แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะแล้ว ขอให้ทุกท่านนั่งหาที่พัก อย่ามัวเดินไปเดินมาอยู่ นั่งในป่าไผ่สบายๆ นั่งแล้วก็ดูใบไม้เหี่ยวๆ แห้งๆ ที่ล่วงกองอยู่กับพื้น มันก็เป็นบทเรียนเป็นเครื่องเตือนใจ ว่าชีวิตของเรานี่ก็เหมือนใบไม้ แรกๆ ก็สดชื่นเขียว ต่อมาก็ค่อยๆ เหี่ยวลงๆ แล้วก็จะล่วงเหมือนกับใบไม้ล่วง มันเหมือนกัน เอามาเป็นบทเรียนเป็นเครื่องเตือนใจได้ แล้วก็ตั้งใจฟังเรื่องที่จะกล่าวให้ฟังกันต่อไป
เมื่อวันอาทิตย์ก่อนนี้พูดเรื่องเกี่ยวกับเรื่อง ๕๕ ห้าชนะไปแล้ว วันนี้ก็ วันนี้มาพูดต่อเรื่อง ๕ ต่อไป เพราะ ๕ มันมีหลายเรื่อง มีหลายเรื่องทั้งเรื่องดีทั้งเรื่องเสีย เรื่องที่ควรเอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เรื่องที่จะช่วยให้เกิดกำลังในการปฏิบัติงานในหน้าที่ เมื่ออาทิตย์ก่อนนี้พูดเรื่องเกี่ยวกับนิวรณ์ นิวรณ์แปลว่า ธรรมเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี ๕ อย่าง คือสภาพจิตของคนเรานั้น เหมือนกับผ้าขาวที่สะอาดอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเศร้าหมองเพราะสิ่งที่มากระทบ ถ้าเราเอาผ้าขาวผืนหนึ่งไปปูไว้ที่สนามหญ้า ไม่เท่าใดสีขาวก็ค่อยจางๆ ไป ขี้ฝุ่นจับ แล้วผ้าขาวก็จะกลายเป็นสีอื่น ไม่เป็นสีขาว
สภาพจิตของคนเรานี้ก็เหมือนกัน โดยปกติจิตนั้นสะอาดอยู่ ผ่องใสอยู่ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ปะภัสสะรามิทัง ภิกขะเว จิตตัง ตัญจะ โข อาคันตุเกหิ อุปักกิลิฏฐัง ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติจิตเป็นประภัสสร คำว่าประภัสสรหมายความว่าผ่องใส ไม่มีสิ่งอะไรทำให้ขุ่นมัว นี่คือธรรมชาติเนื้อแท้ พวกเซนเขาเรียกว่าจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้คือจิตที่ยังไม่ถูกปรุงแต่ง มันก็ผ่องใสอยู่ แต่ถ้าหากว่าถูกปรุงแต่งด้วยอะไร จิตก็เปลี่ยนสภาพไป
ในตัวคนเรามีจิต คือมีกายมีใจ เรียกว่าใจตามภาษาไทย ภาษาบาลีเรียกว่าจิต หรือมโนก็ได้ วิญญาณก็ได้ เรียกได้ทั้งหลายคำด้วยกัน แต่เราพูดว่าจิตใจ ก็หมายถึงสิ่งๆ หนึ่งที่อยู่ในชีวิตของเรา มันมีอำนาจในการคิดนึกกำหนดจดจำในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ท่านจึงกล่าวว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประทาน ใจเป็นตัวต้นเรื่องของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง บรรดาความสุขความทุกข์ ความเสื่อมความเจริญ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละเรื่องนั้น มันก็ตั้งต้นมาจากใจของเรา คือใจต้องคิดก่อน ไม่ว่าเรื่องอะไร เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องสุขเรื่องทุกข์ เรื่องเสื่อมเรื่องเจริญ มันก็อยู่ที่ใจของเราทั้งนั้น ใจจึงเป็นต้นเรื่องของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
หรือมีคำกล่าวว่าจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว คือจิตเป็นผู้สั่ง กายก็ต้องทำตามสั่ง สั่งให้ทำนั้นทำนี้ อันนี้เครื่องประกอบของจิตก็คือสมอง แต่ว่ามันประกอบกันหมด หัวใจก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เรียกว่าหัวใจนั้นหมายถึงอวัยวะที่มีรูปร่างเหมือนกับผลมะม่วงแขวนอยู่ ที่แขวนอยู่ตามลำต้น หัวใจเราก็รูปอย่างนั้น หรือรูปเหมือนดอกบัวคว่ำก็ได้ อันนั้นเป็นอวัยวะประกอบทำให้มีเกิดการอะไรขึ้น เช่น การสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย เลี้ยงสมอง ความคิดความจดจำมันอยู่ที่สมอง แต่เราเรียกว่าเป็นเรื่องของใจ สมมติสิ่งนั้นว่าเป็นเรื่องของจิต
จิตก็ทำหน้าที่ไปตามเรื่อง หน้าที่กำหนด จดจำ คิดรู้ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ จิตจึงเป็นใหญ่ในร่างกาย ถ้าว่าจิตเข้มแข็งร่างกายก็เข้มแข็ง จิตอ่อนแอร่างกายก็อ่อนแอ จิตเศร้าหมองการพูดก็เศร้าหมอง การกระทำก็เศร้าหมอง กิจกรรมต่างๆ ที่เราประกอบอยู่ในชีวิตประจำวัน เนื่องมาจากจิตของเรา อันนี้การดูจิตก็ต้องดูงานที่เขากระทำ ดูว่าเขาทำอะไร ถ้าเขาทำแต่เรื่องชั่วแสดงว่าจิตเขาชั่ว ถ้าเขาทำเรื่องดีเรื่องประเสริฐ ก็แสดงว่าจิตของเขาดี ฟังคำพูด
ถ้าว่าพูดด้วยคำสุภาพเรียบร้อยอ่อนหวานสมานใจ ก็แสดงว่าใจเขาดี เพราะพูดคำดีๆ ออกมา ถ้าว่าพูดคำหยาบ พูดพ้นออกมา เขาเรียกว่าพ้นไม่ใช่พูด พ้นออกมา หยาบ ก็ใจมันหยาบ ใจหยาบคิดแต่เรื่องชั่วเรื่องร้าย จึงพูดคำชั่วร้ายออกมา การวาจาแสดงถึงน้ำใจ การกระทำก็แสดงถึงน้ำใจ ความเป็นสุภาพชนก็ใจสุภาพ ความเป็นคนหยาบกระด้างเพราะใจหยาบใจกระด้าง จะเดินจะเหินก็ตึงตังโผงผางสภาพใจเป็นอย่างนั้น คนที่มีอาการหุนหันพลันแล่น ทำอะไรก็ไม่ยั้งไม่คิด ก็แสดงว่าจิตนั้นไม่มีความคิดความ ไม่ได้อบรมให้คิดนึกตรึกตรอง ไม่ได้มีการควบคุมให้มีสภาพดีขึ้น ให้คิดในทางที่ถูกที่ชอบ
ท่านจึงสอนให้ฝึกจิต การฝึกจิตนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำ พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตตัสสะ ทะมะโถ สาธุ การฝึกจิตเป็นความดี จิตตัง ทันตัง สุขาวะหัง จิตฝึกฝนดีแล้วนำความสุขมาให้ นำความสงบมาให้ บัณฑิตทั้งหลายจึงควรฝึกจิตของตน ครั้งหนึ่งพระสาลีบุตรท่านเดินไปในทุ่งนา แล้วก็มีสามเณรน้อยเป็นลูกศิษย์ไปด้วย พอไปถึงก็เห็นชาวนาเขาขุดเหมืองชักน้ำเข้านา ท่านก็บอกเณรน้อยว่านี่ชาวนาเอาน้ำเข้านา ขุดเหมืองเอาน้ำเข้านา เธอก็ต้องฝึกจิตของเธอให้เหมือนกับชาวนาทำหน้าที่ของเขา ไปเห็นคนแต่งลูกศร ท่านก็บอกว่าช่างแต่งลูกศรแต่งศรให้มันตรง เพื่อจะยิงได้แม่น เธอก็ต้องฝึกจิตของเธอเหมือนกับช่างฝึก ดัดลูกศร เรามาดัดจิตของเรา ท่านสอนในรูปอย่างนั้น
แล้วก็มีคำสอนมากมายที่ว่า ให้พยายามฝึกจิต เฝ้าดูจิต ตกแต่งจิตของตนให้มันดีขึ้น ความจริงจิตมันดีอยู่แล้ว แต่ว่าที่มันไม่ดีเพราะเราไม่รู้วิธีป้องกัน ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เข้ามาเกาะกุมจิตใจ เรียกว่ามีกิเลสเกิดขึ้น กิเลสนั้นไม่ใช่ของเดิม ไม่ใช่สิ่งที่มันมีอยู่กับตัวเราตลอดเวลา ในทางพระพุทธศาสนาไม่มีคำพูดที่เรียกว่าบาปดั้งเดิม เหมือนในศาสนาอื่นที่เขาว่ามีบาปดั้งเดิมติดมาตั้งแต่นู้น มนุษย์คนแรกของโลกนู้นไปกระทำความผิดคือขัดขืนพระผู้เป็นเจ้า แล้วก็บาปมันติดมาชั่วลูกหลานเหลนโหลน ติดเข้ามาหลายชั่วอายุคน
พระพุทธศาสนาไม่ได้ถืออย่างนั้น แต่ถือว่าบาปก็ดีบุญก็ดี มันเกิดดับ เกิดดับ อยู่ตลอดเวลา บาปเกิดก็เพราะเราขาดสติปัญญา บุญเกิดก็เพราะเรามีสติปัญญา เราคิดถูกคิดชอบบุญมันเกิดขึ้น ความดีความงามเกิดขึ้น เกิดแล้วมันก็ดับไป ไม่ได้ตั้งอยู่ถาวร เพราะคำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้น ให้เราจำลักษณะพิเศษไว้อันหนึ่งว่าเป็น ขณิกวาท เขาเรียกว่า ขณิกวาท ขณิกะแปลว่าชั่วขณะหนึ่งๆ ตัว ข. ณ.เณร สระอิ ก. นี่ ขณิก อ่านว่า ขะ-นิก แล้วเอาวาทะมาใส่ คือคำสอนข้อปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา เป็นขณิกวาท ไม่ใช่ฆณิก ฆะ ตัว ฆ.ระฆัง ณ.เณร สระอิ ก.เป็น ฆณิก
ฆณิก หมายความว่าเป็นก้อน เป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่รู้จักแยก ไม่รู้จักแตก ไม่รู้จักทำลาย นั่นเป็นลัทธิของความมีอัตตาตัวตนถาวร แต่พระพุทธศาสนาเป็น ขณิก หมายความว่า เป็นเรื่องของการปรุงแต่งชั่วขณะหนึ่งๆ แล้วก็ดับไปๆ ไม่ว่าจะความคิดอะไรเกิดขึ้นในตัวเรา มันก็เป็นของขณะหนึ่งๆ แม้ร่างกายของเรามันก็ปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา ที่เราเห็นเป็นตัวเป็นตนเดินได้พูดได้ ก็เพราะว่าส่วนประกอบมันยังมีอยู่ เขาเรียกว่ามีสันสะฐิ (10.40) คือการติดต่อของวัตถุปัจจัยในร่างกายของเราไม่ขาดสาย เมื่อส่วนประกอบนั้นยังอยู่มันก็เป็นไปได้ คล้ายกับไฟลุกอยู่ได้ก็เพราะมีไส้มีน้ำมัน ผสมส่งกำลังมาให้ไฟลุกเป็นเปลว แต่ถ้าไส้หมดน้ำมันหมดไฟก็ดับไป มันเป็นอย่างนั้น
มันเกิดดับ ๆ อยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นหลักพิจารณาเพื่อเห็นว่าไม่มีเนื้อแท้ ไม่ต้องไปยึดสิ่งที่เป็นตัวเป็นตน แต่ให้รู้ตามกฎของธรรมชาติ ว่าเพียงแต่การปรุงแต่งเกิดขึ้น ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง แล้วก็แตกดับไปตามธรรมชาติ ลักษณะเป็นอย่างนั้น เรียกว่า ขณิกวาท คือเรื่องเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป ไม่ว่าจะเป็นอะไร เหมือนกันทั้งหมด มันมีลักษณะอย่างนั้น ถ้าเราคิดอยู่ในรูปอย่างนั้นก็จะเห็นว่า ไม่มีอะไรที่จะเข้าไปยึดไปถือ ว่าเป็นตัวเราอย่างแท้จริง เป็นตัวเขาอย่างแท้จริง มันเพียงแต่เกิดดับเท่านั้น
สมมติว่าใครมาด่าเรา ว่าเป็น ว่าชาติชั่ว มันก็ดับไปแล้ว พอหยุดพูดไอ้คำชั่วๆ มันก็ดับไปแล้ว แต่ว่าเราไม่ยอมให้ดับ เอามาเก็บไว้ในใจของเรา ไอ้ตัวนั้นแหล่ะมันเกิดเป็นนิวรณ์ขึ้นในใจของเรา มาผูกพันจิตใจเราไปครุ่นคิด มันด่าฉันอย่างนั้นด่าฉันอย่างนี้ นี่เราสร้างให้มันติดต่อกันไม่ให้มันดับไปเสีย แต่ถ้าพอเขาพูดจบเออดับแล้ว ฉันไม่เกี่ยวข้องแล้ว สิ่งนั้นเป็นอดีตไปแล้ว ฉันไม่เอามาเป็นอารมณ์ เรื่องใหม่มีอยู่เฉพาะหน้าฉันคิดเรื่องใหม่ดีกว่า อารมณ์นั้นมันก็หายไป เราก็ไม่มีความขุ่นมัว ไม่มีความเศร้าหมองในจิตใจ
แต่ว่าโลกมันนิยมไปอีกอย่างหนึ่ง นิยมว่ามันต้องชดเชยกัน ต้องแก้แค้นกัน ต้องชำระกัน มันลบเหลี่ยมฉัน สร้างตัวขึ้นแล้วก็สร้างเหลี่ยมขึ้น หลายแง่หลายมุม ถ้าใครมาทำอะไรมันลบเหลี่ยม ทำไมต้องไปให้คนอื่นมาลบเหลี่ยม เราลบของเราเองซะก็หมดเรื่องกัน ลบคือไม่มีเหลี่ยม ไม่มีเหลี่ยมจะถือ ไม่มีเหลี่ยมจะยึด ไม่มีตัวฉันจะยึดจะถือ ไม่ตัวไม่มีตัวฉันที่จะเป็นอย่างนั้นที่จะเป็นอย่างนี้ อารมณ์มันก็ดีขึ้น จิตใจผ่องใส ใครมาด่ามาว่าเราก็นั่งยิ้มๆ สบายใจ เหมือนกับได้ดูละครที่มาแสดงเฉพาะหน้า ไม่ต้องเสียสตังค์ ยกโรงมาแสดงถึงหน้าบ้าน เราก็นั่งดูมันเพลินไป
ดูไปด้วยปัญญา คิดว่าเออมันเกิดขึ้นดับไปแล้ว มันด่าคำนั้นดับไปแล้ว ดับไปแล้ว ดับไปแล้ว ฉันไม่คิดมัน ฉันไม่เอามาเป็นอารมณ์ ฉันนั่งสบายๆ พอคนนั้นไปแล้วเราบอกเออหมดเรื่องกันที เองไปแล้วข้าไม่มีอะไรกับเองนะ ข้านั่งสบายแต่เองใจร้อนเอง ไอ้คนด่าน่ะมันร้อนนะเหงื่อไหลไคลย้อย ไอ้เราผู้ฟังถ้าไม่โกรธมันก็ไม่ร้อน แต่ถ้าโกรธก็ร้อนเหมือนกัน เหงื่อไหลเหมือนกัน ลุกขึ้นเต้นแร้งเต้นกา คนนั้นชั่วแล้วเราชั่วเพิ่มอีกคนหนึ่ง อย่างนี้มันก็ไม่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้าบอกว่า เมื่อเห็นคนอื่นทำชั่วเราอย่าไปเอาอย่างเขา แต่เราบอกกับตัวเองว่า คนนั้นไม่ใช่ตัวเดิม แต่ตัวกิเลสครอบงำจิตใจ จึงได้พูดคำเช่นนั้น ได้แสดงท่าทางเช่นนั้นออกมาน่าเกลียด ไม่น่าดูเลย ฉันควรจะระวังตัวฉัน ที่จะไม่ทำอย่างนั้น แล้วก็นั่งข่มจิตข่มใจ ข่มอารมณ์ไม่ให้เกิดความฟุ้งซ่าน ไม่ให้เกิดความเกลียด ไม่ให้เกิดความชังคนนั้น ถ้าจะเกิดก็เกิดคำว่าน่าสงสาร น่าเอ็นดูจริงๆ ที่มันทำท่าอย่างนั้น แล้วเราก็เฉยๆ ไม่มีอะไร นั่นเรียกว่าเราไม่เพิ่มความชั่ว และไม่เพิ่มคนชั่วขึ้นในโลก ไม่เพิ่มความชั่วและคนชั่วก็สบาย
แต่นี้มันไม่อย่างนั้นนะ ชอบพูดๆ ว่าถ้าไม่พูดไม่ได้ เดี๋ยวเขาหาว่าเรามันเป็นคนขี้แพ้ แพ้ดีกว่าชนะนะ พระท่านจึงบอกว่า แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร ถ้าเรายอมแพ้จิตเป็นพระ เป็นพระอย่างไร คุณธรรมมันเกิดขึ้น เรายอมนี่เรามีคุณธรรม เราไม่ถือตัว ไม่รับรู้ในเรื่องที่เขาพูดเขากล่าว เขาเรียกว่าเป็นผู้ฉลาดมีเหตุมีผล มีธรรมะปรากฎขึ้นในใจ จึงได้เรียกว่าเป็นพระ แต่ถ้าเราชนะเป็นมาร ไม่ได้ กูต้องโกรธแค้นมันต้องชำระกันหน่อย ไม่ได้วันนี้วันหน้าต้องเอาให้ได้ นี่เป็นมารแล้ว เข้ามาทำให้จิตใจวุ่นวาย สร้างกิเลสนิวรณ์ตัวที่เรียกว่าพยาบาทเกิดขึ้น
แม้คนนั้นไปแล้วก็มานั่งคิด โกรธเกลียดอยู่ที่บ้าน ไม่มีตัวคนทำ แต่ว่าเราจำภาพได้จำเสียงได้ แล้วก็เอามาครุ่นคิด เพิ่มความโกรธเพิ่มความเกลียดให้แก่ตัวเอง มันดีที่ตรงไหน มันสบายที่ตรงไหน มันสงบสุขที่ตรงไหน ลองคิดดู คิดดูนะไม่ได้เรื่อง การทำอย่างนั้นเป็นความโง่ชนิดหนึ่ง เราจะเป็นคนโง่ทำไม เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส ในคุณงามความดี แล้วเราจะไปเก็บอารมณ์นั้นไว้ทำไม
เราจึงบังคับจิตใจให้สงบเสียดีกว่า ปัดสิ่งนั้นออกไป ปัดทิ้งๆ อะไรที่ไม่ดีก็ปัดทิ้งไป ปัดทิ้งไป สภาพใจก็เป็นปกติ เป็นหน้าตาดั่งเดิมอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนหน้าดั้งเดิมของเราไม่มีขี้ฝุ่นมาจับ ไม่มีอะไรมาจับมันก็เรียบร้อยดี ใจก็เหมือนกัน ลักษณะเป็นเช่นนั้น จึงสอนให้ฝึกเรื่องเกี่ยวกับใจ การฝึกใจก็ต้องรู้ว่า จิตเดิมมันเป็นอย่างไร จิตเดิมมันสะอาด จิตเดิมมันผ่องใสสงบอยู่ มันไม่สงบเพราะว่ามีสิ่งมากระทบ เหมือนน้ำในอ่างนี่มันไม่มีคลื่นไม่มีอะไร แต่ถ้าเราไม้แหย่ลงไปแล้วกวน น้ำมันก็หมุนเป็นสภาพไม่สงบขึ้นมา หรือน้ำในบ่อเราเอาก้อนหินโยนลงไป น้ำมันกระเพื่อม ในสระก็กระเพื่อมเหมือนกัน มันมีเหตุภายนอกเข้ามาทำให้เกิดขึ้น
สภาพใจเราก็เช่นเดียวกัน อารมณ์คือสิ่งที่มากระทบ เรามักจะพูดว่า วันนี้ฉันอารมณ์ไม่ดี ไม่ใช่อารมณ์ พูดใหม่ว่าใจไม่ดี อารมณ์มันมาจากข้างนอก รูปเรียกว่ารูปารมณ์ เสียงสัททารมณ์ คันธารมณ์คือกลิ่น รสารมณ์คือรส โผฏฐัพพารมณ์คืออารมณ์ที่กระทบกายประสาท อารมณ์ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เข้ามาทางตาของเรา ตาเป็นเครื่องรับรูป หูรับเสียง จมูกรับกลิ่น ลิ้นรับรส กายประสาทรับสิ่งที่ถูกต้องทางกาย สิ่งนั้นเรียกว่าอารมณ์
อารมณ์นั้นเป็นของภายนอก มันไหลมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เข้าไปสู่ใจ ใจรับอารมณ์นั้นไว้ แล้วใจเปลี่ยนสภาพไป เพราะไปปรุงแต่ง ให้เกิดความรักความชังในเรื่องนั้นขึ้นมา นี่มันไม่ใช่ของเดิมเป็นตัวปลอมเข้ามา เป็นอาคันตุกะ เป็นแขกจรมาสู่บ้านเรา ถ้าเรารับเรามีหรือรับด้วยปัญญาไม่มีอะไร แต่ถ้ารับด้วยความโง่ความหลงเป็นพิษเป็นภัย เราจึงต้องรับสิ่งนั้นด้วยปัญญาด้วยสติ เอาสติมาควบคุมไว้ที่ตาเวลาเห็นรูป หูเวลาฟังเสียง จมูกเวลาได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องอะไรมีสติคอยกำหนดรู้
อันนี้ต้องหัด หัดทำสติ แล้วเรา เราเดินเดินด้วยความมีสติ มันไม่มีการล้ม ไม่มีการสะดุด และไม่มีอะไร เพราะเดินด้วยความมีสติ ยกมือขึ้นทำอะไรก็ทำด้วยความมีสติก็ไม่ค่อยจะผิดพลาด เช่น จับมีดมาหั่นผักนี่ มีสติในขณะยื่นมือไปจับมีดมาแล้วก็หั่นผัก เวลาหั่นก็อยู่ที่ผักที่มีด ไม่ได้คิดเรื่องอื่น ไม่คุยเรื่องอื่น มีดมันก็หั่นแต่ผักไม่หั่นนิ้วของเรา หรือว่าไม่ปาดเนื้อของเราที่พอจะปาดได้ เพราะเรามีสติคุมไว้ ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเห็นง่ายตรงนี้ ในขณะใดเรามีสติ เรามีธรรมะ เมื่อมีธรรมะมันก็คุ้มครองไม่ให้เกิดการผิดพลาด ไม่ให้เกิดการเสียหาย
คนบางคนเขียนหนังสือผิด ผิดเพราะอะไร เพราะจิตไม่ได้อยู่ในเรื่องที่เขียน สติไม่มีอยู่ในขณะนั้น ไม่ได้ควบคุมอยู่ ไปคิดเรื่องอื่น เช่น จะเขียนตัว ก. แต่ไปคิดถึงตัว ค. เลยกลายเขียนเป็น ค. ไป เขียนนายแก้วเป็นนายแค้วไป เพราะเราไปคิดถึงตัวอื่น คิดถึงเรื่องอื่นเลยเขียนผิด ทำผิดบ่อยๆ แม้พูดก็เหมือนกัน ถ้าจิตไม่มีสมาธิก็พูดผิด เล่าเรื่องอะไรก็เล่าผิดๆ ถูกๆ ตกๆ หล่นๆ แต่ถ้ามีสติมีสมาธิกำกับอยู่ในขณะนั้น การพูดก็จะไม่เสียหาย ไม่มีการขาดตกบกพร่อง เพราะมีธรรมะคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา ธรรมะจึงรักษาคนผู้ประพฤติธรรมะ
ผู้ใดไม่ประพฤติธรรมะก็ลงโทษเอาเหมือนกัน ลงโทษให้ผิด ผิดแล้วก็เป็นทุกข์มีความเดือดร้อน ด้วยประการต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราจึงมีผิดบ้างถูกบ้าง เพราะสติไม่สมบูรณ์ ปัญญาไม่สมบูรณ์ เลยทำอะไรผิดพลาดเสียหาย อันนี้ต้องแก้ เวลาจะทำอะไรก็ต้องคอยกำหนดไว้ ว่าเรากำลังทำอะไร เรากำลังเขียนอะไร พูดอะไร เรากำลังลุกขึ้น เราจะเดินไป เราจะถอยหลัง จะเลี้ยวขวาเลี้ยวซ้าย เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีสติอยู่ตลอดเวลา คำพระท่านเรียกว่า สติสัพพัตถะ ปัตถิยา แปลว่าสติต้องใช้ทุกเมื่อ ต้องใช้อยู่ทุกเมื่อ พอไม่ใช้ก็ผิดแล้ว เสียหายแล้ว
นักเรียนไปทำการสอบไล่ ถ้าว่าทำด้วยความมีสติ ไม่ผิด ตอบไม่ผิด ถ้าจำได้ด้วยนะ แต่ถ้าจำไม่ได้ก็มันนึกไม่ออก นึกก็นึกไม่ออก อันนี้เราจำได้ เราก็เขียนถูกเรียบร้อย คนตรวจปัญหาก็ตรวจให้คะแนนเรา เพราะเราเขียนเรียบร้อย ไม่ขยุกขยิก ถ้าเขียนขยุกขยิกคนตรวจชักจะมึนศีรษะแล้ว ตรวจเมื่อไรบอกไอ้นี้เขียนไม่ได้เรื่อง วงเลย ตกไปเลย ขี้เกียจอ่าน เพราะเราเขียนไม่ดี ลายมือนี่ก็สำคัญเหมือนกัน หนูนักเรียนจำไว้ หัดเขียนลายมือสวยๆ ต้องหัดเขียนบ่อยๆ สมัยก่อนนั้นเขาสอนให้เขียนลายมือเช้าๆ เวลาเป็นเด็กนี่ตื่นเช้าต้องไปคัดลายมือ ไม่มีกระดาษสมัยนั้นใช้กระดานชนวน
เอาไม้บรรทัดขีดเส้นแล้วก็เขียนตัวบรรจง เขียนทุกวันเขียนให้มือมันอ่อน เขียนทุกวันๆ เวลาต่อมาก็มีสมุดใช้ก็ยังมีการคัดลายมือตัวสวยๆ แล้วสิ่งที่ครูเอามาคัดลายมือนั้นมักจะเป็นคำกลอนสอนใจ เป็นคำกลอนดีๆ ทั้งนั้นแหล่ะ คัดไปท่องไปก็ติดสมองจำได้ เอาไปใช้เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ได้ ลายมือก็สวย คนสมัยก่อนลายมือดีๆ เช่น พวกออกมาจากวัดลายมือดี เขียนตัวเล็กสวยงาม เพราะพวกเรียนมหากว่าจะได้สอบนั้น เขียนหนังเขียนหนังสือ เขาเรียกว่าเสถียร (23.49) คือทำตัวเล็กๆ ไว้ใต้ศัพท์บาลี ไอ้นี่แปลว่ายังไงเขียนไว้ โยง ... (23.55) โยงจนรุงรังไปหมดเลย เพราะว่าประโยคหนึ่งไอ้ตัวประธานอยู่ตรงนี้ ไอ้เจ้าคุณศัพท์มันอยู่ตรงโน้น กริยาสุดท้าย อ่านต้องไว ต้องดูประโยคนั้นด้วย กริยามันตัว ... (24.10) มันคืออะไร แล้วมีอะไรประกอบ ประกอบประธาน ประกอบกริยา คุณศัพท์ที่ประกอบยืดยาวเยอะแยะ จะต้องบันทึกตัวเล็กๆ จึงเขียนลายมือสวยๆ
พวกออกจากวัดนี่เขียนลายมือสวยๆ ทั้งนั้น ทุกคนเป็นอย่างนั้น แล้วก็นักเขียนอัสสัมชันสมัยก่อน เขียนภาษาอังกฤษสวยมาก เส้นสวย ไปเขียนไว้ตรงไหนรู้ว่านี่ศิษย์อัสสัมชัน มีพระองค์หนึ่งท่านเคยอยู่อัสสัมแล้วมาอยู่ที่วัดมหาธาตุ ท่านเขียนไว้ที่กระดานดำเป็นภาษาอังกฤษ มีคนๆ หนึ่งเขาเป็นศิษย์อัสสัมเหมือนกัน ว่าทีนี้นี่ต้องเป็นศิษย์อัสสัม พอเห็นลายมือเขาทายทันทีนี่ต้องเป็นศิษย์อัสสัม แล้วก็พระองค์นั้นเข้าบอกว่าอาตมาเป็นศิษย์อัสสัม ลายมือมันบอกเพราะว่าประกวดขัน ครูสมัยก่อนเป็นนักบวชตรวจขัน เดี๋ยวนี้ไม่เท่าไรแล้ว เพราะว่าครูก่อนตายหมดแล้ว รุ่นๆ เก่าๆ ตาย ไอ้เจ้าลูกศิษย์มันก็ค่อยๆ เลือนๆ ลางๆ ไปไม่ค่อยกวดขันเท่าไรแล้ว ไม่เหมือนเดิม
สมัยก่อนเขากวด อาจารย์สอนศิษย์ก็เขียนลายมือมากๆ แล้วให้นั่งเขียนอย่างนั้นอย่างนี้ ลายมือสวย เวลานี้ได้ปริญญามาสมัครบวช เขียนใบสมัครโอ้ดูไม่ได้ เหมือนกับเด็ก ป.๒ น่ะ เลยบอกว่าได้ปริญญาเขียนหนังสืออย่างนี้ โอ้หลวงพ่อ สมัยนี้เขาไม่เขียนเขาพิมพ์ดีน่ะ ลายมือมันไม่ดีเพราะมันพิมพ์ดีด สมองต่อไป สมองจะพิการนะ เพราะใช้คอมพิวเตอร์ซะเลย อะไรๆ ก็บันทึกในคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องจำแล้ว บันทึกไว้แล้ว เข้าไปกดแป๊บเดียว กดๆ มันก็ออกมา แล้วสมองคนจะไม่ดีต่อไป เพราะใช้เครื่องมาก ใช้เครื่องมากคนก็อ่อนแอ
เหมือนญาติโยมเดินไม่ค่อยไหวเดี๋ยวนี้ ก็นั่งรถเรื่อย ออกจากบ้านนั่งรถๆ เลยเดินไม่เก่งแล้ว แต่ว่าคนบ้านนอกอายุ ๖๐ ๗๐ เดินเก่ง ไม่เป็นโรคปวดหัวเข่า นี่คนเป็นโรคปวดหัวเข่าคนในเมืองทั้งนั้น โยมๆ นี่ปวดกันทั้งนั้น แต่ถ้าไปบ้านนอกไม่มีคนปวดหัวเข่าเลย เพราะเขาเดินตลอดวัน เดินไปนู่นไปนี่ไม่ได้นั่งอยู่กับที่ เรามันไม่รู้จะไปไหน เหมือนนกขังอยู่ในกรง อยู่แต่ในบ้าน อยู่ในบ้านแล้วเครื่องประกอบความสะดวกมันก็มาก เลยก็ร่างกายอ่อนแอ ไม่ค่อยจะแข็งแรง มันเป็นอย่างนั้น
สิ่งต่างๆ มันก็เปลี่ยนไปตามเรื่อง เพราะไม่ได้ฝึกฝน สมองก็ต้องฝึกฝน จิตก็ต้องฝึกฝน ฝึกทุกอย่าง ฝึกเพื่อให้มันคล่องตัว ให้มันสะดวกสบาย ให้สวยงามมีระเบียบเรียบร้อย การทำอะไรต้องอย่างนั้น การเขาให้ทำอะไรบางอย่างก็เป็นการฝึกนิสัย เช่น ให้เขียนภาพต่างๆ ต้องการฝึก ฝึกนิสัยว่าเขียนเรียบร้อยไหม เส้นดีไหม ละเอียดไหม ทำ ทำทุกอย่างเป็นเรื่องฝึกจิตทั้งนั้น เช่นว่า หัดบริหารกาย มันก็ฝึกจิตไปด้วยในตัว ถ้าบริหารกายอย่างเดียวไม่ฝึกจิต คนนั้นจะเอากำลังกายไปใช้ในทางที่ผิด เพราะไม่ได้ฝึกจิต
เพราะฉะนั้นคนจะเป็นนักกีฬาต้องฝึกจิตด้วย แต่ว่าคนยังมองไม่เห็น เห็นแต่เรื่องร่างกาย เห็นแต่เรื่องกีฬาที่ต้องเล่น เลยไม่ฝึกจิต นักกีฬาจึงไม่มีจิตใจก้าวหน้าเท่าที่ควร มักจะมีเรื่องเสียหาย เพราะเราไม่มีหลักสูตรฝึกจิตเข้าไปใช้ในการกีฬา สมาธิก็ไม่ดี ความมั่นคงทางจิตใจก็น้อย ถ้าคนโห่มากๆ เกิดใจน้อยแล้ว เอ๊ะมันไม่โห่เราเลย โห่แต่พวกเขา กำลังใจเสีย กำลังใจเสียก็เล่นกีฬาแพ้ เพราะไม่ได้ฝึกไว้อย่างนั้น ไม่ให้สมาธิ