แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอทุกท่านหาที่นั่ง นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจนและจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้อากาศแจ่มใสในตอนเช้า ญาติโยมคงสบายใจ เพราะจะได้เดินทางมาวัดสะดวกสบาย แม้การจราจรจะติดขัด เราอย่าไปติดขัดกับเขาด้วย ให้นึกว่าธรรมดามันเป็นอย่างนั้น เพราะว่ารถมาก มันก็ต้องติดบ้างเป็นธรรมดา ถ้ารถไม่มี มันก็ไม่ติดเลย แต่เรื่องรถไม่มีนั้น มันเป็นไปไม่ได้เพราะรถมันมากแล้ว แล้วคนก็นิยมการใช้รถเพื่อความสะดวกในการไปการมา เมื่อออกพร้อมๆ กัน จำนวนรถเป็นหมื่นเป็นแสนคัน มันก็ติดบ้างเป็นธรรมดา อย่าหงุดหงิด งุ่นง่านในขณะรถติด แต่ให้นึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามีวิทยุฟังเทปได้ เอาเทปธรรมะไปด้วย เวลานั่งในรถก็เปิดฟังเพลินๆ ไป รถติดก็ฟังเทปไป จิตใจจะไม่ได้ยุ่ง ไม่ได้วุ่นวาย เอาธรรมะมาเป็นเครื่องปลอบใจ ดีกว่าเพลงอื่นที่เขาร้องให้เราฟัง ฟังเทปนี่มันสะกิดใจให้เกิดความคิดนึกในแง่ธรรมะ เพราะฉะนั้นเราเอาเทปติดรถไว้ด้วย พอเข้าสู่ที่รถติดก็เปิดเทปฟังไป ฟังไปเรื่อยๆ นั่งรถไปก็ฟังไป แต่ว่าตาต้องดู หูฟัง ใช้คนละที่ ตาดูรถ หูฟังเสียงมันก็พอจะไปกันได้ช่วยให้เราผ่อนคลายจากความทุกข์ ความเดือดร้อนได้
ความทุกข์มันเป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน ย่อมมีด้วยกันทั้งนั้น เด็กน้อยก็เป็นทุกข์ตามประสาเด็ก เด็กวัยรุ่นก็เป็นทุกข์ตามประสาวัยรุ่น ผู้ใหญ่ก็เป็นทุกข์ตามแบบผู้ใหญ่ คนจนก็เป็นทุกข์ตามแบบคนจน คนมั่งมีก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ทุกข์ตามแบบคนมั่งมี ไม่ว่าใครเป็นอะไรก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ถ้าไม่รู้จักแบ่งเบาความทุกข์ให้หมดไปจากจิตใจ ไม่ประพฤติธรรม ไม่เอาธรรมะเป็นเครื่องแก้ปัญหาชีวิต เราก็ต้องมีความทุกข์เรื่อยไป ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องประกอบกับชีวิต ที่เราจะต้องใช้อยู่ตลอดเวลา ใช้ตั้งแต่เป็นเด็กจนกระทั่งเป็นคนเฒ่าคนแก่ ถ้าเราใช้ธรรมะจนชิน เราก็มีความสุขใจสุขกาย แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้ธรรมะ เราก็มีปัญหา มีความทุกข์ มีความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมะก็เพื่อเอามาไว้ใช้เป็นเครื่องมือประกอบแก้ปัญหาให้เราพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน อันธรรมะที่พระมีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้นั้น มีมากมาย หลายเรื่องด้วยกัน เราก็ต้องรู้จักพิจารณาว่าเราควรจะใช้ทำอะไร มีธรรมะอยู่หมวดหนึ่งเรียกว่า โพชฌงค์ ๗ประการ โพชฌงค์ แปลว่า องค์ธรรมเป็นเครื่องประกอบการตรัสรู้ถ้าปฏิบัติในโพชฌงค์ ๗นี้จะทำให้เราได้ ได้เข้าถึงธรรมะมากขึ้น มีความสว่างมากขึ้น มีความรู้แจ้งเห็นจริงในการเห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพจริงมากขึ้น เราจึงควรจะได้ศึกษาเพื่อเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราต่อไป กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อสมัยไปอยู่ในคุกบางขวางท่านเป็นเจ้าเป็นนาย ไม่เคยติดคุกติดตาราง แต่ว่าไปติดคุก ท่านก็อยู่ด้วยความสบายใจ ภายหลังเมื่ออกจากคุกแล้ว มีคนถามท่านว่า ฝ่าบาทอยู่ในคุกมา ทำใจอย่างไร ท่านบอกว่า ฉันเจริญโพชฌงค์ ๗ ตลอดเวลา ธรรมะข้อนี้ช่วยให้ฉันสบายใจ และไม่มีความทุกข์ทางใจ ทุกข์ทางกายก็หายโล่งไป ก่อนนี้ท่านเป็นโรคหืดหอบ อยู่ในวังนี้เป็นโรคหอบ แต่ไปอยู่คุกโรคหายไป อ้า มันก็ดีเหมือนกัน แต่ว่าคติมันอยู่ที่ว่าท่านใช้โพชฌงค์ ๗ เป็นเครื่องประกอบในการแก้ไขปัญหาชีวิต คนเราเวลามีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ถ้าไม่มีธรรมะอะไรเป็นเครื่องแก้ เราก็ทุกข์มากขึ้น กลุ้มใจมากขึ้น กลุ้มใจจนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะเดินไปเดินมาอยู่อย่างนั้นแหละ นั่นเป็นโทษเกิดขึ้นจากเราไม่ศึกษาธรรมะ เป็นคนป่วยที่ไม่รู้จักยา เลยใช้ยาไม่เป็น เมื่อใช้ยาไม่เป็นโรคมันก็หนักขึ้น ไอ้โรคทางกายนี่พอเป็นไปหาหมอได้ มีหมอเปิดคลินิกรักษาโรคมากมาย แต่ว่าโรคทางใจ หรือว่าทางวิญญาณ ที่เป็นความทุกข์ เป็นตัวปัญหาแก่ชีวิตของเรา เราจะไปหาหมอไหนให้แก้ มันไม่มีหมอไหนจะแก้ได้ ต้องหันเข้าหาพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าท่านนิพพานไปแล้ว ท่านมีสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้าเหลืออยู่ สิ่งนั้นก็คือธรรมะอันเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ธรรมะที่ทรงสอนไว้นั่นแหละ แทนองค์พระพุทธเจ้า เมื่อเรามีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ เราก็ต้องเข้าหาพระธรรม แต่การเข้าหาพระธรรมนั้น บางทีก็ลำบาก เพราะเราไม่รู้จะเข้าหาธรรมะอย่างไร เราก็ควรไปหาพระสงฆ์ที่เป็นผู้สอนธรรมะช่วยแก้ปัญหาให้แก่เรา เราไปเล่าเรื่องปัญหาให้พระท่านฟัง ท่านก็จะชี้แนะแนวทางให้ ว่าเราควรจะคิดอย่างไร ควรพูดอย่างไร ควรทำอย่างไร ควรแก้ปัญหาตามธรรมะนั้นในรูปใด พระท่านจะบอกให้แก่เรา แต่ว่าพระก็เพียงแต่เป็นผู้บอกให้ ส่วนการกระทำนั้นเป็นหน้าที่ของเราเอง เราต้องเอาไปพิจารณา ศึกษาให้ละเอียด แล้วเราก็ปฏิบัติ เพราะเมื่อเราปฏิบัติเราก็ได้ผลด้วยตัวเอง ผลการปฏิบัติธรรมะนั้นเป็นสันทิฏฐิโก หมายความว่าประจักษ์แก่ใจของเราเอง เมื่อเราปฏิบัติเราก็ประจักษ์แก่ใจของเรา เรารู้ด้วยตัวเราเองว่า เรามีความรู้สึกอย่างไร สงบ เร่าร้อน วุ่นวาย สะอาดหรือสว่างอย่างไร เรารู้ได้เอง ไม่ต้องให้ใครบอกและก็ไม่ต้องไปถามใคร เหมือนเรากินเกลือ ไม่ต้องถามว่าเค็มอย่างไร เรารู้อยู่แล้วว่ามันเป็นอย่างไรที่ลิ้นของเรา กินบอระเพ็ดเรารู้อยู่แล้วว่ามันขมขนาดไหน ลิ้นกินอะไรเราก็รู้กันอยู่ นั่นแหละเป็นสันทิฏฐิโก ในเรื่องพระธรรมนี่ก็เหมือนกัน เมื่อเราเอาไปปฏิบัติเราก็เห็นผลด้วยตัวเราเอง ว่าสภาพจิตใจเราเปลี่ยนไป เปลี่ยนจากความทุกข์กลายเป็นความสงบขึ้นมา เปลี่ยนจากความคลุ้งกลายเป็นความไม่คลุ้ง เปลี่ยนจากความร้อนเป็นความไม่ร้อน เปลี่ยนจากความมืดเป็นความสว่าง อ่า มันเปลี่ยนไปเองโดยธรรมชาติ เมื่อเราใช้ธรรมมะ ธรรมะช่วยเรา โดยเราช่วยธรรมะ เราจึงต้องไปหาพระที่สอนธรรมะให้แก่เรา ไปปรึกษาเรื่องปัญหาชีวิต อย่าไปหาพระหมอดูเพราะหมอดูช่วยอะไรไม่ได้ นอกจากช่วยให้เราโง่หนักลงไปเท่านั้นเอง สอนให้ทำอะไรแบบพวกโง่ อะไรต่างๆ ตามแบบของหมอซึ่งมันไม่ค่อยจะได้สาระในทางแก้ทุกข์ อาจจะได้แต่ความสบายใจนิดหน่อย ว่าได้ทำแล้ว แต่ว่ารากเหง้าของความทุกข์มันยังอยู่ เราไม่ได้ตัดรากเหง้านั้นด้วยปัญญา เราก็ไม่พ้นจากความทุกข์ เรายังเป็นทุกข์ต่อไป นี่หลักการมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมะเป็นเครื่องช่วยให้เราได้มีเครื่องมือสำหรับแก้ปัญหาชีวิต
แต่ว่าบางทีเราใช้ไม่เป็นเราก็ต้องไปศึกษากับพระเพื่อจะได้ธรรมะนั้นให้เป็นการถูกต้อง อันนี้ธรรมะหมวดที่เรียกว่าโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ เป็นธรรมะอยู่ในพวกโพธิปักขิยธรรม โพธิปักขิยธรรม แปลว่า ธรรมเป็นฝักใฝ่แห่งการตรัสรู้ เหตุทั้งหมดทั้ง ๓๗ ประการ ๓๗ ข้อ และก็มีโพชฌงค์ ๗ นี่อยู่ด้วย เอาวันนี้ก็จะกล่าวถึงเรื่องนี้ให้ญาติโยมทั้งหลายได้ฟังกัน ว่ามันมีความหมายอย่างไร โพชฌงค์ ๗ นั้นมีอะไรบ้าง
มีก็ข้อแรกเรียกว่า สติ ความระลึกได้ ข้อสอง ธรรมวิจยะ ความสอดส่องในธรรมะ พิจารณาธรรมะ สามวิริยะ ความเพียร สี่ปิติ ความอิ่มใจ ห้า ปัสสัทธิ ความสงบใจ และอารมณ์ หกสมาธิ ความตั้งใจมั่น เจ็ด อุเบกขา ความวางเฉย รวมเป็นเจ็ดประการด้วยกัน ธรรมทั้งเจ็ดประการนี้เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราเกิดความพ้นทุกข์ได้
ในชั้นแรกเรียกว่าสติ สติแปลว่าความรู้สึกตัวได้ทันท่วงที รู้สึกเพราะว่าเรากำลังเป็นอะไร เรากำลังมีอะไรอยู่ในใจของเรานี้ เป็นตัวสติที่จะรู้ ปกติคนเราไม่ค่อยรู้ ไม่รู้ด้วยสติ ไม่รู้ด้วยสติคือไม่เข้าใจในสิ่งนั้นถูกต้อง ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เกิดขึ้นอย่างไร เป็นมาอย่างไร เราไม่เข้าใจ แต่ตัวสติเกิดความรู้สึกขึ้นว่า ฉันกำลังเป็นอะไร ฉันกำลังมีอะไรอยู่ในจิตใจของฉัน เช่น ฉันกำลังร้อนใจ ก็รู้ว่าร้อนใจ ฉันกำลังเป็นทุกข์ก็รู้ว่ามีความทุกข์เกิดขึ้นในใจของเรา รู้ว่ามีความทุกข์เกิดขึ้น รู้ว่าฉันมีความวิตกกังวลในเรื่องอะไร เราก็รู้ในเรื่องนั้น อันนี้จะช่วยให้เกิดการแก้ไข เหมือนเรารู้ว่าไฟจะไหม้บ้านเราก็ต้องรีบเอายาดับไฟไปพ่นใส่ ไฟนั้นก็ดับไป หรือรู้ข่าวว่าโจรจะเข้าบ้าน เราก็ต้องทำประตู หน้าต่างให้มันแข็งแรง ติดสัญญาณแจ้งว่าขโมยไปทางโรงพัก แล้วบอกเพื่อนบ้านให้รู้ว่าถ้าฉันตีระฆังขึ้น บอกสัญญาณเปิดหวูดเปิดหวออะไรให้รู้ว่าอันตราย จะเกิดขึ้นแก่เจ้าของบ้านนี้ ให้มาช่วยกัน อันนี้เรียกว่าเรารู้ได้ มันก็ไม่ ไม่เกิดไฟนาน แต่ถ้าเราไม่รู้ มันก็เกิดเป็นทุกข์อยู่เรื่อยไป ทำให้เราเป็นอยู่อย่างนั้นนานๆ เพราะเราไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร เราไม่รู้สึกตัว ว่าเรากำลังเป็นอะไร กำลังมีอะไร อยู่ในใจของเรา เราก็มีสิ่งนั้นอยู่เรื่อยไป มีโดยไม่รู้ว่ามันเป็นพิษ มันเป็นภัยแก่เรา มันกัดเราเจ็บเราไม่รู้ เราไม่เข้าใจ บางทีเราก็พอใจมันเสียด้วย พอใจในสิ่งที่ทำให้เรากัดเจ็บและเราสำคัญว่าการถูกกัดนั้นเป็นความอร่อย เป็นความสนุกสนานเพลิดเพลินของเรา อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติรู้ทันในเรื่องอย่างนั้น เราก็ลำบาก เราก็มีปัญหา แต่ถ้าเรามีสติกำหนดรู้อะไรเกิดขึ้นปึ้บ เราก็รู้ปั๊บทันที แล้วเราก็แก้ได้ทันที เพราะเราเข้าใจวิธีการของมัน เรื่องอย่างนี้เราศึกษาว่าอะไรมันเกิดมาจากอะไร ถ้าเราศึกษาตามหลักการของพระพุทธเจ้า พระองค์ก็สอนให้เราเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุ ผลจะปรากฏไม่ได้ และเหตุนั้นไม่ได้อยู่ที่สิ่งภายนอก ไม่ได้อยู่ที่บุคคลอื่น ไม่ได้อยู่ที่เหตุอื่น แต่มันอยู่ที่ตัวเรา คืออยู่ที่ความคิด อยู่ที่การพูด การกระทำ การคบหาสมาคม การไปไหนมาไหนของเราเอง นั่นแหละเป็นตัวเหตุ ตัวปัจจัยให้เกิดขึ้น แต่ว่าคนเราโดยปกตินั้นมักจะไม่ยอมรับว่าเหตุเกิดจากตัว คือไม่รับว่าตัวผิดนั่นเอง ถ้าเราไม่รับว่าตัวผิด เราจะแก้ความผิดได้อย่างไร เมื่อเราไม่รู้ว่าบ้านช่องสกปรก เราจะกวาดอย่างไร ไม่รู้ว่าตัวเราไม่สะอาดเราก็ไม่คิดชำระสะสางเพราะไม่รู้ เพราะฉะนั้นต้องรู้สึกตัว การที่จะรู้สึกตัวนี้ ก็ต้องมองดูตัวเองในแง่ธรรมะไว้บ่อยๆ มองดูว่าเรามีอะไร มีธรรมมะประเภทใดอยู่ในใจของเรา ธรรมที่เป็นกุศลหรือว่าธรรมที่เป็นอกุศลมันเกิด มันมีอยู่ในใจของเรา ถ้าเป็นอกุศลก็เป็นไปเพื่อทุกข์เพื่อโทษ ไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ผู้มีสิ่งนั้น แต่ถ้าเป็นกุศลก็เป็นไปเพื่อความสุขเพื่อความสบายใจ เราก็ควรคอยกำหนดรู้ คอยศึกษา ชั้นแรก เราศึกษาจากตำรับตำราเรียนทฤษฎีและต่อมาก็นำความรู้ด้านทฤษฎีนั้นมาเพ่งมามองที่ตัวเรา เช่น เรารู้ว่าความโลภไม่ดี ความโกรธไม่ดี ความหลงไม่ดี ไม่ดีอย่างไรเรายังไม่เข้าใจ เราก็เอามาเพ่งดู มารู้ตัวว่าไอ้นี่ความโลภ เมื่อความโลภเกิดขึ้นใจร้อนหรือใจเย็น ความโกรธเกิดขึ้นใจเราร้อนหรือใจเราเย็น ความหลงเกิดขึ้น ใจเราร้อนหรือใจเราเย็น ความริษยาเกิดขึ้นในใจ ใจเราร้อนหรือใจเราเย็น ใจเราสงบหรือใจวุ่นวาย ความพยาบาทเกิดขึ้นเราก็ต้องรู้ว่าสภาพใจของเราเป็นอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา นี่ คอยกำหนดรู้ รู้ไว้บ่อยๆ รู้หน้าตาของกิเลส รู้ทางเกิดของกิเลส และรู้ว่าผลที่มันเกิดขึ้นในใจของเรานั้นทำให้ใจของเราเป็นอย่างไร และเมื่อรู้อย่างนี้เราก็คอยกำหนดรู้ ว่าพอสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเรารู้ทันที ไอ้นี่ตัวโลภ อันนี้ตัวโกรธ อันนี้ตัวหลง อันนี้ตัวริษยา อันนี้คือความพยาบาท อันนี้คือการแข่งดี อันนี้คือการถือตัว อันนี้คือการลบหลู่บุญคุณท่าน อันนี้คืออะไร เรารู้ รู้ว่ามันเกิดขึ้น รู้ทันที พอรู้ทันทีนี่มันหยุดแล้วนะ อะไรๆ ที่มันเกิดในใจเรา พอเรารู้ปุ๊บมันก็หยุด เพราะอะไร เพราะใจเรามันคิดได้ทีละอย่างว่าคิดอย่างหนึ่งอีกสิ่งหนึ่งมันก็หายไป ขณะที่เราโกรธพอเรารู้ตัวว่าเราโกรธความโกรธจางหายไป พอเรารู้ว่าเรารู้ว่าเรามีความโลภ ความโลภมันก็หายไป แต่ว่ามันอาจกลับมาอีกถ้าสติเรามันไม่ติดต่อ ไม่รู้ติดต่อพอรู้แล้วก็ไม่ทำไม่สร้างสติให้มันติดต่อกันไป ในโพชฌงค์ ๗ นี่หมายความว่าต้องตั้งสติให้มันติดต่อกันไป คอยรู้สึก สำนึกตัวติดต่อกันไม่ให้ขาดสาย จนกิเลสตัวนั้นไม่อาจจะเกิดขึ้นรบกวนเราได้ มันไม่เกิดขึ้นเพราะสติมันติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา คอยกำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา
การปฏิบัติกรรมฐานภาวนาหรือที่เราเรียกว่าเจริญวิปัสสนา ความจริงมันไม่ใช่ เราเรียกแค่มันถูกต้องตามศัพท์ธรรมะว่าภาวนาหรือสมาธิภาวนา ภาวนาแปลว่าทำให้บ่อย ทำให้มาก ในเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เช่นการทำสติให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เขาเรียกว่าอยู่ในขั้นภาวนา การภาวนาก็เป็นการฝึกสติของเรานั่นเอง เช่นว่า กำหนดลมหายใจเข้าออก ก็คือ สติ ฝึกให้มีสติอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้าก็มีสติกำหนดรู้ หายใจออกก็มีสติกำหนดรู้ เราจะยกมือขึ้นก็กำหนดรู้ เอามือลงก็กำหนดรู้ จะเดินก้าวเท้าขวาเดิน เท้าซ้ายเดิน เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาเราทำอะไรคอยกำหนดรู้ คนที่มีสติคอยกำหนดรู้ในการกระทำของตัว การเคลื่อนไหวมีจังหวะจะโคนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว ความเป็นผู้ดีนั้นมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่อยู่ที่เกิดในสกุลนั้น เกิดในสกุลนี้ แต่อยู่ที่ความมีสติคอยกำหนดสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายจิตใจของเรา พระอัสสชิเห็นพระสารีบุตรแล้วก็ชอบใจ เลื่อมใส เพราะอะไร ก็เพราะว่าพระสารีบุตรท่านเดินด้วยสติ ก้าวเท้าขวา ก้าวเท้าซ้าย ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา มีสติกำหนด ไปอย่างช้าๆ ไม่ผลุนผลันพลันแล่น คนที่เดินด้วยความผลุนผลัน คนนั้นไม่มีสติ ประเดี๋ยวเตะกระโถน ประเดี๋ยวโดนขันน้ำ ประเดี๋ยวทำนั่นทำนี่หกราดไปหมด ตึงตังโผงผาง นั่นคือความไม่มีสติ แต่พอเรามีสติ มันเดินช้าขึ้น ทำอะไรช้าๆ ขึ้น จะยื่นแขนออกไปก็ยื่นด้วยความมีสติ จับอะไรก็รู้ ดึงเข้ามาก็รู้ วางตรงไหนก็รู้ แล้ววางค่อยๆ ไม่โครมคราม ไม่ตึงตัง คนที่ทำตึงตังนั้นไม่มีสติควบคุม หยิบอะไร จะฉวยอะไรก็ตึงตังโผงผาง เหมือน เหมือนกับอะไรดี อย่างนั้นก็ไม่มีสติ เมื่อไม่มีสติมันก็ผิดง่าย พลาดง่าย การพูดก็เหมือนกัน ถ้าเราพูดด้วยความมีสติ ไม่ผิดพลาด แต่พูดด้วยขาดสติก็เดี๋ยวพูดกระทบคนนั้น กระทบคนนี้ โดยไม่รู้ตัวว่าเราพูดอะไร ทำอะไร ก็ทำไม่มีสติกำกับก็เกิดการผิดพลาด เกิดการเสียหาย แต่ถ้าเราทำด้วยความมีสติจะไม่เผลอ คนใดมีสติอยู่ประจำเนื้อประจำตัว คนนั้นเดินจะไม่สะดุดอะไร จะไม่สะดุดอะไร จะไม่เจ็บตรงนั้น จะไม่เจ็บตรงนี้ เพราะว่าจะเคลื่อนไหวเท้า เคลื่อนไหวมือ แต่ลำตัวเคลื่อนไหวเขา เขามีสติคอยกำหนดอยู่ ทำอะไรก็เลยไม่เผลอ ไม่ประมาทไม่มีการผิดพลาด ไม่มีการผิดพลาดจากการกระทำนั้น แต่ผู้ใดที่ขาดสติย่อมผิดพลาดได้ง่าย หั่นผักไปหันเอานิ้วชี้ของตนเข้าบ้าง หรือว่าตำน้ำพริกแล้วก็ตำพริกมันกระเด็นเข้าตาเอาบ้าง นั่นก็เพราะทำด้วยความไม่มีสติ จะลุกขึ้น จะนั่งลงก็ตึงตังโผงผางไม่มีกิริยาที่เรียบร้อย แสดงออกในตัวว่าเราขาดสติ หรือว่าเรานั่งๆ มันมีอะไรอยู่บนศีรษะเราลุกขึ้นชนปั้งเข้าให้ พอชนปั๊งเข้าให้ ตกใจกระโดดลงไปในขันน้ำ ลงไปในอะไรต่ออะไร อย่างนี้มันขาดสติทั้งนั้น เราหัดเด็กให้เดินด้วยความมีสติ หัดให้เด็กเจริญสติปัฏฐาน ตามหลักการของพระพุทธเจ้าเด็กก็จะมีมรรยาทดีขึ้น จะมีความสุภาพ มีความเรียบร้อย จะหยิบจะฉวยอะไรก็ไม่ผิดพลาด ไม่เสียหาย ก็เราฝึกเขาให้มีสติอย่างนั้น สติเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทุกเมื่อ คำบาลีจึงกล่าวไว้ว่า สติสัพพัตถะ ปัตถิยา สติสัพพัตถะ ปัตถิยา แปลว่า สติเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทุกเมื่อ อันนี้แปลให้ฟังง่าย แต่ถ้าแปลตามตัวว่าสติแลเป็นสิ่งพึงปรารถนาทุกเมื่อ ฟังยากหน่อย แต่ถ้าเราแปลความหมายว่า สติเป็นสิ่งจำเป็นจะต้องใช้ทุกเมื่อ ขาดไม่ได้ ขาดสติไม่ได้ ขับรถขนาดสติไม่ได้ เดินบนถนนขาดสติไม่ได้ ข้ามถนนก็ขาดสติไม่ได้ ไปติดต่อเจรจาเรื่องอะไรกับใครก็ทำด้วยสติไม่มีสติมันก็ไปไม่ได้ อันนี้เป็นหลักจำเป็นสำคัญประการหนึ่ง เรียกว่ามีสติอยู่
เมื่อมีสติแล้วจะต้องมีปัญญาคู่กัน มันมักมาคู่กัน สติกับปัญญานี้เรียกว่าเป็นคำฝาแฝดไปไหนไปด้วยกัน เหมือนคนกับเงา คนไปไหนเงามันก็ไปด้วยถ้ามีแสงแดด แต่ถ้าไม่มีแสงแดด เราไม่เห็นเงา แต่ถ้ามีแสงแดดเห็นว่าคนกับเงาอยู่ด้วยกัน ต้นไม้กับเงาอยู่ด้วยกัน อะไรๆ กับเงามันอยู่ด้วยกัน สติกับปัญญาก็เป็นสิ่งที่มาด้วยกัน ไปด้วยกัน ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ร่วมกันจัดสิ่งนั้นสิ่งนี้ คนที่ใช้สติปัญญาจึงไม่มีความผิดพลาดเสียหาย นักเรียนที่เรียนหนังสือ ถ้าเรียนด้วยสติปัญญาการเรียนก็จะดีขึ้น อ่านหนังสือเที่ยวเดียวก็จำได้หมด เพราะในขณะอ่านสติอยู่กับหนังสือ ปัญญาก็ควบคุมอยู่กับการอ่าน อ่านจบรู้เรื่อง บางคนอาจจบเป็นเล่ม เอ๊ะอ่านเรื่องอะไร ไม่รู้เรื่องเลย อันนี้ก็เพราะว่าเราอ่านด้วยความไม่มีสติ ไม่มีปัญญา แต่ถ้าเราอ่านใจจดจ่ออยู่ในเรื่องนั้น คอยกำหนดเลือกข้อความที่เราอ่าน เราเข้าใจการอ่านหนังสือด้วยสติปัญญา ต้องอ่านด้วยความรู้สึกตัวอยู่ในขณะนั้น แล้วเมื่ออ่านจบแล้วเก็บหนังสือ เก็บหนังสือลองทบทวนว่าเราได้อ่านอะไร เรื่องที่เราอ่านมีข้อความอย่างไร มันมีความหมายว่าอย่างไร เอามาทบทวนพิจารณา แล้วจะเกิดความจำได้ หมายรู้ ในเรื่องที่เราอ่านนั้นถูกต้อง เวลาใดต้องการใช้ก็ใช้ได้พลันทันท่วงที เพราะเรามีสติมีปัญญาในการอ่าน คนบางคนอ่านจบแล้วถามว่าอะไร ไม่รู้ ฟังอะไร ไม่รู้ อย่างฟังพระเทศน์นี่ก็ฟังไป แต่สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไปนู่นไปที่ไหนๆ ก็ไม่รู้ นึกฟุ้งซ่านไป แต่นึกฟุ้งซ่านไปก็ไม่รู้ว่าเราฟุ้งซ่าน พอไม่รู้ก็ฟุ้งต่อไปแต่พอเรารู้ก็ว่าอ้าวไปกันใหญ่แล้ว ไม่อยู่ที่เสียงหลวงพ่อแล้วไปไหน เอากลับมาทันที พอรู้ปุ๊บ มันก็กลับมา เดี๋ยวมันก็ไปอีก มันเคย มันเคยอย่างนั้น มันเคยวิ่งไปวิ่งมาเพราะเราไม่เคยหักห้ามใจ ไม่เคยฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิเพียง ๕ นาทีต่อวัน ก็จะช่วยให้เราเกิดความ มีความสามารถทางใจขึ้น ทำให้ใจเราดีขึ้นให้รู้ทัน รู้เท่า ต่อสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ควรฝึกฝนอบรมบ่อยๆ นี่เป็นข้อหนึ่ง
ข้อที่สองเรียกว่าธรรมวิจัย ธรรมะวิจัยหมายความว่าเลือกเฟ้น เอาธรรมะมาปฏิบัติให้เหมาะแก่เรื่อง เหมาะแก่เวลา แก่บุคคล แก่สิ่งที่เกิดขึ้น เรื่องอย่างนี้มันต้องศึกษาไว้ให้เข้าใจ เรียกว่าเข้าใจแล้วมัน มันคล่องแล้ว มันว่องไว ภาษาพระเค้าเรียกว่ามีวสี วสี คือความชำนาญในเรื่องนั้น เราเรียนเรื่องใดหมั่นฝึกฝน หมั่นอบรม หมั่นคิด หมั่นตรอง ก็เกิดเป็นวสี คือ ว่องไว นึกปุ๊บมาทันที ใช้ได้ทันท่วงที เราจึงต้องศึกษาข้อธรรมะเอาไว้ จำความหมายให้ได้ ว่ามันคืออะไร แล้วเราจะใช้เวลาไหน เอาไปใช้ โดยมากเรียนแล้วไม่ค่อยใช้ พระเณรก็เรียนหนังสือ เรียนนวโกวาท เรียนธรรมะปริเฉจ สอนเรียนอะไรไป เวลามาอยู่วัดนี่หลวงพ่อลองสอบดู สอบดูว่าได้นักธรรมชั้นไหนแล้ว ตอบว่าได้นักธรรมชั้นเอก ไปถามเรื่องนักธรรมชั้นตรีตอบไม่ถูก จำไม่ได้ และก็ตอบไม่ถูก อันนี้ถามเรื่องวินัยว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อคนนั้นต่อคนนี้ ไม่รู้ เช่นว่าปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์อย่างไร ต่ออาจารย์อย่างไร ไม่รู้เพราะไม่เคยเอาไปใช้ เรียนเอาคะแนน เอาสอบ สอบได้แล้วก็ไม่เคยปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นั้นๆ ไปไหนก็ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ พระพุทธท่านตั้งระเบียบไว้ทุกอย่าง ถ้าเราปฏิบัติตามระเบียบที่พระองค์ตั้งไว้ เราจะเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะเราทำอะไรถูกต้อง ไม่มีการผิดพลาดเสียหาย เราอยู่กับใคร เช่นว่าเราอยู่กับพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เราควรทำตนอย่างไรต่อท่าน อันนี้ถ้าไม่เคยปฏิบัติมันก็จำไม่ได้ ไม่รู้เรื่องแล้วไม่เข้าใกล้ ไม่ค่อยเห็นหน้าค่าตากัน อย่างนี้มันก็ไม่ได้เรื่อง ความจริงมันต้องเข้าใกล้ไปปรนนิบัติวัตถากช่วยกวาดขยะ ช่วยเทกระโถน ถ้าพระอาจารย์ชอบกินหมาก ชอบสูบบุหรี่ แต่ว่าอาจารย์ที่ไม่กินหมากไม่สูบบุหรี่ก็ไม่ต้องเทกระโถน แต่ว่ามากวาดกุฏิบ้าง อะไรบ้าง ก็เรียกว่าปฏิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์ เหมือนลูกก็เหมือนกันน่ะ ต้องปฏิบัติต่อพ่อแม่ ช่วยทำกิจให้ท่านทำให้ท่านสบายใจ หากธรรมะเหล่านี้เราเรียนรู้ไว้ แล้วเราเอามาใช้ในชีวิตของเราก็จะเกิดประโยชน์ แต่เวลาจะใช้มันก็ต้องเลือกเหมือนกัน เหมือนยาเต็มตู้ เราเป็นอะไร เราปวดท้อง เราก็ต้องหยิบยาแก้ปวดท้อง ปวดหัวหยิบยาแก้ปวดหัว หรือว่าเป็นอะไรก็มียาเฉพาะๆ เป็นขนานๆ ใส่ไว้ในตู้เต็มไปหมดเราก็ต้องเลือกว่ายาอะไรเหมาะแก่โรคที่เราเป็น หยิบให้มันถูกต้องอย่าเอาทิงเจอร์ไป ไปล้างตาเป็นอันขาด เพราะทิงเจอร์มันแสบขืนล้างตามันก็เสียหาย หรือกินเข้าไปก็ไม่ได้ หยิบทิงเจอร์นึกว่ายาธาตุจับใส่ปากกลืนโอ๊กลงไปมันก็แสบท้องตาย เหมือนกินยาพิษเข้าไป นี่เรียกว่าใช้หยูกใช้ยาผิด ธรรมะก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้ไม่ถูกไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร และเมื่อไม่เกิดประโยชน์จะไปโทษธรรมะก็ไม่ได้ เพราะว่าเราใช้ธรรมะผิด เหมือนเราหยิบยาผิดจะไปโทษยาก็ไม่ได้ แต่เราโทษตัวเราเองว่าเราหยิบยาไม่ถูก ยามันไม่ใช่แก้โรคอย่างนั้น แต่เราไปหยิบเข้า มันจึงช่วยเราไม่ได้ มันอยู่ที่เราไม่ได้อยู่ที่ยา มันไม่ได้อยู่ที่ธรรมะแต่อยู่ที่เราผู้ใช้ธรรมมะว่าควรจะใช้อะไร มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เราควรจะใช้ธรรมมะอะไร เช่นว่า ไปเจอคนคนหนึ่ง พอเจอกันแกก็พ่นใส่เลย ด่าเรา อย่างนั้นอย่างนี้ เราควรจะใช้ธรรมะอะไร อย่างนี้มันต้องใช้เป็น พอเป็นเช่นนั้นก็ใช้ความอดทนไว้ก่อน สติมาก่อน เอาสติมาใช้ก่อน สติรู้สึกก็ว่า คนคนนั้นกำลังพูดคำที่ไม่เหมาะไม่ควร เขากำลังด่า เขาด่ามาที่เราเราควรรับหรือไม่ เราไม่ควรรับ สติปัญญามาว่าไม่ควรรับคำด่า เพราะว่ารับไปแล้ว มันก็เดือดร้อนกับเรา อันนี้เมื่อไม่รับแต่คนนั้นด่าเอาๆ ว่าไปเหมือนกับ เหมือนเรื่องอะไร ไก่จิกตางู งูมันตายแล้ว ไปจิกเอาๆ มันไม่เป็นไร อันนี้ด่าเอาๆ เราจะต้องใช้อะไร ใช้ความอดทน ต่อไปเราต้องใช้ความอดทน อดทนเอาด่าไปเถอะไม่เป็นไร แล้วก็ใช้เครื่องปัญญาพิจารณาว่าเขาด่านี่มันเจ็บขนาดไหน ผิวหนังเจ็บไหม เดือดร้อนไหม มีอะไรเจ็บปวดที่ตรงไหนบ้างล่ะ ไม่มี มันเจ็บสุดที่ใจ ทำไมจึงเจ็บที่ใจ เพราะใจเข้าไปยึดถือ ยึดถือว่ามันด่ากู มันด่าฉัน อะไรอย่างนี้ เราไปยึดเข้า ถ้าความยึดนั้นมันถูกหรือผิด ถ้ามีสติมาก็ถามว่าถูกหรือผิด เอ้า มันผิด ผิดแล้วไปยึดไว้ทำไมไปเจ็บทำไม ไปเดือดร้อนทำไม ไอ้คนนั้นมันชั่วแล้ว เราจะชั่วตามคนนั้นไปอีกทำไม พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เพิ่มความชั่ว ไม่ให้เพิ่มคนชั่วขึ้นในโลกนี้ เมื่อคนหนึ่งมันชั่วมาพูดคำหยาบกับเรา แล้วเราก็ส่งคำหยาบต่อไป เกลือจิ้มเกลือ ฟันต่อฟัน ตาต่อตาตามแบบโบราณนั้นมันใช้ไม่ได้ เพระว่ามันเสียหายทั้งคู่ เราควรจะทำอย่างไรไม่ให้เสียหาย เราก็ทนได้ อดได้ ทนได้ควบคุมจิตใจของตนเองไว้ ไม่ให้โกรธแต่ว่าสงสารกลับใช้ธรรมะที่เมตตาปรานีต่อคนนั้น ว่าคนคนนี้น่าสงสาร น่าเห็นใจ เขาต้องเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยในทางที่ถูกที่ชอบ ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี คงไม่เคยเข้าวัด ไม่ได้ฟังธรรมจากพระจึงทำเช่นนี้ ถ้าเราจะไปโกรธกลับคนเช่นนี้มันก็ไม่เข้าเรื่อง คนโบราณเขาพูดว่าอย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา คนบ้านี่เราไปถือไม่ได้ ถ้าคนบ้ามันพูดอะไรกับเราในเรื่องไม่เหมาะไม่ควร เราจะไปโกรธเขาไม่ได้ โกรธคนบ้ามันไม่ได้เรื่องอะไร แล้วไปโกรธคนเมาก็ไม่ได้เรื่องอะไรเพราะมันเมา มันบ้าเหมือนกัน ไอ้คนเมานั่นก็คือคนบ้าเหมือนกัน ไอ้คนบ้ารู้มันบ้าเพราะว่าเกิดโรคจิตโรควิญญาณเสีย แต่คนเมานั้นจิตวิญญาณมันไม่ได้เสียแต่มันทำให้เสีย เพราะดื่มของมึนเมาเข้าไป แล้วขาดสติขาดปัญญา มันก็เป็นบ้าประเภทหนึ่งเหมือนกัน ที่เราไม่ควรจะถือ เราจะไปทะเลาะกับคนบ้ามันก็ไม่สมควร เราไม่ควรทะเลาะกับคนเหล่านั้น เราก็ยืนเฉยๆ ควบคุมจิตใจไว้ได้ ภาวนาไว้ว่าเราไม่โกรธ เราไม่เกลียดคนคนนี้ มันด่าๆ มันก็เหนื่อยใจ เหนื่อยใจมันก็ไปเอง เราก็ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าเราด่าตอบ เอ่า เพิ่มความชั่ว เพิ่มคนชั่วขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการทั้งปวง เราจึงไม่ได้ทำอย่างนั้น นี่เขาเรียกว่าหยิบธรรมมะมาใช้เป็นเครื่องแก้ปัญหาชีวิต
ทีนี้กิเลสบางประเภทเกิดขึ้น เช่นว่า เกิดความรักในวัตถุบางอย่าง เกิดความชังในวัตถุบางอย่าง เราควรจะทำอย่างไร ควรจะคิดอย่างไร เกิดความรัก เราก็ต้องตั้งปัญหาถามตัวเองว่า เรารักอะไร เราชอบอะไร เราชอบคนคนนั้น ทำไมจึงชอบ ชอบอะไร ชอบเนื้อชอบหนัง ชอบหุ่น ทำความดีความงามของเขาหรือ ก็ศึกษาไตร่ถาม แล้วเวลาเรามีความรักถ้าเป็นทุกข์นี่มันรักไม่ถูกต้อง และถ้าเป็นทุกข์นี่ไม่ใช่รักที่ถูกต้อง ความรักที่ถูกต้อง ต้องไม่เป็นทุกข์ ความรักที่ถูกต้องไม่เป็นทุกข์ทำไม รักอย่างไร คือ ไม่รักด้วยความเห็นแก่ตัว ความรักประเภทเห็นแก่ตัวนั้นเป็นความรักที่เป็นทุกข์ เป็นความรักที่ไม่ถูกต้อง ชายหนุ่มรักหญิงสาวต้องการเอามาเป็นของตัว ให้อยู่กันกับตัว อันนี้มันเป็น เป็นความเห็นแก่ตัว คือจะดึงเอามา เป็นความเห็นแก่ตัว หญิงสาวรักชายหนุ่มแล้วก็อยากไว้ใกล้ตัว มันก็เป็นความรักที่เห็นแก่ตัว ความรักอย่างนั้นเป็นทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าว่าความทุกข์เกิดจากความรัก ความสุขเกิดจากความรัก มีคนเคยเขียนตอบว่าไม่ถูกความรักมันไม่นำให้เป็นทุกข์ คนคิดไม่ละเอียด คิดไม่เป็นจึงพูดอย่างนั้น แต่ความจริงนั้นเราลองสังเกตตัวเราเอง ว่าในเวลาเรารักใครชอบใคร เรามีความสุขใจดีอยู่หรือ มันมีความสุขใจเมื่อยู่ใกล้ แต่พอจะจากไปก็เป็นทุกข์แล้ว เสียดาย แหม ทำไมนั่งกันน้อยเกินไปมันควรจะนั่งนานกว่านี้ อยากพบปะอยากสนทนาด้วยนานๆ นั่นแหละ มันเป็นทุกข์ตรงที่ไม่ได้ดังใจ ก็เราไปรักสิ่งนั้นเข้า ไปชอบสิ่งนั้นเข้า แล้วเราก็เกิดปัญหาคือความทุกข์ ทุกข์เพราะความรัก รักคนก็เป็นทุกข์ รักของก็เป็นทุกข์ รักอะไร อะไรเป็นทุกข์ทั้งนั้น ถ้ารักไม่เป็นแล้วก็เป็นทุกข์ รักชาติก็เป็นทุกข์ถ้ารักไม่เป็น รักชาติก็หลงชาติแล้วก็ทำความผิดเพราะเรื่องหลงชาตินี่ก็มี อย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ รักเจ้ารักนายรักเป็นทุกข์ก็มี ถือเอาว่าเป็นนายของฉัน ถ้านายไม่ได้อะไรก็เที่ยวก่นเที่ยวว่า ไปเกลียดคนนั้น ไปเกลียดคนนี้ ว่านายไม่ได้อะไร วันก่อนไปที่ทหารเรือ นายทหารเรือบอกว่าผมเสียใจมาก นายผมไม่ได้เลื่อนขั้น นี่รักนายมากเกินไป เพราะว่านายไม่ได้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง อันนี้มีคนนั่งและบอกว่า อย่าไปโกรธไปเคืองท่านผู้ใหญ่เขาวางแผนไว้แล้ว ว่าคนนั้นควรขึ้นไปขั้นนั้น คนนั้นควรขึ้นไปขั้นนั้น วางแผนดูอายุอานามของคน ว่าเมื่อไปถึงอายุป่านนั้นจะได้เป็นผู้บัญชาการทหาร แล้วเป็นผู้บัญชาการไม่ใช่เป็นปีเดียวแล้วออก มันเป็นสักสองสามปีทำงานได้นานหน่อย ก่อนนี้ไม่ได้วางแผนอย่างนั้น ขึ้นไปตามลำดับ และก็ไม่จ้างคนให้เป็นฐานขึ้นไป ท่านผู้บัญชาการคนใหม่นี้ท่านวางแผนให้คนนั้นขึ้นสำรองคนนั้นสำรองขึ้นต่อๆ ไป เมื่อขึ้นไปสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือจะได้อยู่นานหน่อยสองปี สามปี สี่ปีก็ได้ ก็ได้วางแถวไว้แล้ว อันนี้คนที่อยู่ปลายแถวก็ยังไม่ได้เลื่อน แต่ก็บ่นว่านายของเราไม่ได้เลื่อน นี่รักนายมากเกินไป แต่ไม่ดูว่าอะไรมันเป็นอะไร สามีภรรยารักกันเป็นทุกข์ก็มี รักกันไม่เป็นทุกข์ก็มี ถ้ารักด้วยความยึดถือว่าของฉันมันก็เป็นทุกข์ มีอะไรนิดหน่อยก็เป็นทุกข์ เพื่อนดูหน่อยก็ไม่ได้หวงแหน หึงหวง อย่างนี้มันเป็นทุกข์ ไม่รู้จักปลง ไม่รู้จักวาง ความรักอย่างนั้นมันใช้ไม่ได้ มันเป็นความทุกข์ เราก็ต้องแก้ด้วยวิธีการอะไร ถ้าเราสงสารคนก็ใช้คำว่าสงสารไม่ใช่ความรัก ใช้คำว่าเอ็นดู เอ็นดูคนคนนั้น ที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยไม่รู้เรื่องของธรรมะ ไม่เข้าใจแก้ปัญหาชีวิต และเมื่อเราเอ็นดูเขา เราควรจะช่วยเขาอย่างไร เราควรจะหาวิธีช่วยสอนช่วยแนะช่วยชักช่วยจูง ให้เขาได้มาพบพระได้มาพบธรรมะเสียบ้าง อะไรๆ มันก็จะดีขึ้นอันนี้ช่วยได้ เราทำอย่างนั้นเป็นการถูกต้อง แม้กับตัวเราเองถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราก็รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น แล้วเราควรแก้ด้วยอะไร เช่น หลงในรูปควรแก้ด้วยอะไร หลงรูป หลงรส หลงกลิ่น หลงสัมผัส เขาเรียกว่ากามคุณ กามคุณ แปลว่า สิ่งน่าใคร่ น่าพอใจ มี ๕ อย่าง คือ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสิ่งที่ถูกต้องด้วยปลายประสาท เราไปหลงใหลชอบพอสิ่งนั้น หลงจนเป็นทุกข์ อันนี้ถ้าหลงจนเป็นทุกข์ก็ต้องแก้ ด้วยปัญญาเอาปัญญามาแก้ ปัญญามาแก้ก็พิจารณาตามกฎ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่าสิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยงมันมีการเปลี่ยนแปลง มันไม่อยู่ถาวร ไม่ว่าอะไรที่จะอยู่ถาวรไม่มี วันนี้เป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้ไม่แน่ ชั่วโมงนี้เป็นอย่างนี้ ชั่วโมงหน้ามันก็ไม่แน่ เพราะสิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะไปจับไปฉวยให้มันอยู่กับที่ ให้มันไม่เปลี่ยนนั้นเป็นไปไม่ได้ เขาเรียกว่ามันฝืนธรรมชาติ ฝืนกฎของธรรมชาติ
เราก็รู้เรื่องของธรรมชาติ เราก็เอากฎของธรรมชาติมาช่วยแก้ปัญหาชีวิต ปลงได้ วางได้แต่ในเรื่องอย่างนั้นจะไม่มีปัญหาอะไร หรือว่ามีเรื่องอะไรขึ้น ความทุกข์จากการพลัดพราก จากของรักของชอบใจ เช่นเรา อยู่ในครอบครัว สมาชิกคนในครอบครัวถึงแก่กรรม เช่นเป็นผู้ใหญ่ คุณพ่อ คุณแม่ ถึงแก่กรรม บางคนก็เศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้ร้องห่ม นั่นคือเรื่องที่ไม่สมควร ไม่แสดงความฉลาดอะไรแม้แต่น้อย ที่ร้องไห้ร้องห่มอย่างนั้น ทำไมจึงต้องร้องไห้ร้องห่ม เพราะเราเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ว่าคุณพ่อจากไป คุณแม่จากไป เราเป็นทุกข์อย่างนั้น แล้วไม่คิดด้วยบ้างหรือ ว่าอะไรๆ มันไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป คุณพ่อท่านก็แก่แล้ว ท่านก็จากเราไป คุณแม่ท่านแก่ท่านก็จากเราไป คุณปู่แก่ก็ต้องไป คุณย่าแก่ก็ต้องไป คุณตา คุณยายแก่ก็ต้องไปทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครแล้วเราเองก็แก่ขึ้นมา เวลานี้เราอายุเท่าไรแล้ว สมมติว่าเวลาที่คุณพ่อตายอายุเราเท่าไร คุณแม่ตายอายุเราเท่าไร เราก็อยู่ในเกณฑ์ชราเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงจุดนั้น ยังอยู่ต่อไป ถึงเวลาของท่านที่จะจากไป เราเศร้าโศกแล้วมันได้อะไร เราเป็นทุกข์แล้วมันได้อะไร นั่งร้องไห้มันได้อะไรขึ้นมาบ้าง พิจารณาด้วยปัญญาอย่างนั้น แล้วเอาความไม่เที่ยงมาเป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะไปเสียอกเสียใจทำไมนักหนากับสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราคิดอย่างนั้นมันก็พอเบาบางเพราะเราใช้ธรรมะเป็นเครื่องเทศน์
หรือว่าเรามีข้าว มีของ มีแหวนมีอะไร กำไล เดี๋ยวนี้คนชอบใช้กำไลประดับด้วยทับทิม มรกตอะไรก็ตามเรื่อง ของใช้ แล้วขโมยมาชิงเอาไปเสีย ถอดออกไปต่อหน้าต่อตา เราเสียอกเสียใจกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะนึกถึงของนั้นดูมือทีไรแล้วใจมันเศร้า มันหายไป ความจริง ใจก็ไม่ได้หายไปไหน แต่รู้สึกเสียใจมากเพราะสิ่งนั้น แล้วเราเสียใจนั้นถ้าเรามีสติขึ้นมาว่าเราเสียใจ เสียใจเรื่องอะไร ปัญญาเขาบอกว่าเสียใจเรื่องกำไลหาย แหวนหาย สายสร้อยหาย อะไรหายไป แล้วเรา เราต้องสอบสวนทวนถามตัวเองว่าไอ้ของที่หายน่ะ เราได้มาเมื่อไร เราได้มาเพราะอะไร เราได้มาด้วยงาน ด้วยเงินที่เราแสวงหา แล้วเราก็ไปซื้อมาประดับร่างกาย ถ้าวันไหนเราจะเจ็บจะตายนี่ ของนั้นไปกับเราไหม เราเอาไปด้วยไหม ของนั้นน่ะ แหวนนั้นเราเอาไปได้ไหม กำไลเราเอาไปได้ไหม ไม่มีใครจะเอาไปได้ เพราะคนเขาไม่ยอมให้เอาไป หลานๆ เหลนๆ ก็นั่งจ้องอยู่จะถอด ไปดูละครเรื่องวงศาคณาญาติมา โยมดูอะไร ละครเรื่องวงศาคณาญาติคุณยายป่วย และก็แม่ ลูกของลูกก็นั่งเฝ้าไข้ปิดประตู เพราะว่าเห็นแหวน แหวนเพชรที่คุณยายสวม แหวนเพชรของคุณแม่สวม ก็เลยจะเอาแหวนเพชร เอาแหวนเพชร คุณยายก็นอนหลับตา แต่รู้สึกผิด พอรู้สึกถอยออกมา แต่พอท่านหลับตาเคลิ้มๆ เอาอีกแล้ว สอดเข้าไปใต้ผ้า สอดใต้ผ้าก็ดึงไม่ได้ ประเดี๋ยวอีกคนหนึ่งมา มาเห็นก็มีความคิดอย่างเดียวกัน คือจะเอาแหวนวงนั้นนั่นแหละ คิดเหมือนกันและก็นั่งมอง ฉันนั่งตรงนี้ก็ได้ นั่งจ้องกันทั้งคู่ ดูท่าทีสงวนท่าทีกันไว้ ว่าจะเอาๆ นี่ๆ ตัวอย่าง ยังไม่ตายเลย เพียงแต่ว่าพอรู้สึกเจ็บเท่านั้นแหละก็คนมันอยาก จ้องจะถอดแหวน จ้องจะถอดสายสร้อย อยากจะถอดสร้อยคอ อะไรที่ประดับอยู่มันถอดหมด มันไม่ใส่ให้เข้าโลงไปหรอก จะใส่ไปให้ก็แค่ร่างกายเท่านั้นแหละ เอาไปไม่ได้ แล้วเพื่อนฝูง มิตรสหายของเราที่ตายๆ นี่ ใครเอาอะไรไปได้บ้าง เราลองถามตัวเองซิ เราเสียใจ ใครเอาอะไรไปได้บ้าง ในธนาคารใหญ่มีเงินตั้งแสนล้าน เอาไปได้สักบาทไหม ก็มีบ้างเขาใส่ปากให้ แต่ก็เอาไปทิ้งไว้ที่เชิงตะกอนวัดเทพศิรินทร์นั่นเอง ไม่ได้เอาไปถึงไหนนะ เอ้อ มันไม่มีอะไรเป็นของเรานี่นา พระพุทธเจ้าท่านก็บอกไว้ชัดเจนว่าเราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจ ไม่มีอะไรที่จะติดตัวเราไปได้สักอย่างเดียว อ่า แล้วไปนั่งเศร้าโศก นั่งเสียใจทำไม เราควรจะมาคิดว่าต้องทำงานทำการสะสมเงินใหม่ แล้วหามันมาใช้ใหม่ต่อไป ถ้ายังหาได้ แต่ว่า หามาทำไม หายไปแล้วก็แล้วไป ไม่ต้องใส่อีกต่อไปก็ได้ มันเป็นทุกข์เปล่าๆ นี่เราคิดอย่างนั้น เราก็สบายใจก็ของหายไม่เป็นทุกข์ ก็คนบางคนเป็นทุกข์มากถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับตอนของหาย เครื่องเพชรหาย ราคาหลายราคาเป็นแสนสองแสนมันยกไปทั้งกระเป๋าทั้งหีบเลยก็เสียใจเป็นธรรมดา แต่ถ้าว่าเรามีธรรมมะนึกได้ หือ เสียใจเรื่องอะไรต้องมีสติมาก่อน พอสติมาก็เอา ธรรมวิจยะเข้ามาช่วย ว่าเสียใจเรื่องอะไร ควรใช้ธรรมะข้อไหนแก้ เราเป็นโรคเสียใจเราจะเอายาอะไรแก้ ก็ต้องเอาธรรมะอะไรมาแก้ นึกว่ามันก็นึกไปถึงว่าเรานี้มีอะไรและเราเอาอะไรไปบ้าง เมื่อมานี่เรามีอะไรมา แล้วเมื่อไปนี่เรามีอะไรไป โยมลองคิดดูเมื่อมามีอะไรมา เมื่อไปมีอะไรไป มามือเปล่า เวลาไปก็ไปมือเปล่า เวลาเราไปวัดรดน้ำศพน่ะ ถ้าศพพูดได้ก็คงพูดเตือนเราว่าดูฉันมั่งเถอะ ฉันไปมือเปล่าไม่ได้เอาอะไรไปเลยนี่ แบดูด้วยนะ ถ้าเกรงจะไม่เชื่อแบดู ไม่ได้เอาอะไรไปเลย ถ้ากำไว้อย่างนี้สงสัยว่าจะวิ่ง47.15.... แต่มันไม่มีเอาไปไม่ได้ แล้วพออาบน้ำศพเสร็จ ลูกหลานก็ใส่ปากอมแก้มตุ่ย เอาไปไหน ไปทิ้งไว้เชิงตะกอน ที่เชิงตะกอนวัดเงินเยอะนะ ไม่มีใครเอา วางเฉยและไม่มีใครขโมยเงินนั้น เพราะเราว่าเงินปากผีไม่มีใครเอา ความจริงเอาไปขายเป็นเศษโลหะได้ แต่ไม่มีใครอยากได้ กลัวจะถูกตามไปทวงเงิน มันเป็นอย่างนั้น นี่มันไม่มีอะไรเป็นของเรา เราจะไปทุกข์ไปร้อนทำไม ฟังอย่างนี้บ่อยๆ เวลาหายก็ปลงได้ เอ้อ ช่างหัวมัน มันไม่ใช่เรานี่หว่า เราก็ปลงไปได้นี่เราใช้ธรรมะเป็นเครื่องพิจารณา เอามาช่วยแก้ปัญหาทุกแง่ทุกมุม ไม่ว่าปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เราต้องนึกว่าเอ๊จะใช้ธรรมมะอะไร ใช้ยาอะไร เรียกว่าใช้ธรรมวิจัยเพื่อค้นคว้าหยิบเอายาที่มันเหมาะแก่โรคขึ้นมากิน ธรรมมะเหมือนยาแก้โรค เราก็หยิบขึ้นมาใช้ให้เหมาะแก่โรคนั้นๆ คิดไปนึกไปมันก็ค่อยปลงค่อยวาง
แต่ว่าคิดเองไม่ค่อยได้มันต้องหาผู้รู้ช่วยคิดช่วยแนะ เหมือนตอนอยู่เชียงใหม่นี่ แม่มีลูกฝาแฝดสองคน ฝาแฝดสอง แล้วมันน้ำท่วมเมือง ไปโรงเรียนเลยหนีโรงเรียนไปเล่นน้ำกัน ที่ริมแม่น้ำปิง เล่นๆ แล้วมันตกวูบลงไปในกระแสน้ำที่เชี่ยวจมหายไปเลย จมหาย ไอ้ลูกอีกคนหนึ่งก็จะตามเพื่อนพี่ชายไปแต่เพื่อนดึงไว้ ถ้าไม่ดึงไว้ไปทั้งคู่เลย แม่ร้องไห้ร้องห่มจนตา ตาบวมเลย ไม่เป็นอันหลับอันนอน วันนั้นเค้าก็พยุงปีกพาไปที่วัดอุโมงค์ที่หลวงพ่ออยู่ พาไปถึงก็นั่ง บอกว่าที่วัดนี้ไม่ใช่ที่สำหรับคนเศร้าโศกเสียใจ เป็นที่ของคนที่เขาสบายใจ เบาใจ ไป พาไปนอนหน่อยไม่ได้นอนหลายวันแล้วนี่ ไปนอนเสีย ให้ไปนอนใต้ต้นไม้ ให้เสื่อไปผืน หมอนไปนอนเสีย นอนตื่นได้เต็มตื่น ก็นอนค่อยๆ ฟื้นตัว พอนอนหลับไป กลับมาถึงก็ถามว่าลูกดิฉันตายแล้วไปไหน บอกว่าไม่ต้องถามเรื่องลูก มาคุยเรื่องอื่นกันดีกว่า แล้วก็คุยเรื่องธรรมะให้ฟัง แล้วก็ค่อยเบาใจสบายใจ รุ่งเช้าขึ้นก็มาอีก ก็ค่อยเบาขึ้น มาสองวัน แล้วก็คลายจากความทุกข์ความเศร้าโศก นี่ได้รับยา คือรับยาจากประจักษ์พระได้กินยานั้นเข้าไป ก็ความเศร้าโศกเสียใจก็หายไป ในครั้งพุทธกาลนางปฏาจารานี่เศร้าโศกมากที่สุด เพราะว่าสามีตาย สามีตายเพราะถูกงูกัด งูกัดก็เพราะว่าขึ้นไปบนจอมปลวก เลยงูมันกัดเอา งูกัดแล้วก็สามีตายแล้วก็อยู่กับลูกสองคน คิดว่าไปหาพ่อเถอะ เป็นลูกเศรษฐี ไม่ใช่คนธรรมดา ไปหาพ่อไปอยู่กับพ่อต่อไปเลี้ยงลูกต่อไป เลยก็ไป พอดีวันนั้น ฝนตกหนัก พายุใหญ่ เดินไป เดินไป ทีนี้ฝนตกหนักนางก็อุ้มไปเอาลูกมาไว้ใต้ตัว ไม่ให้ถูกฝนแรงเอามากกไว้ เหมือนไก่ ไก่กกลูกอย่างนั้น เราเคยเห็นไก่มันอ้าปีกกกลูกไว้เวลาฝนตก นางปฏาจาราก็ทำอย่างนั้น ทำไปก็พอฝนหยุดจนเช้าอยู่ทั้งคืน ทรมานจนตัวเขียวด้วยความหนาวเหน็บเหลือเกิน แล้วก็เลยพอเช้าขึ้น ลมฟ้าฝนฝนหยุดลมก็เงียบก็เดินทางไป ไปถึงแม่น้ำ ไปถึงแม่น้ำขวาง จะอุ้มลูกสองคนไปก็ไม่ได้แม่น้ำเชี่ยวก็อุ้มไปคนหนึ่ง แล้วก็ปล่อยวางไว้ที่ตรงโน้น วางแล้วก็มาเอาคนนี้ ทีนี้เวลาเอาลูกไปวางไว้ฝั่งโน้น เหยี่ยวนกใหญ่ เหยี่ยวมันมามันจะเฉี่ยวลูก นางก็อุ้มลูกคนนี้อยู่ในกระแสน้ำ ไอ้โน้นก็นกจะมาเฉี่ยวลูกก็เลยเปิดมือ ไล่ไป ไล่นก ไอ้ลูกนึกว่าแม่เรียก ลงมาๆ ในกระแสน้ำ ก็จมน้ำหายไป จมน้ำหายไป นางก็วิ่งไป เพื่อจะเอาลูกคนนั้นจะดำน้ำหา ลูกคนนี้ก็หลุดไปจากตัวนาง เลยเหมาหมดไปทั้งสองคน จมหายไปทั้งสองคนหมดเลย นางก็ไปที่บ้าน บ้านก็ไม่มีแล้ว พายุใหญ่เหมือนพายุเกย์พัดบ้านช่องพังวินาศ เศรษฐีสองผัวเมียก็ตาย เลยก็ไปเที่ยวสืบหาคุณพ่อคุณแม่ไปอยู่ไหน เขาบอกโอ๊ยท่านเศรษฐีทั้งสองคนเขาเผาที่ป่าช้าโน้น เผาพร้อมกันที่เชิงตะกอนเดียวกันแล้ว นางเสียใจมากเป็นบ้าเลย เป็นบ้าไปเที่ยวสยายผม ตีอกชกหัวเดินเป็นบ้าไป จนไปพบพระพุทธเจ้า พอพบพระพุทธเจ้า ก็เข้าไปนั่งฟังธรรม พอได้ฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าก็พอรู้สึกตัว ละอายแก่ใจที่แต่งตัวไม่เรียบร้อย ไม่สมควรก็เลยลุกขึ้นออกไปแล้วก็มาฟังธรรมต่อ และได้บรรลุมรรคผลได้บวชในพระพุทธศาสนา เรียกว่านางนางปฏาจารา นี่ก็เรียกว่าสูญเสียมาก เศร้าโศกเสียใจ ถ้าไม่ได้รสพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดง ชีวิตแกคงจะลำบากมากกว่านี้ แต่นี่ธรรมะช่วยไว้
เพราะฉะนั้นในชีวิตของเราแต่ละคนนี้ ต้องมีปัญหา ต้องมีความทุกข์ มีความเศร้าโศกมีความเสียใจ ด้วยเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ถ้ารู้สึกเสียใจมากมาวัดทันที รีบมา มาวัดทันที อย่าไปไหน อย่าไปหาหมอดู อย่าไปสำนักทรงเจ้าเข้าผี อย่าไปสั่นกระบอกอยู่ที่เสาหลักเมือง มันแก้ทุกข์ไม่ได้ ต้องรีบมามาพักที่วัด มาฟังธรรมะ พระท่านจะพูดให้ฟัง แล้วให้พักอยู่ที่วัด แล้วเพื่อนฝูงค่อยพูดค่อยปลอบโยนให้ค่อยสบายใจ ไม่ให้เป็นทุกข์มากเกินไป อันนี้มันช่วยได้ ธรรมะช่วยได้ ถ้าเราหมั่นศึกษาและหยิบธรรมะมาใช้ จิตใจจะสบายขึ้น อันนี้ธรรมวิจยะ โพชฌงค์สองข้อในวันนี้คือสติ กับ ธรรมวิจยะ ธรรมวิจยะก็เป็นตัวปัญญานั่นเอง ปัญญาคิดค้นเพื่อหยิบเอาธรรมมะมาใช้ให้เหมาะแก่เรื่อง ให้เหมาะแก่เหตุการณ์ ให้ทันท่วงที เรียกว่าพอนึกได้ปุ๊บ หายไป ความทุกข์หายไป เป็นมนต์ขลังๆ ธรรมะนี่เป็นมนต์ขลังเอามาใช้แล้วแก้ปัญหาชีวิตได้สะดวกสบาย ไม่ต้องนั่งเป็นทุกข์มากเกินไป อันนี้ขอให้โยมได้เข้าใจอย่างนี้ ถ้าพูดมาวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลา