แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลายต่อนี้ไปขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน พฤศจิกายนเป็นเดือนที่ ๑๑ ธันวาคมเป็นเดือนที่ ๑๒ ปี ๒๕๓๓ ก็จะสิ้นสุดลงไป เวลาวันเดือนปีที่มันผ่านพ้นไปนั้น ไม่ได้ผ่านไปแต่เวลาเฉยๆ แต่ได้ฉุดคร่าสรรพสัตว์ทั้งหลายไปกับเวลาด้วย เมื่อเวลาผ่านไปนั้นเราได้สิ่งหนึ่ง คือ อายุ อายุก็คือความแก่นั่นเอง อายุเพิ่มขึ้นก็หมายความว่า แก่ขึ้น แก่ขึ้น แก่ลงไปเรื่อยๆ แก่ขึ้นแล้วก็แก่ลง แก่ลงแล้วก็แก่ถึงที่สุดของชีวิต ชีวิตจะต้องแตกดับไปตามธรรมชาติ ชีวิตก็ต้องสิ้นไปตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรเป็นส่วนเหลือ นอกจากสังขารร่างกายที่เป็นเถ้าถ่าน อันนั้นเป็นส่วนที่เหลืออยู่ในโลกนี้ แต่ส่วนที่เหลืออยู่อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นสื่งที่ไม่รู้จักหายไป คือ คุณธรรม ความงาม ความดี ความงาม ความดี เป็นสิ่งที่ไม่สูญหาย ยังปรากฏอยู่ในโลกต่อไป คุณธรรม ความงาม ความดี เป็นวิญญาณของมนุษย์ เป็นวิญญาณที่ควรจะถ่ายทอดสืบต่อกันไปตลอดเวลา ที่เขาพูดกันตามภาษาสมัยใหม่ว่า ถ่ายทอดเจตนารมณ์ คือถ่ายทอดคุณงามความดี ของผู้ที่ได้ทำมาก่อนให้มาใส่ไว้ในจิตใจของเรา จิตใจของเราก็จะมีคุณงามความดีตลอดไป แล้วก็ถ่ายทอดต่อไปถึงลูกถึงหลาน แต่ว่าคนเราส่วนมากไม่รับมรดกทางธรรมะ ไม่ค่อยรับมรดกความงามความดี ชอบแย่งมรดกกันทางวัตถุ แย่งทรัพย์สมบัติเงินทองกัน เมื่อพ่อแม่ปู่ตาย่ายายถึงแก่กรรมลงไป สิ่งที่ทุกคนคิดก็คือว่าเราควรจะได้อะไรบ้าง ส่วนมากสิ่งที่พวกตนจะได้นั้น หมายถึงเงินทอง ไร่นาสาโท อันเป็นสมบัติทางวัตถุ ใครๆก็ต้องการแล้วก็แย่งกัน ไปขึ้นโรงขึ้นศาล เสียเงินเสียทองไปมากมาย ได้ไม่คุ้มกับที่เสีย อันนี้เป็นเรื่องที่ทำกันอยู่โดยทั่วๆไป ตลอดเวลาจึงต้องมีกฎหมายออกมาบังคับ กฎหมายก็ไม่ได้ช่วยให้คนรู้จักพออกพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ แต่เป็นเครื่องช่วย กำจัด ปัดเป่าให้คดีที่เกิดขึ้นได้หยุดลงไป เรียกว่า เป็นความเป็นธรรมตามกฎหมาย แต่ไม่เป็นธรรมทางจิตใจ เพราะจิตใจคนนั้น ยังต้องการสิ่งนั้น ยังต้องการสิ่งนี้ อันเป็นเรื่องของวัตถุกันอยู่ทั้งนั้น ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการวัตถุ แต่ต้องการสิ่งที่เป็นเนื้อแท้ คือ คุณธรรม อันมีอยู่ในจิตใจของพ่อแม่ ปู่ตาย่ายาย เรื่องมันก็ไม่มีปัญหา ไม่ต้องฟ้องกัน ไม่ต้องแย่งกัน ไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะเรื่องคุณธรรมนั้น ใครจะกอบโกยไปมากเท่าใดยิ่งดี แล้วไม่มีใครต้องเสียใจ น้อยใจ เพราะคนนั้นเอาไปมาก คนนี้เอาไปน้อย อะไรต่างๆ ไม่มีความทุกข์ในเรื่องอย่างนั้น แต่ว่าคนเรามักจะไม่ต้องการ สิ่งที่เป็นคุณธรรม แต่ต้องการสิ่งที่เป็นวัตถุ เพราะจิตใจคนเราในปัจจุบันนี้ ติดอยู่ในวัตถุ เป็นพวกวัตถุนิยม พอใจในวัตถุที่ตนจะมีจะได้ ความคิดในทางวัตถุมีมาก แม้จะทำงานทำการอะไร ก็คิดว่าตนจะได้อะไร ตนจะมีอะไร ไอ้สิ่งที่ตนจะมีจะได้นั้น ก็เป็นวัตถุทั้งนั้น เช่นเป็นเงิน เป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ เป็นความสุขทางวัตถุ การแสวงหาสิ่งที่เป็นวัตถุนั้น มันก็มีความทุกข์บ้างเป็นธรรมดา เพราะว่าไม่ได้ดั่งใจ ไม่ได้สมกับที่เราตั้งใจไว้ ก็ต้องมีความทุกข์ เหมือนกับที่เราสวดมนต์ว่า ความไม่ได้ดั่งปรารถนา ก็เป็นความทุกข์ แม้ได้มาสมใจแล้ว ก็ใช่ว่าจะเป็นสุขตลอดไป มันเป็นสุขเพียงชั่วครั้ง ชั่วคราวที่เกิดขึ้นจากความพอใจในสิ่งนั้นๆ แต่ความพอใจนั้น มันก็จำกัด เดี๋ยวก็ไม่พอใจ ได้แล้วก็ไม่พอใจ หายไปก็ไม่พอใจ เพราะฉะนั้น ได้ก็เป็นทุกข์ ไม่ได้ก็มีความทุกข์ เรื่องวัตถุมันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราต้องการสิ่งที่เป็นธรรมมะ จะช่วยให้ไม่เป็นทุกข์ในเรื่องนั้นๆ เพราะธรรมะไม่ทำให้ใครเกิดปัญหา ไม่ทำให้ใครเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน แต่ว่าคนเราไม่ค่อยจะต้องการ สิ่งที่ควรต้องการ กลับไม่ต้องการ สิ่งที่ควรมีกลับไม่มี สิ่งที่ควรจะได้กลับไม่ได้ ไปได้สิ่งที่ไม่ควรจะต้องการ จึงสร้างปัญหาความทุกข์ ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ ถ้าเราเปลี่ยนความสนใจมาในทางธรรมะเสียบ้าง ความต้องการทางวัตถุก็จะลดน้อยลงไป จะไม่เกิดปัญหา ไม่เกิดข้อพิพาท ในระหว่างญาติพี่น้อง ไม่ต้องแตกร้าวกัน แตกแยกกัน แต่จะอยู่กันด้วยความสุข ความสงบใจ เพราะทุกคนมีธรรมะประจำจิตใจ
อันตนมีธรรมะนั้นรู้จักพอ ในสิ่งที่ตนจะมีจะได้ เมื่อรู้จักพอก็ไม่ต้องไปแย่งกัน ไม่ต้องเกี่ยงงอนกัน แล้วคนที่มีธรรมะนั้น เป็นคนที่ปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุข ให้คนอื่นสบาย เมื่อเขาสบายด้วยการได้ เราก็ให้เขาสบายไป เมื่อเขาสบายด้วยการมีสิ่งนั้น เราก็ให้เขามีสิ่งนั้นไป ก็เป็นคนเสียสละอยู่ในตัว เพราะนักธรรมะเป็นนักเสียสละ ไม่ใช่นักอยากมีอยากได้อยู่ตลอดเวลาแต่มีน้ำใจเสียสละ เมื่อมีน้ำใจเสียสละ มันก็ทุกข์น้อย ปัญหามันก็น้อย แต่ถ้าเราไม่เสียสละให้แก่กัน ความทุกข์มันก็มาก ปัญหามันก็มาก ปัญหาส่วนบุคคลก็มี ปัญหาส่วนรวมคือประเทศชาติ ปัญหาของลูกก็มี ปัญหาของลูกที่พูดกันไม่รู้จักจบจักสิ้นนั้น ก็เป็นปัญหาทางวัตถุทั้งนั้น ไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่เป็นปัญหาทางด้านวัตถุ ก็อยากจะมีอยากจะได้ในเรื่องของวัตถุ แล้วก็แสวงหาวัตถุกันด้วยประการต่างๆ ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักอิ่มในวัตถุนั้นๆ ของตนมีเท่านี้แล้ว ยังจะอยากได้อีกเท่านู้น อยากได้ของที่ตนไม่พึงมีพึงได้ มันก็เกิดแก่งแย่งแข่งดีกันจนกับถึงรบราฆ่าฟันกัน เป็นปัญหาด้วยประการต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องทางวัตถุทั้งนั้น สงครามโลกที่เกิดครั้งใหญ่ๆ กี่ครั้งกี่หน มันไม่ใช่เรื่องของคุณธรรม แต่เป็นเรื่องของวัตถุเลยเกิดสงครามกันขึ้น แม้เรื่องเกี่ยวกับศาสนา คนนับถือศาสนาแต่ไม่เข้าถึงธรรมะของศาสนา เมื่อไม่เข้าถึงธรรมะของศาสนาก็ไปติดในด้านวัตถุ ต้องการจะมีวัตถุ จะได้วัตถุขึ้นมา ถ้ามีการขัดคอกัน ก็เกิดแก่งแย่งแข่งดีกัน เกิดปัญหาเหมือนอย่างในประเทศอินเดียในปัจจุบัน เขาเรียกว่าเมือง อโยธยา เมืองอโยธยา นี้เป็นเมืองที่เกิดพระราม พระรามนี้เป็นเรื่องนิทาน ไม่ใช่ตัวบุคคลจริง เป็นเรื่องสมมติ พระฤาษีชื่อวลามีกี ท่านแต่งขึ้นเป็นตำนาน ให้พระรามเกิดที่เมืองอโยธยา เมืองอโยธนานั้นอยู่ริมแม่น้ำสรายุ อยู่ในแคว้นวิหารตอนเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือขึ้นไป เป็นเมืองที่ตั้งมาก ในเมืองนั้นคนไม่มากเท่าใด แต่ว่าสถานทางศาสนาคือ โบสถ์ มันมีจำนวนมากเลย คือ มีมากกว่าคนไป แล้วก็มีคนอยู่ ๒ ศาสนา พวกฮินดูเป็นคนที่อยู่มาเก่าแก่ดั้งเดิม แล้วก็มีพวกอิสลาม พวกอิสลามก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็เป็นฮินดูนั่นแหละ เป็นอินเดียนั้นแหละ แต่ว่าได้ไปนับถือศานาอิสลาม พวกที่นับถือศาสนาอิสลามแล้ว ก็แตกต่างจากพวกนับถือศาสนาฮินดู มักจะแก่งแย่งแข่งดีกัน ทะเลาะกันบ่อยๆ สิ่งที่ฮินดูชอบ อิสลามไม่ชอบ เช่นว่า ฮินดูไม่ชอบฆ่าวัว อิสลามชอบฆ่าวัว ชอบแล้วก็ชอบหามไป หามไป ผ่านไปตามบ้านของฮินดู ฮินดูเห็นก็โกรธ ยกพวกมาตีพวกอิสลาม หาว่ามาฆ่าเนื้อวัว ฆ่าวัวมากิน เพราะวัวเป็นพาหนะของพระอิศวร พวกฮินดูเขาไม่ชอบให้ฆ่า เขาปล่อยให้มันอยู่ตามสบาย ทั้งนี้มีสถานที่อยู่แห่งหนึ่ง พวกอิสลามก็ไปสร้างมัสยิดที่ตรงนั้น สร้างมาก็นานแล้ว ตั้ง ๖oo ปีแล้วไม่ใช่เวลาเล็กน้อย แต่เวลานี้ พวกฮินดูกลับบอกว่า ที่ตรงนั้นน่ะ เป็นบ้านเกิดของพระราม เป็นที่ที่พระรามเกิด เพราะนั้นที่ตรงนั้นต้องเป็นของฮินดู แต่ว่ามัสยิดมันใหญ่โตเหมือนกัน มันตั้งอยู่ก่อน พวกนี้ก็จะเอาที่ตรงนั้นไปทำโบสถ์ ไอ้ที่ตรงอื่นถมไปไม่เอา ไปเอาเฉพาะที่ตรงนั้น เพราะว่านักบวชฮินดูบอกว่า ที่ตรงนี้เป็นที่ที่พระรามเกิด ไปติดวัตถุคือที่ที่พระรามเกิด และก็อยากได้ แต่พวกอิสลามไม่ยอม ไม่ยอมพวกฮินดูก็ยกพวกบุกรุกเข้าไปในมัสยิดของพวกอิสลาม ทำลายมัสยิด เพื่อจะเอามาสร้างโบสถ์ฮินดูกันต่อไป เลยเกิดรบกัน ตายไปเกือบ ๑oo คนแล้ว ตายเพราะอะไร ตายเพราะความโง่ ไม่ใช่เรื่องอะไร ความจริงเรานับถือศาสนานั้น ถ้าเรานับถือธรรมะเราก็ไม่ยุ่งยาก ลำบากอะไร เรานับถือธรรมะ ธรรมะไม่มีสถานที่ ไม่มีสิ่งที่จะสัมผัสได้ด้วยประสาท ๕ แต่สัมผัสได้ด้วยใจ คนทุกคนเข้าถึงธรรมะได้ ไม่ต้องอาศัยวัตถุอะไรก็ได้ ถ้าเราไปถกเถียงเกี่ยงงอนกันในด้านวัตถุกลายเป็นพวกวัตถุนิยม แล้วก็สร้างปัญหา สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นด้วยประการต่างๆ เรื่องอย่างนี้มันมีกันมาบ่อยๆ ในสมัยหนึ่งที่พุทธคายา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แต่ว่ามันอยู่ในกำมือของพวกฮินดู ฮินดูก็ไปยึดถือในสมัยที่ไม่มีพระในพุทธศาสนาไปอูยู่ที่นั่น เขาก็ยึดถือเอาไปเป็นเจ้าของ ใครมาบูชาเขาก็เก็บเรียบไป เอาไปเป็นของเขาหมด เขาเรียกว่าพวกมหันต์
มหันต์นี้เป็นพวกนักบวชในศาสนาฮินดู มีทรัพย์สมบัติมาก มีที่นาตั้งหมื่นเอเคอร์ในบริเวณนั้น เพราะฉะนั้นคนแถวนั้นเลยเป็นลูกนาของพวกมหันต์ทั้งนั้น ต้องอยู่ในอำนาจของพวกมหันต์ สมาคมมหาโพธิ ตั้งขึ้นโดยชาวลังกา ต้องการจะเอาพุทธคายามาอยู่ในมือของพุทธบริษัท เลยไปเป็นความกันเป็นความกันถึง ๓ ศาล ศาลชั้นต้นตัดสินให้ชาวพุทธชนะ ศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินให้ชนะ แต่พอถึงศาลฎีกา ผู้พิพากษาเป็นฝรั่งล้วน ตัดสินให้ชาวพุทธแพ้ไป เลยไม่อาจสถานที่นั้น เกิดเรื่องเถียงกัน เรื่องแย่งที่ ผู้ที่เป็นหัวหน้าคือ ท่านธรรมปาละ เคยมาเมืองไทย มาพบกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้วก็พูดเรื่องนี้ให้ท่านฟัง ท่านก็บอกว่า ตัวพุทธศาสนามันอยู่ที่หลักธรรมะ ไม่ได้อยู่ที่สถานที่ ทำไมจะต้องไปทำให้มันมีปัญหากับสถานที่ เกิดแก่งแย่งแข่งดีกัน มันจะได้อะไร เราไม่ควรจะสนใจในเรื่องวัตถุให้มากเกินไป แต่สนใจปฏิบัติธรรมะดีกว่า ชวนคนอื่นให้ปฏิบัติธรรมะจะดีกว่า แต่ว่าท่านธรรมปาละ ซึ่งเป็นชาวลังกา เขายึดติดในเรื่องวัตถุมาก เลยลาประเทศลังกาได้รับอิสรภาพ โบสถ์ฝรั่งที่เมืองอโนราตะโประ ไปสร้างอยู่ในวัดเป็นส่วนมาก เพราะวัดเก่าๆ เนื้อที่มันตั้งร้อยเอเคอร์ คราวนี้โบสถ์ก็เข้าไปตั้งอยู่ในนั้น พวกรัฐบาลลังกา ก็ถือเรื่องวัตถุเป็นเรื่องสำคัญก็เลยออกกฎหมายขับไล่ โบสถ์ฝรั่งเหล่านั้นให้ลื้อออกไปนอกสถานที่วัดทั้งหมด ให้ไปสร้างที่อื่นต่อไป แต่ว่าพวกคริสเตียนเขาก็ไม่ต่อล้อต่อเถียงอะไร เมื่อให้ย้าย เขาก็ย้ายโดยดี ก็เลยไม่ต้องตีรันฟันแทงกัน ถ้าขัดขืนกัน ก็ยกพวกตีกันเท่านั้นเอง คราวนี้การยกพวกตีกัน มันไม่ใช่ศาสนาแล้ว มันไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะส่งเสริมความสงบ ถือหลักว่า อัพยาปัชฌัง สุขัง โลเก การไม่เบียดเบียนกันเป็นความสุขในโลก ท่านมหาตามะคานธีก็มีสโลแกน หรือ อุดมการณ์ประจำใจว่า อหิงสา ปรโม ธัมโม การไม่เบียดเบียนเป็นบรมธรรม เป็นสิ่งสูงสุด แล้วเราจะไปเบียดเบียนกันให้มันยุ่งกับเรื่องอย่างนั้นทำไม ทำให้เกิดปัญหาขึ้นเปล่าๆ อะไรมันเป็นอะไรก็เป็นไปแล้ว เราก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามเรื่อง ปัญหามันก็ไม่เกิด แต่ว่าคนมันติดในวัตถุ เป็นส่วนมากจึงเกิดปัญหา พวกยิวก็เหมือนกัน พวกคริสเตียน ติดในสถานที่ ติดในพระเยซูเกิน แต่สถานที่นั้นมันอยู่ในอุ้งมือของพวกอิสลาม ประเทศตรงนั้นมันเป็นของอิสลาม พวกคริสเตียนก็อยากจะได้สถานที่นั้นมาเป็นอยู่ในการดูแลของคริสเตียน พวกอิสลามก็ไม่ยอม ไม่ยอมก็ยกทัพมารบกัน เรียกว่าสงครามครูเสด ทำกันอยู่ถึง ๓o ปี แล้วยืดเยื้อต่อมาถึงร้อยปี เรื่องนิดเดียว เรื่องแย่งที่เกิดพระเยซูกันเท่านั้นเอง ทำสงครามกัน ในหมู่ที่ทำสงครามนั้น ไม่มีใครคิดว่า ที่อยู่ ที่เกิดของพระเยซูจะสำคัญกว่าคำสอนของพระเยซูได้อย่างไร เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาคิดแต่สถานที่ แล้วก็ยกทัพไปรบ แล้วผู้ที่บงการให้รบก็คือ โป๊บ นั่นเองไม่ใช่ใครที่ไหน โป๊บใหญ่ที่กรุงโรม สั่งให้พระเจ้าแผ่นดินประเทศต่างๆให้เตรียมทัพไปร่วมรบกับพวกอิสลาม การเดินทัพในสมัยก่อนมันไกล กว่าจะไปถึงที่รบก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แล้วก็ยุโรปมันอยู่ในอากาศหนาว มารบที่เมืองร้อนมันก็แพ้ แพ้พวกอิสลามทุกที เพราะอิสลามมันทนกว่า ความจริงอิสลามไม่มีอาวุธดีเท่าใด พวกคริสเตียนมีอะไรดีว่าในสมัยนั้น แต่ก็สู้อิสลามไม่ได้ เพราะเดินทางมารบในบ้านเขา ก็ต้องแพ้เขาเป็นธรรมดา ในสถานที่นั้นก็อยู่ในเขตของอิสลาม แต่ต่อมาก็นึกขึ้นได้ก็เลยเลิกรบกัน แต่ใครอยากจะไปไหว้ก็ไปได้ เขาก็ไม่ได้กีดกันอะไร มีคนมาไหว้กันทุกปี เดือนธันวาคมวันที่ ๒๔ ซึ่ง ๒๕ ธันวาเป็นวันเกิดพระเยซู คนมาจากทั่วโลกมาไหว้กันในสถานที่นั้น คนในบริเวณนั้นก็พลอยได้ผลประโยชน์ ขายข้าวขายแกงขายของเป็นที่ระลึก ที่พักที่อาศัยทำให้คนได้อาศัย ได้เช่า มันก็มีรายได้ ยิวก็ต้องการเหมือนกัน ที่จะเข้าไปครอบครองในเขตนั้น ต้องการให้อยู่ในเขตเดียว เพราะเป็นเขตที่มีผลประโยชน์ มีรายได้ รวมความว่าที่รบราฆ่าฟันกันมันไม่ใช่เรื่องธรรมะ แต่เป็นเรื่องของวัตถุ เพราะว่าสถานที่นั้นอำนวยให้ได้วัตถุแล้วก็แก่งแย่งวัตถุกัน ในวัดในเมืองไทยเรานี้ ถ้าวัดไหนมีรายได้มากคนมักจะอยากเป็นสมภารกัน แล้วก็แย่งกัน แย่งกันเป็นสมภาร ความจริงเป็นสมภารนี่ไม่ใช่สนุกอะไร หลวงพ่อรู้ดีว่าเป็นสมภารไม่สนุกเพราะมาเป็นแล้ว เมื่อก่อนไม่ได้เป็นมันสบายมากกว่า ไปไหนก็ไปสะดวกสบายไม่ต้องคิดหน้ากังวลหลัง แต่พอมาเป็นสมภาร มีภาระเยอะ ภาระตั้งแต่ เช็ดกุฎีจนถึงโบสถ์ แต่คนไม่เคยเป็นอยากจะเป็นอยากจะได้เพราะว่าอยากใหญ่อยากโตนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร แต่พอมาเป็นเข้าแล้วมันก็ทุกข์ ทุกข์ก็ไม่ยอมออก เพราะความอยากจะเป็นมากกว่าเลยแย่งกัน มีแตกแยกกันบ่อยๆแย่งเป็นสมภาร ชาวบ้านก็เข้าไปถือหาง
ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งต้องการตรงนี้ ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งต้องการตรงนี้ ก็มีเรื่องมีราวกัน ไม่ตกลงกัน แก่งแย่งแข่งดีกันอยู่ ทะเลาะเบาะแว้งกัน นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมะ ไม่ใช่เรื่องของพระศาสนาแล้ว ความจริงไม่ควรจะแย่งกัน ในพระเองควรจะตกลงกันเอง คุณเป็นก่อนก็แล้วกัน คุณเป็นสักกี่ปีก็ตามใจ ผมจะเป็นลูกวัด เพราะเป็นลูกวัดมันสบายกว่าเป็นสมภาร แต่ว่าชาวบ้านยุ ยุให้เป็น ยุว่าท่านอย่ายอม ท่านต้องเป็น พวกเราถือหาง พระเลยกินลูกยุ เรียกว่าพระมีหาง ให้ชาวบ้านถือหาง แล้วมันก็ยุ่งไง มีหางให้ชาวบ้านถือ คราวนี้ทำไมไม่ตัดหางออกเสีย เพราะถ้าเราตัดหางออกมันก็ไม่ยุ่ง หางมันอยู่ที่ตัวอะไร ตัวอุปทาน ตัวเข้าไปยึดถือว่าฉันต้องเป็นใหญ่ ถ้าฉันไม่ได้เป็นใหญ่ ฉันไม่ยอม นั่นแหละหางมันอยู่ที่ตรงนั้น คราวนี้ชาวบ้านก็มีหางเหมือนกัน ชาวบ้านก็ไปถือหางพระ บอกว่าพระของเราต้องเป็นหัวหน้า คนอื่นเป็นเราไม่ยอม ไปแก่งแย่งกัน ไม่ประณีประนอม ไม่หันหน้าเข้าหากัน บางวัดแก่งแย่งกันจนต้องแยกวัดเลย กลายเป็น ๒ วัดไป วัดมาอยู่ที่มีคลองคั่นกลาง เหมืองเล็กๆไม่ใช่เหมืองใหญ่ ฝั่งนี้คณะหนึ่งอยู่ ฝั่งนี้คณะหนึ่งก็ไปยุ เลยแก่งแย่งแข่งดีจนต้องกลายเป็น ๒ วัด เป็นวัดคนละฝั่งไป วัดมันชื่อเดียวกันที่เมืองชล เขาเรียกว่าวัดพิมพาวาส กลายเป็น ๒ วัด ฟากหนึ่งมหานิกายอยู่ ฟากหนึ่งธรรมยุติอยู่ ต่างคนก็ต่างไม่ถอย เพราะว่าพระผู้ใหญ่ไม่ยอมให้ถอย หากพระสังฆราชผู้เป็นหัวหน้า หรือเจ้าคณะใหญ่บอกคุณถอยไปเสีย มันไม่ได้เรื่องอะไร วัดนิดเดียว ไปแย่งกันทำไม มันก็หมดเรื่อง แต่ว่าไม่ถอย เรียกว่าเอาศักดิ์ศรีไว้ ไอ้ศักดิ์ศรีมันคือตัวกิเลสไม่ใช่ตัวอะไร เราห้ามเสียศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีคือตัวกิเลสที่เราไปยึดถือไว้ ไปแบกไว้ในใจ แล้วไม่ยอม การไม่ยอมนั้นเป็นตัวกิเลสอย่างหนึ่ง ซึ่งสร้างปัญหา พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ประณีประนอม ให้ยอมกันเสีย ถ้าไม่ยอมกันก็เกิดปัญหา เวลาพระทะเลาะกันในสมัยครั้งพุทธกาล พระชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน พวกคณะวินัยธรกับธรรมธรทะเลาะกันขึ้น เพราะเรื่องเล็กๆน้อยๆเรื่องน้ำ เรื่องน้ำนิดเดียว คือว่าตามปรกติเวลาเข้าห้องน้ำ ใช้ภาชนะตักน้ำมาล้างอุจจาระที่ก้น ล้างเสร็จแล้วต้องคว่ำภาชนะไว้ ให้น้ำมันสะเด็ดหายไป แต่ว่าเผลอไป ท่านไม่คว่ำ หงายภาชนะไว้ คราวนี้พระพวกหนึ่งเข้าไป อาจารย์บอกพระของพวกคุณไม่รู้จักพระวินัย ไปปฏิบัติพระวินัย เรื่องมันเล็กนิดเดียว นี่ก็ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาบอก อืมเรื่องมันนิดเดียว พวกคุณนี่ไปยึดถือในเรื่องเล็กน้อย ไม่เป็นสาระเอามาเป็นเรื่องเป็นราว พูดกันไปกันมา เถียงกัน แตกกันเป็นสองฝ่าย เรียกว่าคณะวินัยธรกับคณะธรรมธรเกิดแยกกัน พระพุทธเจ้าเรียกไปพูดก็ไม่ยอม ยังดื้ออยู่ พระพุทธเจ้าเลยไปเสียเลย เรียกว่าลงพรหมทัณฑ์ไปเสีย ไปพักอยู่ที่ป่าแห่งหนึ่ง เขาเรียกว่าป่าปาริเลยกะ ไปอยู่ป่านั้น มีช้างกับลิงมาปฏิบัติพระพุทธเจ้า ช้างมาปฏิบัติ ลิงมาปฏิบัติพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา ท่านไปอยู่ที่นั่น ไม่ออกมาเลย ไม่ออกมาเลยตั้ง ๓ เดือนแหนะ ชาวบ้านชาวเมืองก็อยากเห็นพระพุทธเจ้า อยากฟังธรรมพระพุทธเจ้า ภายใต้เหล่านั้นเป็นเหตุทำให้พระพุทธเจ้าไม่ได้มา พวกชาวบ้านก็เลยไม่ใส่บาตร เรียกว่าคว่ำบาตร พระพวกนั้นก็เหนื่อยอ่อน เลยยอมความกัน แล้วเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปขอขมาลาโทษ พระพุทธเจ้าก็ยกโทษให้แล้วก็สอนว่าเธอต้องอยู่กันด้วยความรักความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก็มีกำกับตอนหนึ่งว่าในหมู่คนที่กำลังยุ่ง ถ้ามีใครสักคนนึกได้ว่า เราจะฉิบหายแล้ว เราจะย่อยยับแล้ว ความสงบจะเกิดกับความคิดนั้น แต่ไม่มีใครคิดได้เพราะตัวมานะ ตัวทิฐิมันรุนแรง ทำให้เกิดความคิดไม่ได้ พอคิดไม่ได้ก็ต่างก็แข่งชั่วกัน ไม่ใช่แข่งดีนะ แต่เราเรียกว่าแข่งดี ทิฐิมานะ มีความแข่งดี เลยแตกแยกแตกร้าว นึกไม่ได้ ถ้านึกได้มันก็สงบ แต่ไม่มีใครนึก เพราะในหมู่ที่อยู่ร่วมกันไม่มีใครพูดเรื่องความสงบ พูดแต่เรื่องว่าเราเสียเปรียบ เราถูกกล่าวหา เขาหาว่าอย่างนั้น เขาหาว่าอย่างนี้
ถ้าเรายอมมันก็เสียหน้า ถ้ายังเป็นปุถุชน ไม่เป็นพวกโสดาบันขึ้นไป ถ้าเป็นอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปแล้วเรื่องมันก็ไม่มี ก็เพราะพระโสดาบันท่านรู้เหตุรู้ผล เรื่องไม่ยืดยาว พวกปุถุชนยังบวชใหม่ ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง ยังไม่ได้ขูดเกลากิเลสออกจากจิตใจ ก็เลยไปยึดถือในเรื่องอย่างนั้น จนปรากฏในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาว่าพระแตกกันในเมืองโกสัมพี พระพุทธเจ้าต้องหนีไปอยู่ป่า แล้วพวกนี้รู้สึกตัว ไปขอขมาจึงออกมา ชาวบ้านก็ใส่บาตรกันต่อไป นี่เขาเรียกว่าชาวบ้านไม่ใส่บาตรพระ แต่ว่าในเมืองพม่านั้นเป็นอีกรูปหนึ่งเวลานี้ พระไม่รับบาตรชาวบ้าน เขาเรียกว่าคว่ำบาตร คือไม่หงายบาตร หงายบาตรคือใส่ข้าวได้ คว่ำแล้วจะใส่ยังไง ใส่ลงที่ก้นบาตรก็ไม่ได้ คว่ำบาตรกับคณะทหาร พวกทหารนี่ยึดครองเมืองมานาน ให้มีการเลือกตั้งแล้วก็ไม่ยอมให้คณะที่ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล พระในเมืองใหญ่คือเมือง มัณฑเลย์ มัณฑเลย์นี่พระมากนะ วัดหนึ่งวัดหนึ่งมีพระตั้งสองสามร้อย แล้ววัดก็มาก อาตมาเคยไปสมัยเป็นสามเณร กุฏิใหญ่ๆนะ กุฏิเป็นตึกสามชั้นสี่ชั้น พระอยู่เต็มหมด นอนกันเหมือนกับทหาร ไม่ได้นอนเป็นห้องเฉพาะห้องหนึ่ง นอนไม่เป็นห้อง ตึกกว้างใหญ่ นอนในห้องกว้างเหมือนกับทหาร พระนอนแห่งหนึ่ง สามเณรนอนแห่งหนึ่ง พอสั่งตีระฆังก็ลุกขึ้นไหว้พระสวดมนต์กัน ถ้าเราเข้าไปในวัดเราจะได้เสียงเช้า ไม่ใช่เสียงทะเลาะเบาะแว้งนะ เสียงเรียนหนังสือ ท่องดังๆ แบบวัดสมัยโบราณ เมืองไทยเราสมัยก่อน พระเณรเรียนหนังสือกันดังๆเหมือนกัน ถ้าเราเดินใกล้วัดเราจะได้ยินเสียงพระเณรท่องหนังสือ เรียนหนังสือกันดังๆ เพราะฉะนั้นท่องกันดังเอ็ดตะโรเต็มไปหมดเลย ท่องกันอย่างนั้น อยู่มากมายก่ายกอง ท่านสมภารก็อยู่กุฎิหลังใหญ่ แต่ว่าท่านก็ไม่ได้อยู่องค์เดียว มีพระลูกวัดอยู่ด้วยมากมาย อยู่กันเหมือนอยู่กองทหาร รักใคร่ สามัคคี กลมเกลียวกันดีอยู่ ที่นี้พระคิดกันว่าทหารรังแกชาวบ้าน ท่านก็เลยไม่รับบาตรจากทหาร พวกทหารก็เป็นทุกข์เมื่อไม่ได้ใส่บาตร ไม่ไดทำบุญ อันนี้ทำได้เพราะพุทธบริษัทยังเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเราคว่ำบาตรเสีย ชาวบ้านก็ไม่ได้ใส่บาตร เขาก็เป็นทุกข์ เดือดร้อน แต่นานๆเข้า ทหารไม่แก้ ไม่ทำอย่างอื่น ทหารใช้วิธีปิดวัดเสียเลย ปิดวัด ออกกฎหมายใหม่ บังคับพระ ไม่ให้ก่อกวน ไม่ให้ชักชวนกันก่อความวุ่นวาย มีกฎหมายคณะสงฆ์แต่ไม่ใช่ของสงฆ์แล้วเป็นคณะทหารออกมาบังคับพระ ให้อยู่ในระเบียบ อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่ว่าพระทำอะไรได้ ที่นี้ก็เลยยุ่งกันใหญ่ ลำบาก นี่ก็เพราะว่าปัญหามันเกิดขึ้น เพราะว่าฝ่ายบ้านเมืองกับพระไม่ลงลอยกันก็เกิดปัญหา นักบวชทะเลาะกันก็มีปัญหา ชาวบ้านทะเลาะกันกับนักบวชก็มีปัญหา มีเรื่องในธรรมบทเรื่องหนึ่งว่า พระฤษี ๒ ตนมาจากป่า มาพักอยู่ในที่แห่งหนึ่ง เคยเป็นโรงช่างหม้อ ท่านอยุ่ในป่ามานานแล้ว อยากจะกินของเปรี้ยวของเค็มบ้างก็เลยเข้ามาในเมือง อยู่ในป่ากินแต่ผลไม้ อยากจะเข้าเมืองรับรสอาหารแปลกๆบ้างก็มานอน องค์หนึ่งมาก่อนก็นอนก่อน องค์หนึ่งมาทีหลังก็บอกว่า ท่านสถานที่กว้างขวางผมขอนอนด้วยสักคนได้ไหม โอย นอนไปเถิด ที่ตั้งกว้างๆ นอนไปเสีย นอนตามสบาย องค์ที่มาที่หลังเลยมานอน พอนอนๆไปแล้ว ก็เกิดปวดท้องจะไปปัสสาวะ เดินไป มันมืด มองไม่เห็น เดินไปเหยียบเท้า ไปเหยียบเท้าฤษีตนหนึ่งเข้า ฤษีก็บอก อ้าวทำไมเดินซุ่มซ่ามมาเหยียบเท้า โอ้ ขอโทษๆ เลยขอโทษเดินไป พอเดินไปแล้ว ฤษีองค์ที่ถูกเหยียบนึกในใจว่าไม่ได้ เรานอนอยู่อย่างนี้ ตะกี้มันเดินไปทางเท้าเหยียบเท้า เดี๋ยวมาใหม่ มาทางโหด ทางนี้จะไม่ได้เหยียบเท้า เดินหลีกมา เลยนอนหันหัวกลับมา เอาหัวมาอยู่ทางด้านเท้า ไอ้นั้นก็เดินมาทางนั้น ก็นึกว่าเดินมาทางนี้หลีกมาทางนั้น ก็เรียกว่าโดนมันเหยียบหัว ทีนี้ บอก เฮ้อ เมื่อก่อนเหยียบเท้า ทีนี่เหยียบหัว เอาแล้ว เถียงกันแล้วทีนี้ กริ้วกันแล้ว โกรธกันแล้ว คราวนี้ก็แช่ง ฤษีตนหนึ่งแช่งฤษีอีกตนหนึ่งเลยทะเลาะกัน วาจานั้นเกิดอาทิตย์มืดไป ก็หมายความว่า พระทะเลาะกันนี่ทำให้เกิดความมืด ไม่ใช่ดวงอาทิตย์มืด หมายความว่าเกิดความมืด เพราะนักบวชเป็นแสงสว่างของประชาชน เมื่อนักบวชทะเลาะกันมันก็มืดบอดไปหมดทั้งบ้านทั้งเมือง ประชาชนก็ไม่รู้จะพึ่งใคร เขาเล่าไว้อย่างนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่านักบวชไม่ควรทะเลาะกัน ควรจะอยู่กันด้วยความรักความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน แต่บางทีชาวบ้านก็รังแกพระเหมือนกัน ทำให้เกิดเป็นปัญหา รุกล้ำขอบเขตของวัด แต่ว่าพระไม่รู้จะทำอย่างไร ทีนี้ไปบอกเจ้าหน้าที่ ถ้าบอกเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านก็ว่าพระพวกนี้ไม่อดทน อ้าว ไอ้ตัวมาทำให้พระมีเรื่อง หาว่าพระไม่ดีบ้าง ไม่ถูกบ้าง ก็เกิดแก่งแย่งกัน
เพราะฉะนั้นในที่บางแห่ง คนข้างวัดไม่ค่อยชอบพระในวัด เพราะว่า พระในวัดคอยขัดคอเขาในเรื่อง คอยบอกคอยเตือน ลูกหลานมาเล่นก็ว่า มาหักกิ่งไม้ก็ว่า มาทำให้เสียหายก็ว่า บอกว่าพระนี่รุนแรง เพราะว่าลูกหลานมันมาซุกซน พระก็รำคาญ เลยต่อว่าต่อขานบ้าง เขาก็โกรธเคืองนะ เหมือนกับคนข้างวัดตรงนี้ ตรงนู้น บ้านเก่านะ ไม่ใช่บ้านใหม่ตรงนี้ สมัยก่อนไม่มีกำแพงเดินสบาย เดินเข้าไปในวัด ไม่ใช่มาเฉยๆนะ มาใช้ส้วมของวัดเสียด้วย มาใช้ เช้าๆแล้วมา พระจะเข้าห้อง มีใครเข้าไปขวางแล้วออกมา อ้าวมาจากไหน ผมอยู่ข้างวัดนี่เอง มันไม่ถ่ายที่บ้าน มันมาถ่ายในวัด ทำให้เกิดเป็นปัญหา แล้วมีอะไรที่พอจะหยิบไปได้ ก็หยิบไปเฉยๆ เอาไปเฉยๆไม่บอกไม่กล่าวอะไร สมมติว่าปลูกกล้วยใหญ่แก่หมายมั่นปั้นมือว่า เดี๋ยวจะตัดทั้งเครือเอาไปบ่มให้สุกถวายพระ อยู่มาคืนหนึ่ง อ้าว หายไปทั้งเครือเลย มันตัดยกเครือไปเลย อย่างนั้นก็มี อะไรๆบ่อยๆ เลยไม่ไหว อย่างนี้ทำกำแพงดีกว่า พอทำกำแพงกั้น พอทำกำแพงกั้นเขาบอกว่าให้เปิดช่องไว้สักช่อง ให้คนเดินได้ เข้าวัดมาได้ บอกเดินก็ออกทางถนนใหญ่ไม่ต้องเข้าวัดก็ได้ แต่ความจริงเขาก็ไม่ค่อยจะมาวัดเท่าใด ให้เปิด แล้วไม่ยอมเปิด ไม่ยอมเปิดก็โกรธเอาพระ หาว่าปิดประตู ไม่ให้คนเข้ามาในวัด หาเรื่อง ความจริงมันออกไปทางถนนแล้วเดินเข้าประตูมันก็มาได้อย่างสบายๆ แต่ไม่ยอมกระทำเช่นนั้น หาว่าลำบาก เดินกลางคืน ถนนกลางวัดนี่ สายนี้ เดินออกทะลุไปหลังวัดได้ กลางคืนของหายบ่อย คือผู้ดีก็เดิน ผู้ร้ายก็เดิน ของมันหาย หายมาก็ปิดประตูเสียเลย ปิดกำแพง ก่อกำแพงปิดเสีย ปิดมาโกรธ มาต่อว่า มีคนหนึ่งมายืนด่าหน้ากุฏิเลย หาว่าพระจะอะไร ไม่รู้จักบุญคุณชาวบ้าน ไม่สงสารชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเดินลำบาก ว่าใหญ่โต อาตมาก็เลยว่า ถ้าคุณรู้สึกว่าสบายใจ เพราะได้ด่าพระ ก็ด่าไปเสีย ไม่ว่าอะไร แต่ถ้ารู้สึกร้อนใจเพราะด่าพระก็หยุดเสียมั่งนะ แล้วเที่ยวด่าต่อไป ฉันก็นั่งเฉยๆ นั่งยิ้ม เหมือนนั่งดูละครที่จะแสดงเรื่อยไป ถ้าด่าๆเหนื่อยก็กลับบ้านไป แล้วทีหลังก็ไม่มีใครด่า เพราะมันเดินไม่ได้แล้ว ปิดทางนี้ แต่เปิดไว้ทางหนึ่ง สร้างทางน้ำใหญ่ให้เดินเข้ามาได้ ก็ยังมีเรื่องมีราว เลยปิดหมด ปิดหมดก็มาด่าอีก เลยนั่งเฉยๆให้เขาด่า ไม่มีเรื่องอะไร ไอ้คนที่ด่า เวลานี้ไม่รู้หายไปไหนแล้ว ไม่เคยเห็นหน้า อาจจะตายแล้วก็ได้ เพราะด่าพระมากๆ มันก็กระทบกระเทือน มันก็มีเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าเราไปสัมภาษณ์คนข้างวัดว่า สมภารวัดนี้ดีไหม ไม่ค่อยบอกว่าดี อย่าไปถามคนข้างวัด ไม่ได้ ไม่ได้เป็นเครื่องวัดว่า ดีหรือไม่ดี เพราะว่าเขาไม่ชอบก็เลยว่าไม่ดี เคยมีพวกยูวพุทธ เขามาเที่ยวสัมภาษณ์คนข้างวัด แล้วเขามาบอกว่า คนข้างวัดนี่ไม่ชอบหลวงพ่อ เอา ฉันรู้ ไม่ต้องมาสัมภาษณ์ว่าไม่ค่อยชอบ แต่หลังๆนี่ ลูกมาวัด มาเอาขนมไปกินทุกวัน เป็นย่อมเลยเอาไป แต่พ่อแม่ไม่มา ลูกมา มาแต่ลูก มาเอาข้าวเอาแกง เอาขนมมาทุกวัน แต่พ่อแม่ไม่เคยมาเลย เราก็ไม่ว่าอะไร ก็แบ่งให้ไปกินกันไปตามเรื่อง นี่ เรื่องมันเป็นอย่างนั้น เรื่องคนมันมีกิเลสมันก็ลำบาก มันพูดกันยาก เขาไม่ยอมท่าเดียว ถ้ายอมก็ไม่มีอะไร ไอ้คนเราที่มันยุ่งก็เรื่องไม่ยอมกัน ไม่ยอมนั้นมันเป็นกิเลสตัวหนึ่ง เขาเรียก ทิฐิมานะ ทิฐิมันแปลว่าความเห็นแต่เป็นความเห็นผิด เห็นว่าฉันถูก คนอื่นไม่ถูก ฉันเป็นผู้ถูกคนอื่นไม่ถูก เลยไม่ยอม ไอ้ไม่ยอมนั่นแหละคือตัวปัญหา ถ้ายอมแล้วมันก็ไม่มีปัญหา เราอย่าไปทะเลาะกับใคร ต้องนึกว่าทะเลาะกันแล้วได้อะไรขึ้นมา การทะเลาะนี่มันไม่ได้อะไร มันเสียหาย ไม่ได้เรื่องอะไร
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้อดทน มีพระองค์หนึ่งจะไปลาพระพุทธเจ้าไปสอนธรรมะที่แคว้นปะลังตัปปะ แคว้นปะลังตัปปะมันอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ในอินเดียในสมัยนี้ แต่คนมันเกะกะแคว้นนั้น พระองค์เลยถามว่า เธอจะไปสอนได้หรอ เพราะปรากฎว่าคนเป็นนักเลงเกะกะละลานมาก ท่านก็บอกว่าสอนได้ สามารถจะไปสอนได้ แล้วเธอจะทำอย่างไร ถ้าเขามาด่าเธอจะทำอย่างไร ก็จะนึกในใจว่า เพียงแต่ด่ายังดีกว่าตี ท่านนึกว่าถ้าเขาด่ายังดีกว่าเขาตี แล้วก็เลยไม่โกรธ อ้าว และถ้าสมมติว่าเขาตีล่ะ ได้รับความบาดเจ็บนี่ ก็เลยตอบว่าเพียงแต่ตียังดีกว่าฆ่าให้ตาย ท่านคิดในแง่ดี เพราะถ้าเขาตี ยังดี ยังดีกว่าเขาฆ่าให้ตาย อ้าว ถ้าเขาโกรธจัดเขาฆ่าเธอให้ตาย ก็ดีเหมือนกันเพราะไม่ต้องฆ่าตัวเอง คนอื่นมาช่วยฆ่าให้ มันก็ตายไปเรียบร้อย ท่านคิดในแง่นั้น เลยพระพุทธองค์บอก ถ้าเช่นนั้น เธอไปได้ อยู่ได้ อยู่ได้ด้วยอะไร ด้วยอดทนกรณี ทนได้ เขาด่าก็ดีกว่าเขาตี ถ้าเขาตีดีกว่าเขาฆ่า ถ้าเขาฆ่าก็นึกเสียว่าก็ดีเหมือนกัน เพราะอยู่ในโลกก็ยุ่ง ตายก็ดี เขาช่วยฆ่าให้ตายก็ดีแล้ว แม้ว่าท่านจะไปอยู่ได้ ไปสอนคนได้ กลับใจคนให้เข้าหาธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ เพราะไปด้วยความอดความทน นี่ทนได้ ไอ้ความอดทนนี่เราต้องใช้อยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีความอดทนมันก็อยู่ไม่ได้ ทนร้อน ทนหนาว ทนดินฟ้าอากาศ ทนสิ่งภายนอก โดยเฉพาะญาติโยมอยู่กรุงเทพฯมันต้องทนอยู่ตลอดเวลา เพียงขับรถมาวัดนี่ก็ต้องอดทนที่สุดแล้ว เพราะจราจรมันติดขัด แต่วันอาทิตย์ค่อยเบาหน่อย รถมันน้อยไม่เหมือนกับวันธรรมดา เราก็มาได้สะดวกสบายพอสมควรแต่มันก็ยังติดนั่นแหละ ถ้าเรานึกเสียว่า เออ ธรรมดา เพราะรถมันมาก คนมันมาก มันก็ต้องติดกันบ้าง รถติดนี่ไม่ใช่ติดแต่บ้านเรานะ ฝรั่งที่เป็นเมืองเจริญถนนมันกว้าง ๘ เลน ๑o เลนถนนใหญ่ ตั้ง ๑o เลนนะ วิ่งเรียงหน้าไป ๑o คันเลย สวนกันไปบ้าง บางสายเขาเลยว่าวันเวย์ ไปท่าเดียว วิ่งไป ๑o คัน แต่บางสายก็มีด้านสวน ด้านหนึ่งมา ด้านหนึ่งไป มันก็ติดเหมือนกัน เช้าๆ ช่วงชั่วโมงที่รีบร้อนไปทำงาน มันก็ติด เพราะฉะนั้นถนนใหญ่ๆติดทั้งนั้น ลอนดอนนี่ก็ติด ติดมากเลยทีเดียว ถ้าว่าเราออกจากลอนดอนไปวัดอมารวดี ออก ๗ โมงเช้ามันก็ติดในกรุงลอนดอน ติดอยู่ กว่าจะหลุดไปขึ้นถนนสายใหญ่ เขาเรียกว่าเอ็มวันไนท์ เพราะกว่าจะขึ้นได้ก็ตั้งชั่วโมงกว่า เข้าก็เหมือนกัน พอเข้ามาถึงก็ติดเรื่อยมา กว่าจะมาถึงบ้านได้ก็เสียเวลา แต่คนอังกฤษนั้นใจเย็นมาก เขาไม่เอะอะ ไม่โวยวาย ไปบีบแตร ไม่บ่นไม่อะไร เฉย ขับรถนั่งเฉย เขาหัดมานาน หัดอดทน มันผิดกับคนฝรั่งเศส ฝรั่งเศสนี่ไม่ค่อยอดทน พอรถติดแล้วบีบแตกันก้องเมืองเลย คันนั้นก็บีบ คันโน้นก็บีบ บีบใช่ว่ามันจะไปได้ แต่มันติด พอมันระบาย เอาความรู้สึกไปใส่ในแตรแล้วระบาย ปู๊ดป๊อดปู๊ดป๊อด และบางคนก็เปิดกระจกโผล่หน้ามาดู เฮ้ยเมื่อไหร่จะไปกันซักทีเว้ย ถ้าพูดแบบไทยก็คงพูดแบบนั้น แต่มันพูดเป็นภาษาฝรั่งเศส มันไม่มีความอดทน คนฝรั่งเศสไม่อดทน แต่คนอังกฤษเขาเยือกเย็น เขาสงบ มีอะไรเกิดขึ้นเขาก็เย็นๆ ไอ้ความสงบเย็นของชาติอังกฤษเนี่ย มันจึงเอาชนะสงครามได้ เวลาแพ้เขาก็ไม่ตกอกตกใจ เวลาเยอรมันรุกรุนแรงเข้ามาที่ดันเคิร์ก มันต้องถอย ถอยกลับเกาะ เขาก็ถอยอย่างมีระเบียบเรียบร้อย คนอังกฤษมีเรือ เรือสำหรับเที่ยวเล่น ออกไปรบ ต่างคนต่างไป ช่วยกันขนทหารกลับบ้าน เขาใจเย็น เขาใจสงบ ทำด้วยอารมณ์เยือกเย็น เขาก็ทำได้เรียบร้อย วางแผนต่อสู้กันต่อไป ผลที่สุดเขาก็ชนะได้ด้วยความอดทน
เราเป็นพุทธบริษัทต้องใช้ความอดทนอย่างมากในเรื่องอะไรๆต่างๆ โดยเฉพาะทนต่อถ้อยคำนี่เป็นเรื่องสำคัญเพราะคนเรามันมีดีบ้าง ชั่วบ้าง ปนกันไป บางคนปากมาก บางคนก็ปากน้อย บางคนพูดดัง บางคนก็พูดค่อย บางคนพูดหยาบ บางคนพูดดี เราต้องประสบพบเห็น พบเห็นอะไรก็ต้องตั้งใจว่า ทนให้ได้ อย่าไปแสดงอาการอะไรโต้ตอบคนเหล่านั้น เราต้องอดต้องทนไว้ ถ้าทนได้นั้นก็สบาย ไม่มีเรื่องอะไร ทนได้นั้นเรียกว่า อาธิวาสนขันติ มีความอดทนอย่างยิ่งต่อสิ่งเหล่านั้น ถ้าหากว่าใครมาทำร้ายเราด้วยการพูด เราก็ไม่พูดโต้ตอบ ไม่คิดว่าอะไร พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบไว้ให้ฟังว่า คนที่มาด่าเรานั้นเป็นคนชั่วอยู่แล้ว ถ้าเราไปด่าตอบคนนั้น เราชั่วเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง แล้วก็ตีว่าคนที่ด่าคนหลังนี่แหละที่เป็นคนชั่วกว่าคนแรก สมมติว่านาย ก มาด่า นาย ข แล้วนาย ข โกรธมาด่านาย ก พระองค์ตีว่านาย ข นั้นเลวกว่านาย ก ทำไมจึงถือว่าเลวกว่า เพราะว่านาย ก เขาแสดงแบบให้ดูแล้ว สาธิตให้ดูแล้ว ว่าคนที่จิตใจตกต่ำนั้น มันพูดอย่างนี้ กริยาท่าทางอย่างนี้ เป็นบทเรียน เป็นเครื่องสอนใจอยู่แล้ว นาย ข ไม่เอาบทเรียนนั้นเป็นเครื่องเตือนใจ กลับไปโต้ตอบ พระองค์จึงถือว่านาย ข เลวกว่า นาย ก อันนี้เราจะไปเลวกว่าคนนั้นทำไม คนนั้นมันเลวอยู่แล้ว เราจะไปเลวกว่าเขาทำไม เราควรจะดีกว่าเขา คำไทยเราพูดไว้ว่าอย่างไร โบราณว่า อย่าเอาทองไปถูกระเบื้อง อย่าเอาเนื้อไปแลกหนัง อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ ทองมันมีราคามากกว่ากระเบื้องที่เป็นดิน เนื้อมันมีค่ามากกว่าหนัง พิมเสนมีค่ามากกว่าเกลือแม้ว่ามันจะกองโต พิมเสนมันขวดเล็กๆแต่มันก็มีค่ามีราคามากว่า เราจะเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือก็ไม่สมควร เอาเนื้อไปแลกกับหนังแห้งก็ไม่ไหว เอาทองไปถูกับกระเบื้องมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ ให้นึกว่าคนที่มาทำอะไรกับเราในทางที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นคนมีกิเลสครอบงำภายในจิตใจ เขาเป็นตัวอย่างให้เราเห็นอยู่แล้ว ถ้าเราไปทำตอบคนเหล่านั้น ก็เท่ากับเราต่ำกว่าคนเหล่านั้น ไม่เอาตัวอย่างมาเป็นเครื่องสอนใจก็เป็นการไม่ถูกต้อง เลยไม่กระทำอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องที่ว่า ใช้ความอดทนอย่างยิ่ง คนอดทนได้ก็สบาย ฝนตก ฝาร้อง การจราจรติดขัด มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเราก็อดได้ทนได้ มีปัญหาเราก็สบาย แต่บางทีก็เหลือทนนะ เหลือทนก็อย่าไปทำอะไรให้มันรุนแรง ถ้าจะไปพูดอะไรกับใครให้ไปพูดด้วยในสงบ ใจเยือกเย็น ถ้าใจร้อนอย่าไปพูด เวลาใจร้อน ร้อนใจ อย่าไปพูดอะไร เพราะถ้าพูดด้วยความร้อน มันร้อนออกมา เป็นคำพูดที่ไม่สุภาพ ไม่เรียบร้อย เพราะฉะนั้นต้องทำใจให้เย็นแล้วค่อยไปพูดกัน ว่างๆค่อยเรียกมาพูดจากัน หรือออกบัตรเชิญคนนั้นไปกินอาหารที่ร้านไหนคุยกันหรือมาที่บ้านก็ได้ ว่างๆมานัดกินข้าวกันซักทีหนึ่ง มากินกันในสนามหญ้าแล้วค่อยพูดค่อยจากันว่าเรากระทบกระเทือนกันมานานแล้ว ต่างฝ่ายต่างไม่สบาย คนโกรธกันนั้นไม่ใช่ว่าสบายนะ ไม่สบายทั้งสองฝ่าย นาย ก โกรธกับนาย ข ก็ไม่สบายทั้งนาย ก นาย ข ระแวงกัน สงสัยกัน มีอะไร ก็คอยมองกันในแง่ร้าย เห็นกันอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เรามองใครในแง่ร้าย เราไม่สบายใจเรามีความทุกข์ทางใจ แต่ถ้าเรามองคนในแง่ดีแง่งามมันก็ไม่มีปัญหาอะไร การไม่โกรธใคร ไม่เคืองใครนั้น เป็นความสุขในชีวิต พระท่านเลยบอกว่า โกทังคะตะวาสุขังเสติ ฆ่าความโกรธได้เป็นสุข ความโกรธเราฆ่ามัน คือ ไม่ให้มันเกิดขึ้นในใจเราต่อไป ทำอย่างไรไม่ให้เกิด ก็มีปัญญามีสติคอยพิจารณา สติรู้ทันว่าคนนั้นจะทำให้เราโกรธ แล้วปัญญาก็มาตั้งปัญหาขึ้นถามว่า เราจะไปรับอารมณ์นั้นทำไมรู้ว่าของมันไม่ได้เราก็ไม่ควรรับสิ ถูกไหม ก็สิ่งนั้นมันไม่ดี ใครเอาของไม่ดีมาให้เราไม่รับ เราไม่เปิดประตูรับ ทีนี้เรามันเปิดหูฟัง เปิดถ่างตาดูเขา แล้วเราเข้ามาสู่ใจ รับเข้ามาเพิ่มให้ขุ่นมัวให้เศร้าหมอง ทั้งที่ปรกติเราไม่ได้ขุ่นมัวเศร้าหมอง สภาพจิตใจเรียบร้อยดีอยู่ แต่คนนั้นมาแกว่งให้ใจเราเศร้าหมอง ว่าน้ำที่มันนิ่งแม้มีตะกอนมันก็อยู่ก้นโอ่ง มันไม่ขึ้นมาทำให้น้ำเสียหาย แต่ถ้าเราเอาไม้ลงไปแกว่งเข้า น้ำมันก็ขุ่นหมดทั้งโอ่ง กินไม่ได้ คนที่มาทำอะไรกับเรา เขามาแกว่งจิตใจเราขุ่นมัวเศร้าหมอง เราขาดสติขาดปัญญา ไม่รู้ทัน ไม่รู้เท่าต่อสิ่งนั้น เราก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาเหมือนกัน
หาว่าทำไมมาทำอย่างนั้นกับฉัน นี่เราคิดอย่างนั้น ถ้าเราคิดแต่เพียงว่ามันเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของฉัน เขาแสดงอาการของเขา ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับฉัน เขาไม่ได้ด่าฉัน ไม่ได้ว่าฉัน เขาว่าฉันคนชั่ว ฉันไม่ได้ชั่วแล้วจะไปเดือดร้อนอะไร เขาว่าเราเลว เราก็ไม่ได้เลว เราจะไปเดือดร้อนอะไร ทำใจให้เฉยๆ นึกดูในแง่สนุกว่า เออ น่าดูคนที่มาแสดงกิริยาอย่างนั้น พูดจาอย่างนั้น เราไม่ค่อยมีโอกาสได้ดู ถ้าเขามาทำให้ดูฟรีๆไม่ต้องเสียสตงสตางค์ค่าดูอะไร ไปดูลิเกมันรบกันก็ยังเสียสตางค์ ดูหนังทะเลาะกันในจอก็เสียสตางค์ นี่ไม่ต้องเสีย เขามาแสดงถึงหน้าบ้าน เราก็นั่งดูเขาสบายๆ ยิ้มๆไป มันจะแสดงเท่าไหร่มันก็เหนื่อยกลับไปเอง มันไม่มีเรื่องอะไร อย่างนี้ใจสบาย ไม่มีปัญหา ไม่เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน พระพุทธเจ้าสอนพระอานนท์ว่า อานนท์เราเป็นเหมือนช้างศึก ข้าศึกยิงลูกศรมารอบทิศ เราก็ไม่หวั่นไหว ที่พูดเช่นนั้นก็เพราะว่า มีคนไปด่าพระพุทธเจ้า นางมาคันทิยาแกได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทน ได้เป็นโดยจับพลัดจับผลูไปเป็นเข้า ทีนี้แกโกรธพระพุทธเจ้ามานานแล้ว ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปสู่ถิ่นนั้น คราวนี้นางพราหมณีแกเห็นเข้า พ่อแกเห็นเข้าก็เลยคิดว่าคนนี้เหมาะที่จะเป็นลูกเขยของเราและก็ไปบ้าน ไปบอกแม่บ้านว่าแต่งตัวลูกสาวให้ดีๆหน่อย ฉันพบผู้ชายที่จะเหมาะเป็นลูกเขยแล้ว เพราะว่าหวงไว้นาน ไม่ให้ใคร คราวนี้เราเจอแล้ว แม่ยายเขาก็แต่งตัวลูกสาวเสียสวยพริ้งเชียวไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านเหยียบรอยไว้ แล้วท่านก็เดินแอบไปตามสุมทุมพุ่มไม้เสีย พอไปถึงไม่เห็นองค์พระพุทธเจ้า เห็นแต่รอย พอเห็นรอยนี้ แม่บ้านก็บอก อืม แกนี่ชักจะเลอะใหญ่แล้ว ไอ้รอยตีนแบบนี้ไม่ใช่คนธรรมดา คนไม่มีกิเลส รอยตีนแบบนี้คนไม่มีกิเลส แล้วจะยกลูกสาวให้อย่างไร เฮ้ย แกดูซะก่อน ดูดวงชะตาเหมือนดูจระเข้ในโอ่งน้อยอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวๆเดี๋ยวหาดูก่อน พอหาดูก็เจอเลย พอเจอก็จับชายจีวรดึงมาเลย นี่ๆลูกสาวเราจะให้ท่านแล้ว พระองค์ก็เห็นว่าพราหมณ์ทั้งสององค์มีนิสัยที่จะสอนให้บรรลุธรรมได้ แต่ลูกสาวนั้นยังกระด้างกระเดื่อง ยังไม่สามารถจะสอนได้ก็เลยพูดว่า ลูกสาวของท่านที่ว่าสวยน่ะ อย่าว่าจับต้องด้วยมือเลย แม้เอาเท้าเตะก็ยังไม่สมควร พอแม่สาวนางมาคันทิยาได้ฟังเข้า ก็แสบถึงทรวงเข้าไปเลย โกรธ โกรธพระพุทธเจ้าเลยตั้งใจไว้ว่า เอาเถอะ วันใดวันหนึ่งฉันได้สามีดีๆ ฉันจะเล่นงานพระรูปนี้ให้ได้เลย อ้าว จับพลัดจับผลูได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนเข้า เป็นพระสนม พระเจ้าอุเทนมีมเหสีอยู่แล้วชื่อ สามาวดี แล้วพอแกไปเป็นมเหสีน้อยเข้า รู้ว่าพระนางสามาวดีเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เลยรังแกเรื่อย หาเรื่องรังแกเรื่อย มันกับในลิเก ในหนังที่เขาแสดง ก็รังแกเรื่อยไป ยังไม่หายเจ็บใจ ยังไม่หายเจ็บใจก็จ้างคนมาดักด่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไปบางรักก็ไปด่า ไปบางลำพูก็ไปด่า ไปสามเสนก็ไปด่า ด่าทั้งนั้นเลย ไม่ว่าไปบิณฑบาตก็ไปด่า ด่าเรื่อยจนพระอานนท์ทนไม่ไหว แล้วบอกว่าทนไม่ไหวแล้วพระยะค่ะ เมืองนี้คนขี้ด่ามาเหลือเกิน ควรจะออกไปจากที่นี้ พระพุทธเจ้าถามว่าไปไหนล่ะ ไปเมืองที่คนไม่ด่า อ้าวถ้ามันเกิดมีคนด่าขี้นมาอีกล่ะ ก็ต้องหนีกัน อย่างนี้ไม่จบ เหตุเกิดที่ไหนก็ให้ดับที่นั่น อันนี้เป็นคำตรัสที่สำคัญ เหตุเกิดที่ไหนต้องดับที่นั่น เอามาใช้ในชีวิตประจำวันของเราว่า เหตุเกิดที่ตรงไหน ก็ดับที่ตรงนั้น คือเหตุเกิดที่ตรงไหนมาดับโกรธที่ตรงนั้น เกลียดตรงไหนก็ไปดับกันที่ตรงนั้น ริษยากันที่ตรงไหนก็ไปดับกันที่ตรงนั้น ดับทันที อย่าเก็บเอามาที่บ้าน อย่าเอาความโกรธในตลาดมาที่บ้าน อย่าเอาความโกรธในทุ่งในป่าเอามาที่บ้าน ให้มันดับเสียที่ตรงนั้น ให้มันสงบเสียที่ตรงนั้น ในคำตรัสมีความหมายอย่างนั้นคือ เหตุเกิดที่ไหนดับที่นั่น แต่ว่าเหตุการณ์ด่ามันเกิดที่เมืองโกสัมพี พระพุทธเจ้าว่าเราต้องอยู่ที่นี่ แล้วพระองค์ตรัสว่า อหัง นาคู วสังคาเม บอกว่าเรานี้อดทนเหมือนช้างสารออกศึก ช้างที่ออกศึกนี่ถูกยิงด้วยลูกศรมารอบทิศ ก็ยืนเฉย ไม่หวั่นไหว ยืนตายอยู่กับที่ ยืนอยู่อย่างนั้น เราก็เป็นเหมือนกับช้างออกศึกอย่างนั้น คนชั่วในโลกมีมาก คนดีมีน้อย เราต้องอดทนต่อถ้อยคำของคนชั่วเหล่านั้น เขาจะด่าว่าตถาคตได้แค่เพียง ๗ วัน อานนท์ไม่ต้องตกใจ ทนต่อไปก่อน แล้วอดทนไป ทนๆไปเดี๋ยวเขาก็หยุดด่าไปเอง ไม่ทำอะไร แต่ว่านางมาคันทิยาไม่หายเจ็บใจ ก็รังแกนางสามาวดีก็หาเรื่อง หาเรื่องหลายเรื่อง แต่ว่าเรื่องสุดท้ายเผาปราสาทเสียเลย เผาปราสาท เอาน้ำมันมาชโลมทา แล้วก็ถามว่าทำอะไร ตกแต่งปราสาทให้สวยงามหน่อย ความจริงคือน้ำมัน เอามาทาไว้เต็มหมด พอดีพระเจ้าอุเทนเสด็จประพาสป่า พระเจ้าอุเทนนี่ชอบไปล่าช้าง เลยจุดไฟเผาเสียเลย พระนางสามาวีกับพวกก็ตายหมด พระเจ้าอุเทนกลับมา ก็เก่ง วิธีจับผู้ร้ายของพระเจ้าอุเทนก็เก่งเหมือนกัน พอมาถึงก็หัวเราะชอบใจ เรียกข้าราชการมานั่ง แหม ฉันสบายใจเหลือเกิน ฉันเป็นทุกข์อยู่นานแล้วกับแม่สามาวดีเนี่ย ตายเสียทีก็ดีแล้ว แหมใครนะเป็นผู้ทำให้นางสามาวดีตาย ฉันจะให้รางวัลหน่อย คนอยากได้รางวัลมากันใหญ่ ไอ้คนไม่ฆ่าก็บอกว่ามีส่วน แต่ว่านางมาคันทิยารับก่อนเพื่อน บอกว่าหม่อนฉันเองพะยะค่ะ หม่อมฉันจัดการให้คนเอาน้ำมันไปชโลมปราสาท แล้วก็เผาปราสาท ตัวการใหญ่ได้แล้ว ทีนี้ตัวการน้อย คนนั้นก็รับ ข้าพระองค์ช่วยอย่างนั้น ข้าพระองค์ช่วยอย่างนี้ ไอ้ไม่ทำก็มาเอาด้วย ไม่ได้ฆ่าก็จะเอาด้วย พลอยเอากับเขาด้วย เพราะว่าอยากจะได้รางวัล
พอเสร็จเรียบร้อยแล้วพระองค์ก็สั่งให้ขุดหลุม ขุดหลุมเสี่ยงคอ ฝังทั้งเป็น แต่ว่าล่อหัวไว้ แล้วเอาช้างมาเดินเหยียบ ตายหมดทุกคน สมกับที่ทำกับพระนางสามาวดี มันเป็นอย่างนั้น คนเรามันใช้ความโกรธใช้โทสะไม่ดี ใช้ความสงบใช้ความเยือกเย็นดีกว่า มักจะมีเรื่อง อยู่ๆมีคนมาบอก แหม ฉันทนไม่ได้ แม่คนนั้นว่าคุณอย่างนั้น อย่างโน้น อย่างนี้ หาเรื่อง มาเล่าให้เราฟัง จะเอาความดีความชอบ ที่นี้พอเราได้ฟังก็เป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา วิ่งเต้นไปเลย จะไปต่อว่าไอ้คนนั้น ไอ้คนนั้นนั่งสบายใจว่าได้ผล กูหยิกท้ายได้ผล คนมันชอบ ชอบหยิกท้ายมดให้กัดกัน คนหยิกท้ายมดให้มันกัดกัน มดสองตัวมันเจ็บก้น มันก็นึกสงสัยว่าไอ้นี่กัดกุ กลายเป็นกัดกันเอง คนอย่างนั้นก็มี เขาเรียวกว่าบ่างช่างยุ เที่ยวยุให้คนโกรธกัน เกลียดกัน อย่างนี้เขาเรียกว่าเราตกหลุมพราง พอเขามาบอกเราตกหลุมพราง ทางที่ถูกเราควรทำอย่างไร ควรจะบอกกับคนนั้น คุณได้เห็นรึ คุณได้ยินรึ โอยเห็นกับตาได้ยินกับหู ก็ดีแล้วอย่างนั้น สิ่งที่คุณได้เห็นได้ยินนั้น คุณรับเอาไปก็แล้วกัน ฉันไม่เอา แม่คนนั้นก็น่าเจื่อนไปเอง เพราะว่าเขาไม่เอา เขาปฏิเสธกลับมาหาเรา รู้ไหมเสียท่าอย่างนี้ เหมือนพระพุทธเจ้าไปบ้านพราหมณ์ถูกพราหมณ์ด่า พระองค์ยืนเฉยๆ พราหมณ์ด่าจนเหนื่อย เมื่อพระองค์ถามว่าพราหมณ์ ถ้ามีแขกมาที่บ้านท่าน ท่านจะทำอย่างไร ก็ต้อนรับด้วยขนมนมเนย ตามหน้าที่เจ้าบ้าน ถ้าแขกไม่รับประทานของนั้น ของนั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์หน้าเจื่อนเลย พอถูกย้อนถามเช่นนั้น ก็เป็นของเจ้าบ้าน ก็เหมือนกัน เมื่อสักครู่นี้ท่านต้อนรับเราด้วยผรุสวาจต่างๆนั้น เราไม่เอานะ ก็ตกอยู่บนกบาลตัวเอง พราหมณ์ก็เลยเสียใจ ก้มลงกราบพระพุทธเจ้าขอโทษขอโพย แล้วก็เทศน์ให้ฟังว่าความชั่วมันเป็นยังไง นี่มันเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นตัวอย่างในชีวิตที่เราควรจะนำไปใช้ ในชีวิตประจำวันอยู่ด้วยน้ำอดน้ำทน ใจเย็น ใจสงบ ถ้าใจเย็นใจสงบ สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี อายุมันก็ยืน คนใดโกรธบ่อยๆอายุสั้น ประสาทมันกระเทือนบ่อยๆ เดี๋ยวจะเป็นโรคหัวใจวายตายยังไม่ถึงเวลาเท่านั้นเอง เพราะว่ามันกระทบบ่อยๆ เดี๋ยวโกรธบ่อยๆ เดี๋ยวเกลียดบ่อยๆ เดี๋ยวหมั่นไส้บ่อยๆ ไส้มันจะบิดจนท้องขาดไปเพราะหมั่นบ่อย อย่างนี้มันไม่สมควรแก่เรื่อง เราควรสงบเย็นอย่าเอามาเป็นอารมณ์ ใครทำอะไรก็ช่างหัวมัน ช่างหัวมันเสียบ้าง ช่างเขา ไม่ใช่เรื่องของฉัน ฉันไม่ได้เป็นอย่างเขาว่า เขาว่าเอาเอง เขาพูดเอาเอง ฉันไม่ยอมรับสิ่งนั้น เพราะมันไม่ใช่เรื่องของฉัน ทำใจอย่างนี้มันก็สบาย ไม่ค่อยมีเรื่อง ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แสดงมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้