แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักธรรมสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านหาที่นั่ง นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงได้ชัดเจน แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้อากาศครึ้มหน่อย ฝนทำท่าว่าจะมา มาบ้างแล้ว โปรยลงมาบ้างแล้ว ใครๆ ก็อยากให้ฝนตก แต่ถ้าฝนตกก็ไม่ค่อยชอบเหมือนกัน เพราะมันเปียก มนุษย์นี่เอาใจยาก อย่างนั้นก็ไม่ดี อย่างนี้ก็ไม่ดี ร้อนไปก็บ่น ฝนตกก็ว่า อันเป็นเรื่องธรรมดาของคนเรา แต่ธรรมชาติเขาทำตามเรื่องของเขา ทำตามระเบียบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราจะไปบังคับ ขอร้องอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในอำนาจของเรา มันเป็นไปตามเรื่องของธรรมชาติที่เราเห็นปรากฏอยู่ทั่วๆไป วันอาทิตย์เราก็ชวนกันมาศึกษาธรรมะเพื่อให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ ในหลักการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิตเราดีขึ้น ให้ความสุขของเราอยู่ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลงมากเกินไป จึงได้มาฟังธรรมกัน
หมู่นี้จะได้ยินข่าวอะไรต่างๆที่เขาทำเรื่องเกี่ยวกับระลึกถึงอะไรๆ เก่าๆ เมื่อวานก่อนนี้ ก็ที่สนามหลวงมีการทำบุญอุทิศบรรพบุรุษ แปลว่าระลึกถึงบรรพบุรุษ เห็นโทรทัศน์ออกมา มีคนนั่งขัดสมาธิ ทำท่าสั่นๆ งกๆ เงิ่นๆ ดูทำท่าจะไปทรงเจ้าเข้าผีกันที่สนามหลวง แล้วก็นิมนต์พระมาทั่วประเทศ เอาแต่เจ้าคณะจังหวัด ได้มารับสังฆทาน บังสุกุล ถวายย่ามคนละองค์ ละใบ ปัจจัยด้วย แต่ว่าย่ามนี้เป็นเครื่องมือโฆษณาดี คนถวายย่ามพระ ก็มักจะเขียนอะไรไว้ข้างย่ามด้วยเสมอ ชื่อคนบ้าง งานนั้นบ้าง งานนี้บ้าง พระก็เลยกลายเป็นเครื่องมือช่วยโฆษณา กิจกรรมต่างๆ ของชาวบ้านไปด้วย โดยมากจะทำอย่างนั้น ถ้าถวายย่ามเฉยๆ มันก็ไม่ได้หน้าได้ตา เลยก็ใส่ไว้ที่ย่ามด้วย ว่างานอะไร พระได้ไปก็ใช้ ไปที่ไหนก็คนจะได้อ่าน การกระทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ เป็นเรื่องดี เพราะทำให้เราได้นึกถึงประวัติศาสตร์ของชาติของบ้านเมือง จะได้รู้ว่าคนสมัยก่อน เขาทำอะไรไว้บ้าง อันเป็นประโยชน์ เป็นคุณเป็นค่า
เมื่อวันที่ ๑๙ นี้ไปลำปาง สมาคมผู้สูงอายุ เขานิมนต์ไปแสดงธรรม ผู้สูงอายุนี่ เดี๋ยวนี้มีหลายที่หลายแห่ง ที่กรุงเทพฯ ก็มีที่โรงพยาบาลสงฆ์ แต่ว่าคนสูงอายุน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะว่าสมาชิกชวนกันไปวัดกันเสียมาก ไม่ใช่มาฟังธรรม ไปป่าช้ากัน เหลือน้อย ไอ้ที่เหลือบางคนก็ง่องแง่ง ไปไม่ค่อยไหวไปเทศน์ทีไร เขาบอก นี่อ่ะ! มันเป็นอย่างนี้อ่ะหลวงพ่อ ไม่ค่อยมากัน ไอ้ที่ไม่มา เรื่องความแก่ ไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะการไปมา มันไม่สะดวก คนแก่ไปไหน ก็ต้องมีพี่เลี้ยง ไม่มีพี่เลี้ยงก็ลำบาก จากการจราจรในกรุงเทพฯไม่เหมือนกับบ้านนอก บ้านนอกไปมาสะดวกสบาย เพราะฉะนั้นเวลาเขาประชุมคนผู้สูงอายุหรือคนแก่นี่ จะเห็นว่ามากันคับคั่ง มากันตั้งแต่ ๙โมงเช้า แล้วก็อยู่จนถึงบ่าย มีการเลี้ยงอาหารกลางวัน ข้าวราดแกงให้คนแก่รับประทานกัน เขานิมนต์ไป ก็เพื่อพูดกับคนแก่เหล่านั้น
ความจริงวันผู้สูงอายุนี่มันเป็นเรื่องของตะวันตกเขาตั้งไว้ เพราะชาวตะวันตกไม่ค่อยจะเอื้อเฟื้อแก่คนสูงอายุ พ่อแม่ถูกทอดทิ้ง ปู่ย่าตายายก็ถูกทอดทิ้ง เพราะระบบเขาเป็นอย่างนั้น พอลูกเติบโตขึ้น ทำงานได้ เขาก็ไปอยู่ที่อื่น แต่งงานแล้ว ก็แยกบ้านไป ไม่อยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่ก็เหลือแต่คนแก่สองคน ไม่รู้จะทำอะไร ทำให้ชีวิตลำบาก บางทีเหลือคนเดียว ยิ่งว้าเหว่ใหญ่ เพราะไม่มีใครดูแลเอาใจใส่ องค์การสหประชาชาติสงสารคนแก่ เลยคงตั้งวันผู้สูงอายุขึ้น เพื่อเตือนคนที่ยังไม่แก่ให้นึกถึงคนแก่ แล้วจะได้ช่วยคนแก่ให้สะดวกสบายขึ้นบ้าง
แต่ว่าในเอเชียเรานั้นไม่ลำบากอะไร เพราะอยู่กับลูกกับหลาน ลูกหลานก็ไม่ทิ้งพ่อแม่ผู้แก่ชรา ระบบของเอเชีย เขาสอนให้เลี้ยงดูผู้เฒ่าผู้แก่ ให้เลี้ยงดูพ่อแม่ หลักพระพุทธศาสนาก็สอนไว้ ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว ต้องเลี้ยงท่านตอบ ช่วยทำกิจให้ท่าน ประพฤติตนให้ท่านเบาอกเบาใจ ประพฤติตนให้สมควรที่จะรับมรดกตกทอดของพ่อแม่ต่อไป เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องดูแลรักษา พยาบาลกันจนสุดความสามารถ เมื่อท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว ก็ทำบุญกุศลอุทิศให้ท่าน แล้วก็ดำรงวงศ์ตระกูลของท่านไว้ นี่เป็นหลักการปฏิบัติสำหรับผู้น้อยกระทำแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ บุตรธิดาทำกับพ่อแม่ ศิษย์ทำกับครู อะไรต่างๆก็เป็นระบบชีวิตที่ดี เป็นอย่างนั้น
ครั้งหนึ่งเคยอ่านหนังสือที่ท่านธรรมปาละ เขาเชิญท่านไปประชุมสันนิบาตศาสนาที่เมืองชิคาโก้นั่นแหละ แล้วได้อ่านบทความในปาฐกถา ว่าทำไม ท่านพูดเรื่องง่ายๆ ชั้นแรกไม่รู้สภาพชีวิตของสวรรค์สุข คือท่านพูดถึงหน้าที่นี้ หน้าที่พ่อแม่มีต่อลูก ครูมีต่อศิษย์ ศิษย์มีต่อครู ลูกมีต่อพ่อแม่ อาจจะอะไรต่างๆในสิงคาโลวาทสูตร แปลเป็นไทยก็อยู่ในหนังสือนวโกวาท ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับบ้านเรา และอ่านแล้วก็นึกว่า โอ้! ทำไมไปพูดกับฝรั่งเรื่องอย่างนี้ แต่ครั้นไปเมืองฝรั่ง ก็ได้รับทราบความจริงว่า ฝรั่งนั้นยังต้องสอนหลักคือเหตุปฏิบัติสำหรับใช้กันในครอบครัว เพราะเขาไม่ได้ปฏิบัติกัน
ท่านจึงไปพูดอย่างนั้นเป็นเบื้องแรกในการประชุมสันนิบาตศาสนา แล้วทีหลังก็พูดเรื่องอื่นกันต่อไป เพราะสภาพสังคมเขาเป็นอย่างนั้น แต่ในเมืองเอเชียเรา ตั้งแต่อินเดียมาจนถึงญี่ปุ่นมีสภาพเช่นเดียวกัน ไม่มีใครทอดทิ้งผู้เฒ่าผู้แก่ เพราะการทอดทิ้งผู้เฒ่าผู้แก่นั้นถือว่าไม่เป็นมงคลแก่ชีวิต คนเฒ่าคนแก่บ้านเราก็ไม่ใช่จะลำบาก อยู่สบาย ราชการไปสร้างบ้านคนแก่ไว้ที่เชียงใหม่ บ่นว่าแม้สร้างบ้านแล้ว หาคนแก่มาอยู่ยาก ก็คนเขาอยู่สบายที่บ้านแล้ว เขาจะมาอยู่กับพวกโดดเดี่ยวกับคนแก่ๆอื่นๆทำไม เลยไปเที่ยวเคี่ยวเข็ญเอามาได้ไม่กี่คน
วันหนึ่งได้พบคนแก่คนอย่างเดียว ว่าโอ้ย! มาอยู่บ้านคนแก่ มันบ่ฮอม คือมันไม่สบาย มันบ่ม่วน ฮอม คือเป็นของเหงา มันเหงา ไม่ม่วนอะไร ผมจะกลับบ้านแล้ว จะไปอยู่กับลูกหลานต่อไป แสดงว่าหาคนแก่ยาก แต่ว่าคนแก่บางแค นี่มีเยอะเหมือนกัน ไปอยู่กันมากมาย คนแก่ที่ไม่มีใครเลี้ยงก็มี คนแก่ที่มีคนเลี้ยง แต่รำคาญคนเลี้ยงก็มีเหมือนกัน เลยไปอยู่แบบเสียค่าเช่า อยู่เป็นห้องเป็นหับ สะดวกกว่ามีหมอคอยดูแล มีนางพยาบาล มีบริการดี อยู่กับลูกกับหลานทัศนะมันไม่ตรงกัน เพระลูกหลานสมัยใหม่ ชักจะมีความนิยมไปทางตะวันตก นิยมเรื่องอะไรๆตะวันตก ขออย่านิยมทอดทิ้งพ่อแม่เลย เพราะการนิยมแบบทอดทิ้งพ่อแม่ของฝรั่งนั้นเอามาใช้บ้านเราไม่ได้ ขืนใช้ไปก็คนแช่งจะหักกระดูก หาว่าไม่ดูแลพ่อแม่ จะเกิดเป็นปัญหา เขาจึงได้ทำวันนี้ขึ้น เพราะนั้นก็ไปเทศน์ให้ญาติโยมฟัง ก็สบายอกสบายใจกันพอสมควร เพราะนานๆได้พบกันทีหนึ่ง บอกว่าปีอื่นค่อยมาใหม่
เทศน์จบแล้ว ก็สุโขทัยเขาไปรับ เดินทางไปสุโขทัย ให้ไปเทศน์ที่สุโขทัย ผู้ว่าการสุโขทัย ชื่อคุณธวัช มักกะลานนท์ ท่านเป็นผู้ที่เข้มแข็งในการทำงาน ตัวเล็ก แต่ว่าใจใหญ่ ให้รถไปรับ รถเขาก็พาขึ้นทางที่ลัด คือไปถึงบางเถินแล้ว เข้าบริเวณป่า ภูเขาไปออกทุ่งเสลี่ยม ออกสวรรคโลก มันใกล้ ดีกว่าไปทางตาก ซึ่งระยะทางไกลมาก แต่ว่าตามเส้นทางนั้น ไปก็เกิดความคิดว่า โอ้!ถนนเข้าไปไหน ป่ามันก็เตียน ต้นไม้ถูกทำลาย ไปดูบ้านใหม่ๆ มีเป็นจำนวนมาก เสาไม้สัก ขวาไม้สัก เครื่องไม้สักทั้งนั้น
ถ้าเอามาปลูกที่กรุงเทพฯ ราคาเป็นล้าน แต่ก็ปลูกที่นั่นไม่เท่าใด เพราะเขาไปตัดไม้ในป่า ไม่ต้องขออนุญาต แอบตัดเอามาเลื่อยแปรรูปเสร็จทำเป็นบ้านไปเลย แล้วบ้านเหล่านั้นก็ไม่ใช่อยู่ถาวร ถ้าใครไปเห็นบ้านมีไม้ดีๆ ว่านี่จะขายนะ เขาก็อยากขายมันแหละ ทำไว้ขาย แต่บางบ้านนั้นทำไม่เรียบร้อย ไม่ใช้กบ ไม่อะไร ตีแปะๆๆไว้ เป็นไม้กระดานแผ่นหนาๆ กว้างๆ สำหรับขายต่อไป พวกซื้อก็มาเรียกว่าไปซื้อไม้เก่า เพราะมีรอยตีตาปูแล้ว นำขึ้นรถมา ก็บอกว่าไม้เก่า เจ้าหน้าที่ก็ไม่ว่าอะไร พวกขายไม้เก่า บ้านเก่านี่แหละได้โอกาสทำลายป่าไม้ แล้วก็ตัดไม้ในป่ามาขายอย่างนั้นเป็นอาชีพชนิดหนึ่งที่เขาทำกันอยู่ทั่วๆไป สองข้างทางมีบ้านใหม่ๆอยู่กัน เลยถามนายอำเภอที่ไปรับบอกว่า พวกนี้มันทำมาหากินอะไร ก็ตัดไม้ขายไงหลวงพ่อ อาชีพเดิมคือมาตัดไม้ขาย คนที่มาอยู่ ไม่ใช่คนถิ่นนี้ มาจากที่อื่น มาตัดไม้ขาย ทำบ้านแล้วก็ขาย ก็ป่าก็เตียนลงไปเรื่อยๆ สองข้างทางก็คนมารุกเอาเป็นป่า
วิธีการตัดไม้ในป่า คือว่าเขาไปกานที่ควนให้มันยืนต้นตาย พอตายแล้วขออนุญาตตัดไม้ตาย เพราะฉะนั้นไม่ใช่มันตายเอง คนไปทำเรื่องให้มันตายทั้งนั้น การทิ้งๆไว้ คนก็ไม่ไปดู ไปดูแต่ข้างนอก โอ้ย!ไม้ตาย ขออนุญาตตัดไม้ตายได้ แต่ว่ากว่าจะขออนุญาตได้ตัดได้ นั่นก็ลงทุนหลาย ก็ต้องเอาในหลวงไปปิดหู ปิดตาคนเหล่านั้นกันเยอะเป็นปึกๆ กันเลยทีเดียว แล้วก็ตัดได้ เอาไปขายได้ วิธีการอย่างนั้น นั่งรถไปก็เห็นไม้ยืนต้นตายเยอะ บอกว่าไม่ใช่มันตาย คนไปทำให้ตายทั้งนั้น กานรอบๆให้เปลือกออก มันก็ตาย ไปใช้วิธีสว่านไชเข้าไปกลางลำต้น ไชรูด้านนี้ ไชรูด้านนี้ หลายรู ให้มันทะลุซะ มันก็ส่งอาหารไปเลี้ยงลำต้นไม่ได้ มันก็ยืนตาย แล้วก็ตัดไปทำอะไรต่อไป แสดงว่าพอตัดไม้หมดเป็นป่ารกร้าง ป่าที่ไม่มีต้นไม้ ถูกต้องตามกฎหมาย คนเขาก็ไปยึดครองกันต่อไป สร้างบ้านสร้างเรือนกัน ล้วนแต่ว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ว่ามันถูกขึ้นมาทีหลัง แต่ก็อยู่ได้กันตามสบาย สภาพเป็นเช่นนั้น
ทีนี้พอลงถึงทุ่ง เขาเรียกว่า ทุ่งเสลี่ยม เสลี่ยมคือไม่สะเดานั่นเอง แต่บางเหนือเรียกว่า เสลี่ยม มีหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่า บ้านเสลี่ยมหวาน ถามนายอำเภอ เฮ้ย!เสลี่ยมหวานมีเหรอ หวานจริงๆ หลวงพ่อ คือไม่ขมเลย ชักจะหวานไปด้วย น่าจะปลูกมากๆข้างบนนั้น แล้วเอามาขายในตลาดแข่งกับมะขามหวานได้ เสลี่ยมหวาน แต่คนคงไม่ชอบกินเสลี่ยมหวานเท่าใด เพราะสะเดานี่มันต้องขม แต่ว่าไปกินกับน้ำจิ้ม ซึ่งทำให้มันหวาน รับประทานอร่อย คนแก่ชอบ เพราะคนแก่นี่ชอบของขม เด็กๆมันชอบของเปรี้ยว เราดูเด็กสิ ถ้าได้เจอของเปรี้ยว ก็กินกันใหญ่เลยทีเดียว คนแก่ชอบขม เขาเรียกว่าเป็นยาแก้ลม หมู่บ้านนั้นจึงชื่ออย่างนั้น คนไม่มาก แต่ว่าทุ่งกว้าง มันอยู่ในหุบเขา
เคยไปสมัยก่อน ไปลำบาก ถนนไม่มี ขับรถส่ายไปตามที่ชันๆ ไปลำบาก ไปเทศน์ให้คนฟัง แต่คราวนี้สบายมาก ออกมาสู่สวรรคโลกสบาย แล้ววิ่งไปตามถนนสายใหม่ฝั่งขวาของแม่น้ำยม ผ่านสวรรคโลก ผ่านสำโรง พอผ่านสำโรงก็บอกว่า เขามีคำพูดสุโขทัย อยากจะเป็นเศรษฐีให้ไปอยู่ศรีสำโรง อยากจะตายโหงให้ไปอยู่กรุงไกรลาส เพราะกรุงไกรลาสนี่มันฆ่ากันบ่อยๆ ศรีสำโรงเป็นเศรษฐีเพราะว่าพื้นดินดี ปลูกกล้วยตานีขายใบ ปลูกต้นละมุด ฝรั่ง ปลูกเฝื่อนใบยา สำหรับขายยาเส้น เขาเรียกว่ายาสุโขทัย เอาไปขายกัน เขาทำงานทำการ บ้านช่องอยู่ดีกินดี ไม่ได้ลำบากอะไร เขาจึงพูดว่า อยากเป็นเศรษฐีไปอยู่ศรีสำโรง แต่อยากจะตายโหง ไปอยู่กรุงไกรลาส เพราะยิงกันบ่อยๆ
นายอำเภอที่ไปเดินบอกว่า เดี๋ยวนี้มันไม่อย่างนั้นแล้วครับ เดี๋ยวนี้เค้าเปลี่ยนคำพูดใหม่แล้ว คำพูดดีขึ้น แล้วคนก็เรียบร้อยขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะการไปมาสะดวกสบายมากขึ้น คนค่อยๆดีขึ้น มาไปถึงเมืองสุโขทัย ก็ไปที่เมืองเก่าเลย เมื่อไปที่เมืองเก่านี้ ก็เห็นสภาพดีขึ้นเยอะ สมัยก่อนเคยไป ถนนยังเป็นขี้ฝุ่น เป็นลูกรัง แล้วก็ไม่สะอาด เดี๋ยวนี้เขาทำใหม่ เขาไม่ให้ถนนใหญ่เข้าเมืองเก่า ทำทางอ้อมไปเรียกว่า บายพาส ออกไปทางนู้น ก้นไปหลังเมืองเลย ส่วนในเมืองนั้นเขาก็ทำถนนลาดยางเรียบร้อย พัฒนาสถานที่เก่าๆ เช่นวัดใหญ่ๆ วัดมหาธาตุ, วัดพระพายหลวง, วัดศรีชุม, วัดศรีสวาย, วัดเชตุพน เป็นวัดเก่าๆ ซึ่งสร้างไว้ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
ดูกรุงสุโขทัยแล้วก็นึกถึงครั้งกระนู้นว่าบ้านเมืองเจริญมาก เต็มไปด้วยวัดวาอาราม วัดใหญ่ๆ เจดีย์ใหญ่ๆ พระใหญ่ๆ แล้วพระก็เป็นพระหล่อด้วยสำริด พระพักตร์สวยงามเรียบร้อย ไม่มีพระยุคไหน จะสวยงามเท่ายุคสุโขทัย คนสุโขทัยสร้างพระได้งามมาก ทำไมจึงสร้างพระได้งาม เพราะว่าคนสุโขทัยไม่ยุ่งกันเรื่องรบราฆ่าฟัน บ้านเมืองสมัยสุโขทัยเป็นนครหลวง บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เขาจึงชื่อว่า สุโขทัย แปลว่า รุ่งอรุณแห่งความสุข มันเป็นรุ่งอรุณแห่งความสุข เริ่มมีความสุข ความสบาย พระเจ้าแผ่นดินกับประชาชนก็ได้พบกันบ่อยๆ เพราะว่าพระเจ้าแผ่นดินท่าน มีประชาชนเดือดร้อนก็ช่วยเหลือ เช่นว่าประชาชนเจ็บท้องข้องใจ ให้มาสั่นกระดิ่งหน้าวังได้ สั่นกระดิ่งหน้าวัง ท่านก็รู้ว่ามีคนมาสั่น เข้ามาหา มีธุระอะไร ไปกันง่าย ไม่ต้องใช้ยาม ถือปืนยืนเฝ้า ไปไหนก็ไม่ต้องมีทหารคอยเฝ้า เพราะพระเจ้าแผ่นดินสมัยนั้นกับประชาชนอยู่กันอย่างญาติอย่างพี่น้อง พบกันบ่อยๆมีโอกาสพบกันบ่อยๆ เช่นว่าพบกันเวลาเมื่อกลางวัน พระเจ้าแผ่นดินท่านไปหาพระกลางคืน พระอยู่ในป่า ไกลไปจากตัวพระราชฐาน ท่านนั่งช้างไป พอไปถึงนั่นก็ลงจากหลังช้าง ไต่ตามสะพานหิน จะเอาหินมาดับเป็นทาง เป็นสะพานไป ไปจนถึงที่พระอยู่ พระอยู่กุฎิเล็กๆ ทำด้วยศิลาแลง
สมัยก่อนนี่ไปเทศน์ แล้วท่านพุทธทาสท่านก็ไปด้วย ท่านไม่ได้ไปเทศน์ ท่านไปดูโบราณวัตถุ อาตมาไปเที่ยวเทศน์ไหน ก็ไป ท่านก็อยู่กับที่เมืองเก่า ออกเดินไปดูวัดนั้น ดูวัดนี้ ก็ได้ไปพบว่า ที่ๆพระอยู่นั้นหลังเล็กๆ ทำด้วยศิลาแลง แต่คนก็อุตส่าห์ไปขุดไปแคะ โดยนึกว่ามีอะไรบ้าง เป็นการทำลาย พระที่มาอยู่นั้น เป็นพระลัทธิลังกาวงศ์ ลัทธิลังกาวงศ์นี้เข้ามาสู่เมืองไทยในยุคหนึ่งราวพุทธศักราชพันกว่าปีแล้ว เข้ามาทางใต้ก็มาเริ่มที่นครศรีธรรมราช มาเรือ คงจะมาขึ้นที่นั่น หรืออาจจะขึ้นฝั่งตะวันตก แล้วก็เดินข้ามภูเขามาฝั่งตะวันออก เช่นว่ามาขึ้นตะกั่วป่า เดินทะลุมาถึงไชยา หรือขึ้นที่เมืองตรังกันตัง เดินผ่านมาเมืองนครได้ ที่เมืองนครนั้น สมัยก่อน มีเจดีย์ เขาเรียกว่าเจดีย์ยุคศรีวิชัย ศรีวิชัยนี่มีเจดีย์โบราณสถานตั้งแต่ไชยาลงไปใต้ ลงเรื่อยไปจนถึงเกาะชวา สุมาตรา เดี๋ยวนี้ในเกาะชวา ก็ยังมีเจดีย์ใหญ่โตมาก เขาเรียกว่า บรมพุทโธ ฝรั่งเขาเขียนว่า บุโร บุโร่ หรือบรมพุทโธนั่นเอง บรมพุทโธก็คือเจดีย์ใหญ่โตมาก
เอาล่ะ ฮอลันดาเข้ามาครอบครองอินโดนีเซีย เป็นชาติที่รักของโบราณ รู้จักคุณค่าของศิลปะ เลยสงวนไว้ ไม่ปล่อยให้มุสลิมทำลาย เพราะมุสลิมนั้น เขามักชอบทำลาย ถ้าเป็นรูปวัตถุของศาสนาอื่น ก็ทำลาย ถ้าได้ทำลายแล้วเขาสบายใจ เพราะว่าเขาสอนกันมาอย่างนั้น ให้ทำลายสิ่งต่างๆ ในเมืองอินเดีย ของดีมีค่า มีราคา ถูกทำลายเสียมากมาย พระพุทธรูปสวยๆ แกะสลงใบหินในหิน ถ้าว่าพอเอื้อมทุกข์ได้ มันทุบจมูกซะมั่ง ทุบแก้มซะมั่ง กลายเป็นพระแก้มแหว่ง จมูกหัก ไปตามๆกัน เพราะชอบอย่างนั้น แต่ว่า ที่นั่นอยู่เรียบร้อย เพราะดัตช์มาไว และก็ได้มาเห็น มาทำ รักษาไว้ดี เป็นประโยชน์แก่การศึกษา องค์การสหประชาชาติเคยให้เงิน เพื่อซ่อมแซมให้ดีขึ้นกว่าเก่า นั่นก็เรียกว่าเป็นโบราณสถานยุคศรีวิชัย เป็นมหายาน พุทธศาสนาฝ่ายมาหยาด
แล้วขึ้นมาประเทศไทย มาถึงไชยา ไชยามีเจดีย์ คือพระธาตุไชยาปัจจุบัน เป็นเจดีย์แบบศรีวิชัย ไม่ถูกครอบ แต่เมืองนครนั้นถูกพระลังกาวงศ์ พระลัทธิลังกาวงศ์ขึ้นมาเผยแผ่ศาสนา ก็เห็นว่าเจดีย์แบบนี้ เป็นแบบมาหยาด ท่านก็ก่อสถูปเป็นรูปเจดีย์ลังกาครอบไว้ ต่อมาก็เอาทองไปหุ้มไว้ที่ยอด ที่ฐานเจดีย์มีช้างออกมารอบทิศ เรียกว่าทำแบบลังกา เพราะเจดีย์เมืองลังกานั้นมีช้างรอบๆ เพราะเมืองลังกา เมืองช้าง ช้างมีมาก เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ มากกว่าบ้านเรา เพราะคนเค้าไม่ไปฆ่าช้างเอางาไปขาย มันยังอยู่กันในป่า ตามสถานที่พออยู่ได้ จึงเอาช้างไปยันเจดีย์ไว้ เรียกว่าแบกเจดีย์ไว้
ที่เมืองสุโขทัยก็มีวัดช้าง มีช้างอยู่รอบเจดีย์ก็ไม่ดีเหมือนกัน นั่นเป็นทำแบบพระลังกาวงศ์ พระลังกาวงศ์มาอยู่เมืองนครศรีธรรมราชเผยแผ่ธรรมะ มีชื่อมีเสียง คนเคารพนับถือบูชา ข่าวลือไปถึงสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงก็เลยส่งคนไปนิมนต์พระเหล่านั้น ไปเมืองสุโขทัย ดังปรากฏในศิลาจารึกว่าพระทุกตน ยุคแต่ศรีธรรมราชมา เรียนจบปิฎกไตรมารวบกว่าพวกครูในเมืองนี้ พูดภาษาธรรมดาว่า พระทุกรูปมาแต่เมืองนครศรีธรรมราชเรียนจบพระไตรปิฎก ฉลาดกว่าพระชั้นครูของเมืองสุโขทัย ธรรมะรวบแปลว่าฉลาด รวบกว่าหมู่ครูในเมืองนี้ อันแล้วก็อยู่วัดอรัญญิก อยู่ในป่า พระเจ้าแผ่นดินท่านก็ไปหาพระเวลากลางคืน ไปสนทนาธรรม ไปไถ่ถามเรื่องการดำเนินชีวิต ท่านฟังแล้ว รุ่งเช้าขึ้น ประชาชนก็มานั่งที่ดงตาล ป่าตาลก็ยังมีอยู่ในสมัยนี้ แต่ก่อนนั้นดงตาลมีแท่นหิน เรียกว่า มนังศิลา เป็นแท่นหินธรรมดา หินชนวน เกลี้ยงๆ เอามาวางไว้ พระเจ้าแผ่นดินก็ประทับนั่งบนแท่นหินนั้น แล้วสนทนาธรรมกับประชาชน ด้วยบอกประชาชนให้ทราบว่า เมื่อคืนฉันไปสนทนากับพระมา
ท่านคงไม่พูดว่าฉันล่ะ พูดว่าข้า ภาษาสมัยก่อน เรียกว่า ข้าไปคุยกับพระมา แล้วพระว่าอย่างนั้น อย่างนี้ มาสอนประชาชน ประชาชนก็ได้ฟังธรรม พูดผ่านพระเจ้าแผ่นดิน มีความเชื่อ ความเลื่อมใส จึงอยู่กันสบาย คนเมืองสุโขทัยนี่ดี ชอบให้ทาน ชอบรักษาศีล ชอบฟังธรรม ไปวัดในวันพระ วันศีล มีเสียงปี่ เสียงพาทย์ เสี่ยงฆ้อง เสียงกลองก้องเมืองสุโขทัย เป็นความเจริญในทางธรรม เจริญสนุกสนานในการบุญ การกุศล เดี๋ยวนี้เป็นอย่างมาก เพราะนั้นจิตใจสบาย จิตใจสงบ เมื่อจิตใจสงบ จะทำอะไรมันก็สวยงามเรียบร้อย คนเราถ้าจิตใจขุ่น ทำอะไร มันขุ่นไปด้วย จิตร้อน ทำอะไรมันก็ร้อน ทำลวกๆ ทำให้เสร็จไวๆ แต่ว่าเขาใจเย็น เขาปั่นพระสวยงาม แก้ไขปรับปรุงให้พระพักตร์ยิ้มแย้มแจ่มใส สมกับนามว่าพุทโธ แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอย่างจริงจัง
ศิลปะสุโขทัยจึงเป็นยอดแห่งศิลปะที่สวยๆงามๆ แม้เจดีย์ก็สวยๆงามๆ ทั้งนั้น แต่ว่าต่อมามันเมืองร้าง ย้ายเมืองมาอยู่กรุงศรีอยุธยา ก็ทิ้งร้างอยู่ แต่โบราณวัตถุก็ยังอยู่ไม่เรียบร้อย เพราะสมัยนั้น ยังไม่นิยมขุดค้นทรัพย์สมบัติภายในวัดหรือทำเจดีย์ แล้วก็ไม่ได้ยกของดีๆงามๆไปขายฝรั่ง เพราะฝรั่งยังไม่มา ในยุคกรุงศรีอยุธยา ถึงมาก็ยังไม่คิดจะซื้อของเก่าเมืองไทยไปเล่น มาถึงยุคที่เขาชอบของเก่า คนก็เที่ยวไปขุด เที่ยวค้น แต่ก็ดีเหมือนกัน เพราะว่าในหลวงได้ขนมาไว้ที่กรุงเทพฯเยอะเหมือนกัน เช่นว่าพระพุทธรูปสวยงามประจำวัดมหาธาตุ วัดมหาธาตุนี่ไม่มีพระ เป็นวัดในวัง เหมือนวัดพระแก้ว เมืองหลวงนี่มีวัดในวังทั้งนั้น ที่กรุงศรีอยุธยาก็มี วัดพระศรีสรรเพชญ์ ใหญ่โต มีวิหารใหญ่ นี่แล้วก็มีแต่พระพุทธรูป พระเจดีย์ …… (28.16 เสียงไม่ชัดเจน) ไม่มีพระอยู่ประจำ ทุกเมืองที่เป็นเมืองใหญ่ มีวัดมหาธาตุ ชื่อมหาธาตุทั้งนั้น พระองค์ใหญ่ที่อยู่กลางแปลง โบสถ์ไม่มีหลังคาแล้ว พังไปแล้ว มันตั้ง ๕๐๐ ปีแล้ว มาถึงกรุงศรีอยุธยา ๔๐๐ ปี แล้วก็ผุพังไป
ในหลวงท่านเสด็จจะยกทัพไป ได้ไปเห็น เจ้าก็เลยให้ชะลอ เอามากรุงเทพ เอามาประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดสุทัศน์ ใครไปวัดสุทัศน์ ที่วิหารใหญ่ด้านหน้าที่หันหน้ามาทางกทม. ถ้าเราเข้าไปดูจะพบพระองค์นี้สวยงาม แต่ว่าการประดิษฐานพระแบบกรุงเทพฯ ดูแล้วไม่สวย สูงเกินไป เวลาจะดู ก็ต้องแหงนคอตั้งบ่า แทนที่จะเห็นพระพักตร์สวยงาม เห็นรูจมูกพระไปเลย เลยไม่สวย ความจริงสุโขทัยเค้าก็ช่างวาง เค้าวางต่ำ คนเดินไปก็เห็นตลอดเวลา ให้ไปดูพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลก เค้าวาง บังคับสายตาไม่ให้มองไกล เพราะเสา มีเสาข้างๆ เวลาเดินไป เสามันขวาง มองตรงไปกับพระ พอเข้าประตูก็จะเห็นพระอยู่ในระดับสายตาของเรา เห็นความงามตั้งแต่เริ่มเข้าไปสู่ประตู ข้ามพ้นธรณีประตูไป ก็เห็นความงาม แล้วตาไปไหนไม่ได้ มันถูกบังคับไปในตัว มองตรงเข้าไป เข้าไปนั่งกราบ นั่งไหว้ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองเหนือ เข้าไปไหว้พระพุทธชินราช ท่านนั่งอยู่ในโบสถ์นั้นตั้งชั่วโมง นั่งดูพระพักตร์พระพุทธชินราชนี่ตั้งชั่วโมง แล้วก็เห็นว่าสวยงามมาก อยากจะได้ไปไว้กรุงเทพฯ แต่ว่าประชาชนเขาไม่ยอม เขาบอกว่าเอาไปไม่ได้ พระนี้เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ถ้าจะเอาไป ก็ต้องเอาองค์อื่น นี่เค้าหล่อพร้อมกันสามองค์ พระพุทธชินราช พระชินสีห์ พระศรีศาสดา พระพุทธชินราชอยู่วิหารหน้า พระชินสีห์อยู่วิหารขวา พระศรีศาสดาอยู่วิหารซ้าย เลยเอาสององค์มา เอาสององค์มาไว้กรุงเทพฯ ไว้ที่วัดบวรนิเวศ เพื่อตั้งวัดนั้น ส่วนองค์พระพุทธชินราชเอามาไม่ได้
ครั้นเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตร ก็ไปหล่อที่พิษณุโลกเลย หล่อเสร็จแล้วใส่แพเอามากรุงเทพฯ เอามาไว้ที่วัดเบญจมบพิตร แต่ถ้าไปดูแล้ว สวยซึ้งไม่เหมือนกับองค์จริง คือพระพุทธชินราช ถ้าเราไปไหว้องค์จริง จะเห็นว่าสวยงามซึ้ง นั่งไหว้แล้วมันก็ซึ้งอ่ะ แต่ว่านั่งไหว้นานก็ไม่ได้ เพราะว่าไอ้สิ่งเหลวไหลก็ไปอยู่ในโบสถ์ ในวิหาร ถ้าหนวกหูก็ไอ้พวกสั่นกระบอก เราไปนั่งไหว้ทำใจให้สงบ ก๊อกแก๊กๆๆอยู่ตลอดเวลา ไอ้พวก เดี๋ยวนี้พวกเด็กอ่อน พวกเด็กอมมือ ยั้วเยี้ย ไปนั่งสั่นกระบอก ก๊อกแก๊กๆ มันเล็กน้อย ได้สตางค์ ก็ไม่ใช่จะร่ำรวยอะไร แต่ก็ให้สั่นอย่างนั้น แล้วไม่ใช่กระบอกเดียวนะ กระบอกเดียว คนมันหลายคน สั่นกันไม่ไหว เลยเอาไปไว้หลายกระบอก เลยสั่นแข่งกันเลย หลวงพ่อเข้าไปนั่ง มองเห็นพวกนั้นสั่น มอง แหม! ทำไมเอามาไว้อย่างนี้ ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโต จะยกทิ้งในแม่น้ำน่านเสียที มันรุงรังเต็มที ควรจะให้สะอาด ปูพรหมให้สวยงามเรียบร้อย คนไปนั่งเพ่งดูสบายใจ จะได้นึกถึงพระกรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า แต่ว่าเราไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดจะเอาสตางค์ท่าเดียว สตางค์ก็อยากได้เหมือนกัน แต่มันอย่าเอาเลย มันวุ่นวายมากเกินไป ทำประโยชน์ได้ แต่รู้จักเอาว่าอันใดเหมาะ อันใดควร นี้ของงามสุโขทัยเป็นอย่างนี้
เมืองสุโขทัยมีช้างงามๆทั้งนั้นตามวัดต่างๆ แต่ขโมยลักเกือบเกลี้ยง ลักหมด บางวัดมีสององค์ เหมือนกัน หล่อเหมือนกัน พิมพ์เดียวกันเลย เค้าเรียกว่าพระสองพี่น้อง โบสถ์มันอยู่ไกลกุฏิ ขโมยงัดเอาไปเลย เอาไปทั้งองค์ไม่ได้ ตัดคอเลย ตัดคอไป ชาวบ้านมาเห็นเข้า เอ้า!หลวงพ่อหัวหายไปแล้ว เสียอกเสียใจ น้ำตาไหลไปตามๆกัน แต่ว่าเอาช่างฝีมือดีมาทำใหม่ ต่อใหม่ เรียบร้อย แต่ว่าเศียรต่อใหม่ เศียรเก่าพวกนั้นเอาไปขายฝรั่งไปแล้ว ไม่รู้ไปอยู่เมืองไหนแล้ว แล้วยังมีอยู่อีกหลายวัด ได้ไปเห็น บอกว่า ไปเห็นวัดไหนงาม บอกระวังให้ดีนะ อย่าไว้ในโบสถ์นะ เพราะว่ามันไกลกุฏิ เลยสมภารก็ใจดียกมาไว้บนกุฏิ คนไม่ต้องไหว้กันเดี๋ยวนี้ เอาไปเก็บไว้ในกุฏิเลย คนไม่รู้ ไม่เห็น ได้ดูกันต่อไป
นี้พระที่เอามากรุงเทพฯนี่ เอามาไว้วัดใหญ่ๆในวิหารคดของวัดใหญ่ๆ ขนพระมาจากสุโขทัย เอามาไว้ แต่คนโบราณก็ป้องกันขโมยดีเหมือนกันเอาปูนพอกหมด คนก็นึกว่าพระปูนแหนะ พระปูน ที่วัดโพธิ์นี่ พระสุโขทัยเยอะนะ สมเด็จวัดโพธิ์ นี้พระปูนนี่ ไม่สวย ไม่งาม ข้างในสวยงาม ต้องให้คนเห็นของสวยของงามหน่อย กะเทาะปูนออก พอกะเทาะปูนออก ไม่กี่เดือน ขโมยหักคอไปเลย ไอ้คนโบราณก็ทำไว้ดีแล้ว เขาไม่ให้คนรู้ว่าเป็นพระทองเหลือง พอกลายเป็นทองเหลือง มีค่าสัมฤทธิ์ หักคอเอาไปเลย เหมือนกับพระวัดไตรมิตร สมัยก่อนอยู่วัดราชสิงขรนู้น ถนนตกโน้น ทิ้งอยู่กลางวัด ไม่มีใครสนใจ
ท่านมหาสนองอยู่วัดปทุมคงคา ไปสร้างโบสถ์ที่วัด ที่หลังสวน แล้วไปรายงานสมเด็จวัดมหาธาตุ สมเด็จวันรัต เขมจารี องค์นี้สำคัญมาก พัฒนาวัด เจริญก้าวหน้า ท่านบอก เออ!แกไปเอาพระที่วัดราชสิงขรไปทีวะ พระองค์ใหญ่น่ะเอาไปไว้ในโบสถ์ พระสนองไปดูแล้ว โอ้ย ตาย! พระปูนนี่ จะเข็นไปหลังสวน ขายหน้าเขาเปล่าๆ เลยไม่เอา ไม่เอา ก็อยู่ต่อไป
ทีนี้วัดไตรมิตรพัฒนา ก่อนนี้มันชื่อวัดสามจีน ได้พัฒนาเสีย ทำความสะอาดอะไร สร้างโบสถ์ใหม่ สมเด็จบอก เจ้าวัดไตรมิตรว่า นี่แกไปเอาพระวัดราชสิงขรมาไว้ในโบสถ์ทีนะ ก็ไปเอามา ไปเอามาแล้ว เข้าโบสถ์ไม่ได้ พระใหญ่ ก็เลยทิ้งไว้กลางสนามอีก ทิ้งไว้กลางสนาม ต่อมาจะพัฒนาสนาม เลยเข้าไปงัด ไปแงะกัน ปูนแตกออกมาไม่ใช่พระปูนแล้ว ข้างในเป็นพระสำริด แต่ว่ามีคนหนึ่งหัวคิดดี บอกว่า อย่าๆ อย่าโฆษณาก่อน ต้องทำให้เป็นทอง แล้วโฆษณาให้คนตื่นเต้น ทำยังไง เอาทองไปชุบ ไปชุบดูให้มันเปล่งปลั่ง พอเปล่งปลั่งแล้ว โฆษณาว่าพระทองวัดไตรมิตร พระยุคสุโขทัย พระทองวัดไตรมิตร คนก็แห่กันไปไหว้กันใหญ่ ได้เงินได้ทองเยอะแยะ ความจริงนั้นก็ทองสำริดธรรมดานะ มีทองผสมบ้าง แต่ว่าทำให้มันเป็นทองไป ชุบไปทั้งองค์เลย นี่เป็นความฉลาดของพ่อค้าคนหนึ่ง ตายแล้ว พ่อค้าคนนี้ชอบขายเครื่องพระ โฆษณา เล่นลิเก ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง คนซื้อกันใหญ่ ซื้อไปทิ้งขว้างๆไว้ในวัด ไม่ได้อะไร แล้วก็ทำอย่างนั้นเรียบร้อย โด่งดัง พอวัดไตรมิตรเกิดพระทองขึ้นมา วัดหงส์รัตนารามเกิดขึ้นอีกแล้ว กะเทาะปูนออกมาเป็นพระสวยงามอีกแล้ว หลายองค์เลย สวยงามหลายองค์เลย วัดมหรรณก็สวยงามเหมือนกัน ก็มาจากสุโขทัยทั้งนั้น
ศิลปะอันสวยงามยุคสุโขทัยมีค่า เพราะนั้นถ้าเราไปดูเมืองสุโขทัย ยืนหลับตานึกถึงภาพสมัยโบราณว่าวัดวาอารามสวยๆงามๆ รูปแปลกๆ นึกถึงพระ พ่อขุนรามคำแหงที่คิดตัวหนังสือไทยขึ้น ซึ่งทำให้เราภูมิใจ แม้เราเขียนอยู่ไม่เหมือนกับที่ท่านเขียน หรือท่านเขียนตามกันไป สระไม่อยู่บน อยู่ล่าง เขียนตามกันไปเลย สระตามไปแบบฝรั่ง ท่านเขียนแบบนั้น มันดังปรากฏอยู่ในศิลาจารึก แต่ต่อมาเราเปลี่ยนเอาสระไว้บนบ้าง ไว้ล่างบ้าง ตามแบบหนังสือขอมไป มันคนละรูป แต่ว่าก็เป็นตัวที่ท่านคิดขึ้น ได้ใช้จารึกลงในแผ่นหิน เกิดศิลาจารึกขึ้นครั้งแรกในเมืองไทย เพราะว่าสมัยก่อน ไม่มีตัวหนังสือนี้จะจารึกไม่ได้ ในประเทศอินเดียก็เหมือนกัน ก่อนนี้ไม่มีหนังสือ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เขียนหนังสืออะไร ท่านพูดด้วยปาก จำมากัน สาวกฟังแล้วจำไว้ จึงเรียกว่าสาวก แปลว่า นักฟัง ฟังแล้วจำ คนสมัยก่อนจำแม่น เพราะไม่มีอะไรจะอ่านทีหลัง เดี๋ยวนี้ไม่ต้องจำก็ได้ มานั่งฟังง่วงก็ได้ แล้วก็เวลาฟังเสร็จแล้วก็มีเทปเอาไปเปิดฟังที่บ้านก็ได้ มีหนังสือเอาไปอ่านก็ยังได้ ไม่เป็นไร
แต่สมัยก่อนโน่น ต้องฟังลืมตาโพลง เพราะว่านานๆได้ฟัง ฟังวันนี้แล้ว พรุ่งนี้จะได้ฟังหรือเปล่าก็ไม่รู้ พระพุทธเจ้ามาพักนี่คืนเดียว ต้องฟัง ฟังด้วยความตั้งใจ เพราะนั้นฟังแล้วจึงเกิดปัญญา เกิดความรู้ ความเข้าใจ ก็แล้วก็จำต่อๆกันมา ความจำของคนสมัยก่อนนี้เหลือเข็ญ จำจริงๆ เพราะไม่มีอะไรจะอ่านนั่นเอง เดี๋ยวนี้ไม่ต้องจำ หนังสือเยอะ เขียนลายมือก็ไม่สวย เดี๋ยวนี้ใช้พิมพ์ดีด เพราะนั้นเครื่องมือมันก็ทำลายเหมือนกันนะ คอมพิวเตอร์ โอ้! อัดไว้เลย สมองในคอมพิวเตอร์ แต่ก่อนไม่มี ต้องเอาหัวเป็นคอมพิวเตอร์ จำหมดอ่ะ พระองค์ตรัสอะไรก็จำไว้
มายุคพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ นักปราชญ์เอช.จี.เวลส์ ชาวอังกฤษเขียนประวัติศาสตร์ลูก ยกย่องชมเชยว่าเป็นมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่จริงๆ เพราะยิ่งใหญ่ด้วยธรรม ไม่ยิ่งใหญ่ด้วยอาวุธ ไม่ยิ่งใหญ่บนกองเลือดของผู้ที่ถูกฆ่า ถูกทำลาย เขายกย่องชาวอโศก มีตัวหนังสือขึ้นเขียน เพราะนั้นเวลาท่านไปนมัสการที่ใด ปักหินไว้ เช่นไปที่ประสูติ ปักหินต้นใหญ่ไว้ แล้วเขียนไว้ ละไว้ว่าที่นี่เป็นที่เกิดของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาก็เป็นพระพุทธเจ้า เราพระราชาผู้เป็นที่รักของเทวดาได้มานมัสการสถานที่นี้ ปักเสาหินไว้เป็นเครื่องหมาย แล้วก็มีแท่นศิลาจารึกเยอะแยะ
เดี๋ยวนี้อินเดียเขาเอาไปรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวกันทั้งหมด แล้วก็มีหนังสือออกเขียนเป็นเล่มให้คนได้อ่าน ได้ศึกษา ศิลาจารึกมีมากมาย เล่าเรื่องกฎระเบียบ การเป็นอยู่ในสังคมในสมัยนั้น บัญญัติต่างๆที่ให้คนประพฤติ ปฏิบัติ เช่นให้คนถือศีล เว้นการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต ให้สร้างศาลาพักร้อน สร้างโรงพยาบาลสำหรับคน สร้างโรงพยาบาลสำหรับสัตว์อะไรต่างๆ หลายเรื่องหลายอย่าง เป็นความเจริญ เพราะมีหนังสือขึ้น แต่ว่าต่อมาเค้าก็พัฒนา เปลี่ยนหนังสือมาอีกรูปหนึ่ง แต่เนื้อเรื่องเขียนกันไว้ในสมัยนั้น เมืองไทยเราก็ยุคพ่อขุนรามคำแหง ท่านคิดตัวหนังสือไทยขึ้น แล้วก็ได้เขียนไว้ในศิลาจารึก ซึ่งทิ้งไว้ในเมืองสุโขทัย
ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ท่านบวชพระ ท่านออกธุดงค์ ธุดงค์ไปตามเมืองเก่าๆไปถึงสุโขทัย เดินธุดงค์ไปพัก ไปดู ไปแล้ว ไปพบสิ่งเหล่านี้เข้า พบพระแท่นมนังคศิลา ในเวลาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็ไปชะลอมา เอามาไว้ในวังหลวง อยู่ในพระบรมมหาราชวัง เดี๋ยวนี้เรียกว่า พระแท่นมนังคศิลา สมัยหนึ่งพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง เอาชื่อพระแท่นนี้ ไปตั้งเป็นชื่อพรรคว่า พรรคมนัง เสรีมนังคศิลา เสรีมนังคศิลา มีการเลือกตั้ง โกงกันอย่างหั่นแหลกเลย เลยพรรคล้มไป เรียกว่าเอาของดีมาใช้ แต่ไม่ประพฤติธรรม เอาไปไม่รอดเหมือนกัน เลยล้มไปเลย พรรคเสรีมนังคศิลา มีชื่อเสียงในเรื่องการเลือกตั้ง เขตดุสิต คะแนนนับไม่จบซักที คอยเติม พอขาดตรงโน้น ใส่เข้าไป ใส่เข้าไป ชนะเลย ชนะได้ นี่เรียกว่าโกงการเลือกตั้งกันหั่นแหลกในสมัยนั้น เลยพรรคนั้นก็ล้มไป อะไรที่มันไม่เป็นธรรมมันอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าคน ว่าสังคม ประเทศชาติ ถ้าไม่มีธรรมะ แล้วอยู่ไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องน่าศึกษา ดูประวัติศาสตร์แล้วก็เห็นว่า เมื่อใดไม่มีความเป็นธรรม เมื่อนั้นเกิดความสับสนวุ่นวาย เกิดความล่มจม แต่ถ้าเมื่อใด คนยังประพฤติธรรมกันอยู่ ยังก้าวหน้าต่อไป
เหมือนกับกษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี พวกนี้ประพฤติธรรม โจมตีเท่าใด ไม่แตก แม้เมืองเล็ก เมืองราชคฤห์มาครุบเป็นเมืองใหญ่ ไปตีไม่แตก เพราะกษัตริย์ลิจฉวีประพฤติธรรม คราวนี้ส่งพราหมณ์ไปเที่ยวศึกษาว่ากษัตริย์ลิจฉวีอยู่อย่างไร พราหมณ์ ๗ คนไปปลอมตัวเป็นนักบวช เดินผ่านวิหารพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า บอกอานนท์ นั่นมันไม่ใช่นักบวชหรอก เป็นจารบุรุษ พระเจ้าอชาตศัตรูส่งมาสอดส่องเหตุการณ์ในเมืองเวสาลี เวลานั้นพระองค์ประทับอยู่ที่เวสาลี อานนท์คอยดู เดี๋ยวมันมา องค์นั้นเดี๋ยวมาหาตถาคต เดี๋ยวก็จะมาถามเรื่องเกี่ยวกับกรุงเวสาลีเหมือนกัน แล้วก็มาจริงๆ มาถามพระพุทธเจ้า แล้วก็ถามเรื่องความเป็นอยู่ของกษัตริย์ลิจฉวี
พระองค์ก็บอกว่า ตราบใดที่กษัตริย์ลิจฉวียังประพฤติธรรม เขาเรียกว่า อปริหานิยธรรม ธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว คือหมั่นประชุมกันบ่อยๆ เวลาประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เวลาเลิกประชุม ก็พร้อมเพรียงกันเลิก เคารพผู้เป็นประธานในที่ประชุม เมื่อที่ประชุมลงมติว่าอย่างใด ทุกคนปฏิบัติตามมตินั้น แม้จะไม่เห็นด้วย ก็ไม่ไปพูดจาให้วุ่นวาย แต่ยอมรับมติของที่ประชุม ระเบียบกฎเกณฑ์อันใดที่ตกลงกันไว้ในที่ประชุม ก็ต้องถือกฎเกณฑ์อันนั้น ไม่ไปเที่ยวถอนระเบียบตามชอบใจ จะถอนระเบียบอะไร ก็ต้องประชุมกันก่อน ปรึกษาหารือกัน ว่าจะต้องแก้ไขกฏหมายข้อนี้ อะไรข้อนี้ ปรึกษากัน ถึงจะสอนได้
แล้วก็เคารพสุภาพสตรี เขามีกฎอันว่า เคารพสุภาพสตรี ถือว่าสตรีนี้เป็นแม่ของลูก ต้องให้เกียรติ ให้เคารพ ไม่เอาสตรีเป็นเครื่องเล่น เดี๋ยวนี้เราเอาสตรีเป็นเครื่องเล่น แล้วสตรีก็ชอบไปเป็นเครื่องมือให้เขาเอาไปใช้เล่นสนุกสนาน เช่นประกวดนางงามเป็นต้น การประกวดนางงาม นั้นคือเราเอาสตรีเป็นเครื่องเล่น ให้ไปเดินฉุยฉายบนเวที กรรมการหัวหอกก็ไปนั่งดูกันน้ำตาไหล น้ำลายไหลไปตามๆกัน นี่เอาสตรีไปเป็นของเล่น แล้วมันก็ปัญหา ไอ้พวกหื่นเหล่านั้น ถ้าว่าได้เป็นนางงามก็ดีไป แต่นี่พวกไม่เป็นนางงามตกรอบก็ไป พวกเศรษฐีเสี่ยทั้งหลาย ก็เอาไปใช้หมด นี่ก็เอาเป็นเครื่องเล่น กษัตริย์ลิจฉวีไม่ทำอย่างนั้น เคารพเพศสตรี แล้วก็รักใคร่สามัคคีกันดี พระเจ้าตามรู้ว่าทั้ง ๗ คนรู้เรื่อง มาบอกพระเจ้าอชาตศัตรูว่า มันตีไม่ได้ เพราะกษัตริย์ลิจฉวีประพฤติธรรมเหล่านี้อยู่เรียบร้อย อ้าว ทำไง? มันต้องให้มันแตกแยกก่อน ก็เอาพราหมณ์แก่ อำมาตย์เก่าๆ ที่เคยทำงานยุคพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพ่อเอามาเฆี่ยน เฆี่ยนหลังลายออกไปเลย
เมืองไทย นายชิต บุรทัต จึงเขียนสามัคคีเภทคำฉันท์ สมัยก่อนนักเรียนชั้น ม.๗ ม.๘ ก็อ่านหนังสือนี้ ไพเราะเพราะพริ้ง สามัคคีเภทคำฉันท์ก็เรื่องนั้น วัสสการพราหมณ์เดินป่าเดินดงไป ไปถึงเข้าหากษัตริย์ลิจฉวี เปิดหลังให้ดู ว่านี่ๆดูซิ กษัตริย์เลือดร้อน กษัตริย์หนุ่มเลือดร้อนไม่เดินตามรอยเท้าพ่อ ข้าพเจ้านี่เป็นอำมาตย์มาตั้งแต่สมัยพ่อ แต่พอกษัตริย์อชาตศัตรูเลือดร้อนขึ้นครองเมือง ไม่ชอบข้าพเจ้า เฆี่ยนข้าพเจ้าจนหลังลาย นี่ดูหลังว่านี้ พวกกษัตริย์ลิจฉวีก็สงสาร เลยให้เป็นที่พักพิงนี่ เรียกว่า เป็นพราหมณ์ลี้ภัยการเมือง
พูดในสมัยนี้ ลี้ภัยการเมืองมาอยู่อาศัยก็เลยอยู่พักพิง ให้อยู่สบาย จัดบ้าน จัดช่องให้อยู่ ก็เป็นคนมีความรู้ ก็เลยให้สอนลูกกษัตริย์ลิจฉวี ครูมารลิจฉวีทั้งหลายสอนไปสอนไป ก็ทำให้เด็กแตกกันก่อน อุบายเยอะ ทำให้เด็กแตก ยกตัวอย่างเช่นว่า เรียกเด็กคนหนึ่งเข้าห้อง มันมีอะไร เข้าไปแล้ว ก็ออกไป และเด็กว่าก็มีอะไร อาจารย์เรียกไปทำไม ไม่มีอะไร พวกเด็ก เอ๊ะ! มันต้องมีสิ เรียกเข้าไปทำไม เรียกคนดีๆ เอ๊ะ!ไม่มีอะไร อะไรนี้อ่ะ เด็กมันก็ระแวงกัน ขุ่นข้อง ขุ่นมัวขึ้นเรื่อยๆ เด็กก็นำเรื่องไปเล่าให้พ่อฟัง พ่อก็ชักจะขุ่นๆ แก่กันและกันเรื่อยๆ ทำอุบายทุกอย่าง ยุให้แยก ให้แตกสามัคคี
เหมือนกษัตริย์ลิจฉวีวงโบราณ ทีนี้ก็ลองตีกลอง ตีกลองประชุม พอตีกลองประชุมตึง ตึง ไม่มีใครมา มามั่ง ไม่มามั่ง ไม่พร้อมเพรียงกันแล้ว ส่งข่าวบอกพระเจ้าอชาตศัตรูว่า แตกแล้ว ยกทัพมาตีได้ก็แหลกลาญ เพราะไม่ประพฤติธรรม เมืองเวสาลีจึงแตกสลาย แต่ถ้ายังประพฤติธรรมกันอยู่ ก็ไม่เป็นไร นี่มันเป็นอย่างนั้น กรุงสุโขทัยอยู่มาได้หลายองค์ หลายกษัตริย์ หลายองค์ และองค์หนึ่งชื่อพระเจ้าลิไท พระยาลิไทเขามีห้องประชุมลายสือไท เป็นที่ประชุมปาฐกถา ไปพูดที่นั่น ข้าราชการประมาณ ๔๐๐ พร้อมเพรียงกันดี ไปเทศน์เมืองไหนก็ไม่ค่อยพร้อม เมืองนี้ผู้ว่าเที่ยวออกงาน ให้มาฟังกัน เลยมาฟังกันเรียบร้อย เต็มห้องประชุม กว้างกันขนาดนี้ นั่งกัน ห้องลายสือไทเขาสร้างไว้ กษัตริย์ลิไทนี่เป็นผู้เขียนหนังสือไทยคนแรก เขียนเรื่อง เขาเรียกว่า ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีไทยเล่มแรกที่เขียนขึ้น
แต่ว่าไตรภูมิพระร่วงนี่มันไม่ใช่พระพุทธศาสนา มันกลายเป็นเรื่องของพราหมณ์ไปหมด ที่ท่านเขียนไว้ เพราะว่าความเข้าใจในพระพุทธศาสนาไม่ลึกซึ้งเท่าใด อ่านแล้วกลายเป็นเรื่องนรก เรื่องสวรรค์แบบเก่าๆ ตามแบบของพวกพราหมณ์ ตามความเชื่อของพวกพราหมณ์ แต่ถือว่าเป็นวรรณคดีไทยยุคแรกที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ก็เป็นเรื่องที่คนเขาสนใจศึกษากันอยู่เหมือนกัน แต่ก็มีธรรมเนียมบางอย่างเกิดขึ้น ลอยกระทงเกิดขึ้นที่เมืองสุโขทัย พิธีการอย่างนี้เป็นอุบายของพระมหากษัตริย์ที่อยากจะพบชาวบ้าน ต้องมีพิธีอย่างนั้น เดือนนั้น มีพิธีอย่างนั้น พิธี ๑๒ เดือน ก็มีพิธี มีตั้ง ๑๒ เดือน เดือนนี้ทำอย่างนั้น เดือนนั้นทำอย่างนั้น พระราชาก็ได้พบประชาชน ได้เข้าใกล้ประชาชน ได้พูด ได้คุยกัน ประชาชนก็ได้เฝ้าแหน องค์พระมหากษัตริย์ก็มีความเบิกบานใจ สบายใจ เรื่องเป็นอย่างนั้น ก็มีพิธีต่างๆเกิดขึ้น เป็นเครื่องส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจกัน
ในยุคสุโขทัยก็ยังมีการพัฒนา เพราะพระเจ้าแผ่นดิน พ่อขุนรามคำแหงท่านได้ไปเมืองจีน โอ้! สมัยนั้นไม่ใช่น้อยนะ ไปเมืองจีนนี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก สมเด็จพระเทพไปนี่ ยังไง นั่งเรือบินไปแป๊บเดียว สมเด็จของเราท่านเก่งนะ ไปเมืองจีน พูดจีนได้นะ เดี๋ยวนี้พูดจีนแล้ว พูดภาษาจีน เขียนหนังสือจีนด้วยนะ เขียนให้พรเป็นภาษาจีน เส้นสวย คนจีนบอก โอ้! เขียนสวย ลายพระหัตถ์สวย เขียนให้เค้าไว้ตามที่ต่างๆ เพราะว่าท่านเรียนหนังสือจีน ว่ามีครูจีนไปสอน ท่านเชิญไปสอน ให้เลือกภาษาจีนให้ ท่านเรียนรู้ เวลาไปเมืองจีน ก็ฟังรู้เรื่อง พูดตอบบ้างพอสมควร ไม่ต้องใช้ล่ามเสมอไป แล้วก็อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือจีนก็ได้ เก่ง สำคัญ เรียกว่าผูกมิตรไมตรีกันได้ คนเราถ้าพูดภาษาเขาได้ มันน่าชื่นใจ เช่นฝรั่งมาเมืองไทย ถ้าพูดไทยได้ นี่เราสบายใจ นี่ท่านไปเมืองจีน ท่านพูดภาษาจีน คนจีนก็พอใจ เป็นการสร้างมิตรสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน เป็นที่อบอุ่นขึ้น นี่เป็นตัวอย่าง
ทีนี้ในหลวง พ่อรามคำแหง พ่อขุน ท่านไปเมืองจีน ไปเมืองจีนก็ไปดูอะไร ต่ออะไร เค้าทำถ้วย ทำชามอย่างไร ดินบ้านเรามันก็มี ไฟบ้านเรามันก็มี ไม้เผาพวกเก่าก็มี แต่ว่าไม่ได้ทำ เอามาทำ ในบริเวณนั้น เค้าเรียกว่าเตาทุเรียน ยังไม่ได้ขุดค้น เป็นเนินดินสูงๆ ซากเก่าๆ แต่ที่เมืองสวรรคโลกเขาขุดค้นแล้ว ขุดให้คนเห็นว่าสภาพเก่าเป็นอย่างไร เป็นโครงเข้าไปอย่างไร มีอะไร แล้วพบไอ้พวกชามบิดๆเบี้ยวๆ ที่เผาแล้วเขาไม่เอา ทิ้งๆไว้ เขาก็เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ให้คนดู ถ้วยชามสมัยสุโขทัยนั่นเขาเรียกว่าสังคโลก ลวดลายสวยงาม ราคาแพง ใครมีไว้ที่บ้านก็อย่ารีบขายนะ ราคามันแพง จานสังคโลก ชามสังคโลก จานเชิง ทำเป็นเชิงลวดลาย คนโบราณก็ใส่อาหาร คนโบราณรับประทานอาหารด้วยจานอย่างนั้น บ้านไหนมีจานอย่างนั้นเขาเรียกว่ามีศักดิ์ มีศรี มีสง่า เปิบข้าวสมัยก่อน เค้าไม่ใช้ช้อนเอา เปิบ ทำคำให้เรียบร้อยใส่ปาก โอ้ย!เรียบร้อย ข้าวไม่หก ไม่ราด
คนสมัยก่อนเป็นศิลปะของคนไทย ส่งไปขายเมืองจีน ส่งไปขายต่างประเทศ เรือล่มที่พัทยา มันมีที่เรือล่ม เรือยังอยู่ คนดำน้ำลงไป เดี๋ยวนี้มันดำน้ำ ไม่รู้พบอะไร ดำน้ำไปเจอเรือ อุ้ย! ข้าวของเยอะแยะ ถ้วยชามรามไห เอามา ศิลปากรรู้กันเลย เอาไป เอามา เอามาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ แต่ก่อนศิลปากรรู้นะ พวกชาวบ้านเอาไปเยอะแล้ว เอาไปขายฝรั่งได้แล้ว เลยเอามาจมอยู่ที่นั่น มีข้าวของเก่าๆ ยุคสุโขทัย ส่งไปขาย แสดงว่ามีการติดต่อกับต่างประเทศ มีความเจริญก้าวหน้าทางการค้าการขาย แล้วก็ตัดถนนหนทาง ทำถนนจากสุโขทัยไปกำแพงเพชร ไปสวรรคโลก เค้าเรียกว่าถนนพระร่วง ก็ยังมี เมืองสุโขทัยนี่มีสระน้ำ ๔๐๐ สระ ในเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ไร่นี่ มีสระถึง ๔๐๐ สระ ถามเจ้าหน้าที่ว่าสระมีเยอะนะ มี ๔๐๐ สระ เพราะอะไร เพราะว่าเมืองมันอยู่ดอน ผ่านทางแม่น้ำ เบื้องตีนของเมืองสุโขทัย เบื้องตีนนอนคือทิศเหนือเป็นทะเล น้ำมันมาไหลขังเป็นพลุเลย ถ้าเราไปเมืองสุโขทัย เราจะเห็นว่าที่ลุ่มแถวนั้นมันต่ำ เพราะน้ำขัง แต่ว่าแม่น้ำยมเอาดินมาถม ถม ถม ถมค่อยตื้นขึ้น ตื้นขึ้นโดยลำดับ เมืองตั้งห่างแม่น้ำ หน้าแล้งก็จะลำบาก เลยขุด เขาเรียกว่าตระพัง ตระพังเงิน ตระพังทอง ตระพังโพยศรี ตระพังอะไรต่ออะไรนะ น้ำใสสะอาด จืดสนิทเหมือนน้ำโขงเมื่อแล้ง น้ำเหล่านั้นจืดสนิทเหมือนน้ำโขงเมื่อแล้ง
แต่บางแห่งยังเหลืออยู่ ขุดเป็นเกาะ ในเกาะนั้นก็สร้างเจดีย์ สร้างพระพุทธรูปไว้กลางเกาะ รอบๆเกาะนั้นเป็นที่สวยงาม แสดงว่ามีความคิดทางวิศวกรรม มีความเจริญก้าวหน้า ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำไม่มีจะถ่าย เพราะขุดไว้เยอะแล้ว มีวัด มีสระ มีสระ มีสระ สระใหญ่ๆ เช่นวัดพระพายหลวงก็สระรอบวัดเลย วัดใหญ่ๆ มีสระทั้งนั้น วัดศรีชุมก็มีสระใหญ่ วัดศรีชุมนี่มันแปลก เจดีย์ทำเป็นสี่เหลี่ยม มีรู รูข้างใน ฝาผนังมีรู เดินได้ เดินเข้าไปได้ เวลาจะยกทัพไปไหน ก็พระพูดได้ พระพูดได้ ไปถามพระว่า จะยกไปรับรบทัพจับศึกนี่ จะไปสะดวกสบายไปไหม
ยุคพระนเรศวร พระพูดว่า "ไปได้ ไปแถวนี้จะได้รับชัยชนะ" เขาว่านั้น ความจริงไม่ใช่พระพูด คนแอบขึ้นไปพูดอยู่ พูดเสียงมันออกมาทางหน้าต่างไง แล้วก็มีรูตรงโพรงพระเศียรของพระพอดี เดินช่องเล็ก เคยเดินขึ้นไปสมัยก่อน เดินเป็นเนิน แต่เดี๋ยวนี้เขาปิดไม่ให้ขึ้น ไปถึงยอดหลังพระ พูดอะไรออกมาก็ได้ มันดังก้อง คนก็นึกว่าเสียงพระพูด ความจริงคนขึ้นไปพูด ลูกน้องของพระราชาขึ้นไปพูดตามที่สั่งไว้
เขาเรียกว่า วัดศรีชุม พระพุทธรูปใหญ่สวยงาม มีสระน้ำ มีอะไร แล้วมีพระแอบไปสร้างวัดอยู่ เขาไม่อยากให้สร้าง กรมศิลปากรอยากให้เอาออกไป รุงรังไปสร้างแล้ว แต่เค้าไล่คนออก พระก็อยู่ไม่ได้ต่อไป ไม่รู้จะบิณฑบาตรที่ไหน ขยับคนออกหมด เพื่อทำพื้นที่ให้สะอาด ให้มีความเรียบร้อย เดี๋ยวนี้เขาทำดีมาก เวลาจะไปชม ก็ต้องไปดูที่ผังเมืองก่อน มีแผนที่อธิบาย อะไรอยู่ตรงนั้น ตรงนั้น แล้วค่อยไปเดินดู เจ้าหน้าที่อธิบาย พัฒนาดีมาก ทำให้เกิดความเจริญ ดูแล้วก็ค่อยสบายใจ เพราะมีระเบียบเรียบร้อย เขาให้พักที่เมืองเก่า มีบ้านทรงไทย เขาบอกว่านี้ บ้านนี้ท่านพลเอกเปรมเคยมาพัก อาตมาบอกพลเอกเปรมกับอาตมามันพวกเดียวกัน พวกลูกสะตอเหมือนกัน แต่ว่ามีเครื่องปรับอากาศ เพราะว่ามันดูดซะหมด เรือนไทยไม่มีอากาศเข้า เลยต้องเปิดเครื่องนอน มีห้องน้ำ ห้องท่าสะดวกสบาย
กลางคืนก็ผู้ว่าฯ กับลูกผู้ว่าการจังหวัด กับข้าราชการไปคุยธรรมะกัน ตั้งแต่ท่านผู้ว่าฯนี่ท่านเข้าฉี่ ท่านถามว่า ท่านจำวัดเวลาเท่าใด อาตมาก็จำวัดราว ๓ ทุ่ม ๓ ทุ่มครึ่ง ท่านคุยถึง ๓ ทุ่ม ถึงเวลาจำวัดหลวงพ่อ ท่านจะนอน พวกเรากลับเถอะ เลยกลับเลย ไม่รบกวน เข้าทีเหมือนกัน พักที่นั่นสบาย แล้วบริเวณกว้างขวาง แต่มันเตี้ย เรือนคนชาวบ้านสร้าง เตี้ยไปหน่อย เวลาเดินต้องก้มเข้าไป บ้านไทยเตี้ยๆ เขาให้คนเข้าบ้านอ่อนน้อมหน่อย ไปบ้านใครก็ต้องก้มเข้าไป อ่อนน้อม ไม่ใช่เดินทื่อเข้าไป เดินทื่อก็ชนหัวเลย เขาทำให้เตี้ยเพื่อให้อ่อนน้อมหน่อย ไม่ใช่เรื่องอะไร นี่ได้ไปดู ไปเห็นเป็นวันระลึกราชการธรรมที่สนามหลวง เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ แต่มันไม่สมบูรณ์ คือไม่มีการพูดถึงเรื่องบรรพบุรุษให้ฟัง ต่อนี้ไปเราก็มานั่งสงบใจกันเป็นเวลา ๕ นาที
- ปาฐกถาธรรม ประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๒ เมษายน ปีพ.ศ.๒๕๓๓