แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ที่สามารถได้ยินเสียงชัดเจน แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒๙ ของเดือนตุลาคม ก็เป็นอาทิตย์สุดท้ายของเดือน พรุ่งนี้ ๓๐ มะรืนนี้ ๓๑ ก็หมดไปอีกเดือนหนึ่ง
ตั้งแต่ออกพรรษามาก็ผ่านไปเรื่อยๆ วันเวลานี่มันผ่านไปไว สำหรับคนที่อยู่ในวัยปัจฉิมวัย คือคนที่แก่น่ะ วันมันไว วันมันร่วงไปรวดเร็วเหลือเกิน บางก็นึกว่าเอ๊ะยังไม่ทันได้ทำอะไรผ่านไปอีกปีหนึ่งแล้ว สภาพเป็นเช่นนั้น เพราะโลกมันหมุนไม่หยุดแล้วก็เกิดเวลา เวลาก็เป็นไปตามโลกหมุน เวลานั้นมันไม่ได้ไปแต่เวลา แต่เอาเราไปด้วย เหมือนกับน้ำที่ไหลลงมาจากที่สูง ไม่ได้มาแต่น้ำ แต่เอาชะดินมาด้วย ใบไม้ ท่อนไม้ ซากสัตว์ ติดมากับน้ำด้วย ฉันใด วันเวลาที่ผ่านไปก็ฉุดฆ่าพวกเราทั้งหลายไปด้วย ทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา คือได้อายุ อายุก็คือการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลานั่นเอง แล้วเรานับว่าอายุเท่านั้น อายุเท่านี้ ก็หมายความว่าผ่านมากี่ฤดูฝน กี่ฤดูร้อน กี่ฤดูหนาว ปีหนึ่งก็มีฝน มีหนาว มีร้อน และก็ผ่านไป ชีวิตเราก็ผ่านไปกับเวลา
ท่านจึงกล่าวว่าเวลานั้นมันกินตัวเอง และกินสรรพสัตว์ทั้งหลาย คนโบราณก็พูดเปรียบเวลาไว้ว่าเป็นพญายักษ์ พญายักษ์ตนหนึ่งหนามีตาสองข้าง ข้างหนึ่งสว่าง ข้างหนึ่งริบรี่ มีปาก ๑๒ ปาก มีฟันไม่มากปากละ ๓๐ ซี่ กินสัตว์ทั่วปัฐพี ยักษ์ตนนี้ชื่ออะไร ก็ทายกัน เขาเรียกว่าตั้งเป็นปริศนาให้คิด ว่ายักษ์ตนนี้ชื่ออะไร ยักษ์ตนนี้ก็ชื่อว่าพระกาฬนั่นเอง กาละ นี่เรียกว่าพระกาฬ ก็คือเวลานั้นเอง ยักษ์ตัวนี้คือเวลา ตา ๒ ข้าง ข้างหนึ่งสว่างคือข้างขึ้น ข้างหนึ่งริบรี่คือข้างแรม มีปาก ๑๒ ปาก คือ ๑๒ เดือน มีฟันไม่มาก ปากละ ๓๐ ซี่ คือมีวัน ๓๐ วัน เที่ยวกินสัตว์ทั่วปัฐพี ยักษ์ตนนี้ชื่ออะไร เอาไปทายกันได้ รับรางวัล
ยักษ์ตนนี้ก็ชื่อว่าพระกาฬนั่นเอง ที่จังหวัดลพบุรี คนไปไหว้พระกาฬ ศาลพระกาฬ ก็เป็นเทวรูปเก่าแก่ แต่ว่าไม่สมบูรณ์มือหายไป แขนหายไป ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเวลานั่นเอง เขาให้ไหว้เวลา ไม่ใช่ไปไหว้ขอร้องวิงวอนอะไรจากพระกาฬ แต่ให้นึกถึงเวลา ให้นึกว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้เราคิดบ่อยๆ ว่าเวลาล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ เวลาล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ท่านให้คิดอย่างนั้น การคิดอย่างนั้นก็เพื่อให้เกิดความสำนึก ว่าเวลานั้นมันล่วงไปตามเรื่องของมัน ของธรรมชาติ เอาคืนไม่ได้ เวลาผ่านไปแล้วเอาคืนมาอีกไม่ได้ จึงต้องนึกไว้ว่ามันผ่านไปบัดนี้เราทำอะไรอยู่ การถามว่าทำอะไรอยู่ก็เพื่อให้เกิดความคิดในการที่จะใช้ชีวิตไว้เป็นประโยชน์ด้วยการทำงานทำการทำหน้าที่ คือหน้าที่นั่นแหล่ะเป็นตัวธรรมะ ที่เราจะต้องปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา คือทำอะไรตามหน้าที่ ที่เราจะพึงกระทำ
พุทธบริษัทต้องเป็นคนตื่นตัวว่องไวก้าวหน้า ไม่ชักช้าเฉื่อยชา ไม่หลับไหลมัวเมา เรียกว่าเป็นผู้รู้จักเวลา คนปักษ์ใต้เขาพูดคนไม่รู้จักเวลาว่า คนไม่รู้จักตะวัน แต่ถ้าพูดภาษาใต้ว่าไม่รู้จักวัน ว่าไม่รู้จักวัน แต่สำเนียงมันไม่เหมือนกรุงเทพ เขาเรียกว่าไม่รู้จักตะวัน ตะวันมันอยู่บนหัว เดินอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่รู้จัก คือหมายความว่าไม่รู้จักเวลาว่า เวลาไหนควรทำอะไร และไม่รู้ว่าเวลานั้นมันผ่านไปไม่ได้ไปแต่เวลา แต่ฉุดฆ่าเราไปด้วย เราจึงต้องรีบเร่งทำหน้าที่ตามเวลา มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องทำรวดเร็วไม่ชักช้า สิ่งใดรีบทำต้องรีบทำไม่ชักช้า
พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสเตือนว่า อัชเชวะ กิจจะมาตัปปัง โก ชัญญา มะระณัง สุเว กิจอันใดที่จะต้องกระทำ ทำเดี๋ยวนี้ ทำทันที อย่าช้าเป็นอันขาด เพราะเราไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด ที่สุดของชีวิตจะมาถึงเมื่อใดเราไม่รู้ รู้ไม่ได้ ไม่มีใครกำหนดได้ รู้ได้อย่างเดียวว่าจะถึงวันนั้นสักวันหนึ่ง เวลาหนึ่ง คือต้องตายแน่ๆ เมื่อเรารู้ว่าชีวิตเป็นอย่างนั้นก็ต้องรีบใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็ด้วยการทำงานทำการ ให้ถือว่าเราเกิดมาเพื่อหน้าที่ เราอยู่เพื่อหน้าที่ แล้วก็ทำหน้าที่ไปตามหน้าที่ อย่าได้ทำให้เป็นทุกข์ อย่าทำให้เดือดเนื้อร้อนใจ
คนที่บวชที่วัดนี้เวลาสึกไปก็สอนอย่างนี้ สอนว่าไปทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ให้เรียบร้อย อย่าทำหน้าที่ด้วยความอยากจะได้อะไรตอบแทน เราไม่เป็นทุกข์ เราไม่อยากได้ ถ้าอยากได้แล้วมันก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะไม่ได้ดังใจ ไม่สมหวังดังใจ ก็เป็นความทุกข์เปล่าๆ อย่าไปคิดให้มันวุ่นวาย คิดแต่เพียงว่าวินาทีนี้ฉันมีหน้าที่อะไร แล้วก็ทำหน้าที่นั้นให้สำเร็จเรียบร้อย เมื่อเสร็จแล้วก็นั่งสบายใจ วันหนึ่งๆ สบายใจหลายครั้ง เพราะเราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เสร็จไปๆ คนที่ทำงานอย่างนี้จะไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่เหน็ดเหนื่อยในการงาน เพราะว่าทำด้วยความสบายใจ เพราะไม่ได้หวังอะไร ไม่ได้ต้องการอะไร ทำเวลาไหนก็ได้ ดึกดื่นเที่ยงคืน ลุกขึ้นนั่งทำงาน จิตใจมันก็สบาย ไม่มีความทุกข์ไม่มีความเดือดร้อนใจ
คนที่เป็นทุกข์เพราะทำงานด้วยความอยาก คืออยากจะได้ผลตอบแทน อยากได้เงินเดือน อยากได้เลื่อนชั้น อยากได้ตำแหน่งสูงๆ ขึ้นไป เป็นทุกข์ เมื่อไม่ได้ดังใจก็เป็นทุกข์ ข้าราชการที่ทำงานด้วยความอยากจะได้ เดือนกันยายน (08.28) เป็นเดือนแห่งความเศร้าแห่งความทุกข์เดือนกันยายน (08.33) ทุกข์เพราะไม่ได้ คนที่ได้ก็สบายใจนิดหน่อย แล้วคนไม่ได้ก็ไม่สบายใจ เราจึงควรจะทำใจในเดือนกันยายน (08.42) ให้ดี ว่าเราไม่ได้ต้องการอะไร ทำแต่หน้าที่ แต่ถ้าเขาให้มันก็ดีเหมือนกัน เขาไม่ให้ก็ไม่เป็นไร นึกอย่างนั้นใจสบาย ไม่ต้องโทมนัส ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจ ไม่ต้องเป็นโรคหัวใจวาย เพราะไม่ได้ตำแหน่งที่ตนต้องการ
คนเราเวลาไม่ได้มันคิดมาก คิดอย่างนั้นคิดอย่างนี้ คิดฟุ้งซ่าน คิดฟุ้งซ่านนี่มันเป็นทุกข์ทั้งนั้นล่ะ ไม่ได้เป็นสุขสบายอะไร เพราะคิดมาก ที่คิดมากก็เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์ ไม่รู้ว่าการคิดน่ะมันเป็นทุกข์ ไม่ได้ดังใจก็กลุ้มใจ ทำให้ประสาทเครียด ทำให้หัวใจเต้นไม่ปกติ ทำให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารไม่ดี อะไรทุกส่วนในร่างกายมันวุ่นไปหมด เพราะเราคิดวุ่นวาย หงุดหงิด งุ่นง่าน อารมณ์เสีย นี่มันเกิดเพราะว่าเราไม่รู้เรื่อง ว่าสิ่งนั้นมันเป็นก่อให้เกิดปัญหา แล้วก็นั่งคิดนั่งนึกแต่เรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง สูญไปเปล่าๆ เสียเวลาไปกับการคิดที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราวอย่างนั้น เราก็มีแต่ความร้อนอกร้อนใจ มีปัญหาเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นี่มันเป็นอย่างนี้
ถ้าเราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความทุกข์แบบนี้ เราก็ต้องมีวิธีการในการทำงาน ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า คือสอนให้ทำงานเท่านั้น แต่ไม่คิดว่าจะมีอะไร จะได้อะไร อย่าไปอยากจะมีเข้า อยากจะเป็นเข้ามันยุ่ง อยากมีก็เป็นทุกข์ อยากเป็นก็เป็นทุกข์ทั้งนั้นแหล่ะ นี่เราอย่าไปเที่ยวอยากให้มันวุ่นวาย เราคิดแต่เพียงว่าฉันเกิดมาเพื่อหน้าที่ ฉันอยู่เพื่อหน้าที่ ฉันทำอะไรตามหน้าที่ที่ฉันทำ เมื่อเราคิดอย่างนั้นจะเบาใจ สบายใจ งานหนักกลายเป็นงานเบา งานไกลเป็นงานใกล้ งานยากเป็นงานง่าย เพราะเราไม่ได้คิดอะไรวุ่นวาย คิดแต่เพียงว่า ฉันมีเรื่องที่จะต้องทำฉันทำ ทำให้สบายใจ ทำให้มีความสุขใจ อย่างนี้สบาย
ชาวพุทธเราควรจะอยู่ด้วยความสบายใจ ไม่ควรจะอยู่ด้วยความทุกข์ใจ เวลาใดเราเป็นทุกข์แสดงว่าเราไม่ฉลาดในการดำรงชีวิต กลุ้มใจเป็นทุกข์อะไรก็ตามใจ เวลานั้นไม่ฉลาด พูดแล้วก็นั่งกลุ้มใจก็โง่แล้ว นั่งเป็นทุกข์เพราะเรื่องอะไรก็ตามก็โง่แล้ว ถ้าไม่รู้ก็โง่ไปนานน่ะ แต่พอรู้ตัวเอ๊ะอะไร พอเอ๊ะขึ้นมาทันที เริ่มละๆ เขาเรียกว่าสติมาแล้ว สติคือการฉุดคิดขึ้นมาได้ ว่าเรากำลังคิดอะไร กำลังพูดทำอะไร มันคิดขึ้นมาได้ พอคิดขึ้นมาได้ แสงสว่างเริ่มส่องเข้ามาในใจ แล้วก็คิดตามแนวนั้นต่อไปว่า อะไร สิ่งนี้คืออะไร มันมาจากอะไร และมันให้อะไรแก่ตัวเรา เราก็รู้ ว่ามันให้ความร้อนใจ กระวนกระวายใจ มืดบอด เหมือนท้องฟ้าครึ้มๆ ทำท่าฝนจะตกแต่ว่าไม่ตก
ก็ที่วัดนี้วันนี้ไม่ตก พรุ่งนี้ก็ไม่ตก ไปตกที่อื่น นี่ที่กรุงเทพฝนตก โยมมาจากกรุงเทพบอกโอ้ที่นี่ฝนไม่ตก ที่นู้นตกหนัก มันก็ไปตกที่นู้นแล้วมันจะมาตกที่นี่ทำไม มันเป็นอย่างนั้น คนนี้นั่งเป็นทุกข์ ก็นั่งกลุ้ม กลุ้มไปหมด แสงสว่างไม่มี ธรรมะไม่มี พระพุทธไม่มีในใจ พระธรรมไม่มีในใจ พระสงฆ์ไม่มีในใจ ก็เลยนั่งกลุ้มใจ แต่ว่าพอนึกขึ้นได้ว่าเอ๊ะอะไรกัน เอ๊ะขึ้นมาอย่างนั้น เอ๊ะใจขึ้นมาอย่างนั้น อะไรกันนี่ นั่นเริ่มจะดีละ พอเกิดเช่นนั้นขึ้นมาก็ส่งเสริมต่อไปว่า อะไรกันนี่ คิดดูอะไร อะไรคืออะไร มาจากอะไร มันให้อะไร แล้วเราควรจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไร คิดต่อไปอย่างนั้น มันก็มีแสงสว่างเกิดขึ้นในใจ เพราะได้คิดว่าไม่เป็นเรื่อง
เรื่องนี้เราคิดขึ้นเอง เราสร้างขึ้นมาเอง การคิดให้เป็นทุกข์ สร้างเรื่องเป็นทุกข์แล้วนั่งเป็นทุกข์ มันไม่ฉลาด ไม่ดี เราไม่ควรจะเป็นอยู่อย่างนั้น แล้วก็พิจารณาให้มันลึกซึ้ง ให้รู้เรื่องละเอียดของชีวิตที่เราเป็นเราอยู่ เราก็สบายขึ้น ชาวพุทธเราควรจะอยู่ในรูปอย่างนั้น อย่าได้มีความทุกข์ระทมตรมตรอมใจ ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น ก็อย่าไปเป็นทุกข์กับมัน แต่ทำใจให้ดีไว้ ให้มีปัญญากำกับไว้ ก็จะมีความเบาใจ โปร่งใจ ตามสมควรแก่ฐานะ ให้ได้คิดอย่างนั้น
เวลาที่เราคิดในเรื่องสบายใจทำให้ใจสบาย แต่ว่าความสบายมันก็มี ๒ แบบ เหมือนกัน สบายด้วยปัญญา หรือสบายด้วยอารมณ์ สบายด้วยอารมณ์ก็คือความพอใจ เพลิดเพลินในสิ่งนั้นๆ ไอ้ความพอใจเพลิดเพลินนั้นมันก็ไม่ใช่เป็นความสุขแท้ เขาเรียกว่า นันทิราคะ สะหะคะตา ภาษาบาลีท่านเรียกว่า นันทิราคะ สะหะคะตา แปลว่าเป็นไปกับด้วยความเพลิดเพลินยินดีในเรื่องนั้นๆ เป็นไปกับความเพลิดเพลินยินดีในเรื่องนั้นๆ เมื่อเราเพลิดเพลินยินดีสนุกอยู่ในเรื่องนั้น เราก็นั่งยิ้มสบาย แต่ว่าเรื่องนั้นมันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลง พอสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปเราก็เป็นทุกข์แล้ว
เราเห็นดอกไม้สดชื่นเราพอใจ พอดอกไม้เหี่ยวเราก็ไม่สบายใจ เรื่องอะไรเกิดขึ้นเราพอใจ แต่พอเรื่องนั้นเปลี่ยนไปเราก็ไม่พอใจ ความจริงมันเปลี่ยนอยู่ทั้งนั้น ไม่มีอะไรคงที่ถาวร แต่เราไปยึดถือไม่อยากให้มันเปลี่ยนแปลง อยากให้มันเป็นอยู่อย่างนั้น ให้สวยอย่างนั้น ให้สดอย่างนั้น ให้เป็นอยู่อย่างนั้นมันมีที่ไหน เพราะสิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นหลักที่น่าต้องคิดเหมือนกัน คือคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าอะไร ตัวเรา สิ่งรอบๆ ตัวเรา มีความเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น ไม่มีอะไรคงทนถาวรอยู่สักขณะเดียว สักขณะเดียวมันก็ไม่มี มันเปลี่ยนอยู่ทุกขณะจิตนี่ ทุกขณะเวลานาทีของชีวิต แล้วเราจะไปเที่ยวตู่ให้มันไม่เปลี่ยนได้อย่างไร จะไปหลงผิดว่ามันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง
เราจึงควรคิดแต่เพียงว่า มันเป็นอย่างนั้น มันเปลี่ยนอยู่อย่างนั้นให้เข้าใจสภาพความจริงไว้ ว่าสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไม่คงทนถาวร ได้อะไรมาก็ต้องรีบบอกเสีย เหมือนกับเขาเรียกว่าโลกธรรม โลกธรรมคือธรรมสำหรับโลกมีอยู่ในโลกตลอดเวลา มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีนินทามีสรรเสริญ มีสุขมีทุกข์ นี่เขาเรียกว่าโลกธรรม แปลว่าธรรมคู่กับโลก มันมี ๒ ฝ่าย ฝ่ายชอบใจ ฝ่ายไม่ชอบใจ ฝ่ายชอบใจเรียกว่าอิฏฐารมณ์ ฝ่ายไม่ชอบใจเรียกว่า อนิฏฐารมณ์
อิฏฐารมณ์คือฝ่ายชอบ มีลาภก็ชอบ มียศเราชอบ มีสรรเสริญเราชอบ มีความสุขเราชอบ ฝ่ายนี้เป็นที่ชอบใจ ถ้าว่าเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา เขาว่าร้าย เป็นทุกข์นี่เราก็ไม่ชอบใจ ไม่ชอบในสิ่งนั้น แต่ว่าคนเรานั้นจะมีลาภอยู่ตลอดไปก็ไม่ได้ จะมียศเสมอไปก็ไม่ได้ มีสุขเสมอไปก็ไม่ได้ มีสรรเสริญเสมอไปก็ไม่ได้ ขณะใดใครมาสรรเสริญเราอย่าไปยินดีเข้า ท่านให้คิดว่าเวลามีลาภอย่ายินดีในลาภนั้น ถ้ามีลาภเกิดขึ้นก็รีบบอกตัวเองว่าลาภเกิดขึ้นแล้ว แต่ว่ามันไม่เที่ยง มันอาจจะเปลี่ยนเป็นไม่มีเมื่อใดก็ได้
ได้ยศก็อย่าเมาในยศ ยโส ลัทธา นะ มัชเชยยะ ได้ยศแล้วอย่าเมา เรื่องยศนี่อย่าเมา ถ้าเมาแล้วเป็นทุกข์ มันก็ยุ่ง ถ้าได้มาก็นึกแต่เสียว่านี่เป็นรางวัลแห่งการกระทำดีตามโลกนิยม แต่ว่ามันก็ไม่เที่ยงแท้ถาวรอะไร มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อใดก็ได้ ได้รับคำสรรเสริญเยินยอจากใคร ก็อย่าไปดีใจเข้า แต่ให้นึกว่ามันยอเราต่อหน้า ลับหลังมันก็ด่าเราก็ได้ อย่าไปดีใจ อย่าไปเสียใจกับสิ่งนั้น เวลามีความสุขจากอะไรก็ให้นึกว่ามันไม่แน่ มันคงไม่เป็นอยู่อย่างนี้เสมอไป อาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปเมื่อไหร่ก็ได้ ให้นึกไว้อย่างนั้น ในด้านฝ่ายชอบใจ
ด้านไม่ชอบก็เหมือนกัน เสื่อมลาภก็นึกว่าเรื่องธรรมดา อะไรๆ มันก็ต้องเสื่อมทั้งนั้น ไอ้ที่ไม่เสื่อมมันมีที่ไหนในโลกนี้ สรรพสิ่งทั้งหลายต้องเสื่อม ยศก็ต้องเสื่อม สรรเสริญก็ต้องเสื่อมไป สุขก็ต้องเสื่อมไป อย่าไปเกาะไปติดสิ่งนั้นไว้ ก็ถ้าไปเกาะติดเข้ามันก็เป็นทุกข์เปล่าๆ ไม่ได้เรื่องอะไร แต่คนเรามันชอบเกาะชอบติดชอบยึดในสิ่งนั้นๆ แล้วก็พูดว่า ลืมไม่ได้ วางไม่ได้ ทำไมไม่วาง ทำไมไม่ลืม ไม่ลืมมันก็เป็นทุกข์ แล้วก็นั่งเป็นทุกข์ทำไม ไม่วางก็หนักแล้วไปหนักอยู่ทำไม ไม่คิดอย่างนั้น
ไม่ได้คิดด้วยปัญญาว่าไปจับแบกไว้ทำไม ยึดไว้ทำไม มันเป็นทุกข์เปล่าๆ วางมันเสีย พิจารณาไปตามหลักกฎธรรมชาติ สามัญลักษณะ ที่ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงนี่เราสวดตอนตาย สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารคือรูปธรรมนามธรรม ทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา สวดทุกวัน สวดแล้วต้องคิดตาม เอาไปคิดบ่อยๆ ไม่ใช่สวดเพียงครั้งชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็วางไป แต่เราไปคิดว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันเป็นอนัตตาอย่างไร เอาไปพิจารณา
เห็นต้นไม้ก็มันมีบอกอยู่ชัด ต้นไม้มันมีความไม่เที่ยงปรากฎ มีความทุกข์ปรากฎ มีความเป็นอนัตตาปรากฎ เช่น ดูต้นไม้ต้นหนึ่งมีใบกี่อย่าง ใบสดก็มี ใบเหลืองก็มี ใบแห้งก็มี แล้วที่โคนต้นนั้นมันมีอะไร เช่น โยมนั่งที่ลานไผ่ดูบ้าง ที่ลานไผ่มีอะไรบ้าง มีใบไม้ไผ่หล่นล่วงอยู่มากน้อย พระกวาดทุกวัน วันเสาร์ก็กวาดแล้ว แต่มันก็ล่วง พอกวาดเสร็จมันก็ล่วงลงมาอีก มันก็ดีเหมือนกันทิ้งไว้บ้างโยมได้พิจารณา ได้เห็นว่านี่อ้อใบไผ่มันล่วง ก่อนล่วงนี่มันเป็นอย่างไร มันเป็นใบแก่ ใบเหลือง แล้วก็ล่วงลงมากองที่พื้นดิน ไอ้ใบที่จะล่วงก็มี ล่วงแล้วก็มี ใบที่กำลังออกก็มี นั่นมันเป็นอย่างนั้น
ดูที่ต้นไม้ก็ให้ได้ปัญญา ดูดอกไม้ก็ให้ได้ปัญญา ไม่ใช่ดูแล้วโอ้สวยสดกลิ่นหอม เท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องดูไปว่ามันสวยตลอดเวลาไหม มันสดตลอดเวลาไหม มันหอมอยู่ตลอดเวลาไหม หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ หาได้สวยตลอดเวลาไม่ หาสดอยู่ตลอดเวลาไม่ หาได้มีกลิ่นหอมอยู่ตลอดเวลาไม่ มันก็เปลี่ยนไปตามสภาพ เราซื้อพวงมาลัยสวยๆ มาพวงหนึ่ง บางพวงมาลัยสวยสวยดอกมะลิสดทำอย่างดี เอามาแขวนไว้ ไม่ทันใดก็เดี๋ยวเปลี่ยนไปแล้วเป็นสีดำแล้ว ขึ้นราด้วยนะ เอามาโยมเอามาถวายเอาไปแขวนไว้ที่ฝาข้างที่นั่ง แล้วก็นั่งดูมัน วันนี้ยังเปลี่ยนนิดหน่อย อีกไม่กี่วันก็เปลี่ยนจนดำเหี่ยวแห้ง เอาไปทิ้ง ใช้ไม่ได้ต่อไป มีเชื้อราด้วยอาจจะเป็นโทษแก่ร่างกายก็ได้ เลยเอาไปทิ้งไป มันก็มีสภาพอย่างนั้น
อะไรๆ ก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรที่เรียกว่าคงทนถาวรอยู่ในสภาพอย่างนั้นสักวินาทีเดียว เปลี่ยนอยู่ทุกวินาที เราเห็นอะไรก็เตือนใจได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่าไปเที่ยวติดเข้า อย่าไปยึดเข้าว่าสิ่งนั้นเป็นตัวฉัน เป็นของฉัน เป็นอะไรขึ้นมา เพราะว่ามันไม่ยอมรับกับเรา เราไปตู่มันเองว่าของฉันๆ แต่สิ่งนั้นมันไม่ยุ่งด้วย ถ้ามันพูดได้ว่าอย่ามาเที่ยวคิดอย่างนั้น ฉันไม่เป็นของคุณหรอก มันตอบอย่างนั้น แต่ว่าเราไม่ได้ยินเท่านั้นเอง ที่จริงมันก็บอกว่าอย่ามาคิดอย่างนั้น เดี๋ยวกลุ้มใจเพราะฉันมันเปลี่ยนแปลง ฉันไม่คงที่ ไม่ถาวร ฉันอาจจะตายไปก็ได้น่ะเป็นอย่างนั้น
เราเห็นอะไรเอามาคิดในเชิงปัญญา คิดให้เห็นความจริงของสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง พุทธบริษัทต้องอยู่ด้วยความคิดที่ให้เห็นชัดตามที่เป็นจริงอยู่เสมอ แล้วมันก็สบาย จิตใจสงบ ไม่วุ่นวาย ทำอะไรก็ได้ ต้องทำอย่าอยู่นิ่งอยู่เฉย จะไม่ทำอะไรนั้นไม่ได้ มันผิดหลักการ เพราะงานมันสร้างชีวิต ต้องทำชีวิตให้เป็นงานต่อไป จะอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ว่าผมปลงตกแล้ว หมู่นี้ไม่ทำอะไรแล้ว มันปลงไม่ตกนะ ปลงแบบคนขี้เกียจ ไม่ได้เรื่องอะไร ชีวิตจะเป็นหมัน ไม่ทำอะไรนี่จะเป็นหมัน บางคนก็ผมเบื่อโลกแล้วไม่อยากอยู่บ้านจะมาอยู่วัดแล้ว มันเบื่อไม่ถูกขี้เกียจมากกว่า ไม่ใช่เบื่อโลกอะไร ขี้เกียจ ขี้เกียจทำงานอยู่บ้าน มาอยู่วัดจะได้นอนสบายหน่อย แล้วแบบนั้นมาวัดก็ไม่ทำอะไร บวชแล้วก็นอนๆ อ้วนเป็นหมูไปเลย เพราะว่าเป็นคนไม่ชอบงาน
แต่ถ้าอยู่บ้านขยันมาบวชก็เป็นคนขยันเอางานเอาการไม่อยู่นิ่งอยู่เฉย แล้วก็ทำงานเพลินไปด้วยความสนุกสนานไม่หยุดไม่ยั้ง ดูท่านมหาบุญเลี้ยงเดี๋ยวนี้ไม่ทำแล้วห้าม สมภารห้ามว่าไม่เอาแล้ว แก่แล้ว ทำแล้วทีไรเดี๋ยวไปโรงพยาบาลอีก หยุด ไม่ต้องทำอะไร เดินดูเฉยๆ ดูแล้วบอกให้คนอื่นทำก็ได้ ก่อนนี้เดี๋ยวถือไม้กวาดไปเที่ยวกวาดตรงนั้น กวาดตรงนี้ เก็บเศษกระดาษ เศษอะไรต่ออะไร เดี๋ยวไปล้างจานอีกละ เดี๋ยวไปล้างท่ออีกละ เดี๋ยวไปถูพื้นศาลา ไม่ได้หยุดได้หย่อน ทำงานเพลิน เพลินกับงาน สบายใจ ต่อมาก็แก่มากเข้าก็ไม่สบาย เลยบอกว่าต่อไปนี้สมภารห้ามนะ ไม่ให้ทำนะ ท่านก็หยุดเหมือนกัน หยุด แต่ว่าบางทีก็ไปแอบทำ พอทำก็ขี้ฝุ่นเข้าจมูกก็ไม่สบายอีก เอาส่งโรงพยาบาลให้ไปพักผ่อน กลับมาทำอีกละ นี่เป็นอย่างนั้นพวกขยัน
เห็นพระองค์หนึ่ง โยมจะเห็น พระทิวา วันอาทิตย์วุ่นไม่ขบไม่ฉัน ฉันแล้ว เวลาพระอื่นฉันแกก็ไม่ฉัน เที่ยวดูแลเด็กยกข้าวยกของไปจัดตรงนั้นตรงนี้อีก เอะอะอยู่ตรงนั้นแหละตลอดเวลา นิสัยชอบอย่างนั้น เป็นคนชอบทำงาน อยู่บ้านก็ทำงาน แต่ว่าเบื่อเลยก็มาอยู่วัดก็ยังทำงานอยู่นั่นเอง ขยันว่องไวอยู่ตลอดเวลา คนนิสัยขยันอยู่ไหนมันก็ขยัน คนนิสัยขี้เกียจอยู่ที่ไหนมันก็ขี้เกียจ แล้วก็เมินเฉยไม่เอาใจใส่ไม่ดูไม่แล แม้ที่ตัวอยู่ก็ไม่ปัดไม่กวาด ไม่รักษาความสะอาด นิสัยขี้เกียจ แล้วก็พูดว่าผมมันต้องการความสบายบ้าง สบายด้วยความขี้เกียจมันไม่มีค่าอะไร คนเรามันต้องสบายด้วยการทำงาน ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ด้วยการทำหน้าที่มันก็สบายใจ นั่งเฉยๆ มันจะสบายใจอะไร แก่เปล่า ตายเปล่า
เราใช้เวลาทำงานทำการไป เพลิดเพลินไป ตามเรื่องตามราว ไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ไม่ลำบากใจอะไร เพราะมันสนุกการงาน นี่สนุกถูกต้อง แต่สนุกไปฟังเพลงไปดูหนังไปอะไรต่ออะไร มันสนุกก็ไม่เท่าใด สนุกเวลาได้สมใจ พอแพ้ก็ไม่สนุก เหมือนไปดูมวยน่ะ เขาค้อ เขาค้อเป็นลมลงกลางสนาม คนเสียใจ เพราะว่าคิดว่าวันนี้ต้องชนะ ต้องน็อค แต่ไม่ทันได้น็อค ไม่รู้อะไรมันน็อคก่อน ล้มปึงลงไป ดีนะที่หัวไปติดเชือก หัวไม่ฟาดพื้น เลยไม่เป็นอะไร นี่มันเป็นอย่างนั้น คนฟังก็ไม่สบาย บางคนอาจจะช็อกไปก็ได้ อาจจะช็อกไปยึดถือมาก ยึดถือว่าต้องชนะ ต้องชนะ มันจะชนะได้เสมอไปเมื่อไร คนเรามันต้องแพ้บ้าง
เวลาคิดถึงเรื่องชนะก็ต้องคิดเรื่องแพ้ด้วย คิดเรื่องได้ก็ต้องคิดเรื่องเสียด้วย คิดเรื่องสบายก็ต้องคิดเรื่องความไม่สบายไว้ด้วย คิดถึงเรื่องมีก็ต้องคิดถึงเรื่องความไม่มีไว้ด้วยนะ คิดให้มันคู่กัน เวลาได้ก็ถึงว่า บางคราวมันก็ไม่ได้ เวลามีอะไรหรือบางคราวมันก็ไม่มี เวลาสบายก็นึกว่าบางคราวมันก็ไม่สบาย เขาชมเราบางคราวเขาอาจจะติเราก็ได้ เขาด่าเราก็ได้ อย่าไปถือเป็นอารมณ์ ใครชมก็ไม่ยอมรับ ใครด่าก็ไม่ยอมรับ ฟังเฉยๆ ฟังแล้วไม่ยึดถือ ไม่ยึดถือว่าชมฉัน ด่าฉัน ติฉัน ว่าฉัน เราไม่คิดอย่างนั้น เราเพียงแต่คิดแล้วก็ปล่อยมันผ่านไป นึกว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันใด
อะไรๆ มันก็สามขนาดเท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นวงกลม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันเป็นสังสารวัฏอยู่อย่างนั้น เราจะไปจับตอนใดตอนหนึ่งว่าเป็นของฉันไม่ได้ เพราะไปจับเขาเมื่อใดก็นั่งกลุ้มใจเมื่อนั้นให้สังเกต เวลากลุ้มใจนั้นมันเกี่ยวด้วยว่าฉัน ของฉัน หรือว่ากู ของกู แล้วมันก็กลุ้มใจ ถ้าไม่มีสองตัวนี้มันไม่มีอะไร ไม่มีฉัน แล้วก็ไม่มีของฉัน ไม่มีตัวกู มันก็ไม่มีของกูขึ้นมาทันที พอไม่มีแล้วก็ใจสบาย อยู่โดยสงบ ไม่รัก ไม่ชัง ไม่อยาก ไม่ได้ ตามเรื่องตามราว ทำไปตามหน้าที่ ได้มาก็รู้ว่ามันก็ได้บางครั้ง มันไม่ได้บางคราว ได้มาก็ไม่อยู่กับเรานาน ไม่เท่าใดมันก็จากเราไป คิดว่าอย่างนั้น
สภาพจิตปกติอยู่ตลอดเวลามีความสุข อันนี้ร่างกายภายใน หัวใจทำงานปกติ กระเพาะปกติ ตับไตไส้พุงปกติทั้งนั้น ไม่มีโรคทางประสาท คนเป็นโรคทางประสาทนั้นมันเนื่องจากครุ่นคิด หงุดหงิดงุ่นง่าน มีปฏิฆะคือหงุดหงิดบ่อย มีโกรธบ่อยๆ แล้วก็ยึดถือในเรื่องอะไรรุนแรง ได้รับอะไรก็มาคิดจนปวดหัวปวดตา คิดไม่เข้าเรื่อง คิดว่ามันทำฉันอย่างนั้น มันพูดกับฉันอย่างนั้นอย่างนี้ คิดอย่างนั้น ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง เลยกลุ้มใจด้วยประการต่างๆ เพราะเรื่องนั้นๆ อย่างนี้เรียกว่าไม่ฉลาดในขบวนการทั้งหลายที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราจึงต้องเดือดเนื้อร้อนใจจากเรื่องอย่างนั้น
เรามาคิดกันเสียใหม่ว่ามันไม่มีอะไร ในสิ่งทั้งหลายมันก็เป็นอย่างนั้นตามสภาพของมัน เราอย่าไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่งว่าเป็นเรา แล้วเราก็สบายใจดี นี่เป็นเรื่องที่ควรคิดด้วยปัญญา อยู่ด้วยปัญญามันก็ไม่เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปัญญายะ ปริสุชติ คนบริสุทธิ์ด้วยปัญญา ใช้ปัญญาเป็นเครื่องประกอบความคิดความนึกเราก็ฉลาดขึ้นในเรื่องต่างๆ รู้อะไรตามสภาพที่เป็นจริงมากขึ้น เพราะเราใช้ปัญญา ถ้าไม่ใช้ปัญญาก็นั่งกลุ้มใจ
เช่นว่า ลูกตายหรือใครๆ ตายนี่ สมาชิกในครอบครัวถึงแก่กรรมลงไป บางคนเศร้าโศกเสียใจมากๆ ทำไมจึงเสียใจมาก พูดว่าไม่เคยคิดเลยว่าจะตาย นี่คือผิดแล้วนะ ผิดเรื่องแล้ว ไม่เคยคิดเลยนี่มันผิดแล้ว พระท่านสอนให้คิดบ่อยๆ ให้คิดว่าเราต้องแก่ เราต้องเจ็บ เราจะต้องตาย เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรามีเราได้ เราทำอะไรเราได้อย่างนั้น เราหนีจากผลที่เราทำไม่ได้ นี่ท่านสอนให้คิด แต่เราไม่เชื่อไม่ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วมาร้องไห้บ่นพิรี้พิไรว่าจากไปเร็วเกินไป ไม่คิดเลยว่าท่านจะจากไป ไม่ใช่คิดเฉยๆ ยังไปเขียนไว้ในหนังสือด้วย เขียนไว้ว่าไม่นึกเลยว่าจะจากไปอะไรต่างๆ นานา แล้วมีอะไรอยู่ในบ้านก็สร้างความทุกข์ทั้งนั้น เห็นรูปถ่ายก็เป็นทุกข์ เห็นตู้ใส่เสื้อผ้าก็เป็นทุกข์ เพราะความคิดมันมาก ยึดถือมากเลยก็เป็นทุกข์มาก
มันควรจะคิดว่าไอ้สิ่งเหล่านี้มันเป็นเครื่องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเท่านั้น ไม่มีอะไรคงทน คนเรามันก็ต้องตาย ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา เวลาไปป่าช้าคิดเสียบ้าง ไปเผาศพนี่ไปเรียน ไม่ได้ไปเฉยๆ ไปเรียน ไปศึกษา เอาศพนั่นแหล่ะมาเป็นครูเป็นเครื่องเตือนใจ ให้เราได้คิดว่าเหมือนกันทุกคนเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างนี้ไม่ได้กำหนดเวลาแน่นอน ไม่มีเวลาสำหรับความเจ็บป่วย ไม่มีเวลาสำหรับความตาย ไม่มีเวลาแน่นอนสำหรับอะไรๆ ที่จะเกิดขึ้น เพราะสิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยงนี่ มันจะมีเวลาได้อย่างไร อาจจะเกิดแก่เราเมื่อใดก็ได้สุดแล้วแต่วงจรของชีวิต สุดแล้วแต่เครื่องประกอบที่มันจะไปติดขัดที่ตรงไหน มันก็ต้องเกิดอะไรขึ้นมาสักอย่าง
มันหมุนไปอย่างนั้น ไปติดขัดตรงไหนก็เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็เกิดความตายขึ้นมา เป็นเรื่องอย่างนั้น คิดไว้บ้าง คิดไว้ล่วงหน้าบ้าง เพื่อไม่ให้ต้องเป็นทุกข์ในเมื่อสิ่งนั้นกิดขึ้น ไม่ต้องเสียใจในเมื่ออะไรมันเกิดขึ้นเพราะเราคิดไว้ก่อน แต่โดยมากเราไม่ค่อยได้คิด จึงพูดว่าไม่นึกเลยว่ามันจะตาย ไม่นึกเลยว่าท่านจะตาย อย่างนี้ นี่แสดงว่าไม่คิดถึงพูดอย่างนั้น ถ้าว่า ถ้าเราคิดก็จะไม่พูดอย่างนั้น แต่เราจะพูดว่าธรรมดา พอใครมาส่งข่าวว่าคนนั้นตายแล้ว เราก็พูดออกมาได้ทันทีว่า โอ้ธรรมดาต้องตายทุกคน แสดงว่าคนนั้นคิดอยู่ในเรื่องนั้น จึงพูดออกมาอย่างนั้น
แต่ถ้าไม่คิดอย่างนั้น พอเขามาส่งข่าวว่าคนนั้นตาย โอ้ตายแล้วรึ ไม่น่าตายเลย ก็อยู่ดีๆ นี่นา วันก่อนยังไปเล่นบิลเลียดด้วยกันเลย ทำไมมันตายง่ายอย่างนั้นล่ะ พูดอย่างนั้น พูดอย่างนี้แสดงว่าไม่เคยคิดในปัญหาเรื่องชีวิตนั่นเอง แต่ถ้าคิดไว้จะไม่พูดออกมาอย่างนั้น แต่จะพูดว่า อือธรรมดา มันเป็นอย่างนั้นน่ะ ไม่แต่คนนั้น ฉันก็วันหนึ่ง มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ฉลาดหน่อย พูดอย่างนั้นเรียกว่าฉลาดหน่อย พูดด้วยปัญญา แสดงว่าได้คิดอะไรไว้ ทรัพย์สมบัติอะไรที่เรามีเราได้ไว้ บางทีมันก็หายไป เงินหายทองหายไอ้นู่นไอ้นี่หาย แล้วก็นั่งกลุ้มใจ
กลุ้มใจเพราะอะไร เพราะนึกว่ามันเป็นของฉัน กลุ้มใจเพราะนึกว่าเป็นของฉัน แล้วทำไมไปนึกให้มันกลุ้มใจ เรามานึกเสียว่าไม่ใช่ของฉัน ไม่ดีหรือ เวลาเอามาสวมแล้วยกขึ้น ไม่ใช่ของฉันใส่ชั่วคราว ใส่แหวนชั่วคราว ใส่สายสร้อยชั่วคราว ใส่อะไรชั่วครั้งชั่วคราว วันหนึ่งมันก็หลุดจากของฉัน หรือว่าฉันต้องทิ้งสิ่งนี้ไป บอกไว้อย่างนั้น คิดไว้อย่างนั้น พอมีอะไรเกิดขึ้น ก็อือนึกแล้วว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้ ก็นั่งยิ้มได้สบายใจ เวลาใครถามว่าไม่เสียใจหรือ จะไปเสียใจทำไม ของมันหายแล้ว แตกแล้ว ตายแล้ว จะไปเสียใจทำไม เสียใจให้เป็นทุกข์ทำไม ไม่ได้เรื่อง อย่างนี้มันก็สบาย
แล้วเราเป็นทุกข์ก็ไม่ใช่ว่าคนที่ตายจะฟื้นขึ้นมาได้ ไปนั่งร้องข้างโลง เอามือเกาะโลง แล็ก็พูดพิรี้พิไรรำพันด้วยประการต่างๆ ไอ้คนในโลงจะได้ยินได้อย่างไร มีตาแต่มันดูไม่ได้ มีหูก็ฟังไม่ได้ มีมือก็ยกไม่ได้ มีเท้าก็เคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่ได้เรื่อง ไปพูดกับท่อนไม้ มันได้เรื่องอะไร ถ้าเราไปกอดต้นไม้ท่อนไม้เก่าๆ ร้องไห้อยู่ที่ต้นไม้ ใครมาเห็นเข้าก็ต้องเรียกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศรีธัญญามารับตัวไป เอาไปรักษาหน่อย ว่าคนนี้มันจิตผิดปกติแล้วมานั่งกอดต้นไม้ร้องไห้ เกาะโลงร้องไห้มันก็อย่างนั้น ไม่ได้เรื่องอะไร
เหมือนกับว่าพราหณ์คนหนึ่งแกมีลูกชาย ลูกชายตาย แล้วก็เอาไปฝังไว้ที่ป่าช้า แกไปทุกวัน ไปป่าช้าทุกวัน ไปแล้วก็ร้องไห้ร้องห่มคิดถึงลูกชาย เวลาลูกชายอยู่นี่ไม่ค่อยรักษาเป็นคนขี้เหนียวไม่ให้หมอมารักษา ไปเที่ยวถามเขาเออเป็นเด็กเป็นงั้นกินอะไรดี เขาว่ากินรากนั้นดีกินรากนู้นดีไปต้มมันก็ไม่หาย ลูกตาย ตายแล้วก็ไปร้องไห้ที่ป่าช้า ร้องทุกวันๆ อันนี้ก็เทวดาอยากจะสอนบทเรียนให้หน่อย สอนบทเรียนให้ก็มีวัวตายอยู่ในทุ่ง เทวดาก็ มันอยู่ในเส้นทางที่จะไป เทวดาก็เอาหญ้าเอาน้ำมา แล้วก็ป้อนวัว เอาน้ำป้อนวัวมันก็ไม่กินมันตายแล้ว
พราหณ์คนนั้นมาเห็นไอ้นี่มันบ้า เอาหญ้ามาป้อนวัวตาย เอาน้ำมาป้อนวัวตาย มันจะกินได้อย่างไร พูดออกไปเลยว่าท่านนี่อะไร ทำอะไรน่ะ เอาหญ้ามาให้วัวกิน เอาน้ำมาให้วัวกิน แล้ววัวมันตายแล้วมันจะกินได้อย่างไร แล้วท่านไปไหนไปทุกวันไปทำไม ไปป่าช้า ไปทำอะไรกับลูก ไปคิดถึงลูก ไปนั่งร้องไห้ที่ป่าช้า เอ๊ะท่านกับฉันนี่ใครมันโง่ก้ว่ากันน่ะ ของฉันเห็นตัวอยู่นี่ ฉันมาร้อง ฉันมาทำกับสิ่งที่ฉันเห็นรูปเห็นร่าง ท่านไปทำกับสิ่งที่มองไม่เห็นเลยนี่ ใครมันจะโง่กว่ากันหว่า เลยคิดว่าเอ๊ะจริง ไม่เห็นตัวมันเลยตั้งแต่มันตายแล้ว ไม่รู้มันไปอยู่ที่ไหน แล้วไปร้องไห้ทำไม วัวมันนอนอยู่เขายังคิดถึง เอาหญ้ามาป้อน ยังดีหน่อย ไอ้เรานี่ไม่เห็นเลย ไม่เข้าเรื่อง นึกได้
ความฉลาดมันเกิดขึ้นเพราะได้ปัญญา ไม่เข้าเรื่อง ร้องไม่เข้าเรื่องเลยหยุดร้อง ไม่ต้องร้องต่อไป นี่เทวดามาช่วย เทวดานั้นก็ไม่ใช่ใครลูกชายนั่นเอง ตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์เพราะเวลาที่ใกล้จะตายนี่ได้เห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าแวบมาบิณฑบาตที่นั่น เขาได้หันหน้ามาเห็นพระพุทธเจ้ายกมือไหว้ อะโหพุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระธรรมเป็นที่พึ่ง พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง หลับตาย ไปเกิดสุขติเพราะจิตบริสุทธิ์ขึ้นมา จิตผ่องใส ไอ้เจ้าพ่อไม่เคยเข้าใกล้พระ เลยก็ไปนั่งร้องอย่างนั้น เขาเรียกว่าร้องไม่เข้าเรื่อง
แต่บางทีก็เป็นธรรมเนียมต้องร้อง ชาวจีนนี่ต้องมีคนร้องมากๆ แสดงว่ารักมาก ความจริงไม่ได้รักอะไร ร้องไปงั้น พอลุกขึ้นแล้วไปหัวเราะคิกคักๆ กูแสดงละครให้คนดู ร้อง เอากับข้าวไปวาง เอาชามอ่างผ้าขนหนูไปวาง แล้วก็ร้อง อาเตี่ยอู๊ยอาเตี่ยพร่ำอยู่นั้น เคยเห็นอยู่เลยนึกขำในใจว่าร้องๆ แล้วก็ลุกขึ้นไปก็หัวเราะต่อ คือมันนึกขำตัวเองว่ากูร้องทำไมก็ไม่รู้ เขาประเพณีให้ร้อง ไม่ร้องก็ไม่ได้ สมัยก่อนเวลาพระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยสิ้นพระชนม์ สวรรคต ก็ต้องมีคนมาร้องเหมือนกัน มาถึงรัชกาลที่ ๖ ท่านประกาศไว้ให้เลิกอย่าเอาใครมานั่งร้องต่อหน้าโกศฉัน ก็เลิก ประกาศไม่ให้ร้อง เลยคนก็ไม่ร้อง ไม่ต้องร้องต่อไป คือร้องเป็นธรรมเนียม ให้เห็นว่าท่านมีความดี คนคิดถึง ร้องอย่างนั้น มันไม่ใช่อย่างนั้น
ความดีนั้นใครก็คิดถึงไม่ต้องร้องก็ได้ คิดถึงไม่ร้องดีกว่า แต่ร้องเพราะคิดถึงก็อย่างนั้น ทำด้วยอารมณ์ไม่ได้ทำด้วยสติปัญญา นี่เขาเรียกว่าร้องตามธรรมเนียม ไอ้เวลาอื่นก็นั่งอยู่ดีๆ ได้ พอเข็นศพเข้าเตาเท่านั้นแหล่ะจะไปร้องกันตรงนั้น ตอนยืนรับซองคนนั้นคนนี้หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส พอบอกว่าจะเผาจริงแล้วขึ้นไป พอเข็นก็อูยร้องเพื่อนต้องพยุงมันเป็นอย่างนั้น มันแสดงละครมากกว่า ไม่ได้ร้องจริงจังอะไรหรอก ก็ไม่เสียใจอะไรนี่ คอยไปยืนรับซองอยู่ตลอดเวลา คนนั้นมาใส่กระโปรง กระเป๋า แต่พอเขาบอกจะเผาจริงแล้ว เข็นศพเข้าเตา ไปร้องตรงนั้นล่ะ ไปร้องขึ้นมาได้ คือร้องเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าฉันรักคนที่ตาย คิดถึงท่าน แต่ตอนอื่นไม่ได้คิดถึง เป็นอย่างนั้น ไปแสดงละคร
อย่าทำอะไรด้วยแบบที่เป็นมายา การทำอย่างนั้นเขาเรียกว่าเป็นมายาสาไถ ไม่ดีอ่ะ ไม่ร้องก็ได้ ที่วัดนี้ไม่เปิดโลงให้ดู คือมันไม่จำเป็นจะต้องเปิด เวลาเปิดนี่ แก๊สมันพุ่งออกมา อัดไว้ในโลง พอเปิดออกมาคนก็ไปยืนดม เชื้อโรคมีก็จะเข้าไปในจมูกได้ เลยบอกไม่ต้องดูแล้ว ดูกันมาตั้งนานแล้ว แต่คุณพ่ออายุ ๘๐ ตายแล้ว อยากจะดูหน้าหน่อย บอกว่าแหมไม่ต้องดูในโลง หลับตาก็มองเห็น นึกก็มองเห็นคุณพ่อ ต่อไปจะไม่ต้องคิดถึงกันต่อไปอย่างนั้นหรือ มันก็ต้องดูในใจ มองเห็นภาพในใจ เห็นให้เห็นในใจว่าเป็นอย่างไร
รูปร่างไม่จำเป็นอะไร เราดูความดีดีกว่า มองความดีของท่าน ความดีของคุณพ่อคุณแม่ ปู่ตาย่ายาย ครูบาอาจารย์ เรามองให้เห็นความดี ความดีนี่มันเผาไม่ได้ เผาได้แต่ร่างกาย เผาคุณแม่ก็เผาร่างกายของท่าน เผาคุณพ่อ เผาใครก็ตาม เราเผาร่างกาย ไม่ได้เผาท่าน ไม่ได้เผาความดีของท่าน ความดีเราต้องถ่ายทอดมาใส่ไว้ในใจของเรา มีคนบางคนบอกว่าลูกตาย พ่อแม่เผาลูกไม่ได้ นี่ถือไม่ถูก ถือแบบไม่เข้าใจ ที่เขาพูดว่าพ่อแม่อย่าเผาลูก เขาไม่ได้เผาอย่างนั้น ไม่ได้บอกว่าไม่ให้เผาศพ แต่หมายความว่าอย่าทำให้ลูกเดือดร้อน อย่าตัดอนาคตของลูก ต้องช่วยให้ลูกเจริญด้วยการศึกษา ด้วยสติปัญญา ด้วยความประพฤติดีประพฤติชอบอย่างนั้นไม่เผา
ถ้าพ่อแม่ประพฤติตนเหลวไหล พ่อกินเหล้า แม่เล่นไพ่ ปล่อยให้ลูกอยู่กันตามลำพัง นี่เผาแล้ว เผาลูก เผาไม่ให้ลูกไหม้ไปเลย ไม่ได้เป็นผู้เป็นคนนะ อยู่ก็เหมือนกับตอไม้ไม่ได้เรื่องอะไร มันจึงว่าเผาอย่างนั้น คนโบราณเขาพูดอะไร เขาพูดเป็นปริศนา พูดให้คิด แต่คนไม่คิด ก็เลยทำไปอย่างนั้น เวลาลูกตายบอกว่าผมเป็นพ่อเผาลูกไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้นโยม เขาไม่ให้เผา คือไม่ให้ทำชั่วให้ลูกเดือดร้อน ต้องทำหน้าที่แนะนำลูกให้ทำความดี ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว ให้ศึกษาวิชาการหางานให้ทำ หาคู่ครองที่สมควรให้ มอบเงินให้ไปตั้งเนื้อตั้งตัว นี่อย่างนี้หน้าที่ ไม่ทำหน้าที่ก็เหมือนเผา ทำให้ลูกเดือดร้อน
แล้วลูกก็ไม่ควรเผาพ่อแม่เหมือนกัน คือลูกเผาพ่อแม่ก็คือว่าทำชั่วให้พ่อแม่เดือดร้อน ประพฤติเกเรเกะกะ ขี้เหล้าเมายา เป็นนักการพนัน ติดกัญญา ติดผงขาว พ่อแม่เดือดร้อน นี่เรียกว่าเผาพ่อเผาแม่ เผาก่อนตาย เผาก่อนตายนี่น่ากลัว ตายแล้วเผาร่างกายไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดา อันนี้เราเผาก่อนตายคือประพฤติสิ่งไม่ถูกต้องให้ท่านเดือดร้อน เป็นบาปเป็นโทษ แล้วก็จะได้รับผลตอบแทนต่อไปด้วย เราเผาพ่อแม่ไม่ได้ เผาครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้ เผาสำนักที่เคยอยู่เคยอาศัยก็ไม่ได้
เช่น เราเคยบวชวัดนี้ ออกไปแล้วประพฤติเหลวไหล เหลวไหลเขาก็บอกว่าเคยบวชวัดชลประทานลูกศิษย์หลวงพ่อปัญญา อ้าวเผาท่านปัญญาแล้ว เผาวัดชลประทานแล้ว ทำให้วัดเป็นขี้เถ้าไปแล้ว เสียหาย ทำอย่างนั้นไม่ได้ พวกเราที่จะสึก สึกไปอย่าไปเผา เผาตัวเองก็เผาพระอุปัชฌาย์ เผาอาจารย์ เผาพ่อเผาแม่ เพราะเราเผาตัวเอง เผาตัวเองด้วยไฟคือความชั่ว ไฟกิเลส แล้วก็ไฟความชั่วที่ไหลไปตามอำนาจของสิ่งนั้น เช่น เล่นการพนัน เสพสิ่งเสพติด คบเพื่อนชั่วๆ สนุกสนาน สิ้นเปลืองเงินทอง เที่ยวกลางคืน นี่เผาแล้ว เผาวัด เผาวา เผาอุปัชฌาย์อาจารย์ เผาพระพุทธศาสนาให้เสียหาย
เราจึงไม่ควรอยู่ด้วยการทำลาย ไม่ควรอยู่ด้วยการเผาตัวเอง เผาวงตระกูล เผาประเทศชาติบ้านเมือง แต่เราจะอยู่ด้วยการทำให้ทุกสิ่งดีขึ้น ก็คือทำตัวเราให้เป็นประโยชน์ ไปที่ไหนก็ทำให้มันเป็นประโยชน์ ทำอะไรที่จะเป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ได้จงทำสิ่งนั้น ทำทันที อย่าช้าอยู่เป็นอันขาด คิดว่าจะทำ ก็ทำเข้าไป รีบทำเสียหน่อย ให้มันสำเร็จประโยชน์ขึ้น เพราะความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตไม่เที่ยง ก็ต้องรีบทำ อะไรที่พอทำได้ก็ทำ เราทำเองไม่ไหวมันใหญ่ก็ไปช่วยคนอื่นเขาทำ ใครเขาทำอะไรดีๆ เป็นประโยชน์ก็ไปช่วยกัน อันนี้เรียกว่าเป็นน้ำใจ
ก็เห็นน้ำใจญาติโยมอยู่ ญาติโยมที่เคยฟังธรรมทางวิทยุบ้าง โทรทัศน์บ้าง เห็นใจ มีน้ำใจงาม ที่มานี้มาด้วยน้ำใจทั้งนั้น ไม่ได้มาหวังอะไร ไม่ได้ต้องการอะไร ต้องการจะมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่พระท่านคิดจะทำ นี่มา มาไกลๆ มากันด้วยความลำบาก มาถึงก็มาบอกว่า รู้ว่าท่านจะทำตึกโรงพยาบาลก็พอใจอยากจะมาช่วย นี่มาด้วยน้ำใจ บางคนบอกว่ามีนิดหน่อย บอกมันไม่น้อยโยม ไม่ได้นิดหน่อย ใหญ่ มันใหญ่ที่ใจ ใจที่มา ที่มาไกลๆ นี่ใจมันใหญ่ ถ้าใจเล็กก็มาไม่ได้ แล้วแก่แล้ว บางคนก็แก่ต้องพยุงกันมา มาขึ้นกุฏิก็ต้องพยุงขึ้นไป นี่เรียกว่ามาด้วยน้ำใจ ไม่เคยมาแต่ว่ารู้ว่าจะทำอะไรก็มา ปลื้มใจเหลือเกิน
อาตมาเห็นน้ำใจญาติโยมที่มา ปลื้มอกปลื้มใจ ทำให้อายุยืนขึ้นอีกเยอะ ก็ดีใจในศรัทธาของญาติโยมที่มา มาไม่มาคนเดียวชวนเพื่อนมา มาช่วย มาสร้าง มาทำ เห็นใครที่ไหนมีสตงสตังค์ก็ไปพูดไปชี้แจงเอาไปทำช่วยหลวงพ่อปัญญาบ้าง ท่านจะสร้างโรงพยาบาลเป็นประโยชน์ มากัน ดึงมา มาช่วยกันจัด ช่วยกันทำ น้ำใจทั้งนั้น น้ำใจที่ดีงาม นี่เกิดมาเพื่อสร้าง คนประเภทนี้เกิดมาเพื่อสร้าง ไม่ได้ทำลาย เหลืออะไรไว้ในโลกนี้ เมื่อเราตายไปก็เหลือไว้ในโลกนี้ต่อไป
บรรพบุรุษของชาวเราทั้งหลาย ท่านเหลือไว้เยอะ เป็นสมบัติของชาติ สมบัติทางวัฒนธรรม ศิลปกรรม วรรณคดี อะไรต่างๆ มากมายที่ทำไว้ เช่น วรรณคดี หนังสือที่คนเก่าๆ เขียนไว้ เขียนไว้อย่างมากเป็นประโยชน์ น่าศึกษา น่าสนใจ มีมากมาย ท่านทนเหน็ดทนเหนื่อยเขียนไว้ให้เราได้ศึกษา เขียนภาพสวยๆ งามๆ ไว้ตามฝาผนังโบสถ์ ทำภาพสลักไว้ตามหน้าจั่ว ตามเจดีย์ สวยๆ งามๆ เราก็ได้ศึกษากัน แกะสลักลงไปในหินที่แข็ง แล้วก็ทิ้งไว้ให้ลูกหลานได้ดูได้ชื่นใจ
นี่เป็นผลที่ว่าคนเหล่านั้น คิดว่าเราเกิดมาแล้วจะต้องตาย ทิ้งอะไรไว้บ้าง มีค่าเหลือเกิน ได้เป็นสิ่งล่อใจคนต่างประเทศให้มาเที่ยวเมืองไทย เพราะผลงานของท่านเหล่านั้น ท่านเดินไปในทางที่เสียสละ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น เราก็เดินตามท่านไป ในรูปแห่งความเสียสละอย่างนั้น ทำไว้เพื่อให้คนอื่นได้สบาย เรามันก็ได้ด้วย ได้สบายใจ ทำแล้วสบายใจ สบายใจแล้วก็คนอื่นก็สบายด้วย เราก็ได้รับผลดังที่กล่าว
เพราะฉะนั้นการทำอะไรนี่มันเป็นเรื่องสบายใจ เช่น วันนี้ญาติโยมก็มากัน มาร่วมทุนเพื่อจะทอดกฐินในวันพรุ่งนี้ มาเสียวันนี้เพราะสะดวก ธนาคารเขาก็มาช่วยรับเงินให้ ญาติโยมมาก็สะดวกสบาย มาฟังธรรมด้วย คนที่ไม่เคยมาก็มา เอาปัจจัยมาช่วยมามอบให้ แต่ว่าบางคนเขาก็มาบอกว่าอยากจะให้หลวงพ่อได้รู้ว่ามา เข้ามาถึงนี่ถวายหลวงพ่อ ขอบใจโยม เอาไปที่โต๊ะที่เขานั่งเปล่าๆ ว่างๆ ให้เขาได้เขียน ได้ทำประโยชน์หน่อย อย่าให้เขานั่งเหงาอยู่สองคน ไปช่วยไปทำให้เห็นก่อนว่ามาแล้ว เป็นอย่างนั้น ธรรมดา นี่ธรรมดา
อยากจะให้ถึง คนนั้นเอานั้นเอานี่มาให้ ล้วนแต่เป็นน้ำใจทั้งนั้น เป็นน้ำใจที่ยินดีในการเสียสละ รู้จักคุณค่าของการให้ เป็นเรื่องที่ปลื้มใจ ไม่รู้จะพูดว่าปลื้มใจอย่างไร มันอยู่ในใจของใครๆ เรารู้ ทุกคนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ปลื้มใจอย่างไร ดีใจอย่างไร ในเรื่องที่ทำดี เขารู้กันอยู่ นี่มันเป็นอย่างนี้ จึงเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ว่าเท่าใด ดีใจเท่าไร ปลื้มใจเท่าไร ยินดีในสิ่งนั้นเท่าไร แต่ปลื้มใจว่าธรรมะได้เข้าไปอยู่ในใจญาติโยม ญาติโยมก็เห็นประโยชน์ของธรรมะ แล้วก็ประพฤติธรรม ทำอะไรถูกต้องตามหน้าที่ ก็เป็นความสุขใจ ใครๆ ก็มีความสุขความสบายใจ เรื่องมันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นจึงขออนุโมทนา ในน้ำใจของญาติโยมทั้งหลายทุกถ้วนหน้าที่ได้มาบริจาคทรัพย์เพื่อเข้าส่วนในการสร้างตึก ๘๐ ปี เมื่อเช้านี้อาตมาตื่นตี ๓ ครึ่ง บัญชีมันค้างนั่งเขียนตั้งแต่ตี ๓ จนถึง ๖ โมงเช้า แล้วก็คำนวณดูว่า วันที่ ๒๗-๒๘ นี่ได้มาเท่าไหร่ รวมกับที่ได้มาแล้วเท่าไร ดูแล้วโอ้ ๒๕ ล้านเศษ ๒๕ ล้าน ๗-๘ แสนก็ว่าได้ วันนี้ ๒๖ ล้านแล้วป่านนี้ ๒๗ ล้านเข้าไปแล้วก็ได้ แล้วพรุ่งนี้ก็ยังมาอีก สบายใจ แปลว่าใกล้เข้าไปแล้ว ใกล้ความสำเร็จเข้าไปแล้ว แล้วทำให้ภูมิใจว่าสำเร็จแน่ๆ
ไอ้ชั้นแรกก็ไม่ค่อยจะ ไม่ค่อยจะเชื่อเหมือนกันเลยว่า มันหนักโว้ย ๕๐ ล้านมันหนัก มันจะได้หรือ แต่ว่าพอประกาศออกไป แหมโยมมากันไม่ขาดสาย มากันเรื่อยๆ อาตมาก็นั่งวัด วันเสาร์นี้ไม่ได้ไปไหนเวลานี้ ตื่นเช้ามาแล้ว นั่งเขียน เขียนเอง โยมถามว่าท่านเขียนเอง อาตมาเขียนเองดีสบาย สบายใจ สบายใจที่โยมมาเขียน เขียนกันตลอดจนถึงเย็น เมื่อวานนี้นายชินวัตรเขาจะแสดงเรื่องไลฟ์ทอล์คโชว์บอกให้หลวงพ่อไปดูด้วย ไปไม่ได้ โยมมาไม่ขาดสาย ลุกขึ้นไม่ได้ ต้องขอโทษนายชินวัตรด้วย เพราะเขาจะแสดงเก็บเงินมาช่วยเหมือนกัน เลยไม่ได้ไปดู
เพราะโยมเดี๋ยวมา คนนั้นมา คนนี้ไป คนนั้นมา มากันจนค่ำ ก็เขียนกันจนค่ำ เขียนสมุดเสร็จยังไม่ได้คัดลงบัญชีใหญ่ สามครึ่งตื่นขึ้นคัดลงบัญชีต่อไป ไม่ ไม่มีความทุกข์ โยมบอกท่านเหนื่อย ไม่เหนื่อยๆ โยมบอกว่าท่านทำงาน ไม่เหนื่อย อาตมาไม่เหนื่อย ไม่ได้ทำงานด้วยความเหนื่อยใจ แต่ทำงานด้วยความสบายใจ นี่พูดความจริงคือไม่เหนื่อย ทำเพลินไปมันไม่เหนื่อย สบายใจ แสดงให้โยมรู้ว่าไม่เหนื่อย สบายใจ ยิ่งโยมมาช่วยมากๆ ยิ่งไม่เหนื่อยใหญ่ ยิ่งชื่นใจ เป็นอย่างนั้น เป็นความรู้สึกอย่างนั้น
จึงขออนุโมทนากับญาติโยมทั้งหลายทุกถ้วนหน้า แล้วพรุ่งนี้ว่างก็เชิญมา มาต้อนรับสมเด็จพระเทพหน่อย ท่านมา เห็นคนมากๆ ท่านก็ชื่นใจ สมเด็จพระเทพท่านก็เป็นเจ้าหญิงที่น่ารักน่าเอ็นดู เราก็มาต้อนรับท่านหน่อย มาต้องรับให้ท่านสบายใจ พูดมาก็สมควรแก่เวลาขอยุติแต่เพียงเท่านี้
- ปาถกฐาธรรมประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๒