แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ต่อจากนี้ไปเป็นการแสดงปาฐกถาธรรม เรื่อง ทำใจให้สงบจะพบความสุข โดย พระเทพวิสุทธิเมธี ปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ปากเกร็ด นนทบุรี ได้แสดงไว้เมื่อ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๓ ขอเชิญท่านสาธุชนรับฟังได้ ณ บัดนี้ค่ะ
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาขอการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา วันนี้อากาศสดชื่น เพราะว่ามีฝนตกลงมา ดูต้นไม้ก็เขียวชอุ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อน คนเราก็ได้รับความสดชื่นจากฝนเหมือนกัน แต่ว่าคนเรามันก็แปลก หน้าแล้งก็บ่นว่าฝนแล้ง แต่พอฝนตกไม่ค่อยชอบ เพราะไปไหนมาไหนไม่สะดวก แต่ถ้าฝนไม่มีก็บ่นอีก อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ไม่ค่อยจะคิดในแง่ดี มองอะไรก็มองในแง่ที่มันตรงกันข้าม เลยต้องมีความทุกข์ทางใจ ถ้าเรานึกว่าดีมันก็สบาย เช่น ฝนตกมันก็ดีเหมือนกัน แล้งมันก็ดีเหมือนกัน เราบังคับให้ฝนตกมันก็ไม่ได้ เราจะไปควบคุมธรรมชาติไม่ได้ แต่เราต้องหมุนจิตใจให้เหมาะกับธรรมชาติ ถ้าเรารู้จักหมุนจิตใจให้เหมาะกับธรรมชาติ อยู่ที่ไหนก็ได้ อะไรก็ได้ จะไม่มีปัญหา คือ ไม่มีความทุกข์ทางใจ ไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะเรารู้จักหมุนจิตใจให้เหมาะกับธรรมชาติก็สบาย ไม่ค่อยมีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ แต่ว่าเราคิดไม่ค่อยได้ในเรื่องอย่างนั้น เพราะเราคิดในสิ่งที่จะมีจะได้อยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มี ก็เป็นทุกข์ ไม่ได้ก็เป็นทุกข์ ไม่เป็นไปดังที่เราต้องการ ก็เป็นทุกข์ ความทุกข์อย่างนี้เกิดขึ้น เพราะจิตใจไม่รู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติถูกต้องก็สบายใจ เช่น ฝนตกก็สบายใจ นึกในแง่ว่าดีเหมือนกัน เราแห้งมานานแล้ว ดินแตกระแหง ต้นไม้ก็ไม่มีน้ำจะเลี้ยงลำต้น พอฝนตกก็มีน้ำชุ่ม ต้นไม้ก็ได้ดูดน้ำไปเลี้ยงลำต้น ใบก็เขียวชอุ่ม ถ้าเป็นไม้ประเภทมีผล ก็จะต้องออกดอกออกผลให้เราได้กินได้ใช้ต่อไป ถ้านึกอย่างนั้นก็ใจสบาย ไม่มีปัญหาอะไรไม่อึดอัดเพราะฝนตก เพราะว่าคนเรามีสมองมีปัญญา พอฝนตกก็มีเครื่องกันฝนได้ แดดออกก็มีเครื่องกันแดดได้ ยิ่งเดี๋ยวนี้ร้อนอยู่ในบ้าน เปิดแอร์มันก็ไม่ร้อน เพราะว่ามีความเย็นจากแอร์ที่เราสร้างมันขึ้นก็ทำได้ แต่ทั้งๆ ที่มีสิ่งทั้งหลายคอยช่วยอำนวยความสะดวกสบาย จิตใจเราก็ยังไม่สบาย เพราะว่าเราคิดมากในเรื่องบางอย่าง คิดโดยไม่มีเหตุผล คิดไม่มีระเบียบ จิตใจมันก็เป็นทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจ ทีนี้ก็นอนก็ไม่หลับ นอนไม่หลับนี่ไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะจิตใจฟุ้งซ่าน คิดมาก เลยมันก็ไม่ได้พักผ่อน เวลานอนนี่เป็นเวลาพักผ่อน พักผ่อนร่างกายคือนอนให้สบาย ให้ทุกส่วนของร่างกายได้พักตามปกติ ร่างกายได้พักแล้ว แต่ว่าใจไม่ยอมพัก เพราะว่าใจยังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องนู้น ด้วยประการต่างๆ เมื่อใจคิดมาก สมองมันก็ทำงาน เมื่อทำงานมันก็ไม่หยุดพัก มันก็ไม่หลับ ไม่หลับบ่อยๆ ไปกินยา เพื่อให้หลับ เอายามาบังคับประสาทเพื่อให้นอนหลับ กินนานๆ เข้าเลยติดยา ต้องกินยากันเรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น
เคยพบเพื่อนคนหนึ่งเป็นพระเหมือนกัน แต่ว่าเป็นโรคนอนไม่หลับ พระเป็นโรคนอนไม่หลับนี่แสดงว่า ไม่ได้ประพฤติธรรม ไม่ได้นำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่รู้จักแก้ปัญหาด้วยธรรมะ เลยก็เป็นโรคนอนไม่หลับ แล้วก็ไม่ค่อยออกกำลังกาย ไม่ค่อยเคลื่อนไหว นั่งอยู่กับที่ เลยร่างกายก็ไม่ปกติ นอนก็ไม่หลับ เลยกินยา สมัยก่อนนี้มียาชนิดหนึ่งเป็นน้ำเขียวๆ เขาประกาศวิทยุว่า น้ำนี่ยาอะไรเขียวๆ กินแล้วนอนหลับ ครั้งแรกกิน ๑ ช้อนโต๊ะก็หลับ ต่อมากินช้อนหนึ่งไม่หลับ กิน ๒ ช้อน แล้วก็นานๆ ๒ ช้อน ก็นอนไม่หลับ กิน ๓ ช้อน แล้วกินเพิ่มขึ้น พอไปเยี่ยมนี่ขวดกองเลย ตั้งแต่พื้นสูงขึ้นมาสักหนึ่งตารางเมตรแล้วที่กองไว้ ถามว่า นี่ยาอะไรกินมากขนาดนี้ บอกว่า มันนอนไม่หลับเลยต้องกิน นี่จะตายมันกินยานี้มากๆ บอก ไม่ได้เรื่อง หยุดกิน อย่ากินยาต่อไป แล้วก็ออกกำลังเสียบ้าง ให้มันเหน็ดเหนื่อย เมื่อเหนื่อย ร่างกายมันก็จะพักผ่อน แล้วทำกรรมฐานเสียบ้าง ให้มันมีสมาธิเกิดขึ้น แนะนำอย่างนั้น ไปคราวหลังบอกว่า ดีแล้ว ไม่มีโรคอย่างนั้นแล้ว เพราะได้ทำอย่างที่ท่านบอก ก็สบายไป อีกรูปหนึ่งท่านก็เป็นคนที่ขยันเหลือเกิน ขยันทำงาน มีห้องสมุดใหญ่โตมากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ก็ยุ่งเรื่องหนังสือ เป็นกังวล วิตกแต่เรื่องหนังสือนี่ จนนอนไม่หลับ เป็นโรคนอนไม่หลับ ไปเจอเข้า โอ บอกว่าต้องไปวัดชลประทาน ต้องไปนอนที่วัดชลเประทาน เลยมา ให้มาพักที่วัด ก็พาไปหาหมอนิดหน่อย แต่บอกว่าอย่ากินยาที่หมอให้มากเกินไป ต้องให้มันรักษาของมันเองตามธรรมชาติ แล้วก็อย่าไปคิดถึงวัด อย่าคิดถึงหอสมุดต่อไป ให้นึกว่าถ้าเราตาย หอสมุดมันก็อยู่ได้ วัดมันก็อยู่ได้ คนมันก็ยังอยู่ได้ ปล่อยๆวางๆ เสียบ้าง แล้วก็มาอยู่นี่ค่อยสบายขึ้น ค่อยนอนหลับเป็นปกติ แล้วก็กลับไป ทำงานก็รู้ทันแล้วทีนี้ ไม่เป็นอะไร แม้คราวน้ำท่วมใหญ่ ท่วมหอสมุดเรียบเลย อาตมาไปเยี่ยม ถามว่าน้ำขนาดไหน ท่านเลยชี้ไปนู่น ชั้นสอง ก็เรือนชั้นสองยังท่วมขึ้นไปอีกประมาณหนึ่งเมตร โอ้โห เรียบร้อย หอสมุดก็เรียบร้อย เพราะหอสมุดมันอยู่ระดับต่ำ ถามว่าเป็นไง ท่านว่า เรียบร้อยท่านเจ้าคุณ ไม่มีเหลือสักสิ่งเดียว จมหมดเลย แล้วเป็นทุกข์หรือเปล่า โอ๊ย เดี๋ยวนี้ไม่ทุกข์แล้ว นี่ถ้าเป็นครั้งก่อนนอนไม่หลับหลายวัน เป็นห่วงหนังสือที่มันถูกจมน้ำ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ห่วงแล้ว ปลงตกแล้ว สบายใจแล้ว นี่เป็นตัวอย่าง ว่าคนที่นอนไม่หลับนั้น มันเกี่ยวกับเรื่องจิตใจของเรา ไม่ได้เกี่ยวด้วยสิ่งอื่น แต่จิตใจเราไปกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ ร้อยแปดพันประการ คนเราจะคิดอะไรก็คิดได้ แต่ว่าคิดไม่เป็นเวลา เป็นเรื่องเป็นราว ถึงคราวจะหยุดก็ต้องหยุดได้ ไม่ใช่คิดอยู่ตลอดเวลา จะนอนแล้วจะไปคิดทำไม มันเสียเวลาเปล่าๆ ไหนๆ จะนอนแล้วหยุดคิด ปิดลิ้นชักเสียเลย จะได้ไม่คิดอะไรต่อไป
นโปเลียนเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ แล้วแกก็ทำงานมาก เหนื่อยพอสมควร แต่วันหนึ่งคุยกับหมอที่มารักษา บอกหมอ ใจฉันเหมือนกับลิ้นชัก ถ้าฉันจะคิดอะไร ฉันจะคิดเรื่องเดียวเรื่องอื่นไม่เกี่ยว ถ้าฉันจะคิดเรื่อง (09.23 ไม่ยืนยันตัวสะกด)โยเซฟิน ฉันก็คิดแต่เรื่องโยเซฟิน เรื่องอื่นไม่มี แต่ถ้าฉันคิดจะวางแผนรบ ฉันก็คิดแต่จะวางแผนรบ ถ้าฉันจะพัก ฉันก็พักได้เลย แล้วบอกว่า ฉันจะหลับให้ดูนะหมอนะ ต่อไปนี้ฉันจะหลับแล้ว หลับ หลับสนิทเลย หลับเรียลร้อย หมอนั่งดู หลับจริงๆ แล้วเวลาตื่น ตื่นจริงๆ เหมือนกัน พอตื่นปั๊บ ว่องไวเลย ทำอะไรได้ทันที คิดอะไรได้ทันที แต่บทจะหลับก็หลับได้ทันที นี่คนทำงานมาก แต่ว่าไม่มีโรคทางประสาท ไม่มีโรคการนอนไม่หลับ เพราะว่ารู้จักระบบงาน ระบบความคิด จัดชีวิตให้มันถูกต้องแล้วก็นอนหลับสบาย (10.13 เสียงไม่ชัดเจน) จอมพล …… ของฝั่ง …… อีกคนหนึ่ง เคยเป็นแม่ทัพในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เวลาถึงสถานีแห่งหนึ่ง เขาส่งโทรเลขมาก็วิ่งขึ้นไปให้ท่าน ท่านตื่นขึ้นมารับโทรเลข ไอ้เจ้านั่นลงมา โอ๊ย นี่อีกฉบับหนึ่ง ขึ้นไปก็หลับแล้ว พอปลุกให้ลุกขึ้นรับโทรเลขอีกฉบับหนึ่ง ตื่นมาก็กระปี้กระเปร่า ไม่โงเง ไม่ซึม เรียกว่า ตื่นจริงๆ พอหลับก็หลับจริงๆ นี่เรียกว่าควบคุมจิตได้ จิตของมนุษย์นี่ฝึกได้ ไม่ใช่ฝึกไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่ฝึก มันก็มีปัญหาแก่ตัวเราเอง ทำให้เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ แล้วก็ร่างกายก็สุขภาพกายก็ไม่ดี เพราะจิตไม่ดี ทีนี้ถ้าว่าจิตดี สุขภาพกายก็พลอยดีไปด้วย ร่างกายนี่มันขึ้นอยู่กับจิต จิตเหมือนกับนาย กายเหมือนกับบ่าว จิตเหมือนคนเชิดหุ่น ร่างกายเหมือนกับหุ่น สุดแล้วแต่คนเชิดจะเชิดอย่างไร เชิดอย่างไรก็ได้ เราเคยดูหุ่นกระบอกไหม หุ่นกระบอกนั้น คนเชิดเอามือจับเข้า ยกแขนยกหัว ยกอะไรได้ทั้งนั้น มันอยู่ที่คนเชิด ถ้าว่าคนเชิดไม่กระดุกกระดิก หุ่นมันก็หยุดนิ่ง ไม่กระดุกกระดิกเหมือนกัน ทีนี้ร่างกายเรานี้เป็นไปตามความคิดของเรา ใจคิดอะไร ร่างกายมันก็เป็นไปอย่างนั้น ถ้าใจสงบ กายมันก็สงบ ถ้าใจฟุ้งซ่าน ร่างกายก็เป็นไปตามอำนาจของใจ ใจจึงเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าในความคิด ความนึก ทุกสิ่งทุกอย่าง คนที่เขาต้องการความสุขก็ต้องฝึกจิตของตัว ทำจิตให้สงบ คิดอะไร นึกอะไร ก็คิดอย่างมีระเบียบ ไม่มีความฟุ้งซ่านในทางจิตใจ สภาพร่างกายก็ดีขึ้น นอนหลับสบายขึ้น มีความสุข เพราะว่าได้พักผ่อนทางร่างกาย ถ้าไม่ได้พักผ่อนมันก็มีปัญหา
เมื่อตะกี้นี้เด็กผู้หญิงคนหนึ่ง มาถึงบอกว่า ดิฉันถูกเขาทำ ปวดแข้งปวดขา นอนไม่ค่อยหลับ บอกว่าอย่าคิดว่า ถูกเขาทำ เธอทำของเธอเอง เธอใช้ร่างกายมันคงจะผิดปกติ แล้วเลยถามว่าเธอเป็นอะไร เป็นนักร้อง อ่อ นักร้อง ร้องกลางคืน ทีนี้นักร้องมันยืนนิ่งกับเขาได้เมื่อไหร่ อืมๆๆๆๆ (หัวเราะ) ก็อกแก็กๆ โยกเยกอยู่ตลอดเวลา แล้วคืนหนึ่งกี่ชั่วโมงล่ะ มันร้องตั้งแต่หัวค่ำจนกระทั่งเที่ยงคืนน่ะ บาร์บางแห่งเที่ยงคืนก็ยังไม่ปิด ยังยุกยิกๆ อยู่นั่นแหละ ทีนี้ขามันจะไม่ปวดได้อย่างไร ถามว่าปวดตรงไหน ปวดขา ก็ไอ้โยกเยกๆ น่ะ มันปวดขา แล้วบอกว่า พึ่งเป็น ก่อนมันแข็งแรง มันไม่เป็น เดี๋ยวนี้ร่างกายมันอ่อนแอ มันก็เป็น แต่ไม่คิดเรื่องอย่างนั้น ไปคิดว่า มีคนหนึ่ง มาชอบ ชอบแล้วจะขอแต่งงาน บอกว่า แต่งไม่ได้ ฉันไม่แต่ง ฉันเป็นเพื่อนของเธอได้ แต่ว่าไม่แต่งงาน อันนี้เพราะว่าไม่ยอมแต่งงาน บอกว่าเพื่อนคนนั้นคงจะทำหนู ทำให้หนูปวดไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัว บอกว่าไอ้ความคิดแบบนี้เธอต้องเลิกคิดได้แล้ว ไม่มีใครทำให้เธอเจ็บปวดอย่างนั้น ไม่มีใครทำร้ายเธอ แต่ว่าเธอทำร้ายตัวเอง บอกว่า หนูนี่ก่อนนอนสวดมนต์ ไปนั่งสวดมนต์ยาวๆ กลับมาจากร้องเพลงมาสวดมนต์ยาว สวดชินบัญชร สวดยังไงไม่รู้มันยาวเหลือเกิน จะได้พักผ่อน ไม่ได้พักผ่อน นั่งสวดมนต์อยู่นั่นแหละ แล้วก็ยังมาสวดให้ฟังอีกแน่ะ สวดต่อหน้าฝรั่ง ฝรั่งมานั่งอยู่คนหนึ่ง ไอ้เราจะคุยกับฝรั่งก็ไม่ได้ แม่นั่นแกนั่งสวดมนต์ (หัวเราะ) รำคาญ เลยบอกว่า หนูกลับไปพักผ่อนเสีย ร่างกายมันจะได้ปกติ พักผ่อนไม่ต้องทำอะไร บอกว่ามันต้องหาเงิน แล้วต้องเลี้ยงคุณแม่ด้วย หาเงินก็ต้องหยุดบ้าง เราลางานได้ พักผ่อนได้ ป่วยได้ เขาให้พัก เราก็ต้องพักสิ เวลาไม่สบายก็ต้องพักผ่อนร่างกายเสียบ้าง บอกเขาไปอย่างนั้น ถ้าดูจะชอบดื่มเหล้าด้วย นักร้องมันก็อย่างนั้นแหละ ดื่มเบียร์บ้าง ดื่มเหล้าบ้าง สูบบุหรี่บ้าง ริมฝีปากดูมันก็คล้ำๆ แสดงว่าคงจะสูบบุหรี่อะไรอย่างนั้น แต่ว่าจะคุยนานก็ไม่ได้ ฝรั่งเขาก็นั่งอยู่ด้วย จะพูดอะไรกับฝรั่ง เลยก็บอกว่าหนูไปพัก ไปนั่งพักให้สบาย นี่ยังนั่งอยู่หรือเปล่าไม่รู้ ถ้าว่านั่งอยู่ก็จะได้ยินเสียงนี้ บอกว่าให้ไปพักผ่อน หลับนอนเสียบ้าง ร่างกายเราใช้มากไปมันก็ประท้วงเหมือนกัน ยืนมากไปมันก็ไม่ได้ นั่งมากไปมันก็ไม่ได้ นอนมากไปก็ไม่ได้ ทำอะไรเกินไปมันก็ไม่ได้ มันต้องฟังเสียงร่างกายบ้าง คือร่างกายมันก็ประท้วงอยู่ในตัวของมันเอง เวลาเราทำอะไรมามันก็ประท้วง ยืนมาก เมื่อยแข้งเมื่อยขา นั่นคือประท้วงแล้ว บอกยืนนานๆ นั่งซะบ้าง ทีนี้นั่งนาน มันก็ปวดเอวปวดหลัง ก็ต้องเดินบ้าง เปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มันสมดุลกัน ให้สม่ำเสมอ ทีนี้คนบางคนทำงาน นั่งมาก แต่เลิกงานแล้ว ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่เล่นกีฬาบางประเภท ไม่เล่นอะไร ก็เดินก็ยังได้ เดินออกกำลัง อย่าเดินเล่น เดินเรื่อยๆ ไม่ได้เรื่องอะไร ต้องเดินจริงจังให้เหงื่อมันออก แล้วก็เวลาจะนอน ร่างกายมันก็เหนื่อย เหนื่อยมันก็พักได้ นั่นเป็นเรื่องร่างกายอย่างนั้น รับประทานอาหารพอสมควร พอให้ร่างกายปกติ แล้วใจเราก็ต้องปรับเหมือนกัน ปรับจิตใจ ต้องพักใจเสียบ้าง หัดทำสมาธิเสียบ้าง กำหนดลมหายใจเข้าออก นั่งพักผ่อนทางใจ เวลานอนนี่ก็ทำสมาธิเวลานอนก็ได้ นอนหายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ ทำไปๆ ใจมันสงบ พอใจสงบมันก็หลับของมันเอง แต่ว่าคนอายุมากเนี่ย ให้โยมทุกคนได้รู้ไว้ว่าเหมือนกันทุกคน คนอายุมากมันนอนน้อย เด็กนอนมาก เด็กนอนมากเพื่อความเติบโต ความเติบโตมันเติบโตเมื่อนอน เหมือนคนป่วย ถ้าได้พัก ร่างกายมันฟื้น ถ้าไม่ได้พัก ร่างกายก็ไม่ฟื้น เพราะฉะนั้นหมอก็หาโอกาสให้พัก ถ้าพักไม่ได้ เขาก็ให้ยานิดหน่อยให้ได้พักไป โรคมันหายเวลาพัก
ทีนี้คนเรานี่ก็ต้องพักตามสมควร เพราะฉะนั้น จึงต้องปรับปรุงจิตใจ ให้มันได้พักบ้าง อย่าให้ทำงานหนักอยู่เรื่อยไป เวลาพักใจ กายมันก็ได้พัก จิตใจสบาย แล้วก็นอนหลับ แต่ว่าคนแก่นั้นธรรมชาติอย่างนั้น นอนน้อย มีคนแก่มาบ่นบ่อย ไม่ไหวเจ้าค่ะ ดิฉันนอนไม่หลับ โยมอายุเท่าไหร่ ๗๐ อ่อ ๗๐ แล้ว มันเข้าขั้น สุนัขเฝ้าบ้านอยู่ นิทานเขาเล่าว่า คนแก่นี่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน สุนัขเฝ้าบ้านมันคอยเห่า คอยอะไร มันนอนไม่ค่อยหลับ ทีนี้คนแก่เป็นแบบนั้นแล้ว คือนอนไม่ค่อยหลับ ลุกขึ้น ถ้าเป็นคนตามชนบทก็ลุกขึ้นตำหมาก กุ๊กกิ๊กๆ กับหมาก ขโมยมาได้ยินเสียงคนตำหมาก อ่อ บ้านนี้ยังไม่นอนเลยมันไม่ขึ้นบ้านนั้น ไปบ้านอื่น แต่ขโมยเดี๋ยวนี้มันไม่กลัวคนตื่น ตื่นยิ่งดี เพราะจะได้ให้เอาทรัพย์ได้ง่ายๆ คนหลับนี่ต้องไปบังคับให้ลุกขึ้น เดี๋ยวนี้เอาเลย จี้เอาเลย ขโมยเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน ขโมยเมื่อก่อนนั้น ถ้าคนตื่นอยู่มันไม่เข้า เพราะฉะนั้นคนแก่ลุกขึ้นตำหมาก กุ๊กๆๆๆ อ่อ บ้านนี้ยังไม่หลับ ไม่เป็นไร แล้วคนแก่นอนหัวค่ำ หลับหัวค่ำ พอดึกไม่หลับ ตื่นขึ้น ตำหมากบ้าง ทำโน่น ก๊อกแก๊กๆ ก็เรียกว่าเฝ้าทรัพย์นั่นเอง คนอายุเกินหกสิบ นี่มันพวกเฝ้าทรัพย์แล้ว พวกที่นอนไม่หลับ อาตมาก็เหมือนกัน ไม่ใช่นอนมากเวลานี้ นอนมันก็เต็มตื่นของมัน พอเต็มตื่นแล้วก็ตื่น แต่ไม่ได้เป็นทุกข์เพราะความตื่น ตื่นแล้วถ้ามีงานทำก็ทำ บางทีตื่นตีสาม ตีสอง ตื่นขึ้น มีงานทำก็ไปนั่งทำงาน ถ้าไม่มีงานอะไรทำก็นอน ทำจิตทำใจ ก็เคลิ้มไปบ้าง อะไรไปบ้าง แต่ว่ามันไม่ฝันอะไรเท่านั้นเอง ถ้าเป็นชาวบ้านครึ่งหลับครึ่งตื่นแล้วฝัน ชอบอะไรก็ฝันเรื่องนั้น พวกเล่นหวย ก็มีแต่เรื่องหวยเท่านั้นไม่มีเรื่องอะไร พวกไปสนามม้าก็ฝันแต่เรื่องม้าตัวนั้นวิ่งขึ้นหน้าตัวนั้น ฝันแต่เรื่องม้า คิดอะไรมากมันก็ฝันอย่างนั้น ความฝันนี่เอาเป็นสาระไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องคิดโดยไม่มีการควบคุม จิตไม่มีการควบคุมมันก็คิดฟุ้งไป นึกฟุ้งไป แล้วก็ความฝันเกินเวลา ครึ่งหลับครึ่งตื่น ถ้าไม่หลับไม่ตื่น ก็เรียกว่า ครึ่งหลับครึ่งตื่น มันก็มีความฝันในเรื่องอะไรต่างๆ อย่าถือเอามาเป็นอารมณ์ อย่าไปแก้ฝันกับใครๆ เพราะมันไม่มีอะไร ฝันแล้วบางทีเสียใจ เพราะฝันได้เงินก็มี ได้เงินใหญ่ พอตื่นไม่มีสักบาท เสียดาย เสียใจว่าไม่ได้เงิน อย่าไปยึดถือมากไป ไม่ได้เรื่อง เพราะฉะนั้นคนอายุอยู่ในวัยชราให้รู้ธรรมชาติของชีวิตว่า นอนน้อย เพราะว่าร่างกายมันไม่ต้องการพักผ่อนมาก เวลาตื่นก็อย่าไปเป็นทุกข์เรื่องความตื่น หลับตากำหนดลมหายใจ ทำอานาปนสติ คือกำหนดลมเข้า กำหนดลมออกไป หรือภาวนาพุทโธก็ได้ ทำกรรมฐานไปแล้วมันก็จะหลับนิดหลับหน่อย ตื่นบ้าง หลับบ้างไปตามเรื่อง เป็นนิสัยอย่างนั้น อย่าเป็นทุกข์เรื่องนอนไม่หลับ นอนไม่หลับแล้วคิดว่าเป็นทุกข์มันก็ยิ่งมากขึ้นไป ทำให้ประสาทเสื่อมเปล่าๆ เพราะฉะนั้นให้นึกแต่เพียงว่า ฉันนี่อายุมากแล้ว อายุเกินหกสิบ นี่เรียกว่าเป็นคนชราอยู่ในวัยนอนไม่หลับ เข้าเขตคน สุนัขเฝ้าบ้านแล้วว่างั้นเถอะ เล่าเป็นนิทานไว้อย่างนั้นว่า สุนัขเฝ้าบ้านก็ต้องเฝ้าไปตามเรื่อง ตื่นอยู่บ้าง หลับบ้างตามหน้าที่ อย่าไปเป็นทุกข์กับมัน แล้วไม่ต้องไปบ่นให้ใครฟังว่าเรื่องนอนไม่หลับ เพราะมันปกติอย่างนั้น นี่เรื่องของคนแก่ แต่ถ้าคนเด็กนี่พอนอนปุ๊บ หลับปุ๋ยเลย ถ้าคนวัยหนุ่มวัยสาวก็ยังหลับดีอยู่ พอนอนแล้วก็หลับ หลับสบายมาก แต่พออายุย่างเข้าวัยชรา ห้าสิบขึ้นไป ก็เริ่มนอนไม่ค่อยหลับ เป็นปกติอย่างนั้น เพราะฉะนั้น กรุงเทพมีเพลง วิทยุกลางดึก
วันนั้นพบกับ คุณอบ พสุรัตน์ (22.05 เสียงไม่ชัดเจน) มาทำบุญ บอกว่า ผมนี่เป็นลูกศิษย์ท่านเมื่อยามดึก ว่าอะไรโยม เป็นศิษย์ยามดึกอย่างไร ผมนอนไม่หลับเลยลุกขึ้นฟังเทศน์ทางวิทยุยานเกราะเอาไปเปิด แล้วยังบ่นว่า มันเปิดซ้ำ หมอมันขี้เกียจจะมาเอาเทปใหม่ เลยมีเทปอะไรมันก็ฟังไปตามเรื่อง แล้วเทปมันก็เก่า บางทีเปิดแล้วมันไม่ค่อยชัด ท่านยังวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นศิษย์ยามดึก แล้วศิษย์ยามดึกมีเยอะ เดี๋ยวนี้มีเยอะ คนเขาเปิด บอกว่าเปิดเวลาไหน ตีสาม โอ๊ย ใครจะฟัง บอกว่า มีเยอะหลวงพ่อ เลยได้รู้ความจริง แล้วก็มีอุบาสิกาคนหนึ่ง แกก็เป็นคนมีสตางค์เหมือนกัน บอกว่า ดิฉันหมู่นี้นอนไม่หลับ เลยตื่นขึ้นฟังเทศน์ท่านกลางดึกเหมือนกัน อ่อ หลายคนแล้ว พวกตื่นฟังเทศน์กลางดึก มีอยู่หลายคน วิทยุดังก็เปิดไว้ข้างๆ เสียงเพลงดังบ้าง ถึงเวลาธรรมะเขาก็เปิดธรรมะให้ฟัง ก็ได้ความรู้ได้ความเข้าใจ เรียกว่าศึกษาธรรมะยามดึก มันก็เป็นประโยชน์อยู่เหมือนกัน เพราะนอนไม่หลับแล้วไม่รู้จะทำอะไร ถ้านอนไม่หลับแล้วกระสับกระส่าย เป็นทุกข์ก็เพิ่มภาระให้กับจิตที่ไม่เข้าเรื่อง เราอย่าไปทุกข์อย่างนั้น เราต้องนึกว่ามันอย่างนี้ คนอายุมากมันก็อย่างนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นบางคนนอนไม่หลับก็กินยา การกินยานั้นไม่ถูกต้อง ฝืนธรรมชาติ เพราะธรรมชาติมันนอนน้อย คนแก่แล้วกินยามันทำไม บังคับมันทำไม หลีกเลี่ยงการใช้ยา พวกยาประเภทบังคับประสาทนี่หลีกเลี่ยง ไม่ควรใช้ พอใช้นานๆ เข้ามันก็ติดยาเหมือนกัน แล้วก็ต้องกินเรื่อยไป ไม่กินนอนไม่หลับ ก็ทำให้เป็นโรคติดยาอีกประเภทหนึ่ง เป็นการไม่ถูกต้อง หมอที่ดีเขาก็แนะนำเหมือนกัน แนะนำว่าไม่ควรกินยา แต่หมออยากได้สตางค์ ยิ่งซื้อมากยิ่งชอบใจ กินมากๆ ดีเพราะว่าได้ขายยา นั่นเป็นหมออีกประเภทหนึ่ง แต่หมอประเภทที่ไม่ต้องการปัจจัยจากคนบางคนเขาบอกว่า ไม่ต้อง ไม่ต้องทานยา หัดทำจิตทำใจ อ่านหนังสือธรรมะบ้าง อะไร ฟังธรรมเสียบ้าง พักผ่อนจิตใจเสียบ้าง มันก็ค่อยสบาย เขาสอนให้กระทำอย่างนั้น ก็เป็นการช่วยคนที่เป็นโรคนอนไม่หลับอย่างนั้นด้วยการที่ทำใจให้สงบ คือพักผ่อนทางใจ สภาพจิตใจเราก็จะดีขึ้น นี่คนมาวัดส่วนมากก็เป็นคนอยู่ในวัยชรา คนที่วัยไม่ชราก็มีเหมือนกัน ก็ได้ศึกษาไว้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เราผู้อยู่ในวัยชรานี้เอามาใช้ก็จะช่วยให้สุขภาพกายดีขึ้น ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น นี่เป็นเรื่องประการหนึ่ง เรียกว่าทำใจให้สงบ ทีนี้อีกเรื่องหนึ่งคือ ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องใช้ปัญญาเป็นหลักพิจารณาว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันเกิดขึ้นตั้งอยู่อย่างไร แล้วธรรมชาติตามแท้จริงของสิ่งนั้นมันเป็นอย่างไร มีอะไรในโลกนี้ที่คงทนถาวรอยู่บ้าง เราลองตั้งปัญหาถามว่า มีอะไรในโลกนี้ที่คงสภาพถาวร แม้ชั่วขณะจิตเดียวนี่ก็ไม่มี ขณะลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี่มันก็ไม่มี เพราะสิ่งทั้งหลายในโลกมันอยู่ด้วยความเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า อนิจจัง คือความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงหมายความว่ามันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา หมุนอยู่ตลอดเวลา เหมือนโลกที่เราอยู่อาศัยนี้ ที่นึกว่ามันอยู่นิ่งๆ น่ะเพราะว่ามันใหญ่เหลือเกิน เรานึกว่ามันอยู่นิ่ง ความจริงไม่ได้นิ่ง โลกมันหมุนอยู่ตลอดเวลา มันหมุน ตะวันขึ้น โลกมันหมุนไปตาม ตรงนั้นเห็นตะวันขึ้นมา แล้วก็หมุนไป หมุนไป ค่อยๆ ตะวันสูงขึ้นๆ จนถึงเวลาเที่ยง แล้วก็บ่าย ค่ำไป นั่นเป็นเรื่องของอาการหมุนของโลก โลกหมุนเพียงเกิดกลางวัน เกิดกลางคืน กลางวันก็เป็นส่วนสว่าง กลางคืนก็เป็นส่วนมืด ส่วนไหนอยู่ในที่มืดมันก็เป็นกลางคืน ส่วนไหนสว่างก็เป็นกลางวัน เวลานี้เรานั่งอยู่ที่นี่กลางวัน มีแสงแดงพอสมควร แต่ที่อเมริกาเวลานี้มันไม่ใช่กลางวัน มันกลายเป็นกลางคืนไป คนอเมริกันกำลังนอนเวลานี้ เรานี่กำลังตื่นอยู่ ทำอะไรอยู่กลางวัน แต่ส่วนของอเมริกา ส่วนตรงกันข้ามของประเทศไทย เวลาตรงกันข้าม ๑๒ ชั่วโมง ต่างกัน ๑๒ ชั่วโมง เขาจึงทำกลางคืน กำลังนอนหลับเวลานี้ แต่ว่าบางส่วนมันต่างเวลากันเล็กน้อย ก็ไปตามเรื่องตามเวลา แล้วมันก็หมุนไป เปลี่ยนไปตามเรื่อง โลกมันก็หมุนอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้นหมากรากไม้ที่เราเห็นมันก็เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามันไม่ถึงที่สุด คือไม่แตกดับก็เพราะว่ามีสิ่งชดเชย เพราะรากมันดูดอาหารไปเลี้ยงลำต้น ใบก็ช่วยปรุงอาหาร เปลือกก็ช่วยทำงาน ทำทุกอย่าง มันทำงานอยู่ ต้นไม้เหล่านั้นจึงดูเขียวชอุ่ม เรานึกว่ามันเป็นแบบเดียว ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าเราเห็นบางฤดูใบร่วง บางฤดูก็ใบไม่ร่วง มันก็เปลี่ยนเหมือนกัน เปลี่ยนไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ร่างกายของเรานี้ก็ไม่คงที่มันเปลี่ยนแปลง เราเห็นคนบางคน มาถึง โอ้โห ไม่เห็นท่านมาหลายปีแล้วยังไม่แก่เลย อย่างนี้พูดตามสายตา สายตาเรานี่มันรายงานไม่ค่อยถูกเท่าไรหรอก เพราะว่าตามันมองเห็นตามที่เป็นอยู่ แต่ไม่ใช่เป็นจริง ไอ้ความจริงนั้นมันเปลี่ยนอยู่ แต่ว่ามันเปลี่ยนช้าหน่อย เราเห็นว่าคนนั้นไม่แก่อะไรอย่างนั้น ความจริงก็แก่ เพราะความแก่มันขึ้นกับอายุ ถ้าอายุมาก ก็เรียกว่าแก่ อายุ ๗๙ ก็แก่ ๗๙, อายุ ๘๐ ก็แก่ ๘๐, อายุ ๑๐ ขวบ ก็แก่ ๑๐ ขวบ มันแก่แล้ว แก่ขึ้นมา แก่ขึ้นมาโดยลำดับ เหมือนกับคนขึ้นสะพานค่อยขึ้นสูงไปๆ จนถึงกลางสะพาน พอถึงกลางสะพานแล้วมันต้องลงจะไปยืนอยู่ตรงนั้นไม่ได้ ไม่มีโอกาสที่จะยืนอยู่ตรงนั้น ต้องลงไปข้างโน้น หรือลงกลับมาข้างนี้ ชีวิตเรามันก็เป็นอย่างนั้น มีความเปลี่ยนแปลง อะไรๆ ในชีวิตของเรานั้นที่จะคงที่เหมือนเดิมไม่ได้ ต้องมีความเปลี่ยนแปลง ร่างกายเรานี้ก็ความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก นักบวชญี่ปุ่นคนหนึ่ง ได้พูดกับศิษย์ขี้เมา บอกว่า คิดดูให้ดี คิดดูให้ดี ร่างกายนี้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าเราไม่ใช้มันให้เป็นประโยชน์มันจะมีค่าที่ตรงไหน ท่านพูดกับศิษย์ขี้เมาอย่างนั้น ศิษย์ขี้เมาคิดได้ เลยเลิกเมาเลย เลิกเมาแล้วก็ไปบวชในพระศาสนา ทำชีวิตให้ดีงามต่อไป นี่เพราะคิดขึ้นมาปัญญามันเกิดขึ้น เพราะความรู้สึกว่า อ่อ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วเมื่อมันเปลี่ยนแปลง เราจะไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่งว่า เป็นตัวเราแท้จริงก็ไม่ได้ เป็นของเราก็ไม่ได้ มันเป็นเพียงแต่ สิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเท่านั้น มันชั่วขณะเดียว ชั่วขณะเดียว ในทางพุทธศาสนาสอนให้เราเข้าใจว่า อะไรๆ นั้น มันชั่วขณะเดียวเท่านั้น เขาเรียกว่า ขณิกะ ขณิกวาท พระพุทธศาสนาเป็นขณิกวาท
ขณิก (30.32) ขณิก แปลว่าชั่วขณะหนึ่งๆ ถ้าพูดว่า มิติหนึ่งๆ อะไรก็ได้ ชั่วขณะเดียว เกิดปั๊บ เกิดดับๆๆ ถี่ยิบอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่งว่า เป็นตัวฉันก็ไม่ได้ เป็นของฉันก็ไม่ได้ มันไม่รับรองกับเรา มันต้องผ่านไปๆ เหมือนรถไฟวิ่งผ่านสถานีนี้แล้วก็ผ่านสถานี้โน้น ผ่านไปเรื่อย จนไปถึงสถานีปลายทาง ชีวิตเราก็ผ่านมาโดยลำดับ ตั้งแต่เป็นเด็กน้อยๆ แล้วก็เติบโตเป็นลำดับมาจนกระทั่งบัดนี้ อยู่มาจนอายุ ๖๐ เกษียณจากงานจากการ เราก็เป็นคนแก่คนชรา ชีวิตตกต่ำลงไป ตามสภาพของสังขาร ทีนี้เราจะไปนึกว่าควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้มันก็ไม่ได้ มันไม่เป็นตามที่เราว่า ไม่เป็นตามที่เราสั่ง ไม่ได้เป็นตามที่เรานึก แต่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่จะเป็นไปอย่างนั้น อันนี้เป็นหลักสำหรับพิจารณาในปัญหาอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เราก็ต้องเอามาพิจารณาว่า มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง มันทุกข์หรือว่ามันสุข มันมีเนื้อแท้หรือไม่มีเนื้อแท้ ให้คิดในรูปอย่างนั้น ถ้าคิดในรูปอย่างนั้น บางทีก็พอปลงพอวาง เช่น เรื่องอะไรต่างๆ เช่น เรามีทรัพย์สมบัติ มีครอบครัว มีลูกมีเต้า แต่ว่าลูกก็ไม่เหมือนดังที่เราต้องการ สภาพร่างกายมันผิดปกติก็มี ปัญญาอ่อนก็มี ปัญญามากก็มี เรียนเก่งก็มี เรียนไม่เก่งก็มี ทำงานดีก็มี ทำไม่ดีก็มี ถ้าเราไปเป็นทุกข์กับเรื่องอย่างนั้น ไปเป็นทุกข์กับคนที่ไม่ดี เช่นว่า ลูกเรียนไม่ดี เราเป็นทุกข์ มันช่วยอะไรได้ เราเป็นทุกข์นี่ไปช่วยอะไรได้ ช่วยเด็กคนนั้นได้อย่างไร ช่วยให้ดีขึ้นก็ไม่ได้ ถ้าว่าจะช่วยก็คือว่า พยายามที่จะแนะนำเขา แต่ถ้าเขาทำได้เพราะความสามารถมี ก็ได้ แต่ถ้าเขาไม่สามารถจะทำได้แล้วจะทำอย่างไร มันก็ทำไปไม่ได้ เหมือนคนๆ หนึ่ง เป็นชาวบ้าน ไปหาท่านพุทธทาส ไปถามหลายเรื่อง แล้วมาเรื่องหนึ่ง ถามว่าผมเป็นทุกข์นี่จะทำอย่างไร ท่านยิ้มๆ แล้วบอกว่า คิดดูเป็นทุกข์นี่มันได้ประโยชน์อะไรบ้าง ได้อะไรจากความทุกข์บ้าง ท่านไม่ตอบว่าควรทำอย่างไร แต่ถามว่า คิดดู เป็นทุกข์นี่มันได้อะไรบ้าง เขาขับรถกลับบ้าน บ้านก็อยู่โน่น อยู่ที่ พังงา ท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง นั่งรถกลับบ้าน คิดไปๆ อ่อ จริงอย่างเจ้าคุณว่า เพราะมันไม่ได้อะไร เวลาเราเป็นทุกข์นี่เราไม่ได้อะไร แต่เราสูญเสียอะไรๆ ไปหลายอย่าง เพราะความทุกข์ แล้วความทุกข์นั้นไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ไม่ได้ทำตัวเราให้ดีขึ้น แล้วไม่ได้ทำคนที่เราเป็นทุกข์ด้วยให้ดีขึ้น หรือไม่ได้ทำเหตุการณ์อะไรรอบตัวเราให้ดีขึ้น จริงหรือไม่ ญาติโยมลองคิดดูว่า เวลาเราเป็นทุกข์มันช่วยอะไร อะไรมันดีขึ้นบ้าง เช่น ลูกเราไม่เรียบร้อย เราจะเป็นทุกข์เพราะความไม่เรียบร้อยของลูกแล้วอะไรมันดีขึ้น ลูกมันจะดีขึ้นเพราะความทุกข์ของเราหรือไม่ ทรัพย์สมบัติสูญหายไป เพราะขโมยเอาไป แล้วเราก็มานั่งกลุ้มใจกับไอ้ทรัพย์ที่หายไปนั้น แล้วอะไรมันจะเกิดขึ้นกับเราบ้าง เราได้อะไรบ้างจากความทุกข์นั้น มันไม่ได้อะไร ทรัพย์ที่หายไปมันก็ไม่คืนมา แต่ว่าจิตใจเราก็เสื่อมโทรมไป สุขภาพกายก็เสื่อม สุขภาพจิตก็เสื่อมไป มันได้อะไรบ้าง มันไม่ได้อะไร ของหายไปแล้ว ตายไปแล้ว แตกไปแล้ว แล้วเราไปเป็นทุกข์มันได้อะไร คิดอย่างนั้น คิดอย่างนั้นก็เลย เอ้ มันไม่ได้เรื่องอะไร แล้วขนาดที่เราเป็นทุกข์นี่เราฉลาดหรือว่าเราโง่ ถามตัวเราเองว่า เราโง่ หรือว่าเราฉลาดที่เรานั่งเป็นทุกข์นี่
ถ้าพูดในแง่ธรรมะก็เรียกว่า เรามันโง่ ไปนั่งทุกข์นี่มันโง่ นั่งกลุ้มใจโง่ นั่งร้องไห้เพราะเรื่อง ปัญหาอะไรไม่รู้ เวลาเด็กสาว เสียใจ แฟนจากไป แฟนไม่เอาด้วย เป็นทุกข์ ไอ้หนุ่มก็ทุกข์เหมือนกัน บอกว่า แฟนไม่ชอบใจไปมีคนโน้น กลุ้มใจ จะกินไม่ได้ จะนอนไม่หลับ ตาบวมเชียว เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ทำไม เขาไปแล้ว จะไปทุกข์กับเขาทำไม ถึงเรานั่งเป็นทุกข์เขาก็ไม่เห็นใจเรา ถ้าเขามาเห็น เขาจะด่าเราด้วยซ้ำ ไอ้งั่ง เป็นทุกข์ไม่เข้าเรื่อง เขาจะว่าเราก็ได้ ว่าเราเป็นทุกข์ไม่เข้าเรื่อง ผู้หญิงไม่ได้มีคนเดียวในโลกไปนั่งกลุ้มใจทำไม มันไม่ได้เรื่องอะไร คราวก่อนนี้ก็เอามาคนหนึ่งให้อบรม พยุงปีกมา เป็นทุกข์ พยุงปีกมา เลยบอกว่าเป็นไง ตอบว่าเขามีความทุกข์มาก เอาไปเข้าห้องไป ใต้ถุนกุฏิ บอกว่า ออกไปๆ ปล่อยไว้ตรงนี้ ฉันจะคุยกับเขาเอง เข้าไปนั่งใกล้ๆ เอามือลูบหลังลูบอะไร ค่อยสบายใจหน่อย ถามเป็นไง เป็นไง เงียบไม่พูด ถามไม่พูดแล้วจะรู้เรื่องกันได้อย่างไร คนไข้มาหาหมอไม่บอกอาการแล้วจะรักษาอย่างไร เป็นไง บอกบ้างสิ เป็นทุกข์ ไม่ต้องบอกหรอกอันนั้น ฉันเห็นอยู่แล้วว่าเธอมันเป็นทุกข์น่ะ ไม่ต้องบอกหรอก แต่ฉันอยากรู้ว่าเธอทุกข์อะไร ทุกข์เรื่องแฟน แฟนอะไร แฟนที่แต่งงานแล้วหรือแฟนยังไม่ได้แต่งงาน ยังไม่ได้แต่ง เอ่อ ยังไม่ได้แต่งแล้วเป็นไง เขาไปมีคนอื่นเสียแล้ว บอกไอ้เธอมันโง่กว่าหมาขี้เรื้อน ว่าเข้าให้ กลัว ไม่ว่าอย่างนั้นมันก็ไม่ฟื้นสิ (หัวเราะ) ต้องใช้ไซโครหน่อย ว่าให้เจ็บหน่อยว่าเธอมันโง่กว่าหมาขี้เรื้อน มันเจ็บเหมือนกัน มันเจ็บ มันก็ลืมทุกข์ มองหน้า ว่าผมโง่กว่าหมาขี้เรื้อน ผมเป็นนายร้อยโท จปร น่ะ หาว่าผมเป็นหมาขี้เรื้อน ให้มันงงหน่อย แล้วค่อยบอก อธิบายว่า ในวัดนี้มีสุนัขหลายตัว แล้วก็ไม่ค่อยดีทั้งนั้น ขี้เรื้อนเยอะแยะ รองสมภารชอบเอาไปไว้ในกุฏิ เหม็นหึ่งอยู่ตลอดเวลา หมาเยอะแยะ ตัวเมียมีน้อย ตัวผู้มีเยอะ แล้วมันก็ไปผสมกัน ไอ้ตัวผู้ได้ตัวเมียไปผสม ตัวอื่นก็เห่า ว๊อกแว๊กๆ ไปตามเรื่อง แต่ไม่เห็นหมาตัวใดมันนั่งกลุ้มใจ เป็นทุกข์เลย ไม่มีหมาตัวใดที่จะเอาหัวชนกำแพงโบสถ์ให้คอหักตาย เพราะว่าอีด่างมันไม่รักกู หรือไม่มีหมาตัวใดที่จะไปยืนหน้าวัด อยู่ไปทำไม อีด่างไม่รักกู ให้สิบล้อชนเสียเลย ไม่มี ที่มันชนกันบ้าง เพราะมันวิ่งเผลอเท่านั้นเอง ไอ้ที่ตั้งใจให้ชนมันไม่มี ไม่มีสักตัว แล้วเรานี่มาคิดถึงแฟนที่ไปรักคนอื่น มันไม่โง่กว่าหมาขี้เรื้อนจะว่ายังไง แล้วก็เทศน์ให้ฟังต่อไป สมควรเวลา อ้าว กลับบ้าน รุ่งขึ้นมาอีก บอกว่า มาทำไม ผมจะบวชสักหน่อย ยังไม่ได้บวช เลยบวชซะ เดือนหนึ่ง พอเสร็จแล้ว ถามเป็นไง ยังคิดถึงแม่โฉมยงนั้นอยู่หรือเปล่า ถามกระเซ้าเขาหน่อย บอกว่า ผมหายโง่แล้ว สบายแล้ว เดี๋ยวนี้เรียบร้อย หายโง่ นั่นแหละชีวิตเรามันทุกข์ก็ดีเหมือนกัน จะได้บทเรียน ถ้าไม่ทุกข์มันก็ได้บทเรียน
พระพุทธเจ้าถ้ามองไม่เห็นความทุกข์ของสัตว์โลก จะไปหาทางพ้นทุกข์ได้อย่างไร เพราะพระองค์มองเห็นว่าโลกมันมีความทุกข์ สัตว์โลกอยู่ในกองทุกข์ เวียนว่ายอยู่ในทะเลแห่งความทุกข์ เลยคิดว่าต้องหายาแก้ทุกข์ เลยออกบวช เพื่อศึกษาค้นคว้า จะค้นอยู่ในวังไม่ได้ ค้นในวังมันไม่ได้ มันไม่มีเวลา จิตใจก็วุ่นวาย ต้องไปอยู่ที่เงียบๆ เพื่อให้ใจสงบ แล้วจะได้คิดได้ค้นในปัญหาต่างๆ คิดไปค้นไป จนได้พบความจริงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้พบความจริงแล้ว ก็นำความจริงนั้นไปประกาศให้ชาวโลกได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจต่อไป ผู้ที่ได้เอาหลักธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้เป็นเครื่องมือดับทุกข์ มันก็ดับทุกข์ได้ ใจสบาย มีเยอะ คนที่มันพ้นจากความทุกข์มาเพราะเข้าใจธรรมะนี่ มีเยอะ พ้นจากความทุกข์ พ้นจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ปลงได้ วางได้ ว่าเออ มันเรื่องธรรมดา มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา มันเป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรที่เราจะหน่วงเหนี่ยวไว้ได้ บังคับไว้ได้ เช่น เรามีบุตร พิกลพิการ มันก็เป็นตามธรรมชาติของมัน เราห้ามมันได้เมื่อไหร่ แล้วเราจะไปเป็นทุกข์ ไม่ใช่ว่าเด็กจะดีขึ้น ลูกสอบตก แม่เป็นทุกข์ กลุ้มใจ กลุ้มใจแล้วมันได้อะไร แล้วจะขึ้นไหม ลูกมันจะได้ไหมปีนั้น มันไม่ได้ มันต้องเรียนใหม่ อบรมกันใหม่ คอยควบคุมกันใหม่ ให้ตั้งใจเรียน ตั้งใจศึกษา เขาก็ก้าวหน้าของเขาไป เรามีปัญญาที่จะคิดค้นว่าจะแก้อย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะทำอย่างไร นี่มันดีกว่า แต่มานั่งเป็นทุกข์ มันมืดนะ เวลาทุกข์ มันมืดแปดด้าน เขาถึงพูดว่า มืดแปดด้าน มองไม่เห็นทางออกแล้ว อ้าว ทำไมไม่แหวกม่านออกไปบ้าง แหวกม่านออกไปมอง แสงสว่างมันมี ความสุขมันก็อยู่ในความทุกข์นั่นแหละ ไอ้ความพ้นทุกข์มันก็อยู่ในตัวความทุกข์นั่นแหละ แต่ว่าเราไม่มอง ไม่ค้น กลับไปเห็นแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้น เห็นด้วยความไม่มีปัญญา ถ้าเห็นด้วยปัญญามันก็เห็นความจริง ทีนี้เราไม่มองให้เห็นความจริง เพราะมองแต่แง่ทุกข์แง่เดียว พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าความทุกข์มี เหตุให้เกิดทุกข์มันก็มี ทุกข์เป็นเรื่องดับได้ ทางให้ดับทุกข์ได้มันก็มี มีตั้งสี่ประตู แต่เรามองเดี่ยวๆ มองแต่ความทุกข์ แต่ไม่คิดว่ามันทุกข์เพราะอะไร ปัญหามันอยู่ที่ไหน แล้วเราจะดับปัญหาอย่างไร จะแก้ความทุกข์ได้อย่างไร ไม่แทงตลอด รู้ไม่ตลอด รู้แต่แง่เดียว เลยก็มองอยู่แต่เรื่องนั้น ไม่มองถึงว่าเหตุของปัญหา ตัวเรื่องมันอยู่ที่อะไร ปัญหามันอยู่ที่อะไร ปัญหาของความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันอยู่ที่เราเข้าใจผิดนั่นแหละ เข้าใจผิดในเรื่องความทุกข์ ไม่เข้าใจตรงตามปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เข้าใจต่อปัญหา แล้วก็ไปแก้โดยวิถีทางที่มันไม่ถูกต้อง แก้ไม่ถูกแล้ว ทุกข์มันจะดับได้อย่างไร มันดับไม่ได้ นี่เราจะต้องรู้ว่าทุกข์มี แล้วมีทุกข์ ทุกข์มีเพราะอะไร มันต้องมีเหตุ เหตุมันเกิดที่อะไร เราก็คิดง่ายว่า เหตุมันเพราะสิ่งนั้น อ้าว สิ่งนั้น ไอ้สิ่งนั้นมันเป็นอยู่อย่างนั้น เช่น ฝนตกเราเป็นทุกข์ แล้วเราเป็นทุกข์ฝนจะหายไหม ฝนมันก็ต้องตกต่อไป ลมพายุใหญ่มันก็ต้องพัดต่อไป แต่เรานั่งกลุ้มใจแล้ว ฝนตก ลมพายุใหญ่ เป็นทุกข์ ซ้อนทุกข์ลงไป ฝนมันตกอยู่แล้ว เราก็เป็นทุกข์ซ้อนลงไปอีก นี่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเราเปลี่ยนความคิดว่า ทำไมฝนตก อ้าวก็ธรรมชาติมันอย่างนั้น ดวงอาทิตย์มันส่องแสงลงมา เกิดความร้อน ความร้อน ทำให้น้ำเป็นไอ ไอแล้วมันก็ลอยไปหมู่เมฆ แล้วก็จับกันเป็นก้อน เมื่อเป็นก้อนหนักเข้า มันก็ลงมาใกล้แผ่นดิน มันก็ตกเป็นฝนลงมา ลมมันพัดมามันก็ตกมาเป็นธรรมดา ถ้าลมแรง ฝนมันก็มาก ลมไม่แรงฝนมันก็น้อย ไอนี่เป็น วัฏฏะ เป็นสังสาระของธรรมชาติที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น แล้วเราจะไปเป็นทุกข์ทำไม เป็นทุกข์เราจะห้ามลมได้ไหม จะห้ามฝนได้ไหม จะห้ามอะไรๆ ไม่ให้เกิดได้ไหม ไม่ได้ เมื่อห้ามไม่ได้แล้วจะไปนั่งกลุ้มใจทำไม ก็พอใจในสิ่งที่กำลังเกิดอยู่ เพราะธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ก็มาห้ามจิตใจของเรา อย่าคิดให้มันผิด อย่าคิดออกไปนอกลู่นอกทาง แต่คิดให้ถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริงว่า ต้องยอมรับ
พูดง่ายๆ ว่ายอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับว่ามันเป็นอย่างนี้ เพราะเรามันมีเหตุมีผลที่จะให้เป็นอย่างนี้ เรายอมรับได้ ยอมรับได้มันก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วค่อยแก้ไขต่อไป เรามีสมองมีปัญญาค่อยคิดปรับปรุงต่อไป แก้ไขปัญหาต่อไป แต่ว่ายอมรับว่าต้องผจญกับสิ่งนี้ อันนี้การผจญกับอะไรนั้น ต้องผจญกับมันด้วยปัญญา อย่าไปผจญกับสิ่งนั้นด้วยอวิชชา คือความไม่รู้ไม่เข้าใจ เราต้องเข้าไปหาด้วยปัญญา อสรพิษมันต้องจับด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญามันก็กัดเอาเท่านั้นเอง เมื่อคืนดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ เรื่อง ที่อียิปต์มีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง พวกจับงูขาย งูมีพิษทั้งนั้น จับขาย จับแมลงป่อง แมลงป่องหางมันชี้เด่ ไอ้ที่หางน่ะ พิษมันอยู่ตรงนั้น แต่เขาจับไม่ให้แมลงป่องกัด จับงูไม่ให้กัด ล้วงเข้าไปในรูงูด้วย งูก็ไม่กัด มันจับได้ คนที่ไม่รู้ นึกว่า ไอ้นี่มีคาถาดี ที่จริงไม่ใช่ มันมีเทคนิคในการจับที่จะไม่ให้งูกัด แล้วดึงออกมาใส่ถุง ส่งไปขาย ประเทศยุโรป ประเทศไหนๆ ได้เงินมาใช้มากินกันอยู่ เขาเรียกว่าจับด้วยปัญญา งูมันก็ไม่ทำร้าย อันนี้เราไม่ได้จับอะไรด้วยปัญญา ไอ้ความทุกข์เปรียบเหมือนงู ที่เที่ยวเลื้อยเพ่นพ่านอยู่ แล้วเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นด้วยความเขลา ไม่เข้าใจตามสภาพที่เป็นจริง เห็นงูเป็นเชือกก็ได้ เห็นเชือกเป็นงูก็ได้ นี่เรียกว่าเห็นผิดแล้ว ไม่ถูกต้อง เช่น เราเห็นเชือกเป็นงู ไปจับเข้า ไม่ถูกทาง งูแว้งกัดได้ เห็นงูเป็นเชือกก็ไม่ได้ มันต้องเห็นว่า งูก็คืองู เชือกก็คือเชือก อะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น เราต้องรู้ตามที่มันเป็นจริง ว่าความจริงมันเป็นอย่างไร แล้วเราก็ต้องต่อสู้กับสิ่งนั้นด้วยปัญญา คิดหาเหตุหาผล ในคำสอนทางศาสนา ท่านสอนอย่างนั้น วิธีแก้ทุกข์ของพระพุทธเจ้าคือ ผจญกับสิ่งนั้นด้วยปัญญา ไม่ใช่หนีนะ พระพุทธเจ้าไม่สอนให้เราหนีปัญหา หนีไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ชอบการหนี แต่ชอบการต่อสู้กับสิ่งนั้นด้วยปัญญา ยกตัวอย่างเช่นว่า พระองค์เสด็จไปเมืองโกสัมพี แล้วก็มีพระนางมาคันทิยา แกโกรธพระพุทธเจ้า โกรธมานานแล้ว เพราะว่าพ่อแม่ทำไม่ถูก เพราะว่าลูกสาวสวย ใครมาขอก็ไม่ให้ บอกว่าต้องหาผู้ชายที่รูปร่าง ฐานะสมควรกันจึงจะให้ ก็เลยกลายเป็นสาวมีอายุมาก สาวเทื้อ ไม่ได้แต่งงาน วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่นั้น คือรู้ว่า พ่อกับแม่มีอุปนิสัยที่จะสอนได้ก็เลยมา พ่อไปพบก่อน บอกว่า อู้ บุรุษผู้นี้มีรูปร่างดีมาก เหมาะแก่ลูกสาวเรา เลยบอกว่า อย่าไปไหนๆ อยู่ตรงนี้นะ อย่าไปไหน เดี๋ยวจะไปเอาลูกสาวมาให้ ไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า จะเอามาให้ ไปถึงบอก แม่ยาย เมีย พบแล้ว พบลูกเขยแล้ว รูปร่างหน้าตาเข้าที พบแล้ว รีบแต่งตัวลูกสาว แต่งตัวลูกสาวสวยพริ้มพาไป พาไปหาพระพุทธเจ้า แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ยืนอยู่ตรงนั้น ท่านหลบไปนิดหนึ่ง หลบไปหน่อย ไม่ให้เห็น แต่เหยียบรอยเท้าไว้ พอเหยียบรอยเท้าไว้ แม่บ้านมาเห็น ว่า แกนี่ไม่เอาไหน รอยเท้าแบบนี้ไม่ใช่รอยเท้าของคนมีกิเลส รอยเท้าคนหมดกิเลสแล้ว จะเอาลูกสาวให้เขาได้อย่างไร ตาผัวบอก แกน่ะ ดูอะไรๆ ก็เหมือนดูจระเข้ในโอ่ง เห็นทั้งตัว เดี๋ยว ฉันไปเที่ยวหาก่อน อยู่ตรงไหน พอหาเจอ ก็ มาๆๆ นี่ลูกสาว ฉันจะยกให้ พระพุทธเจ้าเลยบอกว่า ลูกสาวของท่าน อย่าว่าจับด้วยมือเลย แม้แต่ด้วยเท้าก็ไม่เหมาะ ว่างั้น แม่คนนั้นก็โกรธสิ สมณะองค์นี้ กูจะจำไว้ ได้โอกาสต้องเล่นงาน แก้แค้น แต่ว่าพระองค์กลับตรัสธรรมะให้พ่อแม่สองคนเข้าใจ ได้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ได้แนวทางที่ถูกต้อง แต่ลูกสาวไม่เข้าใจ เพราะลูกสาวนั้นติดรูปมาก มองรู้ว่าสวย ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง พระพุทธเจ้าเทศน์อะไรก็ไม่รู้เรื่อง เพราะมองในรูปเกินไป เลยไม่ได้อะไร มีแต่ความพยาบาทว่าต้องเล่นงาน
พระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองโกสัมพี แม่หญิงคนนั้นได้ไปเป็นมเหสีรองของพระเจ้าอุเทน ในเมืองนั้น ได้เป็นมเหสีก็เลย มีมเหสีก่อนอยู่องค์หนึ่งชื่อ สามาวดี รู้ว่าพระนางสามาวดี เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ไม่ได้ทำอาจารย์ ทำลูกศิษย์ก่อน ใส่ร้ายอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยประการต่างๆ แต่พอรู้ว่าพระพุทธเจ้ามาก็จ้างคนให้ไปดักด่า ให้ไปดักสามแยก ไปดักสี่แยก ไม่ว่าไปไหนมีคนด่าเรื่อย พระอานนท์บอกว่า ไม่ไหวเมืองนี้ คนขี้ด่ามากเหลือเกิน ไปเมืองอื่นเถอะพระเจ้าข้า โถ่ อานนท์ ไปเมืองอื่น ถ้าคนด่าอีก ไม่ต้องหนีกันทั่วชมพูทวีปหรือ ไม่ได้ ตถาคตจะหนีอย่างนั้นไม่ได้ ตถาคตเป็นเหมือนช้างออกศึก แม้ลูกศรมากระทบเหมือนกับห่าฝน ช้างไม่ถอย อะหัง นาโควะ สังคาเม จาปาโต ปะติตัง สะรัง เราเป็นเหมือนช้างออกศึก ไม่หนีลูกศร ยืนให้เขายิง จนลูกศรเต็มตัว ไม่ยอมถอย คนชั่วมันมากในโลกนี้ คนชั่ว คนปัญญาอ่อนมีเยอะ ถ้าเราไปถือคำคนเหล่านั้น เราก็อยู่ในโลกไม่ได้ เพราะคนชั่วมันพูดอะไร มันทำอะไร ตามประสาความโง่ เราจะไปเอาเป็นอารมณ์ก็ไม่ได้ ท่านว่าอย่างนั้น แล้วก็ไม่มี อะไรที่เกิดกับพระพุทธเจ้ามันเกิดเอง เจ็ดวันมันก็หายไป คนด่า ด่ามาก เจ็ดวัน คนชมเราก็ไม่นาน ติเราก็ไม่นาน อย่าไปเอาคำติ คำชมของคนอื่นมาเป็นอารมณ์ แต่เราต้องนึกว่าเราทำอะไร ถูกต้องหรือไม่ ถ้าเราทำอะไรถูกต้อง คำพูดของคนอื่นไม่สำคัญ เราจะใช้วัตถุอะไร อยู่อย่างไรมันก็เรื่องของเรา อย่าไปเอาคนอื่นมาเป็นอารมณ์ ก็ถ้าหวั่นไหวกับคำพูดของคนอื่นมันก็อยู่ไม่ได้ เหมือนกับสมภารองค์หนึ่ง ทำด้ามมีด เขาเรียกว่า มีดปลอก มีดมันมีงอๆ ด้ามมันงอ หนีบเข้ารักแร้แล้วเหลา อันนี้วางไว้ บอกว่าไม่สวย ต้องเชือดอีกหน่อย ไอ้นั่นก็แต่ง โอ้ยไม่สวย เชือดอีกหน่อย แต่งทุกคนจนด้ามมีดนั้นเหลือนิดเดียว เพราะมันแต่งจนหมด จนมันใช้ไม่ได้แล้ว ก็เพราะว่าคนทุกคนช่วยแต่งๆ จนด้ามมีดเลอะเทอะหมด ใช้ไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไปเชื่อคำพูดของคนทุกคน เราอยู่ในโลกลำบาก แต่เราต้องคิดว่ามันพูดถูกหรือพูดผิด พูดเป็นประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ควรฟังหรือไม่ควรฟัง
พระพุทธเจ้าบอกว่า คำพูดของบัณฑิตต้องรับฟัง แต่คำพูดของอันธพาลอย่าไปฟัง อย่าเอามาเป็นอารมณ์และอย่าไปโต้ตอบ ก็ถ้าไปโต้ตอบ เหมือนเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ เอาเนื้อไปแลกกับหนัง เอาทองคำมีค่าไปถูกับกระเบื้องเก่าๆ ที่หล่นลงมาจากหลังคาโบสถ์ มันไม่ได้เรื่องอะไร มันไม่สมควรกัน สอนอย่างนั้น อะไรๆ มันก็เป็นอย่างนั้น เราอย่าไปหวั่นไหวกับคำของคนอื่น คำติคำชมของคนอื่นอย่าเอามาเป็นอารมณ์ ถ้าจะเอามาก็คิดแต่เพียงว่า เอ มันถูกหรือผิด มันดีชั่ว มีประโยชน์อย่างไร แล้วมองดูตัวเราว่าตัวเราเป็นอย่างไร อย่าเอาฐานะ ความเป็นอยู่เข้าเป็นเครื่องวัด แต่เอาธรรมะมาเป็นเครื่องวัดว่า ความถูกต้องมันอยู่ที่อะไร เราควรทำอย่างไร ควรคิดอย่างไรที่เป็นความถูกต้อง ถ้าทำได้อย่างนี้ใจมันก็สบาย ไม่มีปัญหาอะไร ใครเขาจะพูดอะไร ทำหูทวนลมเสียบ้าง ถ้าขืนฟังมากก็ไม่ไหว คนนั้นพูดอย่าง คนนี้พูดอย่าง มันก็ลำบาก เหมือนสองคนพ่อลูกขี่ลา แม่ก็ให้ลูกขึ้นนั่งบนหลังลา อีตาแก่นี่ ไอ้ลูกคนนี้แย่จริง ให้พ่อแก่ๆ เดินจูงลาไปได้ ขึ้นไปนั่งสบาย อ้าว งั้นพ่อขึ้น พอพ่อขึ้นไป พอพ่อเดินไป โอ๊ย อีตาแก่คนนี้โง่จริงๆ ปล่อยให้เด้กยืนอยู่ได้ ให้ลูกขึ้นมานั่งบนหลังลาทั้งพ่อทั้งแม่ ไอ้สองคนนี้มันโง่จริงๆ ลาคนเดียวมันขึ้นไปนั่งตั้งสองคน ลูกนั่งมันก็ว่า พ่อนั่งมันก็ว่า ทั้งพ่อทั้งลูกขึ้นไปนั่งมันก็ยังว่าอีก ว่าอะไร ลาตัวเดียวขึ้นไปนั่งตั้งสองคน ไม่รู้จะทำยังไง เลยแบกลาดีกว่า ทั้งพ่อทั้งลูกแบกลาไป คนก็ว่า สองคนนี้โง่จริงๆ ลามีตั้งสี่ขาแล้วไปแบกมันทำไม เลยไม่รู้จะทำอย่างไรกับลาตัวนั้น อะไรๆ ไปฟังคำคนอื่นล่ะ มันยุ่งๆ แต่เราต้องคิดว่า ไอ้ที่เราทำนั้นมันถูกหรือผิด มันถูกหรือผิด มันดีหรือชั่ว มันเป็นไปเพื่อความเสื่อมหรือเป็นไปเพื่อความเจริญ อย่าไปเอาคำคนอื่น พวกคำคนอื่นเขาเรียกว่า พวกโลกาธิปไตย ถือชาวโลกเป็นใหญ่ ไม่ได้ อันนี้ถือตัวเป็นใหญ่ ฉันอย่างนั้น ฉันอย่างนี้ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ยุ่งอีกเหมือนกัน มันยุ่ง เอาตัวเข้าไปวัดก็ยุ่ง เอาฐานะเข้าไปวัดก็ยุ่ง แต่ถ้าเราคิดว่าไอ้ความถูกต้องมันอยู่ที่อะไร เอาธรรมะนั่นแหละคือความถูกต้อง พระพุทธเจ้าว่าอย่างไรในเรื่องนี้ เราเอาธรรมะมาเป็นเครื่องวัดมันก็สบายใจ ไม่มีปัญหายุ่งยากเกิดขึ้นในชีวิตทุกสิ่ง มันต้องคิดอย่างนั้น คิดในแง่ธรรมะแล้วใจสบาย แต่ถ้าเราไม่คิดในแง่ธรรมะก็วุ่นวายใจ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมะเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งเกื้อกูลแก่การดับทุกข์ของเรา พระพุทธเจ้าสอนให้เราดับทุกข์ด้วยปัญญา อย่าดับทุกข์ด้วยความโง่ความเขลา ผ้าสกปรกเอาน้ำสกปรกมาซักไม่ได้ ต้องเอาน้ำสะอาดมาซัก จิตใจเราเศร้าหมองมีความทุกข์ เราต้องเอาธรรมะ ซึ่งเป็นสิ่งสะอาด ปราศจากสิ่งสกปรกมาล้าง ล้างด้วยธรรม คิดในแง่ธรรมะ ในแง่มุมต่างๆ เวลากลุ้มใจต้องฟังธรรมะ เปิดเทปฟังบ้าง อ่านหนังสือธรรมะบ้าง มาสนทนากับพระบ้าง ผู้รู้ เราก็ได้แนวทาง เอาไปใช้แก้ไขปัญหาชีวิตต่อไป ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจอย่างนี้ สำหรับวันนี้ก็พูดมาพอสมควร