แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ตามปกติ อากาศก็ไม่ร้อน ... อ้อ ... ไม่หนาวแล้ว มันหายหนาวแล้วมันก็ร้อน ร้อนแล้วแอบมาหนาวอีกหน่อยหนึ่ง สั่งลา ตอนนี้ก็ร้อนอีกแล้ว เรื่องหนาวเรื่องร้อนมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นไปตามการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง บางฤดูก็หนาว บางฤดูก็ร้อน บางฤดูก็มีฟ้ามีฝนหมุนเวียนกันไป ถ้าไม่มีการหมุนเวียน มันก็ยุ่งนะ ร้อนอย่างเดียวก็ยุ่ง หนาวอย่างเดียวก็ยุ่ง ฝนตกอย่างเดียวก็ยุ่ง เพราะมันทำให้เสียหาย เช่นฝนตกตลอดเวลาก็แย่ ร้อนอยู่ตลอดเวลาก็ลำบาก หนาวตลอดเวลาก็ลำบาก จึงมีการเปลี่ยนแปลง มีหนาวบ้าง ร้อนบ้าง เย็นบ้าง ตามเรื่องของธรรมชาติ เพราะโลกนี้มันไม่หยุดนิ่ง มีการหมุนอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่ได้หมุนอยู่ที่จุดเดียว อาจจะเคลื่อนไปบ้างทีละนิดทีละหน่อย ค่อยเคลื่อนค่อยย้ายไป อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยของที่ความเปลี่ยนแปลงของโลก
เราที่เป็นชาวพุทธอย่าไปหวั่นไหวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างนั้น ให้รู้ไว้ด้วยปัญญาว่า สิ่งทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง อย่าไปยึด ไปถือให้เกิดปัญหา คือความทุกข์ความเดือดร้อนใจ แต่ให้รู้จักปลง ให้รู้จักวาง ให้รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไรตามธรรมชาติ มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องนึกว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว แต่มันก็ไม่เที่ยงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่โดยธรรมดา ไม่เท่าใดก็เปลี่ยนแปลงไปในรูปอื่น เมื่อสิ่งอื่นเกิดขึ้นมันก็เปลี่ยนแปลงต่อไป ไม่มีอะไรคงที่ถาวร แม้ร่างกายของเราเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เรามองดูไปข้างหลัง ก็จะเห็นว่าเมื่อก่อนเราเป็นเด็กน้อยๆ แล้วก็ค่อยเติบโตเจริญขึ้น จนกระทั่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เวลาเป็นเด็กนี่สบายมาก ไม่ค่อยมีเรื่อง มีปัญหา ไม่มีความวิตกกังวลอะไรมากเกินไป เราลองนึกย้อนหลังไปในสมัยที่เราเป็นเด็ก ไม่ค่อยมีเรื่องทุกข์ร้อน พอค่ำเข้าก็นอนหลับปุ๋ยไปเลย ... ถ้าสมควรเวลาเขาก็ตื่น ตื่นแล้วก็มีเรื่องจะกิน กินแล้วก็เล่น แล้วก็เหนื่อย เหนื่อยแล้วก็นอน ๓ เรื่องนะ กิน เล่น นอน เรื่องของเด็กก็มีเท่านั้น ไม่มีปัญหาเรื่องธนาคารลดดอกเบี้ย หรือว่าขึ้นดอกเบี้ย หรือข้าวสารแพง ข้าวสารถูก หรือเรื่องอะไรๆ ที่เราเป็นกันอยู่นั้นมันไม่มี จิตใจของเด็กมันก็สบาย
ถ้าเราถอยไปเป็นเด็กเสียบ้างในทางจิตใจก็ดีเหมือนกัน อย่าให้ร่างกายถอยไปเป็นเด็กเพราะมันเป็นไม่ได้ แต่ว่าใจนี้เป็นได้ คือเป็นเด็กได้ เป็นเด็กคือ ไม่มีความยึดมั่น ถือมั่น ในเรื่องอะไรต่างๆ แม้จะโกรธกันก็ประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวก็มาคืนดีกันต่อไป เด็ก ๒-๓ คนมาเล่นกัน แล้วมีเรื่องขัดข้องหมองใจ มันก็โกรธกัน หันหลังให้กัน “ข้าไม่เล่นกับเอ็งต่อไปแล้ว ... รู้ไหม เค้าโกรธแล้วรู้ไหม?” เอ่อ...มันถามอย่างนั้น แต่เด็กอีกคนหนึ่งบอกว่า “ข้าก็เหมือนกันล่ะ ข้าก็โกรธเหมือนกัน ข้าไม่เล่นกับเอ็งอีกต่อไปแล้ว...” ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นล่ะ เดี๋ยวหันหน้ามาเล่นกันต่อไป มันขี้ลืม เด็กมันขี้ลืม มันขี้ลืม ลืมง่ายในเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหา แล้วก็มีความสนุกร่าเริงต่อไป ผู้ใหญ่เราถ้าหัดลืม....ลืมเสียบ้าง มันก็สบายใจ ไม่เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ ถ้าหากเราหัดลืมอะไรเสียบ้าง เรื่องใดเกิดตอนเช้า ลืมเสีย.... เกิดตอนสายก็ลืมมันเสีย เกิดตอนบ่าย เกิดที่เวลาใดที่มันผ่านพ้นไปแล้ว แล้วก็ให้มันพ้นไป อย่าเก็บเอามาเป็นอารมณ์ อย่าเอามาสร้างความยุ่งให้เกิดขึ้นในใจของเรา อย่างนี้จิตใจก็สบาย ไม่เกิดปัญหาวุ่นวายทางด้านจิตใจ แต่ว่าคนเรามันลืมไม่ค่อยเป็น เขาเรียกว่ามีความยึดมั่นในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว สิ่งที่ยึดมั่นนั้นแล ทำให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ
วันก่อนนี้ไปยะลา ก็พบคนๆ หนึ่ง แกก็เป็นคนใจบุญสุนทาน แต่เขามาเล่าให้ฟังว่าบางคืนนอนไม่หลับ เพราะคิดถึงปัญหาต่างๆ คิดถึงเรื่อง เรื่องอะไรต่ออะไร เช้าขึ้นแกก็มา มาถึงก็เลยบอกว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า “อย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย...อย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย” แกก็ท่อง เดินท่องตามหลังไป “อย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย....อย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย” ท่องเพื่อให้จำ จะได้ประทับใจไว้ แล้วก็มาคุยกันต่อว่ามันหมายความว่าอย่างไรพ่อท่าน ว่าอย่างนั้น ก็หมายความว่า อะไรมันผ่านพ้นไปแล้วก็อย่าไปคิดถึง คิดถึงแต่เรื่องเฉพาะหน้า สมมติว่าใครมายืมเงินเราไปหมื่นบาท แล้วมันไม่เอามาคืนให้ ก็อย่าไปนึกถึงมันไอ้เงินหมื่นบาทนั้น นึกว่าให้เสียก็แล้วกัน ให้เสียก็แล้วกัน แต่ถ้าเขาเอามาคืนมันก็ดีน่ะ อย่าปฏิเสธเขาเอามาคืน แต่ถ้าเขาไม่ให้คืนนะ ก็นึกว่า “ช่างหัวมันเถิด!” ช่วยเพื่อนเพราะว่าเพื่อนคงจะลำบาก ไม่มีเงินพอที่จะมาจ่าย ใช้หนี้ ก็นึกว่าให้เขาไปเสียก็แล้วกัน ปลงมันลงไป จิตใจก็สบาย
หรือว่าถ้าเราค้าขาย ถ้าขาดทุน ไม่ได้กำไรดังที่ตั้งใจไว้ ก็นึกว่าเคยได้กำไรมามากแล้ว ขาดทุนเสียบ้างก็ไม่เป็นไป ค้าขายไม่ถึงกับล่มจมอะไร เรามีบ้านช่องอยู่เป็นหลักฐาน มีสวนยาง มีกิจการหลายแห่ง ไม่เห็นจะต้องเดือดร้อนกับการขาดทุนเพียงเท่านั้น นึกอย่างนี้ นึกด้วยปัญญา ไม่เป็นไร แต่ถ้านึกด้วยความโง่ ความเขลา ด้วยคิดเสียดมเสียดาย แหม!...พลาดท่าไป ไม่น่าเลยจะเป็นอย่างนั้น ไม่น่าเลยจะเป็นอย่างนี้ นั่น...มันสร้างปัญหา คือสร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเราเอง เราก็นั่งกลุ้มใจ มีความทุกข์ไปเสียเปล่าๆ มันไม่ได้เรื่องอะไร คิดให้สบายใจเสียดีกว่า คิดอย่างไรใจสบาย ใจสงบเสียมันก็ใช้ได้ แต่ถ้าคิดอะไรใจวุ่น ใจมืด ใจเร่าร้อน กระวนกระวาย ความคิดนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อันนี้เป็นเรื่องที่คิดให้ดีแล้วก็จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตของเรา เราควรจะอยู่ด้วยความสุขใจ อย่าอยู่ด้วยความทุกข์ใจ
ความทุกข์มันเกิดจากคิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่ผ่านมา ถ้าเราไม่คิดถึงมันก็ไม่มีอะไร เพ่งแต่เรื่องเฉพาะหน้า เรื่องใดเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ท่านก็ให้เพ่งด้วยปัญญาอีกเหมือนกัน คือเพ่งให้รู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ตั้งอยู่ สิ่งนี้มันก็ดับไป ไม่มีอะไรคงทนถาวรอยู่แม้เพียงสักขณะจิตเดียว ขณะจิตเดียวน่ะ วินาทีเดียวน่ะ มันไม่มีอะไรคงทนถาวรสักวินาทีเดียว มันมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่งของเรื่องนั้นๆ มาคิดให้กลุ้มใจมันก็ใช่ที เราควรรู้จักปล่อย รู้จักวางให้สบายใจ ก็จะมีความสุขทางใจ
ทีนี้คนเรานั้นมันเป็นอย่างนี้อีกเหมือนกัน คือว่ามาเรียนธรรมะ มาฟังธรรมะ แต่ไม่เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่เอาไปแก้ไขปัญหาชีวิต ไม่เอาไปปรับตัวเองให้ดีขึ้นในแง่อะไรๆ ต่างๆ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น คล้ายๆ กับว่าเรามารับแจกกระจกไปคนละบาน คนละบาน แต่เอาไปแขวนเอาหน้ากระจกข้างฝาเสียนี่ มาเอาหลังออกมามันก็จะใช้ได้อย่างไร? เราควรจะเอาไว้ดู ไว้ส่องดูตัวเรา ดูตัวเราว่ามีความบกพร่องอะไร มีความไม่ดีด้วยประการใดบ้าง เพื่อจะได้รู้จักตัวเอง รู้จักสิ่งที่มันเกาะจับอยู่ในใจของเรา แล้วจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ถ้าหากเรารู้จักเพ่งมองตัวเราด้วยปัญญา ด้วยหลักธรรมที่เราเอามา มาฟังมาศึกษานี้ อะไรๆ มันก็จะดีขึ้น แต่ว่าบางทีเราก็ไม่ค่อยจะได้ใช้ คือมาฟังเพลินๆ ไปอย่างนั้นเอง เหมือนกับมาดูลิเกเพลินๆ ไป ดูหนังเพลินๆ ไป มันก็ยังไม่ได้ประโยชน์คุ้มกันกับการมาศึกษาธรรมะ การมาศึกษาธรรมะนั้นเรามาเรียนเพื่อให้รู้ เพื่อให้เข้าใจ แล้วเราก็ต้องนำไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา
ในการปฏิบัติก็คือว่า เอาธรรมะนั้นมาเป็นกระจกส่องดูตัวเรา ว่าเรามีอะไรอยู่ในใจของเรา สิ่งนั้นมันเป็นไปเพื่อทุกข์หรือเป็นไปเพื่อสุขอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความวุ่นวายหรือว่าความสงบในเรื่องชีวิตของเรา ในครอบครัวของเรา เช่นเราดูว่าตัวเรานี้สร้างปัญหาให้แก่คนที่เราอยู่ด้วยหรือไม่ สร้างปัญหาให้แก่ครอบครัวเราหรือไม่ สมมติว่าเราเป็นแม่ ... พ่อบ้านแต่ว่าเราปัญหาให้แก่แม่บ้านหรือเปล่า? หรือเป็นแม่บ้าน สร้างปัญหาให้แก่พ่อบ้านหรือเปล่า? เราเป็นพ่อเป็นแม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ลูกของเราหรือเปล่า? สำหรับลูกก็ต้องคิดเหมือนกันนะ แต่ว่าลูกไม่ค่อยมีในสิ่งนี้ เป็นส่วนที่เป็นพ่อเป็นแม่เสียเป็นส่วนมาก แต่ลูกก็ต้องคิดว่าเราสร้างปัญหาให้แก่คุณพ่อคุณแม่บ้างหรือเปล่า? หรือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วแต่ว่ายังมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ เราสร้างปัญหาให้ท่านเดือดเนื้อร้อนใจบ้างหรือเปล่า? หรือว่าเราทำให้ท่านสบายใจ มีความภูมิใจในความเป็นอยู่ของลูก คือภูมิใจว่าลูกฉันดีมีคุณธรรมในจิตใจ ประพฤติดี ประพฤติชอบ อยู่ในแนวทางที่ดี ที่งาม พ่อแม่ก็อุ่นใจ สบายใจ แต่ถ้าลูกประพฤติออกนอกลู่ นอกทาง คุณแม่ก็เดือดเนื้อร้อนใจ แม้ลูกจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว รู้จักทำมาหากินแล้ว แต่ว่ายังไม่ค่อยจะเรียบร้อย ใช้ทรัพย์ไม่ค่อยเป็น ประกอบกิจที่ไม่เหมาะไม่ควร คบเพื่อนเหลวไหล จ่ายสตางค์เปลือง สร้างปัญหาให้แก่ตัวเองและครอบครัว พ่อแม่ก็พลอยเป็นทุกข์เพราะความห่วงใยในลูกเหล่านั้น ลูกเหล่านั้นก็ควรจะได้พิจารณาว่า เราได้ประพฤติอะไรให้คุณพ่อคุณแม่เดือดเนื้อร้อนใจหรือเปล่า?
หรือท่านประท้วงอะไรบ้างหรือเปล่า? บางทีคุณแม่ก็ประท้วงเบาๆ ไม่รุนแรงอะไรหรอก! “แหม!... ได้ข่าวว่า ทำอย่างนั้นน่ะ แม่ไม่สบายใจเลย” นี่ๆ เรียกว่าประท้วงเบาๆ ใจมันห่วงนิดๆ ไม่รุนแรง ไม่ถึงกับปิดประตูบ้านไม่ต้อนรับต่อไป ไม่อย่างนั้นเพราะแม่ทำอย่างนั้นไม่ได้ พ่อก็ทำอย่างนั้นไม่ค่อยได้ ก็เพียงแต่ประท้วงเบาๆ ว่าได้ข่าวว่าเป็นอย่างนั้นนะ เป็นอย่างนี้นะ “แม่ฟังข่าวแล้ว ไม่ค่อยสบายใจเลย” ถ้าได้ยินคำแม่พูดอย่างนั้น เราผู้ลูกก็ต้องนึกว่าเรา อ้อ ... เราทำไม่ถูกต้อง สร้างปัญหาให้แก่คุณแม่ ทำให้คุณแม่ต้องเป็นทุกข์มีความกังวลใจ ลูกทำอะไรให้พ่อแม่เป็นทุกข์ก็เรียกว่า ประทุษร้ายทางจิตวิญญาณของพ่อแม่ การประทุษร้ายทางกายนั้นเป็นเรื่องหยาบ แต่การประทุษร้ายทางจิตวิญญาณนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ให้ท่านมาก เราควรจะหยุดยั้งจากเรื่องนั้น หรือไปสารภาพกับท่านว่า “ผมจะไม่ประพฤติอย่างนั้นต่อไป ขอให้คุณแม่ไว้ใจเถิด” บางคนก็พูดอย่างนั้นแล แต่ว่าพอลับหลังก็ไปอีกแล้ว หาเรื่องให้คุณแม่เดือดร้อนใจต่อไป จนติดนิสัย ไม่ใช่เรื่องอะไร สันดานมันเกิดขึ้นแล้วเอาไม่ค่อยออก สันดอนขุดได้ แต่สันดานขุดไม่ค่อยได้ ความจริงขุดได้ทั้งสองอย่าง สันดอนขุดด้วยเรือขุด สันดานขุดด้วยปัญญา ด้วยความอดทน ด้วยการบังคับตัวเอง ด้วยความเสียสละ ถ้าเราใช้วิธีการอย่างนั้นก็ขุดออกได้ มันไม่พอกพูนอยู่ในจิตใจของเรา อันนี้เป็นเรื่องที่ควรคิด
คนอยู่ในครอบครัวนี้ก็มีปัญหากันบ่อยๆ อยู่กันสองคนนั้นเริ่มต้นคือสามีกับภรรยา แล้วต่อมาก็มีลูกมีเต้าเป็นผลออกมาต่อไป ทีนี้ผู้ที่อยู่ในครอบครัวนี่ถ้าหากว่าได้ใช้ธรรมะเป็นหลักในการครองบ้านครองเรือน ปัญหามันก็ไม่ค่อยมีอะไร เพราะทุกฝ่ายประพฤติธรรม พ่อบ้านประพฤติธรรม แม่บ้านประพฤติธรรม มันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประพฤติธรรม ก็เกิดปัญหาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เช่น พ่อบ้านไม่ประพฤติธรรม แม่บ้านก็เดือดร้อนใจมีปัญหา แม่บ้านไม่ประพฤติธรรม พ่อบ้านก็เดือดเนื้อร้อนใจ มีปัญหา สร้างปัญหาให้แก่กันและกัน เขาเรียกว่าพ่นพิษเข้าใส่กัน ทำให้เกิดพิษขึ้นในจิตใจ จิตใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว การเป็นอยู่ก็จะไม่มีความสุข ไม่มีความสงบในครอบครัว เพราะขาดธรรมะเป็นหลักครองใจ การครองบ้านก็ไม่เรียบร้อย ครองงานก็ไม่เรียบร้อย คือสร้างปัญหาหลายเรื่องหลายอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อเรามารับธรรมะ มาฟังธรรมะไปจากพระที่พูดให้ฟังทุกวันอาทิตย์ อะไรอย่างนี้ เราก็ควรเอามานั่งคิดพิจารณา ว่าเรานี้ได้ประพฤติธรรมอะไรบ้าง หรือไม่ประพฤติธรรมสิ่งใดบ้าง กิเลสประเภทใดอยู่ในใจของเรา ราคะ ความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มีเกิดขึ้นในใจของเราหรือไม่? โทสะ ความร้อน ประทุษร้ายเพื่อให้คนอื่น....มีอยู่ในใจของเราหรือไม่ โมหะ ความหลงคือไม่รู้ว่าตัวคือใคร มีอะไรเกิดขึ้นในใจ แล้วสิ่งนั้นจะให้ทุกข์ ให้โทษอย่างไร เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็เรียกว่าอยู่ในสภาพมืด ไม่มีแสงสว่างส่อง จึงมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นเรื่องตามความเป็นจริง ก็สร้างปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในใจของเรา แต่เราอาจจะไม่รู้ว่าเราเดือดร้อน เพราะเราไปหลงผิด คิดว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นชอบ สิ่งนั้นควร ก็เพลินไปกับสิ่งนั้น เหมือนกับคนเพลินเก็บดอกไม้ ก้าวไม่ดู เลยย่างลงไป พลาดก้อนหินที่ตนเหยียบก็เลยตกเหวตายลงไป นี่มันเพลินทำให้ตกเหวตายได้ เพลินให้ตกน้ำก็ได้ เพลินให้เสียอะไรๆ ก็ได้ มันเพลินๆ ไปก็เกิดปัญหา
เหมือนเขาเล่าเรื่องไว้ว่า กษัตริย์หนุ่มน้อยเดินทางเพื่อจะไปครองราชย์สมบัติที่นครแห่งหนึ่ง เวลาเข้าป่าท่านก็เป็นผู้ไม่ประมาท ได้เตือนบริวารที่ไปด้วยว่า ให้ระวังในการเดินในป่า ต้นไม้ต้นไหนลูกดก อย่าไปกินเข้า เพราะลูกมันดกไม่มีใครกินก็แสดงว่าเป็นพิษ กินไม่ได้ ที่ไหนสบาย อย่านอน ที่ไหนสบายก็อย่านั่ง ให้คอยระวังศัตรูอันมีอยู่รอบข้างในป่าเหล่านั้น แล้วก็พาบริวารเดินไป บริวารบางคนก็เป็นผู้ประมาท ไม่เชื่อคำของหัวหน้า หลงใหลมัวเมาในสิ่งที่ตนเห็นด้วยตา หลงใหลในสิ่งที่ได้ยินด้วยหู ในสิ่งที่ลิ้มรส ในสิ่งที่ถูกต้อง เพลิดเพลินไปกับสิ่งเหล่านั้น ก็ถูกเขาหลอกเขาต้มให้เกิดความเสียหาย ถึงแก่ความตายไปก็มี อย่างนี้มีอยู่ทั่วๆ ไป ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องชาดกที่เอามาเล่า แต่ว่าในเรื่องของคนเรานี้มันก็มีอยู่เหมือนกัน เราหลงใหลเพลิดเพลินไปในสิ่งที่ได้เห็นด้วยตา เช่นเห็นรูปที่น่าเจริญตา เราก็จ้องมองดูรูปนั้น จ้องมองโดยไม่กระดากว่าเราคือใคร ว่าเราเป็นอะไร เราก็จ้องมองเรื่อยๆ ไป มองไปๆๆ มันก็ชอบใจขึ้นมาเพราะติดในรูปนั้น รูปอะไรก็ตามถ้ามองนานๆ มันก็ชักจะชอบขึ้นเหมือนกัน แม้ไอ้คนรูปร่างไม่สวย ขี้เหล่ มองนานๆ ก็มันเกิดอารมณ์ เขาเรียกว่า เกิดความกำหนัด ภาษาธรรมะเรียกว่า ราคะ
ราคะก็คือความเพลิดเพลินยินดีในสิ่งนั้นๆ เอามาเพี้ยนเป็นภาษาไทยว่า ราคา เช่นเราไปซื้อข้าวซื้อของนี้เขาตั้งราคาไว้ ราคาก็มาจากคำว่า ราคะ นั่นแล ถ้าใครต้องการมาก ราคามันก็แพง ถ้าไม่ต้องการราคามันก็ถูก ฉะนั้นของใดที่คนต้องการมาก เขาพ่อค้าก็ขึ้นราคา แต่ของใดเอาไปแขวนไว้คนไม่สนใจ เขาก็ต้องลดราคาเพราะขายไม่ออก ต้องรื้อ ต้องลดมันรกโกดังเต็มทีแล้ว ต้องลดทิ้งไป ราคามันตก ราคาขึ้นเพราะคนชอบมาก ราคาตกเพราะคนไม่ชอบ ราคากับราคะมันก็ตัวเดียวกัน ราคะนี้เป็นความกำหนัดยินดีในสิ่งนั้นๆ ยินดีก็เพลิดเพลินในรูป เพลิดเพลินในเสียง เพลิดเพลินในกลิ่น เพลิดเพลินในรส เพลิดเพลินในสิ่งถูกต้องอะไรต่างๆ พอเพลินไปก็ลืมเนื้อลืมตัว ลืมว่าเราคือใคร สิ่งที่กำลังทำอยู่คืออะไร มันจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตจิตใจของเรา แล้วจะกระทบกระเทือนต่อบุคคลผู้ใดบ้าง จากการกระทำในรูปอย่างนั้น เรานึกไม่ค่อยได้เพราะว่าจิตมันไม่ค่อยนึกถึงเรื่องตรงกันข้าม มักจะนึกแต่เรื่องที่เราชอบใจ เราพอใจ ถ้าใครมาพูดขัดคอ ก็หาว่า มาขัดขวางไม่ให้เราได้สิ่งที่เราต้องการ เขาเห็นว่ามันจะเป็นทุกข์เป็นโทษ เขาจึงบอกจึงเตือน แต่ว่าคนที่กำลังหลงมัวเมาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น จะไม่ได้ยินอะไร จะไม่ฟังอะไรทั้งนั้น
สุนัขที่มันวิ่งข้ามถนน ถูกรถสิบล้อชนตายบ่อยๆ ไม่ได้เรื่องอะไรหรอก มันไม่ได้วิ่งข้ามเฉยๆ ถ้ามันเดินปกติรถไม่ชน พอได้ยินเสียงแตร ... ถอยหลังหลังปรื๊ดเลยทีเดียว แต่ที่มันถูกชนน่ะเพราะอะไร เพราะมีตัวหนึ่งวิ่งไปข้างหน้า ตัวนั้นรูปร่างเข้าที มันดูแล้วมันติดอกติดใจ เลยมันก็วิ่งตาม วิ่ง ตามุ่งไปที่ไอ้ตัววิ่งไปข้างหน้า ไม่รู้ว่ารถมาทางขวา รถมาทางซ้าย ประเดี๋ยวก็ เคล้ง.... แล้วก็เงียบไปเลย นี่มันตายอย่างนั้น ตายเพราะวิ่งไปในสิ่งที่ตนต้องการนั้นเอง เลยตายไป สุนัขตายบ่อยๆ บนถนนเพราะเรื่องอย่างนี้ ถ้ามันเดินปกติไม่ตาย คนรถเขาก็พอยับยั้งได้ บีบแตรมันก็ถอยหลัง บางทีถอยหลังอย่างชนิดที่เรียกว่า วื้ด....เต็มที่เลย วื้ด...น่าดูเลย เจอบ่อยๆ วิ่งเต็มที่เลยแล้วก็ถอยหลังวื้ด... ไม่เป็นไร เพราะว่าไม่มีอะไรที่มันจะหลงมันจะเพลิดเพลิน แต่ว่าสุนัขตัวที่หลงตัวที่วิ่งไปข้างหน้า มันก็จะต้องถูกชนเหมือนกัน
เคยไปต่างประเทศ ที่ประเทศอังกฤษเขามีป้ายห้าม ป้ายบอกว่าขับรถช้าๆ ระวังสัตว์ข้ามถนน เขามีเขียนเป็นรูปกวางไว้ รูปกวางข้ามถนนเพราะว่ากวางในเมืองอังกฤษเขามีเยอะ คนไม่ค่อยไปล่าสัตว์ เขาห้ามไม่ให้ล่า แล้วชาวบ้านเขาก็รักสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เขาช่วยสงวนพันธุ์สัตว์ไว้ให้อยู่กับผู้คนต่อไป แต่ว่าบางทีสัตว์มันก็ข้ามถนน ทีนี้วันนั้นก็นั่งรถไป มีกวางตัวหนึ่งวิ่งข้ามไป เราก็หยุดรถน่ะ พอจะสตาร์ทออก อีกตัวหนึ่งวิ่งออกมาตามมาเหมือนกัน ไอ้ตัวก่อนนั้นเป็นนางสาวกวาง ไอ้ตัวหลังนี้เป็นไอ้หนุ่มกวาง มันวิ่งตามนางสาวมันไป เลยมันไม่รู้ว่าจะถูกชนตาย แต่ว่าคนรถเขาก็เบาเพราะว่าเขามีป้ายบอกไว้ ว่าระวังกวางข้ามถนน มันก็เลยไม่เป็นไร อันนี้เป็นตัวอย่างว่า คนเรานี้ก็เหมือนกัน หลงใหลเพลิดเพลิน มัวเมาในสิ่งใด ลืมความตาย ลืมคนอื่นๆ ลืมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เราจ้องมองไปเฉพาะในสิ่งที่เราต้องการ ด้วยความพอใจในสิ่งนั้น แล้วก็จะสร้างปัญหาขึ้นแก่ตน คือใจเร่าร้อนน่ะ ตัวใหญ่ ที่เกิดขึ้นก่อนก็คือใจร้อน ร้อนในเรื่องอะไร ร้อนในสิ่งที่เราจะเอาให้ได้ อันนี้มันไม่ได้ดังใจก็เกิดความร้อนเพื่อเอาให้ได้ ขณะนั้นมันร้อน แล้วถ้าไม่ได้สมใจก็มีความทุกข์ มีตัวโทสะเกิดขึ้นในใจ วุ่นวาย เร่าร้อนด้วยประการต่างๆ
อันนี้เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นแก่บุคคลใดก็ได้ ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ขาดคุณธรรม ไม่มีความระมัดระวังในเรื่องความคิด การพูด การกระทำ เพราะความประมาทจึงเกิดปัญหาขึ้นในชีวิตเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าหากว่าเราได้ใช้ธรรมะไว้ คือคอยสังเกตตัวเราไว้ สังเกตตรงไหนก็ไม่สำคัญ แต่ว่าต้องดูที่ใจของเรา ว่าใจเราคิดอะไร นึกในเรื่องอะไร เรื่องนั้นเป็นเรื่องเกิดจากประเภทใด เกิดจากราคะ ความกำหนัดยินดี เกิดจากโทสะ ความประทุษร้าย เร่าร้อน เกิดจากโมหะ ความหลงในสิ่งเหล่านั้น หรือเกิดจากความริษยา ความพยาบาท อาฆาต จองเวรอะไรต่างๆ ที่มันคอยเกิดขึ้นรุมจิตใจของเรา ถ้าหากว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรมะ การปฏิบัติธรรมะก็หมายความว่า ใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือ คอยสอดส่องดูการกระทำของตนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเห็นว่ามันไม่เหมาะไม่ควร เราก็หักห้ามใจเสีย เราไม่ดูสิ่งนั้น เราไม่ฟังสิ่งนั้น เราไม่เข้าใกล้สิ่งนั้น เพราะรู้ตัวว่าสิ่งนั้นจะทำให้เรามีใจตกต่ำ ไม่อยู่กับร่องกับรอย จะคิดนึกในทางที่ไม่ถูกไม่ชอบ อาจจะไปก่อกรรมทำเข็ญให้ใครก็ได้ แต่ว่าก่อนที่จะทำกับใครนั้น เราทำกับตัวเราก่อน คือเราประทุษร้ายตัวเอง เราทำลายตัวเอง คำว่าประทุษร้ายตัวเอง หรือทำลายตัวเองนั้น หมายความว่า ตัวเราที่แท้จริงนั้นคือ ความสงบ ความสะอาด สว่างทางใจ ใจเราสงบอยู่ ใจเราสะอาดอยู่ ใจเราสว่างอยู่ด้วยปัญญา แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ เช่น มีราคะเกิดขึ้น ใจก็ไม่สะอาด สว่าง สงบ มีโทสะเกิดขึ้น ก็ไม่สะอาด สว่าง สงบ มีโมหะเกิดขึ้น ก็ไม่สะอาด สว่าง สงบ สภาพจิตเปลี่ยนแปลงไป ในทางที่ไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการต่างๆ สร้างปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อนใจให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา นั่นแลคือการประทุษร้ายตัวเอง เหมือนเอาขี้ฝุ่นมาโรยลงบนหัวของตัวเอง อาบน้ำสะอาดแล้ว (27.58 เสียงไม่ชัดเจน) ใส่ …… หวีเรียบร้อย พอไปเจอขี้ฝุ่น เราก็เอ๊ะ...ไอ้นี่มันเหมือนกับแป้ง เอามาโรยหัวเสียหน่อย เลยเอาขี้ฝุ่นมาโรยๆ บนหัวโรยจนเต็มหัวไปเลย มันเป็นนั้นแล คนเราที่มีความคิดไม่ถูก ไม่ชอบ มีการกระทำที่ไม่เหมาะ ไม่ควร ก็เหมือนกับเอาขี้ฝุ่น ขี้โคลนมาโรยลงบนหัวของตัวเราเอง แล้วตัวเราก็แปดเปื้อนด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นมีเชื้อโรค มีเชื้อไวรัส มันก็จะเกาะจับเข้าไปในจิตใจของเรา ทำให้เราเกิดอะไรขึ้นก็ได้ เพราะสิ่งภายนอกมันไหลเข้าไปในสิ่งภายในได้เหมือนกัน
วันก่อนไปที่จังหวัดสงขลา อันนี้ไปที่วัดแจ้ง อุบาสกวัดนั้นเขา พอไปเขาก็มา ชอบมาเยี่ยม รุ่งเช้าก็ต้องไปหาปลาตัวใหญ่ๆ เอามาปิ้ง เอาอะไรต่ออะไรถวาย พอเห็นก็เอ้า...พรุ่งนี้ต้องไปเอาปลามาเลย มาทำกันใหญ่ ทีนี้มานั่งๆ ก็เห็นไอ้ตรงนี้มันเป็นคล้ายกับเป็นไฝ เป็นหูดอะไรอย่างนั้น ไอ้นี่มันราบลงไปแล้ว ถูกยา ....... เลยก็บอกว่า “โอ้....หลวงพ่อเป็นอะไรนี่ ไอ้อย่างนี้มันมีเชื้อโรคข้างในน่ะ ยาผมดีนะ ทาแล้วหายนะ” โฆษณาใหญ่เลยเพื่อจะให้ได้ใช้ยาของแกล่ะ เออ...เอ้า...แล้วก็ยกตัวอย่างดีนะ “เจ้าคุณก็เป็นนะ (29.19 เสียงไม่ชัดเจน) …… ศีรษะตรงนี้น่ะ แต่ว่ามันยุบแล้วนะแต่มันยังดำอยู่ เพราะว่าไม่ได้ใส่ซ้ำ ถ้าใส่ซ้ำมันเรียบร้อย” ...พูดโฆษณาเข้าที ก็เลยบอกเอ้าลองดูหน่อยก็ดีเหมือนกัน ยาอะไร ก็ยาแดงน่ะ ก็ปูนที่กินกับหมากน่ะ เอามาถึงขยำ ...ยีแล้วก็เอามือจับหัวก็มือหนึ่งแล้วก็ถู...... ถูเสียเต็มที่เลย ถูแรงเลยนะ (29.54 เสียงไม่ชัดเจน) ถูแบบนี้ …... ถูใหญ่ ถูเสร็จก็เอายากับปูนอีกก้อนมาแปะไว้ นั่งคุยกันไปประมาณสัก ๑๐ นาที รู้สึกมันงงอย่างไรอยู่ คล้ายกับเมากลอย เหมือนกินข้าวเหนียวกลอย มันเมา มันคล้ายอย่างนั้นนะ มึน... บอก “เอ๊... เป็นอะไรนี่? ทำไมมันมึนๆ เมาๆ อะไร ท่าจะเมายาแล้วน่ะ” เจ้าคุณวิเชียรบอกจะเมาอะไร กินเป็นก้อนๆ ยังไม่เมาเลย ไอ้เรามันกินจนชินเสียแล้ว มันก็ไม่เมานะ เราเอามาแปะเข้า แต่ว่ามันดูดเข้าไปในสมอง มันดูดยาเข้าไปแล้วทำให้มึนศีรษะ เลยลุกขึ้น เดินโงกเงกๆ ทำท่าไม่ค่อยดีนะ คนเขาเลยจับพาขึ้นบน ชั้นบนเข้าห้องนอนเลย แต่พอขึ้นไปถึงนั่งเก้าอี้ อาเจียรแล้ว เมา อาเจียรเลยบอกไม่ได้เรื่องแล้ว เลยบอกนอนเถิดๆ นอน คืนนั้นก็นอนด้วยความเมาน่ะ สว่างขึ้นค่อยยังชั่ว ที่พูดนี่ไม่ใช่เรื่องอะไร นี่มันเพราะอะไร ของเป็นวัตถุแท้ๆ มันยังทำให้ประสาทเราเมาได้ หากของเป็นอย่างนี้มันทำให้เมา ไม่ได้กินเข้าไป สูบเข้าไป เพียงแต่เอามาแปะเข้าที่ผิวหนัง ที่ศีรษะเท่านั้น มันก็ดูดเข้าไปในหัวได้ ทำให้มึนไปได้เหมือนกัน
อารมณ์มันก็เหมือนกันแล ถ้าเราเพ่งอะไรมาก นึกถึงเรื่องอะไรมาก เขาเรียกว่าเราเมาในสิ่งนั้น เมาในรูป เมาในเสียง เมาในกลิ่น เมาในรส เมาในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วเราก็มัวนั่งคิด นั่งนึกอยู่ในเรื่องนั้น เขาก็เรียกว่าเมาเหมือนกัน เมาแล้วทำให้สภาพจิตใจเปลี่ยนจากความสะอาด จากความสงบ ความสว่าง กลายเป็นสกปรก มัววุ่นวายเร่าร้อน มันเปลี่ยนไปอย่างนั้น จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในใจของเรา แล้วใครอย่ามาพูดน่ะ ถ้าเรื่องใดที่คนเขาชอบ เขาพอใจ อย่ามาพูด พูดแล้วหาว่าขัดคอบ้าง มาขัดขวางบ้าง อะไรต่ออะไรต่างๆ นานา สมมติว่าพ่อบ้านนี่ไปหลงใหลมัวเมาในเรื่องอะไร แม่บ้านพูดก็ไม่ฟังเสียงแล้ว เมื่อก่อนฟัง “แต่เดี๋ยวนี้ฉันไม่ฟังเธอแล้ว เธอนี่มันแก่แล้ว ฉันไม่ชอบใจแล้ว” เป็นยายปลาร้าแล้ว อะไรก็ว่าไป.....นึกในใจนะไม่พูดออกมาน่ะ ถ้าพูดออกมา เดี๋ยวก็เปรี้ยงปร้างกันเข้า ก็เกิดเรื่องใหญ่โตขึ้นเท่านั้น เลยก็นึกในใจอย่างนั้น เพราะว่าไปติดในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วก็เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งนั้น ชอบเพ่ง ชอบมองอะไรต่างๆ เขาเรียกว่า มีจิตประกอบด้วยความกำหนัดเพลิดเพลิน
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า “ให้ปิดเสียบ้าง ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปาก” อะไรต่ออะไร เขามีพระพุทธรูป พระเครื่องน่ะองค์หนึ่ง เขาเรียกว่า พระปิดทวารทั้ง ๙ รูปร่างนั้นก็คือปิดหมด อ้า...อย่างนี้เลย ปิด ยังปิดทวารหนัก ทวารเบาด้วย ความจริงไอ้หนักกับเบาไม่ต้องไปปิดมันก็ไม่มีเรื่องอะไรแล้ว มันสำคัญอยู่ตรงนี้แล ที่มันยุ่งอยู่ตรงนี้น่ะ ตา หู จมูก ลิ้น กายประสาทนี่แลที่มันยุ่งมาก ข้างล่างไม่ต้องปิดหรอก... แต่ว่ามันไม่ครบ ๙ มันไม่ขลัง เลยต้องให้ปิดหมดเลย คนชอบ บอกว่า แหม!...ได้พระองค์นี้แล้ว “ยิงไม่เข้า ฟันไม่เข้า เพราะปิดหมดแล้ว” อันนี้ก็เชื่อผิดไป ไม่ถูกตามเรื่องที่ควรจะเป็น พระปิดทวารนี้เขาทำไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจคน คือ ให้ปิดเสียบ้าง ปิดตาอย่าดู ปิดหูอย่าฟัง ปิดปากอย่าพูด จมูกน่ะปิดไม่ได้หรอก ถ้าปิดแล้วมันก็จะแย่ก็ต้องหายใจ แต่ว่าก็ต้องระวังอย่าไปเที่ยวหายใจอะไรเข้าที่มันไม่ถูกต้องนะ มือไม้ก็อย่าไปเที่ยวจับจ้องสิ่งไม่เหมาะไม่ควรเลย นี่เขาเรียกว่า ปิด ปิดหู ปิดตา ปิดจมูก ปิดปาก ปิดเสียบ้างแล้วก็นั่งสบาย มันไม่เกิดปัญหา ในพระสาวกพระองค์หนึ่งท่านกล่าวไว้ว่า “มีตาก็ทำเหมือนตาบอด มีหูก็ทำเป็นหูหนวกเสียบ้าง มีลิ้นก็ทำเป็นใบ้เสียบ้าง มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เอาผ้าคลุมโปงนอนเสีย ทำไม่รู้ไม่ชี้ แล้วมันก็สบาย มันไม่เกิดปัญหา” อันนี้ก็คือ ความสำรวมนั่นเอง ในคำบาลีว่า
“จักขุนา สํวโร สาธุ สาธุ โสเตน สํวโร”
สำรวมตาเป็นดี สำรวมหูเป็นดี สำรวมจมูก สำรวมปาก สำรวมกาย สำรวมใจ สำรวมได้ทั้งหมดก็เรียกว่าดี มีความสุขทางใจ เพราะเราระวังไม่ให้อะไรเข้ามากระทบ แต่ว่าเราจะเดินปิดตามันก็ไม่ได้ หูปิดมันก็ไม่ได้ เราก็ต้องปล่อยให้สิ่งต่างๆ ผ่านมา แต่ว่าผ่านมาเราต้องรู้ ตาดูอะไรก็ทำให้รู้ทันที หูได้ยินอะไรก็ต้องรู้ ไอ้ที่เราได้ยินอยู่นั่นเรียกว่าได้ยินตามธรรมชาติ ตาเห็นอยู่ตามธรรมชาติ ได้กลิ่นตามธรรมชาติ ได้ลิ้มรสตามธรรมชาติ อย่างนี้ไม่ได้ใช้ธรรมะเข้าประกบ ธรรมะไม่เข้าประกบมันก็ยุ่ง ทีนี้เราเอาธรรมะคือตัวสติ ตัวกำหนดรู้เข้าไปประกบไว้ ประกบไว้ที่ตาเมื่อเห็นรูป ประกบไว้ที่หูเมื่อได้ยินเสียง กำหนดประกบไว้ที่จมูกเมื่อจะได้กลิ่น ประกบที่ลิ้นเมื่อจะชิมรสอาหาร กินอาหารอะไร ประกบไว้ที่ร่างกายเมื่อจะไปจับต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ๕ เรื่อง
แต่ว่าที่สำคัญก็คือว่า คุมไว้ที่ใจ อย่าให้เกิดยินดี ยินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเหล่านั้น นั่นแลตัวสำคัญ ควบคุมใจตัวเดียวมันก็ควบคุมได้หมด ถ้าเราจะไปควบคุมที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย มันหลายเรื่อง ท่านจึงให้คอยคุมไว้ที่ใจ รูปเข้าตาก็ให้มันเข้าไป แต่ระวังใจอย่าให้ไปยินดี ยินร้ายในรูปนั้น เสียงเข้าหูก็เข้าไปตามเรื่อง แต่ว่าอย่าให้ใจยินดี ยินร้ายในเสียงนั้น ได้กลิ่นอะไรก็ได้ไปตามเรื่อง แต่อย่าให้ใจมีความยินดี ยินร้ายในกลิ่นนั้น เวลารับประทานอาหาร เราก็รับประทานไปตามหน้าที่ ระวังใจไม่ให้ยินดีในรสชาติของอาหารที่เราพอใจและไม่พอใจ ถ้าเราควบคุมอย่างนั้น เราจะเฉยๆ ในเรื่องรสอาหาร เขาให้อะไรก็กินได้ ไม่เที่ยววุ่นวายเติมนั่น เติมนี่ หรือไม่ต้องวิ่งไปเที่ยวรับประทานภัตตาคารนั้น ภัตตาคารนี้ให้มันเสียสตางค์ไปเปล่าๆ โดยไม่จำเป็น เพราะเราคุมใจของเราได้ แม้เราจะจับ จะฉวยสิ่งใด ก็คอยคุมใจไว้ว่าอย่าไปยินดีเข้า อย่าไปยินร้ายเข้า ยินดีก็หมายความว่า สิ่งนั้นเป็นที่น่าปรารถนาพึงใจ ยินร้ายเพราะสิ่งนั้นไม่เป็นที่ถูกใจ เขาเรียกว่า “อิฏฐารมณ์” ภาษาธรรมะเรียกว่าอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าพอใจก็เกิดความยินดี “อนิฏฐารมณ์” คือ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ก็จะเกิดความยินร้าย ยินดีมันก็ผิด ยินร้ายมันก็ไม่ถูก ไม่ดีทั้งนั้นแล ไอ้ที่ดีนั้นคือว่า ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อยู่ในสภาพวางเฉยด้วยปัญญา ด้วยปัญญาก็หมายความว่า เฉย เพราะเรารู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอย่างไร มันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง ของจริงมันไม่มีน่ะ มันมีแต่ของปลอมทั้งนั้น
เมื่อเช้านี้ก็ไปเททองหล่อพระพุทธรูป เขาจะส่งไปเมืองนอกเมืองนา ทีนี้จะไปหาหลวงพ่อขลังๆ องค์ไหนก็ไม่ได้ ก็หลวงพ่อปัญญาก็ไปเทเอง ก็ไม่ได้ทำอะไรว่ามันขลังอะไรหรอก ก็พอไปถึงเขาก็ให้สวดมนต์นิดหน่อย แล้วก็ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ บอกว่า “นี่ได้ฤกษ์หรือยัง? พร้อมหรือยัง ทองเหลืองละลายแล้วหรือยัง เบ้าเรียบร้อยไหม?” ก็บอกว่า พร้อมแล้ว พร้อมแล้วเทได้ ฉันฤกษ์ของฉันมันอยู่ที่พร้อม ถ้าไม่พร้อมเทไม่ได้ เดี๋ยวเบ้าพังไปเลย พอบอกพร้อมแล้ว นิมนต์หลวงพ่อได้ นี่ก็ไปเท เรียบร้อยไปแล้ว ทีนี้ก่อนที่จะขึ้นไปทำพิธีนั้น พระองค์หนึ่งบอกว่า “แหม!... ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้ว ไม่เห็นตัวจริงเลย เพิ่งพบตัวจริงวันนี้แล” อาตมาก็บอกว่า “ตัวจริงมันมีที่ไหน มันมีแต่ของปลอมทั้งนั้นแหละ ไม่มีตัวจริงอะไร ทีหลังอย่าพูดว่าเจอตัวจริงต่อไป เพียงแต่ว่าได้พบหลวงพ่อก็ดีใจ ก็พอแล้ว” ไอ้ดีใจมันก็ไม่ดีเหมือนกัน แต่ว่าอย่าไปพูดว่าตัวจริงต่อไป เพราะตัวจริงไม่มี ตัวจริงไม่มีเพราะอะไร เพราะว่ามันของผสม รวมกันเข้าก็ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง ไม่มีอะไรเรียกว่าเป็นตัวจริง ตัวแท้ ในคำปัจจเวก คือคำพิจารณาของพระเณร เวลาฉันอาหาร เวลารับข้าวรับของนี่ เขาให้พิจารณาว่า
“ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง” สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง ตามเหตุตามปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง แล้วไปลงตอนท้ายว่า
“ธาตุมัตตะโก” เป็นสักว่าธาตุ
“นิสสัตโต” ไม่ใช่สัตว์
“นิชชีโว” ไม่ใช่ชีวะ
“สุญโญ” เป็นของว่าง
ให้พิจารณาอย่างนั้น ให้เห็นว่ามันเป็นของว่างเปล่า มันไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ แต่ว่าคนเรามันไม่ค่อยเห็นว่างหรอก.... เห็นเป็นก้อนทุกที เห็นเป็นก้อนแล้ว เห็นว่าสวย น่ารัก น่าพอใจ มันยุ่งตรงนี้น่ะ เขาเรียกว่า “ฆนะสัญญา” ฆนะ แปลว่า ก้อน สัญญา คือความสำคัญมั่นหมาย สำคัญว่ามันเป็นก้อนเป็นกลุ่ม ไม่แยกออกไปเพราะเห็นเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา เป็นหญิง เป็นชาย เป็นนั่น เป็นนี่ ความจริงความเป็นแท้หามีไม่ มันเป็นแต่เพียงสักว่าธาตุ ที่เข้ามาปรุงแต่ง ประกอบขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง เป็นหญิง เป็นชาย ชื่อนั้นชื่อนี้ ผิวดำ ผิวขาว สูงบ้าง ต่ำบ้าง อ้วนบ้าง ผอมบ้างอะไรต่างๆ นานา มันไม่มีอะไรที่เรียกว่าเนื้อแท้ มันไหลไปตลอดเวลา เราไม่ได้คิดอย่างนั้น คือไม่หัดคิดอย่างนั้น ถ้าเราหัดคิดในแง่นั้นไว้เสียบ้าง สภาพจิตใจก็จะดีขึ้น สงบ สว่างขึ้น เพระมองเห็นอะไรก็ตาม ตัวปัญญาที่เราเคยคิดมันจะมาบอกว่า “ไม่มีอะไรที่น่ารัก ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ”
คำนี้ของท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านพูดมานานแล้ว ไม่มีอะไรน่ารัก ไม่มีอะไรน่าเอา ไม่มีอะไรน่ายึดน่าถือ ท่านพูดบ่อยๆ ก็เพื่อให้เอาไปคิดนั่นเอง เอาไปพิจารณาเป็นเครื่องปราบกิเลสประเภทต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นรบกวนจิตใจ ถ้าเราปราบมันไว้ว่าไม่มีอะไรน่ารัก ไม่มีอะไรน่าเอา ใจมันก็ว่าง สุญ เป็นสุญญะขึ้นมา “สุญญตา” คือความว่าง ใจมันว่างจากกิเลส ไม่ใช่ว่าไม่คิดอะไร ไม่นึกอะไร คิดได้ นึกได้แต่มีปัญญากำกับ กิเลสไม่เกิดขึ้นในใจ พอกิเลสไม่เกิด จิตมันก็เป็นความว่างที่เราเรียกว่า สุญญตา คือความว่าง ความว่างเพราะไม่มีกิเลส ไม่มีความโลภเพราะได้ยิน ได้เห็น ได้ฟังอะไร ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง ไม่มีความริษยา พยาบาท อาฆาตจองเวรเกิดขึ้นในใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตมันว่างจากกิเลส ที่ท่านพูดว่า “จิตว่าง...จิตว่าง” บางคนไม่เข้าใจบอกว่า “มันว่างไม่ได้” เพราะมันไม่รู้ว่าความว่างคืออะไร? ความว่าง คือมันว่างจากกิเลส ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เรียกว่า ว่าง นี่เวลานี้ญาติโยมที่นั่งอยู่นี่ คงจะว่างอยู่บ้าง คือนั่งเวลานี้มันไม่เกิดความโลภอะไร ไม่เกิดความโกรธด้วย และก็ไม่เกิดความหลงอะไรด้วย นี่เรียกว่าว่าง หรือไม่คิดริษยาใคร ไม่คิดพยาบาทใคร สภาพจิตอยู่ในความว่างจากกิเลส เวลาใดเราว่างจากกิเลส เวลานั้นเรามีความสงบ เรียกว่าสันติเกิดขึ้นในใจของเรา
“นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง” – สุขอื่นยิ่งไปกว่าความสงบไม่มี
ความสุขที่แท้ก็คือ จิตสงบ จิตว่าง จากกิเลสนั่นเอง แต่ถ้าเราเป็นสุขเพราะตาดูรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้ถูกต้องอะไรต่ออะไรต่างๆ นั้น หาใช่เป็นความสุขที่แท้จริงไม่ เพราะมันเป็นเรื่องของการปรุงแต่ง สุขเพราะมีอะไรมาช่วยให้เกิดความสุข ความเพลิดเพลิน ความหลงใหลมัวเมาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นความสุขแท้ ความสุขที่แท้คือใจมันสงบ แม้มีอะไรมากระทบก็ไม่ตื่นเต้น ไม่ยินดี ยินร้าย ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้งตัวในเรื่องอะไรต่างๆ อย่างนั้นเรียกว่าใจสงบ พอใจสงบก็เป็นความุสขที่แท้ขึ้นมาทันที เราควรจะได้ปรับจิตใจของเราให้ได้สัมผัสกับความสงบเสียบ้าง เพื่อจะได้สมกับความเป็นพุทธบริษัท ความเป็นพุทธบริษัทอยู่ที่การทำใจให้สงบได้ตลอดเรื่อยๆ ไป หรือแม้เป็นครั้งเป็นคราวก็เรียกว่า เราสมศักดิ์ศรีของความเป็นพุทธบริษัท ถ้าเราอยู่ด้วยความวุ่นวาย เร่าร้อน มืดบอด เพราะไม่ได้ประโยชน์จากธรรมะที่เราศึกษา ไม่ได้เอาธรรมะไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เราก็อยู่ในสภาพที่ยังสับสน วุ่นวายกันอยู่ตลอดเวลา ใจยังวุ่นวาย ไขว่คว้า เหมือนกับลิงขึ้นต้นไม้ ลิงขึ้นต้นไม้นี่มือขวาจับลูกหนึ่ง มือซ้ายจับลูกหนึ่ง แต่เท้ายังจับไม่ได้ เพราะมันจับกิ่งไม้ไว้ ใส่เข้าไปในปากอมข้างขวา อมข้างซ้าย ตายังจ้องต่อไป จ้องไอ้ลูกโน้นต่อไป แล้วก็กระโดดตามกิ่งไม้เพื่อไปจับลูกนั้น ไปจับลูกนี้แล้วตลอดเวลา นั่นคือสภาพของลิงที่เป็นความจริง
จิตเราก็สภาพอย่างนั้นคือเหมือนกับลิงนี้แล ท่านจึงบอกว่า ดิ้นรน กลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก เหมือนกับลิง สัตว์อะไรที่จะซนเท่าลิงไม่มีแล้ว เราไปนั่งดูลิงนะ มันไม่มีหยุดสักขณะเดียว ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา เคลื่อนมือ เคลื่อนเท้า เคลื่อนหน้า เคลื่อนตา กลับกลอก โยกไปเยกมาตลอดเวลา จึงเปรียบจิตเหมือนกับวานรหรือลิงนี้ ถูกต้องที่สุด เพราะไม่หยุดนิ่ง ที่ไม่หยุดนิ่งเพราะเราไม่ฝึกให้มันหยุด เราปล่อยมันไปเรื่อยๆ แล้วก็นึกว่านั่นแลเป็นความสบาย เป็นความสุขในชีวิต ที่ได้ปล่อยไปอย่างนั้น ได้เห็นสิ่งนั้น ได้เห็นสิ่งนี้ ได้ฟังสิ่งโน้น เป็นความเพลิดเพลิน ความเพลิดเพลินหรือความสุขแบบนี้มันต้องลงทุน เที่ยวเสาะ เที่ยวหา เสาะไปที่นั่น ไปที่นี่เพื่อไปดู ไปชมกันแล้วก็จะเกิดความเพลิดเพลินในทางจิตใจ เป็นความสุขที่ต้องจ่ายทรัพย์ แต่ความสุขที่เกิดจากความสงบนั้นไม่ต้องจ่าย ไม่ต้องลงทุนอะไร นั่งสงบอยู่ในบ้านก็ได้ อยู่ในห้องพระก็ได้ หรืออยู่ในครัวก็ยังนั่งสงบใจได้ นั่งตรงไหนใจสงบทั้งนั้น เมื่อเรานั่งที่ใดใจสงบ ที่นั่งนั้นเป็นทิพย์ นอนสงบก็นอนเป็นทิพย์ กินอาหารด้วยความสงบใจก็อาหารทิพย์ เสื้อผ้าที่เรานุ่งห่ม เรามีความสงบใจ ไม่มีความคิดแข่งขันกับใครๆ แล้วไม่นึกว่า “แหม! ของฉันนี่มันทันสมัยกว่าเพื่อน มันนิวแฟชั่น เพิ่งออกมาใหม่ ฉันได้แต่งก่อนเพื่อน” แต่งเสร็จแล้วก็เดินดูขวาที ดูซ้ายที ชมตัวเอง รถชนขาหักเมื่อไรก็ไม่รู้ อันนี้ก็เรียกว่ามันวุ่นวาย มันสับสน เพราะว่าเที่ยวไปหลงใหลสีสัน วรรณะ รูปทรงต่างๆ ไม่มีความสงบ เสื้อผ้านั้นเร่าร้อน ไม่เป็นสุขทางใจ แต่ถ้าเราแต่งชุดใดก็พอใจ มันก็สบายไม่ค่อยเกิดอะไรวุ่นวาย ไม่ค่อยจะเป็นปัญหา
ไปเมืองลาวนี่ ดูสุภาพสตรีลาวเขาแต่งตัว ไม่เหมือนสุภาพสตรีบ้านเรา คือเขาไม่มีหลายแบบ เขามีแบบเดียวเท่านั้นเอง ผ้าถุงแบบนั้น นุ่งผ้าถุงรัดเข็มขัด ส่วนมากก็เป็นเข็มขัดนาก เข็มขัดอื่นก็มี แล้วก็เสื้อก็แขนสั้นเพียงนี้ รูปเดียวกัน เห็นกี่คนเขาก็แต่งอย่างนั้นน่ะ (48.51 เสียงไม่ชัดเจน) …… หญิงรับใช้บนโรงแรม เดินอาหารอะไรก็แต่งเหมือนกัน ไม่มีเครื่องแบบประเภทอื่น เรียบๆ ง่ายๆ แล้วก็ไม่โชว์อะไรให้คนที่ไปพบตุ้มๆ ต่อมๆ ในทางจิตใจ ก็เรียบๆ ร้อยๆ อย่างนี้ก็ช่วยเหมือนกัน คือช่วยให้คนมันมีกิเลสน้อยขึ้นมาหน่อย แต่ถ้าเราแต่งตัวเปิดนั้นนิด เปิดนี้หน่อย ซื้อผ้าแพงแต่ว่านุ่งห่มไม่มิด มันก็ทำให้เกิดปัญหาแก่คนที่ได้ประสบพบเห็น ทำให้จิตใจฟูขึ้นบ้าง แฟบลงไปบ้าง เกิดอารมณ์ต่างๆ นานา ไอ้สิ่งเหล่านี้เขาเรียกว่า สิ่งแวดล้อม ถ้าเราช่วยแก้ช่วยปรับปรุงมันก็ดีเหมือนกัน ทำให้สังคมเราดีขึ้นเพราะมีความเพลิดเพลินน้อย ปิดกั้นไปเสียอย่างหนึ่งในเรื่องการแต่งเนื้อแต่งตัว เขาก็แต่งเรียบๆ ไป อย่างนี้มันก็ดีไป
แต่ว่าในบางศาสนาก็ แหม! มากเกินไป (49.57 เสียงไม่ชัดเจน) …… เวลาไปไหนก็คลุมมันหมดเลย เจาะไว้ตรงนี้นิดหน่อยไว้ดู อันนั้นมันก็ร้อน มันอึดอัดก็ไม่สบาย มากไปก็เรียกว่า ให้พอดีๆ มันต้องพอสบาย ช่วยให้คนมีความรู้สึกในทางกิเลสน้อยลงไป ส่งเสริมสิ่งที่เป็นไปเพื่อความสะอาด เป็นไปเพื่อความสงบ สว่างทางจิตใจ มันก็ดีขึ้น มีความเรียบร้อยขึ้น แต่ว่าเขาอาจจะติว่า “เอ๊ย... บ้านเมืองแบบสังคมนิยมแล้วก็อย่างนั้นแล มันควบคุมไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง” นี่ติไปเรื่องนั้น ก็มองไปคนละแง่ แต่ถ้ามองในแง่อื่น นั้นมันก็ได้ ได้หลายแง่ อะไรๆ นี้มันมองได้หลายแง่ทั้งนั้นล่ะ มองด้านดีก็ได้ มองด้านเสียก็ได้ มองให้เพลินก็ได้ มองให้เสียก็ได้ มองให้น่าเกลียดก็ได้ สุดแล้วแต่จะมอง เหมือนคนเรามองคน บางคนบอกว่า ชอบสวย แต่อีกคนบอกว่า อุ๊ย...ไม่เข้าท่า มันสายตาคนละอัน
เหมือนกับบทเขียนของใครคนหนึ่งบอกว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นเพียงโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคมเห็นแสงสกาวอยู่วาวแวว” ช่องเดียวกันเห็นเป็นโคลนเป็นตม แต่อีกคนหนึ่งเห็นเป็นแวววาว เหมือนกับว่าเพชรว่าพลอยเสียอย่างนั้น เรียกว่ามองเห็นเป็นอย่างนั้น มันอยู่ที่ความเข้าใจของบุคคลนั้น พื้นฐานทางจิตใจของบุคคลนั้น มองอะไรก็เห็นเป็นดีก็ได้ เห็นเป็นชั่วก็ได้ เห็นเป็นเรื่องให้เกิดวุ่นวายก็ได้ เห็นเป็นเรื่องให้เกิดความสงบก็ได้ สุดแล้วแต่การเพ่งการมอง อันนี้ก็หมายความว่าของสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งมองเป็นเรื่องร้ายก็ได้ มองเป็นเรื่องดีก็ได้ มองด้วยปัญญาก็ได้ มองด้วยกิเลสก็ได้ สุดแล้วแต่จะมอง ถ้ามองในแง่ใดก็เกิดปฏิกิริยาทางจิตใจในแง่นั้น ถ้ามองในแง่ส่งเสริมกิเลสมันก็เกิดกิเลส มองในทางส่งเสริมปัญญามันก็เกิดปัญญา ถ้ามองในทางส่งเสริมปัญญาก็เกิดธรรมะ เห็นธรรมะในสิ่งนั้น เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความเป็นอนัตตาในสิ่งเหล่านั้น จิตก็ว่างจากกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ นี่แลคือความสงบที่เราควรจะเข้าถึงกัน และควรจะปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอ ต้องหมั่นพิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง ให้รู้ว่าเรามันนี้ขาดตกบกพร่องในเรื่องอะไร สภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไปในทางลงหรือทางขึ้น หรือว่าอยู่ในสภาพที่เป็นตัวเอง ซึ้งตัวเองก็หมายความว่า ใจมันสะอาดอยู่ สงบอยู่ สว่างอยู่อย่างนั้นเรียกว่า เป็นตัวเอง ถ้าว่าเกิดยินดีก็ไม่ใช่ตัวเอง ยินร้ายก็ไม่ใช่ตัวเอง ชอบ ชังก็ไม่ใช่ตัวเอง ตัวเองนั้นต้องอยู่ในสภาพรู้เท่า รู้ทันต่อสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง เราก็มีความสงบในทางจิตใจ อันนี้เป็นข้อคิด เตือนจิตสะกิดใจแก่ญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาประชุมกันเพื่อฟังธรรมะในวันนี้ ฟังแล้วก็เอาไปใช้เป็นกระจกส่องดูตัวเราแต่ละคน เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ถ้าเราดีอยู่แล้วก็สบายใจ ถ้าบกพร่องอยู่ก็ทำให้สะอาดเรียบร้อย ชีวิตจะมีค่าเพราะการปฏิบัติธรรมะดังนี้
ดังแสดงมาก็สมควรแก่เวลา ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที