แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านที่มีโอกาสมาวัดได้ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เอ้า! วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของปีใหม่ วันอาทิตย์ที่ ๗ นี่เป็นอาทิตย์แรกของปี เราทั้งหลายได้มีชีวิตผ่านพ้นอุปสรรคนานาประการ มีชีวิตมาได้ครบรอบอีกรอบหนึ่ง รอบปี รอบเดือน ครบรอบตรงไหนก็ได้เพราะมันเป็นมงคลหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามจักรราศี การมีชีวิตอยู่นั้นเป็นเรื่องพอใจ การเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่พอใจ การตายก็ไม่พอใจ แต่ว่าพอใจหรือไม่พอใจร่างกายมันก็เป็นอย่างนั้น มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่หมุนเวียนไปอยู่ตลอดเวลา เราจะทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ตามพอใจมันก็ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในอำนาจของใคร ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามวัฏจักรคือการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เราจึงควรจะทำใจให้รู้ทันรู้เท่าของสิ่งเหล่านั้น ไม่ยินดีไม่ยินร้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ธรรมดามันเป็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้ใจก็สบาย ไม่มีปัญหา
วันนี้ก็ใกล้ที่จะพูดถึงสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องควรคิดควรนึกเหมือนกัน ญาติโยมเคยไปสวนโมกข์เคยสังเกตหรือเปล่า ถ้าไม่สังเกตก็ไม่เห็น โดยมากไม่ค่อยได้สังเกตว่ามีอะไรบ้าง เข้าไปในโรงมหรสพทางวิญญาณก็มีภาพเตือนใจทั้งนั้น แต่คนดูไม่ค่อยจะดูเพื่อการศึกษา มักจะดูผาดๆไป และอธิบายไปให้ฟังก็ไม่ค่อยสนใจ เพียงดูผาดๆไป ความจริงเขาสร้างสิ่งนั้นไว้เพื่อการศึกษาให้คนได้ไปศึกษาธรรมะจากภาพ ภาพที่เขาเขียนไว้เป็นภาพเตือนใจทั้งนั้น ที่หอประชุมนี้ก็มีภาพด้านหลังโยมมาก็เห็น แต่ว่าไม่เคยดูว่ามีความหมายอย่างไร ถ้าเราดูก็เป็นภาพไปตั้งแต่ภาพแรกเรื่อยไปตามลำดับ เป็นภาพธรรมะทั้งนั้น คนโบราณเขาสอนธรรมะด้วยภาพ เพราะว่าหนังสือมันไม่แพร่หลาย เลยเขียนภาพเป็นเครื่องตือนใจให้คนคิด ภาพในโรงมหรสพทางวิญญาณที่ไชยาเขามุ่งอย่างนั้น คนที่จะไปศึกษาต้องไปพักวันสองวัน ค่อยๆดูไป พวกทัศนาจรน่ะไม่ค่อยได้เรื่องอะไร เพราะพวกทัวร์นี่เขาประกาศว่าแวะสวนโมกข์ แวะไปขี้เยี่ยวใส่วัด พอไปถึงตอนเช้าพอดี ก็พอลงก็วิ่งให้ว่อนเที่ยวหาส้วมหาห้องน้ำ พอสมควรเวลาสักสิบนาที ก็เจ้าของทัวร์ก็พูดว่า เชิญขึ้นรถ เชิญขึ้นรถ ไปแล้ว เวลาไปเยี่ยม แต่ละคน ก็ยิ้มๆ แล้วพูดว่า มันมาขี้เยี่ยวใส่วัดแล้วไปแล้ว ไอ้พวกนี้ไม่ได้เรื่องอะไร คือได้ไปสวนโมกข์แต่ไม่เห็นสวนโมกข์ ไม่เห็นสวนโมกข์ ไปแล้วไม่เห็นมันก็ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้เห็นสิ่งที่ดีงามอันอยู่ในบริเวณนั้น คือไม่ได้ไปเพื่อการศึกษา ไปเที่ยว เดินดูทั่ววัด ก็ได้เท่านั้น ได้ดูวัด ได้ดูต้นไม้ แต่ไม่รู้ว่าต้นไม้อะไร มันมีความหมายอะไรก็ไม่รู้ เข้าไปในโรงมหรสพก็ไม่ได้ดูว่ามันมีอะไรบ้าง ภาพต่างๆเป็นภาพเตือนใจทั้งนั้น เช่น ภาพใหญ่ภาพแรกตรงประตูเข้าด้านซ้ายมือเข้า มีพระยืนอยู่องค์หนึ่ง แล้วก็มีคนนั่งไหว้อยู่ข้างหลังคนหนึ่ง คนที่นั่งข้างหน้าเอามือปิดหูไว้อีกคนหนึ่ง เขาเขียนใต้ภาพว่า:
“คนทุก วันนี้ ดีแต่ไหว้ พอบอกให้ ประพฤติธรรม มือกำหู”
หมายความว่าอย่างไร มันเตือนให้คนทุกวันนี้ดีแต่ไหว้ ดีแต่ไหว้ ไหว้เพื่ออะไร เพื่อขอร้อง วิงวอน บนบานศาลกล่าว ไปไหว้พระพุทธรูปก็ไปวิงวอนขอร้อง ไปติดสินบน ถ้าสำเร็จคราวนี้จะเอาเป็ดย่างมาถวาย หมูย่างมาถวาย เอาโขนมารำให้ดู เอาลูกประทัดมาจุดให้หนวกหูกันไปทั้งบริเวณ เขาเรียกว่าไหว้วอน ไหว้วอน ไม่ได้ดูเพื่อศึกษาธรรมะ ไปหาพระก็ไม่ศึกษาธรรมะ พอพระพูดธรรมะไปแล้ว ไปแล้วไม่ฟังแล้ว เอามือปิดหัวหมายความว่าไม่รับฟังธรรมะ แล้วมันจะดีขึ้นได้อย่างไร สว่างขึ้นได้อย่างไร ภาพเหล่านั้นเป็นภาพเตือนใจ ภาพสำหรับผู้ใหญ่ ภาพสำหรับเด็กๆ ภาพเด็กๆนี่เป็นเขียนภาพติดข้างเสา ภาพเด็กน่ะ สุนัขจิ้งจอกไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ไปเที่ยว แต่อ่านหนังสือตลอดเวลา ไอ้หมาตัวอื่นพวกหมาป่าหมาอะไรไปเที่ยวสนุกสนาน แต่หมาจิ้งจอกนั้นอ่านหนังสือ ก็สอนเด็กว่าเด็กดีนั้นเหมือนสุนัขจิ้งจอกอ่าหนังสือ เด็กไม่ดีคือเด็กไปเที่ยวซุกซนเหลวไหล สอนเด็กมีหลายภาพ ต้องดูละเอียดในบริเวณ ต้องดูช้าๆ บางครั้งท่าก็อธิบายอัดเทปเปิดให้ฟังก็ดูไป ได้เรื่องได้ราว มีประโยชน์ เวลาเขาแสดงนิทรรศการในต่างประเทศเขาอัดเทปไว้เลย แจกเลย พอเข้าไปก็แจกเทป เอาหูใส่ ก็เดินไปเทปก็พูดไปนี่อะไรๆ เดินไปช้าๆ รู้เรื่องหมดตลอด เขาทำให้คนศึกษา สร้างโรงมรสพทางวิญญาณก็เพื่อการศึกษา แต่คนไม่ค่อยได้ไปศึกษา ไปดู ดูแล้วว่าก็ เฮ้อ ภาพอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด ไม่ได้เรื่องเลย เรียกว่าดูไม่เป็น
รอบฝาด้านนอกเป็นภาพหินสลัก หินสลักเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ตำนานของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ยุคไม่มีรูปภาพ ไม่มีพระพุทธรูป เป็นมาอย่างไร เป็นตอน เป็นตอน เป็นตอน ไม่ใช่เรื่องเล็ก ที่ทำนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ท่านเจ้าคุณท่านไปอินเดียตั้งสามเดือน ไปเพื่อศึกษาค้นคว้าจริงๆไม่ใช่ไปเที่ยว ไปที่ไหนก็พักนานๆ แล้วก็ถือกล้องติดมือไปคอยถ่าย ภาพมุมสูงๆก็มีกล้อง เครื่องมือ เขาเรียกว่าเทเล ยาวตั้งฟุตหนึ่ง ดึงภาพลงมาได้ เอามา ขยายภาพ เขียนลงมา ทำลงไปในดินเหนียว แล้วหล่อเป็นแม่พิมพ์ปูนซีเมนต์ แล้วอัดเป็นรูปสวย เอามาติดไว้ข้างฝาผนัง ให้คนได้อ่าน มันต้องดูภาพนอก ที่ด้านขวาก่อน เสร็จแล้วเข้าไปข้างในดูภาพต่อไป ใช้เวลาประมาณสักสามชั่วโมง เรียนอะไรได้เยอะจากสิ่งเหล่านั้น
นี้ถ้าหากว่าพอเดินเข้าไปแหงนดูสูงๆ ที่ฝาข้างบนนั้นมีภาพทำด้วยกระเบื้องโมเสค เป็นภาพแบบอียิปต์เพราะว่าทำง่าย ถ้าทำแบบรูปแบบลวดลายไทยนี่กระเบื้องมันประดับไม่ได้มันไม่มีคดๆงอๆ ทำเป็นภาพแบบอียิปต์ คือคนนั่งอยู่ แล้วก็มีภาชนะนั้นมีดวงตาใส่ไว้เต็ม แจกดวงตา แล้วมีภาพคนวิ่งหนี วิ่งหนีกันไปจ้าละหวั่นเลย มารับแจกดวงตาสักคนสองคน นอกนั้นวิ่งหนีหมด ก็เป็นเครื่องแสดงว่า งานเผยแผ่ธรรมะส่วนลึกกับประชาชนนั้น มีคนรับได้เพียงไม่กี่คน นอกนั้นวิ่งหนีเตลิดเปิดเปิงไปหมด ไม่รับดวงตาคือแสงสว่างทางธรรมะ พากันวิ่งหนีกระเจิงไปหมด เป็นภาพแสดงอย่างนั้น ให้คนได้เห็นได้พิจารณา แต่คนดูแล้วก็ไม่ได้คิดไม่รู้ว่ามันมีความหมายว่าอย่างไรในภาพนั้น ก็เลยเดินผ่านไปไม่ได้ดูให้ลึกซึ้งให้ละเอียด
แล้วก็มีเรือ เรือนั้นมันเป็นเรือใส่น้ำฝน เป็นเรือบนบกแต่มีน้ำฝนเต็มเรือ แต่ปากเรือนั้นมีเป็นลานกว้าง ดาดฟ้า ดาดฟ้านั้นมีสวนหินแบบญี่ปุ่น วัดเซ็นในญี่ปุ่นนี่เขามีสวนหิน สวนหินนั้นเป็นธรรมะ เป็นเครื่องแสดงให้คนศึกษาเพ่งพิจารณา ใช้ปัญญา ไม่ใช่ดูเฉยๆ “เฮ้อ หินเอามากองไว้ทำไม” คนก็บ่นเหมือนกัน “เฮ้อ วัดนี้ก็แปลก เอาหินมากองๆไว้บนดาดฟ้าเรือ เอามากองไว้ทำอะไรก็ไม่รู้” ไม่รู้เรื่อง ความจริงสวนหินเหล่านั้นมีความหมายเป็นธรรมะ ให้คนได้พิจารณา วางหินทีละก้อน มีอะไรๆเป็นเรื่องๆไป ต้องดูด้วยปัญญา ดูด้วยการทำสมาธิ และก็ต้องคิด คิดให้เกิดปัญญา ถ้าเห็นภาพหินนั้นเป็นภาพธรรมะเมื่อใดได้ประโยชน์เมื่อนั้น เพราะว่ารู้ธรรมะจากสวนหิน แล้วเขียนไว้ว่าห้ามแตะต้อง ห้ามรื้อ ห้ามทำอะไร วางไว้อย่างนั้น เรียงไว้ ไปหาหินไม่ใช่ง่ายๆนะ ไปหาไกลๆ เอารถไปบรรทุกมาจากที่ต่างๆ หินหลายสีหลายแบบ เอามาแล้วก็ต้องประดับวางกว่าจะเสร็จนะ วางหินให้มันเป็นรูปอะไรนี่หลายเดือนเหมือนกัน ค่อยค่อยวาง วางไว้แล้วก็เรียบร้อย สวนหิน วัดญี่ปุ่นวัดเซ็นมีสวนหินทั้งนั้น ในอเมริกา คนญี่ปุ่นไปอยู่ ไปสร้างสวนญี่ปุ่นไว้ ในสวนญี่ปุ่นก็ต้องมีสวนหินด้วยเหมือนกัน วางไว้เพื่อให้คนไปศึกษา พวกเซ็นเขาสอนคนให้ศึกษาด้วยการคิดค้น เช่นลูกศิษย์ไปหาอาจารย์เรียนธรรมะ อาจารย์ก็บอก “ไป! ไปนั่งอยู่ใต้ต้นสนเคราโน่น ไปฟังดูซิ สนมันพูดธรรมะว่าอย่างไรบ้าง?” ไปนั่ง ตลอดวัน ตอนเย็นก็บอกว่า “ว่าไง” “ไม่เห็นพูดว่าไง” บอก “พรุ่งนี้มาใหม่” ไล่ให้ไปนั่งฟัง จนได้ธรรมะมาจากการนั่งใต้ต้นสน ก็ว่า “เอ้อ ใช้ได้ วันหลังก็มาอีก” ให้ไปนั่งคิดนั่งค้น นั่งใต้ต้นไม้ นั่งคิดนั่งค้น
นี่ญาติโยมนั่งอยู่ในบริเวณลานไผ่ เห็นอะไรบ้าง เห็นใบไม้ที่มันร่วงกองอยู่เต็มไปหมด หลวงพ่อสั่งว่าอย่ากวาด ใบไม้เหล่านี้อย่ากวาด กวาดแล้วฝุ่นมันฟุ้ง แต่ให้ไว้อย่างนั้นแหละ ไว้ให้คนดู ญาติโยมดู นั่งแล้วก็ดูเห็นใบไม้ เหยียบใบไม้แห้ง คิดอะไรบ้าง เหยียบครูอยู่แล้วไม่เอาครูมาเป็นเครื่องเตือนใจก็ไม่ได้อะไร ใบไม้แห้งนั้นเป็นครูเป็นเครื่องเตือนใจ ถ้าใบไม้แห้งพูดได้ก็คงได้ยิน อันนี้ใครบ้างได้ยินเสียงใบไม้แห้งพูดแล้วก็มามาบอกด้วยว่าพูดว่าอย่างไร ใบไม้แห้งอาจจะบอกว่า “เออ ดูฉันบ้างเถิด เมื่อก่อนนี้ฉันเป็นใบเล็กๆผลิออกมา แล้วก็เป็นใบอ่อน แล้วก็เป็นใบเพสลาด แล้วเป็นใบแก่ แล้วเป็นใบเหี่ยวแห้ง แล้วฉันก็ร่วงลงมากองอยู่นี่แหละ ให้ท่านเหยียบย่ำไปมา แต่ท่านเหยียบฉันเฉยๆมันก็ไม่ได้เรื่องอะไรหรอก แต่ถ้าท่านเหยียบแล้วก็คิด ท่านจะได้ปัญญาจากใบไม้แห้งทั้งหลาย” ใบไม้แห้งมันก็ให้ปัญญา ถ้าเราคิดเป็นมันก็เกิดปัญญา ได้ความรู้ได้ความเข้าใจจากสิ่งที่เราได้ประสบพบเห็น ไม่ว่าไปที่ไหนต้องคิดต้องพิจารณาสิ่งต่างๆเพื่อมาเป็นเครื่องเตือนใจ นั่งรถไปบนถนนก็มีสิ่งเตือนใจ อยู่ในบ้านก็มีสิ่งเตือนใจเยอะแยะหลายเรื่องหลายอย่าง เราเอามาพิจารณาได้ทั้งนั้น คิดด้วยปัญญาเกิดปัญญา ถ้าคิดด้วยความโง่ก็ได้ความโง่เหมือนกัน ทีนี้ถ้าเราคิดอะไรก็คิดด้วยปัญญามองให้เห็น ดูต้นไม้มันก็มีใบไม้เขียวก็มี ใบไม้เหลืองก็มี ผลัดลงมากองอยู่กับพื้นแล้วก็มี มันก็เป็นบทเรียนสอนใจให้เกิดความคิดความอ่าน ไปเที่ยวตามที่ต่างๆต้องคิดอย่างนั้น ดูให้เกิดปัญญา ให้ได้ธรรมะ ได้ธรรมะก็เรียกว่าได้ดวงตาเห็นธรรม ดวงตาน้อยๆเห็นธรรมน้อยๆ ดวงตาใหญ่ๆก็เห็นธรรมใหญ่ๆ ปัญญาค่อยเกิดมากขึ้นเพราะสิ่งเหล่านั้น เราเอามาเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ
สมัยเป็นเด็กเรียนหนังสือแบบเรียนเล่มหนึ่ง ปู่กับหลาน ปู่เรียกหลานมาดูที่กำแพงแล้วบอกว่า นี่เห็นไหม ตะไคร่น้ำที่จับที่กำแพง บอกว่าเมื่อก่อนมันนิดๆ แล้วมันค่อยโตขึ้น โตขึ้น โตขึ้น แล้วมันก็ทำลายกำแพงได้เหมือนกัน ความชั่วที่เกิดในใจของหลาน มันเกิดน้อยๆ แล้วค่อยมากขึ้น มากขึ้น ทำลายหลานให้เสียหายเหมือนกัน ก็สอนธรรมะให้ได้ความรู้ได้ได้ความเข้าใจจากสิ่งที่ได้ประสบพบเห็น ในสมัยนี้การเรียนจึงต้องใช้ภาพประกอบ ให้เด็กได้ดูด้วยตา เขาเรียกว่าเรียนด้วยประสาทห้า ให้ได้สัมผัส ตาดู หูได้ยิน มือจับต้อง รู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็เกิดปัญญาเกิดความรู้ความเข้าใจ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนแบบนั้นเหมือนกัน สอนบางทีก็สอนยกตัวอย่างให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจ มีอยู่หลายเรื่องหลายขั้นหลายตอน ภาพต่างๆเขาทำไว้เพื่ออย่างนั้น
แล้วก็มีอยู่สิ่งหนึ่งที่คนมองแล้วไม่รู้ว่าอะไร อาตมาก็เคยถามท่านเหมือนกัน ตั้งแต่ซุ้มประตู เดี๋ยวนี้ทำซุ้มประตูใหม่ ทำซุ้มประตูข้างหน้ามีช่องสองช่องเข้าออก แล้วก็มีภาพสลักหินเอามาติดไว้สวยงาม แล้วบนซุ้มนั้นมีเสาห้าต้น เรียงกันห้าต้น ตรงกลาง แล้วก็ลดหลั่นลงไป ลดหลั่นลงไป ห้าต้น ที่หอธรรมโฆษณ์อนุสรณ์ ก็คล้ายพิพิธภัณฑ์ เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บเรื่องเก็บวัตถุ ด้านหนึ่งนั้นเก็บเครื่องประกอบการเผยแผ่ธรรมะ เทปเก่าๆ เครื่องมือเครื่องใช้ ที่ใช้มานานๆเก็บไว้ที่นั่นทั้งหมด ด้านหนึ่งเป็นหนังสือที่พิมพ์แล้ว พิมพ์เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ต้นฉบับ ธรรมโฆษณ์กี่เล่มเอาไปวางไว้หมด แล้วตรงกลางก็มีเป็นบ่อ ยังไม่มีอะไรในบ่อนั้น แต่ว่าต่อไปจะมีอะไรขึ้น แล้วข้างบนก็วางพระพุทธรูปไว้ แล้วก็มีภาพโมเดิร์น ภาพสวนโมกข์ทั้งหมด มีอะไรอยู่ตรงไหนเอามาวางไว้ให้คนดู แต่บนหลังคานั้นมีเสาห้าต้น นี่ไว้บนหลังคา ที่โรงหนังก็มีเสาห้าต้น ที่ไหนๆก็มีเสาห้าต้นทุกแห่ง เลยเรียนถามท่านว่า ไอ้ห้าต้นนี่มันหมายถึงอะไร ท่านก็ยิ้ม แล้วท่านบอกว่า “คิดเอาเอง คิดเอาเอง คิดเอาเองว่าห้านี่มันหมายถึงอะไร” คิดกันแล้วก็ตีความไปแปลกๆต่างๆ คนเรามองอะไรให้ตีความมันตีความไปแปลกๆหลายเรื่อง บางคนก็ตีความเลอะเทอะไปเลย ตีความไปกันใหญ่
เช่นว่าเมื่อวันก่อนนี้ อาทิตย์คืน ๓๑ สนทนาปัญหาบ้านเมือง สนทนาที่นี่ ยกกล้องมาทำกันที่นี่เลย ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นผู้ถาม ก็ตอบคำถามไปตามเรื่อง โยมก็ฟังแล้ว ฟังแล้วก็ถามทุกรายว่าดี หลวงพ่อเทศน์เข้าทีดี คนฟังเป็นก็ว่าดี แต่ไอ้พวกฟังไม่เป็นเยอะเหมือนกัน โทรศัพท์มาต่อว่า บอกว่า “เทศน์อะไรอย่างนั้น” อะไร แล้วคนที่โทรบอก “ผมเป็นชาวพุทธนะ ผมเป็นหัวหน้า ผมมีกลุ่มชาวพุทธหลายร้อยคน ผมไม่ชอบท่าน” “อ้าว เป็นชาวพุทธแล้วทำไมไปไม่ชอบเล่า ไม่ชอบมันเป็นทุกข์นะ ชอบมันก็เป็นทุกข์เหมือนกันว่ามันเปลี่ยนแปลง เป็นชาวพุทธอะไรอย่างนั้น คุณไม่ชอบเรื่องอะไร” “ก็ไม่ชอบเรื่องที่ท่านพูด” “ไม่ชอบอย่างไร” “ก็ทำไมคุณไม่พูดโฆษณาให้คุณจำลอง” “เอ๊ะ ฟังอย่างไร ฉันไม่ได้เอ่ยชื่อคุณจำลองสักหน่อย แล้วคุณฟังเป็นคุณจำลองไปได้อย่างไร ฉันบอกว่าให้เลือกคนดี คนมีความซื่อสัตย์ มีใจสะอาด ไม่กินไม่โกง เสียสละเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมือง ทีนี้คนมันหลายคน เราจะดูว่าใครทำอะไรก็ดูผลงานสิ ค่าของคนมันอยู่ที่ผลงาน” “อ้า นั่นแหละๆโปรคุณจำลอง” มาหาว่าโปรคุณจำลอง คำว่าค่าของคนอยู่ที่ผลงานมันเป็นคำเก่าแก่ ไม่ใช่คุณจำลองสร้างขึ้น ไม่ใช่สโลแกนของคุณจำลองที่ไหน ท่านเจ้าคุณธรรมโกษาจารย์ ทีหลังเลื่อนเป็นพิมลธรรม อยู่เมืองชลฯ ท่านเขียนเป็นกลอน ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ท่านเขียนเป็นกลอน จำไม่ได้ นานปีแล้ว ท่านเขียนไว้นานแล้ว ทีนี้ก็ คุณจำลองเขาเอามาเขียนว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลงาน คือให้ดูผลงาน จะดูคุณจำลองก็ได้ ดูคุณเดโชก็ได้ ดูคุณบุษราคัมก็ได้ ดูนายอะไรก็ได้ ว่ามันผลงานอะไรบ้าง ทำงานอะไร ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ทำอะไร มันดูหลาย เขาดูคน
ถ้าคนมาจะเป็นคนใช้เรา ก็ต้องดูว่าทำอะไรเป็นบ้าง ได้หนังสือชั้นไหน ทำงานที่ไหนมาบ้าง อยู่บ้านไหน ถ้าบ้านนั้นมีโทรศัพท์จะก็ยกหูถาม คนนี้เขาเคยทำที่บ้านเป็นอย่างไร ขยันดีไหม ซื่อสัตย์สุจริตไหม มือไวใจโจรไหม มันต้องสืบ สืบจนจะรู้ว่าคนนั้นเป็นอย่างไร ดูคนมันต้องดูที่ผลงาน ก็เป็นคำพูดกลางๆ ไม่ได้เข้าข้างคุณจำลองสักหน่อย แต่พวกนั้นมันฟังแล้วหาว่าอาตมานี่โปรคุณจำลอง ไปริษยาคุณจำลอง หาว่าท่านปัญญานันทะรักคุณจำลอง อาตมาไม่ได้โปรคุณจำลอง แต่โปรคุณธรรม โปรความงามความดี ว่าใครมีความดีอย่างนี้เข้าหลักเกณฑ์เลือกได้ ใครไม่ดีก็อย่าไปเลือก เขาก็บอกว่า นั่นแหละ คุณจำลองแกมีความดี อ้าว คนมีความดีทำไมคุณไม่ชอบล่ะ เอ้อ คุณเป็นชาวพุทธอย่างไรคุณไม่ชอบคนดี ชาวพุทธมันต้องชอบคนดี ไม่ชอบคนดีแล้วเป็นชาวพุทธอย่างไร อ้าว เลยเถิดไปแล้ว วางหูไป
เดี๋ยวรายอื่นโทรมา ผู้หญิงว่า “ทำไมท่านไปโปรไอ้จำลอง” บอกว่า “โยม โยมนี่อายุมากแล้วนะ แก่แล้วนะ แล้วทำไมไปเรียกไอ้จำลอง เขามีความผิดอะไรไปเรียกเขาไอ้อย่างนั้น เขาเป็นถึงนายพลตรี ในหลวงแต่งตั้ง แล้วไปเรียกเขาว่าไอ้ มันถูกต้องหรือ โยมถือพุทธ” “โอ๊ย ดิฉันรักพุทธศาสนา” “เอ๊ รักยังงัย รักพุทธศาสนาอย่างไร พูดจาไม่เป็นสัมมาวาจาเสียเลย” อ้าว วางหูหายไป เอ้อ อ้างว่าเป็นชาวพุทธแต่พูดจาเลอะเทอะ ไม่ได้เรื่อง มันเป็นอย่างนั้น
อันนี้ก็พระ ท่านเจ้าคุณ เจ้าคณะจังหวัดกรุงเทพ โทรมาถึงถาม “ใครพูด” “เอ๊ จำผมไม่ได้แล้วหรือ” “เอ๊ะ เสียงไม่เหมือนเดิม เสียงหนุ่มไปเยอะ” เอ้อ ฟังเป็นเสียงหนุ่มไปได้ “บอกว่าคณะสอง เจ้าคุณ” “ทำไม” “ไม่คิดถึงพระสังฆราชบ้างหรือ แล้วไม่คิดถึงผมบ้าง” “อ้าว คิดถึง พระสังฆราชก็คิดถึง เจ้าคุณก็คิดถึง” “คิดถึงทำไมพูดอย่างนั้น” “อ้าว พูดอะไร” “พูดโปรคุณจำลอง” “ไม่ได้ออกชื่อสักหน่อย” แต่ท่านว่า นี่เขาแก้ตัวแบบบัณฑิต ว่าอย่างนั้น หาว่าอาตมาแก้ตัวแบบบัณฑิต “จะแยกกันแล้วหรือ” บอกว่า “ไม่แยก ยังรักกันเหมือนเดิม ไม่ได้จะแยกอะไร” แล้วก็วางหูไป ให้เลือกตั้งเสร็จค่อยไปคุยกันใหม่ ให้รู้เรื่องกัน
เขาถึงว่าแบบนี้เขาเรียกว่าคนฟังไม่เป็น ตีความหมายไป ในรูปของอารมณ์ค้าง อารมณ์ค้าง ไอ้พวกเปรียญธรรมสมาคมน่ะ โอ๊ย เปรียญ ท่านมหาทั้งนั้น คุณมหาเปรียญ บอกว่า ที่ท่านพระเทพวิสุทธรรมเวทีพูดนั้นเปรียญธรรมไม่รับรอง เอ๊ ตั้งต้นเป็นเจ้าหน้าที่ไปแล้ว รับรองไม่รับรองคำสอนท่านปัญญา ไอ้คนที่ลาออกไปก็ยังพูดว่าไม่รับรองได้ มันเป็นอย่างไร มันไม่ถูกต้อง พูดจาเลอะเทอะ พวกนั้นหูมันไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เป็น แต่คนฟังเป็นเขาฟังเขาชอบทั้งนั้น เขาว่าพูดดี พูดเป็นกลาง ไม่เข้าใครออกใคร ก็ถูกต้อง เมื่อสักครู่คุณสุพจน์ก็บอกว่าคนต่อว่ามาหลายคน ต่อว่าว่าอย่างไร ต่อว่าว่างทำไมให้ท่านปัญญาพูดอย่างนั้น คุณสุพจน์ไม่ได้เป็นนายอาตมา อาตมาพูดตามหน้าที่ พูดธรรมะทั้งนั้นแหละ ไม่มีเรื่องอะไร ว่าอย่างนั้น นี่เขาเรียกว่าฟังเขว เพราะพื้นจิตใจมันเขวอยู่แล้ว ถ้าเราเกลียดใคร ใครไปชมคนนั้นก็เลยไม่ชอบไปเสีย มันเป็นเรื่องของแต่ละคน มีสิทธิที่จะรักใครจะชมใครก็ได้ มันสุดแล้วแต่เรื่อง จะไปโกรธเขาทำไม โกรธมันก็เป็นทุกข์เปล่าๆไม่ได้เรื่องอะไร เกลียดเขาก็เป็นทุกข์ โกรธเขาก็เป็นทุกข์ ริษยาเขาก็เป็นทุกข์ พยาบาทก็เป็นทุกข์ หาเรื่อง ไม่เป็นพุทธะ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแจ่มใส ไม่ทำใจให้ถูกกิเลสครอบงำจิตใจ ถ้ารู้สึกว่ามันครอบก็ให้มีสติรู้ทัน รีบกำจัดกิเลสนั้นออกไป นั่นแหละสมกับความเป็นพุทธบริษัท
เรื่องมันเป็นอย่างนั้น แต่ก็ไม่ว่าอะไร เอามาเล่าให้โยมฟังหน่อย ว่าเรื่องมันเป็นอย่างนั้น อาตมาก็เฉยๆ บางคนโทรมาถามว่า “ท่านเจ้าคุณสบายดีอยู่หรือเปล่า” “มันปกติมันมีอะไร” “นึกว่ามีคนด่าแล้วจะไม่สบาย” “โอ๊ย ฉันเฉยๆใครจะด่าก็ได้ ชมก็ได้ ฉันปกติ ไม่ยินดียินร้าย” ถ้าใครมาด่า ถ้าด่าเฉพาะหน้า ก็บอก เอ้า ถ้าคุณสบายใจเพราะได้ด่าท่านปัญญา เชิญด่าตามสบาย จะบอกอย่างนั้น แต่ว่าอยู่ลับหลังจะไปบอกก็ไม่ได้ แต่ถ้าอยู่ต่อหน้า เอ้าเชิญ ฉันจะนั่งฟังให้สบาย แล้วก็ยิ้มๆฟังไปตามเรื่อง นานๆจะได้ดูลิเกแสดงเฉพาะหน้าสักทีหนึ่งโดยไม่ต้องเสียสตางค์ ก็ควรจะดีใจว่า ยกโรงมาแสดงถึงหน้าบ้าน สบายใจดี ไม่มีอะไร เคยมี ปิดถนน ปิดทางเข้าทางออก มาด่า ยืนด่า ด่า เชิญ ด่าตามสบายนะ ถ้าคุณรู้สึกในใจว่าด่าท่านปัญญาแล้วสบายใจ โปรดด่าตามสบาย ด่าไปเถอะฉันจะนั่งฟัง ไม่ลุกขึ้นไปไหน ฉันจะนั่งอยู่ตรงนี้ ด่าจนเหนื่อย เลิกกลับไป แล้วก็ตั้งแต่นั้นก็ไม่มาด่าอีกต่อไป มันเป็นอย่างนั้น
ไอ้เรื่องด่าเรื่องว่านี่มันไม่มีอะไร นางมาคันทิยาจ้างคนไปด่าพระพุทธเจ้า ไปทางนั้นด่า ไปทางโน้นด่า ด่าทั่วไปหมด พระอานนท์ท่านรำคาญ พระอานนท์ท่านยังไม่เป็นพระอรหันต์ท่าก็รำคาญ เลยบอกว่า แหม เมืองนี้ไม่ไหวคนขี้ด่ามาก ไปเมืองอื่นเถอะ อ้าว ถ้าไปเมืองอื่นคนด่าอีกล่ะ ไม่ต้องหนีกันทั่วประเทศ ทั่วชมพูทวีปหรือ ไม่ได้ เหตุมันเกิดที่ไหน ต้องให้ดับที่นั่น เรื่องอะไรเกิดที่ไหนต้องดับกันที่นั่น คนจะด่าตถาคตอย่างมากด่าได้เจ็ดวัน ไม่เกินไปกว่านั้น ตถาคตจะเป็นเมืองช้างออกศึก “อะหัง นาโควะ สังคาเม จาปาโต ปะติตัง สะรัง” พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“อะหัง นาโควะ สังคาเม จาปาโต ปะติตัง สะรัง อะติวากยัง ติติกขิสสัง ทุสสีโล หิ พะหุชชะโน”
บอกว่าเราจะเป็นเหมือนช้างออกศึก ลูกศรยิงมาเหมือนห่าฝน ช้างไม่ถอย ยืนเฉย คนที่ทุศีลคือคนไม่มีศีลในโลกนี้มีอยู่มาก เราจะไม่ต้องหวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านั้น และก็ไม่หนี อยู่เมืองนั้น คนมันก็หยุดด่าของมันเอง และผลที่สุดก็รู้สึกตัวกัน มาหาพระพุทธเจ้าเป็นลูกศิษย์กันไปทั้งนั้น มันเป็นอย่างนั้น เราไม่ต้องกลัวคนด่าถ้าใจเราบริสุทธิ์ เขาว่าเราชั่วแต่เราไม่ชั่วไม่เป็นเป็นไร ถ้าเขาว่าเราชั่ว ถ้าชั่วเหมือนเขาว่า ก็ดีเหมือนกัน เขามาบอกมาเตือนจะได้หยุด ไม่ชั่วต่อไป เอ้อ มันก็ไม่เสียหายอะไร หลักการมันเป็นอย่างนั้น เราต้องเอาธรรมะมาใช้ช่วยแก้ชีวิตให้มันปลอดภัย
ทีนี้เรื่องเสาห้าต้นของท่านเจ้าคุณเนี่ย เจอปัญหาได้เยอะแยะ เพราะว่าธรรมะห้าๆนี่มันมีมาก เช่นว่า ขันธ์ ๕ นิวรณ์ ๕ เวสารัชชกรณธรรม ๕ พละ ๕ มาร ๕ เรื่องห้านี่มันเยอะ ห้าๆทั้งนั้น และในหมวดคิหิปฏิบัติ ห้าๆทั้งนั้น พ่อแม่ควรสงเคราะห์ลูกด้วยสถาน ๕ ลูกควรสงเคราะห์มาดาบิดาด้วยสถาน ๕ ห้าทั้งนั้น มีเลขห้านี่เยอะมากๆ มีเรื่องเกี่ยวกับเลข ๕ เยอะ ทีนี้เราจะต้องเอามาคิดพิจารณาในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านสอนไว้ให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร ในบ้านเมืองของเรานี้ เช่น ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็เป็นที่รักที่เคารพของประชาชนมาก จนได้พระนามว่าสมเด็จพระปิยะมหาราช เป็นมหาราชเป็นที่รักเป็นที่พอใจของชาวไทยทุกคน เพราะว่าท่านกระทำแต่ประโยชน์และความสุขแก่ประชาชน รัชกาลที่ ๕ เหมือนกัน ท่านก็ทำดีเกี่ยวกับตัวห้าเหมือนกัน แล้วก็อะไรๆเกี่ยวกับเรื่องห้ามีอยู่ในชีวิตมนุษย์ วันเสาร์ ๕ ตัดผมเป็นมงคล โอ้โห เดือน ๕ ถ้าวันเสาร์ แล้ววันขึ้น ๕ ค่ำด้วยแล้ว ร้านตัดผมคนเต็มไปหมด ตัดไม่ไหว เพราะว่าไปตัดผมวันนั้นเขาว่าเป็นมงคล มันก็อย่างนั้นแหละ ไม่ได้เป็นมงคลอะไรหรอก มงคลมันอยู่ที่เราทำดีทำถูก ไม่ใช่ดีตรงไปตัดผมวันเสาร์ ตัดเล็บ เล็บด้วยนะ ตัดผม ตัดเล็บ ไม่ได้ตัดคอตัวเองเท่านั้นเอง วันเสาร์ ๕ ก็ไปตัดกันเป็นการใหญ่ แล้วพวกอาจารย์ขลังๆก็พอวันเสาร์ ๕ นี่ประกาศล่วงหน้า ลูกศิษย์ แหม เครื่องรางเก่าๆแก่ๆเลอะเทอะมาก็เอามาเสกกันวันนั้น เสกกันเป็นการใหญ่ เพราะวันเสาร์ ๕
เลขห้ามันเป็นอะไรก็ไม่รู้ มันถึงถือกันว่าเป็นมงคลบ้างเป็นนั้นบ้างเป็นนี้บ้าง แต่มันก็มีมารเหมือนกัน มาร ๕ นี้ มาร ๕ อะไรบ้าง (๑) กิเลสมาร อยู่ในตัวเรานี่เป็นมาร กิเลสมาร (๒) ขันธมาร ร่างกายนี้ก็เป็นมารในบางครั้ง เราจะทำความงามความดี ร่างกายมันเป็นอุปสรรคเป็นข้อขัดข้องขึ้นมา เขาเรียกว่าขันธ์คือร่างกายก็เป็นมารขึ้นมา แล้วก็ (๓) มัจจุมาร หรือความตาย ความตายก็เป็นมารเหมือนกัน สำหรับคนที่กำลังจะทำประโยชน์ แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำคุณงามความดี ปุ๊บปั๊บ อ้าว ตายเสียแล้ว เป็นมาร แต่ถ้าคนชั่ว ประพฤติเป็นโจรเป็นผู้ร้ายตาย ไม่เป็นมารอะไร มารช่วยให้ตายไปเสียทีก็ดีเหมือนกัน มัจจุก็เป็นมารได้ (๔) อภิสังขารมาร คือหมายถึงว่าไปติดอยู่ในเรื่องอะไร การปฏิบัติธรรมนี่ไปเห็นอะไรก็ไปติดอยู่นั้นไม่ก้าวหน้าต่อไป ไปติดดวงแก้ว ติดแสงสว่าง ติดภาพต่างๆที่มันเกิดขึ้น แล้วก็ไปนั่งมองอยู่อย่างนั้น ไม่เดินเลยต่อไป ไปแวะอยู่ตรงนั้นไม่ไปนี่ก็เป็นอภิสังขารมาร มันเป็นมารเหมือนกัน แล้วก็ (๕) เทวปุตตมาร หมายถึงเทวดาเป็นมาร เทวดาเป็นมารนี่ไม่ใช่เทวดาที่ไหน ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราอยู่ด้วยเป็นมาร เช่น ผู้ใหญ่ชั้นอธิบดีเป็นมารแก่ข้าราชการบางคน รัฐมนตรีเป็นมาร หรือว่าใครก็ตามเป็นมาร มันก็มาคอยขัดขวางกีดกัน ไม่ให้คนนั้นก้าวหน้าได้ทำความงามความดี ก็เรียกว่าเป็นเทวปุตตมาร
มารคือผู้ขัดขวาง ทำให้เราไม่ก้าวหน้าในชีวิตในอะไรต่างๆ นี่ก็เป็นมารทั้งนั้น มารมันก็อยู่ในตัวเรา สู้กัน เขาถึงว่ามรพระก็ต้องมีมาร ถ้าไม่มีมารบารมีไม่เกิด คือไม่มีเครื่องทดสอบจะรู้ได้อย่างไร เรามาวัดเจริญภาวนาศึกษาธรรมะ ออกไปถึงหน้าวัดคนดักด่า นั่นแหละ ดีแล้วล่ะคนนั้นมาดักด่าเรา จะได้ทดสอลกำลังใจว่าทนได้ขนาดไหน พอเขาด่าแปร๊ดมา ก็แปร๊ดไป ไม่ได้เรื่อง เรียกว่าสู้เขาไม่ได้ พ่ายแพ้ แต่ถ้าเขาด่า ยืนยิ้มเฉย แสดงว่ามั่นคง จิตใจมั่นคง มีธรรมะ มีขันติ มีสติ มีปัญญา ควบคุมตัวเองได้ ต่อสู้กับปัญหานั้นได้ เราชนะ ชนะอย่างเด็ดขาด ไม่ไปต่อล้อต่อเถียงกับคนที่มาทดสอบเราอย่างนั้น ก็เรียกว่าสบายใจ มารมีเราก็ต้องสู้มัน สู้ด้วยสติด้วยปัญญา ส่วนร่างกาย ขันธมารนี้ มันก็มันเป็นมารอยู่โดยธรรมชาติ เพราะมันเปลี่ยนแปลง จิตใจเราไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง มันมีแก่ มีเจ็บ มีไข้ มีตาย เราไม่อยากให้เป็น ความไม่อยากให้เป็นั้นขัดต่อธรรมชาติ ถ้าเมื่อมีอะไรเป็นขึ้นเราก็ต้องยอมรับว่า เฮ้ย ธรรมดา ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้แหละ มันเป็นเรื่องที่เราฝืนไม่ได้ รักษาไปตามหน้าที่ ถ้ารักษาหายก็ดี รักษาไม่หายก็ เอ้อ เรื่องมันธรรมดา จะตายเมื่อไรก็ดีเหมือนกัน หมดชีวิตทรมานกันเสียที แต่อย่าไปเที่ยวหาเรื่องให้ตายเอง ให้มันตายของมันตามธรรมชาติ อย่างนี้ก็ดี
คนบางคนเป็นโรคหนักๆ เวลาเขามาบอกว่าคนนั้นตายแล้ว ก็บอก อืม ดีแล้ว พ้นทุกข์ไปเสียที เพราะอยู่ทรมาน สงสาร กินนอนลำบากเป็นอัมพาตพลิกตัวก็ไม่ได้ทำอะไรก็ไม่ได้ ลูกหลานก็ลำบาก รักษาก็ลำบาก พอเขาบอกว่าตายแล้ว ก็ เอ้อดีแล้ว พ้นทุกข์เสียที คนตายก็พ้นทุกข์ พวกเธอที่รักษาก็พ้นทุกข์ไป ไม่ต้องกังวลห่วงใยต่อไป ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทำบุญสุนทานตามหน้าที่ที่เราจะพึงกระทำได้ ไม่ต้องเสียอกเสียใจ ความจริงก็ลูกหลานก็ไม่เสียใจแล้ว เพราะว่าทรมานกันเหลือเกิน แต่จะพูดมันก็ไม่ได้ ว่าแหม ตายเสียทีพ้นไปแล้ว เดี๋ยวเขาว่า แหม ไอ้นี่ รังเกียจพ่อแม่ รังเกียจคุณตาคุณยาย ไม่มีความกตัญญูกตเวที พูดไม่ออก แต่คนอื่นพูดให้ฟังเขาก็เห็นด้วย แต่ว่าจะพูดออกไปก็ไม่ได้ มันก็อย่างนั้น อย่างนั้นมัจจุไม่ได้เป็นมาร คนชั่วคนร้ายตายก็ไม่เป็นมาร เพราะคนชั่วคนร้ายอยู่เพื่อเป็นเสี้ยนหนามสังคม เป็นหลักตอของโลก สร้างปัญหาแก่สังคมด้วยประการต่างๆ ตายไปก็เรียกว่าไม่มีอะไรที่จะต้องเดือดร้อน เขาจึงพูดว่าแผ่นดินสูงขึ้นอีกหน่อย หมายความว่าคนนั้นอยู่หนักแผ่นดิน เป็นมารถ่วงความเจริญทำให้หนักแผ่นดิน ตายไปก็หมดเรื่องไป ก็มันเป็นเรื่องมาร ๕ มีอยู่
นิวรณ์ ๕ อยู่ในเนื้อตัวของเราเหมือนกัน ให้ญาติโยมจำไว้อันหนึ่งว่า สิ่งทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น สอนเรื่องในตัวเราทั้งนั้น ไม่ได้สอนออกไปจากตัวเราถึงสิ่งภายนอก สอนเรื่องในตัว มันมีอยู่ในชีวิตของเราในใจของเรา เรื่องอะไรๆมันเกิดอยู่ในนี้ เขาจึงพูดว่าอะไรๆมันก็อยู่ในนี้ สวรรค์ในอกนรกในใจ นิพพานอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ใจนั่นแหละ ไม่ได้ไปอยู่ที่ไหนอื่น ให้เราเข้าใจอย่างนั้น เวลาจะศึกษาก็ศึกษาจากภายใน ศึกษาจากตัวเราเอง ตัวเราตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท่ายาววาหนาคืบนี้แหละเป็นตำราเล่มใหญ่ เป็นพระไตรปิฎกที่เราควรเปิดเรียนเปิดศึกษา แต่ว่าชั้นแรกต้องไปเปิดหนังสืออ่านก่อน เพื่อให้รู้ตามหนังสือ เสร็จแล้วเรามาเปิดตัวเรา มามองที่ตัวเราว่าตัวเรานี้คืออะไร มันมีอะไรเกิดขึ้น มันมาจากอะไร ควรจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ก็อยู่ที่เนื้อที่ตัว สอนให้ทำเรื่องกับตัวทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องอื่น เช่น นิวรณ์ ๕ แปลว่า ธรรมะเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี มันกั้นไว้ไม่ให้ก้าวไปสู่คุณงามความดี คอยขวางอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นมารเหมือนกัน มันขวางคอไม่ให้ก้าวหน้าไป มึถึงห้าเรื่อง มีอะไร
(๑) กามฉันทะ ความพอใจในสิ่งสนุกสนาเพลิดเพลิน เรียกว่าเป็นกาม กามนั้นคือสิ่งที่น่าพอใจ น่าเพลิดเพลิน สำหรับผู้ที่ยังขาดปัญญาในแง่ธรรมะ เราก็ติดอยู่ในสิ่งนั้น อยากได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นเรื่องพออกพอใจ แสวงหา ลงทุน บางทีก็ขัดกัน ผลประโยชน์ขัดกัน ถึงต้องฆ่ากัน ประหัตประหารกัน ฆ่ากันสมัยนี้ฆ่ากันอย่างรุนแรง ใช้วิธีการรุนแรง อาวุธรุนแรง ต้องการฆ่าคนคนเดียว เพื่อนพลอยตายไปตั้งสิบกว่าคน เพราะวัตถุที่ใช้นั้นมันแรงมาก นี่เพราะเกิดจากอะไร ประโยชน์มันขัดกัน ประโยชน์ขัดกันก็เพราะว่าเราอยากมีอยากได้ การค้าขายร่วมกัน ทำป่าไม้ด้วยกัน ทำเหมืองแร่ด้วยกัน ทำประมงด้วยกัน หรือว่าค้าขายวัตถุอะไรอย่างเดียวกัน ทางมันสายเดียวกัน ความจริงควรจะต่างคนต่างเดิน แต่ไม่ได้ ไอ้นี่มันเดินเร็วกว่ากู หัวคิดมันดี ประโยชน์ได้มาก มันจะรวยกว่ากู เกิดความริษยาขึ้นมาในใจ ความริษยาเกิดจากอะไร เกิดจากความอยากในวัตถุที่จะพึงมีพึงได้ พอใจในกาม คือวัตถุกามนั่นเอง วัตถุกามที่เราจะมีจะได้ เกิดกิเลสแล้วก็ทำลายกัน เบียดเบียนกัน ทำให้สังคมเกิดปัญหาเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เพราะเรื่องอย่างนี้ เพราะเรื่องกามฉันทะ ความพอใจในวัตถุที่จะมีจะได้ ก็เป็นตัวยุ่งอยู่ในจิตใจ ทำให้เราไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมะ เพราะการปฏิบัติธรรมะต้องทำลายนิวรณ์ห้าประการนี้ให้หมดไปจากใจ
ชั้นแรกก็ต้องทำลายความพอใจในสิ่งต่างๆที่เป็นด้านวัตถุ คำว่าทำลายความพอใจไม่ได้หมายความว่าไม่มีสิ่งเหล่านั้นเสียเลยก็ไม่ใช่ ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันก็ต้องมี เพราะเราต้องกินต้องใช้ อยู่ในโลกก็ต้องมีบ้านอยู่ มีเงินใช้ มีวัตถุเครื่องประกอบดำเนินชีวิต ไปไหนก็ต้องมีรถยนต์สำหรับใช้ อยู่ในบ้านก็ต้องมีไอ้สิ่งที่พอซื้อหามาได้ มันก็ต้องมีกันไปตามเรื่อง จะมีเครื่องปรับอากาศ จะมีตู้เย็น จะมีอะไรก็ได้ แต่ว่าพระท่านบอกว่า มีอะไรก็ได้ แต่ว่าอย่ามีให้เป็นทุกข์ นี่ไอ้ตรงนี้สำคัญ มีอย่าให้เป็นทุกข์ โยมลองคิดถึงตัวเองว่า ฉันมีอะไรๆเป็นทุกข์กับมันหรือเปล่า กลุ้มใจกับมันหรือเปล่า นอนไม่หลับเพราะมันหรือเปล่า อย่างนั้น ถ้ามีแล้วมีความทุกข์ก็มีไม่ถูกต้อง มีไม่มีด้วยปัญญา ถ้ามีด้วยไม่มีปัญญาก็เป็นทุกข์ เราจึงต้องมีด้วยปัญญา มีด้วยปัญญาว่าอย่างไร หยิบอะไรขึ้นมา ไอ้นี่เวลานี้มันอยู่กับฉัน แต่ไม่แน่ มันอาจจะจากฉันไปเมื่อใดก็ได้ อาจจะมีใครมาเอาไปเสียก็ได้ มันอาจจะแตกเมื่อใดก็ได้ อาจจะตายเสียเมื่อใดก็ได้ พังไปเมื่อใดก็ได้ อย่าไปหลงติดมัน ใช้มันไปตามเรื่อง ใช้ด้วยปัญญา เพชรนิลจินดาที่เรามาประดับร่างกาย เราก็ดูไม่ตามนั้นโยม ประดับไป สังคมเขามีกันก็ต้องมีกับเขาบ้าง ไม่ได้ว่าอะไร เพราะว่าไม่มีเลยก็ดูมันน้อยหน้าน้อยตา ไม่เหมือนคนอื่นเขา ก็มีบ้างตามสมควร เราก็มีไป แต่ไม่เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น เวลาอยู่ก็ไม่เป็นทุกข์ เวลาหายก็ไม่กลุ้มใจ ไม่ต้องกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะแหวนหาย สายสร้อยหาย เครื่องเพชรหายไป ยกไปทั้งกระเป๋าเลย เป็นทุกข์เอามาก นี่เพราะมีไม่เป็น แต่ถ้าเรามีแล้วก็บอกตัวเองว่า เฮ้อ นี่มันอยู่กับฉัน ไม่แน่ มันอาจจะไปจากฉันเมื่อใดก็ได้ ถึงมันจะอยู่กับฉันตลอดไป เวลาฉันหมดลมหายใจฉันก็หิ้วไปไม่ได้หรอก แหวนที่สวมนี่ก็มีคนจ้องตาเป็นมันอยู่หลายคนแล้ว พอหมดลมหายใจปั๊บมันก็ต้องถอดทันทีละ มันไม่ยอมให้ใส่ไปในโลงเป็นอันขาดหรอก มันไม่ใช่ของฉัน ฉันอาศัยชั่วครั้งชั่วคราว
แม้อยู่ในบ้านในเรือนก็ไว้อย่างนั้น ก็มีหน้าที่ปัดกวาดรักษาความสะอาดในบ้าน บริเวณรอบทำให้เรียบร้อย ทำสนามหญ้า ปลูกต้นไม้สวยๆงามๆ แต่อย่าเป็นทุกข์เพราะสนามหญ้า อย่าเป็นทุกข์เพราะต้นไม้ กระถางต้นไม้ อย่าเป็นทุกข์เพราะอะไรๆที่อยู่ในบ้าน ดูมันแล้วก็ เอ้อ วันนี้ยังอยู่นะ พรุ่งนี้ไม่แน่ พรุ่งนี้ไม่แน่นะ อาจจะมีใครแอบมายกเอาไปก็ได้ แล้วก็ยกไป ฉันไม่ว่าอะไร แต่ฉันต้องปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อยให้มันเข้ายากสักหน่อย ไอ้นี่มันเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องปฏิบัติ ปิดประตูปิดหน้าต่างให้มันเรียบร้อย ปิดประตูให้เรียบร้อย และเวลาปิดก็ต้องรู้ว่า ประตูออกทางไหน หน้าต่างอยู่ตรงไหน อะไรอยู่ตรงไหน ต้องให้รู้ เวลาปิดอย่างนึง ปิดแล้ว เข้าผิดเข้าถูกหยิบผิดหยิบถูกมันก็ยุ่งเหมือนกัน สวิตช์ไฟอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ มันต้องมีใกล้ๆเตียงนอนไว้ เอ้อดึงปุ๊บ สว่างทั้งห้องเลย มีไว้ใกล้ๆ จะได้เปิด เปิดให้ขโมยมันดูง่ายๆแล้วมันหยิบสะดวกหน่อย แล้วมันก็บอกว่า อย่าดื้อนะ นอนซะๆ เราก็ต้องเชื่อมันหน่อย อย่าดื้อ ไม่ดื้อแล้วทุกอย่างเรียบร้อย มันเอาไปเรียบร้อย เราก็ไม่ดื้อไม่ว่าอะไรหรอก นึกในใจว่า เอ้อ มันถึงเวลาที่มันจะเอาแล้ว ก็เอาเถอะ ตามสบาย ขอชีวิตฉันไว้เถอะฉันจะได้อยู่หาใหม่ แล้วเธอจะได้มาลักต่อไป ถ้าพูดได้ก็พูดอย่างนี้ พูดกับมันว่า เอาไปเถอะ เลือกไปเถอะ อะไรเอาได้เอาไปเถอะ ของหนักๆเอาไม่ไหวก็ไม่เอาไปก็แล้วกัน เอาแต่ของเบาๆ ให้มันไป ยิ้มๆ เหมือนกับพระองค์หนึ่ง สมเด็จนะ ขโมยมันเอื้อมๆๆไม่ถึงสักที สุดแขนแล้ว เพราะของมันอยู่ไกล ท่านก็เอาเท้า ดันมุบมิบๆเลื่อนมา ไม่ให้มันรู้สึกว่าท่านรู้สึก ดันๆๆ ไอ้นั่นเอื้อมถึง เอาไปเลย ช่วยให้มันเอาสะดวกหน่อย ช่วยให้มันเอาไป นี่เรียกว่าท่านมีปัญญา ไม่เอะอะมะเทิ่งให้โจรผู้ร้ายรู้ เอาไปเลย เอาไป ให้มันหยิบสะดวกๆ อย่างนี้ใจก็สบาย ไม่มีปัญหาไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ มีอย่างนี้มีสบาย
เป็นอะไรก็เหมือนกัน เราเป็นสบายๆ อย่าเป็นด้วยความยึดถือ เป็นด้วยความยึดถือแล้วมันยุ่ง เป็นทุกข์ เราเป็นไปตามเรื่องโลกสมมติ หัวโขนมาสวมปุ๊บเข้าให้ เอ้า เป็นทศกัณฐ์เต้นไปตามหน้าที่ เป็นหนุมานก็เต้นไปตามหน้าที่ เป็นนางมณโฑก็เต้นไปตามหน้าที่ พอเข้าไปหลังฉากก็ต้องถอดหัวออก ดื่มน้ำชากาแฟ ดื่มเบียร์ กันไปตามเรื่อง พอถึงเวลา ก็เชิญพระรามออก พระรามก็ออกมารำป้อ สวมหัวเข้าปุ๊บทศกัณฐ์ออก ทศกัณฐ์ก็ออกมา เป็นละครชีวิตที่เราแสดงไปตามหน้าที่ แสดงเป็นพ่อ แสดงเป็นแม่ แสดงเป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นตำรวจ เป็นทหาร เป็นพระสงฆ์องค์เจ้า ก็แสดงไปตามหน้าที่ แสดงให้ดีให้เรียบร้อย ให้เป็นที่พอใจของคนดู ปิดฉากแล้วคนตบมือให้เกียรติอย่างนี้ใช้ได้ เวลาเราปิดฉากก็คือตาย ปิดฉาก คนก็มาในงานศพมากมายก่ายกอง มาช่วยกันไว้อาลัยในความดีของเรา อย่างนี้ใช้ได้ เกิดมาดี อยู่ดี ไปดี เป็นคนใช้ได้ เป็นสุคโต ตามหลักพระพุทธคุณที่เราสอนว่า สุคโต เสด็จไปดีแล้ว เสด็จมาดี เสด็จอยู่ดี เสด็จไปดี พระพุทธเจ้าท่านมาดี มาเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ประชาชน ท่านอยู่ดี ท่านอยู่ชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้ทางสุขเกษมสานต์ ให้ประชาชนเกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ แล้วก็นิพพาน ไปดี ไปสู่ที่เกิด ดับกิเลสดับเพลิงทุกข์สิ้นเชิงตั้งแต่ทรงพระชนม์อยู่ แต่ร่างกายยังคงอยู่ นิพพานก็ดับหมดทั้งกายทั้งจิตดับหมดไม่มีอะไรต่อไป ก็เรียกว่าไปดี แล้วก็ทิ้งสมบัติไว้ให้เราได้กินได้ใช้ สมบัตินั้นคือธรรมะ ใช้ไม่หมดไม่สิ้น ๒๕๓๓ ปีแล้ว ก็ยังอยู่ตลอดไป ไม่เสื่อมไม่สิ้น เรารักพระธรรม รักพระพุทธศาสนา ก็ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่ารักธรรมะ
เราเรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ ก็ต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้อง จิตใจไม่เศร้าหมองไม่ขุ่นมัว ไม่ปล่อยให้กามฉันทะครอบงำจิตใจ ไม่ให้ความโลภความหลงเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ มันอาจจะเกิดนิดหน่อย เรารู้ทัน ไล่มันออกไป เราก็คงสภาพเดิมต่อไป จิตเดิมนั้นเป็นจิตที่บริสุทธิ์สงบสว่าง สะอาดสงบสว่าง แต่ว่ามันเศร้าหมองเพราะสิ่งมากระทบ รูปเข้าทางตา เสียงเข้าทางหู กลิ่นเข้าทางจมูก รสเข้าไปทางลิ้น สิ่งสัมผัสทางกายประสาท แล้วก็ไปปรุงแต่ง ที่ถูกปรุงแต่งเพราะไม่มีสติปัญญารับ รับด้วยความหลงความมัวเมา รับเสียงด้วยความหลง เขาพูดดีหาว่าพูดไม่ดี เพราะพูดด้วยความหลง ไปยึดติดในเรื่องนั้น รับกลิ่น ไม่ดี เพราะวิ่งหนีปัญหา กลิ่นหอมกลิ่นเหม็นนี่ก็เป็นตามธรรมชาติ มันก็ไหลมากระทบเรา เราก็ปลงไปว่า นี่กลิ่นไม่ดี ยืนตรงนี้กลิ่นไม่ดีก็เขยิบไปเสียหน่อย จะได้ไม่มีกลิ่นนั้น เราก็สบายใจ รู้จักหลบรู้จักหลีก คนโบราณว่า รู้หลบมันก็เป็นปีก รู้หลีกก็เป็นหาง มันพาบินไปได้ ถึงที่สงบสุข เหมือนนกบินปร๋อไปในอากาศ ไม่มีอันตรายด้วยประการใดใด อันนี้ก็เป็นตัวขวางหน้าเรียกว่านิวรณ์ กั้นจิตเหมือนกับม่านหนาบังไว้ไม่ให้เราเห็นภาพภายใน เราก็ต้องค่อยเปิดม่านให้เห็นอะไรตามที่เป็นจริง เห็นรูปตามที่เป็นจริง ได้ยินเสียงตามที่เป็นจริง ได้กลิ่นตามที่เป็นจริง ได้รสก็ตามที่มันเป็นอยู่จริงๆ ได้สัมผัสถูกต้องอะไรก็รู้ตามจริงของสิ่งนั้น ตัวรู้ความจริงก็รู้ว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ มันเป็นเพียงประกอบกันเข้า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไหลไปตามธรรมชาติ เราจะไปจับเอาว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลเราเขาก็ไม่ได้ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติเท่านั้น ปลงได้ สิ่งนั้นก็ไม่มีอันตรายแก่เรา คำด่าคำว่าเราทนได้ก็ไม่มีพิษสงอะไรกับเรา แต่ถ้าเราไม่ปลงไม่วาง รับด้วยความเขลา มันก็เจ็บแสบอยู่ในใจของเรา เป็นทุกข์ของเราไมได้เรื่องอะไร นี่เรียกว่ากามฉันทะ นิวรณ์
(๒) พยาบาท หมายถึงว่า โกรธนานๆ เกลียดนานๆ ริษยานานๆ ไอ้ที่นานๆนี่เขาเรียกว่าพยาบาท เจ็บนานๆ เจ็บแค้น คิดค้นอยู่ในใจ มันด่ากู มันทำร้ายกู มันลักของกูไป กูต้องแก้แค้น เลือดต้องชำระด้วยเลือด มันต้องชำระบัญชีกัน เหมือนกับหนังจีน พ่อตาย คำนับศพ ลูกขอปฏิญาณว่าจะต้องแก้แค้นให้พ่อ มันไม่ได้เรื่องอะไร แก้แค้นให้พ่อ มันก็ต้องแก้กันต่อไป ฝ่ายนี้ไปแก้ฝ่ายนี้ ฝ่ายนี้ไปแก้ฝ่ายนั้น ยิงกันไปยิงกันมาหมดไม่มีเหลือ เหมือนคนเมืองแพร่ ขออภัยใครอยู่เป็นชาวแพร่ คนเมืองแพร่นี่โกรธกันจริงๆ เหมือนกับพระลอเมืองสรอง โกรธกันจริงๆ โกรธแล้วตามฆ่ากัน ฆ่ากันจนหมดเลย แม้ลูกแม้เหลน ฆ่ามันเสียเลย ไอ้ตระกูลนี้อย่าไว้ แล้วไอ้ตระกูลนี้มันไม่เหลือแล้วฆ่าจนหมดจนคนสุดท้าย ไปเอาปืนยิงตายไปหมดเผ่าพันธุ์ หมดพันธุ์ไปแล้ว นี่เขาเรียกว่าพยาบาท
ความพยาบาทนี้ทำให้เกิดปัญหามาก เราสอนประวัติศาสตร์มักจะสอนให้เกิดพยาบาท เช่น สอนประวัติศาสตร์ไทย “ไอ้พม่ามันมาทำประเทศไทยเดือดร้อน เผากรุงศรีอยุธยา เธอเคยไปอยุธยาไหม เห็นไหมเจดีย์วัดวาอารามถูกเผา ใครเป็นคนเผา ไอ้พม่านี่แหละมาเผา” พูดแบบนักเลง ทำท่าขึงขัง นักเรียนก็โกรธขึ้ง เป็นฟืนเป็นไฟ อยากจะเผา อยากจะไปแก้แค้นพม่า นี้ไม่ถูก สอนไม่ถูก สอนอย่างนี้ไม่ถูก สอนให้เกิดความโกรธความเกลียดกันแล้วมันจะจบเมื่อไร พระพุทธเจ้าบอกว่า เวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่ผูกเวร คือคิดเมตตาปรานีต่อกัน เลิกแล้วต่อกัน มันก็จบเรื่อง เราสอนให้เด็กโกรธเกลียดพม่า ให้รักชาติไทยได้ แต่อย่าไปโกรธคนอื่น อย่าไปเกลียดคนอื่นมันไม่ถูกต้อง ถ้าจะสอนให้เกลียดก็ได้ เกลียดอะไร คือสอนในแง่ธรรมะว่า “นี่แหละ ความเสียหายทั้งหลายทั้งปวงที่เธอได้เห็นนี้ มันเกิดจากอะไรเธอรู้ไหม” เด็กอาจจะว่า “พม่ามาเผา” “พม่ามันมาเผาเพราะอะไร อะไรมันเกิดขึ้นในจิตใจกษัตริย์พม่า ในบรรดาทัพทหารให้เดินมาประเทศไทย นั้นอะไร” ตัวกิเลส! ตัวกิเลสมันเกิดขึ้นในใจคน กิเลสคือความอยากใหญ่ อยากโต อยากดัง อยากมีชื่อเสียง อยากจะเป็นผู้ชนะสิบทิศ เหมือนกับจะเด็ดอย่างนั้นแหละ อันนี้ความอยาก กิเลส กิเลสเกิดขึ้นแล้วก็ทำตามกิเลส ทำตามกิเลสก็ไปรุกรานคนอื่น เบียดเบียนคนอื่น ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน สิ่งที่เราควรเกลียดและควรทำลายก็คือตัวกิเลสนั่นเอง แล้วในตัวเธอมีกิเลสอะไรบ้าง ตื่นแต่เช้ามีกิเลสครอบงำบ้างไหม นอนบิดขี้เกียจไม่ลุกขึ้นจากที่นอน คุณแม่ต้องเข้าไปเตือนสองครั้งสามครั้ง นั่นแหละตัวกิเลส ขี้เกียจ กินข้าวเสร็จแล้วไม่ไปโรงเรียน ไปโรงเรียนไม่ถึงโรงเรียน นั่นแหละตัวกิเลส ไปนั่งหลับในชั้น นั่นแหละตัวกิเลส ให้ทำการบ้านก็ไม่ทำ ก็เป็นตัวกิเลส พ่อแม่บอกให้ทำอะไรก็ไม่ทำเป็นคนดื้อคนดัน นั่นแหละตัวกิเลส เอ้า พูดลงไปให้เด็กได้รู้ว่าไอ้นี่ควรฆ่าควรทำลาย ควรโกรธไอ้ตัวนี้ ควรเกลียดไอ้ตัวนี้ และก็ระวังไม่ให้มันเกิดขึ้นในใจของเรา ไม่ให้ความโกรธ ไม่ให้ความเกลียด ไม่ให้ความริษยา พยาบาท อาฆาต จองเวร เกิดขึ้นในใจของเรา เราอยู่ด้วยความรัก อยู่ด้วยความเมตตาปรานี ปราถนาดีต่อกัน
เช็กสเปียร์ (William Shakespeare) เป็นนักเขียนบทละครมีชื่อของอังกฤษ เขาเรียกว่าเป็นคนไม่ตาย เช็กสเปียร์นี่ อยู่เมืองเล็กๆ เขาเรียกว่าสแตรทฟอร์ดออนเอวอน (Stratford-on-Avon) อยู่บนฝั่งแม่น้ำเอวอน แม่น้ำเอวอนก็นิดเดียวไม่ได้ใหญ่โตอะไร ของอังกฤษมันไม่มีใหญ่ มันเล็กๆ เพราะเกาะมันเล็ก แต่คนไปเที่ยวเมืองนี้ในหน้าร้อน โรงแรมเต็มหมดเลย ไปกันใหญ่ ไปดูบ้านเช็กสเปียร์ ไปดูบ้านภรรยาเช็กสเปียร์ แล้วก็ไปดูละครของเช็กสเปียร์ เรื่องเดียว ก็ซ้อมกันแล้วก็แสดงตลอดฤดูร้อน สามสี่เดือน ก็เล่นเรื่องเดียว ไม่ต้องมาก เพราะคนดูมันเปลี่ยน เดือนนี้คนมานักท่องเที่ยวชุดหนึ่งมาดู เดือนพรุ่งนี้อีกชุดหนึ่งมาดู ก็แสดงกันอย่างนั้น สมัยเมื่อไปอังกฤษครั้งแรก คุณหลวงวิจิตรวาทการท่านเป็นทูต อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ท่านมาอังกฤษ คุณหลวงวิจิตรแกดี มาถึงก็โทรศัพท์มาทันที “เป็นอย่างไร ท่านสบายดีหรือ” “สบายดี เจริญพร” “พรุ่งนี้เช้าเตรียมตัว ผมจะมารับ พาไปเที่ยว” น้ำใจ เป็นทูตไทยคนเดียวที่มีน้ำใจขนาดนี้ มาถึงก็มาพาไปเที่ยว มารับไปทั้งครอบครัว อาตมานั่งหน้า เพราะเป็นพระ นอกนั้นก็ คุณหญิง ลูกเต้า นั่งกันเต็มรถ รถเบ๊นซ์คันใหญ่ ไปจนถึง ไปอ็อกฟอร์ด ไปเคมบริดจ์ ไปบ้านเช็กสเปียร์ นอนคืนหนึ่ง แล้วบอกว่า “คืนนี้ผมจะไปดูละคร ท่านไปดูไม่ได้ นอนพักก็แล้วกัน” เลยก็ต้องนอน แกก็ไปดู ไปดูว่าเขาจัดระบบละครอย่างไร อะไรต่ออะไรจะเอามาใช้ในเมืองไทยบ้าง ก็กำลังเขียนบทละครพ่อขุนรามคำแหง พาไปดู คนเดินเต็มไปหมด ถนนแคบๆ เมืองเล็กๆ โรงแรมก็ตั้งชื่อตัวละคร ถนนก็ชื่อละครทั้งนั้น บ้านเช็กสเปียร์ โต๊ะที่เช็กสเปียร์เคยเขียนหนังสือ ม้านั่ง ห้องนอน ดอกไม้ที่มีปรากฏในเรื่อง หนังสือเช็กสเปียร์ มีทุกอย่างสืบได้หมด แต่งสวนไว้ ล่อเงินจากนักท่องเที่ยวปีหนึ่งเป็นร้อยๆล้านปอนด์ คนทั่วโลกไปเที่ยวกัน
เพราะเช็กสเปียร์แต่งบทละครแบบไม่ตาย คือจบลงเมื่อใด โกรธกันเกลียดกัน แต่พอจบแล้วก็ดีกัน เขาเรียกว่าประนีประนอมไปด้วยกัน เลิกโกรธเลิกเกลียดกัน คิดอย่างนี้เสียได้ จบเลิกโกรธเลิกเกลียด ไม่ใช่จบลงตายหมดเลย เหมือนละครเรื่องเลือดเดียวกัน ตายหมดไม่มีใครเหลือ เอ๊ ไม่ดีเลยแต่งอย่างนี้ แต่งอย่างไรคนตาย ฆ่ากันหมด ไม่เหลือเลย มันก็แย่ ไอ้นี่เขาแต่งให้ประนีประนอม หันมารักกันสามัคคีกัน เช็กสเปียร์จึงเป็นคนไม่ตาย เพราะเขียนบทละครมีธรรมะ ทำให้คนชอบอ่าน เมืองไทยในหลวงรัชกาลที่หกแปลมาหลายเรื่อง เวนิสวาณิช ตามใจท่าน หลายเรื่อง น่าอ่านทั้งนั้น ใครยังไม่เคยอ่านไปซื้ออ่านเอา อ่านแล้วสบายใจ เช่น ตามใจท่าน นี่ก็น่าอ่าน เวนิสวาณิช ไชล็อก (Shylock) ยิว แหม เอาดอกเบี้ยแพง จะกรีดเลือดกรีดเนื้อ พอไปถึงถามว่า เอ้า เอาเลือดเอาเนื้อไปได้เท่านั้น แต่อย่าให้ติดเลือดไป จะไปกรีดอย่างไร เลือดกับเนื้อมันอยู่ด้วยกัน อนุญาตให้ตัดเนื้อไปได้ น้ำหนักเท่านั้น เกินก็ไม่ได้ แต่ว่าเนื้อที่เอาไปนั้นติดเลือดไปไม่ได้ ถ้าติดเลือดผิดกฎหมาย ไอ้ยิวหน้าเลือดก็ไม่รู้จะเอาอย่างไร จะเอาแต่เนื้อโดยไม่ติดเลือดมันจะเอาได้อย่างไร เลยแพ้เขา จบ แต่งอย่างนั้น น่าดูไหม
พอดี หมดเวลา ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ เป็นเวลา ๕ นาที