แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ตามปกติ เมื่อใกล้วันขึ้นปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ทางวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ได้แนะนำญาติโยมทั้งหลาย ให้ส่ง ส.ค.ส. เป็นธรรมะ ดีกว่าส่ง ส.ค.ส.ด้วยบัตร ส.ค.ส. ที่เค้ามีขายกันในตลาดทั่วๆ ไป เพราะว่าธรรมะเป็นหลักคำสอน เป็นเครื่องจิต สะกิดใจ ผู้ได้รับจะได้อ่าน ตลอดเวลาปีหนึ่งก็ว่าได้ ญาติโยมทั้งหลายได้รับคำแนะนำเรื่องนี้แล้ว ก็ได้พร้อมใจกันส่ง ส.ค.ส. ตามแบบวัดชลประทานรังสฤษดิ์ เพราะงั้นเมื่อใกล้จะสิ้นปีก็มีการปาฐกถาเป็น ส.ค.ส.กัณฑ์หนึ่ง แล้วก็ถอดออกมาพิมพ์เป็นเล่มบ้าง อัดเทปให้ท่านทั้งหลาย เอาไปส่งแก่เพื่อนฝูงมิตรสหายบ้าง ได้ทำมาสองสามปีแล้ว มาปีนี้ ๒๕๒๘ เดือนธันวาคม ใกล้จะถึงแล้ว ญาติโยมก็มาถามถึง ส.ค.ส. ว่าพิมพ์แล้วยัง ท่านมหาเพียร ก็ตอบว่ายังไม่ได้พิมพ์ เพราะหลวงพ่อยังไม่ได้อัด เรื่องที่ยังไม่ได้อัดก็เพราะว่า ปลายปี ๒๕๒๘ นี้ ไม่มีความสุขทางกาย ความสุขทางใจก็พลอยกระทบกระเทือนไปด้วย จึงไม่สามารถจะพูดเพื่อส.ค.ส. ให้ทันตามกำหนด ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ ได้เดินทางไปประเทศอินเดีย ตามคำขอร้องของคุณประธาน ดวงรัตน์ และคุณสุมาลี ดวงรัตน์ ซึ่งไปทำการทอดกฐินที่วัดไทยพุทธคยา และวัดสาวัตถี ทุกครั้งที่คุณประธาน ดวงรัตน์ไปอินเดีย มักจะชวนอาตมาไปด้วย อาตมาก็เห็นว่า เป็นการดีในการที่จะได้ไปอบรมญาติโยมตามสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็เลยเดินทางไปด้วย การเดินทางก็สะดวกสบายดี เรียบร้อย วันที่ ๒๗ ก็จะเดินทางกลับ ประมาณเวลาตี ๔ แต่คืนวันที่ ๒๖ นั้น นอนพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เกิดอาการไม่สบาย คือเป็นหวัด และก็ไอมาก เสียงหาย ไปเลย ไม่มีเสียงจะพูดกับญาติโยมต่อไป แต่ก็พอดี เค้าว่าหมดเรื่องที่จะพูดแล้ว มีแต่เรื่อง ไปเที่ยวซื้อของ ก็ไม่ต้องจำเป็นจะต้องไปพูดอะไร
วันที่ ๒๗ เวลาตี ๔ ขึ้นเรือบิน กลับเมืองไทย เมื่อมาถึงเมืองไทย ก็เลยเป็นไข้ไปซะ สิบกว่าวัน ไม่มีโอกาสได้ไปเทศก์ในวันอาทิตย์แรกของเดือนทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ไม่ได้ออกโทรทัศน์ในวันอาทิตย์แรกของเดือนทางช่อง ๕ ที่เคยออกมาโดยตลอดตามลำดับ เพราะความป่วยทางร่างกาย เสียงไม่มี ใจก็พลอยเพลียไปเสียด้วย และก็เป็นเรื่อยมา ยังไม่หายเป็นปกติ แม้ขณะที่อัดเสียงนี้ เสียงยังไม่แจ่มใส ร่างกายยังรู้สึกอ่อนเพลียอยู่ ความอ่อนเพลียทางกาย ทำให้ใจพลอยอ่อนไปด้วย ไม่ได้มีความทุกข์หรอก แต่ว่ามันก็อ่อนไป ทำให้เกิดความเหนื่อยหน่ายไม่อยากจะทำอะไร อยากจะนั่งพักผ่อน หรืออยากจะนอนแค่ท่าเดียว พอฉันอาหารเช้าเสร็จแล้วก็อยากจะนอน พอฉันอาหารกลางวันเสร็จแล้วก็อยากจะนอน ง่วงเหงาหาวนอน อยากจะนอนเสียเรื่อย อันนี้เห็นจะเป็นเพราะยาที่คุณหมอให้รับประทาน ต้องการให้พักผ่อน ให้นอนไปเสียมากๆ แล้วโรคก็ค่อยหายไปเอง ทำอย่างนั้นอยู่หลายวัน ท่านมหาเพียร ก็รบเร้าเซ้าซี้ว่า ยังไม่ได้ทำส.ค.ส. ปกพิมพ์เรียบร้อยแล้ว แต่เนื้อในยังไม่มี ญาติโยมก็มาถามกันอยู่บ่อยๆ ว่า ส.ค.ส. เสร็จแล้วหรือยัง เห็นว่า จะเป็นการเสียหาย ถ้าไม่ได้ส่งส.ค.ส.ตามแบบที่เคยส่ง จึงได้ทำการอัดเสียงในวันนี้ คือวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๘ อัดเสียงแล้วก็จะได้ถ่ายออกพิมพ์ จำหน่าย จ่ายแจกให้แก่ญาติโยมทั้งหลาย เอาไปใช้เป็นส.ค.ส.ทั่วไป ที่ได้ช้า ก็เพราะว่า ไม่มีความสุขที่จะให้ปีนี้ มันเป็นความทุกข์ทางร่างกาย แม้ใจจะไม่พลอยเป็นทุกข์กับร่างกาย แต่มันก็คอยเพลียไปด้วย คือสมองมันอ่อนเพลีย ไม่อยากจะทำอะไร อยากจะพักผ่อน ท่าเดียว จึงไม่มีส.ค.ส.ส่งให้แก่ท่านทั้งหลาย แต่ว่าวันนี้ พอจะส่งได้ ก็เลยมาพูดอัดเสียง แล้วก็จะได้ถอดเป็นหนังสือต่อไป ให้ท่านทั้งหลายได้ส่งกันไปกับญาติโยมทั้งหลาย ที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกัน ผู้ที่ได้รับส.ค.ส.ในรูปธรรมะจะได้เอาไปอ่านจะได้เกิดความเข้าใจในเรื่องชีวิต ถูกต้องจะได้ก้าวหน้าในทางที่ถูกที่ชอบ ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไป
ในเบื้องต้นนี้ก็อยากจะทำความเข้าใจกันก่อนว่า ธรรมะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ชีวิตต้องมีธรรมะ ต้องอยู่ด้วยธรรมะ ถ้าชีวิตปราศจากธรรมะ เมื่อใด ก็จะเกิดความผิดพลาดเมื่อนั้น ความทุกข์ ก็จะเกิดขึ้น เพราะการกระทำที่ผิดพลาด เราไม่ต้องการความทุกข์ทางกาย ทางใจ เราจึงต้องเอาธรรมะมาเป็นเครื่องกำกับใจไว้ เหมือนกับว่าเป็นห้ามล้อของใจ ไม่ให้ไหลเลื่อนไปกับความชั่ว ความต่ำทั้งหลาย ที่มากระทบสะกิดใจ เพราะอารมณ์ยั่วยุในโลกมันมีมาก ถ้าหากเราไม่มีเครื่องป้องกัน คุ้มครองใจก็จะลื่นไหลเลื่อนไปตามอารมณ์นั้นๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ในการคิดการพูดการกระทำ และผลที่เกิดขึ้น ก็เป็นความทุกข์ทางใจต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ปรารถนา ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ใด ไม่ปรารถนาความทุกข์ ต้องการความสุขความสงบในชีวิตประจำวัน ความสุขความสงบในชีวิตประจำวันนั้น จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยมีสัมมาทิฏฐิ เป็นพื้นฐานทางจิตใจ สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นชอบในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต คือเห็นว่าชีวิตนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะการปรุงแต่ง ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง ความคิดที่เกิดขึ้นในใจนั้น เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่งของสิ่งที่มากระทบกันเข้า เช่นรูปมากระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น โผฏฐัพพะมากระทบปลายประสาท ก็ทำให้เกิดการปรุงแต่งขึ้นในใจ เรื่องไหนเป็นเรื่องที่เราชอบใจ ถูกใจ ก็ปรุงแต่งให้เกิดความชอบใจ พอใจในสิ่งนั้น เมื่อได้ดั่งใจก็มีความสบายใจ แต่ถ้าไม่ได้ดังใจ ก็มีความขัดข้องใจ มีปัญหา มีความทุกข์เกิดขึ้น ผู้ใดกระทำให้เราไม่ได้สิ่งที่เราต้องการดังใจ เราก็โกรธเกลียดบุคคลนั้น อาฆาตจองเวรบุคคัลนั้น ถึงกับไปฆ่าไปแกง ให้เค้าถึงแก่ความตาย อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมบ่อยๆ ดังที่เราได้เห็นเป็นข่าวปรากฎอยู่ในที่ทั่วๆไป เรื่องเช่นนี้ เกิดขึ้นก็เพราะขาดธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ไม่มีห้ามล้อไว้สำหรับใจ จึงได้เกิดปัญหาคือความทุกข์ความเดือนร้อน ถ้าเราไม่ต้องการควาทุกข์ความเดือนร้อน เราก็ต้องนำธรรมะมาเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เอาธรรมะเป็นดวงประทิปส่องทางดำเนินชีวิต เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเหมือนดวงประธิปส่องทางชีวิต
ดังคำที่กล่าวไหว้พระว่า ธัมโม ปะทีโป วิยะ ตัสสะ สัตถุโน ซึ่งแปลว่า พระธรรมของพระศาสดา สว่างรุ่งเรืองเปรียบดวงประธีป ดวงประธีป ก็คือแสงไฟ เช่นแสงเทียน แสงตะเกียง อะไรต่างๆ พอเราจุดขึ้นแล้ว มันก็เกิดแสงสว่าง มีแสงสว่างเราก็มองเห็ฯอะไรได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้าไม่มีแสงสว่างเราก็มองอะไรไม่เห็น แสงธรรมก็เหมือนกับแสงเทียน ส่องใจ ถ้าเรามีธรรมะประจำใจ ใจเราก็สว่างด้วยแสงธรรมะ เรามองเห็นอะไรชัดเจน ถูกต้อง เมื่อมีอะไรมากระทบใจของเรา เราก็รู้ทันท่วงที ว่าสิ่งนั้นคืออะไร และจะเกิดอะไรขึ้นจากสิ่งนั้น เราก็ควบคุมไม่ให้มันเกิดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ให้เกิดความคิดผิด พูดผิด ทำผิด มันขึ้นมา เราก็ไม่มีความทุกข์ เพราะเรื่องนั้น คนที่จะไม่มีความทุกข์ ก็เพราะมีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ธรรมะจึงเป็นอาหารใจ ที่เราจะต้องมีไว้สำรองตลอดเวลา เพื่อจะได้กินได้ใช้ เหมือนกับเรามีข้าวสารไว้มากๆ เราจะหุงเมื่อใดก็ได้ เราจะกินสักเท่าไหร่ก็ได้ แต่ถ้าเราไม่มีข้าวสารจะหุง แม้เราจะหิวขึ้นมา เราจะหุงได้อย่างไร ถ้าเราไม่ได้เตรียมไว้สำหรับหุงหา เราก็ลำบาก ใจเรานี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีธรรมะไว้ สำหรับเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ใจเราก็ขาดธรรมะ อันเป็นอาหารใจ เมื่อใจขาดธรรมะ ใจก็ไม่มีกำลังต้านทาน กับสิ่งชั่วร้าย ที่มากระทบ อะไรมากระทบก็เกิดความยินดีมาก เกิดความยินร้ายมาก ความยินดี ความยินร้าย มันก็เสียหายทั้งคู่ แต่ว่าเราไม่มองเห็นให้ชัดเจน เรานึกว่าความยินดี เป็นเรื่องสบาย ความยินร้ายเป็นเรื่องความทุกข์ แต่ความจริงนั้น ยินดีก็ไม่สบาย ยินร้ายก็ไม่สบาย มันเป็นเรื่องของความทุกข์ทั้งนั้น แต่ว่า ความยินดีนั้น มันทุกข์มาทีหลัง ส่วนความยินร้ายนั้น ทุกข์มาทันที ตามเราทันที ทำให้เราเห็นได้ทันที เหมือนกับเราจับถ่ายไฟร้อน กำลังลุกแดง ร้อนทันที แต่ถ้าจับถ่ายไฟที่มอด มันก็ร้อนเหมือนกัน แต่ว่าทำให้เนื้อของเราช้ำช้าไปหน่อย ฉันใด ไอ้เรื่องความยินดี ยินร้าย ก็เป็นเช่นนั้น เวลาใดเรายินดี เราก็เพลิดเพลินกับสิ่งที่เรามี เราได้ แต่พอเกิดความยินร้าย เราก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันที อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราทั้งหลาย ทำให้เราได้ประสบปัญหาชีวิตอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาสิ่ง ช่วยประคับประคองไม่ให้ชีวิตของเราตกต่ำมากเกินไป เราก็ต้องมีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ การหาธรรมะมาใช้จึงเป็นเรื่องจำเป็น
เราจะแสวงหาธรรมะโดยวิธีใด โดยวิธีการศึกษาให้เข้าใจ ด้วยวิธีการปฏิบัติตามสิ่งที่เรารู้เราเข้าใจแล้ว ในการแสวงหาธรรมะด้วยการศึกษาเราก็ต้องศึกษาด้วยการฟัง ศึกษาด้วยการอ่าน สองอย่างนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้น สมัยโบราณนั้น ไม่มีการอ่าน เพราะไม่มีหนังสือ อาศัยการฟังอย่างเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็พูดให้คนฟัง แล้วก็มีคนไปฟัง ฟังแล้วเขาเกิดความรู้ความเข้าใจ ชอบใจในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เขาก็ปฏิญาณตนเป็นภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา บวชในพระศาสนาบ้าง อยู่บ้านครองเรือนบ้าง แต่ก็ปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เขามีความสุขในชีวิตประจำวัน อันนี้คือการศึกษาด้วยการฟัง แต่ในสมัยนี้ เราศึกษาด้วยการอ่านก็ได้ เพราะมีหนังสือทางพระศาสนาแพร่หลาย สำนักต่างๆ ได้พิมพ์ขึ้นแจกจ่าย แก่ญาติโยมทั่วไปก็มี ขายในราคาถูกๆ เพื่อเอาทุนมาหมุนเวียน สำหรับการพิมพ์หนังสือทั้งหลายออกไปก็มี เพราะฉะนั้นการศึกษาด้วยการอ่าน จึงเป็นเรื่องจำเป็นอันหนึ่งสำหรับชีวิตเราเหมือนกัน ในบ้านเราที่นับถือพระพุทธศาสนา ควรจะมีหนังสือประเภทธรรมะเอาไว้อ่านบ้าง เช่นมีหนังสือพระพุทธประวัติ เรื่องเกี่ยวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เราได้อ่านศึกษาชีวประวัติของพระองค์บ้าง มีหลักธรรมะไว้อ่านเพื่อเป็นเรื่องเตือนใจบ้าง เวลาใดเรากลุ้มใจไม่สบายใจ เราก็หยิบหนังสือ ธรรมะขึ้นมาอ่าน เวลาใดมีข้อสงสัย เราก็หยิบหนังสือธรรมะขึ้นมาอ่าน ทุกครั้งที่เราอ่านหนังสือธรรมะ ใจก็ผ่องใส ไม่ขึ้นมัว ในขณะนั้น เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ อ่านเข้าใจแล้วก็เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน เวลาใดมีอะไรเป็นปัญหาเกิดขึ้น ก็ได้มีธรรมะนั้นมาใช้เป็นเครื่องแก้ไขทันท่วงที ธรรมะจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันนี้ ยิ่งมีความต้องการทางธรรมะมากขึ้น เพราะสิ่งยั่วยุทำให้คนเสียคนมีมากขึ้น ทุกวัน ทุกเวลา สิ่งยั่วยุเหล่านั้น มันทำให้ชีวิตเราตกต่ำ ทำให้เราเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความพยาบาท อาฆาต จองเวร เพราะสิ่งแวดล้อมทำให้เป็นไปอย่างนั้น
เราจึงต้องหาธรรมะมาเป็นเครื่องประเล้าประโลมใจ ปลอบจิตปลอบใจของเราไว้ ไม่ให้อ่อนแอ ไม่ให้ตกต่ำ ให้มีภูมิต้านทานที่เข้มแข็ง สามารถจะต่อสู้ กับอารมณ์ยั่วยุได้ อันนี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตของเราทั้งหลาย จึงขอให้ทุกคนเข้าใจเป็นประการแรกว่า ความสุขในชีวิตจะมีไม่ได้ ถ้าปราศจากธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ความสุขในชีวิตจะเกิดขึ้นทันที เมื่อเรามีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องแสวงหาธรรมะด้วยการศึกษา การศึกษาก็คือ การอ่าน การฟัง ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ นอกจากการอ่าน การฟัง แล้ว เราก็คิดค้นตามสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบจิตใจของเรา มีอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องคิดดูว่านี่มันคืออะไรมันมาจากไหน มันให้อะไรแก่เรา เราควรจะแก้ไขสิ่งนี้โดยวิธีใด อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องอะไรถูกต้อง ตามสภาพที่เป็นจริง แล้วความทุกข์ก็จะไม่มาหาเราต่อไป นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง คนเราที่ต้องการความสุขในชีวิตประจำวันนั้น ร่างกายต้องอาศัยปัจจัยเครื่องยังชีพ คือสัตว์ทั้งหลายนี่อยู่ได้ด้วยอาหาร ด้วยเสื้อผ้า ด้วยเครื่องนุ่งห่ม ด้วยยาสำหรับแก้โรค ด้วยที่อยู่ที่อาศัย อันนี้เรียกว่าปัจจัยสี่ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ปัจจัย ๔ ก็คือ อาหารเครื่องนุ่งห่ม เสนาสณะ ที่อยู่อาศัย และยาแก้ไข้ สิ่งเหล่านี้ ทุกคนจะต้องมีไว้ใช้ ถ้าไม่มีเราก็อยู่ไม่ได้ เช่นเราไม่มีอาหารกิน ก็อยู่ไม่ได้ เพราะสัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร เราไม่มีเสื้อผ้านุ่งห่ม ปกปิดร่างกาย เข้าสังคมไม่ได้ กับร้อนก็ไม่ได้ กันหนาวก็ไม่ได้ กันเหลือบกันยุงที่จะมาขบกัดร่างกายก็ได้ ผ้าสำหรับปกปิดความละอายก็ไม่มี เราจะต้องซ่อนตัวอยู่ในป่า ในถ้ำตลอดเวลา ไม่สามารถจะออกไปสู่ที่ชุมนุมชนได้ ถ้าเราไม่มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เรามีอะไรเป็นที่พักพิงร่างกาย คนเรามันต้องมีหลักมีฐาน หลักก็คืองาน ฐานคือบ้านเรือนที่อยู่อาศัย จึงต้องมีบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัย ร่างกายของเราเป็นสิ่งไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา บางครั้งบางคราว ก็เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยโรคนั้น ด้วยโรคนี้ เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้น ก็ต้องไปหาหมอ ต้องขอยาเค้ามารับประทาน ไปหาหมอเฉยๆ มันก็ไม่ได้ ยาเขาไม่มี เพราะเราไม่มีสตางค์ไปซื้อเราจึงต้องหาสตางค์ การแสวงหาสตางค์ก็เป็นหน้าที่อันนึงของชีวิต เรียกว่าทำงาน งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข ถ้าเราเป็นคนทำงาน เราก็จะได้ผลของงาน ผลของงานนั้นจะกลายเป็นมาเป็นอาหาร เป็นเสื้อผ้า เป็นที่อยู่อาศัย เป็นยาสำหรับแก้ไข้ และเป็นอะไรอะไรทุกอย่างที่เราต้องการ เป็นแก้วสารพัดนึกที่เราจะนึกอะไรก็ได้ ถ้าเรามีปัจจัยเครื่องใช้สอย ปัจจัยนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ ตามธรรมชาติ แต่เราจะต้องไปแสวงหา ปัจจัยไม่มาหาคน แต่คนต้องไปหาปัจจัย การไปหาปัจจัย ก็คือการทำงาน ตามหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมาย คนเราเกิดมาทุกคน มีหน้าที่ประจำตัว มีหน้าที่ในครอบครัว มีหน้าที่ในสังคม มีหน้าที่ต่อประเทศชาติ มีหน้าที่ต่อพระศาสนา บรรดาหน้าที่ทั้งหลายที่กล่าวมานี้ เป็นกิจที่เราจะต้องทำ หน้าที่คือกิจที่เราจะต้องทำ หนักก็ต้องทำ เบาก็ต้องทำ ไกลใกล้ก็จะต้องกระทำ เพราะมันเป็นหน้าที่ หน้าที่เป็นสิ่งที่เราหลีกไม่ได้ ทุกคนต้องผจญต่อหน้าที่ ต้องต่อสู้กับหน้าที่ที่เราจะต้องปฏิบัติ เพราะชีวิตคือหน้าที่
ดังคำที่เคยกล่าวเสมอว่า งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข เราจึงต้องทำชีวิตให้เป็นงาน ในการทำงานนั้น ต้องทำงานด้วยความพอใจ ทำให้เป็นสุข อย่าทำให้เกิดความทุกข์ เกิดมีปัญหาทางใจ คนบางคนทำงานด้วยจิตใจขุ่นมัว เศร้าหมอง หน้าเง้าหน้างอ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ถ้าเค้าไม่พอใจในงานที่เค้ากระทำ เค้าไม่ได้สำนึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพราะงานให้ชีวิต ชีวิตก็ต้องให้เป็นงานต่อไป อะไร อะไร มันเกิดจากงานที่เราทำ ถ้าเราไม่ทำงาน เราจะมีอะไรกิน จะมีอะไรใช้ ต้องนึกถามตัวเองแล้วก็ตอบตัวเองในเรื่องนี้ ให้เข้าใจถูกต้อง เราก็จะกลายเป็นคนรักงาน เป็นคนขยัน เป็นคนเอาใจใส่ เป็นคนใช้สติปัญญาคิดค้น เพื่อทำงานของเราให้เจริญ ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้น ความสุขจะเกิดขึ้นเพราะการทำงาน อีกอันหนึ่ง และเมื่อมีการทำงานแล้ว ก็ได้ผลของงาน คือได้ปัจจัยสำหรับใช้สอย คนมีปัจจัยคือทรัพย์สำหรับใช้สอยนั้น ย่อมมีความสุขทางใจ มีความสุขเพราะมี มีความสุขเมื่อใช้ มีความสุขเมื่อประกอบการงานด้วยปัจจัยนั้นเป็นงานที่ปราศจากทุกข์ มีความสุขเพราะไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินใคร การเป็นหนี้เขานั้น เป็นความทุกข์อีกอย่างหนึ่งในรูป ดังที่พระพุทธเจ้าตั้งศัพท์ว่า อิณา ทานัง ทุกขัง โลเก การมีหนี้เป็นความทุกข์ในโลก เราไม่อยากจะเป็นทุกข์ เราก็ไม่ไปกู้หนี้ของใคร แต่บางคราวอาจจำเป็นจำต้องกู้บ้าง เพื่อเอามาลงทุนขยายงานการให้เจริญก้าวหน้าต่อไป การกู้เขา ก็ต้องมีช่องทางเอาไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ ให้มีทุนมากขึ้นแล้วจะได้ขยายงานต่อไป ถ้าเรากู้เอามากิน มาเล่น มาทำความสนุกสนาน โดยไม่เป็นงานเป็นการ การกู้เงินเช่นนั้น ก็คือการทำตนให้เป็นขี้ข้าเจ้าของเงิน ไม่เป็นความสุขอะไรแก่ชีวิต เราจึงควรกู้เมื่อมีความจำเป็น ในการทำจะสร้างจะทำอะไร และเรามองเห็นว่า มีผลกำไรรออยู่ข้างหน้า ถ้าทำงานสำเร็จชิ้นนี้แล้ว เราจะมีผลมากมาย กู้เงินในรูปอย่างนี้ เอามาใช้เป็นการกู้ที่เป็นประโยชน์ ให้ประโยชน์แก่เราโดยส่วนเดียว ไม่สร้างปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อน แต่ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ควรจะไปกู้เขา เราควรจะมีหลักประจำใจว่า เราจะช่วยตัวเอง จะพึ่งตัวเอง เพื่อแสวงหาทรัพย์ด้วยสติปัญญาความรู้ความสามารถของเรา จะทำให้ทรัพย์เกิดขึ้นในทางที่ถูกที่ชอบ แล้วก็ใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
อันนี้ก็เป็นเรื่องจำเป็นประการหนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนา ท่านจึงสอนคนที่เป็นชาวบ้านให้ทำงานเป็นประการแรก เพื่อ ... ฐานะ เพื่อให้ลุกขึ้นประกอบกิจการงานอันเป็นหน้าที่ พุทธบริษัทต้องมีหลักในการทำงาน ๓ ประการ คือ ๑ ต้องเป็นตื่นตัว ๒ ว่องไว ๓ ก้าวหน้า คำว่า ตื่นตัวหมายความว่าเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จเรียบร้อย ตนมีหน้าที่อันใดต้องวางแผนในหน้าที่นั้นๆ อยู่ตลอดเวลา ต้องสมมุติเหตุการณ์ต่างๆ ว่าถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นเราจะทำอย่างไร เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ต้องวางแผนสมมุติเรื่องให้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในจิตของเรา แล้วก็วางแผนไว้ เมื่อเรื่องนั้นเกิดขึ้นเราก็จะไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องวิ่งหนี แต่เราจะเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นด้วยสติปัญญา ที่เราเตรียมไว้พร้อม อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนตื่นตัว ไม่หลับใหลไม่มอมเมา ไม่ประมาท เป็นผู้พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องทำอย่างว่องไว ไม่เฉื่อยชา ไม่ชักช้า งานอันใดที่เราจะต้องทำให้เสร็จภายในสิบนาทีก็ต้องให้เสร็จภายในสิบนาที อย่าให้ช้าไปยี่สิบนาที สามสิบนาทีเป็นอันขาด ก็การทำอะไรที่ชักช้า เฉื่อยชานั้น จะไม่เกิดผลสมบูรณ์แก่ผู้กระทำ ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าจึงต้องเป็นคนว่องไว ในการปฏิบัติงานอันเป็นหน้าที่ และให้คำนึงถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า กิจใดดีมีประโยชน์ อันเราจะต้องทำ จงทำเสียเดี๋ยวนี้ ทำทันที อย่าช้าอยู่เป็นอันขาด การช้าเพียงวินาทีเดียว ย่อมเสียผลประโยชน์ของตนและของผู้อื่น ชาวพุทธจึงต้องเป็นคนว่องไวอยู่ตลอดเวลา และต้องเป็นคนคิดก้าวหน้า ไม่ใช่พอใจเฉพาะเท่าที่มีที่ได้ เราจะต้องคิดก้าวหน้าต่อไป ให้นึกไว้ในใจเสมอว่า เราเกิดมาเพื่อความก้าวหน้า ไม่ได้เกิดมาเพื่อย่ำอยู่ที่เดิม ไม่ใช่เกิดมาเพื่อถอยหลัง แต่เราเกิดมาเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตในการงานของเรา วันนี้ต้องก้าวหน้ากว่าเมื่อวาน พรุ่งนี้ต้องก้าวหน้ากว่าวันนี้ ปีนี้ต้องก้าวหน้ากว่าปีที่ผ่านมา ปีหน้าก็ต้องก้าวหน้าต่อไป ตามขั้นตอนของการปฏิบัติงาน ผู้นั้นเรียกว่าอยู่เพื่อความเจริญก้าวหน้า ไม่ได้อยู่เพื่อความล้าหลังใครๆ ถ้าเราอยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นการอยู่ชอบ ทำชีวิตให้สมบูรณ์ ให้เรียบร้อยขึ้นอีกประการหนึ่ง ความสุขก็จะเกิดขึ้นแก่เราทั้งหลาย ว่าเราทำงานเราก็ได้ทรัพย์สมบัติ (27.33 เสียงขาดหายไป) คนมีทรัพย์แต่ใช้ไม่เป็นก็เป็นทุกข์ ใช้เป็นก็มีความสุข พระพุทธเจ้าจึงวางหลักให้เราใช้ทรัพย์ คือได้ทรัพย์มาแล้วต้องวางแผนว่าจะเก็บสักเท่าไหร่ จะใช้สักเท่าไหร่ จะทำอะไรเพื่อให้เกิดดอกออกผลต่อไป ในสามเรื่องนี้ ท่านพูดเรื่องเก็บก่อน คือการเก็บนี่เป็นเรื่องสำคัญเพราะคนเราแม้หาทรัพย์ได้ แต่ไม่ค่อยจะรู้จักเก็บทรัพย์ มักจะเพลิดเพลินไปกับการจับจ่ายใช้สอย วันไหนวันเบิกเงินเดือนเนี่ย ตามไหน ตามตลาดใหญ่ๆ จะมีคนเต็มไปหมด ไปซื้อของกันเป็นการใหญ่ ราวกับว่าของมันจะหมดจะสิ้นไปจากโลกอย่างนั้นแหละ ต้องไปรีบซื้อมาเสีย ถ้าไม่ซื้อแล้วของมันจะหมดไป
อันนี้คือความคิดที่ไม่ดี เป็นความคิดที่เป็นไปเพื่อความสุรุ่ยสุร่าย ในการจ่ายทรัพย์สมบัติ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีหลักคำสอนให้เป็นคนสุรุ่ยสุร่าย แต่มีหลักคำสอนให้เป็นคนรู้จักประหยัดอดทนในการจับจ่ายใช้ทรัพย์ในชีวิตประจำวัน เพราะงั้นท่านจึงสอนหลักให้เก็บก่อน เช่นพอได้เงินมานี้ต้องคิดทันทีว่า เดือนนี้จะเก็บสักเท่าไหร่ ก็เอาไปฝากธนาคารซะ อย่าเก็บไว้ที่บ้านที่เรือน เพราะการเก็บไว้ที่บ้านที่เรือนนั้น มีหวังว่าจะเสียหายได้ง่าย เราควรจะเอาไปเก็บไว้ที่ธนาคาร ฝากแบบออมทรัพย์ไว้ก่อน เมื่อมากขึ้นค่อยถอนเอาไปฝากแบบประจำต่อไป ไม่จำเป็นก็อย่าไปถอนเอามาใช้ ถ้าจำเป็นจริงๆ เรียกว่า จำเป็นจะต้องทำอะไร ซึ่งจำเป็นแก่ชีวิต เราจึงถอนมาใช้ ถ้ายังไม่จำเป็น เราก็ไม่ถอนมาใช้ เงินนั้นก็เหลือไว้ สำหรับใช้จ่ายเมื่อคราวจำเป็น ชีวิตของคนเราเป็นสิ่งไม่เที่ยง บางวันก็สบาย บางวันก็ไม่สบาย แล้วเราอยู่หลายคนในครอบครัว เดี๋ยวคนนั้นดี คนนี้ร้าย คนนั้นสบาย คนนี้ไม่สบาย อะไรต่างๆ นานา เราเป็นผู้รับผิดชอบในชีวิตครอบครัว ก็ต้องมีเงินทองไว้จับจ่ายใช้สอย เช่นเกิดการเจ็บไข้ ก็ต้องมีเงินไว้เพื่อการรักษา ถ้าเราไม่เก็บไว้มั่งเราจะทำอย่างไร เราก็ต้องไปกู้ไปยืมเขา การไปกู้ไปยืมนั้น เขาคิดดอกเบี้ย ยืมมาร้อยบาท เค้าให้มา ๘๐ เค้าชักดอกไว้เสียแล้ว ๒๐ บาท ยังไม่ทำอะไร เอาดอกไปแล้ว แล้วเราก็ต้องจ่ายคืนให้เค้าครบตามกำหนดที่เราได้ไปยืมเขามา ถ้าใช้ไม่หมดก็ต้องคิดดอกเพิ่มขึ้นอีก อันนี้คือความเสื่อมของชีวิต ในทางเป็ฯหนี้เป็นสิน เราไม่อยากจะเป็นเช่นนั้น ก็ต้องเก็บไว้ เผื่อขาดเผื่อเหลือในชีวิตประจำวันบ้าง เมื่อเราเก็บแล้วก็ต้องแบ่งไว้สำหรับใช้จ่าย ใช้เรื่องอะไร เรื่องที่จำเป็นสำหรับชีวิต คือเรื่องอาหาร เรื่องเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เหย้าเรือนที่อยู่อาศัย หยูกยา สำหรับแก้ไข้ อันนี้เป็นสิ่งจำเป็นใช้เท่าที่จำเป๊น จำเป็น จริงๆ ถ้าไม่จำเป็น เราก็ไม่ใช้ เวลานี้ประชาชนคนทั่วไป ใช้เงินโดยไม่จำเป็น จะเห็นได้ง่ายๆ เวลาไปเที่ยวบ้านนอกบ้านนา ไปไหนๆ ต่างบ้านต่างเมือง ทุกคนอยากจะไปซื้อของเห็นอะไรเป็นต้องซื้อ เห็นอะไรเป็นต้องซื้อ ซื้อโดยไม่จำเป็นแล้วก็ซื้อราคาแพง เพราะว่าเราไม่รู้จักราคา เค้าบอกเท่าใด เราก็ซื้อเท่านั้น ได้ของที่ไม่ค่อยดีด้วย ราคาก็แพงด้วย เป็นนิสัยชอบซื้อ ถ้าไปในตลาดใหญ่ก็ซื้อกันใหญ่ ซื้อจนหมดเงิน แล้วขอยืมคนอื่นมาซื้อต่อไป อันนี้คือนิสัยสุรุ่ยสุร่าย ซื้อโดยไม่จำเป็น ของมีแล้ว ก็ยังไปซื้อมาใช้ จะมีความสุขได้อย่างไร เราก็จะมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนเกิดขึ้นในชีวิต เพราะเรื่องการจับจ่ายใช้สอย เรานั้นก็จะซื้ออะไร ก็ต้องถามตัวเอง ท่องคาถาเสียก่อนว่า จำเป็น หรือไม่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ซื้อ ถ้าจำเป็นจึงจะซื้อ คำว่าจำเป็นนั้นหมายความว่า ถ้าเราไม่ซื้อสิ่งนั้น เราจะตาย ไม่ได้กินสิ่งนั้น ไม่ได้ดื่มสิ่งนั้น เราจะตาย อย่างนี้มันจำเป็น แต่ถ้าไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ซื้อมันก็ไม่ตาย เค้าเรียกว่ายังไม่จำเป็นอะไร จึงต้องท่องคาถาว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น เมื่อไม่จำเป็นเราก็ไม่ใช้ เงินมันก็เหลือ ไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินใครให้ต้องลำบาก มีอีกอย่างหนึ่งท่านสอนว่า ให้ลงทุนไว้บ้าง คำว่าลงทุนนั้นหมายความว่า ไปเข้าหุ้น เข้าส่วน ประกอบกิจการงานที่มีหวังผลว่าจะได้กำไรกลับมา ไม่ใช่ลงทุนไปเล่นแชร์เล่นหวย เข้าหุ้นหาอะไร อะไรต่างๆ ที่เป็นเรื่องกรณีพิพาทไม่จบไม่สิ้น อย่างนั้น เราลงทุนด้วยความโง่ ความเขลา ด้วยความอยากจะได้ผลมากเกินไป ไม่นึกถึงคำภาษิตคนไทย ที่ว่า โลภมาก ลาภมันก็หายไป โลภมาก ลาภหาย เพราะไอ้อยากได้มาก ลาภจึงหายไป จึงเป็นความทุกข์เป็นความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันอีกเหมือนกัน ดังนั้นการลงทุนนี่ก็ต้องพิจารณนาว่าควรจะลงทุนอะไร แล้วจะได้กำไรแน่นอนหรือไม่ อย่าให้เค้าหลอกเค้าต้มเรา ในทางที่จะต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติเป็นอันขาด อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ
ในเรื่องการจับจ่ายใช้สอย อีกประการหนึ่ง คนบางคนนั้นเค้าไม่ค่อยพอใช้ ก็เพราะว่า มีความชั่วเข้ามาช่วยทำให้เงินหมดไปสิ้นไป ความชั่วนั้นก็คืออบายมุข ๖ อย่าง อันแพร่หลายอยู่ในบ้านเมืองของเราเวลานี้ คือเล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน คบเพื่อนชั่ว สนุกสนานในทางสิ้นเปลือง เกียจคร้านการงาน อันนี้เป็นความเสื่อมในสังคมของมนุษย์ คือเล่นการพนัน เสพของเสพติด เที่ยวกลางคืน คบเพื่อนชั่ว สนุกสนานในทางสิ้นเปลือง เกียจคร้านการงาน ถือว่าเป็นความเสื่อมอย่างยิ่งใหญ่ในชีวิตของคนเราในประเทศไทยนี้ สำหรับปีใหม่จึงใคร่จะขอรบกวนท่านทั้งหลาย ให้ได้นั่งลงพิจารณนาถึงโทษของสิ่งเหล่านี้ ว่าการเล่นการพนันนี้มีโทษอย่างไร เสพของเสพติดมีโทษอย่างไร เที่ยวกลางคืนมีโทษอย่างไร คบเพื่อนชั่วมีโทษอย่างไร สนุกสนานในทางสิ้นเปลืองมีโทษอย่างไร เกียจคร้านการงานมีโทษอย่างไร ขอให้พิจารณนาให้ละเอียดรอบคอบ จะว่าให้ฟังอีกสักหน่อยก็ได้ ว่าถ้าเราเล่นการพนันนั้น หนึ่งเราจะต้องเสียทรัพย์ คือเมื่อชนะ ย่อมก่อเวร เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ ทรัพย์ที่เรามีก็จะหมดไปสิ้นไป ไม่มีใครเชื่อถ้อยฟังคำของเรา แต่เมื่อจะไปสัญญาอะไรกับเขา คนดีเค้าก็ดูหมิ่น ไม่อยากจะแต่งงานด้วย ฐานะล่มจมเสียหาย อันนี้เห็นตัวอย่างอยู่ถมไป คนบางคน พ่อแม่หาเงินมากองไว้ให้ใช้จ่ายมากมาย แต่ครั้นพอพ่อแม่ต่ายไปแล้ว ลูกก็ไปคบเพื่อนชั่ว เพื่อนก็จูงไปบ่อนการพนัน ชวนกันไปดื่มเหล้า ชวนกันไปเคล้านารี ผลที่สุด เงินทองหมด กลายเป็นคนยากคนจน ไม่รู้ทำมาหากินต่อไป อันนี้คือความเสื่อมที่จะเกิดขึ้นแก่เราทั้งหลาย ในบ้านเมืองของเรานี้ มีผีตัวนี้แพร่หลาย คือผีการพนัน โดยเฉพาะผีหวย ผีเบอร์นี่เป็นกันมาก จนกระทั่งไปไหว้ต้นตาล ไปไหว้ต้นไม้ เพื่อขอหวยขอเบอร์จากต้นไม้ต่างๆ จากก้อนหินดินทรายต่างๆ ก็แสดงว่าเรานั้นมันโง่กว่าต้นไม้ โง่กว่าก้อนหิน โง่กว่าจอมปลวก จึงไปเที่ยวไหว้สิ่งเหล่านั้น เสียเหลี่ยมของพุทธบริษัท พุทธบริษัทมีลักษณะเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส จึงไม่ควรจะไปไหว้สิ่งเหลวไหลเหล่านั้น แต่ควรจะแสวงหาสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา เคารพนับถือสิ่งที่ดีกว่าตน ไม่ใช่เคารพนับถือกราบไหว้สิ่งที่ไม่ดีเหมือนตน หรือเลวกว่าตนด้วยซ้ำไป
อันนี้เป็นความเสื่อมความเสียหาย การคบเพื่อนชั่ว ก็จะจูงเราไปในทางชั่ว พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไว้ในมงคลสูตรว่า อะเสวะนา จะ พาลานัง อย่าคบคนชั่ว ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ให้คบด้วยบัณฑิต เพราะปัญหาคือการคบหาสมาคมนี้มันมีมาก มันสร้างมันทำลายก็ได้ ถ้าเราได้คบคนดี ที่เป็นบัณฑิตก็เป็นไปเพื่อสร้างสรรค์ เขาจะแนะแนวทางสร้างสรรค์ให้แก่เรา ถ้าไปคบอันตพาล ก็เป็นไปเพื่อการทำลาย เขาจะแนะนำเราในทางเสื่อมทางเสีย ชวนเราไปบ่อนการพนัน ชวนเราไปซ่อง ชวนเราไปดื่มเหล้า ชวนเราไปลักไปขโมย แล้วก็ชวนเราเข้าคุกเข้าตาราง อันล้วนแต่เป็นเรื่องเสียหายทั้งนั้น เราจึงควรจะได้พิจารณางดเว้นจากสิ่งชั่วร้ายคือการพนัน เพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในชีวิตในครอบครัว และส่วนรวมคือประเทศชาติ เรื่องที่สองคือเสพสิ่งเสพติดให้โทษ กับสิ่งเสพติดไม่ให้โทษมันก็มีเหมือนกัน อาหารนี่ก็เป็นสิ่งเสพติดเหมือนกัน ก็ถ้าไม่กินเราก็อยู่ไม่ได้ แต่ว่ามันไม่ให้โทษอะไร อาหารนี่มันไม่ให้โทษ ให้คุณแก่ร่างกาย แต่ว่าสิ่งเสพติด เช่นสุราเมรัย กัญชา ยาฝิ่น เฮโรอีน ผงขาว อะไรต่างๆ นั้น เสพติดแล้วมันก็ให้โทษแก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายเราชำรุดทรุดโทรมเปลี่ยนแปลงไป เสื่อมเสียอะไรหลายอย่าง หนึ่งคือว่าเสียทรัพย์ สองเกิดลูก สามก่อการทะเลาะวิวาท สี่หน้าด้าน ไม่รู้จักละอาย ชอบทำอะไรแปลกๆ แผลงๆ ด้วยประการต่างๆ แล้วก็เป็นคนที่คนดี เค้าไม่อยากคบหาสมาคมด้วย สติปัญญาก็เสื่อมถอย สมองเสื่อมลงไปและตกต่ำ อันนี้คือความเสื่อมแห่งชีวิตอันเกิดขึ้นจากผีสุราเมรัยซึ่งเรียกว่าสิ่งเสพติด ถ้าเราไปเที่ยวกลางคืน ความสุขนอกบ้าน แต่ธรรมชาติของสัตว์เนี่ย เค้ามีกลางวันไว้ให้ทำงาน กลางคืนให้พักผ่อน แต่สมัยนี้ไฟฟ้ามันสว่างไสว ดูเหมือนกับเป็นกลางวัน เราจึงไม่หลับนอนพักผ่อนในเวลากลางคืน กลับไปเที่ยวไปสนุก ไปถ่างตาดูนั่นดูนี่อันเป็นเรื่องสนุกสนาน หาโรคหาภัยใส่ตัว คนเที่ยวกลางคืน นี่ชื่อว่าไม่รักษาตัวไม่รักษาทรัพย์ ไม่รักษาครอบครัว มักถูกใส่ความ มักถูกทำร้าย เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลาย ในการที่เห็นเราเดินด้อมๆ มองๆ อยู่ในตรอกในซอย เขานึกว่าเป็นพวกขโมย กลัวจะมาปล้น มาตัดช่องย่องเบา ของใคร ตอนนี้ก็ถูกตำรวจจับเอาไปโรงพักไปนอนอยู่ในกรง เหมือนกับสุนัขถูกขังกรงอะไรอย่างนั้น นั้นเป็นความเสื่อมของชีวิตอย่างเหลือหลาย เราจึงควรหลีกเลี่ยง จากการเที่ยวในเวลากลางคืน สิ่งทั้งหลายที่เป็นของชั่วเกิดจากการคบหาสมาคม เราจึงควรจะหลีกเลี่ยงจากการคบเพื่อนชั่ว หันมาคบเพื่อนดี แล้วก็เป็นคนที่ไม่ใช้จ่ายทรัพย์สุรุ่ยสุร่าย ในเรื่องเหลวไหลประการต่างๆ หัดมาเป็นคนขยันในการทำมาหากิน ช่วยตัว ช่วยครอบครัว ช่วยชาติ ช่วยประเทศให้มีความมั่นคงก้าวหน้าต่อไป ด้วยการหลีกเลี่ยงจากสิ่งเหล่านี้ ชีวิตเราก็จะเป็นสุข สามารถจะตั้งเนื้อตั้งตัวได้ เป็นหลักเป็นฐาน อยู่เป็นชาวบ้านสมบูรณ์พูนสุข ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อน อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอันนึงในชีวิต ที่เราต้องการ แต่เราไม่ทำให้สำเร็จประโยชน์ ตามที่เราต้องการ ก็เราชอบตามใจตัวเอง ชอบไหลไปตามความอยาก ไหลไปตามความอยากความปรารถนา ไม่คิดที่จะช่วยตัวเองให้หลุดรอดพ้นจากความชั่วความร้าย เราจึงเป็นเหมือนกับดอกบัวใต้น้ำที่ไม่บาน แต่เน่าเป็นเหยื่อเต่าเหยื่อปลาไปซะเลย อันนี้คือความเสียหาย ในชีวิตของเราทั้งหลายประการหนึ่ง จึงขอให้ได้สำรวมระวังในวันปีใหม่ ตั้งต้นชีวิตใหม่ ด้วยการตั้งจิตอธิษฐานใจว่า เราจะเป็นไท เราจะเป็นมนุษย์ เราจะเป็นพุทธบริษัทที่สมบูรณ์ ที่เรียกว่าเป็นไทนั้น หมายความว่าเป็นคนมีใจเปนอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของความชั่วประการต่างๆ ไม่เป็นทาสการพนัน ไม่เป็นทาสสิ่งเสพติด ไม่เป็นทาสความสนุกสนานทางเนื้อหนังในยามราตรี ไม่เป็นทาสของเพื่อนชั่วเพื่อนร้าย ไม่เป็นทาสของการสุรุ่ยสุร่ายจ่ายทรัพย์ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นทาสของความเกียจคร้าน ไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างนี้เราก็เป็นไท เป็นไทโดยน้ำใจ อย่าเป็นไทโดยทะเบียนในสำมะโนครัว ให้เราเป็นไททั้งกายทั้งใจ
ประการที่สอง อันที่ถามใจว่าเราจะเป็นมนุษย์ มนุษย์หมายความว่าผู้มีใจสูง ใจสูง คือใจพ้นจากความชั่วความร้าย เหมือนกับดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำ น้ำสกปรก โคลนสกปรก แต่ดอกบัวไม่เปื้อนเลยน้ำเหล่านั้น ดอกบัวเป็นดอกไม้สะอาดที่สุด เราจึงชอบเก็บไปบูชาพระ พระพุทธเจ้าประทับนั่งบนดอกบัว ก็หมายความว่าชีวิตพระพุทธองค์นั้นสะอาดตลอดเวลา เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นอยู่อย่างสะอาด ต้องเป็นอยู่อย่างมนุษย์ คือสูงพ้นจากความชั่วความร้าย ความชั่วร้ายทั้งหลายไม่เข้ามาท่วมท้นจิตใจของเราได้ เราก็เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เป็นคนสมบูรณ์ขึ้นมา เราเป็นพุทธบริษัท พุทธบริษัทคือบุคคลที่เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส เป็นผู้รู้ คือรู้ว่าตัวเรา คือใคร เรามีหน้าที่อะไร เวลานี้เราควรจะทำอะไร เราเป็นผู้น้อย เราเป็นผู้ใหญ่ เราควรจะปฏิบัติตนอย่างไร เมื่ออยู่ในฐานะใด ตำแหน่งใด ในเวลาใด ให้ปฏิบัติตนให้เหมาะให้ควรแก่ตำแหน่ง แก่หน้าที่นั้นๆ เรียกว่าเป็นผู้รู้ หรืออีกอย่างหนึ่งเป็นผู้รู้เหตุของเรื่องต่างๆ รู้ผลของเรื่องต่างๆ รู้จักตัวเองว่าตัวเราคือใคร มีหน้าที่อย่างไร รู้จักประมาณในการกิน การอยู่ การจับจ่ายใช้สอย การปฏิบัติงานให้เป็นไปด้วยความพอดี ด้วยความรู้จักประมาณ รู้จักเวลา ว่าเวลานี้เป็นของที่ไม่อยู่นิ่ง มันไหลเลื่อนไปตลอดเวลา เมื่อใดไหลไปแต่เวลาอย่างเดียว แต่ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปด้วย คือทำให้แก่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงแก่ความตาย เพราะเวลาที่มันเปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง เราจึงต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ทุกวินาทีของชีวิต เป็นสิ่งมีค่า ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าให้เวลาผ่านพ้นไป โดยเราไม่ได้ทำอะไร เพราะมันผ่านไปแล้ว เพราะมันผ่านไปแล้ว มันทำให้เราแก่ลงไปด้วยใกล้ความตายเข้าไปด้วย ให้คิดอย่างนี้ไว้ จึงเรียกว่ารู้จักเวลา รู้จักบุคคลที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ว่าคนนี้เป็นนักปราชญ์ หรือว่าเป็นอันตพาล เป็นคนทำลาย หรือเป็นคนสร้างสรรค์ เป็นคนเอ็นดูเรา หรือเป็นคนเกลียดเรา เป็นคนช่วยเราหรือเป็นคนทำลายเรา เราต้องรู้ ต้องเข้าใจ ต้องเข้าไปใกล้คนดี มีประโยชน์ อย่าเข้าใกล้คนชั่วคนร้าย ประชุมชนคือคนมาก คนมาประชุมกัน เราก็ต้องรู้ว่าประชุมนี้ เป็นประชุมของพวกไหน พวกอันตพาล หรือพวกบัณฑิต พวกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้พิจารณนาเอาตัวให้รอด อย่าไปคลุกคลี กับประชุมคนชั่วร้าย ให้หลีกหนีจากชั่ว จากร้าย ด้วยประการทั้งปวง อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้รู้อยู่แล้ว เป็นผู้ตื่นก็หมายความว่า เตรียมพร้อมที่ปฏิบัติหน้าที่การงานของเรา ดังที่กล่าวมาแล้วเมื่อตอนต้น และเราจะต้องเป็นผู้ที่มีความเบิกบานแจ่มใสในความดี ในความงาม ในการบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญกุศล อย่าหาความเบิกบานด้วยการทำชั่ว เช่นด้วยการเล่นการพนัน ด้วยการดิ่มสุราเมรัย ด้วยการเที่ยวกลางคืน ด้วยการนั่งหัวเราะกับคนชั่วคนร้าย ในบ่อนพนัน อันนี้ไม่ใช่เป็นความเบิกบานที่ถูกต้อง เราจะต้องเบิกบานด้วยการประพฤติธรรม ด้วยการทำใจให้สะอาด ทำใจให้สงบ ทำใจให้สว่าง จึงจะเป็นการเบิกบานแจ่มใส ตามหลักพระพุทธศาสนา อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้เบิกบานแจ่มใส พุทธบริษัท ต้องเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส โดยนัยดังที่ได้กล่าวมา เราอยู่ในรูป ต้องอยู่อย่างนี้ จึงจะมีความสุขความสบาย
แม้ว่าบางทีเรามีทรัพย์มีสมบัติ คือมีลาภ มียศมีสรรเสริญ มีความสุขทุกประการแล้ว แต่ว่าเราก็ไม่มีความสบายใจ ยังมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจอยู่ตลอดเวลา เคยสนทนากับคนที่มันมีทรัพย์สมบัติ มีบ้านใหญ่โต มีรถยนต์หลายคันว่า มีความสุขดีหรือเปล่า ท่านผู้นั้นก็ตอบว่า แหม ปัญหาอย่างนี้ไม่มีใครเคยถาม ท่านเจ้าคุณมาถาม ผมจะบอกว่า มันก็มีความทุกข์เหมือนกัน คนจนนี่เค้านึกว่าคนมั่งมีเป็นสุข หารู้ไม่ว่า ความจน กับเป็นคนจนเป็นทุกข์แล้ว คนมั่งมีก็เป็นทุกข์เหมือนกัน แต่มันทุกข์กันคนละแบบ แม้เป็นราชามหากษัตริย์ ท่านก็เป็นทุกข์ตามแบบของพระราชา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี ก็เป็นทุกข์ตามแบบของนายกรัฐมนตรี เป็นอะไรมันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น แม้เป็นเทวดา ก็ยังมีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ ความมีความเป็นนี่มันทำให้เป็นทุกข์ ที่นี้เราจะไม่เป็นทุกข์เพราะอะไร เรื่องนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราจะต้องศึกษาทำความเข้าใจ ทำชีวิตของเราให้ดีขึ้น คือเราจะต้องไม่ไปติด ไม่อยู่ในสิ่งหลายทั้งปวง ให้คิดไว้ในใจทุกวันๆ ทุกเวลาว่า สิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง มีความทุกข์ในตัวมันเอง และไม่เป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ คนเราไม่เข้าใจความจริง ในสิ่งทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ไปมองเห็นว่ามันคือของเที่ยง ไปเสียบ้าง มันเป็นสุขบ้าง มันเป็นตัวตนที่แท้จริงขึ้นมาบ้าง แล้วเข้าไปกอดจับยึดถือเอาสิ่งนั้น นึกว่าสิ่งนั้นเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เวลาไม่มีไม่ได้ ก็นั่งกลุ้มใจเป็นทุกข์เดือดร้อน ด้วยประการต่างๆ พอมีพอได้ขึ้นมา ก็แสดงอาการลิงโลด ดีอกดีใจจนเกินขอบเขต พอมันเปลี่ยนแปลง มันก็เป็นทุกข์มากเหมือนกัน คล้ายๆ กับคนขึ้นต้นไม้ ขึ้นไปสิบเมตร ลงมันก็สิบเมตร ขึ้นเท่าไหร่ มันก็ลงเท่านั้น ไม่ใช่ว่า ขึ้นไปเท่าไหร่ แล้วจะย่อส่วนลงน้อยลงไป มันก็ไม่ได้ มันก็ต้องลงเท่าขึ้น ความดีใจมีมากเท่าใด พอถึงบทเสียใจก็มีมากเท่านั้น เรารักสิ่งใดมาก เราก็ต้องเสียใจมาก เพราะสิ่งนั้นสูญหายไป พ่อแม่รักลูกคนใดมาก ลูกคำนั้นตายจากไป ก็เศร้าโศรกเสียใจมาก เรารักอะไร รักเท่าใด เราก็เสียใจเท่านั้น เพราะงั้นคนที่มีความรัก ก็ต้องมีความทุกข์ มีความยึดติดในสิ่งใด ก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น
ในทางพระพุทธศาสนา จึงสอนให้รู้จักปล่อย ให้รู้จักวาง เรื่องสอนให้ปล่อย ให้วาง มีอยู่แต่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีอยู่ในคำสอนของศาสนาอื่นๆ เพราะงั้นคนในศาสนาอื่น มักจะเป็นทุกข์มาก เมื่อสูญเสียสิ่งที่รัก ที่ชอบใจไป แต่คนนับถือพระพุทธศาสนานั้น มีความเศร้าโศกเสียใจน้อย เพราะมีความคิดได้ ว่าเอ้อ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรเป็นของเที่ยง ไม่มีอะไรเป็นของแท้ ไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่ถาวร มันเป็นแต่เพียงสิ่งซึ่งปรุงแต่ง เกิดขึ้น ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่งเท่านั้น ความทุกข์ในทางใจ มันก็ไม่เกิดมาก เพราะเรารู้เท่ารู้ทัน สิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง เพราะงั้นในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท ต้องเอาหลักปรมัตถธรรมหรือโลกุตรธรรมของพระพุทธเจ้ามาใช้ ในชีวิตประจำวัน แม้เราจะเป็นชาวบ้าน ชาวเมืองเป็นพระสงฆ์หรือเป็นอะไรก็ตาม เรามีหน้าที่อันใด เราก็ทำงานไปตามหน้าที่ แต่ว่าในการทำงานตามหน้าที่นั้น ก็ต้องรู้ไว้ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เหมือนใจเรา ไม่ได้ดังใจเรา เราจะไปหวังว่าจะได้เท่านั้นเท่านี้มันก็ไม่ได้ เพราะสิ่งทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจของเรา เราบังคับมันไม่ได้ เราจึงต้องทำใจว่า เรามีหน้าที่เพียงแต่ทำ ส่วนผลที่จะเกิดขึ้น มีปริมาณเท่าใดนั้น เราไปบังคับเอาไม่ได้ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่จะปรุงแต่งให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นมา เช่นเราปลูกข้าวลงไปในนา เราจะหวังผลว่าจะได้ทะลาย (52.26 เสียงไม่ชัดเจน) ละสามสิบ สี่สิบถัง มันก็ไม่ได้เสมอไป เพราะบางทีฝนมันมาก ข้าวตายหมด บางทีฝนแล้ง ข้าวก็ตายไปหมดอีกเหมือนกัน เราไปบังคับฟ้า บังคับฝนก็ไม่ได้ บังคับต้นข้าวให้เติบโตก็ไม่ได้ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่จะต้องเป็นอย่างนั้น เราจึงต้องพิจารณนาไว้ว่า ไม่มีอะไรที่เราจะบังคับได้ตามชอบใจ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติ เราบังคับธรรมชาติไม่ได้ แต่ว่าธรรมชาติมันบังคับเราได้ ทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปในรูปต่างๆ ถ้าเรารู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติตามสภาพที่เป็นจริง เราก็ไม่ต้องนั่งเศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ กับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น แต่เราจะเพ่งมองสิ่งนั้นด้วยปัญญาว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่มันไม่เที่ยง มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ เวลานี้มันเปลี่ยนไปแล้ว มันสูญไปแล้ว เราอย่าไปคิดถึงมันอีกต่อไปเลย เราคิดวางแผนทำเรื่องอื่นต่อไป ถ้าทำสิ่งด้วยปัญญา ไม่ทำด้วยความโง่ ความเขลา อย่างนี้จะทำให้เรามีความสุขในชีวิตประจำวัน ความสุขของชาวบ้านแบบหนึ่ง ความสุขของพระแบบหนึ่ง ความสุขของพระอริยบุคคลอีกแบบหนึ่ง ความสุขเราอยู่ในฐานะใด ก็ให้รู้จักหาความสุขในฐานะนั้นๆ แต่ว่าถ้าให้เป็นสุขแท้ แม้เป็นชาวบ้านอยู่บ้านอยู่เรือน ก็ต้องเอาหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าไปใช้ ในชีวิตประจำวัน ให้เพ่งพินิจพิจาณนาสิ่งทั้งหลายว่า ไม่มีอะไรที่น่าจะเข้าไปยึดไปถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเราไว้เสมอ ตามหลักพุทธภาษิตที่ว่า สัพเพ ธัมมา นาลํ อภินิเวสายะ ซึ่งแปลว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่น ถือมั่น นั่นแหละจะเป็นเหตุให้เรามีความสุขมีความสงบในชีวิตประจำวัน ในวาระดิถีปี ๒๕๒๙ นี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลาย ตั้งชีวิตจิตใจของท่าน ครอบครัวของท่าน การงานของท่าน ให้เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญด้วยสติปัญญาความรู้ ความสามารถของท่านเอง จงทั่วกัน ทุกท่าน ทุกคนเถิด