แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนมกราคม ๒๕๒๙ เป็นวันอาทิตย์ที่เหมือนกับวันอาทิตย์ทั่วๆ ไปที่เราทำมา ปีใหม่กับปีเก่ามันก็เท่ากัน มันผิดกันหน่อยตรงที่ เราได้อายุเพิ่มขึ้น ได้อายุเพิ่มขึ้นก็หมายความว่าแก่ขึ้น แก่ลงไม่ใช่แก่ขึ้น ถ้าว่าแก่ลงไปร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ สิ่งทั้งหลายในโลกไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงเรื่อยไปจนกว่าจะถึงสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงที่สุดของความเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านั้นก็จะแตก-ดับไปตามธรรมชาติ
ร่างกายของคนเรานี้ก็เหมือนกัน มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยลำดับ เมื่อถึงที่สุดของความเปลี่ยนแปลงก็หมดชีวิต ซึ่งเราเรียกกันว่าเป็น ความตาย แล้วก็เอาไปเผา ไปฝังตามเรื่องกันต่อไป อันนี้มันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติที่เป็นอยู่ทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นวัตถุสิ่งของ ย่อมมีสภาพเช่นเดียวกัน เมื่อเรามาพิจารณาในสิ่งเหล่านี้ ก็จะได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องของธรรมชาติชีวิต ทำให้ต้องเป็นทุกข์มากเกินไป
เราทุกคนต้องการความสุขด้วยกันทั้งนั้น แต่ความสุขนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องเกิด เมื่อเรารู้ชัด เข้าใจชัดในเรื่องนั้นๆ ตามสภาพที่เป็นจริง ถ้าเราไม่รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง เราก็ต้องเป็นทุกข์เรื่อยไป (พระที่คุมเครื่องอยู่ไหน ...มันดังเกินไป) เราก็ต้องเป็นทุกข์เรื่อยไป ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น เพราะว่าความทุกข์มันเกิดจากความรู้ เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่องอะไรต่างๆ ซึ่งในภาษาธรรมะท่านเรียกว่า “อวิชชา”
อวิชชา ก็คือความไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆ ตามสภาพที่เป็นจริง ถ้าเราไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอะไรก็ตาม เราก็หลงผิด เข้าใจผิดในเรื่องนั้น เราก็เป็นทุกข์ มีความร้อนอก ร้อนใจด้วยประการต่างๆ แต่ถ้าเรารู้ชัด เข้าใจชัดในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง ความทุกข์ก็จะลดน้อยลงไป ลดน้อยลงไปก็เพราะว่าเรารู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร แล้วเราไม่เข้าไปยึดถือในเรื่องนั้นจนเกินขอบเขต เพราะเรารู้ว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นสาระ เป็นแก่น เป็นสาร ที่เราควรจะเข้าไปยึดถือไว้ว่าเป็นตัวเรา ว่าเป็นของเรา ความยึดถือน้อย ความทุกข์มันก็น้อย แต่ถ้าความยึดถือมาก ความทุกข์มันก็มากขึ้น ตามธรรมดา อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจไว้ เพราะเราผู้แสวงหาความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่สุขจอมปลอม ความสุขจอมปลอม คือความสุขที่เกิดจากได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้ดม ได้จับ ได้ต้องในสิ่งต่างๆ ซึ่งพระท่านเรียกว่า “กามคุณ ๕” นั่นเอง
กามคุณ ๕ นี่เป็นความสุขจอมปลอม ไม่ใช่เป็นของแท้ แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการปรุงแต่ง จากอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้นในใจของเรา เราไม่รู้ชัด ไม่เข้าใจชัดในเรื่องนั้นๆ จึงได้เกิดอารมณ์เช่นนั้นขึ้น แล้วก็หลงใหลมัวเมาด้วยประการต่างๆ เมื่อใดเรามารู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง เราก็มองสิ่งนั้นในแง่ของธรรมชาติ ไม่มองในแง่ที่เป็นมายา เครื่องปรุงแต่ง เรารู้สภาพที่เป็นจริงของสิ่งนั้นตามสภาพที่มันเป็นอยู่ ความหลงใหล มัวเมาก็จะเสื่อมไป สิ้นไป แม้เราจะมีชีวิตอยู่ในโลก อยู่ในวงการ งานการ เราก็มีอยู่ เป็นอยู่ ตามธรรมชาติ มีอยู่ เป็นอยู่ด้วยปัญญา ด้วยความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ชัดเจนแจ่มแจ้ง จิตก็ไม่ไปหลงใหล มัวเมา ในสิ่งนั้นๆ สิ่งใดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอย่างไร เรามองเห็นความจริงของสิ่งนั้นๆ เราไม่ตื่นเต้น ไม่หวาดเสียวในสิ่งเหล่านั้น เรียกตามภาษาง่ายๆ ว่า ไม่ยินดีแล้วก็ไม่ยินร้ายในสิ่งนั้นๆ ความยินดี ยินร้ายในสิ่งนั้น มันเกิดเพราะขาดปัญญา คือไม่รู้ชัดในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง เมื่อต้องประสบกับอารมณ์ที่เราพอใจ เราก็ยินดีไปชั่วขณะหนึ่ง ประสบกับสิ่งที่เราไม่ชอบใจ เราก็ยินร้ายไปชั่วขณะหนึ่ง มันเป็นอยู่แบบขึ้นๆ ลงๆ เข้าๆ ออกๆ ตามแนวคิด ตามอารมณ์นั้นๆ จิตใจไม่สงบ มีความปั่นป่วนอยู่ตลอดเวลากับอารมณ์นั้นๆ อันนี้ก็เพราะว่าเราไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรกันแน่ ดูอะไรก็ดูแต่เพียงผิวเผิน ฟังอะไรก็เพียงผิวเผิน ได้ไปลิ้นรสก็เพียงผิวเผิน ได้จับต้องอะไรก็รู้แต่เพียงผิวเผิน แต่มองไม่รู้ แทงไม่ตลอดในเรื่องนั้น จึงได้หลงใหลเข้าใจผิดกันด้วยประการต่างๆ
บรรดากิเลสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจของเรา เกิดขึ้นเพราะเราไม่รู้ชัดในเรื่องนั้นตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นว่า ราคะ ราคะเป็นคำบาลี แปลว่า ความเพลิดเพลิน ยินดีในสิ่งนั้นๆ ที่เราพูดในภาษาไทยว่า ราคา ราคาของนั้นเท่านั้น ราคาของนั้นเท่านี้ แต่ราคานั่นก็มาจากคำว่า “ราคะ” ซึ่งแปลว่าเรายินดี เมื่อยินดีก็พร้อมที่จะจ่ายในเรื่องอะไรต่างๆ ให้แก่เขา เช่นเราไปเห็นของสิ่งหนึ่งเราพอใจ ก็หมายความว่าเรามีราคะในของนั้น เมื่อมีความพอใจก็ซื้อตามราคาที่เขาตั้งให้ แม้จะแพงสักเท่าไรเราก็ยินดีซื้อ เพราะเราพอใจ หลงใหลในสิ่งนั้น เราอยากได้ในสิ่งนั้น สิ่งนั้นมันมีค่าสูงขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อ ถ้าผู้ซื้อมีความพอใจมาก ของมันก็มีราคามาก ถ้าผู้ซื้อมีความพอใจน้อย ของก็มีราคาน้อย คือไม่มีใครพอใจมันก็ไม่มีราคา ของบางอย่างเที่ยวทิ้งเพ่นพ่าน ไม่มีใครอยากได้ ไม่มีใครเอา ไอ้ของที่ไม่มีใครอยากได้ ไม่มีใครเอานั้น ก็เรียกว่ามัน ไม่มีค่า ไม่มีค่าก็เพราะไม่มีราคา ไม่มีราคาก็เพราะไม่มีใครอยากได้ แต่ถ้าของใดมีคนอยากได้ ของนั้นมีค่ามาก เมื่ออยากได้หลายคนก็เกิดแข่งขันกัน ประมูลกัน ว่าใครจะเอาไปได้ ดังที่เขามีการประมูลสิ่งของกัน ในที่ต่างๆ เมื่อประมูลกันใครให้ราคาสูง คนนั้นก็ได้ไป คนให้ราคาต่ำก็ไม่ได้ มันมีค่าขึ้นตรงนี้ จึงเรียกว่ามีราคา มันมาจากความพอใจของคน
ไอ้ความพอใจนี้เกิดจากว่าเราไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรแน่ ก็หลงใหลพอใจในสิ่งนั้น เราติดอยู่ในรูปที่พอใจ ในเสียงของคนที่เราพอใจ ในรส ในกลิ่น ในสัมผัสถูกต้อง ในเรื่องอะไรๆ ที่เราเพลิดเพลินพอใจ เราก็พอใจในสิ่งนั้น เมื่อสิ่งนั้นสูญเสียไป เราก็ไม่สบายใจ ลดน้อยลงไปเราก็ไม่สบายใจ ใครมาแย่งเอาสิ่งนั้นไปเสีย เราก็ไม่พอใจ ต้องการแล้วไม่ได้สมใจเราก็ไม่พอใจ ความไม่พอใจมันเป็นความทุกข์ทั้งนั้น เป็นความวุ่นวายใจ ความพอใจเรานึกว่ามันเป็นสุข ตามความเข้าใจของคนทั่วไปคิดอย่างนั้น คิดว่าความพอใจนั้นมันเป็นความสุข แต่ว่าความสุขนั้นมันมาก่อน มาล่วงหน้า มาหลอกเรา มาหลอนเราให้เพลิดเพลินหลงใหล แล้วความไม่พอใจหรือความทุกข์ก็จะเกิดตามมา เราลองสังเกตดูในเรื่องอะไรต่างๆ “สิ่งใดที่เราพอใจ สิ่งนั้นแลจะทำให้เราเป็นทุกข์ในภายหลัง” เพราะสิ่งนั้นมันไม่เที่ยง มันแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา มันอาจจะเป็นอื่นไปก็ได้ เมื่อเราพอใจมันเข้า เวลามันเปลี่ยนแปลงเราก็ไม่พอใจ เราเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น รถที่เราซื้อมาใหม่ๆ เราพอใจ แต่ว่าไปจอดไว้ตรงใดตรงหนึ่งได้คิดว่าคนมันมาขีดให้เป็นรอย พอเราได้ไปเห็นว่าเด็กคนนั้นยืนใกล้ ก็อยากจะทุบมัน ตีมันหรือทำให้มันสมใจเสียหน่อย แต่ว่ามันขีดเสร็จแล้วมันก็ไป เราก็ยืนอารมณ์บึ้งอยู่คนเดียว เป็นทุกข์อยู่คนเดียว เป็นทุกข์ก็เพราะว่าของที่เราชอบมันสูญเสียไป มันบอบมันช้ำไป มันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไป เราก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น นี่เรียกว่าทุกข์ตามมา ทุกข์เกิดหลังจากสุข
ทุกข์เกิดจากทุกข์ก็มีเหมือนกัน ให้ทุกข์ทันทีมันก็เห็นทุกข์ทันที ถ้าเรามอง แต่ว่าความสุขนั้นมันมีทุกข์ตามมาทีหลัง สร้างปัญหาให้แก่เราได้อย่างมากมาย เพราะฉะนั้น ความชอบใจ พอใจจึงถือว่าเป็นทุกข์อย่างหนึ่งเหมือนกัน ท่านจึงกล่าวว่า “ปิยเต ชายโต โสโก ชายโต ปิยเต ภยํ”
“ความรักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ภัย” ทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดจากความรัก ความพอใจ ความรักในที่นี้หมายถึง ความพอใจ ถ้าเราพอใจในสิ่งใด ก็มีทุกข์จากสิ่งนั้น มีภัยจากสิ่งนั้น มีเวรจากสิ่งนั้น มีอะไรๆ เกิดขึ้นหลายอย่างจากสิ่งเหล่านั้น เกิดจนกระทั่งสงครามโลก ก็เกิดขึ้นจากความรักถิ่น รักชาติ รักบ้านเมือง รักพงษ์เผ่า เหล่ากอ ใครมาขัดคอมาทำร้าย ก็สร้างปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ กลุ้มใจจากเรื่องนั้นๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเราทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการความสุข หรือความสงบใจ ความสงบนั่นแลคือความสุข ตัวความสุขก็อยู่ที่ความสงบ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “นัตถิ สันติ ปรัง (ปรมัง) สุขัง” – สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
และพระองค์ยังตรัสว่า “สนฺติ มคฺคเมว พฺรูหฺย” – ท่านทั้งหลายจงพอกพูนทางแห่งสันติ เพราะตัวสันตินั้นคือความสงบ ความสงบนั้นก็คือความสุขที่เกิดขึ้นในใจของเรา เวลาใดใจวุ่นวาย ก็ไม่สงบไ ม่เป็นสุข ใจเร่าร้อน ก็ไม่สงบ ไม่เป็นสุข ใจมีอะไรเข้ามากวนอยู่ในใจ มีกิเลสประเภทใดเกิดขึ้น เกิดโลภ เกิดโกรธ เกิดหลง เกิดอะไรก็ตามใจ มันก็เป็นความทุกข์ขึ้นทันที เพราะมันถูกเปลี่ยนสภาพ จากหน้าตาดั้งเดิมไป หน้าตาดั้งเดิมของใจนั้นคือ ความสงบ ความสะอาด ความสว่างทางใจ แต่พออะไรเข้ามาแตะต้อง มันก็เปลี่ยนสภาพไปทันที พอเปลี่ยนสภาพไปเราก็มีอารมณ์ เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนใจ ร้อนใจขึ้นก่อน แผดเผ่าตัวเองด้วยอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ ทำให้มีความทุข์ มีความเดือนร้อนทางใจด้วยประการต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรจะรู้ไว้ แล้วก็หาทางป้องกัน ไม่ให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ การที่จะไม่เกิดความทุกข์ ความเดือนร้อนใจ ก็ต้องศึกษาด้านปัญญา ให้รู้ชัด เข้าใจชัดในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง
การศึกษาด้านปัญญานี้ก็เรียกว่า “เจริญวิปัสสนา” นั่นเอง เจริญวิปัสสนานี้เป็นเรื่องของปัญญา ไอ้ที่ทำๆ กันอยู่ทั่วๆ ไปนั้น ไม่ค่อยถึงขั้นวิปัสสนา คือไม่เจริญปัญญา ไม่คิดไม่ค้น เพื่อให้เกิดปัญญา ทำแต่ในเรื่องให้จิตสงบ ซึ่งเป็นส่วนสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานก็มุ่งให้เกิดความสงบ ให้ตั้งมั่น ให้ใจมันอ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งานต่อไป แล้วก็มักไปติดอยู่เพียงนั้น คือติดอยู่ในความสงบ หรือติดอยู่ในนิมิตอันใดอันหนึ่งที่เราได้ เช่นเราไปเพ่งอะไร เราก็เห็นสิ่งนั้นด้วยตา ด้วยใจ เอาแต่เพ่ง เพ่งเฉยๆ เพ่งเป็นอารมณ์เพื่อให้ใจมันไปจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ไม่ไปไหน มันก็ได้แต่ความสงบใจ ได้แต่ความตั้งมั่นเท่านั้นเอง เราไม่ได้ใช้กำลังใจนั้นต่อไปเพื่อคิดค้นให้เกิดปัญญา ซึ่งเรียกว่า “เจริญวิปัสสนา” ที่เราไม่ก้าวต่อไปนั้นเพราะเราเรียกกันผิดเสียแล้ว เช่น สำนักต่างๆ ที่ยกป้ายตั้งไว้ วิปัสสนาวัดนั้น วิปัสสนาวัดนี้ ยกป้ายไปตามเรื่อง แต่ว่าโดยแท้จริงแล้วหาได้เจริญวิปัสสนาไม่ เป็นการเจริญกรรมฐานที่เรียกว่า สมถภาวนากันทั้งนั้น การปฏิบัติก็เพ่งโน่น เพ่งนี่ ดูนั่น ดูนี่ ดูลูกแก้วบ้าง ดูพระพุทธรูปบ้าง ดูวัตถุอะไรต่างๆ เพื่อให้มันติดตา เอาไปนั่งเพ่งในเวลาอื่นต่อไป ให้ใจอยู่กับเรื่องนั้น เหมือนเด็กติดตุ๊กตา แล้วก็คอยอุ้มตุ๊กตาอยู่ตลอดเวลา ไปไหนก็พาไปด้วย เวลากินข้าวก็ต้องเอาตุ๊กตาไปไว้บนตัก เวลานอนก็เอาไปกกไปกอดไว้ ใครทำให้ตุ๊กตาห่างเด็ก เด็กร้องไห้ งอแงไปทันที แต่ว่าพอโตขึ้นหน่อยเด็กนั้นทิ้งตุ๊กตา ไม่เล่นตุ๊กตาต่อไป ที่มันไม่เล่นเพราะเด็กมันได้ปัญญาขึ้น รู้ว่านี้เป็นแต่สิ่งหนึ่งที่เขาสร้างขึ้น สำหรับให้เด็กเล่นเพื่อเกิดความเพลิดเพลิน พอโตขึ้นหน่อย ปัญญามันมีขึ้น มันก็ไปหาความเพลิดเพลินจากของอื่นต่อไป ไม่หาจากสิ่งนั้น
คนเจริญกรรมฐานก็มักจะไปติดอยู่ในวัตถุ เขาเรียกว่า “นิมิต” ที่ตนได้เห็น แล้วก็นั่งดูสิ่งเหล่านั้นอยู่ บางทีก็เข้าใจเขวไป ตั้งชื่อให้ว่าเป็นนั้น เป็นนี้ ไปก็มี เรียกว่ายังไม่ก้าวหน้าเท่าใด ในการปฏิบัติในส่วนนั้น การปฏิบัติที่ก้าวหน้านั้นมันต้องเป็นไปเพื่อปัญญา ปัญญา นั้นเป็นสิ่งสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น หลักการคำสอนพระองค์จึงวางไว้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ชั้นต้นก็รักษาศีล คือทำตนให้เป็นคนมีระเบียบ มีวินัย ไม่อยู่ตามอารมณ์ ตามความอยากของตัว แต่อยู่อย่างคนมีระเบียบ มีวินัย เรียกว่าเป็นคนมีศีล บังคับตัวเองได้ ควบคุมตัวเองได้ ไม่ปล่อยอะไรไปตามชอบใจ ไม่ทำอะไรตามใจตัว แต่มีข้อบังคับให้กระทำ ก็กลายเป็นคนมีศีล
ต่อไปก็ฝึกสมาธิ คือการเจริญสมถกรรมฐาน ทำจิตให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้อ่อนโยนพอสมควร แล้วต่อไปก็ถึงขั้นปัญญา ขั้นปัญญานี้เป็นเรื่องของการพิจารณา ศึกษาในเรื่องนั้นอย่างละเอียด ดูอะไรก็ดูอย่างละเอียด ถ้าดูเพียงขั้นสมาธิก็ดูเห็นเป็นรูปเป็นร่าง แล้วเอาสิ่งนั้นเข้ามาเป็นนิมิต เป็นสิ่งสำหรับดูต่อไป ไม่ว่าวัตถุอะไรที่เราดูแล้วก็เรานึกดูเมื่อไรก็ได้ มันก็เป็นขั้นนั้นยังไม่ได้ขั้นปัญญา ขั้นปัญญานั้นต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง เช่นว่าเราดูสิ่งอะไร สติกับปัญญามันมาคู่กัน มาวิเคราะห์ทันทีว่าสิ่งนี้คืออะไร มาจากอะไร อยู่ได้อย่างไร ผลสุดท้ายมันเป็นอะไร มองไป คิดไปจนกระทั่งเห็นว่า “ไม่มีอะไรน่ายึดถือว่าเป็นของเรา ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนอย่างแท้จริง มันเป็นแต่เพียงสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเท่านั้น” เราจะไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่งว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลก็ไม่ได้ เพราะถ้าไปยึดอย่างนั้นเรียกว่า ยึดติด ทำให้เกิดปัญหาแก่ชีวิต แต่เรามองสิ่งนั้นว่า มันเป็นแต่เพียงกระแสชนิดหนึ่ง หรือเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่มีความเกิดขึ้น แล้วก็แปรเปลี่ยนไป แล้วก็แตกดับไป มันมี ๓ ขณะ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ถี่ยิบจนเราจับไม่ได้ว่ามันมีสภาพเช่นนั้น ต้องใช้ปัญญาขั้นละเอียดอ่อน จึงพิจารณาเห็นว่า มันเป็นอะไรกันแน่ ไม่มีอะไรที่ควรจะเข้าไปยึดไปถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา อันนี้เรียกว่า เจริญปัญญา
วิธีเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญานั้น ก็คิดได้ทุกเวลา เจริญได้ทุกเวลา ไม่ต้องไปอยู่ในป่าดงพงพีอะไร แต่เราพิจารณาอยู่ในสิ่งที่เราได้ประสบพบเห็น ตาได้เห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องอะไร เราก็พิจารณาเรื่องนั้นให้รู้ชัด เห็นชัด ตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ ความเป็นอยู่จริงๆ ของสิ่งทั้งหลายนั้นคืออะไร คือมันเป็นแต่ประกอบกันเข้า ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ในส่วนตัวของมันเอง ที่เรียกว่าเห็นตามสภาพที่เป็นจริง เห็นด้วยใจ เห็นด้วยปัญญาทางด้านใน ไม่ใช่เห็นด้วยตา เห็นด้วยตานั้นมันเห็นอยู่ตามธรรมดาแล้ว แต่ว่าปัญญาข้างในเอามาประกบเข้าอีกทีหนึ่ง แยกแยะ วิเคราะห์ วิจัยออกไป จนกระทั่งมองเห็นสิ่งนั้นว่า “มันไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรที่เราน่าจะเข้าไปยึด ไปถือ ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราอย่างแท้จริง” เพราะแม้ตัวเราก็ไม่มีอะไร มันเป็นเพียงแต่สิ่งหนึ่ง เกิดขึ้นตามอำนาจการปรุงแต่ง ไหลไปตามอำนาจการปรุงแต่ง เมื่อไหลไปถึงที่สุด มันก็หยุดไหล เรียกว่า แตกดับไป สิ่งทั้งหลายจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นวัตถุ สิ่งของ แม้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นในใจของเรา มันก็เกิดขึ้นอย่างนั้น เกิดจากเหตุอย่างนั้น เปลี่ยนไปตามสภาพอย่างนั้น แล้วมันก็แตกไป ดับไป ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ เช่น ความโกรธนี่มันเกิดขึ้นเพราะอะไร
ความโกรธ เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่ง ปรุงแต่งด้วยอะไร มีตา หู จมูก ลิ้น กาย อันนี้อยู่ในตัวเรา เรียกว่า “อายตนะ” อายตนะแปลว่า “เครื่องต่อ” เครื่องต่อกับสิ่งภายนอก อายตนะภายในก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้มีอยู่ในตัวเรา แล้วไปต่อกับสิ่งภายนอก สิ่งภายนอกก็คือ รูปต่อกับตา เสียงต่อกับหู กลิ่นต่อกับจมูก รสต่อกับลิ้น โผฏฐัพพะก็ต่อกับร่างกาย ใจเข้าไปรับรู้ เรียกว่า ธรรมารมณ์ มันเกิดขึ้นโดยการต่อเชื่อมกัน สิ่งเดียวมันเกิดอะไรไม่ได้ แต่พอมีสองสิ่งมันก็เกิดอะไรขึ้นมา ตามีอยู่โดยปกติก็เรียกว่าเป็น “ธาตุ” เขาเรียกว่า จักขุธาตุ เป็นธาตุ พระท่านสวดเวลางานศพสมัยก่อนก็สวดว่า “อฏฺฐารสธาตุโย” แปลว่า ธาตุ ๑๘ อย่าง คือ จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานะธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ มโนธาตุ “ธา-ตุ” แปลว่า ธาตุ บาลีอ่านว่า ธา-ตุ ภาษาไทยแปลว่า ธาตุ ธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้น ธาตุกาย ธาตุใจ แล้วก็มีรูปก็เป็นธาตุเหมือนกัน รูปธาตุ สสัททธาตุ รูปเป็นธาตุ เสียงเป็นธาตุ รสเป็นธาตุ กลิ่นเป็นธาตุ โผฏฐัพพะก็เป็นธาตุ สิ่งเหล่านี้ ธรรมารมณ์ก็เป็นธาตุ ธรรมธาตุ ก็เป็นธาตุอย่างหนึ่ง รวมกับอายตนะก็เป็น ๑๒ แล้วก็เกิดอะไรขึ้น เกิดวิญญาณ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ความรู้ทางตาก็เป็นธาตุ ความรู้ทางหูก็เป็นธาตุ ความรู้ทางลิ้นก็เป็นธาตุ ความรู้ทางจมูกก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ความรู้ทางกายก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง สิ่งที่เกิดกับใจเรียกว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง รวม ๓ หมวด (25.34 เสียงไม่ชัดเจน) เขาเรียกว่าเป็นธาตุ ๑๘ มันเป็นสักแต่ว่า ธาตุ
ตา ถ้าอยู่ปกติ ถ้ายังไม่ได้ดูอะไรก็เรียกว่าเป็นธาตุ แต่พอทำหน้าที่ดูก็เรียกว่าเป็นอายตนะขึ้นมา รูปมันก็เป็นธาตุอยู่ตามปกติของมัน แต่มาพอผ่านสายตา ก็กลายเป็นอายตนะ คือเครื่องต่อ ตากับรูปมาต่อกัน หูกับเสียงมาต่อกัน จมูกกับกลิ่นต่อกัน ลิ้นกับรสมาต่อกัน กายกับสิ่งถูกต้องทางกายมาเชื่อมต่อกันเข้า ใจกับธรรมารมณ์เชื่อมต่อกันเข้า เมื่อเชื่อมต่อกันเข้าก็เกิด “วิญญาณ” คือความรู้ ความรู้ทางตา ความรู้ทางหู ความรู้ทางจมูก ความรู้ทางกลิ่น ความรู้ทางรส ความรู้ทางกายประสาท ความรู้ทางใจ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นธาตุเหมือนกัน แต่ว่าเป็นวิญญาณธาตุ คือความรู้ การเชื่อมของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอมีความรู้ขึ้น ตา รู้ รูป ความรู้ทางตา รวม ๓ อย่าง เขาเรียกว่าเป็น “ผัสสะ” เป็นผัสสะ
พอหลังจากผัสสะก็เกิด “เวทนา” เวทนาก็คือเป็นสุขเมื่อชอบใจ เป็นทุกข์เมื่อไม่ชอบใจ แต่บางอย่างมันก็มองแล้วเฉยๆ ไม่เกิดอะไร อันนี้ต่อก็เมื่อเกิดสุขก็เกิด “ตัณหา” เกิดความพอใจนี้ก็เป็นตัณหา คือตัณหาในรูปอยากได้ ถ้าเกิดไม่พอใจก็เป็นตัณหาเหมือนกัน ตัณหาในรูปไม่อยากได้ อยากได้นี่ก็เป็นตัณหา ไม่อยากได้ก็เป็นตัณหาเหมือนกัน ก็มันเป็นความอยากด้วยกันทั้งนั้นแล อยากได้เป็นอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง อยากไม่ได้ อยากไม่มี อยากไม่เป็น มันก็เป็นตัณหาอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ทีนี้เราลองสังเกตตัวเราเองว่า “เวลาเราอยากได้ สภาพจิตเป็นอย่างไร?เวลาเราไม่อยากให้มันได้ สภาพจิตเป็นอย่างไร?” มันก็เหมือนๆ กันนั่นแล คือมันเป็นทุกข์เท่าๆ กัน สมมติว่าเราอยากได้อะไร มันก็กลุ้มใจอยู่ คอยอยู่ เกิดความวิตกกังวลมันจะได้หรือไม่ได้ เหมือนคนไปซื้อหวยไว้น่ะ พอซื้อหวยแล้วก็ “ทำไมมันก็น่าจะถูกคราวนี้ มันน่าจะถูก มันพลาดมาคราวก่อนทีหนึ่งแล้ว คราวนี้มันน่าจะถูก เลขมันสวยดี” ฝันอยู่ตลอดเวลา ฝันในเรื่องอยากได้ กระวนกระวายจะมี จะได้ เหมือนเด็กๆ ได้ของขวัญน่ะ เขาห่อมามิดชิด แหม! อยากจะเปิดเหลือเกิน อยากจะดูว่ามันเป็นอะไร ในห่อนั้นมันมีอะไร อยากจะเปิดดู พอเปิดดูแล้วพอเห็นว่าเป็นอะไรก็ แหม!ตบมือ ดีอกดีใจว่าได้สิ่งนั้นมา มันจะดีใจอยู่สักนานสักเท่าใด เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป เกิดเฉยๆ มันชินชาเข้า ความดีใจนั้นก็หายไป ไอ้สิ่งที่เราได้มามันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ ได้มาใหม่ๆ ก็รู้สึกว่าตื่นเต้น เพลิดเพลิน ดีใจกับสิ่งนั้น นานไปก็ชินชา ไม่อยากได้แล้ว ไม่อยากได้ ถ้าเรายิ่งไม่ชอบใจมาก เราก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก เช่น คนบางคนเราไม่ชอบใจ เราก็ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากจะฟังเสียง ไม่อยากจะได้ยินชื่อคนนั้น ถ้าใครเอ่ยชื่อคนก็บอก “แหม !... ขอทีอย่าไปเอ่ยชื่อคนนั้น ฉันมันไม่สบายใจ” อันนี้เพราะไม่อยากได้ในสิ่งนั้น ไม่อยากจะเป็น เขาให้เราป็นอะไร เราไม่อยากจะเป็น เช่นเราทำงานอยู่กรุงเทพฯ เขาออกคำสั่งย้ายให้ไปหัวเมือง เราไม่อยากไป ไม่อยากไปก็เป็นทุกข์แล้ว กลุ้มใจแล้ว แล้วก็มักจะไปหาหมอ “ดูหน่อยสิ...ดวงมันเป็นยังไงหมู่นี้ เจ้านายไม่ค่อยชอบใจ” นี่มันเป็นทุกข์ เพราะความไม่อยากจะเป็น ไม่อยากจะมี ไม่อยากจะพบสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันก็เป็นทุกข์ขึ้นมา
ทุกข์นี้มันเกิดจากตัณหา ตัณหาก็เกิดจากเวทนา เวทนาก็เกิดจาก ๓ สิ่งมากระทบกันเข้า ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกับสิ่งภายนอกมากระทบกันก็เกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง แล้วก็เป็นสุขเพราะพอใจ เป็นทุกข์เพราะไม่พอใจ สิ่งใดพอใจก็อยากได้เพิ่ม สิ่งใดไม่พอใจก็อยากจะผลักดันให้มันออกไป ในชีวิตเราแต่ละคน แต่ละวัน มันอยู่กับเรื่องนี้แล เรื่องดึงเข้ามา เรื่องผลักออกไป สิ่งใดเราพอใจตราบใดก็ดึงเข้ามา เพลิดเพลินสนุกสนานไป แต่ว่าสิ่งใดไม่พอใจก็ผลักดันให้ออกไป อันนี้ถ้าผลักไม่ไป ดันไม่ออกนะ กลุ้มใจอีก รำคาญใจอีกเพราะในเรื่องนั้นๆ อันนี้มันเป็นวิถีของชีวิต ถือว่าเป็นเรื่องของใจเราที่มันเป็นอยู่ในรูปอย่างนั้น เป็นไปตามปกติธรรมดา เพราะไม่ได้ฝึกฝน ไม่ได้อบรม คือไม่ได้บ่มจิตใจของเราให้มันดีขึ้น มันก็อยู่อย่างนั้นแล เวลาได้ดีใจ เวลาเสียเสียใจ อยากได้นั้นก็ดีใจ อยากได้นี้ก็ดีใจ ไม่อยากได้นั้นก็ไม่พอใจ ทุกข์ใจ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เป็นอยู่อย่างนั้น เราจะปล่อยให้เป็นอยู่ตามธรรมชาติอย่างนั้นรึ? เราจะเป็นลูกฟุตบอลให้สิ่งทั้งหลายมันเตะเรากระเด็นกระดอนอยู่ในสนามอย่างนั้นรึ? เวลาดูฟุตบอลนี่ คนนั้นเตะไป คนนี้เตะมา เตะไปเตะมา (31.44 เสียงไม่ชัดเจน) …… ถ้าเขาไม่เป่านกหวีด ก็เตะเรื่อยไป ที่เรานี้ก็เหมือนกัน ถูกอารมณ์ต่างๆ มันเตะ ถูกกิเลสมันเตะเอา ตัณหา พยาบาท อาฆาต จองเวร ประเภทต่างๆ มันเตะ มันถองเรา ให้กระเด็นกระดอนอยู่ตลอดเวลา แล้วมันเป็นสุขเมื่อไรเล่า...ที่ถูกเตะอย่างนั้น ให้กระเด็นไปโน้น ให้กระเด็นไปนี้ แกว่งไปแกว่งมา กระทบนั่นกระทบนี่เรื่อยไป เราก็จะเห็นด้วยตัวของเราเองว่า มันไม่ได้เป็นสุขที่ตรงไหน...ไม่ได้มีความสงบที่ตรงไหน
เหตุที่เป็นอยู่อย่างนั้น เมื่อเราไม่อยากจะเป็นอยู่ในสภาพอย่างนั้น เราก็ต้องพยายามถอน กิเลส ตัณหา ออกจากจิตใจด้วยการเจริญปัญญา ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา แยกแยะสิ่งต่างๆ ออกไป ให้เห็นว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง เหมือนกับเรารื้อตะกร้าหรือชะลอมออกไป ชะลอมสำหรับใส่ของ มันทำด้วยไม้ไผ่ เอามาสานกันเข้า สานกันเข้าแล้วก็ใส่ของได้ หิ้วไปหิ้วมา ขายดีเหมือนกัน คนไทยเราไปไหนมักซื้อของใส่ชะลอมผลไม้ ส่วนมากใส่ชะลอมไป หิ้วไป หิ้วมา ชะลอมนั้นมันมีชื่อว่าชะลอมขึ้นมาได้ เพราะอะไร ...เพราะไม้ไผ่มาประดิษฐ์สานกันเข้าเป็นรูปอย่างนั้น ก็เรียกว่าชะลอม เป็นรูปอย่างอื่นก็เรียกเป็น กระเฌอ เป็นกระด้ง เป็นกระ....อะไรต่างๆ เป็นไปตามรูปของสิ่งเหล่านั้นที่เราสมมติให้ มันเป็นอย่างนั้น ครั้นเราเอามาถอดออกให้หมด มาถอดๆ ทีละชิ้น ทีละซีก เอาซี่ที่ ซี่ต่อที่เขาสานออกหมด เอ้า...มันหายไปเสียแล้ว คำว่า ชะลอม นั้นหายไป ไม่ปรากฎในสายตาของเรา มันหายไปไหน มันก็หายไปจากการผสม ปรุงแต่ง เมื่อไม่มีสิ่งผสม ปรุงแต่งมันก็หายไป มันไม่มีชื่อให้เราเรียกต่อไป
หรือเสื้อผ้าที่เราสวมอยู่นี้ก็เหมือนกัน เสื้อผ้าที่เราสวมนั้นก็มาจากฝ้าย จากใยสังเคราะห์ ซึ่งเขาเอามาทำขึ้น เช่น ผ้าสมัยนี้เป็นพวกใยสังเคราะห์โดยมาก ใยสังเคราะห์นั้นก็มาจากเศษของน้ำมัน ที่เอามาใช้วิ่งรถยนตร์ทำอะไรกันอยู่นี่แล เอาไปแยกส่วนออก แยกออกแล้วได้ใยสังเคราะห์ขึ้นมา เอาใยสังเคราะห์นี้มาทำ เอามาปั่นให้มันเป็นเส้นขึ้น แล้วเอาไปทอผ้ารูปต่างๆ สวยงามๆ ก็ใส่สีลงไป เป็นผ้าสีชมพู สีแดง สีเหลือง สีแสด สีอะไรต่างๆ เราก็ไปซื้อมาสวมใส่ สิ่งเหล่านี้มันก็เกิดจากของผสมกันเข้า นึกไปให้ดี...ว่าเดิมนั้นมันเป็นอะไร เดิมมันเป็นอะไร แล้วก็ต่อมามันเป็นอะไร เดี๋ยวนี้มันเป็นอะไร เป็นผืนผ้า เป็นเสื้อ เป็นกางเกง เป็นนั่นเป็นนี่ เราเอามาสวมใส่ร่างกาย เอามาสวมไว้ที่ร่างกายเพื่ออะไร เพื่อกันร้อน ไม่ให้ร่างกายถูกแดดมาเกินไป กันหนาว กันหนาวคือไม่ให้เย็นเกินไป ไอ้ความจริงกันหนาวก็คือกันร้อนนั่นแล ไม่ใช่กันอะไรหรอก กันร้อนเหมือนกัน กันร้อนกับกันร้อนอะไรเป็นสองร้อนนะ แต่เวลาหนาวนี้อากาศภายนอกมันหนาว ถ้าเราไม่สวมเสื้อหนาๆ ไว้ ร่างกายก็หนาวเกินไป ทีนี้เอาเสื้อหนามาสวม ไม่ใช่ว่ากันไม่ให้ความหนาวกระทบร่างกาย แต่ว่ากันความร้อนไว้ในเสื้อ ไม่ให้มันหนาว พอเราสวมเสื้อมันเกิดร้อน ก็คือว่าร่างกายเรานี่ส่งความร้อนออกมาจากตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าไม่มีอะไรกันไว้ ความร้อนที่ส่งออกมามันระเหยไปหมด เมื่อระเหยไปหมด เราก็หนาว เพราะอากาศภายนอกมันหนาว แต่พอสวมเสื้อเข้า ไอ้เสื้อผ้านั้นมันกันความร้อนไว้ข้างใน ก็เกิดความอบอุ่น แต่ถ้าร้อนมากเกินไปก็เหงื่อไหล มันเกินพอดีก็เหงื่อไหล พอดี พอดีก็พอสบาย นี่มันกันความร้อนเหมือนกัน ความจริงเรียกให้ถูกควรจะเรียกว่าเสื้อกันร้อน แต่ว่าถ้าเรียกอย่างนั้นเขาว่ามันแปลก “ไอ้นี่มันเรียกเสื้อกันร้อน” เขาไม่นิยม เขานิยมเรียกว่าเสื้อกันหนาว โดยความจริงมันกันร้อนมากกว่า เป็นเสื้อเป็นผ้าขึ้นมาได้เพราะการผสม เอาใยสังเคราะห์นั้นมาปั่นเป็นเส้นยาวๆ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แล้วเอามาผสม เอามาทอเป็นผืนผ้า ทอด้วยย้อมก่อนทอก็มี ย้อมแล้ว ก็ทอแล้วค่อยไปย้อมก็มี ให้เป็นสีตามที่คนต้องการ เพราะคนเรามันต้องการแปลกๆ สีขาวมันเรียบเกินไป จืดชืดเกินไป ให้มันเป็นสีอื่นหน่อย! ฝรั่งชาวต่างประเทศมาเมืองไทยมาบ่มสี บ่มผิวน่ะ บ่มให้ดำ ดำให้คือคล้ำเลย ไอ้คนไทยเราถ้าใส่ดำไม่ค่อยชอบ เอาเสื้อผ้าห่อไว้ให้มันขาว ไอ้ฝรั่งมันขาวอยู่แล้ว มองไปที่ไหนก็เจอแต่ขาว เลยมาบ่มให้มันสีเปลี่ยนหน่อย เป็นสีคล้ำๆ
เมื่อวานนี้ไปพัทยา เอากระดูกโยมคนหนึ่งไปลอยในทะเล ไปทิ้ง พูดง่ายๆ คือไปทิ้งนั่นเอง ทิ้งให้มันพ้นๆไป เอาไว้ที่วัดมันก็รุงรัง เลยบอกออกอุบายบอก “เอาไปฝังในทะเลดีกว่า ฝังในทะเลมันดี ทะเลมันกว้าง มันลึกกว่า ไปฝังทะเล เลยเอาไปฝัง” ไปทิ้งนั่นแล คือไปฝังในทะเล ดีกว่ามาเที่ยวใส่อะไรบรรจุไว้ รกวัด เดี๋ยวนี้คนเรามันเก่ง มันสร้าง (38.24 เสียงไม่ชัดเจน) เดี๋ยวนี้ห้ามสร้างแล้วที่วัดชลประทานฯ ห้ามสร้าง มันเต็มแล้ว ไม่ไหวแล้ว ที่ไม่พอ ทีนี้ใครจะสร้าง บอกสร้างกุฏิสักหลังดีกว่า ได้เอากระดูกบรรจุไว้ในนั้น พระจะได้อยู่ด้วย จะได้เป็นเพื่อนกับกระดูกต่อไป จะได้อยู่กับพระ ลูกหลานก็พอใจ ได้ช่วยเข้ามาสร้างเป็นกุฏิน้อยๆ พอพระอยู่ได้ ทีนี้บางรายก็เมื่อไม่สร้างอย่างนั้น ก็เอา พาไปลอยทะเลดีกว่า ก็ไป ไปฉันอาหารที่บ้านเขา อยู่ชายหาด ฉันเสร็จแล้วก็ลงไปชายหาด เขามี ทำเป็นดอกเห็ด ต้นตาลปักเข้าแล้วก็มุงหญ้าคา แล้วก็ไป มีเก้าอี้ม้านั่ง เก้าอี้โยกอยู่ นอนได้ พอไปนอนตากอากาศตรงนั้น เห็นฝรั่งผู้ชายคนหนึ่งเดินมา นุ่งนิดเดียว ล่อนจ้อน ก็เลยกวักมือเรียก “come on…come on” มันมาถึง พูดก็ไม่รู้เรื่อง มันเป็นคนเยอรมัน พูดไทย...เอ้ย.... พูดอังกฤษก็ไม่ได้ นอกจากฉันพูดเยอรมันเท่านั้นเอง เดินมายิ้มๆ กันหน่อย แล้วเขาก็ลาเดินชายหาดต่อไป พอประเดี๋ยวเห็นเดินมาเป็นกลุ่มนะ ๔ คน ฝรั่งคน ผู้ชาย ๒ ผู้หญิง ๒ ผู้หญิงก็เรียกว่าเป็นวัยดึกเข้าไปแล้ว ไม่ใช่วัยสาว วัยอะไร แต่ว่าล่อนจ้อนนะ นิดหน่อย ปิดนิดหน่อย ปิดข้างล่างนิด ปิดข้างบนหน่อย เดินล่อนจ้อนมาแล้วคุยกันแจ๋ว...วางหน้าวางตาเฉยน่ะ ก็รู้สึกมันปล่อยวางได้เยอะแล้วเหมือนกัน คือมันยึดถือในตัวตนน้อยลงไป มันก็เดินเฉย ไม่สนใจอะไรๆ ถ้าคนยังยึดถืออยู่มันก็เดินแบบนั้นไม่ได้ นี่มันเดินเฉย... เวลามาไปนั่งกันอยู่ ๓-๔ องค์บอก “นั่นๆดู ไอ้พวกปล่อยวางมาแล้ว” นั่นเป็นพวกจิตว่างน่ะ มันเดินเฉยเลย เราก็ดูๆ มัน เห็นอยู่ไม่ว่าอะไร มันต้องการมาบ่มผิวเท่านั้นเองไม่ใช่เรื่องอะไร บ่มให้มันคล้ำๆ แล้วก็ขึ้นเรือบินกลับบ้าน นี่มันอย่างนี้ก็มีเหมือนกันทำอย่างนั้น ตามเรื่องของคนที่เขาชอบใจ คนมันชอบอะไรมันก็ทำอย่างนั้น ไม่ได้ทำก็เป็นทุกข์อีกล่ะ เดือดร้อนใจอีก มันเป็นอย่างนี้ ขาดปัญญา ก็เกิดความวุ่นวายใจด้วยประการต่างๆ
สิ่งอะไรในโลกนี้ทั้งหมดมันผสมกันอยู่ตลอดเวลา ไหลไปตามอำนาจของการยื้อ การแต่ง เมื่อหมดส่วนผสมมันก็แตกสลายไป เราจะไปยึดเอาตอนใดตอนหนึ่งว่าเป็นตัวฉัน เป็นของฉัน มันก็ไม่ได้ มันเป็นทุกข์น่ะ โยมลองคิดดู ญาติโยมลองคิดดูว่าเราเป็นทุกข์นี้มันเรื่องอะไร มันต้องรู้จักแยกน่ะ คืออย่าเอาแต่ทุกข์ท่าเดียว มีอะไรเกิดขึ้นอย่าเอาแต่ทุกข์ท่าเดียว ให้นึกถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ทรงแนะนำว่า “ให้ใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า” สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านั้นคืออะไร ก็คือ “อารมณ์” ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา อารมณ์อะไรก็ได้ที่มันเกิดขึ้นในใจน่ะ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นฝ่ายดีก็มีเป็นฝ่ายไม่ดีก็มี มันเกิดขึ้นในใจของเรา เราอย่าปล่อยให้มันเกิดเฉยๆ แต่ว่าใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งนั้น ให้รู้ชัด เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง คือหัดคิด หัดแยกแยะ วิเคราะห์ วิจารณ์สิ่งนั้นว่ามันคืออะไร เช่น เราโกรธขึ้นมานี้ ขณะโกรธนั้นอาจจะนึกไม่ได้ แต่พอมันเบาแล้ว มันนึกได้ พอนึกได้แล้วว่า “เอ๊...เมื่อตะกี้นี้ฉันทำอะไร อ้อ... ฉันโกรธ ...โกรธใคร?” ลองถามว่าฉันโกรธใคร “โกรธไอ้คนนั้นน่ะที่มันมาทำให้ฉันไม่สบายใจ” เขาทำให้เราไม่สบายใจ เราโกรธเขา ไอ้เวลาเราโกรธเขานี้ใจเราเป็นอย่างไร? เราลองถามตัวเองว่า “ใจเราเป็นอย่างไร?” เวลาโกรธนี่ใจเราเป็นอย่างไร ร้อน ใจร้อน มืด ไม่มีแสงสว่างในใจ มีความกระวนกระวาย บางทีแสดงออกมาทางกาย เข็ดฟันกรอดๆ ทำท่าจะกินเลือดกินเนื้อ ในตาขุ่น มองคนนั้นเหมือนกับว่าจะให้มันละลายไปเสียอย่างนั้น ถ้าตาเป็นไฟเหมือนฤาษีตาไฟ ก็ละลายไปแล้วล่ะ มือไม้ก็สั่น ทำท่า....เข็ดฟัดแล้วทำท่าจะเข้าไปห้ำหั่นไอ้คนเสียให้ได้ มันสวยไหม? เราถามตัวเราว่า “มันสวยไหม? มันน่าดูไหม?” กิริยาท่าทางน่าดูไหม? ข้างนอกมันสวยงามน่าดูไหม?
ถ้าไม่รู้ก็ไปทำท่าที่กระจกดูก็แล้วกัน ให้เข้าไปในห้องทำท่าดูเมื่อตะกี้ฉันทำท่าอย่างไร เอ้า..ไปแสดงละครให้ตัวเองดูหน่อย ไปถึงยืนตรงกระจกทำท่า เข็ดฟันกรอดๆ นะ ทำตาเขียวขึ้นมา ถลึงตา มือไม้ก็สั่นอะไรขึ้นมา ก็ดูเอาเอง มันสวยไหม? ถามตัวเองว่ามันสวยไหม? มันเข้าทีดีไหม? มันสุภาพไหม มันเรียบร้อยไหม ถ้าใครเขาเห็นฉันกำลังทำท่าอยู่อย่างนี้น่ะ เขานึกว่าฉันเป็นอะไร เออ....ถามอย่างนี้ แล้วก็หาคำตอบกันเอาเอง ว่าฉันเป็นอะไร? แล้วก็ถามต่อไปว่า โกรธอะไรเมื่อตะกี้? โกรธอะไร โกรธเพราะไอ้คนนั้นมันว่าฉัน เอ๊... เขาว่านี่มัน เขาว่าอยู่ ช่างเขา เขาว่าไปตามเรื่องของเขา แล้วเราไปโกรธเขานี่มันเรื่องอะไร เป็นเพราะอะไร เอ้า... ก็เข้าไปรับน่ะสิ เราไปรับ เราออกไปรับ รับว่าไง ๆ “มึงด่ากูไง มึงว่ากูไง มึงมองกูนี่” เอามาให้ มาประเคนให้แก่ตัวตั้งเยอะแยะไม่ว่าเรื่องอะไร เอ๊...แล้วมันความผิดของใคร ที่แสดงอาการอย่างนั้นออกไปมันเป็นความผิดของใคร คนโน้นผิดหรือว่าเราผิดกันแน่น่ะ ไอ้คนโน้นมันก็เป็นเรื่องของเขา มันก็ถูกความ กิเลสครอบงำเหมือนกัน มันจึงได้ด่า ได้ทำท่าอย่างนั้น ถ้าคนจิตใจปกติเขาก็คงไม่ทำอย่างนั้น แต่ที่ทำอย่างนั้นก็เพราะว่าสภาพจิตผิดปกติ เอ้.... เราเห็นตัวอย่างคนอื่นผิดปกติ แล้วไม่เอามาสอนตัวเองนี้มันถูกต้องไหม ลองคิดอย่างนั้น
ก็บอกตัวเองว่าไม่ถูกต้องนะ ไม่ถูกต้อง เพราะว่าเขาแสดงแบบสาธิตให้เราดูแล้วว่า นี่ท่าอย่างๆ พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของกิเลส เรื่องความโกรธ เรื่องความอ่อนแอ เรื่องไม่บังคับตัวเอง เรื่องขาดความอดทนจึงได้แสดงอาการอย่างนี้ออกมา น่าขอบใจเขานะที่เขาทำอย่างนั้นให้เราดู ควรจะยืนเฉยๆ จะเข้าไปขอบใจตอนนั้นก็ไม่ได้ เดี๋ยวมันจะเล่นงานเอา เราก็ยืนยิ้มๆ น่ะ นึกในใจว่า “แหม! ดีเหลือเกินที่มาแสดงให้ฉันดู หาดูยาก ไอ้ท่าอย่างนี้หาดูยาก ขอบใจเธอมากนะ” นึกในใจขอบใจเธอ ให้เขาด่าหยุดเสียก่อน พอเขาหยุดแล้วก็ค่อยเข้าไป ยกมือไหว้เลย “ ขอบใจเหลือเกิน ที่มาทำท่าให้ฉันดูเมื่อตะกี้ ฉันได้บทเรียน ได้ธรรมะ ได้เครื่องสอนจิตกับจิตใจ จะได้ระมัดระวังตนต่อไป ขอบใจมาก” ไหว้เขาอย่างนั้น เราก็สบายใจ ไอ้คนนั้นอาจจะโกรธขึ้นมาอีกก็ได้ เพราะเราไปทำท่าอย่างนั้นกับมันเข้า มันก็โกรธ.... ช่างมันเถอะ...ช่างมันเถอะ...เราทำให้มันถูกต้องก็แล้วกัน อย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเรารู้ตัว รู้เท่า รู้ทัน ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็ไม่โกรธ ใจเย็น เรียกว่า ไม่ทำการพูดความชั่ว และไม่เพิ่มคนชั่วขึ้นในโลก ไอ้คนนั้นมันชั่วอยู่แล้ว เราก็เห็นอยู่แล้ว ถ้าเราทำเหมือนคนนั้น เอ้า... เกิดความชั่วขึ้นอีกส่วนหนึ่ง เพิ่มความชั่วขึ้นอีกคนหนึ่ง บางคนไม่เพิ่มคนเดียวนะ ไปดึงพี่ๆ น้องๆ มาช่วยด่ากันหน่อย มาช่วยกันหน่อย ช่วยกันหน่อย .... เรียกว่าชั่วกันทั้งโขยงไปเลย เพิ่มไปอีกตั้งหลายคน แล้วมันเรื่องอะไร สร้างความผิดแก่ตัวเปล่าๆ ไม่ดีเลย
ให้เรามาวิเคราะห์ว่า ไอ้เราโกรธเขาทำไม โกรธเพราะเรามันโง่ พูดกับตัวเองง่ายๆ ว่าเรามันโง่ มีอวิชชา ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไปเห็นคำด่าเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมา ความจริงคำด่านั้นก็เป็นของผสม คือจากจิตก่อน จิตเศร้าหมอง พอจิตเศร้าหมองแล้วผสมออกมาเป็นคำพูด คำพูดที่หยาบคาย ไม่หวานหู ไม่เป็นที่พอใจ มันเกิดจากสิ่งนั้น ฐานของสิ่งนี้มันไม่ดี สิ่งที่เขาแสดงออกมันไม่ดี แล้วเราไปโกรธสิ่งที่ไม่ดี เอ๊.. เรานี่มันไม่ดีไปใหญ่ มันเสียหายใหญ่ ไม่เหมาะไม่ควรแก่เราเลยแม้แต่น้อย การกระทำเช่นนี้ สอนตัวเองนะจะได้ระมัดระวังต่อไป ถ้าไปเจอใครมันทำท่าอย่างนั้นกับเรา เราก็รีบบอกตัวเองว่า มาอีกแล้ว มาอีกแล้ว มันเวียนมาอีกแล้ว ระวังไว้ อย่าไปแสดงอาการกับเขาเหมือนกับที่เขาแสดงกับเรา ใจเย็นๆ ไว้ สงบไว้ ใช้สติ ใช้ปัญญาไว้หน่อย ทำอย่างนั้น เราก็จะไม่โกรธ ว่างๆ เราก็เอาขึ้นมาวิเคราะห์ วิจัย ในสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดทำไม เหตุทำไม ริษยาทำไม พยาบาทเขาทำไม สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นบุญหรือว่าเป็นบาป เป็นฝ่ายกุศลหรือว่าเป็นฝ่ายอกุศล เป็นไปเพื่อสร้างสรรค์ หรือเป็นไปเพื่อทำลาย คิดให้ละเอียด คิดไปศึกษาไปแล้วก็จะรู้ เข้าใจในสิ่งนั้นมากขึ้น เมื่อเรารู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น เราก็มีปัญญามากขึ้น มีสติมากขึ้น รู้ทัน รู้เท่า ทว่าสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริงมากขึ้นน่ะ ปัญหามันน้อยลง เพราะเราเข้าใจ พิจารณาในเรื่องอย่างนั้น
เวลาเราอยากจะได้อะไร จะเป็นอะไรก็เหมือนกัน ก็พิจารณาอย่างเดียวกัน จากอะไร สิ่งนั้นคืออะไร มันจำเป็นแก่ชีวิตของเรานักหรือ? หรือว่าเรามีความร้อนอกร้อนใจด้วยเรื่องอะไร ก็มานั่งทบทวน พิจารณา คิดแล้วคิดอีก ดูแล้วดูอีกในเรื่องนั้นๆ ก็จะเกิดปัญญาขึ้น เข้าใจขึ้น แล้วเราก็จะต้องไม่ขนขวายในเรื่องที่ไม่ขนขวายต่อไป ทำเท่าที่มันไม่เกิดปัญหา คือความทุกข์แก่ชีวิต สิ่งใดทำแล้วเกิดปัญหา เกิดความทุกข์ เราก็หยุดเสีย ไม่กระทำสิ่งนั้น เราก็อยู่ได้อย่างเป็นสุข ความสุขมันเกิดจาก เราคิดถูก พูดถูก ทำถูก ความคิดถูก พูดถูก ทำถูกเกิดเพราะปัญญา ที่เราได้ใช้มากๆ พิจารณาบ่อยๆ จนเข้าใจเรื่องทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง เราก็จะไม่มีชีวิตสับสนวุ่นวายในเรื่องนั้นๆ
คนที่เป็นโรคทางประสาทมันก็เรื่องเดียวกัน เหมือนกัน ประสาทมันเกิดจากความเครียด ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง ไปยึด ไปถือ ในเรื่องที่ไม่จำเป็นมากเกินไป จนเกิดความวุ่นวายใจ ไม่สบายใจด้วยประการต่างๆ ทีนี้ถ้าเราหัดวาง หัดคิด พิจารณาเสียบ้าง มันก็ดีขึ้น เรื่องนี้ต้องใช้ปัญญา คนอื่นช่วยไม่ได้หรอก... เราต้องช่วยตัวเอง คนอื่นเพียงแต่ให้แนวคิดให้ แล้วเราก็มานั่งคิด มาปรุง มาแต่งใหม่ จัดใจของเราใหม่ รื้อของเก่าทิ้ง สร้างเรือนใหม่ให้แก่ใจ ทำใจของเราให้มันสะอาดขึ้น สว่างขึ้น สงบขึ้น มีปัญญารู้เท่า รู้ทันต่อสิ่งทั้งหลาย ตามสภาพที่เป็นจริง เราก็จะมีความสุขตลอดไป
ดังนั้น ในปี ๒๕๒๙ ในอาทิตย์แรก จึงขอให้แนวทางแก่ญาติโยมทั้งหลาย เพื่อจะได้พิจารณา แก้ไขปัญหาชีวิตตามหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า จะได้ทำจิตใจของเราให้สงบ ให้สะอาด สว่างตลอดปีต่อไป พูดมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้