แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย บัดนี้เวลา ๑๖.๐๐ น. หรือ ๔ โมงพอดีตามที่ได้นัดหมายกันไว้ ตั้งแต่วันที่ ๗ ตอนเช้า จนเป็นวันที่ ๘ วันนี้เป็นวันที่ ๙ อันเป็นวันที่ตรงกับมาฆบูชา พวกญาติโยมทั้งหลายได้ตั้งใจมาปฏิบัติธรรมะ และมีการฟังหลายเรื่องหลายอย่าง พระที่มาเทศน์ให้ฟังก็ตั้งใจเทศน์จริงๆ เช่น ท่านมหาประทีปนี่เทศน์ย้ำแล้วย้ำอีก ให้โยมได้เข้าใจในคำว่า ตัวกู ของกู อะไรต่างๆ ถ้าฟังด้วยความตั้งใจก็คงจะเข้าใจเรื่อง ท่านมหาสง่าพูดบ่อยๆ ย้ำเตือนญาติโยมทั้งหลาย
เมื่อตอนบ่ายนี้พระมหาบุญสร้าง ซึ่งเป็นอาจารย์องค์หนึ่งเหมือนกันก็ได้พยายามเทศน์ให้โยมเข้าใจในเรื่องการภาวนา ต่อจากนั้นท่านมหาจรรยาเป็นดอกเตอร์มาหน่อย ได้เป็นดอกเตอร์ รูปร่างเหมือนแขกอินเดีย เพราะฉะนั้นเวลาเข้าสู่ประชุมจึงพ่นภาษาอังกฤษเข้าใส่ นึกว่ามาจากอินเดียหรือลังกา เพราะรูปร่างมันให้ ก็พูดย้ำให้ญาติโยมทั้งหลายได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ ความเข้าใจ ตลอดเวลาที่เรามานั่งกันอยู่ที่นี่ มาปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับฟังและปฏิบัติ การปฏิบัติก็อาจารย์เฉลิมมาพูดในตอนกลางคืน ให้โยมหัดท่าทางโยคะนิดหน่อย เพื่อบริหารร่างกาย ถ้าเราจำท่าเหล่านั้นไว้ได้กลับไปบ้าน ก็ไปทำมันก็ดีเหมือนกันจะช่วยให้ร่างกายดีขึ้น กระปรี้กระเปร่า คล่องตัว ไม่ปวดไม่ขัดตรงนั้นตรงนี้ ใครที่ปวดขัดกันบ่อยเพราะนั่งมากเกินไปบ้าง ยืนมากเกินไปบ้าง นอนมากเกินไปบ้าง อิริยาบถ ๔ มันไม่สมบูรณ์ ไม่สมดุลเลยเกิดปัญหาแก่ร่างกาย แต่ถ้าเราทำให้สมบูรณ์ เปลี่ยนแปลงให้มันพอดีกัน ร่างกายก็ปกติ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน จำเอาไปใช้ได้ ปฏิบัติทุกวันทุกเวลา แล้วท่านจะเห็นผลว่ามันค่อยดีขึ้น
ไอ้ที่ทำง่ายๆ ก็คือการแกว่งแขน ทำอย่างไร ตื่นขึ้นเช้าแกว่งแขวนสักสามสี่ร้อยครั้ง ห้าร้อยครั้ง ช่วยให้การปวดเมื่อยสันหลังอะไรต่ออะไรดีขึ้น ก่อนจะแกว่งก็ดื่มน้ำเสียก่อน ดื่มน้ำสัก ๒-๓ แก้ว แก้วเล็กๆ ถ้าแก้วใหญ่ก็เอาแก้วเดียว ดื่มให้เต็มพอตื่นขึ้นเอาเลย ดื่มน้ำก่อน น้ำนี่ไปช่วยชำระสิ่งโสโครกในกระเพาะ ทำให้การขับถ่ายดีขึ้น แล้วก็ยืนตัวตรง มองตรง แล้วก็แกว่งแขวน เวลาแกว่งก็หายใจเข้า หายใจออกช้าๆ แกว่งช้าๆ ทำอย่างนั้นจะได้ผลทางร่างกาย ส่วนทางด้านจิตใจนั้น เราก็ต้องทำการปฏิบัติทางใจ ที่สำคัญก็คือให้มีสติ มีปัญญา กำกับความคิด การพูด การกระทำ อย่าเผลอ อย่าประมาทเป็นอันขาด โยมขึ้นไปกุฏิไปทำบุญ พอลงมาแล้ว กลับขึ้นมานะโยม ลืมกระเป๋า นั่นคือขาดสติ เวลาจะลุกจะนั่งไม่มีสติ จึงลืมกระเป๋า บางทีก็ลืมของไว้ในรถยนต์
ก่อนนี้โยมมาวันหนึ่งมาบอก “ขโมยงัดรถยนต์ดิฉันเจ้าค่ะ” “อ้าว ทำไมมันถึงงัด โยมเอาอะไรทิ้งไว้ในรถยนต์บ้าง” “กระเป๋าสตางค์” “เขาห้ามไม่ให้ทิ้งไว้ในรถยนต์ ถ้าไว้ก็ไว้ท้ายรถได้ มันมองไม่เห็น ทิ้งไว้ เอาไปเท่าไรโยม” “สี่พัน” “โอย นิดหน่อยไม่เป็นไร อย่างอื่นมีมากกว่านั้น รถยนต์ทั้งคันยังอยู่ราคาตั้งหลายแสน ดีที่มันไม่ได้เอารถยนต์ไปด้วย ทีหลังจำไว้ อย่าเอาอะไรไว้ในรถยนต์ ล่อตาขโมย” ย้ำเตือนไปในรูปอย่างนั้น ทำอย่างนั้นก็ขาดสติไป คือนึกไม่ได้ว่าเมืองไทยนี้ มีคนที่ไม่ชอบคนเผลอมากอยู่เหมือนกัน ถ้าใครเผลอก็ไม่ชอบอยากจะสอนจะเตือน ถ้าใครเผลอเขาก็เตือนให้เท่านั้นเอง ไม่ใช่ขี้ลักขี้ขโมย แต่มันชอบสอนคนเผลอ
เราอย่าเผลอให้เขาสอน แล้วมันก็ไม่มีอะไรที่จะเกิดปัญหา
วันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่มีประวัติการณ์เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ตะวันบ่ายอย่างนี้ ก่อนหน้านี้เล็กน้อย แต่ก็คงขนาด ๓ – ๔ โมงอย่างนี้ เวลาบ่ายสบาย มีร่มเขาคิชฌกูฏ ถ้าหากว่าตอนบ่ายโมงยังร้อน บ่ายสองยังร้อน บ่ายสามยังร้อน แต่พอบ่ายสี่ นี่ร่มของเขาคิชฌกูฏมาครอบงำพื้นที่ เรานึกว่าต้องเป็นเวลาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่ที่ประชุมสงฆ์ ๑๒๕๐ องค์ พระสงฆ์ ๑๒๕๐ องค์นี้ ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ เขาเรียกกันว่าพระอรหันต์ขีณาสพ ขีณาสพ แปลว่า หมดกิเลส อันเป็นเครื่องทำให้ใจเศร้าหมองแล้ว และเป็นผู้ที่บวชกับพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระที่เกิดขึ้นในยุคต้นพุทธกาล ภายหลังที่พระองค์ตรัสรู้แล้วไปสอนธรรมะ ก็มีคนมาบวช พวกยุคต้นๆ รวมกันถึง ๑,๒๕๐ องค์ ได้ไปปฏิบัติหน้าที่สอนธรรมะแก่ประชาชนในที่ต่างๆ เมื่อไปก็นึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าอยากจะไปเฝ้า อยากจะไปฟังคำสอน เหมือนกับเราๆ ไปไหนนานๆ คิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ คิดถึงก็มากัน
วันนี้โยมก็บอกว่าได้เห็นรูปหลวงพ่อทางโทรทัศน์ แต่ไม่เคยเห็นตัวจริง บอกว่าตัวจริงไม่สำคัญอะไร เสียงทางโทรทัศน์นั่นแหละสำคัญ ว่าอยากจะมาดู ก็มากัน มาก็ไม่มาเปล่าเอาปัจจัยมาแถมพกให้อีก สำหรับสร้างโรงพยาบาล อันนี้เป็นเรื่องของจิตใจของคนธรรมดาๆ แม้พระอรหันต์ท่านก็คิดถึง ไม่ได้คิดถึงร่างกายของพระพุทธเจ้า แต่คิดถึงธรรมะที่มีอยู่ในพระผู้มีพระภาคเจ้า อยากจะมาฟังเพิ่มเติม เพราะท่านเหล่านั้นยังไม่อิ่ม ไม่พอในการฟัง ยังเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา อันเรื่องนี้ก็สำคัญเหมือนกันอยากจะฝากญาติโยมไว้ พระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็ยังสนใจที่จะฟังธรรม ไม่ละเลยหน้าที่ในการที่จะปฏิบัติ
พระมหากัสสปะ อายุมากกว่าใครๆ ในสมัยนั้น พอถึงเวลาพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาให้โอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ ท่านก็มาทุกที พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “กัสสปะ ท่านอายุมากแล้ว ไม่ต้องมาก็ได้” ท่านบอกว่า “ต้องมาพระเจ้าค่ะ เพราะว่าจะได้เป็นตัวอย่างแก่พระรูปอื่นๆ ที่เป็นพระหนุ่มพระน้อย จะได้เอาเป็นตัวอย่าง” ว่า พระมหากัสสปะ มีอายุมากยังมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า มาฟังธรรม หรือเวลามีกิจอะไรขึ้น ท่านก็ต้องมาไม่ขาด อันนี้นับว่าเป็นตัวอย่างแก่พวกเราทั้งหลาย ทั้งที่เป็นพระ เป็นชาวบ้าน คือว่าให้สนใจในการที่จะไปดู ไปแล ไปฟัง ไปทำความเข้าใจ ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ อย่าเป็นคนที่นึกว่า ฉันรู้แล้ว ฉันรู้แล้ว ถ้านึกอย่างนั้นความรู้มันจะหดจะสั้น
คนที่นึกว่าเรารู้แล้ว ความรู้มันจะหดจะสั้น แต่ถ้านึกว่าเรายังไม่รู้อีกหลายเรื่องหลายอย่าง ถ้ามีใครมาพูดธรรมะก็ต้องไปฟัง ไปสนใจกัน อย่างนี้เป็นการถูกต้อง
มีท่านเจ้าคุณองค์หนึ่ง อายุท่านเวลาสิ้นบุญนี่อายุ ๙๙ ปีกับ ๔ เดือนท่านสิ้นบุญ แต่ว่าก่อนนั้นท่านไปไหนมาไหนได้ อาตมาไปปาถกฐาในกรุงเทพฯ ทุกครั้งเห็นท่านมาฟังทุกที ไม่เคยขาด ไม่ว่าเทศน์ที่ไหน เทศน์มหามกุฏ เทศน์ที่ไหนท่านต้องไปด้วย ไปฟัง แล้วพอเทศน์จบต้องเข้ามา มาจับไม้จับมือ ไม่ใช่จับมือสั่นแบบฝรั่ง มาบีบแขน แสดงความดีใจ ดีใจว่า เออ เทศน์ พูดจาเข้าที มีประโยชน์มาก ท่านเป็นคนปักษ์ใต้เหมือนกัน คือเป็นชาวบ้านดอนมดคัน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ท่านก็มาทุกที ไอ้เราผู้เทศน์ก็อิ่มใจ เออ ท่านอุตส่าห์มา ท่านเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังอุตส่าห์มาฟัง ทุกครั้งที่มีการแสดงปาถกฐา
เจ้าคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชผาติการาม หรือว่าวัดส้มเกลี้ยง วัดส้มเกลี้ยง เชิงสะพานซังฮี้ ท่านไม่เคยขาดการฟังทางวิทยุ ถ้าเทศน์ทางวิทยุยานเกราะ เทศน์ทุกวันอาทิตย์ตอนเย็น เวลานี้ไม่ค่อยได้ไป ให้พระอื่นไปเทศน์แทนอยู่ ท่านฟังทุกครั้งไม่เคยขาด เพราะว่าถ้าเทศน์เรื่องอะไรแล้ว สมมติว่าไปพบท่านที่ไหน ในระยะใกล้ๆ กัน ท่านต้องพูดทันทีว่า เออ เทศน์เรื่องนั้นเข้าทีดี คือวันอาทิตย์นั้น แสดงว่าฟังทุกอาทิตย์ ไม่ค่อยจะขาด แล้วก็หาเทปไปฟัง นี่ก็หลายนานแล้ว ปีนี้ไม่ได้ไปเยี่ยมเลย ไม่ได้เอาเทปไปฝาก ว่างๆ ก็นึกว่าจะไปเยี่ยมเอาเทปไปฝากเสียที ท่านก็เปิดเทปฟังที่กุฏิ แสดงว่าท่านเป็นเปรียญถึง ๙ ประโยค เป็นถึงขั้นสมเด็จ แต่ยังสนใจในการฟัง มีอะไรพอฟังได้ท่านก็ฟัง ฟังเสมอไม่เคยขาด อันนี้เป็นตัวอย่างเหมือนกัน แก่เราๆ ท่านทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพระ เป็นอุบาสกอุบาสิกา ให้สนใจศึกษาเวลาใครมาพูดมาจาเรื่องธรรมะ เรื่องอะไรก็ตามใจ ให้มาฟัง การมาฟังนั้นเป็นการให้เกียรติแก่ผู้พูด และเป็นการให้เกียรติแก่สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาพูดมันก็เป็นธรรมะเหมือนกัน ถ้าเป็นธรรมะ เราก็ไปฟัง ทำให้ผู้ที่มาพูดนั้นสบายใจ สบายใจว่า โอ้ มีคนฟังเยอะแยะ ถ้ามาพูดคนฟังน้อยเขาก็ไม่สบายใจ
สมมติว่าพูดในวัดนี่พระเราไม่มาฟัง คนที่พูดก็นึกว่า เอ พระที่วัดชลประทาน ไม่สนใจการฟัง แต่บางองค์อาจฟังอยู่ที่กุฏิก็ได้ บางองค์อาจจะนอนกรนอยู่ก็ได้ที่กุฏิ ไม่ได้ตั้งใจฟัง ถ้าฟังอย่างนั้นมันก็ไม่ค่อยดี มาฟังให้เขาเห็นหน้าจะดีกว่า อาตมาสมัยเป็นพระหนุ่มๆ มีเวลาก็ต้องไปฟังทุกแห่ง เทศน์คู่ก็ต้องไปฟัง เทศน์เดี่ยวก็ต้องไปฟัง เขาแสดงปาถกฐาที่สามัคยาจารย์สมาคม สมัยก่อนเขาเรียกว่าอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เรียกว่า คุรุสภา ถ้ามีปาถกฐาเขาลงหนังสือพิมพ์ ต้องไปฟัง ต้องไปฟังทุกเรื่อง ทุกประการที่เขาพูดกัน ทำไมจึงต้องไปฟัง เพราะเราอยากจะเป็นนักพูดเหมือนกัน
[12:13] คนจะเป็นนักพูด ต้องเป็นนักฟังก่อน ถ้าไม่เป็นนักฟังแล้วจะเป็นนักพูดได้อย่างไร เมื่อไม่เอาหูรับสิ่งที่ควรรู้ แล้วปากมันจะเอาอะไรมาพูดได้ มันต้องเข้าหูก่อนแล้วจึงออกมาจากปากต่อไป
เพราะฉะนั้นเรื่องการฟังนี่เป็นเรื่องสำคัญ ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พุทธสาวก พุทธสาวกคือผู้ฟังพระพุทธเจ้า ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแม้ว่าจะเป็นอรหันต์แล้วก็ยังใคร่จะฟังอยู่ เพราะสิ่งที่พระองค์ตรัสนั้นมันไม่เหมือนกัน กับที่นี่อย่างหนึ่ง กับที่โน้นอย่างหนึ่ง พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก คอยรับใช้พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ตลอดเวลา ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเลือกให้ท่านเป็นผู้ปฏิบัติ (ปรนนิบัติ) พระพุทธเจ้า ก่อนนี้องค์นั้นปฏิบัติบ้าง องค์นี้ปฏิบัติบ้าง ไม่สม่ำเสมอ บางทีก็ขาดไป ไม่มีใครดูแลรับใช้พระผู้มีพระภาค พระสงฆ์ทั้งหลายจึงคิดว่าเราควรเลือกพระรูปใดรูปหนึ่ง ให้เป็นองค์อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ก็เลยเลือกเอาพระอานนนท์ พระอานนท์เมื่อได้รับเลือกเป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ท่านขอพรหลายอย่างเหมือนกัน พรที่เป็นการแสดงว่าไม่เห็นแก่ตัว มีอยู่ เช่น บอกว่าไม่ให้ประทานจีวรที่ประณีตแก่พระอานนท์ ไม่ให้ประทานอาหารอันประณีต ไม่พาพระอานนท์ไปที่นิมนต์อะไรต่างๆ แต่ว่ามีพรข้อหนึ่งว่าเมื่อพระองค์ไปแสดงธรรมที่ไหน ข้าพระองค์ไม่ได้ไปฟังด้วย กลับมาต้องแสดงซ้ำให้ข้าพระองค์ฟัง เพราะท่านขออย่างนั้น
การขออย่างนั้นเป็นประโยชน์มาก เพราะว่าพระองค์ไปพูดกับใครที่ไหนกลับมาพูดให้พระอานนท์ฟัง พระอานนท์ก็จำไว้หมด เวลาพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานก็มีการคัดเลือกกันว่า ใครจะเป็นผู้พูดเรื่องพระสูตร ใครจะเป็นผู้พูดเรื่องพระวินัย ปฐมสังคายนาหลังพระพุทธเจ้านิพพาน ๓ เดือน ก็ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ไม่ได้เข้าไปทำในถ้ำ ถ้ำมันเล็กนิดเดียว แต่ทำหน้าถ้ำสัตตบรรณคูหา อาศัยร่มเงาภูเขาเวภารบรรพต สะดวกสบาย แล้วเขาอุปโลกน์ว่าพระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาเรื่องพระสูตร เพราะว่าพระอานนท์เหมือนกับเป็นตู้คำสอนก็ว่าได้อะไรๆ ที่พระองค์พูดที่ไหน พระอานนท์จำไว้ บันทึกไว้ในสมองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นในพระสูตรต่างๆ เราได้ยินคำว่า เอวัมเม สุตัง ฯ เอกัง สะมะยัง ภะคะวา ที่นั่นที่นี่ว่าไป เอวัมเม สุตัง ฯ แปลว่าข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้ นั่นเป็นคำพูดของพระอานนท์ พระอานนท์เป็นผู้รับฟังมาจากพระผู้มีพระภาคเจ้า พระอานนท์อยู่ใกล้พระพุทธเจ้าย่อมถามปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ อะไรมากมาย ท่านจึงเหมือนกับว่าเป็นตู้พระธรรม ที่จะถามอะไรก็ได้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง นับว่าเป็นผู้ทำกิจอันประเสริฐ เป็นประโยชน์แก่พวกเราทั้งหลายในสมัยนี้มากมาย
อันนี้เอามาพูดให้ญาติโยม พระสงฆ์ทั้งหลายได้รู้ว่า การสนใจฟังนั้นเป็นการกระทำของผู้ฉลาด การไม่สนใจไปฟังไปดูอะไรนั้น เป็นนิสัยของคนปิดหูปิดตาปิดใจ ไม่ยอมรับอะไรๆ อันนี้ถ้าเราไม่ยอมรับมันก็ไม่ได้ ปิดความรู้มันไม่ได้ ปิดเรื่องอื่นได้ เช่น ปิดตา ปิดหู ปิดปาก ปิดจมูก เขาเรียกว่าพระปิดทวารทั้ง ๙ ใครๆ อยากได้ แหม บอกว่าอยากได้องค์นี้ ยิงไม่เข้า ไอ้กระสุนมันเข้าวันยังค่ำ ถ้าเปรี้ยงเข้าแล้ว ถึงมีพระปิดทวารแขวนคอมันก็เข้า ไอ้ที่เขาว่ายิงไม่เข้าหมายความว่า ไม่ถูกอารมณ์กระทบ รูปเข้าทางตาไม่กระทบใจ เสียงเข้าทางหูไม่กระทบใจ กลิ่นเข้าจมูกก็ไม่กระทบใจ รสเข้าทางลิ้นก็ไม่กระทบใจ ผัสสะกระทบกายก็ไม่กระทบใจ นี่เขาเรียกว่ายิงไม่เข้า ถ้ายิงเข้าพอตาเห็นรูปไหลไปกับรูป ได้ยินเสียงไหลไปกับเสียง พอได้กลิ่นผิดกลิ่นไหลไปหากลิ่น ได้รสติดรสอาหารต้องไปกินตามภัตตาคารใหญ่ๆ สิ้นเปลืองเงินทองเข้าไปเยอะแยะ ได้จับได้ต้องอะไรก็พอใจ อยากจับอยากต้องบ่อยๆ จับเผลอๆ ก็ไปโรงพักกันเท่านั้นเอง ก็เรียกว่ามันยิงเข้า ถูกยิง อันนี้ถ้าปิดทวารมันไม่ถูกยิง คือสำรวม สำรวมที่ตา ที่หู ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ดังมีคำที่ว่า สำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมกาย สำรวมใจ คำว่า สำรวม ไม่ใช่ว่าเดินหลับตา อย่างนั้นสิบล้อชนตาย หมายความว่ามีสติในการข้ามถนน จะเดินอะไรก็ต้องระมัดระวัง แม้ขับรถก็ต้องระวังเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นก็เกิดเรื่อง การสำรวมด้วยสติปัญญา เรียกว่า ปิดทวาร การปิดทวารก็เป็นอย่างนั้น
ในมหายานก็มีลิงสามตัว ลิงตัวหนึ่งเอามือปิดปาก ลิงตัวหนึ่งเอามือปิดตา ลิงตัวหนึ่งเอามือปิดหู เขาทำลิงสามตัวไว้ตามวัดจีนทุกแห่ง วัดมหายานมีลิงสามตัวทั้งนั้น มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เขาทำไว้ แล้วเขาก็ทำเป็นภาพเล็กๆ ขายในตลาด คนก็ชอบซื้อไป ภาพลิงปิดหู ปิดตา ปิดจมูก เพื่ออะไร ก็สอนให้คนปิดเสียบ้าง ปิดปากอย่าพูดมากเกินไป พูดอะไรเป็นเรื่อง เป็นราว เป็นสาระ เป็นแก่นเป็นสาร ปิดตาอย่าเที่ยวส่าย ดูนั่นดูนี่ ให้มันวุ่นวาย ดูสิ่งที่ควรดูแต่ดูด้วยสติด้วยปัญญา อันนี้ปิดหูก็อย่าฟัง หูนี่มันปิดไม่ได้ มันต้องมีเสียงเข้า แต่เมื่อมีเสียงเข้าเราก็ต้องมีสติ มีปัญญากำกับ ในเสียงนั้นว่าเราไม่รับ ไม่รับ ไม่ติดในเสียงนั้น ไม่เอามาเป็นอารมณ์ เช่น ใครด่าใครว่า เราไม่นับว่าด่าเรา ใครชมก็ไม่รับว่าชมเรา ไม่มีการรับคือไม่ยินดี ยินร้าย ไม่ยินดียินร้าย มันก็ไม่มีเรื่องยุ่ง ไอ้เรื่องยุ่งมันตรงที่ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง คนถึงชอบพระปิดทวาร แต่ชอบแบบปัญญาอ่อน ไม่ชอบแบบคนปัญญากล้า คือไม่ชอบเป็นธรรม ชอบแบบบุคลาธิษฐาน แบบภาษาคน ท่านพุทธทาสพูดเรื่องภาษาคน ภาษาธรรม ภาษาคนคือพูดแบบธรรมดาๆ แต่ภาษาธรรมนั้นตีความหมายเป็นธรรมะ แล้วเอาธรรมะนั้นมาเป็นหลักปฏิบัติ อย่างนี้เรียกว่าพูดภาษาธรรมะ .
[19:22] ถ้าพูดภาษาธรรมะเราได้ปัญญา พูดภาษาคนบางทีก็ได้กิเลส ทำให้เกิดความกำหนัดบ้าง ขัดเคืองบ้าง ลุ่มหลงบ้าง มัวเมาประมาทในเรื่องนั้นๆ บ้าง มันก็เกิดเป็นปัญหาไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น เราจึงต้องคิดแก้ปัญหา
อันนี้มาพิจารณาดูว่า โอวาทพระปาติโมกข์ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้น ความจริงพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นก็พ้นเรื่องแล้ว คือไม่ต้องละอะไรแล้ว ไม่ต้องเจริญอะไรแล้ว แต่ว่าตรัสสอนเช่นนั้นเพื่อให้เป็นแนว สำหรับไปพูดกับประชาชน ชาวบ้านทั่วๆ ไป เรียกว่าให้หลักสูตรการสอน ว่าควรสอนอะไร ใจความย่อๆ แล้วก็ไปพูดอธิบายยืดยาวอย่างไรแต่อยู่ในใจความเหล่านี้ เราลองมาพิจารณาดูถึงพระโอวาทปาติโมกข์ ว่ามีอะไรบ้าง ขึ้นต้นก็สวด
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่กระทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา การกระทำกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง กระทำจิตให้ขาวรอบ
เขาเรียกว่า เป็น โอวาท ๓ อย่างของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นหลักเหมือนกัน เป็นหลักสำคัญเหมือนกัน คือ ๑.ละชั่ว ๒.ประพฤติดี ๓.ทำใจให้สะอาด เป็นหลักที่จะต้องกระทำ ที่ให้ละชั่วเพราะอะไร ที่สอนให้ละชั่วเพราะว่า เรามันสะสมความชั่วมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เป็นเด็กน้อยๆ สะสมความชั่วขึ้นมา สะสมด้วยความยึดถือ ว่าเป็นของฉัน ของฉัน อะไรอย่างนี้
เมื่อสักครู่นี้พ่อให้เด็กน้อยคนหนึ่ง เอาซองมายื่นให้ อันนี้ก็ไปรับ รับแล้วเด็กๆ ก็จับไว้แข็ง ไม่ยอมให้ จับไว้นึกว่านี่ซองของกูนั่นเอง เลยไม่ยอมให้ ก็เลยดึงเอามา ดึงค่อยๆ เอามา พอดึงเอามาเด็กก็ร้องไห้เลย ก็เด็กมันไปยึดถือว่าซองนั้นของฉัน แล้วมันก็ร้องไห้ พ่อก็ต้องเอาไป เดินข้างนอกก็หยุดร้อง พอเขียนใบเสร็จเสร็จแล้ว เอาหนังสือแล้วก็ส่งให้ เอายิ้ม แสดงอาการยิ้ม ชอบใจ เรื่องรับก็ชอบ ไอ้เรื่องให้ก็ไม่ชอบเท่าไร อันนี้เป็นเรื่องอยู่ในใจของเราทุกคน มันสะสมไว้ สะสมการรับ แต่ไม่ได้สะสมการให้ อันนี้สิ่งที่เรารับไว้ในใจมันมีมากมาย สะสมกองกิเลส สะสมความโลภ สะสมความโกรธ สะสมความหลง สะสมความริษยาพยาบาท อาฆาต จองเวร เผลอๆ มันก็เกิดขึ้นในใจของเรา แต่เราไม่ค่อยจะรู้ว่าสิ่งนั้นมันเป็นกิเลส เพราะไม่ได้ศึกษาให้ละเอียด โดยเฉพาะอุปกิเลส ๑๖ อย่างนี้ มันแอบมาเกิดบ่อยๆ ในจิตใจของเรา เกิดอารมณ์อย่างนั้น อารมณ์อย่างนี้ขึ้นในใจ มันเป็นอุปกิเลสที่แทรกแซงเข้ามา แต่ว่ากิเลสตัวใหญ่ๆ ก็มี โลภะ โทสะ โมหะ นี่เรียกว่าเป็นผู้น้ำเป็นชั้นผู้นำ บิ๊กเสือสามตัว บิ๊กโกรธ บิ๊กโลภ บิ๊กหลง ไอ้สามตัวนี้ผลิตตัวอื่นออกมาอีก ไอ้ตัวอื่นออกมาจากตัวโกรธ ตัวโลภ ตัวหลง เป็นตัวการสำคัญ มีอยู่ในใจของเรา ทำให้ใจขุ่นมัว เศร้าหมอง เพราะเราสะสมมันไว้ การสะสมคือการคิดบ่อยๆ ทำบ่อยๆ พูดบ่อยๆ ในเรื่องอย่างนั้น เรียกว่า การสะสม
[23:10]เมื่อสะสมเรื่องใด มันก็ได้เรื่องนั้น คนเราถ้าสะสมความโลภ ก็ความโลภมากขึ้น สะสมความโกรธ ความโกรธก็มากขึ้น ถ้าสะสมความหลง ความหลงก็มีมากขึ้นในจิตใจของเรา
อันนี้ปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปย่อมมีอยู่ เมื่อมีอยู่พระองค์ก็บอกว่าให้ละเสียก่อน ให้ละสิ่งนั้น ให้ละสิ่งนั้นออกไปจากจิตใจของเราเสียก่อน เพราะถ้าไม่ละสิ่งนั้น มันก็กอดจับแน่นอยู่ในใจของเรา ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น เหมือนกับว่า เราจะย้อมผ้า ต้องเอาผ้าไปซักเสียก่อน จะย้อมสีอะไรก็ตาม ต้องซักก่อน ซักให้มันสะอาด พอซักสะอาดแล้วก็ลงสี สีก็จับเส้นด้ายในผืนผ้าเรียบร้อย ไม่เสียหาย ถ้าเราเอาไปย้อมทั้งสกปรก มันก็ไม่ได้ เหมือนการก่อสร้างอาคารอะไรต่างๆ เวลาผสมคอนกรีต ทำไมต้องล้างหินด้วย ที่ต้องล้างหินเพื่อเอาขี้โคลน ขี้ฝุ่น ดินต่างๆ ที่ติดมากับหินออกเสีย มันจะได้กระชับกันแน่นหน่อย คอนกรีตมันจะได้ดี ถ้าหากว่าทำของใหญ่ๆ ต้องคุมอย่างนั้น แต่ถ้าของเล็กก็ไม่เป็นไร นิดๆ หน่อยๆ แต่ว่ามันไม่ถูกหลักวิชา หลักวิชาต้องให้ล้าง ก็เหมือนกัน ในตัวเรานี้มันมีอะไรที่สะสมไว้ตั้งแต่เป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาว จนกระทั่งบัดนี้ มากมายก่ายกอง จึงต้องละ การที่จะละสิ่งนั้นจะทำอย่างไร เราก็ต้องมีเวลาสำรวจตัวเอง ถือหลักการ ๓ อย่างว่า พิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตนเอง ๓ เรื่องนี้ เราสะสมสิ่งเหล่านั้นไว้ในใจของเรา มันก็ต้องมากขึ้นๆ พระพุทธเจ้าบอกว่าให้ละสิ่งนั้น ขูดเอาสิ่งนั้น อันนี้ก็ต้องรู้ว่าการละก็ต้องรู้ว่าเรามีอะไร อะไรที่เป็นเรื่องหนักเรื่องใหญ่อยู่ในใจของเรา เขาเรียกว่า จริต มีอะไรเป็นเจ้าเรือน มีราคะเป็นเจ้าเรือน มีโทสะเป็นเจ้าเรือน มีอะไรเป็นเจ้าเรือนเราต้องรู้ รู้แล้วคิดแก้ไข
ความจริงสิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา ให้โยมเข้าใจเรื่องนี้ไว้เลย กิเลสไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา มันมีเวลาที่ว่างจากกิเลส ใจเรามันเป็นอย่างนั้น ถ้าเกิดตลอดเวลาก็ต้องไปอยู่โรงพยาบาลศรีธัญญา หรือปากคลองสานนั่นเอง มันอยู่ไม่ได้ แล้วก็จะตายด้วยนะ ถ้าคนที่มีกิเลสตลอดเวลามันอยู่ไม่ได้ ไอ้ที่เราอยู่ได้เพราะไม่มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้โกรธอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้โลภอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หลงใหลมัวเมาอยู่ตลอดเวลา หรือไม่ได้นั่งริษยาเพื่อนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ถ้าใครมีอย่างนั้น สมองเสื่อม สุขภาพจิตเสื่อม สุขภาพกายก็เสื่อมด้วย อายุสั้นทั้งนั้น ถ้าปล่อยให้กิเลสครอบงำอยู่ตลอดเวลา อายุมันสั้น แต่ที่เราไม่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่ามันไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา มันมีเมื่อมีอะไรมากระทบ สิ่งที่มากระทบนั้นภาษาธรรมะ เรียกว่า อารมณ์ ที่เราพูดว่าอารมณ์ไม่ดี มันไม่ใช่อารมณ์ไม่ดี อารมณ์ที่มากระทบมันไม่ดีไม่ชั่ว แต่เราปรุงแต่งของเราเองว่า ปรุงแต่ว่าไอ้นี่น่ารัก ไอ้นี่น่าเอา ไอ้นี่หน้าเป็น ไอ้นั่นน่าเกลียด ไอ้นั่นไม่น่าเป็นอย่างนั้นไม่น่าเป็นอย่างนี้ เราปรุงแต่ง
การปรุงแต่งนั้นเกิดเพราะอะไร ก็เพราะเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญาควบคุมจิตใจ เผลอ ประมาท สิ่งนั้นจึงเข้ามาครอบงำ บางทีก็เพลินไปกับสิ่งนั้นเสียด้วย คิดแล้วก็เพลินไป โยมชอบอะไรก็เพลินสิ่งนั้น คนเล่นไพ่ ก็เพลินไปในทางไพ่ ไปสนามม้าก็เพลินม้า ไปอะไรก็เพลินไป พวกเล่นหวย ก็เพลินกันเรื่องหวย เรื่องเบอร์ ฝันเฟื่องอยู่แต่เรื่องอย่างนั้น นี่มันเป็นอย่างนั้น มันเกิดขึ้นในใจอย่างนั้น มันคิดมากในเรื่องอย่างนั้น แต่มันก็มีเวลาว่างไม่ได้คิดอยู่ทุกลมหายใจ เข้าออก มีเวลาว่างบ้างจึงอยู่เป็นปกติ เวลาใดที่สิ่งอะไรเกิดขึ้น เราก็ต้องรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ของเดิม สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งถาวร สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งมีอยู่เป็นอยู่ตลอดเวลา แต่มันเกิดขึ้นครอบงำจิตใจเราอยู่ในขณะนี้ เราก็ต้องคิดหาสาเหตุหรือหลักการของพระพุทธเจ้าว่า สิ่งทั้งหลายมีเหตุ ถ้าไม่มีเหตุผลก็จะไม่เกิดขึ้น หรือพิจารณาตาม หลักอริยสัจ ๔ ว่ามีปัญหา มีเหตุให้เกิดปัญหา แล้วก็มีการแก้ปัญหา วิธีการแก้ปัญหา พระพุทธเจ้าวางไว้เรียบร้อย เอาไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร เป็นพ่อค้า เป็นนักธุรกิจ เป็นข้าราชการ เป็นนักการเมือง เป็นอะไรมันก็ต้องหลีกเรื่องนี้ไม่พ้น มันต้องมีสิ่งให้คิดคือตัวปัญหาเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหา มีอยู่ปัญหามันมีบ่อยๆ แต่ว่าท่านนายกท่านบอกว่าไม่มีปัญหา หมายความว่า แก้ได้ ไม่เป็นไร ท่านก็บอกว่าไม่มีปัญหา คือ แก้ได้เรียบร้อย มีอะไรเกิดขึ้นก็แก้ได้ แต่มันมีปัญหามันเกิด แต่ปัญหาเกิดก็ต้องคิดแก้ไป อันนี้คนที่แก้ได้แปลว่า รู้จักตัวปัญหา รู้จักเหตุของปัญหา แล้วก็รู้ว่าปัญหาเป็นเรื่องแก้ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเหลือวิสัย จะแก้โดยวิธีใด นี่แหละสำคัญ
วิธีแก้ปัญหานั้นเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงต้องศึกษาตัวเราเอง การเรียนธรรมะ ขอให้โยมเข้าใจไว้อย่างหนึ่งว่า เรียนเรื่องตัวเรานั่นเอง เรียนเรื่องธรรมะ คือเรียนเรื่องตัวเรา เรียนเพื่อให้รู้จักตัว ให้รู้จักสิ่งที่มันเกิดขึ้นในตัว ให้รู้เหตุของสิ่งนั้น แล้วให้รู้ว่าจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไร หลักการมีเท่านี้ ที่เราเรียนก็เรียนเท่านี้ ไม่ใช่เรียนเรื่องอื่น ไม่ใช่ไปเรียนภายนอก นอกฟ้าป่าหิมพานต์อย่างนั้นหาไม่ได้ แต่เรียนอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนาคืบหนึ่งนี้ ที่มีใจครอง เพราะอะไรๆ มันก็อยู่ในนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า กายยาววาหนาคืบนี้แหละ เป็นลูกๆ หนึ่ง เป็นลูกที่มีใจครอง อะไรๆ ก็อยู่ในนี้ ความสุข ความทุกข์ อะไรก็อยู่ในตัวของเรา คนไทยเราสมัยเก่าๆ จึงพูดว่า สวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ นิพพานอยู่ที่ไหนก็อยู่ที่ใจนั่นแหละ ชี้ชัดลงไปให้มันตรงเป้า ไม่ใช่กวัดแกว่งไปโน่นไปนี่ให้มันวุ่นวาย เพราะถ้ากวัดแกว่งแล้วมันก็หาอะไรไม่เจอ แต่ถ้ามุ่งตรงลงไปตรงนั้น เจาะให้ลึกแทงลงไปให้ตลอดเรื่อง เราก็จะพบความจริงว่าอะไรมันเป็นอะไรในร่างกาย ในชีวิตของเรา นี่หลักการมันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องนั่งสงบใจ ต้องเข้าห้องพระ ถ้าเรามีพระอยู่ที่บ้าน คือตามบ้านคนไทยมักจะมีห้องพระ ของเก่าหามากองๆ ไว้เต็มห้อง ขี้ฝุ่นเกรอะกรัง ไม่ค่อยได้ไปปัดไปกวาด ไม่ได้เข้าไปนั่งในห้องพระ ไม่ค่อยมีเวลา เวลาใดไม่สบายใจ มีความทุกข์ มีปัญหาควรเข้าไปในห้องพระ ไปนั่งสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งทำจิตให้สงบ เมื่อมันสงบก็จะเห็นว่าอะไรเป็นอะไร ปกติถ้าจิตไม่สงบเห็นอะไรไม่ได้ น้ำเป็นคลื่นจะเห็นอะไรได้ น้ำเดือดจะเห็นอะไรได้ น้ำขุ่นก็จะเห็นอะไรได้ มันเห็นไม่ได้ หรือมีจอกมีแหนเต็มไปหมดเราก็มองอะไรไม่ได้ ไม่รู้อะไรอยู่ในน้ำนั้นบ้าง เพราะมันมีสิ่งปิดบังอยู่ตลอดเวลา อันนี้ต้องให้มันสงบ เมื่อสงบแล้วมันก็สามารถมองลึกลงไปได้ ว่ามันมีอะไรอยู่ที่ก้นอู่ก้นอ่าง หรือว่าในบ่อ ถ้าน้ำนิ่งสงบเราก็เห็นได้กระเพื่อมก็มองไม่เห็น
อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ในใจเราก็เหมือนกัน ถ้าใจมันขุ่นมันก็มองไม่เห็น มันเศร้าหมองก็มองไม่เห็น จึงต้องทำให้มันสงบเสียก่อน จึงต้องศึกษาวิธีปฏิบัติทำใจให้สงบ ญาติโยมที่มาประชุมกันในงานนี้ก็ได้รับวิธีการมากมาย ย้ำแล้วย้ำอีกให้ญาติโยมเข้าใจ ก็จำไว้แล้วเอาไปใช้เป็นเครื่องมือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ต้องเอาไปใช้เหมือนกับเราไปโรงพยาบาล ไปให้หมอตรวจร่างกาย หมอตรวจเสร็จแล้ว เขาก็ให้ยา เอายามาให้เรา ใส่ซองพลาสติก สมัยนี้ไม่ค่อยใส่ขวดแล้ว ยาน้ำก็ใส่ขวด ยาเม็ดก็ใส่ซอง แล้วก็เขียนชื่อคนไข้ แล้วก็เขียนวิธีกินว่ากินตอนเช้า ตอนกลางวัน เย็น ก่อนอาหาร หลังอาหาร เขาบอกไว้เรียบร้อย เราก็ต้องไปอ่านให้เข้าใจ เมื่ออ่านให้เข้าใจแล้วก็ต้องกินตามหมอสั่ง ตรงเวลา เช่น กินก่อนอาหาร ก็ต้องก่อนอาหาร หลังอาหารก็ต้องหลังอาหาร ไม่ใช่กินให้ผิดเวลา ยาบางประเภทเขาให้กินก่อนอาหาร เพื่อให้มันละลายก่อน แล้วก็จะได้ปนไปกับอาหารที่ได้ย่อยแล้ว ไปเลี้ยงร่างกายต่อไป ยาบางอย่างก็กินหลังอาหาร แต่ก่อนหรือหลังนั้น โยมต้องเข้าใจไว้นิดหนึ่ง ก่อนนี่มันอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ไม่ใช่พอจะกินแล้วกลืนยาลงไปก่อน มันก็ไปปนกับกากอาหารหมด หรือว่าพอกินข้าวเสร็จแล้วกินยาทันทีมันก็ไม่ได้ผลเท่าไร หลักการเขาว่า ๓๐ นาทีอย่างน้อย ๓๐ นาทีก่อนกินอาหาร ๓๐ นาทีหลังอาหาร แต่ทำไมรีบกินกลัวจะลืมนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร ธุระมันมากเลยกิน ยามันก็เลยไม่เกิดประโยชน์เท่าไร
ต้องกินให้ถูกฉันใด หากว่าเราไม่กินยาโรคมันก็ไม่หาย
ธรรมะก็เหมือนยา ธรรมะของพระพุทธเจ้าเหมือนยาแก้โรค พระพุทธเจ้าเป็นเหมือนนายแพทย์ใหญ่ของโลก เป็นแพทย์ที่รักษาโรคทางใจ รักษาโรคทางวิญญาณ ธรรมะเป็นยาที่พระองค์ได้บอกไว้ให้ ให้คนเราเอาไปกิน ไปใช้ เราก็ต้องศึกษาเรื่องยานั้นให้เข้าใจ ที่มานั่งฟังนี่มาเรียนเรื่องตัวยา เพื่อให้จำได้ จำได้แล้วต้องเอาไปคิดไปกรอง ไม่ใช่พอออกจากวัดแล้วก็ลืมหมด อย่างนั้นมันก็ไม่ได้เรื่องอะไร เราต้องฟังแล้วต้องคิดอย่างนั้นอย่างนี้ให้เข้าใจก่อน พอเข้าใจแล้วเอาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะไปไหน จะทำอะไร ก็ต้องเอาไปใช้อยู่ตลอดเวลา ใช้ธรรมะเหมือนกับใช้ลมหายใจเข้า-ออก ลมหายใจนี่ถ้าขาดมันตาย ขาดน้ำไม่เป็นไร หลายวันถึงจะตาย ขาดอาหารก็ไม่เป็นไร คนบางคนอดอาหารได้ตั้งเดือน ไม่ตาย ท่านมหาตมะคานธี ท่านอดบ่อยๆ ก็อดตั้งเดือนแกก็ยังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ มาตายเอาเพราะไอ้หนุ่มใจร้อนมายิงจึงตายลงไป แต่ปกติแกอดข้าวก็ไม่ตาย แต่ถ้าอดลมหายใจตายไว อยู่ไม่ได้ ร่างกายตาย แต่ว่า อดธรรมะ ใจตายเหมือนกัน ไอ้ร่างกายตายกับใจตายนี่มันไม่เหมือนกัน ร่างกายตายนี่ไม่ยุ่งอะไร พอตายปุ๊บใส่โลงไปเผาก็ได้ ฝังก็ได้ แต่มันยุ่งตรงที่ทำหลายวัน เอามาสวด ... ๆ ไม่รู้สวดทำไมนักหนา ตั้ง ๗ วันมันเรื่องอะไร ก็เผาๆ ศาลาก็จะได้ว่างให้คนอื่นมาใช้บ้าง อันนี้มาจองแล้ว ๗ วันไม่ออก คนอื่นตายก็มานอนคอยอยู่นั่น ไม่ได้ขึ้นสักที อย่างนี้ก็ลำบาก ควรจะทำให้มันสั้นๆ ไม่ต้องไว้ยาวๆ เราทำอะไรรีบเผา ๓ คืนเผา ๒ คืนเผา คืนเดียวเผาก็ยังได้ แต่ไม่ได้ๆ ไม่ยอม กลัวเสียหน้า หน้ามันก็ไม่เสีย หน้าเท่าเดิมนั่นแหละ ถึงไว้ ๗ วันหน้ามันก็ไม่ได้โตขึ้น ไม่ได้บวมขึ้น หามิได้ แต่ว่าค่านิยมมันเป็นอย่างนั้น ไอ้ค่านิยมของเมืองไทยเรามันทำให้สิ้นเปลืองเงินทองมากมาย ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ค่านิยมเป็นขึ้นอย่างนั้น ถ้าไม่มีอะไรก็รีบไปเผา ให้มันหมดเรื่องไป นี่เรื่องของตายทางกาย แต่ตายทางใจมันไม่อย่างนั้น กายมันไม่ตาย ใจมันตาย เหมือนเรามีลูกชายสักคนหนึ่งที่เกเร เกะกะ ไม่เรียนหนังสือคบเพื่อนชั่ว แล้วก็ไปติดผงขาว ติด ทินเนอร์ นั่นแหละมันตายแล้ว ใจมันตายแล้ว แล้วพ่อแม่เป็นอย่างไร พอเห็นหน้าคนนั้นแล้ว มันร้อนขึ้นมา ลูกคนนั้นมาส่งพ่อแม่ลงนรก พ่อแม่นั่งตกนรกอยู่ที่บ้าน ทุกวันๆ มันขออะไรก็ต้องให้ ไม่ให้เดี๋ยวมันตุ๊บตั๊บเอา พูดดีๆ ไม่ชอบมันต้องตุ๊บตั๊บกันหน่อย มันไม่ใช่คนแล้วเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ค่อยกัดแม่มัน และไม่กัดเจ้าของด้วยนะสัตว์เดรัจฉาน แต่มันทารุณโน่นนี่ เขาเรียกว่ามันตายแล้วทางจิตใจ ตายทางวิญญาณ ร้ายหนักหนา
อย่าให้ใจตาย อย่าให้วิญญาณของเราตกต่ำถึงขนาดนั้น ต้องมีอาหารคือ ธรรมะหล่อเลี้ยงไว้ อาหารที่หล่อเลี้ยงใจไว้ก็ต้องมี มีสติ มีปัญญากำกับจิตใจ มีหิริโอตัปปะ กำกับจิตใจไว้ และมีธรรมะหมวดอื่นๆ เป็นเรื่องเป็นราวมากมายก่ายกอง เป็นยาสำเร็จรูป ที่พระพุทธเจ้าปรุงไว้เรียบร้อยแล้ว เราเพียงแต่ไปยึดเอามาปฏิบัติเท่านั้นเอง และถ้าเราปฏิบัติเราก็เห็นผลด้วยตัวเราเอง เพราะพระธรรมนี้เป็นสันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโก หมายความว่า ผู้ศึกษา ผู้ปฏิบัติ ย่อมเห็นชัดด้วยตัวเอง ว่าอะไรมันเป็นอะไร เราเห็นได้เอง สุขก็รู้เอง ทุกข์ก็รู้เอง ร้อนก็รู้เอง เย็นก็รู้เอง เสื่อมก็รู้เอง เจริญก็รู้เอง รู้ได้เองทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องให้คนอื่นบอกว่าเป็นอย่างไร ไม่ต้อง เรารู้ได้เอง เรานั่งภาวนาใจสงบเย็นก็รู้ได้เอง ไม่ต้องไปถามใครว่าภาวนาแล้วเป็นอย่างไร ถ้าไปถามคนอื่นเขาเรียกว่ายังไม่กระทำอะไร ยังไม่ได้ปฏิบัติจริงจัง ถ้าปฏิบัติก็ไม่ต้องถาม เพราะมันรู้อยู่เองแล้ว ว่าอะไรเป็นอะไร ลักษณะมันเป็นอย่างนั้น
แล้วก็ไม่จำกัดเวลา ให้ผลทุกฤดูกาล ไม่เหมือนผลไม้บางฤดูมันไม่ออก บางปีมันไม่ออก ลำไยเมืองเหนือ ถ้าปีไหนดกปีหน้ามันไม่มี มันตั้งตัว มันช้ำ เพราะเวลาเป็นลูก คนไปหักลูกกิ่งมันช้ำไปหมด ทารุณมัน ไม่สงสารมันหักโป๊ะๆ กิ่งช้ำหมด มันก็เตรียมตัวตั้งใหม่ แตกยอดใหม่ มันก็ออกน้อย เป็นอย่างนั้นเสียแล้วเวลานี้ เพราะเราไม่ตัดด้วยความประคับประคอง เอามีดตัดอย่าให้มันช้ำ นี่หักมันจนช้ำ ถ้ามันพูดได้มันคงบอกว่าเจ็บจริงๆ เจ็บจริงๆ ทำอย่างนี้กูแย่ ปีหน้ากูออกไม่ไหว ถ้ามันพูดได้นะ แต่ลำไยก็ไม่พูดสักที …... (39.00 คุยกับญาติโยม) นี่เราต้องปฏิบัติ ปฏิบัติก็คือทำตามคำสอนที่เราเข้าใจแล้ว ถ้าหากว่าเราก็ไม่ทำก็ไม่ได้ผล เหมือนเราไม่กินข้าวก็ไม่ได้ผลจากข้าว ไม่อาบน้ำก็ไม่ได้ผลจากน้ำ ไม่กินยาก็ไม่ได้ผลจากยา ต้องทำ ทำที่บ้าน ที่บ้านดีกว่าโยม ดีกว่าที่วัดเสียอีก เพราะอะไร สิ่งทดสอบมันเยอะ นี่มาอยู่วัด ๓ วัน กลับบ้านมีสิ่งทดสอบแล้ว คนจะมาเล่าเรื่องนั้นเล่าเรื่องนี่ให้ฟัง อะไรนะ พอไปถึงใจมันขุ่นขึ้น แสดงว่าไม่ได้เรื่อง ขาดสติ ขาดปัญญากำกับจิตใจ อารมณ์มากระทบยับยั้งชั่งใจไม่ได้จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง พวกเด็กๆ มันถึงว่าคุณยายนี่ไปวัดทุกวันพระ แต่ขี้โมโหโทโส เด็กมันก็ไม่เลื่อมใส หาว่าไปวัดแล้วยังไม่ได้เรื่องอะไร ขี้โมโหโทโสอยู่
ดังนั้นกลับไปบ้านต้องใจเย็นๆ เวลากลับบ้านต้องพูด ใจเย็นๆ ใจเย็นๆ ไปถึงบ้านจะมีคนทดสอบอารมณ์ สอบอารมณ์เรา เราก็ต้องใจเย็นๆ อย่าวู่ว่าม อย่าเร่าร้อน อย่าแสดงอาการอะไร ฟังแล้วก็คุมๆ ไว้ก่อน คอยบอกตัวเอง ใจเย็นๆ ใจเย็นๆ อย่าพูดมาก อย่าอะไรมันมากมายไป คอยคุมไว้อย่างนั้น ปกติแล้วค่อยพูดค่อยจา พูดด้วยอารมณ์ จิตใจที่สุภาพ อ่อนโยน นิ่มนวล สอนอย่างมีเหตุมีผลกับลูกกับหลาน อย่าไปดุไปว่าเหมือนที่เคยดุเคยว่า อย่างนั้นก็ไม่ได้ หรือบางทีก็มาบ่นไปวัดมา ไปทำอะไร ไปเจริญกรรมฐาน คนไปเจริญกรรมฐานหน้าตาอย่างนี้หรือ ขึ้นมาแล้ว ขึ้นมาแล้ว เขาว่าอย่างนี้ ขึ้นมาแล้ว ตัวสั่นขึ้นมาแล้ว อย่างนี้มันก็ไม่ดี คุมไม่ได้ คุมไม่ได้จิตใจตกต่ำ เราจึงคอยควบคุมสภาพจิตใจไว้ให้เป็นปกติ ให้มันปกติ จิตปกติ คือไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง ไม่ตื่นเต้น ไม่เร่าร้อน ไม่มีอาการอะไร เฉยปกติ อะไรมากระทบก็เฉยปกติ ปกติด้วยสติปัญญา ถ้าไม่มีสติปัญญากำกับ มันก็ไม่ปกติเหมือนกัน มันกระทบมันก็วู่วาม เพราะเราเคยอย่างนั้นมาเสียนาน เคยฟุ้งซ่าน เคยเป็นอย่างนั้นมาเสียนาน มันก็เป็นอย่างนั้นตามที่มันเคยเป็น เพราะเราไม่เคยฝึก เหมือนโยมมานั่งเจริญภาวนา บอกว่า อู๊ย ไม่ไหวเจ้าค่ะ ไม่หยุดเสียที อ้าว ก็มันเที่ยวเสียนานแล้ว ต้องทำต่อไป คุมไป คุมไป คุมไป บ่อยๆ มันก็ค่อยดีขึ้นๆ
การปฏิบัติเป็นอย่างนั้น เราต้องหมั่นทำอย่างนั้นจะได้ไม่เกิดปัญหา ไม่เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เราชาวพุทธไม่ควรจะอยู่ด้วยความเป็นทุกข์ ถ้าโยมถือหลักอันนี้ไว้ บอกตัวเองว่ากูเป็นชาวพุทธ ไม่ควรจะอยู่ด้วยความเป็นทุกข์ ไม่ควรจะอยู่ด้วยความกลุ้มใจ ไม่ควรจะอยู่ด้วยความเป็นทุกข์จนกระทั่งปวดหัว นอนไม่หลับ แล้วเวลาใดเราเป็นทุกข์ จำไว้ว่าโง่ทุกที พอเป็นทุกข์แล้วโง่ทุกที กลุ้มใจก็โง่ทุกที โกรธก็โง่ เกลียดเขาก็โง่ ริษยาเขาก็โง่ ทำอะไรไม่ดีโง่ทั้งนั้น เราเป็นชาวพุทธจะไม่ยอมโง่ เราจะเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรมากระทบเรารู้ พอเห็นอะไรเรารู้ มีสติปุ๊บ มันคุมได้ สติคุมไว้มันก็ไม่ขึ้น ไม่เกิดอารมณ์เพราะเราคุมไว้ได้ เหมือนท่านมหาประทีปสอนเมื่อวานนี้ ถ้าเราไม่โง่แล้วก็ไม่มีอะไร ไม่มีตัวกูเกิดขึ้น ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น แต่โง่แล้วเอาทุกที แล้วโง่บ่อย ก็ชินกับความโง่นะ ถ้าโง่บ่อยๆ เลยทุกข์บ่อยๆ ทุกข์บ่อยๆ จนปากคอสั่น มือไม้สั่น กินข้าวยกช้อนตักน้ำแกงไม่ได้แล้ว โง่บ่อยๆ โบราณเขาว่าตีหัวแมว มือถึงสั่นอย่างนั้น ไม่ตีหัวแมว แต่ตีตัวเองบ่อยๆ ด้วยความโกรธ จึงเป็นอย่างนั้น ต้องระงับจิตใจ ระงับความโกรธ ระงับความเกลียด
กลับไปบ้านนี้ต้องไม่มีอะไรเก่าๆ อะไรเก่าๆ ทิ้งหมด เอามาทิ้งไว้ที่วัดก็แล้วกันโยม ทิ้งไว้นี่แหละ ของเก่าทิ้งไว้ ฉันจะกลับบ้านเป็นคนใหม่มีชีวิตใหม่ มีชีวิตที่เป็นธรรม เรียกว่าชีวิตเป็นธรรม ธรรมชีวินู [44:46] ผู้มีชีวิตเป็นธรรม คือ ธรรมะมันอยู่กับเรา เราอยู่กับธรรมะ ธรรมะที่อยู่กับเราคือสติปัญญา สติสัมปชัญญะ สองตัวนี้เป็นธรรมมีอุปการะมาก ช่วยให้เราปลอดภัยจากอันตรายภายใน จากอันตรายภายนอก เราต้องใช้อยู่ตลอดเวลา คอยคุมไว้ ไม่ให้จิตใจอยู่ในสภาพอย่างนั้น อะไรเคยทำ ต้องคอยเตือนอย่าทำ อย่าทำ อย่าพูด อย่าพูด อย่าโกรธ อย่าเกลียดคนนั้นคนนี้ ท่องๆ ไว้สิ่งใดจะไปหาใคร ก็ท่องบอกไว้ อย่าไปแสดงอารมณ์ไม่ดีกับใครนะ เรามันอายุปูนนี้แล้ว เป็นคนมีความรู้ มีปัญญา เป็นบัณฑิต ในทางนั้นทางนี้ อย่าไปแสดงอารมณ์เด็กกับใครๆ อย่าไปทำเป็นคนไม่เดียงสา ขายหน้าเขา คอยเตือนไปอย่างนั้น จิตใจมันก็ค่อยดีขึ้นไปเรื่อยๆ นานๆ ไปก็เรียบร้อย อะไรมากระทบก็เฉยๆ ไม่รู้สึกอะไร ไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นอย่างนั้น ชีวิตก็จะได้ดีขึ้น
จึงขอให้ญาติโยมได้เข้าใจอย่างนี้ พูดมาตอนนี้ก็สมควรแก่เวลา เอา ๔๕ นาทีพอ แล้วเราจะได้ทำพิธีอื่นกันต่อไป แดดร่มลมโชยสบายตอนนี้ ไม่ร้อนเดี๋ยวก็เดินเวียนเทียน เวลาเดินเวียนเทียน อยากจะขอแนะนำญาติโยม เดินอย่างสงบ ไม่พูด ไม่คุย เทียนจุดแล้วมันดับก็อย่าไปยุ่ง จุดใจไว้ จุดใจไว้ให้มันสว่าง อยู่ด้วยพระธรรม เทียนดับไม่เป็นไร เราอย่าไปจุดซ้ำ ช่างหัวมัน ดับก็ดับไป แต่ใจไม่ดับ ใจที่ดับคือใจขาดสติ ขาดปัญญา ใจมันดับ แต่ถ้าใจอยู่ด้วยสติปัญญา ก็เรียกว่า ไม่ดับ ให้เข้าใจอย่างนั้น แล้วก็เดิน แต่ว่าก่อนจะเดินต้องไปตั้งแถวบนถนนนั้นก่อน ออกไปตั้งแถว เรียงสี่ มันจะกว้าง เอาสามก็พอ เรียงสาม สามคน สามคน สามคน เป็นแถว เรียงแถว จัดแถวให้เรียบร้อย แล้วค่อยๆ เดิน พระเดินหน้า โยมเดินตามหลังพระ แต่ว่าพระพอไปถึงโบสถ์ท่านจะเดินเส้นใน คือเดินในกำแพง พระเดินในกำแพง ญาติโยมเดินนอกกำแพงโบสถ์ เดินไปช้าๆ ไม่รีบไม่ร้อน ให้ได้สามรอบ รอบหนึ่งเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า รองสองบูชาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า รอบสามก็บูชาพระอริยสงฆ์ สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเดินครบสามรอบแล้ว ดอกไม้ธูปเทียนที่เหลืออย่าไปปักบนกำแพง อย่าไปติดเทียนตรงนั้น ติดแล้วมันไม่สวย ติดแล้วขี้เทียนเต็มไปหมดอีรุงตุงนัง
ท่านมหาบุญเลื่อนไม่อยู่ตอนนี้ มันขาดอะไรไปหลายอย่าง ท่านมหาบุญเลื่อนเจ้ากี้เจ้าการ ตอนนี้ไปนอนโรงพยาบาล พญายมจะเชิญตัวแล้วตอนนี้ ไปนอนอยู่บ่อยๆ จะนิมนต์ไปยมโลก ยังไม่ไปก่อน พบหมอแล้วว่าดีขึ้นแล้ว แต่ว่าท่านก็ชราแล้วไม่ไหว ต้องมีองค์อื่นคอยนึกคอยคิดคอยทำอะไร ว่าเขาทำอะไรกันบ้างก็คอยจัด คอยทำช่วยเหลือกัน อย่างนั้นมันก็เรียบร้อย อันนี้พอเวียนจบแล้วก็เอาไปใส่ไว้ในโอ่ง ใส่ลงไป ใส่ลงไป ใส่ๆ ลงไปนะ มันหยิบทิ้งง่าย มันไม่ลำบาก ไปเที่ยววางบนกำแพง วางในสีมา อะไรต่ออะไร อย่างไปวาง ไม่ต้องไปไหว้สีมา ไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็พอแล้ว แล้วเอาไปวางให้เรียบร้อย วางเสร็จแล้วกลับมาที่เดิม หรือว่าทำอะไรตามโปรแกรมต่อไป