แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา
การมาวัดของเรามีจุดหมายสำคัญอยู่ที่ต้องการมาศึกษา หาความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมะของพระพุทธเจ้า การจะได้ความรู้ก็อาศัยการฟัง อาศัยการอ่าน อาศัยการคิดเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่เบื้องต้นก็ต้องมีการฟังก่อน การฟังนี่เป็นเรื่องที่มีการทำมาตั้งแต่โบราณ เพราะในสมัยก่อนนั้นไม่มีหนังสือ ยุคพระพุทธเจ้านี่ไม่มีหนังสือ ไม่มีการอ่านหนังสือ มีการเรียนด้วยปากกันทั้งนั้น จำมาด้วยปากสืบต่อกันมา ผู้ใดจะเรียนก็ต้องไปฟัง
เพราะฉะนั้นจึงเรียกลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าว่า สาวก สาวก แปลว่า ผู้ฟัง นั่นเอง พระพุทธสาวก คือ ผู้ที่ฟังเสียงพระพุทธเจ้าแล้วก็จดจำไว้ สืบต่อกันมาโดยลำดับ การฟังจึงเป็นการศึกษาเริ่มต้นของชีวิตของมนุษย์ เพราะว่ามนุษย์เรามีปาก แล้วก็มีหู ปากกับหูเป็นของคู่กัน เมื่อคนหนึ่งใช้ปากอีกคนหนึ่งก็ต้องใช้หู ถ้าใช้ปากพร้อมกันก็ไม่ได้เรื่อง กลายเป็นเรื่องวิวาทกัน แล้วอาจทะเลาะกันต่อไป สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อน จึงควรรู้จักใช้ เวลาใดคนหนึ่งใช้ปาก เราก็ต้องใช้หู มีคนหนึ่งใช้ปากเราก็ต้องฟัง อย่างนี้ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ได้ศึกษากันด้วยการฟัง
ศึกษาด้วยการฟังจึงเป็นเรื่องเบื้องต้นทั้งหลายทั้งปวง บรรดาอาจารย์ต่างๆ ศาสดาที่ตั้งศาสนาไม่ได้เขียนอะไรไว้ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เขียน พระเยซูคริสต์ก็ไม่ได้เขียนอะไรไว้ เพราะว่าไม่มีการเขียนหนังสือ แต่มีการพูดให้ฟัง คนในสมัยก่อนนั้นเมื่อได้ฟังอะไร เขาฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ เพราะมันไม่มีเผื่อ ไม่เหมือนในสมัยนี้ ฟังไม่ได้เข้าใจก็ไม่เป็นไร เอาเทปไปเปิดฟังทีหลังก็ยังได้ เอาหนังสือไปอ่านก็ยังได้ เลยไม่ได้ตั้งใจฟังความรู้ ความเข้าใจจึงไม่เกิดในขณะฟัง แต่สมัยก่อนนั้นเมื่อได้ฟังอะไรก็ฟังกันด้วยความตั้งใจ
เช่น พระพุทธเจ้าเทศน์กับปัญจวัคคีย์ ท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ฟังด้วยความตั้งใจ แต่ที่ได้ผลก็คือเกิดความรู้ความเข้าใจก็เฉพาะท่านโกณฑัญญะองค์เดียว คือได้ความเข้าใจว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ต้องดับเป็นธรรมดา ท่านฟังแล้วมันมีความคิดใหม่โพรงเกิดขึ้นในใจ เรียกว่าได้ปัญญา ได้ความรู้ ได้ความเข้าใจ ส่วนอีก ๔ ท่านที่นั่งฟังนั้น ฟังแล้วแต่ยังไม่ได้ปัญญาด้วยตัวของตัวเอง ก็ต้องสอนต่อไปอีก ๔ วัน ท่านเหล่านั้นก็ได้รับความรู้ ความเข้าใจ แล้วก็สอนต่อไปอีก ก็ได้ปัญญาหลุดพ้นจากความทุกข์ บรรลุเป็นอริยบุคคลชั้นพระอรหันต์ ก็ได้ด้วยการฟังทั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่ไหน ประชาชนเขาก็แห่กันมาฟัง เพราะว่าฟังได้ยาก
จึงมีคำกล่าว การฟังธรรมนี่เป็นเรื่องยาก คือไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังนั่นเอง แต่ถ้าได้ฟังแล้วเขาก็ฟังกันด้วยความตั้งอกตั้งใจ ฟังเพื่อให้รู้ ฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจจึงได้ผล เป็นความพ้นทุกข์ไปตามๆ กัน เราในสมัยนี้อาจจะสงสัยว่าทำไม พระพุทธเจ้าท่านเทศน์จึงได้ผลบรรลุมรรคผลกันมากๆ สมัยนี้เทศน์กันบ่อย แต่ไม่ค่อยจะบรรลุมรรคผล มันมีเหตุผลอยู่ที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านเทศน์เหมาะแก่ผู้ฟัง คือพระองค์รู้จิตใจของผู้ฟัง รู้นิสัยรู้สันดานของผู้ฟังว่ามีอย่างไร แล้วก็ให้ธรรมะที่เหมาะแก่ฐานะทางจิตใจของผู้ฟัง คล้ายกับหมอที่ตรวจโรค ถ้าตรวจได้แม่นยำให้ยาถูก โรคนั้นก็หายไป แต่ถ้าตรวจไม่ถูกให้ยาผิดก็เกิดเป็นปัญหาโรคกำเริบ พอกำเริบขึ้นไปหาหมออีก หมอไม่รับผิดชอบ มีตัวอย่างมาหลายรายแล้ว เวลาไปหาหมอ โอ้! มันไม่เป็นไรหรอก มันหายของมันเอง แต่มันกำเริบขึ้นมาก ไม่รู้จักหายก็ลำบาก
เมื่อวานซืนนี้ไปนครสวรรค์ก็ไปเยี่ยมพระเจมส์ พระเจมส์แกเป็นคน (ลูก) (06.25) ครึ่งฝรั่ง มารดาเป็นญี่ปุ่น แต่รูปร่างไม่เป็นฝรั่ง เป็นญี่ปุ่นเสียมาก แกมีความรู้ในทางภาษาเพราะเรียนได้ปริญญาเอกเรียกว่า Linguistic คือรู้ภาษาหลายภาษา คือรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น มาอยู่เมืองไทยก็เรียนภาษาไทย เวลานี้มีความรู้ภาษาไทย กำลังทำการแปลคู่มือมนุษย์ให้เป็นภาษาจีน แล้วจะเอาไปให้เขาพิมพ์ส่งไปปีนัง สิงคโปร์ คนจีนจะได้อ่านได้ศึกษากัน แล้วก็จะแปลเป็นภาษาเยอรมันด้วย เพื่อให้คนเยอรมันได้อ่าน
แต่ว่าเมื่อไปถึงเห็นหน้าตาปวดบวม ไปเยี่ยมก็อยู่ในห้องเล็กๆ ที่วัด เขาเรียกว่า วัดตะแบก วัดปากน้ำโพธิ์ใต้ ไปถึงก็เห็นหน้าตาปวดบวม “อ้าว! เป็นอะไรไป” ท่านบอกว่าภาษาไทยก็เรียกว่า “งูสวัด” เป็นขึ้นที่ใต้ตา แล้วไปหาหมอ หมอให้ยา ให้ยาผิดเลยบวมขึ้นมาเต็มหน้าเลย อันตราย ไปหาหมออีก หมอก็ไม่รับรู้ไม่สนใจ ก็เลยไปหาหมออีกคนหนึ่งเขาก็ให้ยามา อาการบวมก็ยุบลงไป แต่ว่าตายังเอาผ้าปิดไว้ เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนถึงตาด้วย อย่างนี้เป็นตัวอย่างคือว่าหมอเราไม่รับผิดชอบในเมื่อทำกับคนไข้แล้ว ถ้าเป็นเมืองอเมริกาล่ะก็เสียหายใหญ่ คนไข้จะฟ้องกันสิ ไปฟ้องศาล ฟ้องเรียกเงินเป็น ๔ ล้าน ๕ ล้าน เรียกหนักๆ เรียกเอาแพง หมอกลัวมากที่อเมริกา เพราะฉะนั้นการรักษาคนต้องละเมียดละไม ต้องตรวจอย่างละเอียด ให้ยาอย่างดี แล้วถ้ามีอะไรพิเศษขึ้น ผิดปกติหมอต้องรีบแก้เพราะทนายเขามาก ทนายก็ต้องฟ้องแล้วก็เรียกค่าเสียหายแพงเสียด้วย บ้านเรานี้ไม่มีใครสนใจ ไม่เรียกค่าเสียหาย
ผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ที่สวนพุทธธรรมที่เชียงใหม่ ก็ไม่สบายแล้วไปหาหมอ หมอให้ยาผิดเหมือนกัน ตายไปเลย แต่ว่าก่อนตายก็ไปหาหมอว่าไม่รับผิดชอบ เป็นอย่างนั้นมันไม่มีกฎหมายพิเศษเหมือนอเมริกา อันนี้ก็อันตราย ๒ รายแล้วที่ได้เจอเป็นอย่างนั้น นี่เพราะว่าไม่รู้จักรูปละเอียด ให้ยาผิดชีวิตคนเสียหาย พระพุทธเจ้าท่านเป็นนายแพทย์ใหญ่ในทางด้านจิตใจ เรียกว่าเป็นแพทย์ทางด้านจิตใจ ด้านวิญญาณ โรคจิตนี่ก็เป็นโรคทางกายเหมือนกัน โรคจิตที่เอาไปไว้ศรีธัญญา ไปไว้ที่บ้านสมเด็จปากคลองสานสมัยก่อน นั่นไม่ใช่โรคทางวิญญาณ เขาเรียกว่า โรคทางจิต คือจิตมันผิดปกติ เพราะเนื่องร่างกายผิดปกติ เป็นโรคทางประสาท มันเป็นเรื่องทางกาย ก็ไปรักษากันที่นั่น จนกว่าจะหายเป็นปกติ
พระพุทธเจ้าท่านเป็นแพทย์ทางวิญญาณ โรคทางวิญญาณคือโรคกิเลสที่เกิดขึ้นรบกวนใจเรา ทำให้ใจเปลี่ยนสภาพจากปกติเดิม ไปเป็นรูปอะไรต่างๆ เช่น เปลี่ยนไปเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยา ความพยาบาทอาฆาต จองเวร ถือตัว แข่งดี โอ้! มีมากมาย ชื่อมันมีต่างๆ แสดงอาการต่างๆ อย่างนี้เรียกว่าเป็นกิเลส กิเลส คือ สิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง คล้ายกับเรามีเสื้อผ้าสะอาด นั่งรถยนต์ถนนที่มีลูกรัง แต่นั่งไปเสื้อขาวกลายเป็นเสื้อแดงไป อะไรๆ ก็เปลี่ยนสภาพไปหมด เพราะขี้ฝุ่นมาจับ กิเลสมันก็มีสภาพอย่างนั้นเหมือนกับฝุ่นที่เกิดขึ้นในใจคน แล้วถ้าเราไม่ปัดออกมันก็เกาะหนาขึ้น หนาขึ้นก็เป็นสันดาน มีความผิดปกติทางด้านจิตใจ ทำอะไรที่เป็นความผิด ความเสียหายได้ง่าย พระผู้มีภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลายทรงเป็นแพทย์ผู้แก้ไขเรื่องนี้ ท่านศึกษาค้นคว้าเป็นเวลานานถึง ๖ ปี เหมือนกับเรียนแพทย์เหมือนกัน เมืองไทยก็เรียนแพทย์ ๖ ปีเหมือนกัน พระองค์ก็เรียนตั้ง ๖ ปี แต่ไปเรียนในป่า เรียนใต้ต้นโพธิ์ นั่งคิด นั่งค้น นั่งทดสอบ ปฏิบัติจนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ได้ปริญญาสูงสุดคือเป็นพุทธะ เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบาน แจ่มใสในน้ำพระทัยอยู่ตลอดเวลา มีปกติอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นต่อไป เรียกว่าเป็นหลักของธรรมะ ที่เจ้าคุณท่านพุทธทาสเทศน์บ่อยเวลานี้ว่า “อตัมมยตา” ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นต่อไป อยู่ในสภาพอย่างนั้นมั่นคงถาวร ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น เพราะว่ากิเลสก่อจับไม่ได้ ไม่มีฐานรองรับตัวกิเลสแล้ว จึงเรียกว่าเป็นพุทธะ เป็นผู้รู้ทัน รู้เท่า ต่อสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง
เมื่อพระองค์ได้พบสิ่งนี้ แล้วก็ปฏิบัติพระองค์พ้นจากความทุกข์ทางใจเด็ดขาด มีสภาพจิตปกติคงที่ถาวร ก็นำไปสอนคนอื่นต่อไป ผู้ที่ได้พบพระองค์ได้ฟังคำสอนเกิดความรู้ เกิดความเข้าใจแล้วก็เอาไปสอนกันต่อๆ ไป จำกันมาด้วยปาก สอนด้วยประสบการณ์ชีวิตอย่างแท้จริง การสอนด้วยการท่องจำ อาจจะลืมได้ง่าย ผิดพลาดได้ง่าย แต่ถ้าสอนด้วย ประสบการณ์จากชีวิต มันเกิดขึ้นในใจ แล้วก็เปล่งออกมาเป็นคำพูด คนฟังก็ฟังเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วเอาไปปฏิบัติต่อไป ได้ประโยชน์สืบต่อกันมาจนถึงพวกเราในสมัยนี้ อันนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการฟังนั่นเอง เวลานี้เราก็ต้องส่งเสริมการฟัง ส่งเสริมการสอนให้มากขึ้น สมัยก่อนสอนน้อย ในเมืองไทยเรานี้ไม่ค่อยได้สอนเท่าไร พระแสดงธรรมก็แสดงเป็นครั้งๆ คราวๆ แสดงก็เอาคัมภีร์มาอ่าน คนฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง คัมภีร์ก็เป็นของเก่าเขียนไว้ตั้งแต่นานแล้ว ตั้งแต่ยุคโน้น ยุคเก่าๆ เขียนในคัมภีร์ใบลาน ไม่เขียนด้วยภาษาไทย แต่ใช้อักษรขอม เพราะอักษรขอมเป็นอักษรจารึกพระบาลี
ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นอักษรไทย ก็มาเปลี่ยนในรัชกาลที่ ๕ ท่านให้ทำสังคายนา เปลี่ยนตัวอักษรขอมมาเป็นอักษรไทย พระไตรปิฎกฉบับไทยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แล้วก็ส่งไปพระราชทานตามมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่นส่งไปมหาวิทยาลัย Oxford , Cambridge ที่อังกฤษ ให้เขามีไว้สำหรับศึกษาค้นคว้า ตัวไทยอ่านเป็นภาษาบาลี ต่อมาก็มีการเขียนคัมภีร์ คำอธิบายเป็นภาษาไทย พระเวลาไปเทศน์ให้พระเจ้าแผ่นดินฟัง ก็ต้องเขียนลงไปในใบลาน แล้วเอาไปอ่านให้ในหลวงท่านฟัง เขาขอต้นฉบับไว้เอามาพิมพ์เป็นเล่มกันต่อไป
ในสมัยก่อนหนังสือแจกงานศพท่านผู้หลักผู้ใหญ่ ท่านเจ้าพระยา พระยาหรือว่าพระสงฆ์ผู้ใหญ่ เป็นหนังสือเล่มใหญ่ๆ พิมพ์กระดาษดี ล้วนแต่เป็นกัณฑ์เทศน์ทั้งนั้น พระท่านเอาไปเทศน์ในงาน เขาได้ต้นฉบับไว้ เอามาพิมพ์แจกกันในงานศพ พิมพ์เล่มใหญ่ๆ สมัยก่อนการพิมพ์ลำบากแต่ก็พิมพ์ใหญ่ เล่มขนาดอย่างนี้ หนาตั้งนิ้วครึ่ง เอามาแจกกัน หนังสือแจกงานศพสมัยก่อนน่าอ่าน น่าอ่านในเรื่องประวัติของคน เพราะว่าประวัตินั้นเหมือนเราอ่านพงศวดาร อ่านเหตุการณ์ของบ้านเมือง คนที่เขียนประวัติถึงแก่กรรมมักจะเป็นคนสำคัญ เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านเขียนประวัติของคนที่ท่านรู้จักมาตั้งแต่เริ่มต้น ร่วมงานร่วมการกันมาอย่างไร ทำงานเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไร เป็นเรื่องน่าอ่านมาก สมัยก่อนหลวงพ่อชอบอ่านเรื่องแบบนั้น อ่านบ่อยๆ ก็ได้รู้ประวัติของคน คนตระกูลนั้นทำอะไร ตระกูลนั้นทำอะไร มาอย่างไร ไปอย่างไร ก็ได้อ่านจากหนังสือเหล่านี้ที่แจกในงานศพ
มีหนังสือชุดหนึ่งที่พิมพ์กันหลายปีจึงจะจบเรื่อง คือหนังสือชาดก หนังสือชาดก ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ท่านพิมพ์เป็นครั้งแรก แล้วเป็นครั้งแรกที่พิมพ์แจกหนังสืองานศพด้วย คือท่านปรารภเรื่องเผาพระราชทานเพลิงศพ พระโอรสพระองค์หนึ่ง ก็ได้ไปปรึกษากับพระมหาสมณเจ้าว่าอยากจะแจกเป็นหนังสือ ให้พิมพ์แล้วไม่ต้องตัด พับแล้วก็เย็บเป็นเล่ม แล้วก็จะแจกที่ตัดไปอีกเล่ม เอาไปตัดเอาเอง อ่านเอาเอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้าก็เลือกเรื่องชาดกที่สั้นๆ ๑๐ เรื่องด้วยกัน ๑๐ เรื่องแต่ให้อ่านง่าย เหมาะกับคนทั่วไป แล้วก็พิมพ์แจกในงานศพในสมัยนั้น แล้วก็สืบต่อกันมาจนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบัน ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ท่านทรงกระทำก่อน แล้วเรื่องชาดกก็มีคนแปล พิมพ์กันมาเรื่อยๆ มีตั้ง ๕๕๐ เรื่อง พิมพ์กันหลาย ๑๐ ปีกว่าจะจบ แจกในงานศพ เจ้าพระยานั้นพระยานี้อะไรต่างๆ มีชาดกเรื่องหนึ่งเรียกว่า สกุณชาดก เรื่อง นกกาเหว่าลาย พิมพ์แจกในงานศพสุภาพสตรีคนหนึ่งที่อยู่ข้างวัดทอง สุภาพสตรีคนนั้นเป็นผู้มั่งมีทรัพย์สมบัติ ในหลวงตั้งชื่อลูกสาวให้ ชื่อลูกสาว ๒ คน ตั้งชื่อว่า แม่เงินกอง แม่ทองโกย ตั้งชื่อพระราชทานให้ เงินกอง ทองโกย เป็นคนมีฐานะร่ำรวย แล้วพิมพ์หนังสือ สกุณชาดก เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงทั้งนั้น นกกาเหว่า ๒ ตัวมันเล่าสู่กันฟัง เรื่องเป็นอย่างนั้นๆ เล่าให้ฟังกัน เอามาพิมพ์แจกในงานศพนั้น แล้วก็พิมพ์มาเรื่อยๆ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิตร กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ท่านแปลเองพิมพ์เอง เรื่องชาดกเล่มใหญ่ เรียกว่า ทศชาติ ท่านก็พิมพ์ทุกปี พอวันเกิดท่านก็พิมพ์ทศชาติ พิมพ์แจกให้คนได้อ่านได้ศึกษา แต่ว่าหนังสือชาดกที่พิมพ์แจกกันในสมัยนั้น อ่านยากสักหน่อย เพราะว่าแปลไม่ทิ้งศัพท์ทิ้งแสง แปลแบบอ่านยาก ต้องมาเกลาสำนวนอีกที เอามาแปลใหม่ เอามาเล่าเรื่องภาษาไทยล้วนๆ ก็จะดีเหมือนกัน แต่ว่ายังไม่ใครทำ ถ้าทำก็จะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องสั้นๆ ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเด็ก ให้เด็กได้อ่านนิทานที่มีคติธรรม เพราะเรื่องชาดกนั้นก็เป็นเรื่องนิทาน นิทานพื้นบ้าน พระผู้มีพระภาคเจ้าเอามาสนทนากับพระสงฆ์ ในตอนเย็นๆ เอามานั่งประชุมกัน พระองค์ใดองค์หนึ่งกระทำความผิด พระก็มากราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เอานิทานมาเล่าเปรียบเทียบให้ฟัง เล่าไปเรื่อยๆ สั้นบ้างยาวบ้าง เป็นชาดกเรื่องสั้นก็เขาเรียกว่า เอกนิบาต คาถาเดียว ๒ คาถา ๓ คาถา ถึง ๑,๐๐๐ คาถา เวชสันดรชาดกนี่ยาว ๑,๐๐๐ คาถา แล้วเอามาแปลไพเราะเพราะพริ้ง เวชสันดรเอามาแปลภาษาไทยสำนวนเขาเรียกว่า ร่ายยาว น่าอ่าน น่าศึกษา สำนวนไพเราะมีคติธรรมอยู่ในเรื่องมากมาย แต่มันเป็นหนังสือเล่มใหญ่ คนเราในสมัยนี้ไม่ค่อยจะมีความอดทนพอที่จะอ่านเรื่องยาวๆ ชอบอ่านเรื่องสั้นๆ นิดๆ หน่อยๆ
เพราะฉะนั้นจึงพิมพ์เล่มย่อยๆ ชนิดใส่กระเป๋าได้ ชอบอ่านอย่างนั้น อันนี้แสดงว่าความขยัน ความอดทนของพวกเราในสมัยนี้มีน้อยกว่าปู่ตาย่ายาย คนในสมัยก่อนเขาขยันมากกว่า อดทนมากกว่า ตั้งใจทำอะไรจริงจังกว่า เขาจึงทำได้ เราในสมัยนี้อดทนน้อย ถ้านึกถึงว่าพระสมัยก่อนนี่ ที่ท่านเขียนหนังสือคัมภีร์ออกมาแต่ละเรื่อง เช่น ว่า คัมภีร์มงคล มังคลัตถทีปนี แปลว่า ดวงประทีปแห่งมงคล มงคลมันมี ๓๘ อย่างที่พระท่านสวดตามบ้าน ขึ้นต้นว่า อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ว่าอย่าคบคนพาลให้คบหาบัณฑิต ให้บูชาบุคคลที่ควรบูชา มันรวมกันทั้งหมด ๓๘ ประการ
ท่านพระสิริมังคลาจารย์ เป็นพระมหาเถระที่เชียงใหม่ วัดท่านอยู่ เรียกว่า วัดตำหนัก อยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ ออกจากเมืองไปก็ประมาณ ๕ กิโล มีหมู่บ้านเรียกว่า บ้านตำหนัก แล้วก็มีซากกุฏิเก่าๆ มีซุ้มประตู ซุ้มประตูยังอยู่ไม่พังทลาย แต่กำแพงพังไปเยอะ แล้วกุฏิก็เหลือแต่ซากที่เป็นก่ออิฐไว้ กรมศิลปากรเข้าไปคุ้มครองรักษา เพราะว่าวัดนี้เป็นที่อยู่ของนักปราชญ์ทางศาสนา นี้ท่านอ่านหนังสือพระคัมภีร์ สมัยก่อนอ่านคัมภีร์ไม่ใช่สะดวก ใบลาน เอามากองไว้ข้างตัว ถ้าสมมติว่านั่งตรงนี้ใบลาน กองรอบตัว หยิบคัมภีร์มาอ่าน มาอ่าน แล้วเวลาจะเขียนท่านอ้างคัมภีร์มากมาย เรื่องนั้นปรากฏอยู่ในสูตรนั้น ในคัมภีร์นั้น อ่านแล้วก็ โอ!ท่านอ่านหนังสือมาก ค้นคว้ามาก ใช้เวลามากด้วยจึงเขียนหนังสือออกมาสำเร็จเป็นเล่มโต เรียกว่า มังคลัตถทีปนี เป็นหนังสือที่น่าศึกษาเหมือนกัน แสดงธรรมะไว้ดี ยกตัวอย่างยกเรื่องประกอบอะไรมากมาย
แต่หนังสือประเภทนี้ไม่ค่อยแพร่หลาย มันเป็นหลักสูตรของพระที่เรียนบาลี ประโยค ๔ ก็เรียนเล่มนี้มี ๒ เล่ม เรียนเล่มนี้ พวกสอบประโยค ๔ ได้ต้องเรียนเล่มนี้ ก็ได้ความรู้ แต่ว่าพวกเรียนบาลีเรานี้ยังบกพร่อง เรียนมุ่งเอาแต่ภาษา ไม่เรียนขุดค้นธรรมะจากเรื่องในคัมภีร์ เอาแต่ภาษาอย่างเดียว สอบไล่ได้ แต่ความรู้ทางธรรมะไม่ค่อยจะสมบูรณ์ เพราะไม่ค่อยสนใจศึกษาธรรม ครั้นสอบได้แล้วก็ไม่มาศึกษาต่อ ไม่มาขุดค้นเอาธรรมะต่อไป ความรู้ทางธรรมะจึงไม่ค่อยจะสมบูรณ์ มีท่านเจ้าคุณพุทธทาสองค์เดียวในเมืองไทย องค์เดียวก็ได้ เพราะองค์อื่นยังไม่ปรากฏ ท่านได้ทำการศึกษาค้นคว้าอย่างมาก ความรู้บาลีก็ไม่มาก ๓ ประโยคเท่านั้นเอง สอบประโยค ๔ ตกด้วยซ้ำไป ท่านบอก “เรียนเท่านี้ก็พอแล้ว เพราะว่ากรรมการกับเราความเห็นไม่ตรงกัน” แล้วท่านก็เลิกเรียน กลับไปอยู่ป่าสวนโมกข์ ที่ชัยภูมิเรียง (25.16) แห่งแรกก็ไปศึกษาพระไตรปิฎก ค้นคว้าแปลหนังสือเก่ง แปลเป็นภาษาไทยแล้วก็เรียกว่า แจ๋ว ใครอ่านแล้วก็ไม่ต้องลำบากใจ อ่านแล้วเข้าใจ สมเด็จวันรัต(เฮง) วัดมหาธาตุองค์ก่อน ท่านพูดกับลูกศิษย์ของท่านว่า “ไอ้พวกแกนี่เรียนหนังสือได้ถึง ๙ ประโยค แปลหนังสือไม่เอาไหน ไม่ดูมหาเงื่อม เขาบ้าง เขา ๓ ประโยคเท่านั้นแหละ แต่เขาแปลบาลีเป็นไทยชัดเจน อ่านแล้วเข้าใจ” ท่านพูดให้ลูกศิษย์ ๙ ประโยคของท่านฟัง ว่าอย่างนั้น
แสดงว่าท่านศึกษาค้นคว้า แล้วก็มีองค์หนึ่ง เวลานี้เจ้าคุณเทพเมธีมหาประยุติ นี่ก็กำลังศึกษาค้นคว้าอยู่เดินตามหลัง ท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านเดินมาก่อนค้นคว้ามาก่อน หยิบเอาคำต่างๆ จากพระบาลีมาพูด อธิบาย อธิบายหลายๆ กัณฑ์ในเรื่องเดียว เช่น คำว่า อิทัปปัจจยตาบ้าง อตัมมยตาบ้าง สุญญตาบ้าง ตาๆ มีหลายคำนะ เอามาอธิบายไป เวลาอธิบายใหม่ๆ บางคนก็ตื่นเต้น บางคนก็ไม่ตื่นเต้น เฉยๆ อู้! เอาอะไรมาพูดก็ไม่รู้ ไม่มีในคัมภีร์สักหน่อย พวกนั้นไม่เคยอ่าน ไม่เคยค้นคว้า โดยเฉพาะพวกเรียนอภิธรรม เรียนพ้นไป เรียนอภิธรรม ไม่เรียนในพระสูตร เขาบอก อืม! ท่านพุทธทาสชอบเอาของนอกเรื่องนอกราวมาพูด ไม่มีในพระคัมภีร์ ท่านก็เฉยๆ แต่วันหลังท่านมาเทศน์กรุงเทพฯ ท่านก็อ้างคัมภีร์ทุกเรื่อง ไม่ว่าเทศน์ข้อไหน ยกอยู่ในคัมภีร์นั้น ในสูตรนั้น เพื่อให้เขารู้ว่ามันมีอยู่ในคัมภีร์ ไม่ได้พูดลอยๆ เฉยๆ
ท่านเป็นนักศึกษาค้นคว้า คนอย่างนี้หายาก แล้วก็ต้องการเหมือนกัน ในวงการพระศาสนาต้องการพระอย่างนี้ เพื่อไปขุดไปคุ้ย เอาสิ่งที่มันลึกลับซับซ้อน ซ้อนอยู่ใต้ดิน เอามาให้เห็นกัน พระพุทธเจ้าท่านเป็นนักขุดนักค้น ขุดขึ้นมาให้คนได้รู้ได้เห็นได้เข้าใจ ดังปรากฏในพระสูตรที่ว่า อุปปาทา วา ภิกขเว อะนุปปาทาวาตถาคตานัง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม สิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมจิตติ (28.08) ธรรมนิยาม มันมีอยู่อย่างนั้น เป็นอยู่อย่างนั้น คือสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มันก็มีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ค้นพบ เปิดเผย ทำให้ตื้น แสดงแก่ชาวโลกทั้งหลาย พระองค์ตรัสอย่างนั้น แสดงว่าพระองค์เป็นนักขุด นักค้น ไปนั่งขุดอยู่ที่ไหน ไปนั่งขุดอยู่ใต้ต้นโพธิ์นั่นแหละ ไปขุดไปค้นอยู่ตรงนั้น จนกระทั่งพบสิ่งที่มันซ่อนอยู่ สิ่งนั้นปรากฏอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง แต่คนมองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่เข้าใจ เพราะปัญญายังไม่แก่กล้า พระพุทธเจ้าท่านอบรมปัญญาแก่กล้าแล้วไปขุดไปค้นขึ้นมาได้ เอามาสอน เปิดเผยจำแนกธรรมให้ตื้น ให้คนได้รู้ ได้เข้าใจ ในเรื่องนั้นถูกต้อง
ที่เราสวดทุกเช้า เรื่องไม่เที่ยง เรื่องเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่านึกว่าเป็นของธรรมดาๆ กว่าจะนำสิ่งนี้มาประกาศแก่ชาวโลกได้ เลือดตาแทบกระเด็น ทนเหน็ดเหนื่อย ลำบากใต้ต้นโพธิ์ เป็นเวลาไม่ใช่เล็กน้อย จนกว่าจะได้สิ่งนี้มา เราได้ไปพบสิ่งที่เขาพบไว้ให้แล้ว เหมือนกับว่าเรารับประทานอาหาร ข้าวอยู่ในจานเรียบร้อยแล้ว ข้าวอยู่ในจานเรียบร้อยแล้วก็ทานเลย ทานจนอิ่ม แต่ไม่ได้เคยได้คิดว่าข้าวนี้มาจากไหน ข้าวสุกนี้มาจากไหน ใครเป็นผู้ทำให้เกิดข้าวสุกขึ้น ไม่ได้คิด ถ้าคิดทบทวนไปว่าข้าวสุกมาจากข้าวเปลือก ข้าวเปลือกมาจากต้นข้าว ใครเป็นผู้ปลูกต้นข้าว ชาวนา ชาวนาเป็นผู้ปลูกข้าว แล้วก็เราได้กินข้าว ถ้าชาวนาไม่ปลูกข้าว เราจะเอาข้าวที่ไหนมากิน
ถ้าคิดลึกไปอย่างนั้น ชาวนามีบุญคุณต่อชาวโลกเหลือเกิน มีบุญคุณต่อคนที่ไม่ได้ปลูกข้าวเหลือเกิน เช่น เราชาวกรุง ชาวนามีบุญคุณต่อเรามาก เราก็ควรจะนึกถึงชาวนาบ้าง ทำอะไรๆ ก็นึกถึงชาวนาบ้าง ที่เขาพูดกันว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ กระดูกในตัวคน นี่กระดูกสันหลังนี่สำคัญ ถ้าไม่มีกระดูกสันหลังซี่โครงจะไปต่อกับอะไร มันอยู่ไม่ได้ มันมีกระดูกสันหลังจึงมีโครงออกไปรอบตัวเรา แล้วในกระดูกสันหลังก็มีไขสันหลัง มีเส้นประสาทเส้นใหญ่ตรงขึ้นไปสู่สมอง สั่งงานสั่งการออกไปทั่วร่างกาย ถ้าไม่มีกระดูกสันหลังแล้ว ร่างกายอยู่ไม่ได้ ชีวิตก็อยู่ไม่ได้ เขาจึงเปรียบว่าชาวนาหรือเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ แต่ว่ากระดูกสันหลังเวลานี้ชักจะแย่ กระดูกสันหลังไม่ค่อยจะมีเนื้อหุ้มแล้ว เหลือแต่กระดูกแล้ว ทำอะไรก็ขายไม่ค่อยได้ ราคามันก็ตกต่ำ ถูกบีบถูกคั้นด้วยประการต่างๆ ทำให้ลำบากอยู่พอสมควร ประเทศบางประเทศเขาบำรุงชาวนาเขามาก ชาวนาญี่ปุ่นได้รับความสุขสบาย เพราะข้าวขายได้ราคาแพง ชาวนาญี่ปุ่นมาเที่ยวประเทศไทยเป็นกลุ่มๆ ไปเที่ยวประเทศอเมริกา เป็นชาวนามีเงินไปเที่ยวต่างประเทศ พูดอะไรไม่ได้ แต่มีหัวหน้าเป็นล่าม ไปไหนก็ถือธงนำเลย นำเป็นแถว ขึ้นเรือบินก็ถือธงนำ เหมือนกับคนไทยไปอินเดีย สมัยก่อนนำญาติโยมไปอินเดียต้องถือธงนำ ต้องดูธง เดินตามธงนะโยมนะ อยู่ตรงหัวคนหนึ่ง อยู่ท้ายคนคอยคุมขบวน เดี๋ยวแตก เดินหลง หาตัวไม่ค่อยเจอ ลำบาก ญี่ปุ่นก็ไปอย่างนั้น แต่เขามีเงินไปเที่ยวได้ แสดงว่าชาวนาเขามีฐานะดีกว่าชาวนาบ้านเรา กระดูกสันหลังลำบากอยู่ ก็ต้องช่วยกัน เอาเนื้อมาพอกกระดูกสันหลังให้มันไม่เห็นกระดูกมากเกินไป จึงจะอยู่กันเรียบร้อย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ กระดูกสันหลังของประเทศ
อันนี้พระพุทธเจ้าท่านค้นพบสิ่งที่มันลึกลับอยู่ โลกไม่ค่อยเห็น แต่ว่าความจริงนั้นก็ค้นพบบ้าง ๒ ประการข้างต้น ครูอาจารย์ก่อนยุคพระพุทธเจ้าก็สอนเหมือนกัน สอนความไม่เที่ยง สอนความเป็นทุกข์ สอนได้เพียงเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นอนัตตา เพราะว่าไปติดตัวอัตตาอยู่ เพราะคำสอนในศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูในปัจจุบันนี้ มันมีตัวใหญ่คือ อัตตาอยู่ เป็นอัตตาก็ไปติดอยู่ที่ตัวนั้น บำเพ็ญภาวนาก็ไปติดอยู่ที่นั้น ก้าวหน้าไปไม่รอด เหมือนอุทกดาบส อาฬารดาบส ที่พระพุทธเจ้าไปเรียนด้วยท่านก็ไปติดอยู่ที่นั่น ไม่ทะลุไปได้ พระองค์เห็นว่ามันไม่ถูก แม้เรียนสำเร็จจากอาจารย์ทั้งสองนั้นแล้ว ก็มีความรู้สึกอยู่ในใจว่า มันยังไม่พ้นทุกข์อะไร ทุกข์ยังมีอยู่คล้ายกับเอาหินไปทับหญ้าไว้ หญ้ามันก็เลื้อยไปแต่มันไม่ตายหรอก
สมมติว่าเราเอาอะไรไปทับไว้ที่สนามหญ้า มันก็เลื้อยไปแต่มันไม่ตาย ถ้าเรายกสิ่งนั้นขึ้น รากมันยังมีมันก็ขึ้นต่อไป เวลาไปนั่งเข้าฌาน นั่งได้นานๆ อาฬารดาบส นั่งเข้าฌานแล้วเกวียน ๕๐๐ เล่มเดินผ่านไม่ได้ยิน ถ้าสมัยนี้นั่งเข้าฌานแล้วสิบล้อวิ่งผ่าน ไม่ได้ยิน เรียกว่าจิตเป็นสมาธิมาก มั่นคง แต่ว่าพอออกจากสมาธิแล้วก็เหมือนเดิม อารมณ์ กระทบแล้ว ขึ้นวู่ๆ วามๆ ได้ยังโกรธ ยังเกลียดอะไรได้ ยังมีความยึดมั่น ถือมั่น ในอะไรอยู่ยังไม่พ้นไปจากความทุกข์อย่างแท้จริง พระองค์ทรงทราบ เพราะได้ทดสอบแล้ว เรียนมาแล้ว เห็นว่ายังไม่ถึงที่สุด ต้องค้นคว้าต่อไป พระองค์จึงได้ค้นต่อไป ไปจนกระทั่งพบหลักสำคัญคือ อนัตตา ตัวอนัตตา เป็นตัวใหม่ ไม่เคยมีสอนกันมาก่อนในโลกก็ว่าได้ เพราะไม่มีใครได้พบสิ่งนี้ แล้วก็ไม่สอน เพราะมันไปยึดติดที่ตัวตนเสียแล้ว ตัวตนถาวร ไม่รู้จักตาย เกิดแล้วไม่ดับเป็นอมตะไป เป็นวิญญาณที่ไม่ตาย ไปติดอยู่ที่ตัวนั้น เลยก็ไม่สามารถจะหลุดพ้นไปได้
แต่พระองค์พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ใช่อย่างนั้น ค้นพบหลักอนัตตา เมื่อค้นพบหลักอนัตตาก็ทรงแยกออกไปให้เห็นว่า เป็นอนัตตาอย่างไร คือแยกตัวเราในร่างกายออกไป แยกร่างกายก่อน ชีวิตแยกออกไปเป็นกองๆ ที่โยมสวดตอนเช้า รูปังอนิจจัง เวทนานิจจา ... ว่าไปตามเรื่อง เป็นรูปเวทนา สังขาร วิญญาณ แยกออกเป็น ๕ กอง เพื่อไม่ให้เห็นเป็นก้อน เป็นกลุ่ม ปกติเรามองอะไรก็มองเป็นก้อนไป เขาเรียกในภาษาธรรมะว่าฆณะสัญญา ฆณะ แปลว่า ก้อน ฆณะสัญญาสำคัญว่าเป็นก้อน ดูแล้วมันเป็นก้อนไป เป็นกลุ่มไป ไม่ดูแยกออก เห็นเป็นอย่างนั้น เห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นอะไรๆ ก็เป็นก้อนเป็นกลุ่ม ไปหมด ไม่ได้แยกออกไปว่ามันมีอะไรบ้าง ไม่รู้จักแยก เห็นแต่เป็นก้อนอยู่ ก็ไปยึดอยู่ในก้อนนั้น คล้ายกับว่าคนไปได้มะพร้าวมา ก็เอามะพร้าวนั้นมากกมากอด แต่ไม่ปลอกเปลือกมะพร้าวออก แล้วก็ไม่ปล่อยเปลือกมะพร้าวข้างใน ไม่เอาไปขูดคั้นเป็นน้ำกะทิ ไม่เอาไปเคี่ยวให้เป็นน้ำมัน ก็เลยไม่ได้กินเนื้อแท้ของมะพร้าว เอาไปกกไว้อย่างนั้น ที่คนโบราณเขาว่ากินมะพร้าวทั้งเปลือกก็ไม่ได้เรื่องอะไร กินเปลือกมะพร้าวก็ไม่ได้เรื่องอะไร ไม่ได้มีรสมีชาติอะไร เห็นเป็นอย่างนั้น เห็นเป็นก้อน แล้วก็ไปติดอยู่ในก้อนนั้น ติดตัว ติดตน
มีอัตตาตัวตนอย่างสำคัญ เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน หมายความว่า เข้าไปยึดถือว่าเป็นตัว แล้วก็เป็นตัวกู เป็นของกูขึ้นมา สิ่งต่างๆ มันก็เกิดมาจากเรื่องนี้ เรื่องความยึดว่ามีตัว พอมีตัวแล้วก็มีอะไรต่อไปอีกมากมาย มีตัวฉันมีของฉัน พวกของฉัน อะไรฉัน อู๊ย!มากมายสร้างปัญหา สังคมที่วุ่นวายก็เพราะตัวนี้ ไอ้ตัวอัตตาที่มีตัวมีตนพระพุทธเจ้าท่านเห็นว่าจะทำลายตัวนี้ ต้องพิจารณาแยกแยะออกไป ให้เห็นว่าไม่มีตัว มีตน จึงได้พบหลักอนัตตา อนัตตา แปลว่า ไม่มีตัว ไม่มีตัว ถ้าจะมีก็เรียกว่ามีตัวที่ไม่มีตัว มันมีตัวสมมติ ตัวฉัน ตัวนั่น ตัวนี่ ตัวสมมติ แต่ว่าตัวนั้นมันไม่มีเนื้อแท้ มันเป็นของผสมกันเข้าเพื่อให้เห็นว่า เป็นของผสมก็เลยแยกออกเป็น ๕ กอง เป็นกองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ แยกออกไป แยกออกไปเพื่อให้เห็นว่ามันไม่มีตัว เราจึงสวดมนต์ รูปังอนิจจัง... อะไร ว่ารูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
แล้วก็สวดว่ารูปที่เข้าไปยึดถือเป็นทุกข์ เวทนาที่เข้าไปยึดถือเป็นทุกข์ สัญญาที่เข้าไปยึดถือก็เป็นทุกข์ สังขารที่เข้าไปยึดถือไว้ก็เป็นทุกข์ วิญญาณที่ไปยึดถือก็เป็นทุกข์ ถ้ามันอยู่ตามลำพังมันก็เป็นทุกข์ตามสภาพ ต้นหมากรากไม้ ก้อนหินดินจอมปลวก มันก็เป็นทุกข์ตามสภาพของมัน ร่างกายเรามันก็เป็นทุกข์ตามสภาพของมัน แต่ว่าถ้าเราเข้าไปจับเข้าว่าเป็นของฉันขึ้นมา อ้าว เราก็เป็นทุกข์เพราะการยึดถือ เรียกว่า อุปาทาน ภาษาศัพท์ธรรมะ เรียกว่า อุปาทาน อุปาทานเข้าไปยึดว่าเป็นตัว เป็นของฉัน เป็นของคนนั้นของคนนี้ มันมีของกู มีตัวกู แล้วก็มีของคนนั้นคนนี้ แย่งกันทีนี้ แย่งกันก็ทะเลาะกัน ทำสงครามกัน ประหัตประหารกันด้วยประการต่างๆ เพราะความยึดในนี้ อัตตวาทุปาทาน มันทำให้เกิดอะไรหลายอย่าง พระองค์มองเห็นว่าตัวต้นตอของปัญหาคือการยึดถือในตัวตน แล้วก็มีความมานะ มีความถือตัวแล้วก็มีความแข่งดี มีอะไรๆ ต่างๆ เกิดขึ้นเพราะตัวๆ เดียว
การที่จะตัดปัญหาเหล่านี้ต้องสอนให้เห็นว่าไม่มีตัว จึงแยกออกเป็นกองถอดออกไปเสีย ถอดออกไปวางให้เห็นว่ามันไม่มี เหมือนกับศาลาหลังนี้อยู่ รื้อออกไปกองๆ มันไม่มีศาลา เป็นกองอิฐ กองปูน กองไม้ กองอะไรต่ออะไรไปตามเรื่อง ไอ้ตัวศาลาหายไป ในร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อแยกออกไปแล้ว ตัวเราก็ไม่มี ยังแยกละเอียดไปกว่านั้น ในเรื่องของรูปก็ยังแยกอีก รูปยังเป็นก้อนอยู่ แยกไปอีก เป็นอาการ ๓๒ ที่เราสวดว่า อัตถิ อิมัสมิง กาเย สิ่งที่มีอยู่ในร่างกายนี้คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็นกระดูก เยื่อในกระดูก ตับ ปอด ไต ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า เยื่อในสมองแยกออกเป็นกอง ๓๒ ที่กองๆ ไว้ เอาไปเป็นกองๆ กองไว้ ผมไปกองไว้ ขนไปกองไว้ หนังไปกองไว้ กองออกไปหมด แล้วตัวมีที่ตรงไหน นายแก้ว นายจันทร์ นายขวัญ นายดี มันก็ไม่มี มันแยกออกไปหมดแล้ว
การแยกแบบนี้ทำให้เห็นว่ามันไม่มีเนื้อแท้ ไม่มีตัวนั่นเอง เหมือนรถก็เหมือนกัน ถอดออกหมดรถมันอยู่ที่ไหน รถมันก็ไม่มี แต่มันมีคำว่ารถเพราะคลุมส่วนต่างๆ ก็เอามาคิดกันเข้าเป็นตัวรถขึ้นมา ติดยี่ห้อ รถฟอร์ด รถคาร์ดิแลค โรถรสรอยส์ รถโตโยต้า นิสสัน มากมายแล้วก็ขายแข่งกัน โฆษณาทับถมกันต่อไป ของฉันเก่งกว่าของท่าน ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ เกิดกิเลสรบกันไปอีกเพราะรถที่เข้าไปยึดถือ เอาไปรวมกันแล้วก็เป็นรถขึ้นมา อะไรๆ ที่เกิดเป็นขึ้นมา มันรวมกันทั้งนั้น พอรวมแล้วมันก็เกิดเป็นเรื่องขึ้นมา ชีวิตคือการรวมตัวของสิ่งต่างๆ ไอ้ตัวใหญ่สำคัญเขาเรียกว่า ธาตุ ธาตุคือ สิ่งที่เป็นอยู่ตามเรื่องของธรรมชาติ ทรงตัวมันเองได้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ว่ามันก็เป็นของผสมอีก ดินก็เป็นส่วนผสม น้ำก็เป็นของผสม แก๊สก็เป็นส่วนผสม อุณหภูมิในร่างกายก็เป็นส่วนผสมทั้งนั้น ไม่มีเนื้อแท้ทั้งนั้นแหละ แต่เราไม่ค่อยจะได้คิดแยกกันออกไป เขาเรียนวิทยาศาสตร์ เขาก็แยกธาตุต่างๆ แยกเพื่อให้รู้ว่าอะไรมันมาผสมกันเป็นอะไร ก็เรียนในทางวัตถุเป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายรูปธรรม ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายนามธรรม คือไม่ได้แยกตัวเราออกพิจารณาในแง่ธรรมะ
เหมือนหมอเรียนแพทย์ ก่อนเป็นแพทย์ต้องเรียนวิชาแพทย์ แล้วก็เรียนเรื่องกายวิภาค ต้องเอาศพไป เขาจึงขอศพคนที่ตายแล้ว ขอศพหน่อย เพื่อเอาไปให้นักเรียนแพทย์เรียน ไอ้เราตายแล้วเผาแล้วมันก็สูญเปล่า ฝังดินก็อย่างนั้น ให้นักเรียนไปเรียนดีกว่า ยกให้นักเรียนไปเรียน เขาก็ไปดองไว้ก่อน ดองไว้ ไอ้ที่เขาดองไว้นั้นอย่าไปดู เราไปเห็นคุณพ่อถูกดองอยู่ในถังใหญ่ ก็กูไม่ให้แล้ว ให้ไปแล้วจะเอาคืนได้อย่างไร อย่าไปดูตรงนั้น เพราะว่าเขาเปลือยกายล่อนจ้อน ดองไว้ ตัวแข็งทื่อ ไม่ให้เสียรูป แล้วก็ยกขึ้นมาวางบนโต๊ะ วางบนโต๊ะนักเรียนก็มาชำแหละ เรียนตั้งแต่หัวถึงตีน เรียนในอก ผ่าอกออก เรียนปอด เรียนหัวใจ เรียนตับ เรียนไต กระเพาะอาหาร ลำไส้ เรียนถึงเส้นประสาท เส้นโลหิตว่ามันไปกันอย่างไร สัมพันธ์กันอย่างไร เรียนหมด เรียนจนกระทั่งแหลกไปแล้ว เรียนจบแล้วก็เก็บไว้ ถ้าญาติมารับเอาไปเผาก็เอาไป ถ้าญาติไม่มารับเอาไปเผาเขาก็รวมไว้ แล้วก็ทำบุญพระอาจารย์ (45.09) (อาจารย์ใหญ่) ได้เกียรติเป็นพระอาจารย์ (45.12) (อาจารย์ใหญ่) ไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว เขาทำทุกปี
เคยนิมนต์ในเทศน์งานศพพระอาจารย์ (45.18) (อาจารย์ใหญ่) เหมือนเราทำศพคุณพ่อคุณแม่เรา ทำเรียบร้อยได้เกียรติ และก็ไปเผาที่วัดใกล้ๆ ที่ศิริราช วัดอมรินทร์ ถ้าจุฬาลงกรณ์ก็วัดหัวลำโพง แต่ก็ทำพิธีกันที่โรงพยาบาลก่อน นิมนต์พระไปสวดมนต์ ถวายภัตตาหาร ถวายปัจจัยไทยทาน พวกนักเรียน ที่เขาเรียนแล้วก็เรี่ยไรกันทำ ทุกอย่างเรียบร้อย บอกญาติให้รู้ด้วย ญาติก็ไปร่วมทำบุญกับเขาด้วย ดีกว่าศพไร้ญาติ ไอ้ศพไร้ญาติ ควรจะเรียกใหม่ว่าศพที่ญาติทอดทิ้ง มันไม่ใช่คนไม่มีญาติ ญาติมันมีแต่มันทอดทิ้ง เอาไปฝังทิ้งไว้ที่ป่าช้า นานๆ ขุดขึ้นมาทำบุญ ศพไร้ญาติ อาตมาเคยไปเทศน์ ไม่ใช่ศพไร้ญาติ แต่เป็นศพที่ญาติทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ ก็รอเรามาทำบุญกันก็ดี ได้ประโยชน์มาก ช่วยให้มันสลายไป เขาทำอย่างนั้น
ทีนี้นักเรียนที่เรียนกายวิภาค ก็เรียนแต่เรื่องร่างกาย แต่ไม่เอาธรรมะเข้าไปใช้ ไม่ได้เรียนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ออกเป็นหมอแล้วบางคนก็(ขออภัย) ไม่ค่อยมีคุณธรรม คนทำดีๆ หมอดีๆ ก็เยอะ แต่บางคนก็ไม่เอาไหน เพราะเราไม่ได้สอนธรรมะแก่หมอด้วย ไม่สอนธรรมะในขณะที่ผ่าศพ อาจารย์ก็ไม่ได้รับสอนธรรมะมาก่อน สอนกันไปอย่างนั้น ให้เรียนว่าศพอย่างนั้น ร่างกายเปิดเส้นประสาท หัวใจ ตับ ปอดไตมันเป็นอย่างนั้น สัมพันธ์กันอย่างไร สายโยงนั้นอยู่มันสัมพันธ์กันอย่างไร ไม่ได้คิดอย่างนั้น ไม่เอาธรรมะเข้าไปจับ ดูอะไรถ้าไม่เอาธรรมะเข้าไปดู มันเห็นไม่ชัด เห็นไม่ถูก เห็นไม่ตรง แล้วเกิดความยึดถือด้วย ยึดถือในสิ่งนั้น และก็เกิดกิเลส ดูไม่ได้ใช้ธรรมะมันเกิดกิเลส เกิดความรักเกิดความชัง เกิดความโกรธ เกิดความเกลียด เกิดพยาบาท เกิดแย่งแข่งกัน นี่ไม่ได้ใช้ธรรมะ
ถ้าเราดูด้วยธรรมะมันปลงลงไปได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เอาธรรมะเข้าไปจับ เรียกว่าเอาแว่นธรรมเข้าไปส่อง ดูอะไรก็ดูด้วยธรรมะ ดูในแง่ธรรมะ เช่น ดูในแง่ว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันไม่มีเนื้อแท้ เป็นอนัตตาอย่างไร หรือดูในแง่ว่ามันสะอาดหรือสกปรก ปฏิกูล แปลว่าไม่สะอาดอย่างไร ดูในแง่อย่างนั้น ดูอย่างนั้นเป็นการดูเพื่อทำลายกิเลส แต่ถ้าดูรวมเป็นกลุ่มเป็นก้อนว่าสวย ว่างาม ว่าน่ารัก น่าพอใจ ดูเพราะกิเลส เหมือนการประกวดนางงามเป็นการพอกกิเลส ไอ้คนประกวดก็มีตัวมากขึ้น พอได้เป็นนางสาวไทย เดินชูคอไปเลย แล้วคนก็ช่วยให้เกิดความยึดถือในตัวตนมากขึ้น ยึดถือในตัวตันว่าฉันสวยกว่าใครๆ ความจริงไม่ได้สวยกว่าคนทั้งประเทศหรอก สวยกว่าคนที่เข้าไปประกวดเท่านั้นเอง จำนวนมันนิดเดียว ไอ้คนที่ไม่ได้เข้าประกวดสวยๆ ก็ยังมีเยอะ แต่ก็สมมติว่าสวย เลยไปติดความสวย ติดในความเป็นนางงาม เป็นนางสาวไทย นางสาวเอเชีย นางสาวจักรวาล โอ้ ไปกันใหญ่ มาเมา ทำอย่างนี้มันก็เมาขึ้น
ทีนี้เราดูไม่ให้เมา ดูไม่ให้หลง ดูไม่ให้ติด ต้องดูในแง่ว่ามันคืออะไร เอาธรรมะเข้าไปดูว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันเป็นอนัตตาอย่างไร น่าเกลียดอย่างไร ไม่สวยไม่งามในรูปใด ดูอย่างนั้น ดูเหมือนเราดูคนที่เป็นแผล หน้าสวยๆ หน้าสวยๆ เป็นแผลเหวอะหวะที่แก้ม แล้วแผลนั้นมันเป็นอย่างไร มันน่าดูไหม มันน่าชมไหม เลือดที่ไหลออกมามันหอมหวนชวนดมไหม นึกอย่างนั้น ไม่น่ารักอะไร เลือดที่ออกมาไม่น่ารัก เลือดใครๆ ไม่มีกลิ่นคาวเท่าเลือดคน เลือดคนนี่คาวจริงๆ เลือดปลา เลือดวัว เลือดควายว่าคาวแล้วนะ ไม่เท่าใด แต่เลือดคนนี่คาวจริงๆ เคยเห็น เคยเข้าใกล้ เข้าไปไม่ได้มันจะอาเจียน ต้องวิ่งออกมาดูห่างๆ คือคนผู้ชาย มันก็เกะกะระราน เลยก็ไปนั่งดูหนังตะลุง เอกเขนกดูหนังตะลุง มีคนเอาขวานมาจามหัว กะโหลกแตกเลือดไหล คนก็เอาไปวางไว้บนกุฏิเล็กๆ แล้วเขามาบอก “คนถูกขวานจามหัว นอนดิ้นเหมือนปลาดุกถูกทุบหัว”
ใครเคยจับปลาเป็นมาแกง มีดทุบหัว มันดิ้นอย่างไร น่าสงสาร ทุบหัวแล้วมันดิ้น ปลาดุกปลาช่อน ปลาอะไรก็ได้ทุบหัวมัน มันดิ้น ถ้าดิ้นอย่างนั้นแล้ว บางทีจะไม่กินปลาต่อไป เห็นแล้วสงสาร ไม่กินแล้ว กินไอ้ตัวนั้นตัวเดียวพอ ไหนๆ ก็ฆ่ามันแล้ว กินให้มันคุ้มหน่อย แต่ไอ้ตัวอื่นไม่อยากทุบ มันน่าสงสาร มันดิ้นๆ น่าสงสาร ไอ้เจ้านั่นก็ดิ้น ไม่ตาย หัวใจไม่หยุดสักที เลือดมันไม่หยุดออก เต็มไปหมด เขามาบอก มาบอกว่า อ้าว ทำไมไม่ช่วยกันทำปัจจุบัน(ปฐม)พยาบาล (51.40) นึกว่าเรียนลูกเสือมาแล้ว ลองมาใช้ แต่พอเดินเข้าไปใกล้สัก ๕ เมตร ไม่ไหว กลิ่นเข้าจมูกจะอาเจียน ต้องถอยออกไปยืนตรงข้างนอก ปลงอนิจจัง มนุษย์เรานี่กลิ่นมันแรงจริงๆ เวลาเลือดอยู่ในหนัง ดมกันไป ดมกันไป แต่พอออกมาเหม็นคาว คาวจริงๆ ได้พบว่ามันคาวจริงๆ ร่างกายของคน เป็นอย่างนั้น ถ้ามองในแง่อย่างนั้น มันก็ค่อยปลง ค่อยจางลง กิเลสตัณหามันก็ค่อยลดน้อยลงไป อยู่กันเป็นสุข
พ่อบ้านก็คิดปลง แม่บ้านก็คิดปลง อยู่กันเป็นสุข ไม่มีปัญหาเดือดร้อน แต่ถ้าดูไม่ปลง ดูว่าสวยว่างาม พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า บุคคลมีปกติเห็นสิ่งทั้งหลายว่างาม เป็นอยู่ด้วยเห็นสิ่งทั้งหลายว่างาม เหมือนกับต้นไม้อยู่ริมตลิ่ง น้ำเซาะพังเมื่อใดก็ได้ คือจิตมันจะพังลงไปเพราะเห็นว่าสวยว่างามอย่างนั้น อันนี้ท่านบอกว่าผู้ใดไม่เห็นว่าเป็นสวยเป็นงาม สำรวมตา สำรวมหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในสิ่งเหล่านั้น ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ มันอยู่ที่ว่าสำรวม สำรวม ก็หมายความมีสติ ในการดู ดูด้วยสติ ดูด้วยปัญญา ถ้าดูด้วยสติปัญญา เห็นของจริง ถ้าดูด้วยไม่ใช้สติปัญญาเห็นของปลอม แล้วก็ไปยึดเอาของปลอมนั้นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา แล้วก็มีความทุกข์ มีปัญหา คนที่อยู่ในวัยหนุ่ม วัยฉกรรจ์ ก็มีปัญหาอย่างนี้ มีปัญหาเรื่องคู่ครองบ้าง เรื่องอะไรบ้าง อาลัยอาวรณ์ จากกันไปแล้วก็อาลัยอาวรณ์ เป็นทุกข์ นี่ไม่รู้จักคิดในแง่ธรรมะก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปเป็นแว่นส่องมองให้ดี ความทุกข์ก็ค่อยลดน้อยลงไป เพราะมองเห็นว่าไม่มีอะไรที่น่ารักเท่าไร ไม่มีอะไรน่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าจะเป็น เป็นมันก็อย่างนั้นแหละ
ถ้าเป็นด้วยความยึดถือมันก็เป็นทุกข์ เป็นเจ้าคุณด้วยความยึดถือ ก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นเล่นๆ เขาให้เป็นก็เป็นไปตามเรื่อง อย่าไปเป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่น ไปไหนก็อย่าแบกพัดไป หรือไม่เอายศเอาอย่างไป เขาให้นั่งตรงไหนก็ได้ เขาให้ฉันอะไรก็ได้ นอนตรงไหนก็ได้ ไม่เอาเจ้าคุณไป เอารถอะไรมารับก็ได้ นั่งได้ทั้งนั้น ๔ ล้ออะไรก็ไปได้ เครื่องสตาร์ทติดไปได้ มันก็ไม่ยุ่ง บางองค์ไม่อย่างนั้น พอเขาเอารถจี๊ปมารับ บางทีพอเรียบร้อย พอเห็นรถจี๊ป “เอารถอะไรมารับเจ้าคุณ อาตมาไม่ไป” อ้าว แล้วกัน ก็เขามีเท่านั้น เขาไม่เอาเกวียนมารับก็ดีถมไปแล้ว หรือว่าเอาควายมาให้นั่ง ถ้าเขาเอาควายมาก็ต้องไป ไปแล้วก็ต้องนั่งให้สบายใจว่า เออ ดีเหมือนกันขี่ควายเสียบ้าง เจ้าคุณนั่งควายก็ดีเหมือนกัน นั่งให้สบาย อย่าไปนั่งกลุ้มใจ เป็นทุกข์
คราวหนึ่งไปเทศน์พัทลุง ไกลนอกเมือง เขาบอกว่าวันนี้จะพาเจ้าคุณกลับเข้าเมืองด้วยช้าง เออ! แหมดีๆ ฉันอยากจะนั่งช้างมานานแล้ว ไม่มีโอกาสจะนั่ง ลองนั่งหน่อย ไม่สบายเลยโยม มันปวดไปหมดทั้งตัว ปวดแขน ปวดขา ปวดหลัง ปวด มันคือเกร็ง เครียดๆ นั่งยันอยู่อย่างนี้ พอช้างลงในคลอง ยันไว้ พอช้างขึ้นยันไว้อีก อุ๊ย ปวดหมด ปวด ๓ วัน บอกว่า เข็ดแล้วเรื่อง ช้าง ไม่ไหว เขาว่าคนขี่ช้างมีบุญ ไม่ใช่ มีบาป ขึ้นไปนั่ง ขึ้นไปนั่งสัปคับข้างบน สูงด้วย ต้องคอยจับเดี๋ยวมันหล่นลงไป ขืนหล่นลงไป ดังอึกเลยนะ ลำบาก ช้างมันก็เดินค่อยๆ มันเดินน่าดูแต่ว่ามันใหญ่ วุบๆ ๆ เราก็ต้องไปตามช้าง วุบแวบ วุบแวบไป โอย ไม่สนุกเลย ทีเดียว มีประสบการณ์ทีเดียวเรื่องช้างไม่ไหว ม้าก็เคยเหมือนกัน เคยขี่ม้าไม่ไหวเหมือนกัน ไปลุมพินี ไปอินเดียครั้งแรก อันนี้มันไม่มีถนนตอนนั้น ถนนเขาเพิ่งสร้าง หลวงพ่อไปก่อนถนน ไปลงสถานีหนองก้า (56.49) แล้วก็ท่าน …… (56.51) เอาม้ามาให้ ๒ ตัว มีคนนำ จูงม้า ไปได้สัก ๓ - ๔ กิโล บอกไม่ไหวปวดขาจะตาย มันปวดหน้าขา นั่งม้านี่ อานอะไรมันก็ไม่ดี มันม้าแค่เล็กๆ อาตมาบอกไม่ไหว ฉันเดินดีกว่า แล้วก็ให้คนจูงม้าเดินนำไป
เดินไปตั้งแต่ ๗ โมงเช้า ไปถึงลุมพินี เที่ยงครึ่ง ไม่ได้ฉันข้าววันนั้น ได้กินถั่ว เพราะว่าซื้อถั่วลิสง ซื้อใส่ห่อไป เดินก็ (ขออภัย) ว่าไปเรื่อยๆ เดินเคี้ยวถั่วมันๆ ไปเรื่อยๆ พอไปถึงลุมพินีก็ไม่ได้เรื่องแล้ว แขกที่เฝ้าสถานที่เขาดี เขาต้มน้ำชาถวาย แล้วก็เดินชมเมืองกราบไหว้ ระลึกถึงเจ้าชายสิทธิถัตถะ พระพุทธเจ้าแล้วเดินทางกลับ ไอ้ขากลับมันเหนื่อยกว่าขาไป ช้ากว่า กลับมาถึงวัดที่พัก ๒ ทุ่ม จะไปอาบน้ำมันเย็นเหลือเกิน หนาว หนาวๆ แถวนั้นมันหนาวมาก ตักน้ำขึ้นมาล้างเท้าขนลุกเกรียว ตัวสั่น อุ๊ย ไม่ไหวเลยไม่ต้องอาบ ไปนอนดีกว่า เข้ากุฏิปิดประตูหน้าต่าง นอนเท่านั้นเอง เราก็ต้องไปตามที่เขาจัดให้ ต้องพอใจ มันเรื่องอะไรที่จะนั่งเป็นทุกข์ไปบนหลังช้าง หลังม้า หรือนั่งเป็นทุกข์ ไปในรถจี๊ป นั่งรถจี๊ป เออ! ดีเหมือนกัน รถอย่างนี้มันโขยก สบายใจ ไปได้ ไม่ถือ ก็อะไรก็ได้ ของฉันอะไรก็ได้ ไม่ถืออย่างนั้น สบาย ไปไหนอย่าเอาตัวเข้าไป เอาแต่ธรรมะไปแล้วก็สบาย ถ้าเราเอาตัวไปแล้วก็เป็นทุกข์ ตัวใหญ่ทุกข์มาก ตัวเล็กทุกข์น้อย ถ้ามีตัวแล้วมันทุกข์ ถ้าไม่มีตัวก็ไม่ทุกข์เลย ทำอะไรได้สบายๆ หลักการมันเป็นอย่างนั้น ก็พอดีหมดเวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
- ปาฐกถาธรรมประจำอาทิตย์ที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๒