แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ศึกษาธิการและครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ได้มาร่วมปฏิบัติงานในวันครู ในวันนี้ การปฏิบัติที่เกี่ยวกับวันครูนั้นทำกันมาตั้งแต่ตอนเช้า หลายเรื่อง หลายอย่าง มีพิธีมาก และต่อบัดนี้เป็นเวลาที่จะได้ฟังธรรมกัน ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังกันหน่อย เพราะนานๆจะได้พูดกันกับคุณครูทั้งหลายสักครั้งหนึ่ง
ความจริงวันนี้เขาก็นิมนต์ไว้อีกแห่งหนึ่ง คือ กทม. นิมนต์ไปที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ที่นั่นครูมาก มีจำนวนถึง ๕ พันคน แล้วก็ไม่ถอยไม่หนี ไม่ทิ้งเก้าอี้ให้ว่าง เหมือนที่คุรุสภา เพราะว่าผู้ว่ากทม. ก็ไปอยู่ตลอดเวลา แถมวันนี้มากกว่าปีก่อน เพราะว่าท่านนายกกลับไปแล้ว ปีก่อนนี้นายกท่านมา แล้วก็เดินไปชมนิทรรศการ ครูก็ติดสอยห้อยตามถือโอกาสกลับบ้านกัน เหลือเก้าอี้นั่งฟังกันมากมาย ปีนี้มากหน่อยกว่าปีก่อน อาตมาก็รู้สึกสบายใจด้วย ที่เราสนใจในการที่จะฟังธรรม
การมีวันครูขึ้นนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ก็ปรากฏอยู่ในหนังสือแถลงการณ์แล้ว แต่อาตมาอยากจะกล่าวย้ำนิดหน่อยว่า การจัดวันครูขึ้นเพื่อให้เราที่เป็นครูให้ระลึกถึงคุณงามความดีของครูที่เคยสั่งสอนเรามาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่ลูกมีครูโน่น นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เพื่อเตือนเราทั้งหลายที่กำลังเป็นครูอยู่ในปัจจุบันนี้ จะได้สำนึกในความเป็นครูให้มากยิ่งขึ้น เพราะถ้าเราไม่มีความสำนึกในความเป็นครูของเรา ความเป็นครูก็จะลดน้อยลงไป เพราะสังคมในปัจจุบันนี้มีสิ่งยั่วยุมาก อาจจะทำให้จิตใจครูกวัดแกว่ง เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ผิด วัตถุนิยมมากเกินไป และก็เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในชีวิตของครูมากขึ้น ดังปรากฏในข่าวอยู่บ่อยๆ ถ้าข่าวปรากฏออกมาว่า ครูทำผิดนี่ อาตมาสลดใจมาก และมีความกังวลใจว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็ต้องค้นหาสาเหตุว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าครูเรา ก็บางคนไม่ใช่ทั่วไป ครูที่ดีๆก็มีเยอะ ที่ได้มารับรางวัลในวันนี้ก็หลายท่านด้วยกัน อาตรมานั่งดูอยู่ก็พลอยปิติโสมนัส ในความงามความดีของครูเหล่านั้น อีกเป็นผู้มีความรักในอาชีพของครู มีความขยัน มีความเอาใจใส่ และมีความคิดริเริ่ม ในการที่จะสร้างสรรค์อะไรๆ ที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาของชาติมากขึ้น
คนดีนั้นย่อมไม่ตกต่ำ เพราะว่าความดีนั้นจะช่วยให้เราสูงขึ้น แม้ว่าเราจะไม่ได้รับอะไรจากใคร แต่ว่าความดีมันก็รักษาเรา ทำให้จิตใจเราเป็นปกติ สุขภาพจิตดีขึ้น เพราะการทำความดี สุขภาพกายก็พลอยดีไปด้วย ส่วนปัจจัยเงินทองนั้นอย่าคิดให้มากนัก เพราะว่างบประมาณคงจำกัด แต่ว่าได้ข่าวว่าทางฝ่ายรัฐบาลก็จะมีการเพิ่มอะไรๆ ให้แก่พวกเราที่เป็นครูอยู่เหมือนกัน แต่อาตมาคิดว่าเพิ่มเท่าไหร่ มันก็ไม่พอ เพิ่มเท่าไหร่มันก็ไม่พอ เพราะว่าความอิ่มมันไม่มี ความอิ่มในทางวัตถุไม่มีแต่ถ้าเราจัดการกับตัวเราเองให้มีความพอแล้วมันก็พอขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่จัดตัวเองให้มีความพอ ความพอมันจะเกิดได้เท่าไร มีแสนมีล้านก็ยังไม่พอ เป็นเศรษฐีมีเงินถังแล้วก็ยังไม่พอ ถ้าใจไม่อิ่มไม่พอ
พระพุทธเจ้าสอนให้เราอิ่มเราพอ ให้มีความสันโดษในสิ่งที่เรามีเราได้ เราอยู่ในวงจำกัด โลกแห่งครูนี้เป็นโลกที่ไม่เหมือนโลกอื่นๆเขา เราจะเป็นอยู่อย่างโลกอื่นเขาไม่ได้ โลกของพ่อค้า โลกนักธุรกิจ โลกอะไรต่ออะไรนั้น เขาเป็นอย่างหนึ่ง เพราะสภาพของเขาเป็นอย่างนั้น แต่ว่าโลกของครูนี้เป็นโลกแห่งบุคคล ผู้ทำตนเป็นตัวอย่างแก่ชาวโลกทั้งหลาย ชีวิตครูนั้นก็เหมือนกับชีวิตนักบวชเหมือนกัน แต่ว่าบวชใจ ร่างกายนี้ ... (05.10 เสียงไม่ชัดเจน) ดำรงไปตามเรื่อง แต่ว่าจิตใจนั้นต้องเป็นนักบวชอยู่ในตัว คำว่าเป็นนักบวชหมายความว่ามีการสำรวมระวังจิตของตน ไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของธรรมชาติฝ่ายต่ำ เพราะถ้าจิตใจตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำแล้ว ความหลงใหลมอมเมาในสิ่งเหล่านั้นก็จะมากขึ้น และเมื่อมีความหลงใหลมอมเมามากขึ้น หน้าที่ของเราก็จะบกพร่องเสียหาย ความเป็นครูก็จะลดน้อยลงไป หน้าที่ที่จะทำก็ไม่เรียบร้อย แล้วก็ขวนขวายในเรื่องที่ไม่สมควร อันเป็นเหตุให้เสื่อมเกียรติ เสื่อมศักดิ์ศรีของครูบาอาจารย์ด้วยประการต่างๆ จึงใคร่ขอแนะนำว่าแม้เงินเดือนจะมากก็ไม่พอ
ถ้าเราไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่เรามีเราได้ ขอให้ใช้คุณธรรมคือความสันโดษให้มากสักหน่อย ความสันโดษนั้นเป็นศิลปะของความสุขทางใจ เป็นสิ่งที่เราควรใช้ ถ้าเรามีสันโดษเมื่อใดเป็นสุขเมื่อนั้น เป็นปรมาทรัพย์ขึ้นมาทันที เป็นเศรษฐีมหาศาล เพราะความพออกพอใจ ในสิ่งที่เรามีเราได้ แต่ถ้าเรามีจนล้นฟ้า แต่ไม่มีความพอใจ กลายเป็นคนยากคนจนไป เศรษฐียากจนในบ้านเมืองของเรามีเยอะแยะ ก็เพราะไม่พอนั่นเอง จิตมันยังไม่พอ นอนไม่หลับ เป็นโรคประสาทกันไปตามๆกัน เพราะไม่เอาธรรมะคือสันโดษไปใช้ เราที่เป็นครูนี้จึงควรจะฝึกฝนตนให้มีความสันโดษพอใจในสิ่งที่เรามีเราได้ ให้มากขึ้น
และอีกประการหนึ่ง ความเป็นครูของเราทั้งหลายจะบกพร่องก็เพราะเราไม่มีคุณธรรมเป็นหลักครองใจ คนที่เป็นครูจึงคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ฉันเป็นครู ฉันเป็นผู้นำของศิษย์ทั้งหลาย ในทางจิตทางวิญญาณ ไม่แค่เป็นครูเฉพาะในชั้นเรียน แต่ต้องเป็นครูทุกที่ทุกแห่ง เดินไปไหนก็เดินแบบครู นั่งแบบครู ทำอะไรก็ทำแบบครู วางเนื้อวางตัวให้เหมาะให้สมอยู่ตลอดเวลา คอยสำนึกเตือนตัวเองว่าฉันเป็นครู ฉันจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ฉันจะไปที่นั่นไม่ได้ ฉันจะสมาคมกับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ มีสิ่งที่เรียกว่า อโคจร คือสถานที่ที่ครูไม่ควรไปนั่ง มากมายก่ายกอง เราเป็นครูก็ต้องสำรวมระวัง คอยบังคับตัวเอง ควบคุมตัวเองให้มีความสำนึกใน “ความเป็น” ของเราว่าตลอดเวลา ความสำนึกใน “ความเป็น” นี่แหละ เรียกว่า ครุสัญญา พูดเป็นศัพท์เป็นแสงหน่อยเขาเรียกว่า คุรุสัญญา สัญญาคือความสำนึกว่าฉันเป็นครู ฉันเป็นครู จะพูดอะไร จะทำอะไร จะแสดงออกในเรื่องใด ก็ต้องคอยมีสติปัญญา คอยเตือนอยู่เสมอว่า เป็นครูนะ ต้องคิดแบบครูนะ ต้องพูดแบบครูนะ ต้องทำแบบครูนะ ทำอะไรที่มันไม่เป็นครูนั้นจะไม่เหมาะสมแก่ความเป็นครูของเราเป็นอันขาด ถ้าเราได้มีความสำนึกเตือนจิตสะกิดใจไว้อย่างนี้ ข่าวร้ายต่างๆคงไม่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวนำความสลดหดหู่มาสู่โลกแห่งคนความเป็นครูเหลือเกิน
อาตมาก็เป็นครูคนหนึ่งเหมือนกัน เป็นครูมาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตของความเป็นนักบวช ก่อนบวชก็เคยเป็นครูเหมือนกัน เป็นครูใหญ่ เป็นครูน้อย และก็เป็นภารโรงไปด้วย เพราะหน้าที่มันมีคนเดียว โรงเรียนก็ไม่ใหญ่โตหรูหราอะไร ไม่มีทำให้ง่าย แต่ว่าก็ได้ทำหน้าที่ครูมา มีความภูมิใจ ว่าชีวิตนี้ได้เป็นครูสอนคนมาตั้งแต่เริ่มต้น ก็ตั้งแต่อายุ ๑๘ แล้วก็มีความเป็นครูตลอดมา เวลานี้ก็เป็นครูอยู่ทุกวันทุกเวลา ไปไหนก็ไปอย่างครู ไปสอน ไปทำความเข้าใจ ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต แก่คนทุกประเภท ในบ้านเมืองของเรา แม้จะไปต่างประเทศก็ไปอย่างครู ไปให้ธรรมะ ไม่ได้ไปเที่ยว ไม่ได้ไปสนุกอะไร แต่ไปเพื่อเปิดเผย เผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน มีความสำนึกอยู่ในจิตเสมอว่า ฉันเป็นครูสอนคน ต้องทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่คนทั้งหลายทั้งปวง เมื่อได้มาพบพวกเราทั้งหลายที่มีฐานะเหมือนกัน มีจิตใจแบบเดียวกัน มีการงานในรูปเดียวกัน ก็มีความพอใจ ถ้าจะพูดอะไรกัน ก็อย่าถือสาหาความ ให้ถือว่าสหายคนหนึ่ง ผู้ปฏิบัติงานร่วมกันกับพวกเราทั้งหลาย มีข้อคิด มีความเห็น ในสิ่งที่ควรจะแก้ไขปรับปรุงอะไร ก็นำมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ในวันที่เราเรียกกันว่าเป็นวันครู
เพราะวันครูนั้นเป็นวันที่เราทุกคนจะต้องสำนึกในความเป็นครู สำนึกในคุณธรรมของความเป็นครู ว่ามันมีอยู่ในจิตใจของเราสมบูรณ์หรือเปล่า หรือมีความบกพร่องอะไรบ้าง เราเป็นครูไท หรือว่าเป็นครูทาส เป็นครูที่เห็นแก่อามิส หรือเป็นครูที่เห็นแก่ความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ เราต้องคิดอยู่ในใจ แล้วก็คอยเตือนใจไว้ ให้เป็นครูที่มีจิตใจเป็นไท มีครูเป็นครูที่มีจิตใจเป็นมนุษย์ ถ้าเรานับถือพระพุทธศาสนา ก็เป็นครูอย่างพุทธบริษัท ครูอย่างพุทธบริษัทเป็นครูที่เรียกว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส ในหน้าที่ในการงานของเราอยู่ตลอดเวลา เราจะไม่เป็นโรคประสาท จะไม่เป็นโรคเซ็ง เพราะการงานในหน้าที่ เพราะเราเป็นครูที่เป็นไท เป็นมนุษย์ เป็นพุทธบริษัท ทำงานด้วยความเต็มใจ ทำงานด้วยความสนุกสนาน ด้วยความร่าเริงแจ่มใส ขณะใดปฏิบัติหน้าที่ มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสใจเบิกบาน ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง
คนเราที่จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมองนั้นมันเรื่องอะไร เพราะเรื่องเข้าข้างตัวนั่นแหละ เรื่องความเห็นแก่ตัว อยากทำอะไรก็มีความคิดว่าจะได้อะไรบ้าง ทำงานอย่างนี้จะได้อะไร จะได้ ... ใด จะได้งานสักเท่าไหร่ ... (12.13 ฟังเสียงไม่ชัดเจน) เพราะเมื่อไม่ได้ดังใจก็มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ได้น้อยไปก็เป็นทุกข์มีความเดือดร้อนใจ ได้ช้าไปก็มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ ทำไมเราจึงหาเรื่องให้เป็นทุกข์ ให้ประสาทมันเสื่อม ให้สุขภาพจิตมันเสื่อม คนฉลาดเขาไม่หาเรื่องให้เป็นทุกข์ แต่ว่าคิดให้มันสบายใจ ทำอะไรก็ทำให้สบายใจ มีอารมณ์สดชื่นรื่นเริงในการปฏิบัติงานในหน้าที่อยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราอยู่เฉพาะหน้าของศิษย์ของเรา เราต้องมีอาการร่าเริงแจ่มใส ไม่มีหน้าบึ้งหน้าตึง ไม่หดหู่เหี่ยวแห้ง ไม่มีอารมณ์ค้างจากที่ใดๆเอามาที่โรงเรียน เรามาด้วยจิตใจที่ว่างจากความเห็นแก่ตัว ว่างจากความอยากมีอยากเป็น ในเรื่องอะไรต่างๆ มีวิญญาณของครูสิงสถิตอยู่ในจิตของเราตลอดเวลา คอยบอกตัวเองว่าฉันเป็นครู ฉันทำหน้าที่ครู ฉันจะทำหน้าที่ด้วยความร่าเริง ด้วยความเบิกบานแจ่มใส ฉันจะไม่มีอารมณ์เสีย จะไม่มีความทุกข์ไม่มีความเดือดร้อนใจ ในหน้าที่ของฉัน แล้วก็ทำหน้าที่ด้วยความสบายใจ
อันนี้เป็นศิลปะในการปฏิบัติหน้าที่ คือทำงานให้สนุก เป็นสุขขณะที่เราทำงาน เสร็จงานแล้วเราก็กลับบ้าน ไม่ไปเที่ยวเตร่เถลไถล ครูเราอย่าไปเที่ยวในสถานที่ที่ไม่ควรเที่ยว สถานที่ต่างๆที่เขาสร้างขึ้นไว้สำหรับให้คนไประบายนั้น มันไม่เหมาะสำหรับครู ไปเที่ยวบาร์ไม่ได้ ไปเที่ยวไนท์คลับไม่ได้ ไปเที่ยวอาบอบนวดที่ไหนไม่ได้ แต่อาบที่บ้านได้ไม่เป็นไร แต่สถานที่อื่นนั้นเราไปไม่ได้ เพราะเราเป็นครู เดินเข้าไปมันก็น่าขายหน้า สมมติว่าศิษย์ก็เห็นเข้า มันก็ดูหมิ่นได้ว่าทำไมครูไปเที่ยวที่นั่น ร้านเหล้าเราก็ไม่ควรเข้าไป เพราะมันเป็นพิษเป็นภัยแก่ชีวิตแก่ร่างกาย หากปฏิบัติตนให้ห่างจากสิ่งชั่วสิ่งร้าย
เรื่องอบายมุขนี้อย่างหนึ่ง อยากจะขอฝากไป ครูในกรุงเทพฯ อาจจะมีน้อย แต่ครูต่างจังหวัดมีมาก บางภาคมากเหลือเกิน หนาแน่นเลย ครูดื่มเหล้า ๙๐% ในโรงเรียนหนึ่งๆ ลูกศิษย์เป็นมหา เขาสึกออกไปเป็นครู แล้วเขามาบอกว่า อาจารย์ครับ โรงเรียนที่ผมไปสอนนี่ ๙๐% ครูดื่มเหล้า ครูเล่นการพนัน แล้วเธอทำอย่างไร พยายามดึงที่สุด พยายามดึงมาทีละคน ทีละคน ดึงเข้าหาธรรมะ หาพระไปเทศน์ ไปเข้าค่าย แต่เขาจะเอาพระไปเข้าค่ายนักเรียนบอกว่านักเรียนไว้ทีหลัง เอาครูก่อน เข้าค่ายครูก่อน ถ้าครูเข้าค่ายไม่เรียบร้อย นักเรียนจะเรียบร้อยได้อย่างไร มีการปลุกปั่นชีวิตจิตใจของเด็กให้ฟุ้งเฟ้อ ให้เห่อเหิม เนื้อเพลงที่เอามาให้เด็กร้อง ก็เพราะกิเลสทั้งนั้น เป็นเพลงที่ไม่น่าร้อง ถ้าคนมีหิริโอตัปปะแล้วจะร้องไม่ได้ แต่เขาแต่งขึ้นร้องเพื่อความสนุกสนานเฮฮา เป็นผู้หลงใหลในวัตถุมาก เป็นผู้หลงใหลในเนื้อหนังมากไป ต้องแก้ไข
เขาพยายามแก้จุดเสีย พยายามนิมนต์พระไป เอาครูเข้าค่าย จะมาแก้ปัญหา ๕ วัน ๕ คืน ทำเป็นชุดๆ ก็เรียกว่าดีขึ้น ดีไปจนกระทั่งว่าเรียบร้อยทั้งโรงเรียน ไม่มีครูประเภทขี้เมาเป็นนักการพนันต่อไป แต่ว่าโรงเรียนอื่นยังมีอีกมากหลาย ที่ยังไม่ได้ทำอย่างนั้น คือครูใหญ่ก็เอาด้วย ครูน้อยก็เอาด้วย ถ้าผู้ใหญ่เดินทางไหนผู้น้อยก็เดินทางนั้น เหมือนวัว ถ้าวัวไปตรง แม่ฝูงไปตรงลูกฝูงก็ตรงหมด แต่ถ้าแม่วัวไปคด ลูกฝูงก็ไปคดเหมือนกัน สภาพเป็นอย่างนั้น ปรากฏอยู่ในหัวเมืองทั่วๆไป ทุกภาคของประเทศไทยก็ว่าได้ หลวงพ่อไปเที่ยวแสดงธรรมบ่อยๆ ก็ศึกษาไต่ถามสภาพความเป็นอยู่ของคนทุกประเภท ก็ได้พบเหตุผลว่า โอ้ ลำบาก ต้องแก้ไขกันเป็นการใหญ่ ต้องสังคายนากันแล้ว ถ้าไม่มีการสังคายนาแล้วครูของเราจะตกต่ำลงไปทุกวัน ทุกเวลา จึงต้องมีการเร่งรัดระดมในเรื่องนี้ คือสร้างฐานกันใหม่ สร้างฐานชีวิตครูกันใหม่ เพื่อให้อยู่ในศีลในธรรม ให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน
ก็เราไม่ใช่มีหน้าที่สอนเพียงเด็กเท่านั้น เราต้องสอนชาวบ้านด้วย เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน ชาวบ้านชาวเมืองในชนบทนั้น เขาเคารพครูมาก ถ้าครูพูดอะไรเขาเชื่อเขาฟัง ครูทำอะไรเขาเลื่อมใสศรัทธา ถ้าครูนำเขาในทางสุข คนจะเป็นสัมมาทิฏฐิกันหมด แต่ถ้าครูนำในทางเสื่อม ชาวบ้านก็จะเป็นมิจฉาทิฏฐิกันไปเป็นอย่างมาก ก็ร่วมวงกันมาได้ (16.49 เสียงไม่ชัดเจน) เรียกว่าเข้าคนได้ มีมนุษย์สัมพันธ์ในทางที่จะทำตนไม่ให้เป็นมนุษย์มากขึ้น อันนี้คือความเสียหาย ที่เกิดขึ้นในโลกของครูทุกวันทุกเวลา จึงอยากจะขอฝากไว้ ฝากท่านรัฐมนตรีด้วย ท่านปลัดกระทรวงด้วย ก็นั่งฟังอยู่ข้างหลัง ว่ามันต้องแก้ปัญหาแล้ว ถ้าไม่ได้ ถ้าไม่ได้เวลานี้ ก็เหมือนไฟกำลังไหม้ป่า ห้ามไม่ได้ ต้องรีบดับ รีบเอาน้ำไปดับ รีบแก้ไขปรับปรุงกันทันท่วงที ต้องร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายรัฐฝ่ายบ้าน ฝ่ายพระสงฆ์องค์เจ้าก็ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน
ในบางจังหวัดพระสงฆ์เข้มแข็งมาก พยายามจะดึงครูเข้าหาธรรมะ จังหวัดอุลราชธานีก็อยากจะชมหน่อย เพราะวิทยาลัยครูอุบลนั้นมีคนเข้มแข็งอยู่หลายคน ส่วนมากครูที่เป็นสายใน (17.44 เสียงไม่ชัดเจน) วิทยาลัยครูอุบลนั้น เป็นลูกศิษย์พระทั้งนั้น พวกมหาเก่า แต่มหาเก่านี่ก็ไว้ใจไม่ได้บางคน พอไปแล้วมันมากกว่าคนไม่ได้บวชเสียอีก เมามากกว่าคนที่ไม่ได้บวช เขาอยากจะเอาตัว ห. มาไว้หน้าตัว ม. เสียแล้ว เพราะมันเหลือเกิน …… มันเหลือเกินหมาเก่า (18.00 เสียงไม่ชัดเจน) แต่ว่ามหาของครูโรงเรียนนั้นวิทยาลัยครูนั้นเรียบร้อยเข้มแข็งเอางานเอาการ ร่วมกับค่าย กับพระ ไปทำการพัฒนาชาวบ้าน ก็เรียกว่าอุดมการณ์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง คณะครูเขายกกองไปช่วย อุปกรณ์การเตรียมการใดทุกสิ่งทุกอย่างช่วยเหลือแข็งแรง
เมื่อไม่กี่วันนี้วันที่ ๕ มกรา (18.24 ควรเพิ่มคำว่า “คม” ให้เป็นคำเต็มของเดือน มกราคม) อาตมาก็นำพระไป พระธรรมทายาท ที่รับการอบรมที่วัดเป็นเวลา ๑ เดือน เสร็จแล้วออกปฏิบัติงาน ปีนี้ไปอุบล เพราะชาวอุบลขอร้อง พวกคณะครูนี่เขาวางแผนเรียบร้อยว่าไปถึงให้ทำอะไร เชิญใครมาพูด ให้พระทำอะไร ทุกอย่าง วางไว้หมดทุกแห่งทุกอำเภอ จนถึงวันสุดท้ายวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ วันปัจฉิมนิเทศน์ ก็เอามา กลับมาในเมือง หลวงพ่อก็ต้องไปอีก เพื่อไปปัจฉิมนิเทศน์ และถือโอกาสพูดกับชาวบ้านชาวเมืองที่สนามใหญ่ทุ่งศรีเมือง ให้คนได้รับรู้รับทราบอะไรกันต่อไป อาตมาไปเห็นงานเขาแล้วก็สบายใจ เข้มแข็งมาก แล้วมีพระที่เอางานอยู่หลายรูป ไปช่วยกัน บางอำเภอนี่เรียบร้อย คนเลิกเล่นการพนัน เลิกดื่มเหล้า จนเจ้าหน้าที่สรรพสามิตต่อว่า บอกว่าอำเภอนี้ทำไมไม่จับเหล้าเถื่อน เหล้าโรงมันขายไม่ค่อยได้ ทำให้ภาษีสรรพสามิตตกต่ำ ต้องปราบเหล้าเถื่อนให้เข้มแข็ง นายอำเภอบอกว่า ไม่ใช่ไม่จับเหล้าเถื่อน แต่คนมันไม่ดื่มเหล้า เพราะคนมันประพฤติธรรมกัน ญาติโยมได้ประพฤติธรรมกันหมดแล้ว
อำเภอหัวสะพานนี่เขามีชื่อ นายอำเภอหัวสะพานนี่เข้มแข็ง แต่ตอนนี้ย้ายไปอยู่อำเภอเมืองใหม่จังหวังอุบลราชธานี เป็นคนเอางานเอาการ คลุกคลีกับชาวบ้าน เอาพระไปด้วย เอาคณะครูไปด้วย สามแรงแข็งขัน ช่วยกันอย่างดี คนมันก็เลิกมุ่งแต่สิ่งชั่วสิ่งร้าย อยากจะพูดว่าคนไทยนี่ไม่ใช่คนดื้อ เป็นคนว่านอนสอนง่าย แต่มันไม่มีคนสอน ไม่มีคนจะชักจะจูง เรายังขาดวิทยากรในการชักนำประชาชน จำเป็นจะต้องสร้างขึ้นในโลกนี้ ถ้าไม่สร้างมันจะไปไม่รอด อันนี้เมื่อมีคนนำและคนตามเยอะ เขาสนใจ เพราะคนไทยเรามีนิสัยอ่อนโยน อ่อนน้อม แต่มันไม่อ่อนเพราะไม่มีคนนำให้อ่อนเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราช่วยกัน พระ ครู ราชการช่วยกันอย่างเข้มแข็ง ทำเป็นจุดๆ เอาจริงเอาจัง เข้าไปหมู่บ้านไหนตำบลไหนก็ทำอยู่หลายๆวัน เอาพวกชวนพูดชวนคุยชวนสนทนา ปรึกษาหารือกัน พูดกันจนเข้าใจ แล้วจึงจะเลื่อนไปหาหมู่บ้านอื่นต่อไป
เราทำไปมุ่งในรูปอย่างนั้น อบรมพระธรรมทายาท เพราะต้องการให้เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ไปเที่ยวยืนเทศน์ ปาฐกถา จบแล้วกลับวัด ไม่ได้ ต้องไปตั้งกองอยู่ในหมู่บ้านเรา พูดกับคนทุกประเภท พูดกับเด็ก พูดกับหนุ่มสาว พูดกับพ่อบ้านแม่เรือน พูดกันเป็นเรื่องเป็นราวเป็นชุดเป็นชุดไป คนเขาก็ตื่นตัวขึ้น เข้าหาสิ่งถูกต้อง
อันนี้ในวงการของครูนี่ต้องทำอย่างนี้ ทำกันเป็นกลุ่มๆเป็นหน่วยๆ เดี๋ยวนี้ก็มีหน่วยมีกลุ่มอะไร กลุ่มครูนั่นกลุ่มครูนี่ก็มีกันอยู่แล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ชวนกันเข้าหาธรรมะอย่างแท้จริง ธรรมะเท่านั้นจะช่วยชาติไทยได้ ช่วยเมืองไทยได้ ถ้าเราทิ้งธรรมะแล้วล่มจมแน่ๆ ไม่มีอะไรจะช่วยได้ เวลานี้ต้องหันหน้าเข้าหาธรรมะ กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงนำ ในเรื่องนี้ ต้องเข้มแข็งหน่อย เอางานเอาการ ทำกันอย่างจริงจัง ทำกับครูก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน และจะไม่ …… (22.44 เสียงไม่ชัดเจน) ครูต่อไป
เวลานี้เรายังมีครูประเภทที่เป็นครูสมัครเล่น ไม่ใช่เป็นครูอย่างจริงจัง ไม่ทำหน้าที่ของครูอย่างแท้จริง อาตมาไปตามชนบทบางทีได้ยืนคุยกับคนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชาย คุยกันเป็นนาน ยังไม่รู้ว่าเขาเป็นครู เพราะกิริยาท่าทางแต่งหน้าแต่งตัวไม่มีลักษณะของความเป็นครูเลยแม้แต่น้อย คุยกันไปคุยกันมาถามว่าคุณทำงานอะไร ผมเป็นครู แหม อาตมาจะเป็นลมเสียให้ได้ เพราะว่าความเป็นครูของครูคนนั้น ตั้งแต่หัวถึงเท้ามันไม่เรียบร้อย หัวไม่เรียบร้อย หรือหวีผมไม่เป็น เป็นครูแล้วหวีผมไม่เป็น ดูข้างหลังหวีผมสวยงามทั้งนั้น ท่านรัฐมนตรีก็หวีเรียบร้อย ปลัดกระทรวงก็หวีเรียบร้อย ท่านอื่นๆไม่รู้จักแต่ก็ดูเรียบร้อยกันทั้งนั้นแหละ หวีผมเรียบร้อย แต่ว่าครูที่พบนี่ แหม รุ่มร่าม รุงรัง บอกว่าคุณเป็นครูน่ะ ขออภัย ยังหวีผมไม่เป็นเลย แล้วเขายิ้มๆ เขาก็ยิ้มๆไป ก็เขาไม่ตอบน่ะ แต่ถ้าจะตอบคงตอบว่าสมัยนี้เขานิยมอย่างนี้ ไม่ได้ ครูไปนิยมตามสมัยของคนทั่วไปไม่ได้
ครูต้องเป็นครูตั้งแต่หัวถึงตีน ต้องแต่งตัวเรียบร้อย อย่าแต่งตัวรุ่มร่ามรุงรัง เอาตัวอย่างผู้หลักผู้ใหญ่บ้าง ทหารก็แต่งตัวเรียบร้อยผมเผ้าเรียบร้อย ไม่รุ่มร่าม แต่เดี๋ยวนี้ก็มีบ้างเหมือนกัน ชักจะรุ่มร่ามขึ้นตามเหมือนกัน วินัยชักจะย่อหย่อน เราต้องทำงาน พวกครูจึงต้องมีระเบียบวินัย แต่งตัวเรียบร้อย เพื่อจะเป็นเครื่องช่วยให้คนไม่ทำชั่ว ถ้าแต่งตัวเรียกว่าตัดผมอย่างนั้น ถ้าเห็นอ้อ นี่ครู แต่งตัวอย่างนั้นนี่ครู มันก็คล้ายผ้าห่มจีวรจะเดินอยู่ในซอยไหน คนเห็นก็รู้ว่าพระ เดี๋ยวก็ไปนิมนต์กับพระ ทำไมมาเดินอยู่นี่ ควรกลับวัดได้แล้ว เครื่องหมายมันมีอยู่ เครื่องแต่งตัวของครูก็มีอยู่ ครูผู้ชายก็แต่งตัวให้เรียบร้อย ถ้าตามบ้านนอกไม่ค่อยจะเรียบร้อยเท่าไหร่ อาตมาสังเกต ยังย่อหย่อนกันอยู่ ควรกวดขันในเรื่องการแต่งหน้าแต่งตัว
อย่าถือประชาธิปไตยแบบไม่เข้าเรื่อง เดี๋ยวนี้ชอบอ้าง เมืองประชาธิปไตย ไม่มีการบังคับ ไม่มีการเผด็จการ แต่ต้องขอร้องกันว่าถ้ามาเป็นครูขอให้แต่งตัวอย่างนี้ ใครจะเข้าสมัครเป็นครูต้องพูดกันก่อน คนจะมาเป็นครูต้องอย่างนี้ ต้องประพฤติตนอย่างนี้ๆ แล้วก็คอยกวดขัน เอาครูเก่าไว้ก่อน ปรับครูเก่า แล้วครูใหม่มาค่อยว่ากันต่อไป
ความจริงเรื่องการสร้างคนให้เป็นครูนั้น พูดไปแล้วจะลามปามไปสักหน่อย มันต้องตั้งต้นที่วิทยาลัยครู วิทยาลัยครูเวลานี้ ไม่ได้สร้างคนให้เป็นครูอย่างแท้จริง สภาพความเป็นอยู่ไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิตใจกันอย่างแท้จริง อาตมาไปดูบ่อย ไปเทศน์บ่อย เทศน์แล้วดูสภาพความเป็นอยู่ ไม่ใช่ลักษณะของครู ลองถามครูเก่าๆ เช่น อาจารย์ …… (26.00 เสียงไม่ชัดเจน) ว่า สมัยก่อนครูอย่างไร วิทยาลัยครูเป็นอย่างไร ครูเก่าๆเคยเล่าให้ฟัง บอกว่าวิทยาลัยครูสมัยก่อน ครูที่แก่ตายไปแล้ว เขากวดขันมาก การแต่งหน้าแต่งตัวระเบียบชีวิตจิตใจเขากวดขัน ทำไมถึงกวดขันนักหนา เพราะต้องการให้มีแบบที่ดีแก่เด็ก คนที่จะไปเป็นครู เป็นพ่อแบบแม่แบบ ถ้าแบบบูดๆเบี้ยวๆ เด็กมันก็บูดๆเบี้ยวๆหมดน่ะ อันนี้เขากวดขัน ระเบียบวินัย ครูสมัยก่อนมีระเบียบวินัยมาก การแต่งเนื้อแต่งตัวอะไรเรียบร้อย เดี๋ยวนี้ชักจะไม่ค่อยเรียบร้อย มีความเสื่อมเสียอยู่หลายเรื่องหลายอย่าง ขอฝากไว้เป็นเครื่องพิจารณา ว่าต้องกวดขันกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะวิทยาลัยครู
แต่เดี๋ยวนี้วิทยาลัยครูไม่เป็นวิทยาลัยครูแล้ว เป็นสหวิทยาลัย เรียนจับฉ่าย ปนกันไปหมดเวลานี้ อันนี้มันต้อง …… (27.00 เสียงไม่ชัดเจน) เป็นครูจริงๆ หรือว่าเรียนจบแล้วเอามาอบรมใหม่ เหมือนกับทางกฎหมาย กฏหมายด้านนิติศาสตร์ จากธรรมศาสตร์ รามคำแหง จากจุฬาลงกรณ์ จากไหนมีเยอะ ก็เอามาอบรม เป็นเนติบัณฑิตเสียก่อน เอามาฝึกใหม่ เอามาสอนกันใหม่ ให้เป็นเนติบัณฑิต ให้มันสมศักดิ์ศรีหน่อย แล้วจึงจะเป็นอะไรๆต่อไปได้ ครูเราก็เหมือนกัน ถ้าว่ารับสมัครมาจากหลายที่หลายแห่ง จากสหวิทยาลัย ต้องเอามากรองอีกทีหนึ่ง มีสถานที่อบรมบ่มนิสัยครูเหล่านั้น
แล้วในการอบรมนั้นอย่าลืมเอาพระเข้าไปด้วย คือเอาไปฝึกจิตของครูเสียบ้าง เพราะครูไม่ค่อยได้ฝึกจิต สอนสมาธิบ้าง ให้รู้จักว่าสมาธิเป็นอย่างไร ควบคุมจิตเป็นอย่างไร กระทรวงศึกษามีหลักสูตรใหม่ ให้ครูสอนสมาธิแก่เด็ก แต่ครูไม่รู้ ไม่รู้จะสอนอย่างไร สมาธิเนี่ย ไปบอกเด็กให้เรียนเอาเองก็แล้วกัน แล้วสำนักสอนสมาธิเมืองไทยนี่ มันหลายแบบเหลือเกิน แบบนั่นแบบนี่ คราวนี้เด็กไปเรียนมา ไปเรียนวัดนั้นแบบหนึ่ง วัดนี้อีกแบบหนึ่งเด็กก็มาขัดกันเอง อ้าว ไม่ได้สอนอย่างนั้น …… (28.18 เสียงไม่ชัดเจน) คือไม่ได้สอนแบบของพระพุทธเจ้า สมาธิเดี๋ยวนี้ ไปสอนแบบอะไรก็ไม่รู้ ก็คิดขึ้นใหม่ๆ เยอะแยะ แล้วให้คนยึดถือ ถือไปด้วยประการต่างๆ ทุกสำนักก็ต้องการให้ติดสำนักของตัว ไม่สอนลูกศิษย์ให้ปล่อยวาง ไม่สอนลูกศิษย์ให้จิตว่าง แต่สอนให้ติดสำนักติดครูบาอาจารย์ ยังเห็นแก่ลาภแก่สักการะ หวงลูกศิษย์ไว้ ไม่อยากให้ไปสำนักอื่น อ่านหนังสือสำนักอื่นก็ไม่ได้ ต้องอ่านแต่เรื่องของสำนักนี้ …… (28.48 เสียงหลวงไม่ชัดเจน) ไม่สมกับเป็นพุทธศาสนา พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเราเปิดประตูกว้าง มีแต่เสรีภาพอย่างกว้างขวางในการศึกษาค้นคว้า แต่คนไปปฏิบัติแล้วมันยุ่งอย่างนั้น ลำบาก
ทางวัดชลประทานก็คิดว่า เออ ช่วยครูหน่อย เลยเปิดการสอนสมาธิ ทุกวันเสาร์ห้าเสาร์ ห้าเสาร์นี่ก็รู้เรื่อง แต่ว่าเมื่อมาติดต่อที่กระทรวงศึกษาบอกว่า วันอื่นก็ให้ครูไปฝึกได้ ห้าวัน ห้าวัน ให้ถือว่าไปราชการ เพราะไปอบรมตนแล้วมันดีขึ้น ไปชุบชีวิตจิตใจ ทำให้ครูมีค่ามากขึ้น แต่กระทรวงไม่อนุญาตให้ไป นี่ก็ไม่รู้ด้วยเหตุใด (29.35 เสียงไม่ชัดเจน) ว่าถ้าหากเปิดช่องให้ครูไปวันอื่นได้ อาจจะวันอังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ ห้าวัน ไปอยู่ที่วัด ไปอบรมมา แล้วก็เปลี่ยนชุดกันไปเรื่อยๆ ครูกี่คนก็เปลี่ยนไปอบรมบ่มนิสัย อบรมตลอดวัน ตอนเช้าก็ให้วิชาการ ตอนบ่ายก็ฝึกฝนด้านจิตใจ ห้าวันนี้ก็เปลี่ยนไปพอสมควร พอรู้ พอเข้าใจ ได้รับรู้ว่าการทำจิตให้สงบนั้นมีความสุขอย่างไร เห็นภาพบ้าง ว่าสุขที่เกิดจากความสงบเป็นอย่างไร จะได้เห็นคุณค่า แล้วเอาไปสอนเด็กต่อไป แล้วบางทีก็เปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนการกระทำไป เพราะว่าได้ไปรู้จักตัวเองมากขึ้น
คนเราจะเรียนอะไรมากมายสักเท่าใด ให้ได้ถึงปริญญาเอก แต่ถ้ายังไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักสิ่งที่มันเกิดขึ้นในตัว ไม่รู้เหตุของสิ่งนั้น แล้วไม่รู้ว่าจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไร วิชานั้นยังใช้ไม่ได้ ยังเอาตัวไม่รอด ปริญญาเอกก็ยังเอาตัวไม่รอด เพราะไม่รู้เรื่องดังกล่าว คราวนี้เรื่องดังกล่าวนี้จะไปเรียนกันที่ไหน ก็อยากจะบอกว่า เรียนที่ไหนไม่ได้นอกจากเรียนกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องนี้เฉพาะ คำสอนของพระพุทธเจ้าสอนชี้ชัดลงไปที่เนื้อที่ตัวของแต่ละคน ไม่ได้สอนไกลออกไปนอกฟ้าป่าดงที่ไหน แต่สอนลงมาที่นี่ ในตัวของแต่ละคน ให้มองด้านใน พิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น
คนไปฝึกไปอบรมแล้ว ก็พอจะรู้จักอะไรขึ้นมาบ้าง แล้วก็ไปทำต่อๆไป ก็ก้าวหน้าไป ประสบผลว่าครูที่ได้รับการอบรมตามแนวคิดอย่างนี้แล้วดีขึ้น สนใจในเรื่องธรรมะ …... (31.30 เสียงไม่ชัดเจน) ก็นำเด็กเข้าวัดเข้าวา พาลูกศิษย์ไปวัด ส่งไปฟังธรรม ไปอบรมบ่มนิสัย เพราะตัวได้ชิมแล้ว ว่ารสชาติของความสงบนี้มันอร่อยอย่างไร มันวิเศษอย่างไร ได้ชิมด้วยตัวเอง ก็อยากให้ลูกศิษย์ได้ชิมบ้าง ให้เพื่อนครูได้ชิมบ้าง ก็ดึงเพื่อนครูไปช่วยกัน ทำให้กว้างขวางออกไป นี่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วเฉพาะเวลาที่มีการปิดภาคเรียน ถ้าหากว่าเราเอาครูไปเข้าค่าย ทำการอบรมอย่างนั้น ศึกษาเรื่องตัวเองแล้วมันกว้างขวางขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มพูนสมรรถภาพของครูให้ดีขึ้น เพราะสมรรถภาพมันจะไม่เกิด ถ้าจิตมันไม่มีคุณธรรม เมื่อใดจิตมีคุณธรรม สมรรถภาพอะไรมันก็ดีขึ้น ความสามารถเพิ่มขึ้น สติปัญญาเพิ่มขึ้น ความรักงานเพิ่มขึ้น ความเสียสละในการที่จะปฏิบัติหน้าที่มันก็เพิ่มขึ้นด้วย เพราะจิตมันดีขึ้น แต่ถ้าจิตไม่ดีอะไรมันก็ไม่ดีหมด เพราะฉะนั้นเรื่องการฝึกจิตนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน
ความจริงครูที่สมัครใหม่ๆอย่าให้ทำงานก่อน ชวนเข้าวัดเดือนหนึ่ง แต่ไม่ต้องบวชก็ได้ เอาไปอยู่วัดเดือนหนึ่ง อบรมบ่มนิสัย ศึกษาธรรมะ เพราะว่าคนบางคนแม้จะจบหลักสูตรวิชาครูแล้วไม่ประสีประสาในเรื่องธรรมะเลย มีคนคนหนึ่งก็เป็นครู ได้ปริญญาด้วยซ้ำไป แล้วก็ไปทำปริญญาโท เขาให้เขียนเรื่อง เอ จะเขียนเรื่องศาสนา แล้วก็ไปหาอาตมาที่วัดให้ช่วยแนะนำ อาตมาก็ถามว่าคุณมีพื้นฐานทางธรรมะขนาดไหน มีความรู้อะไรบ้าง เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เขาก็สารภาพตรงๆว่าผมยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่ได้เล่าเรียนอะไรเลย อ้าว ต้องสอนกันเป็นการใหญ่ หลายวัน เอาไปสอนไปชี้แจงให้เข้าใจ แล้วก็ไปเขียนทำปริญญาโทต่อไป อันนี้เป็นเครื่องแสดงว่า เราสอนน้อยไป ในเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมในวงการศึกษา
เมื่อเราให้หลักธรรมน้อยก็เหมือนกับว่าปล่อยคนที่ไม่มีเครื่องห้ามจิตไป ให้ไปทำอะไร เหมือนกันปล่อยรถไปวิ่งบนถนนที่ไม่มีห้ามรถไม่มีห้ามล้อ รถไม่มีห้ามล้อจะไปวิ่งบนถนนได้อย่างไร ปัญหามันก็เกิดมาก คนไม่มีเครื่องฝึกจิตห้ามจิต ไปทำกิจอะไร มันก็ตกต่ำไปตามวัตถุ ตกต่ำไปกับสิ่งยั่วยุ ด้วยประการต่างๆ เสียผู้เสียคนไปเพราะเราไม่ได้ติดห้ามล้อชีวิตให้แก่เขา เขาไม่รู้จักใช้ เลยเป็นคนไม่สมบูรณ์ ความสมบูรณ์ของชีวิตมันอยู่ที่การมีคุณธรรม ถ้าไม่มีคุณธรรมแล้ว จะมีความสมบูรณ์ได้อย่างไร
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ควรจะเป็นเกณฑ์การศึกษาของชาติของบ้านเมือง คือต้องมีหลักธรรมะเป็นเรื่องใหญ่ อย่าคิดว่าเรื่องอื่นสำคัญ เรื่องอื่นก็สำคัญแต่ว่าธรรมะเป็นหัวใจ คนเราแม้จะมีร่างกายสมบูรณ์ แต่ถ้าจิตใจไม่สมบูรณ์ จะเป็นคนสมบูรณ์ได้อย่างไร สมบูรณ์มันอยู่ที่ใจสมบูรณ์ ใจที่สมบูรณ์ต้องมีธรรมะในศาสนาที่ตนนับถือ ใครจะนับถือศาสนาอะไรก็ไม่ว่า แต่ให้เข้าถึงธรรมะของศาสนานั้น เอาธรรมะนั้นมาใช้เป็นหลักปฏิบัติ
ความจริงแม้คนจะนับถือศาสนาแตกต่างกัน ถ้าเขาเข้าถึงธรรมะของคัมภีร์นั้นๆแล้ว ไม่มีเรื่องยุ่ง แต่ที่เรื่องมันยุ่งๆมันไม่เข้าถึงธรรมมะของศาสนา ติดเปลือก ไปอยู่ที่เปลือกเท่านั้นเองไม่เข้าถึงแก่นของศาสนา คำสอนของทุกๆศาสนาสอนมีแก่นทั้งนั้น แต่คนมันไม่เข้าถึงแก่น ไปติดของเล็กของน้อยพิธีรีตองอะไรต่างๆอยู่ ไม่พยายามที่จะพุ่งเข้าไปสู่จุดกลางของแกนของพระศาสนาเลยไม่ถึงแก่น คนถือศาสนาจึงรบกันได้ ศาสนาเดียวกันก็รบกัน หรือแตกต่างกันนิดหน่อยยกพวกตีกันตายเบ็ดเต็มเรือ มันเรื่องอะไร ไม่รู้ว่าตัวไม่มีศาสนาไม่มีธรรมมะของศาสนาไว้ในจิตใจ ถือแต่เปลือก ขอเอาแต่พิธีรีตอง เอาเครื่องแต่งตัวเอาแต่เครื่องหมายข้างนอกมาอวดกันว่า ฉันถึงแต่ใจไม่ถึงทีนี้เมื่อใจไม่ถึง จะเอาตัวรอดได้อย่างไร เราจึงต้องพยายามที่จะระดมให้ทุกคนได้เขาถึงสิ่งนี้
ความจริงเรื่องนับถือพระพุทธศาสนานั้น อยากจะกล่าวว่าเป็นเรื่องง่าย เรื่องง่ายเรื่องธรรมดาที่สุด ไม่มีอะไร ไม่มีเรื่องยุ่งยากในเรื่องการนับถือพระพุทธศาสนา การนับถือถึงแก่นแล้วเรื่องมันง่าย แต่ถ้าถือไม่ถึงแล้วเรื่องมันมาก ไปเอาอะไรต่ออะไรมาพอกไว้จนหนา เป็นเนื้อร้ายอยู่เยอะแยะ ถ้าเราขูดเกลาเอาเนื้อร้ายเหล่านั้นออกหมด เอาแต่แก่นมันก็สบาย คือเอาธรรมมะมาปฏิบัติเท่านั้น ธรรมมะช่วยเราได้ในชีวิตประจำวัน
ธรรมะมีสักบทหนึ่งอยากจะพูดสักเล็กน้อย เรื่องศักดิ์สิทธิ์ๆ นี่เราพูดกันอยู่มาก ไอ้นั่นศักดิ์สิทธิ์ไอ้โน่นศักดิ์สิทธิ์ เวลาให้พรใครก็มักจะชอบมาก ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกจงดลบันดาลให้ท่านเป็นอย่างนั้นให้ท่านเป็นอย่างนี้ ขอถามสักหน่อยเถอะว่ามันเป็นได้หรือ ไอ้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมันจะดลบันดาลให้เราเป็นได้รึ ถ้าหากว่าเป็นได้ประเทศไทยต้องเก่งกว่าชาติอื่นในโลกแล้ว เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองไทยมีมามากแล้วทุกหัวระแหงมนุษย์เมืองไทยไม่ต้องทำอะไรแล้ว ตื่นแต่เช้าเอาธูปเทียนไปกราบไปไหว้ขอให้มานอนอยู่ที่บ้านมันก็จะลอยมา ข้าวก็จะลอยมาเสื้อผ้าก็จะลอยมาเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ มันมีหรือโยม ไอ้แบบนั้นมันจะมีไหม ในบ้านเมืองในโลกนี้ มันมีไม่ได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบนั้นมันเหมาะกับคนปัญญาอ่อนเท่านั้นเองล่ะ
แต่ถ้าคนมีการศึกษามีปัญญาแก่กล้ามันต้องขึ้นอยู่กับการกระทำ ถ้าเราทำมันถึงจะได้ ถ้าเราไม่ทำไปขอร้องวิงวอนขอร้องบนบาลศาลกล่าว ดูมันจะได้อะไร บ้านเมืองของเรานี่บางครั้งบางคราวก็ส่งเสริมแต่เรื่องศักดิ์สิทธิ์ๆนะ ศักดิ์สิทธิ์เหลวไหล สิ่งศักดิ์สิทธิ์จริงๆมี สิ่งศักดิ์สิทธิ์จริงๆคืออะไร ธรรมะนั่นล่ะศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ธรรมะของพระพุทธเจ้าศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ศักดิ์คืออำนาจ สิทธิคือความสำเร็จ (38.15 *พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ระบุว่า คำว่า “สิทธ” ที่แปลว่า ความสำเร็จ จะสะกดว่า “สิทธ” ซึ่งไม่มีสระอิ พิจารณาเรื่องการสะกดคำ) ธรรมะเป็นอำนาจสำคัญที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จ และความสำเร็จจากธรรมะนั้นต้องประพฤติธรรม คือทุกคนต้องทำ ทำแล้วมันสำเร็จแต่ถ้าไปนอนกอดคัมภีร์หรือไปจุดธูปจุดเทียนบูชาคัมภีร์ให้ดลบันดาลมันไม่ได้ มันไม่มีการกระทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นมา มันเกิดไม่ได้ เราต้องทำตามธรรมะที่พระองค์สอนไว้ ถ้าเราประพฤติธรรมแล้วมันศักดิ์สิทธิ์
ยกตัวอย่างง่ายๆ ธรรมะง่ายๆ คือหิริโอตัปปะ ความละอายแก่ใจตัวเอง ความกลัวต่อผลอันจะเกิดขึ้นแก่ตนจากการกระทำที่ตนทำลงไป สองอย่างนี้ พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นธรรมคุ้มครองโลกรักษาโลก ยุคก่อนพระพุทธเจ้าแม้เดี๋ยวนี้ก็ยังมี เขาว่าโลกนี้มีเทวดายักษา เทวดาที่เป็นรูปยักษ์ไง คนเฝ้าประตูมันต้องเข้มแข็งหน่อย ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ ท้าวกุเวร เรียกว่าเป็นเทพเจ้ารักษาในทิศทั้งสี่ รักษาโลก แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าโลกนี้อาศัยเทวดาสี่องค์รักษาไม่ได้ ชาวโลกต้องรักษาตนเองด้วยธรรมะ และธรรมะที่เอามาใช้รักษาโลกไม่มาก เอาเพียงสองเรื่องก็พอ สองเรื่องก็คือ หิริ กับ โอตัปปะ ใครมีหิริโอตัปปะปลอดภัย โลกที่พระพุทธเจ้าว่า ไม่ใช่โลกกลมๆขรุขระเหมือนผิวมะกรูด อย่างนั้นไม่ใช่ โลกคือเรานี่เอง โลกของคนๆหนึ่งเป็นโลกๆหนึ่ง เรียกว่าสัตวโลกหรือคนนั่นแหละเป็นโลก โลกที่เราจะต้องคุ้มครองจะต้องรักษา
แล้วจะเอาอะไรมาคุ้มครองโลกคือชีวิตล่ะ ต้องคุ้มครองด้วยธรรมะ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าให้เอามาคุ้มครองก็มีไม่มาก ง่ายนิดเดียว สองเรื่องเท่านั้นเอง หิริ กับ โอตัปปะ หิริคือความละอายแก่ใจ โอตัปปะคือความกลัวต่อผลที่จะเกิดขึ้นแก่ตน คนเราจะมีหิริได้อย่างใด อย่างใดเรียกว่าหิริ คือละอายแก่ใจตนเอง แม้ที่ลับก็ไม่กล้าทำเพราะมีความละอาย ต่อหน้าคนก็ไม่ทำ ลับหลังคนก็ไม่ทำ ที่ใดๆก็ทำไม่ได้เพราะมีความสำนึกว่า มันน่าละอายที่เราจะทำเช่นนั้น มันน่าละอายที่เราจะคิดอย่างนั้น มันน่าละอายที่เราจะไปกับบุคคลนั้นในสถานที่นั้น ความละอายนี้มันเกิดขึ้น
ลองคิดดูว่าคนเราถ้ามีความละอายแก่ใจอย่างนั้น ทำชั่วได้ไหม ไปเล่นการพนันได้ไหม ไปเสพสิ่งเสพติดมึนเมาได้ไหม ไปเที่ยวหาโรคเอดส์ใส่ตัวได้ไหม หรือไปทำอะไรเหลวไหลได้ไหม เกียจคร้านก็ไม่ได้ ละอาย ละอายที่เกิดมาเป็นคนเกียจคร้าน เรามีความละอายหรือเราละเลยหน้าที่ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ หลีกเลี่ยงหน้าที่ อะไรต่างๆทำไม่ได้ เพราะมันรู้สึกละอายในการที่เราจะทำเช่นนั้น ละอายชั้นสุดยอด ละอายในการที่เราไม่เป็นมนุษย์ มีความละอายในการที่ไม่เป็นมนุษย์ หรือว่าเราเป็นครูมีความละอายในการที่จิตใจมันไม่เป็นครู การพูดไม่เป็นครู การกระทำไม่เป็นครู การแสดงออกที่ไม่เป็นครู มันน่าอายเหลือเกิน ฉันทำเช่นนั้นไม่ได้ ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ถ้าเรามีความละอายเช่นนั้น ทำชั่วไม่ได้ไม่ว่าในสถานที่ใด จะกลายเป็นคนที่มีสติ ควบคุมจิตใจอยู่ตลอดเวลา เพราะละอายในการที่จะเผลอไป จะประมาทไป ทำอะไรไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการใด น่าละอาย คุ้มครองได้หรือไม่ ลองพิจารณาดู เราต้องสอนเด็กให้มีความละอายให้มาก แล้วครูก็ต้องละอายให้มากในการที่จะทำอะไรไม่เหมาะไม่ควร
ประการต่อไป โอตัปปะ หมายความว่ากลัว กลัวอะไร ไม่ใช่กลัวว่าคนจะรู้คนจะเห็นอย่างนั้นมันไม่ได้เรื่อง แต่กลัวผลที่เรากระทำนั้นมันจะตกอยู่แก่ตัวเราเอง อันนี้มันเกิดจากฐานความเชื่อที่ถูกต้อง ความเชื่อที่ถูกต้องในเรื่องของกฎแห่งกรรม คือเชื่อว่าทำดี ดี! ทำชั่ว ชั่ว! ใครทำอย่างใดได้ผลอย่างนั้น หนีไม่ได้ ท่านทั้งหลายมีความเชื่อมั่นหรือเปล่า ครูบางคนก็ไม่ค่อยเชื่อนะ ไอ้ไม่เชื่อนี่ก็ เอ พระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า นั่นมันชักจะยุ่งแล้ว เป็นครูไปเชื่ออย่างนั้นมันก็เกินไป แล้วจะไปสอนใครได้ มันต้องปลูกความเชื่อขึ้นก่อน ความเชื่อว่าต้องพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล
พระพุทธศาสนาไม่บังคับให้ใครเชื่อ แต่ให้ใช้ปัญญา พระพุทธเจ้าสอนอะไรใครท่านบอกว่าคิดให้ดี ทำในใจให้ดี ฉันจะพูดให้ฟังบัดนี้ ไม่บังคับว่าต้องเชื่อต้องฟัง แต่บอกว่าต้องคิดให้ดีนะ ฉันจะพูดให้ฟัง ให้โอกาสเอาไปคิดพิจารณา เราก็พิจารณาว่าในเรื่องที่เกี่ยวกับว่าทำดี ดี! ทำชั่ว ชั่ว! มันจะได้จริงหรือไม่ ที่ไม่เชื่อหรือมองไม่เห็นนี่มันเพราะอะไร คิดไปเป็นวัตถุมากเลย ถ้าทำดีมันต้องได้ขึ้นเงินเดือน มันต้องได้เลื่อนชั้น ได้เลื่อนตำแหน่ง แหมทีทำดีเกือบตายนายไม่เห็นใจ ไม่ได้เลื่อนให้สักที นี่ไปคิดวัตถุมากไป มันเป็นผล ผลชั้นต่อไป เป็นผลชั้นสอง ไม่ใช่ผลชั้นหนึ่ง
ผลชั้นหนึ่งนั่นคืออะไร คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจของเรา เราคิดอย่างใดใจเป็นอย่างนั้น ถ้าเราคิดชั่ว ใจเศร้าหมอง คิดดี ใจผ่องใส ถ้าเราโกรธเราก็ได้ความโกรธ ได้ยังไง สมมติว่าเราโกรธใครสักคนหนึ่ง นั่งหน้านิ่วคิ้วขมวด มือไม้สั่น หูแดง ตาแดง ความโกรธ ในขณะโกรธนั้นเราได้อะไร เราได้ความโกรธ ถ้าเราโกรธห้านาที เราได้ความโกรธห้านาที โกรธสิบนาทีได้ความโกรธสิบนาที โกรธหนึ่งชั่วโมงใจขึ้นแบบนั้นเป็นชั่วโมง ได้ความโกรธหนึ่งชั่วโมง และถ้าเราโกรธบ่อยๆ โกรธบ่อยๆ โกรธวันละหลายครั้งหลายหน คนนั้นจะเป็นยังไง จะมีนิสัยขี้โกรธ มักโกรธ ใจร้อน ใจเร็ว กระทบนิดโกรธ กระทบหน่อยโกรธ ฝนตกโกรธ แดดออกโกรธ จราจรติดขัดก็นั่งโกรธอยู่ในรถ เพราะอะไร เพราะเขาเพาะเชื้อแห่งความโกรธบ่อยๆ เมื่อเพาะเชื้อแห่งความโกรธเราก็ได้ความโกรธบ่อยๆเราก็เป็นคนนิสัยไม่ดี ขี้โกรธ ใจร้อน ใจเร็ว หุนหันพลันแล่น ขาดสติ ขาดปัญญา เพราะเราไม่เพาะสติปัญญา แต่เราเพาะความโกรธเราได้ความโกรธ จริงหรือไม่ ครูลองไปพิจารณาว่าเราได้หรือไม่
แล้วดูตัวเราเองแต่ละคน นิสัยเป็นอย่างไร สันดานเป็นอย่างไร นิสัยเป็นอย่างใดนั้นมันเกิดจากการสะสมมาตั้งแต่ตัวเล็กๆจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเด็กๆนิสัยไม่ดี เป็นผู้ใหญ่มันต้องเลิกแล้ว แต่ทำไมไม่เลิก เพราะไม่เคยพิจารณาตัวเอง ไม่เคยมองดูตัวเองอย่างแท้จริง ดูเหมือนกันแต่ไปดูที่กระจก ทำพึบพับๆทุกวันทุกเวลา มันดูแต่เปลือกไม่ได้ดูเนื้อแท้ของตน ไม่ได้ดูว่าฉันเป็นคนอย่างไร นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ใจร้อนหรือใจเย็น เป็นคนทำอะไรอย่างมักง่าย ขาดระเบียบขาดวินัย เป็นคนเอาเปรียบคนอื่น เป็นคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ ทำอะไรก็มุ่งแต่อามิสลาภผลเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ นั่งพิจารณา ว่างๆไปนั่งพิจารณาตัวเองเสียบ้าง วันครูก็ไปนั่งพิจารณาได้ตอนบ่าย เสร็จนี่แล้วก็กลับบ้าน ไม่ต้องไปสอนโรงเรียน เมื่อวันนี้วันครู ฉันเป็นครูขนาดไหน เป็นครูที่แท้หรือเปล่า เป็นครูที่รักเด็กหรือเปล่า เป็นคนที่เสียสละรักหน้าที่รักการงาน มอบชีวิตจิตใจให้แก่ความเป็นครูขนาดไหน ไปนั่งดูเสียแล้วจะรู้ว่า เอ้อ เป็นขนาดไหน
อะไรที่เรามีอยู่สร้างขึ้นมาทั้งนั้น เราสร้างความโกรธก็ได้ความโกรธ สร้างความเกลียดก็ได้ความเกลียด สร้างความพยาบาทก็ได้ความพยาบาท ในทางตรงกันข้าม เราเป็นคนมีน้ำใจเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนร่วมงาน แก่คนทั่วไป มีอารมณ์ยิ้มแย้มแจ่มใส เห็นใครก็ยิ้มแสดงอารมณ์ดี อะไรใครไม่มีใครขาด เราก็แจกแบ่งให้ เอื้อเฟื้อ มีใจดีใจงาม หัดเป็นคนใจดีใจงาม …... (46.55 เสียงไม่ชัดเจน) หัดด้านดี มันก็ดี หัดด้านชั่วมันก็ชั่ว นี่! ผลที่เราจะได้รับ
เด็กนักเรียนเราให้เขาเป็นอย่างไรก็ได้ ปลูกให้เป็นอะไรก็ได้ เพราะมันเหมือนผ้าขาวที่เขามอบมาให้แก่ครูที่โรงเรียน แต่ว่าลำพังครู ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ผู้ปกครองต้องร่วมกันด้วย ผู้ปกครองนี้สำคัญนัก ตามลูกไปบ่อยๆ ไม่ไหวเจ้าค่ะลูกคนนี้สอนไม่ได้ อย่าไปโทษลูก แม่มันไม่ดี พ่อด้วย ลูกมันถึงไม่ดี ...... (47.30 เสียงไม่ชัดเจน) ค่อยพูดเรื่องลูกต่อไป อันนั้นต้องคุยกันว่ามันต้องสอน ต้องเตือน เราต้องทำตนเป็นตัวอย่างของลูก พ่อเป็นคนอย่างไร แม่เป็นคนอย่างไร เคยมองดูตัวเองหรือเปล่า พอลูกไม่ดีโทษแต่ลูกไม่ดี แล้วจะหาความรำคาญให้แก่พระ เอามาฝากวัดให้ช่วยอบรม พระอบรมอาบน้ำสะอาดแล้วกลับไปถึงบ้านสกปรก มันก็สกปรกอย่างเดิม พ่อแม่มันยังไม่ได้ปรับปรุงตัวเอง แล้วจะดีขึ้นได้อย่างไร
อันนี้เราเป็นครูนี้จะทำอย่างไร ให้ผู้ปกครองมาร่วมมือกับครู เห็นญาติผู้ปกครองหลวงพ่อไปเทศน์ตามโรงเรียนบ่อยๆในจดหมายบอกนิมนต์ไปเทศน์กับผู้ปกครองนักเรียน นักเรียนสองพัน ผู้ปกครองมายี่สิบคนเท่านั้นเอง มายี่สิบ คนหลวงพ่อบอก แหม โยม เกิดลูกมากจริงๆ ยี่สิบคนเกิดลูกมาตั้งสองพัน พูดแซวเขาหน่อย มีลูกตั้งสองพันคน ไม่ค่อยสนใจ สนใจแต่วันเอาลูกไปฝากเข้าเรียน ปล่อยนั่งเฝ้าอย่างนั้นแหละ อาจารย์ใหญ่มาเมื่อไหร่จะเข้าชิด แต่พอฝากได้แล้วหายเลย หายหัวไปเลย ไม่สนใจว่าลูกจะเรียนอย่างไร เป็นอย่างไร ไม่ชอบไปโรงเรียน กลัวครูจะเรี่ยไร จะขอนั่นขอนี่ ความจริงผู้ปกครองก็ต้องรู้ว่าไอ้ที่ขอน่ะเอาไปไหน เอาไปให้ลูก เอาไปสร้างอะไรก็เพื่อลูก ทำอะไรก็เพื่อลูกตัวเองทั้งนั้นล่ะ แต่เขาไม่เข้าใจเพราะเขาไม่เคยได้ฟังสิ่งที่ควรฟังอย่างนั้น เวลาไปเทศน์กับผู้ปกครองอึดอัดทุกที ไม่ค่อยมา เรื่องมันเป็นอย่างนั้นมันต้องเทศน์ทางวิทยุ แต่ว่าก็ไม่ได้ฟังทุกคนอีกนั่นล่ะ บางคนก็ฟังบางคนก็ไม่ได้ฟัง มันต้องหาโอกาสทำอย่างใดให้ผู้ปกครองมาให้ได้
แต่มีอยู่คราวหนึ่งชื่นใจเหลือเกิน ที่จังหวัดแพร่ โรงเรียนผู้หญิง สตรีแพร่ (49.28 สามารถรวบคำของหลวงพ่อเป็น “โรงเรียนสตรีแพร่”) นั่นแหละ เขานิมนต์ว่าให้ไปเทศน์กับผู้ปกครอง นักเรียน ครู เต็มไปหมดเลย ล้นหอประชุมออกไปข้างนอก เปิดเครื่องขยายเสียงไปถึงสนาม หลวงพ่อบอกว่าตั้งแต่เทศน์มา เทศน์กับผู้ปกครอง มีวันนี้ล่ะ ที่ผู้ปกครองมามากสมบูรณ์เหลือเกินจริงๆ ขอขอบใจชาวเมืองแพร่ เมืองแพร่มีชื่อเสียงทางเกะกะ แต่วันนี้ไอ้ชื่อเสียงนั่นหายไปเลยเพราะผู้ปกครองโรงเรียนนี้แก้ภาพพจน์ของเมืองแพร่หมด มาประชุมกันอย่างพร้อมเพียง เลยพูดได้เต็มปากเต็มคำ มีอะไรที่ควรบอกก็บอกได้เต็มที่
นี่อยากจะขอฝากคุณครูไว้ ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองมาโรงเรียนบ้าง ได้สนใจในเรื่องลูกของตัวบ้าง จะใช้วิธีมนุษยสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์อย่างไร ให้หาวิธีทำให้ได้ ถ้าผู้ปกครองมาร่วมมือกับครู เด็กจะดีขึ้น แล้วครูก็มีเวลาว่างไปเยี่ยมผู้ปกครองบ้าง เดือนละ เก้าเรือน สิบเรือน สิบบ้าน ไปเดินไปเยี่ยมเยีอน วันไหนวันหยุดงานก็ไปเยี่ยมผู้ปกครอง ให้เด็กได้เห็นว่าครูมาเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยให้เด็กดีขึ้นเหมือนกัน การไปเยี่ยมเยียน เพราะเด็กมันเห็นพ่อกับแม่กับพบครูบ่อยๆ เราจะเหลวไหลที่บ้านก็ไม่ได้ เหลวไหลที่โรงเรียนก็ไม่ได้ เดี๋ยวครูมาคุยกับพ่อแม่ เดี๋ยวพ่อแม่ไปคุยกับครู เด็กมันก็ดีขึ้น อันนี้ต้องช่วยกันหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ปกครองได้เข้ามาพบกับครู แล้วก็เด็กด้วย หาวิธีการอย่างนี้ เราช่วยกันทำช่วยกันสร้างสิ่งดีสิ่งงามให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ในตำบลที่เราไปอยู่อาศัย ให้คนดีขึ้น สร้างสิ่งดีสิ่งงามขึ้น
แล้วตัวเราเองก็มีความกลัวต่อสิ่งชั่วร้ายดังที่กล่าว ถ้ากลัวแล้วมันก็ป้องกันได้หมด กลัวเช่นเราจะไปเที่ยวผับกลัวติดโรค ไปดื่มเหล้ากลัวเมาเสียสติ เกิดโรค เกิดการทะเลาะวิวาทไม่ดี ครูเรานี่ไม่ควรจะมีอบายมุข ไม่มีการพนันในโลกของครู ไม่มีสิ่งเสพติดในโลกของครู …... (51.46 เสียงไม่ชัดเจน) และไม่มีการสุรุ่ยสุร่ายในโลกของครูด้วย
อยากจะกล่าวว่าครูเราแต่งตัวเรียบๆ แต่งตัวง่ายๆ อย่าไปแต่งตัวแบบพวกพาร์ทเนอร์ทั้งหลายเลย แต่งตัวเรียบๆร้อยๆนุ่งกระโปรงลึกๆหน่อย ไม่รู้จะไปอวดแข้งอวดขากับนักเรียนที่ไหน บางทีกระโปรงชักจะสั้นไปสักหน่อย แล้วมีอะไรตุ่งติ่งๆที่หูนะ ดูแล้วมันน่ารำคาญ ครูไม่ต้องแต่งแล้ว ไม่ต้องยั่วใครแล้ว เรียบๆง่ายๆเป็นการประหยัดไปในตัว ไม่สุรุ่ยสุร่าย แล้วถ้าแต่งเครื่องแบบยิ่งดีใหญ่ สีเดียวสีกากีน่ะ มีสองชุดก็พอแล้ว แต่ถ้าแต่งหลายสี วันนี้ วันจันทร์สีนวลขาว วันอังคารสีนั้น แหม ห้าสีเลย มันเปลืองสตางค์ แล้วเงินเดือนจะไม่พอใช้ พูดอย่างงี้ คุณครูสุภาพสตรีบอก แหม หลวงพ่อ …... (52.40 เสียงไม่ชัดเจน) ผู้หญิงจริงๆ ไม่ได้มีอะไร แต่อยากจะพูดสะกิดหน่อยว่ามันประหยัดหน่อย ไปเรื่องแต่งตัวนี่มันแพงนะ เราแต่งหลายสีน่ะมันแพง สีเดียวมันก็ไม่แพงไง
เหมือนกับพระนี่มันสีเดียวไม่แพง ได้สักผืนแล้วก็ห่มสองปียังไม่ขาดสักที แต่ว่าโยมก็คอยชดเชยให้อยู่เรื่อย เอามาให้เรื่อยเลย ก็ต้องบอกอย่าเพิ่งมาให้มากๆ ฉันไม่มีเมื่อไหร่ฉันจะบอก บางทีก็พูดมากเกินไป โยมเวลาจะทำอะไรให้มาถามก่อน ถามว่าทางวัดต้องการอะไร จะได้ทำสิ่งที่วัดต้องการ พระต้องการ ไม่เปลืองสตางค์ สอนเขาอย่างนั้น
ตอนนั้นโยมจะทำอะไรมักจะมาถามต้องการอะไรมั่ง ตอบว่าเวลานี้ยังไม่ต้องการอะไร มันยังสมบูรณ์กันอยู่ แต่ว่ามันยังขาดเงินสร้างตึกโรงพยาบาล โยมเอามาช่วยสร้างตึกพยาบาลแปดสิบปีดีกว่า ก็เปลี่ยนญัตติไป แทนจะซื้อของเราก็เปลี่ยนเป็นถวายสังฆทาน บอกโยมไม่ต้องซื้อไอ้ถังพลาสติกใส่ของรุงรังมา เอาเงินมาถวายสังฆทานเอามาสร้างตึกพยาบาลดีกว่า ก็เปลี่ยนญัตติไป คนก็รู้เขาก็ทำเหมือนกัน ทำตามแบบที่ว่า จะมาถวายสังฆทานไม่มีอะไร ก็หลวงพ่อสั่งว่าไม่ต้องมีอะไร เอาปัจจัยมาให้ก็ดีแล้ว เข้าบัญชีโรงพยาบาลมันก็สะดวกสบาย เราแก้ไขเขาให้มันดีขึ้น ให้ถูกต้องขึ้น
ครูต้องประหยัดไม่สุรุ่ยสุร่าย ถ้าสุรุ่ยสุร่ายเงินเดือนไม่พอใช้ พอเงินเดือนไม่พอใช้อารมณ์เสีย อารมณ์เสียจะสอนเด็กได้อย่างไร ครูต้องมีอารมณ์สดชื่น เข้าไปในชั้นเด็กจะได้สดชื่น ลูกศิษย์จะได้สบายใจ ถ้าครูหน้านิ่งคิ้วขมวด ลูกศิษย์ก็กลัว ตกใจ
เจอกับอาตมาเองเมื่อเด็กๆ ไปเรียนหนังสือชั้น ป.3 ครูดุ ครูยังอยู่ ยังเคารพครูคนนี้ยังไม่ตาย แล้วก็ชื่นชม แกเคยชมอาตมา แหม ตอนเด็กยังซุกซุน โตขึ้นเรียบร้อย ยังมาพูดกันอยู่ ครูนี่ชอบตี พอเลขกระดานเขียนเสร็จ เอ้า จำดีๆ ใครจำผิดตีมือสองที เรามันเสียวซะแล้ว ก็ว่าตีมือสองที ไม้บรรทัดมันใหญ่เสียด้วย ฟาดโดนมือมือแดงเลย ไม่ไหว หนีเลย หนีไปเจ็ดวัน ก็มาโรงเรียนทุกวันนะ แต่ไม่ถึงโรงเรียน เที่ยวหลบตามมุมนั้น มุมนี้ ตามป่าละเมาะตอนเย็นก็กลับบ้าน ก็เจ็ดวัน รู้เรื่อง คุณพ่อคุณแม่รู้เรื่อง เลยก็ต้องไปโรงเรียน ไปถึงคุณครูถามเลยว่าทำไมถึงหนีโรงเรียน ก็บอกตรงๆว่า ผมกลัวครู ฉันไม่ใช่เสือ ไม่ใช่เสือแต่ตีมือสองทีทุกที ทำผิดตีมือ ทำเลขมันก็ต้องผิดบ้าง ไม่ผิดได้หรือ ตีมือ ต่อไปนี้ไม่ตีมือเสียแล้ว ตั้งใจเรียนนะ แล้วก็เรียนดีจนสอบไล่ได้ ไปเรื่อยไปโดยลำดับความสามารถที่จะเรียนได้
นี่เป็นปัญหาเป็นบทเรียนว่าดุนี้ไม่ดี ต้องสอน ต้องเตือน ครูเราพออารมณ์เสียก็ดุเด็ก ตีผิดตีถูกจนปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆว่าตีลูกเขารุนแรง ไอ้ตีรุนแรงนั่นไม่ได้ตีด้วยใจของครู แต่ตีด้วยโมหะ ด้วยโทสะ ด้วยอารมณ์เสีย อารมณ์เสียทำอะไรมันก็เสีย เพราะว่าเราไม่บังคับตัวเอง ไม่ควบคุมตัวเองจึงเกิดความเสียหาย อารมณ์เสีย จึงไม่ควรมีสิ่งชั่วร้ายในจิตใจของเรา เรามันต้องช่วยกัน เรียกว่าอะไร “บอยคอต” สิ่งชั่วร้าย
เราครูนี้ไม่ต้องเข้าไปแตะต้อง ไม่ดื่มสุราเมรัย ไอ้ศีลข้อที่ห้านี่อยากจะย้ำนิดหน่อย มีสามคำนะโยม สุรา คำนึง เมรัยคำนึง มัชชะคำนึง แปลไม่หมดพระนี่แปลไม่หมด สุราคือของเมาที่ต้มกลั่นแล้ว เหล้าก็ใช้การกลั่น เมรัยคือของที่ไม่ต้มกลั่นของหมักของดองไม่บูดไม่เน่า แล้วเอามากินกันหัวทิ่มบ่อ แล้วมัชชะคือของเสพติด บุหรี่นี่ก็เป็นมัชชะนะ ครูนี่อย่าสูบบุหรี่ สูบบุหรี่หลายคน บางทีมาถึงถือบุหรี่มาเมื่อไรจะเลิกเสียที เลิกเสียบ้างสิ อยากแนะว่าให้คิดสี่ข้อ สูบทำไม สูบเพื่ออะไร สูบแล้วมันจะได้อะไร ธรรมชาติร่างกายต้องการควันบุหรี่ไปรมปอดให้เป็นมะเร็งตายไวๆหรือไม่ ไปคิดดูก็แล้วกัน เตือนให้เลิก เราเป็นครูไม่ควรสูบบุหรี่ ไม่ควร ของเสพติดไม่มี สิ่งเสพติดคือมัชชะ ต้องงดเว้น ครูก็ต้องงดเว้น
เราไปทำบุญกับพระ อย่าถวายบุหรี่แก่พระ อย่าถวายหมากแก่พระ เวลามีพิธีรีตองอย่าจัดหมากพลูบุหรี่ถวาย เพราะเป็นของเสพติดให้โทษ พระฉันเข้าไปแล้วก็ติด เป็นพระขี้ยาไปตามๆกัน ชาวบ้านส่งเสริมหน่อย ช่วยไม่ให้พระเป็นพระขี้ยา ให้งดเว้น พระหลายองค์เป็นพระขี้ยา อาตมาเจอทีไรก็กราบขอไป เลิก ไม่ได้เลิกเสียที อย่าพูดเรื่องนั้นเลย มาพูดเรื่องอื่น ไม่ยอมเลิกเสียที แล้วเราจะสอนชาวบ้านให้เลิกได้อย่างไร ถ้าเราไม่ยอมเลิก มันต้องเลิก และชาวบ้านก็ต้องไม่ถวายสิ่งเหล่านั้นกับพระต่อไปจึงจะเป็นการใช้ได้
อันนี้ธรรมะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดนำมาปฏิบัติก็เกิดประโยชน์แก่ผู้นั้น เป็นสันทิฏฐิโก รู้ได้ด้วยตัวเอง ว่าสภาพจิตเราเป็นอย่างไร การงานเราเป็นอย่างไร ความสุขในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่รู้ได้เอง ไม่ต้องบอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ทดสอบก็แล้วกัน ทดสอบเป็นคนประพฤติธรรมขึ้นมา ไม่ว่าในแง่ใด ท่านจะมีความสุขมีความสบาย ในวันครูวันนี้ อาตมาภาพรู้สึกสบายใจในโอกาสที่ได้มาพูดกับคุณครูทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่ในกรุงเทพฯ แต่ครูได้ฟัง ได้เปิดฟังกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ว่าถ้าได้เปิดฟังก็ขอขอบใจที่ท่านทั้งหลายได้เอียงหูเข้ามาฟังเสียงพระธรรม ที่พระนำมาแสดง อย่าเพียงสักแต่ว่าฟังแล้วพ้นไป ต้องเอาไปคิดไปตรองดู เอาธรรมะมาเป็นกระจก ส่องดูตัวเราว่าเรามีข้อบกพร่องอะไรไม่ดีผิดตรงไหน ควรจะปรับปรุงแก้ไขชีวิตของคนต้องพัฒนาทุกวินาทีของชีวิต ถ้าไม่พัฒนาจะล้าหลังไปทันที ต้องอยู่ด้วยการพัฒนา ปรับปรุงให้ดีขึ้น
ขอให้คุณครูทั้งหลายที่มีน้ำใจดีใจงาม มีความเสียสละ หาความสุขทางการสอนเด็ก ช่วยเหลือเด็กให้มีปัญญา ฉลาด เป็นประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองต่อไป ครูเรานี่แหละคือมือที่สร้างโลก อันมือไกวเปลไซร้แต่ไรมาคือหัตถาครองพิภพจบสากล นั่นครูก็เหมือนกัน คุณแม่ก็เป็นครู คุณพ่อก็เป็นครู เราเป็นครู ก็เป็นมือสำคัญที่จะปั้นคนให้เป็นนายก ปั้นคนให้เป็นอะไรๆ ใครที่ดีๆงามๆมาจากครูทั้งนั้น แล้วใครเป็นคน ก็เราทั้งหลายเป็นคนที่ปั้นโลก ปั้นสภาพการทั้งหลายให้เกิดขึ้นในสังคมโลกนี้ เราทุกคนควรอิ่มใจในงานที่เราได้ทำอยู่ และอย่าวิ่งหนีงานไป อย่าไหลไปทางอื่น เขาเรียกสมองไหลสมัยนี้ อย่าไหลไปทางอื่น ฉันอยู่กับเด็กนี่แหละ เกิดมาชาตินี้มีหน้าที่สอนเด็ก หลวงพ่อเกิดมาชาตินี้มีหน้าที่สอนคนก็สอนคนจนหมดลมหายใจ ก็จะทำหน้าที่นี้ต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลงไม่ไปไหน ทำงานนี้ตลอดไป ไม่ต้องคิดว่าจะมีอะไร จะได้อะไร ทำแล้วก็สบายใจ ท่านเป็นครูแล้วก็สบายใจ สอนไปชั่วโมงหนึ่งสบายใจ สอนไปวันหนึ่งก็สบายใจ สิ้นเดือนก็สบายใจ เงินเดือนออกเล็กน้อย มาตามหน้าที่ ใช้ให้เป็น ประหยัดไว้หน่อย อย่าฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า รู้จักเก็บรู้จักใช้ รู้จักทำให้เจริญงอกงามในทางที่ถูกที่ชอบ สิ่งทั้งหลายก็จะเรียบร้อย
เวลามันจะหมดแล้ว จึงสมควรแก่กาลเวลา ในที่สุดนี้ อาตมาให้พรก็ไม่เหมือนของใคร ขออวยพรให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ที่เจริญงอกงามในธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยทั่วกัน ทุกท่าน ทุกคนเทอญ