แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านหาที่นั่ง พักให้สบาย ทำกายให้สบาย ทำใจให้สบายแล้วก็รับฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตต่อไป วันนี้เป็นวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ เข้าพรรษามาได้เจ็ดวันแล้ว เราเข้าพรรษามาในแรมค่ำ ๑ ของพระ สำหรับญาติโยมวันอาทิตย์ก่อน อาทิตย์ที่ ๘ แล้วมาอาทิตย์ที่ ๑๕ เป็นอาทิตย์ที่ ๒ ของฤดูกาลเข้าพรรษา
ในฤดูกาลเข้าพรรษานี้ ญาติโยมได้มาวัดกันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวันพระ ญาติโยมที่ถือศีลอุโบสถ ก็มาถือศีลกัน นอนที่วัดให้ยุงกินบ้าง แต่ถ้ามีมุ้งก็ไม่เป็นไร นอนสบาย มานอนกับพื้นธรรมดาเสียบ้าง อยู่บ้านเคยนอนสบาย นั่งสบาย กินสบาย อันนี้มาอยู่ในที่ไม่สบายเสียบ้าง เพื่อจะได้เห็นว่าชีวิตนี้มันไม่ราบรื่นเสมอไป มันมีการเปลี่ยนแปลง บางครั้งเราก็ได้รับความทุกข์ บางครั้งก็ได้รับความไม่ทุกข์ บางครั้งเบาใจ บางครั้งหนักใจ อะไรๆมันก็เกิดขึ้นไปตามเรื่อง ตามปัจจัย เครื่องปรุงแต่ง จะได้ไม่หวั่นไหวโยกโคลง ในเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เวลาสุขก็ไม่ยินดี เวลาทุกข์ก็ไม่ยินร้าย แต่ว่าทำใจให้เป็นกลางๆ ให้อยู่ในสภาพที่สงบ เพราะเรารู้ทัน รู้เท่าต่อสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง
ในวันอุโบสถ ญาติโยมมากันก็รับศีลก่อน เมื่อตะกี๊ได้ให้ศีลกันที่ลานภัย พระมหาเถียร (02.20) เป็นผู้ให้ศีลแล้ว คนถือศีลอุโบสถก็คือถือศีลเพิ่มขึ้นสามข้อ ปกติเราก็ถือศีลอยู่ห้าข้อ ศีล ๕ ข้อเป็นหลักสำหรับชีวิต เรียกว่าเป็น ธรรมนูญสำหรับชีวิต สำหรับสังคมในโลกก็ได้ เพราะคนเราทุกคนรักชีวิต ทุกคนรักทรัพย์สมบัติ ทุกคนรักครอบครัว ทุกคนอยากจะได้ยินได้ฟังแต่คำพูดอ่อนหวานสมานใจ และเป็นเรื่องที่จริง ไม่ใช่เรื่องเท็จ เรื่องเทียม ทุกคนอยากจะมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ความต้องการนั้นจะสำเร็จได้เมื่อเราทำเหตุให้มันถูกต้อง ถ้าเราทำเหตุถูกต้องผลมันก็ถูกต้อง ถ้าทำเหตุไม่ถูกต้องผลก็ไม่ถูกต้องแล้วเมื่อผลไม่ถูกเราก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้ต้องเกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติหลักศีล ๕ ประการ ว่าอย่าทำร้าย อย่าฆ่ากัน อย่าล่วงล้ำกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของกันและกัน อย่าประพฤติล่วงเกินของรักของชอบใจแก่กันและกัน อย่าพูดคำโกหก คำหยาบ คำเท็จ คำทำคนให้แตกฉะกันกับใครๆ สำหรับตัวของบุคคลนั้น ก็ควรจะรักษาอนามัยให้ดี ด้วยการไม่เสพสิ่งเสพติด มึนเมาทุกประเภท เราลองคิดดูว่าหลัก ๕ประการนี้จำเป็นแก่ชีวิตหรือไม่ ถ้าหากว่าเราต้องการความสุขทั้งกายทั้งใจมันก็จำเป็น แต่ถ้าเราจะประชดชีวิต เห็นว่าชีวิตนี้มันไม่ได้เรื่อง ก็จะทำอย่างนั้นก็ได้ เป็นการฆ่าตัวเองนั่นเอง แต่ถ้าเราไม่อยากฆ่าตัวเองเราก็ทำให้ถูกต้อง ชีวิตของเราก็จะดีขึ้น เรียกว่ามีศีลเป็นหลักใจ มีศีลแล้วก็ต้องมีธรรมะควบคู่กัน ศีลเป็นฝ่ายลบ ธรรมะเป็นฝ่ายบวก ฝ่ายบวกก็คือว่าต้องมีใจเมตตา รักเพื่อนมนุษย์ รักสัตว์เดรัจฉาน รักธรรมชาติ ต้นหมากรากไม้ไม่ทำลาย ให้เสียหายก็ถ้าเราชวนกันทำลายธรรมชาติ สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไป ปีนื้ดินฟ้าอากาศเปลี่ยนไปจากปีก่อนเพราะเข้าพรรษาแล้วฝนยังไม่ตกเลย ตกนิดๆหน่อยๆ ไม่พอกิน ไม่พอใช้ ชาวนาก็ลำบาก เมื่อวานนั่งรถจากวัดไปโน่น ไปจ .สิงห์บุรี ไปอำเภอเมืองนั่นแหละ แต่ที่วัดแจ้งตรงณคร (05.10) ดูข้าวเหลืองไปหมด เพราะไม่มีน้ำ น้ำมันแห้ง ข้าวถ้าไม่มีน้ำมันก็ตายเหมือนกัน เขาจึงว่าต้นข้าวคอยฝน คอยฝน ฝนก็ยังไม่ตกมาเสียที
จะร้องเพลงต้นข้าวคอยฝน ก็ฝนไม่ตก เพราะธรรมชาติเปลี่ยนแปลง ใครเป็นผู้ทำลายธรรมชาติ ก็คนเรานั่นแหละ ใครเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งหลาย ก็คนเรานั่นแหละ คนเราสร้างก็ได้ ทำลายก็ได้ เรารู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์ก็ช่วยกันสร้าง อย่าทำลายเพราะการทำลายไม่ว่าทำลายอะไรเป็นโทษ เป็นบาป ยกเว้นแต่ทำลายความชั่วให้หมดไป เป็นบุญเป็นกุศล เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราต้องทำอาชีพที่สุจริต คู่กับศีลข้อ ๒ คืออยู่อย่างคนมีสัมมาชีพ อาชีพสุจริตคืออาชีพที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำใครให้เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน เรียกว่าอาชีพสุจริต อาชีพสุจริตไม่มีพิษมีภัยไม่มีเวรกับใครๆ เพราะไม่กระทบกระเทือนใคร เราก็นอนสบาย นั่งสบาย ไปไหนก็สบาย ไม่ต้องเที่ยวสะพายปืน กลัวเพื่อนจะยิง หรือไม่ต้องหวาดระแวงว่าคนนั้นจะมาทำร้ายเรา เพราะเราไม่เคยคิดทำร้ายใคร ไม่เคยคิดทำให้ใครเดือดร้อน มันก็สบาย ศีลข้อที่ ๓ ก็ให้พอใจในคู่ครองของตนสำหรับคนที่มีคู่ แต่ถ้าไม่มีคู่ก็รักนวลสงวนตัวอย่าเอาไปเที่ยวทำอะไรที่มันจะเป็นพิษเป็นภัยแก่สุขภาพ ศีลข้อ ๔ ก็หัดพูดแต่คำอ่อนหวานสมานใจ คำที่เป็นประโยชน์ เขาเรียกว่า วาจาสุภาษิต วาจาสุภาษิต คือเป็นคำจริง คำอ่อนหวานสมานสามัคคี มีประโยชน์ ๔ อย่าง เป็นวาจาสุภาษิต ตรงกันข้ามก็เป็นทุภาษิตเป็นการกล่าวชั่ว กล่าวเท็จ กล่าวคำหยาบ คำเหลวไหล ไร้สาระ ทำให้คนแตกกัน เป็นทุภาษิต เป็นคำที่เราไม่ควรกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า พึงเปล่าวงจาไพเราะ วาจาที่ไพเราะงดงาม ให้เปล่งวาจาอย่างนั้น อย่าเปล่งวาจาที่ไม่สุภาพ ไม่เรียบร้อย อันจะทำให้เกิดความเสียหาย ไอคนเลี้ยงหมานั่น ไปนั่งฟังตรงอื่น อย่ามานั่งฟังตรงนี้หมามันเห่า หนวกหูชาวบ้าน ห้ามไม่ได้ เอาไป คนรำคาน รำคานเสียงหมา นี่ก็เราก็รักษาวาจาให้สุภาพเรียบร้อย อยู่ดีอยู่ชอบ แล้วก็รักษาสุขภาพอนามัย คือไม่ดื่มกินสิ่งที่เป็นพิษ คนเรามักจะชอบสิ่งเป็นพิษ เช่นดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ทานหมาก ความจริงมันเป็นพิษไม่ใช่เป็นคุณอะไร ไม่ได้เป็นหยูกเป็นยาอะไร แต่เราไปหัดกินมันเข้า มันก็เลยติด สิ่งใดติดแล้วทิ้งไม่ได้เขาเรียกว่า สิ่งเสพติด อาหารไม่ใช่เป็นสิ่งเสพติด เพราะว่ามันต้องการเป็นครั้งคราว ไม่ได้รับประทานกันอยู่ตลอดเวลา กินเป็นเวลา กินเป็นเรื่องเป็นราว เรางดเว้นสิ่งเหล่านี้ก็สบายใจ ปรกติชาวพุทธเราก็อยู่ในศีล ๕ ประการ ไม่ต้องรับบ่อยๆ รับบ่อยๆก็เหมือนเชือก เชือกมันต่อบ่อยๆ ต่อหลายทีมันก็ไม่ค่อยแน่น แต่ถ้าเส้นเดียวมันก็แน่นหน่อย นี่เดี๋ยวต่อ เดี๋ยวต่อ รับกันพอเป็นพิธี แต่ไม่ได้ตั้งใจรักษา ไม่รับกับพระก็ได้ เราตั้งใจรักษา ตั้งใจทุกวัน วันนี้ข้าพเจ้าจะดำรงชีวิตชอบ ประกอบตนไว้ในศีล ๕ ประการทำอย่างนั้น แล้วก็ทำตลอดวัน วันต่อไปก็ทำอย่างนั้น เมื่อถือศีล ๕ มานานๆแล้ว ก็เลื่อนชั้นเสียหน่อย อย่าเรียนอยู่แต่ชั้นอนุบาล มันต้องก้าวขึ้นไปชั้นประถม มัธยม อุดมศึกษา จนจบการศึกษา ก็เลื่อนชั้นขึ้นไปถือศีลอุโบสถ อุโบสถนี่เป็นตัวพรหมจรรย์ที่พระผู้มีพระภาคบอกว่าให้ไปประกาศพรหมจรรย์ พรหมจรรย์คือการครองชีวิตที่สะอาด ที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นพิษไม่เป็นภัยกับใครๆ อุโบสถศีลเป็นตัวพรหมจรรย์ พระสงฆ์สามเณร ประพฤติพรหมจรรย์ อุบาสก อุบาสิกาถือศีลในวันพระก็เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์เรียกว่าถือศีลอุโบสถ อุโบสถมันเพิ่มขึ้น ๓ ข้อ คือเพิ่มข้อที่ ๓ เปลี่ยน เรารับว่า อพรหมจรียา เวระมณี สิกขาปะทังสัมมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท สิกขาบทก็คือแบบฝึกหัด รับแบบฝึกหัดไปปฏิบัติที่ไหนๆก็ได้ ที่บ้าน ที่ไหน เราทำตามนั้น เรียกว่าเราปฏิบัติแบบฝึกหัดในเรื่องศีล ว่าจะไม่ประพฤติผิดพรหมจรรย์
พรหมจรรย์ คือการกระทำอย่างไร พรหมจรรย์คือการอยู่ด้วยสติอยู่ด้วยปัญญาสำรวมจิตไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำ ไม่ให้คิดฟุ้งซ่านภายในเรื่องเกี่ยวกับความสนุกสนานทางเนื้อทางหนัง อันเรียกในภาษาวัดว่า เรื่องกามารมณ์ คอยปรุงจิตไม่ให้กำหนัดไม่ให้ขัดเคือง ไม่ให้ลุ่มหลง ไม่ให้มัวเมา หรือพูดย่อๆว่าไม่ให้ยินดียินร้ายในสิ่งนั้นๆ อย่างนั้นเรียกว่าเราประพฤติพรหมจรรย์ การประพฤติพรหมจรรย์นั้นทำให้ชีวิตดีขึ้น สะอาดขึ้น สว่างขึ้น สงบขึ้น เราจึงถือเป็นครั้งเป็นคราว ในสมัยก่อนเขาถือว่าเรื่องพรหมจรรย์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าอาจจะไม่เหมือนกับในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในรู้ ก็บัญญัติศีลพรหมจรรย์ขึ้น ให้คนปฏิบัติกัน วันไหนเป็นวันหยุดงานเราควรจะไปถือพรหมจรรย์ คือไปประพฤติพรหมจรรย์ ก็ปลีกตัวออกจากบ้าน มาอยู่ที่วัดอันเป็นที่สงัดเงียบแล้วการอยู่วัดไม่ใช่มานั่งรวมกลุ่มคุยกันตลอดเวลา นั่งรวมกลุ่มคุยกันมันไม่เป็นการถือศีล แต่ว่ามานั่งคุยกัน ผู้ถือศีลนั้นต้องไม่คุยกันมาก ต้องพูดเท่าที่จำเป็น ทำตนเป็นอริยบุคคล พระอริยบุคคลเมื่อพบกันนั้นทำอย่างไร พระพุทธเจ้าบอกว่าให้ทำกิจ ๒ อย่างคือ ๑. คุยธรรมะกัน ๒. นั่งนิ่งๆ การนั่งนิ่งๆนั้นเป็นการนั่งแบบอริยบุคคล ถ้าจะพูดก็ต้องพูดธรรมะ พูดเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องภาวนา เรื่องอะไรๆที่ให้เกิดความมีปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง ถ้าเราไม่สามารถจะพูดเรื่องเช่นนั้นได้ ก็นั่งเงียบๆอย่านั่งสนทนาพาทีกันมันหนวกหู ญาติโยมนั่งในศาลา เวลาพระไปฉันอาหาร โยมคุยกันดัง หลวงพ่อก็ต้องดุหน่อย บอกว่าโยมหยุดพูดกันมั่งสิ วันนี้ถือศีลเงียบๆเสียบ้าง เงียบกันไป วันหลังเอาอีกอ่ะ ก็ต้องคอยดุคอยว่ากันบ่อยๆบอกให้นั่งเงียบๆให้นั่งแบบอริยะเสียบ้าง อย่าพูดอย่าคุยอะไรกัน เรื่องมันเยอะ มาจากบ้าน หอบกันมาคนละกระบุง สองกระบุง พอมาถึงวัดก็มาเทกัน ต่างคนต่างจะอวดว่าฉันรู้มากทั้งนั้น ไม่มีใครยอมรู้น้อยซักคนเดียว ฉันก็จะคุยเรื่องนั้น ฉันจะคุยเรื่องโน้น บางทีตัวไม่คุยพอเพื่อนคุย ฉันก็จะคุยมั่ง อวดไม่ใช่เรื่องอะไร อวดว่าฉันก็รู้เหมือนกัน ไอเรื่องอวดนี่มันไม่ใช่เรื่องผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ต้องไม่อวดอะไรกับใคร ต้องนั่งสงบจิต สงบใจ ใครเขาจะพูด ก็ช่างเขาเถอะให้เขาพูดไป ฉันขอเป็นคนนั่งก็ฟังแล้วกัน นี่ถ้าทุกคนนั่งฟังกันหมด คนพูดมันก็ขี้เกียจพูดเหมือนกัน คือพูดแล้วไม่มีใครสู้ ไม่มีคู่ต่อสู้จะขันครูไปได้สักเท่าไหร่ (02.10) เท่าไหร่ ไอนกเขาที่เขาแข่งกันตามสนาม นกเขามันขันหลายตัวไอตัวนั้นขันจุ๊กรู๋ จุ๊กรู ... แหมขันกันใหญ่เลย ก้องสนาม ถ้ามันขันอยู่ตัวเดียว กูขันตัวเดียวไม่มีคู่แข่ง เหนื่อยด้วย มันก็หยุดเท่านั้นเอง ไอนี่เราปล่อยให้ขันครูคนเดียว เดี๋ยวแกก็กระดากเดี๋ยวก็นั่งเงียบไปเท่านั้นเอง เป็นอย่างนั้น ถ้าหากว่านั่งก็ต้องนั่งสงบๆ อย่านั่งในหมู่ นั่งห่างๆวัดนี้มันกว้าง เอาเสื่อไปตรงไหนก็ได้ที่เงียบๆ สะอาดๆนั่งสบายๆ นั่งเจริญภาวนานึกถึงอะไรต่ออะไรที่ถูกที่ชอบไป อย่างนั้นเรียกว่าการประพฤติพหรมจรรย์ถูกต้องตามแบบพระอริยเจ้าที่บัญญัติไว้ ศีลข้อ ๓ นี่เรื่องเกี่ยวกับพรหมจรรย์ นี่ศีลข้อที่ ๖ เรื่องอาหารคือผู้ประพฤติพรหมจรรย์ต้องทานน้อยๆเราอาจตัดความกังวลเรื่องการกินการอะไรออกไป เพราะว่าในครอบครับเราแต่ละครอบครัวเรื่องที่ยุ่งสุดที่สุด ก็คือเรื่องกิน คนที่เหนื่อยสุดคือแม่ครัว ตื่นเช้าเข้าครัวแล้วจัดแจงทำอาหารเช้า อาหารเช้าเสร็จล้างจาน ล้างอะไรเสร็จ อ้าว อาหารกลางวันอีกแล้ว อาหารกลางวันเสร็จแล้ว ไปซักผ้าทำนู่นทำนี่ตามเรื่อง ประเดี๋ยวอาหารเย็นอีกแล้ววุ่นวาย กินมากนี่ยุ่งมากจ่ายสตางค์ก็มาก เปลือง หลายเรื่องหลายอย่าง แต่ถ้าเรากินน้อยมันก็ใช้น้อย แต่ว่าโยมยังอดไม่ได้ ก็ต้องทานไปตามเรื่อง แต่อย่าทานให้เป็นทุกข์ ทานอะไรก็อย่าให้เป็นทุกข์ ทำอะไรก็อย่าให้เป็นทุกข์ มันต้องคิดหลักนี้ไว้ด้วยเสมอ เพราะว่าหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นให้เราอยู่โดยไม่เป็นทุกข์ ทำอะไรอย่าให้เป็นทุกข์ กินอะไรก็อย่าให้เป็นทุกข์ นุ่งห่มอะไรก็อย่าให้เป็นทุกข์ คบหาสมาคมกับใครก็อย่าให้เป็นทุกข์ หลักนั้นเป็นหลักหัวใจของเรื่อง ที่เราจะทำไว้ในใจว่าเราจะไม่เป็นทุกข์ ถ้าเกิดความทุกข์ก็ต้องสอบสวนตัวเอง สอบสวนตัวเองว่าทุกข์เรื่องอะไร ทำไมจึงเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร สิ่งนั้นมันคืออะไร แยกแยะ วิเคราะห์ วิจัยออกไปจนกระทั่งเห็นว่าไม่เข้าท่าเลย คิดในเรื่องที่ไม่ควรคิด ไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วก็นั่งกลุ้มใจไม่ถูกต้อง ดุตัวเองเข้าให้ แล้วก็นั่งสงบจิตสงบใจต่อไป มันก็ไม่กังวล การกินอาหาร แม้ว่าจะรับประทานอาหารก่อนเที่ยง แต่ก็รับประทานพอสมควร ไม่มากเกินไป ไม่ใช่ว่ามื้อเย็นไม่ได้ทาน มื้อนี้ต้องเอามากหน่อย อย่างนั้นมันก็ไม่เป็นศีลไป ที่เรียกว่ารับประทานแบบคนมีศีล คือรับประทานน้อยๆ พออยู่ได้ ไม่ต้อง ไม่หิว ไม่กระหาย มากเกินไป ไม่อ่อนเพลียเราจึงต้องรู้ว่าวันอุโบสถเราทานเท่านี้ อยู่ได้ไหม มันสะดวกสบายทางกายมั้ย จิตใจกระวนกระวายมั้ยแล้วเห็นว่ากรรมฐานนี้ใช้ได้ (27.28) วันต่อไปก็ทานเท่านั้น นับคำข้าวทานเลย ว่าวันนั้นๆ อุโบสถนั้น ทานกี่คำใช้กับข้าวผสมด้วยเท่านั้นแล้วก็อยู่ได้สบาย เราก็ถือเป็นมาตรฐานเท่านั้น วันต่อไปก็ทานเท่านั้นไม่เดือดร้อน ไม่กังวล
ไอ้เรื่องอาหารนี้ถ้าเราไม่คิด มันก็ไม่อยาก คิดว่าจะกินแล้วมันก็อยาก นั่งคอยเวลาจะกิน แต่ถ้าเราตัดสินใจวันนี้ไม่กิน มันก็ไม่อยาก น้ำย่อยก็ไม่มา เพราะเราไม่อยากเมื่อไม่อยาก ต่อมมันก็ไม่ทำงานสั่งน้ำย่อย เพราะไม่มีอะไรจะย่อยแต่นี่เราอยาก แต่มันไม่ได้กิน มันก็มาย่อยแล้วไม่มีอาหารให้ย่อย มันก็ย่อยผิวกระเพาะทำให้กระเพาะเป็นแผล เป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะต่อไป แต่ถ้าเราตัดสินใจวันนี้เป็นวันอุโบสถข้าพเจ้าไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยง รับเสียก่อนเที่ยง แล้วก็เฉยๆไม่หิวไม่กระหาย ไม่หิวก็ไม่ดื่มอะไร แต่ก็ดื่มน้ำธรรมดา ดื่มน้ำสะอาดใส่ขวดวางไว้ เวลากระหายก็ให้ดื่มน้ำเหล่านั้นไม่ต้องดื่มน้ำชา-กาแฟให้มันเป็นการวุ่นวาย ถือเป็นพิเศษในวันนั้นก็ดีขึ้น คนจีนที่ปีนังเขาถืออุโบสถเหมือนกัน ในวันอุโบสถนี่เขาทานอาหารผัก และทานเพียง 2 มื้อ เช้ากับกลางวัน แล้วก็ต่อนั้นก็ให้ดื่มแต่น้ำชาคนจีนเขาชอบดื่มน้ำชา ต้มน้ำชาให้ดื่ม ไม่มีน้ำกาแฟ ไม่มีน้ำอะไรอันเป็นพิเศษ ดื่มน้ำชาปรกติ เขาก็ทำอย่างนั้นแล้วก็ต่างคนต่างก็เจริญภาวนา มีลูกประคำคนละเส้น เดินนับลูกประคำเรื่อยไป เดินเหนื่อยไปนั่งนับต่อไป อยู่ด้วยการเจริญภาวนาไม่พูดกับใครในหมู่มารักษาด้วยกัน ก็ไม่พูดไม่คุยกัน ต่างคนต่างนิ่งเงียบ ทำหน้าที่ปฏิบัติธรรมะให้ใจอยู่กับพระ อย่างนี้ก็จิตใจสบาย เพิ่มศีลข้อนี้ขึ้นเพื่อ ไม่ให้ยุ่งเรื่องอาหาร อันนี้ศีลข้อต่อไป นับจะ (19.42) นับจากเกิดการฟ้อน นัจจะคีตะคือร้องเพลง การขับ การฟ้อน การรำ การร้องเพลง การประดับประดาตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องย้อมต่างๆ ซึ่งปรกติเราก็ใช้กันอยู่เป็นประจำ แต่ว่าพอถึงวันอุโบสถก็ไม่ใช้ หยุดเสียวันนึง พักผ่อน ให้ร่างกายเป็นปรกติสักวันนึง ไม่มีการประดับประดาตกแต่งร่างกาย ทำไมจึงห้ามไม่ให้ประดับตกแต่ง เพราะว่าของหอมมันคือเครื่องยั่วยวนชวนใจ กลิ่นหอมนั้นทำให้เกิดอารมณ์ ให้เกิดความกำหนัด ไม่ได้ดั่งใจก็ขัดเคือง ได้มาก็ลุ่มหลง มัวเมา มันอยู่ในสภาพอย่างนั้น ทีนี้ก็ตัดไปสะเลย ไม่ให้มีสิ่งเหล่านั้น ไม่ได้ลูบไล้ทาประเทืองผิว หรือไม่ทำอะไรเกี่ยวกับเครื่องประดับประดาตกแต่ง ฟ้อนรำขับร้องเองก็ไม่ได้ ไปดูเขาฟ้อนเขารำก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นเครื่องยั่วกิเลสทั้งนั้น ตัดปัญหานั้นไป จิตใจจะได้สงบไม่วุ่นวายจะได้เอากำลังใจนั้นมาทำเรื่องอื่น เท่าที่เราจำเป็นจะต้องทำ เพื่อให้เกิดปัญญา เพื่อให้เกิดการรู้แจ้งในสรรพสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ในเรื่องที่นั่งที่นอนนี้ เราเคยนอนสบาย นอนเบาะ มีอะไรต่ออะไรพร้อม ถึงวันอุโบสถก็มานอนกับพื้น เอาเสื่อปูพื้นนึง คนไม่เคยนอนก็รู้สึกว่าลำบากหน่อยเพราะว่าหลังกระตุ๊กกะโคล้งเคล้ง แต่ว่านอนๆไปมันก็ค่อยชินเข้า นอนได้สบาย แล้วนอนกับพื้นนี้มันดีอย่างนะ ดีกับคนที่เป็นโรคปวดกระดูกสันหลัง นอนเบาะทำให้สันหลังคด เพราะว่าตรงไหนหนักมันก็ทรุดลงไป เรานอนเบาะตรงสะโพกมันหนักว่าเพื่อนมันก็ทรุดลงไปหลังก็คด แต่ถ้านอนบนนี้มันไม่ทรุดแล้วนะ เอาเสื่อปูลงหรือเอาผ้าปูอีกสักนิดหน่อย แล้วก็นอนทำให้รักษากระดูกสันหลังได้ แล้วนอนอย่างนี้มันไม่หลับมากเกินไป คือผู้ถือศีลอุโบสถไม่ต้องการให้นอนมากไป ไม่ให้หาความสุขด้วยการนอน ด้วยการเอนหลัง เพราะว่าถ้านอนมากมันก็มึน เมาในการนอน ไม่ได้ทำกิจที่ควรกระทำ ให้นอนเท่าที่ร่างกายต้องการ คือหลับเต็มตื่น พอหลับเต็มตื่นแล้วมันก็ตื่นเมื่อตื่นแล้วก็เท่ากับหมายความว่า ร่างกายมันต้องการเท่านี้ โดยเฉพาะโยมผู้เฒ่าผู้แก่นอนน้อยเพราะว่าการนอนมากมันเป็นของเด็ก เด็กนอนมากเพื่อความเติบโต คนเราเวลาป่วยเขาให้นอนมากๆ เพราะโรคมันจะหายตอนหลับ มันได้กำลัง ต่อสู้ตามทางโรค โรคจะหายขณะนอนหลับ แล้วทีนี้เด็กนอนหลับมันก็เติบโต ถ้าซมมาก ไม่หลับไม่นอน มันก็ไม่เติบโต เพราะฉะนั้นธรรมชาติเด็กจึงต้องนอนมาก
แต่คนเราเป็นผู้เฒ่าแล้ว ไม่เติบไม่โตแล้ว มีแต่จะเหี่ยวลงไปทุกวันทุกเวลา ร่างกายไปจัดของมันเองอ่ะ จัดไมให้นอนมาก หลับเต็มตื่น มันก็ตื่น ประมาณ ๔-๕ ชม.มันก็ตื่นของมันตามธรรมชาติแต่เราตื่นแล้วไม่รู้จะทำอะไรก็เลยนอนต่อไปหลับๆตื่นๆ ไอหลับๆตื่นๆ ก็ฝันเฟื่องเรื่องอะไรต่างๆไปตามเรื่องตามราว เพราะใจไม่มีการควบคุม นี่ผู้รักษาอุโบสถท่านใดนอนอย่างนั้นเพื่อจะได้ตื่น ตื่นแล้วให้เจริญกรรมฐานกำหนดลมหายใจเข้าออกก็ได้ เดินจงกรมในบริเวณนั้นก็ได้ ออกมาเดินข้างนอกก็ได้ ก็ในวัดนี้คงปลอดภัยไม่มีใครจับโยมไปเรียกค่าไถ่ ถึงจับก็ไม่มีเงินจะให้ ช่างหัวมันเถอะ เอาไปแล้วก็แล้วไป คิดอย่างนั้น ก็แก่แล้ว ไม่ต้องไปไถ่ละ ไม่เป็นไร เราก็นอน ตื่นแล้วก็ทำกิจส่วนตัว การเดินจงกรมการนั่งภาวนาอะไรต่างๆแต่จะเปิดไฟให้สว่างก็ไม่ดีเพราะคนอื่นยังจะนอนต่อ แต่ถ้าลุกขึ้นพร้อมกันเปิดไฟสว่างได้ แล้วก็สวดมนต์กันเสีย แล้วก็นั่งสงบใจ นั่งนานๆปวดแข้งปวดขา ออกไปเดินยืดเส้นยืดสายในเขตที่เรากำหนด เดินไป ๒๐ ก้าว กลับมา ๒๐ ก้าว ขณะเดินก็ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปนึกเรื่องอื่น นึกเพียงแต่ว่า เท้าซ้ายเดินก้าว ก้าวเท้าขวา ก้าวเท้าซ้าย นึกอยู่แต่เรื่องเดิน ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปไหนก็เป็นการควบคุมจิตไปด้วยในตัวอันนี้ก็จะช่วยให้สบายใจ ตื่นเช้าขึ้นกระปรี้กระเปร่า แล้วก็ไปบ้านได้ ถือศีลครบทุกข้อบริบูรณ์ เรียบร้อย เรียกว่าเป็นศีลแปด มีแปดข้อเราก็รักษาอย่างนั้น อยู่บ้านก็รักษาได้ อยู่บ้านคนเดียวล่ะกู รักษาศีลดีกว่าแล้วไม่ต้องปรุงอาหารหลายเวลา กินเท่าที่จำเป็นก็สบาย คนที่เคยถือศีลนอนวัด ไปนอนไหนก็ได้ง่ายๆ ไม่ลำบากใจเพราะเคยนอนอย่างนั้น เคยหลับอย่างนั้น พอไปพักที่ไหนก็พักได้ ไปนอนไหนก็นอนได้ง่าย ให้มีพื้น มีฝ้า มีหลังคา เราก็นอนได้สบายเพราะเคยอย่างนั้นมันช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้น สบายขึ้น เราจึงมาถือศีลกัน เด็กๆก็ควรจะถือได้ เด็กๆมาเข้าค่ายถือศีลกันเสียบ้างก็ดีเหมือนกัน แต่ว่าที่วัด ที่มันจำกัดอยู่ ณ เวลานี้ ยังไม่พอที่จะขยายงาน อยากจะเอาเด็กมาอยู่ค่าย ปิดโรงเรียนนี้ เปิดค่ายอบรมเลย ให้มีที่พัก ที่อบรม มีอาหารการกินอะไร รับทีละ ๑00 บ้า ง ๒00 คนบ้าง มาอบรมเด็กเหล่านั้นให้เข้าถึงธรรมะเป็นโครงการที่คิดๆฝันๆอยู่ แต่สถานที่มันยังไม่สะดวกมันยังไม่พอใช้ จะเอาที่ตรงนี้ตรงที่กำแพงก็ สมภารวัด (26.28) ก็ยังไม่ให้เสียที ...... ขอเช่า ไม่ใช้ให้ตอบ ให้เงินมาก้อนนึงแล้วเรามาพัฒนา สร้างสถานที่นี้บริเวณนี้ให้เรียบทำกำแพงล้อมบริเวณ เด็กมาก็เข้าไปในวงนั้น ผู้เฒ่า ผู้แก่ คนหนุ่มคนสาวมาอยู่ค่ายก็เข้าไปอยู่ในนั้น ปฏิบัติตามกฎตามกติกาที่ตั้งไว้ อะไรๆมันก็ช่วยให้จิตใจมันดีขึ้น ให้อะไรดีขึ้น ประโยชน์มันมีมาก ถ้าหากว่าได้ทำต่อไปข้างหน้า แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ก็เอาเท่าที่ได้ไปก่อน พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ยังเมื่อไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ ก็พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ก่อน เรียกว่ามีความสันโดษ คือ พอใจตามมีตามได้ สภาพชีวิตก็ไม่ยุ่งยาก ไม่เกิดความเสียหาย
อีกประการหนึ่ง กิจในวันอุโบสถที่เราควรทำ ก็คือ การฟังธรรม มีการเทศน์ให้ฟังตอนเช้า เทศน์ตอนบ่าย เทศน์ตอนกลางคืน มี 3 เวลา กลางคืนไม่ใช่เทศน์องค์เดียว แต่พระท่านจะมาคุยกับญาติโยมเหมือนกับว่าอภิปราย แล้วให้โยมมาอภิปรายด้วย ตั้งปัญหาถามได้ สงสัยอะไรก็ถามได้ คุยกันจนกว่าจะหลับจะนอนกัน เป็นการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ เป็นการเรียกว่า ธัมมสะกัจฉา (27.23) สนทนาธรรมกันก็เป็นมงคล การฟังธรรมก็เป็นมงคล เรื่องธรรมะมันเป็นเรื่องดีเท่านั้นแหละไม่ว่าเราจะทำอย่างไรเป็นอันว่าใช้ได้ ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจอย่างนี้ ทีนี้ในวันพระวันนี้เป็นเวรของอาตมาที่จะเทศน์ให้ญาติโยม เพราะมันตรงกับวันอาทิตย์พอดี ปีนี้ตั้งกะเป็นระเบียบไว้ วันนั้นองค์นั้นเทศน์ เทศน์เรื่องอะไรว่าไว้ด้วย ให้พระไปคิดวางแผน เอามาเทศน์ให้ญาติโยมฟัง โดยเฉพาะวันพระตรงกับวันอาทิตย์ ๒ วัน คือวันพระนี้และวันพระหน้า ก็เป็นเวรของอาตมาจะต้องเทศน์ทั้ง ๒ ครั้งนี่ก็จะให้เทศน์เรื่องพระพุทธคุณก็คือ คุณงามความดีของพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องที่น่าคิดน่าสนทนา น่าเอามาพูดกันบ่อยๆ เพราะถ้าเราพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พูดถึงเรื่องความดีของพระพุทธองค์ทำให้เราเกิดศรัทธามั่นคงขึ้น ทำให้ชีวิตของเราก้าวหน้าไปทางที่ดีที่ชอบมากขึ้น เพราะชีวิตของพระองค์นั้น เป็นชีวิตที่เป็นตัวอย่าง ในทางปฏิบัติธรรมะ ในทางที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่น่าสนทนา น่าศึกษา พ่อแม่ที่มีหน้าที่อบรมลูก ถ้าเข้าใจในเรื่องพระพุทธเจ้าดีก็เอาเรื่องของพระพุทธเจ้าคุยให้ลูกฟัง คุยบ่อยๆ เอามาเป็นตอนๆ แล้วก็คุยให้ลูกฟังวันละเล็กวันละน้อย เท่ากับว่าเอาความคิดที่ถูกต้องใส่ลงไปในสมองของเด็กตั้งแต่เบื้องต้นให้เขาได้รู้จักพระพุทธเจ้า ให้รักพระพุทธเจ้า ให้เคารพพระพุทธเจ้า ให้เดินตามพระพุทธเจ้าต่อไป เด็กของเราก็เป็นคนมีธรรมะ มีศาสนาเป็นหลักใหญ่ เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเป็นคนมีคุณธรรม เช่น มีความละอายบาป มีความกลัวบาป เพราะเขารู้จักอะไรเป็นอะไร ชีวิตก็ดีขึ้น เราๆท่านๆทั้งหลายที่ได้อยู่มาเป็นคนดี คนเจริญ ก็เพราะอาศัยพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำสั่งสอนมาตั้งแต่เบื้องต้น ความเป็นอยู่ในครอบครัวมีอิทธิพลไม่ใช่น้อย คุณย่า คุณยาย ได้สั่ง ได้สอน ได้อบรมในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะมาอย่างใด สิ่งนั้นมันฝังอยู่ในจิตใจ เพราะจิตใจของเด็กนั้นมันยังสะอาดบริสุทธิ์ เราใส่อะไรลงไปมันก็ติดง่าย เหมือนผ้าสะอาดนี่ย้อมสีมันง่ายอยู่ แต่ถ้าผ้าสกปรกไม่ได้ซักไม่ได้ฟอกเสียก่อน เอาไปย้อมมันก็ไม่ติด สีมันก็ไม่สวย อันนี่เด็กเหมือนกับผ้าสะอาด เราจะต้องย้อมให้มีคุณค่า การย้อมให้มีคุณค่าก็คือการเอาธรรมะใส่ไว้ในสมองของเขา เอาเรื่องสิ่งที่ดีงามใส่ไว้ ให้เขารู้จักพระพุทธเจ้า ให้รู้จักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้รู้จักความหมายของคำว่าอริยะสงฆ์ถูกต้อง ว่าพระสงฆ์ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร เขาจะไม่หลงใหลเข้าใจผิด ในเรื่องอะไรต่างๆ สมมุติว่าพระองค์ใดมาทำอะไรแปลกๆ ถ้าเด็กรู้จักพระสงฆ์ถูกต้องก็จะไม่เลื่อมใสสิ่งนั้น ญาติโยมผู้ใหญ่ก็เหมือนกันนะ ถ้าไม่รู้ถูกต้องก็ชอบพระที่ทำอะไรแปลกๆแผลงๆ ระลึกชาติได้บ้างอะไรต่ออะไรได้บ้าง ก็ทึกทักเอาว่าพระองค์นี้เก่งแล้วอะ แต่หารู้ไม่ว่า มันเป็นเทคนิคก็ได้ หรืออาจจะเป็นกลเม็ดก็ได้ พูดเพื่อยั่วโยมนิ เพื่อให้โยมเชื่อนิ แล้วโยมก็เชื่อง่ายเลย นึกว่าเออพระองค์นี้ท่านระลึกชาติได้ ได้เป็นอาจารย์วิเศษไปแล้ว ความจริงไม่ได้วิเศษวิโสอะไร แต่ว่าเรามันไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าเนื้อแท้ของพระสงฆ์เป็นอย่างไร มีการปฏิบัติตนอย่างไร พูดอย่างไร ถ้าพูดอะไรแปลกๆแผลงๆนั้น มันทำท่าจะเขวแล้วล่ะ ไม่ใช่พระแท้แล้ว เป็นพระที่ทำอะไรเพื่อลาภ เพื่อสักการะ เพื่อดึงคนมาเป็นพรรคเป็นพวกของตัวอะไรต่างๆ
เหมือนกับพระองค์หนึ่งไปเห็นโยมคนหนึ่งท่าทางภูมิฐานดี อ่า..ที่วัดมหาธาตุ เข้าไปถึงนั่งขัดสมาธิลงตรงหน้าเลยทำหลับตา อ่อ..นี่ล่ะ ตามหามานานแล้ว เพิ่งเจอวันนี้เอง โยมก็สงสัยดิว่าอะไรนี่นะ โยมนี่เคยเป็นแม่อาตมาในชาติก่อนนะ อาตมาตามหามานานแล้วเพิ่งเจอวันนี้เองนี่อ่ะ โยมดีใจได้ปลื้มได้เป็นมารดาของพระที่มีชื่อมีเสียง แล้วชื่อเสียงขนาดไหนยังไงก็ไม่รู้ ดีใจเลยยอมตัวเป็นลูกศิษย์อุปัฏฐากโน่นอุปัฏฐากนี่ ป่านนี้โยมคนนั้นก็คงจะอกหักไปตามๆกันแล้วนะ เพราะว่าไอ้ลูกของตัวมันแย่แล้วก็ แม่ก็อกหักอ่ะซิ ไอ้นี่เรามันรักคนง่ายเกินไป เลื่อมใสมากเกินไปโดยไม่ได้คิดพิจารณา เชื่อง่ายเกินไป ไปแล้วโยมเดินตามเป็นแถว นะเดินตาม ไปกันห้อมล้อม ชอบไหมชอบให้คนห้อมล้อมไปไหน เพื่อจะได้อวดไม่ใช่เรื่องอะไร ถ้าว่าสมมติว่าไปเชียงใหม่ลงมากรุงเทพนิ ต้องเกณฑ์คนให้ไปรับที่ดอนเมือง โห้ย ... ตั้งแถวเลย เป็นแถว วันนั้นมากับพระองค์หนึ่งนั่งเรือบินมาแต่ไม่รู้จักอ่ะ มาถึง ทำไมอะโยม? มารับหลวงพ่อ มารับฉันรึ? ไม่ใช่ อ้าวหลวงพ่อ หลวงพ่ออื่นนะเหรอ นึกว่ารับฉัน เลยชวนพูดแล้วยังหัวเราะกัน หลวงพ่อนี่มันไม่มีใครไปรับหรอกลงจากรถไฟนะเรือบินนะ แม้แต่ไปต่างประเทศก็ไม่มีใครไปรับ
วันนั้นก็มีหมอไปรับคนเดียว หมอดำรงน่ะไปรับวันนั้น พอใจแล้ว ไปรับคนเดียวก็พอใจแล้ว ดีกว่าหิ้วกระเป๋าเดินมาถึงวัดชลประทาน เพราะมีหมอไปรับ แต่ไม่อยากให้ใครไปรับเป็นขบวนมากมายอย่างนั้น เพราะมันกระดากอะ มันรู้สึกว่าไม่สบายใจ ไปส่งก็เหมือนกัน บอกโยมอย่าไปส่ง พอแล้ว ไม่ต้องไปส่ง อาตมารู้แห่งทางขึ้นเรือบิน แล้วเจ้าหน้าที่เขามีเขาช่วยเองอะ มันก็สบาย แต่ว่าบางท่านไม่อย่างนั้น ให้โยมไปส่ง ไปเที่ยวลาโยมอะ โยมจะได้ไปส่ง เพื่ออะไรที่ทำอย่างนั้น เพื่อจะอวดว่าฉันนี่เก่ง บริวารเยอะ อ่านี่นะ มันใช้อุบายทั้งนั้นนะโยมที่ทำอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องอะไร อุบายจูงใจคนให้ตื่นเต้นขึ้น ว่าองค์นี่มาจากไหนนะคนมารับกันเยอะแยะ แต่ความจริงเกณฑ์มาทั้งนั้นอ่ะ เหมือนกับผู้ว่าราชการจังหวัดเกณฑ์คนมารับนายกรัฐมนตรีนะ โห้ยกป้าย เลือกได้แล้วมายกป้ายตอนรับนะ มันระบอบประชาธิปไตยเขาไม่มีอย่างนั้น ในต่างประเทศ อเมริกา ประธานาธิบดีไปไหนไม่มีใครรู้อะ สมมุติว่าไปเมืองชิคาโก้ คนชิคาโก้ก็ไม่รู้ แกก็ไปธุระของแก ไปที่ศาลาว่าการเมืองเขา ไปคุยไรต่อไรกับคนนั้นแล้วก็ขึ้นเครื่องบินกลับไป ไม่มีใครแห่แหนเต็มแสนกับเขาหรอก แต่เมืองที่ยังด้อยพัฒนาล่ะโห้ยไม่ได้ ไปวันไหนต้องเตรียมคนมารับกัน สร้างบารมีไม่ใช่เรื่องอะไร พระสงฆ์องค์เจ้าเราก็เหมือนกันอะ ชอบสร้างบารมีอย่างนั้นอะ ไปไหนชอบให้โยมแห่ไปส่งไปตอนรับ อะไรๆต่ออะไร ทำให้คนตื่นเต้น มันไม่ได้อะไรคนตื่นเต้นอย่างนั้นอะ มันไม่เข้าถึงธรรมะแต่ไปตื่นเต้นตัวบุคคล แล้วตื่นเต้นตัวบุคคลแล้วบางทีมันไม่เข้าถึงธรรมะ ไปหลงคนเลยไม่เข้าถึงธรรม เราควรให้เข้าถึงธรรมะกันดีกว่า ไอ้อย่างนี้มันก็มีเหมือนกัน
อันนี้บางทีเราไม่เข้าใจในเรื่องอย่างนั้น เลยก็เขวกันไปเสียอกเสียใจ มันไม่ใช่เรื่องที่จะเสียใจอะไร มันไม่ใช่เรื่องที่จะเสียใจอะไร มันก็เรื่องธรรมดา คนเรามันก็มีดีดีมั้งชั่วมั้งปนกันไปในสังคมโลก ก็อย่างนั้นล่ะ ถ้าปลงตกมันก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าปลงไม่ได้ก็แหม่ มันก็ลำบากเดือนร้อน แล้วก็ตีคลุมว่า ถ้าองค์นี้เป็นแบบนั้นไม่อยากไหว้พระเลย อ้าวแล้วกัน มันไม่ใช่หมดนิ ไม่ใช่ชั่วทั้งหมดไอ้ดีก็มี
สมมุติว่าเขาเอาผลไม้มาให้เราตะกร้าหนึ่ง แล้วไอ้ผลหนึ่งที่ปากตะกร้ามันเน่า ว่าเห้ย...ผลไม้นี้เน่ากูไม่กินโว๊ย เอาไปทิ้ง ไม่ขาดทุนตาย มันผลเดียวนิ ไอ้ลูกนั้นก็ทิ้งไปดิไอ้ลูกเน่าอะ ไอ้ลูกอื่นดีๆก็มากินได้นิ มันไม่เสียหายอะไร มันต้องคิดในแง่นั้นอย่าไปคิดวิตกกังวลโห้ยย ... ฉันไม่อยากไหว้พระแล้วต่อไปนี้ เพราะว่าพระอย่างนั้นอย่างนี้ อ้าวไปเอามาตรฐานของคนหนึ่งมาวัดคนทั้งประเทศมันจะได้เมื่อไหร่ มันไม่ถูกต้องอะ เราอย่าเอามาตรฐานของใครคนใดมาวัดคนทั่วไป คนทั่วไปมันไม่เหมือนกัน พระก็ไม่เหมือนกัน คนก็ไม่เหมือนกัน อย่าไปตีคลุมเอาว่าอะเหมือนกัน มันจะเหมือนกันได้ยังไง มันไม่เหมือน มันจิตใจต่างกัน สภาพชีวิตต่างกัน มันก็ต้องคิดให้มันละเอียดรอบคอบ แล้วจะไม่มีความวิตกกังวลอะไร
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องสอนทำความเข้าใจกับคนที่ใหม่ๆต่อศาสนาให้รู้เรื่อง ไม่ให้หลงใหลมั่วเมา ไม่ให้ใครพาไปในทางที่ผิด เพราะว่าไม่รู้ไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าท่านป้องกันลูกศิษย์ของท่านบ่อยๆ ถ้าใครมาจูงไปในทางผิด ท่านบอกพระสารีบุตรหรือพระโมคคัลลานะอะ โมคคัลลานะไปๆ ไปดึงพวกนั้นกลับมามันเข้าใจผิด มันจะเขวกันไปใหญ่ พระสารีบุตรก็ไป พระโมคคัลลานะก็ไป ไปพูดจาทำความเข้าใจ ก็ดึงกลับมา ไม่ให้ก้าวไปในทางที่ผิด เพราะคนก้าวผิดเป็นคนที่น่าสงสาร ควรจะช่วยเหลือ ให้เขาพ้นจากอันตรายทางด้านจิตใจ ต้องทำอย่างนั้น ก็เพราะเรื่องว่าการศึกษามันน้อยจึงไม่มีปัญญาจะวินิจฉัย ในเรื่องอะไรๆต่างๆ เห็นใครแต่งตัวแปลกๆทำอะไรแปลกๆก็ถึกถักเอาเท่านั้นเอง ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วนะ พระอรหันต์ในสมัยก่อนนี่ถูกถึกถักเยอะเหมือนกันนะ คนเห็นอะไรๆไปนิ อย่างคนไม่นุงผ้านิมานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ริมทะเลนิ คนมาเห็นเขา โห้นิสำคัญพวกนี้ ไม่นุ่งผ้า อ่า วัดความไม่นุ่งผ้าว่าเป็นอรหันต์แล้ว เอาอาหารมาให้เอาอะไรมาให้ ไอ้นั่นก็นึกว่า กูไม่นุ่งผ้าก็ได้กินอาหาร ไม่ต้องนุ่งแล้วต่อไปนี้ ก็เลยเปื่อยกายเรื่อยไปน่ะ อยู่อย่างนั้นน่ะ
พอดีมีคนนึงมาๆ มาเห็นเข้าสงสาร เลยบอกคนไปว่า ท่านนิหลงตัวแล้วนะ ไม่ได้เรื่องแล้วนะ ท่านนึกว่าท่านนิเป็นผู้วิเศษ ความจริงไม่มีอะไรนะ ไม่ได้เรื่องอะไรนะ ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์อะไร ชีวิตของท่านนี่ความจำเป็นมันบังคับให้เป็นเท่านั้นเอง เวลานี้พระอรหันต์จริงๆมีอยู่ในโลกแล้วนะ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปสิไปพบคนจริงสักที อ้าว ดีเหมือนกันคนนั้นรู้สึกตัว ไม่หลงงมงายอยู่ในว่าเป็นที่ตนเคยเป็นอยู่ หนีเลย พอกลางคืนหนีไปเลยไม่บอกใครว่าไปไหน ขืนบอกเดี๋ยวก็ติดตามพระอรหันต์ไปอีกอ่ะ เพราะคนมันหลงแล้วนิ หนีไปเลย ไปพบพระพุทธเจ้า พอไปพบพระพุทธเจ้าก็พบกันเวลาบิณฑบาตนิ พระพุทธเจ้าก็บอกว่า อ่า เขาขอร้องว่า ได้โปรดแสดงธรรมให้แก่พระองค์ฟังหน่อย บอกไม่ใช่เวลา ไม่ใช่เวลาแสดงธรรม อ่ะไปๆเดี๋ยวขออีกล่ะ ไอ้ชีวิตมันน้อยมันท่านนะ ก็ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่โปรดแสดงธรรมหน่อย ไม่ใช่เวลา ยังไม่ถึงเวลาที่จะแสดง อ้าวเดินไป จนกระทั่งพระพุทธเจ้าบิณฑบาตพอฉัน แล้วก็ไปนั่ง ณ ที่หนึ่ง ก็เข้าไปอีกอะ เข้าไปจะฟังธรรมอะ พระองค์ก็พูดสั้นๆง่ายๆว่า อย่าคิดถึงอดีต อย่าคิดถึงอนาคต ให้คิดแต่เรื่องเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น อ่ะ เท่านั้นเอง บอกย่อๆสั้นๆที่สุด ให้คนนั้นฟัง เข้าใจความหมาย อ่าความสว่างไสวก็เกิดขึ้นในใจ เรียกว่าบรรลุเป็นพระอรหันต์จริงขึ้นมาแล้วทีนี้ แต่ไม่มีผ้านุ่งนิ ลำบากเดือนร้อนแล้ว พระองค์บอกว่าไปเที่ยวหาผ้ามานุ่งก่อน อย่าเป็นอรหันต์เปลือยกายไม่ได้ ไปหาผ้าก็เดินไปเที่ยวหาล่ะ ไปเจอผ้าบังสุกุลที่ไหนใครทิ้งไว้พอจะได้ปกปิดร่างกายไปก่อน อ้าวไปๆก็เลี้ยวมุมกำแพง วัวแม่ลูกอ่อนมาตัวหนึ่งพอดี เลี้ยวพอดีเจอกันพอดีตกใจ พอเห็นอะไรแปลกก็เลยชนโครมเข้าให้ แต่แทงไส้ทะลักตามถึงแกกรรมเลย พระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลายก็พูดกันว่า จะมาบวชในพระพุทธศาสนา ไม่มีผ้าจะบวช ไปเที่ยวหาผ้า วัวแม่ลูกอ่อนขวิดเอาถึงแก่ความตาย อนาคตของเธอจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ประชุมสงฆ์ แล้วก็บอกว่าเขาไม่มีอนาคตแล้ว เขาหมดสิ้นแล้ว จะเรียกว่าเป็นอะไรไม่ได้ต่อไปอีกแล้ว คือหมด หมดความยึดมั่นถือมั่นในตัวในตน ไม่มีตัวไม่มีตนไม่มีอะไรแล้ว บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว อ่าพระทั้งหลายก็เข้าใจ ชวนกันให้ชาวบ้านเอาศพไปทำการเผากันตามธรรมเนียม เผาแล้วก็หมดเรื่องอะ ไม่เหมือนสมัยนี้อะ พอเผาแล้วกระดูกกลายเป็นพระธาตุขึ้นมาแล้วอะ นี่คือวิธีการทั้งนั้นล่ะไม่ใช่เรื่องอะไร วิธีการจะดึงคนให้มาเชื่อในสิ่งที่ไร้สาระ สมัยก่อนไม่มีเผาแล้วก็หมดเรื่องกัน เอากระดูกไปฝังเท่านั้นเองไม่มีอะไร ไอ้เรื่องพระธาตุศักดิ์สิทธิ์นี่ สมัยนั้นมันยังไม่มี ยุคพระพุทธเจ้าไม่มี มันมียุคที่ไม่มีพระพุทธเจ้านี่แหละ ยุคอะไรอะ ยุคปัจจุบันเนี่ยชอบสร้างข่าว ทำข่าวเป็นพระธาตุนะ ความจริงมันก็เป็นธาตุอยู่แล้วนะ คือกระดูกนั่นเอง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มันก็เป็นธาตุทั้งนั้นแหละ เป็นธาตุ แต่ว่าโฆษณาว่าเป็นพระธาตุ หมายถึงว่าผู้ที่ถึงแก่กรรมนั่นเป็นคนสำคัญ เพื่ออะไร เพื่อดึงคนมาให้เป็นลูกศิษย์ของตัว วิธีนี้ใช้กันมาก แล้วก็ใช้กันทั่วไป ไปเมืองนอกเมืองนาก็ยังขนเอาไปใช้กันอยู่อะ วิธีการอันนี้ เพราะว่าคนไทยที่ไปอยู่ก็เหมือนคนไทยอยู่ในเมืองไทย ชอบข่าวลือชอบเชื่ออะไรแปลกๆแผลงๆ เขาก็เอาวิธีการนี่ไป ไปให้เชื่อ คือไปหลอกนั่นเอง ไม่ได้ไปพูดความจริงให้คนฟัง ให้คนหลงเชื่ออะไรๆต่างๆ อวดอ้างว่าวิเศษอย่างนั้น วิเศษอย่างนี้ พระบางองค์พูดก็ไม่ได้ เป็นง่อย อุตส่าห์บรรทุกเรือบินไป เอาไปให้คนไหว้ แล้วบอกว่านี่ล่ะสำคัญนักนะ คนมันเห็นแล้วมันก็ไม่แปลกอะไร ถ้าคนมีปัญหามันก็คิดแล้วว่าเอ้ อุตส่าห์แบกอุตส่าห์ขนบรรทุกเรือบินมา ปรากฏว่าพูดก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ เอามาทำไม เอามาให้คนโง่ไหว้เท่านั้นเอง ไอ้คนปัญญาเขาก็เฉยๆ แล้วเขามาบ่นอีกว่า เอามาให้ท่านลำบากทำไมนิ อยู่วัดของท่านก็ดีแล้ว เพราะว่าไม่ไหวแล้ว แต่คนบางประเภทเขาชอบอย่างนั้น ก็แล้วทำไม เพื่อจะดึงปัจจัยเข้ามาเอามาสร้างศาลาที่ยังกำลังจะสร้างไม่เสร็จอยู่ อ่าทำอย่างนั้นอะ คือไม่รู้จักใช้ธรรมะเพื่อดึงคน แต่ไปใช้ของแปลกๆประหลาด
พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญนะ ท่านห้ามไม่ให้แสดงกลให้คนดูนะ พวกปาฏิหาริย์ต่างๆนี่มันมีสามเรื่องนะ อิทธิปาฏิหาริย์แสดงฤทธิ์ได้ อาเจตนาปาฏิหาริย์ดักใจคนได้ รู้ว่าคนนี้คิดอะไรๆดักทำนายได้ รู้กำลังใจคนอื่น อนุสาสนีปาฏิหาริย์ สอนคนให้เข้าใจธรรมะ ไอ้สองอย่างข้างตนพระพุทธเจ้าทรงติเตียนเลย บอกว่าเป็นเรื่องที่ภิกษุไม่ควรกระทำ เพราะถ้ากระทำเช่นนั้นภิกษุก็จะ จะเป็นพวกปาหี่ไปซะ อ่าหมายความพวกปาหี่คือ ไปเล่นกล ปั่งๆๆๆ ขายโก้เอี้ยอะ (45.41) เราเคยเห็นไหม ไอ้พวกตีผ่างๆๆ ตึงๆๆ อะไรนั่นล่ะนะ พวกขายโก้เอี้ยอะนะ มันเป็นอย่างนั้นละนะ พระพุทธเจ้าไม่อยากให้ลูกศิษย์พระองค์เป็นพวกปาหี่อย่างนั้น แต่ว่าให้สอนคนให้เข้าใจธรรมะ พูดธรรมะให้คนเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้าพูดเข้าใจแล้วก็เรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์อันหนึ่ง ให้ทำอย่างนั้น
แต่ว่าเวลานี้ก็มีหลายสำนักที่อวดปาฏิหาริย์อยู่ ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ชอบคุย คือไม่ทำคนให้ฉลาด แต่ว่าทำคนให้หลงใหลมั่วเมามันผิดหลักการของพระพุทธเจ้านะความจริงนะ มันไม่ถูกต้องอะ แต่ว่าคนก็เชื่อเพราะว่าคนมีพื้นฐานอย่างนั้น เราไม่ได้ปรับพื้นฐาน สร้างบ้านโดยไม่ปรับดินนี่มันก็พังกันเท่านั้นเอง อันนี้คนเราเข้าสู่ศาสนานี่ ผู้สอนต้องปรับพื้นฐานทางจิตใจ ให้เขารู้ว่าพื้นฐานทางจิตใจควรจะทำอย่างไร พระพุทธศาสนาคืออะไร ความเป็นเนื้อแท้มันอยู่ที่ตรงไหน ต้องพูดให้เขาเข้าใจ ทีละวันละเล็กวันละน้อยคนก็ค่อยเข้าใจขึ้น และเมื่อเข้าใจถูกต้องก็จะไม่ต้องหลงต่อไป ใครจะมาตีฆ้องตีกลองแสดงปาฏิหาริย์เราคนก็ไม่ไป เพราะรู้ว่านั่นไม่ใช่เนื้อ มันเป็นเปลือก ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราต้องการสิ่งที่ดีกว่านั้น ประเสริฐกว่านั้นคือปัญญา ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อ่าเรื่องมันเป็นอย่างนั้น
สมัยก่อน ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดก็มีการตื่นเต้นในเรื่องความเป็นพระอรหันต์ แม้ชฏิลสามพี่น้องแกก็สำคัญว่าแก เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสป คยากัสสป นะสามพี่น้องอะ เป็นพวกชฏิลไว้ผมยาวแบบฮิปปี้ ไว้ผมยาวแล้วบูชาไฟ จุดไฟไว้แล้วเข้าไปบูชา แล้วก็ไหว้กันอยู่อย่างนั้นแหละ เวลาพระพุทธเจ้ามาหาบอกว่า ขอที่อยู่หน่อย บอกว่าไม่มีที่อยู่อะเต็มไปหมดในนี้ไม่มี มีว่างอยู่หน่อยก็ในโรงไฟอะ แต่ว่ามีงูพิษนอนอยู่ตัวใหญ่ มันอันตรายนะ บอกว่าไม่เป็นไรๆ เราอยู่ได้ แม้มีงูพิษเราก็อยู่ได้ แล้วก็บอกเอ้สมณะนี้อวดดีนะ ให้งูพิษพ่นพิษใส่ให้ชักดิ้นชักงอไปเลยอะ พระองค์ก็เข้าไปอยู่แหละ ยังไม่ทันสว่างพวกนั้นแห่กันมาดูแล้ว โห้ตายแล้วยัง คือมาดูว่าพระองค์ตายแล้วยัง งูพ่นพิษใส่ตายแล้วยัง พอมาถึงนะพระองค์นั่งสมาธิเฉย งูก็นอนเฉยอยู่ตรงนั้นแหละ เอาเห้ยไม่ตายแฮะ พวกนั้นนึกว่าแหมเก่งเหมือนกันแต่ไม่เหมือนเรา ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา อะยังไม่ยอมๆ ยังนึกว่าตัวเป็นพระอรหันต์อยู่นั่นแหละ ยังไม่เหมือนเรา แล้วก็ต้องทำอะไรกันหลายอย่าง ให้เห็นว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์นิ แต่ไอ้นั่นมันต้องใช้วิธีการ เพราะพวกนั่นเชื่ออย่างนั้น เช่นวันนั้นพวกชฏิลทั้งห้าร้อย ทั้งพันนะ อ่าทั้งห้าร้อย สำนักของพี่มีห้าร้อย จะจุดไฟจุดเท่าไหร่ๆไฟไม่ติดสักที เพราะผู้มีพระภาคเจ้าท่านใช้ฤทธิ์ ฤทธิ์นะทำให้ไม่ติด จุดไม่ติดจุดกันจนตาแดงแล้วไม่ติด อ้าว เลยนั่งท้อถอยหือไม่ติด พรึบ ไฟมันติดขึ้นพร้อมกันนะ ก็สำคัญว่าเอ๊ะทำไมติดเฉยๆ อยู่เฉยๆไฟมันติดขึ้นได้ยังไง ก็มองไปเห็นอ๋อ สมณะรูปนี้เองเป็นผู้ทำไฟให้เกิด อะเก่งเหมือนกันแต่ไม่เหมือนเรา อ่าไม่ยอมสักที ว่ากันหลายวันนะจนกว่าจะยอม ผลที่สุดก็ต้องยอมอะ ยอมว่าไม่ได้เรื่อง ไอ้ที่เราเป็นนี่ไม่ได้เรื่อง มันไม่ถูกต้อง ก็เลยยอมเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไปทรมานสามคนนั้นให้คลายจากความรู้สึกยึดมั่นสำคัญผิดว่าตนเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าเป็นผิดอยู่มันไม่ถูกต้อง เลยก็ไปสอนให้ถูกต้องและอีกอย่างหนึ่งจะเป็นกำลังในการเข้ากรุงราชคฤห์ เพราะเวลาเข้ากรุงราชคฤห์นี่คนก็จะมากันใหญ่ มาหาพระพุทธเจ้า แต่ก็คงจะสงสัยบางอย่างเลยต้องเอาปราบหัวโจกซะก่อน พระพุทธเจ้าของเราฉลาดมาก เรียกว่ามีกุศโลบายอันฉลาด จะไปสอนใครนี่ต้องไปสอนคนใหญ่คนโตก่อน สอนพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินนับถือแล้วอำมาตย์ ข้าราชการก็เฮตามไป พ่อค้าคหบดีก็เฮตามไป ไม่ลำบาก ไม่ต้องเหนื่อยมาก ถ้าไปสอนคนธรรมดานี่โอ๊ยเหนื่อยตาย แต่คนชั้นสูงไม่ได้สอนนะ ไอ้นี่คนธรรมดาก็เดินตามคนชั้นสูง ที่เราพูดว่า นายว่าขี้ข้าก็พลอยตามไปด้วยแหละ อ่ามันก็อย่างนั้นแหละ พระองค์ก็ไปสอนหัวโจกสามพี่น้องก่อน พอยอมเป็นลูกศิษย์ก็พาเข้ากรุงราชคฤห์ เดินตามหลังกันเป็นแถวยาวเหยียดแหละ พระตั้งพันเดินไปนี่น่าดูนะ น่าดู เอาไปสักสี่ห้าร้อยนี่โยมก็ตื่นเต้นแล้ว ว่าอยู่วัดไหนต้องไปใส่บาตรแล้วพรุ่งนี้อะ มากมายอะ นี่ตั้งพันเข้ากรุงราชคฤห์อะ พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวารก็มากัน ไอ้พวกแขกมาถึงก็เอะอะมะเทิ่งกันแหละ คนนั้นพูดอย่างนั้น คนนี้พูดอย่างนี้ตามแบบแก ถ้าไม่ไปอินเดียไม่รู้ ไปตะเดี๋ยวรู้ยุ่งจริงๆแขก พระพุทธเจ้าเห็นว่าพวกนี้วุ่นวาย ยังไม่เหมาะที่จะฟังธรรม ก็เลยถามกัสสปะ อ่า อุรุเวลกัสสปะว่ากัสสปะ ทำไมเธอจึงได้ทิ้งที่เคยบูชามาเสีย ท่านอุรุเวลกัสสปะลุกขึ้นบอกว่า เพราะการบูชาไฟเป็นไปเพื่อกามราคะ เป็นไปเพื่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ดีกว่า อ่าหรือเพื่อกามอารมณ์ที่ดีกว่า ไม่ได้เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เธอเลิกการบูชาไฟแล้ว เธอชอบใจธรรมะของใคร อุรุเวลกัสสปะลุกขึ้นพนมมือกราบแทบเท้าพระพุทธเจ้า ชอบใจในธรรมะของพระองค์ พวกแขกเหล่านั้นเหมือนถูกพายุเกอะ เรียบไปเลย นั่ง ถอนใจแหละว่าตายแล้ว อาจารย์กูไปเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าแล้วว่า เงียบ อ่าเหมาะแกการฟังธรรมแล้วอะ ก็เงียบแล้วอะนิ ก็เลยแสดงธรรมได้ ได้ประโยชน์ นี่วิธีการ
คนที่สำคัญผิดว่าตนเป็นพระอรหันต์มันมีอยู่บ่อยๆ ในสมัยโบราณ แล้วก็บางทีก็เป็นอรหันต์แปลกๆ เป็นอรหันต์เวลาคนมานี่ไม่แสดงตัว แปลว่า บอกว่าเดี๋ยวท่านมาเองแหละ คือมันกุฏิมันมีต้นไทรใหญ่ แล้วไปแอบซุ่มอยู่ที่ต้นไทรโน่น แล้วก็เดินไต่กิ่งไทรมาหลับกุฏิไม่ให้คนเห็นแหละ มาถึงก็นั่ง เปิดม่านปุ๊บ นั่งเรียบร้อย อ้าวปาฏิหาริย์ได้ตรงนี้ ความจริงเดินไต่กิ่งไทรมา เป็นลิงมาไม่ได้เป็นคนมา ไต่กิ่งไทรมา ก็เลยว่าสมณะรูปนี้เป็นวิเศษ ซ่อนตัว หายตัวได้ อ่าความจริงมันหายที่ต้นไทรนั่นเอง วิธีการอย่างนั้นเพื่อจะแสดงให้ใครเห็นว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะศัพท์ว่าอรหันต์นี่เป็นความฝันของนักบวช เป็นความฝันของผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้หลุดพ้น ความหมายของอรหันต์คือ ผู้หมดจดการกิเลศเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ที่เราสวดมนต์แปลว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลศเพลิงทุกข์สิ้นเชิงนี่ เพลิงกิเลศไม่มีเพลิงทุกข์มันก็ไม่มี
ไอ้เพลิงกิเลศมันมีก่อน เช่นว่า ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ นี่ไฟสามกองใหญ่ ที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ฤาษีสามพี่น้องแหละ ชฏิลสามพี่น้อง เรียกว่าอาทิตตปริยายสูตร พูดเรื่องความร้อน ตาเป็นของร้อน รูปเป็นของร้อน สัมผัสเป็นของร้อน เวทนาเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะราคะ ร้อนเพราะโทสะ ร้อนเพราะโมหะ ราคะคือความพอใจ โทสะคือความไม่พอใจ โมหะคือความหลงใหล มั่วเมา มืดมั่ว อยู่ในสิ่งนั้น มันเผาให้ร้อน เมื่อร้อนแล้วมันก็ไม่สบายแหละ มีความทุกข์แหละ อ่าสอนให้เห็นว่าเป็นของร้อน ไอ้ความร้อนนั้นพระพุทธเจ้าดับหมดแล้ว ไฟราคะดับแล้ว ไฟโทสะดับแล้ว ไฟโมหะดับหมดแล้ว นี่ไฟกิเลศ เมื่อไฟกิเลศดับ ไฟทุกข์มันจะเกิดได้อย่างไร คนเราที่เป็นทุกข์เพราะยังมีกิเลศอยู่ มีความรัก มีความชัง มีความอยากได้ใคร่มี อะไรต่างๆมันก็เป็นทุกข์แหละ ลองสังเกตในตัวเราเองแต่ละคน เวลาใดเราปรารถนาจะมีอะไร จะได้อะไรมันร้อนไหม มันร้อน ถ้าไม่ได้ดังใจแล้วยิ่งร้อน ถ้าหากว่าเป็นคนธรรมดาก็ร้อนน้อยหน่อย แต่ถ้าเป็นคนหัวหน้าคนนี่ร้อนมาก พอจะดุใครได้ก็จะดุออกไปเลยทีเดียว คือระบายความร้อนพ้นพิษใส่เขา เอาความร้อนไปใส่คนนั้นใส่คนนี้นี่มันร้อน ร้อนแล้วมันเป็นทุกข์ไหม เวลาเราโกรธเป็นทุกข์หรือไม่ เวลาเราโลภเป็นทุกข์หรือไม่ เวลาเราหลงเป็นทุกข์หรือไม่ เวลาเราริษยาคนอื่นเป็นทุกข์หรือไม่ ลองดูที่ตัวเราเอง
การศึกษาธรรมะไม่ได้เรียนจากหนังสือหรือการฟังอย่างเดียว แต่ต้องศึกษาจากในตัวเรา ว่าเวลาสิ่งนี้เกิดขึ้นสภาพจิตใจเป็นอย่างไร เวลาเรามีราคะนี่จิตใจเป็นอย่างไร มีโทสะนี่จิตใจเป็นอย่างไร มีโมหะความหลงสภาพจิตใจเป็นอย่างไร มีความริษยาสภาพจิตใจเป็นอย่างไร แข่งดีอวดดี มานะถือตัวโอ๊ยเยอะแยะ ชื่อมันต่างๆแต่มันก็อยู่ที่ว่าทำใจให้วุ่นวายให้เร่าร้อนทั้งนั้นแหละ นี่เราต้องศึกษาว่า มันร้อนอย่างใด สิ่งนั้นอยู่แล้วมันร้อน แล้วเมื่อร้อนเราจะดับหรือไม่ เราก็อยากจะดับร้อน เราจะดับด้วยอะไร ต้องดับด้วยสติปัญญา ตัวสติปัญญานั้นเป็นเครื่องมือดับทุกข์ดับร้อน เป็นเครื่องตัดกระแสไม่ให้มันเชื่อมต่อกัน สิ่งภายนอกกับสิ่งภายในไม่ให้ต่อกัน เอาสติมาตัดเสียมากั้นไม่ให้เสีย เหมือนเราเอาน้ำดับไฟนั่นแหละ ไม่ใช่ว่าไฟมันดับแต่มันขาดการติดต่อ ไฟกับเหยื่อมันติดกันไม่ได้เพราะน้ำมันไปกั้นไว้ คราวนี้ตัวสติก็เหมือนกับน้ำที่มากั้นไว้ ไม่ให้ไฟไปไหม้เชื้อ อ่ากิเลศมันไม่ได้เชื่อมกัน มันไม่ติดต่อกัน เราก็ดับความทุกข์ได้ เวลาใดเราดับทุกข์ได้เราก็สบายใจ คือมีความสงบ แต่เวลาใดดับทุกข์ไม่ได้ก็ร้อนรนกระวนกระวาย ลุกขึ้นนั่งลงเฮ้อไม่มีความสุขเลยนะ ไม่มีปกติในจิตใจ วุ่นวายด้วยประการต่างๆ พึมพำๆ ดุคนนั้นด่าคนนี้ ไม่รู้จะว่าใครก็หน้าขมึงทึงเป็นยักษ์ขมูขีไปตามเรื่อง นี่มันเรื่องอย่างนั้น มันเกิดขึ้นในจิตใจของเรา
ถ้าเราไม่รู้มันก็เกิดใหญ่แหละ คือเราไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไร ไม่รู้ว่าเราคิดอะไร และไม่รู้ว่ากริยาอาการที่เราแสดงออกเป็นอย่างไร เราไม่รู้ เราไม่รู้มันก็ไปเรื่อยแหละ ทำสิ่งนั้นต่อไป เพราะไม่รู้ว่ามันไม่ดีนี่ แต่เมื่อมาฟังธรรมคำสอนของพระ พระท่านบอกว่าอย่างนั้นไม่ดี ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่ควร แล้วเราก็ไปนั่งดูตัวเราว่าเออ กูมีหรือเปล่า ไอ้แบบนั้นมันมีอยู่ในตัวฉันหรือเปล่า เออมีมานานแล้ว ไม่ดีนิ พระท่านบอกว่าไม่ดี แต่ว่าอย่าเชื่อ แต่มองดูว่ามันดีไหม ถ้าสิ่งนั้นอยู่ในใจเรามันดีไหม ไม่มีมันดีไหม มันสุขไหม หรือว่ามันทุกข์ มันร้อนหรือว่ามันเย็น มันสงบหรือว่าวุ่นวายนะ เราก็มองที่ตัวเรา
พระพุทธศาสนาสอนให้เรามองที่ตัวเราเอง ให้เข้าใจตัวเองถูกต้อง แก้ไขตัวเองถูกต้อง แล้วสิ่งทั้งหลายก็ดีขึ้นนี่หลักการเป็นอย่างนั้น อ่าจึงขอให้ญาติโยมได้เข้าใจอย่างนี้ ในฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นฤดูกาลแห่งการชำระชะล้าง ฝึกฝนอบรบตนเอง เพื่อให้เจริญ ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยศรัทธา ด้วยความเพียร ด้วยความตั้งใจมั่น เพื่อก้าวหน้าไปสู่ความพ้นทุกข์พ้นร้อนในชีวิตประจำวัน อ่าดังแสดงมาก็สมควรแก่เวลา
- ปาฐกถาธรรมอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๓