แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ที่สามารถจะได้ยินเสียงได้ชัดเจน แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์สุดท้ายของฤดูกาลเข้าพรรษา เพราะว่าวันจันทร์พรุ่งนี่ก็เป็นวันมหาปวารณา เป็นวันออกพรรษา พระสงฆ์ที่มาบวชอยู่จำพรรษาชั่วครั้งคราว ก็จะได้ทำอะไรกันต่อไป แต่ว่าที่วันนี้ก็ยังไม่มีใครลาสิกขาก่อน รอจนกฐินเสร็จแล้วจึงได้ลาสิกขากลับบ้านกลับช่อง ไปปฏิบัติหน้าที่ตามพันธะต่อไป
ญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะอยู่เป็นประจำในฤดูกาลเข้าพรรษา แม้ออกพรรษาแล้วก็อย่าออกไปจากคุณงามความดี เพราะว่าการกระทำคุณงามความดีนั้น เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำตลอดปี ไม่ใช่ทำเฉพาะฤดูใดฤดูหนึ่ง เพราะธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่ใช่เรื่องจำกัดเวลา จำกัดฤดู แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำเรื่อยไป เหมือนลมหายใจเข้า-ออกนะ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตทุกคน ไม่มีลมหายใจเมื่อใดก็หมดชีวิตกันเมื่อนั้น นั่นเป็นการมีชีวิตทางร่างกาย
ทีนี้การมีชีวิตอีกอันหนึ่งคือการมีชีวิตทางจิตใจ หรือทางวิญญาณ ความมีชีวิตทางวิญญาณนั้นอยู่ที่ เรามีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองทางจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องหันหน้าเข้าหาธรรมะตลอดไป การฟังธรรม การปฏิบัติธรรม ก็ต้องทำกันเรื่อยไปตลอดปีไม่มีการหยุดยั้ง เพราะว่าถ้าหยุดเสียเมื่อใด จิตใจก็จะลุ่มไปในทางที่ตามใจตัวเอง ตามใจกิเลสที่เกิดขึ้น อันจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนต่อไป
คนบางคนในฤดูกาลเข้าพรรษา ก็ได้ตั้งใจปฏิบัติเช่น งดเว้นจากการเสพสุราเมรัย ตลอด ๓ เดือน แต่พอวันออกพรรษาก็เตรียมการใหญ่ต้อนรับการออกพรรษา แล้วก็กลับไปดื่มเมามายต่อไป อันนี้ความจริงก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าเมื่อเราชนะแล้ว ควรจะได้รักษาความชนะนั้นไว้ให้ตลอดไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสโน สิยา เมื่อชนะแล้วให้รักษาความชนะนั้นไว้ เปรียบเหมือนกองทหารเข้าไปยึดพื้นที่ของข้าศึกได้แล้ว ก็ต้องรักษาไว้ไม่ให้ข้าศึกมาตีคืนเอาไปได้ ถ้ามันตีคืนเอาไปได้ก็เรียกว่าเราแพ้แก่ทหารฝ่ายข้าศึก ไม่ปลอดภัย
ในสภาพจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อเราได้ชนะอะไรแล้ว ก็ต้องรักษาความชนะนั้นไว้ตลอดไป อย่าให้กลับพ่ายแพ้เสียเป็นอันขาด เช่นในฤดูกาลเข้าพรรษา เรางดเว้นจากสิ่งเสพติดด้วยประการต่าง ๆ ออกพรรษาแล้วก็รักษาต่อไป ในพรรษาเคยตั้งใจทำอะไร เราก็ตั้งใจทำต่อไป ตามวิถีทางที่เราได้กระทำแล้ว เพราะในการกระทำสิ่งนั้น เราเห็นคุณแล้วว่า มันให้ความสุขสงบแก่จิตใจ ให้ความเจริญแก่ชีวิตของเรา ๆ ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไปไม่หยุดยั้ง จิตใจเราก็เจริญงอกงามในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเป็นเรื่องที่ควรจะได้กระทำ
เพราะฉะนั้นจึงขอให้ญาติโยมทั้งหลาย ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เหมือนดังที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในฤดูกาลเข้าพรรษา เช่นในวันพระฤดูกาลเข้าพรรษา ก็มีคนมาถือศีลพักผ่อนที่วัดกันอยู่จำนวนมากหลาย แต่พอออกพรรษาไปแล้ว หายไปหมด เหลืออยู่คนเดียวเท่านั้นเอง อย่างนี้เป็นการไม่ถูกต้อง เรียกว่าไปหยุดเสีย ไม่ก้าวหน้าต่อไป การเดินทางไปสู่ความพ้นทุกข์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าต้องเดินเรื่อยไป เดินไม่หยุด อย่าแวะพัก อย่าแวะหยุดเสีย ต้องเดินต่อไป พระองค์ตรัสว่า ภิกษุ ! ทั้งหลาย เมื่อการเดินทางเธอยังไม่ถึงที่สุด อย่าหยุดเสียเป็นอันขาด ต้องเดินทางต่อไป จะลำบากยากเข็ญอย่างไร ก็ต้องตั้งใจเดินต่อไป ตามทางที่เราได้เดินมาแล้ว ไม่เท่าไรก็จะถึงจุดหมาย
ญาติโยมชาวบ้านก็เหมือนกัน เมื่อได้รักษาศีล ได้เจริญสมาธิ ในฤดูกาลเข้าพรรษา แต่เมื่อออกพรรษาแล้วก็อ้าง (06.02) ไปเสียตั้ง ๙ เดือน แล้วกลับมาตั้งต้นกันใหม่ ก็เหมือนกับว่า ตั้งต้นกันเรื่อยไป ตั้งต้นเรื่อยไป จะเจริญงอกงามได้อย่างไร ชาวสวนที่ไปหาต้นไม้พันธุ์ดี ๆ มาปลูกในสวน พอปลูกได้สัก ๓ เดือน ก็ละเลย ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่รดน้ำ ไม่พรวนดิน ต้นไม้พันธุ์ดีนั้นมันจะเจริญงอกงามได้อย่างไร มันจะตายเสีย แล้วก็ไม่ออกดอกออกผลให้เราได้รับประทานฉันใด ในชีวิตเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อเราได้เข้าสู่เส้นทางแห่งความดีความงามแล้ว ก็ต้องเดินตามเส้นทางนั้นต่อไป ญาติโยมบางคนอาจจะบอกว่า ออกพรรษาแล้วไม่มีเวลา ออกพรรษา - เข้าพรรษาเวลามันก็เท่ากัน อาชีพการงานที่เราจะพึงปฏิบัติก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าออกพรรษาแล้วมีงานมากขึ้น ในพรรษามีงานน้อย ก็ไม่ใช่อย่างนั้น เราถือว่ามีงานทำสม่ำเสมอตลอดไป ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำตามหน้าที่ของเราต่อไป จึงจะเป็นการก้าวหน้าในการศึกษา ในการปฏิบัติธรรมะ อันนี้ขอฝากไว้ให้ญาติโยมทั้งหลายได้ช่วยกันพิจารณาประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งในวันปวารณา คือวันพรุ่งนี้เขาเรียกวันปวารณา ๆ นี่คือ เป็นกิจของพระที่จะต้องทำกันในวันที่จะออกพรรษา คือว่าเมื่อมาอยู่ร่วมกันนาน ๆ ตั้ง ๓ เดือน แล้วก็จะต้องจากกันไป มีอะไรขัดข้องหมองใจอยู่บ้าง เป็นธรรมดาลิ้นกับฟันย่อมมีการกระทบกระทั่งกัน พระที่อยู่ด้วยกันก็อาจจะมีอะไรกระทบกระทั่งทางจิตใจ แล้วก็เก็บไว้ในใจ ไม่เปิดเผย ไม่แสดง เป็นหนามยอกอก อยู่ตลอดเวลา ๆ ไปแล้วสิ่งนั้นมันก็ติดไปด้วย เป็นการสร้างความทุกข์แก่ทุกฝ่าย
พระผู้มีพระภาคจึงบัญญัติให้พระที่มาอยู่ร่วมกันแล้วจะจากกันไปนั้นให้ปวารณากัน ปวารณากันก็คือหมายความว่า บอกให้ทราบว่า สิ่งใดที่ท่านได้เห็น ได้ยิน ได้รังเกียจในความประพฤติปฏิบัติของข้าพเจ้า ที่เป็นความบกพร่องอันใดก็ตาม จงได้บอกให้ข้าพเจ้าทราบ ข้าพเจ้าจะได้แก้ไขสิ่งนั้นให้ดีขึ้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นการลุกะโทษแก่กันและกัน ต่างฝ่ายต่างก็จากกันด้วยความปรีดาปราโมทย์ ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจ เป็นหนามยอกอก หรือเป็นอารมณ์ค้างอยู่ในใจ จากไปด้วยความสบายใจก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง
อันนี้ญาติโยมก็เอาไปใช้ได้ คือว่าเรามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของเรา แล้วเราก็เก็บมันไว้ การเก็บปัญหาไว้ในใจ ทำให้มีความไม่สบายใจ แต่ถ้าเราเปิดเผยกันเสียมันก็หมดเรื่องกันไป เพื่อนฝูงมิตรสหายคนร่วมงานร่วมการ หรือแม้ผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ถ้ามีอะไรเกิดขัดข้องในทางจิตใจ ก็ควรจะเปิดเผยต่อกัน มาพูดจาทำความเข้าใจ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าปรับความเข้าใจกันเสีย ในผู้ที่อยู่ร่วมกัน ในผู้ที่ทำงานร่วมกัน ปรับความเข้าใจให้เข้าใจกันถูกต้อง แล้วจะไม่มีอารมณ์อันนั้นอยู่ในใจของเราต่อไป นับว่าเป็นเรื่องมีประโยชน์แก่ชีวิตแก่ครอบครัว ตลอดจนถึงส่วนรวมคือประเทศชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รักกัน สามัคคีกันร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นคุณค่าแก่ชีวิต แก่ตน ๆ แล้วจะเกิดเป็นคุณค่าแก่ประเทศชาติต่อไป เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องดีมีประโยชน์ประการหนึ่งเหมือนกัน อันนี้ขอฝากไว้ให้ญาติโยมทั้งหลายได้นำไปพิจารณา จะได้เข้าใจความหมาย
เมื่อวันอาทิตย์ก่อน ได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับลักษณะตัดสินธรรมวินัย ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ได้พูดเรื่องนี้ก็เพราะว่าพูดต่อมาจากวันอาทิตย์ก่อนโน้น ที่ได้พูดเรื่อง กาลามสูตร เกี่ยวด้วยหลักความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา ไม่ให้เชื่อด้วยอาการ ๑๐ อย่าง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นความเชื่อที่จะทำให้เราเป็นคนเชื่อง่ายเกินไปในเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ เพราะว่าสมัยนี้เป็นสมัยที่มีการโฆษณาชวนเชื่อกันในเรื่องต่าง ๆ มากมาย
คนที่เป็นข้าศึกต่อประเทศชาติบ้านเมือง หรือผู้ไม่หวังดีต่อชาติต่อบ้านเมือง ก็มักจะสร้างข่าวอะไรให้เกิดขึ้นในชุมนุมชน เขาเรียกว่าเป็นข่าวลือ ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ข่าวลือทั้งหลายเหล่านั้น เป็นเรื่องการกระทำของความแตกแยกในหมู่ในคณะทั้งนั้น ถ้าเราใช้หลักของพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ ประการ ไม่ให้เชื่ออะไรดังที่กล่าวนั้นก็จะช่วยให้เราเป็นคนมีความหนักแน่นในทางจิตใจ ได้ยินได้ฟังอะไรมาแล้วก็ไม่เชื่อง่ายเชื่อดาย แล้วก็ไม่โฆษณาสิ่งนั้นให้คนอื่นได้ยินได้ฟังต่อไป ไม่ทำตนเป็นเครื่องมือเขาโดยไม่จำเป็น คนเราเมื่อได้รับข่าวอะไรเป็นข่าวลือ แล้วก็เก็บไปเล่ากันต่อ ๆ ไป ก็เท่ากับว่าเราตกเป็นเครื่องมือของเขา ช่วยกระพือข่าวที่เขาต้องการให้มันดังนั้นออกไปเรื่อย ๆ เราก็เป็นเครื่องมือเขาเปล่า ๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร ชาติบ้านเมืองของเราก็จะเกิดแตกแยก แตกร้าว ทำให้เกิดความเสียหาย จึงได้นำเรื่องนี้มาพูดทำความเข้าใจ กับญาติโยมไว้ดังที่กล่าวแล้วในอาทิตย์ก่อนโน้น
อันนี้เมื่ออาทิตย์ที่แล้วอาตมาพูดถึงเรื่อง ลักษณะตัดสินธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะว่าคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ได้ล่วงกาลเวลามาตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปี ก็ย่อมจะมีอะไรเข้าไปแทรกแซงปะปนอยู่ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา หรือในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาบ้าง ผู้ที่สอดแทรกเข้ามานั้นก็อาจจะมีความปรารถนาดี ก็คนในสมัยหนึ่งอาจจะมีความคิดเห็นอย่างหนึ่ง แล้วก็เอามาใส่ไว้ เพื่อให้คนเหล่านั้นได้เข้ามาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่ว่าสิ่งนั้นไม่ใช่เนื้อแท้ อันเป็นหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
การทำด้วยเจตนาดีเป็นการร้ายไป เพราะทำให้เกิดความหลงใหล เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องนั้น ๆ คิดว่าสิ่งนั้นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่าเป็นสัจธรรมคำสอนของพระองค์ แต่ความจริงนั้นมันไม่ใช่ เราเรียกว่าเป็นธรรมปฏิรูป คือธรรมะที่ไม่ใช่ของจริงของแท้ คนก็อาจจะเอาไปเชื่อไปถือกันก็ได้ ว่าสิ่งนั้นเป็นของพระพุทธศาสนา ยิ่งพระเป็นผู้พูด เป็นผู้กล่าว หรือเป็นผู้กระทำผิดนั้นเสียด้วยตนเอง คนก็ยิ่งเข้าใจผิดกันใหญ่ คิดว่านี่แหละเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา
สำหรับคนที่เชื่อง่ายก็เชื่อไป แต่คนบางประเภทไม่ใช่คนเชื่อง่าย ๆ เป็นคนมีความคิดความอ่าน เมื่อเห็นสิ่งใดที่ไม่เข้ากับหลักการทางพระพุทธศาสนา เขาก็ชักจะสงสัยว่า ทำไมจึงสอนอย่างนั้น ทำไมจึงพูดอย่างนั้น อย่างนี้คนก็จะเข้าใจผิดขึ้น ทำให้เขาตีตัวออกห่าง จากคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเขาคิดว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่มีสาระอะไร เป็นเรื่องอย่างนั้น ๆ เอง อันนี้ความเสื่อมจะเกิดขึ้น ในหมู่ชนผู้มีปัญญา ผู้มีการศึกษา หรือเป็นผู้ที่รู้จักใช้สมอง เพื่อคิดอ่านอะไรต่าง ๆ ก็จะเกิดความลังเล เลยไม่นับถือพระพุทธศาสนา ความเสื่อมของพระพุทธศาสนาก็จะเกิดขึ้น
ความจริงนั้นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้น เป็นคำสอนที่มีเหตุผลลึกซึ้งมาก เหมาะแก่คนผู้มีการศึกษา มีปัญญา อันนี้เราจะเห็นได้ว่าในครั้งพุทธกาล คนที่มาเลื่อมใสพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งล้วนแต่เป็นผู้มีการศึกษา คงแก่เรียน ได้อบรมตนในด้านธรรมะมามากพอสมควร แต่ว่ามาติดขัดอะไรอยู่นิด ๆ หน่อย ๆ จึงไม่หลุดพ้นไปจากปัญหา คือความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ เมื่อพระพุทธเจ้ามาสะกิดนิดเดียว ก็เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นทันที
เช่นว่า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ๒ สหายนี่ท่านก็เป็นผู้สนใจศึกษามาก่อนนาน ไปอยู่ในสำนักอาจารย์สัญชัย ได้ปฏิบัติธรรมะในอาจารย์นั้น จนมีชื่อเสียงมีความรู้เสมอด้วยอาจารย์ ๆ ก็ยกย่องว่า เป็นผู้มีความรู้เสมอด้วยตนแล้ว อย่าไปไหนเลยให้อยู่ช่วยกันสอนศิษย์ต่อไป แต่ว่าท่านทั้ง ๒ นั้นหาพอใจในสิ่งที่ตนได้รับไม่ เพราะมีความรู้สึกอยู่ในใจว่า สิ่งที่รู้ที่เรียนมานี้ยังไม่แก้ปัญหาชีวิตอย่างแท้จริง ยังมีความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่ในใจ แล้วก็แก้ไม่ได้ด้วยสิ่งที่เรียนมาแล้ว ที่รู้มาแล้ว จึงยังไม่ยอมตนอยู่ในที่นั้น แต่ได้สัญญากันไว้ว่า ถ้าเราคนใดคนหนึ่งได้ค้นพบธรรมะที่ลึกซึ้งกว่านี้ เป็นธรรมะที่จะช่วยให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้อย่างแท้จริง ก็ให้บอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง หรือว่าไปพบครูบาอาจารย์ผู้ใดที่มีความรู้เก่งกว่าอาจารย์ของเรา และเอามาปฏิบัติแล้วได้ประโยชน์คือพ้นทุกข์อย่างแท้จริงก็ให้บอกแก่กันและกัน สัญญากันไว้อย่างนั้น เป็นสัญญาเพื่อความก้าวหน้า ในการปฏิบัติธรรมต่อไป
ต่อมาพระสารีบุตรก็ได้พบกับพระอัสสชิเถระแล้วก็ได้ฟังธรรม ได้เกิดความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อรู้แล้วเข้าใจแล้วก็นำมาบอกแก่สหาย ชวนกันไปลาอาจารย์สัญชัย เพื่อไปอยู่ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็ชวนให้อาจารย์ไปด้วย แต่อาจารย์ไม่ยอมไป เพราะว่า เมื่อไปอยู่ในสำนักพระพุทธเจ้าตัวก็จะเล็กลงไป ไม่ใหญ่เหมือนอยู่ในสำนักนี้ก็เลยไม่พอใจที่จะไป อันนี้เป็นตัวอย่าง
หรือแม้คนอื่น ๆ ก็ล้วนแต่เป็นนักศึกษา มีปัญญาด้วยกันทั้งนั้น เช่นว่ามีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อพาวรี เคยเป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลในเมืองสาวัตถี ครั้งอายุมากเข้าก็เบื่อหน่ายในราชการ ลาออกไปบวชเป็นฤาษีตั้งสำนักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโคธาวรีในประเทศอินเดีย แล้วก็มีลูกศิษย์ลูกหามาก แต่ลูกศิษย์ที่สำคัญนั้นมีอยู่ ๑๖ คน อาจารย์ก็ตั้งปัญหาให้ทั้ง ๑๖ คนนี้ไปทดสอบปัญญาของพระพุทธเจ้า คือได้ข่าวแล้วว่าพระพุทธเจ้านี่เก่งกาจมีความรู้มีความสามารถ รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องอะไรต่างๆ ก็ยังไม่ไปหาต้องส่งลูกศิษย์ไปก่อน คือไปสอบปัญญาของพระพุทธเจ้า
ลูกศิษย์แต่ละคนก็นำปัญหาไปทูลถามพระพุทธเจ้า เป็นปัญหาลึกซึ้งทั้งนั้นที่เอาไปทูลถาม พระพุทธเจ้าก็ตอบให้ฟังอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง จนกระทั้งมานพ ๑๖ คนนั้นเปลี่ยนใจ บวชในสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหมด อันนี้ก็แสดงอยู่ในตัวว่า คนในสมัยนั้นมีการศึกษาด้านจิตใจสูงมาก มีความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องอะไรต่างๆ แต่ว่ายังติดอยู่นิดเดียวเท่านั้นเอง สิ่งที่ติดอยู่นั้นคืออะไร คือติดความมีตัวตนอยู่ ติดอัตตา มีความมีตัวมีตนอยู่ยังถอนความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวตนนี้ไม่ออก แล้วไม่รู้จะถอนอย่างไรด้วย เหมือนหนามตำเนื้อ แล้วก็ไม่รู้จะถอนอย่างไร ก็เลยเจ็บอยู่ตลอดไป
พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเป็นบุคคลเอกในโลก ที่ได้รู้วิธีแก้ปัญหาส่วนนี้ แล้วก็ทรงแก้ด้วยพระองค์เองสำเร็จพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนทางจิตใจอย่างแท้จริง แล้วก็สอนให้คนอื่นเอาไปใช้ ใครเรียนรู้แล้วเอาไปใช้ปฏิบัติ ผู้นั้นก็พ้นจากความทุกข์ เป็นพยานหรือเป็นแนวร่วมของพระพุทธเจ้ามากขึ้น ๆ อันนี้เป็นเรื่องที่มีอยู่ในสมัยกระโน้น คือพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
แต่ว่าในสมัยต่อๆ มา พระพุทธศาสนาล่วงเลยมาเป็นเวลาพันปี พันห้าร้อย สองพันปี ก็ย่อมจะมีอะไรๆ แปลกปลอมเข้าไปบ้าง เรื่องที่แปลกปลอมเข้าไปนั้นมันเกิดจากอะไร เกิดจากแย่งคนกัน แย่งพุทธบริษัทกัน ซึ่งมันก็ไม่ถูกต้องตามหลักการเท่าใด เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแย่งศิษย์กับใคร พระองค์ไม่ได้ชวนใครให้มาเป็นศิษย์ของพระองค์ ๆ เป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางให้เขาเข้าใจ ชี้ทางให้เขาเดิน ครั้งเมื่อเขาเดินแล้ว เขารู้แจ้งด้วยตนเองว่าอะไรเป็นอะไร แล้วเขาก็มาเป็นศิษย์ด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ไปขอร้องให้ใครมาเป็นศิษย์พระองค์ ให้มาอยู่กับพระองค์ ๆ ไม่ได้ขอร้องอย่างนั้น ไม่มีวิธีการอย่างนั้น แต่ว่าเมื่อใครมาหาพระองค์ก็บอกว่า ลองเดินทางนี้ ลองปฏิบัติทางนี้ แล้วท่านจะพ้นจากปัญหาชีวิตประจำวัน คนใดที่อยากจะทดสอบปฏิบัติตามแนวทางนั้น ก็ไปกระทำตาม เมื่อทำตามก็ได้ผล คือความสงบทางจิตใจเกิดขึ้น เขาก็มายอมเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า มาโดยวิธีการอย่างนี้ ไม่ได้แย่งกันกับใคร ไม่ได้แข่งขันกันกับใคร
แม้ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ ก็มีครูมีอาจารย์เที่ยวสอนศิษย์อยู่มากมายเหมือนกัน ที่ใหญ่ ๆ ปรากฏชื่อหรือเรียกว่าครูทั้ง ๖ มีลัทธิ มีคำสอนแตกต่างจากของพระผู้มีพระภาคเจ้า เขาเรียกว่าไม่ได้โกรธเคืองกัน ไม่ได้มุ่งร้ายหมายขวัญต่อกัน บางคราวพระองค์ก็ไปแวะคุยกับคนเหล่านั้น คุยกันเมื่อเขาไม่เห็นด้วย พระองค์ก็ไม่ว่าอะไร แต่กลับบอกว่าท่านนี่มีความคิดเห็นแบบนี้มานานแล้ว ๆ พระองค์ก็ลาจากไป ไม่ได้ขุ่นเคืองกัน ไม่ได้ขัดใจอะไรกันอย่างนี้เป็นเรื่องของผู้มีธรรมะเขากระทำกันอยู่
แต่ว่าในสมัยหลังลูกศิษย์ไม่เข้าถึงธรรมะ อันเป็นเนื้อแท้ของคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็มีกิเลสอยู่ในใจ ก็เกิดการแข่งขันกับลัทธิอื่น ในรูปแบบต่างๆ จึงได้เอาอะไรมาใส่ไว้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เพื่อดึงคนนะ คนชอบอะไรก็ทำอย่างนั้น เพื่อให้คนเข้ามาเป็นพรรคเป็นพวก การกระทำอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง แล้วก็จะเกิดความเสียหาย
พระผู้มีพระภาคทรงมีอนาคตังสญาณเป็นเทคนิคอยู่หน่อย คือหมายความว่ามีปัญญาหยั่งรู้ ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นในกาลต่อไปข้างหน้า มีหลายเรื่องหลายอย่างที่พระองค์ตรัสไว้กับภิกษุทั้งหลายว่า เรื่องนี้ยังไม่เกิดในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ แต่ว่าจะเกิดขึ้นในกาลต่อไปข้างหน้า แล้วพระองค์ก็บอกไว้ว่า เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้น ควรจะแก้ไขอย่างไร ควรจะทำอย่างไร ถ้าเราไปอ่านพบเรื่องอย่างนี้ในพระคัมภีร์ แล้วก็มาดูสังคมในยุคปัจจุบัน ก็เป็นเหมือนกับที่พระองค์ได้คาดคะเนไว้ หรือได้มองเห็นไว้ด้วยญาณของพระองค์ เราก็เห็นว่ามันตรงกับเหตุการณ์นั้น ๆ ที่พระองค์ได้กล่าวไว้ทุกประการ อันนี้เป็นเรื่องที่มีอยู่ในพระคัมภีร์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมีอะไรแปลกปลอมเข้ามา ถ้าไม่มีอะไรเป็นเครื่องวินิจฉัย มันก็ลำบาก จึงไม่รู้ชัดว่าอะไรเป็นเนื้อแท้ อะไรเป็นของไม่แท้ พระองค์จึงให้หลักตัดสินธรรมวินัยของพระองค์ไว้รวมทั้งหมด ๘ ประการด้วยกัน ดังที่ได้กล่าวให้ญาติโยมฟังแล้วเมื่อวันก่อน
วันก่อนนี้กล่าวในเรื่องว่า ธรรมเหล่าใดที่เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ เป็นไปเพื่อการประกอบทุกข์ เป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส อันนั้นไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่วินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ๓ ประการ ก็พอดีหมดเวลา จึงได้เอามาต่ออีกในวันนี้ ๆ ก็จะพูดต่อไปในเรื่องว่า ธรรมเหล่าใดที่เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ ๆ นี้หมายความว่าอย่างไร อันนี้ต้องฟังให้ดี เดี๋ยวก็เกิดเป็นปัญหายุ่งยากในใจเหมือนกัน คือทำอะไรด้วยความอยากนั้นมันเป็นกิเลส เป็นตัณหา แต่ถ้าทำอะไรเพราะสำนึกว่าเป็นหน้าที่ แล้วก็ทำไปตามหน้าที่ ไม่หวังจะมีจะได้อะไรจากการกระทำนั้น ๆ เขาเรียกว่าทำด้วยจิตที่ว่าง ไม่มีกิเลส ไม่มีตัณหาเข้ากอดจับในเวลาทำ คนทำงานแบบนี้ไม่มีความทุกข์ทางใจ ไม่มีความเดือดร้อนใจ
เราทุกคนทำงานได้ พระพุทธศาสนาสอนคนให้ทำงาน ไม่ได้สอนคนให้เกียจคร้านหรือเบื่อหน่ายต่องาน ชาวพุทธเราต้องเป็นนักสู้ ไม่ใช่นักหนี ๆ งาน หนีการ หนีความยากลำบากอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เราต้องสู้กับงาน แต่ว่าในการทำงานนั้น เราจะต้องทำด้วยใจที่ไม่เป็นทุกข์ ไม่วิตกกังวลจนกระทั่งเป็นโรคทางประสาทอะไรไปในรูปต่าง ๆ ซึ่งเป็นการผิดหลักการทางพระพุทธศาสนา เราจะทำการค้าขาย จะทำราชการ จะทำนา จะทำสวน หรือว่าจะทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น อาชีพทุกอย่างที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดหลักศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถือว่าเป็นสัมมาชีพ คือเป็นอาชีพที่ชอบที่ควร ไม่ขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำอาชีพนั้นได้
ทีนี้ในการทำงานในหน้าที่ คนบางคนทำงานด้วยความทุกข์มากมาย มีความวิตกกังวล จนกระทั่งกินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่รู้จักพักผ่อนทางจิตใจ ๆ หมกมุ่นอยู่ตลอดเวลาในเรื่องงานการนั้น ๆ แล้วเวลาทำอะไร ก็มีความหวังมากเกินไปที่จะมีจะได้อะไรจากงานนั้น ความหวังที่มันเกินขอบเขตนี่แหละ เขาเรียกว่าเป็นความอยากใหญ่ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนใจ ด้วยประการต่าง ๆ
ในขณะนี้กำลังมีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.บ้าง สมาชิกสภาเขตบ้าง อะไรบ้างกันอยู่ ใครเข้าไปสมัครเป็นผู้ว่าด้วยความอยาก คนนั้นจะเป็นทุกข์ คือสมัครด้วยความอยากแล้วมันก็เป็นทุกข์นะ เป็นทุกข์กลัวจะแพ้ กลัวจะไม่ได้ดังใจ แล้วก็จะต้องทำอะไรเป็นการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตามความต้องการ ถ้ามันรุนแรงลงไปมาก ความอยากรุนแรง ก็จะทำผิดกฎหมายด้วยประการต่าง ๆ แต่ว่าทำผิดกฎหมายที่เขาจับไม่ได้ เช่นกฎหมายเขาห้ามไม่ให้ใช้เงินเกินเท่านั้นนี่ อันนี้จับไม่ได้ ไม่รู้จะไปจับอย่างไร คนใดอยากมากก็ต้องลงทุนมาก เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ แล้วเมื่อลงทุนแล้วไม่ได้ก็มานั่งเป็นทุกข์ตรม ตรอมใจเป็นปัญหา บางทีก็เกิดอาการเครียดแค้นขึ้นในใจ ก็ไปจ้างมือปืนว่ามึงไปสำเร็จโทษไอ้ ! คนนั้นสักทีซิ มันขวามหูขวางตากูเต็มทีแล้ว นี่ความอยากใหญ่ มันทำให้เกิดความทุกข์ทางใจ แล้วก็เกิดอะไร ๆ ขึ้น เกิดมีปัญหาด้วยประการต่าง ๆ ขึ้นในจิตใจ เป็นความทุกข์ ไม่ใช่เรื่องถูกต้องตามธรรมวินัย ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทีนี้คนที่จะไปเป็นอะไรนี่ ก็ต้องปรับตัวเองเสียก่อน คือปรับตัวเองให้มันดีก่อน ถึงจะไปเป็นอะไรกับเขาได้ ปรับพื้นฐานทางจิตใจนี่ปรับอย่างไร คือให้เราเสียสละเสียก่อนแล้วจึงจะไปเป็นอะไร ๆ เช่นว่าจะไปเป็นผู้ว่ากทม. เนี่ย ! ก็ต้องมีความเสียสละเป็นพื้นฐานทางจิตใจ ว่าเราเข้าไปปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ เราไม่ได้หวังอะไร ในใจเราไม่ได้หวังอะไร ในเรื่องอะไร เรื่องลาภ เรื่องผล เรื่องอะไรต่ออะไรนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แต่เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะใช้สติปัญญา ความสามารถที่เรามีนี่ ทำงานเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ส่วนผลตอบแทนอันใดที่จะเกิดจะมีขึ้นนั้น ขอให้มันเป็นเรื่องเป็นไปตามธรรมชาติ มันเป็นไปตามธรรมชาติ เราไม่ได้หวังอะไรมากเกินไป จิตใจอย่างนี้แหละเหมาะแก่การที่จะไปเป็นอะไร ๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไร ตำแหน่งอะไรก็ตามใจ ถ้าเรามีพื้นฐานจิตใจไปในรูปอย่างนั้นแล้ว เราไปทำงานสบายใจ ไม่เกิดปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ คนเราที่เป็นทุกข์เนี่ย ! ทุกข์เพราะอยากจะได้นั่นแหละ อยากจะมี อยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ ๆ เมื่อไม่ได้ดั่งใจ ได้มาแล้วก็เป็นทุกข์อีก เป็นทุกข์กลัวว่ามันจะอะไร นี่เราจะอยู่อย่างคนเป็นทุกข์
เรื่องอะไรที่จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นโดยไม่จำเป็น ในชีวิตของเรา ๆ ควรจะอยู่ด้วยจิตใจที่สงบ จิตใจที่สะอาด สว่างอยู่ด้วยปัญญา จะได้ปลอดโปร่ง จะได้คิดงานคิดการอะไรได้สะดวกสบาย ไม่ต้องมีความวิตกกังวลอะไรให้มันมากเกินไป อันนี้แหละเป็นฐานที่เราจะต้องตั้งให้เกิดขึ้นในใจของเรา อะไรจะเกิดจะเป็นมันก็เป็นไปตามธรรมชาติ เราไม่ยินดีเกินไปเมื่อได้ ไม่ยินร้ายเมื่อเสีย แต่วางใจเป็นกลาง
ใจเป็นกลางนั้นใจมันอยู่กับอะไร อยู่กับสติปัญญาที่รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง คือรู้ว่า อะไร ๆ มันก็ไม่เที่ยงแท้ถาวรหรอก มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นอย่างนี้ เราอย่าไปวิตกกังวลอะไรให้มันมากเกินไป อย่างนี้ใจสบาย เพราะฉะนั้นหลักนี้มันช่วยได้มาก คือช่วยให้เราทำงานได้อย่างใจสงบ ใจสะอาด ใจสว่าง ไม่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เราจะเป็นอะไรก็ได้ไม่ห้ามหรอก
หลักศีลธรรม หลักพระพุทธศาสนา หรือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามคนว่าไม่ให้เป็นอะไร ไม่ให้ทำอะไร แต่สั่งสอนว่าให้เป็นด้วยปัญญา ให้ทำสิ่งนั้นด้วยปัญญา ให้มีอะไรก็ได้แต่มีด้วยปัญญา มีแล้วอย่าให้เป็นทุกข์ ได้อะไรก็อย่าให้เป็นทุกข์ นี่เราเรียกว่าสบายใจ เหมือนกับเด็ก ๆ เรียนหนังสือเพื่อสอบไล่ได้ คราวนี้อยากจะให้สอบไล่ได้มากเกินไป บางทีก็สอบไม่ได้ก็เสียใจ เพราะว่าเราอยากมากเกินไป เราไม่ต้องอยากจะให้ได้แต่ว่าเราเรียนให้เต็มที่ เราสำนึกในหน้าที่ของเราว่าเราเป็นเด็ก เราอยู่ในวัยการศึกษาเล่าเรียน เราต้องทำหน้าที่ของผู้เรียนให้ดีที่สุด ต้องเรียนด้วยใจรัก ต้องเรียนด้วยความขยัน เรียนด้วยความเอาใจใส่ เรียนด้วยการคิดค้น ไต่ถามในเรื่องอะไรที่เรายังไม่รู้ไม่เข้าใจ เรียนอย่างนี้มันก็สอบได้เอง แม้ไม่อยากจะได้มันก็ได้ เพราะว่าเราทำเหตุดีผลมันก็เกิดดีขึ้นมาเอง หรือคนทำงานทำการนี่ ไม่ต้องไปอยากให้มันมั่งมีอะไรหรอก แต่ว่าเราก็ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าในเรื่องการทำงาน เราทำงานด้วยความขยัน พระพุทธเจ้าสอนว่าให้ขยันในการทำมาหากิน เรียกว่ามีอุฏฐานะ
อุฏฐานะ ก็คือ ลุกขึ้น อย่านั่งนิ่งนั่งเฉย ลุกขึ้นไปไหน ไปทำมาหากินในอาชีพสุจริต ไม่ผิดศีลผิดธรรม ไม่ผิดกฎหมายของบ้านเมือง เราก็ทำไปตามหน้าที่ เมื่อทำไปตามหน้าที่ผลมันก็เกิดแก่เรา ผลนั้นเกิดขึ้นอาจจะมากบ้างน้อยบ้าง ตามภาวะหมุนเวียนของเศรษฐกิจของโลกนี้ เช่นเวลานี้เศรษฐกิจมันค่อน (34.49) มันได้เท่าที่ธรรมชาติที่เราทำนั้นจะอำนวยให้ เมื่อเราได้มาเท่าใดเราก็พอใจ ไม่เสียใจว่าแหม ! ได้น้อยไป ไม่เหมือนเมื่อก่อน ๆ ได้วันละเท่านั้น เดี๋ยวนี้วันละเท่านี้ เคยถามคน ๆ หนึ่งว่า เป็นไงโยม เดี๋ยว ! นี้ไม่ไหวเจ้าค่ะ แล้วเวลานี้โยมได้เงินอยู่เดือนละเท่าไร เดือนหนึ่งก็ราวสักสองแสนเท่านั้นเอง ได้น้อยได้เดือนละสองแสน แล้วเมื่อก่อนได้เดือนเท่าไร เมื่อก่อนได้เดือนหนึ่งสี่ห้าแสน ก็ลดลงเหลือสองแสนมันก็ไม่เดือดร้อนอะไร แต่ว่าเป็นทุกข์ว่ามันได้น้อยไป
อันนี้เราไม่ต้องเป็นทุกข์อย่างนั้น แต่เราต้องรู้ว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจของโลกของสังคมมันเป็นอย่างไร เราใช้ปัญญาเรียนรู้ว่า อ้อ ! สถานการณ์เวลานี้มันทรุด มันไม่ได้ทรุดหย่อมใดหย่อมหนึ่ง มันทรุดทั่วกัน เราก็อยู่ในโลกมันก็พลอยทรุดไปกับเขาด้วย ได้เท่านี้ก็ดีแล้วให้พอใจเท่านั้น เท่านี้ก็ดีแล้ว ดีกว่าไม่ได้เลย มีเท่านี้ก็ดีแล้ว ดีกว่าไม่มีเสียเลย คิดอย่างนั้นใจมันก็สบาย เราทำให้ใจสบาย อยู่ให้ใจสบาย มีรายได้เท่าใดก็พอสบายใจ ทีนี้ถ้าได้น้อยก็ลดรายจ่ายลงไป จ่ายให้น้อยลงไปสักหน่อย กินน้อยลงไปเท่าที่จำเป็น นุ่งห่มเท่าที่จำเป็นสังคมก็ให้น้อยลงไป อะไรนี้ก็ต้องลดลงตามส่วน
การลดก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเราเป็นทุกข์ว่าแหม ! ไม่เหมือนก่อน เมื่อก่อนฉันนั่งรถคันใหญ่ เดี๋ยวนี้ต้องมานั่งรถคันเล็ก แล้วรถคันเล็กมันไปถึงจุดหมายหรือเปล่า เราต้องถามอย่างนั้น ก็ไปถึงเหมือนกันนะ แต่ว่าไปดูคันของคนอื่นมันใหญ่กว่าของฉัน แล้วไปเทียบทำไมให้มันยุ่งใจ ของใครก็ของใคร เหมือนกับร่างกายนี่ ของใครก็ของใคร คนบางคนเกิดมาผิวดำ บางคนก็ผิวขาว บางคนอ้วนมาตั้งแต่ตัวน้อย ๆ บางคนก็ผอมมาตั้งแต่ตัวน้อย ๆ ก็ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างพอใจในของตัว อย่าไปยืนเคียงกับใครเข้า คนผอมอย่าไปยืนเคียงกับคนอ้วน แล้วก็เกิดน้อยเนื้อต่ำใจว่ากูมันผอมกว่าเขา มันเรื่องอะไรไปเทียบเคียงให้เป็นทุกข์ มันเรื่องอะไร นี่เขาเรียกว่าหาเรื่อง คนหาเรื่อง ๆ ให้กลุ้มใจ เทียบความผอมความอ้วน ความดำความขาว ความสูงความต่ำ มีมากมีน้อย ใหญ่มากใหญ่น้อย ฮุ้ย ! ให้มันยุ่งไปหลายเรื่อง ไปเที่ยวเทียบมันยุ่งทั้งนั้นแหละ
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่าไปคิดอย่างนั้น พอคิดอย่างนั้นเราเรียกว่ามีมานะขึ้นมา มานะว่าเราเก่งกว่าเขาก็เป็นมานะ มานะว่าเราไม่เก่งเหมือนเขาก็เป็นมานะเหมือนกัน เรียกว่าเป็นมานะทั้งนั้นนะ มานะในที่นี้หมายแบบอย่างนี้ แต่หมายอย่างไรก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น เทียบเคียงแล้วก็เป็นทุกข์ มีความยึดถือในตัวตนเกิดเป็นปัญหา ไม่สบายใจมีความทุกข์ใจ ให้เราลองคิดดู เวลาเรามีความทุกข์ใจนี่มันเป็นอย่างไร ถ้าไม่เป็นทุกข์สภาพจิตใจจะเป็นอย่างไร เราก็เปรียบเทียบพิจารณา
เมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นว่า อ้อ ! ถ้าเราโง่เมื่อไหร่เราเป็นทุกข์เมื่อนั้น เราฉลาดเมื่อใดเราก็หมดทุกข์เมื่อนั้น เราอย่าทำอะไรแบบผู้ไม่รู้ไม่เข้าใจ ทำเรื่องที่เรารู้เราเข้าใจ ทรัพย์สมบัติที่ได้มาก็เกิดความพอดี เราจะคบใครเป็นเพื่อนก็เอาแต่ที่ดี ๆ งาม ๆ เขาเรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร คือมิตรที่ดีเอามาเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา ในเรื่องการงานต่าง ๆ อย่างคบที่ปรึกษาไม่ดีไม่งามไว้ เพราะที่ปรึกษานี่ก็คือมิตรนั่นแหละ ถ้าได้ไม่ดีแล้วมาแนะนำเราให้เสื่อมให้เสียหาย ให้ลงทุนในสิ่งที่ไม่ควรจะลงทุน เลยเกิดขาดทุนยุบยับไป เช่นเราไปคบเพื่อนชอบเล่นแชร์ เขาก็ชวนเราไปเล่นแชร์จนได้ บอกว่าดอกมากจะดี เขาได้รถยนต์กันหลายคนแล้ว ขี่ป๊อไปป๊อมานั่นแหละ ! คันนั้นแหละเขาได้มาจากเล่นแชร์ เขาได้ดอกเขาซื้อรถยนต์ให้ อยากจะได้ขึ้นมาแล้วไปลงเล่น นั่นเขาเรียกว่าไม่ใช่มิตรแท้แล้ว เป็นมิตรเทียมมายุให้เราเสียเงิน แล้วเขาไปเอาเปอร์เซ็นต์จากเถ้าแก่ต่อไป เราก็เสียท่าแล้วก็นั่งเป็นทุกข์ เป็นทุกข์หนักเข้าไม่รู้จะทำอย่างไร ยกกองไปหาพระแก้วแล้ว ไปให้พระแก้วช่วย ไปแช่งชักหักกระดูกเถ้าแก่ต่อหน้าพระแก้ว พระแก้วจะไปช่วยอย่างไร ถ้าท่านนั่งเฉย ๆ อยู่ในโบสถ์ ถ้าหากว่าพูดได้ว่า อู้ย ! กูช่วยไม่ไหวพวกแกมันโง่กว่าเขาเองนะ จะให้ข้าช่วยได้อย่างไร นี่อย่างนี้มันเป็นปัญหาเพราะว่าเรามีความอยากนั่นเองไม่ใช่เรื่องอะไร อยากได้มากแต่ไม่รู้ทางที่จะให้ได้ ก็เลยเกิดเป็นปัญหาคือความทุกข์ทางใจ
เพราะฉะนั้นถ้าเราพิจารณาด้วยหลักนี้เวลาจะทำอะไรวัดด้วยตัวของเราเอง วัดว่าเราทำด้วยอะไร ทำด้วยสติปัญญา หรือทำด้วยความอยากใหญ่ อยากโต ในเรื่องอะไรต่าง ๆ ให้เราพิจารณาอย่างนั้น เราก็จะไม่ทำอะไรเพราะความอยาก แต่ทำเพราะสำนึกในหน้าที่อันเราจะต้องทำ ถ้าเราทำด้วยความสำนึกในหน้าที่แล้วก็ไม่มีอะไร เราก็สบายใจ
เหมือนอาตมาก็ต้องมาเทศน์ทุกอาทิตย์นะ เป็นหน้าที่ ๆ จะต้องมาเทศน์ให้ญาติโยมฟัง ไม่ใช่ก่อนเทศน์ต้องมาคิด แหม ! วันนี้จะได้สักเท่าไร โยมจะจ่ายหน้ากัณฑ์สักเท่าไร เทศน์ไปก็ชำเลืองขันไปพลางว่าได้เท่าไร อย่างนี้ก็กลุ้มใจนะซิ พอเทศน์เสร็จแล้วมานับก็นิดเดียว ไม่ไหว หมดกำลังใจ ถ้าเราอยากอย่างนั้นก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ อย่าไปคิดอย่างนั้น สมัยก่อนก็คิดเหมือนกันนะ เทศน์ใหม่ ๆ คราวหนุ่ม ๆ เทศน์ไปก็ชำเลืองดู แต่ว่าเมื่อเทศน์มากเข้า ๆ มันก็สอนตัวเองไปด้วยในตัว ละอายแก่ใจที่จะคิดอย่างนั้น ที่จะนึกอย่างนั้น แล้วมันก็ไม่มีความคิดอย่างนั้นก็สบายใจ เทศน์เสร็จแล้วก็หมดเรื่อง ไม่ว่าไปเทศน์ที่ไหน เขาจะถวายไม่ถวายก็ไม่ได้รู้สึกอะไรแล้วกับเรื่องอย่างนั้น ใจก็สบาย ถ้าเขาให้ก็ดีเหมือนกัน เอามาทำประโยชน์ต่อไป ถ้าเขาไม่ให้ก็คิดว่าเขาได้น้อย วัดวาอารามเขาลำบากก็ยกให้เขาไปก็สบายใจ ไม่มีเรื่องอะไร ญาติโยมก็ควรทำใจอย่างนั้น เราทำอะไรก็สุดแล้ว ผลมันจะเกิดเป็นอย่างไรนั้นไม่ต้องคำนึง แต่ว่าสร้างเหตุให้ดีก็แล้วกัน
เหตุนั้นทำให้ดี ทำให้เรียบร้อย ทำด้วยความประณีต ด้วยความตั้งใจ แต่ว่าแม้เราจะตั้งใจอย่างไร ผลมันไม่เหมือนใจก็มี ขึ้นอยู่กับธรรมชาติดินฟ้าอากาศ สิ่งแวดล้อมอะไรต่าง ๆ คนเรียนการเพาะปลูกมาอย่างดี แล้วไปทำการเพาะปลูกบางทีก็ไม่ได้เรื่อง สู้คนที่ทำงานเพาะปลูกมาตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ อันนี้มันผิดกัน ประสบการณ์มันก็ผิดกัน เราจะไปเสียอกเสียใจ แหม ! กูได้ปริญญามาแล้วสู้ไอ้ไม่ได้ปริญญาไม่ได้ มันก็ไม่ได้ ถ้าให้ดีก็ลองไปปรึกษากับคนที่เขาเก่งว่า ทำอย่างไร ใส่ปุ๋ยอย่างไร พืชเอาอะไรมาปลูก ๆ อย่างไร รดน้ำพรวนดินอย่างไร บำรุงอย่างไร ไปศึกษา เพราะว่าอันนั้นเราอาจจะยังไม่ได้เรียนมาละเอียด แต่คนนั้นเขาเรียนด้วยการกระทำ เขาจึงมีความเข้าใจ เขาก็เก่ง
พ่อค้าที่ร่ำรวยไม่ได้สำเร็จวิชาการค้าเสมอไป ไม่ใช่สำเร็จการค้าเสมอไป วันนั้นเคยเล่าให้ฟังว่า พ่อค้าชาวจีนคนหนึ่ง นุ่งกางเกงไม่สวมเสื้อ นั่งโต๊ะเก่า ๆ ลูกคิดราง (43.21) หนึ่ง ลูกคิดก็เก่าเต็มที่แล้ว แหม ! นั่งดีดลูกคิดไป ลูกคิดมา ส่งมันสำปะหลังไปนอก แกซื้อ (43.30) …… ร่ำรวยแล้วมีเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน แต่ว่าก็อย่างนั้นนะ นุ่งกางเกงก็อย่างนั้นนะ กางเกงขาก๊วย แล้วเสื้อบางทีก็สวมบางทีก็ไม่สวม ถือพัดอันหนึ่งนั่งพัดพุงอยู่ตลอดเวลา แกชำนาญการค้าการขาย ลูกชายไปเรียนนอกได้ด๊อกเตอร์มา ๆ ทำอะไรก็ถูกเตี่ยดุออกบ่อย ๆ ทำอย่างนั้นไม่ถูก อย่างนี้ไม่ถูก ลูกชายก็หัวฟัดหัวเหวี่ยงว่า แหม ! กูได้ปริญญามาอย่างโน้นอย่างนี้ แต่เตี่ยไม่ได้อะไรมายังจะมาดุกูอีก ลูกชายนั้นก็ไม่รู้จักตัวเองว่า แม้จะเป็นด๊อกเตอร์ แต่ก็ยังไม่ได้เรื่องอยู่เหมือนกันนะด๊อกเตอร์นะ เพราะไม่เคยทำงาน เคยอ่านแต่หนังสือ ทำปริญญา พวกด๊อกเตอร์ก็เขียนหนังสือได้ อ่านเอามาจากเล่มนั้นนิด เอามาจากเล่มนี้หน่อย มาปรุงมาแต่ง เชื่อมนิดเชื่อมหน่อยส่งให้คณะกรรมการ แล้วก็เรียกไปถาม เขาก็เอาด๊อกเตอร์ ก็ได้อย่างนั้นนะ
แต่ว่าเตี่ยนี่ด๊อกเตอร์จากการกระทำ แกทำมาตั้งแต่แกเป็นหนุ่มน้อย มาจากเมืองจีน แล้วแกก็ทำจนกระทั่งใหญ่โต นายกรัฐมนตรียังไปยืมสตางค์แกใช้เลยนะ ไม่ใช่นายกคนนี้นายกก่อน ๆ นะ ตีสนิทกันแล้วขอสตางค์แกใช้เหมือนกัน คนแต่งตัวสวย ๆ ไปขอสตางค์คนไม่มีเสื้อจะสวมใส่ได้เหมือนกัน แกก็ให้จ่ายให้ อย่างนี้ก็มีเหมือนกันสิ่งเหล่านี้
เพราะฉะนั้นอะไรที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ๆ อย่าคิดว่าเราโชคร้าย อย่าคิดว่าเรามีเวรกรรมอะไรจึงเป็นอย่างนี้ อย่าคิดอย่างนั้น แต่คิดว่า เออ ! โลกมันก็เป็นอย่างนี้แหละ มันไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไร ๆ มันก็เปลี่ยนแปลงได้ คนใหญ่อาจจะเล็กลงเมื่อใดก็ได้ คนเล็กอาจจะใหญ่ขึ้นไปเมื่อใดก็ได้ มันเปลี่ยนแปลงได้ สมัยนี้เป็นอย่างนั้น สมัยก่อนคนกว่าจะได้เป็นเสนาบดีสักคนนี่ ทำงานกันมานาน แสดงความรู้ความสามารถจนได้เป็นเสนาบดีขึ้นมาได้ เดี๋ยวนี้ใครไปเป็นรัฐมนตรีก็ได้ ถ้าได้เป็นผู้แทนเข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก ไม่เท่าไรก็ได้ไปเป็นรัฐมนตรีแล้ว เป็นง่ายเดี๋ยวนี้ เรื่องมันเป็นอย่างนั้น
สังคมมันเปลี่ยนแปลงไป ใครจะไปเป็นอะไรก็ได้เวลานี้ คนถีบสามล้อ ถ้าได้เป็นผู้แทนก็อาจจะไปเป็นรัฐมนตรีก็ได้เหมือนกัน รัฐมนตรีช่วยไปก่อน ต่อไปก็เป็นรัฐมนตรีว่าการขึ้นมาก็ได้ เป็นอย่างนั้น เราก็อย่าไปว่าเขา ๆ ก็เป็นเขาก็เก่งของเขานะ อย่าไปว่าเขาเลย ไอ้นี่มันเด็กขายห่อหมกทำไมมาเป็นรัฐมนตรีได้ ก็ประธานาธิบดีลินคอล์นแกก็เคยรับจ้างตัดฟืน รับจ้างเลี้ยงม้า รับจ้างแบกถุงไปรษณีย์ แกก็มาเป็นประธานาธิบดีด้วยได้นะ แล้วเป็นประธานาธิบดีเก่งเสียด้วยนะ ตายแล้วเขาทำรูปไว้ใหญ่โตในกรุงวอชิงตัน และที่เมืองที่แกอยู่เมืองสปริงฟิลด์รัฐอิลลินอยส์ เขาก็สร้างอนุสาวรีย์ป่าช้า (46.45) ใหญ่โต บ้านแกเขาก็ยังไว้ให้คนไปดูทุกวัน ๆ บ้านของลินคอล์น คนที่เคยเลี้ยงม้า เคยตัดฟืน เคยแบกถุงไปรษณีย์ รับจ้างแล้วต่อมาก็ก้าวหน้าไปได้ คนแบบนี้ก็น่าชมเหมือนกัน ว่าเขาก็เก่งเหมือนกัน เด็กขายห่อหมกไปเป็นรัฐมนตรีได้ก็เก่งนะ
คนบางคนแม้จะเกิดในตระกูลใหญ่ เป็นลูกก็ยังเป็นไม่ได้ก็มีเหมือนกันนะ เกิดมาแล้วไม่ได้เรื่อง แล้วก็ผลาญทรัพย์สมบัติพ่อแม่จนฉิบหาย ขายบ้านขายนาหมดเลยก็มีเหมือนกัน มันอยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่เรื่องอะไร คนเราถ้าทำดีก็ดีขึ้นไป ถ้าทำไม่ดีก็ตกลงไป กรรมมันตัดสินของมันเอง ใครจะเป็นอะไรก็เป็นได้ด้วยกรรมของตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจะทำอะไรก็อย่าไปเสียใจเมื่อไม่ได้ อย่าไปดีใจเมื่อได้ อย่าไปริงโรจน์เมื่อได้เมื่ออะไรขึ้นมา ได้แล้วก็เฉย ๆ ทำใจให้สบาย ๆ เออ ! เรื่องธรรมดา ได้ก็ดีไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราทำงานอื่นต่อไปได้ รับใช้ชาติประเทศในเรื่องอื่นต่อไปก็ได้ อย่างนี้ใจมันสบาย จึงอยู่ที่ใจ นี่เรียกความอยากใหญ่
หลักการของพระพุทธศาสนา สิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษยินดีตามมีตามได้ สันโดษยินดีตามมีตามได้เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา อันนี้สำคัญมาก คนไม่เข้าใจ มองพุทธศาสนาในแง่ร้าย ความจริงคำสอนเกี่ยวกับสันโดษไม่ใช่มากมายอะไร มีพุทธภาษิตอยู่ว่า สนฺตุฏฐีปรมฺ ธนฺ ความยินดีตามมีตามได้เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง แล้วอีกอันหนึ่งว่า ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏฺฐพฺพํ ได้สิ่งใดให้ยินดีด้วยสิ่งนั้น ท่านสอนไว้อย่างนั้น ความสันโดษ หมายถึงว่าอย่างนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องเกียจคร้าน
ความสันโดษไม่ใช่เรื่องเกียจคร้าน ไม่ใช่เรื่องไม่ทำ แต่เป็นเรื่องทำ สันโดษนี่เป็นเรื่องกระทำ แต่ทำด้วยความพอใจ อย่าทำด้วยความไม่พอใจ ถ้าไม่พอใจแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นทันทีไม่ว่าอะไร เช่นว่าเราไปถึงนั่งที่โต๊ะอาหาร แม่บ้านยกกับข้าวมาวาง สมมติว่าอย่างเดียว ถ้าเราเห็นแล้วก็ร้องไม่พอใจในอาหารนั้น กินวันนั้นมันเป็นทุกข์แล้ว เป็นทุกข์เพราะไม่พอใจในอาหารนั้น ถ้าสมมติว่าอาหารมาก แต่เราไม่พอใจก็เป็นทุกข์อีกเหมือนกัน เขาเรียกว่าอาหารทิพย์ เทวดากินของทิพย์
ของทิพย์คืออะไร ของทิพย์ก็คือของที่เราพอใจนั่นแหละ พอใจ ถ้ามีกับข้าวอย่างเดียวเราพอใจกับข้าวนั้นก็เป็นของทิพย์แล้ว เสื้อผ้าที่เราสวมอยู่เราพอใจก็เป็นเสื้อทิพย์ บ้านที่เราอยู่แม้จะหลังน้อย ๆ แต่เราอยู่ด้วยความเพลิดเพลินพอใจ มันก็เป็นบ้านทิพย์ของเรา อะไร ๆ ที่เราพอใจก็เป็นทิพย์ทั้งนั้น รถเป็นทิพย์ อาหารเป็นทิพย์ เสื้อผ้าเป็นทิพย์ คือมันทิพย์ตรงที่เราพอใจ แต่พอไม่พอใจก็เป็นทุกข์ ให้มีเงินมากมาย ถ้าเราไม่พอใจก็เป็นทุกข์ เศรษฐีมีทรัพย์มากแต่ไม่พอใจก็นั่งเป็นทุกข์ กระยาจกไม่มีอะไรแต่เขาก็เป่าขลุ่ยร้องเพลงวันยังค่ำ แสดงว่าเขาพอใจในความเป็นกระยาจกของเขา ๆ มีความสบายใจ
เศรษฐีเห็นคนขอทาน ๔ คนอยู่หน้าบ้านร้องเพลงเล่นสีซอ เป่าขลุ่ยกันอยู่ทุกวัน เอ๊ะ ! พวกนี้ไม่มีงานจะทำจึงทำอยู่อย่างนี้ เอาเงินให้หน่อย เรียกมาแจกเงินคนละร้อย ๆ เอาไปทำงาน พอได้เงินร้อยหนึ่งเสียงซอเสียงขลุ่ยเงี๊ยบหมดเลย เงียบเลย ไม่ดังเลย ทุกคืนไม่มีเสียงดังเลย เศรษฐีก็ว่า เอ๊ ! ทำอะไรไม่ได้ยินเสียงขลุ่ยเสียงซอเสียแล้ว เรียกมาถามเป็นไง บอกแหม ! กลุ้มใจตั้งแต่ท่านให้เงินคนละร้อยไม่เป็นอันร้องรำทำเพลงแล้ว เป็นทุกข์กลัวเงินจะหาย กลัวใครจะแอบมาขโมย ไม่ได้หลับได้นอนต้องผลัดกันนั่งเฝ้าเงินอยู่ตลอดเวลา ถ้าท่านจะกรุณาโปรดเอาเงินคืนไปเสียที เศรษฐีก็เห็นอกเห็นใจว่าแหม ! พวกนี้เคยสบาย พอเราให้เงินเข้ามันกลุ้มใจเสียแล้ว เอาคืนมาเสียแล้วมันก็สบายใจต่อไป ร้องเพลงต่อไปได้ เขาพอใจในสภาพอย่างนั้น เขาก็สบายของเขาอย่างนั้น แต่ถ้าไม่พอใจก็เกิดความไม่สบาย
เศรษฐีคนหนึ่งจ้างครูมาสอนหนังสือแก่ลูกชาย ก็ครูไม่ค่อยอยู่นานหรอก คนหนึ่งสองเดือน ๆ หาย สองเดือนหาย จู้จี้จุกจิกด้วยประการต่าง ๆ ได้มาอีกคนหนึ่ง ครูคนนั้นนะมา ก็อาหารนี่เศรษฐีเลี้ยงทุกวันแต่ครูไม่พอใจอาหารที่เศรษฐีเลี้ยง บ่นกระปอดกระแปดให้ลูกศิษย์ฟัง ลูกศิษย์ก็มาเล่าให้พ่อฟังว่า ครูนี้สอนหนังสืออะไรดีทุกอย่าง แต่ว่าบ่นทุกวันเรื่องอาหารการกิน ว่าไม่อร่อย ไม่มีรสชาติ ไม่ถูกลิ้น อะไรมั่ง ความจริงมันถูกทุกคำแหละลิ้น ใส่เข้าไปก็ถูก เราบ่นว่าไม่ถูกปาก มันเข้าทางหูได้เมื่อไร เข้าทางปากทั้งนั้นแต่เราพูดว่าไม่ถูกปากว่านั้น ไม่ถูกปากหมายความว่าไม่อร่อย พูดภาษาสำนวนว่าไม่ถูกปาก ความจริงมันถูกปากก่อนทุกที
ทีนี้เศรษฐีรู้เรื่องก็ วันหนึ่งเชิญครูมากินข้าวที่บ้านพิเศษ มาถึงก็ชวนคุย ๆๆ เที่ยงแล้วยังคุยต่ออีก เที่ยงครึ่ง บ่ายโมง ครูก็หิวแล้วกระสับกระส่ายแล้ว พอหิวกระสับกระส่าย เศรษฐีก็ยกข้าวกล้อง กับน้ำฟักต้มมา ครูนั้นก็พุ้ยใหญ่เลย เขี่ย ๆๆ พุ้ย ๆๆ กินเพลิน หิว ๆ แล้วกินใหญ่ เศรษฐีก็ไม่ว่าอะไร พอเห็นครูกินพอจะอิ่มแล้วก็เลยยกเกาเหลาอย่างดี เป็ดย่าง ไก่ย่าง หมูหั่นมากมายวางบนโต๊ะ ครูลูบท้อง แย่แล้วกู ฟาดข้าวกล้องไปเสียจนเต็มถังแล้ว ไอ้ของดี ๆ มาทีหลังกินไม่ได้ เศรษฐีว่า อ้าว ! เอาหน่อย ๆ ไม่ไหวแล้วอิ่มแล้ว เศรษฐีก็เลยเทศน์ให้ฟังว่าอาหารนี่มันดีตรงเราหิว ถ้าไม่หิวแล้วให้วิเศษอย่างไรก็กินไม่ได้ เลยครูก็สำนึกตัวละอายใจ ตั้งแต่นั้นมาเขาให้กินอะไรกินได้ทั้งนั้น พอใจแล้วทีนี้พอใจ ๆ ก็สบาย ไม่ว่าอะไรถ้าเราพอใจก็สบาย
เรื่องงานการถ้าเราไม่พอใจ คุณยายบอก หลานช่วยสนเข็มให้ยายหน่อย หลานกำลังจะไปเที่ยวนัดเพื่อนไว้แล้ว ก็เป็นทุกข์ที่ยายให้สนเข็ม สนผิดสนถูกไม่เข้าสักที ก็นั่งเป็นทุกข์อยู่นั่นแหละเพราะไม่พอใจ แต่ถ้าพอใจแล้วใจสงบสบาย สนเข็มเข้าง่ายเรียบร้อยส่งให้คุณยายแล้วก็วิ่งไปเล่นได้ แต่พอยายเรียกว่า มาสนเข็มให้ยายหน่อย ใจมันไม่พอ ไม่พอใจ พอไม่พอใจก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเลยสนผิดสนถูกไปอย่างนั้นเองนี่ความทุกข์มันเกิด เพราะฉะนั้นเราจะต้องคิดพอใจ งานอะไรเกิดขึ้นรู้พอใจ งานหนักก็พอใจ งานเบาก็พอใจ งานไกลก็พอใจ งานใกล้ก็พอใจ ไม่ไปคิดว่าหนัก ว่าใกล้ว่าไกล ว่าอะไรต่ออะไร เพราะเราเกิดมาเพื่องาน เราอยู่เพื่องาน ๆ คือชีวิต ๆ คืองานบันดาลสุข เราคิดอย่างนั้น พอใจมันก็ไม่ชีเกียจ คนพอใจไม่ขี้เกียจ
สมมติว่าเราให้คนขุดดินกลางแจ้ง มันขุดขึ้นก้อนหนึ่งพอใจ ขุดอีกก้อนพอใจ ขุดพอใจ ๆๆ สิบเอ็ดโมงแล้วก็ยังขุด เหงื่อไหลไคลย้อยอยู่เพราะเพลินอยู่กับการขุดดิน แต่พอบอกว่าขุดดิน ร้องอี๋ ! แหม ! ให้กูขุดดินอีกแล้ว กูไม่ชอบงานขุดดินไปทำกลางแจ้ง มันเหน็ดเหนื่อยเหงื่อไหลไคลย้อย แล้วคนนั้นจะทำอย่างไร มันก็ทิ้งงาน ไม่ทำเพราะไม่พอใจ แต่ถ้าพอใจแล้วอะไรก็ได้
ทีนี้คนเราต้องสร้างความพอใจ คือสันโดษตัวนี้แหละ ให้พอใจขึ้นในงานที่เราจะทำ พอเราพอใจแล้วก็ใจสบาย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย สันโดษไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ใช่เรื่องล้าหลัง แต่เป็นเรื่องก้าวหน้า เพราะถ้าคนใดพอใจในงานที่ตนทำก็ก้าวหน้า พอใจในเรื่องใดก็ก้าวหน้าทั้งนั้น เด็ก ๆ พอใจในการเรียนก็ก้าวหน้า แต่ว่าถ้าขี้เกียจเรียนก็ไม่ก้าวหน้า โตขึ้นเขาให้ทำอะไรก็พอใจ ก็สบายใจ เหมือนโยมมานั่งฟังธรรมนี่ ถ้าฟังด้วยความพอใจ ๑ ชั่วโมงมันน้อยไป แต่ถ้าไม่พอใจ ๑๐ นาทีก็แหม ! ว่านานจริงเมื่อไรจะหยุดสักที ความไม่พอใจเป็นทุกข์อย่างนั้นแต่ถ้าพอใจแล้วอะไรก็ได้ ไม่ลำบาก นี่แหละ ! สันโดษ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เป็นไปเพื่อความไม่พอใจ ไม่ใช่หลักการของพระพุทธเจ้า หลักการของพระพุทธเจ้าต้องเป็นไปเพื่อความพอใจ เรียกว่า เป็นไปเพื่อความสันโดษยินดี ตามมีตามได้ แล้วข้อต่อไปว่า ไม่ยินดีด้วยความคลุกคลีกันเป็นหมู่เป็นคณะ แล้วค่อยว่าต่อหมดเวลาเสียแล้ว ว่าเพลินไป พอพูดด้วยความพอใจมันเพลินไปจนเวลาหมดแล้วจึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน