แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะแล้ว ขอให้หาที่นั่งอย่ามัวเดินไปเดินมา นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี ขณะที่ฟังปาถกฐาอย่าพูดอย่าคุยกัน เพราะว่าจะเป็นเหตุให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ฟัง เวลาฟังนี่ใช้หู ไม่ต้องใช้ปาก ใช้หูรับฟัง ใช้ใจจดจำ นำไปพิจารณาเพื่อให้รู้ให้เข้าใจ จะได้ประโยชน์คุ้มกับการมา เพราะว่าการมาวัดในวันอาทิตย์นี่ เรามาเพื่อการศึกษาด้วยการฟัง ศึกษาด้วยการฟังแล้วเอาไปคิดไปตรองให้ละเอียดรอบคอบอีกทีหนึ่งจนเข้าใจ แล้วนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ทุกวันอาทิตย์ ความรู้ก็จะเพิ่มขึ้น การปฏิบัติก็จะเพิ่มขึ้น ความสุขความสงบทางใจก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าเรามาแล้วแต่ว่าความรู้ไม่เพิ่ม ความสุขสงบทางใจก็ไม่เพิ่ม อะไรๆ ก็เหมือนเดิม เขาเรียกว่ายังไม่เปลี่ยนแปลง ยังไม่ได้ผลจากการมาวัด เพราะการมาวัด ก็มาขัดมาเกลา มาแต่งจิตใจของเราให้ดีขึ้น เพื่อความสงบสุขในชีวิตประจำวัน การศึกษาการปฏิบัติธรรมะมีจุดหมายอยู่ที่ตรงนี้ ตรงที่ให้เรามีความสุขสงบในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้นต้องสังเกตตัวเราเอง ว่าตั้งแต่เราเข้าวัดฟังธรรมมา สภาพจิตใจเป็นอย่างไร ความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างไร สิ่งใดที่เคยมีเคยเป็นมาก่อน มันยังมียังเป็นอยู่หรือเปล่า ถ้ารู้สึกว่ายังไม่ลดเหมือนที่เคยทำมาก่อนนั้น ก็ยังไม่ก้าวหน้า การปฏิบัติยังไม่ก้าวหน้า การศึกษาก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร จะต้องใช้สติ ใช้ปัญญา เพื่อศึกษา เพื่อพิจารณาต่อไป จนกว่าจะภูมิใจว่า ฉันดีขึ้นแล้ว ฉันสงบขึ้นแล้ว ฉันรู้ทัน รู้เท่า ต่อสิ่งที่มากระทบตามสภาพที่เป็นจริงแล้ว นั่นแหล่ะคือผลที่เกิดขึ้นแก่ตัวเราเอง ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องไปถามใครว่าได้อะไร สิ่งที่ได้นั้นมันประจักษ์แก่ใจของเราอยู่แล้ว
เพราะว่าพระธรรมนี่ในบทสวดที่เราสวดว่า สันทิฏฐิโก (03.34 ไม่ยืนยันตัวสะกด) ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตัวเอง คือรู้ได้เองว่าอะไรเป็นอย่างไรในใจของเรา อันนี้ก็ต้องหมั่นมองตัวเอง พิจารณาตัวเอง เพื่อให้เห็นว่ามีอะไรดีขึ้น มีอะไรหายไปจากจิตใจของเรา เมื่อก่อนเป็นอย่างไร ภายหลังจากการเข้าวัดศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะแล้ว อะไรมันเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ดีขึ้นขนาดไหน ก้าวหน้าขนาดไหน ใกล้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เข้าไปเท่าไหร่ หรือว่าห่างออกไปเท่าไหร่ อันนี้ต้องพิจารณา เมื่อพิจารณาเราก็เห็นด้วยตัวของเราเอง แจ้งจิตแจ้งใจของเราเอง เราก็สบายขึ้น ศรัทธาความเชื่อในพระศาสนาก็เพิ่มขึ้น สติปัญญาก็เพิ่มขึ้น ความตั้งใจมั่นในการที่จะปฏิบัติก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เรียกว่ามั่นคงขึ้น เพราะเราเห็นผลน่ะ
ถ้าเราค้าขาย ถ้าว่าลงทุนค้าไปแล้วก็มีกำไรใจสบาย ใจสบายก็เกิดมีความหึกเหิมใจอยากจะค้าขายต่อไป ทำไปๆ กำไรมากขึ้นๆ ความสบายในทางวัตถุก็เพิ่มขึ้น มีเงินมากขึ้น ขยายบ้านโตขึ้น ซื้อรถยนต์คันใหม่ ซื้อเพชรพลอยมาประดับให้มันแวววาว ให้ขโมยจี้ได้ง่ายขึ้น นี่ก็เรียกว่ามันดีขึ้นทุกอย่าง ในความสุขในชีวิตของเราฉันใด ในการศึกษาธรรมะก็เป็นอย่างนั้น เราปลื้มใจเรียกว่ามีปิติ มีปราโมทย์ขึ้นในใจ เพราะเรามีความสุขทางใจ ได้รับผลจากการปฏิบัติธรรมะ ผลการปฏิบัติมาจากการฟัง การอ่าน การคิด การค้น ความเข้าใจอะไรก็เพิ่มขึ้น อันนี้เป็นเครื่องช่วยให้เราสบายใจจากการกระทำเช่นนั้น
อันการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนานั้น ขอโยมทั้งหลายเข้าใจว่า มันสำคัญอยู่ที่ใจของเรานั่นเอง อะไรๆ ก็อยู่ที่ใจทั้งนั้นน่ะ รักษาศีลก็อยู่ที่ใจ ทำสมาธิก็อยู่ที่ใจ ปัญญาก็อยู่ที่ใจ อะไรอยู่ที่ใจทั้งนั้น นรกสวรรค์ก็อยู่ในใจของเรา นิพพานก็อยู่ในใจของเรา เรื่องของใจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่เราควรจะเอาใจใส่ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าการปฏิบัตินั้นตั้งต้นไปตามลำดับขั้นก็เพื่อปลุกจิตนั่นเอง เช่น การรักษาศีลก็เพื่อฝึกจิตชั้นหยาบๆ ให้งดเว้นจากการฆ่าการทำร้ายผู้อื่น ให้งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ให้งดเว้นจากความคิดในเรื่องมักมากทางกามรมณ์ ให้งดเว้นจากการพูดจาที่ไม่เหมาะไม่ควร เช่น คำเท็จ คำหยาบ คำเหลวไหลเพ้อเจ้อ คำที่พูดแล้วทำให้คนแตกแยกแตกร้าว กระทบหูคนอื่นในทางที่ไม่ถูกไม่ชอบ ให้งดเว้นจากสิ่งเสพติดอันเป็นเครื่องทำลายสุขภาพกายสุขภาพใจ เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น
การรักษาศีลมันก็อยู่ที่เจตนา คือ ความตั้งใจ ตั้งใจที่จะงดเว้นตามหลักของศีลก็อยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ถ้าใจไม่ระวังศีลก็อยู่ไม่ได้ ศีลอยู่ได้ก็เพราะเราควบคุมใจ เป็นการควบคุมชั้นหยาบๆ เบื้องต้นไปก่อน ทำไปจนเคยชินกับการปฏิบัติอย่างนั้น ศีลมันก็เป็นปกติในตัวเรา ไม่ต้องรักษาต่อไป ที่ว่าไม่ต้องรักษาหมายความไม่ต้องควบคุมมันก็เป็นของมันเอง คือเป็นจนชินแล้ว เป็นจนชิน เหมือนเราทำอะไรๆ ในทางร่างกาย มันเป็นจนชิน มีอะไรเกิดขึ้นมันก็เป็นของมันเอง มันเคยอย่างนั้น ใจเราก็มันชินกับการงดเว้น ชินกับการไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ไม่เอาสิ่งของของใคร ไม่ประพฤติล่วงเกินในทางกามรมณ์ ไม่พูดคำโกหก คำหยาบ คำเหลวไหล ไม่เสพสิ่งเสพติดมึนเมา มันเป็นตามธรรมชาติขึ้น สภาพจิตมันก็เป็นอยู่ในรูปอย่างนั้น เพราะเคยฝึกมาอย่างนั้น ถ้าจะไปทำเข้าก็ละอายแก่ใจตนเอง แล้วเกิดความกลัวต่อผลอันจะเกิดขึ้นจากการกระทำที่ผิดพลาดนั้น ความยับยั้งชั่งใจก็เกิดขึ้น การบังคับตัวเอง ความเสียสละที่ไม่หวังได้อะไรจากสิ่งชั่วๆ ร้ายๆ เหล่านั้น มันก็เพิ่มขึ้นในใจของเรา
ศีลก็กลายเป็นปกติของกายวาจาใจ ไม่ต้องฝึกเคร่งอะไรมันเป็นของมันเองตามธรรมชาติ เมื่อเรารักษาศีล ๕ พอสมควรแล้ว เราก็เพิ่มการรักษาขึ้นไปอีก ๕ มันดีแล้ว ก็เริ่มรักษาศีล ๘ ศีล ๘ นั้นสำคัญอยู่ที่ใจเหมือนกัน เพราะว่าตัวศีล ๘ เขาเรียกว่าเป็นพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าส่งสาวกให้ไปประกาศ เวลาส่งสาวกไปประกาศธรรมะนี่ พระองค์ตรัสว่า พรัหมจาริยังปะกาเสฏะ (09.42 ไม่ยืนยันตัวสะกด) เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปเพื่อประกาศพรหมจรรย์ คำว่าพรหมจรรย์หมายความว่าการดำรงชีพที่บริสุทธิ์ ที่มีความสุขความสงบในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร เป็นชาวนา ชาวสวน เป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการ หรือทำงานอะไรก็ตาม ให้ทำงานด้วยความสบายใจ ด้วยมีความสุขใจ
ถ้าเราทำงานด้วยความสุขสบายใจเขาเรียกว่า เราประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าทำงานด้วยความทุกข์ด้วยความเดือดร้อนใจ มีปัญหาทีไรก็กลุ้มใจนั่งปวดหัว ต้องกินยาแก้ปวดหัว อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ ขาดปัญญารู้ทันรู้เท่าต่อสิ่งเหล่านั้น จึงเป็นเหตุให้กลุ้มใจด้วยประการต่างๆ ยังไม่ดีเท่าใด ต้องประพฤติอย่างนั้นต่อไป เพิ่มปัญญามากขึ้น เพิ่มสติมากขึ้น กำหนดสิ่งต่างๆ ที่ไหลมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราให้มากขึ้น แล้วก็คอยควบคุมไม่ให้เกิดความยินดี ไม่ให้เกิดความยินร้ายในสิ่งนั้น
เกิดความยินดีมันก็เป็นทุกข์ตามแบบของความยินดี เกิดยินร้ายก็เป็นทุกข์ตามแบบของความยินร้าย ความยินดีนั้นมันทุกข์รุนแรงทีหลัง แต่ชั้นแรกก็เพลินไปก่อน เพลินๆ ไป ก็เป็นทุกข์ต่อไป แต่ความยินร้ายนั้นทุกข์ทันที เหมือนกับจับถ่านไฟ จับปุ๊บมันก็ร้อนทันที ถ้าว่าความยินดีมันทำให้เกิดทุกข์คล้ายกับกินยาถ่าย กินเข้าไปถึงยังไม่เป็นไร นอนไปก่อน หลับไปก่อน แต่พอตื่นขึ้นก็เอาแล้ว เริ่มไปถ่ายกันแล้ว ถ่ายหลายครั้ง ถ่ายหลายหนตามฤทธิ์ยาที่เรารับประทานเข้าไป แล้วมันก็ให้อะไรแก่เราต่อไป
ความยินดีก็มีสภาพเช่นนั้น ชั้นแรกก็เพลิดเพลินเจริญใจสบายใจเพราะได้สิ่งนั้น แต่ต่อไปก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ท่านจึงสอนว่ายินดีก็ไม่ดี ยินร้ายก็ไม่ดี มันไม่ดีทั้งสองข้าง เป็นเรื่องที่สร้างปัญหาทั้งนั้น ไอ้ที่ถูกนั้นเป็นอย่างไร ที่ถูกก็คือ ไม่ยินดีในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี ไม่ยินร้ายในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความยินร้าย ในข้อที่เรียกว่า สัมมาวายามะ คือความเพียรชอบ ก็ระวังใจนั่นเอง ระวังใจไม่ให้เกิดความกำหนัดยินดีในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ระวังใจไม่ให้หลงในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความหลง ระวังใจไม่ให้มัวเมาในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ถ้าเราระวังใจไว้ได้ ก็เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ติดต่อกันไปอยู่ มีความเพียรติดต่อ ความเพียรที่ติดต่อก็เพียรในระวังนี่เอง ระวังไม่ให้ยินดีในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดขัดเคืองลุ่มหลงมัวเมา เพราะความยินดีในสิ่งเหล่านั้นมันกลายเป็นทุกข์เป็นโทษในภายหลัง สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดก็หมายความว่า ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินในสิ่งนั้นๆ ให้ยินดีมากในสิ่งนั้นๆ สิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดเคือง คือไม่ชอบใจ ไม่พอใจ พอไม่ชอบใจไม่พอใจก็เกิดอารมณ์ขุ่น หงุดหงิด งุ่นง่าน ไม่สบายใจ แสดงอาการออกมาในรูปต่างๆ อย่างนั้นเกิดเพราะสิ่งนั้นเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
บางเรื่องมันก็เป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง คือทำให้เราไม่รู้อะไรถูกต้อง คล้ายๆ กับมองของในที่มืด แล้วก็ไม่เห็นชัด แต่ว่าเราชอบใจพอใจในสิ่งนั้น เลยหลงอยู่ในสิ่งนั้น จากไม่ได้ เอาออกไม่ได้ เรียกว่าหลง หลงแล้วมันก็มัว มัวเมาอยู่ในสิ่งนั้น ติดพันอยู่ในสิ่งนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นที่ตั้งแห่งปัญหาของชีวิตตลอดเวลา ผู้มีความเพียรมั่นก็ต้องตั้งใจกำจัดความรู้สึกอย่างนั้น ไม่ให้เกิดขึ้นในใจของเรา ระวังไม่ให้มันเกิด เรื่องการปฏิบัตินั้นมันสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ คือระวังไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านั้น เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้มีอยู่ในใจของเราตลอดเวลา เราไม่ต้องกำจัดกิเลส แต่ว่าระวังไม่ให้กิเลสเกิดก็แล้วกัน อย่าให้มันเกิด เกิดแล้วมันลำบาก
เหมือนระวังไม่ให้เกิดไฟไหม้ มันดีกว่าที่จะประมาทแล้วไฟไหม้ พอไฟไหม้แล้วก็ไปดับไฟ อะไรๆ บางอย่างมันก็ต้องเสียหาย ฝาบ้านเสียหาย พื้นบ้านเสียหาย ก็ต้องมีการซ่อมการแซม ต้องลงทุนเพื่อการซ่อมต่อไป เพราะไฟมันทำให้สิ่งเหล่านั้นเสียหายไป แต่ถ้าเราระวังไว้ไม่ให้ไฟไหม้ ดับฟืนดับไฟให้เรียบร้อย คอยตรวจดูสายไฟภายในบ้านว่ามันชำรุดตรงไหนบ้าง ไฟมันจะช็อตอะไรขึ้นที่ตรงไหน คอยดู คอยแล ในต่างประเทศนั้นเขาคุมนักคุมหนา ไม่ให้เจ้าของบ้านเป็นช่างไฟเสียเอง เขาให้ทำไม่ได้ ถ้าใครเป็นช่างไฟเอง เขามาพบเข้า ก็ต้องถูกปรับ ถูกลงโทษ เขาไม่ให้เป็น จะทำอะไรก็ต้องติดต่อกับช่างไฟฟ้า ให้เขามาจับมาทำ
เช่น เราจะจัดงานสนุกสนาน เรียกว่างานปาร์ตี้กันในสนามหญ้าภายในบ้านก็เลยต่อไฟออกไปใช้เองตามลำพัง ไม่รู้ว่ากำลังไฟมันขนาดไหน ถ้าไม่เกิดอะไร มันก็ไม่เป็นไร แต่พอเกิดอะไรขึ้นก็เจ้าบ้านก็ต้องถูกลงโทษ เพราะฉะนั้นเขาต้องโทรศัพท์ไปบอกเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยจัดให้หน่อย แต่เจ้าหน้าที่ของเขามันว่องไว พอได้รับโทรศัพท์เขาก็มาทันท่วงที ของเราโทรศัพท์แล้วโทรศัพท์อีกก็ยังไม่ค่อยจะได้มา เลยก็เป็นช่างกันเสียเอง บางคนเป็นช่างเองไฟช็อตถึงแก่ความตายไป เหมือนข่าวที่ว่า คนๆ หนึ่งเล่นกล้วยไม้ แล้วก็ฝนมันก็ตกชื้นๆ แฉะๆ ไม่ระวัง เข้าไปแต่งไฟในลานกล้วยไม้ไฟช็อต แล้วก็ถึงแก่ความตายไป นี่ก็เพราะความประมาทนั้นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร จึงได้เป็นเช่นนั้น
เพราะฉะนั้นต้องดูแลคอยหมั่นตรวจสอบสิ่งต่างๆ อันเป็นเครื่องใช้ สายไฟถ้ามันเก่าเกินไปก็ต้องลุกเปลี่ยนใหม่กันเสียทีหนึ่ง ประเทศมาเลเซียเมื่อญี่ปุ่นเข้าครองอยู่หลายปี พอฝรั่งกลับมานี่สั่งรื้อหมดเลย สายไฟที่เคยใช้รื้อหมดทุกหนทุกแห่ง สำนักงานบ้านช่องราชการอะไรให้รื้อหมด เอาออกหมดเลย แล้วก็เปลี่ยนใหม่หมด นี่เขาทำการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ บ้านเขาเมืองเขาไม่ค่อยมีไฟไหม้ นานๆ จึงจะไหม้สักครั้งหนึ่ง ของเรานี่มันไหม้เกือบ เกือบทุกวันก็ว่าได้ แต่คิดเฉลี่ยแล้วไหม้ที่นั่นไหม้ที่นี่เพราะความประมาทนั่นเอง ไม่ระมัดระวัง ของเขาเขาไม่มีความประมาทจึงไม่เป็นเช่นนั้น
สภาพสิ่งที่เป็นกิเลสเกิดขึ้นในใจเราก็เหมือนกัน ในเชิงปฏิบัติก็คือว่าไม่ให้มันเกิดขึ้น อย่าไปแก้ทีหลัง แก้ทีหลังมันลำบาก เหมือนไฟไหม้แล้วนั่นแหล่ะ แต่ว่าระวังไว้ไม่ให้มันเกิด ระวังไม่ให้เกิดดีกว่า อันนี้ก็ต้องมีฐานความเชื่อที่ถูกต้องเป็นฐานสำคัญก่อน ความเชื่อที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธเจ้าสอนนั้นเป็นอย่างไร พระองค์สอนว่าจิตของเรานั้นไม่ได้มีกิเลสมาตั้งแต่ดั้งเดิม ในทางพระพุทธศาสนาไม่มีบาปดั้งเดิม เราทุกคนเกิดมาไม่ได้เกิดมาด้วยบาป ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เกิดมาด้วยบาป แต่มันเกิดตามเรื่องของการเกิด เป็นเรื่องของธรรมชาติ ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ย่อมมีการสืบพันธุ์ เมื่อมีการสืบพันธุ์ก็เกิดออกมาตามเรื่องตามราว เกิดออกมาแล้วจะทำอย่างไร จะอยู่อย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องจัดต้องทำกันต่อไป
สภาพจิตใจของคนเรานั้น โดยปกติไม่มีอะไร คือไม่มีความชั่ว ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ถึงแม้มันจะเกิด มันก็เกิดดับไป เกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไป ถ้าเราไม่รู้ทัน ไม่รู้เท่า มันก็เกิดดับเรื่อยไป เกิดแล้วดับเรื่อยไป แล้วมันเกิดบ่อยๆ จนเราสำคัญผิด คิดว่าฉันเป็นอย่างนั้น ฉันเป็นอย่างนี้ หรือคิดว่า คนนั้นมันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้โกรธอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เกลียดอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้นั่งริษยาใครอยู่ตลอดเวลา หรือไม่ได้คิดให้มันเศร้าหมองอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตของใครเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลาก็อยู่บ้านไม่ได้ ต้องย้ายไปอยู่ศรีธัญญา หรือสมเด็จเจ้าพระยา หรืออย่างน้อยๆ ก็ไปโรงพยาบาลประสาท เพราะจิตมันผิดปกติเสียแล้ว ปล่อยให้มันลุกลามมากเกินไปเสียแล้ว มันก็เสียหาย โดยปกติไม่ได้เป็นเช่นนั้น
อันนี้ญาติโยมต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามหลักการของพระพุทธเจ้า ว่าเราไม่มีบาปดั้งเดิมในใจของเรา ธรรมชาติของจิตนั้นก็บริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ ประภัสสรคือมันไม่มีอะไรอยู่ แต่ว่ามันเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีสิ่งมากระทบ รูปเข้ามาทางตา เสียงเข้ามาทางหู กลิ่นเข้าทางจมูก รสผ่านลิ้น สิ่งถูกต้องผ่านกายประสาท ใจไปรับรู้สิ่งนั้น เมื่อใจไปรับรู้นี่แหล่ะมันสำคัญตรงนี้ รับรู้ด้วยปัญญา หรือรับรู้ด้วยความไม่มีปัญญา หรือพูดว่ารับรูด้วยปัญญาหรือรับรู้ด้วยอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง ถ้าเรารับรู้ด้วยปัญญาก็ไม่มีอะไร ไม่เกิดผลอะไรขึ้น คือไม่มีการปรุงแต่ง เพราะเรารู้ทัน รู้เท่า ต่อสิ่งนั้น
แต่ถ้ารับรู้ด้วยอวิชชา คือความไม่เข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้องมันก็ปรุงแต่ง ปรุงถ้าหากว่าสิ่งที่มากระทบนั้นเป็นที่ตั้งแห่งความโกรธก็โกรธ เป็นที่ตั้งแห่งความรักก็รัก เป็นที่ตั้งแห่งริษยาก็ริษยา เป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อย่างใดเมื่อเกิดอย่างนั้น อันนั้นแหล่ะคือการปรุงแต่ง ใจมันถูกปรุงแต่งด้วยอารมณ์ อารมณ์นั้นเข้าไปทำใจให้เปลี่ยนสภาพไปในรูปอย่างนั้น ถ้าเปรียบทางวัตถุก็พอจะเห็นว่า น้ำนี่มันสะอาดอยู่โดยธรรมชาติ น้ำประปานี่สะอาดแล้ว หรือก่อนมาเป็นประปามันก็สะอาดโดยธรรมชาติ น้ำฝนที่ตกลงมาก็เป็นสิ่งสะอาด แต่ไม่สะอาดก็เพราะว่ามีอะไรบางอย่างในอากาศปนมากับฝน โดยธรรมชาติของน้ำฝนนั้นไม่ได้สกปรกอะไร มันอยู่อย่างนั้น
หรือว่าเราทำน้ำให้เป็นธรรมชาติสะอาดตามปกติ เอามาใส่ภาชนะ ใส่แก้วไว้ ถ้าเราใส่สีอะไรลงไป น้ำก็จะเปลี่ยนสีนั้น ใส่สีแดงมันก็เป็นสีแดง ใส่เขียวมันก็เป็นสีเขียว ใส่เหลืองน้ำก็จะเหลือง ใส่น้ำหมึกดำลงไปน้ำก็จะกลายเป็นสีดำ ที่มันกลายไปนั้นเพราะอะไร เพราะมีสิ่งเข้าไปปะปน สิ่งนั้นเข้าไปปะปน มันก็เปลี่ยนสีของน้ำให้เป็นไปในรูปต่างๆ หรือว่าไฟนี่มันก็โดยธรรมชาติมันก็อยู่อย่างนั้น แต่เราเอาไปจุดไว้ในตะเกียงที่มีกระจกหลายสี เรามองด้านใดมันก็เป็นสีนั้น มองด้านสีเหลืองก็ไฟเหลือง มองด้านสีขาวก็ไฟสีขาว มองด้านสีแดงก็ไฟสีแดง มองด้านสีเขียวก็ไฟสีเขียว มันเป็นไปตามกระจกที่เรามองเห็น ไฟมันก็เหมือนเดิมนั่นแหล่ะ แต่ว่ากระจกที่บังไฟนั้นมีสี แล้วเรามองเห็นเป็นสีนั้นไป นี่สภาพมันเป็นอย่างนั้น
ใจเรานี่ก็เหมือนกัน สภาพเดิมมันเป็นอย่างหนึ่งคือบริสุทธิ์อยู่ ประภัสสรอยู่ในตัว แต่ว่าเมื่อมีอะไรมากระทบเรารับสิ่งนั้นด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ เพราะไม่เคยคิด ไม่เคยนึก ไม่เคยพิจารณาในเรื่องนั้นไว้ก่อน พอรับปุ๊บ ก็เกิดอารมณ์ เกิดการปรุงแต่ง สิ่งที่มากระทบนั้นเรียกว่าอารมณ์ พออารมณ์มากระทบปุ๊บก็เกิดการปรุงแต่ง ถ้าสิ่งนั้นเป็นที่ตั้งแห่งความรักก็รักขึ้นมาทันที เป็นที่ตั้งของความเกลียดก็เกลียดขึ้นมาทันที เป็นที่ตั้งแห่งความหลงก็ไปหลงเอาทันที เพลิดเพลินเอาทันที ใจมันเปลี่ยนไปตามสิ่งที่มากระทบอย่างนั้น นั่นคือใจของคนที่ชินกับสิ่งเหล่านั้น พอใจในสิ่งเหล่านั้นมาเสียนาน ไม่มีการป้องกันไม่ให้เกิด เพราะไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่ได้เอาธรรมะไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เราก็เป็นอย่างนั้น และเราสำคัญผิดว่า ฉันเป็นอย่างนั้น ฉันเป็นอย่างนี้ นึกว่าตัวน่ะเป็นไปในรูปอย่างนั้น นั่นก็คือความหลงผิดอีกเหมือนกัน ความจริงตัวไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่มันเป็นขึ้นเพราะสิ่งนั้นมาปรุงแต่ง ภาษาธรรมะเรียกว่าสังขาร
สังขารคือการปรุงแต่งจิตใจให้เป็นในรูปต่างๆ เวลาพระสวดบังสกุล ใช้คำว่าอนิจจา วะตะ สังขารา (25.13 ไม่ยืนยันตัวสะกด) สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ อุปปัชชิตวานิรุชฌันติ (25.18 ไม่ยืนยันตัวสะกด) เกิดแล้วก็ต้องดับ อุปาทะวะยะธัมมิโน (25.25 ไม่ยืนยันตัวสะกด) มีความเกิดก็มีความเสื่อม เตสังวูปะสะโมสุโข (25.28 ไม่ยืนยันตัวสะกด) การสงบสังขารเสียได้เป็นความสุข สังขารตัวแรกหมายถึงสิ่งภายนนอกทั่วๆ ไป และรวมทั้งสิ่งภายในด้วย แต่ว่าสังขารตัวหลังนั้นหมายถึงเรื่องเกี่ยวกับใจโดยเฉพาะ คือถ้าเราไม่ให้ใจถูกปรุงแต่ง ด้วยสิ่งที่มากระทบนั้นแหล่ะเป็นความสุข เตสังวูปะสะโมสุโข (25.53 ไม่ยืนยันตัวสะกด) การดับสังขารคือไม่ให้มันปรุงแต่งเป็นความสุขภายใน
แต่เดิมปกติเรามันถูกปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา เพราะสิ่งที่มากระทบที่ได้ถูกปรุงแต่งก็เพราะว่าไม่รู้ไม่เข้าใจ แล้วไม่เคยคิดตามสภาพที่เป็นจริง ไม่ฟังธรรม ไม่เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน จึงถูกมันปรุงมันแต่งจนเลอะไปหมด จำหน้าตาดั้งเดิมไม่ได้ ไม่รู้ว่าสภาพเดิมเป็นอย่างไร แต่นี้เรามันเป็นอย่างนั้นมาเสียนาน เป็นมาตั้งแต่เกิดนั่นแหล่ะ ตั้งแต่เป็นเด็กน้อยๆ พ่อแม่ก็พอกพูนให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น มีอะไรก็บอกนี่ของหนู ไอ้นี่ของหนู อะไรก็แบ่งให้มันเสร็จ ให้มันยึดให้มันถือไว้ เด็กก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ยึดตุ๊กตาว่าเป็นของฉัน ยึดเรื่องนั้น ยึดเรื่องนี้ ยึดพ่อ ยึดแม่ ยึดพี่เลี้ยง ชอบใจใครก็อยากจะเข้าใกล้คนนั้น อยากจะเล่นกับคนนั้น นี่เราเพิ่มความยึดถือให้แก่เด็กมาเรื่อยๆ พอกสิ่งต่างๆ เข้าไปในจิตใจ จนกระทั่งเป็นหนุ่ม
สิ่งที่พอกพูนก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามสิ่งแวดล้อม ความยึดความติดก็ยิ่งมากขึ้น กิเลสก็เพิ่มขึ้นๆ สภาพจิตใจเดิมก็ค่อยไม่ปรากฎออกมา อยู่ในสภาพอย่างนั้น ใครเห็นก็จำได้ว่าเป็นคนอย่างนั้น จำได้ว่าเป็นคนมักโกรธอย่างนั้น เป็นคนพูดมากอย่างนั้น เป็นคนขี้งอนอย่างนั้น เป็นคนอย่างนั้น เป็นคนอย่างนี้ ไอ้นี้มันของใหม่ทั้งนั้น ไม่ใช่ของเก่าเลย เราเพิ่งสะสมเก็บไว้แสดงออกมาให้คนอื่นเห็นเราเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริง ที่เราพูดว่ารู้จักคนนั้น ถามว่ารู้จักอย่างไร มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ใช่ นั่นไม่ใช่ตัวแท้ ไม่ใช่ตัวเดิมของเขา ตัวแท้ตัวเดิมไม่ใช่อย่างนั้น แต่นั่นเป็นตัวที่ถูกปรุงแต่งแล้วให้เป็นรูปอย่างนั้น เราก็ไปเอาตัวนั้นว่าเป็นตัวคนนั้นขึ้นมา ซึ่งเป็นความผิดเหมือนกัน แต่เราก็จำกันไว้อย่างนั้น
เพราะต่างคนต่างผิดอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ยังไม่มีใครถูกต้อง ยังไม่รู้ว่าเราผิด ยังไม่คิดว่าจะไม่ให้ความผิดเพิ่มขึ้นในจิตใจ เหมือนกับดินพอกหางหมู มันพอกเข้าๆ หางหนา กระดิกไม่ไหวแล้ว จิตใจเราก็ถูกพอกไว้ด้วยอะไรมากมาย ครั้งเมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เรามาศึกษาธรรมะ มาเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้า มาเรียนก็เพื่อจะกลับไปสู่ภาวะเดิมของเรา สู่สภาพเดิม สภาพเดิมของจิตคือสภาพที่สะอาด สงบ สว่างอยู่ เป็นของเดิม แต่ว่าสิ่งอื่นมาปกปิดหุ้มห่อไว้ จนเรามองไม่เห็น เหมือนกับเพชรมันอยู่ในหิน เรามองไม่เห็นว่ามันมีแวววาวอย่างไร มีความสวยงามอย่างไร ก็ต้องไปทุบหินออก แล้วเอามาเจียระไน พอเจียระไนก็มีแววขึ้นสวยงาม ราคาแพง ขายได้เงินเยอะๆ เพราะเจียระไนแล้ว
จิตใจเรายังไม่ได้เจียระไน ด้วยศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราปล่อยไว้อย่างนั้น แล้วบางทีเราก็ชอบเสียด้วย ชอบความเป็นอย่างนั้น มันสนุกดี ขึ้นๆ ลงๆ ป่ำๆ เป๋อๆ มันสนุกดี นั่งเรียบๆ ไม่สนุก สู้แบบนั่งแบบตื่นเต้นอะไรมันก็ดีเหมือนกัน เราเข้าใจอย่างนั้น ก็เลยชอบความเป็นอย่างนั้น ถ้าใครมาชวนให้สงบจิตสงบใจ มันเป็นอย่างไง ไอ้สงบนี่มันยังไง นั่งนิ่งอย่างนั้นหรือ ไม่มีหัวเราะ ไม่มีอะไร มันไม่เห็นเป็นเรื่องสนุกเลยนี่ เขารับไม่ค่อยได้ เพราะเขาชินกับสิ่งเหล่านั้น เขาพอใจกับสิ่งเหล่านั้น
ถ้าสมมติว่าเราเอาดาราภาพยนต์ หรือคนที่ชอบร้องเพลงเต้นแร้งเต้นกาอยู่บนเวที บอกไอ้ชีวิตแบบนี้ของเธอนี่มันแย่ ไม่ดีน่ะ มามาทำใหม่ จับให้มานั่งสงบจิตสงบใจ ให้พิจารณาตัวเองอะไรอย่างนั้น เขาคงทำไม่ได้ เพราะเขายังไม่เคยทำ แต่ถ้าหากเขาว่า ก็ดีเหมือนกัน ลองหน่อย แล้วก็ลองมาทำขึ้น เขาก็จะได้ชิมรสแห่งความสุขสงบอันเกิดขึ้นจากเนื้อแท้ของจิตใจ จะไปร้องเพลงก็ได้ไม่เป็นไร แต่การร้องเพลงจะดีขึ้นกว่าเก่า ถ้าเป็นนักแต่งเพลงก็จะแต่งเพลงดีขึ้น เพราะแต่งบทเพลงที่มันเจือด้วยธรรมะ เจือด้วยสิ่งเป็นเครื่องขูดเกลาจิตใจคน ร้องเพลงเพื่อให้คนดีขึ้น ไม่ใช่ร้องเพลงเพื่อให้คนตกต่ำลงไป เดี๋ยวนี้บทเพลงแต่ละเพลงนั้นแต่งขึ้นมาก็เป็นเครื่องช่วยให้จิตใจลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ไม่ได้ร้องเพื่อให้คลายกำหนด ขัดเคือง ลุ่มหลงมัวเมา เพราะคนแต่งมันก็มีสภาพจิตอย่างนั้น และก็แต่งออกไปอย่างนั้น
ลองนั่งฟังเพลงด้วยความตั้งใจ ฟังด้วยความตั้งใจ ฟังด้วยปัญญา ไม่ได้ฟังเพราะว่า โอ้แม่คนนี้ร้องดี พ่อคนนั้นร้องดี ถ้าไปดีเสียแล้วมันคิดไม่ออก เพราะชอบเสียแล้ว แล้วมันก็มองในแง่ถูกต้องไม่ได้ ต้องทำใจให้เป็นกลาง ทำใจให้ว่างๆ จากความรักความชัง จากความยินดียินร้าย แล้วก็นั่งฟังด้วยการควบคุมจิตใจให้อยู่ในสภาพสงบ ฟังไปๆ ก็จะพบว่า อ้อบทเพลงนี้เป็นอย่างไร สร้างสรรค์หรือว่าทำลาย เราฟังรู้เรื่องทีนี้ เข้าใจขึ้น และเมื่อเข้าใจขึ้น บางทีก็จะไม่ฟัง เพราะมันไม่ได้เรื่องอะไร แต่ถ้าเพลงบทใดที่เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์เราก็ฟัง เป็นเพลงประเภทธรรมะ เครื่องปลุกใจเร้าอารมณ์ให้เกิดความคิดในการปล่อยการวาง ในการเลิกการละสิ่งต่างๆ นานา นักแต่งเพลงที่แต่งเพลงอย่างนั้นมันยังมีน้อย เพราะไม่ค่อยสนใจในเรื่องธรรมะนั่นเอง
คนที่สนใจธรรมะ ถ้าแต่งกลอนก็เป็นกลอนธรรมะทั้งหมด ลองอ่านบทประพันธ์ของท่านเจ้าคุณพุทธทาสลองดู เป็นเล่มเล็กๆ เขามี เล่มใหญ่ก็มี เรื่องอะไร เล่มใหญ่มันก็มีเหมือนกัน เอามาอ่าน อ่านทีละบทๆๆ ในบทเหล่านั้นท่านเขียนด้วยจิตใจที่สงบ เมื่อนั่งๆ ใจสงบๆ เขียนคล่อง เขียนรวดเร็ว เขียนได้ทันที ไม่ใช่เขียนแล้วนั่งคิดต่อ เขียนออกมาเลยเพราะมันล้นอยู่ในใจ แล้วก็เขียนออกมาเป็นกลอน กลอนไม่ค่อยจะไพเราะในเชิงภาษาเท่าใด ท่านก็บอกไว้ว่า กลอนธรรมะไม่ต้องไพเราะ เอาแต่ข้อความเป็นเครื่องสอนใจ แต่ก็น่าอ่าน
หลวงพ่อบางทีก็เอามาอ่านดูบ่อยๆ อ่านเรื่อยๆ ไป อ่านแล้วมันก็เพลิดเพลินไปกับสิ่งเหล่านั้นได้รู้ได้เข้าใจอะไรมากขึ้น ลองเอาไปไว้ที่บ้านแล้วเปิดอ่านเช้าๆ ไว้ข้างนอน เรียกว่าเป็นเพื่อนนอน พอตื่นเช้าเอามาอ่านซะบทหนึ่ง อ่านแล้วก็นั่งสงบใจคิดถึงกลอนเหล่านั้น อะไรๆ ที่ดีๆ จะเกิดขึ้นในใจของเรา เพราะผู้แต่ง แต่งด้วยความสงบใจ ไม่ได้แต่งด้วยความฟุ้งซ่านหรือคิดอะไรไปในทางเหลวไหล นิราศ เราเคยอ่านนิราศ นิราศรักอะไรต่ออะไร นิราศจากนั้นจากนี้ แล้วก็เรื่องความเพ้อฝัน เดินไปคิดไป ฝันไป เรื่อยไปน่ะ นิราศของคนมีกิเลสก็แต่งไปในรูปอย่างนั้น
ท่านเจ้าคุณได้เคยแต่งนิราศเหมือนกัน นิราศลพบุรี นิราศลพบุรีนี่แต่งหลายปีแล้ว สมัยนั้นทางไปลพบุรีแย่มาก ไปกับรถเจ้าคุณรตีธรรมปราการกุลชำนาญฤาประเสริฐ (34.41 ไม่ยืนยันตัวสะกด) ไปกันหลายคน ไปก็รถเสียยางแตก ต้องไปหยุดรถ เราไปพักอาหารกลางวัน ท่านก็แต่งเรื่อยไป แต่งเรื่อยไปจนจบในวันนั้น ขึ้นต้นก็ขึ้นต้นว่านิราศเราไม่รักไม่พักฝืน จะไปไหนไปง่ายคล้ายลูกปืน ทั้งวันคืนเหมือนกันไม่ผันแปร เพียงแต่ว่าต้นอ่านดูแล้วมันก็ไม่เหมือนใครแล้ว เพราะว่าไม่ใช่นิราศรักหักสวาทอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่ นิราศเราไม่รักไม่พักฝืนนิ ไปไหนไปง่ายคล้ายลูกปืน ลูกปืนยิงเปรี้ยงก็พุ่งโป้งไปเลย ไปเหมือนลูกปืน ทั้งวันคืนเหมือนกันไม่ผันแปร คือกลางวันกลางคืนมันก็เหมือนกัน ที่ไหนมันก็เหมือนกัน เพราะสภาพจิตที่สงบนั้นมันไม่มีการปรุงแต่ง ไม่ได้นึกว่าเป็นกลางวัน ไม่นึกว่าเป็นกลางคืน ไม่นึกว่าอันนี้สวย อันนี้ไม่สวย อันนั้นอร่อย อันนี้ไม่อร่อย ไม่มีความคิดอย่างนั้น มันเหมือนกันเพราะเป็นสังขารปรุงแต่งเหมือนกัน ไอ้อย่างนี้น่าอ่าน ว่างๆ ลองอ่านดู โยมมีแล้วก็ลองเอามาอ่าน บางทีอาจจะมีเก็บไว้ ใส่ตู้ไว้ แต่ไม่ได้อ่าน หรือยังไม่ได้ซื้อไปอ่านก็ลองซื้อไปอ่านดู อ่านแล้วจะได้คติธรรมเป็นเครื่องสอนใจหนักขึ้น คำกลอนเหล่านั้นเพราะเป็นกลอนที่ออกมาจากใจที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งมีความสงบเขียนออกมาในรูปภาพที่มีความสงบ
ชาวทิเบตชื่อมิลาเรปะ (36.25 ไม่ยืนยันตัวสะกด) ท่านเขียนบทเพลง บทเพลงไว้มากมาย ร้อยบทหรืออะไร ร้อยกว่าบท เขาเขียนไว้ ฝรั่งมาสนใจศึกษาแล้วเอาไปแปลเป็นภาษาฝรั่งขายดี ฝรั่งชอบเอาไปอ่านไปศึกษา เพราะว่าเป็นบทเพลงที่ปลุกใจให้กลับไปสู่ภาวะดั้งเดิมของตน ไม่ใช่เป็นบทเพลงที่ดึงจิตออกไปห่างจากตัวแท้ตัวจริงออกไปทุกทีๆ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นบทเพลงที่ให้กลับไปสู่ภาวะเดิม ภาวะเดิมก็คือ ความสะอาดของจิตสงบ ของจิตสว่าง ของจิตไปสู่สภาพอย่างนั้น บทเพลงเหล่านั้นเป็นเครื่องเล้าใจให้ไปสู่สภาพเช่นนั้น เวลาใดเรากลุ้มใจก็มาอ่าน มันก็ดีเหมือนกัน ของท่านมิลาเรปะ (37.20 ไม่ยืนยันตัวสะกด) นี่แพร่หลาย เขาพิมพ์ขายไปทั่วโลก เป็นภาษาอังกฤษก็แพร่หลาย คนได้อ่านกันทั้งโลก
เขียนขึ้นจากความสงบ ท่านไปนั่งอยู่สงบๆ ท่ามกลางหิมะในฤดูหนาว แล้วก็เขียนสิ่งเหล่านี้ออกมาทีละบทสองบททำสะสมไว้มากๆ กลายเป็นอมตะบทเพลงไป เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ คนสมัยโบราณจิตใจเขาสงบ เขาเขียนอะไรก็เป็นไปเพื่อความสงบ แม้จะสร้างเรื่องนิทาน หรือนิยายก็เป็นนิยายที่แฝงธรรมะ เพราะจิตใจผู้เขียนมันเป็นธรรม ไม่แฝงอารมณ์ลวง อารมณ์ที่จะให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็มีอยู่ในเรื่องนั้น แต่ก็มีความคิดของแก้ไขให้คลายจากความเศร้าโศกเสียใจ มีโรคแต่ว่าแนะยาแก้โรคไว้ด้วยในเรื่องนั้น ไม่ใช่ให้โรคแต่ไม่ให้ยา ให้โรคไม่ให้ยาคนก็เป็นโรคกันตาย โรคจิตมันสำคัญกว่าโรคทางกาย แล้วไม่มียาแก้ แต่คนโบราณนั้นเขาเขียนในป่า จิตใจเขาสงบ เขาจึงมียาไว้ด้วยในนั้น มีคติธรรมไว้เรื่องในนั้นด้วย
แต่ว่าบางทีมันก็เยิ่นเย้อ คนสมัยใหม่ไม่ค่อยชอบ พวกเราปัจจุบันนี้ชอบลัดตัดให้มันสั้น ตัดให้สั้นเพื่อไปสู่ความหลง เพื่อไปสู่ความมัวเมา ไปสู่ความประมาท ไปสู่ความสุขที่จมปลักทั้งนั้น ไม่ได้ตัดไปสู่ความดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านั้น ลัดเหมือนกัน ลัดเพื่อไปสู้ความดับทุกข์ ไปสู่พระนิพพาน การไปสู้ความดับทุกข์ หรือพระนิพพานก็หมายความว่า ไปสู่สภาพเดิมของเรา สภาพดั้งเดิมของเรา อันนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าสภาพดั้งเดิมของเรานั้น มันไม่สกปรก ไม่เร่าร้อน และไม่วุ่นวาย ต้องยึดเอาหลักนี้ไว้ให้ได้ ยึดหลักนี้ไว้ให้ได้ว่า สภาพเดิมเป็นอย่างนั้น แต่เวลานี้เราถอยออกมาห่างเกินไป ห่างเกินไป จนกลับไม่ค่อยได้ กลับไปหาสภาพเดิมไม่ได้ คล้ายกับว่าเด็กไปเที่ยวป่า พอไปเที่ยวป่าแล้ว ไปๆๆๆ เพลินไป เก็บดอกไม้ ดูนั้นดูนี่เพลินกลับบ้านไม่ถูก กลับบ้านไม่ถูกก็เที่ยวหลงอยู่ในป่าอดน้ำอดท่าได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ เป็นเช่นนั้น กลับบ้านไม่ได้
แล้วเราในชีวิตในปัจจุบันจะเรียกว่าหลงหรือไม่ ไม่ใช่หลงป่า แต่ว่าหลงความเจริญทางวัตถุ หลงในสิ่งต่างๆ ที่เขาสร้างขึ้นยั่วยวนชวนใจ หลงไหลมัวเมาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เดินกลับบ้านไม่ถูก ไม่รู้ว่าบ้านเดิมอยู่ตรงไหน สภาพแท้ดั้งเดิมมันเป็นอย่างไร กลับไม่ไปไม่ถูก แม้จะมีคนมาตีฆ้องร้องป่าวให้ได้ยินเสียง หรือว่ากู่ก้องเพื่อให้ได้ยิน หูก็ไม่ได้ยิน ตาก็มองไม่เห็นเสียแล้ว จิตก็หลงอยู่ในสิ่งนั้น ไม่สามารถกลับได้ สมัยก่อนถ้าคนหลงเขาเที่ยวกู่ก้องเดินไปด้านนั้นเดินไปนี้ เที่ยวกู่ก้องในป่า สมัยเด็กๆ เคยมีไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เด็กบางคนมันหลงญาติก็เที่ยวกู่ก้อง ตะโกนก้องไปเพื่อให้มันได้ยินแล้วจะได้มาหาเสียงนั้น ออกมาหาได้ มันหลงมาไม่ได้ หลงป่า หลงป่ายังออกได้ แต่หลงความสุขทางวัตถุออกยาก หลงมากออกไม่ได้ หลงเงินหลงทอง หลงข้าวหลงของ หลงอำนาจวาสนาที่ตัวมีตัวได้ หลงแล้วออกไม่ได้ เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่อยู่ด้วยความหลง การกระทำก็จะดีขึ้น
เพราะฉะนั้นจึงแนะนำว่า มั่งมีอย่าให้เป็นทุกข์ เป็นก็อย่าให้เป็นทุกข์ ทำอะไรก็อย่าทำให้เป็นทุกข์ นี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่เราควรจะใช้ในชีวิตประจำวัน มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยไม่เป็นทุกข์นั่นแหล่ะคือความถูกต้องตามหลักการของพระพุทธเจ้า ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าต้องเป็นผู้รู้ ต้องเป็นผู้ตื่น ต้องเบิกบานแจ่มใจ ไอ้ที่ว่ารู้น่ะ คือรู้ว่า มันเป็นอะไรอย่างไร รู้ตามสภาพที่เป็นจริงของสิ่งนั้นๆ ในใจของเราก็ค้นหาอยู่ในเรื่องนั้นตลอดเวลา ว่าไอ้เนื้อแท้มันเป็นอย่างไร ความจริงของสิ่งนั้นมันเป็นอย่างไร
ความจริงก็ไม่ต้องค้น เพียงแต่พิจารณาเท่านั้น เพราะพระผู้มีพระภาคท่านค้นไว้แล้ว สะดวกมาก พระผู้มีพระภาคเจ้าเหน็ดเหนื่อยทรมานกว่าจะค้นพ้นตั้งหกปี ไม่ใช่เล็กน้อย กว่าจะได้เรื่องได้ราวมาสอนพวกเรานี้ตั้งหกปี ลำบากตรากตำ อดแห้ง อดแล้ง ไปอยู่ในป่า มาเลเรียไม่กินเสียกับนับว่าบุญโขแล้วที่ไปอยู่ในป่าสมัยนั้น มาเลเรียไม่เล่นงานพระพุทธเจ้าก็นับว่าเก่งพอแล้ว แล้วก็อยู่มาจนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ค้นมานักหนาลำบาก เราไม่ต้องใส่จานเรียบร้อย คล้ายกับกับข้าววางบนโต๊ะเรียบร้อย ไปถึงแล้วก็นั่งลง เอาชามมาตักข้าวใส่ช้อนส้อมมาถือข้าวแล้วก็แกงไหนชอบเอาก่อนก็ตักลงไปเท่านั้นเอง กินสบายๆ แต่ว่ากินแล้วไม่นึกว่าเขาปรุงอย่างไร เขาทำอย่างไร อร่อยตรงไหนก็ไม่ได้คิดเหมือนกัน เลยกินด้วยความหลง ด้วยความมัวเมา ด้วยความเข้าใจผิดคิดอยู่ในสิ่งนั้นต่อไป มันเสียหาย
พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ชัดให้เราพิจารณาอย่างไร คือให้มองว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง หลักสำคัญนะนี่ การเจริญภาวนา การศึกษาค้นคว้าในสรรพสิ่งทั้งหลาย ค้นสามหลักนี้เท่านั้น ให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ตามสภาพ สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา คือไม่มีเนื้อแท้ เราได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปฟังเทศน์ที่ไหนก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฟังแล้วก็ทิ้งไปๆ ไม่ได้เอามานั่งไตร่ตรองพิจารณาว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันเป็นอนัตตาอย่างไร เราไม่ได้พิจารณาว่าความจริงสิ่งที่อยู่รอบตัวเรานั้นมันก็แสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา มันแสดงความทุกข์อยู่ตลอดเวลา แสดงความเป็นอนัตตาอยู่ตลอดเวลา
ญาติโยมเคยเล่นต้นไม้ กล้วยไม้ ดอกไม้ข้างบ้านข้างเรือนประดับสวยๆ งามๆ ดูมันมั่ง ดูต้นไม้เหล่านั้น ดูดอกมันก็ได้ ดูใบมันก็ได้ ดูกิ่งก้านมันก็ได้ มันแสดงธรรมอยู่ ต้นไม้มันแสดงธรรมอยู่ ดอกไม้ก็แสดงธรรมอยู่ ให้เราเห็นแต่เราไม่ค่อยเห็น เพราะเราไม่ได้มองอย่างนั้น มองทีไรก็สวย ดอกไม้นี้สวย ดอกไม้นี้หอม ไปมองอย่างนั้น มองว่าสวยว่าหอมว่างามเสียทุกที แต่ไม่มองว่าไอ้เนื้อแท้ของสิ่งนี้มันเป็นอย่างไร มันเที่ยงหรือมันไม่เที่ยง มองอย่างนั้น
หัดมองใหม่ว่าสวยก็สวย แต่ว่าสวยแล้ว มันสวยเพราะอะไร มันสวยแท้หรือว่าสวยปลอม เราก็นึกได้ มันไม่แท้ ความสวยก็คือการปรุงแต่ง ถ้าไม่มีการปรุงแต่งมันก็สวยไม่ได้ ดอกไม้ทำไมมีหลายสีมันก็เรื่องการปรุงแต่ง อาศัยแสงสว่างเป็นเครื่องประกอบ คือมีแสงอาทิตย์เราจึงเห็นสีของดอกไม้ ถ้าอยู่ในที่มืดมันก็ไม่มีสี ดอกไม้บานอย่างสีขาว ที่มันขาวเพราะมันคลายออกหมดมันไม่เอาไว้เลย ออกหมดจนขาว แต่ดอกไม้สีต่างๆ มันยังมีสิ่งปรุงแต่งสีออกมาเป็นสีแดง ออกมาเป็นสีชมพู ออกมาเป็นสีเหลือง ออกมาเป็นสีม่วง สีต่างๆ มันคายสีออกมาให้ปรากฎ คายไม่หมดยังหวงไว้ ยังยึดถือ แต่ดอกไม้นั้นมันยังมีสภาพที่เรียกว่าติดอยู่จึงพ่นออกมาอย่างนั้น
แต่ถ้าเป็นดอกมะลิปล่อยหมดเลย หรือดอกกุหลาบสีขาว ดอกไม้สีขาว นี่มันปล่อยหมด ปล่อยหมดก็เหลือแต่ความสะอาด คือความขาว ดอกไม้ขาว ดอกบัวขาวก็มี เราเห็นสีขาวแล้วเอ๊ะแล้วใจฉันเป็นอย่างไร เวลานี้ใจฉันมันสีอะไร สีอะไรลองถามตัวเอง มันหลายสีเหมือนกัน สีโลภ สีโกรธ สีหลง สีริษยา สีพยาบาท สีแข่งดี สีถือตัว สีไม่ยอมใคร เขาเรียกว่าอุปกิเลส มีจำนวนมากมาย เกิดสลับซับซ้อนขึ้นมาตลอดเวลา เกิดทีไรก็ทำเจ็บทุกที เดือดร้อนทุกที เผาไหม้ทุกที มันก็เป็นอย่างนั้น กิเลสมันกัดทุกที เกิดทีไรมันกัดเราเจ็บ ทิ้งแผลไว้ให้ แล้วก็เป็นความทุกข์ต่อไป เราเห็นสิ่งเหล่านั้นก็เอามาเตือนใจ เห็นใบไม้เหี่ยว เห็นดอกไม้เหี่ยว เห็นผลไม้หล่นจากขั้ว เราก็พิจารณา ผลไม่สุกมันก็แสดงความเป็นอนิจจัง ออกลูก ลางสาดลองกอง
กินก็อย่ากินเฉยๆ กินโดยธรรมะ พิจารณาว่าไอ้ลูกนี้เมื่อก่อนมันเป็นลูกเล็กๆ ออกจากดอก แล้วก็เปลี่ยนสภาพมาหลายเดือน จนเป็นผลไม้สุก เป็นไม้สุกแล้วยังไม่ทันหล่นคนไปเก็บแล้ว เก็บมาทั้งช่อเลย เอามาขาย ขายเพื่อให้คนกิน เมื่อเก็บใหม่ๆ สีมันก็ไม่อย่างนี้ แต่บ่มไว้สีก็เปลี่ยนไป นานๆ ก็เปลี่ยนอีก บางลูกก็เปลี่ยนเป็นสีดำไปแล้ว ข้างในก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อยเอามากินไม่ได้ มันเปลี่ยนไปอย่างนั้น เห็นดอกไม้บูชาพระก็ต้องคิดถึงความไม่เที่ยง การปรุงการแต่งของสิ่งเหล่านั้น
แม้อาหารที่เรารับประทาน ถ้าอร่อย ถามตัวเองว่าอร่อยอะไร ความอร่อยเกิดจากอะไร มันเกิดจากการปรุงแต่ง เราเคยเป็นแม่ครัว โยมผู้หญิงเป็นแม่ครัวทั้งนั้น หุงข้าวต้มแกง แกงที่ว่าอร่อยนั้น ถ้าใส่น้ำกับผักลงไปเฉยๆ มันอร่อยไหม ไม่ได้เรื่องอะไร ต้องใส่นั่นนิด ใส่นี้หน่อย กินไปก็คิดไปว่าอะไรที่ทำให้อร่อย ไอ้นั่นบ้างไอ้นี่บ้างไอ้โน่นบ้างใส่ลงไปโขลกเข้าให้มันละเอียด แล้วก็ผสมลงไป ชิมดูหน่อย ไม่ต้องใส่ผงชูรสก็ยังอร่อย ก็ว่าฝีมือได้เพราะการปรุงแต่ง มันเป็นอย่างนั้น ยิ่งส้มตำยิ่งปรุงแต่งใหญ่หลายเรื่องใส่ลงไปโขลกๆๆๆ แล้วมากิน คนทำเก่งเรียกว่ารสกลมกล่อมพอดีๆ แต่บางคนก็มันเปรี้ยวไปหน่อย บางคนก็อย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่พร้อม เรื่องปรุงทั้งนั้นไม่ใช่ของแท้ เราจะไปติดรสมันก็ไม่ได้ เพราะติดเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น เป็นอย่างนั้น
แม้ดูต้นไม้ก็ดูอย่างนั้น เข้ามาในวัดเห็นใบไม้ร่วงก็อย่าดูว่าร่วงเฉยๆ พระกวาดขยะก็อย่ากวาดเฉยๆ วันเสาร์แล้วก็พระกวาดทุกวันน่ะ ก่อนออกอากาศ (42.00) กวาดขยะออกกำลังหน่อย ทำไว้ให้สะอาดไว้ต้อนรับโยม ได้เรื่องอะไร โยมมาจะได้สบายใจ กวาดขยะไปก็บอกว่าอย่ากวาดเฉยๆ กวาดใบไม้แห้งอย่ากวาดเฉยๆ กวาดแล้วคิดไปว่าใบไม้แห้งนี่มันมาจากใบไม้สด แล้วก็ถอยหลังลงไปให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของใบไม้จนกระทั่งหล่นลงมา หล่นลงมาให้เรากวาด เราก็กวดครูของเรานะ ไม่ใช่กวาดใครที่ไหน คุณครูใบไม้ คุณครูใบไผ่ คุณครูใบนั่นคุณครูใบนี้ กวาดไปคิดไปนึกไปเกิดปัญญา เกิดปัญญาก็มองเห็นความไม่เที่ยง
เห็นมากเข้าบางทีก็ออกพรรษาแล้วยังไม่สึกก่อน เพราะว่าไม่รู้จะออกไปสู้กับอารมณ์อย่างไร อยู่ไปก่อน แล้วก็อยู่ไปมองเห็นความจริงอยู่ไปได้ เพราะพิจารณาไม่ได้มีอะไรก็ดูที่ตัวเราเองก็ได้ เพราะตัวเรามันก็เปลี่ยนอยู่ ผมบนศีรษะก็เปลี่ยนอยู่ ดวงหน้าก็เปลี่ยนอยู่ เวลาแต่งหน้าก็อย่างแต่งเฉยๆ แต่ดูว่าเออเปลี่ยนไปเยอะแล้ว นี่แหล่ะคือธรรมชาติ คือความไม่เที่ยง มันเป็นอย่างนี้ ฟันก็ชักจะเสียวๆ ยังไม่หลุด ยังไม่โยก แต่มันเสียวก่อน พอดื่มน้ำแข็งอูยเสียว เสียวทันที นี่แสดงว่าความเปลี่ยนแปลงมันเริ่มแล้ว ต่อไปมันก็โยกคลอน เคี้ยวอะไรก็ไม่ได้ เอาไว้ทำไม ถ้าเคี้ยวไม่ได้ถอนเลยโยม ถอนทิ้งไปเลย ถอนให้หมดเลยที่โยกๆ ถอนเสีย แล้วก็ใส่ใหม่ จะได้เคี้ยวดีต่อไป พออยู่ได้
อยู่เพื่ออะไร อยู่เพื่อศึกษาธรรมะปฏิบัติธรรมะ แม้เราทำงานเป็นอะไรก็ทำโดยธรรม เอาธรรมะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงปลอบโยนจิตใจไม่ทำให้เป็นทุกข์ ไม่ทำให้เดือดร้อนใจ ทำไปเกิดปัญญา ทำไปเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง เอาสิ่งนั้นมาเป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนใจอยู่ตลอดเวลา สภาพชีวิตก็ดีขึ้น ยิ่งแก่ก็ยิ่งสงบ ยิ่งแก่ก็ยิ่งสะอาด ยิ่งแก่ก็ยิ่งมีความสว่างทางจิตใจ ไม่ใช่ยิ่งแก่ยิ่งมืด ยิ่งแก่ยิ่งวุ่นวาย เร่าร้อน มากกว่าคนหนุ่มคนสาว ถ้าแก่แบบนี้เขาเรียกว่า แก่เนื้อแก่หนัง จิตใจไม่แก่ด้วยธรรมะก็ไม่ได้เรื่องอะไร
เราจึงต้องเตือนตัวว่าสภาพร่างกายแก่ ใจต้องแก่ด้วยธรรมะ แก่ด้วยสติ แก่ด้วยปัญญา แก่ด้วยความอดทน แก่ด้วยความเพียรมั่น เพื่อกลับไปสู่ภาวะเดิมของจิตคือความสะอาด ความสว่างสงบต่อไป อยู่เพื่ออย่างนั้น ทำอะไรก็ทำเพื่ออย่างนั้น ทำงานทำการค้าขายทำไปเถอะไม่ว่าอะไร เพราะว่าไม่ทำมันก็ไม่มีกินมีใช้ ไม่มีเงินมาสร้างตึก๘๐ปีด้วย ก็ต้องทำไปตามหน้าที่ไม่หยุดไม่ยั้งทำไป หลวงพ่อนี่ก็ทำไปทำตลอดเวลาไม่ค่อยได้อยู่ว่างกับเขาหลอก แต่ว่าทำด้วยความสบายใจ ไปไหนก็ไปไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน ไปตามเรื่องตามราว อารมณ์มันค่อยดีขึ้นๆ เรื่อยๆ เพราะปัญญามันมีขึ้น สอน สิ่งเหล่านั้นมันสอนเราทั้งนั้น มองอะไรก็มองให้เห็นเป็นธรรมะ ถือหลักว่ามองทุกสิ่งทุกอย่างตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ น่ะ สิ่งทั้งหลายที่มันเป็นอยู่จริงๆ มีคำวิเศษว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ ยาวหน่อย ยถาภูตญาณทัสสนะ (53.33 ไม่ยืนยันตัวสะกด) หมายความว่า เห็นตามที่มันเป็นอยู่จริงๆ ไม่ใช่เห็นเป็นมายา เป็นของปรุงแต่ง ไม่ใช่ของแท้
ของแท้ในโลกนี้มี ๓ เรื่องเท่านั้นคือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา เราต้องมองให้เห็นความไม่เที่ยงในทุกสิ่งทุกอย่าง มองให้เห็นความเป็นทุกข์ในทุกสิ่งทุกอย่าง มองให้เห็นความเป็นอนัตตาไม่ใช่เนื้อแท้ในสิ่งในทุกสิ่งทุกอย่าง จิตใจก็ค่อยจะกลับไปสู่ภาวะเดิม คือไปสู่ความสะอาดอย่างเดิม ไปสู่ความสงบอย่างเดิม ไปสู่ความสว่างอย่างเดิม สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ทั้งหมดไม่มีฤทธิ์ไม่มีเดชจะทำเราให้กำหนัดขัดเคืองลุ่มหลงมัวเมา เพราะเรารู้ว่ามันเป็นอะไรถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง นั่นแหล่ะคือทางที่จะให้อยู่ในโลกนี้ด้วยความไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน อยู่ไปยิ่งสุข อยู่ไปยิ่งสงบตามสภาพที่เป็นจริง สุขแท้จริงมันอยู่ที่ความสงบนะ ไม่ใช่อยู่ที่ความเพลิดเพลินสนุกสนาน อันนั้นสุขปลอม สุขลงทุน แต่สุขแท้ไม่ต้องลงทุนอะไร มันเป็นเองโดยธรรมชาติของจิต ญาติโยมต้องพยายามให้เป็นสุขอย่างนั้น และก็ไม่ต้องลำบากใจ
แสดงมาก็พอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
- ปาฐกถาธรรมประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๒