แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒๘ เดือนตุลาคม เป็นอาทิตย์สุดท้ายของเดือนนี้ เราได้ผ่านอาทิตย์ต่างๆในเดือนตุลามาด้วยความเรียบร้อย เรียบร้อยคือฝนไม่ตก และเราก็มาฟังธรรมกันได้สะดวกสบาย เสร็จจากการฟังธรรมแล้วก็ไปตักบาตรที่ลานไผ่ ไม่ต้องอึดอัดเพราะฝนไม่ได้ตกลงมา ธรรมชาติช่วยให้เราทำบุญสะดวกสบาย เราก็ควรจะได้เห็นผลของการบุญว่า ทำบุญนี้ได้ประโยชน์ ได้คุณได้ค่าแก่ชีวิต
เมื่อเช้านี้มีคนคนหนึ่งเอาหนังสือมาถวาย ประมาณสัก ๒๐ เล่ม หนังสือนั้นชื่อว่า ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก เป็นหนังสือที่เขาพิมพ์ขึ้นจำหน่าย ราคาเล่มหนึ่งก็ตั้งสิบกว่าบาท แพง! และก็ข้างในนั้นไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นสาระ มีแต่คาถาเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องพุทธศาสนา คนชอบสร้างหนังสือนี้ เพราะเขาเขียนไว้ว่าใครท่องหนังสือนี้ดีกว่าสร้างเจดีย์ทำด้วยทองคำสูงตั้งโยชน์เสียอีก ซึ่งความจริงมันเป็นไปอย่างนั้นไม่ได้ เพียงแต่เราท่องอะไรๆได้นี่ มันไม่ได้ช่วยให้เกิดการพ้นทุกข์อะไร เพราะการพ้นทุกข์ไม่ได้พ้นด้วยการท่องมนต์ แต่พ้นด้วยปัญญา ด้วยความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าจะซื้อหนังสือไปแจกแก่พวกญาติพี่น้อง ขอแนะนำว่าควรซื้อหนังสือสวดมนต์แปลที่เราสวดเมื่อตะกี้นี้ เอาไปให้ญาติพี่น้องได้สวด สวดแล้วเข้าใจความหมาย ความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ อะไรๆเพียงสักว่าท่องนั้นมันไม่ได้ มันเหมาะสำหรับคนที่ไม่รู้หนังสือสมัยก่อน แล้วอาจารย์ก็สอนให้ท่องไปๆ ไม่ต้องทำอะไรนั่งท่องแต่หนังสือ
มีสุภาพสตรีคนหนึ่ง เขียนหนังสือมาเล่าทุกข์บอกว่าสามีไปมีภรรยาอื่น ดิฉันพยายามท่องชินบัญชรบ้าง ท่องอะไรต่ออะไรบ้าง สามีก็ไม่กลับมา มันจะกลับมาได้อย่างไร เพียงแต่นั่งท่องหนังสืออย่างนั้นอยู่ มันกลับมาไม่ได้ ถ้าเราแต่งตัวให้มันสวยๆ สามีมาเห็นแล้วก็รู้สึกว่าเหมือนกับเป็นคนใหม่ อันนั้นก็พอจะกลับมาได้ แต่ว่านั่งท่องหนังสือมันจะกลับมาได้อย่างไร ยังไม่ได้ตอบเลย ตอบไปในหนังสือด้วย ปาฐกถาตอบไปเลยทีเดียวว่า เพียงแต่ท่องสวดมนต์นั้น สามีจะไม่รัก สามีรักมันเรื่องอื่น ไอ้เรื่องสวดมนต์นั่นมันรักไม่ได้ แต่ถ้าเรากลุ้มใจก็มาท่องสวดมนต์เป็นครั้งเป็นคราวเป็นการทำสมาธิในการท่อง แต่มันก็ไม่เกิดปัญญาอะไร เกิดปัญญาก็เพราะรู้เข้าใจความหมาย
เหมือนเราสวดมนต์เมื่อตะกี้นี้ เราสวดมนต์แปล แปลมาตั้งแต่บทว่า อรหัง เรารู้ความหมายว่าหมายถึงอะไร แต่เราจะไปภาวนาว่า อรหัง มากๆ ภาวนาถอยหลังอีกก็ได้ เขาสอนให้ภาวนาถอยหลังด้วย อันนั้นมันเป็นเรื่องทดสอบความเพียรของลูกศิษย์ คือสมัยก่อนนี้ลูกศิษย์จะมาเรียนภาวนา เขาเรียกว่าเรียนวิปัสสนาจากอาจารย์ ซึ่งคำนี้มันก็ใช้ไม่ถูก เขาควรเรียกว่า สมาธิภาวนา ในพระบาลีใช้คำนี้ทั้งนั้นไม่ว่าในที่ใด ใช้คำว่าสมาธิภาวนา ไม่มีคำว่าวิปัสสนา วิปัสสนากับสมถะนี่ สองอย่างนี้มันปรากฎอยู่ในคัมภีร์รุ่นหลัง แต่คัมภีร์วิสุทธิมรรคหรือคัมภีร์อรรถคาถาประเภทต่างๆที่คณาจารย์แต่งขึ้นอธิบายคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแต่ดั้งเดิมนั้นใช้ว่าสมาธิภาวนา
สมาธิภาวนา แปลว่า ทำให้มากในเรื่องสมาธิ คือการฝึกบ่อยๆทำบ่อยๆ คนที่จะฝึกสมาธิต้องมีความขยัน มีความอดทน มีความตั้งใจมั่น เพราะฉะนั้น อาจารย์อยากจะทดสอบลูกศิษย์ว่ามันจะขยันขนาดไหนเลยให้ท่องอิติปิโสถอยหลัง ท่องไปตามลำดับว่า อิติปิโสภควา ก็ยังไม่รู้เรื่อง ทีนี้ให้ท่องถอยหลังด้วย ศิษย์ก็พยายามนั่งท่อง ท่อง ท่อง จนกระทั่งจำได้ อาจารย์ก็ให้เรียนต่อไป แสดงว่าท่องถอยหลังก็ยังจำ ท่องไปตามลำดับก็ยังจำ แสดงความอดทน ความขยันเท่านั้นเอง แต่ยังไม่ได้เกิดปัญญาเกิดความรู้ความเข้าใจ
ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นจะเกิดขึ้น ต่อเมื่อเรารู้คำแปลของเรื่องนั้น เช่น เราสวดมนต์ว่า
อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
พุทธัง ภควันตัง อภิวาเทมิ ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
แปลไปด้วยในตัว อธิบายไปด้วยในตัวให้เราเข้าใจ ว่าที่เป็นพระอรหันต์นั้น หมายความว่า ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้สิ้นเชิง เราแปลแล้วเราไปนั่งคิดตีความหมาย ถ้าเราสวดแต่คำบาลีไม่รู้คำแปล ว่า อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ หรือว่า สัมพุทโธ อะระหัง อะไรต่างๆ เราแปลไม่ได้ แล้วเราจะรู้ความหมายได้อย่างไร อันนี้เราจะรู้ความหมายก็ต่อเมื่อเราเข้าใจคำแปล ต้องมีการแปลด้วย
สมัยก่อนไม่ค่อยได้มีการแปล ให้สวดอย่างเดียว เลยสวดเป็นคาถาอาคม กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปหมด ถือพระพุทธศาสนาแบบไสยศาสตร์ ไม่ได้ถือพุทธศาสนาแบบพุทธศาสตร์ แล้วปัญญามันก็ไม่เกิด สมัยนี้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าคนมีการศึกษา อ่านหนังสือออกกันแล้วทั้งนั้น เราควรจะให้เรียนในเรื่องที่เขารู้เขาเข้าใจ ใครมีศรัทธาอยากจะแจกธรรมะแก่ประชาชน อย่าไปแจกยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกต่อไปเลย แต่ให้แจกหนังสือประเภทอื่น อย่างน้อยๆ ซื้อสวดมนต์แปลไปแจกถูกกว่ายอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกอีก ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกเล่มละสิบบาทกว่า ไอ้นี่มันสี่บาทเท่านั้นห้าบาท เล่มละห้าบาท แต่เราซื้อร้อยเล่มเขาก็ลดให้อีกเอาไปแจกทุกบ้านทุกช่อง แล้วให้สวดกัน สวดกันให้ทั่วทุกหมู่บ้านตำบลอำเภอ คนก็จะฉลาดขึ้น เพราะได้ไปคิดไปค้นได้ สวดแล้วเราไปนั่งคิดว่า อะระหัง หมายถึงอะไร สัมมาสัมพุทโธ หมายถึงอะไร ภควา หมายถึงอะไร เรารู้คำแปลว่า พระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง
เพลิงกิเลสคือความเร่าร้อนที่เกิดขึ้นในใจของเรา ด้วยอำนาจของกิเลส ด้วยอำนาจความโลภ ด้วยอำนาจความโกรธ ด้วยอำนาจความหลง ด้วยความริษยาพยาบาทอาฆาตจองเวร หรือกิเลสตัวอื่นๆ กิเลสมันมีเยอะแยะ หลายหน้าหลายรูปหลายแบบเกิดขึ้นในใจ ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วใจก็ร้อนใจกระวนกระวาย ไม่สงบ นั่นแหละเป็นเพลิงที่เผาผลาญอยู่ในใจของเรา ญาติโยมอาจถูกมันเผาบ่อยๆ ความโลภเกิดขึ้นมันก็เผาให้ร้อน ความโกรธเกิดขึ้นก็เผาให้เร่าร้อน ความหลงเกิดขึ้นก็เผาให้ร้อน อะไรที่เป็นตัวกิเลสแล้วมันร้อนทั้งนั้นแหละ อันนี้ถ้าเรารู้ว่ากิเลสมันร้อนก็ยังไม่เข้าใจชัด เราต้องดูตัวเราเอง ศึกษาธรรมะมันมีหลายขั้น ศึกษาจากหนังสือ ศึกษาจากครูบาอาจารย์ เราเข้าใจความหมาย พอเข้าใจความหมายแล้ว ขั้นต่อไปเราต้องสังเกตที่ตัวเรา สังเกตตัวเราว่าอะไรมันเกิดขึ้นในใจของเรา กิเลสอะไรเกิดขึ้น เช่น เรามีความโลภอยากได้ อยากถูกล็อตเตอรี่ อยากถูกหวยถูกเบอร์ แล้วรู้สึกจิตใจเป็นอย่างไร มันเย็นหรือว่ามันร้อน หรือว่าเราอยากจะไปตลาด อยากจะไปซื้อข้าวซื้อของ อยากจะไปหาเพื่อนคนนั้น แล้วยังไม่ได้ไปนั่น สภาพจิตใจเป็นอย่างไร เราต้องดูที่ใจเรา เรียนจากตัวเรา เพราะในตัวเรานั้นมีธรรมะอยู่ทุกอย่างให้เราเรียนได้เราศึกษาได้ แต่ว่าก่อนที่จะเรียนธรรมะในตัว เราเรียนจากหนังสือตำรับตำรา และเรียนจากครูบาอาจารย์ที่พอจะสอนธรรมะแก่เราได้ เราก็เกิดความรู้แต่ว่ายังไม่เข้าใจ อันนี้เราไปคิดในตัวของเรา สังเกตดูว่าเพลิงกิเลสนี่คืออะไร เพลิงทุกข์มันคืออะไร เพลิงกิเลสมันเกิดก่อน แล้วต่อมาก็เกิดเพลิงทุกข์ขึ้นในใจของเรา เราก็มาสังเกตุตัวเราว่าเวลาความโลภก็ดี ความโลภ ความโกรธ ความหลง อะไรก็ตามเกิดขึ้นในใจของเรา เรารู้สึกจิตใจเป็นอย่างไร เวลาเราโกรธเรารู้สึกเป็นอย่างไร เราหลงในเรื่องอะไร เรารู้สึกจิตใจเป็นอย่างไร เวลาเราริษยาคนอื่นไม่อยากให้ใครได้ดีมั่งมีศรีสุข หรือมีความเจริญมีความก้าวหน้า สภาพใจของเราเป็นอย่างไร เราต้องสวดต้องพิจารณาด้วยตัวเองจึงจะเข้าใจถูกต้อง เมื่อเราพิจารณาเรารู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วมันเป็นเหตุให้ร้อนอกร้อนใจ เราก็จำไว้ว่าตัวนี้มันเป็นเพลิงกิเลส แล้วก็เกิดเพลิงทุกข์ขึ้นมาในใจของเรา เรานั้นเป็นทุกข์มาจากอะไร มาจากได้เห็นได้ยินได้ฟังได้สัมผัสถูกต้องในเรื่องอะไรๆต่างๆที่มันมีอยู่ในโลกนี้ เราไปรับสิ่งนั้นโดยไม่มีสติไม่มีปัญญา ไม่มีความคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ รับมาเก็บมายึดมาถือไว้เขาเรียกว่ายึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นๆ
ความยึดมั่นถือมั่นมันก็เป็นกิเลสเป็นตัวอุปาทานที่เกิดขึ้นในใจ เป็นต้นเหตุให้เกิดไฟทุกข์ขึ้นมาในใจของเรา เราหมั่นศึกษาพิจารณาตัวเองบ่อยๆ เวลารู้สึกไม่สบายใจร้อนอกร้อนใจ เราก็นั่งลง นั่งลงแล้วถามว่าใจเราเป็นอย่างไร เวลานี้มีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา ใจเราเย็นหรือใจเราร้อน ใจเราเป็นสุขใจเราเป็นทุกข์ ใจเรามืดหรือใจเราสว่างด้วยปัญญา เราคิดเรามองพิจารณา เราก็เห็น เห็นแล้วเราก็เข้าใจเรื่องนั้นถูกต้อง ทีหลังก็ระวังไม่ให้มันเกิดต่อไป รู้เส้นทางของกิเลส รู้ว่ามันเกิดมาจากอะไรแล้วมันให้อะไรแก่เรา นั่นเรียกว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง เมื่อเรารู้ถูกต้องอย่างนั้นเราก็หยุดยั้งไม่ให้มันเกิดขึ้นต่อไป หยุดยั้งที่ตรงไหนก็หยุดยั้งที่ผัสสะ ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจนั่นแหละ เวลามันกระทบอะไรเข้า ตากระทบอะไร หูกระทบอะไร เสียงกระทบอะไร กลิ่นเข้ามากระทบจมูก รสกระทบลิ้น กายได้ถูกต้องอะไร เราเกิดความรู้สึกทางอายตนะนั้นๆ เช่น ตาเห็นรูปก็เกิดความรู้ทางตา หูได้ยินเสียงก็เกิดความรู้ทางเสียง จมูกได้กลิ่นก็เกิดความรู้ทางจมูก ได้รสอะไรก็เกิดความรู้ทางลิ้น กายได้ถูกต้องอะไรก็เกิดความรู้ทางกาย เรามีตา มีรูป และมีความรู้มันรวมกันเข้าก็เรียกว่าเป็นผัสสะ
ผัสสะ หมายความว่า การประชุมพร้อมของสิ่งภายในสิ่งภายนอกและความรู้ เรียกว่าผัสสะ พอเกิดผัสสะแล้วต่อไปมันก็เกิดเวทนา คือยินดียินร้าย หรือไม่ยินดีไม่ยินร้าย เกิดสุขเกิดทุกข์อะไรต่างๆ กิเลสมันก็ตามมา ยินดีมันก็เป็นกิเลส ยินร้ายมันก็เป็นกิเลสเหมือนกัน ไอ้ที่ถูกต้องนั้นคือไม่ยินดีแล้วก็ไม่ยินร้าย ไม่ยินดีไม่ยินร้ายเพราะมีสติปัญญาเกิดขึ้นทันท่วงที ในเมื่อเกิดผัสสะเราก็รู้ว่า สิ่งนี้มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่น่าจะเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเราขึ้นมา เราเข้าใจอย่างนั้น เมื่อเราเข้าใจอย่างนั้นจิตที่เข้าไปยึดไปฉวยมันก็เบาบางไป เรามีความสุขใจ คนที่มีความสุขใจอย่างนี้อยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ที่บ้านก็ได้ อยู่ที่วัดก็ได้ อยู่ในทุ่งในนาในป่าในดงก็ได้ ไม่ใช่ว่าจำกัดสถานที่
บางทีเรามักจะเข้าใจผิดไปว่าคนที่ปฏิบัติธรรมต้องไปอยู่วัด ไปอยู่วัดเสียหมดแล้วใครจะทำงาน ใครจะค้าขาย ใครจะทำไร่ไถนา มันต้องแบ่งกัน คนไปวัดก็มี คนอยู่บ้านก็มี อยู่บ้านก็เหมือนกับอยู่ที่วัด อยู่ที่นาก็เหมือนกับอยู่ที่วัด อยู่ในร้านค้าก็เหมือนกับอยู่ที่วัด อยู่อย่างไร คือจิตใจเราสงบเขาเรียกว่าเราอยู่วัด ถ้าจิตใจวุ่นวาย แม้ไปนั่งอยู่ในโบสถ์แต่จิตใจวุ่นวายเกิดความโลภ เกิดความโกรธความหลง มันก็ไม่มีไม่เป็นวัดเป็นวาอะไร เราไปอยู่ตรงไหนใจเราสงบแล้วก็ใช้ได้
ดังนั้น เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำใจของเราให้สงบไว้ จะไปติดต่ออะไรกับใครก็ติดต่อด้วยสติปัญญา ด้วยจิตใจที่สงบไม่เกิดความวุ่นวาย ไม่สับสนในปัญหาต่างๆ ไม่ไปติดต่อด้วยความโลภ ไม่ไปติดต่อด้วยความโกรธ ไม่ได้ไปติดต่อกันด้วยความหลง แต่เราไปด้วยใจที่สะอาด ใจที่สว่าง ใจที่สงบ ใจสะอาดใจสว่างใจสงบนั้นมันมีปัญญากำกับ มีความรู้ทันมีความรู้เท่าต่อสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง เราไปอย่างนั้น ก็ไม่ไปก่อเรื่อง ไม่ไปสร้างปัญหาอะไรเกิดขึ้น เพราะเราไปด้วยปัญญา แต่ถ้าเราไม่ได้ไปด้วยปัญญา เช่นสมมติว่ามีใครคนหนึ่งมาบอกเราว่า แหม ... คุณคนนั้นน่ะร้ายเหลือเกิน เขาพูดใส่ร้ายคุณอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วฉันได้ยินมา เอามาเล่าให้คุณฟัง เราควรจะทำอย่างไรเมื่อเขามาพูดเช่นนั้น ถ้าเรามีปัญญาเราก็ไม่โกรธไม่เคืองอะไร แล้วก็ไม่รับคำเหล่านั้น แต่เราควรจะคิดแต่เพียงว่า คนที่บอกก็เป็นคนมีกิเลส ไอ้คนด่ามันก็มีกิเลสเหมือนกัน ถ้าเราจะไปมีกิเลสขึ้นอีกสักคนหนึ่ง ก็เป็นเพิ่มขึ้นเป็นสามคน เป็นบุรุษที่สาม ไอ้หนึ่งกับสองมันมีกิเลสอยู่แล้ว ใจมันตกต่ำอยู่แล้ว แล้วเราไปโกรธเกลียดคนนั้นขึ้นมา แล้วก็พูดว่า ฉันจะต้องไปจัดการกับมันสักหน่อยเถอะ อย่างนี้เขาเรียกว่าไปด้วยอำนาจฝ่ายต่ำ ไปด้วยอำนาจกิเลสบังคับ ถ้าเราไปด้วยอำนาจกิเลสบังคับใจเราตกต่ำ เราไม่เป็นมนุษย์ เราไม่เป็นพุทธบริษัท เราเป็นแต่เพียงคนเท่านั้นเอง
เป็นคนนั้นมันเป็นกันง่ายๆ เพียงแต่เกิดมาจากท้องคุณแม่ ก็มีความเป็นคนได้แล้ว มันเป็นได้ง่ายไม่ลำบากยากเข็ญอะไร ความเป็นคนมันอยุ่ที่ตรงนั้น ทีนี้เรามันไม่เป็นคนเพราะว่าจิตใจมันไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบ เราไปพบคนด้วยความโกรธด้วยความเกลียดด้วยความอาฆาตพยาบาท การไปพบเช่นนั้น มันเป็นการไม่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่ไม่ถูกเรื่องถูกราว เราก็ควรจะยับยั้งชั่งใจ ใช้ปัญญาพิจารณาว่า เราควรจะได้คิดว่าคนๆนั้นมันมีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร เราก็พอรู้ได้ว่าคนที่พูดคำหยาบเขาจิตใจไม่ดี คนที่ด่าเขาก็จิตใจไม่ดี จิตใจมันเป็นบาปเป็นอกุศล เขาทำด้วยอำนาจกิเลส ไม่ทำด้วยอำนาจสติปัญญา แล้วคนที่ฟังนั้น ก็ฟังด้วยไม่มีสติปัญญา น่าจะฟังแล้วก็หยุดเสียที่นั่น ไม่เอามาบอกคนอื่น การที่มาบอกคนอื่นนั้น ก็เรียกว่าเอาเรื่องไม่ดีมาพูดให้เขาฟัง มันก็เป็นบาปเป็นอกุศลเหมือนกัน เป็นการไม่ถูกต้อง ถ้าคนที่มีความคิดถูกต้องก็จะไม่มาบอกมากล่าวเช่นนั้น แต่ว่าจะระงับเรื่องเสีย คือไม่เอามาบอก เพราะเรื่องมันไม่ดี เราจะไปพูดกับใครไปบอกอะไรกับใคร ถ้าเห็นว่าเรื่องมันไม่ดีไม่ถูกไม่ชอบมันจะก่อให้เกิดปัญหา เราก็ไม่ควรกล่าว อย่าไปบอกดีกว่า บอกแล้วทำให้เขาโกรธเขาเกลียดมันไม่ถูกต้อง
ผู้ที่รับฟังควรจะทำเช่นนั้น หรือถ้าเขาสั่งว่า แกช่วยไปบอกมันหน่อยนะว่าฉันด่าอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเราเป็นคนรับมาเราก็ถูกด่าไปด้วยในตัว แล้วก็ถูกใช้ไปในทางต่ำทางเสีย เราไม่ควรรับคำนั้นมาใส่ใจเอามาบอกคนอื่น แต่เราควรทิ้งไว้ที่นั่น นั่นเป็นการถูกต้อง ส่วนคนที่ได้รับการบอกเล่า บุคคลที่สาม ก็ควรจะคิดว่าคนที่ด่านั้นก็ใจต่ำ คนที่เก็บมาบอกก็ใจต่ำ แล้วเราจะเป็นคนใจต่ำเพิ่มขึ้นอีกทำไม เราควรจะถือหลักว่า เราไม่เป็นคนชั่ว เราจะไม่ทำความชั่ว ไม่ทำความชั่วแล้วก็ไม่เพิ่มคนชั่วขึ้นมา หรือไม่ส่งเสริมสิ่งชั่วร้าย พอคนนั้นบอก เราก็ไม่พูดว่าอะไร เราหยุดนิ่งเฉยทำจิตใจให้สงบด้วยปัญญาว่า มันเป็นกรรมที่ไม่ถูกต้อง เป็นกรรมที่ไม่สมควรจะรับไว้ เข้าหูซ้ายออกทะลุหูขวาไป มันก็จบเรื่องกันเพียงเท่านั้น เรื่องมันก็จบ
ทีนี้คนเรามันชอบไม่ให้จบไง ชอบต่อความยาวสาวความยืด พอรู้เรื่องนั้นก็เจ็บขึ้นมาทันที โกรธขึ้นมาทันที ไอ้ความเจ็บความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นแหละมันเป็นพิษแก่เรา เป็นภัยแก่เรา เพราะคนอื่นมาจุดชนวนให้เราเกิดความเป็นพิษเป็นภัยขึ้นในจิตใจเป็นการไม่ถูกต้อง เราไม่ควรจะคิดอย่างนั้น ไม่ควรจะทำอย่างนั้น จิตใจเราควรจะอยู่ด้วยปัญญา สามารถที่จะช่วยตนให้พ้นภัยได้ นี่ยกมาเป็นตัวอย่าง
แม้ในเรื่องอื่นๆก็เหมือนกันที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีเราไม่รับ ถ้าเป็นเรื่องดีเราก็รับด้วยปัญญา เรื่องไม่ดีก็รับได้ แต่ต้องรับด้วยปัญญา รับแล้วเอามาพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ แล้วเราก็ไม่ตกหลุมของความชั่วร้าย ไม่เข้าไปส่งเสริมสิ่งเหล่านั้น ไม่เป็นคนโง่คนเขลา เราจะต้องถือหลักประจำใจว่าจะไม่อยู่อย่างคนโง่ จะไม่อยู่อย่างคนเขลา แต่อยู่อย่างผู้มีปัญญาเพราะเราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าต้องเป็นผู้รู้ ต้องเป็นผู้ตื่น ต้องเป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส อยู่ในรสพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราคิดได้อย่างนี้ชีวิตเราก็ปลอดภัย อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ พูดกับใครก็ได้ทำอะไรก็ได้ถ้ามันเป็นการถูกต้อง แต่ถ้าสิ่งใดมันไม่ถูกไม่เหมาะไม่ควรแล้ว เราไม่ควรจะกระทำสิ่งนั้น เพราะการกระทำสิ่งนั้นเป็นการกดตัวเราให้ตกต่ำ ทำเราให้เสียผุ้เสียคน หรือเรียกได้ว่า ลดราคาตัวเอง เราไม่ควรคิดอะไรไม่ควรพูดอะไรไม่ควรจะทำอะไรในทางที่จะลดราคาให้แก่ตัวเอง แต่เราควรจะคิดเพิ่มราคาให้แก่ตัวเอง
การเพิ่มราคานั้น ก็คือเพิ่มความงามความดี เพิ่มศีลเพิ่มธรรมให้เกิดขึ้นในใจของเรา ถ้าเราเพิ่มศีลเพิ่มธรรมเขาเรียกว่า เราเพิ่มความมีค่าของความเป็นคน จิตใจสูงเป็นมนุษย์ แล้วก็เป็นพุทธบริษัทเพราะเราเป็นผู้รู้ เราเป็นผู้ตื่น เราเป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส อยู่ในพระคุณคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างนี้เขาเรียกว่าเข้าใจความหมาย เอาธรรมะที่เราสวดนั้นไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ แล้วที่เราสวดไปต่อไปว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง”
อันนี้ก็มีความหมายว่า เข้าใจธรรมะด้วยพระองค์เอง เราก็เหมือนกัน เราต้องเข้าใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่เข้าใจตามที่คนอื่นบอกเล่า คนอื่นบอกเล่าเป็นเพียงรับรู้ เป็นสัญญาที่เรารับมาเท่านั้น จำได้เอามาคิดมาตรองให้เกิดความเข้าใจ หน้าที่ของเราคือฟังให้รู้ แล้วเอาไปคิดให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องปฏิบัติ การปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราจะต้องกระทำต่อไป พระพุทธเจ้าของเราแนะนำให้กระทำอย่างนั้น พระองค์ได้ทำพระองค์เป็นตัวอย่างในทางรู้ทางเข้าใจ แล้วพระองค์ก็เป็นผู้ตื่น เป็นผู้รู้ เป็นผู้เบิกบานแจ่มใสในธรรมะ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง
อันนี้ให้เข้าใจว่าพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีอะไรที่จะดลบันดาลให้ใครเป็นอะไร เรามักจะเชื่อตามคำโบราณ ว่าสิ่งนั้นดลบันดาลสิ่งนี้ดลบันดาลให้เราเป็นอย่างนั้นให้เราเป็นอย่างนี้ เวลาเราจะอวยพรให้ใคร เราก็มักจะอ้าง เช่นว่า อ้างขอคุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลให้ท่านเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีก็พูดต่อไปว่า ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก จงช่วยดลบันดาลให้ท่านเป็นอย่างนั้นให้ท่านเป็นอย่างนี้ การพูดอย่างนี้พูดตามๆกันมา พูดเพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจหลักการทางพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนาเรานั้นไม่มีคำว่า ดลบันดาลใช้ คำๆนี้ไม่มีใช้ในพุทธศาสนา แต่มีใช้ในศาสนาที่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน คือนับถือเทพเจ้า ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งทั้งหลายทั้งปวง แล้วเป็นผู้ดลบันดาลให้คนเป็นอย่างนั้นให้คนเป็นอย่างนี้ ที่เราเรียกกันว่า พรหมลิขิต
พรหมะ คือเทพเจ้าองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู เป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งทั้งปวง สร้างคนด้วย สร้างชีวิตของคนแล้วขีดไว้เสร็จว่าควรจะเป็นอย่างไร เขาบอกว่าเขียนไว้ที่หน้าผากแล้ว ว่าควรจะเป็นอย่างไร เรียกว่า พรหมลิขิต พระพุทธศาสนาไม่มีเรื่องพรหมลิขิต แต่มีเรื่องอัตตลิขิต คือตนลิขิตชีวิตของตนเอง เราเกิดมาทำให้เราเป็นได้ ให้เราเป็นอะไรก็ได้ ให้เป็นคนยากจนก็ได้ ให้เป็นคนร่ำรวยก็ได้ ให้เป็นคนมีบรรดาศักดิ์สูง ให้เป็นคนมีศักดิ์ต่ำ ให้เป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ มันขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง คนที่มีความเชื่อในโชคชะตา มีความเชื่อในอำนาจอะไรที่ดลบันดาลมักจะ เป็นคนไม่ก้าวหน้าในชีวิตในการงาน เพราะถ้าหมอเขาทายว่าคุณดวงมันไม่ดี จะทำงานเท่าใดมันก็ไม่ขึ้นเลยทอดอาลัยตายอยาก ไม่อยากจะทำอะไรแล้ว เพราะทำไปมันก็ไม่ขึ้น อย่างนี้ทำให้คนอ่อนแอท้อแท้ หมดกำลังใจ ไม่คิดต่อสู้กับปัญหากับอุปสรรคในชีวิต ผิดหลักการของพระพุทธศาสนา
หลักการของพระพุทธศาสนานั้นสอนให้คนรักงาน สอนให้คนก้าวหน้า สอนให้คนช่วยตัวเองพึ่งตัวเอง แต่หลักการของไสยศาสตร์หรือโหราศาสตร์นั้น ทำคนให้อ่อนแอท้อแท้ไม่อยากจะทำอะไร เพราะไปเชื่อผิด เชื่อว่าดวงมันไม่ดีโชคชะตามันไม่ดี ชีวิตผมมันมีความเป็นอย่างนี้แล้ว แล้วไม่ดิ้นรนไม่ต่อสู้ ถ้าคนเชื่ออย่างนั้นมากๆ ประเทศชาติล่มจม ไม่มีความเจริญก้าวหน้า
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เชื่อในรูปอย่างนั้น แต่สอนให้เชื่อว่าชีวิตต้องต่อสู้ เราต้องต่อสู้กับปัญหา เกิดมาแล้วก็ต้องทำงาน งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข ทำงานให้สนุกเป็นสุขขณะทำงาน สิ่งทั้งหลายจะสำเร็จด้วยการกระทำ ไม่สำเร็จด้วยการเพ้อฝัน ด้วยการวิงวอนขอร้องบนบานศาลกล่าว อะไรๆต่างๆ แต่เป็นนิสัยของคนที่ขาดปัญญา เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นไม่คิดต่อสู้ ไม่ใช้ปัญญาของตนเอง แล้วไปเที่ยวบนบานศาลกล่าวสิ่งนั้นสิ่งนี้ไว้ บนบานศาลกล่าวแล้วตัวก็ทำ ใจแทบขาด วิ่งเต้นทำงานทำการสำเร็จประโยชน์ขึ้นมา ความจริงสำเร็จด้วยตัวเองแท้ๆ แต่ว่ายกประโยชน์ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปเสีย อย่างนี้แหละคือการไม่ถูกต้อง เป็นความเชื่อที่ผิดไม่ตรงกับหลักการในทางพระพุทธศาสนา เราผู้เป็นพุทธบริษัทไม่ควรรับเชื่ออย่างนั้น ไม่ควรไปหาหมอดู ไม่ควรไปหาสถานที่ทรงเจ้าเข้าผี ไม่ควรจะไปไหว้ต้นไม้อะไรๆ หรือสิ่งใดๆที่เขาสร้างขึ้น เช่น เสาหลักเมือง เป็นต้น มันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อะไร ไม่ได้ช่วยให้ใครเป็นอะไร แต่ช่วยให้เราโง่หนักลงไป แต่เราไปไหว้เราก็โง่หนักลงไปทุกวันทุกเวลา เพราะว่านึกว่าสิ่งนั้นจะช่วยได้ ความจริงช่วยไม่ได้ เราต้องช่วยตัวเอง เราต้องสร้างมันต้องทำมันขึ้น นั่นคือหลักการที่ถูกต้อง เราชาวพุทธต้องเชื่อในอย่างนั้น แล้วก็เชื่อว่าพระพุทธเจ้านี้ได้ตรัสรู้ด้วยกำลังพระปรีชาสามารถของพระองค์เอง ด้วยความเพียร ด้วยความอดทน ด้วยความตั้งใจมั่น ด้วยความไม่ท้อแท้อ่อนแอทางจิตใจ มีพระทัยมั่นคงว่าเราจะต้องค้นให้ได้ แล้วก็ค้นจนพบ พบแล้วก็นำมาสอนแก่ชาวโลกต่อไป นี่วิธีการของพระพุทธเจ้าได้มาด้วยอาการอย่างนั้น เราก็ต้องทำตามแนวทางของพระพุทธเจ้า เราอยากได้อะไรเราก็ต้องทำ อย่าไปมัวเสี่ยงทายอยู่ อย่าไปมัวคอยโชคชะตาราศี แต่ว่าเราทำดีกว่า
คนโบราณเค้าจึงพูดว่า ขึ้นต้นไม้ด้วยแรงคาถา (29.50 เสียงไม่ชัดเจน) เขาเล่าเรื่องว่าคนเข้าป่า เข้าป่าไปเจอเสือเข้า เจอเสือแล้วก็นึกถึงคาถาที่อาจารย์ให้ไว้ อาจารย์บอกว่าต้องท่องคาถานี้เสือมันจะไม่ทำร้าย แต่ว่าเมื่อท่องคาถาแล้วเสือมันก็ยังเข้ามา ก็เลยขึ้นต้นไม้เสียหน่อยช่วยแรงคาถา ถ้ายืนท่องอยู่ที่โคนไม้ก็กลายเป็นเหยื่อเสือกินไปเท่านั้นเอง เลยรีบขึ้นปีนป่ายต้นไม้ขึ้นไปอยู่บนคาคบสูง เสือปีนป่ายไม่ถึงเอาตัวรอดได้ จึงมีคำพังเพยพูดว่า ขึ้นต้นไม้ช่วยแรงคาถา ใช้คาถาอย่างเดียวมันไม่พอ แต่ต้องทำอะไรด้วย เพราะงั้นในสิ่งใดที่เราเชื่อว่าจะอำนวยประโยชน์ เราต้องทำด้วย ถ้าเราไม่ทำมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เราไปบนบานศาลกล่าวอะไรแต่เราก็ต้องมาทำ ความจริงมันสำเร็จด้วยการกระทำของเรา ไม่ได้สำเร็จด้วยอำนาจของสิ่งนั้น แต่เพราะเราไม่เข้าใจเราไปไหว้อย่างนั้น เช่น เราไปไหว้พระพุทธรูป ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ต่างๆนั่น มีหลายจังหวัด หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อวัดสมุทร หลวงพ่อพระพุทธชินราช หลวงพ่อเพชร จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วก็หลวงพ่อจังหวัดไหนอีกละ ยโสธร อะไรต่างๆ
เราไปไหว้ ไปไหว้แบบไสยศาสตร์ทั้งนั้น ไม่ได้ไหว้แบบพุทธศาสนา ถ้าไหว้แบบพุทธศาสนา วิหารมันก็ไม่ค่อยสกปรกเท่าใด แต่นี่คนไปไหว้แบบไสยศาสตร์จุดธูปนี่ โอ๊ย ควันโขมงเลย เหมือนกับเผาใบอ้อยแห้งอย่างนั้นแหละ แล้วก็ฝาผนังนี่ดำหมด เพดานก็ดำหมด พระพุทธรูปก็ควันมันก็จับ กลายเปลี่ยนสีไปนั่น เราเคยไปวัดจีนไหม ไปดูวัดจีนนะ รูปที่เขาเคารพนะเปลี่ยนสีหมดเลยเพราะควันธูปนะ ที่จุดกันจุดเป็นซองนะไม่ใช่จุดก้านสองก้าน จุดเป็นซองเผาควันโขมง ไอ้คนเข้าไปไหว้ก็น้ำมูกน้ำตาไหลเพราะควันพิษของธูปที่จุดกันมากๆนะ อันนี้ทำไมต้องให้จุดมาก เพราะทางวัดขายธูปด้วย ขายเทียนด้วย ถ้าจะห้ามไม่ให้จุดแล้วจะขายธูปได้ยังไง จะขายเทียนได้ยังไง ถ้าหากว่าไม่ให้คนจุดมากๆ เพราะฉะนั้นยุให้จุดเลย จุดกันให้มากให้เต็มที่เลย
สมัยก่อนไปอยู่ที่วัดประเทศมาเลเซีย วัดสีตวนาราม อาตมาตั้งชื่อให้อย่างนั้น และก็มีพระพุทธรูปสามองค์ในโบสถ์คนนับถือมาก พระพุทธรูปนั่นเปลี่ยนสีไปต่างออกไปแล้วเพราะควันธูป ก็ได้เงินจากขายธูปขายเทียน มีคนนั่งขายอยู่ ได้วันหนึ่งๆก็ประมาณ ๕๐-๖๐ เหรียญ พอได้เลี้ยงพระเลี้ยงอะไรต่อไป ก็เลยต้องยอมให้จุดอย่างนั้น แต่ว่าอธิบายว่าอย่าจุดมากๆก็ไม่เชื่อ เพราะว่าเคยอย่างนั้นเสียแล้ว นั่นเป็นคนที่เชื่อมาอย่างนั้น พูดกันไม่เข้าใจ มาถึงซื้อเลย จุด ไหว้พระพุทธรุปสามองค์ แล้วไปไหว้สีมารอบโบสถ์ ๘ สีมา แล้วไปไหว้ต้นโพธิ์อีก ใครปั้นรูปฤาษีไว้ก็ไปไว้ฤาษีอีก เขาปั้นรูปยักษ์ก็ไปไหว้ยักษ์อีก ไหว้หมดเลยไม่ว่าพระว่ายักษ์ เรียกว่าจุดธูปแล้วไปไหว้หมด อันนี้เขาไหว้ด้วยความโง่แท้ๆ ไม่เข้าใจเรื่องอะไรก็ไปไหว้เขาเสียทั้งนั้นละ มันไม่ถูกต้องนะ
เราไปไหว้พระพุทธชินราช อย่าไปไหว้เพื่อสั่นกระบอกติ้ว ก็อกแก็กก็อกแก็ก รำคาญคนอื่น คนอื่นเขาจะไหว้ก็รำคาญ เคยเข้าไปกราบพระพุทธชินราช กราบแล้วนั่งไม่ได้นานมันหนวกหูกระบอกติ้วที่สั่นแข่งกัน สั่นกันใหญ่ หลายคนสั่นนี่เรานั่งไม่ไหว ไม่มีความสงบเลย เลยดูแล้วก็รีบออกมาอย่างงั้น ต่างคนต่างไปทำเสียงให้อึกทึกครึกโครม ถ้าหลวงพ่อพูดได้ท่านคงจะบอกนานแล้วว่า แหม กูรำคาญเต็มทีแล้วโว้ย ไอ้เสียงก็อกแก็กก็อกแก็กของพวกเอ็งเนี่ย แต่ว่าท่านพูดไม่ได้ หลวงพ่อช่วยพูดแทนให้หน่อย
ใครจะไปไหว้อย่าไปไหว้อย่างเด็กอมมือ เราไปไหว้อย่างผู้มีปัญญา แต่ถ้าไหว้อย่างผู้มีปัญญาก็ไม่ต้องไป ไหว้ที่บ้านก็ได้ นั่งทำใจให้เป็นพระตรงไหนก็ได้ ทำใจให้เป็นพระอยู่ที่บ้านก็ได้ ทำใจให้เป็นพระในรถโดยสารก็ได้ ทำใจให้เป็นพระเวลานั่งขายของก็ได้ เรานั่งขายของทำใจให้เป็นพระอยู่ คนมาก็รีบลุกขึ้นไป ไอ้ลุกขึ้นไปต้อนรับคนนั่นก็เรียกว่าเราประพฤติธรรมอยู่แล้ว เพราะเราเป็นคนขายของ และเรายิ้มกับคนมาซื้อ โอภาปราศรัยพูดจาแนะนำ ให้เขาซื้อข้าวซื้อของ ก็เรียกว่าเราประพฤติธรรมอยู่ในตัวแล้ว
ถ้าคนเข้ามาแล้วเรานั่งเฉย นั่งหน้าบอกบุญไม่รับ คนนั้นขายของไม่ได้ นั่นเขาเรียกว่าไม่ประพฤติธรรม ไม่มีธรรมะขายของ เลยขายของไม่ออก ถ้ามีธรรมะพอคนเข้ามา เชิญคุณป้า คุณป้ามาซื้อของอะไร เชิญแวะดูที่นี่มีอะไรจะซื้อได้บ้าง นั่นชักชวนไปดูนั่นดูนี่พูดจาแนะนำให้ซื้อ เรียกพ่อเรียกแม่เรียกป้าเรียกน้าเรียกพี่เรียกน้อง อะไรไปตามเรื่อง นั่นก็ขายคล่อง ขายคล่องเพราะเราประพฤติธรรม แต่ถ้าเรานั่งหน้าบึ้งหน้าตึงเขาถามคำหนึ่งตอบคำหนึ่ง ถามว่านี่ราคาเท่าไหร่ ห้าบาท! นั่งเฉย ไม่ยิ้มไม่แย้มอะไร ห้าบาทนั่นพูดไปงั้น ใครมันจะซื้อของ
เรานึกถึงตัวเราเองว่าถ้าเราขายของน่ะ ไปเจอคนที่พูดคำขาดๆ เราไม่อยากซื้อ เขาพูดแบบเรียกว่าอะไร มะนาวไม่มีน้ำ เอามาคั้นกันจนเมื่อยมือ น้ำมันไม่ออกสักทีนะ อย่างนั้นมันก็ไม่ได้ เห็นไหมไม่ประพฤติธรรม ไม่เอาธรรมะไปใช้ในการค้าการขาย ไม่เอาธรรมะไปใช้ในการประกอบธุรกิจการงาน ถ้าเราเอาธรรมะไปใช้เรามีอารมณ์ผ่องใสจิตใจเบิกบาน เห็นใครเราก็ยิ้มด้วยพูดจาด้วยอัธยาศัยไมตรี คนเหล่านั้นก็สบายใจ เราเองก็สบายใจ อย่างนั้นเรียกว่าเรามีพระอยู่ในใจของเราแล้ว พระอะไรล่ะที่เรามีอยู่ในใจ เรามีพระกรุณา ปราณี ซึ่งเป็นพระคุณบทหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่เราสวดว่า ภควา ภควา
ภควา หรือ ภควัน นี่หมายถึงว่า ความกรุณา ปราณี ที่ทำกิจหน้าที่แจกธรรมะแก่ประชาชน เราก็เอาพระกรุณามาใส่ไว้ในใจ ทำใจให้รักคนทั้งหลายทั้งปวง ให้มองคนในแง่ดีแง่งาม ไม่มองคนในแง่ชั่วแง่ทราม เห็นใครเดินมาเราก็แผ่เมตตาให้เขา ขอให้เป็นสุขมีความเจริญ ขณะเราคิดให้คนอื่นเป็นสุขนี่เราก็เป็นสุขแล้ว แต่ถ้าเราคิดให้คนอื่นเป็นทุกข์เราก็เป็นทุกข์ด้วยเหมือนกัน ถ้าเราคิดให้คนอื่นเป็นทุกข์ หน้าตาก็บึ้งตึง จิตใจก็ร้อนกระวนกระวาย เพราะคิดไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเราคิดให้คนอื่นเป็นสุขใจดีหน้าตาผ่องใส ตาแบ๋วแหวว เพราะว่ามันไม่มีกิเลสรบกวน จะพูดอะไรก็เป็นคำที่อ่อนหวานสมานใจ นี่เรียกว่าเราเอาพระกรุณามาไว้ในใจ
เอาพระไว้ในใจดีกว่าเอาพระห้อยที่คอ บางคนห้อยจนคอหนักเลย พระมากองค์เกินไปนี่เขาเรียกว่าเป็นโรคแล้ว เป็นโรคบ้าพระเครื่อง ห้อยซะจนเป็นพวงเลย เขาเรียกว่าบ้าพระเครื่อง วัดไหนสร้างก็เอามา วัดไหนสร้างมาแขวนเต็มคอเลย เวลาดื่มเหล้าถอดเสื้อ อุ๊ย พระเต็มคอ ไม่เกรงใจหลวงพ่อ ยกแก้วเหล้าข้ามหัวหลวงพ่อทุกครั้งๆ อย่างนี้เขาเรียกว่าจะมีพระได้อย่างไร
ไม่มีพระ ไม่ประพฤติธรรม เอาตัวไม่รอด อย่างนั้น เรามีพระอยู่ในใจ เรามีแต่ความกรุณา เริ่มต้นด้วยการสงสารตัวเอง ให้หัดสงสารตัวเองไว้บ้าง คนบางคนไม่สงสารตัวเอง ไม่รู้จักคุณค่าของชีวิตของร่างกาย ใช้มันเกินขอบเขตไป ไม่ให้มีการพักผ่อน ไม่มีการพักในการทำงาน มากไป กลางค่ำกลางคืนไม่หลับไม่นอนทำงานมาก อย่างนี้เรียกว่าไม่สงสารตัวเอง เราต้องทำงานพอสมควร และมีการพักผ่อนบ้าง ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเยียวยารักษาตามหน้าที่ ให้มันหายเจ็บหายป่วย แล้วก็จะไปสู้กันต่อไป ทำงานกันต่อไป อย่างนี้เรียกว่าเราสงสารตัวเอง
แล้วก็สงสารตัวเองในแง่ว่า ถ้าเรายากจนจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่มีบ้านอยู่จะเป็นอย่างไร ไม่มีเงินใช้จะเป็นอย่างไร ไม่มีหลักฐานจะเป็นอย่างไร เราจะลำบาก ถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านั้นเราจะลำบาก แล้วเราชอบความลำบากไหม ชอบความทุกข์เพราะความไม่มีไหม เราไม่ชอบ เราสงสาร สงสารตัวเรา เราก็ต้องทำงานทำการหาเงินหาทองเก็บหอมรอมริบ ได้เงินมาแล้วก็อย่าใช้เสียหมด ต้องแบ่ง ส่วนจะเก็บสักเท่าไหร่ จะใช้สักเท่าไหร่ เอาไปลงทุนขยายงานสักเท่าไหร่ จะลงทุนในเรื่องอะไร อย่าไปลงทุนเล่นแชร์เล่นหวยเพราะมันไม่ค่อยได้คืนเท่าใด แต่ถ้าเราลงทุนในการค้าการขาย เราก็ได้ทุนกลับมา อย่างนี้เงินมันก็เกิดแล้วก็เหลือใช้ เราก็สบาย เวลาหนุ่มเวลาสาวเราทำงานด้วยความขยันขันแข็ง แล้วเราก็เก็บเงินไว้ สงสารตัวเอง สงสารว่าแก่ตัวลงจะลำบากจะเดือดร้อน เพราะไม่มีบ้านจะอยู่ไม่มีอู่จะนอน ไม่มีอาหารการกินจะลำบาก
เมื่อวานนี้มีผู้หญิงแม่ลูกอ่อน ลูกตั้งสามคน มันจนแต่มันเกิดใหญ่เลย สามคนยังเล็กๆทั้งนั้น มานั่งหน้ากุฏิ ถามว่ามีอะไรจ๊ะ บอกว่า ไม่มีเงินจะเสียค่าเช่าบ้าน มาขอพึ่ง หลวงพ่อว่า เอ๊ ... ถ้าฉันให้ค่าเช่าบ้านเดือนนี้เดือนหน้าพวกเธอก็ไม่มีใช้อีกล่ะ แล้วไม่ต้องมาขอกันทุกเดือนหรือ เออมันมากไปแล้วมาขอค่าเช่าบ้านนี่ ถ้าว่าขอไปซื้ออาหารมันค่อยยังชั่วหน่อย ไม่มีข้าวสารก็จะให้ข้าวสาร มันไม่ใช่เรื่องอย่างนั้น ไม่ใช่มีไม่มีตังค์เสียค่าเช่า แต่มันเรื่องเพทุบายที่จะมาขอ เพื่อให้คนสงสารเห็นใจว่า แหม..บ้านก็ไม่มีอยู่ เขาจะไล่ออกจากบ้าน เลยถามว่าแล้วพ่อของเด็กมันไปไหนละ มันตายแล้ว แล้วตายทำไมลูกมันมากขนาดนี้ ตายเมื่อไหร่ ตายปีก่อนน่ะ ไอ้นี่มันเกิดมาอายุเท่าไหร่เอง นี่อายุยังไม่ถึงปีเลย ตายแล้วมันจะเกิดได้ยังไง เฮ้อ พูดจาก็ไม่เข้าท่าเข้าทีเลย เลยก็ให้นะ ให้ไปร้อยบาท เอาไปทำอะไรก็ตามใจ เอาไปกิน มันมาแล้วก็ให้มันหน่อย แล้วบอกว่าทีหลังอย่ามาขอค่าเช่าบ้านอีก ฉันไม่ให้แล้ว
อันนี้คนมันไม่รักตัว มันไม่สงสารตัวเอง ไม่มีคุณธรรมคือความกรุณาประจำใจ ถ้าเป็นคนรักตัวสงสารตัวก็ต้องสร้างเนื้อสร้างตัว ให้มีฐานะดีให้มีฐานะเจริญก้าวหน้า มีทรัพย์ก็เก็บไว้บ้างเผื่อแก่ชรา คนแก่บางคนก็ลำบากไม่มีที่อยู่อาศัย แต่เดี๋ยวนี้ค่อยยังชั่วหน่อย เพราะราชการกรมประชาสงเคราะห์ เขาสร้างบ้านคนแก่ไว้ แต่อย่านึกว่าคนแก่ทุกคนจะไปอยู่บ้านคนแก่ได้นะ ไปอยู่ได้ก็ต้องมีเส้นเหมือนกัน คนแก่น่ะ ต้องเข้าเส้นนั้นเส้นนี้ถึงจะไปอยู่ได้นะ (42.15 เสียงไม่ชัดเจน) จะไปกรมประชาสงเคราะห์ก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีเส้นสายไม่มีใครรู้จักก็อยู่ไม่ได้ มันก็ลำบาก สู้ช่วยตัวเองไม่ได้พึ่งตัวเองไม่ได้ หรือบางคนคิดว่าลูกหลายคนลูกมันจะเลี้ยงเอง อ่า ไม่ไหว ลูกมันไม่สนใจ เพราะว่าคุณแม่ไม่มีสตางค์ คุณพ่อไม่มีทรัพย์ลูกไม่สนใจ แต่ถ้าพ่อแม่มีที่ดินมีบ้าน จะขายได้ราคาสักร้อยล้านอย่างนี้ ลูกคนนั้นก็มาเยี่ยมลูกคนนั้นก็มาเยี่ยม เอาใจใส่ เพราะว่ามันมีสตางค์ มีที่ดินพอขายได้ แต่พอขายได้แจกหมดแล้วหายหัวไปเหมือนกัน มันไม่มาแล้ว เป็นอย่างนั้น อย่าไปไว้ใจว่าลูกจะช่วยเรา มันต้องช่วยตัวเองไว้นะ
คราวนี้การที่จะช่วยตัวเอง สงสารตัวเอง นึกตัวเองว่า เอ้ ถ้าเราไม่มีเงินใช้จะลำบากไหม ไม่มีบ้านของเราจะลำบากไหม อยู่บ้านเช่าจะลำบากไหม เจ็บไข้ได้ป่วยจะเอาอะไรเยียวยารักษาจะลำบากไหม มันลำบากทั้งนั้น ตั้งปัญหาขึ้นถามตัวเอง โอ..ลำบาก เออ..สงสาร อย่าให้ตัวต้องลำบากเลย เราก็เริ่มประหยัดทรัพย์ จากทำมาหาได้ก็ประหยัดไว้บ้าง พระท่านก็สอนไว้ให้รู้จักประหยัดอดออม หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้นไม่สอนให้สุรุ่ยสุร่ายในเรื่องอะไรต่างๆ เรื่องทำบุญนี่ก็อย่าสุรุ่ยสุร่าย ญาติโยมมักจะทำบุญแบบสุรุ่ยสุร่าย ทำใหญ่ จะบวชลูกก็ต้องใหญ่ ทำศพก็ต้องใหญ่ แต่งงานก็ต้องใหญ่ มันใหญ่แบบอึ่งอ่างน่ะ มันก็ตาย มันเคยพองตัวขึ้น เท่านี้ไหมลูกไม่ใช่โตกว่านั้น พองปึ้ง ระเบิดตายเลย เพราะว่ามันจะให้เท่าวัวไม่ได้ วัวมันโต เราก็แข่งกันอย่างนั้นนะ แข่งกันทำบุญ
ทำบุญด้วยการแข่งกันมันไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบุญไม่เป็นกุศลอะไร เราทำตามมีตามได้ เช่น เราทำบุญ ไปทำบุญที่วัดอะไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเห็นเพื่อนเขาทำห้าร้อย แหมกูต้องทำห้าร้อยได้ ไอ้นี่มันบ้านใกล้กูเดี๋ยวน้อยหน้า ความคิดอย่างนั้นมันไม่เป็นบุญแล้ว มันไม่เป็นกุศลแล้ว แต่ถ้าเราคิดว่าเขาทำมากเพราะฐานะเขาดีกว่าเรา รายได้เขามากกว่าเรา แต่เรามีฐานะน้อยรายได้น้อยก็ทำเท่าที่เราพอจะทำได้ ก็ทำสักร้อยบาท แบบทำสักเท่าไหร่ก็ได้ พระท่านไม่ว่าอะไรหรอก บางคนบอกว่าดิฉันจะทำสักยี่สิบบาทได้ไหม โอ๊ย..ยี่สิบสตางค์ก็ยังได้เลยโยม อย่าว่ายี่สิบบาทเลย แกกลัว กลัวว่ายี่สิบบาทจะไม่รับ ก็เห็นคนอื่นเค้าทำมากๆไง มันไม่เข้าใจ เล็กน้อยก็ได้ ที่เราให้ เราให้ด้วยน้ำใจ ด้วยความเลื่อมใส ด้วยความศรัทธา ด้วยการเห็นประโยชน์
ไอ้เลื่อมใสเฉยๆมันก็ไม่ได้ ทำอะไรเลื่อมใสก็ไม่ได้ เพราะว่าเราอกหักกันมาเยอะแล้ว เพราะทำด้วยความเลื่อมใสนี่นะ พระบางองค์ทำเอาโยมอกหักไปตามๆกัน ไม่ใช่อกหักนะ อกแตกไปเลยนะ ถึงกับอกแตกไปเลย เพราะว่าพระแกพิเรนทร์ก็ไปผิดรูปผิดร่างออกมาไม่เป็นพระเป็นเจ้าเลยอกแตก อกแตกนี้เพราะอะไร เพราะทำด้วยความเลื่อมใส มันไม่ถูกต้อง เราจะต้องมีเหตุผลมีปัญญาว่าทำทำไมทำเพื่ออะไร พระนั้นจะเอาเงินไปทำอะไร เช่น พระบอกว่าจะเอาเงินไปสร้างพระธาตุเจดีย์จุฬามณีให้เหมือนบนสวรรค์ แล้วแกเคยไปสวรรค์หรือเปล่าหละ พระองค์นั้น ลองถามแล้วว่าท่านเคยไปสวรรค์หรือเปล่า ท่านเคยเห็นพระธาตุจุฬามณีไหม รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เขาก่อด้วยอิฐบางบัวทองหรือก่อด้วยอิฐอะไรมันต้องสืบถามเสียก่อนนะ อันนี้ โอ๊ย อยากจะได้สวรรค์วิมาน ทำบุญเพื่อเอาวิมานนี่ฉิบหายไปหลายรายแล้วนะ เพราะวิมานพังน่ะ ทำบุญเพื่อเอาวิมานนี่วิมานพังไปหลายรายแล้ว อันนั้นมันไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราทำบุญแบบวิมานพังอย่างนั้น
การที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องให้ทานไว้ก็เพื่อให้รู้จักช่วยเหลือกันในระหว่างเพื่อนมนุษย์ แบ่งสรรปันส่วนสิ่งที่เรามีเราได้ให้คนอื่นได้กินได้ใช้บ้าง อย่ากินคนเดียวอย่าใช้คนเดียวอย่าสบายคนเดียว แต่แบ่งให้เขาเพราะเราไม่เดือดร้อน ทำบุญออกไปเราก็ไม่เดือดร้อน เช่นเรามีเงินอยู่ร้อยบาท ทำบุญสักสิบบาทมันไม่เดือดร้อนเพราะมันเหลืออยู่สักเก้าสิบอย่างนี้เป็นตัวอย่าง เพราะมันไม่เดือดร้อน คือเราต้องคิดว่าทำแล้วเราไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทุกข์ ถึงจะใช้ได้ แต่ถ้าทำแล้วเป็นทุกข์มันก็ใช้ไม่ได้ บุญมันไม่ช่วย เพราะมันไม่เป็นบุญนี่ทำอย่างนั้น แล้วบุญจะช่วยได้อย่างไร
อันนี้เราต้องพิจารณาหาเหตุหาผลแล้วก็ต้องดูว่าทำอะไรทำทำไมทำเพื่ออะไร ทำแล้วจะได้ประโยชน์คุ้มค่าไหม ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์คุ้มค่าเราก็ทำ แต่ถ้าเห็นว่า เอ้ มันไม่เป็นประโยชน์ไม่คุ้มค่า เช่นเราจะไปสร้างพระใหญ่บนยอดภูเขา สร้างให้ใครไหว้บนยอดภูเขา ไอ้คนที่จะไปไหว้มันก็ไม่ไหว แล้วมันไม่จำเป็นอะไรต้องไปไหว้หลวงพ่อบนยอดภูเขานะ ไอ้หลวงพ่อที่ราบก็ยังไหว้กันไม่ไหวเลย ไปสร้างบนภูเขาทำไม หรือสร้างเจดีย์ใหญ่ อย่างนี้จะสร้างไปทำไม เอาพระธาตุที่ไหนมาใส่
พระธาตุของพระพุทธเจ้า เราไม่ต้องสร้างเจดีย์ใส่ก็ได้ เอาใส่ไว้ที่ไหนโยม ใส่ไว้ในตัวเรานี่แหละ เอาพระธาตุมาบรรจุไว้ในตัวเรา แต่โยมอย่าไปกลืนพระธาตุเข้าไปนะ กลืนพระธาตุเข้าไปเดี๋ยวมันชักดิ้นชักงอนะ พระธาตุเหมือนกับเม็ดกรวดเม็ดทรายนะ กลืนเข้าไปสักสิบเม็ดก็เดี๋ยวก็ขี้ไม่ออกเท่านั้นเอง จะเดือดร้อน
มันไม่ใช่พระธาตุอย่างนั้น พระธาตุที่เราเอามาใส่ไว้ในตัวเรา คือ ธรรมธาตุ ธรรมะ-ธา-ตุ เป็นธาตุของพระพุทธเจ้าแท้ เป็นตัวแทนองค์พระพุทธเจ้า เวลาพระพุทธเจ้าจะนิพพานนี่ พระอานนท์ถาม ว่าจะมีอะไรเป็นตัวแทนพระองค์ต่อไป พระองค์ก็บอกว่า ธรรมวินัยที่ท่านบอกแล้วสอนแล้วแก่เธอทั้งหลายนั่นแหละ ธรรมวินัยนั่นแหละจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ต่อไป เพราะงั้นตัวธรรมะนั่นแหละคือตัวองค์พุทธะที่แท้
ในสมัยนี้เราก็เอาธรรมะนั้นมาใส่ไว้ในใจของเรา เช่น เรารักษาศีล ก็เรียกว่าเรามีธรรมะขั้นศีล เราฝึกสมาธิเราก็มีธรรมะขั้นสมาธิ เรามีปัญญาเราก็มีธรรมะขั้นปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง เราก็พ้นจากความทุกข์จากปัญหาได้ ด้วยเอาพระธรรมมาใส่ไว้ในตัวเรา ไม่ต้องวิ่งไปหาพระธรรมไกลๆ ไอ้ที่มาไกลนี่อยากจะมาดูผู้แสดงธรรมเท่านั้นเอง ดูวัด เช่นวันนี้โยมเขามาจากสลกบาตรคันรถหนึ่ง บอกว่าได้ยินวิทยุมา ดูโทรทัศน์มาก็นานแล้ว อยากจะมาดูตัวจริงเสียที ไอ้ตัวจริงมันก็อย่างนั้นแหละโยม มันไม่มีอะไร มันก็เหมือนเพื่อนน่ะ จมูกหูตา มันก็เหมือนใครๆ แต่ว่าอยากจะมาดูให้เห็นแล้วก็สบายใจ ไอ้นั่นเห็นเปลือก ไม่ใช่เห็นตัวแท้ ถ้าเห็นตัวแท้ต้องเห็นธรรมะ
คราวนี้ธรรมะเราดูที่ไหนก็ได้ ดูที่ตัวเราก็ได้ ก็ธรรมะมีอยู่ในตัวเรา ความไม่เที่ยงมันก็อยู่ในตัวเรา ความเป็นทุกข์มันก็อยู่ในตัวเรา ความเป็นอนัตตามันก็อยู่ที่ตัวเรา พระพุทธเจ้าบอกไว้ชัดเจนว่าในกายาวาหนาคืบหนึ่งนี้มีใจสอง มีความทุกข์ มีเหตุให้เกิดทุกข์ มีความดับทุกข์ได้ และมีการปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ อริยมรรคมีองค์แปดก็อยู่ในตัวเรา แต่ว่ามีสิ่งอื่นปิดไว้เรามองไม่เห็น สิ่งที่มาปิดก็คือกิเลสนั่นแหละ มันมาปิดอริยมรรคไว้เรามองไม่เห็น ทีนี้เราเอากิเลสออกเราก็เห็นตัวธรรมะ วิธีการเอากิเลสออกนั้นก็คือการปฏิบัติตามอริยมรรคอยู่แล้ว เดินตามทางอยู่แล้ว แล้วกิเลสมันก็เบาไปบางไป ตัวเราก็เบาตัวเราก็บาง ตัวเราก็เล็กลงไปหน่อย มันไม่ใหญ่โตคับบ้านคับเมืองมากเกินไป นี่มันลดกิเลส ลดกิเลสเราก็มีธรรมะอยู่ในตัวเรา
เราสงสารตัวเอง สงสารในแง่ปฏิบัติธรรมว่าโอ้ สงสารที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด สงสารที่ต้องนั่งเป็นทุกข์ เดินเป็นทุกข์ นอนเป็นทุกข์ มากๆเกินไป เราควรจะปลดเปลื้องตัวเราออกจากสังสารทุกข์จากการเวียนว่ายในกองทุกข์เสียบ้าง แล้วเราก็หันหน้าเข้าหาธรรมะปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมที่บ้านก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ทำงานนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมให้จำไว้ง่ายๆ เช่น เราเป็นแม่ค้าก็ค้าไปตามหน้าที่ ค้าให้ถูกต้อง ค้าด้วยความเป็นธรรม อย่าโกงกำไรเขามากเกินไป อย่าขายของแพงเกินไป ขายเอาแต่พอสมควร พอเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัวได้ ไม่ต้องอะไรนักหนา ของซื้อมาเท่านี้ เพิ่มไปอีกนิดหน่อย ค่าขนส่งค่านั่นค่านี่ ค่าจ้างตัวเองที่มานั่งขายด้วย บวกเข้าไปแล้วก็ขายไป บอกเขาตรงๆว่านี่แหละ ขายเท่านี้ บวกนั่นบวกนี่ได้ราคามาเท่านี้ ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ซื้อมาเท่านั้น ค่าขนส่งเท่านั้น ค่านั่งเฝ้าอีกเท่านั้น ค่าขายเท่านั้นนะ บวกเข้าไปเขาก็เห็นใจ เขาก็ซื้อไปกินไปใช้ ของดีก็บอกว่าดี ไอ้นี่มันแพงหน่อย ไอ้นี่ไม่ดีราคามันถูก เลือกเอาอย่างไหนก็ได้ เขาก็เลือกเอาเอง เราไม่บังคับใครไม่เคี่ยวเข็ญใคร อย่างนี้ก็เรียกว่าเรามีกรุณาธรรมประจำจิตใจ
เราเห็นเพื่อนมนุษย์ก็สงสารเขา สงสารเพื่อนช่วยให้เพื่อนพ้นทุกข์เสียบ้าง ช่วยให้พ้นทุกข์จะทำอย่างไร คือเราช่วยชักจูงเพื่อนเข้าหาธรรมะ ซื้อหนังสือธรรมะไปแจกให้เขาอ่าน เอาเทปธรรมะไปเปิดให้เขาฟัง เราอยู่ที่บ้าน เอ้า เปิดเทปทิ้งไว้ ใครมาก็ได้ฟัง ชวนพูดชวนคุยเรื่องอื่นนิดหน่อย เอ้า ฟังเทปดีกว่า ฟังเสียงพระดีกว่าฟังเสียงของฉันเอง เราก็เปิดเทปให้ฟัง นี่เรียกว่าสงสารเพื่อน เอ็นดูเพื่อน เอาธรรมะไปแจกให้เพื่อน พระพุทธเจ้าบอกว่า
สัพพทานัง ธรรมทานัง ชินาติ การให้ทานธรรมะชนะการให้ทั้งปวง
เราเอาธรรมะไปให้เป็นทาน หนังสือก็เป็นตัวธรรมะ เราพูดให้เขาฟัง นิมนต์พระไปแสดง เมื่อเราแสดงเองไม่ได้ เอ้า จัดการประชุมพล นิมนต์พระไปแสดงธรรม ไม่ต้องจัดงานจัดการอะไร จัดงานฟังธรรมเท่านั้นเอง นี่ถ้านิมนต์ทีไรแล้ว งานนั่นงานนี่ งานหาเงินทั้งนั้นนะ เอาไปเป็นเครื่องล่อ นิมนต์ท่านเจ้าคุณปัญญามาเทศน์คนจะได้มามากๆ แต่บางทีคนมันก็ไม่มาเหมือนกัน ปัจจัยก็ได้น้อย ต้องเฉลี่ยไปอย่างอื่น
ไม่ต้องมีอะไรจัดฟังเทศน์เฉยๆ ให้คนได้รู้ธรรมได้เข้าใจธรรม วัดวาอารามที่ฉลาดนั้นเขาไม่หาเงินด้วยวิธีแจกฎีกาตลอดไปหรอก แต่ว่าเขาสอนธรรมะให้คนเข้าใจ เราสอนไปเรื่อยๆ อย่าไปยุ่งอย่าไปเรี่ยไร กุฏิอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้นแหละ คนมาฟังธรรมบ่อยๆเขาสงสารพระเอง เขาไม่ให้พระนั่งตากฝนตากแดดอยู่หรอก เขาก็ช่วยกันซ่อมเองหละ เราไม่ต้องลำบากหรอก สอนธรรมะไป ให้คนได้เปิดปัญญาเกิดความรู้ความเข้าใจ ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักธรรมะ เขาได้ประโยชน์จากธรรมะเขาเห็นประโยชน์จากธรรมะ เขาให้เอง เราไม่ต้องเดือดร้อนอะไร
แต่นี่แหม พอไปเป็นสมภารก็วางแผนจะพิมพ์ฎีกา จัดงานนั่นจัดงานนี่ จัดงานวัดสนุกสนาน มีลิเก ดนตรีคณะพุ่มพวง ดวงจันทร์ อะไรก็ไม่รู้ เอามาแสดง พอมาแสดงเสร็จแล้วขยะเต็มวัดเลย กวาดกันจนซี่โครงรวนไปนะ เงินก็ได้ไม่เท่าใด ไม่ได้กำไรสักเท่าใด หักไปหักมาก็เหลือนิดหน่อย ก็เป็นที่พอใจ ความจริงขาดทุนยุบยับ ที่ได้นั้นไม่ได้กำไรอะไร นั่นเราหาเงินไม่เป็น หาเงินเป็นไม่ต้องอย่างนั้น แต่ไม่ได้ตั้งฐานมาแต่เริ่มต้น
ถ้าว่าเป็นพระหนุ่มพระน้อยอยากจะทำอะไรต่อไปข้างหน้า เราต้องตั้งฐาน คือว่า ศึกษาธรรมะให้ดี อย่าละเลยการศึกษา ต้องหมั่นอ่านหนังสือ หมั่นคิด หมั่นตรองในข้อธรรมะ แล้วก็พูดธรรมะให้ญาติโยมฟัง ชั้นแรกคนมาฟังอาจจะไม่กี่คน เพราะคนไม่รู้ พูดไปตามหน้าที่ คนมากก็พูดอย่างนั้น คนน้อยก็พูดอย่างนั้น คนมาฟังธรรมเขาค่อยไปโฆษณาเอาเองหละ โอ.. พระที่มาอยู่ที่นั่นสอนธรรมะดี คนก็อยากจะไปฟัง ค่อยเพิ่มขึ้นๆ ค่อยมากขึ้น คนเขามาเองหละ เหมือนวัดชลประทานนี่ เปิดวัดครั้งแรกเทศน์กี่คนละ มีคนฟังสิบกว่าคนไหม แล้วก็ค่อยเพิ่มๆ จนเดี๋ยวนี้คนเต็มวัดละ มากันมากๆนะ แล้วจะเอาอะไรจากโยมเมื่อใดก็ได้ จะได้อยากได้ปัจจัยทำอะไร ถ้าว่าจำเป็นนะ ก็บอกนะ บอกก็ได้เงินญาติโยม ได้พอใช้ ดีกว่าทำงานวัดอีกนะ บอกเอาได้วันอาทิตย์ บอกญาติโยมได้ตั้งแสนกว่าบาท ดีกว่าทำงานวัดเจ็ดวันเจ็ดคืน เจ็ดวันเจ็ดคืนเหลือแค่หมื่นหนึ่ง แหม อันนี้เขาเรียกว่าไม่มีแผนนะ ไม่มีแผนการ ไม่ได้วางแผนไว้ว่าเราจะทำอะไรต่อไปจะทำอะไร ไม่ได้วางแผนไว้ตั้งแต่ต้น เป็นไปตามเรื่อง ตามที่เขาให้เป็น แล้วไม่ได้วางแผนวางการโครงงานให้ดีมันก็ลำบาก
ขอฝากถึงพระสงฆ์องค์เจ้าไว้ด้วย เราจะไปอยู่ที่ไหน อย่าไปคิดจะสร้างอะไร สร้างคนก่อน ไปอยู่ที่ไหนสร้างคน สร้างคนให้มันฉลาดให้มีปัญญา อย่าไปสอนคนให้โง่ อย่าไปเสกเครื่องรางของขลัง รดน้ำมนต์น้ำพร บอกหวยบอกเบอร์ ทำอะไรเรื่องเหลวไหลไม่เข้าท่าเลย อย่าไปทำอย่างนั้น ให้คนมีปัญญา พอคนมีปัญญาแล้วเราสบาย แก่ตัวลงสบาย ตอนหนุ่มอาจจะเหนื่อยหน่อยในการเทศน์การสอน ต่อมาก็สบายละ ไม่ลำบากไม่เดือดร้อนอะไร อย่างนี้มันก็ดีนะ ถ้าเราทำอย่างนั้น ไปอยู่ไหนก็สอนธรรมะ มาคนเดียวก็สอนคนเดียว มาสามคนสอนสามคน มาเป็นหมู่ก็สอนกันเป็นหมู่ไป สอนให้เขาเข้าใจ เอาธรรมะต้อนรับคน แจกธรรมะแก่เขา อะไรๆมันก็เรียบร้อย หลักการเป็นอย่างนั้น ช่วยกันทำงานเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้า คือสงสารลูกมาก สงสารตัวเรามาก สงสารพุทธบริษัทบ้าง ช่วยกันให้เขาเจริญโดยธรรม ความสุขก็เกิดขึ้นในชาติบ้านเมืองต่อไป แสดงมาก็สมควรแก่เวลา