แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านที่มาประชุมกัน นั่ง ณ ที่ใดก็ตามจงอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
ขณะนี้คณะกรรมการทำงานธรรมสมโภช คือ งานฉลองอายุท่านเจ้าคุณพุทธทาสที่ไชยา ซึ่งจะทำในวันที่ ๒๕ ๒๖ ๒๗ เดือนพฤษภาคม ข้างหน้านี้ กำลังไปเที่ยวแสดงปาฐกถา แสดงนิทรรศการตามวิทยาลัยครูต่างๆ ทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ ขณะนี้แสดงอยู่ที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม แล้วก็จะไปวิทยาลัยครูพระนคร ส่วนที่ออกไปภาคอื่นก็ออกไปแล้ว เลื่อนไปเรื่อยๆ แต่นี่ทางวิทยาลัยครู เขาอยากรู้ประวัติของท่านเจ้าคุณพุทธทาส ไม่มีเทป แล้วก็ไม่มีหนังสือ สำหรับที่จะเรียนจะรู้ เลยบอกให้อาตมาช่วยปาฐกถา เรื่องประวัติของท่านเจ้าคุณพุทธทาส เรียกว่าเรื่องท่านพุทธทาสในงานของท่าน ให้ได้อัดเป็นเทป เพื่อส่งไปให้คนได้ฟังกัน ออกเป็นหนังสือก็จะได้เอาไปอ่านด้วย เพราะฉะนั้นในวันนี้ก็จะพูดเรื่องนี้ให้ญาติโยมทั้งหลายฟังไปด้วย แล้วจะได้อัดเป็นเทป ถอดพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อแพร่หลายต่อไป
ชีวิตของท่านพุทธทาส หรือพระเทพวิสุทธิเมธี ตามสมณศักดิ์ท่านได้รับสมณศักดิ์ครั้งแรกเป็นพระครู เรียกเป็นพระครู ชื่อว่าพระครูอินทปัญญาจารย์ ตั้งชื่อตามฉายาของท่าน เพราะฉายาของท่านชื่ออินทปัญโญ เลยให้เป็นพระครูอินทปัญญาจารย์ ต่อมาก็ได้เลื่อนเป็นเจ้าคุณชื่อพระอริยกวี หมายความว่าเป็นนักคิดนักเขียนในทางที่ประเสริฐ ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าชื่อพระอริยกวี ต่อมาก็เปลี่ยนเลื่อนชั้นเป็นท่านราช ชื่อพระราชชัยกวี ก็หมายความว่าเป็นนักปราชญ์ของไชยานั่นเอง แล้วก็ต่อมาเลื่อนเป็นชั้นเทพเรียกว่าพระเทพวิสุทธิเมธี เป็นชั้นเทพนี่เป็นมาหลายปีแล้ว แต่ว่าท่านจะไม่ค่อยเซ็นชื่อตามสมณศักดิ์ เวลาเขียนจดหมายติดต่อกับใคร ถ้าไม่ใช่เรื่องราชการแล้ว ท่านมักจะใช้ชื่อว่าพุทธทาสอินทปัญโญเสมอมา ชื่อสมณศักดิ์นี้จะใช้เมื่อติดต่อกับราชการเท่านั้น ก็ราชการนี้จะต้องใช้ชื่อสมณศักดิ์ ท่านก็ใช้ แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นแล้วท่านไม่ค่อยใช้ ท่านชอบใช้ชื่อพุทธทาส เพราะชื่อพุทธทาสนี้สูงกว่าสมณศักดิ์ สูงอย่างไร เพราะก่อนที่จะชื่อนี้ ชื่อเดิมของท่านนี้ชื่อ เงื่อม นามสกุล พานิช เป็นสกุลพ่อค้า ที่ตลาดพุมเวียง ไชยานั่นเอง
ท่านเป็นลูกหัวปลีของครอบครัวมีน้องชายคนหนึ่ง แล้วก็มีน้องสาวอีกคนหนึ่ง รวมสามคนด้วยกัน ครอบครัวของท่านนี้เป็นครอบครัวที่ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสัมมาทิฐิบุคคล ค้าขายก็ค้าแต่ในเรื่องที่สุจริต ไม่ได้ค้าเครื่องดองของเมา หรือเรื่องอันใดอื่นที่ผิดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อาตมาได้พบคุณแม่ของท่าน คือ คุณโยมเคลื่อน ก็ดูเป็นคนใจบุญสุนทานใจดีใจงาม หน้าคล้ายกับท่านเจ้าคุณมาก ดวงหน้าท่านเจ้าคุณนี่ ถ้าท่านนั่งปกติละก็ คุณสมัคร บุราวาศ เคยเขียนไว้ คุณสมัครแกไปเที่ยวสวนโมกข์ แล้วก็มาเขียนเรื่องสวนโมกข์ไว้ มีเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า ท่านพุทธทาสถ้านั่งอยู่ในสภาพปกติดวงหน้าเหมือนพระพุทธรูปสมัยศรีวิชัยที่เขาปั้นไว้ในวัดพระธาตุไชยา อาตมาแม้จะคุ้นเคยไม่เคยคิดอย่างนั้น แต่ว่าวันหนึ่งไปที่วัดพระธาตุ ท่านเจ้าคุณไปด้วย แล้วก็ไปแอบดูพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่อยู่มุมของวิหารคด เหมือนกันเปี๊ยบเลยทีเดียว หน้าเหมือนกันเลยทีเดียว เลยบอกว่าคุณสมัครนี่ คุณสมัคร บุราวาศ แกตายไปแล้ว แกช่างมองช่างคิดช่างเขียน ว่าหน้าเหมือนพระพุทธรูปศรีวิชัย ที่เขาปั้นไว้ที่วัดพระธาตุ เหมือนจริงๆ พระองค์นั้นก็ยังอยู่
ชีวิตของท่านสมัยเป็นชาวบ้านนี่ ท่านก็เรียนหนังสือไม่มากหรอก คือ เรียนที่อำเภอนั้นแหล่ะได้เพียงชั้น ม.๓ สมัยนั้น นักเรียนรุ่นเดียวของท่านนี่ก็เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ก็มี เช่น อดีตอธิบดีสรรพากร คุณหิรัญ สูตะบุตร เรียนพร้อมกับท่าน หลวงอรรถอะไรผู้แทนจังหวัดตราดนี่ก็เรียนพร้อมกับท่าน อันนี้ก็หลายคนเรียนรุ่นเดียวกัน ในสมัยนั้นท่านได้เพียง ม.๓ แล้วก็ออกไปประกอบอาชีพค้าขายตามอาชีพของครอบครัว ท่านเคยนำเรือไปบ้านดอน สมัยนั้นไชยาเข้าไปบ้านดอนเขาไปเรือใบกัน ไปเรือใบก็นำเรือใบไปบ้านดอน รับซื้อสินค้ากลับมาก็นำสินค้ากลับมา เดินเรือโดยมากเขาเดินกลางคืน เช้ามาถึงไชยาพอดี เวลาไปไปกลางวัน ซื้อข้าวซื้อของลงเรือเสร็จ พอค่ำก็ชักใบออก ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์แต่ว่าใช้เรือใบ อาตมาไปไชยาครั้งแรกกับท่านเจ้าคุณราชญานกวี หรือ บช. เขมาภิรัตน์ ที่เป็นเจ้าคณะจังหวัดชุมพร ไปครั้งแรกก็ไปเรือเหมือนกันไปเรือใบ จากบ้านดอนไชยาก็นั่งหลับไปบ้างตื่นไปบ้างในเรือ กว่าจะถึงก็สว่างพอดี แล้วขึ้นจากเรือไป ท่านเจ้าคุณท่านเมื่อเป็นคฤหัสถ์ ท่านก็ทำหน้าที่ค้าขายไปตามเรื่อง เวลาอายุครบ ๒๐ ก็จะบวชในพระพุทธศาสนาตามหน้าที่ของชายไทย เวลาจะบวชนี่ท่านสั่งว่า บัญน๊ำบัญชีอะไรเก็บไว้ก่อน ใครอย่าไปยุ่ง คือ ท่านนึกว่าจะบวชเพียง ๓ เดือนนั่นเอง ออกพรรษาแล้วก็จะสึกมาทำบัญน๊ำบัญชีต่อทำการค้าขายต่อไป
แต่ว่าเมื่อบวชเข้าไปแล้วได้เรียนนักธรรมชั้นตรีในพรรษานั้น ก็ต้องอยู่จนสอบนักธรรม สมัยก่อนนี่เขาสอบนักธรรมนี่ไปสอบเอาเดือนอ้ายข้างแรม คือ แรม ๒ ค่ำ ออกพรรษาแล้วก็อยู่เรื่อยไปจนสอบนักธรรม สอบนักธรรมก็ปรากฏว่าสอบได้ใจที่คิดจะสึกก็ยังไม่มีเลยอยู่ต่อไป เมื่ออยู่ต่อไปท่านก็เริ่มเป็นนักสอนแล้ว คือ กลางคืนนี่ให้คนตีกลองในวัด แล้ววัดก็อยู่ใกล้บ้าน ตีกลองเรียกคนให้มาประชุมกัน แล้วท่านก็เทศน์ให้ฟังทุกคืน เป็นการเทศน์แบบง่ายๆ ไม่เหมือนกับที่เขาเทศน์กันอยู่ก่อน ชาวบ้านก็ชอบอกชอบใจพูดกันว่า คุณเงื่อมนี่เทศน์ฟังง่ายดี ท่านก็เทศน์ไปเรื่อยๆ พอเข้าพรรษาสอง ก็เรียนนักธรรมชั้นโท สอบนักธรรมโทได้พรรษาสามก็เรียนนักธรรมชั้นเอก สอบนักธรรมชั้นเอกได้ แล้วพรรษาต่อมาก็มาเป็นครูสอนนักธรรมอยู่วัดพระธาตุไชยา ท่านพระครูเจ้าคณะอำเภอนิมนต์ให้มาสอน เวลาท่านสอนนี่ ท่านพระครูท่านบอกว่า คุณเงื่อมแกสอนนี่เปลืองชอล์กเหลือเกิน เพราะเขียนเรื่อยเขียนพูดไปเขียนไปให้คนสนใจแล้วก็สอนดีท่านพระครูเองท่านบอกว่า ผมนี่เรียนได้แล้ว แต่ก็ไปแอบฟังข้างหลังพระนักเรียน ฟังเพลินไป ทุกวันต้องไปเรียนด้วย ฟังเพลินไปเพราะว่าแกสอนทำความเข้าใจได้ดีมาก ผลการสอบในรอบปีนั้น พระนักเรียนนักธรรมจำนวน ๓๐ รูป สอบได้ ๒๙ รูป ตกองค์หนึ่ง นับว่าแย่เต็มที องค์นั้นเข็ญไม่ไหวก็เลยตกไปองค์หนึ่ง เพราะว่าสอนนักเรียนได้มาก คุณน้าหงวน เศรษฐภักดี อยู่ที่บ้านดอนเป็นญาติกับท่านญาติกับฝ่ายมารดา รู้ว่าท่านสอนนักธรรมได้ดี โรงเรียนนักธรรมนั้นคุณน้าหงวนนั้นเป็นผู้สร้าง ท่านก็ดีใจ ซื้อพิมพ์ดีดมาถวายเครื่อง พิมพ์ดีดสมัยก่อนเรียก สมิทพรีเมียร์ ท่านใช้อยู่จนกระทั่งบัดนี้พิมพ์ดีดเครื่องนั้นใช้มาห้าสิบกว่าปีหกสิบปีแล้วก็ยังใช้อยู่ เวลาเขียนจดหมายถึงใครแม้เป็นไปรษณียบัตรก็ตัวพิมพ์ดีดก็ใช้พิมพ์ดีดเครื่องนั้น ยังไม่มีใครซื้อพิมพ์ดีดสมัยใหม่ไปถวายท่าน ท่านก็ใช้เครื่องนั้น แสดงว่าท่านถนอมของเหลือเกิน ใช้อย่างระมัดระวังไม่เสียไม่หาย มาเป็นเวลาจนกระทั่งบัดนี้ก็ได้รับรางวัล ทีนี้เมื่อรับรางวัลแล้ว
วันหนึ่งท่านพระครูกับท่านพุทธทาสลงไปอาบน้ำในคลองหลังวัด เดือนหงาย อาบน้ำแล้วก็คุยกันไปหลายเรื่องหลายอย่าง เช่น คุยเรื่องโลกแบนโลกกลมกัน ท่านก็ถามไอ้โลกมันหมุนมันหมุนอย่างไร ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มันเป็นอย่างไร มันมีอาการอย่างไร พอดีมีมะพร้าวกระรอกเจาะมันลอยมาส่วนหนึ่ง ท่านก็ยกมาถือไว้ นี่ลูกโลกนี้เป็นโลก สมมุติว่าประเทศไทยอยู่ตรงนี้ ท่านก็หมุนไป ทีนี้เวลาไปแสงตะวันก็ส่องเป็นวงโค้งมา พอไปใกล้แสงตะวันก็สว่าง พอไปตรงก็เที่ยงก็อธิบายให้ท่านเข้าใจ ท่านฟังแล้วเข้าใจหายสงสัยเลย คุยกันต่อไปว่า ท่านถามว่า คุณเงื่อมคุณนี่มีความคิดอะไรในการใช้ชีวิต ท่านก็บอกว่า ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุดที่จะมากได้ เลยท่านถามต่อไปว่า คุณคิดจะสึกหรือเปล่า ก็ยังคิดอยู่เหมือนกันเพราะว่ายี่เกย น้องชายท่าน คือ คุณธรรมทาส นี่ชื่อยี่เกย ยี่เกยเขาจะบวชบ้าง ถ้ายี่เกยบวชผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านทำงานค้าขาย ทีนี้ก็ ท่านก็ถามว่า คุณสึกแล้วจะไปทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์นี่จะทำได้อย่างไร คนมีครอบครัวมันต้องคิดถึงครอบครัว คิดถึงลูก คิดถึงเมีย อะไรต่างๆ เงินทองทีได้จะเอาไปใช้เสียหมดมันก็ไม่ได้ ถ้าจะทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มากนี่ มันต้องเป็นพระ เหมือนพระพุทธเจ้า ท่านทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ท่านไม่ได้อยู่ในวังท่าออกมาอยู่ในป่าจึงทำประโยชน์ได้มาก คุยไปคุยมาท่านก็บอก ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องสึก ยี่เกยมันไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะว่ามันอยู่เหมือนพระอยู่แล้ว ชีวิตแกคล้ายพระ เป็นคนมักน้อยสันโดษแต่งตัวง่ายๆ ไม่ค่อยมีเรื่องอะไร ตัดผมเกรียนตลอดเวลา อาบน้ำก็ไม่ค่อยใช้สบู่กับเขาหรอก ถ้าใช้ก็ใช้สบู่ซันไลท์ ไม่ใช้สบู่อื่น ปกติจะอย่างนั้น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เที่ยวไม่เตร่ ทำงานในกิจการโรงเรียนอะไรตามเรื่องของแก อยู่เหมือนพระ ท่านก็เลยว่าไม่ต้องบวช เลยไม่บวชจนกระทั่งบัดนี้ พี่ชายบวชแทนเขามาตลอดเวลา
ผลที่สุดท่านก็คุยกับพระครูว่า ถ้าจะอยู่ต่อไปความรู้นักธรรมชั้นเอกมันไม่พอ ผมจะต้องไปเรียนบาลีที่กรุงเทพฯ ก็เลยไป ตกลงกันว่าจะไปเรียนบาลี ก็เลยมาอยู่กรุงเทพฯ มาอยู่วัดปทุมคงคา ที่กรุงเทพฯ วัดปทุมคงคา เพราะว่าพระไชยามาอยู่ก่อนแล้วองค์หนึ่ง คือ ท่านพระครูไชยาสังฆปราโมช (14.59 ไม่ยืนยันตัวสะกด) ทีหลังก็เป็นเจ้าคุณเหมือนกัน มหากลั่นมาอยู่ก่อน ท่านก็เลยมาอยู่กับท่านมหากลั่น เรียนหนังสือที่นั่น ก็เรียนด้วยความตั้งใจ นิสัยท่านเจ้าคุณนั้น ทำอะไรต้องทำอย่างดีประณีตเรียบร้อย นั่นเป็นนิสัย ท่านละเอียดลออในเรื่องต่างๆ ทำอะไรก็ทำดีทั้งนั้น ไม่ไม่จะทำเล่นๆ ก็เรียนอย่างดี สอบได้ประโยค ๓ ด้าน แล้วก็เรียนต่ออีกสอบประโยค ๔ ไม่ได้ พอไม่ได้ท่านก็นึกว่ามันพอแล้วสำหรับเรียนต่อ เคยเขียนจดหมายไปถึงคุณธรรมทาสน้องชาย บอกว่าสำหรับการเรียนนี่นึกว่าพอแล้ว พอมีความรู้จะอ่านหนังสือได้ก็พอแล้ว เราไม่ต้องการเป็นเปรียญสูงๆ อะไร ใจหนึ่งคิดว่าจะไปประเทศอินเดีย อยากจะไปดูฤๅษีที่เขาปฏิบัติภาวนา แล้วอยากจะเลยไปประเทศทิเบต ไปดูพวกลามะว่าเขาอยู่กันอย่างไร ปฏิบัติธรรมอย่างไร จะได้เป็นเครื่องประกอบการศึกษาในเรื่องนี้ แต่ว่าต่อมาก็เขียนจดหมายไปอีกฉบับหนึ่ง บอกว่าความคิดที่จะไปต่างประเทศเพื่อดูงานการพระศาสนานั้นมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีความจำเป็น คิดใหม่ว่าจะกลับบ้านแล้วจะออกจากกรุงเทพฯ กลับบ้าน แล้วจะไปทำอะไรอะไรที่บ้านของเราดีกว่า ก็เลยออกจากกรุงเทพฯ กลับไปไชยาไปพักอยู่ที่วัดใหม่ อันเป็นวัดที่บรรพบุรุษซ่อมแซมบำรุงกันอยู่ตลอดมา
วันหนึ่งก็ชวนอุบาสกแก่ๆ หลายคนด้วยกัน บอกว่ามา ไปหาที่กันหน่อย เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ก็เลยไปออกมานอกเขตอำเภอ ก็ไม่ไกลจากตลาดเท่าใดประมาณสักกิโลครึ่ง ที่นั่นมันมีวัดร้างอยู่วัดหนึ่งเรียกว่าวัดตระพังจิก ร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น มีเจ้าพระยาคนหนึ่ง ชื่อเจ้าพระยากลาโหม นามสกุลบุนนาค ได้รับคำสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ออกไปสักเลข ที่จังหวัดไชยา เมื่อก่อนนี้สุราษฎร์ไม่เป็นจังหวัดหรอก จังหวัดมันอยู่ไชยาเขาเรียกเมืองไชยา บ้านดอนยังเป็นตลาดธรรมดา ไม่ได้เป็นตัวเมือง อันนี้การไปสักเลขนี่ท่านทำงานช้าไปหน่อย กลัวพระราชอาญาเลยหาเรื่องสร้างวัด จะได้มาแก้ตัวว่าถ้าในหลวงถ้าว่าทำไมไปทำงานช้าจะได้กราบทูลว่า เราะไปสร้างวัดอยู่ถวายพระกุศลไปด้วยในตัว สร้างด้วยอำนาจเผด็จการเลยทีเดียว เกณฑ์ช่างมาตั้งแต่สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง ชุมพร หลังสวน เอามาหมด ใครทำเรื่องใดต้องทำเองนั้น ทำแล้วเอามาเข้า ทำ ๓ เดือนเสร็จเลยวัดนั้นโบสถ์สวยงาม ศาลา กุฏิ รั้ววัด ทำอย่างดี เรียบร้อย คนเก่าๆ แก่ๆ เล่าให้ท่านเจ้าคุณฟังว่า นายช่างถูกเฆี่ยนหลายคนเพราะทำงานช้าเลยเฆี่ยนเลย เด็กหนุ่มๆ ที่บวชเป็นพระไปอยู่ไชยา ท่านเจ้าคุณมักจะพาไปดูวัดนี้ แล้วก็บอกว่านี่เผด็จการมันดี ทำอะไรได้รวดเร็ว ดีกว่าประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าท่านชอบระบบเผด็จการ แต่ว่าท่านชอบว่าทำอะไรมันต้องเด็ดขาด มันต้องรวดเร็ว ชี้ให้ดูอย่างนั้นเสมอ ทีนี้เจ้าคณะจังหวัดเมืองไชยา อยู่ที่วัดตระพังจิก พอเขาสร้างวัดนี้ชื่อว่าวัดสมุหนิมิต (19.10 ไม่ยืนยันตัวสะกด) ก็เลยย้ายเจ้าคณะจังหวัดมาอยู่วัดก็เลยร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ต้นยางขึ้นเต็มไปทั้งวัด อาณาเขตกว้างขวางประมาณ ๗๐ กว่าไร่เป็นป่าดีมาก ท่านก็เลยไปดูดู นี่แหล่ะเอาตรงนี้แหล่ะ เป็นที่สำหรับส่งเสริมการปฏิบัติธรรม แล้วก็ท่านก็ย้ายจากวัดใหม่มาอยู่ที่นั่น
ทางเข้าประตูวัดนี่ก็ถางทำเป็นทางเข้าไปหน่อย แล้วก็มีประตูใส่กุญแจ กั้นลวดหนามด้านหน้าเพื่อไม่ให้คนเข้าไปรบกวน แล้วก็ท่านก็อยู่ที่นั้น เช้าก็ออกไปบิณฑบาต คนอิสลามที่พุมเรียงเขาพูดซุปซิบกันว่า นั่นแหล่ะพระองค์นั้นแกบ้า ก็เลยเอาไปกักตัวไว้ในป่าองค์เดียว ไม่ให้ใครรบกวน หาว่าเป็นพระบ้าไปเลย ไม่ให้ใครรบกวน ท่านก็อยู่อย่างนั้น อยู่องค์เดียว พรรษาแกนี่อยู่องค์เดียวไม่มีเพื่อน อยู่ที่โบสถ์เก่า คือ วัดนั้นมีโบสถ์เก่า มีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่ง พระพุทธรูปองค์นี้ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ใครแต่งงานแล้วไม่มีลูกให้ไปขอกับหลวงพ่อนั้นได้ คนไปบนบานขอลูกขออะไรกันอยู่ กว่าท่านไปอยู่หลังคาโบสถ์มันไม่มีเลยไปที่กรุบ้านดอน ไปหาคุณน้าสงวนนั่นแหล่ะ บอกว่า น้าฉันไปอยู่วัดในป่าโบสถ์มันไม่มีสังกะสีมุงหลังคาขอสังกะสีหน่อย น้าหงวนแกบ่นว่าไง แกว่า คุณนี่มันเป็นพระแปลกวัดดีดีในเมืองไม่อยู่จะไปอยู่วัดในป่ามันเรื่องอะไร ดุเอาด้วยซ้ำไป แต่ว่าก็ให้นั่นแหล่ะให้มา คือ แกไม่รู้ว่าอยู่ทำไมอยู่เพื่ออะไรอยู่ในเมืองดีกว่า วัดดีดี กุฏิใหญ่ๆ ไม่อยู่ ไปอยู่ในป่ามันเรื่องอะไร แต่ก็ซื้อสังกะสีให้เรียบร้อย ก็เลยเอามามุงเข้า แล้วทำหลังคาออกไปข้างหลังหน่อยเป็นที่พัก ต่อมาก็ไปสร้างกุฏิหลังเล็กๆ ขนาด ๒ เมตร คูณ ๓ เมตรครึ่ง อะไรเงี้ย ริมสระน้ำเก่าอยู่ในกุฏินั้นข้างบนเป็นหิ้งวางหนังสือ แล้วเอาไม้ไปใส่บานพับเป็นโต๊ะ ไม่ใช้ก็ห้อยลงไป ถ้าใช้ก็ยกขึ้นมาค้ำเข้าเป็นโต๊ะเขียนหนังสือ ตะเกียงก็ใช้ตะเกียงรั้ว สมัยนั้นไฟฟ้าไม่มีใช้ตะเกียงรั้ว
ทีหลังมาคนที่ไปอยู่ที่นั่น ก็บุญเอกก็เคยไปอยู่ที่นั่น ไปบอกว่าตะเกียงอย่างนี้ทำอะไรได้ า ตะเกียงนี้เขียนหนังสือให้พวกคุณอ่านกี่เล่มแล้วก็ไม่รู้ เขียนหนังสือมาให้อ่านกันหลายเล่มแล้ว ก็เลยอยู่ในวัดนั้นเงียบๆ คนเดียว ต่อมาก็มีพระไปอยู่ด้วยสองสามรูป อาตมาก็ไปอยู่ด้วยพรรษาหนึ่งที่วัดนั้น อยู่กันท่านเจ้าคุณพระราชญาณกวีที่หลังสวนก็ไปอยู่กันด้วย การเป็นอยู่ในวัดนั้นปกติเช้าขึ้นก็ไปบิณฑบาตเอามาฉัน ขึ้นมานั่งฉันบนร้านทำเข้าบนต้นไม้บันไดขึ้นหน่อยแล้วก็นั่งฉันกันตรงนั้น ไอ้เวลาฉันนี่เป็นเวลาที่คุยธรรมะกันด้วย ต้องถกธรรมะกันเถียงธรรมะกัน อาตมานี่ไม่ค่อยเถียงกับใครนั่งฟัง ท่านเจ้าคุณกับท่านเจ้าคุณราชญาณกวี บช. เขมาภิรัตน์ นี่ถกกันทุกวัน บางทีก็เสียงดังเลย เจ้าคุณชุมพรเสียงดังขึ้นหน้าขึ้นตา เจ้าคุณท่านก็เฉยๆ คุยกันไปบางเรื่องก็ตกลงกัน บางก็ไม่ตกลงกัน ยกไว้ก่อน เย็นค่อยคุยกันใหม่ ตอนเย็นก็คุยกันอีก ตอนเย็นที่คุยกันนี้เพราะว่ามาดื่มน้ำปานะ ไม่ใช่น้ำส้ม ไม่ใช่น้ำหวาน น้ำร้อนนี่ต้มให้เดือด กามีอยู่ใบหนึ่งต้มจนดำเด็กมันไม่เคยขัดเลย เด็กมันก็ไม่ค่อยเต็มอยู่คนหนึ่งมารับใช้ ต้มเสร็จแล้วใส่อะไร ใบชุมเห็ด ใบชุมเห็ดใหญ่ไหม ใหญ่เท่านี่ เอามาย่างกับเปลวไฟให้มันเหี่ยวๆ หน่อย แล้วก็ใส่ลงในน้ำร้อนเอามาชงกับน้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายแดงกับน้ำร้อนนี่ฉันทุกวัน เย็นก็ต้องมานั่งฉันคุยธรรมะกันที่ลานดินใต้ต้นยางใหญ่ๆ คุยกันทุกวัน อยู่กันอย่างนั้นเป็นปกติ พอตกกลางคืนก็ไปกุฏิแห่งตน แห่งตน มาพบกันตอนเช้า พบกันตอนบ่ายสนทนาธรรมอะไรกันไปตามเรื่อง
คนยังไม่รู้ว่าท่านพุทธทาสทำอะไร ต่อมาก็ออกหนังสือพิมพ์รายตรีมาสชื่อว่า พุทธสาสนารายตรีมาส ค่าบำรุงปีละ ๔ บาท ก็ ๔ เล่ม เล่มละบาทเป็น ๔ บาท การทำหนังสือนี่ต้องมีโรงพิมพ์ มีแท่นพิมพ์เล็กๆ เขาเรียกเส้นคลิป เส้นคลิปนี่ก็ใช้กำลังคน ขออภัย คือ ใช้เท้าเหยียบ แป๊ก แป๊ก อยู่อย่างนั้น พิมพ์หนังสือทีละ ๒ หน้า ๒ หน้าใหญ่ๆ อย่างนี้ ทีละ ๒ หน้า แต่หน้ามันสั้นอย่างนี้ คุณธรรมทาสเป็นบรรณาธิการตรวจ เป็นหนังสือพิมพ์ออกเรียบร้อย ไม่มีอะไร ข้อเขียนทั้งหมดไม่มีใครเขียน ท่านเจ้าคุณท่านเขียนเอง แต่ว่าชื่อหลายชื่อ อินทปัญโญมั่ง พุทธทาสมั่ง ท่านางสังฆ์บ้าง สังคติเสนาบ้าง นามปากกาหลายอัน คนอ่านก็นึกว่าคนเขียนหลายคน แต่ความจริงก็คนเดียวเท่านั้นเอง แต่ว่าเขียนไปในรูปแปลกๆ มีแผนกปริยัติ ปฏิบัติอะไรสามสามตอน (25.30 เสียงไม่ชัดเจน) หนังสือนี่ทำเป็นวงล้อธรรมจักรหน้าปกเลยเป็นวงล้อธรรมจักรเต็มหน้าเลย เขียนว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ในหนังสือด้านในเขียนว่า ดูก่อนอ่านก่อน ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด ประพฤติตัวสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นได้ชื่อว่าสักการะเคารพนับถือตถาคตด้วยการบูชาอันสูงสุด แล้วก็ออกไป โดยมากแจก เอาเงินมาจากไหน คุณโยมให้ คุณคือคุณแม่ โยมเพื่อนเป็นผู้ให้ ลงทุนให้ ๔,๐๐๐ บาท สำหรับตั้งโรงพิมพ์พิมพ์หนังสืออะไรอะไร เพราะว่าคุณโยมนี่เชื่อในความสามารถของลูกชายว่าคงจะไม่ล้มเหลวทำงานจนสำเร็จ
ลงทุนให้ชั้นแรกแล้วก็ให้เรื่อยไป ให้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีคนอื่นช่วย ปีสองปีนี่ก็ยังไม่มีใครช่วย ท่านก็ทำงานของท่านไปตามเรื่อง อาตมาได้อ่านหนังสือพุทธสาสนาเมื่อพรรษาที่สอง ได้อ่านเมื่ออยู่นครศรีธรรมราช อ่านแล้วก็ชอบใจ ชอบใจในข้อเขียน ในคำปลุกใจเร้าอารมณ์ให้เกิดความรู้สึกนึกคิด ในด้านเสียสละเพื่อพระศาสนา ก็เรียกว่าได้อ่านหนังสือนั้นก็เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความคิดเหมือนกัน ให้เกิดความคิดจะทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังไม่มีโอกาสมาพบท่านเจ้าคุณ
แต่อยู่ต่อมา ก็ท่าน บช. เจ้าคุณหลังสวนนี่เคยเดินทางร่วมกันสมัย …… (27.27 เสียงไม่ชัดเจน) แล้วไปอยู่อินเดีย เขียนจดหมายมาจากอินเดียบอกว่า น้องท่านมาได้แล้วมีที่เรียนที่อยู่สบาย อาตมาก็ไปอินเดียไปทางเรือ ไประนองลงเรือ จากวิคตอเรียพอยด์ไปย่างกุ้ง ไปพักที่นั่นก่อน แล้วลงเรือต่อไปอินเดีย พอไปถึงย่างกุ้งก็ไปพบพระวัดที่เคยพัก ท่านสมภารถาม มาทำไม ท่าน บช. เขมาภิรัตน์ เขียนหนังสือมาให้ตามไปอินเดีย สมภารทำตาลุกเลยทีเดียว ไปอินเดียหรือ ท่าน บช. เขมาภิรัตน์ ลงเรือกลับเมืองไทยเมื่อวานนี้เอง อ้าวแล้วกัน ให้คนอื่นไปแต่ตัวกลับเมืองไทยเสียแล้ว แล้วจะไปอย่างไร ไปเที่ยวเดินเพ่นพ่านอยู่คนเดียวมันก็ไม่ได้ เลยก็ไปอยู่พักย่างกุ้งสามสี่วัน ขึ้นรถไฟมามะละแหม่ง ลงเรือกลับเมืองระนองขากลับนี่อาเจียนหมดท้องเลย คลื่นมันแรงฤดูมรสุมแล้วมรสุมมันตีเข้าข้างแคมเรือ คิดไปคิดมา อุ้ย! หมดเลย ตื่นเช้าไปซื้อน้ำเลมอนเนดดื่มเข้าไปขวดหนึ่งพอดื่มรู้สึกว่ามันลงหายไปถึงโน่นเลยท้องมันว่างอาเจียนหมดท้องเลย กลับมาถึงระนองท่านพระครูบอกว่า เฮ้อ! ท่านบุญชวนไปชุมพรเมื่อวานซืนนี่เอง เอ๊า! ตามไปชุมพร ไปเจอกันที่ชุมพร เจอกันแล้วก็เลยบอก เอ๊า! ปีนี้ไปจำพรรษาสวนโมกข์กันดีกว่า ก็เลยได้ไปดังที่กล่าว ได้ไปเจอทำความคุ้นเคยกัน ไปอยู่สวนโมกข์ด้วยกันในพรรษานั้น ชีวิตของท่านที่เข้าไปอยู่ในป่าเพื่ออะไร เพราะท่านมองเห็นว่าการพระพุทธศาสนานี่อ่อนแอมากไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ เรียนรู้แต่ไม่ปฏิบัติ ไม่มีใครทำจริงก็อยากจะฟื้นฟูในเรื่องนี้จึงเสียสละความสุขแบบอยู่วัดในบ้านไปอยู่ในป่า ก็พูดได้ว่าเป็นพระองค์แรกที่ริเริ่มในเรื่องนี้ขึ้นในปี ๒๔๗๕ ปีเดียวกับปีเปลี่ยนการปกครอง
ประวัติของคณะกรรมการไชยาหรือสวนโมกข์ตั้งต้นในวันเพ็ญวิสาขะ ปี ๒๔๗๕ การเปลี่ยนการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นวันที่ ๒๔ มิถุนา ท่านเริ่มงานก่อน หนึ่งปฏิรูป จะเรียกว่าปฏิวัติในเรื่องกิจกรรมทางพระศาสนาก็ได้ แล้วก็เขียนหนังสือเร่งเร้าอารมณ์ บางทีก็เขียนเป็นกลอน อ่านแล้วก็น่าคิดเหมือนกัน เรื่องการจำศีล เรื่องเสือจำศีลอะไรต่างๆ อ่านเพื่อจะสะกิดให้เกิดความคิด แต่ว่าพวกพระเราไม่ค่อยอ่าน ไม่ค่อยรู้ในกิจการของท่าน มีคฤหัสถ์เขารู้กัน คนกรุงเทพฯ ที่รู้เรื่องแล้วไปช่วยเหลือชุดแรกนี่เป็นคณะผู้พิพากษา พระ-ยา-รัด-ตรี-ทำ-มะ-ปะ-คัน พระ-ดุน-ละ-ยะ-ภาพ-ภู-วะ-มัน (30.40 ไม่ยืนยันตัวสะกด) คุณสัญญา ธรรมศักดิ์ แล้วก็คนอื่นอีกหลายคน เป็นพวกไปจากกรุงเทพฯ ได้ไปช่วยเหลือ เจ้าคุณรัตตรีนี่ถวายน้ำตาลทรายแดงเดือนละ ๒ ปี๊บ สำหรับให้พระได้ฉันตอนเย็น แล้วพอออกพรรษานี่ส่งผ้าไตรไปถวายครบจำนวนพระ ไม่ทอดกฐินแต่ส่งไปถวายเท่านั้นเอง ทุกปีเสมอมาจนท่านสิ้นอายุของท่าน ส่งให้ เรียกว่าเป็นโยมรุ่นแรก รุ่นนั้นก็ไปกันเกือบหมดแล้วยังเหลือคุณสัญญา ที่ยังเป็นโยมผู้ซื่อสัตย์อยู่คนเดียว ยังช่วยเหลืออยู่บ้างในเรื่องกิจกรรมต่างๆ ต่อมาก็มีคนรุ่นอื่นเข้ามาไปชดเชยกัน
กำลังส่วนมากก็ได้ไปจากกรุงเทพฯ เมื่อท่านเข้าไปอยู่ในสวนนั้น ท่านก็เก็บตัวตลอดเวลา ไม่รับนิมนต์ทั้งนั้น ใครจะนิมนต์ไปทำบุญที่บ้าน ไปงานศพ ไปเทศน์ตามวัดต่างๆ เขามีงานประจำปี ท่านไม่ยอมรับไม่ยอมไป เคยถามว่า ทำไมพี่ท่านไม่ไปในกิจนิมนต์ ท่านบอกว่า กิจนิมนต์ประเภทอย่างนั้นมีพระอื่นทำได้ แต่เรื่องที่ผมทำคนอื่นทำไม่ได้เรื่องนี้มันสำคัญกว่า คือ เรื่องการศึกษาค้นคว้าความรู้ที่ละเอียดอ่อนในพระพุทธศาสนา เอามาให้คนได้รู้ได้เข้าใจนี่มันสำคัญกว่า ท่านจึงสละเวลาทำแต่เรื่องนั้น ถ้าจะแสดงธรรมก็ต้องมาแสดงกรุงเทพฯ เข้ากรุงเทพฯ ก็มาเพื่อแสดงธรรม จำได้ว่ามาแสดงธรรมกรุงเทพฯ ครั้งแรกนี่ เมื่อปี พ.ศ. ไม่ต้องเอา แต่ว่ามาแสดงที่มหามงกุฎหน้าวัดบวรนิเวศน์แสดงเรื่อง วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม คนฟังที่สำคัญในรอบนั้นก็มีท่านปรีดี พนมยงค์ กับท่านผู้หญิงพูนสุข ไปนั่งฟังด้วย แล้วก็มีคนอื่นๆ นั่งฟังกันไป ท่านนั่งเทศน์บนธรรมมาสที่เตี้ยๆ เทศน์เป็นเวลาตั้ง ๒ ชั่วโมง อาตมาก็ไปฟังด้วยเหมือนกัน เพราะตอนนั้นมาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว ได้ไปฟังเหมือนกัน นี่เป็นครั้งแรก ครั้งที่ ๒ ก็มาเทศน์ที่พุทธสมาคมอีกเหมือนกัน แต่พูดเรื่องอาณาจักรแห่งสัจธรรม พอครั้งที่ ๓ นี่ ฮือฮากันใหญ่เลย พูดว่า ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ภูเขาวิถีพุทธธรรมนี่พูดแรง ท่านบอกว่าแม้พระพุทธรูปก็ขวางอยู่เหมือนกัน ขวางไม่ให้คนเข้าถึงพุทธธรรมที่แท้จริง ท่านพูดในแง่นั้น คนฟังนี้ก็ เอ๊! ท่านพุทธทาสนี่เป็นมิจฉาทิฐิ ดูหมิ่นพระพุทธรูปไม่นับถือพระพุทธรูป เขาว่าไป ท่านก็ไม่ว่าอะไร ฟังแล้วก็เฉยๆ เงียบๆ เขาก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปตามเรื่อง ต่อมาก็เทศน์เรื่องอื่นอีกเรื่องที่ฮือฮากันมากอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง สุญญตา มาเทศน์เรื่องสุญญตานี่ฮือฮามาก มรว.คึกฤทธิ์นี่คัดค้านเอาหัวชนฝาเลยทีเดียว ว่าไม่ใช่คำสอนในคัมภีร์พุทธศาสนา เป็นของพวกมหายาน แล้วบอกว่าจิตมนุษย์มันเล่าไม่ได้ ท่านพูดเอาตัวท่านเป็นเครื่องเปรียบก็ท่านว่าไม่เป็น แล้วก็พูดไปอย่างนั้น วันหลังไปพบท่านเจ้าคุณก็เลยคุยกับอาตมาว่า เมื่อก่อนนี้ไอ้เรื่องสุญญตานึกว่าจะใช้เวลาสัก ๒๐ ปี คนจะเข้าใจ แต่เวลานี้คงไม่ถึงแล้ว เพราะว่าคุณคึกฤทธิ์เขามาช่วยมากเลย ช่วยมาก ช่วยวิพากษ์วิจารณ์ให้คนสนใจ คนจะได้อ่านได้ศึกษาหนังสือพิมพ์หลายฉบับก็ช่วย กระตุ้นให้คนศึกษา ทำให้สบายใจ ไม่ได้โกรธอะไร เขาว่าก็ไม่ว่ากัน แต่ว่าทำให้สบายใจว่าคงจะไปได้ไว้ขึ้น
พูดอีกเรื่องหนึ่งก็ฮือฮาเหมือนกัน เรื่องว่า อภิธรรมคืออะไร เรื่องนี้ฮือฮามาก โดยเฉพาะพวกอภิธรรม แหม! โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลยทีเดียว คำคำเดียวที่โกรธมาก ท่านพูดว่า อภิธรรมมิได้มาในรูปพระพุทธพุทธ (35.22 ท่านออกเสียงว่า พระ-พุด-ทะ-พุด) คำนี้พวกนักอภิธรรมโกรธหัวชนฝารวมหัวกันเลย ทั้งพระทั้งชาวบ้าน รวมหัวกันพิมพ์หนังสือเล่มขนาดอย่างนี้ คัดค้าน อาตมาอ่านตลอดแล้ว อ่านเสร็จแล้วหมัดเด็ดทั้งนั้น เรียกว่าหมัดเด็ดมันไม่ค่อยมี ได้คะแนนนิดหน่อย แต่ไม่ได้น็อคเลยสักเม็ดเดียว ท่านก็ไม่ว่าอะไร เรียกว่าเสร็จแล้วก็แล้วไป แล้วเขาอ้างว่าไอ้สิ่งที่พูดมันไม่ถูกต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ในเรื่องสุญญตาไม่มีในคัมภีร์นี่ ท่านก็ไม่ว่าอะไร คราวหลังมาอีกทีเทศน์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องธรรมะสำหรับนักศึกษาหนุ่ม เทศน์แนวแปลกทีนี้ ถามเองตอบเอง ถามแล้วตอบ ถามแล้วตอบ ตลอดรายการเลย เวลาตอบนี่ไม่ใช่ตอบเฉยๆ อ้างที่มาหมดเลย อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มนั้น สูตรนั้น หน้านั้น ก็ว่าไป บอกให้แจ้งเลย ใครอยากค้นคว้าไปเปิดดูได้เลย แล้วในการเทศน์นั้นก็มีเรื่องสุญญตาด้วยเหมือนกัน แล้วก็อ้างว่ามีอยู่ในที่นั้น พวกนักฟังที่เคยคัดค้านก็งงๆ ไปตามๆ กัน เพราะมันมีอยู่ในคัมภีร์ แต่พวกไม่เคยอ่านคัมภีร์ แม้จะเป็นเปรียญหลายประโยคแต่ไม่เคยเปิดคัมภีร์อ่าน ได้ ๙ ประโยคแล้วไปนั่งดูหมอ แล้วจะไปอ่านคัมภีร์ได้อย่างไร ดูดวงชะตาราศีสะเดาะเคราะห์ให้ญาติโยม อย่างงั้น ไม่รู้เรียนเอา ๙ ประโยคทำไม เรียนหมอสักครึ่งปีก็พอแล้ว พอถึงกับอาชีพทางนั้น เลยไม่ได้ใช้ทำความรู้ที่เรียน ลงทุนมาก ท่านเจ้าคุณท่าน ๓ ประโยค แต่ท่านใช้บาลีมากเหลือเกิน
พูดถึงการแปลภาษาบาลี หรือการแปลภาษาอังกฤษมาเป็นไทย เรียกว่าท่านเจ้าคุณแปลแล้วแจ๋วไปเลยทีเดียว ชัดมากแปลมาดีนี่แปลชัดมาก ลองไปอ่านหนังสือชุดแปล เขาเรียกว่าชุดจากพระโอษฐ์ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ อริยสัจจากพระโอษฐ์ ปฏิจจสมุปบาทขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ นี่คัดมาทั้งหมด ยกมาจากพระไตรปิฎกมาแปลให้เข้าใจ แปลแจ๋วทั้งนั้น อ่านแล้วรู้เรื่องเข้าใจความหมาย ไม่ใช่แปลแล้วอ่านไม่รู้เรื่องบางคนแปลอ่านไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ ครั้งหนึ่งเรื่องภาษาอังกฤษ นายคริตมาส ฮัมฟรียส์ (Christmas Hamphreys) แกมาจากอังกฤษ แกมาจากญี่ปุ่น พอหลังสงครามแกได้รับมอบอำนาจให้เป็นอัยการอาชญากรสงครามมาที่ประเทศญี่ปุ่น ทำงานเสร็จแล้วแกก็เดินทางผ่านประเทศไทยไปลังกาไปอินเดียกลับอังกฤษ ดูงานพระพุทธศาสนาไปด้วยในตัว เมื่อมาเมืองไทยคราวนั้นก็ได้เสนอเรื่องหนึ่ง เรียกว่า หลักสำคัญของพระพุทธศาสนา ๑๒ ข้อ ชื่อภาษาฝรั่งว่า Twelve Principle of Buddhism อันนี้ก็เอามา ก็ฮือฮากัน มีเปรียญ ๙ ประโยคองค์โตๆ องค์หนึ่งเขาแปล แปลแล้วก็ท่านเจ้าคุณท่านอ่านแล้ว ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร ท่านบอกว่า น่าเห็นใจคนแปลที่แปลอย่างรีบด่วน ถ้อยคำสำนวนจึงยังกำกวมอยู่ แล้วท่านก็แปลใหม่ เอามาอ่านเทียบเคียงกัน ของท่านเจ้าคุณนี่แปลแจ๋วไปเลย เรียกว่าอ่านแล้วไม่สงสัยในข้อความเหล่านั้นเป็นการแปลที่ฟังง่าย
เจ้าคุณรัด-ตรี-ทำ-มะ-ปะ-คัน (39.05 ไม่ยืนยันตัวสะกด) ได้หนังสือสูตรฝรั่งมาเล่มสองเล่ม ท่านซื้อมา ท่านอ่านด้วยตัวเอง อ่านเสร็จแล้วอ่านส่งเล่มหนึ่งให้ท่านเจ้าคุณพุทธทาส เขียนจดหมายกำชับไปว่า ให้ท่านแปลหนังสือนี้ออกเป็นภาษาไทย เพื่อคนไทยจะได้อ่านความรู้ที่ไม่มีในบ้านเราบ้าง ท่านก็เลยแปล แปลสูตรฝรั่ง แปลทีละบททีละบทลงหนังสือทางพุทธศาสนาของท่าน ท่านแปลอย่างละเอียด ใช้ถ้อยคำอย่างถูกต้อง บางเรื่องนี่ท่านก็นั่งคิดหลายวันว่าจะใช้คำอย่างไร จึงจะให้เหมือนกับความดั้งเดิมของหนังสือเล่มนี้ ก็แปลเรียบร้อย อ่านแล้วเข้าใจความหมายจากหนังสือนั้น ความรู้ทางภาษาบาลี ภาษาอังกฤษนั้นนับว่าดีมาก โดยเฉพาะอังกฤษ ท่านไม่ได้ไปเรียนที่ไหน แต่เรียนเอาในป่า คือเรียนจากพระไตรปิฎกแปล ที่เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเอามาเทียบกับบาลีว่าเขาแปลอย่างไร บาลีว่าอย่างนี้ เขาแปลว่าอย่างไร แล้วก็ยังคิดว่ามันเหมาะไหมคำนี้ มีคำอื่นอะไรที่เหมาะกว่านี้ ถ้าเป็นฝรั่งคนมังค่าไป ก็มักจะคุยกันในเรื่องอย่างนี้ คุยสนทนากันว่าจะใช้คำใดเหมาะไม่เหมาะที่เขาใช้ ท่านศึกษาค้นคว้าจนสามารถพูดธรรมะกับฝรั่งได้ พูดให้ฝรั่งเข้าใจได้
เคยมีพระฝรั่งองค์หนึ่งชื่อ แฟรงก์ แจ๊คสัน จากอังกฤษมาบวชกับสมเด็จวัดสระเกศแล้วมาอยู่นี่ตอนนั้น อาตมายังไม่เป็นอุปชา อยู่นี่ ๓ เดือน ต้องหาขนมปังให้กินทุกวัน กินอะไรไม่ได้ต้องกินขนมปัง อาตมานึกในใจต้องเอาไปดัดสันดานสวนโมกข์เสียหน่อย แล้วก็พาไปสวนโมกข์ พาไปถึงบอกท่านเจ้าคุณว่าฝรั่งเขาอยากศึกษาพุทธศาสนา ตอนรุ่งขึ้นบ่ายสามโมงเอาเลยทีเดียว กระดานป้ายติดต้นไม้ข้างกุฏิ กุฏิหลังนั้นเวลานี้ยังอยู่แต่ว่าต้องเอาเชือกดึงสี่เส้นเลย กลัวลมมันจะพัดพังลงไป กลัวคุณโยมชราเห็นเข้าตกใจ เจ้าคุณกุฏิที่อยู่นี่มันไม่ได้ เจ้าคุณนี่มีค่ามาก อยู่อย่างนี้ไม่ได้เดี๋ยวมันจะพังใส่เอา ดิฉันจะมาสร้างให้ใหม่ สร้างแล้วต้องอยู่ด้วยนะ ท่านเจ้าคุณว่า สร้างได้แต่ว่าอาตมาไม่สัญญาว่าจะขึ้นไปอยู่หรอก สร้างเถอะ แกเอาช่างมาเองและมาคุมงานเองเลย สร้างเสร็จภายใน ๓ เดือน แล้วให้ท่านเจ้าคุณไปอยู่ ท่านก็ไปอยู่แล้วนะ อยู่หลังนั้นนะ แต่อยู่ไม่นาน ถอยมาอยู่ห้องน้ำอีกหลังหนึ่ง อยู่ในห้องน้ำเวลานี้ ห้องน้ำเสร็จหนังสือกองที่นอนช่องเท่านี้ นอกนั้นหนังสือทั้งนั้น กองเต็มเลยในห้องนั้น ปิดไม่ให้ใครเห็นที่ท่านอยู่ แต่ว่าบางทีอาตมาไปก็แวะเข้าไปดูหน่อย ดูว่าห้องนอนเป็นอย่างไร ไม่มีอะไรที่หลับที่นอนก็ไม่มีอะไร มีพื้นกระดาน คือท่านนอนง่ายๆ แล้วก็หนุนหมอนไม้ ตื่นก่อนเพื่อน ตั้งแต่เช้า ตื่นก่อนใครๆ เราจึงไม่เห็นท่านนอนหลับคุดคู้อะไร ท่านนอนอย่างนั้น นอนง่ายๆ อยู่ง่ายๆ เขาก็เลยสร้างให้ใหม่ได้อยู่เรียบร้อย
เมื่อฝรั่งไปก็เอากระดานป้ายติดต้นไม้ เขียนอธิบายเลย อธิบายเรื่องปฏิจจสมุทบาทเลยทีเดียว เขียนภาษาอังกฤษวิชาอะไรเรื่อยตามลำดับ อธิบาย อธิบาย ฝรั่งนั้นก็ทำ จดใหญ่เลย ก็ฝรั่งเขาเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก่อน เขาจดจดอยู่ ๓ เดือน กลับมา มาถึงที่นี่กินได้ทุกอย่าง น้ำพริกยอดสะเดาก็กินได้ บอกว่า เออดี ไปอยู่ที่นั่นกินได้ทุกอย่าง เขาบอก อยู่โน่นมันไม่มีอะไรจะกินก็ต้องกินได้ทุกอย่าง เลยไม่เรียกหาขนมปังต่อไป เรียบร้อยไปเลย แล้วก็ถามว่าเป็นอย่างไร ภาษาอังกฤษท่านเจ้าคุณนี่พอจะไปเมืองนอกกับเขาไหม อย่างนี้สิควรไป เพราะว่าท่านอธิบายธรรมชัดเจนมาก ภาษาก็ดี ควรจะไป แต่ท่านไม่ไป เคยมีโยมชื่นที่เชียงใหม่อยากให้ท่านไปต่างประเทศเหมือนกัน อยากให้ไปอินเดีย จะไปอินเดียนี่เคี่ยวเข็ญอยู่หลายปีถึงจะไป แต่ไปแล้วกำไรมหาศาล ไปอินเดียนี่ได้กำไร เพราะว่าไปเก็บภาพต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องพระพุทธประวัติอะไรต่ออะไรมามากมาย เอามาทำเป็นภาพลงในแผ่นอิฐแผ่นซีเมนต์ติดไว้ตรงหลังคาวิญญาณ จนเกิดมีโรงงานสร้างภาพปั้นไว้ในสวนโมกข์ ทำภาพต่างๆ เป็นภาพธรรมะทั้งนั้น ไปถ่ายมาจนหมด ถ่ายมาแล้วเอามาให้ศิลปากรดู อธิบดีคุณธนิตย์อยู่บอกว่า ไอ้แบบนี้ศิลปากรไม่มีสักชิ้นเดียว ท่านเจ้าคุณไปขุดมาได้ ท่านไปนานๆ ไปพักตรงที่นี้นาน พักแต่ละนานๆ มีกล้องถ่ายรูปเสร็จ พูดเรื่องถ่ายรูปแล้วท่านเจ้าคุณนี่มือหนึ่งเลย ถ่ายรูป ช่างหากินทั้งหลายไปคุยกับท่านนี่ยอมแพ้ บอกว่าเรานี่เรานี่มันอยู่กับถ่ายรูป แต่สู้ท่านไม่ได้ แล้วใครจะไปถ่ายรูปท่าน ท่านถามว่าว่าเปิดกล้องเท่าไหร่ แสงสว่างเท่าไหร่ แล้วท่านว่าไปยืนตรงนั้นมันเหมาะ ท่านบอกชี้ด้วย แล้วเปิดกล้องอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านเล่นกล้องมาเหมือนกัน สมัยก่อนเมื่อเป็นพระท่านถ่ายท่านทำงานนะ เรียกว่าเข้าเทคนิคในเรื่องนี้เรียบร้อย ตอนไปอินเดียนี่ท่านมีกล้องยาว เทเล วันหนึ่งไปถ่ายรูปนก แขกตกใจ วิ่งไปห้าม เขานึกว่ายิงนก ไปห้ามท่าน ท่านบอกว่า ไม่ใช่ ก็อธิบายเขา ไม่ใช่ยิงนก ไอ้นี่มันกล้องถ่าย เข้าไปใกล้ไม่ได้นกมันจะบินหนี ต้องส่งยาวๆ ถ่ายรูปมา นี่ไปถ่ายภาพเจดีย์สูงๆ ท่านถ่ายด้วยกล้องอย่างนั้น เอาภาพมาได้ ปืนขึ้นไปถ่ายไม่ไหว เหาะก็ไม่ได้ ต้องมีกล้องเครื่องมือยาวๆ ไปอยู่สันติอยู่ ๗ วัน อุตส่าห์จ้างแขกให้ทำนั่งร้าน ขึ้นไปนั่งอยู่ข้างบน จ้องดูเวลาเมฆลอยมา แล้วจะถ่ายภาพได้สวยงามหน่อย ท่านไปนั่งอยู่ได้ต้องสองสามวัน เพื่อจะเอาภาพสันติอันเดียวเลยถ่ายภาพมาได้อย่างเรียบร้อย เอามาเป็นประโยชน์มากในการศึกษา แล้วเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง พุทธประวัติจากภาพ มีภาพอธิบายทั้งนั้น โรงพิมพ์พระนครพิมพ์ ไฟไหม้โรงพิมพ์หนังสือนั้นไฟไหม้หมดไปเลย ยังไม่ได้พิมพ์ใหม่
ไปอินเดียได้ประโยชน์ท่านไป ๓ เดือน ได้ประโยชน์มาก คุ้มค่า ค่าลงทุนการเดินทางคุ้มเลยทีเดียว แล้วโยมแกก็อยากให้ท่านไปยุโรป ท่านบอกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไป เราเขียนหนังสือให้เขาอ่านดีกว่า เขาอ่านแล้วเขาอยากรู้เขามาที่เรา เราสอนเขาฝึกเขาแล้วให้เขาไปสอนกันเองดีกว่าเราจะไปสอนด้วย เรื่องนี้ท่านเคยพูดนานแล้ว แต่ว่าในรูปการปฏิบัติยังไม่ได้ผล โน่นหลวงพ่อชาทำได้องค์เดียว แต่สอนฝรั่งให้ไปสอนฝรั่งได้ นับว่าได้ผลเวลานี้ ดังที่ได้ไปทำอยู่ที่อังกฤษ อยู่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นี่เป็นแนวคิดที่ท่านคิดมาอย่างนั้นเหมือนกัน ก็เลยไม่ไป ทำงานอยู่ประเทศไทยต่อไป
งานด้านหนังสือที่ท่านทำขึ้นแล้วนี่มีมากมาย หนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มใหญ่ๆ นี่ทั้งหมดมัน ๔๐ กว่าเล่ม แล้วไอ้ย่อยๆ เล็กๆ ในสมุดเล่มนี่มีแต่รายชื่อหนังสือ …… (47.29 เสียงไม่ชัดเจน) ทั้งนั้น เขารวบรวมพิมพ์ขึ้นมาใหม่มากเหลือเกิน จำนวนหนังสือนี่ ๔๔ เล่ม เล่มใหญ่ๆ ปกแข็ง ๔๔ เล่ม แล้วก็หนังสือเล่มเล็กเล่มน้อยมีจำนวนมากบางเรื่องอาตมายังไม่ได้อ่านด้วยซ้ำไป มันมีมากมายเหลือเกิน พิมพ์ออกไปแล้วเป็นชุด ชุดบัวหลวง ชุดนั่น ชุดนี่ พิมพ์น้อยๆ เอาไปกองไว้ที่สวนโมกข์ กองเต็มเลย ที่ตรงนั้น ที่ท่านนั่ง นั่งเขียนหนังสือ มีม้าโยกอยู่ตัวหนึ่ง โยกไปโยกมา ถามเจ้าคุณเขียนตรงไหน นี่นั่งบนม้านี่ เขียนยังไง เอากระดานแผ่นวางบนขาแล้วก็นั่งเขียน เขียนหนังสือ ไอ้ตัวหนังสือสวยๆ ที่เราเห็น ท่านเขียนทั้งนั้น แล้วก็ตรงนั้นรกที่สุดเลย กองเต็มเลยหนังสือ ทำไมไม่ช่วยจัดมั่ง โอ๊ย ไม่ได้ พระบอกว่าแตะไม่ได้ ตรงนี้ท่านห้ามเด็ดขาดอย่าไปยุ่งของท่าน จัดแล้วท่านหาไม่พบ ไม่รู้ว่าเล่มไหนอยู่ตรงไหนท่านหาลำบาก ท่านวางของท่านเองรุงรังตรงนั้น กองรุงรัง
มีคนกรุงเทพฯ คณะหนึ่งเขาไป คือไม่ได้ไปเพื่อศรัทธาเลื่อมใส แต่ไปเขียนค้านนั่นเองไปถึงสวนโมกข์กลับมาเล่า มีแต่เรื่องติทั้งนั้น เช่นติว่าสวนโมกข์ไม่ใช่วัดพุทธศาสนาเถรวาท เป็นวัดมหายาน เพราะทั้งวัดไม่มีพระพุทธรูปสักองค์หนึ่ง มีแต่รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ความจริงนั้นรูปพระโพธิสัตว์นี่เป็นของไชยาเขาทำให้เก่าแก่เอามาไว้พิพิธภัณฑ์ ท่านก็ไปขอร้องทำด้วย ปูนปลาสเตอร์ เอาไปไว้ที่เดิมคนจะได้ศึกษา แล้วทำไปไว้ แล้วมันมีหลายแบบ ท่านก็ทำขึ้นทุกแบบประดิษฐานไว้แจ้งๆ ใกล้สระบัว คนไปก็จะได้ศึกษา แล้วพวกนั้นก็นึกว่าวัดนี้มันมหายาน ไม่มีพระพุทธรูปให้ไหว้ อ้อ! มีอยู่องค์หนึ่งที่หอฉัน เล็กนิดเดียว คือท่านไม่ได้ขวนขวายที่จะไปสร้างพระหรือว่าบอกบุญกับใครในเรื่องนี้ พูดถึงเรื่องนี้ก็จะบอกหน่อยว่าท่านเจ้าคุณนี่ไม่เคยออกปากเรี่ยไรในวัดเลย ที่ไหนท่านก็ไม่เรี่ยไร ไม่เรี่ยไร แล้วไม่ตั้งหีบด้วยนะ วัดชลประทานมีหีบตรงนั้น หีบตรงนี้ ให้โยมหยอดสตางค์ อำนวยความสะดวกให้ แล้วฤกษ์ไม่ดีฝรั่งเขามา เขาเที่ยวเดินดูทั่ววัด เขามาถึง เขาบอกว่า วัดของท่านไม่เหมือนใครในโลก ท่านถามว่าไม่เหมือนยังไง ไม่มีตู้บริจาค Donation Box ไม่มี ไอ้ที่ไหนมันมีทั้งนั้น ไม่ว่าวัดพวกไหน แต่นี่ไม่มี ท่านบอกว่ามันไม่มีเพราะไม่ได้ทำ แล้วสร้างอะไรก็สร้างไป คนมาเที่ยวท่านไม่บอกว่านี่สร้างค้างอยู่ เพราะเงินมันไม่มี โยมช่วยกันมั่ง ไม่เคยพูดเรื่องอย่างนี้กับใครๆ ไม่เคยขออะไรอย่างนั้นท่านไม่พูด แต่บางทีก็มีคนมาถาม ไอ้นี่เมื่อไหร่จะเสร็จ เจ้าคุณอ๋อ! มันเสร็จแล้ว เสร็จทุกวัน เออ ท่านบอกว่าเสร็จทุกวัน ทำวันนี้มันก็เสร็จวันนี้ พรุ่งนี้ทำต่อมันก็เสร็จพรุ่งนี้ต่อไป ท่านบอกมันเสร็จอยู่ทุกวันแหล่ะ และก็ไม่เคยบอกว่าใช้เงินเท่าไหร่ ยังขาดเท่าไหร่ไม่บอก อาตมายังบอกอยู่บ้างแต่ไม่บอกที่วัด บอกวิทยุ ท่านไม่บอกเลย แต่ว่ามันก็ได้คนไปก็ได้ ทีนี้ใครไปทำบุญก็แจกหนังสือ หนังสือพิมพ์ไว้ห่อมัดๆ เยอะแยะ แจกเรื่อย คนทำบุญเท่าไหร่ไม่รู้ ใส่ซองให้เณรพระ แจก หอบกันไป อ่านกันไป พิมพ์ไว้แจกเยอะแยะ ท่านทำอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่เหมือนกับที่วัดอื่นที่ท่านทำเป็นปกติ
เคยมีคนเข้าไปขอหวยกับท่าน ไปถึงกราบหลวงพ่อ ช่วยผมสักทีเถอะ ช่วยอะไร ช่วยให้เลขดีดีสักหน่อย โอ้! ไอ้อย่างนั้นมันต้องถามสมภาร ท่านว่าอย่างนั้น ให้ไปถามสมภาร แล้วถามว่าสมภารอยู่ไหน นั่นแหล่ะนอนอยู่ในตะกร้านั้นแหล่ะ หมา บอกว่าไปไหว้ไปไหว้นั่น นั่นแหล่ะมันบอกเลขเอง ไอ้นั่นโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงไปเลยทีเดียว แล้วหมาตัวนั้นมันชื่อสมภารเสียด้วยนะ ตั้งชื่อสมภาร นอนอยู่ในตะกร้า แต่ว่าสมภารตัวนั้นตายไปแล้ว มีตัวอื่นมารับตำแหน่งแทนต่อไป หมาของท่านนี้ก็ ถ้าท่านนั่งบนม้าหิน มันต้องนอนข้างล่าง ไก่นี่แปลกกว่าหมาหน่อย ขึ้นมาเกาะอยู่ข้างบนพนัก บางทีท่านนั่งเฉยเจ้าไก่ขึ้นไปอยู่บนบ่า ขันทีบางทีอยู่ข้างหู ท่านก็นั่งเฉย ว่าแล้ว หมาต้องนอนข้างล่างแต่มีตัวหนึ่งขึ้นมานอนข้างบน มันถือสิทธิ์พิเศษนอนใต้ที่ท่านนั่ง ถ้าท่านลุกขึ้นไปไหนมันรู้ หมานี่ ท่านจะไปเทศน์ที่หินโค้ง หมาต้องไปก่อน หมาไปชาวบ้านก็ มาแล้ว มาแล้ว ไอ้สมภารมาแล้ว เดี๋ยวเจ้าคุณมา เดี๋ยวเจ้าคุณมาแล้ว แล้วท่านก็ไป มันไปนอนอยู่ใต้ธรรมมาส พอท่านเทศน์จบนี่มันลุกขึ้นก่อน พอจบมันก็เดินกลับกุฏิ มานอนใต้ม้าหินต่อไป มันไปมันมาอยู่อย่างนี้ คนไปคนมามันไม่เห่าถ้ากลางวัน แต่กลางคืนเที่ยวเดินรอบไปเลย เห่าเกรียวเลย ลูกน้องหลายตัวใครเดินผ่านแถวนั้นเสียงดังโป้งเลย เห่าใหญ่ แต่กลางวันไม่เห่าอะไร มันก็จงรักภักดีพอสมควรเหมือนกันสุนัขทั้งหลาย แล้วข้างกุฏิมีอีกชนิดหนึ่ง ปลา คนบางคนไปเห็นท่านเจ้าคุณเลี้ยงปลา แหมเจ้าคุณนี่เลี้ยงปลาทำอะไรก็ไม่รู้ เลยถาม ถามว่าท่านเลี้ยงปลาเอาไว้ทำอะไร เลี้ยงไว้เป็นครู เจริญพร ท่านบอกเลี้ยงไว้เป็นครู แล้วท่านนั่งดูปลา บางทีทั้งวันนั่งลงไปที่พื้นแล้วก็นั่งดูปลาแล้วเอาเรื่องปลามาพูดตั้งกัณฑ์ใหญ่เลย พูดกับพระเรื่องปลา ปลาอันธพาลก็มี ปลาอะไรก็มี ท่านนั่งดู ปลานี่อย่างนั้น ปลานั่นอย่างนี้ มันมีความเป็นอันธพาล เป็นนักเลง ปลาเจ้าชู้ก็มีเหมือนกัน ท่านเอามาเล่าเรื่องปลาทั้งนั้นเรียกว่ากัณฑ์นั้นเรียกว่ามัจฉาคาถาก็ว่าได้ กัณฑ์เกี่ยวกับปลานี่ ท่านนั่งดูทุกวัน ให้อาหารก็นั่งดูไป ก็ยังมีอยู่จนบัดนี้ ท่านทำไว้อย่างนั้นไม่ใช่เพื่ออะไร เพื่อเป็นครู ท่านบอกเลี้ยงไว้เป็นครู เลี้ยงสุนัขไว้ก็เป็นครูเหมือนกัน เป็นครูทั้งนั้น ถ้าใครไปถามทำไมหมาเยอะแยะ เอ๊า! เอาไว้เป็นครูมันได้สอนอะไรต่ออะไร ท่านว่าอย่างนั้นก็ว่าไปในรูปอย่างนั้น
ในวัดท่านก็มีอะไรแปลกๆ ไปที่หอฉันเขียนไว้ตัวโตๆ ไม่รับรองผู้ที่เลี้ยงล้างจานไม่เป็น ไม่รับรองผู้ที่ล้างจานไม่เป็น ใครไปอยู่นั่นต้องล้างจานเป็นด้วย ล้างฝาล้างบาตร เช็ดบาตรต้องทำได้ ถ้าทำไม่เป็นก็ไม่รับรองเขียนไว้อย่างนั้น เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจคนที่มาพัก พระบางองค์ไปพัก แหม เห็นสถานที่ชอบใจ บอกแหม ผมสบายใจเลยทีนี้จะพักสัก ๗ วัน พอตื่นเช้าไปฉันข้าวจานแมวเข้า ไปลาแล้ว มีธุระ กระผมตั้งใจว่าจะพักนานแต่วันนี้ขอลาก่อน ไม่ได้ลาเรื่องอะไรไปกินข้าวจานแมวก็เลยอยู่ไม่ได้ พระที่วัดนั้นเขาว่า กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู อยู่เหมือนคนตายแล้ว หลักการของสวนโมกข์ว่า กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู อยู่เหมือนตายแล้ว ท่านพูดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพอไปกินข้าวราดแกงเข้า ฉันในบาตรเข้าวันเดียว แหมบังเอิญมีธุระขอกราบลาก่อน ไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องอะไร คือทนไม่ไหวเพราะไม่เคยฉันเลยของอย่างนั้น ก็อยู่ไม่ได้ มีอะไรแปลกๆ ใครไปพักนี่มีที่พัก ๒ ข้าง ด้านนี้อุบาสิกา ด้านนี้อุบาสก สามีภรรยาไปด้วยกัน ท่านก็บอกอุบาสกไปพักตรงโน้น แม่บ้านไปพักด้านโน้น อยู่คนละด้านไม่ให้อยู่ร่วมกัน จัดที่พักไปให้คนพักพาอาศัย ชาวบ้านที่ไปนี่พวกไปเที่ยวนี่ นักทัศนาจร พวกทัวร์ โฆษณาแวะสวนโมกข์ มันแวะจริงๆ เพราะว่าออกจากกรุงเทพฯ ไปสวนโมกข์เช้าตรู่เลย ยามเหมาะที่จะต้องลงไปล้างหน้าถ่ายเทอะไรต่ออะไร รถหยุดตรงนี้ดีเลย ไปเที่ยวหาห้องน้ำ เขาก็บอกบริการทำไว้หลายห้อง ไปห้องน้ำล้างหน้าล้างตา เสร็จแล้วก็เรียกขึ้นรถยนต์แล้วไปแล้ว วันหนึ่งอาตมาไปก็พวกแหมพวกนี้มาเที่ยวกันมาก ท่านบอก มันมาขี้เยี่ยวใส่วัดแล้วมันก็ไปแล้ว พวกมาขี้เยี่ยวใส่วักแล้วมันก็ไปแล้วท่านพูดยิ้มๆ ท่านก็ว่า ไอ้ ไอ้ พูดอย่างนี้ท่านไม่ค่อยพูดกับใคร ถ้าว่าอาตมาไปท่านเจ้าคุณชุมพรไป แล้วก็คุยกันได้ แล้วก็อาตมานี่พาท่านไปเที่ยวกัน ไปก็บอกว่าไป ไปถึง แหม! วันนี้อยากไปเที่ยวสวนโมกข์เก่าหน่อย เอ๊า! ไปด้วยกันพาไป ไปถึงชายทะเลที่มีหาดทราย พาไป เดินไป อะไรไป กลับมาแวะนั้นแวะนี้ แล้วก็มีช่างถ่ายรูปคนหนึ่งชื่อ มนัส คีรีวงศ์ อยู่บ้านดอน แกไปด้วย แกชอบพาไปเที่ยวถ่ายรูป ในวัดก็ถ่ายตรงนี้ อาจารย์ตรงนั้นมุมดีท่านเดินไปตรงนั้น ตรงนี้มุมดีอาจารย์ อ้าว ท่านก็เดินไปตรงนี้ แล้วกระซิบบอกอาตมา ถ่ายรูปอาจารย์ให้อายุยืน เพราะได้เดินเหินพาเดินไปทั่ววัด ท่านก็ไม่เบื่อในการที่เดินไปยืนตรงไหนตรงไหนไปเรื่อย ไปสวนโมกข์เก่าก็ไปเที่ยวถ่ายตรงนั้นถ่ายตรงนี้ ท่านก็ไปแนะมุมให้ถ่ายไป นั่งถ่ายกันสบายใจไปกันใหญ่ ถ้าไปแล้วท่านชอบอย่างนั้น พาไป แต่คนอื่นไปพาท่านไปไม่ได้ ท่านก็ไม่ไป คือมันไม่เหมือนกันเลยสบายใจ นี่เรื่องมันมีอยู่อย่างนั้น แล้วก็พวกเราที่เป็นคนเลื่อมใสท่านเจ้าคุณ วิตกกังวลว่าท่านเจ้าคุณสิ้นแล้วจะอยู่อย่างไร ขออนุญาตอ่านหน่อย แว่นตา แว่นตา อันนี้เป็นคำกลอนที่ท่านเขียนไว้เอง เขียนไว้ว่า พุทธทาสจักอยู่คู่นิรันดร์ หมายความว่าพุทธทาสไม่ตาย ว่ายังไงโยมฟังดูให้ดี
พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็นร่างกายไปไม่ลำเอียง นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา
พุทธทาสคงอยู่ไปไม่มีตาย ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบกายใจรับใช้มา ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย
พุทธทาสยังอยู่ไปไม่มีตาย อยู่รับใช้เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ
แม้ฉันตายกายลับไปหมดแล้ว แต่เสียงสั่งยังแจ้วแว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย ก็เหมือนฉันไม่ตายกายธรรมยัง
ทำกับฉันอย่างกะฉันนั้นไม่ตาย ยังอยู่กับท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ให้กันฟัง เหมือนฉันนั่งร่วมด้วยช่วยชี้แจง
ทำกับฉันอย่างกะฉันไม่ตายเถิด ย่อมจะเกิดผลสนองหลายแขนง
ทุกวันนัดสนทนาอย่าเลิกแล้ง ทำให้แจ้งที่สุดได้เลิกตายกันฯ
นี่คำกลอนท่านเขียนไว้งั้น เรียกว่าท่านไม่ตาย คุณคณิต อยู่พลู พบเจ้าคุณธรรมโกศาจารย์ เมืองชล เลยพูดว่า จะหาพระอย่างพุทธทาสสัก ๑๐ องค์ เมืองไทยคงจะดีขึ้น มีบ้างไหมท่านเจ้าคุณ เจ้าคุณนั่งหลับตานิ่งซ่ะเป็นนาน เฮ้ย! หายากโว๊ย มีองค์เดียว ท่านบอกพุทธทาสมีองค์เดียว หาไม่ได้ ไม่มี เพราะว่ามีองค์เดียวเท่านั้นในประเทศไทย มีองค์เดียวในโลกของพุทธศาสนาก็ว่าได้ เราทั้งหลายจึงภูมิใจในความมีความเป็นของท่านที่เกิดมาเหมาะแก่สมัย ได้ช่วยรื้อฟื้นธรรมะของพระพุทธเจ้าปลุกชาวพุทธให้ตื่นตัวให้ก้าวหน้าเพื่อทำกิจอันเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา เราจึงคิดที่จะฉลองท่าน ในวันที่ ๒๕ ๒๖ ๒๗ เดือนพฤษภาคม งานทำอะไรค่อยว่ากันต่อไป สำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้