แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เมื่อวานนี้เป็นวันเขาเรียกว่าวันเด็ก เป็นวันของเด็กๆ ของชาติ ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ปกครองจะต้องช่วยให้เด็กไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ สนุกสนานกันเสียวันหนึ่ง เรียกว่าเป็นวันจ่ายของคุณแม่คุณพ่อเพื่อให้เด็กไปสนุกกันวันหนึ่ง เป็นประจำทุกปีมา อันเรื่องการจัดวันเด็กนี่ก็เพื่อจะที่เขาพูดกันว่าเพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ ได้เห็นได้รู้อะไรต่างๆ เป็นการเปิดหูเปิดตาเด็กเหล่านั้น เพื่อให้มีความรู้อะไรใหม่ๆ แปลกๆ ขึ้น ได้ไปดูสถานที่ที่ว่าควรจะดูจะชม เช่นว่าพระที่นั่งอนันตสมาคม สภาผู้แทนราษฎร พระบรมมหาราชวัง หรือตามกองทัพต่างๆ ก็เปิดให้เด็กเข้าไปดูไปชมกันทั่วทุกหนทุกแห่ง เด็กก็สนุกสนานร่าเริงกันตามสมควรแก่ฐานะ การจัดวันเด็กขึ้นในรูปดังที่กล่าวนั้นก็เป็นประโยชน์ในทางให้ความรู้ความเข้าใจ แต่ว่าในทางที่สร้างเสริมจริยธรรม คือความประพฤติดีประพฤติชอบของเด็กนั้นมีน้อย ไม่ค่อยจะได้จัดให้เกิดขึ้นเท่าใด เพราะมุ่งเรื่องสนุกเป็นเรื่องใหญ่ ยังไม่สมความมุ่งหมายของการจัดวันเด็กอย่างแท้จริง ก็การจัดวันเด็กขึ้นนั้นก็ควรจะมีจุดหมายว่าให้ทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็กได้เกิดความคิดนึกในทางที่จะช่วยให้เด็กดีขึ้น ให้มีความเข้าใจชีวิตมากขึ้น ให้รู้จักตัวเองมากขึ้น แล้วให้ทำหน้าที่ที่จะต้องกระทำสมบูรณ์ขึ้น อันนี้ควรจะเป็นจุดหมายสำคัญของการจัดงานวันเด็ก มากกว่าการจัดงานวันเด็กเพื่อให้เที่ยวกันแต่ว่าเรื่องก็เที่ยวก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กๆ เหมือนกัน เพราะเด็กเขาชอบสนุกก็ต้องปล่อยเขาไป แต่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กนี่ควรจะได้คิดอะไรบ้าง
ญาติโยมทั้งหลายที่นั่งอยู่นี้มีส่วนสำคัญเกี่ยวกับเด็กด้วยกันทั้งนั้น อย่างน้อยก็เป็นคุณพ่อคุณแม่ เป็นปู่เป็นตาเป็นย่าเป็นยาย ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์จิตใจเด็ก เพื่อให้เจริญงอกงามในทางศีลธรรม เพื่อทำชีวิตให้สมบูรณ์ขึ้น เราทั้งหลายได้คิดหรือเปล่า เมื่อวานนี้ใครได้คิดบ้าง หรือว่าครูอาจารย์ทั้งหลายที่มีหน้าที่สั่งสอนเด็กก็ควรจะได้คิดว่าเราควรจะทำอะไรกับเด็กบ้าง แม้พระสงฆ์ในวัดก็ควรคิดเหมือนกัน ควรคิดว่าเราควรจะช่วยเด็กอย่างไรได้บ้าง เพื่อเป็นการตอบแทนค่าข้าวสุกที่ได้รับมาฉันวันละมื้อสองมื้ออยู่ทุกวันทุกเวลา เราควรจะทำอะไรเป็นการเพิ่มค่าข้าวสุกของญาติโยมทั้งหลายแก่เด็กๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของญาติโยมบ้าง อันนี้ถ้าว่าเราได้คิดนึก แล้วก็ช่วยกันจัดช่วยกันทำ จุดหมายของการจัดงานวันเด็กก็จะมีค่าขึ้น คือจะได้ช่วยกันพร้อมเพรียงกันส่งเสริมจริยธรรมของเด็กให้มีความเจริญก้าวหน้าในทางที่ถูกที่ชอบ ไม่ใช่การจัดงานเด็กเพื่อการสนุกพ้นไปวันหนึ่งๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็คือความสนุก ความสนุกนี่มันเป็นของชั่วแล่น เผลอแป๊บเดียวมันก็หายไป วันเดียวมันก็หายไปแล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องประทับใจเด็กอยู่ตลอดไป แต่ว่าเรื่องการเพาะจริยธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจของเด็กนี่สิเป็นเรื่องสำคัญ
การจัดวันเด็กในปีหนึ่งก็เท่ากับว่าเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลาย ให้เอาใจใส่ในเรื่องเด็กมากเป็นพิเศษ ได้ยินเสียงท่านรัฐมนตรีมหาดไทย พล.เอก.สิทธิ์ จิรโรจน์ ท่านว่าวันเด็กนี่เป็นวันที่ผู้ใหญ่ควรจะคิดในเรื่องการประพฤติปฏิบัติของตนว่าเป็นตัวอย่างแก่เด็กดีพอหรือไม่ ผู้ใหญ่ทั้งหลายได้นำเด็กไปในทางที่ถูกที่ชอบหรือไม่ การปฏิบัติกิจในชีวิตประจำวันเป็นการกระทำเพื่อเป็นตัวอย่างแก่เด็กอยู่หรือไม่ อันนี้เป็นความคิดที่ถูกต้อง เป็นความคิดที่ก้าวหน้าในทางจริยธรรม เพราะว่าเรื่องของเด็กนั้นก็คือเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็กโดยเฉพาะ แต่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเด็กนั้นคือใคร
เบื้องต้นก็คือพ่อแม่ พ่อแม่นี่เกี่ยวข้องกับเด็กมากที่สุด อยู่ใกล้ลูกมากที่สุด พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ยกย่องมารดาบิดาว่าเป็นอะไรหลายอย่างในทางที่มีความสำคัญต่อเด็ก เช่น ยกย่องว่ามารดาบิดานี่เป็นอาจารย์ เป็นครูคนแรกของเด็ก เพระว่าสอนเด็กก่อนใครๆ สอนเด็กให้รู้จักนั่ง รู้จักเดิน รู้จักพูด รู้จักทำอะไร ก็ได้จากครูคือพ่อแม่ เพราะอยู่ใกล้ เด็กจะได้ยินเสียงแม่พูดพ่อพูดอยู่ตลอดเวลา ถ้าพ่อแม่พูดคำหยาบเด็กก็จะถ่ายทอดสิ่งนั้นไว้ในใจ พูดคำสุภาพเรียบร้อยก็จะถ่ายทอดไว้ในใจ ประพฤติตนอย่างใดให้เด็กเห็น เด็กก็จะถ่ายทอดสิ่งนั้นไว้ในใจ ดังนั้น เด็กจึงมีนิสัยคล้ายคุณพ่อคล้ายคุณแม่ สุดแล้วแต่ว่าเด็กอยู่ใกล้ใครมาก ถ้าใกล้แม่มากก็มีนิสัยคล้ายแม่ ใกล้พ่อมากก็มีนิสัยคล้ายพ่อ ทุกอย่างเหมือนพ่อเหมือนแม่ เพราะเขาอยู่ใกล้ ถ่ายทอดอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่จึงเป็นครูสำคัญของเด็กที่สอนเด็กโดยการพูด สอนเด็กโดยการกระทำ สิ่งที่เราพูดเราทำนั้นมันไปประทับอยู่ในใจของเด็ก จิตใจของเด็กเหมือนกับกล้องถ่ายรูปที่เปิดปากกล้องอยู่ตลอดเวลา เราทำอะไรก็ติดอยู่ในฟิล์มคือในใจของเด็ก จะรับเอาสิ่งนั้นไว้แล้วเอาไปดูไปใช้อยู่ตลอดเวลา
พ่อแม่จึงถือว่าเป็นครูคนแรก เมื่อเรานึกได้ว่าเราไม่ได้เป็นแต่ผู้ให้เกิดลูกออกมา แต่ว่าเราเป็นครูสอนลูก ก็ต้องสอนด้วยความตั้งใจ สอนด้วยการพูด สอนด้วยการกระทำ การพูดนั้นเมื่อทำเป็นครั้งคราว แต่ว่าการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่างนั้นทำอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องระมัดระวังตนในการที่จะแสดงอะไรออกไป เช่นว่าพ่อแม่เกิดขัดใจกันขึ้นมาแล้วก็เถียงกันด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ถ้อยคำที่หยาบ หรือว่าดังๆ เกินวิสัยที่มนุษย์จะพูดจากัน ถ้าเรากระทำเช่นนั้นก็เหมือนกับสอนลูกไปในตัว ลูกจะจำภาพเหล่านั้นไว้ เวลาเขาเกิดอะไรไม่พอใจขึ้นมาเขาก็พ่นวาจาแบบนั้นออกมา ถ้าถามเด็กว่าได้มาจากไหน เด็กมันไม่ตอบว่าได้มาจากไหน แต่ว่าผู้ให้ก็คือพ่อแม่นั่นเอง หรือว่าเราจะทำอะไรอื่น เช่น เราจะกิน จะดื่ม จะทำอะไร ก็ต้องระวังเหมือนกัน พ่อบ้านเป็นคนชอบดื่มสุราเมรัย ถ้าเราดื่มเด็กมันเห็น มันก็นึกว่าเป็นเรื่องที่ดีที่งาม เป็นเรื่องที่คุณพ่อเราชอบ เมื่อเราโตขึ้นอีกหน่อยเราก็จะดื่มเหมือนพ่อ เราจะสูบบุหรี่เหมือนพ่อ เราจะทำอะไรเหมือนพ่อ ถ้าแม่ชอบเล่นไพ่เด็กมันก็เห็น เห็นมันก็จำภาพไว้ เรียกว่าถ่ายทอดนิสัย อันนี้สำคัญมาก ถ่ายทอดนิสัยคุณพ่อคุณแม่ แม่ชอบไพ่เด็กก็มีนิสัยชอบไพ่ ทำอย่างใดมันก็เป็นนิสัยที่จะถ่ายทอดไปถึงลูกด้วย ภาพของพ่อแม่เป็นภาพที่ติดอยู่ในใจเด็กตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่ออยู่ต่อหน้าลูก ให้นึกว่าลูกของเรานั้นคอยจดจำกิริยาอาการของเราทุกอย่าง เพราะคนโบราณพูดว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ลูกไม้ผลชนิดใดก็หล่นอยู่ใกล้ต้นชนิดนั้น ลูกใครมันก็เหมือนพ่อแม่ ถ่ายทอดมาทุกอย่างของพ่อแม่ พ่อแม่ที่มีความรักลูก อยากเห็นความเจริญเติบโตทางจริยธรรมของลูกจึงต้องระมัดระวังตนเป็นพิเศษเมื่ออยู่ต่อหน้าลูก จะพูดอะไร จะทำอะไร จะแสดงอะไรออกไปต้องระมัดระวัง อย่าให้ภาพไม่ดีฝังอยู่ในฟิล์มคือจิตใจของลูกเป็นอันขาด อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเราทำได้ก็เรียกว่าเราเป็นครูที่ลูกจะถ่ายทอดสิ่งถูกต้องได้มาก เพราะเราอยู่ในฐานะเป็นครูคนแรกของบุตรธิดา
มารดาบิดานี่พระพุทธเจ้าให้ตำแหน่งถึงสูงไม่ใช่เล็กน้อย เรียกว่าเป็นพระพรหมของบุตรธิดา ในอินเดียนี่เขาถือว่าพรหมนี่เป็นผู้สร้างโลก สรรพสิ่งทั้งหลายเกิดจากอำนาจของพระพรหม เขาจึงพูดกันว่าพรหมลิขิต คนไทยเราก็พูดติดมาจากประเทศอินเดียว่าพรหมลิขิต อะไรๆ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับอำนาจของพระพรหม จะเป็นสุขจะเป็นทุกข์ จะน้ำท่วมแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดขึ้นในโลกนี้ก็เป็นเรื่องของพระพรหมทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเขาว่ามันเป็นเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า คือพรหมนั่นเองเป็นผู้ทำให้
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้รับรองพระพรหมแบบนั้น แต่ว่าถือว่าพรหมนี้คือบุคคลที่มีคุณธรรม ๔ ประการ ได้แก่ เมตตา ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ผู้อื่น กรุณา อดอยู่ไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน มุทิตา พลอยดีใจ ร่าเริง เมื่อเห็นความเจริญก้าวหน้า ความสุขของคนอื่น อุเบกขาคือการเข้าไปเพ่งดูอยู่ ดูอยู่อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ช่วยเหลือเขาต่อไป อันนี้เรียกว่าเป็นลักษณะของผู้ใหญ่ เรียกว่าพรหม
มีพราหมณ์เคยไปถามพระผู้มีพระภาคย์ว่า พระองค์รู้จักพระพรหมไหม พระองค์ตอบว่ารู้จัก รู้จักทางที่จะไปหาพระพรหมไหม พระองค์ก็ตอบว่ารู้จัก เขาก็ถามต่อไปว่าพระพรหมคือใคร พระผู้มีพระภาคย์ตรัสว่า ใครก็ได้ หญิงก็ได้ ชายก็ได้ ถ้าเป็นผู้มีคุณธรรม ๔ ประการประจำใจ คือมีเมตตา ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ผู้อื่น กรุณา สงสารทนอยู่ไม่ได้ เมื่อเห็นใครเป็นทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจก็ต้องเข้าไปช่วย มุทิตา พลอยยินดีเบิกบานในความงามในความดีในความเจริญก้าวหน้าของคนอื่น อุเบกขา คือเข้าไปจ้องดูอยู่ว่ามีอะไรจะช่วยเหลือได้ ก็เข้าไปช่วยเหลือต่อไป ผู้ใดจะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ ถ้ามีน้ำใจประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการนี้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นพรหมแล้ว เป็นพรหมโดยธรรม พระพุทธเจ้าแนะนำให้เป็นพรหมโดยธรรม ไม่ได้เป็นพรหมโดยวิธีอื่น
พราหมณ์ถามว่า ทางที่จะไปหาพระพรหมนี่ไปทางไหน พระองค์ก็บอกว่า ทาง ๔ ทางนี้แหละ ไปทางเมตตา ไปทางกรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่แหละคือทางไปหาพระพรหม เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ เราก็รู้แล้วว่า พรหมก็คือความดีที่อยู่ในใจของเรา ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นพระพรหมได้ เป็นเสียเองซะ ไม่ต้องไปไหว้หน้าโรงแรมเอราวัณ ไม่ต้องไปวิงวอนขอร้องอะไรจากพระพรหมเหล่านั้น แต่ว่าเราเป็นพรหมเสียเอง
โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อแม่ จะต้องเป็นพรหมของลูก คือจะต้องอยู่ในเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ตลอดเวลา พรหมธรรม ๔ ข้อนี้ ที่เมืองไทยเรายังขาดอยู่ก็คือมุทิตา อันนี้ขาด ไม่ค่อยจะได้ใช้กันเท่าใดมุทิตา แต่ที่ได้ใช้กันมักจะใช้เรื่องริษยา ริษยานี่มันตรงข้ามกับมุทิตา เห็นใครดีไม่ได้ หมั่นไส้ เขาพูดชมใครแล้วค้านอยู่ในใจว่าไม่ได้เก่งอะไรหรอก ไม่ดีเท่าใดหรอก สู้ฉันไม่ได้หรอก อะไรอย่างนี้ นี่มันก็เรียกว่าริษยา ไม่อยากให้ใครดี ไม่อยากให้ใครเจริญ ไม่อยากให้ใครก้าวหน้า คอยปัดแข้งปัดขา ไม่ให้ก้าวหน้า ไป ใครจะคิดอะไรขึ้นก็ไม่ยินดีด้วย ไม่เพลิดเพลินด้วย นี่คือลักษณะริษยา
ริษยาเป็นตัวทำลาย มุทิตาเป็นตัวสร้างสรรค์ คนใดมีใจริษยาก็มีใจร้อนอยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ไม่สบายใจ เพราะความริษยามันเกิดขึ้นในใจ ผู้ริษยาเป็นทุกข์ก่อนผู้ถูกริษยา เช่นว่านาย ก ริษยา นาย ข นี่นาย ข ยังไม่รู้ ยังกินได้อยู่ นอนหลับอยู่ เป็นปกติ แต่ว่า นาย ก ร้อนรุ่มกลุ้มใจ ใครพูดถึงนาย ข แล้วมันไม่สบายใจ ใครชม นาย ข ก็ไม่สบายใจ เห็นหน้านาย ข ก็ไม่สบายใจ ผู้นั้นชื่อว่าทำลายตัวเอง ฆ่าตัวเองโดยน้ำใจ ฆ่าร่างกายไม่สำคัญเท่าฆ่าจิตใจหรอก ทำลายจิตใจนี่มันให้โทษมาก ก็ทำลายอยู่ด้วยความริษยานี่เอง จึงเกิดปัญหากันด้วยประการต่างๆ ไม่ว่าปัญหาส่วนบุคคล ครอบครัว ของชาติประเทศ หรือปัญหาทางการบ้านการเมือง มันก็ยุ่งกับไอ้ตัวริษยานี่แหละ ไม่ได้ยุ่งจากตัวไหนหรอก แต่ถ้าทุกคนคอยมุทิตาต่อกันแล้วเรื่องเรียบร้อย ไม่มีปัญหายุ่งยาก อันนี้อยากจะฝากไว้ด้วย
พ่อแม่ต้องเป็นผู้มีพรหมธรรมประจำใจ เพราะเป็นพรหมของบุตร เมตตาต้องหวังให้ลูกเจริญ ความเจริญของลูกนั้นมันมีสองด้าน เจริญทางร่างกาย เจริญทางใจ เจริญทางกายเราก็ต้องเลี้ยงลูกด้วยอาหารที่มีคุณค่า พูดว่าถูกหลักโภชนาการ ควรให้ลูกรับทานอะไรที่มีคุณค่าแก่ร่างกาย ไม่ได้หมายความว่ามันต้องกินของแพงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ของมีคุณค่าอาจจะไม่แพงอะไรก็ได้ อาจจะเป็นของถูกก็ได้ แต่ว่าเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย อาจจะไม่มีความอร่อยทางลิ้นก็ได้ แต่ว่ามันมีประโยชน์แก่ร่างกาย ต้องหัดเด็กให้กินของที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ให้กินง่าย อยู่ง่าย ไม่ให้ติดอยู่ในรสอาหาร ใครเลี้ยงเด็กจะเห็นว่าเด็กกับคุณแม่มักจะเกี่ยงนั้นเกี่ยงนี้ในเรื่องการกิน เพราะคุณแม่มักจะตามใจลูก พอยกนั่นมาให้ หือ ไม่อร่อย หนูไม่กิน ไม่อร่อย แม่ก็ต้องเปลี่ยนให้ ให้ลูกกินของอร่อย แต่บางทีของอร่อยนั้นไม่มีคุณค่าทางร่างกายเลย แต่ว่ามันอร่อยที่ลิ้น กลืนลงไปแล้วก็หมดเรื่อง ของบางอย่างไม่อร่อยแต่ว่าเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย เด็กไม่ชอบกิน เราต้องหาวิธีให้เด็กกินของที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ร่างกายจะได้เติบโตไว แข็งแรง สามารถที่จะทำอะไรได้ อันนี้เรียกว่าอาหารทางกาย แล้วก็ต้องหัดให้กินเป็นเวลา
คนไทยเรานี้กินไม่ค่อยเป็นเวลา จุบจิบ พร่ำเพรื่อ แล้วก็กินมากเกินกว่าความจำเป็น เวลาไปในงานบ้านนอก อย่างมีงานศพเขานิมนต์ไปเทศน์ บอกโยมว่าทำไมกับข้าวมันมากอย่างนี้ล่ะโยม บอกว่าคนมาก คนมากมันไม่ต้องหลายอย่างก็ได้ ให้มันน้อยอย่างแต่ว่าทำให้มากๆ มันก็ได้ ต้องการจะเอาใจคนกิน จึงปรุงอาหารหลายรสหลายเรื่อง เต็มไปหมด พระสี่องค์นั่งนี่เอื้อมกับข้าวไม่ค่อยถึง เพราะมันมาก เลยก็บอกว่ามันมากไปโยม ไอ้อย่างนี้มันฉันไม่ได้ ถ้าน้อยล่ะก็ฉันได้ ถ้าให้พระฉันได้ต่อไปโยมควรทำน้อยๆ อย่าให้มากเกินไป
ครั้งหนึ่งไปที่ตำบลวัดเขาชะโงก พนมสารคาม กับข้าวที่ยกมาให้อาตมาฉันนี้สิบเอ็ดชาม อาตมาบอกว่า “โยม ฉันองค์เดียวทำไมมันมากอย่างนี้” ตอบว่า “นี่ลดแล้ว เกรงใจหลวงพ่อ ก็หลวงพ่อเทศน์วิทยุบ่อยๆ ว่าให้กินอย่างประหยัด เลยลดลงมาแล้ว งานก่อนก็สิบห้า งานนี้เหลือสิบเอ็ด ลดลงไปสี่ชาม” ว่าอย่างนั้น “ ลดแล้วมันก็ยังล้นอยู่ ลดแล้วก็ยังมากเหลือเกิน ก็เลยแนะนำว่าต่อไปเลี้ยงอย่างนี้ดีกว่าซื้อของทำมาก เราก็เลี้ยงนะ คนมากินกันจริงๆ บอกว่าอย่างนี้เปลืองถ้วยเปลืองจานเปลืองทุกอย่าง เปลืองแรงงานที่จะต้องเลี้ยงต้องล้าง ต่อไปนี่เลี้ยงแบบพระพุทธเจ้าดีกว่า รับทานแบบพระพุทธเจ้า โยมบอกว่าพระพุทธจ้ารับทานอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านลงในบาตรทั้งนั้น ข้าวใส่บาตร แกงก็ตักใส่ลงไป ขนมอะไรก็ใส่ลงไปในบาตร ท่านก็ฉันไปตามเรื่อง แต่ว่ายุคพระพุทธเจ้ากับข้าวมันไม่มากหรอก คนอินเดียเขาไม่ได้กินมาก บ้านเรามาก ถึงมากก็ให้ลี้ยงแบบพระพุทธเจ้า ทำอย่างไร เอาข้าวใส่กะละมังวางไว้หัวโต๊ะ แกงสองสามอย่างก็วางต่อไป แล้วก็เอาจานช้อนส้อมมาวางไว้อีกโต๊ะหนึ่ง เดินเป็นแถวเหมือนพระเดินบิณฑบาต คนหนึ่งมาถึงจับจานจับช้อนส้อมไปตักข้าวเท่าที่ตนจะรับทานได้ แล้วไปตักแกงใส่ลงข้างจานราดไปบนข้าว ชอบอะไรก็ตักใส่ลงไป หรือใส่มันทุกอย่างก็ได้ แล้วไปนั่งกินตามสบาย ไปนั่งกินริมแม่น้ำก็ได้ ใต้ต้นไม้ ตรงไหนกินสบาย เพื่อนคนไหนคุ้นกันก็ไปนั่งกินใกล้เพื่อนคุยกัน อย่างนี้เรียกว่าเลี้ยงแบบพระพุทธเจ้า โยมบอก อ้อ ที่เขาเรียกว่า บุฟเฟต์นั่นหรือ นั่นแหละ บุฟเฟต์นั่นมันของฝรั่ง แบบพุทธเฟต์นั่นคือของพระพุทธเจ้านั่นแหละ
แต่ว่าเราแม้เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าแต่ก็ไม่ได้เอามาใช้ เลยไปเอาบุฟเฟต์ของฝรั่งมาใช้ ก็เลี้ยงกัน ในวงราชการอะไรเขาก็เลี้ยงแบบบุฟเฟต์กัน แต่ว่าตามวัดเวลามีงานนี่ แหม ถ้วยชามมันกองเป็นพะเนินเทินทึก คนล้างก็ล้างกันจนมือชาไปเลย มันเปลืองมาก เอาใหม่นะโยมนะ ต่อไป เลี้ยงแบบพระพุทธเจ้าเถอะจะได้สบาย เลี้ยงพระก็เหมือนกัน ถ้าหากนิมนต์พระมามากๆ บอกว่าเอาบาตรมาด้วย แล้วก็เลี้ยงแบบพระพุทธเจ้า ก็สบายดี พระให้ฉันในบาตรเสียบ้าง โยมบอกน่ากลัวท่านจะฉันไม่ได้ ท่านไม่เคยฉัน อ้าวเราก็หัดให้ท่านเคยบ้าง ตามแบบพระพุทธเจ้าเสียบ้างก็จะดี ประหยัด
เราเลี้ยงลูกแบบหัดให้ทานประหยัดตั้งแต่น้อยๆ ให้ทานแบบง่ายๆ แล้วให้ทานให้ได้ ของใดเป็นประโยชน์ให้ทานให้ได้ แล้วก็อย่าหัดให้เด็กติดรสอาหาร เติมนั่นเติมนี่จู้จี้จุกจิก โตขึ้นก็จะเป็นคนเลี้ยงยาก ลำบากเดือดร้อน หัดไปตั้งแต่น้อยๆ ให้เป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย แล้วร่างกายก็จะแข็งแรง ให้กินเป็นเวลา เมื่อเช้ากินอะไร กลางวันทานอะไร เย็นทานอะไร ทานเสร็จไปในตัว มีของคาวของหวานเสร็จ พอหมดเรื่องแล้วปิดห้องครัว ใส่กุญแจไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งต่อไป ให้กินเป็นเวลา เด็กของเราก็จะกินเป็นเวลา ไม่จุกจิกจู้จี้ เป็นคนเลี้ยงง่าย โตขึ้นก็จะเป็นคนอย่างนั้น งานนี้เรียกว่าเลี้ยงร่างกาย
ทีนี้เราเลี้ยงจิตใจต้องหมั่นอบรมบ่มนิสัย อบรมบ่มนิสัยนี้มันบ่มกันอย่างไร เราบ่มผลไม้เอาไปห่อผ้าไว้ อบใส่ไว้ในกองฟาง สมัยก่อนเด็กๆ เห็นผู้ใหญ่เขาบ่มกล้วย เอาไปใส่ลงในไห เขาเรียกว่าเนียงคล้ายกับกับโอ่งเรียกว่าเนียง ลูกเล็กๆ ขนาดนี้เขาเรียกเนียง พอไปใส่ลงในเนียง เอาฟางใส่ ผลไม้ใส่ ฟางใส่ เสร็จแล้วเอาฟางปิดปากไว้ สามวันเราไปเปิดดูก็กินได้แล้ว กล้วยสุกแล้ว มะม่วงสุกแล้ว บ่มคือทำให้ร้อน แต่ว่าสมัยใหม่นี้เขาบ่มด้วยแก๊ส เอาความร้อนแรงมาก ไม่ค่อยดีเท่าใด มันเร่งเกินไป สุกแต่ไม่ค่อยจะเรียบร้อย สู้สุกคาต้นไม่ได้ เรียกว่าบ่มให้มันสุก เรามีลูกนี่เราก็ต้องคอยบ่ม อบรมบ่มนิสัย อบทำให้หอม รมให้มันเปลี่ยนสี เปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาวสะอาด ชั้นแรกอาจจะสีด่างๆ อบไป อบไป อบไปจนกระทั่งว่าขาวบริสุทธิ์ เรียกว่าอบ พอขาวแล้วรมให้หน่อย ให้หอม ให้ดีก่อน ให้มีสิ่งดีสิ่งงามฝังอยู่ในจิตใจเราเรียกว่าอบรม
เรื่องอบรมนี่มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราที่เป็นพ่อแม่นี่ ขออภัยอยากจะกล่าวว่ายังขาดการอบรม คือไม่ค่อยมีเวลาที่จะอบรมลูก ถามพ่อแม่หลายคนบอกมันไม่ค่อยมีเวลาเจ้าค่ะ เพราะว่าต้องไปทำงาน สมัยนี้อาชีพมันรัดตัว พ่อก็ไปทำงาน แม่ก็ไปทำงาน แล้วถามว่าเลิกงานเวลาเท่าใด ถ้าปกติก็ ๑๖.๓๐ เลิกงาน แต่ว่างานบางประเภท เช่น งานธนาคารเขาอาจจะไปเลิกหนึ่งทุ่ม วันไหนปิดบัญชีไม่ลงตัวก็สองทุ่มสามทุ่มถึงจะได้กลับบ้าน เมื่อกลับมาบ้านก็ดึกไปแล้ว ลูกมันก็จะหลับจะนอนกันแล้ว ไม่ค่อยมีเวลา แต่วันเสาร์ล่ะไปไหน วันอาทิตย์ไปไหน วันเสาร์หยุดงานก็ไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อนฝูงมิตรสหาย ทิ้งลูกให้อยู่กับบ้าน ไม่ได้นั่งใกล้ลูก ไม่ได้คุยกับลูก แต่พ่อแม่ไปเที่ยวหาโน่นงานนี่ บางทีก็งานสังคม งานสังคมสงเคราะห์ ถ้าไปทำงานสังคมสงเคราะห์นอกบ้าน แต่ละเลยการสังคมสงเคราะห์ภายในบ้าน งานสังคมสงเคราะห์นั้นมันจะไม่สมบูรณ์ คือสงเคราะห์แต่คนนอกบ้าน แต่คนในบ้านนั่งเหงาอยู่ตลอดเวลา ทีนี้มันก็เกิดปัญหา
เคยดูหนังอินเดีย หมู่นี้ไม่ค่อยฉายหนังอินเดียโทรทัศน์ หนังอินเดียนี้มันดี มีประโยชน์ เป็นคติทุกเรื่อง หลวงพ่อชอบ หนังอินเดียฉายแล้วก็ต้องดูจนจบทุกที มันมีประโยชน์ มันดีกว่าหนังฝรั่ง ดีกว่าหนังจีน สู้ฟันกันจริงๆ โดดขึ้นบนหลังคา มันประหลาดไป แต่อินเดียนี้มันหนังคติธรรม เขาไม่ทิ้งแววของคนอินเดีย คนอินเดียมันเป็นบ่อเกิดแห่งคติธรรม จริยธรรม อะไรหลายเรื่อง เอาเข้าเรื่องเลย คือว่า มีครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่ก็เป็นคนมีฐานะดี เป็นคนกว้างขวางในสังคม พ่อนี่เป็นนักธุรกิจทำงานทำการ แม่ก็เป็นนักสังคมสงเคราะห์ แล้วก็มีลูกสาวลูกชาย แม่ก็ไปช่วยที่นั่นช่วยที่นี่ตลอดเวลา ลูกสาวก็อยู่บ้าน เหงา เด็กมันเหงา กลับมาจากโรงเรียนก็นั่งเหงาอยู่คนเดียว ไม่มีแม่ คุณแม่มัวไปช่วยที่นั่นที่นี่ ที่นี้ต่อมาก็มีพ่อค้า พ่อค้าขายของธรรมดา ขายพวกลูกปัดขายกำไลลูกแก้วขายลูกประคำของเล่นๆ นี่ เขามาขายบ้านนั้น มาทุกวัน ทุกวัน จนคุ้นเคยกับเด็ก เด็กก็ไปชอบใจพ่อค้าคนนั้น ไปโรงเรียน พ่อค้าคนนั้นก็ไปโรงเรียน ไปเยี่ยมเด็กคนนั้น เอาขนมไปให้ อะไรต่ออะไร เวลากลับบ้านพ่อค้านั้นก็มาเยี่ยมที่บ้าน ที่นี้คุณแม่เห็นเข้า วันหนึ่งเห็นเข้า เห็นว่าเอ๊ะลูกสาวตัวน้อยๆ ไปสนิทสนมกับพ่อค้าซึ่งเป็นคนชั้นต่ำ เพราะคนอินเดียนี้มันเมาอยู่เรื่องหนึ่ง เมาอำนาจ ถือชั้นวรรณะไม่เข้าเรื่อง ทำให้เกิดการแตกแยกในสังคม ก็ไม่ชอบว่าลูกไปกระทำเช่นนั้น ไม่ชอบไม่ควร อันนี้ก็ต่อมาโรงเรียนเขาจัดงาน ก็มีให้เด็กฟ้อนรำอะไรต่ออะไรอย่างนั้น หนูคนนั้นก็บอกพ่อค้าคนนั้น บอกว่าหนูจะไปรำที่โรงเรียนนะ ต้องไปดูด้วยนะ พ่อค้าคนนั้นก็ไปดู ไปดู แล้วก็ซื้อพวงมาลัยไปพวงหนึ่ง พอหนูคนนั้นออกรำเขาก็ไปสวมพวงมาลัยให้ คุณแม่เห็นเข้าก็ดุอยู่ตรงนั้นเลย บอกว่าแกนี่ทำอะไร ทำไมเอาพวงมาลัยมาสวมลูกฉัน แกนี่มันคนชั้นอะไรที่เอาพวงมาลัยมาสวมลูกของฉัน เกิดปากเสียงกัน หนูคนนั้นก็ร้องไห้ร้องห่ม อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่สบายใจ กลับบ้านก็นอนซม ไม่สบาย คุณแม่ก็เห็นว่าลูกไม่สบายก็อยู่กับลูก แล้วถามว่าลูกไม่สบายเรื่องอะไร ก็บอกว่าทำไมคุณแม่ต้องไปดุคนนั้นด้วย คนนั้นเขาทำให้หนูสบาย หนูไม่มีเพื่อนคนนั้นเป็นเพื่อนของหนู หนูไปโรงเรียนเขาก็ไปเยี่ยมที่โรงเรียน หนูอยู่บ้านเขาก็มาเยี่ยม เอาขนมอะไรมาฝาก เขาเป็นเพื่อนแท้ๆ ของหนู หนูสบายใจ หนูไปฟ้อนไปรำเขาก็ดีใจเขาก็ไปดู แล้วหนูรำดีเขาก็ยังให้รางวัล ไม่เห็นใครให้สักคน แต่ว่าคนๆ นี้เขาให้ แล้วคุณแม่ไปว่าเขาทำไม ดอกไม้ที่เขาให้นั้นมันมีเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทรด้วยหรือ เด็กว่าอย่างนั้น คุณแม่ก็เลย อ๋อ แหมเรานี้มันผิดไปแล้วที่ไม่ได้อยู่ใกล้ลูก ทำให้ลูกว้าเหว่ ไม่สบายใจ เลยเปลี่ยน ลดการสังคมสงเคราะห์ให้น้อยลง ไปเท่าที่จำเป็น เอาเวลามาให้แก่ลูก เป็นเพื่อนลูก นั่งคุยกับลูกเวลาทำการบ้าน แนะนำอย่างโน้นอย่างนี้ เด็กก็เกิดความสบายใจขึ้น การเรียนก็ดีขึ้น อันนี้มีอยู่มากเหมือนกันในบ้านเมืองของเรา
มีคนนำเด็กที่มีปัญหามาบ่อยๆ มาแล้วจะบวชทุกที มาถึงจะเอามาบวช ทำไมถึงต้องบวช มันไม่เรียนหนังสือ ทำไมไม่เรียน มันขี้เกียจ แล้วทำไมมันขี้เกียจล่ะ ถามต่อไป มันไม่รู้ว่าอย่างไร มันไม่ชอบเรียนหนังสือน่ะ แล้วลูกใครล่ะ ลูกของพี่สาว อ้าว ไม่ใช่ลูกของคนที่มาฝาก แล้วพี่สาวนี่ไปไหนเสีย มันไปไหนก็ไม่รู้ แล้วพ่อมันล่ะ พ่อมันก็เหมือนกัน อ้าวแล้วกัน ทั้งพ่อทั้งแม่ไม่ได้เรื่องทั้งคู่เลยทิ้งลูกไว้กับน้องสาว น้องสาวก็เรียกว่าอยู่ในฐานะเป็นน้าเป็นหลานก็เลี้ยงหลานไป ไม่เหมือนแม่เลี้ยงไม่เหมือนกับพ่อเลี้ยง แล้วเขาก็มีลูกเหมือนกัน เขาอาจจะไปโอ๋ลูกของเขา เวลาน้าไปโอ๋ลูก หลานก็นั่งดู ใจมันเป็นอย่างไร เด็กมันเกิดอารมณ์น้อยอกน้อยใจ ไม่สบายใจ บางทีอาจจะเกิดอารมณ์ถึงกับนั่งน้ำตาไหล เพราะว่าไม่มีใครปลอบโยนตน ไม่มีใครเป็นเพื่อนของตน มันก็ขี้เกียจไปโรงเรียน ขี้เกียจเรียนหนังสือ เรื่องมันก็ไปกันใหญ่ เลยนึกว่าเอามาบวชเสียเถอะ มันไม่เรียนหนังสือ พระว่าไม่ได้ บวชมันก็อย่างนั้นแหละ มันไม่ดีขึ้น เราจะต้องเรียน ต้องเลี้ยงอย่างแม่หรือลูกด้วย ต้องเอาใจใส่ดูแลเขา ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ เวลากินอาหารก็นั่งใกล้เขาตักให้เขาบ้างกินนั้นกินนี้ คุยกับเขา ให้เครื่องแต่งตัว กลับมาจากโรงเรียนก็ต้อนรับยิ้มแย้มแจ่มใส ทำกับลูกของเราอย่างไร ทำกับหลานของเราอย่างนั้น เพื่อให้ดีขึ้น บอกว่าเดี๋ยวนี้มันโตแล้วทำไม่ได้หรอก (37.15 เสียงไม่ชัดเจน) อันนี้แหละคือความผิดพลาดที่เกิดกับเด็กอยู่มิใช่น้อย หรือบางทีก็เป็นลูกของตัวแหละแต่ไม่เอาใจใส่ พ่อบอกเลิกงานก็ไปดื่มเหล้า มาถึงบ้านก็ทะเลาะกับแม่ ลูกก็ไม่รู้จะไปหาใคร หันไปทางแม่ก็เหมือนกับยักษ์วัดแจ้ง หันไปทางพ่อเหมือนยักษ์วัดโพธิ์ มันยักษ์ทั้งคู่ มันจะอยู่กันได้อย่างไร กลุ้มใจ ไม่สบายใจ อ้าว ออกนอกบ้านแล้ว ไปหาเพื่อนตามหน้าโรงหนังตามอะไร เพื่อนพวกเดียวกันพวกมีอารมณ์แบบเดียวกัน มาเจอกัน รักใคร่กัน มีอะไรก็แบ่งกันกินคนละนิดคนละหน่อย เกิดความสบาย มันเรื่องความรักนั่นเอง เพื่อนมันรัก มีขนมชิ้นหักแบ่งกันคนละนิด มันไม่เคยรับสิ่งเหล่านี้ที่บ้าน แต่มันไปรับหน้าโรงหนัง ไปรับในซอกในซอย ไปรับกับคนพวกนั้น แต่เด็กพวกนั้นมันไม่มีความรู้สึกนึกคิดอะไร มันคิดแต่ว่าพวกเดียวกัน มีสภาพเหมือนกันก็เอื้อเฟื้อกัน ไม่มีใครจะรักเราเหมือนพวกเรารักกันนะ พูดกันอย่างนั้น มันก็เลยรักพวกนั้น ทีนี้เมื่อเด็กเหล่านี้ไปรวมกันเข้า เกิดมีคนสักคนหนึ่งมาเห็นเข้า อ้อ เด็กพวกนี้ใช้เป็นเครื่องมือได้ เราจะต้องเอาความรักไปใช้กับเด็กพวกนี้ แล้วจะใช้เด็กพวกนี้เป็นเครื่องมือ หัดเด็กให้ล้วงกระเป๋า หัดเด็กให้ทำอะไรต่ออะไร มันมีโรงเรียนนะ ที่วัดในกรุงเทพบางวัดเขาไปฝึกกันในวัดแหละ ฝึกล้วงกระเป๋า ให้มือเบา ฉกชิงวิ่งราว ล้วงกระเป๋า เอาไปหัด จนในที่สุดเด็กเหล่านั้นก็เพิ่งจะเกเร ก็ติดคุกติดตะรางไป ฐานมันมาจากไหน ก็มาจากพ่อแม่นั่นเอง ไม่ได้มาจากอะไร ไม่เรียบร้อย
เคยมีใครคนหนึ่งเล่าให้ฟัง เรื่องคุกใหญ่ในอเมริกา เรียกว่าคุกซิงซิง คุกซิงซิงเรียกว่าเป็นคุกกลางของประเทศเลย นักโทษอยู่นั่นมากมาย แล้วก็มีนักโทษเยาวชนอยู่เยอะเหมือนกันในคุกซิงซิง ผู้อำนวยการคุกนี่ต้องการจะสอนพ่อแม่ จึงเอาเด็กคนหนึ่งมาอยู่ในม่าน แล้วก็เชิญพ่อแม่ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา บาทหลวง ให้มาอยู่นั่งข้างหน้า แล้วก็ให้เด็กคนนั้นพูดว่า ติดคุกเพราะอะไร เพราะเรื่องอะไร ผลที่สุดเด็กก็เล่าเรื่องไปโดยลำดับ ลำดับ ลำดับ ผู้อำนวยการคุกก็บอกว่าเป็นความผิดของตำรวจที่ได้จับเด็กนี้มา ตำรวจว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ความผิดของตำรวจ ตำรวจมีหน้าที่ปราบปรามคนทำผิดกฎหมาย จะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ถ้าทำผิดกฎหมายก็ต้องจับทั้งนั้น จะไปว่าตำรวจผิดไม่ได้ อัยการนั่นไม่สงสารเด็ก ไปฟ้องเด็กติดคุกติดตะราง อัยการก็แก้ตัวว่าอย่าไปโทษอัยการผู้เป็นทนายของแผ่นดิน เมื่อตำรวจเขาส่งผู้ต้องหามา มีเรื่องเหมาะควรอัยการก็ต้องฟ้อง ถ้าไม่เหมาะไม่ควรอัยการก็เสนอไม่ฟ้อง ปล่อยตัวไป โทษอัยการไม่ได้ แล้วไปโทษผู้พิพากษาทีนี้ ผู้พิพากษาทารุณเหลือเกิน ตัดสินขังเด็กคนหนึ่ง ๕ ปี ๖ ปี ๑๐ ปี ก็มี เด็กมันเล็กๆ ไปตัดสินมันอย่างทารุณอย่างนี้ไม่ได้ ผู้พิพากษาก็แก้ตัวว่ามันจะมาว่าฉันได้อย่างไร กฎหมายนี้เป็นของประชาชน สภาของรัฐเขาออกกฎหมาย พอออกแล้วอย่างนี้ ผู้พิพากษามีหน้าที่ตัดสินตามกฎหมาย ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมายสิ จะไปโทษได้รึ ไม่ว่าอะไร หันไปทางบาทหลวง พวกบาทหลวงพวกพระนี่ไม่เอาไหน ไม่สอนเด็ก ปล่อยให้เด็กเสียผู้เสียคน บาทหลวงว่าจะไปวิ่งตามสอนได้อย่างไร ก็มันไม่เคยมาโบสถ์นี่ และพ่อแม่มันก็ไม่ค่อยมาโบสถ์ด้วย แล้วไม่พาลูกมาโบสถ์ พระจะไปเที่ยววิ่งตามสอนตามตรอกตามซอยได้อย่างไร คนมันเยอะแยะ เอาเวลาไหนไปทำล่ะ มันทำไม่ได้ อ้าว (42.25 เสียงไม่ชัดเจน) ในที่สุดก็เปิดม่าน พอเปิดม่านพ่อกับแม่นั่งอยู่ เขาไม่ถามพ่อแม่แต่เขาถามตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา บาทหลวง แต่เขาไม่ว่ากับพ่อแม่ ทิ้งไว้ก่อน เปิดม่านเลย พอเปิดม่านพ่อแม่ก็โผเข้าไปหาลูกชาย ร้องไห้ร้องห่ม สงสารลูก ลูกก็พูดว่าคุณพ่อคุณแม่ครับ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะร้องไห้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดจากใคร แต่เกิดจากความผิดพลาดในการเลี้ยงลูกของคุณพ่อคุณแม่เอง ลูกจึงต้องมาอยู่ในสภาพอย่างนี้ เรื่องมันก็จบอย่างนั้น
เรื่องมันก็หมายความว่าพ่อแม่บกพร่อง ลูกจึงบกพร่อง ถ้าพ่อแม่สมบูรณ์ลูกก็ต้องสมบูรณ์เป็นธรรมดา หลักมันอยู่ตรงนั้น สิ่งทั้งหลายนั้นมันตั้งต้นในครอบครัว แล้วก็แผ่กระจายไปจนถึงตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา หลวงพ่อ สมภาร ก็พลอยถูกว่าไปด้วย มันเริ่มต้นที่พ่อแม่ เพราะฉะนั้นเราที่เป็นคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายรวมทั้งพ่อแม่ จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน
คุณปู่คุณตาคุณย่าคุณยายนี่ก็มีส่วนร่วมให้เด็กเสียเหมือนกัน เอาใจหลานมากเหลือเกิน ถ้าแม่จะดุก็ อื้อ มาๆ มาอยู่กับยาย มาอยู่กับย่า อย่าไปดุหลานข้า แม่จะตีก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะคุณยายไปรับหมด คุณย่าก็ไปรับ ถ้าอยู่กับยายก็ยายรับไว้ อยู่กับย่าก็ย่าไปรับไว้ ปู่ไม่เป็นไร ปู่กับตานี่เฉยๆ ไม่ยุ่งแต่ไหน แต่ย่ากับยายนี่สำคัญนักหนาที่จะทำให้หลานเสียผู้เสียคน เพราะคอยป้องกันไว้ตลอดเวลา แม่จะพูดจะสั่งจะสอนอะไร ฮื้อ เด็กมันไร้เดียงสา มันยังไม่รู้อะไร อย่าไปดุไปว่ามัน มา หายาย เด็กก็ไปเข้าหายาย ยายก็เป็นเกราะป้องกันไว้ พอคุณแม่ว่าก็วิ่งไปหายาย ขอสตางค์คุณแม่ไม่ให้ ไปขอยายได้ ยายก็สนับสนุน คุณย่าสนับสนุนให้หลานเสียผู้เสียคน มีอยู่เหมือนกันอย่างนี้นะ มีอยู่เหมือนกัน ความจริงคุณแม่จะดุลูกดุเต้า คุณยายก็นั่งหลับตาภาวนายุบหนอพองหนอไปตามเรื่อง อย่าไปสนใจ มันก็ดีไปหน่อย เรื่องอะไรค่อยว่ากันทีหลัง เมื่อเขาทำกันเสร็จแล้วคุณยายคุณย่าค่อยมาพูดอีก อ้าว มาหายาย ปลอบโยน นี่นะไม่เชื่อคุณแม่ต้องอย่างนี้แหละ คุณแม่สอนอะไรมันต้องเชื่อต้องฟัง ต้องทำตาม เรามันเป็นลูกที่ดีก็ต้องรักแม่รักพ่อ อย่าไปขัดขืนคำสั่งพ่อแม่ ยายช่วยอะไรไม่ได้หรอก ถ้าเขาจะดุจะตียายช่วยไม่ได้ ไม่ได้ เราจะต้องประพฤติตนเป็นคนดี คุณแม่สอนอะไร คุณพ่อสอนอะไรก็จำไว้นะ อย่าไปทำผิดต่อไป อย่าระมัดระวังตัวต่อไป ค่อยสอนทีหลัง อย่าออกไปเอาสะโพกรับไม้เรียวแทนหลาน มันจะเกิดความเสียหาย หลานจะได้ใจ อย่างนี้มันก็มีอยู่เหมือนกัน ทำให้เสียหายคุณพ่อคุณแม่
วันเด็กจึงเป็นเครื่องเตือนใจพ่อแม่ให้นึกถึงหน้าที่ที่จะต้องทำกับลูก เพราะหน้าที่นี้สำคัญมาก เรียกว่าถ้าพ่อแม่ทำหน้าที่อุดมสมบูรณ์เรียบร้อยมันเป็นประโยชน์แก่ครอบครัว แก่สังคม แก่ประเทศชาติ แก่โลกไปเลยทีเดียว เพราะเด็กดีแล้วมันก็ดีหมดเป็นแถวไปเลยทีเดียว แต่ถ้าเด็กเสียแล้วมันก็เป็นแถวไปอีกเหมือนกัน ความเสื่อมความเสียหายจะเกิดขึ้นในสังคม จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนี้ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะอะไร สิ่งยั่วยุมันมาก โทรทัศน์ วิทยุ หนังสืออ่านเล่น ภาพประเภทต่างๆ ที่พ่อค้าผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติมุ่งทำลายจริยธรรมของสังคมผลิตออกมาขาย เด็กมันไปพบมันก็ซื้อมา เอามาดูกันอะไรกัน ทั้งหญิงทั้งชายเหมือนกัน มันก็เกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านที่เราเรียกว่าใจแตก เพราะสิ่งเหล่านี้ คุณแม่นี่จะต้องคอยสำรวจ คือถ้าเป็นลูกผู้หญิงคุณแม่ต้องใกล้ชิดหน่อย ลูกชายคุณพ่อก็ต้องร่วมมือด้วย ต้องใกล้ชิด ต้องเข้าไปตรวจดูในห้องของเขา อย่าให้เสรีภาพมากเกินไป แล้วก็อย่าถือว่าเรื่องส่วนตัว แม่ไม่เกี่ยว ไม่ได้ ไอ้นี่มันทำไม่ได้อย่างนั้น ต้องเกี่ยวไว้ก่อน มันยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ แม้เป็นผู้ใหญ่อายุ ๒๐ แล้วยังไม่โตก็มีเหมือนกัน ลูกคนไหนอายุ ๒๐ แล้วไม่โตก็รู้ คือยังขอสตางค์แม่ใช้อยู่ก็ยังไม่โต แต่ถ้ามันหยุดขอสตางค์แม่ก็พอใช้ได้แล้ว มันโตแล้ว หรือยิ่งเอาสตางค์มาให้คุณแม่ใช้ก็ยิ่งเป็นผู้ใหญ่หน่อยมากขึ้นไปอีก แต่นี่มันยังมา คุณแม่ มันจะโตอย่างไร ก็ยังเด็กกันนะ ยังอ้อนขอสตางค์คุณแม่อย่างนี้ ก็เด็ก ก็ยังเป็นเด็ก เราต้องสอนต้องเตือนอะไรไปตามเรื่อง
อันนี้ตามสอนมันก็ต้องสอนตั้งแต่เริ่มต้น ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ต้องใช้มาตั้งแต่อ่อนๆ คนโบราณเขาพูดไว้ ๓ เรื่อง สระน้ำ ใบยอ กอไผ่ สระน้ำใบยอกอไผ่นี่เขาเรียกว่าเป็นเครื่องมือสำหรับเด็ก สระน้ำก็ว่าเอาน้ำเข้าลูบ เอาความดี เอาความเย็น เอาลูบ สั่งสอน พร่ำเตือนด้วยน้ำใจเมตตาแบบน้ำเย็นเข้าลูบ หมายถึงว่าสระน้ำ จับอาบน้ำเสียให้มันเย็นกายเย็นใจ แล้วก็ใบยอหมายความว่า บางคราวก็ต้องยกย่องให้กำลังใจให้เขาทำดี ยอให้ทำดี อย่าไปด่าให้ทำดี มันก็ไม่ได้ ต้องยอให้ทำดี แต่ถ้าใช้สระน้ำใบยอแล้วยังไม่ได้เรื่องต้องใช้กอไผ่ ไม้เรียว ไม้ไผ่นี่คือไม้เรียว เอามาหวดก้นเข้าไปบ้าง สมัยเป็นเด็กอยู่วัดนี่ ข้างที่นั่งท่านสมภารมีกระบอกติดเสาไว้ ในกระบอกนั้นไม่มีอะไร ไม้เรียวทั้งนั้น มีหลายอันนะ บางอันผ่าเป็นสองง่าม เวลาตีมันก็เหมือนตีสองที หวดออกไป มันสองง่ามหวดเหมือนกับตีสองที บางอันก็อันเดียว บางอันมันไม่ใช่กอไผ่ มันหวาย หวายเล็กๆ เรียกว่าหวายลิง หวายเล็กๆ เล็กกว่านิ้วก้อย เด็กกลัวหวายมาก ถ้าอาจารย์จับหวายมา แหมเสียว กลัว แต่บางคนฉลาด พออาจารย์เรียก มีเรื่องล่ะก็ไปแล้ว เอากาบหมาก เรียกว่ายกทรงใส่ยกทรง เอากาบหมากใส่ไว้ข้างท้าย เวลาหวดอาจารย์ก็รู้เหมือนกันนะ พอหวดปุ๊บ อะไรอย่างนี้ แก้กางเกงเลย เอากาบหมากออก เหลือแต่ผิวหนังแล้วทีนี้ เฆี่ยนไม่มีผ้ารองแล้วทีนี้ เฆี่ยนสามทีต้องเฆี่ยนหกที เพราะว่าใช้วิธีการเอาอะไรมาปิดบังต้องเฆี่ยนหกที กลัว ถ้าหวายกลัว ไม้เรียวนี่ก็กลัวแล้ว
อาจารย์วัดสมัยก่อนนี่ใช้ไม้เรียวมากคอยหวดคอยตีไว้ตลอดเวลา เรื่องที่จำติดตัว โตแล้วก็ยังจำได้ ถ้าอาจารย์อายุ ๘๐ ลูกศิษย์อายุ ๗๐ นี่ยังจำไม้เรียวได้อยู่ เพราะว่าถูกหวดบ่อยๆ หวดกันจนเรียบร้อย มันก็ต้องใช้ทั้งสามอย่าง สระน้ำ ใบยอ กอไผ่ สุดแล้วแต่เลือกใช้ ใช้สระน้ำก่อน ใช้ใบยอก่อน ไอ้กอไผ่เอาไว้ข้างบ้านนานๆ หยิบใช้ที แต่ว่าถ้าพูดว่าจะตีก็ต้องตีมัน ตีตามที่พูดไว้ แต่ถ้าไม่ตี เด็กก็คิดว่าอย่างนั้นแหละแม่พูดไว้ไม่จริง หลวงลุงอาตมานี่เวลาจะเฆี่ยน บอกว่ากูจะเฆี่ยนเวลา ๓ โมง ถ้าเรามีบุญวันไหนแล้ว แขกมานั่งคุยถึง ๓ โมง รอดพ้น เรียกว่าแขกนั่งคุยถึง ๓ โมงแล้วเราสบายใจ วันนี้กูเอาตัวรอดแน่ เพราะแขกไม่กลับนี่สามโมงแล้วไม่กลับ พอแขกไปมันก็สามโมงครึ่งแล้ว เข้ามากราบ เออ มึงวันนี้รอดตัวไปเพราะแขกไม่กลับ กูไม่ตีแล้วเพราะว่าพ้นสัญญา เลยรอดตัวไป แต่ถ้าไม่มีใครมา เอาแล้ว สามโมงเป๋งเอาเลย เฆี่ยนทันที ทำตามสัญญา เด็ดขาด การทำอย่างนั้นก็ทุกคนกลัว ไม่ค่อยทำผิด เพราะกลัวไม้เรียวเหมือนกัน แบบนี้คนโบราณอย่างนั้น
เวลานี้เราก็ไม่ใช้อย่างนั้น ไม่ใช้ไม้เรียวเท่าใด แต่ใช้การอบรมสั่งสอน ชี้แจงเหตุผลให้เข้าใจในเรื่องอะไรต่างๆ อบรมกลางคืนนั่นดี เวลาก่อนนอน นำมาไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วก็พูดอบรมแนะนำ เรียกว่าพระสององค์ คอยจ้องดูครอบครัวเรียกว่าพระพ่อพระแม่ ผลัดกัน วันนี้คุณพ่อเทศน์ วันนี้คุณแม่เทศน์ ผลัดกันอบรมนิสัย ไอ้ตัวอุเบกขานี่คือคอยจ้องดู จ้องดูการพูด กิริยาท่าทาง การแต่งเนื้อแต่งตัว มีอะไรแปลกๆ แผลงๆ ขึ้นมาบ้าง คอยแก้ คอยสอน เดี๋ยวนี้การแต่งตัวเด็กๆ ดูมันพิลึกพิลั่น แต่งไม่รู้เป็นอย่างไรเดี๋ยวนี้ ดูแล้วมันรำคาญตาเต็มที พ่อแม่ก็ต้อง คุณแม่ก็ต้อง ถ้าเป็นลูกสาว คุณแม่ก็บอกแต่งอย่างนี้ไม่เหมาะไม่สมกับความเป็นเด็กไทย เด็กไทยกุลสตรีต้องแต่งตัวเรียบร้อย นั่งเรียบร้อย พูดจาเรียบร้อย ท่าทางเดินเหินมันต้องเรียบร้อย อย่าเดินแบบดาราภาพยนตร์ หรืออย่าเดินแบบเขาเดินแฟชั่น พวกนั้นเดินแฟชั่น เดินในบ้านมันต้องเดินเรียบร้อย ต้องคอยสอนคอยอบคอยรมอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เขาได้เกิดความสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี และก็ต้องทำตลอดไป ทำมาเรื่อยติดต่อสม่ำเสมอตลอดเวลา ขาดไม่ได้ ต้องทำเรื่อยไป
พระพุทธเจ้าท่านยังทำทุกวันเลย ทำกับภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ทำทุกวัน ทุกวันตลอด พอเวลาตะวันบ่าย อ้าว อุบาสกอุบาสิกามาแล้ว นั่งกันเต็ม ภายใต้ต้นไม้ พอพลบค่ำชาวบ้านไม่มา พูดกับพระเป็นการภายใน สอนพระ อบรมพระ ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ บางทีก็เล่าเรื่องให้ฟังเรื่องเก่าๆ แล้วลงท้ายก็กระทบองค์นั้นนิดองค์นี้หน่อยไปตามเรื่อง ว่าไปเรื่อย เรียกว่าอบรมบ่มนิสัยให้เกิดสติปัญญา เกิดความคิดความอ่าน พระสงฆ์ท่านจึงได้รับสิ่งนั้นมา สืบต่อมาจนถึงพวกเราทุกวันนี้ อันนี้ญาติโยมเอาไปใช้ได้ในครอบครัว แม้ในวงงานวงการ เราขาดอบรม ไม่ค่อยรักกัน นายจ้างไม่ค่อยรักลูกจ้าง ลูกจ้างไม่รักนายจ้าง เพราะไม่ได้พบกัน ไม่ได้รมบ่มนิสัย ไม่เอาธรรมะเข้าไปใช้จึงได้เกิดเป็นปัญหาวุ่นวายกันด้วยประการต่างๆ
จึงขอฝากเรื่องนี้ไว้กับญาติโยมทั้งหลายด้วย เพราะวันเด็กไม่มีโอกาสได้พูด ก็พูดหลังวันเด็กฝากไป จะได้เป็นแนวทางเพื่อไปใช้กันต่อไป ขอจบไว้เพียงเท่านี้