แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เดือนธันวาคม ๒๕๒๘ ก็พูดได้ว่าเป็นอาทิตย์สุดท้ายของปี ๒๕๒๘ อาทิตย์หน้าก็เป็นวันปีใหม่ เดือนมกราคมไป ในวันอาทิตย์ปี ๒๕๒๘ นี่ ญาติโยมก็มาฟังปถกฐากันอยู่เป็นประจำ บางท่านก็มาไม่ขาด บางท่านก็อาจขาดไปบ้าง อาตมาก็แสดงปถกฐาเป็นประจำ ขาดไปบ้างเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าไปธุระเสียในที่อื่น ไม่มีโอกาสได้มาแสดงปถกฐา รวมความแล้วเราทั้งหลายได้ร่วมแรง ร่วมใจกัน ปฏิบัติกิจในทางพุทธศาสนาที่เป็นบุญที่เป็นกุศลมาตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นปีจนกระทั่งถึงบัดนี้ ก็เป็นเวลาปลายปีแล้ว เราลองมาคิดกันดูว่า ระยะเวลา ๑ ปี ที่ผ่านมานั้นมีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตของเราบ้าง ส่วนที่เป็นกุศลมีประมาณเท่าใด ส่วนที่เป็นอกุศลมีประมาณเท่าใด และสิ่งนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันให้อะไรแก่เรา เป็นเรื่องที่ควรจะได้นึกทบทวนตั้งแต่วันอาทิตย์แรกของปี จนถึงอาทิตย์สุดท้ายของปี พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เราก็จะได้รู้จักตัวของเรามากขึ้น
คือรู้ว่าตัวเรานี้มีสภาพอย่างไร มีความคิด มีความเห็นในรูปใด มีการกระทำในรูปใด มีอะไรลดลงไปบ้าง หรือมีอะไรคงอยู่เท่าเดิม เป็นเรื่องที่จะต้องสอบสวนพิจารณากันให้ละเอียด เพื่อจะได้รู้ว่ายังมีส่วนใดที่ยังไม่ได้ทำ มีส่วนใดที่เราทำสมบูรณ์แล้ว ส่วนใดที่สมบูรณ์แล้วก็รักษาไว้ต่อไป ส่วนใดที่ยังไม่ได้ทำ ยังบกพร่องอยู่ ก็ต้องทำให้ เต็มขึ้นในส่วนนั้น ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นอยู่ ด้วยความไม่ประมาทในการศึกษา ในการปฏิบัติ ตามหลักธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เพื่อให้เราทั้งหลายได้เอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ธรรมะที่เราได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันนี่ จะเป็นเครื่องช่วยให้เราปลอดภัย หรือเรียกว่าเป็นหลักประกันสำหรับชีวิตให้เราอยู่รอดปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง เป็นเรื่องที่เราควรจะได้สนใจศึกษา นำเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วจะได้มีการก้าวหน้าในการเป็น การอยู่ตามสมควรแก่ฐานะ
เพราะว่าหน้าที่ของเราที่เป็นพุทธบริษัท มีหน้าที่อะไรบ้าง มีหน้าที่ที่จะศึกษาหลักธรรมคำสอน ให้เกิดความรู้เข้าใจ มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามความรู้ความเข้าใจนั้น มีหน้าที่ที่จะต้องชักจูงเพื่อนฝูง มิตรสหาย ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ให้มีการปฏิบัติเพื่อทำตน ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ด้วยเช่นเดียวกัน อันนี้เป็นหน้าที่สำคัญของการเป็นพุทธบริษัท ที่เราจะต้องทำ เป็นสิ่งที่จะต้องทำ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เรียกว่าควรกระทำ แต่ว่าต้องทำ มันบังคับอยู่ในตัว ให้เราต้องปฏิบัติ ทำไมจึงต้องปฏิบัติ เพราะมันเป็นสิ่งที่จะช่วยเราหลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน
ก็เราทุกคนนั้นต้องการหรือไม่ในเรื่องนี้ ลองพิจารณาโดยความเป็นธรรมแล้ว เราก็ตอบตัวเราเองได้ว่าเรามีความต้องการที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนใจด้วยประการต่างๆ การที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนใจได้นั้น ก็ต้องอาศัยปฏิบัติธรรมะ ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรมะ เราจะพ้นไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อนได้อย่างไร จึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องกระทำ หน้าที่ที่จะต้องศึกษาให้เกิดปัญญา หน้าที่ต่อไปก็คือ ปฏิบัติกาย วาจา ใจของเรา ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ ส่วนผลอันจะเกิดขึ้นแก่เรานั้น ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะผลมันเป็นตัวที่จะเกิดขึ้นจากเหตุที่เราได้ทำไว้ เมื่อเราทำเหตุให้พ้นทุกข์ ผลก็เป็นความพ้นทุกข์ ถ้าเราทำเหตุให้มีความทุกข์ เราก็ต้องมีความทุกข์ เหตุกับผลมันสัมพันธ์กัน หนีกันไม่พ้น
ฉะนั้นถ้าเราทำเหตุอันใด ผลอันนั้นก็จะเกิดขึ้นแก่เรา เราหนีจากผลนั้นไปไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อเรารู้อย่างนี้ เราก็ต้องสร้างเหตุ เมื่อเราสร้างเหตุแล้ว ผลมันก็เกิดตามมา ไม่ต้องวิตกว่าจะได้หรือไม่ได้ มันได้อยู่ในตัว คนบางคนยังวิตกกังวลอยู่ว่าเราทำอย่างนั้นแล้วจะได้หรือไม่ ทำอย่างนี้จะได้หรือไม่ ยังมีความวิตกกังวลอยู่อย่างนี้ เพราะยังไม่เข้าใจเรื่องเหตุผลถูกต้อง ถ้าเราเข้าใจเรื่องเหตุผลถูกต้องแล้ว เราก็ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะผลเกิดจากเหตุ เหตุก่อให้เกิดผล เมื่อเราทำเหตุอันใด เราก็จะได้รับผลอย่างนั้น ผลนั้นเป็นของเราไม่ไปไหน เราจะได้รับผลนั้นทันที เมื่อเราทำเหตุให้เกิดผลอย่างนั้น อันนี้เป็นหลักธรรมดาที่พระผู้มีพระภาคได้แสดงไว้ตลอดเวลา ที่พระองค์ดำรงพระชนม์ เราเป็นลูกศิษย์ของพระองค์ ก็ควรจะมีความเชื่อมั่นในหลักการที่พระองค์ได้แสดงไว้ แล้วก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติกิจในชีวิตประจำวัน เพื่อทำตัวเราให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนต่อไป
ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นแก่เราทั้งหลายต่อไปว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนั้นคืออะไร อันนี้อาจจะเป็นปัญหาแก่ญาติโยมทั้งหลายอยู่มากเหมือนกัน เคยไปแสดงธรรมกับเด็ก ไม่ใช่เด็กเล็ก แต่ว่าเป็นเด็กใหญ่ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยว่า พูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมะ เขาก็ลุกขึ้นยกมือถามปัญหา เขาถามปัญหาว่า “เมื่อท้องมันหิวอยู่ จะปฏิบัติธรรมะได้อย่างไร” อันนี้แสดงว่าเด็กคนนั้นยังไม่เข้าใจ ว่าการปฏิบัติธรรมะคืออะไร เขาอาจจะเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมะคือการไปนั่งหลับตาอยู่คนเดียวเงียบๆ เขาอาจจะนึกอย่างนั้น เขาไม่เข้าใจในเรื่องนี้
เลยตอบให้เขาเข้าใจว่า “เพราะท้องหิวนั่นแหละเราจึงต้องปฏิบัติธรรม” เพื่อให้เกิดการอิ่มท้อง เพื่อให้มีสิ่งที่เราจะกินจะใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะการปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นทำได้ทุกคน ทุกหน้าที่ ทุกเวลา ทุกเรื่องที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เอาธรรมะเข้าไปใช้ได้ทั้งนั้น เช่นคนอยู่ครองบ้าน ครองเรือนก็ต้องปฏิบัติธรรมชั้นเบื้องต้น คือการทำมาหากิน ทำหน้าที่การงานอันเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำ เป็นชาวนาก็ต้องรู้ว่าเรามีหน้าที่ทำนา เป็นชาวสวนก็ต้องรู้ว่าหน้าที่คือการทำสวน เป็นคนค้าขายก็ต้องรู้ว่าหน้าที่เราคือการค้าขาย เป็นข้าราชการก็ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติราชการให้สำเร็จลุล่วงเป็นได้ด้วยดี
อันนี้ก็เป็นหน้าที่ หน้าที่ก็คือตัวธรรมะ ธรรมะก็คือหน้าที่ เพราะว่าธรรมะหมายถึงหน้าที่ด้วย เราทำหน้าที่ใด ก็เรียกว่าเราประพฤติธรรมอยู่ในหน้าที่นั้นๆ ชาวนากำลังไถนาอยู่ ก็เรียกว่าเขาประพฤติธรรมอยู่แล้ว ชาวสวนกำลังยุ่งอยู่กับพืชในสวนก็เรียกว่าเขาประพฤติธรรมอยู่ คนค้าขาย กำลังขายของแก่คนที่เข้ามาซื้อก็เรียกว่าเขาประพฤติธรรมอยู่ ข้าราชการนั่งปฏิบัติงานตามหน้าที่ ก็เรียกว่าเป็นผู้ประพฤติธรรม คนทุกคนต้องประพฤติธรรมด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่ประพฤติธรรมก็จะไม่มีอะไรกิน อะไรใช้ ชีวิตจะไม่มีค่าไม่ราคา แต่พอเราประพฤติธรรมเข้าสิ่งทั้งหลาย ก็จะเกิดแก่เรา
เช่น เราหว่านพืชเราก็ได้กินผลมัน เราทำอย่างไรเราก็ได้อย่างนั้น ทุกคนที่ทำงานตามหน้าที่ ก็เรียกว่าเป็นผู้ประพฤติธรรมอยู่แล้วในส่วนนั้น นั่นส่วนหนึ่ง จึงควรจะเข้าใจในเรื่องนี้ไว้ว่าการปฏิบัติงานในหน้าที่ ที่เราจะต้องปฏิบัตินั้นคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคือการทำงานในหน้าที่นั้น เราอาจจะทำงานด้วยความไม่สบายใจก็ได้ เพราะถูกบังคับให้ทำ แล้วอาจจะทำอยู่ด้วยความเบื่อหน่ายในหน้าที่นั้น อาจจะคิดขึ้นว่า แหม! ทำทุกวัน ทุกวัน เมื่อไรมันจะจบกันเสียที เมื่อไรมันจะหมดเรื่องกันเสียที เราอาจจะคิดอย่างนั้น
ถ้าเราคิดในรูปอย่างนั้น ก็แสดงว่าเรายังไม่มีปัญญาในการทำงาน ไม่มีปัญญาในการทำงาน เราก็ทำงานด้วยความเป็นทุกข์ ทำอะไรก็เป็นทุกข์หน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่ตลอดเวลา หนักอกหนักใจในการปฏิบัติงานหน้าที่นั้นๆ การที่เราทำอย่างนั้นนั่นแหละ เรียกว่ายังไม่ได้ใช้ธรรมะในขณะปฏิบัติงาน เพียงแต่ว่าได้ทำงานตามหน้าที่ แต่ว่าเราไม่มีธรรมะกำกับจิตใจ เราจึงมีความทุกข์ความเดือดร้อนใจในการทำงานนั้นๆ เราก็เบื่อหน่าย ซึ่งในสมัยนี้เขาเรียกกันว่า มันเซ็ง ทำงานมากๆ บ่อยๆ ในหน้าที่เดียว มันก็เกิดเซ็งขึ้นมา แล้วก็ไม่อยากจะทำงานในหน้าที่นั้นๆ
มีคนเคยถามอาตมาบ้างเหมือนกัน ถามว่าไปเทศน์บ่อยๆ ไปเทศน์ทุกวันนี่ ไม่เบื่อบ้างหรือ ไม่เหนื่อยในการที่จะไปเทศน์บ้างหรือ ก็ตอบเขาตามความรู้สึกที่เป็นอยู่ในใจ คือตอบตามความจริง ไม่ใช่แสร้งตอบ ตอบตามความจริงว่าก็ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย แล้วก็ยังไม่เบื่อหน่ายในการที่จะไปปฏิบัติงานนั้นๆ ในท้องที่นั้น ในจังหวัดนั้น สุดแล้วแต่ญาติโยมเขาต้องการให้ไป ก็ได้ไปทำอยู่ตามหน้าที่ยังไม่มีเบื่อหน่ายอะไร เขาก็ถามต่อไปว่าทำไมจึงไม่เบื่อหน่าย ผมนี่ทำงานอย่างนี้มานานแล้ว เบื่อเต็มทีแล้ว แต่มันเลิกไม่ได้ เพราะถ้าเลิกมันไม่มีอะไรจะกิน ไม่มีอะไรจะใช้ อย่างนี้เรียกว่า ทำงานด้วยความจำใจ ทำงานแบบนี้มันก็เป็นทุกข์จนตาย ไม่มีทางจะมีความสุขกับเขาได้เลย เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานโดยไม่เป็นทุกข์ ให้มีความสบายใจ ในงานที่เรากระทำตลอดเวลา
เราจะคิดอย่างไรเพื่อให้มีจิตใจสบาย ไม่เกิดความเหนื่อยหน่ายในงานนั้นๆ อันนี้ก็ต้องใช้หลักธรรมะอีกเหมือนกัน หลักธรรมะข้อหนึ่งที่เราควรนำมาใช้ก็คือ เรื่องความสันโดษ ภาษาบาลีเรียกว่า “สนฺตุฏฐี” พระพุทธภาษิตมีอยู่บทหนึ่งว่า “สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ (สัน ตุด ถี ปะระมัง ธะนัง)” แปลว่า ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง แล้วพระองค์ก็กำชับว่า “ยํ ลท.ธํ เตน ตุฏฐพ.พํ. ( ยัง ลัทธัง เตนะ ตุฏฐัพพัง)” “ได้สิ่งใดพึงพอใจด้วยสิ่งนั้น” ได้สิ่งใดก็พึงพอใจด้วยสิ่งนั้น เป็นหลักการที่จะทำให้เรามีความสุขใจ มีความสบายใจ เรียกว่าเป็นความสันโดษในอันที่กล่าวว่าได้สิ่งใดพอใจด้วยสิ่งนั้น มันหมายถึงทุกอย่าง
เช่น เราได้งานที่จะทำมันเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เขาบอกให้เราทำในเรื่องอะไร เราก็มีความพอใจในเรื่องนั้น ไม่มีความรู้สึกอึดอัดขัดใจ หรือว่าไม่พอใจในงานที่เรากำลังกระทำอยู่ แต่เรายิ้มรับด้วยอารมณ์สดชื่น พอเขาบอกว่าทำนั้นหน่อยเถอะ เรายิ้มรับ เราก็มีความสุข แต่ถ้าเขาบอกว่าไปช่วยทำนั้นหน่อย เรานึกในใจ แหม! ใช้อีกแล้ว เราก็ไม่สบายใจ แม้ว่างานมันเบา เราก็รู้สึกหนัก งานใกล้ๆ เราก็รู้สึกว่ามันไกล มันเป็นอย่างนี้เพราะเรื่องไม่พอใจ ไม่มีความสันโดษในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เราก็เป็นทุกข์ ทำไมเราจึงหาเรื่องให้เป็นทุกข์ ไม่ควรที่จะหาเรื่องอะไรมาทำให้เราเป็นทุกข์ แต่เราควรจะหาเรื่องให้เราสบายใจ อยู่ในที่ไหนเกี่ยวข้องกับอะไร ควรจะอยู่ด้วยความสบายใจ จำไว้เป็นหลักว่า ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าต้องอยู่ด้วยความสุขใจ ถ้าอยู่ด้วยความทุกข์ใจ เขาไม่ชื่อว่าเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า ศิษย์แท้ของพระพุทธเจ้าต้องมีความสุขใจอยู่ตลอดเวลา อย่ามีความทุกข์ อย่ามีความเดือดร้อนใจในปัญหาอะไรต่างๆ แต่ว่ามีความสุข มีความสดชื่น รื่นเริง อยู่กับเรื่องที่เรากำลังจะจัดจะทำนั้นอยู่ตลอดเวลา
ขณะที่จิตใจเรามีความสุข สดชื่น รื่นเริง อยู่กับเรื่องที่เราจะทำนั้น เราจะมีความปีติ ปราโมทย์เกิดขึ้นในใจ ภาษาธรรมะ เรียกว่าปีติ คือความอิ่มอยู่ในใจ ปราโมทย์ก็หมายความว่าชุ่มชื่นอยู่ในใจตลอดเวลา มีความอิ่มใจ มีความชุ่มชื่นใจในสิ่งนั้น นั่นแหละเป็นหน้าที่ที่เราควรจะกระทำ แล้วก็เป็นจิตของพุทธบริษัท คือมีปีติปราโมทย์อยู่ในเรื่องนั้น ไม่มีอารมณ์หงุดหงิด งุ่นง่านด้วยปัญหาอะไรต่างๆ ญาติโยมทั้งหลายเคยมีอารมณ์หงุดหงิดหรือไม่ อึดอัดใจหรือไม่ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา ถ้าเรารู้สึกอึดอัดใจ เราเหนื่อยหน่าย ไม่พอใจในสิ่งนั้น
นั่นแสดงว่าคุณธรรมในใจของเรายังไม่เพียงพอ สติปัญญา ยังไม่แคล่วคล่องว่องไว ยังขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ ยังเจาะปัญหาให้ลึกลงไปไม่ได้ มองอะไรแต่เพียงผิวเผินภายนอก แล้วก็มีความทุกข์ใจ มีความไม่สบายใจ อันนี้ไม่ถูกต้อง ไม่สมกับความเป็นพุทธบริษัท ซึ่งเรียกว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใสอยู่ในจิตใจ กลายเป็นผู้ไม่รู้อะไรไป กลายเป็นผู้ไม่ตื่นด้วยสติปัญญาไป แล้วก็มีความทุกข์ทางใจเกิดขึ้น ไม่สมศักดิ์ศรีของความเป็นพุทธบริษัทผู้นั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพุทธบริษัทหรือแวดล้อมพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีใจอย่างนั้น ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น ฝนจะตกฟ้าจะร้อง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรืออะไรๆ มันจะเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เราก็รักษาสภาพจิตใจของเราให้สงบมั่นคง เป็นปกติอย่างนี้เรียกว่า เป็นพุทธแท้ เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าแท้อยู่ตลอดเวลา จิตเราควรจะเป็นอย่างนั้น
แต่ว่าในเบื้องต้นมันอาจจะยังไม่เป็นอย่างนั้นก่อน เพราะยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่ได้อบรมตัวเอง สติยังไม่สมบูรณ์ ปัญญายังไม่สมบูรณ์ ยังมองเห็นอะไรไม่ถูกต้อง ยังเจาะลงไปไม่ตลอด แทงลงไปไม่ตลอดในเรื่องนั้น จึงมองดูเพียงคลุมเครือ ผิวนอกไม่ได้รู้ไปถึงแก่นแท้ของมัน เพียงยึดถือในสิ่งนั้นแล้วทำให้เกิดปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อน เราจึงหมั่นเจาะสิ่งนั้นลงไปให้ลึก มองให้ตลอดลงไปว่าสิ่งนั้นคืออะไร เรียกว่ามองตั้งแต่เปลือก กระพี้จนเข้าไปถึงแก่น แล้วก็รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ควรที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความเขลา หรือควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญา ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องสิ่งใดด้วยอำนาจความเขลา เราก็ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แต่ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดด้วยปัญญาเราก็จะไม่ทุกข์เพราะสิ่งนั้น เพราะปัญญามันเป็นเครื่องมือให้เราเจาะลึกลงไปสิ่งนั้น จนรู้ว่ามันคืออะไร เกิดจากอะไร เป็นไปอย่างไร จะแตกดับไปในรูปใดเรามองตลอดหมด มองตลอดสาย เห็นอะไรชัดเจนแจ่มแจ้ง เราก็ไม่เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น
อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ ก้าวโดยลำดับ ต้องหมั่นพิจารณาเรื่อยๆ ไป จนกระทั่งใจของเรามีสภาพเช่นนั้น ถ้าเรามองอะไรคิดอะไรไม่เป็นทุกข์แล้วก็เป็นอันใช้ได้ จิตใจเราดีแล้ว หรือมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในชีวิต ในครอบครัว ในวงศาคณาญาติของเรา เราก็ไม่เศร้าโศก ไม่เสียใจ เพราะเรารู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติตามสภาพที่เป็นจริง เราก็อยู่ด้วยอาการสงบ ไม่ขึ้นไม่ลงกับสิ่งเหล่านั้น เวลาได้ก็ไม่ดีใจ เวลาเสียเราก็ไม่เสียใจ เพราะเรามีปัญญารู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริงว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง แม้ตัวเราเองก็ยังไม่เป็นตัวเราที่แท้จริง สิ่งอื่นภายนอกจะมาเป็นตัวเราที่แท้จริงได้อย่างไร มันเป็นแต่เพียงสิ่งที่ไหลผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา แล้วก็พ้นไป คล้ายกับเราไปนั่งอยู่ที่ริมน้ำ เราจะเห็นว่ากระแสน้ำไหลผ่านเราอยู่ตลอดเวลา ไหลมาไหลไป ไหลมาไหลไปอยู่ตลอดเวลา เราจะไปจับเอาน้ำตอนใดตอนหนึ่งว่าเป็นสิ่งเที่ยงแท้ ถาวรมันก็ไม่ได้ฉันใด
ในเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของเรานี้ก็เหมือนกัน มันมีอะไรเกิดขึ้น แล้วมันตั้งอยู่นานหรือเปล่า เราลองพิจารณา ก็จะมองเห็นด้วยปัญญาว่า หาได้ตั้งอยู่นานไม่ มันเพียงแต่ผ่านมาแล้วก็พ้นไป ผ่านมาแล้วก็พ้นไป เราคล้ายกับเป็นสถานีที่ตั้งอยู่ตรงนั้น แล้วขบวนรถต่างๆ ก็ผ่านมาผ่านไป ผ่านมาผ่านไป วันหนึ่ง วันหนึ่งไม่รู้สักกี่ขบวน ที่รถมันผ่านสถานีนั้นๆ ฉันใด ในชีวิตเรานี้ก็เหมือนกันมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ผ่านไป เกิดขึ้น ผ่านไป บางทีมันก็เป็นเรื่องความรัก บางทีก็เป็นเรื่องความชัง บางทีก็เป็นเรื่องทำให้เราดีใจ แต่บางทีก็มีเรื่องทำให้เราเศร้าใจ แล้วมันก็ผ่านไปนั่นแหละ ผ่านไปทั้งนั้น แต่เราไม่ยอมให้มันผ่าน เราเปิดปากถุงไว้ ให้มันตกลงไปถุงใจของเรา แล้วเราเก็บมันไว้ เป็นอารมณ์ที่เก็บไว้ในใจ แล้วเอามานั่งคิดให้เกิดความสุขความทุกข์ ความเศร้าโศก ความไม่เสียใจอะไรต่างๆ จนตัวไม่เป็นตัวเอง นั่งครุ่นคิดแต่เรื่องให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลา อันนี้เราก็ไม่เข้าใจเรื่องนั้นถูกต้อง ตามสภาพที่เป็นจริง ทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้เราใช้ความคิดอ่านให้ถูกต้อง ให้เข้าใจในสิ่งทั้งหลาย ตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ อยู่ตลอดเวลาแล้วเราก็จะไม่เศร้าโศกหรือเสียใจ
เช่น เรื่องกำไรกับเรื่องการขาดทุน เป็นตัวอย่าง เราทั้งหลายอาจจะทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับคนนั้นกับคนนี้บ้าง แล้วเราก็จะรู้สึกว่าบางครั้งเราขาดทุนไป บางครั้งเราก็มีกำไร เวลาขาดทุนก็เสียใจ เวลามีกำไรก็ดีใจ อันนี้ทั่วๆ ไป มันเป็นเช่นนั้น คือเมื่อได้แล้วก็ดีใจ แต่พอเสียไปก็ต้องเสียใจ เราเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ก็มีด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเรามีการประกอบอะไรต่างๆ ก็มีได้มีเสีย เวลาได้ก็เพลิดเพลินเจริญใจกับสิ่งที่ได้ พอเสียไปก็ใจเหี่ยวใจแห้ง อย่างนั้นเป็นการถูกต้องหรือไม่ ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทก็ควรจะตอบตามความเป็นจริงว่า ไม่ถูกต้อง ที่เรามีสภาพเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อดีใจมันก็ขึ้น เสียใจมันก็ลง เรามันขึ้นลง ขึ้นลง แบบคนจับต้นไม้ในน้ำ คลื่นพัด เวลาเราก่อไว้กับต้นไม้คลื่นมันซัด พอคลื่นมาลูกก็ขึ้นไป พอลูกนั้นปุ๊บลงไป พอคลื่นมาก็ขึ้นไป น้ำปุ๊บก็ลงไปอยู่ในรูปอย่างนั้น มันสบายที่ตรงไหนที่ต้องขึ้นๆ ลงๆ กับกระแสคลื่น อยู่ตลอดเวลา
ในชีวิตของเราแต่ละคน มันก็มีคลื่นของชีวิต คลื่นสุขคลื่นทุกข์ คลื่นได้คลื่นเสีย คลื่นดีใจ คลื่นเสียใจ มันไหลเข้ามาในชีวิตของเรา ถ้าเราไม่มีปัญญาเป็นเครื่องประคับประคองใจ เราก็ขึ้นๆ ลงๆ ขึ้นๆ ลงๆ เรียกว่า เต้นไปตามเรื่อง เต้นไปตามเพลงอยู่ตลอดเวลา มันเป็นความสุขหรือไม่ ที่เราเต้นอยู่อย่างนั้น ญาติโยมลองคิดดู เราก็จะรู้สึกว่าไม่เป็นความสุขอะไร เพราะว่ามันมีเรื่องขึ้นๆ ลงๆ ไอ้ที่จะเป็นสุขที่แท้จริงมันอยู่ตรงไหน ตรงที่เราไม่ขึ้นไม่ลงกับสิ่งนั้น ไม่ตื่นเต้น ไม่ดีใจ ไม่เสียใจกับสิ่งเหล่านั้น เพราะเรามีปัญญารู้ว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่มันไม่เที่ยงมันอาจจะแตกดับไปเมื่อไรก็ได้ เราก็นั่งจ้องดูมันด้วยปัญญา ดูความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น ว่ามันมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เรานั่งดูไป คิดไปด้วยปัญญา แล้วจะเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงไปโดยลำดับ จนกระทั่งว่ามันดับไปในที่สุด
เมื่อเราพอใจเราก็ทำไปตามหน้าที่ ขณะทำนั้นใจเป็นสมาธิ ใจอยู่กับเรื่องนั้น ไม่ฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น สมรรถภาพทางจิตของเราก็ดีขึ้น การบริหารงานนั้นก็จะเรียบร้อยเป็นไปด้วยดี ไม่มีความผิดพลาดเสียหาย นี่คือความพอใจ มันเป็นศิลปะที่เราควรจะทำให้เกิดขึ้นในใจของเรา ไม่ว่าในเรื่องใด กรณีใด เช่นว่าเรานั่งรถไปตามถนน บางทีถนนมันขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อเราอาจจะนั่งรำคาญใจ เป็นทุกข์ว่าถนนมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเราคิดอย่างนั้นก็เรียกว่าเราคิดผิด คือไม่คิดในทางให้เราชื่นใจ สบายใจ แต่ถ้าเราคิดให้ถูกว่าถนนสร้างนานๆ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ แต่บางตอนมันก็ยังดี แต่บางตอนมันก็ไม่ค่อยจะดี มันขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ มันแตกมันร้าว ก็ให้นึกว่ามันก็เจ็บป่วยบ้างเหมือนกัน ร่างกายเรานี้ก็เจ็บป่วยเดี๋ยวเป็นหวัด เดี๋ยวเป็นไข้ เดี๋ยวปวดท้อง เดี๋ยวปวดหัว ถนนมันก็ป่วยบ้างเหมือนกัน การเป็นหลุมเป็นบ่อยางพารา ยางที่ทาไว้ มันก็แตก ซีเมนต์มันก็แตก อะไรต่างๆ ก็ยังดีกว่าที่เราจะเดินย่ำไป ไปรถยังดีกว่าเดิน แม้มันจะไปกระโดกกระเดกไปบ้างแต่มันก็ยังดีกว่าเดิน เรานึกอย่างนั้น และเราก็ยิ้มกับเหตุการณ์นั้นๆ เพลิดเพลินไปกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ใจเราก็ไม่มีความทุกข์เพราะเรื่องนั้น
ในเรื่องอื่นอีกก็เหมือนกัน สิ่งใดที่เราได้ประสบพบเห็น เราต้องเอาปัญญาเข้าไปจับสิ่งนั้นทันที มองด้วยปัญญาแล้วก็พอใจในสิ่งนั้น เมื่อเราจะอยู่กับสิ่งนั้น เราก็ควรจะอยู่ด้วยความพอใจ จะอยู่กันด้วยความไม่พอใจนี่มันเรื่องอะไร เรียกว่าอยู่อย่างชนิดอยู่กับสิ่งเป็นพิษ มันทำให้จิตเราเสื่อมลงทุกวันทุกเวลา เป็นพิษแก่จิตใจ ไม่ควรจะอยู่ด้วยความคิดที่เป็นพิษ แต่ควรจะอยู่ด้วยความคิดที่เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจของเรา มองสิ่งนั้นด้วยปัญญา ด้วยความพอใจ สิ่งนั้นก็จะไม่เป็นพิษ ไม่เป็นภัยแก่เรา เรามองมันด้วยปัญญา จิตใจก็สบาย คลายจากความทุกข์ ความเดือดร้อนใจในปัญหานั้นๆ อันนี้เป็นเรื่องช่วยให้เกิดความสุขทางใจ เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ถ้าจะเรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาอยู่ในเรื่องนั้นก็ได้ เจริญวิปัสสนาไม่ได้หมายความว่าไปนั่งหลับหูหลับตาอยู่ ณ ที่ใดๆ มันเป็นเรื่องที่เราจะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน อยู่กับการงานที่เราทำนั่นแหละ ต้องใช้มันอยู่ตลอดเวลา ใช้เพื่อไม่ให้เป็นทุกข์ ไม่ให้วุ่นวายใจ ไม่ให้เกิดความร้อนใจขึ้น เพราะการปฏิบัติงานในหน้าที่นั้นๆ ก็คือการหมั่นพิจารณา ศึกษาในเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใด เราก็ต้องพิจารณาสิ่งนั้นด้วยปัญญาไว้ แยกแยะสิ่งนั้นออกไป ให้รู้ว่าสิ่งนั้นมันคืออะไรแน่ มันประกอบด้วยอะไรบ้าง จึงได้เป็นขึ้นมาอย่างนี้ แล้วมันเป็นอยู่ถาวรหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นไปชั่วขณะหนึ่ง แล้วมันก็แตกสลายไป
เราก็ต้องพิจารณา ถ้าพิจารณาก็จะรู้ว่า มันไม่มีอะไรที่คงทนถาวร เป็นอยู่อย่างนั้นสักหน่อย แต่มันก็เปลี่ยนอยู่อย่างรวดเร็วตลอดเวลา เราจะไปจับฉวยเอาตอนใดตอนหนึ่งว่าเป็นของเที่ยง ว่าเป็นสุข ว่าเป็นตัวเป็นตนก็ไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ว่ามันไม่เที่ยงคือ เปลี่ยนอยู่เรื่อย มันเป็นทุกข์อยู่โดยธรรมชาติ มันไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง เราหลงผิดไปเอง เราเข้าใจไขว้เขว ที่ไปนึกว่ามันเที่ยง มันสุข มันมีเนื้อตัวที่ถาวร นี่คือความเข้าใจผิดในจิตใจ เราจะไม่เข้าใจผิดอย่างนั้น
ถ้าเราเป็นผู้ศึกษาธรรมะ แต่เราจะมองสิ่งนั้นด้วยการรู้ชัด เข้าใจชัด ตามสภาพที่มันเป็นอยู่อย่างจริงๆ อยู่ตลอดเวลา อันนี้ก็เรียกว่าใช้วิปัสสนา ปัญญาเป็นเครื่องมือพิจารณาสิ่งนั้นอยู่ สิ่งนั้นมันก็หายไปในกระแสของปัญญา มันจะไม่ทำให้เราต้องขึ้นๆ ลงๆ กับสิ่งเหล่านั้น เพราะเรารู้ว่ามันคืออะไร มันอยู่ได้อย่างไร แล้วผลที่สุดมันเป็นอย่างไร มันหมุนไป แต่ว่าถึงสิ่งที่สุดรอบ มันก็ดับไป ไม่มีอะไรเป็นของแท้ ไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่แท้จริง เราคิดได้อย่างนี้ ใจเราก็สบาย ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของเรา แม้บางครั้งบางคราว เราต้องสูญเสียอะไรบางสิ่งบางอย่างไป เช่นว่า คนในครอบครัวถึงแก่กรรมไปบ้าง เจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง ทรัพย์สมบัติสูญหายไป เพราะขโมยมันมาแอบยืมเอาไปเสียบ้าง มันแตกมันหักออกไปเสียบ้าง
อันนี้แหละเป็นเครื่องทดสอบกำลังใจของเรา เป็นเครื่องสอบกำลังใจ ว่าเราไปวัดไปวาไปศึกษาธรรมะ ไปฟังพระ อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทปอะไรอยู่บ่อยๆ ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาทดสอบ เราก็ไม่รู้ว่าเราสอบไล่ได้หรือตก เพราะไม่มีข้อสอบ ผ่านหรือไม่ผ่านก็ไม่รู้ แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราควรจะนึกดีใจว่า ดีแล้ว มีเครื่องทดสอบ มีเครื่องทดสอบ เราจะได้รู้กำลังใจของเราเองว่า มีสภาพอย่างไร เพราะมีเครื่องทดสอบ เช่นสมมติว่าเราอยู่ด้วยกันดีๆ ในครอบครัว แล้วคนหนึ่งก็เกิดอุบัติเหตุถึงแก่กรรมลงไป ถ้าหากว่าเราเป็นคนไม่ได้ใช้ธรรมะ ก็ต้องวิตกกังวลมาก มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ไม่เป็นอันกินอันนอน ทำอะไรก็ไม่ถูกไม่ต้อง มันงงไปหมดแล้ว เรื่องไม่นึกไม่ฝันว่ามันจะเกิด มันเกิดแก่ขึ้นแก่เรา เราก็งง ... เป็นไก่ตาแตกไปเลย ถ้าเราเป็นอย่างนี้ ในฐานะที่เราเป็นผู้ศึกษาธรรมะอยู่บ้าง ก็แสดงว่าธรรมะยังเข้าไปถึงใจ เรายังไม่ได้ใช้ธรรมะอย่างเต็มที่ ธรรมะยังช่วยอะไรเราไม่ได้ เรายังสอบตกอยู่ เพราะเรายังคิดได้ไม่ถูกต้อง นี่มันแสดงอยู่ในตัว
แต่ถ้าหากว่าเราเป็นคนได้ศึกษาธรรมะ มีความรู้มีความเข้าใจในเรื่องธรรมะ พอสิ่งนั้นเกิดขึ้น เรานั่งเฉย สภาพจิตเป็นปกติ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่เสียใจ ไม่อะไร แต่ว่าไม่หัวเราะ เรานั่งเฉยๆ เป็นปกติ หน้าตาก็ปกติ สภาพจิตก็เป็นปกติ ไม่มีอะไรกระทบกระทั่งทางจิตใจ ก็แสดงว่าเรามีความมั่นคงทางใจ ธรรมะที่เราได้ศึกษามานั้นให้ประโยชน์แก่เราแล้ว ช่วยคุ้มครองสุขภาพจิตของเราให้คงเดิมอยู่แล้ว เพราะเราไม่เสียใจในเหตุการณ์นั้นที่เกิดขึ้น แต่เรารู้ว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มันก็เป็นไปตามเรื่องของธรรมชาตินั่นแหละ เราปลงตกคิดได้ แล้วเราก็นั่งเฉยๆ มีอารมณ์เป็นปกติ ทำงานทำการอะไรก็ได้ ไม่งง ไม่ขาดสติ ปัญญา แต่เราทำงานทุกอย่างได้เรียบร้อย
อันนี้แสดงว่าเป็นผู้มีความมั่นคงทางจิตใจ ความมั่นคงทางใจเกิดขึ้นเพราะเราได้คิดนึกในเรื่องธรรมะไว้บ่อยๆ คือคิดถึงสภาพความจริงสรรพสิ่งทั้งหลาย ว่า เมื่อมีเกิดก็ต้องมีแปรเปลี่ยน แล้วมันก็มีการเกิดแตกดับ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ตามเรื่อง ไม่ว่าอะไรจะเป็นวัตถุ สิ่งของ เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะพิเศษไปกว่านั้น สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วไม่ดับมันก็ไม่ได้ มันก็ต้องดับทั้งนั้น เมื่อมีสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของเรามาดับลงไป ถ้าเราเป็นคนซาบซึ้งในธรรมะ เพราะได้คิดไว้บ่อยๆ ได้ทำไว้ในใจบ่อยๆ ทำไว้ในใจบ่อยๆ คือหมายความคิดไว้เพื่อเตือนใจว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่จะคงทนถาวร วันหนึ่งมันก็จะต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น ให้เรานึกไว้ จำไว้ในใจ พออะไรมันเกิดขึ้น เราก็พูดกับตัวเองได้ว่า “กูนึกแล้วว่ามันจะเป็นอย่างนี้สักวันหนึ่ง” พูดในใจ ไม่ต้องพูดดังๆ แต่พูดสอนตัวเองว่า “กูว่าแล้วว่ามันจะเป็นอย่างนี้เข้าสักวันหนึ่ง” แล้วมันก็เป็นเหมือนที่ว่านั่นแหละ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้เป็นแต่ฉันคนเดียว ไม่ได้เป็นแต่ครอบครัวเราครอบครัวเดียว มันเป็นแก่คนทั้งโลก ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน มันก็เป็นด้วยกันทั้งนั้น แล้วเราจะมานั่งร้องไห้ให้เสียน้ำตาทำไม จะมาเศร้าโศกมาเสียใจด้วยเรื่องอะไร ที่เราได้เป็นไปอย่างนั้น เพราะเราคิดไม่ได้ ไม่เคยคิดไว้ก่อน เหมือนกับคนบางคนพูดว่า ไม่นึกเลยว่าท่านจะจากไป ไม่นึกเลยว่าเขาจะตาย นี่แสดงว่าเราไม่ได้ใช้ธรรมะ พูดออกไปให้ใครรู้ว่าฉันไม่ได้คิดเรื่องธรรมะเลย เราคิดแต่เรื่องอื่น แต่ไม่ได้คิดเรื่องธรรมะ จึงได้มีความเศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์จนเกินขอบเขต เพราะเราไม่ได้คิดไว้ก่อน
เพราะฉะนั้นจึงต้องคิดๆ ไว้บ้าง เป็นเครื่องเตือนใจ ตามภาษาธรรมะเรียกว่า “มนสิการ” มนสิการ หมายความว่า คิดไว้ในใจ คิดไว้ละเอียดรอบคอบไว้ในใจ พออะไรเกิดขึ้นมันร้องออกมาได้ว่า มันเป็นเหมือนกูว่าไม่ผิดเลย ไม่ต้องเป็นทุกข์ กลับหัวเราะอยู่ข้างในด้วยซ้ำไป ครึกครื้นอยู่ข้างใน คนอื่นไม่รู้ แต่เรารู้ว่าเราไม่ได้กลุ้มใจ ไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เดือดร้อนใจ เพราะเราได้คิดไว้ก่อนว่ามันจะเป็นอย่างนั้น นี่เกี่ยวเรื่องคน เรื่องทรัพย์สมบัติก็เหมือนกัน มันต้องมีบ้าง ต้องมีสูญมีหายมีอะไรไปบ้าง ถ้าว่าอะไรของเราหายไปแล้วเรากลุ้มใจเหลือเกิน เสียใจเหลือเกิน ไม่สมภูมิของคนศึกษาธรรมะ ไม่สมภูมิของความเป็นพุทธบริษัทเสียแล้ว ที่ได้ไปนั่งเศร้าโศกเสียใจอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร “อย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้วด้วยอาลัย อย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย” ของเมื่อเช้ามันผ่านไปแล้ว เมื่อสายมันก็ไปแล้ว เมื่อเก้าโมงมันก็ไปแล้ว เมื่อเที่ยงมันก็พ้นไปแล้ว เมื่อบ่ายมันก็พ้นไปแล้ว พ้นไปแล้ว เราอย่าคิดด้วยอาลัย คิดอย่างไร ที่คิดด้วยอาลัย คิดด้วยความเสียดาย คิดด้วยความคิดว่า แหม ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ มันน่าจะอยู่ต่อไปอีกหน่อย มันน่าจะแข็งแรงกว่านี้ ขโมยก็ไม่น่าจะขึ้นมาเอาของฉันไปเลย คิดด้วยความอาลัย ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ที่นั่งคิดอย่างนั้นไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่มันทำให้เพิ่มความหนักใจยิ่งขึ้น เพิ่มความเศร้าโศกในใจมากขึ้น เหมือนกับคนกินของแสลง โรคมันก็กำเริบมากขึ้น เพราะเอาของแสลงมาป้อนเข้าไป เรานั่งคิดแต่เรื่องเศร้าเรื่องโศกเรื่องเสียใจ ก็หมายความว่าเราเพิ่มสิ่งนั้นลงไป ที่เรียกว่าคิดด้วยความอาลัย แล้วคนที่มาเยี่ยมก็ไม่ได้ช่วยให้คลายทุกข์ มาเพิ่มอีก เช่นสมมติว่าลูกชายเขาตายไป มาถึง “ไม่นึกเลยว่าจะตาย เมื่อวานยังไปคุยกับฉันอยู่เลย ยังคุยกันสนุกอยู่แล้ว แหม! เช้านี้ตายเสียแล้ว น่าสงสาร” ไอ้คนที่เป็นแม่ โฮ ... ออกมาทันที อยู่ดีๆ มาเขี่ย มาเขี่ยให้หนองทะลักออกมา คนนั้นก็ โฮ.... ขึ้นมาอีกแล้ว เดี๋ยวคนนั้นก็มา “เด็กคนนั้นมันดีเหลือเกิน น่าเอ็นดู ร่างกายก็แข็งแรง ไม่นึกเลยว่าจะตาย” เรียกว่ามาซ้ำเติมซะอย่างนั้น มาพูดซ้ำเติมให้คุณแม่เสียใจ ให้คุณพ่อเสียใจ ให้ทุกคนเสียใจ แล้วก็พูดไม่เป็นธรรมเลย พูดไม่เป็นธรรม มาถึงมานั่งเฉยๆ เสียยังจะดีกว่า แต่ไม่อย่างนั้นมาพูดแสดงความเห็นอกเห็นใจ แต่ไม่ได้ทำให้เขาสบายใจ
มันน่าจะพูดในเรื่อง “อืม! อย่าเศร้าโศกเสียใจไปเลยคุณพี่ มันเรื่องธรรมดา วันก่อนบ้านโน้นเขาก็ตายไปคนหนึ่งเหมือนกัน บ้านโน้นก็ตายฉันไปเผาศพวัดโน้น แหม วัดโน้นศพเยอะจริง มีกี่ศาลาก็ไม่รู้ ศพทั้งนั้น” พูดให้เขาเห็นว่า อ้อ มันไม่ได้ตายแต่หลานเราลูกเรา หรือคนในครอบครัวของเรา ครอบครัวอื่นมันก็ตายอยู่เหมือนกัน เหมือนๆ กันนั่นแหละ หรือว่าหาอุบายชวนไปที่ป่าช้า ไปวัดดอนก็ได้ ไปเดินนับว่ากี่หลุม ที่เขาฝังไว้ เดินไปนับไป เดินไปนับไป คงจะคลายไปบ้าง คลายไปว่า อ้อ! มันตายกันเยอะแยะ ไม่ได้ตายแต่ครอบครัวฉัน มันก็ปลงตกลงไปได้เหมือนกัน คนที่มาช่วยปลงไม่มี แต่มาช่วยเพิ่มความหนักใจความเป็นทุกข์ให้เพิ่มขึ้น เราไปหาคนที่เป็นทุกข์นี่ อย่าไปพูดอะไรที่จะเพิ่มความทุกข์ให้แก่เขา แต่ควรจะไปพูดให้เขาเปลี่ยนจากความทุกข์มาเป็นความสุขใจ เปลี่ยนจากความไม่รู้มาเป็นความรู้ความเข้าใจ ในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงขึ้นมา เขาก็จะคลายความทุกข์ขึ้นมาบ้าง นั่นแหละเป็นเรื่องถูกต้อง หรือคิดอย่างนั้นถูกต้อง ตัวเราเองผู้มีความทุกข์ก็คิดไปในแง่อย่างนั้น อย่าคิดแต่ว่า ฉันยังคิดถึง ฉันอย่างนั้นฉันอย่างนี้ มันเติมความทุกข์ ไฟมันลุกอยู่แล้ว เอาน้ำมันราดลงไปอีกมันก็ลุกใหญ่
เราควรจะหาวิธีว่าจะดับไฟได้อย่างไร ไม่ให้ไฟมันลุกลามต่อไป ก็ต้องคิดในรูปอย่างนั้น ความทุกข์ความไม่สบายใจก็ค่อยผ่อนคลายไป ค่อยมีความสุขสดชื่นในเรื่องอะไรต่างๆ ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงมันอยู่ที่เราใช้ปัญญา ถ้าเราใช้ปัญญาเป็นเครื่องแก้ ความทุกข์มันก็เสื่อมไป เวลานี้ความทุกข์ส่วนรวมจะเกิดขึ้นแก่ญาติโยมทั้งหลาย คือเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ มีของขายไม่ได้ มีเงินก็ไปซื้อของก็ได้น้อย เพราะของมันแพง เงินมันไม่ค่อยมีซื้อ เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนั้น แต่ในสมัยหนึ่งนะโยมนะ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เวลานั้นอาตมายังเป็นสามเณรอยู่ อยู่ระนอง คราวนี้พระองค์หนึ่งบ้านอยู่ระโนด ไปอยู่ระนอง ญาติๆ ที่ระโนดเขียนจดหมายไปบอกว่าข้าวของมีเยอะแยะ แต่ไม่มีสตางค์จะซื้อ สมัยนั้นคนมันมีของแต่ไม่มีสตางค์จะซื้อ ชาวนาก็มีข้าวแต่ไม่มีใครซื้อ ขึ้นน้ำตาล ขึ้นก็เหนื่อย ลงก็เหนื่อย เอามาเคี่ยวเป็นน้ำตาลแล้วขายไม่ออก คนซื้อมันไม่มีสตางค์จะซื้อข้าวซื้อของ เศรษฐกิจตกต่ำเหมือนกันสมัยนั้น แต่ก็อยู่กันมาได้ อยู่กันมาได้จนกระทั่งถึงบัดนี้
เดี๋ยวนี้ก็เศรษฐกิจตกต่ำ แบบคล้ายๆ คือขายไม่ออก มีข้าวขายไม่ได้ หรือขายไม่เป็นก็ไม่รู้ ไม่แน่ มีน้ำตาลก็ขายไม่ได้ มีอะไรๆ ก็ขายไม่ได้ มันก็แปลกประหลาด ขายไม่ได้ อันนี้พอขายไม่ได้ คนติดก็ไม่มีสตางค์จะใช้ เกิดเป็นปัญหาเรื่องไม่มีอะไรจะใช้ บ้านเรานี่ แม้ว่าจะมีสภาพตกต่ำอย่างไร ก็ไม่ลำบาก เพราะอะไร เรามีข้าวสำหรับให้เรากิน มีน้ำสำหรับพอดื่ม มีน้ำตาลพอที่จะชงกาแฟ มีน้ำชากินได้ ไม่ลำบาก มีเสื้อมีผ้าพอนุ่งห่ม บางทีก็นุ่งกันไม่หวาดไม่ไหว มันมีเยอะแยะ ในตู้ก็มีหลายชุดแม้ไม่ได้ซื้อก็ยังพอนุ่งไปอีกหลายปี ก็ไม่น่าจะเดือดร้อนอะไร เจ็บไข้ได้ป่วยหรือ? ไม่มียาต่างประเทศ ไม่เป็นไร ต้นไม้บ้านเราเยอะแยะ ใบก็เป็นยาได้ เปลือกก็เป็นยาได้ รากก็เป็นยาได้ แก่นก็ยังเป็นยาได้ เอามาต้มๆ กันเข้า มันก็กินหายโรคหายเหมือนกัน บรรพบุรุษเราก็กินมาอย่างนั้นแหละ รักษาโรคกันมาอย่างนั้น ต้มกันเป็นหม้อๆ หม้อใหญ่ๆ ต้มแล้วก็กินกันเป็นชามเลย น้ำยาเป็นชาม เวลากินบางทีก็กินไม่ไหวต้องปิดจมูก กินเข้าไป เพราะว่ากลิ่นมันเหลือเกิน มันจะอาเจียนซะแล้วเมื่อได้กลิ่นยาต้องบีบจมูกไว้ กินเข้าไป สมัยเด็กๆ ก็เคยกินยาอย่างนั้นต้องบีบจมูก ก็กินเข้าไป มันก็อยู่มาได้จนถึง ๗๕ ปีแล้วมันก็ยังไม่ตาย ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร เราคิดอย่างนั้น
แม้ไม่มีของนอกก็ไม่เดือดร้อน ไม่มีเครื่องจักรไถนาเราก็มีควายไถมันไปเถอะควาย ไม่ได้ขายก็ทำไว้กิน มันก็อยู่ได้ ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร แต่คนมันคิดให้มันวุ่นวาย หนังสือพิมพ์ก็ชอบเขียนให้วุ่นวาย อภิปรายกันก็พูดให้มันวุ่นวาย ไม่ได้แก้ปัญหา แต่มันวุ่นวายขึ้น เราที่เป็นนักธรรมะจึงไม่ควรจะเป็นทุกข์กับปัญหาเหล่านั้น เราอยู่ได้ตามสภาพ อยู่ได้ตามอัตภาพของเรา เรากินแต่พอดี เราอยู่แต่พอดี นุ่งห่มแต่พอดี ไม่มีธุระไปไหน เราก็อยู่บ้านของเรา ทำอะไรไปตามเรื่องด้วยจิตใจสงบสบาย ไม่ต้องไปเที่ยวก็ได้ ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร
เช่น วันปีใหม่ คนนั้นก็ไปนี่ ไปทำไป วันปีใหม่เหมือนวันปีเก่านั่นแหละ มันเท่าๆ กันนั่นแหละ ไม่ใช่ว่าแปลกประหลาดอะไร เราจะไม่ไปก็ได้ ไม่ทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ไปซื้อ ส.ค.ส. ส่งไปสักเล่ม ให้เพื่อนรู้ว่ายังคิดถึงอยู่ก็พอแล้ว มันไม่สิ้นเปลืองอะไรเท่าไร ก็อยู่ได้สบาย ไม่เห็นจะต้องเดือดร้อน ไปตื่นเต้นกัน ไปซื้อข้าวซื้อของเดินกันเต็ม ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตคนเต็มไปหมด ไปซื้อ เจอใครก็หิ้วกัน แขนห้อยไปตามๆ กันหิ้วของ ของปีใหม่จะเอาไปฝากคนนั้น จะเอาไปฝากคนนี้ ตามธรรมเนียม ไม่มีอะไรจะไปฝากก็ไม่ต้องไปก็ได้ ไม่เห็นจะเสียหายอะไร อยู่ได้ไม่เห็นเดือดร้อน อาตมาก็ไม่ค่อยเอาอะไรไปฝากใครเท่าไร
เช่นว่า ก่อนเข้าพรรษา เขาต้องไปผู้หลักผู้ใหญ่ ไปกราบองค์นั้นกราบองค์นี้ อาตมาก็ไม่เคยไปกราบใคร ก็อยู่มาอย่างนี้ ยังเทศน์สบายๆ อยู่อย่างนี้ ไม่ค่อยได้ไปกราบใคร ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลาย ใครเขาเลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ เขาก็ไปกัน เอาถาดใส่ดอกไม้ ใส่เทียนแพไปกราบกัน แสดงความยินดี อาตมาก็เฉยๆ แม้คนรู้จักกันได้เลื่อนเป็นสมเด็จเป็นอะไรก็เฉยๆ แต่ถ้าไปเจอหน้าเข้า ก็ยินดีด้วยครับ ได้เลื่อนไปอีกชั้นหนึ่ง แต่มันหมดตอนนี้ไม่มีเรื่องจะยินดีต่อไป เพราะมันติดขั้นแล้ว เป็นสมเด็จก็ติดเพดานแล้ว ไม่มีโอกาสจะได้เลื่อนต่อไป คนที่ยังไม่ได้ถึงสมเด็จ ก็มีทางจะอยากไปอีก จะได้เป็นชั้นนั้นเป็นชั้นนี้ พอขึ้นสมเด็จหมดทางแล้ว ติดเพดานไปไม่รอดแล้ว ก็อย่างนั้นแหละ เจอกันก็ โอ ยินดีด้วยครับที่ได้เป็นสมเด็จ ก็เท่านั้นเอง ไม่ต้องเปลืองเทียนแพ ไม่ต้องเปลืองดอกไม้ ใช้คำพูด ๒-๓ คำก็พอแล้ว ถ้าเจอกันนะ ถ้าไม่ได้เจอกันก็แล้วไป ไม่ได้ไปหา ก็อยู่ได้แต่พระไม่เป็นไร โยมอยู่ในสังคมยังเกี่ยวข้องเรื่องธุรกิจ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ต้องไปหากันตามเรื่อง ส่ง ส.ค.ส. กันไปบ้าง อะไรกันบ้าง เยี่ยมเยียนกันตามหน้าที่ก็เป็นเรื่องดีเรื่องงาม แต่ถ้าเรามันขัดข้องก็ไม่เป็นไรไม่ไปก็ได้ ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องเป็นทุกข์ว่าไม่ได้ทำสิ่งนั้น ไม่ได้ทำสิ่งนี้ หัดทำใจให้มันปลอดโปร่ง แจ่มใสไว้ ก็เป็นความสุขพอสมควรแก่ฐานะ
เอาวันนี้แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยม นั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที เชิญนั่งสงบใจ