แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้อาทิตย์นี้ เป็นวันอาทิตย์แรกออกพรรษา เราได้อยู่จำพรรษากันมาเป็นเวลาสามเดือน แล้วก็ออกพรรษาแล้ว พระที่บวชสามเดือนก็ลาสิกขากันไปกลับบ้านเพื่อไปทำหน้าที่ในฐานะชาวบ้านต่อไป ญาติโยมที่เคยมาวัดในฤดูกาลเข้าพรรษา บางทีก็ห่างๆ ไป ก็นึกว่าออกพรรษาแล้ว เลยไม่ค่อยจะมา แต่ว่าบางท่านที่มีความมั่นคงในการก้าวหน้าทางธรรมะ ก็ได้มาอยู่เป็นปกติ แต่ในระยะนี้คงจะมีงานกฐินไปโน่น ไป กฐินทัศนาจร มีมาก ไปไกลๆ กัน ญาติโยมก็พลอยไปกัน เดินทางไปรถ ไปสนุกกันหน่อยเป็นเรื่องธรรมดา เป็นการพักผ่อน สมาชิกก็ลดไปบ้าง แต่พอพ้นฤดูกฐินก็มากันอย่างเดิม การปฏิบัตินี้มันต้องปฏิบัติติดต่อกันเรื่อยไป ทำดีต้องทำดีติดต่อเรื่อยไป ไม่มีการปลดระวาง คือถ้าขึ้นแล้วมันลง ลงแล้วก็ขึ้นใหม่ ก็ต้องตั้งต้นใหม่ ไม่ไปถึงปลายทางสักที โดยถ้าเราทำสม่ำเสมอเรื่อยๆ ไปงดเว้นอะไรได้ ก็งดเว้นตลอดไป ก็เป็นความก้าวหน้าในชีวิตของเราประการหนึ่ง ซึ่งควรจะได้กระทำติดต่อกันไป ถึงแม้จะออกพรรษาแล้ว ทางวัดก็ยังปาฐกถาเหมือนเดิม ทำอยู่เป็นปกติ เพราะว่าทำมาอย่างนี้ตั้ง ๒๕ ปีแล้ว เราก็ทำต่อไปไม่หยุดไม่ยั้ง ตราบใดที่ยังพูดกันได้ ก็พูดกันเรื่อยไป โยมมีหูจะฟังได้ก็มาฟังกันเรื่อยๆ ไปไม่มีการหยุด เป็นการติดต่อตลอดเวลา เพราะว่าถ้าหยุดเสียวันใดก็เปิดช่องให้กิเลสมาเพื่อแทรกแซงในจิตใจของเราได้ นั่นก็เป็นปัญหาเป็นความทุกข์ในชีวิตประจำวันต่อไป เราทั้งหลายไม่ต้องการความทุกข์ ต้องการแต่ความสุขความเจริญในชีวิตประจำวัน ก็ควรจะได้มีข้อคือธรรมะเป็นเครื่องป้องกันไว้ สำหรับคู่ครองชีวิตของเราตลอดไป จึงจะเรียกว่าเป็นการถูกต้อง อันนี้เป็นข้อคิดที่ญาติโยมควรจะได้นึกคิดเป็นประจำวันไว้ตลอดไป
ในวันอาทิตย์ก่อนได้พูดถึงเรื่องหลักตัดสินธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มีหลายประการด้วยกัน ๘ อย่างที่ได้พูดได้ฟังแล้ว ว่ากรรมเหล่าใดที่เป็นไปด้วยความกำหนัดย้อมใจ เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ เป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อไม่สันโดษยินดีตามมีตามได้ เป็นไปด้วยการคลุกคลีเป็นหมู่เป็นคณะ เป็นไปเพื่อความเกียจคล้าย เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก อันนี้ไม่ใช่ธรรมวินัยของผู้มีพระภาคย์เจ้า ที่ได้ทรงบัญญัติหลักไว้อย่างนี้ก็เพราะว่าพระองค์ทรงเห็นกาลอนาคตว่าต่อไปข้างหน้า ใครจะเอาอะไรมาใส่ในพระโอษฐ์ของพระองค์มากขึ้น เอาอะไรมาใส่ไว้เป็นของไม่จริงไม่แท้ เอามาปะปนไว้ในตัวพระคัมภีร์ในการปฏิบัติหลายเรื่องหลายประการ จึงได้ทรงให้หลักไว้เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับวินิจฉัย ว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ นับว่าเป็นสิ่งประเสริฐที่เราควรจะรู้ ควรจะเข้าใจ เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันมีอะไรแปลกๆ ต่างๆ เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนาหลายเรื่องหลายประการ และก็มีวิธีการซึ่งใหม่ๆ แปลกๆ (05.02) สมัยใหม่ในการที่จะชักจูงโน้มน้อมจิตใจคนให้หลงใหลมัวเมาไปในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เรียกว่าไสยศาสตร์ เข้ามาปะปนอยู่มากมาย ถ้าเราไม่มีเครื่องมือสำหรับวินิจฉัยสิ่งเหล่านั้น ก็จะหลงยึดเอาสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา แล้วก็เอามาปฏิบัติกันทั่วๆไป ทำให้เนื้อแท้ของพุทธศาสนาเสื่อมโทรมไป เรื่องนี้ท่านผู้มีพระภาคย์ ได้ทรงเปรียบเทียบไว้ในพระสูตรแห่งหนึ่งว่าเหมือนกับมีกลองอยู่ใบหนึ่ง ทำด้วยไม้อย่างดี กลองใบนั้นทำด้วยไม้อย่างดี แต่ว่าต่อมาเวลามันล่วงเลยมาก็บางส่วนของไม้นั้นผุไป ก็เอาไม้อื่นมาปะเข้าไว้ แล้วส่วนใดผุก็เอาไม้อื่นมาปะเข้าไว้ ปะนานๆ เข้า จนเนื้อเดิมนั้นหายไปหมด เหลือแต่เนื้อใหม่ที่เอามาใส่เข้าไป คนก็ไม่รู้ว่ากลองเนื้อเดิมมันเป็นอย่างไร ก็ไปเห็นเนื้อใหม่ทั้งนั้น ฉันใด ในธรรมวินัยของตถาคตก็เหมือนกัน ต่อไปในกาลข้างหน้าไม่ใช่มีอยู่เดี๋ยวนี้ บอกว่าต่อไปในกาลข้างหน้าคือสมัยที่พวกเราเป็นอยู่นี่จะมีอะไรๆ เข้ามาในพระสูตรมาก เข้ามาในส่วนอื่นของพระธรรมวินัยบ้าง คนไม่ศึกษาให้ลึกซึ้ง ไม่เรียนให้ตลอดก็จะเข้าใจผิดคิดว่านี่แหละเป็นพระพุทธศาสนา และถ้าหากว่าพระเราเป็นผู้ประกอบการอย่างนั้น คือพระทำเสียเอง คนจะยิ่งหลงเข้าใจผิดไปใหญ่ว่านี่คือพุทธศาสนา เพราะพระทำอยู่ทั่วๆ ไปอันนี้จะทำให้สัจจธรรมคำสอนที่แท้จริงของพระผู้มีพระภาคย์เสื่อมสิ้นไป หายไป โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นการทำลายเหมือนกัน เรียกว่าทำลายพระศาสนาให้สูญไป สิ้นไปโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อันเป็นเรื่องเสียหาย ซึ่งเรื่องอย่างนี้มันก็มีอยู่ทั่วๆ ไปแม้ในวงการของพระสงฆ์องค์เจ้า ที่ทำอะไรโดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็ทำให้เสื่อมสิ้นไป ทำให้เสียหายอย่างหนึ่ง อย่างเมื่อวานนี้ไปเชียงใหม่เขาเอารูปมาให้ดู คือรูปของลูกที่ไปบวชในพระศาสนา ถามว่าบวชกี่วัน บวช ๒๑ วัน แล้วเวลาไปบวชก็ท่องอะไรไม่ได้เลย ก็ต้องไปสอนกันทุกตัวอักษร ถามว่าทำไมจึงไปบวช บวชวัดนอกเมืองนู่น วัดในเมืองนี่ก็มีอยู่ตั้งหลายวัด แต่ที่มีการศึกษามีการชักจูงอะไรอยู่แต่ทำไมไม่บวช ทำไมจึงไปบวชวัดนั้น เพราะว่าวัดนั้นเป็นพระหมอดู ทีนี้ก็แม่ไปดูหมอกับพระ พระบอกว่าดวงมันไม่ค่อยดีหมู่นี้ ต้องบวช แต่แม่จะไปบวชไม่ได้ เลยบอกให้ลูกชายบวชแทนจะได้หรือไม่ ก็เลยให้ลูกชายบวชแทน ก็เข้าไปบวช แบบฉุกเฉินว่างั้น บวชแบบฉุกเฉินก็ต้องว่ากันไปขลุกขลักกันไปตามเรื่อง
อันนี้ไปดูรูปๆ หนึ่งที่พระออกไปยืนบวช ถามอันตรายที่กระทำแก่ผู้ที่จะบวชนี่ ถ้าเห็นมือถือคัมภีร์ไปทั่ว ถือคัมภีร์ถามว่าอะไร คัมภีร์อะไร เขาบอกว่าคัมภีร์วิบากกรรม บวชเพื่อถ่ายวิบากกรรมให้มันหมดไป คือล้างบาป บวชล้างบาปล้างกรรมให้มันหมดไป ก็เอาคัมภีร์นี้ขึ้นไปถือไว้ด้วยเพื่อช่วยแบ่งเบาบาปกรรมทั้งหลายให้มันหมดไปจากพ่อจากแม่ พอเห็นเช่นนั้นแล้วอาตมาก็หัวเราะออกมา อันนี้ โยมที่นั่งด้วยก็ถามว่าท่านเจ้าคุณหัวเราะอะไร หัวเราะว่าอยู่ใกล้วัดที่ฉลาด แต่ว่าไม่เอาความฉลาดกลับไปเอาความโง่ไม่เข้าเรื่องตามที่เห็นในรูปภาพนี้ พอพูดอย่างนั้นโยมก็หัวเราะหนักเข้าไปอีก หัวเราะมากเข้าไปอีก ก็เลยถามว่าโยมหัวเราะอะไร ก็หัวเราะว่าเขาไม่ลืมหูลืมตา ไม่ฟังสิ่งที่ถูกต้องซึ่งอยู่ใกล้ แต่ไปเอาสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่ห่างไกลออกไป อย่างนี้เป็นตัวอย่างและก็บวชเพื่อไถ่บาปพ่อแม่ ให้มันหมดบาปกรรมหมดเคราะห์หมดโศกอะไรอย่างนั้น ซึ่งความจริงนั้นก็ไม่ถูกต้องอะไรนัก ทำไปตามพิธีการของหมอดู ถ้าหากว่าจะให้หมดกรรมนั้นจะทำอย่างไร ก็ต้องรู้ถึงกรรม เราต้องรู้ว่ากรรมอะไรทำให้เราเดือดร้อนให้เราวุ่นวายอยู่ในชีวิตประจำวัน ต้องศึกษาทบทวนเรื่องการงานที่ตนกระทำอยู่ ว่ามันมีอะไรบกพร่องมีอะไรเสียหาย มีอะไรที่เป็นตัวสร้างปัญหาตามหลักการของพระพุทธเจ้าที่สอนว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุผลก็เกิดไม่ได้ แล้วเหตุนั้นอย่าไปเที่ยวนึกว่ามีอยู่ภายนอกต้องนึกว่าเป็นเหตุภายในตัวเรา ก็สิ่งที่มันเกิดกับเรานั้นมันต้องเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น แม้จะมีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง แต่ว่าเรานี่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคนนั้นด้วยความเขลา ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงเป็นเหตุให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่เราไม่ค่อยจะเอาหลักธรรมะในส่วนนี้ไปใช้ ก็มีปัญหาอะไรขึ้นก็มักจะพูดว่าดวงไม่ดี ชะตาไม่ดี สิ่งนั้นให้โทษ สิ่งนี้ให้โทษแล้วก็จะทำการแก้ไขด้วยวิธีไสยศาสตร์ในรูปต่างๆ ซึ่งการกระทำอย่างนั้นไม่ได้แก้ตรงจุดที่เป็นตัวเหตุอันแท้จริง ทำไปเพื่อให้สบายใจ ใจมันก็สบายไปชั่วครั้งชั่วคราว เท่านั้นเอง แต่ว่าเหตุอันแท้จริงมันยังอยู่ว่าเหตุตัวการที่จะให้เกิดเรื่องมันก็เกิดเรื่องต่อไปไม่จบไม่สิ้น แต่ถ้าเราทำตามหลักการของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ เหตุนั้นอยู่ในตัวของเราไม่ใช่เกิดที่ภายนอก ไม่ใช่อยู่ที่ดวงดาวในท้องฟ้า หรือไม่ได้อยู่ที่สิ่งนั้นสิ่งนี้จะมาดลบันดาลให้เราเป็น แต่ตัวเหตุแท้จริงนั้นเกิดจากการคิด การพูดการกระทำของเรา เราคงจะคิดผิด พูดผิด กระทำผิดไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะปกติของคนเรานั้นมันมีข้อเสียอยู่ในตัวประการหนึ่ง ข้อเสียก็คือว่าไม่ยอมรับว่าตัวผิด อันนี้แหละคือสำคัญที่สุด คือไม่ยอมรับว่าตัวผิด ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น แทนที่จะมองที่ตัวค้นหาเหตุ มองที่ตัว ไม่มีใครทำอย่างนั้น แต่มันจะคิดไปถึงภายนอก ที่คิดง่ายก่อนเพื่อนคือคิดว่าแหมหมู่นี้ดวงมันไม่ค่อยดี ซึ่งเราได้ยินพูดกันบ่อยๆ หากใครถูกย้ายก็ว่าดวงไม่ดี หากใครได้เลื่อนชั้นก็บอกว่าแหมดวงดีนะปีนี้ได้เลื่อนชั้น มันไปอย่างนั้น พูดแต่เรื่องดวง เรื่องดาว เรื่องโชคชะตาราศี ซึ่งเป็นเรื่องที่มันแพร่หลายอยู่ในสังคมของคนไทยเรา เราพูดกันอยู่ในรูปอย่างนั้นไม่เคยพูดว่าคงจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในตัวของผู้นั้น ที่ได้เลื่อนก็เพราะคงทำดีอะไรนายเห็น ก็เห็นใจ ไม่ได้เลื่อนก็เพราะว่าเรามันยังดีไม่พร้อม ยังดีไม่พอ ก็ต้องอยู่ในรูปนี้ต่อไปก่อน ไม่มีใครคิดอย่างนั้น แม้เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้คิดว่าเราบกพร่องในเรื่องการอนามัย เรื่องการรักษาสุขภาพ เรื่องอาหารการกิน เรื่องอะไรต่ออะไรอย่างไร เราไม่เคยคิดกันอย่างนั้น แต่เราคิดว่าดวงไม่ดี ดวงไม่ดีก็ไปเชื่อที่ดวง แก้ที่ดวงก็ต้องทำตามแบบไสยศาสตร์
ถามผู้รู้ก็คือสร้างสงฆ์บ้าง ชาวบ้านบ้าง ทำไปตามเรื่องตามราว ไอ้ดวงชะตาราศีแนะนำให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ อะไรอยู่มากเนื้อ มากประการ สังฆทานที่คนเรามาถวายบ่อยๆ ถ้าเป็นที่มาจากดวงก็ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ก็ไปดูดวงเสร็จแล้วหมอก็ให้ไปทำสังฆทาน แล้วก็ไปถวายสังฆทาน ถามว่าให้นึกว่าถวายสังฆทานเพื่ออะไร แต่ถวายเพื่อไถ่ดวงชะตา ไถ่บาป ไถ่โทษ แต่ไม่เคยพิจารณาว่าโทษอะไรที่ตัวเรา เราผิดอะไรไม่ได้คิดอย่างนั้น มันก็ไม่ได้อะไรที่เป็นเนื้อแท้ในทางจิตใจ นอกจากว่าจะให้ไปตามเรื่องตามราว บางทีก็ถวายองค์เดียว บางทีก็หลายองค์ บางทีก็ถวายของแปลกๆ เช่น บางทีบอกว่าให้ไปซื้อกลองถวายวัด ถามว่ามีกลองแล้วเอามาถวายอีกใบหนึ่ง ก็ตีกันไป บางทีก็บอกว่าให้ไปซื้อวัวซื้อควายไปปล่อย แพงหน่อยก็ตัวหนึ่งหลายพันเวลานี้ ก็ซื้อวัวซื้อควายมาปล่อย ทีนี้ถ้าไปปล่อยวัดที่มันกว้างๆ มันก็ดี แต่ถ้าเอามาปล่อยวัดที่เขามีต้นไม้ปลูกสวยๆ งามๆ วัวควายก็มาเหยีบย่ำต้นไม้เสียหาย มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร วันก่อนก็นี้มีคนคนหนึ่งเอามาปล่อยสองตัว ควายตัว วัวตัว อาตมาไม่อยู่วันนั้น เสียดายที่ไม่ได้พบคนมาปล่อยควาย จะได้เทศน์ให้ฟังหน่อย ไม่อยู่ กลับมาถึงเอ๊ะมีวัว มีควายเที่ยวเดินย่ำสนามอยู่ อ้าว ใครเอาวัวควายมากินหญ้าในวัด พระบอกไม่ใช่เขามาสะเดาะเคราะห์ไว้ว่างั้นนะ มันก็ทำยุ่งสนามสวยๆ ต้นไม้ปลูกไว้ดี มันเหยียบ มันไปสี ทำอะไรเสียหาย แล้วก็ให้คนหลังวัดเอาไป บอกว่าอย่าเอาไปฆ่านะ เอาไปเลี้ยงไว้ไถนา ถ้าเลี้ยงไม่ได้ก็เอาไปถวายวัดอื่นต่อไป ก็พ้นความรำคาญไป เป็นตัวอย่าง พวกขายนกขายเต่าที่มาอยู่หน้าวัดก็ขายได้เรื่องอะไร เรื่องเชื่อโชคเชื่อลางเหมือนกัน นึกว่าถ้าปล่อยเต่าแล้วอายุมันจะยืน ปล่อยเต่าอายุก็ไม่ยืนเท่าเต่าหรอก เต่ามันอายุยืนกว่า ปล่อยนกก็จะได้สะเดาะห์เคราะสะเดาะห์โศกไป เราไม่ได้นึกไปถึงมุมกลับของเรื่องว่า ถ้าเราไปซื้อนกไปปล่อย คนนี้ก็ต้องไปจับนกมาขังไว้เพื่อให้คนซื้อปล่อยต่อไป ก็เท่ากับว่าส่งเสริมการดักจับนกมาขายนั่นเอง ถ้าเราไปซื้อเต่าปล่อย ไอ้พวกนี้ก็ไปหาเต่าอีก บางทีปล่อยไปแล้วกลางคืนมันมาเที่ยวจับเต่าตัวที่ปล่อยนั้นเอาไปขังไว้ต่อไป พรุ่งนี้เอามาขายต่อไป อาจจะไปลักเต่าวัดไหนก็ได้ แล้วถ้าไปปล่อยมาก เต่าก็เป็นสัตว์ทุกข์เหมือนกัน เช่น เต่าวัดเบญจมบพิตร เราไปดูสิวัดเบญจฯ สระมันแคบ เต่าจำนวนมากอยู่กันแออัดยัดเยียด เรียกว่าเนื้อที่น้อยพลเมืองเต่ามันมากมันอยู่กันอย่างไร แออัดเป็นสลัมเต่าไปเลย อาหารก็ไม่พอจะกินกันอะไรกันมันก็เดือดร้อนวุ่นวาย มันเรื่องอะไรที่ต้องทรมานสัตว์อย่างเอาไปปล่อยลงไป ปล่อยลงไป ก็เรื่องสะเดาะเคราะห์นั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร สัตว์นี่ให้อยู่หนาแน่นมันก็ลำบากเมืองกัน แต่ประเทศอังกฤษเขานี่ริชมอนด์ปาร์คนี่มี กวางเยอะ
เมื่อไปคราวที่แล้วคนหนึ่งเขาคุยให้ฟังว่า ทางการคิดจะฆ่ากลางนี้บางส่วนเพราะมันมากเกินไป รัฐฆ่ามันทำไมปล่อยมันอยู่ตามธรรมชาติ บอกไม่ได้ อาหารไม่พอ อาหารไม่พอมันจะอยู่กันไม่ดี ทำให้เกิดเป็นปัญหา ฆ่าเสียดีกว่า ลดจำนวนลงไป เขาจะฆ่า คนบางประเทศก็เขียนหนังสือคัดค้านในหนังสือพิมพ์ว่าไม่ควรจะทำอย่างนั้น ปล่อยไว้ตามเรื่อง หรือว่าหาวิธีจับเอาไปปล่อยที่ป่าอื่นต่อไป อย่าให้แน่นในสวนริชมอนด์ เขาก็แนะนำกันอย่างนั้น ก็มองเห็นว่า มันแน่นกันเกินไปมันก็ไม่สบาย ไอ้เราเอาเต่าไปปล่อยวัดมันก็แน่น วัดจักรวรรด์เต่าก็อยู่กันหนาแน่น วัดเบญจฯนี่แน่นกว่าเพื่อน น้ำสกปรกก็เพราะเต่ามากเกินไป แล้วน้ำไม่ได้ถ่ายเท ไม่เหมือนสมัยก่อน น้ำแม่น้ำเข้าไปในท่อได้ แล้วก็เวลาลงก็ปล่อยได้ เดี๋ยวนี้ไม่เข้าแล้ว น้ำไม่ได้เข้า เลยเต่าก็แออัดยัดเยียด ถ้าหากว่าเต่าเดินกระบวนได้คงจะเดินไปสำนักทำเนียบนายกแล้ว ตรงนั้นเพราะมันอยู่ใกล้ ไปร้องอุทธรณ์ว่าไม่ไหวแล้ว เพราะมันแน่นเหลือเกิน ต้องระบายเนื้อที่หน่อยเถอะ แต่ว่าเต่าก็เป็นเต่าอยู่นั่นเอง มันไม่ฉลาดขึ้นหรอกเต่านี่ เขาถึงว่า ขี่ควายแล้วยังแบกเต่าเข้าไปอีกเรียกว่าขี่ควายแบกเต่า เขาเรียกว่าดับเบิลโง่ มันโง่สองชั้นเลย ไอ้ควายก็โง่แล้ว ให้คนนั่งบนหลังควายยังแบกเต่าไปอีก เลยมันโง่กันใหญ่มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉนั้น อย่าไปซื้อนกปล่อยนะโยม อย่าไปซื้อเต่าปล่อย เพราะว่าส่งเสริมให้สัตว์ลำบากอยู่ปล่อยแล้วมันก็ไปไม่รอด เพราะมันอยู่ในที่อย่างนั้นมาเสียนาน พอปล่อยออกไปมันก็บินไม่ได้ ไม่แข็งแรง ก็เป็นเหยื่อของพวกนกอื่นต่อไป เหยี่วเฉี่ยวเอาไปกินง่ายๆ เพราะมันอ่อนแอบินก็ไม่แข็งแล้ว มันก็เป็นปัญหา นี่ถ้าตัดปัญหาคือเราไม่ซื้อเสีย ตราบใดมันถามก็ไม่ซื้อปล่อย พวกนั้นก็เลิกอาชีพ ไปทำอาชีพอื่นดีกว่าเพราะขายปลาขายเต่านี้มันไม่ได้เรื่องแล้วมันก็เลิกอาชีพไปเอง จึงไม่ให้ขาย แล้วก็พวกขายเต่าปลาหน้าวัดเที่ยวตื๊อคนยุ่งมาก คนมาใส่บาตรยังไม่ทันเสร็จเลยก็ปล่อยนกมั้ย ปล่อยเต่าๆ คนก็รำคาญไอ้จะไล่มันก็ใช่ที เคยอยู่ต่อหน้าพระจะแสดงโมโหโทโสก็เกรงใจพระหน่อย แต่ว่าถ้ามาออกก็เห็นเข้าเลยว่าอ้าวอย่าไปรบกวนเขา ออกไป ออกไป ออกไปนอกวัด ให้ออกไป แต่พอหันมาให้หลังก็เข้ามาอีก ก็ประตูมันยืดหยุ่นได้ก็เอาตำรวจมาวางไว้ ก็สั่งตำรวจว่าอย่าให้พวกขายนกขายเต่าเข้ามายุ่งในบริเวณนี้ รบกวนชาวบ้าน ทีนี้ตัดปัญหาก็เราไม่ไปซื้อดีกว่า ถ้าไม่ไปซื้อพวกนั้นก็ไม่มาขาย จะได้ไปขายวัดพระแก้วแห่งเดียว ที่นั่นเป็นที่ชุมนุมของพวกขายนกขายเต่า คนไปวัดพระแก้วก็ซื้อปล่อยกันไปแถวนั้น ปล่อยไปมันก็ลำบากต่อไป เรื่องการไถ่ชะตาทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องอะไร การไถ่ชะตามันต้องไถ่ที่ตัวเรา ไถ่บาปที่ตัวเรา ไถ่สาเหตุที่ตัวเรา อย่าไปไถ่ข้างนอกมันไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่ามันปนเข้ามาในพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดเป็นปัญหาอยู่มากพอสมควร จึงเอามาพูดให้ญาติโยมทำความเข้าใจไว้จะได้ช่วยกันคิดแก้ไขต่อไป
วันก่อนนี้พูดค้างไว้ ยังขาดอีกสามข้อวันนี้จะพูดต่อไปว่า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีเป็นหมู่เป็นคณะ ไม่ใช่ธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคย์เจ้า คำว่าคลุกคลีกันนี้หมายความว่า คลุกคลีกันมากเกินไปไม่เป็นเวล่ำเวลา สนุกสนานเฮฮาเลี้ยงดูปูเสื่อจนกระทั่งว่าเป็นปัญหาในทางการเงินการทอง เป็นปัญหาในการงาน เป็นปัญหาในครอบครัว หลายเรื่อง เช่นว่าพ่อบ้านไปคลุกคลีกับเพื่อนฝูงมากจนกระทั่งลืมบ้านลืมช่อง กลับบ้านก็เกิดเป็นปัญหากับแม่บ้าน เกิดมีปากมีเสียงกัน สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนอันนี้ไม่ถูกต้อง หรือแม่บ้านก็เหมือนกัน เรียกว่าไปคลุกคลีกับเพื่อนบ้านมากเกินไป ไปนั่งแจกไพ่แจกกระดาษกันอยู่นานจนลืมการบ้านการเรือน ลืมอาหาร ลืมหน้าที่ ก็ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นในครอบครัวเหมือนกัน หรือว่าคนปฏิบัติงานแต่ว่ามีนิสัยชอบสนุก ชอบเพลิดเพลิน มั่วสุมกับเพื่อนฝูงมิตรสหาย ไปดื่มเหล้า ไปอยู่สโมสร หรือชักชวนกันไปเที่ยวไปเตร่ กลางค่ำกลางคืน ดึกดื่นก็ไม่กลับที่พัก ตื่นเช้าง่วงเหงาหาวนอน เวลาไปทำงานก็นั่งสัปหงกบนโต๊ะทำงาน นั่งง่วง การงานก็ไม่เรียบร้อยไม่ก้าวหน้า แล้วก็ตัวก็เงินเดือนก็ไม่ได้ขึ้น ตำแหน่งก็ไม่ได้เลื่อน แต่ไม่เคยคิดว่าตัวผิดพลาด แต่นึกว่าดวงไม่ดี เรามันไม่ได้เลื่อน ไอ้คนนั้นดวงดีมันได้เลื่อน มันเป็นอย่างนี้ ก็เพราะโทษแต่การคลุกคลีกันมากเกินไป ไม่เป็นประโยชน์ มนุษย์เรามันจะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้มันเป็นเรื่องธรรมดา พระผู้มีพระภาคย์ก็ทรงทราบเรื่องนี้ จึงได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการคบหาสมาคมไว้มากมาย เช่น บอกว่าให้เลือกคบคนดี อย่าคบคนที่เป็นคนพาล คนชั่ว คนร้าย ให้คบกันได้แต่เลือกคบ ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้คบกันเลย ไม่ใช่หมายความว่าไม่ให้คลุกคลีกันเลย แต่ว่าให้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นเวล่ำเวลา ไม่ใช่ว่าจนเป็นเหตุให้เสียการเสียงานอันเป็นประโยชน์แก่ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว หน้าที่การงาน อันนี้ก็ไม่ถูกต้อง เป็นครั้งๆ คราวๆ แล้วก็ไปสนุกสนานก็ต้องรู้เวลา ว่าเท่าใดพอดี เท่าใดมันเกินไป ใช้หลักมัตตัญญุตาธรรม มัตตัญญุตา สทา สาธุ แปลว่าความรู้จักพอดีในเรื่องอะไรๆ นั้น ทำประโยชน์ให้สำเร็จ เราจะไปสนุกอะไรก็เอาแต่พอดีพองาม ไม่ให้มันเกินไป ในบ้านในเมืองก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้คนสนุกเกินขอบเขต มันก็เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทางสถานะการครอบครัว การงานรวมถึงประเทศชาติ จึงต้องให้เป็นพอดี แปลว่าจะสอนคนให้รู้จักพอดีมันยาก เพราะฉนั้น จึงต้องควบคุมเช่นว่าไม่ให้สนุกเกินขอบเขต ไม่ให้เที่ยวเตร่เกินขอบเขต ความจริงกลางคืนควรจะจำกัดเวลาเที่ยว ไม่ใช่ว่าให้เที่ยวกันจนเที่ยงคืน สองยาม อย่างนั้นมันเกินไป เกินเวลาไปแล้ว ควรจะเอาแต่พอดี ขนาดไหนจะพอดี ขนาดว่ายี่สิบสองนาฬิกา ร้านรวงอาหารการบริโภค สถานเต้นรำระบำฟ้อนอะไรต่างๆ ก็ปิดหมด ยี่สิบสองนาฬิกาปิดหมดทุกแห่ง คำว่าปิดหมดยี่สิบสองปิด ยี่สิบเอ็ดก็ต้องกลับบ้านแล้วมันไม่เกินเวลา ทุกคนกลับบ้านได้มาอยู่กับบ้าน อยู่กับครอบครัว ครอบครัวจะได้มีความสุข ความสงบ แต่ถ้าเราปล่อยให้เราเที่ยวกันจนถึงเที่ยงคืนดึกดื่น คนมันเที่ยวแล้วมันก็เพลินไปไม่จำกัดเวลา บางทีตีหนึ่งตีสองแล้วก็ยังไม่กลับบ้าน
อันนี้มันก็เกิดเป็นปัญหา หนึ่งจ่ายสตางค์มาก แล้วสตางค์ก็ไม่พอใช้ ถ้าเป็นคนอยู่เกี่ยวกับเงินอาจจะคอรัปชั่น เกี่ยวกับเงินขึ้นมาเมื่อใดก็ได้เพราะมีปัญหาติดตามมา ปัญหาครอบครัวก็ไม่มีความสุข การงานก็ไม่ก้าวหน้า ส่วนตัวของผู้นั้นเองเสื่อม สุขภาพทั้งกายทั้งใจ อะไรก็ทรุดโทรมไปหมด แล้วประเทศชาติก็ตกต่ำเพราะคนมั่วสุมในการสนุกสนานมากเกินไป อันนี้เป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ แต่ว่าถ้าทำขึ้นคนก็พูดอีกว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการใช้อำนาจอย่างนั้นอย่างนี้ พ่อแม่ถ้าตามใจลูกมากเกินไปจะเป็นอย่างไร ใครที่มีลูกลองคิดดูว่าลูกเสียคนเพราะใคร เสียคนเพราะพ่อแม่ตามใจ ต้องการอะไรก็ให้ได้ ดังใจ ต้องการอะไรก็ให้ได้ดังใจ ลูกก็เคยชินกับสิ่งที่ได้ตามปรารถนา พอเกิดไม่ได้ขึ้นมาก็อาจเกิดความไม่สบายใจ เกิดอาการคลุ้มคลั่งอะไรขึ้นมาด้วยประการต่างๆ เสียผู้เสียคนไปเยอะๆ ก็เพราะว่าพ่อแม่ไม่รู้จักจำกัดจำเขี่ยให้กับลูก ไม่สั่งสอนไม่อบรมให้ลูกรู้ว่าอะไรพอ อะไรไม่ดี อะไรไม่น่าทำ หรือว่าทำอะไรพอประมาณสักเท่าใด ไม่ชี้แจงเหตุผลให้ลูกเข้าใจ มีแต่ให้ ๆๆ ให้ตลอดเวลาต้องการอะไรก็ให้ๆ พอไม่มีจะให้ลูกก็เดือดร้อน แล้วเมื่อโตขึ้นก็ชอบเป็นคนตามใจตัวเอง เพราะอยู่กับพ่อแม่ที่ทำอย่างนั้นตลอดเวลา เลยกลายเป็นคนเอาแต่ใจตัว เอาแต่อารมณ์ ไม่มีเหตุไม่มีผลอะไร การเป็นอยู่ก็ลำบาก ได้เงินทุกเดือนใช้ข้าวของก็เปลือง ได้อะไรมาใช้สักพักหนึ่งก็จืด หาใหม่ ใช้ต่อไป มันก็จะเสียหาย สิ่งนี้เกิดจากการไม่จำกัดนั่นเอง แต่ถ้าเรามีจำกัดไว้บ้าง ก็เท่านี้ ก็ให้พอดี ใช้เท่านี้ก็พอ ให้เงินเท่านี้ก็ใช้ให้พอ มีคนหนึ่งแต่ก็ตายไปแล้ว บอกว่าเงินทองให้ลูกใช้ให้หยิบเอาเองด้วยซ้ำไป แต่ว่าก่อนที่จะให้ลูกหยิบเอาตังค์ไปใช้พูดว่านี่เงินก้อนนี้ให้ทุกคนใช้ ลูกมีห้าหกคน บอกว่าเงินนี้ให้ลูกใช้ในเดือนหนึ่งแล้วก็ต้องคิดกันดูให้ดีว่าจะใช้สักเท่าไหร่เงินมันถึงจะพอ อย่าให้ขาด ถ้าหากว่าหมดก่อนสิ้นเดือน พ่อไม่เติมให้ เติมให้เท่านี้วางลงไปก้อนหนึ่งแล้วก็ให้คิดกันว่าจะใช้คนละเท่าไหร่ ให้ปรึกษากันเองในระหว่างพี่น้องว่าเราควรจะใช้วันละเท่าไหร่ คนหนึ่งจะเอาไปใช้สักเท่าไหร่ มันจึงจะพอในเดือนนี้ ถ้าหากว่าใช้ไม่พอแล้วไปขอ พ่อบอกว่าบอกแล้วว่าพ่อไม่ให้ พ่อให้เท่านี้ ลูกต้องจัดการกับตัวเองให้พอกินให้พอใช้ ไม่มีการเติมให้ ลูกมันก็ปรึกษากัน พอเวลาวันสิ้นเดือนก็เอาเงินมาวางอยู่ทุกคนต้องปรึกษากันจะใช้เท่าไหร่ เดือนก่อนนี้พี่เอาไปเท่าไหร่ คนนั้นเอาไปเท่าไหร่ ใช้พอมั้ย เหลือมั้ย เหลือเท่าไหร่ เหลือแล้วเอาไปไหน มันก็ปรึกษากัน ลูกก็ปรึกษากันเรียกว่าหัดให้เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่การใช้เงินในครอบครัว เพราะว่าประคับประคองแล้วพี่ๆ น้องๆ รักกันดี ประนีประนอมกัน มีอะไรก็มาปรึกษาหารือกัน แล้วการใช้เงินก็ไม่สิ้นเปลือง ลูกก็ไม่เที่ยว ไม่เตร่ ไม่เหลวไหล ไม่ประพฤติในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร รักพ่อรักแม่ เชื่อฟังพ่อแม่เป็นอย่างดี แม้พ่อแม่จะไม่อยู่ลูกก็ประคับประคองกันไปได้ การงานก็ประคับประคองกันเรียบร้อย อันนี้เป็นวิธีการที่ให้เด็กรู้จักใช้เงิน ให้รู้จักจำกัดตัวเอง อย่าใช้ตามชอบใจ เพราะว่าเงินมันมีเท่านี้ ถ้าใช้เกินไปก็จะไม่พอใช้ จะเกิดเป็นปัญหาแก่ตัวเขา หากอย่างนั้นก็มันติดนิสัย เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ได้เงินเดือนทำมาหากินได้ ก็เอาวิธีการนั้นไปใช้ เขาก็ไม่ลำบากในปัญหาเกี่ยวกับการเงินการทอง อันนี้เรียกว่าจำกัด พ่อแม่ทำกับลูกอย่างนั่น มันก็สบาย รัฐบาลทำกับพลเมืองในชาติด้วยวิธีการบังคับบ้างพอสมควร ไม่ใช่เกินไปแต่ต้องด้วยความปรารถนาดี
เช่นว่าเวลานี้เศรษฐกิจมันตกต่ำ การเงินก็หาไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยคล่องเท่าใด คนที่เคยทำงานต่างๆ เช่นพวกทัวร์ก็บ่นให้ฟัง แหม ปีนี้เงินฝืดเลย ชวนคนไปเที่ยวอินเดียไม่ค่อยมีไป ไม่รู้ว่าเป็นยังไง ก็เพราะไม่มีเงินน่ะสิ ที่เขาไม่ไปก็เพราะไม่มีเงิน แล้วก็เงินไปไหนหมด มันก็ไม่ไปไหนนะ ก็ได้อยู่เท่าเดิม แต่ว่าราคาของมันแพง การไปเที่ยวมันเป็นอดิเรกไม่ใช่เรื่องเฉพาะหน้า เป็นเรื่องพิเศษขึ้นมา แต่ถ้าเงินไม่พอจะไปได้ยังไง ไปอินเดียทีหนึ่งคนอย่างน้อยก็สองหมื่น แต่นั่นมันเป็นค่าบริการไปสองหมื่นกว่า และก็จะใช้ส่วนตัวอีก ซื้อข้าวซื้อของอีก อะไรต่ออะไร ถ้าหากว่ามีเงินเพียงสามหมื่นก็ไปไม่ได้ มันต้องมีถึงห้าหมื่นถึงจะไปได้ แต่ที่คนจะมีเงินอย่างนั้นก็ไม่กี่คน ปัญหาที่จะใช้จ่ายเวลานี้มันมากจึงไม่มีคนไปเที่ยวดังที่เคยชวนทุกปี แม้คนอยากไปแต่พอเอากระเป๋ามานับดูแล้วมันก็ไปไม่ได้ เรื่องขาดแคลนในเรื่องการเงินการทอง สมัยนี้เป็นอย่างนั้น ก็หาโอกาสเวลานี้เศรษฐกิจตกต่ำไม่ให้คนเที่ยวเตร่เฮฮามากเกินไป เคอร์ฟิวส์กันเสียหน่อย คนก็คงจะพอใจ เคยปรึกษาเรื่องว่าสมัยหนึ่งก็มีเคอร์ฟิวส์ จำได้ว่าสมัยท่านธานิน เป็นนายกตอนนั้นมีการเคอร์ฟิวส์อยู่พักหนึ่ง ถามพวกพ่อค้าขายอาหาร ภัตตาคารที่รู้จักอยู่บ้าง ถามว่าเป็นยังไงเขาเคอร์ฟิวส์การขายอาหารเป็นอย่างไร บอกไม่เป็นไร ดีเสียอีก ว่าอย่างนั้น ดีเสียอีกจะได้พักแต่หัวค่ำ ไม่ต้องไปนั่งถ่างตาดูพวกขี้เมาที่มันไม่ออกจากร้าน ก็ว่ามันยังไม่ถึงเวลาจะปิดก็ไม่ได้ คนนั่งอยู่สองคนก็ปิดร้านไม่ได้แล้ว จะไปไล่ก็ไม่ได้แล้ว ไล่แล้วมันไปโพนทะนา ร้านนี้อย่าเข้าไปเลยมันอย่างนั้นอย่างนี้ มันลำบาก ไปไล่ไม่ไปต้องนั่งคอยให้พ่อเจ้าพระคุณสองสามคนที่นั่งถองเหล้าอยู่ออกจากร้านก็เสียเวลาจนเที่ยงคืนจนกว่าจะได้ปิดร้าน เที่ยงคืนปิดนี่มันไม่ใช่ได้นอนนะ ต้องเก็บข้าวเก็บของดูบันน้ำบัญชีกว่าจะหลับนอนก็ตีหนึ่งตีสอง ทำให้เกิดการไม่สบายร่างกายจิตใจ แต่ว่าพอเขามีการเคอร์ฟิวส์ขึ้นคนกลับบ้านไว ได้ปิดร้านไว แล้วคนที่นั่งกินก็ต้องรีบกิน ต้องรีบไป เดี๋ยวแท๊กซี่ไม่มี เพราะถึงเวลาปิดแท๊กซี่มันก็ไม่วิ่งแล้ว วิ่งไม่ได้ตำรวจจับ ก็ควบคุมอย่างนี้คนก็ไม่เที่ยว แต่ร้านก็ไม่ได้ขาดทุนอะไร ไม่ได้เสียหาย คนที่ขาดทุนความจริงไม่ขาดทุนคือหนังสือพิมพ์ ชอบโพนทะนาเพราะว่าหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ก็ต้องเขียนเรื่องเรื่อยไป ดีก็ว่าไป ดีชมไม่เท่าไร แต่ถ้าติสักหน่อยก็ต้องติกันเรื่อยไปตามวิสัยของเขาเป็นอย่างนั้น ก็เขียนว่าอย่างนั้นอย่างนี้ว่าเรื่อยไป ประชาชนไม่ว่าหรอกถามชาวบ้านเขาก็ไม่ว่าอะไร แต่ถามชาวนาชาวไร่คิดยังไง ทำยังงี้เขาก็ไม่รู้สึกอะไร คนในกรุงก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เขาก็ไปเที่ยวตามเรื่อง แต่อะไรมันดีขึ้นหลายเรื่อง หลายประการ มันได้ประโยชน์ อันนี้ควรจะทำบ้างตามสมควรเพื่อให้คนประหยัด เพราะคนประหยัดเองไม่ได้เราก็ต้องคุมให้เกิดการประหยัด เขาชอบคลุกคลีกันสนุกสนานเฮฮา จนเกินเวลา เราก็หาวิธีการควบคุมไม่ให้เกิดการทำอะไรมากเกินขอบเขต มันก็ดีขึ้นไม่ได้เสียหายอะไร คนที่เคยหาเงินได้ จากคนท่องเที่ยวกลางคืน มันหาน้อยก็ต้องจ่ายน้อยกันไป เพราะว่ามันน้อยก็ต้องกินน้อย จ่ายน้อย นานๆ เข้ามันก็เคยชินไปเอง แล้วก็อยู่ได้ ความเป็นระเบียบในสังคมจะเกิดขึ้นในชาติในบ้านเมืองเราจะเกิดขึ้นเพราะการกระทำอย่างนี้
อันนี้หลักการของพระพุทธเจ้าที่ว่าไม่ให้คลุกคลีกันคืออย่างนั้น โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติตัวอย่างเช่นว่า เรามาวัดในวันอุโบสถถ้าเราถือศีลอุโบสถท่านไม่ให้คลุกคลีกัน ไม่ให้นั่งคุยกัน เรื่องนั้นเรื่องนี้ ตลอดเวลาอย่างนั้น เมื่อรับศีลเสร็จแล้ว สวดมนต์เสร็จแล้ว ฟังเทศน์เสร็จแล้ว ก็ต้องไปหาที่ว่างๆ ไปนั่งสงบใจคนเดียวตามใต้ต้นไม้ ตามบริเวณเงียบๆ เหมือนในวัดนี่มันมีเยอะแยะที่ที่จะนั่งคนเดียวได้ ก็ปลีกตัวออกไปนั่งทำความสงบใจ พิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเองในเรื่องอะไรต่างๆ อย่างนี้เป็นการถูกต้อง แต่ถ้าหากว่าถืออุโบสถแล้วก็นอนคุยกันอยู่ในศาลานั้น นั่งคุยกัน ก็นั่งนอนคุยกันต่อไปมันก็ไม่เป็นอุโบสถที่ถูกต้อง เรียกว่าคลุกคลีกันเป็นหมู่เป็นคณะ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมันก็ไม่มี ที่ถูกนั้นต้องเตรียมตัวไปเลย พอถึงเวลาก็มาเพื่อทำวัตรเย็น มาฟังธรรมตอนบ่าย ฟังธรรมตอนเย็นก็มา แต่พ้นจากนั้นแล้วก็ปลีกตัวไปหาที่สงบ ไปนั่งคนเดียว อย่างนั้นจึงจะเป็นการถูกต้องเรียกว่าไม่คลุกคลีกัน เป็นหมู่เป็นคณะ ญาติโยมชาวบ้านก็เอาไปใช้ได้ในเรื่องอย่างนี้ คือไม่ให้คลุกคลีกันในเรื่องที่ไม่จำเป็น คนเราถ้าพอว่างไม่คลุกคลีกัน คนไทยเราพอว่างต้องนั่งล้อมเป็นวงทันที ขวดของกลางวางไว้ขวด แก้วมีคนละแก้ว รินแจกกันแล้วก็คลุกคลีกันอยู่อย่างนั้น เสียสตางค์ เสียเวลา เสียสุขภาพ ทางกายทางใจ ทำอะไรก็เกิดความเสื่อม ความเสียหาย มันผิดหลักการในทางธรรมะ ถ้าเราทำให้ถูกหลักการก็คือว่า เลิกงานแล้วเราก็กลับบ้าน มาอยู่บ้านของเรา มาทำหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าของบ้าน พ่อบ้านแม่เรือน ตามเรื่องตามราวเรื่องใช้จ่ายมันก็ลดลงไป ปัญหาการเงินการทองที่เดือดร้อนมันก็เบาลงไป ถ้าเราใช้หลักการของพระพุทธเจ้า บ้านของเราก็เหมือนกันถ้าหากว่าเป็นเรื่องดื่มน้ำชาคุยกันบ่อยๆ ก็ไม่ก้าวหน้าแล้ว การเป็นอยู่ก็ไม่ก้าวหน้า พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่าโน่นโคนไม้ โน่นเรือนว่างโน่นป่า เธอจงไปนั่งตามลำพังผู้เดียว ตั้งใจตรง ดำรงสติมั่นพิจารณาลมหายใจเข้าออก ทำใจให้เป็นสมาธิ ให้เกิดความสงบทางด้านจิตใจจึงจะเป็นการชอบตามควร แต่ถ้าไปคลุกคลีกัน มานั่งล้อมวงคุยกัน ดื่มน้ำชากัน ดื่มอะไรกันตามแฟชั่น แล้วก็คุยกันอ่านหนังสือพิมพ์ เอาข่าวการเมืองมาคุยกัน คุณจำลองจะได้หรือเปล่าก็ไม่รู้คราวนี้มานั่งคุยกัน ใครจะชนะใครจะแพ้ในการเลือกตั้ง อย่างนี้ไม่ได้เรื่องแล้ว เรียกว่าไม่เจริญในธรรมวินัย จิตใจเราออกไปนอกวัด เอาเรื่องนอกวัดมาคุยกันสนุกสนานเฮฮากัน บางทีมีวิทยุก็คุยกันไปฟังกันไป บางทีมีโทรทัศน์คนชกมวยก็เลยมานั่งล้อมวงเฮๆ กัน ชาวบ้านเดินผ่านนึกว่าใคร อ้อ หลวงพี่ทั้งนั้นมานั่งดูมวยตู้ มวยตู้กันอันนี้มันก็เสียหายแล้ว มันไม่ได้เรื่องแล้ว ถ้าอยู่อย่างนี้ คือไม่เจริญในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า อยู่เพื่อความสบายส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อพระศาสนา ถ้าอยู่เพื่อพระศาสนาต้องปลีกตัว ปลีกตัวในบางครั้งบางคราว ภิกษุใหม่นี้มีองค์ประชุมของภิกษุใหม่ ว่าภิกษุใหม่ควรประพฤติตนอย่างไร ก็มีอยู่ข้อนี้ด้วยนะ ไม่คลุกคลีกันเป็นหมู่เป็นคณะพระใหม่ไม่คลุกคลีกัน ต่างอยู่ในห้องของตัว ไม่ออกมานั่งคุยกันให้เสียเวลา ต้องอ่านหนังสือคิดค้นธรรมะ เอาธรรมะมาเป็นกระจกส่องดูตัวเอง ว่าเรานี้บวชมากี่วันแล้ว มีอะไรละได้แล้ว มีอะไรเจริญขึ้นในจิตใจของเรา เรารู้อะไรบ้างแล้ว อะไรยังไม่รู้ อะไรที่จะต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ มีอยู่อีกมากมาย เรายังไม่ได้ทำ มันต้องคิดอย่างนั้น แล้วก็ก้าวหน้าในทางปฏิบัติ เจริญก้าวหน้าต่อไป แม้ญาติโยมที่อยู่บ้านถ้าหากว่านั่งคนเดียว แล้วก็ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิแล้วก็พิจารณาถึงธุรกิจการงานก็ได้เหมือนกัน พิจารณาเรื่องการค้าการขาย ราคาของในตลาด เวลานี้เศรษฐกิจมันตกต่ำเราควรจะวางแผนอย่างไรในการค้าการขาย ควรจะทำอย่างไรกับปัจจัยเท่าที่เรามีอยู่ให้มันเจริญก้าวหน้าต่อไป นั่งคิดนั่งตรอง อยู่คนเดียวเงียบๆ ทำสมาธิจิตสงบก่อน พอจิตสงบแล้ว เอาจิตที่สงบนั้นแหละมาใช้เป็นเครื่องมือพิจารณาปัญหาในเรื่องการค้า การขาย การเป็นการอยู่ในครอบครัวของเราดีกว่าที่จะไปนั่งดวดเหล้ากัน
ถามว่าทำไมกลุ้มใจ มากินเหล้ากัน มันก็ไม่ได้มันต้องใช้ธรรมะเป็นเครื่องแก้ ใช่ว่าเป็นเครื่องแก้ไม่ได้ ไปดูหนังก็ไม่ได้ มันแก้ไม่ได้ มันไม่แก้อย่างแท้จริง เป็นการเปลี่ยนอารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราว พอก้าวออกจากที่นั้นมันก็ยุ่งต่อไป ใช้ธรรมะดีกว่า หาความสงบใจดีกว่า หรือกลุ้มใจหนักเข้าเอ้ามาวัด มาคุยกับพระ มาฟังเทปธรรมะอะไร ถ้าเรามีเทปเราก็เปิดฟังให้ไปสงบใจ แล้วก็คิดวางแผนสำหรับชีวิตต่อไป อย่างนี้จะช่วยให้เราเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าเราคิดไม่ออก เราไปหาเพื่อนปรึกษาหารือกันเป็นครั้งคราว ไปหาเพื่อนก็อย่าไปนั่งรบกวนเพื่อนนานๆเขา มีงานของเขาเหมือนกัน คนไทยเราพูดกันแต่โบราณว่า ไปไหนอย่านั่งนาน การงานมีให้เร่งคิด ว่าไว้ดี ไปไหนอย่านั่งนาน การงานมีให้เร่งคิด คือไปหาเพื่อนอย่าไปนั่งนานๆ ไปพูดธุระกัน ศึกษาการงานพอเสร็จเรื่องที่เราปรึกษาแล้วก็รีบกลับบ้าน มาทำหน้าที่ของเราต่อไป ถ้าเรานั่งนานเพื่อนก็เสียเวลาที่จะต้องมานั่งอยู่กับเรา เป็นมารยาทของเจ้าของบ้านที่จะต้องรับแขก ต้องเชิญแขกคุยไม่มีเรื่องจะคุยก็ต้องหาเรื่องมาคุยให้แขกสบายใจ ไอ้แขกที่ไม่รู้จักเวล่ำเวลาก็นั่งอยู่นั่นแหละทำให้เขาเสียงานเสียการ ไม่สมควร เพราะฉะนั้นเราไปถึงก็ปรึกษากันเรื่องงานเรื่องการขอคำแนะนำ พอจบเรื่องแล้วก็ขอบคุณนะที่ให้ความคิดผมจะลาแล้ว แล้วเราก็กลับไปคนนั้นเขาก็จะได้มีเวลาทำอะไรของเขาบ้าง ในเรื่องที่จำเป็นจะต้องทำ คนเรามันต้องรู้เวลา เรียกว่า ...... (43.26) แปลว่าเป็นผู้รู้เวลาในเรื่องกิจการนั้นๆ ก็เป็นคนไม่เสียหาย คือเวลาใดที่ว่างจากงานจากการปลีกตัวมาหาความสงบใจเสียบ้าง การมาหาความสงบใจเขาเรียกว่ามาเพิ่มกำลังให้แก่ใจ เหมือนแบตเตอรี่แรงไฟมันอ่อนแล้ว เราก็ต้องไปชาร์จใหม่ให้มีพลังงานเพิ่มขึ้น จะได้ใช้ประโยชน์ต่อไปฉันใด จิตใจเราก็เหมือนกัน บางทีมันก็อ่อนแอไม่อยากจะทำงานทำการ เบื่อไปหมด เรียกว่าเบื่อไม่เข้าเรื่อง ไม่ใช่เบื่อด้วยปัญญาเรียกว่าอิดหนาระอาใจ ในอะไรในชีวิต เบื่อชีวิต เบื่อความเป็นอยู่ ไม่อยากจะทำอะไรมันไม่ถูกต้องแล้ว ถ้าเบื่อแบบนี้แล้วมันเป็นปัญหาแล้ว ต้องรีบมาหาหมอแล้ว คือมาวัดเสีย มาปรึกษามาคุยกัน พระท่านก็แนะวิธีว่าไปนั่งสงบใจเสียบ้าง ไปนั่งป่าไผ่ หาความสงบใจ ไปนั่งดูน้ำในสระให้เกิดความสงบใจเสียบ้าง เราก็จะได้กำลังใจขึ้น อย่างนี้เป็นการถูกต้อง ท่านสอนไว้อย่างนั้น ไม่ให้คลุกคลีกันนานเกินขอบเขตให้หาความสงบแก่ตัว ทำงานส่วนตัว แต่ถ้ามีปัญหาก็ไปปรึกษาหารือกัน สมัยนี้ไม่ต้องไปก็ได้ ยกหูโทรศัพท์ไปก็ได้ ถามว่ามีเรื่องปัญหาอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่เป็นไร ที่วัดก็โทรศัพท์ถามก็ได้มีปัญหาข้องใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็โทรมาถามก็ได้บางคนเขียนจดหมายแต่ตัวขยุกขยิกเต็มทีเขียนตั้งสามสี่หน้า ปัญหาเยอะแยะ อ่านไม่ไหว อาตมาอ่านไม่ออกอ่านแล้วต้องนั่งคิดว่ามันหมายความว่าอะไร เขียนว่าอะไรก็ไม่รู้ ปัญหาเยอะไปหมด จะตอบก็ลำบาก มาเองดีกว่ามาปรึกษากันเรื่องอะไรต่ออะไรจะได้ชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ ไม่มาอุตส่าห์เขียนจดหมาย โทรศัพท์มีก็ไม่พูดไม่จาเขียนมา เขียนแล้วอ่านไม่ออกเสียด้วย แล้วก็ชอบเขียนยาวๆ อาตมาเห็นจดหมายหลายๆ หน้าไม่ชอบอ่านนะ อ่านไม่ไหว คือเขียนไม่ค่อยชัด อ่านไม่ออก ความรู้ภาษามันอ่อนไปพอเห็นหน้าหนังสืออย่างนั้น ขี้เกียจอ่านขึ้นมา ใจฝ่อ ไม่อยากตอบแต่ตอนนี้บอกให้มาเองดีกว่า ถ้ามาได้มา จะได้คุยกัน จะได้รายละเอียดทำความเข้าใจกัน เขียนบางทีมันก็ไม่ละเอียดเหมือนคุย คุยกันดีกว่ามาได้ แต่ก็ไม่มา มานั่งกลุ้มใจอยู่ที่บ้าน อย่างนี้ก็อย่าไปทำอย่างนั้น จะบอกพูดคุยกับความกลุ้มใจมันก็ไม่ถูกเหมือนกัน เรามันต้องเลิกพูดคุยกับความกลุ้ม เลิกคลุกคลีกับความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ มาคลุกคลีกับความสงบ ความสะอาด ความสว่างทางใจกันเสียบ้าง จิตใจจะได้สบายขึ้น จะดีกว่า หลักการมุ่งไปในรูปการณ์อย่างนั้น
ทีนี้ต่อไปว่าหลักธรรมหลักวินัยในทางพุทธศาสนา ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน อันนี้สำคัญมาก มีนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศ เรียนเศรษฐศาสตร์ ทำปริญญาสูงขึ้นไป ทีนี้อาจารย์เศรษฐศาสตร์ก็ถามว่าประเทศไทยมันไม่ก้าวหน้าเพราะอะไร นักเรียนคนนั้นก็ตอบว่าประเทศไทยไม่ก้าวหน้าเพราะว่าพระพุทธศาสนาสอนคนให้เกียจคร้าน อาจารย์ฟังแล้วก็หัวเราะ ไม่รู้ว่าแกหัวเราะชอบ หรือหัวเราะที่นักศึกษาก็ไม่รู้ แต่แกก็หัวเราะและแกก็ไม่พูดอะไรต่อไป แสดงว่านักศึกษาคนนั้นเมื่ออยู่เมืองไทย ไม่ได้สนใจเรียน ไม่ได้สนใจศาสนาเลย ไม่ได้สนใจธรรมะเลย จึงไปตอบอาจารย์ว่าประเทศไทยไม่เจริญเพราะพระพุทธศาสนาสอนคนให้ขี้เกียจ ไม่มีศาสนาไหนในโลกเลยที่จะสอนคนให้ขี้เกียจ ไม่ว่าศาสนาไหน ศึกษาดูมีแต่ว่าสอนคนให้ขยันให้เอางานเอาการ ทั้งนั้นแหละ ไม่มีทางสอนให้ขี้เกียจอะไรเลยแม้แต่น้อย แต่ว่าพระผู้มีพระภาคย์ก็ทรงคิดว่าต่อไปข้างหน้า คนอาจจะเข้าใจผิด มันมีเข้าใจผิดมีแล้ว นักศึกษามีเข้าใจผิดแล้ว เข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาสอนคนให้ขี้เกียจ ยิ่งในเรื่องสันโดษด้วยแล้วเขาไม่เข้าใจคำว่าสันโดษ ก็เลยนึกว่าสอนให้สันโดษคือสอนให้คนขี้เกียจไม่ทำงานทำการ คือความไม่รู้ รู้ไม่ลึกซึ้งไม่เข้าใจถ่องแท้ และไปตอบอย่างนั้นก็เสียภูมิ เสียภูมิของคนที่อยู่ในเมืองไทย เสียภูมิของความเป็นพุทธบริษัทไปด้วย พระองค์จึงวางหลักให้เราพิจารณาว่า หลักคำสอนหรือการปฏิบัติอันใดที่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้านละก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนให้คนขยัน มีพระพุทธภาษิตมากมายที่สอนว่า ให้ลุกขึ้นให้ก้าวไปข้างหน้าให้ทำงาน ทำการ อย่าอยู่นิ่งอยู่เฉย ให้คำนึงถึงเวลาที่ผ่านไป ว่าจะเอากลับคืนมาไม่ได้ต้องใช้เวลาทุกวินาทีในชีวิตให้เป็นประโยชน์ด้วยการทำงานทำการ ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย แล้วองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ทรงเป็นตัวอย่างในทางขยันขันแข็ง เพราะว่าพระองค์บรรทมเพียงเล็กน้อยคืนหนึ่งก็ไม่มาก ตีสี่ก็ลุกขึ้นแล้ว ลุกขึ้นเดินจงกรมไปตามเรื่อง ในขณะเดินจงกรมก็ใช้ญาน ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษทางจิตพิจารณาว่าวันนี้ใครมีความทุกข์ใครมีความเดือดร้อนใจ ใครมีปัญหาเฉพาะหน้าที่แก้ไม่ตกอยู่ที่ไหน มองดูด้วยพระญานของพระองค์แล้วพอสว่างก็ทรงนุ่งห่มจีวรเรียบร้อย สะพายบาตรเดินเข้าไปมุ่งไปที่บ้านนั้นเลย ไปสอน ไปทำความเข้าใจ เดินไปนะไม่ใช่นั่งรถไปนะ สมัยนี้เขานิมนต์นั่งรถนะ หลวงพ่อไปไหนต้องมีรถมาเกยที่หน้ากุฏิทุกที ก็นั่งรถไป นั่งเรือบินไป สบาย ก็ไปได้ แต่สมัยโน้นพระองค์เดินดิน เดินด้วยเท้า ไปสอน ไปทำความเข้าใจกับคนคนนั้น แล้วก็ไปบิณฑบาตร บิณฑบาตรได้อาหารมาฉัน ฉันเสร็จแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะได้พักผ่อนอะไร มีคนโน้นมาหา คนนี้มาหา มาเฝ้า มาถามปัญหา เรื่องธรรมะเรื่องข้อปฏิบัติมากมาย จนดึกดื่นเที่ยงคืนก็ยังต้องไปแก้ปัญหากับเทวดา กับพระเจ้าแผ่นดิน พระราชามหากษัตริย์ ไม่ค่อยว่างกลางวันไปหาพระกลางคืน ไปคุยกันไต่ถามเรื่องนู้นเรื่องนี้ กว่าจะได้หลับได้นอนพักผ่อนก็นิดหน่อย ตื่นขึ้นก็ทำอย่างนั้น ๔๕ ปี เป็น ๔๕ ปีแห่งการงานของพระองค์ตลอดเวลา แล้วทรงสอนสาวกให้ลุกขึ้นแต่เช้า อย่านอนตื่นสาย ให้ใช้เวลาทำงานทำการให้เป็นประโยชน์ เรื่องขยันสอนมาก เป็นชาวบ้านก็สอนว่า (51.22) จงลุกขึ้นประกอบการงาน ชีวิตจะอยู่ได้ด้วยการแสวงหาทรัพย์ ทรัพย์ทำให้เกิดความสุข ในเรื่องการเป็น การอยู่ สอนให้อย่างนั้น สอนให้ขยันทั้งนั้น ไม่มีเรื่องเกียจคร้าน
ถ้าว่ามีการสอนให้เกียจคร้านในที่ใด หรือหลักธรรมสอนอันใดเกี่ยวเรื่องนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ใช่หลักการของพระพุทธเจ้า เพราะหลักการของพระพุทธเจ้าต้องขยัน และว่าเราทำอะไรแล้วใจมันเฉื่อยชา มันเบื่อหน่าย ไม่อยากจะทำอะไร ไม่ใช่แล้ว ดวงจิตดวงนั้นไม่ใช่ดวงจิตที่เข้าถึงธรรมะ เพราะมีบ้างเหมือนกันคนบางคนมาปฏิบัติธรรม แต่นั่งภาวนา พอภาวนาไป ภาวนาไป แหมเบื่อไม่อยากจะทำอะไรแล้ว ทำไปทำไม ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ นี่ไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่เป้าหมายของการภาวนาแล้ว ไม่ใช่จุดหมายที่พระพุทธเจ้าให้เราปฏิบัติอย่างนั้น ไม่ใช่ให้ปฏิบัติแล้วเกิดเบื่อไม่อยากจะทำอะไร ไม่ถูกต้อง แต่ว่าเมื่อปฏิบัติแล้วเกิดปัญญาขึ้นมา สำนึกว่าเราเกิดมาเพื่องาน งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข แล้วก็ทำงาน ให้สนุก ให้เพลิดเพลินไม่มีความทุกข์ในหน้าที่ในการงาน งานหนักก็กลายเป็นงานเบา งานไกลเป็นงานใกล้ งานยากก็กลายเป็นงานง่ายขึ้นมา เพราะใจเรานั้นมีความสำนึกว่าเราเกิดมาเพื่อหน้าที่ เราอยู่เพื่อหน้าที่ เราปฏิบัติทุกอย่างในชีวิตทุกอย่างมันเป็นหน้าที่ ไม่ใช่ทำเพื่อจะเอาแต่ทำตามหน้าที่ แล้วก็มีผลพลอยได้ให้เรามีรายได้อะไรขึ้นบ้างมันเป็นผลพลอยได้ การทำงานร่าเริง ทำงานสนุกสนาน ไม่เบื่อหน่าย ถ้าไปปฏิบัติธรรมแล้วเกิดความรู้สึกอย่างนี้นะ ถูกต้อง ถูกต้อง สำนักธรรมตามไหนก็ตามถ้าเราไปปฏิบัติแล้วสอนให้เราเบื่อหน่าย ไม่อยากจะทำอะไร ให้ทิ้งทรัพย์สมบัติเสีย มาอยู่วัดเสีย ไม่ถูกต้องแล้ว มันก็ไม่ได้ สอนโยมให้ทิ้งบ้านแล้วโยมมาอยู่วัดหมดแล้ว พระจะอยู่อย่างไร โยมมาอยู่วัดหมดแล้วกินอะไรกัน มันไม่ถูกหลัก ก็สอนให้โยมกลับบ้านแต่ให้ไปทำงานต่อไป แต่ทำงานไม่ให้เป็นทุกข์ ไม่ให้เดือดร้อนใจ ไม่ให้มีความวิตกกังวล ในเรื่องปัญหาต่างๆ รู้จักปลง รู้จักวาง เช่น ได้ไม่ดีใจ เวลาเสียไปก็ไม่เสียใจ รู้จักว่าธรรมชาติมันก็เป็นอย่างนี้ล่ะ คนเรามีได้มันก็ต้องมีเสีย มีเกิดมันก็ต้องมีดับ เข้าใจอย่างนี้เป็นการเข้าใจถูก ก็เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
ทีนี้ อันสุดท้าย ไม่เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก เลี้ยงยาก คนประเภทเลี้ยงยากคือเลือกกิน ไม่ได้กินอยู่ตามที่มันมีมันเกิด โดยเฉพาะพระเรานี่ บางทีก็เลี้ยงยาก คือต้องกินอย่างนั้น ต้องกินอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้นก็กินไม่ได้ เลี้ยงยาก เช่นว่า นักกินผักที่ยึดถือนี่มันเลี้ยงยาก เราติดผักก็ได้ แต่ว่าเลือกผักเอาในเนื้อในแกง มันไม่เป็นไรหรอก เช่นว่า กินผักบุ้งในแกงเนื้อ เนื้อไม่กินกินแต่ผักบุ้ง กินแต่แกง กินแต่ฟักแฟงจากในผัก มันก็อยู่ได้นะไม่เดือดร้อน แต่ถ้าบอกว่าไม่ได้โยมต้องผักล้วนๆ ฉันเป็นนักกินผักบริสุทธิ์ ฉันต้องกินแต่ผักมันกลายเป็นความยึดถือไป ยึดถือในผักมากไป ทำให้เกิดความลำบาก ไปไหนก็เอาผักกาดดองใส่ย่ามไปด้วย กระป๋อง ผักกาดดองกระป๋อง พอจะฉันข้าวล้วงย่ามก๊อกแก๊กๆ อะไร ผักกาดดองขึ้นมา อาตมากินผักวันละมื้อแหมมันลำบากไปนิด เลี้ยงยาก แล้วโยมก็ลำบาก พระเราต้องเป็นคนเลี้ยงง่าย ฉันตามที่โยมให้ โยมให้อะไรก็ฉันเข้าไปเถอะ พอฉันได้นะ ถ้าฉันไม่ได้ก็อย่าฉันตามเรื่อง แต่ไม่ต้องไปบอกให้เขาลำบากใจ อย่างนี้มันก็สบายไม่เดือดร้อน เลี้ยงง่าย ชาวบ้านก็เหมือนกันเรียกว่าเป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย ไม่พิถีพิถันในการกินการอยู่ ไม่ติดยึดอาหาร ไม่ติดที่อาหาร อย่างนี้ก็สบายใจ เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ไม่เลี้ยงยาก มันเป็นสุข สบาย รับประทานที่ไหนก็ได้มันก็มีความสุขใจ ขอให้โยมเข้าใจหมายความว่าอย่างนี้ เรื่องลักษณะธรรมวินัยแปดอย่างก็จบลงในวันนี้ อาทิตย์หน้าค่อยว่าเรื่องอื่นกันต่อไป อาทิตย์หน้าก็ทอดกฐินที่วัดเรา ญาติโยมก็มากันตามเคยก็ปฏิบัติธรรมปกติ วันกฐินก็มีอย่างนี้ เทศน์อย่างนี้ ตักบาตรเหมือนทุกวัน แล้วก็รับประทานอาหารกัน คนมากหน่อย แล้วก็รับประทานอาหารเสร็จก็ว่าจะฟังธรรมอีกหน่อยหนึ่ง แล้วก็ถวายกฐิน ตามเรื่อง ตามประเพณี ที่เราทำกันมา ญาติโยมก็มากันจะชวนเพื่อนฝูงมาด้วย มาได้มาร่วมบุญร่วมทานด้วยกันตามสมควร วันนี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที เชิญนั่งสงบใจพร้อมกัน