แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะแล้ว ขอทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของการออกพรรษา สามเดือนผ่านมาเป็นฤดูการเข้าพรรษาของพระ ญาติโยมก็คอยเข้าพรรษาไปด้วย ก็ได้มาวัดรักษาศีลฟังธรรมกันเป็นประจำ ออกพรรษาแล้วก็ควรจะมาตามเดิม เพราะว่าการดำรงชีวิตนั้นต้องใช้ธรรมะอยู่ตลอดเวลา ในพรรษานอกพรรษาก็เหมือนกัน กิเลสอาจจะรบกวนจิตใจเราเมื่อใดก็ได้ เราจึงต้องมีเครื่องมือสำหรับต่อสู้อยู่ตลอดเวลา แม้ออกพรรษาแล้วเราก็ทำตามปกติ ถือว่าเป็นหน้าที่ในการที่จะมาวัด มาศึกษาธรรมะ เป็นเรื่องประจำชีวิต ไม่ให้ขาด ก็นับว่าใช้ได้
เมื่อออกพรรษาแล้วก็มีการทำบุญอย่างหนึ่งกันเป็นประจำ เรียกว่า ทอดกฐิน ทอดผ้าป่ากับกฐินนี่ ผ้าป่ากับกฐินนี่มันมาด้วยกัน แต่ว่าผ้าป่ามาก่อนแล้วกฐินก็ตามมาทีหลัง เนื่องจากว่าการเป็นอยู่ของพระสงฆ์ในครั้งพุทธกาล คือเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ก็ออกไปเทศนาสั่งสอนประชาชน ชั้นแรกก็สอนพวกนักบวชก่อน คือปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ อันมีท่านโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานาม อัสสชิ เป็นสหาย ๕ คน ที่มาร่วมปฏิบัติวัฏฐากพระองค์อยู่ตั้งแต่ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า เพราะว่าได้อาศัยเชื่อคำทำนายว่า ผู้นี้เมื่อโตขึ้นจะเป็น ๒ อย่าง คือ ๑) ถ้าอยู่ครองเรือนจะเป็นจักรพรรดิผู้ใหญ่โดยธรรม ถ้าออกบวชจะได้เป็นบรมศาสดาของโลก
ท่านโกณฑัญญะ เป็นพราหมณ์หนุ่มที่เข้าไปหมู่พรหมณ์ร้อยแปดคนที่เข้าไปฉันอาหารฉลองการต้อนรับเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็ตั้งชื่อว่าสิทธัตถะ ในพราหมณ์ร้อยแปดนั้นเขาเลือกพราหมณ์แปดคน ในแปดคนนั้นโกณฑัญญะพราหมณ์หนุ่มได้ติดเข้าไปด้วย แสดงว่าเป็นคนมีความรู้มีความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการในสมัยนั้น แม้เป็นหนุ่มก็คนนับถือ ได้เลือกติดเข้าไปในพราหมณ์แปดคน ทำนายลักษณะพระกุมารตามตำราพยากรณ์ศาสตร์ แล้วก็พราหมณ์เจ็ดคนยกมือสองนิ้ว ยกว่าสองนิ้วว่า ถ้าอยู่ครองเมืองจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก
แต่โกณฑัญญะพราหมณ์หนุ่มนี่ทำนายยกนิ้วเดียว บอกว่ากุมารนี้เมื่อเติบโตขึ้นจะออกบวชแน่ๆ ยืนยันเลย เชื่อในตำราของตนมากว่าออกบวชแน่ๆ แล้วก็ไปออกบวชคอยอยู่ คอยอยู่ถึง ๒๙ ปีไม่ใช่เล็กน้อย เพราะฉะนั้นเมื่อท่านมาบวชในพระพุทธศาสนานี่ก็อายุมากพอสมควร เพราะคอยอยู่ตั้ง ๒๙ ปี แล้วก็คอยต่อไปอีก ๕ ปี ๓๕ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ๖ ปี คอยอีก ๖ ปี ๒๙ บวก (04.14) ๖ เป็น ๓๕ คอยอยู่ ๓๕ ปี ไม่ใช่เล็กน้อย พอรู้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชก็มาหาเลย มาร่วมมือกันศึกษาค้นคว้าปฏิบัติร่วมแรงร่วมใจกันทำงานค้นคว้าปฏิบัติ แล้วก็ทำตามแบบเก่า คือบำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า ที่เรียกว่าทุกรกริยา
การบำเพ็ญเพียรทุกรกริยาเพื่อให้ร่างกายผ่ายผอม ให้ร่างกายอ่อนแรงลงไป เป็นความคิดเก่าๆ ก็ได้ทดสอบทุกอย่างที่เขาทำกันอยู่ในสมัยนั้น เพื่อจะได้รู้ว่าผลเป็นอย่างไร เมื่อทำไปๆ ก็เห็นว่าไม่ได้เรื่อง จิตไม่ได้หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง เมื่อร่างกายผ่ายผอมไม่มีกำลัง จิตจะแข็งแรงได้อย่างไร ใจที่แข็งแรงต้องอยู่ในร่างกายที่แข็งแรงด้วย ได้ทำมาหลายปีก็ไม่ได้ผล ก็เลยเลิกหันมาเสวยอาหาร พวกปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็นึกว่าไม่ไหวแล้ว ท่านเจ้าชายนี่อ่อนแอ ถอยหลังเข้าคลอง ไปเสวยพระกระยาหารบำรุงร่างกายให้แข็งแรง เราจะอยู่กับท่านต่อไปมันก็ไม่ได้เรื่องอะไรไปดีกว่าเลยหนีหมด ทั้ง ๕ คนหนีไปอยู่เมืองพาราณสี ไปอาบน้ำแม่น้ำคงคาบำเพ็ญความเพียรที่นู้น
พระองค์ก็ทรงทำความเพียรในแนวใหม่จนได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นว่าได้เป็นแล้วก็คิดถึงท่านทั้ง ๕ ว่าเป็นคนที่มีปัญญาแก่กล้าพอสมควร ได้อบรมตนในทางธรรมะมามากพอแล้ว ควรจะไปสอน ลองดู ก็เลยไปสอน แล้วท่านทั้ง ๕ ก็ได้มรรคผลตามพระองค์พระพุทธเจ้าชวนกันจำพรรษาอยู่ที่นั่นเป็นพรรษาแรก เกิดที่เมืองป่า อิสิปตน เมืองพาราณสี แล้วก็ได้ลูกศิษย์จำนวน ๖๐ ท่าน เมื่อออกพรรษาก็ส่งออกไปประกาศธรรมะ เป็นการส่งธรรมทูตชุดแรกออกไปเผยแพร่ธรรมะในประเทศอินเดีย และเป็นชุดแรกในโลกก็ว่าได้ เพราะว่าก่อนพระพุทธเจ้าเกิดนั้น ไม่มีการออกไปเที่ยวสอนคน อาจารย์ต่างๆ ก็ตั้งสำนักเรียกว่าอาศรม อยู่ในป่า ริมแม่น้ำ ลูกศิษย์อยากเรียนก็มาหาอาจารย์ อาจารย์จะไม่ไปหาลูกศิษย์ ไม่ไปหาคน แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านออกไปหาคน นำธรรมะให้ไปถึงคน ให้คนได้เข้าถึงธรรมะ จึงส่งลูกศิษย์ออกไปประกาศ ชีวิตของนักบวชเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
ในประเทศอินเดียก็มีนักบวชอยู่แล้ว ก่อนยุคพระพุทธเจ้ามีนักบวช หลายประเภทด้วยกันเรียกว่าพวกชฎิล พวกปริพาชก พวกอาเจรกพวกภิกษุนี่ก็มีที่เราเรียกว่าภิกษุก็มีเหมือนกัน แต่ว่าไม่มีระเบียบการเป็นอยู่ก็ไม่มีระเบียบ ไม่มีการจัด ต่างคนต่างไปต่างคนต่างทำต่างคนต่างปฏิบัติ ไม่มีหัวหน้า ไม่มีการอยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นคณะ ไม่มีระเบียบในหมู่ในคณะ พระพุทธเจ้าเห็นว่าไม่มีกำลังอะไร อยู่กันอย่างนั้น พระองค์ก็เลยจัดตั้ง เมื่อพระองค์ออกไปสอนก็เลยมีการจัดตั้งในรูปสังฆะขึ้นในรูปใหม่ ภิกษุขึ้นในรูปใหม่มีเป็นหมู่เป็นคณะขึ้นกันตามลำดับความปกครอง ทรงจัดการปกครองให้ดีขึ้น บริหารงานดีขึ้น ประโยชน์มันก็เกิดขึ้นแก่ประชาชน
แต่ว่าในรุ่นแรกๆ นี่ ไม่อยากรบกวนชาวบ้านในเรื่องอะไรมากเกินมาก เพราะเป็นการเป็นอยู่แบบนักบวช เรียกว่าเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่ต้องการปัจจัยอะไรมากนัก ก็เลยไม่ไปรบกวน เช่น เรื่องอาหาร ก็ได้จากการบิณฑบาต การบิณฑบาต ก็ไม่ได้บินประจำ ไปทางนั้น ทางนั้น อยู่ตลอดเวลา ไปตามโอกาส ไปด้านนี้บ้าง ด้านโน้นบ้าง ด้านนั้นบ้าง ไม่ได้บอกล่วงหน้าว่าจะไป ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ไปเป็นสาย ไปเป็นประจำ โยมก็ใส่ประจำ แต่สมัยก่อนนั้นอาจจะไปด้านทิศตะวันออก ไปตะวันตก ไปเหนือ ไปใต้ ไปที่นั่นที่นี่ ไปตามเรื่องของท่าน
การไปบิณฑบาตเรียกว่าไปโปรดสัตว์ เราเรียกกันว่าไปโปรดสัตว์ เพราะถือโอกาสไปสอนคนไปด้วยในตัว ไปบิณฑบาต (09.22) ที่ไหนก็สอนคนที่นั่น ใครเป็นผู้มาใส่บาตรก็ได้รับคำสอน คำเตือนให้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ บางแห่งจะไปสอนเขาแต่เขาไม่ต้อนรับในชั้นแรก กลับดุด่าเอาเสียด้วยซ้ำไป ด่าพระพุทธเจ้าในรูปต่างๆ มากมายก่ายกอง พระองค์ก็ยืนฟังเฉยๆ สงบนิ่ง ไม่แสดงอาการอะไร ด่าๆ ก็เหนื่อย เหนื่อยแล้วก็หยุด พอหยุดแล้ว พระพุทธเจ้าก็บอกว่าพอหรือยังในการที่ท่านด่าเรา บอกว่าพอแล้ว พระองค์ก็บอกว่าท่านรู้ไหมว่าคำที่ท่านด่ามันหมายความว่าอย่างไร บอกว่าไม่รู้ อ้าวฟังหน่อย ก็ว่าให้ฟัง เหมือนพระสูตรที่เรามาสวดที่ลานไพร วสลสูตร สูตรว่าด้วยคนเลว พราหมณ์คนนั้นด่าพระพุทธเจ้ามากมาย แต่ก็ตรัสสอนให้รู้สึกตัว พอรู้สึกตัวก็เลยยอมกราบไหว้พระพุทธเจ้า แล้วก็ประพฤติตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนาต่อไป นั่นเรื่องการบิณฑบาตทรงกระทำอย่างนั้น
บางทีไปไกล เพราะรู้ว่าคนที่ตรงนั้นมีความทุกข์มีปัญหาทางใจ ก็ไปโปรดเขา ก่อนที่จะไปบิณฑบาตตื่นแต่เช้านี่พระองค์ก็ทรงพิจารณา ถ้าในสมัยนี้เรียกว่าวางแผน (10.51) วางแผนว่าวันนี้จะไปสอนใครที่ไหน ใครมีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจอยู่บ้าง การพิจารณาก็เรียกว่ามีพระญาณ ญ.หญิง สระอา ณ.เณร สะกดว่า ญาณะ มันผิดกับคำว่า “ฌาณ” ฌาณนั้น ฌ.กะเฌอ สระอา ณ.เณร สะกด เราว่าฌาณ “ฌาณ” กับ “ญาณ” มันคนละอัน
“ฌาณ” นั้นหมายถึงการเพ่งพิจารณา ใช้ปัญญาเพ่งพินิจในเรื่องอะไรต่างๆ เขาเรียกว่าเข้าฌาณ การเข้าฌาณก็คือนั่งพิจารณา พิจารณาสังขารให้เห็นว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันเป็นอนัตตาอย่างไร นั่งเพ่งพิจารณาอย่างแรงกล้า เรียกว่ามีการเพ่งฌาณ
ตัว “ญาณ” นั้นเป็นผลที่เกิดจากฌาณอีกทีหนึ่ง เพ่งไปก็เกิดความรู้ ผู้เกิดความเข้าใจเมื่อมีความรู้ความเข้าใจเขาเรียกว่าได้ญาณ ได้ญาณ คือได้ปัญญา ญาณกับตัวปัญญานั้นมันอันเดียวกัน เป็นตัวเดียวกัน ได้ญาณก็คือได้ปัญญา เป็นปัญญาพิเศษ อันนี้เวลามีปัญญาแล้วก็สว่างไสวด้วยความรู้ความเข้าใจ ตื่นแต่เช้าพระองค์ก็เพ่งด้วยญาณอันวิเศษ สามารถจะมองไปได้ไกลๆ รู้ว่าใครเป็นอะไร ใครมีความทุกข์ใครมีความเดือดร้อนใจใครมีปัญหาในที่ใด ก็มักจะเสด็จไปสู่ที่นั่น เพื่อไปปลอบโยนเขาด้วยธรรมะ ไปสอนให้เขาเกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ เป็นกิจประจำวันที่ทรงกระทำทุกวัน ทุกเช้าก็ว่าได้ แล้วก็ทรงนุ่งห่มจีวรเรียบร้อยไปบิณฑบาต เรียกว่าไปโปรดสัตว์
พระสาวกทั้งหลายก็ทำตามเหมือนกัน เช้าก็ไปโปรดสัตว์ ไปเทศน์ไปสอนในตอนเช้า แล้วก็รับอาหารเขามา เอามาฉันตามมีตามได้ ไม่ต้องการมากมายอะไร เพราะว่าไม่ได้บอกไว้ล่วงหน้า ไปยืนหน้าบ้านนี้ คอยๆ เจ้าของบ้านเห็นเข้า ก็มารับบาตรเข้าไปในครัว ก็ไปทำปรุงแต่งเป็นอาหารเสร็จใส่บาตรให้ ท่านได้บ้านเดียวก็พอฉัน ไม่ไปบิณฑบาต (13.20) บ้านอื่นต่อไป เพราะพอแล้ว ก็ไปฉันตามสุมทุมพุ่มไม้ริมน้ำ ริมห้วย ที่มีน้ำมีท่าสะดวก ฉันเสร็จแล้วก็นั่งพักตามใต้ร่มไม้ เพ่งพินิจพิจารณาธรรมะต่อไป การเป็นอยู่ในรูปอย่างนั้นเพียงด้วยอาหารไม่มีการสะสม แล้วคนก็ไม่ได้ให้อะไรแก่พระมากๆ เพราะว่าพระก็ไม่มีที่จะเก็บ
แล้วก็ธรรมเนียมของนักบวชในประเทศอินเดียเขาไม่มีสมบัติอะไร มีแต่ผ้านุ่งกับผ้าห่ม บางท่านก็ไม่มีผ้าห่มมีแต่ผ้านุ่งด้วยซ้ำไป บางท่านก็ไม่มีทั้งนุ่งทั้งห่ม เดินตัวร่อนจ้อนไปอย่างนั้นแหล่ะ นี่เป็นนักบวชของศาสนาชัยนะ ลูกศิษย์ของมหาวีระ มหาวีระนี่ก็เกิดรุ่นเดียวกับพระพุทธเจ้า แต่เกิดก่อนพระพุทธเจ้าหน่อย แล้วก็เที่ยวสอนศาสนาเคียงคู่กันไปกับพระพุทธเจ้า บางทีพบกันก็คุยกัน ธรรมะกัน คุยธรรมะกัน บางเรื่องก็ลงกันได้ บางเรื่องลงกันไม่ได้ ไม่เป็นไร ไม่โกรธไม่เคืองอะไรกัน
ลูกศิษย์ท่านมหาวีระยังมีอยู่มากในประเทศอินเดีย ก็เรียกว่าพวกชัยนะ หรือว่าเชนก็ได้ เรียกว่าชัยนะ เรียกให้ถูกเรียกว่าพวกชัยนะ พวกนี้เคร่งครัดมาก แล้วก็เป็นคนที่ตั้งหน้าทำมาหากินประพฤติเคร่งในศาสนา ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เล่นการพนัน ไม่ประพฤติเหลวไหล ตั้งหน้าทำมาหากิน มีความร่ำรวยก้าวหน้า เขามักจะออกเรียกว่าจาริก ธรรมจาริก ไปเที่ยวไหว้พระ ไหว้พระนี่ก็ต้องเดินไป เดินเท้าเปล่า ไม่ให้สวมรองเท้า ปูชนียสถานส่วนมากอยู่บนยอดภูเขาสูงๆ ต้องให้เดินไป เดินแล้วไปพักที่นั่นให้ได้รับความลำบากตรากตรำ ให้เห็นความทุกข์ว่าการอยู่ในโลกนี่มันมีความทุกข์อย่างไร ให้ออกไปเห็นความทุกข์เสียบ้าง แล้วก็จะได้เจียมเนื้อเจียมตัว จะได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบไม่สร้างปัญหา ไม่สร้างความทุกข์แก่ใครๆ
นักบวชของพวกนี้มีอยู่ ๒ พวก พวกหนึ่งไม่นุ่งผ้าเลย พวกหนึ่งนุ่งผ้าขาว แล้วก็เลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาตเหมือนกัน นักบวชที่ไม่นุ่งผ้านี่ไม่มีบาตรใส่อาหาร ไม่มีภาชนะ ไปถึงก็มือรับเลย คนก็ใส่ในมือ แล้วยกมากิน กินอย่างนี้ กินๆๆๆ กินหมด เติมใหม่ แล้วก็น้ำแกง น้ำอะไรไหลตามข้อศอก ไหลลงไปตามแข้งตามขา กินเข้าไปอย่างนั้นแหล่ะจนอิ่ม พอกินอิ่มแล้วก็ชาวบ้านก็เอาน้ำมาให้ล้างมือล้างแข้งล้างขา แล้วก็กราบก็ไหว้ กลับไปหาที่พักร่มๆ
พอถึงฤดูหนาว ก็ต้องเดินหนีหนาวลงไปที่มันไม่หนาวเกินไป ไปอยู่อย่างนั้น อยู่แบบไม่นุ่งผ้า ไม่มากนักบวชอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มีในอินเดียวสักสี่ห้ารูปเท่านั้นเอง ไม่มากอะไร แล้วไม่ค่อยเดินจุ่นจ้าน ไอ้ที่เราไปเห็นเขาถ่ายภาพมาว่าไม่นุ่งผ้า ไม่ใช่ นั้นมันพวกนักบวชชั้นต่ำ ไม่ใช่ชั้นสูงอะไร แต่พวกพระเชนนี่เป็นพวกนักบวชชั้นสูง มีปัญญามีความสามารถมีความรู้ ไม่ใช่คนโง่เง่าเต่าตุ่น แต่เขาไม่ออกมาอวดคน เขาหลบคน ออกมาเวลาบิณฑบาตเท่านั้นหาอาหาร หรือว่าถ้าใครจะไปหาก็ไปอยู่ที่ท่านแอบอยู่วิเวก ก็ไปคุยธรรมะธรรมโมกันตามเรื่อง เป็นอย่างนั้น
ส่วนนักบวชในพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าให้แต่งตัวเรียบร้อย คือมีผ้านุ่ง มีผ้าห่ม เรียกว่ามีสองผืนที่สำคัญ แล้วก็หน้าหนาวต้องเพิ่มมาอีกผืนหนึ่งเรียกว่าสังฆาฏิ สังฆาฏินั้นเป็นผ้าคลุมนั้นเอง เหมือนกับผ้าเสื้อคลุมสำหรับคลุมหน้าหนาว เพราะหน้าหนาวนี่อากาศมันเย็นมากในประเทศอินเดีย ผ้าจีวรกับสบงห่มไม่พอ อันนี้ผ้าคลุมนี่ให้ทำเป็นผ้าสองชั้นหนาหน่อย สมัยก่อนผ้าฝ้ายสองชั้นมันก็หนาหนัก แต่ว่าวางบนบาตรหนักไปเลยทีเดียว แต่เวลาเดินทางเอามาคลุมหัวต่างร่ม ไปนั่งตรงไหนก็ปูนั่ง เวลานอนถ้าไม่ใช่หน้าหนาวก็ปูนอน แต่ถ้าหน้าหนาวก็พับอีกทีหนึ่งกลายเป็นสี่ชั้น ผ้าสองชั้นพับอีกทีก็กลายเป็นสี่ นั่งกลางแจ้งสองชั้นเปียกแต่อีกสองชั้นไม่เปียก กันหนาวได้ ท่านให้มีครบชุด แล้วก็ต้องนุ่งห่มเรียบร้อย เข้าบ้านห่มเรียบร้อย เดินไปไหนก็ห่มเรียบร้อย มีมารยาทสวยสดงดงาม
ตอนนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากต้นโพธินี่ ไปพบอาเจรก ซึ่งเป็นนักบวชประเภทหนึ่ง เห็นหน้าตาผ่องใสสะอาดนุ่งห่มเรียบร้อยก็สงสัย เลยถามว่า โอ้น่าดูหน้าตาท่านผ่องใสเหลือเกิน ท่านเป็นลูกศิษย์ใคร ท่านบวชกับใคร ชอบใจธรรมะของใคร ก็สงสัย พระองค์ตอบว่าเราเป็นสยัมภูผู้รู้เองในโลก จะไปอ้างใครว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ได้เล่า ตอบว่าเป็นสยัมภูหมายความว่าเป็นธรรมะที่ได้รู้คิดเอาเองค้นเอาเอง จนเกิดปัญญาเกิดความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้ง และเมื่อรู้แล้วมันก็ไม่มีความทุกข์ต่อไป จะไปอ้างใครว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ไม่ได้ เป็นคำตอบที่เหมือนฟ้าผ่าลงในประเทศอินเดียในสมัยนั้น
อันนี้เป็นเครื่องแสดงถึงการแต่งเนื้อแต่งตัวว่าเรียบร้อย ผิดกับนักบวชของศาสนาฮินดู ซึ่งลุ่มล่าม เนื้อตัวนี้ก็เปื้อนไปด้วยขี้เถ้า เอาขี้เถ้ามาทาหน้าผาก ทาแขน ทาหน้าอก แล้วไว้ผมก็ลุ่มล่ามรุงรัง เหมือนกับพวกฮิปปี้อะไรอย่างนั้น พวกฝรั่งฮิปปี้ไปเห็นนักบวชฮินดูก็ชอบเหมือนกัน แลว่ามันเข้ากันได้ ลุ่มล่ามเหมือนกัน ก็พอไปอยู่กันได้ แต่อยู่ไปๆ ศึกษาไป มันก็เบื่อ เพราะว่าธรรมะไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ก็ไปหาของอื่นต่อไป
พระพุทธเจ้าท่านเป็นอยู่อย่างสะอาดเรียบร้อยมีระเบียบ ทุกอย่างดี แต่ว่าไม่ให้รบกวนชาวบ้าน เช่น เรื่องผ้านุ่งผ้าห่มไม่รบกวน ให้ไปเก็บผ้าบังสกุลมาใช้ เพราะฉะนั้นเวลาบวชนาคใหม่ๆ พอบวชเสร็จเขาเรียกว่าบอกอนุศาสน์ บอกอนุศาสน์ คือบอกกิจที่ต้องทำ ๔ อย่าง ทำไม่ได้ ๔ อย่าง กิจที่ทำได้คือ ๑) เรื่องการบิณฑบาต ๒) นุ่งห่มผ้าบังสกุล ๓) อยู่โคนไม้ ๔)ฉันยาดองด้วยน้ำมูตร เรื่องแรกก็คือเรื่องบิณฑบาตเพราะเราเลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาต พระไปบิณฑบาตไม่ใช่ไปขอทาน ไปโปรดสัตว์ไม่ใช่ไปขอทาน คนที่ให้ก็ให้ด้วยความเต็มใจ ให้แล้วนั่งลงยกมือไหว้ เพราะให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้เป็นการส่งเสริมศีลธรรม เพิ่มแสงสว่างขึ้นในโลก
เหมือนเอาน้ำมันไปเติมตะเกียงในโบสถ์ในวิหารเติมแล้วไฟมันก็ลุกสว่าง ถ้าเราไปตามโบสถ์วัดมหายานในกรุงเทพ เขามีที่ใส่น้ำมันมะพร้าวแล้วก็คอยจุดไว้เรื่อย คนไปทุกคนต้องซื้อน้ำมันมะพร้าวไปเติมนิดหนึ่ง นั่นมันเป็นปริศนาธรรม เป็นการบอกว่าศาสนาเป็นแสงสว่างของโลก เราต้องช่วยเติมไว้อย่าให้ศาสนาดับ เหมือนเราเติมตะเกียงในน้ำมันไม่ให้แสงดับ นี้เติม เติมตะเกียงของพระศาสนาก็ต้องช่วยกันศึกษา ช่วยกันปฏิบัติ ช่วยกันเผยแผ่ให้แพร่หลายออกไป ตัวศาสนาก็จะคงอยู่ในโลกเป็นแสงสว่างของโลกต่อไป ก็ทำไว้อย่างนั้น
เราสวดมนต์ตอนเช้าก็มีคำหนึ่งว่า ธัมโม ปะทีโป วิยะ ตัสสะ สัตถุโน แปลว่า พระธรรมของพระศาสดาสว่างรุ่งเรืองเปรียบดวงประทีป ธรรมะเป็นดวงประทีปส่องทางให้โลกได้รับแสง ได้เห็นแสงสว่าง แล้วได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบ เราก็ต้องช่วยเติมน้ำมันให้ตะเกียวลุกโพงไว้ การถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระก็เหมือนกับช่วยเติมตะเกียงอันหนึ่งให้มีแสงสว่างต่อไป ให้พระมีชีวิตอยู่ได้พอสมควร ไม่ใช่ให้มากเกินไปทำให้เป็นภาระ สมัยก่อนให้พอดีๆ ท่านก็อยู่ได้ อันนี้ส่วนจีวรนั้นท่านไม่ให้ไปขอจากชาวบ้าน แต่ให้ไปเก็บผ้าบังสกุล
ผ้าบังสกุลแปลว่าผ้าเปื้อนขี้ฝุ่น เปื้อนสิ่งสกปรก เช่น ผ้าที่ห่อศพ มันก็เปื้อนศพ ผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกองขยะมูลฝอย มันก็เปื้อนด้วยสิ่งโสโครก ให้พระไปเที่ยวเก็บผ้าเหล่านั้นเอามาตัด เก็บเอามาแล้วก็มาซักมาฟอก เอามาตัดเย็บเป็นจีวรเรียกว่าผ้าบังสกุล พระมหากัสสปะซึ่งเป็นพระที่เคร่งครัดมาก เป็นพระที่ทรงธุดงค์ประพฤติธุดงค์ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นยอดสาวกแห่งการสมาทานธุดงควัตร ท่านใช้ผ้าบังสกุลตลอดไป แม้จะมีคนถวายท่านก็ไม่รับ ท่านใช้ผ้าอย่างนั้น แล้วผ้าสังฆาฏิของท่านนี่หนักมาก เวลาแก่ลงพระพุทธเจ้าว่ากัสสปะผ้าสังฆาฏิของเธอหนักเกินไป อายุมากแล้วลำบาก เปลี่ยนใช้ผ้าที่มันเบาๆ เถอะ ท่านก็บอกว่าพอทนได้ แล้วก็จะใช้อย่างนี้ตลอดไปเพื่อเป็นแบบอย่างแก่พระองค์อื่นๆ ว่าแม้เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ก็ยังประพฤติเคร่งครัว ปฏิบัติตามแบบที่พระพุทธเจ้าวางไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
ผ้าพระได้มาใช้อย่างนั้น ใครจะเอาผ้าไปถวายไม่ได้ จะซื้อมันก็ไม่มีซื้อ สตังค์ก็ไม่มีด้วย เพราะฉะนั้นจึงอยู่ด้วยการนุ่งห่มผ้าบังสกุล ชาวบ้านอยากถวายแก่พระจะทำอย่างไร เอาไปถวายก็ไม่ได้ ก็เลยหาอุบายเอาผ้าใหม่ๆ นั่นแหล่ะ แต่ไปทิ้งไว้ที่กองขยะมูลฝอย เอาไปทิ้งไว้ตามซากศพ เอาไปพาดไว้ตามกิ่งไม้ในป่า พระเดินมาเจอเข้าก็ชักเอาเป็นผ้าบังสกุล ใช้คำพูดว่า “อิมัง ปังสุกุละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ” ผ้านี้เป็นผ้าถูกทอดทิ้งไม่มีเจ้าของ เราถือเอาในฐานะเป็นผ้าเปื้อนฝุ่น แล้วก็ชักเอาไป ไปตัดไปเย็บ ไปทำจีวรกัน ชาวบ้านก็ชอบเอาไปทิ้ง พระอยู่ที่ไหนก็เอาไปทิ้งไว้ กลางคืนก็เอาไปทิ้งไว้ เพื่อให้พระเอาไปใช้นั่นแหล่ะ นี่เขาเรียกว่าทอดผ้าป่า คือเอาผ้าไปทิ้งไว้ในป่า เรียกว่าทอดผ้าป่า สืบต่อมาจนกระทั่งบัดนี้
แต่ผ้าป่าในสมัยนี้เอากิ่งไม้เล็กๆ ใส่โอ่งมาใบหนึ่ง ใส่ถังพลาสติกบ้าง ของอื่นใส่ไว้ข้างล่างเป็นปุ๋ยนิดหน่อย แล้วเอาผ้าสบงซักตัวหนึ่งพาดไว้ เอาผ้าขนหนูเย็บเป็นลิงเป็นค่างเป็นกระต่ายแขวนพะรุงพะรังไว้ แล้วเอามาทอด ทอดก็เจาะจงไปทอดหน้ากุฎินั้นกุฏินี้เป็นของเจาะจงไป สมัยก่อนเขาไม่เจาะจงใคร เขาไม่ทอดเจาะจงใคร แล้วคนสมัยก่อนแม้ในเมืองไทยก็ชอบหยอกพระเหมือนกัน หยอกพระให้กลัวเล่น เขาไปทอดผ้าป่า เขาไม่ไปวางไว้ข้างกุฏิ นู้นไปวางไว้ในป่าช้า ป่าช้าสมัยก่อนไม่เหมือนสมัยนี้มันรกน่ะ ถ้าว่าไม่มีใครตายก็ไม่มีใครถางเข้าไป ถางเฉพาะทางเดิน เอาศพไปเผา นอกนั้นรกเป็นพงน่ากลัว
เขาก็เอาเครื่องผ้าป่าไปวางไว้ในป่าช้า แล้วก็ปักธูปไป ปักธูปไปจนถึงกุฏิเลย พอถึงเวลาก็จุดลูกประทัดปึงๆๆๆ พระก็ตื่นขึ้นเห็นธูปอ้อเขามาทอดผ้าป่าก็ต้องเดินไป บางทีเขาแกล้งพระบวชใหม่ไปจุดตรงใกล้ห้องพระบวชใหม่ พระบวชใหม่ตื่นก็ถามพระบอกอะไร นิมนต์คุณมาชักผ้าป่า อยู่ที่ไหน ไปตามธูปไปเถิด พระก็เดินขาสั่นกลัวผี เดินไปตามธูปแล้วไม่ปักตรงนะ ปักไปนั้น คดไปโน้น เลี้ยวไปโน้น เดินอ้อมเสียใหญ่ แล้วให้เดินในป่าทั้งนั้น เดินไปยังไม่พบ ตามธูปไป พอไปถึงก็เขาเอาผ้าป่าไปวางไว้ตรงไหน ใกล้โลงศพ
ศพสมัยก่อนเขาไม่ได้ฝังดินก่อนเผาน่ะ เขาเอาไปเทินไว้คือทำเป็นเสาไว้สี่เสา มีรอบ แล้วไปวางไว้บนนั้น ศพไปวางไว้บนนั้น ข้างล่างโลงก็ไม่มี ไม่มีกระดานลอง ฝาก็ไม่มีกระดานปิด เขาวางไว้อย่างนั้น พระก็เดินเข้าไปกลิ่นก็ฉุยเข้าไป แล้วเอาผ้าป่าไปวางไว้ข้างโลกน่ะ พระหนุ่มๆ ก็ตกใจกลัวน่ะ ความจริงชาวบ้านแอบหัวเราะอยู่แถวนั้นเขาไม่ได้ไปไหน เขาคอยดูอาการพระจะทำอย่างไร ไปชักแล้วจะทำอย่างไร เขาแกล้งไง แกล้งพระทำอย่างนั้น
สมัยนี้ไม่ค่อยมีคนแกล้ง คือมันจริงนั่นน่ะ ไม่รู้จะไปวางไว้ตรงไหน เช่นวัดชลประธานวางตรงไหนก็ไฟมันสว่างทั้งนั้นพระจะกลัวอะไร ไม่เอาไปวางไว้ที่เก็บศพ พระก็ไม่กลัวเพราะไฟมันสว่าง ผีไม่มีเวลาสว่าง ผีมีเวลามืด เรากลัวความมืด ไม่ใช่กลัวผีอะไร เขาทำอย่างนั้นกัน ทอดผ้าป่ากันบ่อยๆ โดยมากใกล้จะออกพรรษา เขาทอดผ้าป่าแบบนั้นเพื่อให้พระได้ไปชักข้าวของนิดๆ หน่อยๆ ไม่ค่อยมีอะไร แต่สมัยนี้ผ้าป่ามันก็ใหญ่แล้ว ทอดผ้าป่า พันกองบ้าง หมื่นกองบ้าน สี่พันแปดร้อยกองบ้าง กองละร้อยน่ะ ทอดเอาเงินไม่ใช่เรื่องอะไร เอามากๆ ให้คนได้ทำบุญจะไปทอดที่นั่นที่นี่ เป็นธรรมเนียมอย่างนั้นเรียกว่าผ้าป่า ผ้าป่ามันมาก่อนกฐิน
ต่อมาก็มีเรื่องเกิดขึ้นที่ได้อนุญาตให้พระรับผ้าจากชาวบ้านได้ ก็เรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์นี่ หมอชีวกโกมารภัจจ์นี่แกเป็นคน มารดาแกเป็นผู้หญิงโสเภณี แต่ว่ามีท้องขึ้นมา ผู้หญิงโสเภณีเขามีลูกชาย เขาไม่เลี้ยง เขาเอาไปทิ้ง แม่ของโกมารภัจจ์มีลูกชายเขาเอาไปทิ้ง ทิ้งไว้ที่กองขยะ เป็นบุญของเด็ก วันนั้นเจ้าชายในเมืองมคตออกมาแต่เช้า ออกมาเดินแต่เช้า มาเห็นกาอุ้มบุญอยู่ตรงนั้น เด็กมันนอนร้อง กาก็อุ้มอยู่ (29.45) กาไม่จิกลูกตาเสียก็ดีถมไป ไปถึงเห็นเด็กน่าเอ็นดูเลยเอามาเลี้ยง เลี้ยงไว้จนกระทั่งเติบโตขึ้นได้ศึกษาเล่าเรียน แล้วก็ส่งไปอยู่ในสักนักตักศิลา เป็นมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นนะทิศาปาติโมกข์อาจารย์ทั้งหลายอยู่ในที่แห่งนั้นก็ไปเรียน แล้วก็ไปเรียนเป็นหมอ เรียนเป็นแพทย์แผนโบราณ เรียนกับอาจารย์จนจบหลักสูตร
พอจบหลักสูตรแล้วอาจารย์ก็ทดสอบว่าเธอเดินไปทิศตะวันออกสิบไมล์ เก็บเอาต้นไม้ที่ไม่เป็นยามาให้ฉันสักอย่าง ไม่มี เดินแล้วหาไม่ได้ เป็นยาทั้งนั้น ไปทิศตะวันตก ไปทิศเหนือ ไปทิศใต้ ให้เก็บต้นไม้ที่ใช้เป็นยาไม่ได้มาให้ฉันสักอย่างหาไม่ได้ กลับมาบอกอาจารย์หาไม่ได้อาจารย์ โอ้ เธอจบแล้ว เรียกว่าจบด้านเภสัชแล้วกลับบ้านได้ แกก็เดินทางกลับบ้าน แล้วก็รักษาคนป่วยกันมาเรื่อยๆ จนถึงบ้าน ได้เป็นแพทย์ประจำพระองค์พระเจ้าพิมพิสาร
ต่อมาได้ไปรักษาพระเจ้าจันฑปัชโชต กรุงอุชเชนี หายโรคเรื้อรัง พระเจ้าจันฑปัชโชตเลยประทานผ้าไหม ๓๐ พับ กองแล้วนั่งมอง โอ๊ย ห่มจนตายก็ไม่ไหว ผ้ามากมายอย่างนี้ ก็นึกถึงพระว่าท่านไม่ค่อยจะมีผ้าจะนุ่งจะห่ม เที่ยวเก็บจากกองขยะมูลฝอย ได้เล็กบ้างใหญ่บ้าง ไม่เรียบร้อย อยากจะเอาผ้านี้ไปถวายแต่ถวายไม่ได้ เพราะยังไม่ทรงอนุญาต ก็เลยเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าขอพร ขอพรว่าอยากจะขอพรสักข้อหนึ่ง พระองค์ก็ถามว่ามีเหตุและผลเป็นอย่างไร ก็เล่าให้ฟัง ท่านก็ทรงอนุญาตว่าเอาตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เราอนุญาตให้พระรับผ้าจากชาวบ้านได้ พระก็เลยรับผ้าจากชาวบ้าน หมอก็ถวายเป็นองค์แรก ถวายผ้าทั้ง ๓๐ พับเลย ไม่เอาไว้ใช้เลยสักผืนเดียว พระก็เอาไปตัดแบ่งกันทำสบงจีวรได้ใช้สอย นับว่าหมอนี่เป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้าอย่างนั้นแก่พระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ เป็นการให้พร
ไอ้เรื่องพรนี่สมัยก่อนมีขอบ่อย นางวิสาขาขอพรบ่อยเหมือนกัน ขอหลายเรื่อง เช่น เห็นพระไม่สวมรองเท้าเดินเท้าเจ็บมาช้ำเลือดช้ำหนอง นางเห็นเข้าก็สงสาร เลยไปขอพรจากพระพุทธเจ้าว่า ขอให้พระมีรองเท้าใช้สำหรับเดินทางหน่อย พระองค์ก็อนุญาตให้ พระอาบน้ำไม่มีผ้าอาบน้ำ เปลือยกายอาบกันเวลาฝนตก สาวใช้ไปเห็นเข้า ความจริงแกใช้ไปนิมนต์พระมาฉัน ถึงเวลาแล้ว สาวใช้ไปดู ไม่มีพระสักองค์ มีแต่พวกอาเจรก คือนักบวชที่เปือยกาย ชื่อเขาเรียกว่าอาเจ เขาเรียกว่าอาเจรก
กลับมาบอกว่าแม่นายไปนิมนต์พระที่ไหนมาฉัน ในวิหารไม่มีพระสักองค์เลย มีแต่อาเจรกทั้งนั้น นางรู้ว่าฝนมันตก พระอาบน้ำชายคา เพราะฝนตกอาบสบายหน่อย ก็เลยว่าเออเดี๋ยวฝนหายเธอไปก็แล้วกัน พอฝนหายก็ไป พระนุ่งห่มเรียบร้อยแล้ว ก็เลยนิมนต์มาฉันได้ เรื่องมันเป็นอย่างนั้น นางก็เลยขอพร พระพุทธเจ้ามาฉันด้วย ก็ขอพรว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปพระไม่มีผ้าสำหรับอาบน้ำน่าเกลียด อยากจะขอให้มีพระเพิ่มผ้าอีกสักผืนหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็อนุญาต เลยได้ถวายผ้าวัสสิกสา ใกล้เข้าฤดูฝนเราถวายผ้าอาบน้ำฝน นางวิสาขาขอไว้ให้พระได้ถวาย
แล้วพระท้องมันว่างนาน ฉันอาหารมื้อเดียว ตื่นเช้าท้องมันว่าง ก่อนไปบิณฑบาตก็ไปไกลกว่าจะได้ฉันอะไร นางก็สงสารพระ เลยไปขอพรว่า ขออนุญาตเลี้ยงพระเช้าๆ หน่อย เลี้ยงยาคู ยาคูคือข้าวต้มเหลวๆ ซุปข้าว พูดสมัยนี้เรียกว่าซุปข้าว ต้มให้เหลวแล้วเอามาเลี้ยงพระ พระพุทธเจ้าบอกว่าฉันข้าว ข้าวต้มเช้าๆ นี่ดี อนิสงค์หลายอย่าง นางก็ได้ถวายเป็นคนแรก และคนอื่นถวายต่อมา เช้ามืดถึงถวายเลย
บ้านเราเมืองเราจึงมีถวายอะไรเช้าๆ บ่อยๆ เมืองนครศรีธรรมราช พอฤดูหนาวเรียกว่า ทานไฟ ทานไฟ คือให้ไฟเป็นทาน ให้ไฟเป็นทานก็คือมาทอดขนมครกนั่นเอง มาทอดขนมครกที่ในวัด เขามาทอดในวัดเลย คราวนี้ก็พระสงฆ์ก็ได้ผิงไฟ ไปนั่งคุยกับคนทอดขนมครก ผิงไฟไปด้วยในตัว เขาเรียกว่าทานไฟ อันนี้ก็เป็นเรื่องให้เช้าๆ ไม่ฉันอื่น ฉันขนมครกก่อน เลยทานไฟกันเช้าๆ อะไรอย่างนี้ เป็นตัวอย่าง เพื่อสงเคราะห์พระนั่นเอง นี่เรื่องเกี่ยวกับสบงจีวรก็มีการทอดผ้าป่ากฐิน กฐินมันมีทีหลัง
กฐินนี่เนื่องจากว่าพระ ๓๐ รูปเป็นชาวเมืองปาฐา คิดถึงพระพุทธเจ้า ก็เดินมา เดินด้วยเท้า เดินมาถึงวัดสาเกตุ ก็ถึงวันเข้าพรรษา เลยก็ต้องอยู่จำพรรษาเดินต่อไปไม่ได้ผิดพระวินัย แต่ว่าในขณะที่อยู่จำพรรษานั้นก็คิดถึงพระพุทธเจ้าเต็มแก่ พอออกพรรษาปุ๊บก็ไปเลย เดินทางโคลนมันยังมีฝนยังตกเฉอะแฉะ แข้งขาเปื้อนโคลน สบงจีวรเปื้อนโคลน ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เราเห็นแล้ว ทำไมอะไรมา เลยถามว่าทำไมพวกเธอมาแข้งขาเปื้อนโคลน สบงเปื้อนโคลนอย่างนั้น บอกว่ารีบมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะความคิดถึง พระองค์ก็เลยบอกว่าไม่เหมาะ ออกพรรษาแล้วใหม่ๆ ไม่เหมาะจะมา
ก็เลยบอกว่าทีนี้ออกพรรษาแล้วยังไม่ไปไหนก่อน ให้อยู่อีกเดือนหนึ่ง อยู่ทำอะไรอีกล่ะ ให้อยู่ทำจีวร เพราะว่าฤดูฝนมันมีสี่เดือน ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่ง (36.28) เดือนแปด ถึงกลางเดือนสิบสองเป็นฤดูฝนมีสี่เดือน เข้าอยู่พรรษาสามเดือนทิ้งท้ายไว้เดือนหนึ่งเพื่อให้พระมีอิสระได้ทำจีวรกัน เรียกว่าจีวรสมัยบ้าง จีวรกาลสมัยบ้าง เป็นฤดูสำหรับทำจีวรกัน พระก็เลยทำจีวร ชาวบ้านก็เอาผ้ามาถวายกัน ถวายพระทำจีวร
พระในสมัยก่อนนั้นมีฝีมือ ตัดผ้าเย็บผ้าย้อมผ้าทำเองทั้งนั้นทำเอง ไม่มีคนทำให้ สมัยก่อนไม่มีจักร แล้วก็ไม่มีเสาชิงช้าเหมือนกับสมัยนี้ ไม่มีใคร พระพึ่งตัวเอง ช่วยตัวเองทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ในเมืองไทยก็มีพระสำนักอาจารย์ชา หลวงพ่อชาที่อุบลฯ ท่านสอนพระให้ตัดเย็บจีวรได้เอง พระฝรั่งที่ไปอยู่เมืองอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะไปซื้อผ้าที่ไหน เพราะว่าไม่มีสบงขาย แล้วสบงบ้านเรา จีวรบ้านเรา ซื้อส่งไปท่านก็ใช้ไม่ได้ มันนุ่งตัวไม่อุ่น ผ้าที่เราส่งไปให้ ใครจะไปทอดกฐินเมืองอังกฤษ อย่าเอาผ้าไปเลย เอาไปท่านก็ไม่รับ ท่านส่งกลับ บอกฝากกลับคืนเมืองไทยด้วย เพราะว่ามันบาง ผ้าบ้านเรามันบางเอาไปใช้ไม่ได้ ท่านเย็บไว้เอง
เช่นว่า วัดอมาราวดีที่พระฝรั่งอยู่นี่ แต่ถ้าไปซ่อนวัดไทยพุทธประทีปเอาไปได้ พระท่านใช้ แต่ว่าวัดอมาราวดี ซึ่งพระฝรั่งอยู่ท่านไม่ใช้ ท่านเย็บ เขามีผ้าหนาๆ เขาทออังกฤษ โรงงานนี้เป็นของชาวลังกา ย้อมสีไปเสร็จ สีอย่างนี้เลย ทอเสร็จเป็นผืนสีอย่างนี้เลย เอามาถวายวัดเป็นม้วน ม้วนขนาดอย่างนี้ เป็นผ้าม้วนมากมาย พระก็เอามาตัดเป็นจีวร พอถึงฤดูกฐินก็ตัดเตรียมไว้ แล้วโยมไปถวายกฐินเอาผ้านั้นแหล่ะถวาย สบงก็หนา จีวรก็หนา ห่มแล้วมันอุ่นดี ของบ้านเราไม่ได้ หลวงพ่อไปถ้าห่มผ้าเมืองไทย ไปถึงก็เก็บพับเรียบร้อยใส่ตู้เลย เขาเปลี่ยนให้ชุดหนึ่งสำหรับห่มอยู่ที่นั่น พอจะกลับก็เปลี่ยนคืน เอาของเรามาห่มต่อมาขึ้นเรือบินต่อมา มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องเตรียมของหนาๆ ไปถวายท่าน
แต่ว่าไม่ต้องก็ได้ เอาเงินไปดีกว่า ถ้าจะไปทอดกฐินเมืองอังกฤษ วัดฝรั่ง เตรียมเงินไปทอดให้ท่านได้ใช้ สบงจีวรท่านก็เย็บตัดเอง เย็บเป็นทุกรูป เขาหัดกันเย็บ เย็บเก่ง เย็บจักรด้วยนะ ทำเรียบร้อย เก็บไว้ให้ ทำได้อีก พระโบราณก็ทำอย่างนี้แต่ไม่มีจักร ใช้เข็มเย็บ ชั้นแรกก็เย็บให้มัน ตัดก่อน ตัดเป็นรูปเป็นผืน จีวรนี่มันหลายห้วง สั้นบ้างเล็กบ้างที่ทำอย่างนั้นก็เพราะว่าผ้ามันเล็ก จะเอาใหญ่ทีเดียวมันก็ไม่ได้ แล้วผู้ที่ออกแบบจีวรนี่คือพระอานนท์ พระอานนท์เป็นผู้ออกแบบ
ครั้งหนึ่งพระอานนท์กับพระพุทธเจ้าพักอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฎ ในเมืองราชคฤห์ ยอดเขาคิชฌกูฎอยู่บนสูงมองลงไปไกลเห็นทุ่งนา เห็นทุ่งนาของเมืองมคต แล้วก็เห็นคันนาของชาวมคต พระพุทธเจ้าบอกว่า อานนท์เธอเห็นคันนาของชาวมคตไหม เห็น เธอจะทำจีวรให้เหมือนคันนาของชาวมคตได้ไหม พระอานนท์บอกว่าทำได้ ก็เลยวางแบบตัดจีวรเป็นรูปต่างๆ รูปห้วงยาว ห้วงสั้น ห้วงเล็ก เขาเขาเรียกว่าขัน ช่องเขาเรียกว่าขัน ขันสั้นก็มีขันยาวก็มีสลับกันไป เช่น ตรงนี้สั้น ตรงนี้ยาว ตรงนี้สั้น ตรงนี้ยาว สลับกันบนล่าง แล้วก็ติดกระดุมสำหรับกลัดให้มันติดกันเวลาห่มแล้ว เย็บเสร็จแล้วก็ย้อม
สมัยก่อนนี่ย้อมด้วยอะไร ดิน ย้อมด้วยดิน จะไปต้มน้ำมันก็ไม่ได้ จะไปต้มแกนขนุนย้อมผ้าก็ไม่ได้ ดินนี่ ดินสีแดงนี่ ดินแดงๆ เอามาขยำกับน้ำ ขยำเข้า แล้วก็เอาผ้าลงย้อม ย้อมหลายๆ ครั้งมันก็ติด ติดแล้วก็ห่มได้ เป็นสีดินแดง สีดินแดงส่วนมากสมัยนั้น สีเหลือยจ๋อยไม่มี พระพุทธเจ้าและพระสาวกในสมัยก่อนนั้นไม่ได้ใช้ผ้าสีเหลืองแจ๊ด เดี๋ยวนี้พระใช้สีเหลืองเยอะ ในกรุงเทพมีใช้หลายวัดรวมหัวกันใช้สีเหลือง ไม่ใช้สีอย่างนี้เพื่อจะไม่เหมือนเพื่อน ไม่ใช่เรื่องอะไร ใช้อยู่ด้วยทิฐิความคิดเห็นของตัว เหลืองจ๋อย ดูแล้วก็ไม่สวยเท่าใด มองมัน ถ้าเป็นชาวบ้านก็สวย ผู้หญิงใส่เสื้อเหลืองๆ สีชมพู สีแดง มันเข้าที แต่พระเราห่มเหลืองจ๋อยไม่เข้า มันต้องสีมัวๆ หน่อย สีดินแดง พระพุทธเจ้าท่านใช้ดินให้พระย้อมดินซะก่อน ทำอย่างนั้นเป็นเครื่องสำหรับใช้ เย็บเป็นสบงผืนหนึ่ง จีวรผืนหนึ่ง สังฆาฏิสำหรับห่มคุมอีกผืนหนึ่ง ทำกฐินก็ทำ
แต่ว่ากฐินนี่ผ้าผืนเดียวก็ได้ ไม่ต้องทั้งไตร สำเร็จประโยชน์เป็นกฐินนั้น แม้สบงผืนเดียวก็ได้ จีวรเพียงผืนเดียวก็ได้ เราไปถวายเป็นผ้ากฐิน พระท่านก็ใช้ประโยชน์ได้ เราจึงได้ทอดกฐินกันอย่างที่ทอดกันอยู่ในสมัยนี้ แต่ว่าสมัยนี้มันพัฒนา กฐินก็ดี ผ้าป่าก็ดี ไม่ได้มุ่งถวายผ้าแล้ว ผ้าพระไม่ค่อยขาด เดี๋ยวนี้สมบูรณ์ใช้กันเหลือเฟือ แต่ต้องการปัจจัยเพื่อเอาไปสร้างวัตถุในวัด ทอดกฐินเพื่อสร้างโบสถ์ ทอดผ้าป่าเพื่อสร้างโบสถ์ กฐินวัดนี้ ปีนี้ก็ยกประโยชน์ให้เขาไปเลย คือให้ไปสร้างโรงพยาบาล ตึก ๘๐ ปีซะเลย พระไม่ต้องการปัจจัยปีนี้ ยกให้เขา เรียกว่าพร้อมใจกันยกให้
ช่วยกันสร้างสิ่งประโยชน์แก่ส่วนรวมคือชาวบ้าน เป็นการตอบแทนบุญคุณญาติโยม เพราะญาติโยมเลี้ยงกันมาหลายๆ ปีแล้วทั้งนั้น เราก็ตอบแทนบ้างด้วยการช่วยสร้าง แต่ว่าไม่ใช่ของพระเอง ของโยมนั่นแหล่ะ เอาประเป๋าโยม อัฐยายก็ไปซื้อขนมยาย ยายก็ไม่ได้กำไรเท่าไร เพราะว่าอัฐของยาย แต่ว่าพระช่วยล้วงมาหน่อย ล้วงมากันคนละแสนสองแสน เอามาก็เอาไปสร้างตึกให้โยมใช้อีกต่อไป แต่ว่าพระเป็นเหมือนแม่เหล็กดูดเงินมาจากโยมอีกทีหนึ่ง แล้วเอาไปสร้างต่อ กฐินวัดนี้ก็มุ่งอย่างนั้น
บางคราวก็ทอดผ้าป่าช่วยเหลือกิจการสาธารณกุศล หรือว่าเอาไปช่วยตามบ้านนอกบ้านนา เขาขาดแคลนอะไร ขาดแคลนอะไรก็ไปช่วย เช่น ไปทอดผ้าป่าสวนโมกข์เพื่อซื้อที่ดินเพิ่มให้ได้เป็นสถานที่สำหรับพระพวกฝรั่งมาศึกษาปฏิบัติธรรมะ เดี๋ยวนี้สมบูรณ์แล้ว ใช้ได้เรียบร้อยแล้ว มีอาคารพร้อม มีไฟฟ้า มีน้ำ มีอะไรพร้อม ฝรั่งมาอบรมทุกเดือน บางเดือนก็ตั้งร้อย ไปเห็นแล้วก็น่าชื่นใจ นั่นเป็นประโยชน์ที่เราช่วยกันทำ กฐินอย่างนั้น ผ้าป่าอย่างนั้น เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม จึงได้ทำกันอยู่ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
เมืองไทยนี่เป็นเมืองที่ทอดกฐินอยู่ประจำ เมืองอื่นไม่ค่อยมี ประเทศลาวนี่มีเจ้าเหมือนกันแต่ไม่เคยทอดกฐิน ไม่เคยทอดกฐิน หลวงพ่อไปเมืองลาวก็ไปถาม เจ้ามหาชีวิตทอดกฐินปีละกี่วัด พระบอกไม่มีสักวัดหนึ่ง ไม่ได้ทอดเลย ไม่มีการทอดกฐินที่ประเทศลาว ประเทศพม่าก็ไม่ค่อยได้ทอดกันเท่าใด ลังกาก็ไม่ค่อยมี เขาไม่ค่อยทอด บ้านเมืองไทยเราทอดกฐินทุกปี ถือว่าเป็นงานสำคัญของวงการพระศาสนา
พระมหากษัตริย์ท่านทอดมาก เรียกว่าทอดตั้งสองร้อยกว่าวัด วัดหลวงในเมืองไทยมีสองร้อยกว่าวัด แต่พระองค์เสด็จประมาณสิบสองวัด วัดใหญ่ๆ วัดเบญจมบพิตร วัดโพธิ วัดบวรนิเวศน์ วัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพ วัดสุทัศน์นี่ท่านเสด็จเอง แต่ว่าโปรดให้คนอื่นไปบ้าง โปรดให้พระบรมราชินีบ้าง พระพี่นางบ้าง เจ้าฟ้าเทพบ้าง ไปกัน ประธานองคมนตรีบ้าง ส่วนนอกนั้นก็ประธานกระทรวงทบวงกรมให้นำไปทอดตามวัดต่างจังหวัด ซึ่งมีวัดหลวง ถ้าจะมอบให้ธนาคารไปทอดมันค่อยยังชั่วหน่อย เพราะว่ามีบริวารแนบท้าย ถ้าเป็นกระทรวงทบวงกรมก็นิดๆ หน่อยๆ บริวารไม่ค่อยมากมายอะไร เอาผ้าไปถวายอย่างนั้น นี่เป็น เรียกว่าพัฒนามาเป็นกฐินเพื่อปัจจัยสำหรับซ่อมแซมเสนาสนะอะไรไปต่างๆ
แล้วก็มีกฐินทัศนาจร นู้นไปอินเดีย ไปทอดวัดไทยพุทธคยา ไปทอดนาลันทา ไปทอดสาวัตถี ไปกันหลายแห่ง วัดไทยนั้นก็มีท่านเจ้าคุณ เจ้าคณะจังหวัดพระนคร ท่านเคยเป็นสมภารวัดไทย เดี๋ยวนี้ก็ยังดูแล ท่านก็ไปทอดเหมือนกัน แต่ว่าหัวหน้าก็คือท่านกงศุลไทยกัลกัตตาเป็นผู้ทอด ที่นาลันทานี่ก็คณะนายสุพจน์ เขารับเหมาไว้ไปทอดทุกปี สาวัตถีก็คณะเรียกว่าบ่อยทัวร์สยามอินตรชัย เขาก็จะไปทอดกันที่วัดสาวัตถี ส่วนวัดที่พาราณสีนั่น มีวัดท่านพระครูประกาศสมาธิคุณ ตายแล้ว แต่ว่าลูกศิษย์ก็ไปทอดทุกปี ผูกขาด ผูกขาดนะไปทอดทุกปี จัดทัศนาจรไปทอดกันให้คนได้ไปเที่ยว ไปเตร่ไปนมัสการสังเวชนียสถาน เรียกว่ากฐินทัศนาจร
แล้วก็มีอยู่คนหนึ่งมาบอกหลวงพ่อว่าจะนิมนต์ท่านหลวงพ่อไปด้วย ไปทอดที่ชิคาโก บอกว่าไปจัด ไปทำ แล้วก็มาบอกจนบัดนี้ไม่มาเลย หายไป ท่านพระครูมงคลโสภิต ซึ่งเป็นหลวงพ่อของดอกเตอร์สุนทรนี่ โทรมาเมื่อวานบอกว่าเตรียมเงินไว้แล้วจะนำมามอบเจ้าคุณให้เอาไปทอดกฐินวัดพุทธธรรมที่ชิคาโก จะไปวันไหน บอกว่ายังไม่รู้ว่าจะไปวันไหน เพราะคนที่มาบอกว่าจะไปทอดหายไปเลย ไม่เห็นมาบอกเลย จนป่านนี้ น่าจะล้มเหลวไปแล้ว บอกเงินนั้นเก็บไว้ก่อนก็แล้วกันครับ เมื่อใดผมไปค่อยนำไปถวาย ไปสมทบ ช่วยเหลือวัดต่อไป คงจะเข็นไม่ไหวเพราะมันไกล ไปอเมริกานี่ค่าเรือบินมันแพง คนที่จะไปได้ต้องเป็นขั้นมีเงินเหลือกินเหลือใช้แล้วก็ไปทอดก็ต้องเอาเงินไปมากหน่อย ชิกาโกมันไกล ไปลอสแอนเจลิสยังใกล้ ไม่ไกลเท่าไร นี่มันอยู่คนละฝั่งไปไกลมาก ก็เลยเห็นจะเป็นพับไป ไม่ได้ไปทอดเป็นอย่างนั้น
ส่วนในบ้านเมืองของเราก็ทอดกันทุกวัดทุกวา นี่วันนี้พุทธบริษัทขาดไปบ้างเพราะคงจะไปกฐินวัดใดวัดหนึ่ง วันอาทิตย์ก็มักไปกฐินนะ เมืองไทยนี้กฐินไกลๆ กฐินไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปไหนๆ แต่ก็มีคนบางประเภทหาโอกาสเหมือนกัน ทอดกฐิน สมภารเดือดร้อนไปพบวัดที่จังหวัดขอนแก่น บ้านนอกหน่อย เขาไปทอดกฐินกัน ไปนอนคืนหนึ่ง แล้วทอดเช้า แล้วก็เดินทางต่อไปเที่ยวเวียงจันท์ ทัศนาจร เวลากลางคืนฉลองกฐิน นิมนต์พระสวดมนต์แล้วก็ประกาศดังๆ ถวายพระสวดมนต์รูปละ ๕๐๐ ถวายซองเรียบร้อยใส่ซองปิดเลย ปิดเรียบร้อย ห้าร้อยๆ พระก็รับซองไป เอาไปวางไว้ ยังไม่เปิดดู ใจเย็นไม่เปิดดูอะไร
แล้วก็พอถึงเช้าขึ้นก็ทอดกฐิน พอทอดกฐิน ถวายองค์กฐินหนึ่งพัน ผู้สวดองค์ละห้าร้อย แล้วก็พระหัตถบาทองค์ละร้อยๆ แล้วถวายวัดห้าหมื่น สมภารนั่งยิ้ม ห้าหมื่นก็พอใช้ เรียกว่าพอชื่นใจ แต่ว่าพอไปแล้วก็ถวายซองไว้ ทั้งหมดใส่ซองเรียบร้อย เขียนหัวกฐิน ทำเรียบร้อย เก่งดี พอไปแล้วสมภารแกะออกดูอะไรได้ ถวายวัดได้เพียงห้าพันเท่านั้นเอง ห้าหมื่นมันลดลงห้าพัน มันลบศูนย์ออกตั้งตัวหนึ่งเหลือห้าพัน ถวายพระอุปปัจสมภารหนึ่งพันเหลือหนึ่งร้อย คู่สวดเหลือห้าสิบ ลูกวัดสิบทั้งนั้น สิบบาทๆ ไปเปิดซอง พอสมภารเปิดลูกวัดก็บอกไปเปิดดูหน่อย มาบอกสาวไปทั้งวัด สิบบาท สิบบาท สมภารจะเป็นลม
ได้เงินห้าพันมันไม่พอใช้ก็ต้องเลี้ยงกี่มื้อ วันทอดไปถึงก็หนึ่งมื้อแล้ว แล้วมื้อหนึ่งก็ต้องทำกับข้าวอย่างดี ไก่ปิ้งไก่ต้ม ไม่รู้จะกินอะไรกัน ไก่ทั้งนั้นแหล่ะ แล้วก็อาหารมื้อเย็น แล้วก็มื้อเช้า แล้วก็ยังให้ไปกินในรถอีก ให้ไปกินในรถ ไก่ปิ้งไปในรถมากมายให้เต็มที่ น้ำท่าก็ต้องไปหามาใส่ห้องน้ำไว้ ทำห้องน้ำ ทำที่ถ่าย ลงทุนทั้งนั้นแหล่ะ ลงทุนไปตั้งหมื่นกว่า ได้ห้าพันมันไม่คุ้มน่ะ สมภารโอย เอาน้ำลูบอก พอไปคุยเรื่องนี้ ไอ้กฐินแบบนี้ผมชักจะไม่ค่อยชอบแล้ว สมภารบอกว่าไม่ค่อยชอบแล้ว ไปแล้วจะเอาอะไร ทอดกฐินแบบนี้ กฐินทัศนาจรแบบนั้นก็มี แล้วก็ประกาศ โยมก็สาธุกัน สาธุกัน นึกว่าถวายมาก เปล่าไปใส่ซองจริงๆ มันนิดเดียว หลอกทั้งพระหลอกทั้งโยมด้วย แหมแย่มาก เจ้ากฐินนี้ป่านนี้คงจะไปอยู่ยมโลกแล้ว ไปถูกนายนิรยบาลสอบสวนใหญ่แล้วตอนนี้ ไอ้อย่างนี้มันก็ไม่ไหว ทำอะไรให้มันตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ สุจริตหน่อยจึงจะดี
เคยไปทอดกฐินที่พัทลุง ข้างโรงเรียนบ้านนั้นมันเป็นบ้านเกิดของตระกูลคุณพ่อโยมผู้ชายเกิดที่นั่น พวกก็มาหา บอกว่าโรงเรียนมันไม่มีหลังคา ไม่มีฝา มีแต่เสาโด่เด่ แล้วก็จะทำด้วยไม้ปลวกกินหมดไม้อย่าเอาเลย สร้างตึก สร้างเสร็จไม่มีตังค์ เอาจะหาให้ ก็เลยเรี่ยไรโยมนี่ ออกวิทยุเรี่ยไรไปทอดกฐิน พอลงรถนี่เขาตกใจ เป็นอะไร มาสามองค์เท่านั้นแหล่ะ พระสามองค์ ชาวบ้านไม่มีสักคนหนึ่ง รถมารับสิบคัน มารับส่งเป็นแถว นึกว่าแหมเจ้าคุณปัญญามาขบวนใหญ่ รถสิบคัน ความจริงของส่งไปหมดแล้ว ของพวกบริขารนี่ส่งไปหมดแล้ว เท่าว่าไปวัดแล้ว ไปเอาแต่เงิน เอาเงินเอา …... (53.17) ไปใบเดียว มันไม่มีต้นเงิน ต้นอะไร ต่ออะไร พวกนั้นใจเสียหมด โอ้ตายแล้ว กฐินเจ้าคุณนี่แย่ๆ แย่ แต่ว่าพอไปถึงถวาย บอกเค้าว่าได้เงินกี่แสนนี่ เขาดีใจกันน่ะ เพราะเราไม่ไป ไม่ต้องการไปเบียดเบียนเขา ไม่ต้องการให้เขาจัดรับคนเดือดร้อน โยมจะไป โยมอย่าไปปักษ์ใต้ฤดูนี้ฝนตกน้ำท่วม ไปแล้วจะติดน้ำติดท่าจะลำบาก เอาเงินดีกว่า เลยเอาแต่เงินไปทอดสบาย นี่ครั้งหนึ่งทอดได้สร้างโรงเรียนเรียบร้อย เดี๋ยวนี้เด็กได้ใช้
ทีหลังไปทอดศาลาวัด คูหาสวรรค์ หล่อเพดานคอนกรีตเลยจะได้ใช้ไปก่อน หลังคาไม่มี เลยเอาไปทอดกฐินให้ทำหลังคาเสร็จเรียบร้อย ก็ไปอย่างเดิมนั่นน่ะ แต่เขาไม่ตกใจว่าเออกฐินท่านปัญญาก็แบบนั้นล่ะ ไม่มีคน ก็เลยได้เงินไม่พอ ทอดกฐินเสร็จแล้วเรียกช่างมาประมูลเลย เหมาไปเลย ทำให้เสร็จ ก็ทำเรียบร้อยสบายใจ ทำอย่างนั้น อาตมาชอบอย่างนั้น ชอบไม่ให้ต้องจ่าย ไม่หักจ่าย ได้เงินมาแล้วก็ไม่หักจ่าย เหมือนกับญาติโยมทำบุญสร้างโรงพยาบาลไม่หักจ่ายอะไร ได้มาก็ฝากธนาคาร ฝากธนาคาร ฝากเรื่อยไป เวลานี้ก็ได้ยี่สิบล้านแล้ว ยี่สิบล้านนี่พอคบหนึ่งล้านถอน ฝากสามเดือน ได้ดอกไว้หน่อย ดอกไว้สมทบ สมทบดอกมันเพิ่ม ดอกมันเพิ่ม มันต้องรู้จักหมุน ให้มันเกิดประโยชน์ เรื่องเงินเรื่องทองนี่ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ต้องเป็นนักเศรษฐกิจกับเขาหน่อย แล้วก็มันได้มาเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ เดี๋ยวนี้ได้ทั้งหมดยี่สิบล้านก็ฝากประจำสามเดือนๆ แล้วก็ได้ดอกสมทบๆ มันก็เป็นยี่ห้อพราหมณ์ขึ้น (55.20) พูดมาก็สมควรแก่เวลา
- ปกฐกถาธรรมประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๒