แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอให้ญาติโยมทุกคนอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันที่พระอยู่จำพรรษา การอยู่จำพรรษาเป็นเรื่องพระวินัย เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เพื่อให้พระได้พักในฤดูฝน เพราะว่าพระในสมัยก่อนนั้นท่านท่องเที่ยวไปสั่งสอนธรรมะแก่ประชาชน ในครั้งแรกๆพระน้อย พอฤดูฝนก็หยุดพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง เพราะการไปมาไม่สะดวก แต่ว่าต่อมาพระมีมากขึ้น พระบางพวกก็เป็น แม้หน้าฝนก็ยังเดินไปเรื่อยๆ ไปเที่ยวสอนคนที่นั้นที่นี้
ชาวอินเดียนั้นเค้าถือว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต ต้นหญ้าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ควรจะทำลายไม่ควรจะพราก ครานี้พระเดินไปเหยียบต้นไม้บ้าง ต้นข้าว ต้นกล้าของชาวนาให้เสียหาย ชาวนาก็บ่นได้ยินไปถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บัญญัติว่าในฤดูฝนสามเดือน คือ ตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๘ แรม ค่ำ ๑ จนถึงกลางเดือนสิบสองเป็นเวลาฤดูฝนเป็นเวลาที่พระควรจะหยุดพักไม่ไปใหนตลอดสามเดือน ความจริงฤดูฝนนั้นสี่เดือน แต่ว่าทิ้งท้ายไว้เดือนหนึ่งเป็นเดือนสำหรับทำจีวร ก็พระสมัยก่อนนั้นไม่มีจีวรฟุ่มเฟือยเหมือนกับเราสมัยนี้ ญาติโยมเอามาถวายบ่อยๆแล้วก็ซื้อหาได้ง่ายสะดวกสบาย
สมัยก่อนพระท่านไปเที่ยวเก็บผ้าบังสกุล คือผ้าเปื้อนฝุ่นจากกองขยะมูลฝอย จากซากศพจากที่ต่างๆ เอามาทำเป็นจีวร แล้วก็ใช้กันไปตามเรื่อง อันนี้เมื่อถึงท้ายฤดูฝนหนึ่งเดือนนั้นพระพุทธเจ้าบอกว่า ออกพรรษาได้แต่ว่าอย่าไปใหนก่อนให้ช่วยกันทำจีวร ช่วยกันหาผ้ามาทำจีวรเตรียมตัวสำหรับที่จะเดินทางไปเผยแผ่ธรรมะต่อไป การอยู่จำพรรษาก็ได้เกิดขึ้น
การอยู่จำพรรษานั้นต้องอยู่ในที่มุงที่บัง คือ เป็นอาคารสมัยแต่ก่อนเค้าเรียกว่า กุฏิ กุฏินี้ถ้าแปลตามตัวก็แปลว่ากระท่อมเล็กๆ ไม่ใหญ่โตมโหฬารอะไร เป็นที่สำหรับพระอยู่ กว้างก็ประมาณ ๓ เมตร ยาว ๔ เมตรอะไรอย่างนั้น แล้วก็ทำให้ง่ายมุงใบไม้ บังด้วยใบไม้ ที่อยู่ของพระในฤดูฝนต้องมีฝาแล้วก็มีหลังคา ทำไมต้องมีฝามีหลังคาด้วยเพราะฝนชุก ถ้าไม่มีหลังคาก็เปียกปอน ไม่มีฝาฝนก็สาด เพราะงั้นต้องมีฝามีหลังคาอยู่ได้ พระท่านไปเดินทางไปใหนมาใหน ถ้าพอถึงวันเข้าพรรษาก็บอกชาวบ้าน บอกว่าพวกอาตมาจะอยู่จำพรรษา ณ บริเวณป่าโน้น ชาวบ้านก็ไปช่วยสร้างกระท่อมเล็กๆถวายกระท่อมละองค์ๆ ให้พระอยู่จำพรรษา พระก็มาบิณฑบาตในบริเวณนั้น ชาวบ้านก็ได้ทำบุญสุนทานกันไปตามเรื่อง แล้วมีเวลาท่านก็ไปสอนธรรมะให้ญาติโยมได้ฟังได้เกิดความรู้ความเข้าใจ นั้นเป็นเรื่องของการเข้าจำพรรษา
ในสมัยนี้ถ้าเรามีวัดอยู่เป็นหลักเป็นฐาน แต่ว่าบางองค์ก็ชอบเที่ยวเหมือนกัน เที่ยวธุดงค์ไปบ้างไปโน่นไปนี้ พอถึงฤดูกาลเข้าพรรษาก็ควรจะหยุดพักกันเสียทีหนึ่ง พักเพื่อปรับปรุงตัวเอง เพื่อศึกษาธรรมะให้ลึกซึ้ง เพื่อความก้าวหน้าในธรรมวินัย เพราะว่ามัวแต่ไปเทศน์อย่างเดียวไม่ค่อยจะได้ดูตัวเองเท่าได ไม่ค่อยจะได้ศึกษาต่อเพิ่มเติม ไม่ได้ค้นคว้าตำหรับตำราอันจะเป็นปัญญามากขึ้น พอฤดูเข้าพรรษาก็ควรจะหยุดพัก แล้วก็ทำหน้าที่ศึกษาปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไป พอออกพรรษาก็จะเดินทางต่อไปอีก แต่ว่าไม่ค่อยจะได้หยุดกันเหมือนกันเพราะชาวบ้านนิมนต์ไปที่นั้นที่นี้กันบ่อยๆ แล้วในฤดูกาลเข้าพรรษานี้ชาวบ้านก็ชอบทำบุญอะไรๆ กันเป็นพิเศษ เพราะถือว่าเป็นฤดูกาลพิเศษด้วย พระที่เป็นนักเทศน์นักสอนก็ต้องเดินทางไปอย่างนั้นอย่างนี้ ความจริงก็ไม่ค่อยจะสบายใจเท่าใด อยากจะอยู่วัดมากกว่าในฤดูกาลเข้าพรรษาและก็พระในวัดนี้ที่เป็นนักสอนก็ไม่อยากให้ไปสอนที่อื่น ควรจะหยุดพักศึกษาเล่าเรียนปรับตัวปรับตนของตนให้ดีขึ้น แล้วออกพรรษาค่อยไปว่ากันใหม่ อันนี้ก็จะดีขึ้น แต่กำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างนั้น แต่หยุดกันได้หรือไม่ก็ไม่รู้ ความจริงการหยุดนั้นเป็นการดีคือเป็นการพักผ่อนแล้วก็เตรียมตัวจะทำงานต่อไป ถ้าเราไม่มีการพักผ่อนเลย ทุนมันก็จะหมดเหมือนกันเพราะไม่หาเพิ่มเติม ไม่ศึกษาเพิ่มเติม ทุนก็ค่อยหมดไปสิ้นไป ไม่มีอะไรจะสอนเขามากนัก อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรทำเหมือนกัน
พระในสมัยก่อนท่านจึงหยุดอยู่จำพรรษา ในฤดูกาลเข้าพรรษานั้นท่านไม่ใช่หยุดทางใจ หยุดทางร่างกาย ร่างกายได้รับการพักผ่อนอยู่ที่เดียว แต่ว่าใจของท่านนั้นทำงานตลอดเวลา พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่าให้พยายามบำเพ็ญความเพียรให้สำเร็จในฤดูกาลเข้าพรรษา บางรูปก็สำเร็จในเดือนต้น บางรูปก็สำเร็จในเดือนกลาง บางรูปก็สำเร็จในเดือนสุดท้ายของวันเข้าพรรษา พระเถระผู้เป็นผู้ใหญ่ในหมู่ในคณะที่เดินทางเมื่อไปประจำพรรษาบ้านใดที่ใด ท่านก็บอกกับลูกน้องว่า ฤดูนี้เป็นฤดูที่เราควรทำอะไรอย่างจริงจังไม่เหลวไหล ขอให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตั้งใจขัดเกลาจิตใจ ให้สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ เพราะชีวิตเป็นสิ่งไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่ลอดเวลา อาจจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับเมื่อใดก็ได้ เราจึงควรใช้ชีวิตของเราให้เป็นประโยชน์ ด้วยการตั้งหน้าตั้งตาศึกษาปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้สะอาดปราศจากเครื่องเศร้าหมองใจ ท่านแนะนำกันอย่างนั้น พระที่ได้รับคำแนะนำก็ขะมักเขม้นในการปฏิบัติกันอย่างจริงจังได้มรรคได้ผลกันไปตามๆกัน นี้เป็นเรื่องการเป็นอยู่ของพระในสมัยนั้น
ในสมัยนี้เป็นอีกแบบหนึ่ง คือ พระสมัยนี้เป็นพระนักเรียนโดยมาก นักเรียนตำรา ศึกษาเรื่องนั้นเรื่องนี้ ศึกษากันได้นักธรรม ตรี โท เอก แล้วก็ศึกษาต่อเอาปริญญา ปริญญาตรีไม่พอต้องปริญญาโท ต้องปริญญาเอก เรียนกันเป็นการใหญ่ เพื่อให้มีความรู้ทันสมัย เพราะคนในโลกเค้ารู้มาก แล้วเราก็ต้องรู้ทันโลก แต่ว่ารู้ทันโลกแล้วก็เลยไหลไปกับโลกเสียก็มากเหมือนกัน คือไม่ได้อยู่ในวัด พอรู้มากเข้าโลกก็ชักหนีไปเลยไปกับโลกเสียก็มีเหมือนกัน ที่หยุดอยู่ได้ก็มีเหมือนกัน จะได้ช่วยพระพุทธศาสนากันต่อไป
สำหรับญาติโยมชาวบ้านในฤดูกาลเข้าพรรษานี้ เราควรจะทำอะไร เราก็ควรจะได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะทำอะไรให้จริงจังกันซักอย่างสองอย่าง สิ่งใดควรละก็ละให้จริงๆ สิ่งใดควรเจริญก็ควรเจริญกันให้จริงๆ ถ้าเราช่วยกันทำอย่างนี้ ความเป็นอยู่ของพุทธบริษัทก็ดีขึ้น เช่น ญาติโยมทั้งหลายควรอธิษฐานใจว่า ทุกวันอาทิตย์จะมาฟังธรรมที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ แล้วก็มาทุกอาทิตย์ไม่ขาดไม่ลา มาทุกอาทิตย์ ถ้าร่างกายเป็นปรกติไม่เจ็บไม่ไข้ก็มาฟังติดต่อกันไป หรือว่าตั้งใจว่าในวันพระ จะถือศีลอุโบสถ ทุกวันอุโบสถหรือทุกวันพระ พอถึงวันพระก็ชักชวนกันมาวัด มารักษาศีล มาฟังธรรม มาปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ ทำเป็นประจำทุกวันพระ หรือว่าเรามีอะไรที่เป็นเรื่องไม่ดีไม่งามอยู่ในเนื้อในตัวของเรา เราก็ตั้งใจที่จะละเลิกจากสิ่งนั้น หันเข้าหาความงามความดีกันต่อไป
เมื่อมาอยู่ที่วัดนี้ใหม่ๆ มีหัวหน้าสถานีทดลองข้าวที่สถานีทดลองข้าวบางเขนนี้ก็อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตร๚นั้นเองเป็นผู้ปกครอง หัวหน้าก็มาปรารภให้ฟัง บอกว่าคนงานของผมนี้ไม่ไหว เล่นการพนันก็มี ดื่มเหล้าก็มี หนีเที่ยวไม่ทำงานก็มี พูดจาไม่ค่อยจะเป็นเรื่องเป็นราวก็มี จะทำอย่างไรดี หลวงพ่อก็บอกว่าเอาพระไปเทศน์เสียบ้างซิ ให้เขาได้รู้บาปบุญคุณโทษ ก็เลยนิมนต์ไปเทศน์ เทศน์กันมาเรื่อยๆจนถึงกระทั่งถึงวันเข้าพรรษา วันเพ็ญอาสาฬหะก็ไปแสดงธรรม แสดงธรรมแล้วก็ชักชวนว่าพวกเราเนี้ย ชวนกันอธิษฐานใจงดเว้นอะไรๆกันเสียบ้างเถิด เพราะทำแต่สิ่งที่ไม่ถูกต้องมาก็นานแล้ว ชีวิตก็ไม่ดีขึ้นการงานก็ไม่ดีขึ้น สุขภาพร่างกายก็เสื่อมสุขภาพจิตก็เสื่อม ถ้าเราต้องการความสุขความเจริญต้องมาอธิษฐานใจกันหน่อย แล้วแนะให้ทุกคนว่าไปเขียนคำอธิษฐานใจมา ใส่กระดาษแผ่นน้อยๆเอามาส่งในวันแรมค่ำ ๑ คือวันเข้าพรรษา เขาเอามาส่งแล้วก็แปะไว้ที่สำหรับติดโฆษณา สมัยก่อนมันไม่มีป้ายแบบสมัยใหม่ มีผ้าสีแดงเอามาขึงไว้แล้วเอาเข็มหมุดกลัดไว้ ก็เขียนมาทุกคน เขียนกันแปลกๆ เช่น บางคนเขียนว่า ๓ เดือนจะไม่ดื่มเหล้าเลย บางคนเขียนว่า ๓ เดือนจะไม่เล่นการพนันเลย บางคนเขียนว่า ๓ เดือนจะไม่หลบงาน บางคนเขียนว่า ๓ เดือนจะไม่หาเรื่องทะเลาะกับแม่บ้าน บางเรื่องคนก็ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ตามเรื่องที่เขาอธิษฐานกัน แล้วมาเก็บไว้ที่ป้ายนั้นเป็นเวลา ๓ เดือน ในพรรษาก็ไปเทศน์ทุกวันพระกลางเดือน เดือนละครั้งๆ จนกระทั่งออกพรรษา พอถึงวันออกพรรษาก็เอาป้ายนั้นมาทั้งหมด ไอ้ที่เขาเขียนมาหยิบขึ้นอ่านทีละราย คนชื่อนั้นอธิษฐานว่าอย่างนั้น แล้วก็ถามเป็นรายตัวว่าได้ทำไว้เรียบร้อยมั้ย บอกว่าทำเรียบร้อยตามสัญญาไม่มีการโกหกอะไร ถ้าถามไปทุกๆคน ว่าทุกคนได้ทำดีอย่างนั้น แล้วก็ถามว่าเมื่อเราทำดีอย่างนั้นหน่ะครอบครัวดีขึ้นมั้ย การงานดีขึ้นมั้ย การเงินของพวกเราดีขึ้นมั้ย สุขภาพจิตสุขภาพกายดีขึ้นมั้ย ถามเป็นรายตัวไป ทุกคนก็ตอบว่าดีทั้งนั้นมีความสบายมากขึ้นอะไรๆก็เรียบร้อย ถ้ามันเรียบร้อยอย่างนี้แล้วเราจะเลิกเสียทำไม ๓ เดือนมันน้อยไป ปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน ถ้าเราทำเพียง ๓ เดือนมันก็น้อย อีก ๙ เดือนมันก็ไม่ได้ทำ เวลา ๙ เดือนเปื้อนมาก แต่มาอาบ ๓ เดือนมันจะคุ้มกันไหม ก็ถามให้ให้ก็ตอบว่าไม่คุ้มกัน เพื่อให้คุ้มกันพวกเราทุกคนควรอธิษฐานต่อไปอีก ๙ เดือนดีไหม ทุกคนก็ยกมือว่าดี บอกว่าดีก็ เอ้า ทำต่อไปเลย ควรอธิษฐานใจต่อไปอีกว่า ๙ เดือนนี้จะอยู่อย่างนี้
รวมความว่าปีนั้นคนงานเรียบร้อยหมด ไม่มีใครหลับ ไม่มีใครหลบงาน ไม่มีการทะเลาะกันในครอบครัว ไม่มีการทะเลาะกันในหมู่เพื่อนฝูง ไม่มีการเล่นการพนัน ไม่มีการดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คนงานก็ดีขึ้น กิจการก็ก้าวหน้าโดยไม่ต้องไปยืนคุมกำแดดกำฝนอยู่ตลอดเวลา ทุกคนสำนึกในหน้าที่อันตนจะต้องทำ แล้วก็ทำหน้าที่ด้วยใจรักด้วยความขยัน ด้วยความเอาใจใส่ ด้วยการใช้สติปัญญา เรื่องทั้งหลายก็ดีขึ้นอันนี้เอามาเล่าเป็นตัวอย่างว่า คนเราถ้าได้ตั้งจิตอธิษฐานในเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องดีๆมันก็เป็นเรื่องช่วยเพื่อประดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น
ถ้าเราอ่านเรื่องเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คือบุคลผู้มีจิตเกี่ยวข้องกับปัญญา คำว่าสัตว์นั้น แปลว่าผูกพันเกี่ยวข้อง โพธิสัตว์ ก็หมายความว่า มีจิตผูกพันเกี่ยวข้องกับเรื่องปัญญา เรื่องโพธิมันก็หมายถึง ปัญญา เราจึงเรียกคนประเภทนั้นว่าโพธิสัตว์ แปลว่า บุคคลผู้มีจิตเกี่ยวข้องในทางปัญญา คิดเพื่อให้เกิดปัญญา พูดเพื่อให้เกิดปัญญา ทำเพื่อให้เกิดปัญญา แล้วมีการอธิษฐานเพื่อให้จิตใจสูงขึ้นจากระดับธรรมดาของคนทั่วๆไป
เพราะฉะนั้นถ้าเราอ่านในเรื่อง ชาดกในทางพระพุทธศาสนา เรื่องชาดกความจริงก็เป็นเรื่องนิทานธรรมดานั้นแหละ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงเอามาเล่าแก่ภิกษุทั้งหลายในเวลาตอนเย็นๆ คือ พระมาประชุมกันแล้วพระองค์ก็เสด็จมา ปรารภความผิดความบกพร่องของพระรูปใดรูปหนึ่งแล้วก็เล่านิทานเปรียบเทียบให้ฟังว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เปรียบเทียบให้เกิดความสำนึกรู้สึกตัว ในนิทานเหล่านั้นล้วนแต่เป็นคติธรรมสอนใจเหมาะแก่คนทั่วไปเหมือนกัน โดยเฉพาะเหมาะแก่เด็กมาก เพราะเด็กชอบฟังนิทาน ถ้าเราจำเรื่องนิทานชาดกย่อๆสั้นๆ เรื่องสั้นก็มี เรื่องปานกลางเรื่องยาวก็มี จำแล้วเอามาเล่าให้ฟัง เล่าแล้วก็ต้องยกตัวอย่างคติธรรมในเรื่องนั้นว่ามีคติธรรมอะไร มีความเพียรอยู่ตรงใหน ความซื่อสัตย์ ความอดทน ความขยันขันแข็ง ความเสียสละ ความกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นคุณธรรมนั้นอยู่ที่ตรงใหน เอามาพูดจา แนะแนวให้เด็กเข้าใจ พูดบ่อยๆเด็กก็จะรับสิ่งถูกต้องไปไว้ในใจ
ชีวิตของพระโพธิสัตว์เป็นชีวิตที่มุ่งมั่นเพื่อความพ้นทุกข์ มุ่งมั่นเพื่อให้เกิดปัญญาแล้วก็ช่วยตนให้พ้นทุกข์ช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ด้วย เราจึงให้ชื่ออย่างนั้น พระโพธิสัตว์มีคุณธรรมหลายอย่าง แต่มีอยู่ข้อหนึ่งเรียกว่าอธิษฐานบารมี บารมีแปลว่าธรรมที่จะเป็นข้อปฏิบัติให้ไปถึงฝังโน้น ไอ่ฝังนี้มันวุ่นวายเต็มทีแล้ว แต่ฝังโน้น สงบ สะอาด สว่าง ไม่มีความวุ่นวาย เราจะไปสู่ฝังโน้นมันต้องมีบารมีธรรมเป็นเครื่องข้ามฝัง คือต้องทำติดต่อกันไปตลอดเวลา ไม่หยุดไม่ยั้งก็จะเกิดบารมีเป็นเครื่องประกอบให้มีกำลังภายในที่จะข้ามฝังได้สมความตั้งใจ
ทุกเรื่องที่เป็นพระโพธิสัตว์ ในเรื่องท่านจะมักอธิษฐานใจ ในเมื่อจะทำอะไรว่าจะทำอย่างนั้นก็มีการอฐิษธานใจก่อน อธิษฐานใจแล้วก็ทำด้วยความมั่นใจ ทำตามคำอธิษฐานไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีอะไรมาเกิดขึ้นเป็นอุปสรรคของชีวิต ท่านก็จะไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอันขาด เช่น มีเรื่องๆหนึ่งว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามาบิณฑบาตรแล้วก็เจ้าของบ้านนั้นถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์จะไปใส่บาตร มารก็มาเนตรมิตกองไฟเป็นหลุมถ่านเพลิงขวางหน้าอยู่ แล้วก็บอกว่าถ้าท่านเดินลงไปในหลุมถ่านเพลิงท่านก็จะต้องตาย ชีวิตท่านก็จะตาย พระโพธิสัตว์อธิษฐานใจมั่น ว่าเราจะต้องเอาอาหารไปใส่บาตรพระปัจเจกพระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่กลัวต่อถ่านไฟที่ลุกโพลงอยู่ ท่านก็เดินลุยไปในกองไฟนั้น แต่กองไฟนั้นมันไม่ใช่กองไฟแท้ หากเรียกสมัยนี้ว่า กองไฟวิทยาศาสตร์ เกิดจากอำนาจจิตของผองมารที่มาสร้างขึ้น พอท่านอธิษฐานใจแรงกล้าแล้วก็เดินลงไป ไฟมันก็มอดไปหมดคือมารพ่ายแพ้ พญามารก็ ร้องโอ้! คนนี้อาจริงเราต้องยอมแพ้เลย ไฟมอดท่านก็เดินไปใส่บาตรให้แก่พระโพธิสัตว์ได้สมความปรารถนา อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นง่ายๆว่า อฐิษธานใจแล้ว แม้จะมีภัยเกิดขึ้นถึงกับเสียชีวิตก็ไม่ยอม ต้องทำตามที่อธิษฐานไว้
พวกเราคุ้นเคยกับเรื่องเวสสันดรชาดก เพราะว่ามีการเทศน์กันบ่อยๆ เค้าเรียกว่าเทศน์มหาชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้มีทั้งนั้น แต่ภาคเหนือ เรียกว่า ทำบุญพระเวส ภาคอีสานก็เรียกว่าทำบุญพระเวสเหมือนกัน ภาคกลาง ภาตใต้ เรียกว่า ทำบุญมหาชาติ ในเรื่องของเวสสันดรนั้นเป็นเรื่องที่มีการอธิษฐานใจมาก มากที่สุดเลย พอเกิดมาถึงก็อธิษฐานแล้ว อธิษฐานว่าใครจะขออะไรจากเรา เราให้ทั้งนั้น แม้จะขอดวงตา ขอดวงใจ ขอเลือด ขอเนื้อ ก็จะให้ เป็นการประกาศว่าเกิดมาเพื่อให้ ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะเอาอะไร ใครขออะไรก็ให้ทั้งนั้น ฉะนั้นเมื่อพออายุได้ พอรู้เดียงสาเติบโตขึ้นมาก็ให้ทานเป็นการใหญ่ แล้วใครมาขออะไรก็ให้ เพราะฉะนั้นจึงมีคนมาขอเอาม้าไป เวลาเดินก็มาขอช้าง ท่านก็ให้ ครานี้ประชาชนก็โกรธเคืองว่าช้างนี้เป็นช้างแก้วมิ่งมงคลเมืองควรจะอยู่ในเมืองนครสีพี พระเวสันดรนี้ทำไม่ถูกประเพณีเอาช้างไปให้เป็นทาน เลยเดินขบวน เดินขบวนมันมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดินขบวนไปหาพระเจ้ากรุงสัญชัยไปชูป้ายอยู่หน้าวังนั้น แต่สมัยนั้นไม่มีป้ายและผู้คนไม่รู้หนังสือ แต่ว่าไปยืนตะโกนโหวกแหวกอยู่หน้าวังของพระเจ้ากรุงสัญชัย พระเจ้ากรุงสัญชัยก็ได้ยิน เอ้อ เสียงว่าใครมาทำเอะอะกันใหญ่หน้าวังไปดูดิ พวกข้าราชการก็ไปดู ก็ได้ทราบว่าคนมาทูลคัดค้านพระเจ้ากรุงสัญชัย พระเวสสันดรทำผิดคือให้ทานช้าง แล้วก็ขอร้องว่าให้เนรเทศพระเวสสันดรออกไปจากนครสีพี ขอถึงขนาดอย่างนั้น ก็เหมือนเราขออะไรๆกันในบัดนี้ ขออย่างนั้น ขออย่างนี้ก็เอามาจากแบบโบราณนั้นแหละไม่ใช่ของใหม่มันเป็นของเก่าที่มีมาตั้งแต่ก่อน ไปขอพระเจ้ากรุงสัญชัย พระเจ้ากรุงสัญชัยเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเด็ดขาด ท่านเป็นผู้มีธรรมะ คือว่าไม่เข้าข้างลูกชาย ประชาชนก็ว่าลูกชายท่านผิด ท่านจะบอกว่าลูกฉันทำไม่ผิดมันก็ไม่ได้ มันขัดต่อมติมหาชนจะเกิดปัญหาทางการเมือง เพราะฉะนั้นท่านทำอย่างไร ท่านก็เรียกลูกมาพูดดีๆ บอกว่าลูกเอ๋ย เวลานี้ประชาชนเขาประท้วงในการที่ลูกให้ทานช้างไปเป็นทานนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ฝืนมติของประชาชน เพราะฉะนั้นลูกไปอยู่ป่าเถอะ ไปบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ในป่า เมื่อเรื่องสงบแล้วค่อยมากันใหม่
ความจริงเนรเทศแต่พระเวสสันดรหรอกแต่นางมัทรีก็สมัครใจไปด้วย ลูกน้อยสองคนก็ไปด้วย ออกเดินทางนั่งรถม้า พอไปๆหน่อย คนก็มาขอม้าไป เหลือแต่แล้วรถจะไปอย่างไร ก็มีคนพวกหนึ่งมาขอรถไป ก็ให้ไป พระเวสสันดรอุ้มชาลี นางมัทรีอุ้มแม่กัญหา ก็เดินไป เดินกันไปเรื่อยๆ จนกระทั้งไปถึงนครเชตราช ของพวกกษัตริย์เชตราช พวกกษัตริย์นั้นรู้ว่าพระเวสสันดรเป็นเจ้าชายมาก็ออกไปต้อนรับขับสู้ด้วยดี ให้ที่พักที่อาศัย แล้วบอกว่าไม่ต้องไปอยู่ป่าหรอก พักอยู่ที่นี้ก็แล้วกัน พระเวสสันดรบอก “ไม่ได้” มันจะมีเรื่องทางการเมืองเกิดขึ้น ประชาชนกรุงสัญชัยเค้าจะสงสัย ว่าพวกท่านนี้เป็นสมัครพรรคพวกของพวกข้าพเจ้าแล้วจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นอย่าให้เราอยู่เลย ปล่อยให้เราไปอยู่ในป่าตามคำที่เราได้สัญญาไว้กับคุณพ่อเถอะ เพราะพ่อต้องการให้ไปอยู่ป่าหิมพานต์ก็ต้องไปมาหยุดอยู่ที่นี้ไม่ได้มันจะมีผลกระทบกระเทือนทางการเมือง แน่ะ พระเวสสันดรท่านก็มีความเข้าใจในเรื่องนี้ ฉลาดเหมือนกัน กษัตริย์เชตราชจะทูลอย่างใดๆก็ไม่ยอมและกษัตริย์พวกนั้นก็ไปสร้างอาศรมไว้ แล้วก็ให้คนนำทางไปสู่ป่าหิมพานต์ แล้วก็ให้นายพรานเจตบุตรไปเฝ้าต้นทางไว้ อย่าให้ใครไปรบกวนขออะไรอีก เพราะไม่มีอะไรจะให้ขอแล้ว มีอยู่แต่ลูกแก้วกับพระนางมัทรีเท่านั้นแหละ ถ้าขออีกก็คงให้อีก แล้วก็จะลำบากจะเดือดร้อนเลยให้พรานเฝ้าไว้เจตบุตรเฝ้าต้นทางไว้ พระเวสสันดรก็ไปอยู่ในป่าตามความตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนา นางมัทรีก็ตื่นเช้าก็เอากระเช้ากับไม้สอยไปเที่ยวสอยผลไม้ในป่า
สมัยก่อนผลไม้ในป่ามันเยอะคนมันน้อย เก็บแล้วกินกันไม่หวาดไหว มีมากมายก็เก็บมาเลี้ยงลูกเลี้ยงสามี อยู่กันคนละอาศรมสัญญากันว่ากลางค่ำกลางคืนอย่าเดินมาหากันเพราะเราเป็นนักพรต เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ก็อยู่กันอย่างนั้น แต่ว่าผลที่สุดชูชกแกดั้นดนมาขอชาลีกัญหาจนได้ เพราะว่าชูชกนี้แกมีเมียสาว แล้วก็เมียสาวถูกพวกเมียคนชาวบ้านแถวนั้นรังแก บอกว่าไม่ทางแล้วรึจึงมาหาผัวแก่เนี้ย ชาติก่อนคงจะถวายดอกบัวเหี่ยวๆไว้ จึงได้มาเอาผัวผิวเหี่ยวหนังเหี่ยวอย่างนี้ ต่อว่าต่อขานนางก็ละอายใจ เลยมาบอกชูชกว่าฉันจะไม่เหยียบไปที่ท่าน้ำอีกต่อไปตั้งแต่วันนี้ ชูชกบอกไม่เป็นไรเรื่องน้ำเรื่องท่า พี่จะไปเอามาให้อาบที่บ้าน แต่โอ้ ไม่มีธรรมเนียมผัวขนน้ำมาให้เมียอาบทำงานทุกอย่างแทนภรรยาเนี้ยมันไม่มีธรรมเนียม ท่านต้องไปหาคนใช้มาให้ บอกว่าจะไปหาใครแก่ป่านนี้แล้ว ไปหาโน่น พระเวสสันดรโน่นใจดี มีลูกชายลูกหญิงไปขอมาเถอะ ขอมาเป็นคนใช้ ชูกชกก็จำใจต้องไปเลยเดินทางไปขอชาลีกัญหาได้มาเพื่อเอามาเป็นคนใช้แต่มาไม่ถึง ผลที่สุดก็ชาลีกัญหาฉลาดกว่า แนะทางให้ชูชกเข้าเมืองสีพี ไปหาพระเจ้าปู่เลย พอชาวบ้านเจอก็ว่านี้มันชาลีกัญหานี้ลูกนายเรา อีตาแก่คนนี้ท่าจะไปลักเค้ามาเลยเข้าไปมะรุมมะตุ้ม ชูชกแกก็ฉลาดยกไม้เท้าบอกเดี๋ยวก่อนๆ อย่ามารังแกฉัน นี้ฉันถือสารของพระเวสสันดรมาให้พระเจ้ากรุงสัญชัยนะเพื่อก็จะได้พบกับหลานแก้ว บอกให้ตายใจพาไปเฝ้าพระเจ้ากรุงสัญชัยแล้วก็ได้พบปู่พบหลานกันอะไรไปตามเรื่อง
เรื่องเหล่านี้มันมีอยู่ในเรื่องชาดกมากมายเป็นคติธรรมทั้งนั้นเป็นข้อเตือนใจ มีการอธิษฐานใจว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ทำตามที่ตั้งใจไว้ บุคคลผู้มีใจจริงต้องมีการอฐิษธานใจว่าจะทำอะไร และการกระทำนั้นต้องเป็นเรื่องถูกต้อง เป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น ถ้าอธิษฐานใจในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ เค้าไม่เรียกว่าอธิษฐานบารมี เป็นการอาฆาต พยาบาทจองเวรไป เช่นว่า พ่อถูกเขาฆ่าตาย ลูกไปยืนหน้าศพพ่อแล้วสถบสาบานว่า พ่อตายแล้วลูกจะต้องแก้แค้นให้ได้ จะเอาเลือดมันมาแก้แค้นพ่อให้ได้ อย่างนี้มันไม่ใช่อธิษฐาน การกระทำอย่างนั้นเป็นบาปเป็นโทษ เพราะเป็นการแสดงความอาฆาตพยาบาทรุนแรง เหมือนกะหนังจีนเลย ว่าพ่อถูกฆ่าลูกก็ต้องไปสัญญาแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ แล้วก็จะฆ่าข้าศึกที่ฆ่าพ่อให้ได้ ไอ้นี้มันไม่ใช่เรื่องความกตัญญูแล้ว กตัญญูกตเวทีมันไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าตั้งใจผิดเป็นมิจฉาทิฐิไป แล้วก็ไปฆ่าตอบแทนกัน เป็นเรื่องสร้างปัญหาเวรสืบต่อกันต่อไป
พระพุทธเจ้าตรัสว่าเวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับด้วยการไม่ผูกเวรไว้ให้อภัยแก่กันและกัน การอธิษฐานจึงไม่เป็นไปในรูปจองกรรมจองเวร แต่ต้องอธิษฐานในรูปไม่จองกรรมจองเวรให้อภัยแก่กันและกัน ไม่ถือโทษโกรธตอบจึงจะเป็นการถูกต้อง คนต้องเราต้องอธิษฐานในทางที่ถูกให้ถือหลักให้ว่าอธิษฐานในสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วย ดีด้วย เป็นประโยชน์แก่เราเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและประโยชน์นั้นต้องดีด้วย ประโยชน์บางทีมันไม่ดีก็มีเหมือนกัน ทำแล้วมันได้ประโยชน์ทุกฝ่ายแต่มันไม่ดี เช่น เราไปต้มเหล้าเถื่อนแล้วก็กินกันเนี้ยมั้นไม่ดี มันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น คือได้กิน แต่กินแล้วมันเมา เมาแล้วมันเสียนิสัย เสียสันดาน ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง จึงไม่ควรจะกระทำเช่นนั้น เพราะฉะนั้นการอธิษฐานใจอะไร ต้องอธิษฐานเพื่อสร้างสรรค์คุณงามความดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา อธิษฐานว่าเราจะให้ทานอย่างนั้น จะรักษาศีล จะเจริญภาวนา จะฟังธรรมเทศนา จะไหว้พระสวดมนต์ทุกค่ำเช้าเข้านอน หรือว่าจะอธิษฐานว่าเราจะเป็นผู้อยู่เพื่อความเสียสละประโยชน์และความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขส่วนรวม ถ้าตั้งจิตอธิษฐานอย่างนี้เป็น การอธิษฐานจิตที่ชอบที่ควร เป็นเรื่องเหมาะที่เราทั้งหลายควรกระทำ โดยเฉพาะในฤดูกาลเข้าพรรษา
ญาติโยมก็ควรคิดว่าจะอฐิษธานอย่างไรในทางที่จะเป็นประโยชน์ เช่น อธิษฐานว่าจะถือศีล ๕ เคร่งครัดตลอดพรรษา แล้วจะถือศีลอุโบสถทุกวันพระ หรืออธิษฐานว่าจะมาฟังธรรมทุกวันอาทิตย์ หรือจะมาในวันพระ สุดแล้วแต่ความสะดวก หรือ อธิษฐานว่า กลางคืนก่อนนอนจะไหว้พระสวดมนต์ นั่งสงบใจครั้งละ ๒๐ นาที ตื่นเช้าขึ้นมาจะไหว้พระสวดมนต์นั่งสงบใจ ๑๕ นาทีก่อนที่จะไปทำงานหรืออธิษฐานว่าจะรักษาศีล ๕ ให้เคร่งครัดทุกข้อ ไม่ฆ่าสิ่งที่มีชีวิต ไม่ถือเอาสิ่งของของใครๆ ไม่ประพฤติผิดในกามารมณ์ ไม่พูดโกหกคำหยาบคำเหลวไหลกับใครๆ ไม่เสพสิ่งเสพติดมึนเมาทุกประเภท คือ ไม่ดื่มเหล้า ไม่ดื่มเมรัยแล้วก็ไม่เสพสิ่งเสพติด
มาในศีลข้อที่ ๕ นี้อยากจะย้ำอีกหน่อยว่ามันมีความหมายอยู่สามคำ สุราคำหนึ่ง เมรัยคำหนึ่ง มัชชะคำหนึ่ง แล้วเวลาแปลนี้มันทิ้งไปตรงตัวเลย แปลว่าข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการดื่มกินสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท หายไปตัวหนึ่ง คือ มัชชะหายไป ศัพท์ว่ามัชชะหายไป หายไปนานแล้ว ไม่มีใครเอามาใส่เข้าไปซักที อ่า ทำไมจึงหายไป เพราะผู้แปลยังติดสิ่งเสพติดกันอยู่ เลยทิ้งไปเสียเลยศัพท์นี้ ชาวบ้านไม่รู้ปล่อยไว้อย่างนั้นแหละ มัชชะหมายถึงอะไร สุราคือเหล้า เมรัย คือ ของเมาที่ไม่ได้ต้มกลั่นเอามาหมักมาดองไว้ ล่วงเวลามันก็เมาเหมือนกับน้ำผลไม้ พระพุทธเจ้าให้พระฉันภายใน ๓ ชั่วโมง สมัยก่อนไม่มีตู้เย็นให้ฉันภายใน ๓ ชั่วโมง ถ้าเกินนั้นมันเปลี่ยนสภาพเป็นเมรัย กินเข้าไปแล้วมันเมา มึนได้เหมือนกันเป็นของเมาไป ท้องท่าจะเสียด้วยนะ ของอย่างนั้นพระไม่ให้ฉัน พระพุทธเจ้าไม่ให้พระฉันของหลายเรื่อง ของดองนี้ไม่ใหฉัน ต้องต้มให้สุกด้วยไฟ เช่น ผักเสี้ยนดอง มะม่วงดอง อะไรดองนี้ให้ไปต้มเสียก่อน ฆ่าเชื้อ เรารู้ว่ามันมีเชื้อโรคก็ไม่ให้พระฉันของดอง อ่ะ เช่น พวกแหนมมันต้องให้สุกถึงจะฉันได้ ถ้าเอามาฉันดิบๆ เอามีดมาถึง “กัปปิยังภันเตกัปปิยังกะโรมิ” นี้หลอกกันนั้นเองไม่ใช่เรื่องอะไร เอาไม้ขีดไฟมาขีดหน่อย เอาไม้ขีดจุดวึบลงไป บอกว่าปะติยังภันเตเป็นของควรแล้วครับ ได้ทำให้เป็นของควรแล้ว เพราะฉะนั้นมันการหลอกไม่ใช่เรื่องอะไร มันต้องเอาไปต้มให้สุกถึงจะเอามาฉันกันได้ เอาไม้ขีดไฟจ่อมันไม่ได้ มันไม่ได้ความหมายอะไร แต่ที่ทำกันมักจะทำอย่างนั้น นั้นเป็นของดองเป็นของต้องห้าม
ครานี้พวกมัชชะ เช่น ยาสูบ หมากนี้ก็เป็นของเสพติดเหมือนกัน ขออภัยคุณโยมแก่ๆที่ติดมาตั้งแต่สาว จะไปใหนก็ต้องหิ้วไปด้วย หิ้วหมากหิ้วกระป๋องใส่น้ำหมาก มันก็หนักหน่อยไปใหนก็ต้องพาไป ต้องไปบ้วนในกระป๋องแล้วก็ไปทิ้งกันต่อไป ถ้าเลิกเสียได้ก็ดีเหมือนกัน มันเบาไปเยอะเดินตัวเบาไม่ต้องหิ้ว แล้วหิ้วข้างเดียว เดินก็กระดูกสันหลังก็เอียงไปหน่อย เดินเอียงๆเพราะมันหนักอยู่ข้างเดียว มันไม่ได้หนักสองข้าง ไม่สมดุล อันนี้ตัดสินใจว่าเลิกเสียที อย่ากลัวว่าจะเป็นอันตราย มัน ๒-๓ วัน คือของมันเคย ถ้าไม่ได้ไปรับประทานแล้วมันก็หาว เค้าเรียก เงี่ยน คือ อยากอันนี้แล้วก็หาวหวอด พอหาวแล้วก็ไปกิน กินแล้วก็แพ้ หาวไม่กินมันก็ไม่แพ้ อดได้ทนได้ ๓-๔ วันมันก็เลยไปไม่ต้องไปรับประทานต่อไป
สมัยโน้นเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ส่งเสริมวัฒนธรรมนะ มีพระหลายองค์เลิกฉันหมากเด็ดขาด เหมือนที่เกาะสมุยองค์หนึ่งฉันมาก ต้องตะบันกันใหญ่ เด็กต้องตะบันไว้ แล้วเอาไปใส่ภาชนะไว้ ฉันเหลือเกิน ครานี้พอท่านจอมพลห้าม ท่านว่า เรื่องไม่ใช่เล็กเสียแล้ว ขนาดนายกรัฐมนตรีต้องยืนมือเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วเนี้ย เราควรจะเลิกกันเสียที แล้วท่านอธิษฐานใจเลิก เลิกเด็ดขาดไม่รับประทานต่อไปจนกระทั่งท่านหมดลมหายใจ ท่านไม่รับประทานหมาก ไม่สูบบุหรี่เลย ท่านเลิกได้เด็ดขาด อันนี้ก็ดีเหมือนกัน
หลวงลุงอาตมานี้ ที่ดูแลเลี้ยงอาตมามาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้วก็เฆี่ยนอาตมาแรงเหลือเกิน เป็นแผลอยู่จนบัดนี้ ท่านสูบบุหรี่จัด สูบมวนละใบยาของพม่า สูบควันโขมง แล้วก็สูบใบตองมวนด้วยใบตอง ซิกาแรตไม่สูบ ว่างั้น สูบมาก แล้วก็ฉันน้ำชา ชาต้องแก่ ใส่ปั้นปั้นชนิดกาโบราณ ใส่แล้วชาเกาะเลย วันหนึ่งเด็กก็ไปกลั่น …… จะเฆี่ยนจะตีเป็นการใหญ่ก็มึงเอากากูไปเกาะมันทำไม คือให้ขับชาที่เกาะนั้นออกเสีย ทำให้เสียหาย แต่ว่าพอท่านอายุมากเข้า เลิกเด็ดขาดเลย เลิกบุหรี่ เลิกหมาก เลิกโกรธด้วย เมื่อก่อนหน้านี้โกรธเป็นฝืนเป็นไฟ ลูกศิษย์ทำอะไรไม่ถูกมันต้องตบเปรี้ยงให้หันไปเลย มีอะไรอยู่ไกล้มือฟาดเปรี้ยงเข้าให้ ถ้าอยู่ไกลหน่อยจานข้าวที่ฉันขว้างเปรี้ยงไปให้เลย โมโหหุนหันพลันแล่นถึงขนาดนั้น ใครขึ้นกุฏิแต่งตัวไม่เรียบร้อยก็ลุกขึ้นไล่ตะเพิด ไล่เตะเข้าไปเลย ดุเหมือนกับเสือแต่พอท่านอายุมากเลิกหมดเลย อารมณ์ดียิ้มแย้มแจ่มใสจิตใจเบิกบาน ใครมาหาก็ไม่ดุไม่ว่าคุยดีๆ
วันหนึ่งหลวงพ่อบวชมาหลายพรรษาแล้วไปเยี่ยมท่าน เลยดอดเข้าไกล้ไปถามท่านว่าหลวงลุงเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน ท่านว่า เออ กูไม่เหมือนเมื่อก่อนอย่างไงบ้าง บอกว่าเมื่อก่อนใจร้อน หุนหันพลันแล่น เดี่ยวนี้ใจเย็น เมื่อก่อนสูบบุหรี่จัด ดื่มน้ำชาจัด เดี๋ยวนี้ไม่สูบบุหรี่ไม่ดื่มน้ำชาเพราะอะไร ท่านยิ้ม ยิ้มแล้วก็พูดว่า “กูขี้เกียวจบ้า” ตอบคำว่าเดียว กูขี้เกียจบ้าแล้วว่างั้น ไอ้ที่ทำแล้วมันบ้าแล้วทั้งนั้นเลยบอกกูขี้เกียจบ้าแล้วเลยก็หมดเรื่องเรียบร้อยไม่มีอะไร เลิกได้เด็ดขาด บอกเลิกก็เลิกจริง เพราะท่านเป็นคนใจเข็มแข็ง ถ้าบททำอะไรทำจริง บทเลิกเลิกเด็ดขาด แล้วข้าวของอะไรวางอยู่กับที่นั่ง ลุกขึ้นไปใหนก็วางอยู่นั้น กลับมามันก็ว่างอย่างนั้น ไม่หาย แต่ถ้าหายท่านก็ไม่ว่าอะไร คราวหนึ่งนะ คนมาลักถ้วยชามหมดเลย ถ้วยดีๆ ชามดีๆ เนี้ยเอาหมด ไม่ทิ้งไว้ซักใบ ท่านบ่นอย่างเดียวว่า เฮ้อ มันเหลือเกิน จะเอาก็ทิ้งไว้ใหเกินข้ามซักใบก็ไม่ได้ บ่นเท่านั้นแหละ แล้วก็ไม่ว่าอะไร เอาไปเลย ถ้าหากว่าใครมาเห็นอะไรชอบอกชอบใจ เอาไปเลยไม่บอกก็ไม่เป็นไร วันหลังมาบอกก็ได้ มาถึงอาจจะบอกว่าอันนั้นผมชอบผมเอาไปแล้ว ท่านก็ยิ้มๆไม่ว่าอะไร ไม่ค่อยยึดถืออะไรเท่าใด นี่ เปลี่ยนแปลงไปถึงขนาดนั้น สมัยก่อนอย่างหนึ่งแต่ทีหลังอย่างหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก มีอยู่หลายๆรูปก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น เลิกหมด เลิกหมาก เลิกบุหรี่ เลิกอะไรต่ออะไรเรียบร้อย
ในฤดูกาลเข้าพรรษานี้เป็นฤดูกาลแห่งการเลิกการละ ในเรื่องอะไรต่างๆไม่ต้องลด เลิกเลย ลดไม่ได้ ลด ๓ เดือนยังไม่จบซักที ค่อยๆผ่อน บางคน ๓ ปีผ่อนยังไม่หมดเลย ค่อยๆเลิกมันนานเหลือเกิน ต้องเด็ดขาด ต้องเผด็จการกับมันเลย เผด็จการเลิกเด็ดขาดฉันจะไม่แตะต้องแกอีกต่อไป อย่างนี้เค้าเรียกว่าคนใจเด็ด เป็นนิสัยของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ต้องใจเด็ดมีความตั้งใจมั่น ทำอะไรก็เลิก ละ เด็ดขาดจริงจัง โยมลองทำอย่างนั้นบ้าง ไม่ต้องกลัว ไม่กลัวว่าจะเป็นอันตราย เลิกได้ คนบอกคนบอกดื่มเหล้าแล้วเลิกไม่ได้เดี๋ยงลงแดง ว่างั้น หรือว่าเลิกยาฝิ่นจะลงแดง ลงแดงหมายว่าความว่าไงก็ไม่รู้ ไอ้ลงแดงของแกน่ะ คือ ท้องถ่ายมันจะเสียอะไรอย่างนั้น ความจริงมันก็ไม่เป็นไร เลิกแล้วมันก็เลิกได้ เราจึงควรคิดอย่างผู้อยู่ชนะ อย่าอยู่อย่างผู้แพ้ เพราะเราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้นท่านมีชีวิตอยู่อย่างผู้ชนะ จึงมีพระนามว่าชินะพุทธะ ชินะพุทธะ แปลว่า ผู้ชนะด้วยปัญญา ชินะ แปลว่า ชนะ พุทธะ คือ ปัญญา ชินะพุทธะ ชนะด้วยปัญญา ชนะด้วยเหตุผล ทรงมองทุกสิ่งทุกอย่างให้เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง แล้วไม่แพ้ต่อสิ่งนั้น ชนะตั้งแต่ใต้ต้นโพธิ์ในวันวิสาขบูชา แต่ไม่ได้ประกาศให้ใครรู้ มาประกาศเอาตอนวันเพ็ญเดือน ๘ สามเดือนหลังจากตรัสรู้จึงประกาศชัยชนะ ให้ปัจวคีทั้ง ๕ ได้ทราบ แล้วก็ชาวโลกก็ได้รับรู้ต่อมาจนกระทั้งบัดนี้ว่าพระองค์เป็นผู้ชนะ ชนะความโลภ ความโกรธ ความหลง ขันธกิเลสทั้งหลายทั้งปวงชนะหมดทุกประการนี้ ชนะอย่างนี้ เราก็ต้องทำตนเป็นผู้ชนะในฤดูกาลเข้าพรรษา
การที่จะชนะอะไรนั้นก็ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา พิจารณาตัวเราเอง ถือหลักว่า พิจารณาตนเอง ตักเตือนคนเอง แก้ไขตัวเอง สามเรื่องนี้เอามาใช้เป็นเครื่องมือ พิจาณาตัวเองก็พิจารณาตัวเองก็พิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าเรานี้มีอะไรบกพร่องบ้าง มีอะไรไม่เหมาะไม่ควรที่อยู่ในจิตใจเราบ้างที่ควรจะเลิก จะละให้มันเด็ดขาดไป แล้วก็คิดว่ามันอยู่กับเราไปมันให้อะไรแก่เรา ให้ทุกข์ ให้สุขอย่างไร ให้ความเสื่อมให้ความร้อนอย่างไร ทำความเสียหายอะไรแก่เรามาบ้าง คนเราโดยมากมักจะไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ จึงได้ทำเรื่องนั้นติดต่อกันมาตลอดเวลา เรียกว่า ทำมาจนแก่จนเฒ่า บางคนก็ทำจนกระทั่งตายเน่าเข้าโลงไป ไม่มีคิดจะชนะเลย ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นเพราะไม่ได้พิจารณาตัวเอง ไม่มีเวลาให้แก่ตัวบ้างเลย เอาเวลาไปทำเรื่องอื่นหมดแต่ไม่มีเวลาที่จะมานั่งมองดูตัวเอง ให้เห็น ให้รู้จักตัวเองถูกต้อง
คนเราถ้าไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักสิ่งที่มันเกิดมีอยู่ในตัวของเรา แล้วไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมาจากอะไร ไม่รู้ว่าควรจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไร ก็ยังบกพร่องอยู่นั้นแหละ ยังเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์อยู่นั่นแหละ เพราะไม่รู้จักกับสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเอง
หลักธรรมะของพระพุทธเจ้าที่พระองค์สอนไว้มากมายที่เรียกว่า ๘,๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ท่าจะพูดย่อๆสั้นๆก็คือ ต้องการให้เราทุกคนศึกษาแล้วรู้จักตัวเอง รู้จักสิ่งที่มันเกิดอยู่ในตัวเรา รู้จักเหตุว่าสิ่งนั้นเกิดจากอะไร แล้วรู้ว่าสิ่งนั้นให้ทุกข์ให้โทษอย่างไร เราก็จะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไร มารวมอยู่ในเรื่องนี้ อริยสัจของพระพุทธเจ้ามารวมอยู่ในข้อนี้ ที่ว่ารู้จักทุกข์คือรู้จักตัวเองนั้นเอง รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์คือรู้ว่า ทุกข์มาจากอะไร แล้วรู้ว่าทุกข์นี้เป็นเรื่องดับได้ เป็นนิโรธคือดับได้ แล้วดับได้โดยวิธีใด โดยอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นก็คือสอนให้รู้จักตัวเรา อริยสัจมันก็อยู่ในตัวเรา ธรรมะข้อใดข้อหนึ่งก็ตามมันอยู่ในตัวเราทั้งนั้น เราต้องศึกษาที่ตัวมองที่ตัว แต่ว่าชั้นแรกก็ต้องศึกษาจากครูบาอาจารย์ จากตำรับตำราเพื่อเรียนใช้เครื่องมือ ครั้นเราได้เครื่องมือแล้วเราก็มาขุดมาเจาะเอาที่ตัวของเรา มามองที่ตัวเรา มาค้นเอาที่ตัวเราอย่าไปค้นที่อื่น ค้นที่อื่นไม่พบแต่คนที่เราแล้วก็ต้องพบ บางคนไปไกลๆเพื่อไปหาธรรมะ อย่างนั้นมันไม่จำเป็นอะไร แต่ที่เราไปบางสถานที่ เราไปเพื่อศึกษาบางเรื่อง เช่น สมมุติว่าญาติโยมไปอินเดียนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเอาธรรมะจากอินเดีย ธรรมะมันมีอยู่แล้ว แต่เราไปเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ไปดูสถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ที่แสดงปฐมเทศนา ที่นิพพานหรือที่ประทับ เช่น นครสาวัตถีอะไรอย่างนี้ เราไปศึกษาโบราณคดีเพื่อเข้าถึงความจริงของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้มีความเชื่อมั่นขึ้น เพราะคนบางคนไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เกิดขึ้นในโลกจริง อ้าว พอไปถึงอินเดียเข้า บอกว่า “โอ้ ผมเชื่อแล้ว” เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกจริงมีอยู่จริงๆ เพราะไปเห็นว่าพยานวัตถุ ไปเห็นสถานที่ต่างๆ เช่น ไปที่พุทธคยา ไปที่สารนาถ ที่แสดงปฐมเทศนา ไปกุสินารา ที่ปรินิพพาน ไปสาวัตถี ไปลุมพินี สถานที่ประสูติ มีหินปักไว้ต้นใหญ่เป็นเครื่องแสดงว่าเจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่นี้
เหล่าพระเจ้ามหาอโศกผู้เป็นที่รักของเทวดาได้มานมัสการปักเสาหินนี้ไว้เป็นเครื่องหมาย เห็นพยานวัตถุเป็นเครื่องประกอบความเชื่อ ก็ไปเพื่ออย่างนั้นแต่ว่าตัวธรรมะที่เราศึกษาจริงจังนั้น ไม่ต้องไปไกลอย่างนั้นอยู่ในเนื้อในตัวของเรา หัดมองข้างใน มองที่ใจของเรา มองเราก็จะเห็นว่าใจเราเป็นอย่างไร มีอะไรอยู่ในใจของเรา ในมหาสติปัฏฐานสูตรที่ท่านสอนว่าให้มองดูที่ใจ ดูธรรมะที่ใจว่ามีอะไร ดูว่ามีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ มีโลภ มีโกรธ มีหลงหรือมีอะไรในใจของเรา แล้วสิ่งที่มีนั้นมันมาจากอะไร มาจากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส จากสิ่งที่ได้ถูกต้องหรือมาจากอารมณ์เก่าที่เรารับไว้นานๆ เอามาเก็บมาสะสมไว้ในห้องหัวใจ นานๆก็เปิดดูกันเสียทีหนึ่งเอามาดูให้เกิดความเศร้าใจ เสียใจ ดีใจ เป็นเรื่องที่ทำกันอย่างนั้นแหละทั่วๆไป นึกถึงความหลังแล้วก็นั่งเศร้าใจ นึกถึงความหลังแล้วนั่งเบิกบานใจอย่างนี้เป็นตัวอย่าง ไปคิดนึกในรูปอย่างนั้นยังไม่ถูกต้อง แต่เราต้องคิดในแนวพระธรรม คิดหาเหตุผลว่าสิ่งนี้อะไร อะไรเกิดขึ้น เราดูใจของเราว่าใจเราเวลานี้มีอะไร มีความโลภ โลภอะไร โลภในอะไร มีความโกรธ โกรธอะไร มีความหลง หลงอะไร มีความอยากได้ในเรื่องอะไร พยาบาทใคร ริษยาใคร หรือมีอะไรเกิดขึ้นในใจเพราะอะไร แยกแยะ วิเคราะห์ วิจัยออกไป ขณะที่เรานั่งวิเคราะห์ วิจัยนั้นก็เรียกว่าเราประพฤติธรรมแล้ว หรือเรียกตามหลักว่าเจริญภาวนาอยู่แล้ว เจริญภาวนาแบบดีด้วย คือ เจริญวิปัสนาภาวนา เพราะมองหาที่ตัวเรา ค้นหาเรื่อง ค้นหาตัวการ ค้นหาเหตุ ค้นหาปัจจัยของสิ่งนั้นว่ามันมาอย่างไรมันปรุงแต่งกันอย่างไร เพื่อจะได้หาทางทำลายมันได้ถูกต้อง เพราะเราจะทำลายอะไรถ้าไม่พอต้นตอมันก็ทำลายยาก
ปลวกขี้นบ้านถ้าเราฆ่าเพียงแต่ข้างบนข้างล่างไม่ถูกฆ่ามันก็ขึ้นต่อไป เราต้องคลำลงไปให้ถึงรังของมัน แล้วเอายาใส่ลงไปในรังนะแล้วมันก็ตายหมดรัง ตายหมดรังแล้วมันไม่รบกวนเราต่อไป ทำอย่างนั้น แต่ไม่ได้สอนให้โยมไปฆ่าปลวกนะ โยมจะฆ่าไม่ฆ่าก็ตามใจโยม จะปล่อยให้ปลวกขึ้นกินบ้านหมดทั้งหลังก็ตามใจ ปลวกตัวนิดมันเดียวเราจะแพ้มันให้มันขึ้นกินบ้านก็ตามใจ เราใช้ปัญญา อย่างนี้ต้องใช้ปัญญา ทำด้วยสติปัญญามันก็ทำได้ในเรื่องที่ควรทำ มีปัญญาทำ ในกิเลสก็เหมือนกันมันเกิดขึ้นเราต้องรู้ว่ามันมาจากอะไร มาจากสิ่งใด และสิ่งนั้นคืออะไร เราต้องวิเคราะห์วิจัยสิ่งนั้นออกไปให้ละเอียด แยกออกไป เรียนแยก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้แยกแยะสิ่งต่างๆ เพื่อให้เห็นว่ามันไม่มีอะไร เหมือนเรามีภาชนะ เช่น ตะกร้า สานด้วยไม้ไผ่มาใบหนึ่ง เอามาว่างไว้ เราเห็นก็เห็นว่าตะกร้าออกเสียไม่ได้ ถามใครว่าอะไรก็ ตะกร้าไม้ไผ่ แล้วเราจะรื้อตะกร้าออกเสียไม่ได้ เอาก้านไม้ไผ่ออกหมด เอาไปเผาไฟซะเลย แล้วตะกร้ามันก็หายไป ตะกร้ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดเพราะการปรุงแต่ง คำภาษาธรรมะเรียกว่า สังขาร สังขาร คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากเครื่องปรุงแต่ง เราปรุงให้มันเกิดขึ้น มนุษย์ปรุงบ้าง ธรรมชาติปรุงบ้าง ธรรมชาติปรุงผลหมากรากไม้ ปรุงสัตว์ปรุงอะไรให้เกิดขึ้น แล้วมนุษย์ก็ปรุงสิ่งที่เราจะใช้ สร้างโต๊ะ สร้างตู้ สร้างเก้าอี้ สร้างเครื่องนั้นเครื่องนี้จนเต็มบ้าน ปรุงแต่งขึ้นในสิ่งเหล่านั้น แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งนั้นมันถาวรไหม มันไม่ถาวร มันอยู่ได้ตราบเท่าที่เครื่องปรุงแต่งยังอยู่ ถ้าเครื่องปรุงแต่งไม่พร้อมมันก็แตกสลายไป แต่จริงที่แตกสลายได้ ก็แสดงว่า เพราะเนื้อแท้มันไม่มีนะซิ เราก็มองเห็นว่าเป็นเช่นนั้น แล้วเราไปโกรธสิ่งที่ไม่มีเนื้อแท้ ไปโกรธสิ่งที่ไม่มีตัวตน ไปรักสิ่งที่ไม่มีเนื้อแท้ ไปรักสิ่งที่ไม่มีตัวตน อะไรต่างๆอย่างนี้ เราเป็นคนประเภทใด เราเป็นคนมีปัญญาหรือว่าเป็นคนขาดปัญญา ถามตัวเองมันก็ตอบว่ามันยังขาดปัญญาอยู่ ปัญญามันมีแต่มันไม่แก่กล้าพอ ยังมองผิดอยู่ หัดมองให้ถูกต้องเสียซิ อย่ามองผิดอยู่ทำไม มองอะไรให้มันถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่า จงมองทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็นอยู่จริงๆ สิ่งอะไรที่มันเป็นจริงอย่างไรมองให้เห็นเป็นจริงอย่างนั้น อย่ามองในสิ่งที่เป็นมายา เป็นของปรุงแต่งภายนอก หลอกให้เราหลงให้เราเข้าใจผิด ให้ไปยึดไปจับต้องไว้แล้วก็มีความทุกข์ใจความเดือดร้อนใจ เรามักจะมองอย่างนั้น ไม่มองให้ลึกซึ้งลงไปจนกระทั่งเห็นชัดว่า มันไม่มีอะไรที่น่าจะรัก ไม่มีอะไรที่น่าจะเอา ไม่มีอะไรที่น่าจะเป็น แต่ว่าเรามันก็เป็นอยู่ตามสภาพของสังขาร ยังมีลมหายใจเข้าออก แต่เราอยู่โดยไม่ให้เป็นทุกข์ไม่สร้างปัญหา ไม่สร้างความทุกข์ให้เกิดในใจของเรา เราอยู่ด้วยสติด้วยปัญญามีความรู้ทันรู้เท่าต่อสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลา
ตาได้เห็นรูปก็รูปว่ารูปคืออะไร หูได้ยินเสียงก็รู้ว่าเสียงคืออะไร จมูกได้กลิ่นก็รู้ว่ากลิ่นคืออะไร ลิ้นได้รสก็รู้ว่ารสมันเกิดจากกอะไร กายถูกต้องอะไรก็รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้มีสภาพเป็นอย่างไร มันก็มีสภาพเหมือนกัน เราเรียกว่าสามัญลักษณะ คือ มีลักษณะเหมือนกัน ๓ อย่าง ได้แก่ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา สามอย่างนี้เค้าเรียกว่า สามัญลักษณะ คือ ลักษณะที่เหมือนกัน ทุกคนเหมือนกันไม่มีข้อยกเว้น จะเป็นคนประเภทใด อยู่ที่ใด ผิวอย่างไร ภาษาอะไร ความเป็นอยู่อย่างไรมันก็พวกไม่เที่ยงทั้งนั้นแหละ พวกเป็นทุกข์หากไปยึดถือหลงผิดแล้วก็เป็นอนัตตาไม่มีเนื้อแท้ มันเหมือนกันทั้งสามอย่างนี้ในแง่นี้เหมือนกัน คนกับสัตว์ก็เหมือนกัน เราอย่าไปเที่ยวทำให้มันแตกต่าง ดูของภายนอกมันแตกต่าง เช่น ดูคนว่าเป็นหญิงเป็นชาย สูง ต่ำ ดำ ขาว อ้วน ผอมเป็นอย่างนั้นแป็นอย่างนี้ นี่ดูวัตถุภายนอก ไม่ได้ดูเข้าไปถึงเนื้อแท้ของสิ่งนั้น แต่ถ้าเราเจาะลึกลงไป เราจะไม่มีความหมายมั่นสำคัญว่า เป็นคนอ้วน เป็นคนผอม คนสูง คนต่ำ คนดำ คนขาว คนอย่างนั้นคนอย่างนี้ แต่เรามองเห็นเพียงว่า ธรรมชาติสังขารที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรามองเห็นอย่างนั้นจิตมันก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะมันไม่เข้าไปจับยึดสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลง อะไรที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่เรายึดไม่ได้ เอามาเป็นของตัวก็ไม่ได้ เพราะตัวเราก็ไม่มี ไอ้สิ่งนั้นก็ไม่มี มันไม่มีทั้งสองอย่าง ความไม่มีกับความไม่มีมาเจอกันมันก็เท่ากับความไม่มีนั้นแหละ แต่ว่าทำไมมันมีก็เพราะเราคิดว่ามันมี เราคิดว่าเรามี แล้วของนั้นมันมี อันนี้คือคิดผิดเป็นวิปลาส ภาษาธรรมะเค้าเรียกว่าสัญญาวิปลาส เห็นทุกข์เป็นสุข เห็นของไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง เห็นของไม่มีตัวตนเป็นคนตนเค้าเรียกว่า วิปลาส สัญญาวิปลาสไม่ตรงตามความเป็นจริง ไอ้ที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงก็เพราะว่าเรารับมันมาอย่างนั้น เค้าสอนกันมาอย่างนั้น พ่อ แม่ ปู่ ตา ย่า ยาย สอนเด็กอย่างนั้น สอนให้ยึดถือทั้งนั้น ไม่ได้สอนให้ปล่อยวาง ไม่ได้สอนเนื้อแท้ของธรรมะให้เข้าใจ แต่สอนให้เด็กยึดถืออย่างนั้น ยึดถืออย่างนี้สร้างปัญหา เวลาเติบโตก็ยึดถือมากขึ้น ยึดถือในชาติในประเทศในภาษาในวัฒนธรรมของตัว ยึดเข้ามากมันก็เป็นทุกข์แล้วก็สร้างปัญหา ก่อกรรมทำเข็ญ ถ้าคนที่ยึดถือมากอย่างนั้นได้เป็นหัวหน้าบริหารประเทศชาติบ้านเมืองก็รบกันเท่านั้นเอง เพราะยึดถือมากก็รบกันทำลายกัน สงครามก็เกิดขึ้น เพื่ออะไร รบกันเพื่ออะไร ถ้าคิดซักหน่อยว่ารบกันเพื่ออะไร ที่รบๆกันแล้วมันได้อะไรมั่ง มันได้แต่ความย่อยยับอับจนทั้งนั้น ไม่ใช่ได้อะไรขึ้นมา ต้องสร้างกันใหม่ ทำสงครามแล้วก็สร้างกันใหม่ แต่มนุษย์นี้ไม่เข็ดซักทีไม่หลาบซักที ยังจะรบกันต่อไป ยังหาช่องหาโอกาส การหยุดก็คือ เพื่อเพียงพักไว้ก่อน วันหน้ามีโอกาสค่อยว่ากันใหม่ นัดกันไปต่อกันใหม่ต่อไป มันเป็นอย่างนั้น เพราะไม่จิตใจไม่เข้าถึงธรรมะของพระพุทธศาสนา หรือไม่เข้าถึงธรรมะในศาสนาที่ตัวนับถือ ศาสนาทุกศาสนาใช้ได้ทั้งนั้น มีแก่นเหมือนกัน แต่ว่ามันไม่ค่อยถึงแก่น เข้าไม่ถึงแก่นของธรรมะในศาสนานั้นจึงเกิดปัญหารบราฆ่าฟันกัน ถือเขาถือเราถือพรรคถือพวก ถือชั้นวรรณะอะไรต่างๆ มันไม่ใช่เรื่องธรรมะทั้งนั้น แต่เป็นเรื่องกิเลส แต่คนเรามันก็ชอบอย่างนั้น ชอบเอากิเลสมาเป็นผู้นำชีวิต เอามารมาเป็นผู้นำมันก็ยุ่ง ถ้าเราเอาธรรมะมาเป็นผู้นำมันก็ไม่ยุ่ง
เพราะฉะนั้นในฤดูกาลเข้าพรรษานี้ เราให้ธรรมะเป็นผู้นำ ให้ธรรมะเป็นผู้คุ้มครองชีวิตของเรา เป็นแสงสว่างสำหรับชีวิต เป็นเครื่องชี้ทางให้เราเดินได้ถูกต้อง เราก็จะอย่ารอดปลอดภัยสมดังความปราถนา ดังที่ได้กล่าวมา เพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ แก่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายในวันเข้าพรรษาก็สมควรแก่เวลา
- ปาฐกถาธรรมวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓