แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้อากาศสบายไม่ร้อน และฝนไม่ตก มันครึ้มๆ สบายดี แต่คงไม่ตกเพราะว่าตกเมื่อคืนพอแล้ว อ่า! วันนี้อากาศดีคือไม่มีแดด ฝนก็ไม่ตก แดดนี่คนก็ไม่ค่อยชอบ ฝนก็ไม่ชอบเหมือนกัน อันนี้มันระหว่างไม่มีแดดไม่มีฝนก็เรียกว่าดี อยู่ในท่ามกลางอุเบกขา นั่งฟังสบายขออย่าตกเลยวันนี้ เพราะเมื่อคืนก็ตกพอแล้ว แล้วค่อยตกวันอื่นต่อไป ตกเสียให้หมดก่อนวันที่ ๓๐ ตุลาคม เพราะวันที่ ๓๐ นี่เป็นวันสำคัญ เจ้าหน้าที่เขามาดูบริเวณเรียบร้อยแล้ว กะว่าจะทำอย่างไร เสด็จมาถึงนั่นเข้าไปในโบสถ์ทอดกฐิน คือท่านทอดที่ในโบสถ์ ญาติโยมก็มารออยู่ที่ลานไผ่ ท่านเสด็จมาเยี่ยมประชาชน มาแจกของขวัญที่ลานไผ่จัดไว้เรียบร้อย แต่ถ้าเกิดฝนตกขึ้นมาก็มาตรงนี้เลย มาตรงนี้ แจกกันตรงนี้เลย เอ้า! วางแผนไว้เสร็จเรียบร้อยเผื่อว่าฝนจะตก แต่ไม่ตก วันทอดกฐินไม่ค่อยตก มันตกก่อนหรือตกทีหลัง วัดชลประทานนี่มันก็ดีอยู่เหมือนกัน วันไหนคนทำบุญสุนทานฝนก็ยกเว้นให้ ไปตกที่อื่นตกดอนเมืองบ้าง หลักสี่บ้าง อะไรแถวโน้น หอบข้ามไปเหมือนกับอั้นไว้อย่าตกตรงนี้เลย ไปตกตรงโน้น เพราะเราจะได้สบาย เพราะเรามาทำดีกันก็ได้รับความสะดวกสบายทุกประการ
วันนี้ก็วุ่นวายพอสมควร เพราะต้องบวชนาคตอนเช้า รีบบวช บวชเสร็จแล้วกลับกุฏิ โยมก็โหมเข้ามาล้อมเข้ามาใหญ่มาให้ ไม่ใช่มาเอาอะไร มาให้ เขียนกันใหญ่ บอกว่า อุ๊ย! พอแล้วโยมเดี๋ยวจะต้องไปเทศน์แล้ว ขออีกใบค่ะ คือโยมก็จะต้องให้ ให้ถึงหลวงพ่อ บอกว่าตรงโน้นก่อน ไม่ได้เอามาให้หลวงพ่อ มีอย่างนั้นเสียด้วย เลยรับต้องรับจนกระทั่งเสร็จแล้วก็ไปแสดงธรรมงานศพเขาหน่อย แล้วก็มานี่ วุ่นวายหน่อย แต่วุ่นวายเรื่องได้ไม่เป็นไร วุ่นวายเรื่องเสียนี่มันยุ่ง เสียไม่ค่อยดี แต่วุ่นวายเรื่องได้ไม่เป็นไร เหมือนโยมอยู่บ้านถ้าใครมาส่งดอกเบี้ยวุ่นวายก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเขามาให้แต่ถ้าเขามาทวงดอกเบี้ยนี่มันชักจะไม่ค่อยสบายใจ เป็นทุกข์เป็นร้อน
วันนี้เป็นวันแรมค่ำ ๑ เขาเรียกว่าวันออกพรรษา เรื่องออกพรรษานี่เป็นเรื่องของพระก่อน คือพระอยู่จำพรรษาพักฤดูฝน อันนี้พัก ๓ เดือนก็ออกพรรษา ให้มีอิสระไปไหนไปได้ แต่ก็ไปไม่ไกลเพราะว่าฤดูฝนยังไม่หมด เหลืออยู่อีกเดือนหนึ่ง เดือนท้ายฤดูฝน เดือนท้ายฤดูฝนนี่มีไว้ให้พระสำหรับทำจีวร เพราะว่าพระในสมัยก่อนไม่มีจีวรขายให้ซื้อ ต้องทำเอง ต้องเย็บเองย้อมเอง ไปหาผ้ามาก็เป็นความวุ่นวายอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นทิ้งไว้เดือนหนึ่งเรียกว่าจีวรกาลสมัย หรือจีวรทานสมัยบ้าง เป็นสมัยที่ชาวบ้านจะได้ถวายจีวรแก่พระ พระก็พักอยู่กับที่ก่อนเพราะยังไปไม่สะดวก แต่พอพ้นกลางเดือนสิบสองทุ่งแห้ง ฝนหยุดอากาศเริ่มหนาวสบายในประเทศอินเดีย พระก็ออกจาริกไปเที่ยวสอนประชาชนตามที่ต่างๆ ต่อไป จนกว่าจะถึงเวลาจะเข้าพรรษาก็อยู่จำพรรษา สมัยก่อนนี้อยู่ที่ไหนก็ได้ ให้มีเรียกว่ามีหลังคามีฝากั้นมีที่มุงที่บัง พระก็ท่านก็อยู่ อยู่หลายรูปบ้าง อยู่รูปเดียวบ้าง บางทีชาวบ้านเขาก็ขอร้องบอกว่าพระคุณเจ้าอยู่จำพรรษาที่นี่แหละ พวกผมจะได้ให้ทานจะได้รักษาศีล จะได้ฟังธรรมกัน เขาก็สร้างกระต๊อบเล็กๆ ถวายองค์ละหลังๆ พระท่านก็อยู่รวมกัน ชาวบ้านก็มาสนทนาธรรมมาฟังธรรมอะไรกันไปตามเรื่อง
ครั้นพอออกพรรษาก็ ก็มีพิธีอันหนึ่งเรียกว่าปวารณา ปวารณานี่เป็นกิจของสงฆ์ คือตามปกติวันเพ็ญกลางเดือนเป็นวันอุโบสถ พระไปฟังพระปาฏิโมกข์ พระปาฏิโมกข์ก็คือพระวินัย ๒๒๗ ข้อมาในพระปาฏิโมกข์ต้องสวดทุกกึ่งเดือน การสวดก็เพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงระเบียบวินัย จะได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร สมัยก่อนพระท่านนั่งฟังรู้เรื่องเข้าใจความหมาย แต่สมัยนี้เราฟังเป็นภาษาบาลีแต่ก็เข้าใจเพราะว่าเรียนในคำแปลแล้วในหนังสือนวโกวาท เรียนว่ามีอะไรบ้าง ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ เสขิยวัตร (6.07 เสขิยวัตร) ๗๕ อธิกรณสมถะ ๗ รวมเป็น ๒๒๗ พระท่านรู้เปรียญแล้ว เวลาเขาสวดไปก็นั่งนึกตามไป ฝึกสมาธิไปด้วยในตัวขณะที่สวด เมื่อสมัยก่อนนี้ หลวงพ่อก็สวดเหมือนกันแต่เดี๋ยวนี้สวดไม่ค่อยได้ มันลืมๆ หมดแล้ว แต่ว่าพอองค์อื่นสวดพอนึกออก เวลาสวดนี่ตัวมันเบา กำลังสวดรู้สึกว่าเหมือนกับลอยขึ้นจากที่นั่ง คือตัวมันเบามันเป็นสมาธิ สมาธิแล้วก็ตัวเบา เบาเหมือนนุ่นอย่างนั้น นึกว่ามันลอย แต่มันลอยไม่ได้หรอก มันก็นั่งอยู่ตรงนั้นแหละ แต่ความรู้สึกว่ามันเบาเหวงขณะนั่งสวด มันเพลินอยู่กับการสวดท่องปาฏิโมกข์แล้วก็สวดให้ญาติ ให้พระฟังกัน เป็นการกระทำกิจอันหนึ่งที่ต้องทำขาดไม่ได้
แต่พอถึงวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด ไม่ต้องสวดพระปาฏิโมกข์ แต่ทำการปวารณา ปวารณาก็หมายความว่าบอกให้เตือนได้ เพราะอยู่กันมา ๓ เดือนอาจจะมีเรื่องอะไรผิดพ้องหมองใจกัน สงสัยแคลงใจกันอะไรกันบ้าง ก็เลยปวารณากันว่า ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญข้าพเจ้าขอปวารณาแก่ท่าน ถ้าท่านได้เห็นได้ยินและรังเกียจในเรื่องความผิดความบกพร่องอันใดของข้าพเจ้าจงเตือนข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารับคำเตือนด้วยความเบาใจและจะแก้ไขสิ่งนั้นต่อไป ต่างคนต่างปวารณากัน ให้เตือนแก่กันและกัน อโหสิกันในเรื่องต่างๆ ที่มีเรื่องอะไรผิดพ้องหมองใจกันบ้าง ภายในนิดๆ หน่อยๆ เรื่องใหญ่ไม่ค่อยมี เรียบร้อย แต่ว่าจิตใจอาจจะขุ่นนิดขุ่นหน่อย ก็ให้อภัยกัน แล้วถ้าเห็นว่าองค์ใดทำอะไรไม่เหมาะก็เตือนกันได้เพราะบอกให้เตือน อันนี้เราเอาไปใช้ได้ โยมเอาไปใช้ที่บ้านได้ เช่นเราคบกันเป็นเพื่อนก็บอกกันไว้ว่ามาเป็นเพื่อนกันแล้ว อย่าเกรงใจอะไรกันเลย มีอะไรที่เห็นว่าไม่เหมาะไม่ควรก็ช่วยบอกช่วยเตือนด้วย หรือว่ามีอะไรที่จะต้องการก็บอก ไม่ต้องเกรงใจ ยินดีที่จะช่วยเหลือแก่กันและกัน อย่างนี้เขาเรียกว่าปวารณา ก็ให้เตือนกันได้ให้บอกกันได้ ให้ขออะไรกันได้ เรียกว่าปวารณากันอย่างนั้น ชาวบ้านก็เอาไปใช้ได้
นี้ปวารณาอีกอย่างหนึ่งคือโยมกับพระนี่ ปกติพระขออะไรโยมไม่ได้ ขอได้กับญาติเท่านั้นเอง ญาตินั้นคือพ่อแม่พี่น้องป้าน้าอาลุง เรียกว่าเป็นญาติกันปู่ตาย่ายาย นี่เรียกว่าเป็นญาติขอได้ ขอจีวร ขออาหาร ขออะไรๆ ขอได้ แต่คนไม่ใช่ญาตินั้นขอไม่ได้ พระท่านห้ามไว้ ห้ามไม่ให้ขอ ทีนี้เราต้องการให้พระได้รับความสะดวก เราก็ไปปวารณาไว้บอกว่า ถ้าพระคุณเจ้าต้องการจีวรแล้วก็บอกดิฉันได้ จะจัดซื้อถวาย ก็ขอได้แต่จีวร เพราะปวารณาเรื่องจีวร จะไปขอเรื่องอื่นก็ไม่ได้ หรือปวารณาว่าเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วก็บอกดิฉัน บอกผม ผมจะจัดการนำไปโรงพยาบาลค่าหมอค่ายาผมจ่ายเอง ได้แต่ยา ขอได้แต่ยา จะไปขอจีวรก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้ให้ ขอได้แต่ยา แต่ถ้าปวารณาว่าท่านประสงค์สิ่งใดอันควรแก่สมณะบริโภค บอกให้ผมทราบ สิ่งใดผมจะจัดถวายได้ก็ยินดีถวาย อย่างนี้กว้าง อย่างนี้ขอได้ ขออะไรก็ได้ แต่ขอโทรทัศน์ไม่ได้ หรือจะไปขอวิทยุมาฟังเล่นก็ไม่ได้มันไม่ใช่ของสมณะ ขอบริขารเครื่องใช้ของสมณะได้ นี้ถ้าจำกัดเวลาเช่นว่าในพรรษา ๓ เดือนนี้พระคุณเจ้าจะขออะไรก็ได้ พอพ้น ๓ เดือนขอไม่ได้ มันพ้นเวลาแล้ว จำกัดสิ่งของก็ขอเฉพาะในสิ่งของ เวลาก็เฉพาะเวลา หรือว่าบอกเหตุการณ์เช่นว่าเวลาจะไปไหนบอกให้ดิฉันทราบจะได้จัดการเรื่องการเดินทางให้ ก็ขอได้ เรื่องตั๋วรถไฟอะไรอย่างนั้น ตั๋วเรือบินก็ได้ถ้าว่าโยมมีสตางค์พอ ก็ขอได้ ในเรื่องที่เขาให้ เป็นเรื่องๆ ไป
พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติสิ่งนี้ไว้ก็เพื่อให้รู้จักประมาณในการขอ เพราะถ้าขอมากชาวบ้านรำคาญแล้วไม่เป็นที่พอใจ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าผู้ถูกขอไม่เป็นที่พอใจของผู้ขอ ผู้ขอก็ไม่เป็นที่พอใจของผู้ถูกขอ คนเราเบื่อหน่ายกันเพราะขอจัด เป็นอย่างนั้น
มีเรื่องชาดกเล่าไว้ว่า พญานาคมีแก้วห้อยอยู่ที่คอแล้วพญานาคนี่ชอบมาเยี่ยมฤาษี ๒ พี่น้องบ่อยๆ แล้วฤาษีที่เป็นน้องชายอยากได้แก้วพญานาค อยากได้ก็เลยขอ แต่พญานาคให้ไม่ได้ ขอบ่อยๆ ขอบ่อยๆ พญานาครำคาญเลยไม่มา พอไม่มาฤาษีที่เป็นน้องก็ไม่สบายใจคิดถึงพญานาคกินไม่ได้นอนไม่หลับ ฤาษีผู้พี่ก็ถาม เอ๊ะ! ทำไมดูเปลี่ยนไป ซบเซาเหงาหงอยมีอาการเป็นเพราะอะไร บอกว่าคิดถึงพญานาคที่มาเยี่ยมบ่อยๆ แล้วก็ไม่มาเยี่ยมก็คิดถึง ฤาษีผู้พี่ก็ถามว่า เขาก็มาอยู่เสมอๆ แต่ทำไมไม่มาเพราะอะไร มีเหตุอะไรบ้าง ฤาษีผู้น้องก็บอกว่าก็มีเรื่องเดียว มาทีไรผมขอแก้วทุกที ขอทุกที ฤาษีผู้พี่เลยบอกว่า นี่แหละเรามันขอมากไปหน่อย เขารำคาญเลยไม่อยากจะมา แล้วก็อ้างพระพุทธภาษิตว่า ผู้ขอไม่เป็นที่พอใจของผู้ถูกขอ ผู้ถูกขอไม่เป็นที่พอใจของผู้ขอเพราะไม่ให้ตามที่ขอ คนเป็นที่เกลียดชังเพราะขอจัด ท่านสอนพระอย่างนั้น ไม่ให้ขออะไรแก่ชาวบ้านมากเกินไป ขอมาใช้ส่วนตัวก็ตาม ขอมาทำประโยชน์อะไรก็ตาม ขออย่างนั้นเป็นการไม่ถูกต้องทำให้เขารำคาญ เลยไม่ให้ขอ
พระวินัยบัญญัติอะไรต่างๆ ไว้หลายเรื่องเพื่อคุ้มครองพระ รักษาให้พระอยู่ด้วยความปลอดภัย สบายใจ ให้มีความมักน้อย สันโดษ คำว่ามักน้อย หมายความว่าไม่อวดคุณงามความดี สันโดษหมายความว่าพอใจในวัตถุที่เรามีเราได้ เรามีอะไรก็พอใจในสิ่งนั้น ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเพื่อจะมีนั่นมีนี่ให้มันเกินขอบเขต สภาพจิตใจก็จะได้สงบไม่วุ่นวาย พระเราอยู่กันในรูปอย่างนั้น แต่บางทีโยมเขา ไม่ขอโยมก็ให้ พอเห็นว่ามีอะไรขัดข้องก็เอามาให้ ก็ให้เท่าที่สมควรเหมือนกัน ถ้าให้มากเกินไปมันก็รกเหมือนกัน ไอ้โน่นให้ไอ้นี่ให้ ควรจะถามก่อน ถ้าว่าจะให้อะไรแก่พระควรถามว่าท่านต้องการอะไรบ้าง แต่ถ้าพระขี้เกรงใจก็บอก มันไม่มีอะไรโยม เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ต้องให้อีกเหมือนกัน อันนี้ถามพระไม่ได้ก็แอบไปถามเด็กก็ได้ ถามเด็กว่าอะไรท่านใช้อะไร เวลานี้มีหรือเปล่า เด็กมันบอกไม่มี ก็ซื้อมา ก็ไม่เสียหาย อย่างนั้น เอามาถวาย ถวายเท่าที่จำเป็นแก่พระ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องถวาย เพราะมันเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ทั้งนั้นในเรื่องเหล่านี้ พระก็เอามาปฏิบัติก็ทำให้เกิดเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใสของประชาชน
เมื่อออกพรรษาแล้วต่างคนต่างก็ไปตามหน้าที่ โดยเฉพาะพระบวชใหม่ ๓ เดือนในพรรษา พอวันออกพรรษาก็จะลาสิกขา เมื่อวานก็บอกว่าออกพรรษาใหม่ๆ อย่าไปสึกก่อน ให้อยู่ไปอีกหน่อยเพราะว่าโยมเขาจะว่าได้ว่า แหม! ใจร้อนเหลือเกิน พอออกพรรษาปั๊บ สึกปุ๊บเลย แสดงว่าเราเป็นคนใจร้อน อยู่ไปอีก ๒-๓ วันก็ได้ แต่ว่าหลายองค์บอกว่าต้องสึกเพราะว่ามีธุระจำเป็นที่จะต้องไปจัดไปทำ ก็บอกว่าได้แต่ว่าหลวงพ่อไม่ว่างสึกไม่ได้ คือไม่อยากจะสึกให้ในตอนเช้าวันนี้ เลยบอกว่าไปสึกกับท่านรองเจ้าอาวาส ให้สึกกับท่านมหาผล เลยไปสึกกันแล้วเมื่อเช้า ไป ๙ องค์ ๑๐ องค์ สึกออกไป ส่วนนอกนั้นยังไม่สึกก็อยู่ต่อไป แล้วจะไปไชยาสัก ๑๐ วันเพื่อไปชิมรสสวนโมกข์เสียหน่อย ว่าไปอยู่ในสภาพอย่างไรกินอยู่อย่างไรแล้วได้รับฟังคำสอนจากท่านเจ้าคุณพุทธทาสเพื่อนำมาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป คนที่ไม่ไปก็อยู่กันต่อไป แต่บางรูปก็ต้องการไปเยี่ยมญาติ เพราะตั้งแต่บวชแล้วยังไม่ได้ไปให้คุณโยมย่า โยมยายได้เห็นผ้าเหลืองก็ต้องไปเสียหน่อย ไปเยี่ยมสียสัก ๒-๓ วัน ไปรับบิณฑบาตให้ท่านได้ใส่บาตรให้พอสบายใจ เป็นอย่างนั้น โยมๆ ญาติๆ ก็ต้องการอย่างนั้น ก็ต้องปล่อยไปตามความต้องการ เพราะออกพรรษาแล้วอบรมบ่มนิสัยเสร็จแล้ว สอบด้วย ให้วุฒิบัตรไปเรียบร้อยแล้ว ให้รางวัลด้วยบางองค์ทำดีตลอด ขยันทำวัตร มาอบรมไม่ขาด แล้วขยันทำงานทำการเรียบร้อย มีรางวัลก็ได้รางวัลกันหลายรูป ให้หนังสือคนละเล่มๆ เอาไปอ่าน รางวัลอื่นไม่ให้ ให้หนังสือไป เพราะว่าเป็นของมีประโยชน์เอาไปใช้อ่านได้ นี่เป็นเรื่องของการออกพรรษา
ส่วนญาติโยมนั้น ก็มีอยู่ในพรรษานี้ก็มีการปฏิบัติเคร่งครัด บางท่านที่เป็นคอสุราหน่อย เข้าพรรษานี่ก็เด็ดขาดไม่ดื่มเลย ชนะได้ แต่ว่าเช้านี้ก็ต้องเตรียมเต็มที่ ฉลองการออกพรรษา ถอยกลับไปสู่ที่เดิมอีกแล้ว ถอยไปฉลองกันนัดเพื่อนนัดฝูง เอ้า! ออกพรรษาแล้วโว้ย มากินกันหน่อย อย่างนี้มันก็ไม่ได้ เรียกว่าไม่รักษาความชนะไว้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสโน สิ ยา เมื่อชนะแล้วจงรักษาความชนะไว้อย่าให้พ่ายแพ้เสียเป็นอันขาด คือไม่กลับไปสู่ภาวะเดิม เรียกว่าไม่แพ้ แต่ว่าแพ้กันเสียเป็นส่วนมากกลับไปสู่ภาวะเดิมต่อไป อันนี้ก็ไม่ถูกต้อง เมื่อเราเข้าพรรษาแล้ว ประพฤติปฏิบัติมาอย่างไร แม้ออกพรรษาเราก็ทำต่อไป ไม่เลิกไม่ละจากสิ่งนั้น เพราะปีหนึ่งมันมี ๑๒ เดือน เข้าพรรษาเพียง ๓ เดือนนอกพรรษา ๙ เดือน ถ้าเราทำเพียง ๓ เดือนอีก ๙ เดือนไม่ทำมันจะขาดทุนกันใหญ่ ควรจะทำต่อไปได้ชนะอะไรแล้วชนะต่อไป เลิกสูบบุหรี่แล้วก็ไม่สูบต่อไป เลิกดื่มเหล้าแล้วก็ไม่ดื่มต่อไป เลิกเที่ยวแล้วก็ไม่เที่ยวต่อไป เลิกเล่นการพนันแล้วก็ไม่เล่นต่อไป อย่างนั้นเรียกว่ารักษาความชนะไว้ ไม่ให้กลับแพ้
คนเราถ้าชนะแล้วไปแพ้มักจะแพ้หนัก แพ้หนักมาก เช่นว่าอดมาได้ พอไปแพ้ แพ้ใหญ่เลยทีเดียว มันเป็นอย่างนั้น จิตตกต่ำ จึงไม่ควรทำให้จิตเราตกต่ำ เรายกระดับสูงขึ้นแล้วก็ไปในแนวนั้นต่อไป แม้ออกพรรษาแล้วก็ทำเหมือนเดิม เคยมาวัดฟังธรรมรักษาศีลก็มา นอกพรรษาก็มาได้ ไม่ลำบากอะไร บางคนว่ามีภาระ มันก็เหมือนกันในพรรษาก็มีงานแต่เราปลีกตัวมาได้ ออกพรรษาก็มีงาน งานกับชีวิตมันก็ของคู่กันเราก็ทำไปตามหน้าที่แต่ว่าพอถึงวันหยุด เช่นวันอาทิตย์ เราก็มาวัดตามปกติ มาฟังธรรมเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ถ้าหากว่าห่างไปเสีย ๙ เดือนมาอีกทีก็เหมือนคนใหม่ มาตั้งต้นใหม่ ตั้งต้นอะไรใหม่กันหมด จิตใจมันก็ตกต่ำลงไปเยอะ เพราะฉะนั้นไม่อนุญาตให้จิตใจตกต่ำก็คือ ไม่ออกจากการประพฤติดีประพฤติชอบในฤดูกาลเข้าพรรษา ถ้าจะออกก็ออกจากสิ่งไม่ดีไม่งามที่เคยทำ ออกต่อไป เดินต่อไป ไม่ออกจากเส้นทาง เดินตามทางศีลทางสมาธิทางปัญญาที่พระผู้มีพระภาคท่านบัญญัติไว้ อย่างนี้เรียกว่าเราไม่ออก ยังอยู่ในเส้นทางต่อไป ชีวิตก็จะก้าวหน้าไปในทางธรรมะ จะได้รับความสุขความเจริญต่อไป เพราะการศึกษาธรรมะก็ดีการปฏิบัติธรรมะก็ดี ไม่ใช่เรื่องจำกัดเวลา ไม่ใช่เรื่องจำกัดอะไรทั้งนั้น แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำตลอดไป เพราะร่างกายเรานี้ต้องการอาหารตลอดไป ต้องการน้ำตลอดไป ต้องการอากาศหายใจ แล้วใจเราไม่ให้อะไรเขาบ้างหรือ ร่างกายรับประทานอาหารทางวัตถุ ใจก็ต้องได้อาหารใจ อาหารใจก็คือการฟังธรรม การศึกษาธรรมะ การปฏิบัติธรรมะ ช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ให้สงบขึ้น ให้ประณีตขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ควรทำตลอดไป อย่าถอยไป ถ้าถอยไปแล้วเหมือนกับตั้งต้นใหม่ มันทำให้เกิดความลำบากในการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นปฏิบัติติดต่อ ญาติโยมเคยมาฟังธรรมในวันอาทิตย์ก็มากัน มาอย่างนี้
มาทุกอาทิตย์หลวงพ่อก็ยังไม่ไปไหน ยังแสดงธรรมต่อไปทุกวันอาทิตย์ๆ อาจจะไปธุระบ้างแต่ถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่ไป จะอยู่ต่อไป แต่ดูถ้าจะไปก็มกราคมราวกลางเดือน แต่ไปไม่นาน ไปสัก ๒ อาทิตย์อะไร ขณะนั้นคือไปนิวซีแลนด์ พระที่อยู่นิวซีแลนด์ให้จดหมายมาบอกว่าได้ซื้อสถานที่เชิงภูเขาแล้ว พร้อมทั้งบ้านหลังเล็กๆ เพื่อสร้างศาลาสำหรับฟังธรรม ให้ญาติโยมไม่ต้องปีนขึ้นไปบนภูเขาซึ่งลำบากสำหรับคนที่ไม่แข็งแรง มาถึงก็ถึงเลยจอดรถข้างล่างสบายๆ แล้วก็จะลงมือสร้างกันในเดือนมกราคม (22.07 มกราคม) เขาส่งจดหมายบอกหลวงพ่อจะมาวันไหนเมื่อใดบอกให้ทราบ แล้วจะได้กะงานวางรากฐาน เรียกว่าวางราก เขาเรียก foundation stone เหมือนกับเราวางศิลาฤกษ์ แต่มันไม่เรียกศิลาฤกษ์ เขาเรียกวางรากฐาน ให้ไปร่วมในงาน แล้วก็หวังว่าคงจะได้เอาปัจจัยไปช่วยบ้าง อะไรอย่างนั้นน่ะ จดหมาย เพราะว่าเคยไปช่วยอยู่ เพราะฉะนั้นจะปลีกตัวไปอย่างมากก็ ๒ อาทิตย์ ต้องกลับมาให้ทันวันที่ อาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ (22.45 กุมภาพันธ์) ออกโทรทัศน์ ไม่ให้มันขาดวันอาทิตย์ก็ไม่ให้ขาด ไปหลัง ๑๕ มกราคม (22.53 มกราคม) บินไปบินมาไม่ไกลเท่าใด นิวซีแลนด์เดี๋ยวนี้เรือบินไทยไปถึงแล้วก็กลับก็สะดวก เลยก็ต้องปลีกตัวไปหน่อย แล้วกลับมาทำหน้าที่ต่อไป
ปีนี้นึกว่าจะไม่ไปไหนก็เป็นห่วงตึก ๘๐ ปี ตึกมันแขวนคออยู่เวลานี้ แขวนคอหนัก ไปไหนก็แขวนคอไปด้วยเอาตึกไปด้วย แต่ไม่ได้หนักอะไร ไปตามสบาย ทำตามหน้าที่ ไม่ได้เป็นทุกข์ โยมไม่ต้องเป็นห่วง อาตมาไม่ได้เป็นทุกข์อะไร ทำไปตามเรื่อง บอกไปตามเรื่อง ไปไหนก็บอกเขาไปตามเรื่องตามราว เขาทำบุญก็ดี ไม่ทำก็ไม่ว่าอะไร ว่ากันไปเรื่อยๆ ก็ทำไปเพื่อให้สำเร็จประโยชน์แก่ญาติโยมทั้งหลายต่อไป เพราะฉะนั้นเราเคยมาวัดก็มาตามปกติ ไม่หายหน้าไปไหน ไม่ต้องให้เป็นห่วง
คนเคยมาเคยไป เอ๊ะ! หายไปไหน ก็เป็นห่วงเหมือนกันว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าอย่างไร ไม่สบายเป็นอะไร แล้วก็ไม่รู้ว่าบ้านอยู่ตรงไหนเสียด้วย เพราะว่าไม่ได้จดทะเบียนบ้านไว้ เบอร์โทรศัพท์ก็ไม่มี ถ้ารู้บ้านก็จะได้ไปตามถึงบ้าน เอ้า! หายไปไหนโยม ไม่เห็นไปฟังธรรม ไม่ได้ไปเยี่ยมไปเยียน ไม่ได้พบปะ แนะแนวทางกันต่อไป เป็นอย่างนั้น คนเราเคยมาเคยไปเคยเห็นหน้ากัน ห่างกันไปนานๆ ก็คิดถึงเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดาของโลกมันก็เป็นอย่างนั้น เคยมาวัด ทีนี้ถ้าโยมหายไปก็ อาตมาก็มองดู เอ๊ะ! หายไปไหน โยมหายไปไหน ก็เป็นห่วง ไอ้จะไปตามไปเยี่ยมก็ดังว่า ไม่รู้ว่าบ้านอยู่ตรงไหน แล้วก็ลำบาก เพราะฉะนั้นมาดีกว่าจะได้สบายใจทุกฝ่าย ได้เห็นหน้ากันก็สบายใจได้ฟังธรรมกันก็สบายใจ แล้วก็สถานที่ที่เราสร้างไว้ก็เกิดประโยชน์ไม่สูญเปล่า เพราะมีคนมาฟังธรรมกัน ได้รับประโยชน์กันต่อไป นี่ขอฝากเตือนไว้อย่างนี้ว่าเราออกพรรษาแล้วเราก็ไม่ออกจากความดี แต่จะอยู่ในคุณงามความดีต่อไปตามหน้าที่ของเรา อันนี้เป็นของฝากเป็นข้อเตือนใจแก่ญาติโยมทั้งหลาย
อีกประการหนึ่งในการศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้เหมือนกันบอกว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอเดินทางยังไม่ถึงจุดหมาย อย่าหยุดเสียเป็นอันขาด เมื่อยังไม่ถึงจุดหมายอย่าหยุดเป็นอันขาด ถ้าพูดกับชาวบ้านก็ว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย เมื่อท่านเข้าเส้นทางแล้วและยังไม่ถึงจุดหมายอย่าหยุด เดินต่อไป ทำความเพียรต่อไป อดทนต่อไป ก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางตามที่ได้ตั้งใจไว้ หลักการเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องก้าวต่อไปตามหน้าที่ของเราให้ถึงจุดหมาย
แล้วในระยะออกพรรษา ๓ เดือนนี้ก็ควรจะได้พิจารณาเหมือนกัน พิจารณาว่า ๓ เดือนผ่านไปนี้ สภาพจิตใจเป็นอย่างไร ความคิดความเห็นเป็นอย่างไร การกระทำของเราเป็นอย่างไร สุข ทุกข์เป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา เพื่อสอบทานตัวเอง ถ้าแบบที่ว่า พิจารณาตนเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเองตามหลักการของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่พิจารณาก็ไม่รู้ว่าสภาพเป็นอย่างไร จิตใจเป็นอย่างไร อะไรเคยมี อะไรเคยเป็นมันลดไปบ้างไหม เคยโกรธลดความโกรธหรือไม่ เคยใจร้อนลดความใจร้อนลงหรือไม่ เคยมีความวิตกกังวลด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อะไรต่างๆ เกิดขึ้น โอ๊ย! วิตกกังวลไม่เป็นอันหลับอันนอน แล้วปฏิบัติธรรมมา ๓ เดือนในฤดูกาลเข้าพรรษานี้ สิ่งเหล่านั้นมันเบาไปหรือเปล่า สบายใจขึ้นหรือเปล่า วางภาระอะไรๆ ต่างๆ ได้บ้างหรือเปล่า ถ้าเป็นเรื่องควรจะได้พิจารณา หรือบางทีก็เรามักจะตามใจตัวเราเอง ในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วมาพิจารณาดูว่า มีการบังคับตัวเองได้ขนาดไหน ควบคุมตัวเองได้ขนาดไหน มีความอดทนขนาดไหน การปฏิบัติก้าวหน้าอย่างไร สติปัญญาที่ควรจะเอามาใช้ ใช้ได้คล่องแคล่วหรือเปล่า มาทันกับเหตุการณ์หรือเปล่า หรือว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วเสียหายแล้วจึงมาทีหลัง อย่างนี้มันก็ไม่ได้ มันต้องมาทันท่วงที ทีนี้เราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาศึกษา ค้นดูในตัวของเรา เวลาว่างก็มองดูพิจารณาดู ถ้าเห็นว่าดีขึ้นก็สบายใจ แต่ถ้าเห็นว่ายังไม่ดีขึ้นก็ต้องบอกตัวเองว่า ต้องทำต่อไป ต้องอดทนต่อไป ต้องเข้มแข็งต่อไปในเรื่องนี้ ควบคุมมันให้มันดีขึ้นไปกว่านี้ ทำไม่หยุดก็คงจะถึงจุดหมายปลายทางได้สมความปรารถนา
คนเราที่หยุดก็เพราะว่ามีสิ่งยั่วยวนชวนใจ ให้ออกไปนอกลู่นอกทาง เพลิดเพลินไปกับสิ่งต่างๆ ที่ยั่วยุอารมณ์ ไม่ว่าเรื่องอะไรมันยั่วให้ไป ให้ห่างออกไป เราก็ไม่ไปติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น มีจุดหมายแน่วแน่ว่าเราจะทำอย่างไร แล้วก็เดินไปสู่เป้าหมายนั้น เมื่อยังไม่ถึงเป้าหมายก็ยังไม่หยุดก่อนจะต้องทำต่อไปให้ถึงจุดที่เราต้องการ อันนี้แหละเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเพื่อวางแผนสำหรับการปฏิบัติต่อไป ใน ๙ เดือนนี่วางแผน ๓ เดือน ๓ เดือนจบแล้ว แล้วต่อไปก็วางแผน ๙ เดือนต่อไป แล้วก็ทำตามแผนที่วางไว้ในระยะ ๙ เดือนนั้น จนกว่าจะไปถึงวันเข้าพรรษาต่อไป ก็วางแผนต่อไปอีก อยู่ด้วยการวางแผน
การอยู่ด้วยการวางแผนก็เรียกว่า เป็นผู้ตื่นตัว เป็นผู้ว่องไว เป็นผู้มีความคิดก้าวหน้า หลัก ๓ ประการนี้เป็นหลักในเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง เพราะว่าการเตรียมพร้อมคือความตื่นตัว เมื่อตื่นตัวแล้วก็ต้องว่องไว ออกทันท่วงทีคิดก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดไม่ยั้ง ไม่พักข้างทาง เราก็ก้าวหน้าต่อไปด้วยความรู้สึกอย่างนั้น ถ้าเราทำได้อย่างนี้อะไรๆ มันก็ดีขึ้น ตัวเราสบาย คนใกล้เคียงก็สบาย การงานก็เรียบร้อยเป็นไปด้วยดี เพราะกำลังจิตเราสูงมีสมาธิ มีสติมีปัญญามีความเพียรมั่น มันก็ช่วยให้กำลังใจเข้มแข็งในการที่จะปฏิบัติต่อไป และให้ถือว่ามันเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องกระทำตามหลักการนั้น เพราะการปฏิบัตินั้นถือว่าเป็นการบูชาสูงสุด ต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าต้องการให้เราปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ใช่สำคัญอะไรในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน มีคนเอาดอกไม้มากองไว้มากมาย พระองค์มองดูแล้วก็บอกกับพระอานนท์ว่า การกระทำเพียงเท่านี้ยังไม่ชื่อว่าเป็นการบูชาตถาคตอย่างแท้จริง การกระทำเพียงเท่านี้ยังไม่ชื่อว่าเป็นการบูชาตถาคตอย่างแท้จริง
พระอานนท์ก็ทูลถามว่าการบูชาที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร พระองค์ก็ตรัสว่าอานนท์เอ๋ย! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด เป็นผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมะอยู่ผู้นั้นได้ชื่อว่าสักการะเคารพนับถือบูชา ตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด หลักการเป็นอย่างนั้น การบูชาสูงสุด คือการปฏิบัติบูชา การปฏิบัติบูชานั้นญาติโยมอาจจะคิดว่าถวายดอกไม้ (31.38 เสียงขาดหายไป)
(31.42 ซ้ำกับนาทีที่ 30.59 พระอานนท์ก็ทูลถามว่าการบูชาที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร พระองค์ก็ตรัสว่าอานนท์เอ๋ย! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด เป็นผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมะอยู่ผู้นั้นได้ชื่อว่าสักการะเคารพนับถือบูชา ตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด หลักการเป็นอย่างนั้น การบูชาสูงสุด คือการปฏิบัติบูชา การปฏิบัติบูชานั้นญาติโยมอาจจะคิดว่าถวายดอกไม้) ก็เป็นการปฏิบัติ แต่นั่นมันเป็นการปฏิบัติภายนอก ไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ให้เบาบางไปจากจิตใจ
การปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมะอยู่ ผู้นั้นแหละได้ชื่อว่าสักการะเคารพนับถือบูชาตถาคต ด้วยการบูชาสูงสุด หมายความว่าเราปฏิบัติขูดเกลาจิตใจของเราให้สะอาด ปราศจากเครื่องเศร้าหมองใจ นั่นเป็นการบูชาที่สูงสุด ทุกครั้งที่เราเข้านึกถึงพระพุทธเจ้า ก็ต้องปฏิบัติเพื่อให้เข้าใกล้พระองค์มากยิ่งขึ้นไป ๆ
เมื่อเช้านี้อ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐ นายประสกเขาเขียน คุณประสกนี่ไม่ค่อยเขียนชมเชยท่านพุทธทาส เพราะว่าอยู่กับคึกฤทธิ์ สมัยก่อนคึกฤทธิ์คอยค่อนแคะท่านพุทธทาสเรื่อย เลยนายประสกลูกน้องก็เหมือนกัน ค่อนแคะเรื่อยไป คึกฤทธิ์โต้เรื่องจิตว่างบ้าง อะไรบ้าง แกก็สู้ไปตามคึกฤทธิ์ แกว่า นายว่าคนใช้ก็พลอยตามไปด้วย คำโบราณเขาว่า นายว่าขี้ข้าพลอย เป็นอย่างนั้นน่ะ แต่เมื่อเช้าได้อ่าน โอ้! ประสกนี่เปลี่ยนแนวแล้วเขาไปสวนโมกข์ ไปสวนโมกข์แล้วไปกราบท่านเจ้าคุณพุทธทาส กราบแล้วก็บอกว่าผมไปอินเดียมา ๒ ครั้งแล้ว ไปไหว้พระอินเดียมา ๒ ครั้งแล้ว ท่านเจ้าคุณพุทธทาสว่าอย่างไร ท่านว่าไปไหว้เปลือกพระมาตั้ง ๒ ครั้งแล้วหรือ ท่านว่าอย่างนั้น บอกว่าไปไหว้เปลือกพระมาตั้ง ๒ ครั้งแล้วหรือ ไปไหว้เปลือกพระ ที่ไปมา ๒ ครั้ง ไปไหว้เปลือก ไม่ได้ไหว้เนื้อแท้ของพระ เนื้อแท้ของพระไม่ต้องไปไกลถึงขนาดนั้นก็ได้ แต่การไปอย่างนั้นเรียกว่าไปดูสถานที่ ไปชมภูมิประเทศ ประกอบการศึกษาประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนา
แล้วท่านก็สนทนาให้ฟัง แล้วท่านก็เอาหนังสือเล่มหนึ่งมา มีคนไปทำบุญ อยากทำบุญไปตรงโน้น แล้วเขาก็แจกหนังสือเรียกว่า ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก เอามาอ่าน ชอบใจ เลยยกคำนำที่ท่านเจ้าคุณท่านเขียนไว้ถึง ๑๙ หน้า แต่เอามาบางส่วน เอามายกมาให้คนได้อ่านได้ศึกษาว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร หนังสือเล่มนั้นก็เรียกว่าเป็นภาพพุทธประวัติสลักหิน เขาสลักไว้ในหินแต่ไม่มีภาพเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า มีภาพเนื่อง พอถึงพระพุทธเจ้ามันว่างไป แล้วท่านบอกว่าความว่างนั่นแหละคือพระพุทธเจ้าแท้ จิตต้องว่างจากกิเลสจึงจะถึงพระพุทธเจ้า แล้วการทำจิตให้ว่างไม่ต้องไปไกลทำที่บ้านก็ได้ ทำที่ไหนก็ได้ เมื่อมีสิ่งมารบกวนใจเราก็ไม่กระทบกระเทือนด้วยสิ่งนั้น ให้อยู่ในสภาพจิตที่มันว่าง อย่างนี้แหละเป็นการปฏิบัติอย่างแท้จริงเพื่อเข้าถึงพระพุทธเจ้า เข้าถึงพระพุทธเจ้าคือเข้าถึงความว่าง เพราะพระพุทธะที่แท้นั้นไม่มีอะไร ไม่มีเครื่องรบกวนจิตใจ ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีอะไร เป็นความว่างๆ
อันนี้คนเรามันยังมีอยู่ มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง มีดีบ้าง มีชั่วบ้าง มีขึ้นบ้าง มีลงบ้าง มีอย่างนั้นมีทั้งสองฝ่าย ยังมีการเทียบเคียงกันอยู่แล้วก็เอามาพิจารณาว่าดำบ้าง ขาวบ้าง สูงบ้าง เตี้ยบ้าง ยาวบ้าง สั้นบ้าง อ้วนบ้าง ผอมบ้าง นี่การเปรียบเทียบ แต่ว่าในพุทธะที่แท้ไม่มีการเปรียบเทียบจะเรียกว่าเป็นหนึ่ง พุทธะที่แท้เป็นหนึ่ง เป็นเอก เพราะไม่มีคู่ ถ้ามีคู่มันยังไม่ดี ยังมีคู่อยู่ยังมีการเปรียบเทียบ ยังเห็นความแตกต่างระหว่างของที่เป็นคู่ ของใดเป็นคู่เราก็เห็นความแตกต่าง ว่ามันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อันนี้อย่างนี้ อันนี้อย่างนี้ นี่เรียกว่าเห็นความเป็นคู่
แต่ถ้าอันเดียวไม่รู้จะเทียบกับอะไร มันก็เป็นเพียงอันเดียว จิตเป็นอันเดียวก็คือจิตที่ว่าง ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ ท่านยกมา ๓ เรื่องเพราะเป็นเรื่องสำคัญ ราคะคือความเพลิดเพลินยินดีในสิ่งนั้นๆ โทสะคือความอึดอัดขัดใจ เมื่อไม่ เมื่อได้กระทบกับสิ่งที่เราไม่ชอบใจ พอกระทบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจมันก็เกิดโทสะขึ้นมา เรียกว่าหงุดหงิดขึ้นมา เป็นโทสะ แล้วก็โมหะคือความไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง จิตที่ว่างนั้นคือไม่มีราคะ แล้วก็ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีประเภทนั้นอยู่ในใจ นั่นเรียกว่ามันว่าง ตามปกติคนเรานั้นก็ไม่ใช่วุ่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่วุ่นอยู่ตลอดเวลา ถ้าวุ่นอยู่ตลอดเวลานั้นขออภัยเรียกว่าเป็นบ้าไปเลย ถ้าวุ่นอยู่ตลอดเวลามันก็เป็นบ้า จิตไม่ได้เป็นอย่างนั้นมีเวลาสงบ มีเวลาสะอาด มีเวลาสว่าง มีเวลาที่ว่างไม่มีอะไรรบกวนจิตใจ แต่ว่าเราไม่ได้สังเกตสภาพจิตอย่างนั้น ไม่นึกว่ามันจะมี
เวลาท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านเทศน์ใหม่ๆ เรื่องสุญญตา เรื่องจิตว่างนี่ คนที่รับไม่ได้เยอะแยะ โดยเฉพาะปัญญาชนเขาก็รับไม่ได้ เขาบอกมันจะว่างได้อย่างไร จิตมันต้องมีความคิดนึกอยู่ตลอดเวลาว่างไม่ได้ ก็ไปคิดอย่างนั้น ไม่ได้คิดให้ลึกซึ้งว่า มันคิดเหมือนกัน แต่ว่าคิดด้วยไม่มีกิเลสหนุนหลังก็มี คิดด้วยกิเลสหนุนหลังก็มี เราคิดด้วยโลภะก็มี ด้วยโทสะก็มี ด้วยโมหะก็มี แต่คิดโดยไม่มีสิ่งนั้นหนุนก็มีเหมือนกัน แต่เราไม่ค่อยได้สังเกต เพราะปกติคนเรานั้นมักจะคิดด้วยกิเลส มีกิเลสหนุนหลังให้คิด ให้พูด ให้ทำ ให้ไปไหน กิเลสหนุนหลังทั้งนั้น แต่ที่ไม่มีกิเลสหนุนมันก็มี แต่เรามองไม่เห็น เพราะไปเห็นไอ้สิ่งนั้นเสียแล้ว แล้วก็ไปยึดอยู่ในสิ่งนั้น ติดอยู่ในสิ่งนั้น สำคัญว่าเรามีสิ่งนั้นเราเป็นอย่างนั้น จนกระทั่งว่าจิตมันว่างไม่ได้ จิต จิตว่างไม่ได้ มันต้องเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา นี่มันผิดกับหลักการแท้จริงของพระพุทธศาสนา เพราะถ้าว่างไม่ได้คำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็นประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าว่างไม่ได้มันก็ไม่เป็นประโยชน์
แต่ว่าพระองค์ได้ค้นคว้า ไม่ใช่ค้นเฉยๆ พระองค์ได้ทดสอบด้วยพระองค์เอง เอาชีวิตของพระองค์ลงไปในสนามทดลองเลยทีเดียว แล้วทดลองรู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นได้ สภาพนี้ประณีตละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ยากที่คนธรรมดาสามัญจะเข้าใจ พระองค์ได้พบสิ่งนั้นแล้วก็คิดอย่างนั้น โอ้ย! มันยาก ยากที่คนธรรมดาสามัญจะเข้าใจ แล้วมานึกเลยไปว่าน่าจะเหนื่อยเปล่า ถ้าจะไปพูดไปสอนสิ่งนี้กับเขาน่าจะเหนื่อยเปล่า คนคงจะไม่เข้าใจ คิดอย่างนั้นเพราะว่ามันละเอียดเหลือเกิน มันลึกซึ้ง คนไม่เคยได้สัมผัส ไม่เคย ไม่มีใครพูดถึงกันมาก่อน
แม้จะมีครูบาอาจารย์ที่ประกาศธรรมะอยู่ในประเทศอินเดีย มีเกียรติมีชื่อเสียงมากมาย คนนับถือกันมากแต่ไม่ถึงจุดนั้น ไปติดอยู่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วก็พอใจในสิ่งนั้นที่ว่าพอใจก็คือว่าไปยึด นึกว่านี่แหละคือสูงสุดที่เราต้องการแล้วก็ไปติดแอ๊กอยู่ตรงนั้น ไม่ได้เข้าไป ไปเพียงประตูก็ไปยืนชมลวดลายประดับมุกประตูก็เท่านั้นเอง ไม่ผลักประตูเข้าไปเพื่อพบความว่างข้างใน ก็เลยติดอยู่ตรงนั้น แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ไปชมอยู่เพียงนั้น ท่านผลักประตูอันสวยงามนั้นเข้าไป แล้วก็เดินเข้าไปพบความว่าง แล้วก็เอามาประกาศแก่ชาวโลก
แต่ชั้นแรกก็นึกว่า เอ๊! พูดแล้วคนมันจะไม่เข้าใจ แต่ว่าคิดไปคิดมาคนนี่มันมีหลายเหล่า เหมือนกับดอกบัวในสระน้ำ นั่งใกล้สระบัวท่านก็มองเห็นดอกบัวมันมีหลายเหล่า ดอกบัวเสมอน้ำพร้อมที่จะบานรับแสงอาทิตย์ในตอนเช้า ดอกบัวที่จะบานในวันต่อไป ดอกบัวที่จะบานได้ ดอกบัวที่ไม่บาน เน่าเป็นเหยื่อเต่าเหยื่อปลาไป เมื่อคิดอย่างนั้นคนก็เหมือนดอกบัว พวกที่มีปัญญาฉลาดพูดปั๊บเข้าใจปั๊บมีอยู่ พวกนั้นเก่งเขาเรียกว่าพูดปั๊บเข้าใจทันทีมีอยู่ ต้องอธิบายจึงจะเข้าใจมีอยู่ ต้องพูดกันนานๆ จึงจะเข้าใจ เรียกว่าพอพาไปได้ เรียกว่าเป็นเวไนย เวไนยหมายความว่าพอจูงไปได้ พอจูงไปได้มีอยู่ แต่คนที่จูงไม่ไหวมันก็มีเหมือนกัน
เมื่อได้คิดอย่างนั้น เอ้า! ต้องทดสอบหน่อย ทดสอบสอนดูหน่อยก็เลยไปทดสอบ สอนปัญจวัคคีย์ให้เข้าใจ ปัญจวัคคีย์เข้าใจมองเห็นความจริง เลยพระองค์ก็เปล่งวาจาว่า รู้แล้ว รู้แล้ว โกณฑัญญะรู้แล้วๆ แล้วก็สอนองค์ต่อไป แต่ยังไม่ถึงเนื้อแท้
สอนครั้งที่ ๒ สอนเนื้อแท้ คือสอนอนัตตลักขณสูตร อนัตตลักขณสูตรนี้เป็นของใหม่เป็นเรื่องที่เขาไม่ได้พูดกันมาก่อน ในยุคนั้นในประเทศอินเดีย แม้จะมีครูมีอาจารย์โด่งดังมีชื่อเสียงก็พูดไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไปติดตัวตนอยู่ ติดอาตมัน ติดอัตตาใหญ่ ก็ๆ ถือว่าสิ่งทั้งหลายออกมาจากอัตตา คือออกมาจากพระผู้เป็นเจ้า เลยไปติดอยู่ที่นั่น จิตก็เป็นหลักตอของรู้ ไม่สามารถจะถอนตนขึ้นได้เพราะไปติดอยู่ที่นั้น แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้น พระองค์ไม่ได้ติดในสิ่งนั้น เพราะพระองค์ไม่เชื่อง่าย สงสัยตลอดไปคิดค้นตลอดไป จนกระทั่งว่าทะลุสิ่งนั้นไป ทะลุตัวอัตตาไปพบความว่างอย่างแท้จริงเข้า เลยเอามาประกาศให้ชาวโลกได้รู้ได้เข้าใจเป็นการก้าวไปถึงจุดยอด
ครูบาอาจารย์อื่นๆ นั้นเที่ยวเดินอยู่ตามริมภูเขานั่นเอง เที่ยวปีนอยู่ตามๆ ข้างภูเขาวนอยู่รอบๆ นั้นแหละ ไม่ขึ้นไปถึงยอด แต่พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านไม่เดินวน เดินวนแล้วก็ปีนขึ้นไปเลย ขึ้นไปถึงยอดภูเขามองเห็นอะไรชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนเราขึ้นยอดภูเขาทองมองอะไรมันก็ชัด มองได้ไกล เห็นไปถึงปากน้ำ แต่ถ้าไปขึ้นตึกที่สูงกว่าภูเขาทองก็มีเดี๋ยวนี้ มองได้ไกลกว่านั้นเห็นได้ไกลกว่านั้น ชีวิตคนเราถ้าจิตมันขึ้นสูงมันมองเห็นถูกต้องแล้วเห็นความจริง
เมื่อเห็นความจริงก็มองเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นของอย่างแท้จริง มันเป็นแต่เพียงส่วนประกอบของวัตถุธาตุต่างๆ มารวมกันเข้า ไหลไปตามอำนาจของการปรุงการแต่ง ทีนี้คนเรามันไปติดอยู่ในสิ่งนั้น ติดกระแสที่มันไหลไป ไม่มองให้เห็นว่ามันไม่มีสิ่งนั้น คำว่าไม่มีนี่พูดยากเหลือเกิน พูดแล้วคนไม่ค่อยจะเข้าใจ ในความจริงของสิ่งเหล่านั้น เมื่อเขาไม่เข้าใจมันก็ลำบาก
เคยมีฝรั่งคนหนึ่งเขามาพักกับบ้านโยมที่เชียงใหม่ เลยให้อ่านหนังสือสูตรเว่ยหล่าง สูตรเว่ยหล่างเขาอ่านแล้วเขาไม่เข้าใจ เขาบอกว่านี่ มิสเตอร์นอร์แมน แล้วบอกว่านายนอร์แมนไม่มีอย่างไร บอกว่านี่นอร์แมน นี่นอร์แมน ชี้ที่แขนที่ตัวนี่นอร์แมน แล้วบอกว่านอร์แมนไม่มีมันจะพูดได้อย่างไร เขาคิดไม่ออก เพราะว่าทางตะวันตกนั้นไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เขาเข้าใจยาก เขาไม่เข้าใจ
แต่ถ้าเป็นคนเรียนวิทยาศาสตร์นี่เขาเข้าใจ เรียนวิทยาศาสตร์มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องวิทยาศาสตร์นี่เขาเข้าใจ เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นสสารที่ละลายได้ โดยเฉพาะในตอนหลังเมื่อไอน์สไตน์พบสูตร ก็เลย ไอ้ปรมาณูนี่ นักวิทยาศาสตร์เกิดความเข้าใจหลักพุทธศาสนามากขึ้นว่าสิ่งทั้งหลายสลายได้ เป็นของสูญได้ว่างได้ในทางวัตถุ แต่ว่าของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เรียกวัตถุ มันเป็นเรื่องจิตใจล้วนๆ นามธรรมล้วนๆ มันว่างได้ ไม่มีกิเลสรบกวนจิตใจได้ ก็ไปได้ไกลกว่านักวิทยาศาสตร์ ชาวบ้าน ไปไกลกว่าครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่สอนกันอยู่ในสมัยนั้น พระองค์ไปไกลขนาดนั้น ไอ้เรื่องอย่างนี้มันต้องคิดต้องมองต้องพิจารณาหัดแยกแยะวิเคราะห์วิจัยอะไรต่างๆ ให้มันเห็นว่าเนื้อแท้ไม่มี เป็นอนัตตา
เช่น นาฬิกาเรือนนี้ มันเป็นนาฬิกาอยู่ได้เพราะอะไร เพราะประกอบส่วนต่างๆ เข้า แล้วไอ้ส่วนที่ประกอบนี้ถ้ามันแยกออกจากกันเป็นอย่างไร มันก็ไม่มี ไอ้ความมีกับความไม่มีมันอยู่ที่เดียวกัน เอานาฬิกามาวางไว้มันก็มีนาฬิกา ยกไปเสียมันก็ไม่มี ไอ้ไม่มีมันก็อยู่ตรงนั้น แต่ว่าเรามองไม่เห็นความไม่มี ไปเห็นความมีเสียนี่ ไปเห็นเป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นผัสสะ ไม่ได้มองไปว่าสิ่งนั้นมันไม่มีเนื้อแท้ มันเป็นของผสมรวมกันเข้า เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะว่าเห็นต้นไม้ก็นึกว่าต้นไม้ เห็นอาคารก็นึกอาคาร เห็นสุนัขก็เห็นเป็นสุนัข แต่เราไม่นึกลงไปว่าไอ้ตัวสุนัขมันก็ไม่มี คนมันก็ไม่มี โต๊ะก็ไม่มี เก้าอี้ก็ไม่มี อะไรมันก็ไม่มี
เราแยกไม่ออก แยกไม่ออกเพราะว่าเราติดความเป็นก้อน ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า ฆนสัญญา ฆ ระฆัง น หนู ฆน (47.58 ฆนสัญญา) อ่า! ณ เณร ฆณสัญญา สำคัญว่าเป็นกลุ่มเป็นก้อน คนเรามันสำคัญเป็นก้อนไปหมด ไม่มีคำว่าสุญญตาเข้ามาพิจารณา เห็นอะไรก็เป็นก้อนไปทุกที เห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันเป็นก้อนไปหมด เพราะเราติดความเป็นก้อน ไม่ได้แยกออกไปว่ามันไม่มีก้อน ไม่มีกลุ่ม
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราแยก ด้วยวิธีพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป เช่น แยกเรื่องร่างกายในบทสวดมนต์ที่เราสวดว่า อัตถิ อิมัสมิง กาเย เกสา ผมทั้งหลาย โลมาขนทั้งหลาย นะขาเล็บทั้งหลาย ทันตาฟันทั้งหลาย ว่าเรื่อยไปจนถึง มัตถะลุง (48.49 มัตถะเกมัตถะลุงคัง) เยื่อในสมองกะโหลกศีรษะ ทำไมสอนให้แยกอย่างนั้น คือให้แยกออกไปไม่ให้มันเป็นกาย ไม่ให้เป็นคน เอาออกให้หมด ยกไปวางๆๆ ไว้ แล้วก็ตัวกูไม่มี ตัวฉันไม่มี เอาไปวางหมดแล้วนี่ ออกไปหมดมันไม่มี มันก็มีทีนี้รื้อหมดมันก็ไม่มีเวที ศาลานี้รื้อหมดมันก็ไม่มีศาลา ต้นไม้ถอนไปเผาไฟหมดมันก็เป็นขี้เถ้าไป ขี้เถ้ามันก็ไม่มีมันเป็นส่วนผสมอีกเหมือนกัน ท่านสอนให้แยกอย่างนั้น หมั่นพิจารณาแยกแยะวิเคราะห์วิจัยไปบ่อยๆ ปัญญามันค่อยเกิดขึ้นในเรื่องต่างๆ แทนที่จะมองเห็นว่าเป็นตัว พอมองไปแล้วมันไม่มีอะไรมันสลายไปมันว่างไปจากความมีตัวตน ว่างจากความมีฉันมีเขามีเรามีเธอ มันค่อยว่างไป ทีนี้เมื่อว่างแล้วกิเลสมันจะเกิดได้อย่างไร มันจะมีที่เกาะที่จับได้อย่างไร
เหมือนในสูตรเว่ยหล่าง อาจารย์ลูกศิษย์อาวุโสไปเขียนว่า กายนี้เหมือนต้นโพธิ์ ใจนี้เหมือนกระจกเงา เช็ดทุกวัน ฝุ่นไม่จับ
อยู่ในขั้นศีลธรรมเท่านั้นเอง อยู่ในขั้นศีลธรรมคือรักษาศีล ระมัดระวังอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ก้าวหน้าอะไร อาจารย์มาเห็นก็บอกว่า โอ้! มันก็อยู่ที่ประตูนี่ ไม่ได้เข้าไปสักหน่อยหนึ่ง แต่ว่า เอ้า! พอใช้ได้ ใครเอาไปปฏิบัติแล้วมันก็พอจะใช้ได้ เป็นประโยชน์แก่ชีวิตได้ แล้วก็สอนให้คนทั้งวัดท่องกันเป็นการใหญ่
ก็มีคนหนึ่งท่องเข้าไปในครัวโน่น เจ้าเว่ยหล่างน้อยเด็กบ้านนอก เมืองจีนเขาถือว่าคนฝ่ายใต้เป็นคนบ้านนอก เป็นฮวนนั้งเป็นคนบ้านนอกก็ไปอยู่ในครัว ตำข้าว ผ่าฟืน ผ่าฟืน ตำข้าว ไปตามเรื่อง ก็ท่องๆ ไปเดินไปเฉียดเด็กคนนั้น เว่ยหล่างว่าเอ๊ะ! ท่องอะไร ไอ้คนนั้นว่านี้แหละไอ้คนบ้านนอกไม่เอาไหนอยู่แต่ก้นครัวไม่ลืมตาดูโลกเสียบ้าง เอาเถอะน่ะ! ฉันเป็นคนบ้านนอกก็แล้วกัน ไอ้นี่ตัวอย่างดีนะโยมนะ พอเขาว่าบ้านนอกไม่โกรธ ไม่เคือง รับเสียเลยว่าเอาเถอะน่ะ! ฉันมันคนบ้านนอก ก็ท่องอะไรไหนลองว่าให้ฟังสิ อ่า! มันก็ได้ประโยชน์ นั่น! ถ้าหากว่าพอบอกว่าคนบ้านนอก โกรธเปรี้ยง เอาสากทุบหัวไอ้คนนั้นเขาเลย เออ! บ้านนอกๆ ทุบโป้งๆ เข้าให้ มันก็เสียหายใหญ่โต ไอ้เรามันบางทีก็อย่างนั้นนะโยมนะ ถ้าเขาว่าอย่างนั้น โกรธ หาว่าเป็นคนบ้านนอก โอ้! ฉันคนในกรุงมาหาว่าบ้านนอก ไม่ให้ฉันเกิดบ้านนอก ฉันอยู่ในกรุงหลายปีแล้ว อ่า! กิเลสมันเกิดมีตัวเกิดขึ้น ยึดถือในตัวตนก็โกรธ
แต่เด็กน้อยนั้นไม่โกรธ ยอมรับว่าเอาเถอะนะ ฉันมันเกิดบ้านนอกไม่รู้อะไร ไหนท่องอะไรท่องให้ฟังหน่อยสิ เขาก็ท่องให้ฟัง พอท่องให้ฟังแล้ว แกก็รู้ รู้ความหมายในการท่อง นึกว่า เออ! มันต้องไปแสดงบ้าง มีความรู้ที่จะแสดงได้ต้องไปแสดงหน่อย แกก็ไป ไปถึงก็มีคนกำลังคัดลอกโศลกคาถานั้นอยู่ เลยบอกว่านี่คุณ ขอโทษเถอะ ช่วยหน่อย ฉันมันไม่ได้เรียนหนังสือเขียนไม่เป็นช่วยเขียนหน่อย ก็นั่งมองตั้งแต่หัวจนเท้า อื้อ! ไอ้เด็กตำข้าว ผ่าฟืนจะมาเขียนโศลกกับเขาด้วย อ้าวแล้วกันไปว่าเขาเสียแล้ว แต่เว่ยหล่างไม่ว่าอะไร เว่ยหล่างบอกว่า ผู้ประพฤติธรรมเขาไม่ดูหมิ่นคนอื่น เอ้า! พอสะกิดอย่างนั้นรู้สึกตัว โอ้! ตายแล้วกิเลสมันเกิดขึ้นไม่รู้ตัว เอ้า! ว่าอย่างไรเขียน บอกให้เขียน เขียนได้ เขาก็บอกให้เขียน
ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกเงา เมื่อทุกอย่างว่างเปล่า ฝุ่นมันจะไปจับตรงไหน
คิดให้ดีเมื่อทุกอย่างว่างเปล่าฝุ่นมันจะจับตรงไหน กิเลสมันเกิดเพราะอะไร ที่เกิดขึ้นในใจของเราเพราะอะไร เพราะมันมีที่ตั้งของกิเลส ไอ้ที่ตั้งกิเลสนั้น ตัวอะไร ตัวที่เรียกว่าเห็นแก่ตัวนั่นเอง เห็นว่าแก่ตัวหรือเห็นว่าฉันมีตัว มีตัวไว้รับกิเลส ไว้รับความโลภ ไว้รับความโกรธ ไว้รับความหลง ไว้รับความริษยาพยาบาท ใครพูดกระทบนี่ก็ ปึ้ง! ขึ้นมาทันที ตัวมันมี ตัวมันมีก็ปึงปังออกไป เพราะมันมีตัวให้รับ แต่ถ้ามันไม่มีจะวางตรงไหน ฝุ่นมันจะไปจับอะไร ความว่าง ฝุ่นจับไม่ได้ ไม่มีภาชนะจะไปรับของได้อย่างไร มันต้องมีที่วาง
ทีนี้ในใจเราที่วางของตัวเราคือว่าตัวฉัน ของฉัน ไอ้นั่นแหละ สำคัญผิดว่าฉันมีฉันเป็น ฉันอย่างนั้น ฉันอย่างนี้ ไอ้ฉันมีฉันเป็นธรรมดายังไม่พอ ฉันเป็นคุณนั่น ฉันเป็นนี่ ฉันเป็นคุณหญิง ฉันเป็นคุณนาย ฉันเป็นนั่น ฉันเป็นนี่ เพียงแต่เขาต้อนรับไม่สมศักดิ์ศรีก็เคืองเอาแล้ว เขาต้อนรับ อื้อ! ไม่รู้จักฉัน ฉันไม่ทำ ก็เขาไม่ให้เกียรติแก่ฉัน เที่ยวเดินแบกเกียรติอยู่มันก็เดือดร้อน ไปไหนแล้วแบกเกียรติไปมันก็ลำบาก ต้อนรับไม่สมเกียรติก็ลำบาก พูดไม่ถูกก็ลำบาก ทำไมเอาไปมากขนาดนั้น ไม่ไปด้วยจิตว่างแล้วมันยุ่ง ไปไหนเอาตัวไปด้วยนี่มันยุ่งนะ โยมลองไปมีตัวไปสิ มีตัวไปแล้วมันยุ่ง ฉันเป็นคุณนาย ฉันเป็นคุณหญิง ฉันเป็นท่านผู้หญิง ฉันเป็นคนร่ำรวย เอาตัวไป ยุ่งไหม เดินลำบากคับที่คับทาง นั่งตรงไหนก็ไม่ได้ แล้วมันทุกข์เจียนตายเพราะเอาตัวไปด้วย มันลำบาก ทีนี้ถ้าเราไม่มีตัวไปมันก็ไม่มีอะไร นั่งตรงไหนก็ได้กินอะไรก็ได้ พูดกับใครก็ได้เป็นกันเองกับคนทุกคน นี่ตัวน้อยตัวมันน้อยแต่ยังมีส่วนลึกอยู่ ยังมีความยึดถือ แต่ถ้าไม่มีเลยแล้วก็สบายมาก
จิตมันว่างจากที่รองรับจิตใจก็สบาย เราปฏิบัติต้องไปสู่จุดนั้น รักษาศีล เพื่อให้เกิดความว่างทางใจ เจริญสมาธิเพื่อให้เกิดความว่าง คิดปัญญาก็เพื่อให้เกิดความว่าง อันนี้ไปวัดบางทีไปเพิ่มความหนักใจขึ้นมาอีก ยึดถือสิ่งนั้น ยึดวัด ยึดอาจารย์ ยึดวิธีการ ยึดหมด เอามาเก็บไว้ ไม่ได้ อย่าไปยึด อย่าไปยึดวัด อย่าไปยึดบุคคล อย่าไปยึดสถานที่ อย่าไปยึดหลักการอย่างนั้น ให้เอาสิ่งนั้นมาใช้เท่านั้น ใช้เป็นแพสำหรับข้ามฟาก
พระพุทธเจ้าท่านตรัสกับภิกษุว่า ภิกษุทั้งหลายธรรมะวินัยของตถาคตเป็นเหมือนแพข้ามฟากเท่านั้น เธออย่าไปเกาะแพอย่าไปจับแพอย่าไปยึดแพ ถ้าไปยึดแพอยู่มันก็ไปไม่ได้ ลงในแพแล้วเดินๆ โอ้! แพฉันสวย แพฉันงาม แพฉันกว้าง แพฉันยาว อุ๊ย! ของเธอเล็กนิดเดียว ไม้พายเล็กๆ สู้ของฉันไม่ได้ เอาแล้ว! เจ้าคนยืนในแพ ๒ คนก็ชักไม้พายมาตีศีรษะกันเลือดไหลให้ปลามากินเท่านั้นเอง แล้วจะถ่อข้ามฝั่งได้อย่างไร เพราะไปอวดแพกันอยู่ อวดแพก็คืออวดความมีความเป็นนั่นแหละ อวดตัวของฉัน ฉันอย่างนั้นฉันอย่างนี้ ไปอวดแล้วจะไปได้อย่างไร มันไปไม่ได้ เมื่อพบแพแล้วก็ลงแพ อย่าไปยึดถือแพ ถ่อด้วยสัมมาวายามะคือความเพียรชอบถ่อออกไปๆ ก็ถึงฝั่ง กระโดดตุ๊บขึ้นไปเลย
อย่าไปอาลัย โอ๊ย! แพสวยๆ ฉันไม่อยากขึ้น ฉันจะอยู่ต่อไป ขอเกิดอีกสักหลายชาติเพื่อดูกรุงเทพว่ามันจะสกปรกขนาดไหน เกิดมาดูกรุงเทพว่าต่อไปมันจะมีมลภาวะขนาดไหนแล้วมันเรื่องอะไรที่จะเกิดมาเป็นอย่างนั้น ไม่เกิดดีกว่า ไปเลยทำจิตให้ว่างให้สงบไม่ต้องมาเกิดอีก เพียงแต่เกิดอยู่ในปัจจุบันก็ยุ่งเต็มทีแล้ว แต่ที่มันยุ่งน้อยเพราะเราได้ใช้หลักธรรมะอยู่ เอาธรรมะมาเป็นเครื่องประเล้าประโลมใจ จิตใจจึงสบายตามสมควรแก่ฐานะ แล้วต่อไปข้างหน้าเผื่อมันเผลอ มันตกอยู่ในอำนาจของสิ่งแวดล้อมอะไรต่างๆ ก็เป็นทุกข์ต่อไป ทุกข์ทั้งนั้น คนเป็นทุกข์ ทุกข์ร้อยแปด คนมีลูกก็ทุกข์เพราะลูก ไม่มีลูกก็ทุกข์เหมือนกัน คนมีเงินก็ทุกข์เพราะเงิน ไม่มีเงินก็ทุกข์เหมือนกันไม่รู้จะกินอะไร ฝนตกก็เป็นทุกข์ แดดออกก็เป็นทุกข์ จราจรติดขัดก็เป็นทุกข์ ถนนโล่งๆ เอ้า! ขับใหญ่เลยเป็นทุกข์เพราะรถชนกัน
มันมีเรื่องทั้งนั้นถ้าไม่มีธรรมะเข้ากำกับแล้วมันก็ยุ่ง แต่ถ้าเราใช้ธรรมะแล้วมันก็ไม่ยุ่ง มีอะไรก็มีได้ เป็นอะไรก็เป็นได้ แต่อย่ามีให้เป็นทุกข์ อย่าเป็นให้เป็นทุกข์ มีด้วยปัญญา เป็นด้วยปัญญามันไม่มีเรื่องอะไร ใจสบายไม่มีปัญหา ไม่ทุกข์ พยายามอยู่ไม่ให้เป็นทุกข์ก็ดีอยู่ ถ้าเป็นทุกข์ขึ้นมาก็ต้อง ทุกข์อะไร ทุกข์เรื่องอะไร ถามพิจารณาแยกแยะวิเคราะห์วิจัย แล้วก็มอง เอ้อ! ไม่เข้าเรื่อง ทุกข์ไม่เข้าเรื่อง แล้วเราก็ไม่ทุกข์ ถ้ารู้อย่างนั้นมันก็ไม่ทุกข์ พอไม่ทุกข์ใจก็สบาย ว่างจากกิเลสทั้งหลาย ขอให้เข้าใจอย่างนี้
ออกพรรษาแล้วเดินทางต่อไป ตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เดิน ก็จะได้พบความสุขสงบใจสมความปรารถนา พูดมาก็สมควรแก่เวลา