แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ.บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว จงตั้งอกตั้งใจฟังให้ดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เมื่อเช้าไปออกโทรทัศน์นี่ ก็พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับวันมาฆบูชา เพราะว่าเดือนนี้เป็นเดือนเพ็ญมาฆะ (00.42) มาฆะนี่เป็นชื่อเดือน เดือนภาษาบาลีเดือน๓เรียกว่าเดือนมาฆะ เดือน๖ เรียกว่าเดือนวิสาขะ เรียกเป็นชื่อเดือนอย่างนั้น สมัยก่อนพระท่านชอบสวดมนต์ จิตตวิสาฆะ จิตตอาสาฬหะ (00.59) ท่องทุกคืน เพื่อให้จำคำบาลีได้ เดือนมาฆะเป็นเดือนที่๓ เรียกว่าเดือน๓ แต่ว่าปีระบบปีใหม่มันเป็นเดือน๒ นับทางสุริยคติเป็นเดือนที่๒ แต่ว่าเราเรียกว่าเดือน๓ เพราะเดือนอ้าย เดือนยี่ เดือน๓ นับแบบดวงจันทร์ การเดินของดวงจันทร์แล้วก็นับวันอย่างนั้น การนับวันก็เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งวัน เดือน ปี ให้เรารู้ว่าวันอะไร เดือนอะไร ปีอะไร สะดวกแก่การที่จะกำหนดจดจำ ในเรื่องอะไรๆต่างๆ คนในสมัยก่อนนี้เขาเห็นดวงจันทร์มันไม่เหมือนดวงอาทิตย์ คือดวงจันทร์มีขึ้นมีลง มีเว้ามีแหว่ง มีเต็มดวง แต่ดวงอาทิตย์นั้นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา จึงเอาดวงจันทร์นั้นเป็นเครื่องหมายของการนับขึ้น๑ค่ำ ๒ค่ำ ว่าเรื่อยไปจน๑๕ค่ำเป็นเต็มดวง แล้วก็ดวงจันทร์ค่อยขอดกิ้ว (02.15) ไปเรื่อยเป็นข้างแรม พอถึงวันสิ้นเดือนเขาเรียกว่าวันดับ คือดวงจันทร์ดับหายไปมองไม่เห็นแสง เป็นข้างมืดแล้วก็ไปขึ้นใหม่ มันเป็นอย่างนั้นเขาจึงนับกันในรูปอย่างนั้น
วันเพ็ญเดือน ๓ เป็นวันที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาเพราะเป็นวันที่มีเรื่องสำคัญ (02.40) เกี่ยวข้องกับประวัติการณ์ทางพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่ที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ล้วนจำนวนถึง๑๒๕๐องค์ แล้วพระเหล่านี้ก็บวชกับพระผู้มีพระภาคเจ้า เค้าเรียกว่าบวชแบบเอหิภิกขุอุปสมบท เอหิภิกขุอุปสมบทนี่ใช้คำพูดง่ายๆ คือพระพุทธเจ้าตรัสว่า เอหิภิกขุเธอจงเป็นภิกษุเถิด ถ้าเป็นผู้ที่บรรลุมรรคผลแล้วก็ตรัสเพียงเท่านั้น ว่าเอหิภิกขุเธอจงเป็นภิกษุเถิด แต่ถ้ายังไม่บรรลุมรรคผลก็ตรัสต่ออีกหน่อยว่าภาษาบาลี (03.26) เธอจงทำที่สุดแห่งทุกข์ให้ปรากฏเถิด ตรัสต่อไปอย่างนั้น เป็นการบวชครั้งแรกในทางพระพุทธศาสนา พระที่เข้ามาบวชรูปแรกก็คือท่านโกณฑัญญะ แล้วต่อมาก็ท่านวัปปะ ภัททิยะ มหานาม อัสสชิ ซึ่งนับเนื่องในพระ๕รูปที่พระองค์ไปเทศน์ครั้งแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี แล้วต่อมาก็มีคนบวชเพิ่มขึ้นๆเป็นจำนวน๖๐รูปในพรรษาแรก พอออกพรรษาท่านเหล่านั้นได้บรรลุมรรคผลหมดแล้ว ควรจะออกปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ประชาชนตามจุดหมายที่พระองค์ได้ตั้งไว้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้น ท่านสละความสุขในวังออกไปอยู่ในป่า ก็มีจุดปรารถนาที่จะค้นหาธรรมะเพื่อนำมาสอนแก่ชาวโลก ให้ชาวโลกได้พ้นไปจากความทุกข์ทางใจ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่เขาศึกษาค้นคว้ากันอยู่มากในประเทศอินเดียในสมัยนั้น ประเทศอินเดียในสมัยยุคที่พระองค์เกิดมาและก่อนนั้นเล็กน้อย เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในทางจิตใจ มีการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้มาก เพราะคนต้องการความพ้นทุกข์นั่นเอง แต่ว่าไปไม่ตลอด คือได้ไปพบความสุขบางอย่างก็ติดอยู่ในความสุขนั้น แล้วก็นึกว่าเป็นที่สุดแห่งความทุกข์แล้ว พระพุทธเจ้าของเราออกบวชก็เพื่อความคิดแนวเดียวกัน ตามแบบอย่างของคนอินเดียในสมัยนั้น ในสมัยนี้ก็ยังมีบวชอยู่เหมือนกัน ออกไปหาความพ้นทุกข์เช่นเดียวกัน แต่ว่าไม่ต้องค้นแล้ว เพราะมีผู้อื่นค้นมาให้เรียบร้อยแล้ว ไปถึงก็หยิบมาเลย คล้ายกับข้าวอยู่ในชาม เราก็ตักบริโภคได้เลย แต่ว่าพระพุทธเจ้าต้องไปค้นคว้า ลงทุนเป็นเวลานานถึง ๖ ปี จึงได้สำเร็จเป็นพุทธะ เป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยพระองค์เอง ต้องใช้เวลานานลำบากพอสมควร เกือบเอาชีวิตไปทิ้งซะในป่า เพราะไปบำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า ตามแบบที่เขาทำกันมาในสมัยนั้น แต่ว่าเป็นบุญของชาวโลกที่จะไม่ขาดแสงสว่างทางพระธรรม เราก็รอดพ้นมาได้ แล้วก็ได้มาค้นคว้าด้วยวิธีใหม่ พบความจริง บรรลุนิพพาน คือบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ได้เอาธรรมะนั้นไปสอนให้คนอื่นเกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ ได้ผลจากการสอนและมีคนมาบวชมากขึ้นๆ เป็นจำนวนตั้ง๑,๐๐๐กว่ารูป เมื่อบวชเสร็จแล้วปฏิบัติตนสำเร็จแล้วก็ส่งไปประกาศธรรมะแก่ประชาชน
หลักการของพระองค์สอนว่า เธอทั้งหลายจงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท คำว่าว่าประโยชน์ตนในที่นี้พระองค์มุ่ง สำหรับภิกษุนะ มุ่งให้ปฏิบัติทางจิตเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ เพื่อให้พ้นจากเครื่องผูกรัดจิตใจ ที่เราเรียกว่ากิเลสหรืออาสวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมองให้ขุ่นมัวด้วยประการต่างๆ ให้พยายามปฏิบัติเพื่อให้พ้น หลุดพ้น พอหลุดพ้นแล้วก็อย่าอยู่นิ่งอยู่เฉย อย่านั่งเสวยความสุขเฉพาะตนผู้เดียว แต่ให้สงสารชาวโลกที่ยังเวียนว่ายอยู่ในกระแสของความทุกข์ ให้ไปช่วยสอนเขาให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจในแนวทางที่จะปฏิบัติให้พ้นทุกข์ พระเหล่านั้นก็ออกเดินทางไปตามคำสั่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า การออกไปปฏิบัติงานของพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายนั้น ท่านไปทำงานเพื่องานอย่างแท้จริง ไม่ได้ไปเพื่อหวังอะไร เพราะจิตใจของท่านไม่หวังอะไรแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำเพื่อส่วนตัวของท่าน ท่านได้หลุดพ้นแล้วด้วยประการทั้งปวง ยังเหลืออยู่แต่เพียงเมตตา กรุณาในจิตใจ ที่จะทำอะไรๆให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ต่อไป เพราะอย่างนั้นท่านจึงเดินทางไปเที่ยวสั่งสอนอบรมประชาชนตามสถานที่ต่างๆ การเดินทางในประเทศอินเดียในสมัยนั้นไม่มีพาหนะใด นอกจากจาริกไปตามหมู่บ้าน ตามนิคมน้อยๆ ใหญ่ๆ ไปบ้านไหนหมู่เล็กก็พักน้อยวัน ไปหมู่ใหญ่ก็พักหลายๆวัน ไปพักอยู่นอกบ้าน นอกเขตบริเวณบ้าน ห่างไกลจากบ้านประมาณสัก๑กิโลเมตร พอจะได้อาศัยการบิณฑบาตร พระไปพักอยู่ที่ไหน ประชาชนเห็นพระก็เข้าไปใกล้ ไต่ถามปัญหา สนทนาธรรมะกัน พระท่านก็ชี้แจงให้คนเหล่านั้นเกิดความรู้ความเข้าใจ
อันนี้ยังเป็นนิสัยของคนอินเดียอยู่เหมือนกัน คนอินเดียในสมัยนี้ถ้าเราเป็นนักบวชไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้หรือไปนั่งอยู่ณ.ที่ใด คนจะมาห้อมล้อม จะเข้ามาใกล้ มาถึงยกมือไหว้ แล้วเขาก็จะนั่ง ถ้าเราพูดภาษาพื้นบ้านพื้นเมืองได้ ต้องคุยกันเป็นการใหญ่ เขาจะคุยด้วยแล้วก็จะถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ สนทนากันตามใต้ร่มไม้สบายใจ แต่มันขัดข้องตรงที่ว่าเราพูดภาษาพื้นบ้านเขาไม่ได้ ให้เขาได้แต่นั่งดูกันไปเท่านั้นเอง แล้วเขาก็พูดของเขาเรื่อยไปเราก็ฟังไม่รู้เรื่อง อันนี้แสดงถึงนิสัยว่ายังสนใจธรรมะอยู่ ยังสนใจในเรื่องที่จะรู้จะเรียนในเรื่องอะไรต่างๆ ถ้าเรารู้ภาษาพื้นเมืองดี หาคนฟังไม่ยาก ไม่ว่าไปที่ไหนจะมีคนมาฟัง มาสนทนากับเราเหมือนกับยุคพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ แล้วเมื่อเขามาฟังเกิดความรู้ความเข้าใจแล้ว เรื่องอาหารการขบฉันไม่เดือดร้อน เช้าขึ้นเขาก็เอามาให้ ฉันกันไม่หวาดไหวเหมือนกันแหละ เพราะมันมาหลายคน อาหารของแขกอินเดีย ตามภาษาคนพื้นบ้าน ก็พอประทังชีวิตไปได้ ไม่ลำบากไม่เดือดร้อนอะไร อินเดียยังมีผู้มีธรรม ยังมีอะไรๆดีๆอยู่เหมือนกัน สมัยก่อนคนก็มีสภาพเช่นนั้น เพราะฉะนั้นพระก็เดินทางเรื่อยไป ไปบ้านไหนก็ไปพักอยู่ใกล้บ้าน แต่ไม่มีอะไรจะบอกว่าพระไปอยู่ คือไม่มีกลดเหมือนกับสมัยนี้ พระธุดงค์เมืองไทยนี่แบกกลดไปด้วย เรียกว่าพามุ้งไปด้วย พาร่มไปด้วย ก็หนักอยู่สักหน่อยเดินแบกไปนี่ ให้นึกว่าฝ่ามือนี้หิ้วกาน้ำ แล้วบ่านี้สะพายบาตร บาตรแขวนเฉวียงบ่าเข้า แล้วนี่แบกกลด เดินไปในท่าอย่างนี้ ถ้าเดินสัก๑๐กิโลจะรู้สึกอย่างไร บ่าก็จะปวด แขนก็จะปวด น้ำหนักมันมี แรกออกมันไม่หนักหรอก แต่พอเดินไปๆมันค่อยหนักขึ้นๆ ก็ต้องหยุดพักเป็นแห่งๆ พระที่ไปธุดงค์ก็ไปเพื่อฝึกฝนตนเองเหมือนกัน ถ้าไปมุ่งอย่างนั้น แต่ถ้าธุดงค์ไปเพื่อขายพระเครื่อง ขายตะกรุด ไปเพื่อทำสิ่งเหลวไหลมันก็ไม่ค่อยจะได้เรื่องได้สาระอะไร พระสมัยก่อนท่านไม่มีอะไร ท่านไปแต่ตัวกับบาตร มีบาตรกับจีวรที่ใช้ จีวรก็มี๒ผืน ห่มไปผืนหนึ่ง คลุมหัว หน้าหนาวก็คลุมตัวกลางคืน ปูนั่ง ปูนอน ใช้ได้ร้อยแปด เขาเรียกว่าสังฆาฏิ ท่านก็ไปทำงานอย่างนั้น ไปด้วยความเมตตาปราณีต่อประชาชน ไปเพื่อชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้ทางสุขเกษมสานต์ให้เขาได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ ไปเพื่อให้ ไม่ได้ไปเพื่อหวังอะไรแม้แต่น้อย
ทีนี้พระที่พระผู้มีพระภาคส่งไปสอนธรรมะนี่ ไป ไป ก็นึกถึงพระผู้มีพระภาค เหมือนเราสมัยนี้ก็นึกถึงพ่อ แม่ นึกถึงครูบาอาจารย์ นานแล้วไม่ได้พบกัน ก็ไปเยี่ยมกันหน่อย พระเหล่านั้นก็เดินทางมาเยี่ยมพระผู้มีพระภาค ๑,๒๕๐ องค์ โดยไม่ได้นัดหมายกัน ไม่ได้มีการนัดหมายอะไร เพราะเดินอยู่คนละถิ่นคนละทาง จะไปนัดหมายอย่างไร แต่ใจมันเกิดส่งกันขึ้น มาพร้อมกันถึงวัดเวฬุวันก็เวลาตะวันบ่าย มีการพักผ่อนพอสมควร พระผู้มีพระภาคก็เสด็จมาเยี่ยมเยียนพระเหล่านั้น แล้วก็ประทานพระโอวาท เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ เป็นการวางหลักการว่าเราควรจะไปสอนชาวบ้านอย่างไร ในหลักการที่วางไว้นั้นก็มีตั้งแต่ขั้นศีลธรรม ขั้นฝึกฝนสมาธิเพื่อความหลุดพ้นอย่างเด็ดขาด เรียกว่าศีลก็มี สมาธิก็มี ปัญญาก็มี เป็นหลักที่ควรจะตรัสอย่างนั้น สอนอย่างนั้นแก่ประชาชนชาวบ้าน พระเหล่านั้นได้รับฟังก็มีความซาบซึ้งในรสพระธรรมที่พระองค์ได้แสดง แสดงที่วัดเวฬุวัน สวนไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัดที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวายพระผู้มีพระภาคเป็นแห่งแรกในโลก วัดนั้นยังอยู่ เขารักษาไว้ดีเรียกว่าเป็นอุทยานแห่งชาติ กั้นบริเวณไว้ปักรั้วรอบขอบชิด สระน้ำก็น้ำยังใสสะอาด อาบได้ดื่มก็ยังได้ แต่ว่าเขาไม่ดื่ม ดื่มน้ำประปากัน น้ำในสระยังใสสะอาดอยู่ บริเวณเขาทำไว้ร่มรื่น ใครไปนั่งพักนั่งผ่อนก็สบายอกสบายใจ เพราะเขาดูแลรักษา เป็นสถานที่ควรจะได้ไปเห็นไปชมเหมือนกัน สมัยนั้นเป็นอย่างใด คงจะเดานึกภาพออก แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปบ้าง คือต้นหมากรากไม้ถูกโค่นถูกตัดไป แต่ไปนั่งหลับตานึกภาพว่าเป็นป่าไผ่ ไม้ไผ่มากๆ แล้วมีกระรอกกระแตเยอะแยะ พระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาให้เหยื่อ อาหารแก่กระแตบ่อยๆ จึงมีคำพ่วงท้ายว่า ...... (15.02) เป็นสถานที่ห้ามคน ไม่ให้ไปรังแกสัตว์ เป็นที่ให้อภัยแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยครั้งนั้น ในวันเพ็ญเดือน ๓
เราทั้งหลายมีชีวิตมาใกล้จะถึงวันเพ็ญเดือน๓ วันศุกร์นี่ก็ถึงแล้ว วันนี้อาทิตย์ อีกไม่กี่วันก็ถึงวันนั้น ในวันเพ็ญเดือน๓เราควรจะทำอะไร อันจะเป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจ ว่าเราเคารพบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นเรื่องที่ควรคิด เพราะชีวิตของคนเรานั้น ดังที่รู้กันอยู่แล้วว่ามันไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเราได้ผ่านมารอบปีหนึ่ง จนมาถึงวันมาฆะเข้าอีกครั้งหนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่ควรจะภูมิใจ ภูมิใจว่าได้อยู่ต่อไป อยู่เพื่ออะไร เพื่อทำชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ตน แก่บุคคลอื่นตามสมควรแก่ฐานะ เพราะการเป็นอยู่ที่เป็นประโยชน์นั่นแหละเป็นจุดหมายสำคัญ เราก็มีชีวิตมาได้จนกระทั่งจะถึงวันเช่นนั้น เมื่อถึงวันเช่นนั้นก็ควรจะได้ทำอะไรเป็นพิเศษ เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมะบูชา สังฆบูชา ไม่ใช่ให้ผ่านไปเฉยๆโดยไม่ได้ทำอะไร ทางราชการก็มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการทุกแผนก วิสาหกิจอะไรก็หยุดหมด เรียกว่าเป็นวันหยุดทั่วไป เพื่ออะไร หยุดเพื่อให้ทำอะไร หยุดเพื่อให้คนไปวัด ให้ไปรักษาศีล ให้ไปฟังธรรม ให้ไปอาบน้ำพระธรรม เพื่อชำระกาย วาจา ใจให้สะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมอง หรือให้ไปนั่งสงบจิต สงบใจ แล้วจะได้พิจารณาตัวเอง เพื่อให้รู้ว่าเรามีความบกพร่องอะไรบ้าง เรามีการกระทำอะไรบ้าง อันเป็นเรื่องที่มันไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการใดๆ เพราะความเผลอไป เพราะความประมาทไป หรือเพราะอาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องจูงจิตใจไปให้กระทำเช่นนั้น เมื่อเรามานั่งพิจารณาก็เกิดความรู้สึกว่า โอ้ อันนี้ไม่เหมาะไม่ควรแก่เรา เราเผลอไปแล้ว ประมาทไปแล้ว ก็ควรจะได้ตั้งจิตอธิษฐานเพื่อจะได้แก้ไขสิ่งเหล่านั้นให้ดีขึ้น ให้เหมือนกับพระอริยเจ้าทั้งหลาย
วันมาฆบูชานี่เป็นวันที่เราควรจะนึกถึงพระอรหันต์เจ้า นึกถึงพระอรหันต์ก็นึกถึงคุณค่าแห่งความเป็นพระอรหันต์ คุณค่าแห่งความเป็นพระอรหันต์ที่สำคัญนั้นคืออะไร คือความบริสุทธิ์นั่นเอง สุทธิอันเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตของพระอรหันต์ ถือเป็นจุดหมายปลายทางที่เราปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลานี้เรามีความบริสุทธิ์นิดๆหน่อยๆ เปอร์เซ็นต์มันไม่สูงเท่าใด และยังกลับไปกลับมา บางทีก็สงบ บางทีก็ไม่สงบ บางทีก็สะอาดปราศจากทุกข์ แต่บางทีก็มีสิ่งอะไรเข้ามาเกาะกุมทำให้เกิดความเศร้าหมอง บางทีก็มีความสุขดี แต่บางทีก็นั่งกลุ้มอกกลุ้มใจ ก็ยังกลับไปกลับมา ยังไม่เด็ดขาดตายตัวลงไปได้ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าการกระทำของเราไม่ติดต่อ ไม่ติดต่อกันไป ไม่ทำอะไรด้วยสติด้วยปัญญาเป็นเครื่องควบคุม แต่ว่าทำด้วยความเผลอ ด้วยความประมาท มีความปรารถนาจะมีจะได้เป็นเครื่องหนุนหลังการกระทำ ถ้าเราทำอะไรด้วยความคิดว่าเราจะมีอะไร เราจะได้อะไรหรือเราจะเป็นอะไร นี่มันสร้างปัญหา เพราะว่าสิ่งที่เรากระทำนั้นบางทีมันก็สมหวัง บางทีก็ไม่สมหวัง เมื่อสมหวังก็สบายใจ ยินดี เพลิดเพลิน แต่พอไม่สมหวังก็ใจเหี่ยวใจแห้ง มีความทุกข์มีความเดือดร้อนจิตใจเกิดขึ้น เพราะความไม่สมหวังนั้น ชีวิตเรามันอยู่อย่างนั้น ประเดี๋ยวมืด ประเดี๋ยวสว่าง ประเดี๋ยวเป็นอย่างนั้น ประเดี๋ยวเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะจิตใจยังไม่แนบสนิทกับการปฏิบัติในเรื่องสติปัญญา เราจึงเผลอไป เราประมาทไป แต่เมื่อถึงวันสำคัญของพระศาสนา เป็นวันที่เราควรจะได้เป็นตัวเองกันสักวันหนึ่ง หรือมากกว่านั้นก็ได้ เป็นตัวเองสักวันหนึ่งอย่างน้อยในวันเพ็ญเดือน๓นี่ เราเป็นตัวเองตั้งแต่เช้าจนกระทั่งกลางคืนหลับนอน เป็นตัวของตัวเอง
คำว่าเป็นตัวเองนั้นหมายความว่าจิตมันอยู่ในสภาพปกติ มีสภาพเป็นปกติไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยินดียินร้าย เรื่องทุกข์เรื่องสุข เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องอะไรๆต่างๆ แม้สิ่งอะไรมากระทบเราก็รู้ทันรู้เท่าต่อสิ่งนั้น ไม่ให้จิตกระเพิ่มเคลื่อนไหวไปตามอารมณ์ที่มากระทบ มีเวลาว่างก็คอยคุม เดินก็คุมจิต นั่งก็คุมจิต ไปอยู่ตรงไหนก็คอยคุมจิตของเราไว้ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้ไหลเลื่อนไปตามสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันนี้เรียกว่าเราปฏิบัติ เป็นการชำระตัวเอง สะสางตัวเอง ทุกคนควรทำ เด็กก็ควรทำ หนุ่มสาวก็ควรทำ ผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ยิ่งต้องกระทำมากเป็นพิเศษ เพราะเวลามันน้อยแล้ว ข้างหน้ามันเหลือน้อยข้างหลังมันมากขึ้น ท่านเปรียบชีวิตคนเราเหมือนกับการทอผ้า ขั้นแรกเริ่มทอด้ายมันยาวไปโน่น แต่ทอไปๆด้ายมันค่อยสั้นเข้าๆ ผืนผ้าก็มากขึ้นแต่ด้ายมันน้อยลงไปๆ จนกระทั่งหมดด้ายแล้วเราก็ได้ผืนผ้า ในชีวิตของเราก็มีสภาพอย่างนั้น คือชั้นแรกมันก็ยาวไปแต่ค่อยสั้นเข้าๆ การเพิ่มของอายุน่ะคือเครื่องหมายแห่งการหดสั้นของชีวิต ขั้นแรกเรามีอายุ๑ปี ยังไกล ๒ปี ๓ปี ๔ปี ๒๐,๓๐,๔๐ นี่ใกล้เข้าไปเรื่อยๆ มันน้อย ข้างหลังมันมากขึ้น คือได้อายุนี่ (22.04) อายุเป็นเครื่องหมายของการล่วงไปของเวลา และเมื่อเวลาล่วงไปนั้นไม่ใช่ผ่านไปแต่เวลา ทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้เราได้อายุมากขึ้น ได้อายุมากขึ้นก็ได้ความแก่มากขึ้น ได้ความชราความชำรุดทรุดโทรมมากขึ้นๆ
เมื่อเช้านี้คนแก่ๆ ๒ ๓ ๔ คน มาทำบุญ ก็พูดกันแต่เรื่องปวดทั้งนั้น ปวดเข่า ปวดแข้งปวดขา ปวดนั่นปวดนี่ ก็อายุมัน๘๐กว่าแล้วทั้งนั้นที่มานั่งกันเข้า รวมหัวกันเข้า แล้วคุยกันแต่เรื่องความปวด เอาความปวดมาอวดกัน ว่าปวดตรงนั้นปวดตรงนี้ คนนั้นว่าฉันปวดน้อยคนนี้ว่าฉันปวดมาก ฉันพอเดินได้ก็เหมือนเดินไม่ค่อยไหว เวลาลุกขึ้นก็ลำบาก ทำอะไรก็ลำบากนี่ เอาความทุกข์มาอวดกัน เอาความแก่มาอวดกัน ก็ดีเหมือนกัน มาพบกันก็คนนั้นก็แก่คนนี้ก็แก่ คนนั้นก็ปวดหัวเข่าคนนั้นก็ปวดเอวคนนั้นก็ปวดหลังคนนั้นปวดนั่นปวดนี่ จะได้รู้ว่า อ่อ เหมือนกัน เขากับเราเหมือนกัน ทุกคนเมื่อเข้าสู่วัยนี้แล้วมันก็เหมือนกัน จะไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องบ่นก็แล้วแหมทำไมฉันจึงปวดอยู่คนเดียว ต้องนั่งนวดแขนอยู่ตลอดเวลา เรื่องอะไรล่ะที่โยมนั่งนวด เรื่องปวดล่ะ เรื่องอะไรที่จะต้องทำอยู่อย่างนั้น มันก็พอปลงตกไปว่าเหมือนๆกันทุกคนล่ะ ใครๆก็ปวดทั้งนั้นแหละ คนแก่กี่คนมานั่งกันแล้วมันก็เรื่องปวดทั้งนั้น เรื่องแก่ เรื่องชราทั้งนั้น นี่ชีวิตมันเป็นอย่างนั้น แล้วเมื่อแก่มากเข้ามันก็ใกล้ต่อความตาย ใกล้ถึงที่สุด เหมือนกับว่าเดินๆแล้วตกเหว ความตายก็เหมือนกับที่สุดของทางเดิน เดินไปๆ ตุ๊บ ลงไปตรงนั้น มันก็ตายไปเท่านั้นเอง เป็นอย่างนั้น
เมื่ออายุมันน้อย มันสั้นควรจะรีบเร่งกระทำการพิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง ให้สิ่งที่มันบกพร่องในชีวิตหายไป ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นๆ มีความสุขมากขึ้น มีความสงบมากขึ้น ชีวิตเรียบร้อยมากขึ้น เป็นเรื่องที่จะต้องทำอย่างนั้น และก่อนที่จะทำอย่างนั้นก็ต้องรู้ว่าเรามีอะไรบกพร่อง เราเป็นคนใจร้อนไหม หุนหันพลันแล่นไหม ขี้โกรธไหม ขี้ว่าคนนั้นคนนี้ อะไรต่างๆ ใจไม่เย็น บังคับตัวเองไม่ค่อยได้ มีอะไรเกิดขึ้นก็ปากพุ่งออกไปเลย ว่าเขาไปแล้ว ว่าคำที่ไม่น่าฟังด้วย หรือว่าถ้าอยู่ใกล้ๆก็เปี๊ยะเข้าให้ เอามือตบเขาให้บ้าง ตีเขาให้บ้าง อะไรอย่างนั้น มันยังไม่สงบ หรือว่าร่างกายไม่เป็นแต่ว่าใจมันเป็น ใจมันเคลื่อนไหว ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ แล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมา อย่างนี้มันมีหรือไม่ ถ้ามีอยู่แสดงว่ายังไม่เก่ง ธรรมะที่เรามีไว้ยังไม่เก่ง ยังไม่คล่องตัว การทำปรับปรุงตัวเองยังไม่คล่อง แสดงว่ายังบกพร่องอยู่ เมื่อยังบกพร่องก็ต้องแก้ไขต่อไป ต้องมีสติคอยควบคุมต่อไป คอยเตือนตัวเองไว้อย่าทำเช่นนั้น อย่าพูดเช่นนั้น อย่ารู้สึกเช่นนั้น ก็ต้องคอยเตือนไว้ตลอดเวลา จนกว่าจะรู้สึกตัวว่าไอ้เจ้านั่นมันหายไป ไม่ปรากฏโฉมหน้ามาให้เราเห็นอีกต่อไป ก็เรียกว่าใช้ได้ ถ้าทำได้ถึงขนาดนั้นก็สบายใจ มีอะไรมากระทบก็เฉย เขาจะด่าว่าคำสองคำก็นั่งเฉย เขาชมก็นั่งเฉย ไม่ต้องยิ้ม ไม่ต้องแสดงอาการอะไร วางเฉยได้ เรียกว่าเป็นบัณฑิตขึ้นมา บัณฑิตนั้นมีลักษณะอันหนึ่งว่า ไม่แสดงอาการขึ้นลง ภาษาบาลี (26.14) แปลว่าบัณฑิตไม่แสดงอาการขึ้นลง คือไม่ยินดีไม่ยินร้าย ไม่รู้สึกอะไรในสิ่งที่มากระทบ นั่นคนนั้นเป็นบัณฑิต เป็นผู้รู้จักรักษาตัวรอด รักษาใจให้รอดพ้นจากความตกต่ำทางจิตใจ ไม่ให้หล่นไปคลุกคลีกับสิ่งที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายประสาท ไม่ตกไปอย่างนั้น เรียกว่าอยู่ด้วยความสงบ ถ้าเราอยู่ด้วยจิตใจที่สงบนี้โรคมันน้อย เช่นโรคความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ โรคอาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะ โรคหัวใจ อะไรอย่างนี้มันจะเบา เพราะว่าโรคอย่างนี้มันเกิดเพราะความกระทบทางจิตใจ เวลาจิตใจมันกระทบมันก็รุนแรงขึ้น มีความรู้สึกรุนแรง เวลาความรู้สึกรุนแรงนั้นหัวใจทำงานหนัก ต้องฉีดโลหิตแรง แล้วก็กระเทือนหัวใจ กระเทือนสมอง กระเทือนประสาททุกส่วนของร่างกาย เพราะจิตใจไม่สงบ แต่ถ้าเรามีจิตใจสงบมันปกติ เหมือนกับน้ำในอ่างไม่กระเพื่อม สงบนิ่ง เราสามารถมองเห็นอะไรในอ่างนั้นได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่น้ำที่อยู่ในหนองใหญ่ ในทะเลสาบ เราจะเห็นว่ามันเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพราะลมพัด ทำให้เกิดเป็นคลื่นขึ้นมา ใจเราก็เป็นอย่างนั้น สิ่งที่มากระทบเหมือนกับลมที่พัดมา มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันกระเพื่อมเป็นระรอกๆ ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ไม่ค่อยจะได้ความสงบใจ ไม่ค่อยยมีความสุขที่เกิดจากสันติอย่างแท้จริง เรายังไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะยังวุ่นวายอยู่ สภาพจิตไม่สงบ ก็ยังเป็นทุกข์ต่อไป หน้าที่ของเราควรจะทำให้มันสงบ ไม่ให้วุ่นวาย ไม่ให้ตื่นเต้นกับเหตุการณ์ต่างๆ
แล้วก็ไปทดสอบตัวเองก็ได้ ว่าทำไปๆ ทดสอบดูการชกมวยก็แล้วกัน เวลาดูการชกมวยจะตื่นเต้น ถ้าหากว่ามวยไทยชกแล้วตื่นเต้นดีใจ ถ้าว่าคนไทยถูกชกใจเหี่ยวใจแห้ง ถ้าบอกคนไทยแพ้จะเป็นลม ว่าแหม ทำไมต้องแพ้ จะสังเกตได้นะ ดูมวยนี่ดีมาก ดูมวยแล้วทำใจ อันนี้เราจะไปดูมวยนี่ทำใจว่าฉันจะดูเพื่อความสงบใจ ฉันจะไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เขาจะชกไทยเราก็เฉยๆ ไทยชกเขาก็เฉยๆ ดูไปนั่นแหละ นั่งดูไปคุมจิตไป ถ้าดูอย่างนั้นจะไม่มีอาการตื่นเต้น ไม่กระโดดโลดเต้นเมื่อชนะ แล้วก็ไม่พับไปบนเก้าอี้เพราะแพ้ บางคนดูแล้วพับไปเลย เพราะถือมาก ต้องชนะ อย่าคิดว่ามันชนะ และอย่าคิดว่ามันจะแพ้ คิดว่ามันตามเรื่องของมันน่ะ มันชกกันมันก็อย่างนั้น เขาก็มีมือนี่ เราก็มีมือนี่ จะชกคนเดียวยังไง มันไม่ใช่ตุ๊กตานี่ มันก็ต้องชกกันบ้าง บางทีมันก็แรงไป ถึงกับล้มไปก็มี เราต้องคิดอย่างนั้น แล้วดูควบคุมสติให้จิตใจสงบ หรือดูหนังดูละครก็เหมือนกัน ดูไปบางทีเศร้าใจ ตัวละครมันแสดงมันเศร้า น้ำตาไหลร้องไห้ร้องห่ม คนดูก็เคลิ้มไปกับอารมณ์นั้นๆ เหมือนกับคุณยายดูลิเกน่ะ ร้องไห้ร้องห่ม เมื่อพระเอกถูกรังแก เมื่อนางเอกถูกรังแกนี่ร้องไห้ร้องห่ม บางคนก็โกรธก็ทนไม่ไหวลุกขึ้นไปบนเวทีเอาไม้ไล่ตีไอ้ตัวโจรเลย บอกว่ามึงรังแกพระเอกมากไป เลยต้องให้ตำรวจมาเชิญคุณยายลงมานั่งดูต่อไป นี่เรียกว่าลืมตัว ดูอย่างลืมตัว เลยเข้าไปกับเขาด้วย ลืมนึกไปว่านั่นมันละคร นั่นมันลิเก เขาแสดงอย่างนั้นแหละ ไม่ได้จริงจังอะไร แต่ว่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องที่ตนดูมากไปเลยเกิดความตื่นเต้น เกิดความดีใจ เกิดความเสียใจ มันกระเทือนประสาทของเราเหมือนกัน เวลาดีใจมันก็กระเพื่อมขึ้น พอเสียใจมันก็แฟบลงไป มันเป็นอย่างนั้น ขึ้นลงๆ ไม่ค่อยจะดี ถ้าให้ดีแล้วก็ไม่ขึ้นไม่ลงกับสิ่งเหล่านั้น สภาพจิตเป็นปกติ หัดได้นะ โยมต้องหัดดู วันนี้ฉันจะดูให้มันปกติ จะทำใจให้เป็นปกติ จะไม่ยินดียินร้าย แล้วคอยควบคุมใจ แล้วก็ดูไปแก้ไขไป จะรู้สึกว่ามันดีขึ้นถ้าเราดูอย่างนั้น ดูหนังดูละครดูอะไรก็เหมือนกัน คือดูเพื่อศึกษาธรรมะ มันก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน แต่ถ้าเราดูด้วยความหลงใหล ด้วยความมัวเมาเพลิดเพลินสนุกสนาน มันไม่ได้อะไรนอกจากได้กิเลสเพิ่มขึ้น ตื่นเต้นกับเหตุการณ์แล้วก็เสียใจเมื่อไม่สมความตั้งใจ ทำให้ฟูขึ้นแล้วก็แฟบฟุบลงไป มันไม่ได้เรื่อง ทีนี้เราไปดูอะไรก็ดูอย่างนั้น ดูเพื่อให้เกิดปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าเรื่องอะไรที่เราพบเราเห็นน่ะ ต้องเอาธรรมะเข้าไปเปรียบเทียบกับสิ่งเหล่านั้น
แม้คนทะเลาะเบาะแว้งกัน เราก็ดูว่าเอ๊ะ ว่าคนนี่มันขาดอะไร ที่ทะเลาะกันนี่มันขาดอะไร ก็ขาดคุณธรรมในจิตใจ สำคัญตนผิด นึกว่าตนถูกด่าตนถูกว่า ตนเป็นอย่างนั้นตนเป็นอย่างนี้ แล้วก็มีมานะถือตัว ไม่ได้ ฉันไม่ยอมใคร ปล่อยให้มันว่าข้างเดียวไม่ได้ ฉันก็มีปากฉันก็มีมือ เอ้า เลยไปทุบตีกัน ปากก็ด่ากันมือก็ทุบกันไป ข่วนกันไปตามเรื่อง ก็ดูแล้วก็ถ้าดูเป็นธรรมแล้วก็น่าขำ ว่าทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น เขาประมาทไป ไม่มีสติไม่มีปัญญาในขณะที่สิ่งอะไรมากระทบ เลยตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในชีวิต แล้วจบลงไปแล้วก็ยังมีความทุกข์ตามมาที่บ้าน เพราะกลัวเขาจะมาแก้เผ็ดภายหลัง กลัวจะมาแก้แค้นกันอะไรกัน นี่เขาเรียกว่าผู้แพ้ก็เป็นทุกข์ผู้ชนะก็เป็นทุกข์เหมือนกัน คนที่เป็นสุขคือคนที่ไม่แพ้ไม่ชนะ ไม่ไปเข้าหุ้นกับเขาในเรื่องอะไรเหล่านั้น ถ้าเราไปเข้าหุ้นมันก็มีได้มีเสีย มันได้เสียทางจิตใจ ถ้าเราไม่ไปหุ้นก็ไม่ได้อะไร เฉยๆเท่าเดิมคงที่ คงที่นั้นแหละคือความสงบแห่งจิตใจ เป็นความสุขที่แท้จริง แต่ถ้าเราไม่ทำให้มันคงที่ ไปเข้าหุ้นกับเขา ดีใจกับเขาด้วย เสียใจกับเขาด้วย มันก็ยุ่ง ยุ่งแก่ตัวของเราเอง คนเรามีสภาพอย่างนั้นบ่อยๆ
บางคนมีความทุกข์มีความกลุ้มใจ ถ้าถามไปว่าทุกข์เรื่องอะไร เขาบอกเรื่องว่าเป็นทุกข์เรื่องนั้นเรื่องนี้ บอกว่าที่เราเป็นทุกข์น่ะรู้ไหมว่ามันเป็น ทำไมจึงได้เป็นทุกข์ เพราะว่าจิตมันคิดไปอย่างนั้นน่ะ เขาไม่รู้สาเหตุว่าจิตมันคิดไป เป็นห่วง กังวล เสียดงเสียดายอะไรต่างๆในเรื่องนั้นๆ เช่นว่าผู้หญิงเรานี่มีปัญหาในครอบครัว คือสามีไม่ค่อยจะเรียบร้อย กลับบ้านดึกดื่นเที่ยงคืน ชอบไปเที่ยวไปเตร่ แม่บ้านมาบ้านแล้วสามีก็ยังไม่กลับบ้าน ก็เป็นทุกข์กลุ้มใจที่สามีไม่กลับบ้าน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะให้สามีกลับบ้านได้ นี่ก็เป็นปัญหา ก็มาหา ก็เลยไต่ถามเรื่องความทุกข์นะ จะให้ทำอย่างไร ช่วยได้อย่างไรบ้าง บอกว่าช่วยได้แต่ชี้ทางให้ แต่ว่าเธอต้องเอาไปทำเองเอาไปใช้เอง ช่วยมากกว่านั้นไม่ได้ คนที่ไม่รู้เรื่องก็อยากจะให้ช่วย ช่วยทำเสน่ห์บ้าง ช่วยทำแป้งหาเสกน้ำมัน เอาไปให้เขาหลงใหลมัวเมา อย่างนี้ก็ถูกหลอกเรื่อยไป ถ้าเชื่อแบบนั้นก็ถูกหลอก คนที่จะเอาสตางค์เรามันก็ได้โอกาส มันก็ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ให้เราเสียสตางค์ แต่ถ้าใช้วิธีการทางธรรมะ ต้องไม่ใช่อย่างนั้น พระท่านก็จะแนะแนวให้ว่าควรทำอย่างไร ควรทำใจอย่างไร ขั้นแรกที่สุดก็ต้องอดทนก่อน อันนี้อันแรกอดทน ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดกลั้นทนทานเป็นตบะเครื่องเผาผลาญอย่างยิ่ง คือต้องทนก่อน ต้องทนแล้วต้องใจเย็นอย่าร้อน เวลาเขากลับมาเวลาไหนเราก็ต้องยิ้มรับเขา ออกไปต้อนรับยิ้มรับ ไม่แสดงอาการขุ่นมัวเศร้าหมองที่ดวงหน้า ใจมันต้องดีก่อน ถ้าใจไม่ดีมันออกมาที่ดวงหน้า มันวิ่งมาที่ดวงตา ที่หน้า ที่มือ จะอะไรต่ออะไรมันออกมาต้อนรับน่ะ ถ้าออกมาต้อนรับอย่างนั้นเรียกว่าเอากิเลสต้อนรับ ถ้าเอากิเลสต้อนรับมันกระทบกระเทือนจิตใจ เราไม่เอากิเลสต้อนรับแต่เอาใจดีต้อนรับ เอาเมตตาปราณีต้อนรับ เป็นคนที่น่าสงสาร ผู้ชายที่เป็นอย่างนั้นเราอย่าไปนึกรังเกียจเดียดฉันท์อะไรเขา แต่นึกว่าโอ้ พ่อสามีของฉันนี่เป็นคนน่าสงสาร ยังไม่เข้าถึงธรรมะ ยังไม่รู้จักศีลธรรม ยังไม่รู้จักหน้าที่ เขาเป็นคนที่ควรจะประคบประหงม ควรเอาอกเอาใจควรจะดึงเข้าวัดเข้าวาเสียหน่อย เราคิดอย่างนั้น เอาเทปไปเปิดทิ้งไว้บ้างก็ได้ เวลากลับมาถึงบ้าน เอ้า เปิดเทปทิ้งๆไว้ ทิ้งไว้ก่อน แล้วก็ปิด (36.45) ไว้สักหน่อย พอมาถึงเอ้าเปิดต้อนรับ แล้วเราก็ไปยิ้มกับเขา ต้อนรับขับสู้มีอะไรให้ทาน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบที่ไปไหนมา วันนี้เหนื่อยมากไหม มีของหวานให้รับประทานนะ มีไอ้นั่นไอ้นี่นะ ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆเขาก็นึกว่าแหม เรานี่เอาความสุขคนเดียวไปเที่ยวไปเตร่ แม่บ้านเขาใจดีเขาไม่แสดงอาการโกรธเคืองอะไรเลย ยังยิ้มรับเราอยู่ ยังต้อนรับเราด้วยความดี เขาเห็นอกเห็นใจ คือเห็นธรรมะในตัวเราขึ้นมา แล้วเขาก็เลิกเที่ยวเลิกเตร่ อันนี้เอาชนะด้วยความดี เหมือนคำพระที่ท่านว่าให้ชนะด้วยความดี อสาธํ สาธุนา ชิเน (37.32) ให้ชนะความชั่วด้วยความดี ชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ ชนะความตระหนี่ด้วยการให้ อันนี้วิธีการชนะของธรรมะ ของพระพุทธเจ้า ลองไปทำอย่างนั้นดูสิ ทำได้ไหม บอกว่ามันยากหน่อย ต้องหัดสิ ต้องหัดทำใจดีๆ ต้องภาวนาไว้ในใจวันนี้ฉันจะยิ้มรับ ฉันจะพูดจาอ่อนหวาน แล้วก็แต่งตัวให้มันน่าดูหน่อย อย่าให้รูปร่างมันเป็น (38.03 เสียงไม่ชัดเจน) เพราะว่าแต่งตัวไม่สวย เขาเห็นแล้วว่าไม่สวยเลยไปเที่ยวดีกว่า ต้องแต่งประดิษฐ์ประดอยหน่อย แล้วออกไปต้อนรับยิ้มกับเขา ถอดเสื้อให้เขา ถอดรองเท้าให้เขา พูดจาหว่านล้อม เอาน้ำมาให้ดื่ม เอารังนกมาให้กิน เรียกว่าเตรียมไว้ทั้งนั้นของดีๆงามๆ เอาอกเอาใจ นี่เอาชนะด้วยความดี ถ้าชนะด้วยความดีชนะเด็ดขาด บางคนโมโห แหมฉันโมโห เลยด่าใส่ไปเลย อ้าวอย่างนั้นก็แย่น่ะสิทำอย่างนั้นเขาก็ไปเสียเท่านั้นเอง กลับมาถึงถูกด่าเขาก็ไปน่ะสิ ไปหาที่อื่นต่อไป แนะให้ไปทำอย่างนั้น ว่าให้เอาอกเอาใจทำใจดีสู้เสือ
ไม่ใช่เรื่องอะไรก็ดูสุนัขบ้างก็แล้วกัน สุนัขนี่ถ้าเรากลับบ้านมันทำอย่างไร มันต้องกระดิกหางมาหมอบมา ตะกุยตะกาย แสดงความดีอกดีใจว่านายของฉันมาแล้ว แล้วเคล้าแข้งเคล้าขานะ ถ้าเราไปนั่งตรงไหนมันก็ไปหมอบอยู่ใกล้ๆ บทเรียนมันมี เลี้ยงไว้ทำไมสุนัข เลี้ยงไว้เป็นครูเป็นอาจารย์บ้าง แมวก็เป็นครูได้ สุนัขก็เป็นครูได้ มันประจบเป็นแล้วเราทำไมไม่เอาไปใช้
ลูกสาวคนหนึ่งแต่งงานแล้วไปบ่นกับแม่ บ่นกับแม่บอกว่าคุณพี่เค้าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ทำยังไงคุณแม่ แม่โยนหนังสือให้เล่มหนึ่ง วิธีเลี้ยงหมา อ้าวแม่นี่มันวิธีเลี้ยงหมานี่ บอกว่านั่นแหละ ก็หมากับคนมันเหมือนกันแหละ ไอ้ผัวเอ็งกับหมามันเหมือนกันแหละเอาไอ้นี่ไปใช้ ไปอ่านให้เข้าใจแล้วเอาไปใช้เสีย แล้วก็จะชนะได้ คุณแม่ใช้วิธีอย่างนั้น ให้ดูหนังสือวิธีเลี้ยงหมาว่าจะเลี้ยงอย่างไรอะไรอย่างไร เธอทำอย่างนั้นแหละไปทำเถอะ แล้วมันจะได้ผล เป็นอย่างนั้น
นี่ก็คือวิธีการเขาเรียกว่า กุศโลบาย ตามหลักการเรียกว่ากุศโลบาย การกระทำที่ฉลาด การกระทำอะไรที่มีกิเลสหนุนหลังน่ะมันไม่ฉลาด มีความโกรธหนุนหลัง มีความเกลียดหนุนหลังน่ะไม่ฉลาด ไม่ฉลาด ไม่เป็นบัณฑิต แต่ถ้าเราทำอะไรด้วยวิธีการที่มีธรรมะหนุนหลัง มันเป็นบัณฑิต มีความคิดรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีเมตตา มีปราณี มาเป็นเครื่องนำทาง สิ่งทั้งหลายก็เรียบร้อย ไม่เฉพาะแต่เรื่องในบ้าน เพื่อนฝูงมิตรสหายก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้วิธีการที่นุ่มนวลพูดจาเอาอกเอาใจ ทำความเข้าใจอย่าใช้โมโหโทโส คนเราบางทีพอโกรธนี่ทำไม่ได้ เสียท่าเขา เราโกรธ เราต้องใจเย็นค่อยพูดค่อยจา ให้เรียบร้อย
มีกำนันคนหนึ่งที่พัทลุง แกมักจะผิดสัญญาอะไรบ่อยๆกับคนอื่นน่ะ แล้วคนนั้นมาก็จะมาต่อว่าต่อขาน แต่พอเข้าใกล้ กำนันแกก้มเข้าไปกราบ กราบที่อกเลย ว่าแหมพี่ขอโทษเถอะวันนั้นมันติดธุระ เรื่องนั้นเรื่องนี้ กอดเอวเข้าแล้วก็พูดจา ไอ้คนนั้นหายโกรธไปเลย บอกว่าแหมไอ้กำนันคนนี้กูจะไปด่ามันเลยด่าไม่ลง เพราะมันมากอดแข้งกอดขา มันพูดจาดีๆ มันยกมือไหว้ กูเลยว่ามันไม่ลง ต้องดีกันต่อไป นี่ก็เรียกว่าชนะด้วยธรรม ไม่ชนะด้วยกิเลส ถ้าเอากิเลสใช้มันก็ตีกันตาย คนเราที่ทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะใช้กิเลส ไม่ใช้ธรรมะ จึงเกิดปัญหา ไม่ว่าเรื่องอะไร ระหว่างประเทศก็เหมือนกัน ทูตนี่มันต้องใช้ธรรมะ ต้องใช้วิธีเยือกเย็นสงบค่อยพูดค่อยจา จะไปโมโหโทโสตัดกัน ตัดสัมพันธ์ไมตรีก็ไม่ได้ มันต้องค่อยว่าค่อยไป พูดจาให้เขาสบายใจมีอะไรพอทำได้ก็ต้องทำ ก็เอาหลักการทางธรรมะไปใช้เหมือนกัน เรื่องทั้งหลายก็จะเรียบร้อยขึ้นมา นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ
ในชีวิตประจำวันของเราก็ต้องเป็นอย่างนั้น ควรอยู่ด้วยจิตใจที่สงบไม่วุ่นวายในปัญหาอะไรต่างๆ แล้วจะสังเกตได้ว่าเมื่อจิตใจดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น โรคภัยต่างๆที่เกิดขึ้นในร่างกายของเรามันค่อยเสื่อมไป หายไป เพราะมีโรคหลายโรคเกิดขึ้นเพราะสุขภาพจิตเสื่อม ทีนี้เมื่อสุขภาพจิตดีขึ้นสุขภาพกายก็ดีขึ้น เช่นโรคนอนไม่หลับ โรควิตกกังวล นี่ก็เพราะว่าเราไม่มีการควบคุมจิตใจ ไม่รู้จักบังคับตัวเอง ให้คิดแต่เรื่องควรคิด มันคิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องอะไรต่ออะไร มีปัญหามากมายก่ายกองเป็นปัญหาเยอะแยะ ก็มาศึกษาธรรมะบ้าง มาปฏิบัติบ้าง แล้วก็มีปัญหาอะไรก็มาปรึกษาหารือกับพี่เลี้ยง คือพระสงฆ์นี่เราถือว่าเป็นพี่เลี้ยงที่คอยเตือนจิตสะกิตใจ คอยชี้แนะแนวทาง แต่ว่าเราต้องมาหา มาปรึกษา มาด้วยตนเองไม่ได้ โทรศัพท์มาก็ได้ มาปรึกษาหารือว่ามีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้จะทำใจอย่างไร ก็แนะแนวทางให้ไปคิดใหม่ ทำใจอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าต้องทำเองนะ ไม่ใช่ว่าจะไปเสกให้เป็นอย่างนั้น เป่ากระหม่อมให้เป็นอย่างนั้นมันเป็นไม่ได้ แต่เราต้องเอาไปใช้เอาไปทำ ทดสอบดู วิธีการอย่างนี้จะเกิดผลหรือไม่ ถ้าไม่เกิดผลก็ต้องทำอย่างอื่นต่อไป ต้องซิกแซกสักหน่อย เรียกว่าใช้วิธีการมีเทคนิคในการพูดการจา การติดต่อการสมาคม ทำใจให้ดีไว้
ใจของคนเรานี้ถ้ามันสงบมันมีปัญญาเกิดขึ้น ใจที่สงบนี่มันมีปัญญา แต่ถ้าใจวุ่นวายมันไม่เกิดอะไร น้ำที่กำลังกระเพื่อมกำลังเดือดนี่มันจะไม่สามารถจะดูอะไรได้ แต่พอน้ำนิ่งสงบดูได้ ดูทะลุปรุโปร่ง ที่ลึกๆ เคยไปในทะเล ไปนู่นน่ะเกาะเต่า เกาะเต่านี่สมัยหนึ่งเคยเอานักโทษการเมืองไปกักไว้ที่นั่น ทำไมเรียกว่าเกาะเต่ารูปมันเหมือนเต่าน่ะ เหมือนเต่าหมอบ นั่งเรือบินไปเห็นเอ้านั่นเกาะเต่า เลยเกาะสมุยหน่อยก็เห็นเกาะเต่า ก่อนถึงเกาะสมุยถ้าไปจากกรุงเทพจะเห็นเกาะเต่าก่อน พอเกาะเต่าแล้วเกาะ พงัน เกาะพงันแล้วก็เกาะสมุย แล้วก็ถึงแหลมตะลุมพุก เห็นทะเลสาบสงขลา พัทลุง แล้วก็จะลงหาดใหญ่แล้วล่ะ เขาเอาไปไว้ที่นั่น คราวนั้นก็ไปเทศน์ที่เกาะเต่า มีคนอยู่๒๐๐ครอบครัว เต็มแล้ว เต็มเนื้อที่ปลูกมะพร้าวเต็มหมด สภาพอากาศบริสุทธิ์จริงๆ แล้วก็เอาเรือออกไป อีกเกาะเล็กๆอีกเกาะหนึ่ง น้ำใส แล้วก็นิ่ง มองลงไปเห็นหอย เห็นปู เห็นปลา เห็นสาหร่าย เม็ดกรวดเม็ดทรายเห็นหมดเลย น่าดู ในเวลานั้นน้ำมันใส แล้วก็ลึก ไม่ใช่ตื้นนะ ดูเห็นน้ำใกล้ๆน่ะถ้ากระโดดลงไปก็จมน้ำนะ แต่ว่าเห็นหมดเพราะน้ำมันใสสะอาด ใจเราก็เหมือนกันพอมันใสมันสงบ ความคิดดีมันเกิดได้ ปัญญามันเกิดขึ้น เพราะจิตใจเราสงบ แต่ถ้าใจวุ่นวายจะคิดอะไรได้ จะวางแผนอะไรได้ เพราะฉะนั้นต้องสงบใจเสียก่อน แล้วเราจะคิดอะไรวางแผนอะไรต่อไปได้ หัดทำใจให้สงบจะมองเห็นสิ่งต่างๆดีขึ้น
มีโยมคนหนึ่งแกตายไปแล้ว (46.03) แกบอกว่าแกนั่งรถด่วนมาจากเชียงใหม่แล้วมาฝนตกหนัก มีคุณยายกับหลานขึ้นมา ขึ้นมาที่รถชั้นหนึ่ง แล้วก็มานั่งอยู่ตรงประตูนั่นแหละ บังเอิญแกออกมาห้องน้ำก็มองเห็น กำลังเปียกตัวสั่น เลยเปิดประตูแล้วก็บอกว่า ป้าๆยายๆ เข้ามานี่ๆ เข้ามานั่งข้างใน บอกไม่ได้ ตีตัวไม่ใช่ชั้นนี้เข้าไปไม่ได้ บอกไม่เป็นไรฝนตกอย่างนี้เข้ามาเถอะ แกก็เข้ามาตัวสั่นงันงก อยู่ที่ตรงนั้นก็ยังหนาวเลยบอกเข้ามาในห้อง เข้ามาในห้องฉัน แกนอนคนเดียว เข้ามาในห้อง เห็นหนาวก็เอาผ้าผวยที่เขาให้น่ะห่มให้ ให้ยายกับหลานห่มกัน ห่มแล้วค่อยอุ่นขึ้น ค่อยสบาย พอสบายก็นั่งพิงหลับไปเลย แกตื่นแล้วก็นอนไม่หลับ ก็นั่งดูๆ โอ้เราได้ช่วยคนที่กำลังเป็นทุกข์ มีความไม่สบายใจไม่สบายกาย นั่งดูแล้วปลื้มใจ ปีติเกิดขึ้นในใจนั่งสงบไป นั่งสงบไปๆ ไอ้สิ่งหนึ่งมันโผล่ขึ้นมาในใจ คือคิดจะทำอะไรอย่างหนึ่งแต่ว่ามันยังมองไม่เห็นทางว่าจะทำได้ แต่คืนนั้นมันโผล่ออกมา ความคิดอันนั้นมันโผล่ออกมา โผล่ออกมาก็เลยจำไว้ แล้วไปปฏิบัติตามแนวที่มันโผล่มาในใจ สำเร็จประโยชน์ได้กำไรมากมาย แกก็เล่าให้ฟังว่านี่มันเพราะอะไร ก็บอกว่านั่นแหละน้ำมันนิ่งสามารถมองเห็นอะไรได้ จิตที่สงบความคิดถูกต้องมันก็เกิดขึ้น ช่วยให้เราทำอะไรได้ดี
คนที่ประกอบธุรกิจการงานมีธุระมาก ต้องเป็นคนมีสมาธิพอสมควร มีจิตใจสงบพอสมควรถ้าจิตใจไม่สงบไม่มีสมาธิ มันกระทบกระทั่ง ปัญหาขึ้นลง เรื่องนั้นเรื่องนี้ ความปั่นป่วนของโลกมันมีเยอะแยะ ก็กระทบการงาน กระทบการเงิน ก็อาจจะไม่สบายใจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ใช้ธรรมะจิตใจมันก็ดีขึ้น สามารถที่จะต่อสู้กับเหตุการณ์อะไรต่างๆได้ มันก็ช่วยให้ดีขึ้น เมื่อใดจิตใจสงบมันก็เกิดความโปร่งในทางใจ ปัญญามันก็เกิดขึ้น ก็จิตของเรานั้นมันก็ทำงานอยู่เหมือนกัน เวลาที่ (48.36 เสียงไม่ชัดเจน) ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เรานึกชื่อใครไม่ออก แต่ว่าไปทำอะไรต่ออะไรเพลินประเดี๋ยวมันโผล่ขึ้นมาได้ ไม่ได้คิดแล้วแต่มันโผล่ขึ้นมา อ้อชื่อนั้น ทำไมมันโผล่มาได้ มันทำงานค้นคว้าอยู่ เหมือนกับว่าไปรื้อไปค้นอยู่ แหมมันอยู่ตรงไหนในลิ้นชักไหนนะ พอๆ เจอโอ้ไอ้นั่นออกมาสักที ออกมาได้ (48.57) นี่เป็นเรื่องของจิตที่แปลก มันออกมาปรากฏเมื่อจิตเราสงบ หรือบางทีเรานั่งสงบใจมันเกิดอะไรขึ้นในใจของเรา ผู้ที่ไปนั่งทำความสงบแล้วมีอะไรโพล่งขึ้นในใจนี่เค้านึกว่านี่ล่ะคือสิ่งที่เขาได้ หรือว่าถ้าเป็นผู้ที่เชื่อในอำนาจเบื้องบนไปนั่งสงบใจเกิดความคิด โอ้พระผู้เป็นเจ้ามาบอกความคิดนี้ให้ ความจริงไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้าไหน มันเป็นความคิดของเรานั่นเองแต่มันคิดด้วยความสงบ ก็เกิดอะไรขึ้นในใจสิ่งนั้นจึงเป็นประโยชน์เป็นคุณเป็นค่าแก่ชีวิต ต้องทำอย่างนั้นให้จิตใจสบาย
เพราะฉะนั้นในวันมาฆบูชานี่ ควรจะได้มานั่งพักผ่อนสงบจิตสงบใจ มาวัดนี่อย่าไปนั่งรวมกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน โยมมาถืออุโบสถนี่นั่งรวมกันอยู่ในศาลาน่ะแล้วมันอดคุยกันไม่ได้ คุยดังเสียด้วย บางทีลงไปฉันอาหารนี่โยมคุยดังมาก เลยบอกโยม วันอุโบสถเป็นวันสงบปากสงบเสียงนะคุยกันดังๆมันไม่ถูก ก็เงียบไปสักอุโบสถหนึ่ง เดี๋ยวก็อีกน่ะ คุยกันต่อไปอีก มันเคยน่ะ มาแล้วก็เคยจ๊อกแจ๊กๆ อันนี้มันต้องไปหาที่นั่ง วัดนี้มันที่เยอะ ใต้ริมกอใผ่นั่นไปนั่งตรงนั้นตรงนี้ไปนั่งคนเดียว เอาอาสนะไปปูที่เงียบๆ หันหน้าเข้าต้นไม้ หันหน้าเข้ากอใผ่ กูจะไม่ดูใครวันนี้ กูจะดูตัวเอง จะทำใจให้สงบ เรามานั่งพิจารณาทำใจให้สงบก่อน แล้วก็ยกปัญหาขึ้นมาพิจารณาไต่ถามตัวเอง ตักเตือนตัวเอง มันจะได้อะไรขึ้นมาบ้าง แล้วถ้าเราได้อะไรขึ้นมาก็เรียกว่านั่นแหละคือผลที่เราปฏิบัติตนในวันอันประเสริฐคือวันมาฆบูชา เพื่อบูชาพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายท่านสงบ สะอาด สว่างอยู่ตลอดเวลา ของเรามันไม่อย่างนั้นแต่ว่าทำให้มันเกิดขึ้นบ้าง แล้วจะได้เอาไปใช้ในเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เอาจิตที่สงบนั้นไปใช้ เอาจิตที่มีปัญญาไปใช้ แล้วอะไรๆมันก็จะดีขึ้น ดูรู้ได้ด้วยตัวเองไอ้เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องให้คนอื่นบอก เรารู้เองเป็นสันทิฏฐิโก เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะรู้ชัดด้วยตัวเองว่าอะไรเป็นอะไรตามสภาพที่เป็นจริง ดังที่กล่าวมาก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ หวังว่าญาติโยมทั้งหลายคงจะใช้ชีวิตในวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ตน แก่ครอบครัว ตลอดจนถึงประเทศชาติจนทั่วกัน
- ปาฐกถาธรรมประจำวันอาทิตย์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๓๓