองข้างหน้าเยอะ เดี๋ยวก็ตะกรุมตะกรามกินเข้าไปเท่านั้นเอง เพราะมันมากกองอยู่เฉพาะหน้า ถ้ามีคนเอามาให้ พวกเอามาให้พวกทำลายทั้งนั้นไม่ได้มาส่งเสริมให้ดีขึ้นให้เจริญขึ้น ทำลายตัวคนนั้นด้วยทำลายประเทศชาติด้วยทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วย มันเป็นเรื่องทำลาย ที่เอาเงินมาให้นี่ไม่ใช่มันดีอะไร การคอรัปชั่นนี่มันเป็นเรื่องเสียหายมาก ในชีวิตของ ...... (52.06 เสียงไม่ชัดเจน) ทั่ว ๆ ไป ถ้าเราเป็นผู้ไม่ยุ่งเรื่องอย่างนั้นมันก็เรียบร้อย แล้วก็ไม่เสพสิ่งเสพติดมึนเมา ถือให้มันเคร่งครัด สุรา เมรัย มัชชะ ๓ คำนี้ถือให้ได้ สุขภาพกายก็ดี สุขภาพใจก็ดีขึ้น
นี่เราพิจารณาเอากระจกมาส่อง ส่องลึกเข้าไปถึงสภาพจิตใจว่าสิ่งเศร้าหมองในจิตใจเป็นเหตุให้เกิดความชั่วคืออะไร ตัวรู้ ตัวโกรธ ตัวหลง เราเป็นคนโลภขนาดไหนหรือไม่โลภอย่างไร เราเป็นคนขี้โกรธหรือไม่ขี้โกรธอย่างไร เราเป็นคนไม่หลงไม่งมงายอย่างไร เราไม่พยาบาทใครไม่ขุ่นเคืองใคร สภาพจิตเป็นปกติคือไม่ขึ้นไม่ลง ขึ้นมันก็ไม่ดี ลงมันก็ไม่ดี เอียงขวาก็ไม่ดี เอียงซ้ายก็ไม่ดี มันต้องตรงแน๊ว (53.03 แน๊ว เป็นภาษาพูด) ในความเป็นธรรม ในความถูกต้อง มีสติ มีปัญญาคอยประคับประคองจิตไว้ ว่าเราใช้สติปัญญาประคับประคองจิตไว้ จิตก็ไม่ขึ้นไม่ลงไปตามอารมณ์ที่มากระทบ รูปผ่านตา เสียงผ่านหู กลิ่นผ่านจมูก รสผ่านลิ้น สิ่งถูกต้องผ่านปลายประสาท เรามีสติรู้ทัน ว่าเป็นแต่สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับหายไป ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราเป็นอะไร และเราไม่ควรไปติดไปยึดอยู่ในสิ่งนั้น คิดอย่างนั้น สภาพจิตใจก็ดีขึ้น ทีนี้คิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่เราสะสมไว้ สะสมไว้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว สะสมความโกรธ สะสมความเกลียด สะสมความพยาบาทอาฆาตจองเวรไว้ในใจ เก็บไว้ไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวางและมีนิสัยในทางที่มันไม่ถูกต้องหลายเรื่องหลายอย่าง คนเรามันมักจะไม่พิจารณาตัวเองไม่เห็นตัวเองว่าบกพร่อง ไปเห็นคนอื่นบกพร่องได้ แต่ตัวเองไม่เห็น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่าให้พิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง หรือว่ามองเข้าไปเข้าในเอาไฟคือปัญญาส่องเข้าไปข้างใน ส่องไปที่จิตใจของเราเพื่อให้รู้ว่าสภาพจิตของเราเป็นอย่างไร มีความเศร้าหมองด้วยเรื่องอะไร มีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรตั้งอยู่ในใจของเราแล้วปัญญาก็พิจารณาว่า ถ้าสิ่งนี้อยู่กับเราเราจะเป็นอย่างไร เราจะเศร้าหมอง เราจะเป็นทุกข์ทรมานตนขนาดไหน เพราะมีสิ่งแบบนี้อยู่ในใจของเรา พิจารณาให้รู้ให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริงไว้ แล้วก็ทำอย่างนั้นตลอดไป ทุกวัน ทุกเวลา ไม่ว่าเราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ไปติดต่อกับใครที่ไหน ต้องใช้สติกำกับ ใช้ปัญญากำกับ แล้วก็มีความละลายในการที่จะคิดเรื่องชั่ว พูดเรื่องชั่ว ทำเรื่องชั่ว มีความกลัว ต่อผลแห่งความชั่วความร้ายนั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราทำได้อย่างนี้ สภาพจิตใจก็จะดีขึ้นสมความปรารถนา ดังแสดงมาก็พอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที
- ปาฐากถาธรรม ประจำวันอาทิตย์ที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓