แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ต่อจากนี้ไปเป็นการแสดงปาฐกถาธรรมเรื่องทางเดินของคนดี โดยพระเทพวิสุทธิเมธี (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ปากเกร็ด นนทบุรี ได้แสดงไว้เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๓ ขอเชิญท่านสาธุชนรับฟังได้ ณ บัดนี้ค่ะ
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้ช้าไป ๕ นาที เพราะว่ามีเรื่องติดพัน ลุกขึ้นมาไม่ได้ เมื่อเช้านี้ฝนตก นึกไม่สบายใจ กลัวว่าจะตกในเวลาที่แสดงปาฐกถาและเวลาตักบาตร ถ้าตกแล้วมันยุ่งที่สุดเลย ก็นึกในใจว่าขออย่าตกเลย ตกเมื่อคืนก็พอแล้วตอนเช้า ตอนอื่นอย่าตกเลย ให้ไปตกเวลาอื่น ท้องฟ้าค่อยโปร่งขึ้น แจ่มใส ก็สบายใจ ตอนนี้สบายใจแล้ว เพราะมีแสงแดดส่อง ไม่มีปัญหาอะไร ที่จะต้องวิตกกังวล (เสียงหลวงพ่อบอกให้ปิดพัดลม) ไม่ต้องวิตกกังวลให้เกิดปัญหาทางใจ จะได้พูดอะไรสู่กันฟังกันต่อไป
ญาติโยมทั้งหลายคงจะได้ยินชื่อเทวดาองค์หนึ่ง เราเรียกกันว่าพระอินทร์ พระอินทร์นี่เป็นเทวดาชั้นใหญ่ในสรวงสรรค์ เรียกว่าเป็นจ้าวแห่งเทวดา มีชื่อหลายชื่อ เช่นชื่อท้าวพันตา เพราะมีตารอบตัว เรียกว่าท้าวสหัสนัยก็เรียกว่าตาตั้งพันตาเหมือนกัน หรือเรียกว่าท้าวสักกะ ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้กล้าหาญ แต่ว่าเรียกกันทั่วๆไปนั้นก็เรียกว่าพระอินทร์ อินทะแปลว่าเป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ มีนางฟ้าเป็นบริวาร พระอินทร์มีภรรยาถึง ๔ คน นางสุชาดา สุนันทา อะไรรวมกันเป็น ๔ คนด้วยกัน มีมาก เพราะว่าเมื่อชาติก่อนนี้ ได้ทำความดี ก่อนที่จะไปเกิดเป็นพระอินทร์นี่ได้กระทำความดี ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คือเป็นคนสร้างทางนั่นเอง เป็นคนสร้างทางช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้พ้นจากความลำบากในการเดินทาง ชั้นแรกก็สร้างคนเดียว แต่ว่ามีคนเดินผ่านมาเห็นเข้าถามว่าทำอะไร คนคนนั้นเขาชื่อมฆมาณพ นายมาก เรียกง่ายๆว่า นายมฆะ นายมฆมาณพเป็นผู้ที่กำลังทำทางอยู่ เมื่อเพื่อนถามก็บอกว่าทำทางไปสวรรค์ บอกว่าทำทางไปสวรรค์ เพื่อนฝูงได้ยินอย่างนั้นก็นึกว่า เราจะไปสวรรค์มั่งเว้ย เลยเข้ามาช่วยกัน ชั้นแรกก็เพิ่มขึ้นทีละคน ทีละคน เพิ่มขึ้นเป็น ๓๐ คน มาร่วมทำทางเพื่อจะไปสวรรค์ด้วยกัน แล้วก็ทำกันจนสำเร็จเรียบร้อย ท่านเหล่านี้ตายก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ นายมฆมาณพนั้นได้เป็นหัวหน้าเพื่อน เรียกว่าเป็นพระอินทร์ เป็นผู้ใหญ่ในชั้นเทวดา เรียกว่าเป็นเจ้าเป็นนายของพวกเทวดาทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายก็เคารพนับถือบูชา พระอินทร์นี่มีชีวิตเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าบ่อยๆ บางทีก็มาถามปัญหา ซึ่งปรากฏอยู่ในสักกปัญหสูตร ในทีฆนิกาย จะเอามาเทศน์ให้ฟังในวันหลัง เรื่องเกี่ยวกับปัญหาที่พระอินทร์ถาม เป็นปัญหาที่เหมาะแก่สังคมในยุคปัจจุบันอยู่เหมือนกัน แต่ว่าวันนี้จะพูดว่าพระอินทร์นี่ได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์นี่เพราะอะไร มันอยู่ที่ข้อธรรมะอันเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และได้อานิสงค์เป็นอย่างนั้น เรามาพูดกันในแง่ธรรมะว่าพระอินทร์ได้ประพฤติตนเป็นอย่างไร
พระอินทร์ประพฤติธรรมถึง ๗ ประการ เขาเรียกว่าสัตวัตบุตร (04.46) แปลว่าข้อปฏิบัติ ๗ ประการที่จะทำคนให้เป็นพระอินทร์ มี ๗ ประการด้วยกัน ประพฤติสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำเพียงเป็นครั้งเป็นคราว แต่ได้ปฏิบัติในเรื่องนี้สม่ำเสมอติดต่อกันเป็นตลอดไป การประพฤติธรรมนั้น เราจะต้องทำให้สม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำแค่ผลุบๆโผล่ๆ อย่างนั้นมันก็ไม่ให้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าเราทำติดต่อกันไป ผลมันก็เกิดขึ้นในชีวิตของเราทำให้เราอยู่สบาย เราไม่มีภัย ไม่มีเวรกับใครๆ เช่นเราถือศีลนี่ ศีล ๕ นี่ ถ้าถือให้มันเป็นประจำ ก็จะเห็นผลอันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติในศีล ๕ ประการนั้น ต้องทำให้สม่ำเสมอตลอดไป ผลมันก็เกิด แต่ว่าบางทีผลเกิดแล้วเราก็ไม่รู้ เราไม่นึกว่าเป็นผลที่เรากระทำ นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเราเข้าใจถูกต้อง เราก็รู้ว่าเป็นผลที่เรากระทำไว้ ท่านจึงมีหลักการให้พิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แล้วจะได้แก้ไขตัวเองต่อไป ผลก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวผู้ปฏิบัติ
ตัวผู้ที่เป็นพระอินทร์นั้นต้องปฏิบัติธรรม ๗ ข้อ เพราะฉะนั้นญาติโยมที่อยากเป็นพระอินทร์ก็สามารถเป็นได้ เป็นโดยธรรม ไม่ใช่เป็นเพราะไปเกิดเป็นเทวดาในสรวงสวรรค์ มีนางฟ้าแห่ห้อมแวดล้อมเป็นบริวารมากมาย นั่นมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ในทางเพศไปเสียมากไป แต่ว่าเราเอาข้อปฏิบัติของบุคคลเช่นนั้นมาปฏิบัติ เอาธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา จะเกิดประโยชน์แก่เราได้มาก การปฏิบัติธรรมะของผู้จะเป็นพระอินทร์นั้นมีอะไรบ้าง
ประการแรกเป็นผู้ที่บำรุงมารดาบิดา เลี้ยงมารดาบิดา อันนี้เป็นเรื่องเบื้องต้น เป็นเรื่องสำคัญของชีวิต เพราะชีวิตของคนเรานั้นเกิดมาจากพ่อแม่ ถ้าเราไม่มีพ่อไม่มีแม่ เราจะเกิดได้อย่างไร พ่อแม่ไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้ให้เกิด แต่เป็นผู้ฟูมฟักเลี้ยงรักษาให้ชีวิตเราเติบโตเจริญงอกงาม แล้วให้การศึกษาวิชาการ พอเป็นเครื่องมือสำหรับทำมาหากินได้ ให้เงินตั้งเนื้อตั้งตัว หาคู่ครองที่สมควรให้ ทำการป้องกันในทิศทั้งหลาย ให้เราได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา เราทุกคนที่เป็นลูกหญิงลูกชายของพ่อแม่ เป็นลูกหนี้รายใหญ่ก็ว่าได้ พ่อแม่เป็นเจ้าหนี้ของเรา เราเป็นลูกหนี้ของท่าน เราก็ต้องเปลื้องหนี้ด้วยการทำการตอบแทน การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่นั้นเป็นคุณธรรมของสัตบุรุษคือคนดี พระพุทธเจ้าบอกว่าคนดีก็คือคนที่บูชาพ่อแม่ เลี้ยงดูพ่อแม่ไม่ให้เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ชนชาติเอเชียเรานั้นได้ปฏิบัติในธรรมข้อนี้ทั่วไป ตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีน ถึงญี่ปุ่น เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ได้รับหลักธรรมนี้ไปใช้กันถ้วนหน้า คือเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ พ่อแม่เมื่อแก่ชราแล้ว เราต้องเลี้ยงท่าน ให้ได้รับความสะดวกสบายตามสมควรฐานะ เลี้ยงร่างกายและก็เลี้ยงใจของท่าน การเลี้ยงร่างกายก็คือให้ท่านกินสบาย นอนสบาย อาบน้ำสบาย ที่ขับถ่ายได้รับความสะดวกสบาย เครื่องนุ่งห่มก็ให้สะดวกสบาย ที่หลับที่นอนก็ให้สะดวกสบาย นี่เรียกว่าเลี้ยงกายท่าน หรือการเลี้ยงใจนั้นคือว่าเราไม่ประพฤติอะไรให้เป็นที่กระเทือนใจพ่อแม่ เพราะพ่อแม่มีความรักลูกมาก จิตใจของท่านเปราะมาก อ่อนไหวง่าย เกี่ยวกับลูก ถ้าลูกดีท่านก็ดีใจ ถ้าลูกไม่ดีท่านก็เสียใจ เรียกว่าจิตใจพ่อแม่อ่อนไหวไปกับลูกมาก เหมือนกับธงที่อยู่ปลายเสา ลมพัดหน่อยก็แกว่งไปได้ ฉันหนึ่งฉันใดจิตใจพ่อแม่ก็แกว่งไปกับเรื่องลูกอย่างนั้น เพราะฉะนั้นลูกที่รักพ่อแม่จะต้องคอยสังเกตการกระทำของตัวเอง คือไม่ทำอะไรให้เป็นที่กระเทือนใจของพ่อแม่ จะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร จะไปสู่สถานที่ใด ก็ต้องนึกก่อนว่าพ่อแม่พอใจไหม ยินดีไหมในการกระทำอย่างนี้ ท่านจะมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจด้วยเรื่องที่เราทำหรือไม่ ถ้าหากว่าเป็นเหตุให้ท่านร้อนใจเราก็ไม่ทำ ถ้าเราเคารพอย่างนี้มันก็เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราตกต่ำในชีวิตประจำวัน ทำชั่วไม่ได้ คนที่รักพ่อแม่นี่ทำชั่วไม่ได้ เพราะถ้าทำชั่ว เกรงว่าจะกระทบกระเทือนใจเจ้าประคุณทั้งสอง จะทำให้ท่านเดือดเนื้อร้อนใจ แล้วเราก็ไม่กระทำอะไรอย่างนั้น นี่มันช่วยปิดกั้นไว้แล้ว ปิดอบาย ปิดประตูแห่งความชั่วความร้าย เพราะอาศัยการที่เคารพรัก บูชาคุณพ่อคุณแม่ เลี้ยงดูทางกายทางใจท่าน ให้ท่านมีความสุขทางด้านจิตใจ ให้รับฟังแต่ข่าวดีจากลูกตลอดเวลา ถ้าลูกไปอยู่ในบ้านไกลเมืองไกลก็มีแต่ข่าวดีมาถึงพ่อแม่ ไม่มีข่าวร้าย เพราะลูกไม่ได้ประพฤติชั่ว ประพฤติเสียหาย เรียกว่าเลี้ยงน้ำใจ การเลี้ยงกายนั้นก็เป็นเรื่องจำเป็น แต่การเลี้ยงน้ำใจสำคัญกว่า เพราะจิตใจนี้สำคัญกว่าร่างกาย ถ้าจิตใจท่านกระทบกระเทือน ร่างกายก็พลอยกระทบกระเทือนไปด้วย คนเฒ่าคนแก่ที่เป็นพ่อแม่ของเราทั้งหลาย ถ้าท่านกระทบกระเทือนใจอันตรายมาก คืออาจจะช็อกไปก็ได้ อาจจะสิ้นลมไปก็ได้ ถ้าเราทำเหตุให้ท่านเป็นอย่างนั้นก็เป็นบาปหนักบาปหนาแก่เราผู้กระทำโดยไม่ได้ใช้สติปัญญา ไม่คิด ไม่ตรองให้รอบคอบในการกระทำนั้นๆ ก็ย่อมจะเกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้นคนที่มีคุณธรรม เป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบนั้น ต้องมีฐานอยู่ที่ว่า เลี้ยงดูพ่อแม่ให้มีความสุขความสบาย พ่อแม่เพียงสองคนลูกหลายคน บางทีเลี้ยงแม่ไม่ได้ เลี้ยงพ่อไม่ได้ แต่พ่อแม่เลี้ยงลูกได้ ลูก ๕ คน ๖ คน ๑๐ คนก็ยังเลี้ยงได้ แต่พอถึงบทลูกไม่มีใครค่อยเอาใจใส่ อย่างนี้เป็นการไม่ถูกต้อง เราทุกคนที่เป็นลูกควรจะดีใจที่ได้มีโอกาสเลี้ยงพ่อแม่ เมื่อได้มีโอกาสตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ บางคนบ่นว่าลูกตั้งหลายคน แต่ว่าผมคนเดียวคนนี้ เลี้ยงคุณแม่คุณพ่ออยู่เวลานี้ ก็เลยบอกว่าคุณอย่าไปคิดเสียใจหรือว่าไม่สบายใจ แต่ควรคิดให้ปลื้มใจว่ามีบุญ ที่ได้มีโอกาสตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ คนอื่นที่เค้าไม่มีโอกาสจะได้กระทำ เพราะไม่มีโอกาสได้เลี้ยง เราได้เลี้ยง เราควรจะดีใจ ควรภูมิใจในบุญกุศลอันนี้ การทำบุญอะไรๆนั้นไม่ประเสริฐเท่ากับทำบุญให้คุณพ่อคุณแม่นั้นสบายใจ
การให้ทานที่ประเสริฐก็คือการให้แก่พ่อแม่ก่อน คนเราถ้าไม่ให้พ่อแม่แล้วจะให้ใครได้ นิสัยขี้เหนียว ขี้ตืด ไม่รู้จักแบ่งให้ใคร แม้แต่พ่อแม่ แล้วจะให้แก่คนอื่นนั้นอย่าไปหวัง เพราะฉะนั้นที่ทำบุญกับพ่อแม่ ให้เสื้อ ให้ผ้า ให้อาหาร ให้หยูก ให้ยา ให้เงิน ให้ทอง ให้ความสบายใจแก่ท่าน คนนั้นจะทำบุญอย่างอื่นได้ทุกอย่าง เพราะฝึกมาในรูปอย่างนั้น อบรมมาในรูปอย่างนั้น จิตใจมีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่พ่อแม่ แล้วก็เผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นที่เป็นบ้านใกล้เรือนเคียง หรือคนที่แม้ไม่รู้จักกัน แต่รู้ความต้องการของคนเหล่านั้นว่าเค้าต้องการอะไร เขาขาดอะไร แล้วเราก็จัดให้เขาตามที่เราควรจะทำได้ อย่างนี้มันก็เป็นความสบายใจกันทุกฝ่าย ฐานที่อยู่ที่ว่าเราเลี้ยงพ่อแม่ ช่วยให้เกิดอะไรขึ้นในชีวิตหลายอย่าง แล้วคนที่เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่นี่ไม่มีใครเคยตกต่ำ เคยสังเกตมาหลายคนแล้ว คนใดที่มีความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ คอยเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มีความสุขความสบาย ชีวิตไม่ตกต่ำ ชีวิตมีเกียรติ มีความเจริญ มีความก้าวหน้า ฐานะมีความมั่นคง เพราะเค้ายืนอยู่บนฐานแห่งความกตัญญูกตเวที ท่านพุทธทาสท่านจึงเทศน์ว่า เพียงแต่ประพฤติอยู่ในความกตัญญูกตเวทีโลกนี้ก็จะอยู่รอด เพียงแต่ประพฤติตนในความกตัญญูกตเวที โลกนี้ก็จะอยู่รอดปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง ถ้าเรามีความสำนึกในความกตัญญูกตเวทีกับพ่อแม่ แล้วมันก็คิดไปเรื่อยไปถึงคนอื่น กับครูบาอาจารย์ กับท่านที่มีประโยชน์แก่ชีวิตของเรา แม้กระทั่งแผ่นดินแผ่นฟ้าที่เราได้เกิดมาอาศัย ป่าไม้ ลำห้วย อะไรต่างๆที่เราได้อาศัย คนโบราณเค้าถือว่าเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์ เป็นบุญคุณแก่ตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเขาจึงไหว้ เขาจึงไหว้สิ่งเหล่านั้น พอไปเห็นเค้าไหว้ ก็นึกว่าไหว้สุ่มสี่สุ่มห้า ไอ้ฐานเดิมนั้นเขาไหว้ด้วยความสำนึกในพระคุณ แต่อาจจะไม่รู้ อาจจะไม่เข้าใจ ก็ไหว้ตามๆกันมา แต่ถ้ารู้ เข้าใจว่าที่เราไหว้กันนี่ เพราะนึกบุญคุณ เช่นว่า ไหว้บนฟ้าก็หมายถึงว่านึกถึงบุญคุณของฟ้าที่หอบฝนมาให้ เอาฝนมาให้ตกลงในทุ่งในนาของเรา ที่บ้านที่เรือนของเรา ฝนให้ฟ้า เราก็ขอบคุณฟ้าที่ให้ฝนแก่เรา ขอบคุณดวงอาทิตย์ที่ทำน้ำให้กลายเป็นไอ แล้วก็กลายเป็นเมฆ แล้วก็กลายเป็นฝนตกลงมา เขาไหว้ดวงอาทิตย์ ไหว้ดวงจันทร์ก็เป็นเรื่องของความกตัญญูกตเวที ไปจากการสำนึกในบุญคุณนั่นเอง แม้คนที่ไหว้ป่า ต้นไม้ ก็เพราะว่าต้นไม้มันให้ประโยชน์ มันอุ้มน้ำไว้ ให้ค่อยไหลมาช้าๆ ทำให้ห้วยหนองคลองบึงบ้างมีน้ำ สำหรับใช้ทำการเพาะปลูก เราก็นึกบุญคุณของป่า เลยไปไหว้ป่า ไหว้อย่างนั้น เขาไหว้ถูกต้อง เพราะความสำนึก แต่ถ้าไหว้ไปในเรื่องแง่อื่น ก็เป็นอีกไปแง่หนึ่ง ไม่ถูกตรงตามหลักการ คนโบราณเค้าจึงไหว้ คนอินเดียที่ขึ้นปีนมะพร้าว พอจะขึ้นเค้าจะไหว้ต้นมะพร้าวทุกที เวลาลงมาถึงก็ไหว้ต้นมะพร้าวทุกที ถ้าเราไปเห็นก็นึกว่าไอ้แขกนี่มันไหว้อะไรของมัน มันไหว้เพราะว่ามะพร้าวนี้ให้น้ำหวาน แล้วก็ไปทำเป็นน้ำตาลหรือไปทำเป็นน้ำเมา ให้คนกินกันมันก็ได้สตางค์ ได้สตางค์เพราะต้นมะพร้าว มันก็ไหว้ต้นมะพร้าว
เพราะการไหว้อย่างนั้นทำให้มีสติ ไม่ตกต้นมะพร้าวตาย เพราะขึ้นไม่บุ่มบ่ามขึ้นไป สำรวมจิตเสียก่อน ไหว้เสียก่อนขอโทษขอโพยที่จะปีนต้นมะพร้าว แล้วก็ปีนขึ้นไปด้วยความระมัดระวัง มันก็ไม่ตกลงมาเอวหักหลังหัก ถึงแก่ความตาย เขาทำเค้ามีเหตุมีผลเหมือนกันคนโบราณ สอนอะไรไว้มีเหตุผล แต่เราไม่ค่อยคิด โดยเฉพาะคนสมัยใหม่ มองไปในแง่งมงาย ไร้สาระ แต่ความจริงมันมีคุณธรรมซ่อนอยู่ในการกระทำนั้น ไม่ใช่ว่าไม่มีคุณธรรม ไม่มีความงามความดี มีสิ่งดีงามซ่อนอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราคิด เราก็จะมองเห็นว่าเป็นการกระทำจากน้ำใจที่มีความสำนึกในบุญคุณของสิ่งเหล่านั้น นี่เป็นเรื่องความสำคัญประการแรก คนเราจะต้องประพฤติอยู่ในธรรมข้อนี้คือเลี้ยงดูมารดาบิดา ทีนี้มารดาบิดาผู้ให้เกิดเราอาจจะตายไปเสียเมื่อราเป็นเด็กก็ได้ แต่ว่ามีคนอื่นเอามาเลี้ยงไว้ เราเรียกว่าพ่อบุญธรรมแม่บุญธรรม เด็กบางคนไม่เข้าใจ นึกว่าพูดบ่อยๆไม่ใช่พ่อผมไม่ใช่แม่ผม เวลามีอารมณ์ขึ้นมาบอกไม่ใช่พ่อผมไม่ใช่แม่ผม พ่ออย่าพูดมากนะ ผมรู้ว่าพ่อไม่ใช่พ่อผม แม่อย่ายุ่งนะ ผมรู้ว่าแม่ไม่ได้เกิดผมมา การพูดเช่นนั้นมันเป็นการไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องในแง่ธรรมะ ถึงแม้ว่าท่านไม่เกิดเรามาแต่ว่าท่านเลี้ยง คนเลี้ยงสำคัญกว่าคนเกิดเสียอีก เพราะถ้าเกิดแล้วทิ้ง มันจะโตขึ้นได้อย่างไร จะมีชีวิตอยู่ได้ในโลกอย่างไร กว่าพ่อแม่เราไม่ใช่ท่านเกิดเราเฉยๆ แต่ท่านเลี้ยงด้วย บุญคุณมันหนักอยู่ที่เลี้ยงนะ แต่ที่เกิดนั้นมันเรื่องธรรมดา แต่เรื่องเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ผู้ให้เกิด ให้กำเนิดแก่เรานั้น ท่านไม่มีโอกาสจะเลี้ยงเรา เพราะท่านตายไปเสียก่อน แต่เมื่อคนใดคนหนึ่งเอาเรามาชุบมาเลี้ยงให้มีชีวิตขึ้นมาเราก็ต้องนึกว่านี่แหละพ่อของฉันแม่ของฉัน ต้องเคารพต้องเชื่อฟังเหมือนกัน ท่านพูดอะไรก็ต้องฟัง ไม่โต้เถียงในเรื่องที่ไม่จำเป็น ต้องรับฟังด้วยดี เชื่อฟังปฏิบัติตาม เพื่อให้ท่านสบายใจ เพราะผู้เลี้ยงนั่นนึกว่าเป็นลูกเหมือนกัน ท่านก็เลี้ยงมาอย่างดี ถ้าหากว่าลูกไม่รู้บุญคุณนี่เสียใจมาก เสียใจว่า แหม! กูอุตส่าห์เลี้ยงมันมา มันไม่สำนึกในบุญคุณ นี่เป็นข้อที่เสียใจมากเหลือเกิน ทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ มีอาการเป็นทุกข์ลูกที่ทำให้ผู้เลี้ยงตนมาเป็นทุกข์ เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นเรื่องไม่ดีไม่งาม จึงไม่ควรจะนึกเช่นนั้น ลองถามตัวเราเองว่าคุณแม่เกิดเรามาแต่ท่านตายแล้ว ท่านไม่ได้เลี้ยงเรา ถ้าไม่มีแม่คนนี้เลี้ยงเราจะอยู่ได้มั้ย เราก็อยู่ไม่ได้ ท่านเลี้ยงให้เราเติบโต ให้การศึกษาเล่าเรียน ให้ตั้งเนื้อตั้งตัว เลี้ยงทุกอย่างเหมือนลูก ไม่มีความลำเอียงแม้แต่น้อย เราก็ควรจะถือว่าเป็นเจ้าบุญนายคุณ ที่มีบุญคุณอยู่เหนือหัวของเราตลอดเวลา ต้องเคารพ ต้องบูชาเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นพ่อเป็นแม่ด้วยเหมือนกัน อันนี้ก็ต้องถืออย่างนั้น ไม่ใช่นึกว่าไม่ใช่ผู้ให้เกิด ไม่ใช่พ่อใช่แม่ การนึกอย่างนั้นมันจะใจต่ำเกินไป แต่ถ้าเรานึกว่าเขาเลี้ยงเรา ก็เป็นแม่ของเรา เขาเลี้ยงเรา เขาก็เป็นพ่อของเราแล้วเราเคารพสักการะ ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ก็เป็นอันว่าประพฤติดี ประพฤติชอบแท้ได้
ประการที่สอง ข้อที่ควรปฏิบัติ เคารพผู้ใหญ่ในสกุล ผู้ใหญ่ในสกุลนี้เป็นเรื่องสำคัญ สกุลใหญ่ๆในเมืองไทยนั้นในหลวงท่านทรงตั้ง เขาเรียกว่ารับเหรียญหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้เป็นผู้นำของสกุล สกุลใหญ่ๆ สกลุที่สืบเนื่องมาจากเจ้านายเค้ามีหัวหน้าสกุลทั้งนั้น เขามีหัวหน้าเป็นผู้นำในสกุลนั้น ทุกคนต้องเคารพหัวหน้า จะทำงานทำการอะไรก็ต้องไปปรึกษาหารือกัน ถ้าหัวหน้าสั่งมาให้เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เชื่อฟังผู้ที่เป็นหัวหน้าในสกุล สกุลใดครอบครัวใดมีหัวหน้าแล้วก็เคารพเชื่อฟัง สกุลนั้นจะไม่ตกต่ำ จะไม่เสียหาย เพราะว่ามีผู้เดินไปข้างหน้า คล้ายๆว่าผู้ถือธงเดินไปข้างหน้า แล้วคนอื่นก็เดินตามผู้นั้น การกระทำเช่นนั้นเป็นการแสดงว่ามีระเบียบ มีวินัย ไม่อยู่อย่างไม่มีระเบียบวินัย ประเทศชาติใดก็ตามต้องผู้นำในชาติในประเทศ ในวงศ์สกุลครอบครัวก็ต้องมีผู้นำ อย่าว่าแต่คนเลย แม้สัตว์เดรัจฉานมันก็มีผู้นำ ช้างมีจ่าฝูง วัวก็มีหัวหน้า ควายก็มีหัวหน้า นกมันก็มีหัวหน้าของมัน มันจะเลือกกันอย่างไรนั้นอย่าไปรู้เลย แต่ว่ามันถือว่าตัวนั้นแหละเป็นผู้นำ วัวถ้าว่าตัวเมียตัวหนึ่งตัวใดเป็นผู้นำ ถ้าตัวนั้นเดินไปไหนมันเดินตามเป็นแถว ไปเหนือ ไปเหนือ ไปใต้ ไปใต้ ไปตะวันตก ไปตะวันออก เดินตามเป็นแถว เวลาตอนเย็นมันก็กลับบ้านไปสู่ที่พัก ที่เป็นครอกที่เขาทำไว้ ก็ไปกันเป็นแถว ไม่มีตัวใดแตกคอกแตกหมู่เลย เดินตามกันเป็นแถว นั่นมันเกิดระบบเพราะเคารพหัวหน้า พอเคารพหัวหน้ามันเกิดระบบขึ้นมาทันที แม้การอยู่ก็เรียบร้อย สัตว์เดรัจฉานก็มีหัวหน้า คนเราถ้าไม่มีหัวหน้าจะอยู่กันอย่างไร เหมือนร่างกายไม่มีหัวมันจะอยู่ได้อย่างไร หัวนี่มันสำคัญ อะไรๆก็อยู่ที่ตรงนี้ ตาก็อยู่ที่ตรงนี้ หูก็อยู่ จมูก ปาก ลิ้น เอามาหมด มีประโยชน์มากๆมันอยู่ที่หัวทั้งนั้น เราตัดหัวออกมันก็ไม่ได้เรื่องนะ พอไม่มีหัวมันก็ตายเท่านั้นแหละ อันนี้คนเรานี้ก็เหมือนกัน มันต้องมีหัวหน้า ในวัดหนึ่งก็ต้องมีองค์หนึ่งเป็นหัวหน้าเรียกว่าสมภารท่านเจ้าวัด เรียกตามภาษากฎหมายว่าอธิการ เป็นอธิการ อธิการนี่คือเจ้าอาวาส ถ้าเป็นเจ้าคณะตำบลก็เพิ่มคำมาข้างว่าเจ้าอธิการ เจ้าอธิการนั่นคือเจ้าคณะตำบล แล้วก็เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค ว่ากัน เจ้าคณะหน มีหัวหน้าปกครองตามลำดับชั้น พระทุกรูปต้องเชื่อฟังหัวหน้า ต้องปฏิบัติตามหัวหน้า แล้วในพระทั้งหมดนี้ก็มีมหาเถรสมาคม เรียกว่าเป็นหัวหน้าชั้นใหญ่ มีอำนาจออกกฎหมายคุ้มครองอะไรๆต่างๆ คล้ายกับคณะรัฐบาลผู้บริหารประเทศชาติเหมือนกัน อำนาจเถรสมาคมเป็นอำนาจกว้างขวาง ท่านสั่งอะไรก็ต้องทำตามต้องปฏิบัติตาม ออกเป็นกฎ เป็นสังฆาณัติ เป็นกติกาอะไรไว้ ให้พระทุกรูปประพฤติตาม อันนี้ถ้าพระกลุ่มใดหมู่ใดไม่ทำตาม แตกคอก ออกไปไม่ขึ้นกับเถรสมาคมมันก็ไม่ได้ ทำอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหา ถ้ากลุ่มหนึ่งทำได้ กลุ่ม ก. ทำได้ กลุ่ม ข. ทำได้ กลุ่ม ค. กลุ่ม ง. เลยแตกหมด เดี๋ยวนี้พระในเมืองไทย ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีระบบ ไม่มีระเบียบ แล้วจะอยู่กันได้อย่างไร มันก็เกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้นถ้าใครทำผิดระเบียบก็ต้องแก้ไข จัดการ ถ้าดื้อก็ต้องถูกลงโทษกันไปตามเรื่อง นี่มันเป็นเรื่องของระเบียบ สิ่งทั้งหลายต้องมีระเบียบ ถ้าไม่มีระเบียบมันก็อยู่ไม่ได้ ในครอบครัวก็เหมือนกัน ต้องมีคนหนึ่งอุปโลกน์ขึ้นเป็นหัวหน้า สกุลใหญ่ๆเค้าเลือกกันเอง เขาเลือกว่า เอ้า! ถือว่าเป็นหัวหน้า คนอายุมากกว่าเพื่อน อาวุโสก็ถือว่าเป็นหัวหน้า เวลามีวันตรุษวันสงกรานต์ทุกคนก็ไปกราบไปไหว้ ไปรดน้ำดำหัวท่านผู้นั้น ถ้ามีงานอะไรพิเศษในวงศ์สกุลก็ต้องเชิญท่านมานั่งเป็นประธาน เป็นหัวหน้าในที่ประชุมนั้นๆ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เขาถือกัน ไม่เฉพาะแต่เมืองไทย แม้ในต่างประเทศเขาก็มีเหมือนกัน สกุลขุนนางที่สืบต่อกันโดยเป็นทายาท เขาก็มีหัวหน้า ใครได้เป็นหัวหน้าเขาก็เคารพต่อบุคคลนั้น เชื่อฟังต่อบุคคลนั้น ออกกฎออกระเบียบให้ทุกคนทำตามกันได้ จึงอยู่กันด้วยความสุขความสงบ ในสังคมคนไทยเราก็เป็นเช่นนั้น ต้องถือว่าใครเป็นผู้ใหญ่ในสกุล มีคนหนึ่งคือคนที่อายุมากกว่าเพื่อน เป็นผู้เกิดนาน เกิดก่อน มีคุณวุฒิ มีวัยวุฒิ มีอะไรเป็นหลักเราก็นับถือผู้นั้น เชื่อฟังบุคคลผู้นั้น เวลามีกิจกรรมอะไรก็ต้องเชิญมานั่งเป็นประธาน เช่นการแต่งงานก็ต้องเชิญท่านผู้นั้นมา มีงานศพก็เชิญมา ทำสร้างบ้านสร้างเรือนก็เชิญมา มีเรื่องที่จะต้องปรึกษาหารือกันในเรื่องกิจการต่างๆ ก็เชิญคนนั้นมานั่งเป็นประธาน เป็นผู้ชี้ขาดว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร ทุกคนก็ได้กระทำตามกัน อันนี้มันประโยชน์ของหัวหน้า ประเทศชาติบ้านเมืองจึงต้องมีหัวหน้าคือมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นประมุขของชาติ โดยเฉพาะเมืองไทยเรานั้นถือว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ ทุกคนเคารพสักการะ จะดูหมิ่นถิ่นแคลนไม่ได้ เราถืออย่างนั้น แล้วก็มีรัฐบาลซึ่งทำงานตามตัวบทกฎหมายอาศัยในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พูดว่าในพระบรมนามาภิไธย (ในพระปรมาภิไธย: ผู้ถอดความ) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำอย่างนั้นอย่างนี้ เอาพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลัก เป็นเครื่องช่วยให้เกิดกำลังใจ แล้วก็ทำงานกันไปตามหน้าที่ บ้านเมืองก็อยู่กันสงบ ถ้าเราไม่มีพระเจ้าแผ่นดินเป็นหัวหน้าจะได้หรือไม่ มีแต่เพียงประธานาธิบดี มันก็ได้แต่มันไม่ดี เพราะว่าคนในประเทศไทยเรานั้น ความรู้สติปัญญามันยังไม่ถึงขนาดที่พอจะอยู่ด้วยตัวเองได้ ยังต้องอาศัยบุคคลผู้นำ คือต้องมีผู้นำถ้าไม่มีผู้นำแล้วจะเสียหาย จะเกิดปัญหา ดูแต่ประเทศข้างเคียงเราก็แล้วกัน เช่นประเทศพม่านี้ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง มีแต่ประธานาธิบดี ทีนี้ประธานาธิบดีทำไม่ถูกต้อง ประชาชนไม่ชอบใจ ก็มีการเดินประท้วงกัน ตายกันไปจำนวนมากมาย ไม่มีใครจะพูดห้ามปรามให้หยุดได้ แต่บ้านเรานั้นเมื่อมีกรณีอย่างนั้นเกิดขึ้น ในหลวงท่านออกโทรทัศน์ขอร้องวิงวอนกันว่าอย่าทำกันถึงขนาดนั้นเลย ให้หยุดกันเสียเถอะ หันหน้ามาพูดจากันเถอะ ประนีประนอมกันดีกว่า เรื่องมันก็หยุดสงบลงไป ไม่มีเรื่องอะไรเสียหาย เพราะทุกคนเคารพพระองค์ อานิสงค์มันอยู่ที่ตรงนี้
ประเทศญี่ปุ่นเขาก็มีพระเจ้าจักรพรรดิ เรียกว่าเป็นหัวหน้าครอบครัวของญี่ปุ่น กี่ล้านครอบครัวก็ตาม เขาถือว่าองค์จักรพรรดิเป็นผู้นำของเขา เขาถือว่าพระองค์พระเจ้าจักรพรรดินี้มาจากดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ส่องแสงโลกให้สว่าง จักรพรรดิของเขามาจากนั้น เขาเคารพนับถือบูชากันเหลือเกิน แล้วก็เชิดชูบูชาต่อไปแม้ญี่ปุ่นรบแพ้สงคราม จะทำสัญญาสงบศึก เขาขออย่างเดียว ขอว่าให้มีพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ต่อไป อย่าได้ทำลายองค์จักรพรรดิเสียเป็นอันขาด ฝ่ายพันธมิตรซึ่งมีอเมริกันเป็นหัวหน้าก็เห็นความจำเป็น ก็เลยไม่แตะต้ององค์พระเจ้าจักรพรรดิ แต่ว่าให้พระเจ้าจักรพรรดิมาเซ็นสัญญา เวลาพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จจากวังไปเซ็นสัญญา ชาวญี่ปุ่นทั้งหมดรู้สึกเศร้าใจมากที่สุด เขาแสดงความสำนึกขึ้นมาในใจกันว่าเราทำผิดกันทั้งประเทศ ให้พระเจ้าแผ่นดินต้องไปนอบชาวต่างประเทศ ต้องไปเซ็นสัญญา เขาเกิดความสำนึกบาปขึ้นมาเหมือนกัน แล้วเขาช่วยกันกู้ชาติกู้บ้านเมือง สร้างฐานะ สร้างชาติ สร้างประเทศขึ้นมาต่อไปเพราะความสำนึกอันนั้น นี่มันประโยชน์ของคนที่มีหัวหน้า เราไม่มีหัวหน้าก็ไม่ได้ ในครอบครัวเราก็มีหัวหน้าคือ พ่อแม่ ทุกคนต้องเคารพพ่อแม่ ถ้าไม่มีพ่อแม่ก็ต้องเคารพลูกหัวปี จะเป็นหญิงก็ตามเป็นชายก็ตาม เราต้องเคารพเชื่อฟังท่านผู้นั้น ถือว่าผู้นั้นเป็นหัวหน้าในครอบครัว เมื่อครั้งที่มารดาท่านเจ้าคุณธรรมรณายก (30.24) สิ้นบุญที่บ้านหนองอ้อ บางอ้อ ไม่ใช่ หนอง บางอ้อจังหวัดนครนายก อาตมาก็ไปด้วย ไปด้วยแล้วมีสิ่งประทับใจอยู่อย่างหนึ่ง เพราะว่าท่านเจ้าคุณท่านเป็นพระ แต่ว่าไม่ใช่ลูกหัวปี ไม่ใช่ลูกหัวปีของครอบครัว อันนี้เมื่อปรึกษาการงานอะไรกันในเรื่องการจัดทำศพนี่ ท่านเจ้าคุณท่านก็บอกว่าในเรื่องเกี่ยวกับการงานศพคุณโยมแม่คราวนี้ ต้องมอบให้คุณพี่เป็นหัวหน้า จัดงานจัดการทุกอย่างตามความเห็น ทุกคนต้องเชื่อฟัง ระเบียบมันก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่ถกเถียงกัน ไม่เกี่ยงงอนกัน เพราะยกให้คุณพี่ผู้หญิงของท่านเป็นหัวหน้า อันนี้คือหลักการเคารพผู้ใหญ่ แม้ท่านจะเป็นพระแต่ท่านเคารพพี่สาวของท่าน เพราะเรื่องในครอบครัวนั้นมันต้องเคารพผู้ใหญ่ในครอบครัว แล้วงานการก็เรียบร้อย ทำศพกันเรียบร้อยด้วยดีตลอดเวลา จนกระทั่งเผาศพเรียบร้อยท่านพูดอย่างนั้น เป็นที่ประทับใจ อาตมาจำได้ แล้วก็ยังนึกประทับใจอยู่จนบัดนี้ว่า เออ! ท่านทำถูก คือไม่เกิดการแก่งแย่งแข่งดีกันขึ้น ยกให้ท่านพี่สาวเป็นหัวหน้า ทุกคนต้องเชื่อฟัง แล้วทุกคนก็เชื่อฟัง งานมันก็เรียบร้อย เพราะบงการคนเดียวไม่บงการหลายคน แต่ถ้าไม่มีหัวหน้าคนนั้นก็จะทำอย่างนั้น คนนั้นก็จะทำอย่างนี้ คนนั้นก็จะทำอย่างนู้น มี ๕ คนก็จะเอาเจ้างาน ๕ คนเลย ออกความคิด ๕ หนก็แกว่งกันใหญ่ เลยตีกันตาย ปัญหามันก็เกิดแต่พอยกให้ใครเป็นหัวหน้าคนเดียวเรื่องมันก็เรียบร้อย อันนี้สำคัญ เพราะเรื่องหัวหน้านี้เป็นคนสำคัญ อันนี้ในครอบครัวมันต้องมีเชตบุรุษ (32.15) เป็นหัวหน้าในครอบครัว ทุกคนต้องเคารพต้องเชื่อฟังผู้นั้น แม้ในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านนั้นก็เป็นทางราชการ แต่ว่าคนแก่ๆที่มีอาวุโสก็เป็นผู้นำในหมู่บ้านเหมือนกัน เมื่อสมัยเด็กๆอยู่บ้านนี่จำได้ว่ามีตาคนหนึ่ง แกแก่มาก เดินหลังโกง เป็นคนที่เรียกว่าอายุมาก และก็มีคุณธรรม ชื่อตาบี้ ชื่อบี้ ทุกคนเคารพตาบี้ เวลามีทำบุญเดือน ๑๐ อย่างนี้ ทุกบ้านทำขนม ก็ต้องไปให้คุณตาคนนี้ ทุกบ้านเอาไปให้ เอาขนม เอาข้าวเหนียว เอาแกงไปให้ บ้านของท่านผู้นี้ในวันนั้นก็เหมือนกับว่าเป็นวัดน้อยๆ เพราะคนเอาของมาให้เยอะแยะ และเวลาจะมาทำงานอะไร เช่นใครเขาจะมาหมั้นลูกสาวบ้านนั้น พ่อแม่ต้องไปเชิญตาคนนั้นมานั่งอยู่ด้วย มานั่งรับฟังเหตุการณ์ เป็นที่ปรึกษาในเรื่องการงานนั้นๆ ไม่ว่าจะงานอะไร แต่งงานก็ต้องเชิญมา ทำบุญบ้านก็ต้องเชิญมา ขึ้นบ้านใหม่ก็ต้องเชิญท่านผู้นั้นมาด้วยเสมอ อันนี้เป็นเรื่องดี แปลว่าเรามีหลัก มีประธานในที่ประชุม ทุกคนเคารพ
เมื่อในสมัยครั้งพุทธกาลนั้น ในเมืองสาวัตถี นางวิสาขานี่เป็นคนมีชื่อเสียง เป็นอุบาสิกายิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ท่านสร้างบุปผารามมหาวิหารถวายพระพุทธเจ้า คู่กับเชตวนารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมืองสาวัตถีนี่มีคนใหญ่อยู่ 2 คน คือผู้ชายก็คืออนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้หญิงก็นางวิสาขามหาอุบาสิกา ถ้ามีงานมีการอะไรทุกครอบครัวต้องเชิญมา ถ้าไม่เชิญเขาจะถามว่า เอ! ทำงานอะไร ไม่เห็นนางวิสาขามาด้วย เรียกว่างานนั้นมันไม่ถูกต้อง ไม่เป็นงานเป็นการ เพราะไม่เชิญนางวิสาขามาด้วย คนเขาก็คัดค้านกันว่าต้องไปเชิญแม่วิสาขามานั่งเป็นประธานในงานด้วย งานนั้นจึงจะสมบูรณ์เรียบร้อย จะไปไหนก็ต้องให้นางวิสาขาเป็นผู้นำ เช่นผู้หญิงชาวเมืองนั้นอยากจะไปเที่ยวมั่ง สมัยนั้นผู้หญิงไปเที่ยวไม่ได้ แต่ว่าเขาอยากจะไปเที่ยว เลยไปเอานางวิสาขาเป็นหัวหน้า ให้พาไปเที่ยว บอกสามีว่าจะไปวัด ความจริงเถลไถล ไม่ได้ไปวัดหรอกแต่อยากจะไปสนุกกัน เวลาเดินทาง เอาเหล้าใส่ขวดน้อยๆซ่อนไปในชายผ้า แล้วเดินข้างหลังนางวิสาขา ดื่มกันไป ดื่มกันไปจนเมา เมาจนไปถึงพระพุทธเจ้าแสดงอาการไม่สมควร ไม่สำรวม ไม่ระวัง พูดจากิริยาท่าทางไม่เรียบร้อย พระผู้มีพระภาคเห็นว่าพวกนี้มันเมาเลอะเทอะแล้ว ไม่ได้เรื่องแล้ว จึงทรงทำที่เขาเรียกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ ทำให้มันมืดไปในที่นั้น พอมืดขึ้น พวกนั้นตกใจวี๊ดว๊าดโวยวายกัน มีอะไรออกมามั่งบางคน ปัสสาวะออกมามั่ง ตกใจวี๊ดว๊าดโวยวาย พระองค์ก็ทำให้เป็นแสงส่องมาที่คนเหล่านั้น พอได้เห็นแสงก็ดีใจ พระองค์ตรัสว่า (ประโยคบาลี: 35.39) บอกว่าน่าหัวเราะอะไร น่าร่าเริงอะไร เมื่อโลกสันนิวาสนี้ถูกเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา ทำไมสูเจ้าทั้งหลายจึงไม่หาดวงประทีปส่องใจ พวกนั้นหายเมาเลย เพราะตกใจ แล้วได้ฟังคำถามว่าน่าหัวเราะอะไร น่าร่าเริงอะไร เมื่อโลกสันนิวาสนี้ถูกเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา ทำไมไม่แสวงหาดวงประทีปส่องใจ คำว่าเผาไหม้ คือเผาไหม้ด้วยความอยาก มีราคะ โทสะ โมหะ หรือกิเลสตัณหาครอบงำจิตใจ ลูกที่พระองค์ตรัสไม่ได้หมายถึงลูกกลมๆที่ไม่มีผิวขรุขระ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายถึงลูกคือชีวิตของคนทุกคนนี่ กำลังถูกเผาไหม้อยู่ด้วยกิเลส ด้วยความร้อนภายใน ร้อนด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ไฟตัณหา มานะ ทิฏฐิ พวกกิเลสมันเป็นไฟทั้งนั้น แล้วทำไมจึงไม่หาดวงประทีปส่องใจ เตือนให้รู้สึกตัว พวกนั้นก็รู้สึกตัวได้ฟังธรรมคำสั่งสอน และก็เป็นคนเรียบร้อย แต่ว่าในการไปนั้นต้องเอานางวิสาขาไปด้วย เป็นฉากนะ เป็นฉากบังหน้า นี้แสดงว่าผู้ใหญ่นั้นเป็นที่เคารพ เป็นที่นับถือของท่านผู้นั้น เราจึงเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นในครอบครัวจึงต้องมีบุคคลที่เป็นหัวหน้า ทุกคนต้องเชื่อฟัง เคารพกัน นั้นก็เรียบร้อย มันไม่มีปัญหา เพราะว่ามีหัวหน้าที่จะพูด จะบัญชาการอะไรต่างๆ ประเทศชาติก็ต้องมีหัวหน้า รัฐบาลก็มีนายกเป็นหัวหน้า นายกเป็นผู้มีอำนาจในทางตามกฎหมาย จะทำอะไรตามกฎหมายก็ได้ ถ้าทำผิดกฎหมายมันก็ไม่ได้ แต่ว่าทุกคนก็ต้องเชื่อฟัง ในกระทรวงหนึ่งก็มีรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ในกองหนึ่งก็มีอธิบดี ในกรมหนึ่งก็มีอธิบดีเป็นหัวหน้า ในกองก็มีหัวหน้ากอง หัวหน้าแผนก มีทั้งนั้น จะไม่มีหัวหน้ามันอยู่ไม่ได้ อะไรๆอยู่ไม่ได้ มันต้องมีหัวหน้า มือเราก็ต้องมีหัวหน้า คือหัวแม่มือนี่มันใหญ่กว่าเพื่อน แต่มันใหญ่อย่างนั้น ทำอะไรก็ไม่ได้ ดีแต่กดหัวแม่มือเท่านั้นเอง เอ้า! นิ้วชี้มาช่วยกันหน่อย นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อยมารวมกันเข้ายกขึ้นอย่างนี้เพื่อนเกรงใจ เราหมัดมันใหญ่หน่อย แต่ถ้ายกขึ้นอย่างนี้เพื่อนก็ไม่เกรงอะไร นี่มันเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหัวหน้า เพราะฉะนั้นผู้ที่ต้องการความเจริญแก่ชีวิต จะต้องเคารพผู้เป็นหัวหน้าในสกุล สกุลนั้นจะอยู่เรียบร้อยเพราะทุกคนเคารพหัวหน้า แต่พอเกิดแก่งแย่งแข่งดีกัน กูก็จะเป็นหัวหน้า ไอ้คนนั้นเป็นหัวหน้า แย่งกัน พอแย่งกันก็จะเริ่มตกต่ำแล้ว ไม่ว่าเรื่องอะไร ชีวิตที่แย่งกันนี่เริ่มตกต่ำ เพราะการแย่งกันไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ แต่เป็นวิสัยของเดรัจฉาน การแก่งแย่งกัน เดรัจฉานมันแย่งกันนะ เราเอาข้าวมาวางลงบนพื้น สุนัขหลายตัวมันก็แย่งกัน แทนที่จะกินมันกัดกันเข้า เพ่นพ่านหมด แมวมันก็กัดกัน แต่ว่าปลาที่ข้างกุฏิมันไม่กัดกันนะ เวลาโยนอาหารลงไปมันก็กินกันไป ตุ๊บตั๊บ ตุ๊บตั๊บ ไปตามเรื่อง ปลามันอยู่กันเรียบร้อยนะ ไม่ทราบตัวใดเป็นหัวหน้า มันยังไม่ได้เลือกถ้าปลา แต่มันมากันพร้อมๆกัน มันมากินอาหาร อาหารเป็นเม็ด โปรยลงไป ตัวนั้นฮุบไป ตัวนี้ฮุบไป ไอ้ตัวใหญ่ก็อ้าปากมา ไหลเข้าไปเลย ปากมันใหญ่ แต่ก็ไหลเม็ดเดียว กินหลายเม็ดก็ไม่ได้ มันเอาทีละเม็ด พรึบเดียวกินหมดเลย ต้องโปรยให้มันอีก มันอยู่กันเรียบร้อยไม่มีการรุกรานดินแดนกัน ไม่ได้แย่งอะไรกัน ไม่ต้องปิดอ่าวว่ามึงอย่ามายุ่งตรงนี้ต่อไป มนุษย์สิมันยุ่งกัน เที่ยวแย่งแผ่นดินคนอื่น หาไปเอาทรัพยากรธรรมชาติของเขามาเป็นของตัว คิดดูแล้วบางทีคนเรามันก็ตกต่ำมากเหมือนกัน จิตใจมันตกต่ำลงมาเป็นคนนั่นหล่ะ มันไม่ได้ขึ้นเป็นมนุษย์นะ ถ้าเป็นมนุษย์ใจมันสูง ไจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ คิดเรื่องดี พูดเรื่องดี ทำเรื่องดี ไม่มีปัญหา แต่ว่าถ้าพอตกลงมามันก็เป็นคนเท่านั้นเอง เป็นคนนี่ไว้ใจยังไม่ได้ ต้องให้เป็นมนุษย์ด้วย การเคารพบุคคลที่เป็นหัวหน้าในครอบครัวนั้น ก็เรียกว่าเป็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ประการหนึ่งอีกเหมือนกัน
ประการที่สาม เกี่ยวด้วยการพูด ผู้ที่จะเป็นพระอินทร์นั้นต้องพูดจาไพเราะ พูดจาไพเราะเพราะพริ้ง ใช้ถ้อยคำที่สมควร เรียกคนว่าพี่ ป้า น้า อา ลุง อะไรต่างๆ เรียกพ่อ เรียกแม่ก็ได้ หรือเรียกให้มันเพราะ พูดจาคำไพเราะ การพูดนี่เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราพูดไม่ดีก็เสียหาย ถ้าพูดดีก็ได้กำไร เรื่องพูดนี่ทำให้คนเสียคนมาเยอะแยะแล้ว เพราะพูดไม่ระมัดระวัง ทำให้เกิดความเสียหาย ในทางธรรมะท่านจึงสอนให้สำรวม (41.09 จบเสียงบรรยายธรรม)