แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอ่อ ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
อ่า วันนี้อากาศแจ่มใส ผิดกับเมื่อวันอาทิตย์ก่อน ซึ่งอากาศครึ้ม แล้วก็ฝนตก ทำให้เกิดความขลุกขลักในการบำเพ็ญจิตของญาติโยมทั้งหลาย มันก็มีบ้าง เอ่อ เป็นธรรมดา พ้นจากนั้นแล้วก็สว่างไสวต่อไป ต่อไปนี้ก็คงจะโปร่งเรื่อย ๆ ไป เพราะว่าหน้าฝนมันกำลังจะผ่านไป แล้วก็หนาวต่อไป พ้นหนาวก็ร้อน ร้อนแล้วก็ฝน
หมุนวนกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เป็นเรื่องของธรรมชาติที่เป็นไปในรูปอย่างนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เราเข้าใจหลักธรรมะได้อย่างถูกต้อง ทำให้มองเห็นความจริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ว่ามีสภาพไม่...เอ่อ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรมั่นคง ยั่งยืนสักอย่างเดียว
เมื่อเราเห็นสิ่งภายนอกว่าเป็นอย่างไรแล้ว ก็เอามาเปรียบกับตัวของเราเอง ว่าตัวเรา ร่างกายของเรา จิตใจของเรา มันก็มีสภาพเช่นเดียวกัน บางครั้งก็แคล่วคล่องว่องไว บางครั้งก็ขัดข้อง ปวดยอกตรงนั้น ตรงนี้ จะลุก จะนั่ง ก็ไม่สะดวกสบาย บางคราวก็กินได้ เอร็ดอร่อย แต่บางคราวก็กินไม่ค่อยได้
เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิต ในร่างกายทั่ว ๆ ไป ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นอะไร มีฐานะอย่างไร สภาพเหล่านี้ต้องมี ต้องเป็นด้วยกันทั้งนั้น จึงเรียกว่า มันเป็นกฎของธรรมชาติ ที่เราจะต้องได้ประสบพบเห็น เราจะไม่เป็นอยู่อย่างเดียวตลอดเวลา อาจจะเปลี่ยนไปเป็นอะไรก็ได้ แล้วมันก็ไม่เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาอีกอ่ะ มันก็เปลี่ยนกลับไปสู่ภาวะอื่นอีก เช่น เราสบาย ๆ ก็เกิด อาจเกิดเจ็บไข้ เจ็บไข้แล้ว เราก็หายเจ็บ หายไข้ สบายต่อไป ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างนี้ ไม่มีอะไรแน่นอน หมุนเวียนกันอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เราก็ควรจะใช้ปัญญาพิจารณา ว่าสิ่งนี้มันเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของชีวิต ที่เรามาประสบกันเข้า แล้วสิ่งนี้มันก็จะหายไป ด้วยวิธีการรักษาบ้าง หายไปโดยธรรมชาติของมันเองบ้าง แล้วสิ่งอื่นก็เกิดขึ้นมาชดเชยกันต่อไป มีอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่ควรจะไปเป็นทุกข์กับมัน แต่ควรจะมองด้วยปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ สภาพจิตของเราก็จะดีขึ้น เพราะเราเข้าใจมองในรูปอย่างนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้ใช้เป็นหลักในการที่จะเอามาพิจารณาแก้ไขปัญหาชีวิตของเราเรื่อย ๆ ไป เพราะสิ่งทั้งหลายมันเป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนจิต สะกิดใจแก่เราทั้งนั้น ให้โยมเข้าใจไว้อย่างนี้เป็นเบื้องต้น
เมื่อวันก่อนนี้ได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อตามหลักการในทางพระพุทธศาสนา คือไม่ให้เชื่อโดยอาการต่างๆ ๑๐ อย่าง ดังปรากฏอยู่ในกาลามสูตร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่พวกกาลามะชน เพื่อให้หลักสำหรับที่จะน้อมใจเชื่อในเรื่องอะไรๆ ความเชื่อในหลักพระพุทธศาสนาของเรานั้น ที่สำคัญก็คือว่า ให้เชื่อสิ่งที่เราได้ประจักษ์ด้วยใจของเราเอง ประจักษ์ด้วยใจของเราเองแล้ว จึงน้อมใจเชื่อว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ
ถ้าเพียงแต่เขาว่า เขาเล่าลือ ได้ฟังกันมา ปรากฏในตำราครูบาอาจารย์คนนี้พอจะเชื่อได้ อะไรต่าง ๆ นั้น ยังไม่เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง ยังจะถูกหลอก ถูกต้ม กันเรื่อยไป เพราะเรายังไม่เชื่อแท้ลงไปอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น หลักความเชื่อในทางพระพุทธศาสนานี่ จึงต้องมีปัญญาเข้ามากำกับไว้ด้วย ไม่ให้เชื่องมงาย แต่ให้เชื่อด้วยปัญญา เชื่อด้วยปัญญาก็ต้องคิดตรองอย่างรอบคอบ จนเห็นประจักษ์แก่ใจของเราเอง แล้วจึงเชื่อ
เช่น เราเห็นใครทำอะไรให้เราดู แล้วเราก็เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น อันนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าการแสดงกลนี่ทำได้บ่อย ๆ นักมายกลนี่เขาทำอะไรได้แปลก ๆ ซึ่งเราจับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน แล้วเรานึกว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น หรือเป็นเรื่องที่เป็นขึ้นมาอย่างนั้น มันก็ไม่ได้ เพราะในสมัยนี้นักมายากลก็มีมากเหมือนกัน เขาอาจจะทำอะไร ซึ่งเป็นเรื่องคุ้นน่ะให้เราดูก็ได้ ถ้าเราไปดูเข้าแล้ว เราก็เชื่อตามนั้น เชื่อว่าเก่งอย่างนั้น เก่งอย่างนี้ มันก็ไม่ถูกต้อง ยังอยู่ในประเภทที่ไม่ใช่เชื่อแท้ ไม่ใช่ใช้ปัญญา ไม่ได้เอามาคิด มาตรอง อย่างรอบคอบ ก็ถูกเขาหลอก เขาต้ม ให้ไปต้องเสียเงินเสียทอง ในเรื่องความเชื่ออย่างนั้น ก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย เช่น เรื่องบางเรื่องที่เราได้พบได้เห็น เอ่อ เป็นนักบวชก็มี เป็นชาวบ้านก็มี เขาทำอะไรได้แปลก ๆ เราก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่องนั้น
เมื่อเขาทำได้ ก็นึกว่าเขาเก่ง แล้วบางทีก็ให้เกียรติถึงกับว่า คนนั้นเป็นพระอรหันต์ไป หรือว่าเป็นที่ ๒ รองแต่พระพุทธเจ้าไป อย่างนี้มันก็มากไปหน่อย เพราะว่าสิ่งที่แสดงออกนั้น อาจจะเป็นเพียงเรื่องมายากลเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร เรื่องปาฏิหาริย์ประเภทต่าง ๆ นี้ ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ยกย่องอะไรนักหนา ปาฏิหาริย์นั้นมันมีอยู่ ๓ แบบ เรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ ทำอะไรแปลก ๆ ให้คนดูได้ อีกเรื่องหนึ่งก็เรียกว่า อาเทศนาปาฏิหาริย์ หมายความว่าทายใจคนได้ ใครนั่งคิดอะไร เขาก็ทายได้ว่ากำลังคิดอะไร
อีกอันหนึ่ง สุดท้าย เรียกว่า อนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ หมายความว่าสอนคนเก่ง อธิบายธรรมะ ชี้แจงเหตุผล ให้คนเกิดความรู้ ความเข้าใจ ชัดเจน แจ่มแจ้ง อันนั้นเรียกว่า อนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ ในปาฏิหาริย์ ๓ เรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามอิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้ ทรงห้ามอาเทศนาปาฏิหาริย์ คือจับใจคนได้ บอกว่าอย่าไปทำเข้า ถ้าทำเข้ามันจะไปพ้องกับพวกเล่นกลตามข้าง ๆ ถนน เพราะนักแสดงกลตามข้างถนนมีมากมาย แสดงอะไรได้ต่าง ๆ แปลก ๆ
ถ้าพระไปทำอย่างนั้นเข้าบ้าง ใคร ๆ ก็ว่าอ้าว พระเล่นปาหี่ คือแสดงกลตามข้างถนน เหมือนพวกขายยา อ่า กอเอี๊ยะ แล้วก็ตีระฆังผ่าง ๆๆๆ อะไรว่าไปตามเรื่อง ผลสุดท้ายก็ขายยา หรือจับงูมา แล้วให้งูกัดเลือดไหล แล้วก็กินยา ไม่ตาย ความจริงงูนั้นมันไม่มีพิษ เพราะว่าพิษงูนี่เขารีดออกได้ พอรีดออกแล้ว อีกหลายวันมันถึงจะเกิดขึ้นมา เอามากัดก็ไม่เป็นไร ชาวบ้านไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็นึกว่า แหม อาแป๊ะเล่นกลคนนี้เก่ง งูกัดก็ไม่ตาย แล้วมันหลอกขายยาให้เราไปตาม ๆ กัน คนเขาซื้อยาไปไว้ พองูกัดจริง ใช้ยานั้นก็เรียบร้อย หามไปวัดกันเลย เอ่อ อันนี้เป็นตัวอย่าง เขาแสดงให้ดูอย่างนั้น เราจะไปเชื่อมันก็ไม่ได้ แทงลิ้น กัดลิ้น อะไรก็ตามใจ เราจะไปเชื่อว่าวิเศษวิโส อะไรก็ไม่ได้ เอ่อ เราดูไปเพลิน ๆ ได้ แต่อย่าไปเชื่อ อย่าไปยึดถือว่า มันจริงอย่างนั้น มันจริงอย่างนี้ อย่างนั้นมันก็ไม่ได้ พระท่านไม่ให้กระทำ
สมัยก่อนพระโมคคัลลานะท่านมีอำนาจจิตสูง สามารถแสดงฤทธิ์อะไรได้ แต่พระองค์บอกไม่ให้กระทำ เป็นเรื่องเสียหายแก่การพระศาสนา อย่าไปเที่ยวแสดงเข้า เอ่อ ก็ไม่ได้แสดง แต่ว่าให้สอนธรรมะ ให้คนเกิดความรู้ ความเข้าใจ หาวิธีการสอน กลเม็ดการสอน การอธิบาย ให้คนได้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง ชักจูงคนให้พอใจในการปฏิบัติธรรมะ เพื่อทำตนให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน เป็นเรื่องที่พระองค์ต้องการอย่างนั้น อย่างอื่นไม่ต้องการ
เพราะฉะนั้น เราไปเห็นใครทำอะไรแปลก ๆ อย่าไปเที่ยวเชื่อเข้า มีพระบางองค์เสกน้ำมนต์ให้เดือดปุด ๆ ขึ้นมาก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อว่าองค์นี้เก่งอะไรนัก ก็เก่งขนาดเคล็ดเล่นกลอ่ะ ไม่ได้เก่งอะไรขนาดไหน เรียกว่าเก่งเหมือนคนเล่นกลข้างถนน ไม่ได้เก่งอย่างพระอะไร เอ่อ เราเข้าใจว่าอย่างนั้น ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของแท้ ไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไร อย่าไปเที่ยวหลงใหลเชื่อเข้า เพราะมันไม่ใช่ตัวแท้ของเรื่องพระศาสนา ชาวพุทธต้องฉลาด ต้องมีเหตุผล อย่าเป็นคนเชื่ออะไรง่าย ๆ เชื่อ (ง่าย) ดายเกินไป อันจะทำให้เราเสียหายในภายหลังได้ อ่า อันนี้ขอฝากไว้ให้ญาติโยมได้พิจารณา
ทีนี้อีกเรื่องหนึ่ง อยากจะพูดต่อ จากเรื่องที่ได้พูดไว้เมื่อวันก่อน คือว่า ธรรมะวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ล่วงเลยมานาน ตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว ๒๕๒๘ ปีแล้วปีนี้อ่ะ อันนี้ สิ่งที่ล่วงมานานนี่ ก็ย่อมจะมีอะไรเข้าไปแทรก ไปปนอยู่ในคำสอนบ้าง ธรรมดา มีเรื่องอะไรเยอะที่ปนเข้าไปอยู่ หรือว่าเกิดขึ้นในตอนหลัง เมื่อมีการแข่งขันกันระหว่างศาสนาอะไรต่าง ๆ ก็มีอะไรเกิดขึ้น อ่า
เขียนเป็นในรูปภาษาบาลี แล้วอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัส ก็มีเหมือนกัน ท่านเหล่านี้ไม่ได้มีจิตเป็นอกุศลอะไร ที่เขียนเรื่องเช่นนั้นขึ้น ไม่เรียกว่าเป็นอกุศล หรือไม่เรียกว่าเป็นการทำบาป ทำกรรมอะไร แต่มีเจตนาที่จะจูงคน ที่มีความ เอ่อ เชื่ออย่างนั้น มีความคิดอย่างนั้น ให้หันเข้ามาหาพระศาสนา ให้เห็นว่าพระผู้มีพระภาคนั้น ทรงอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น เก่งกว่าคนเหล่านั้น
อ่า เช่น เรื่องทรมานยักษ์บ้าง ทรมานเทวดาบ้าง ทรมานพวกเปรตอะไรบ้าง ต่าง ๆ นานา ก็เป็นเรื่องยกย่องพระพุทธเจ้านั่นแหละ แต่ว่าในสมัยนั้นคนมันก็เชื่อกันอย่างนั้น เมื่อมีเรื่องอย่างนั้น เขาก็พอใจ เพราะเขาชอบในทางอย่างนั้น ก็เป็นอุบายอันหนึ่ง ที่จะทำให้คนเข้าหาธรรมะ แล้วก็ได้จูงต่อไป แต่ว่าโดยมากนี่ มักจะจูงมาให้หยุดอยู่ตรงนั้นน่ะ ไม่ได้จูงต่อไป เพียงแต่ให้เลื่อมใส แล้วก็ไม่ให้ศึกษา เพื่อเกิดปัญญาก้าวหน้าต่อไป มักจะหยุดเพียงเท่านั้น อันนี้ไม่จะ...ไม่ถูกต้อง เรียกว่าไม่เจริญงอกงาม ในธรรมะวินัยที่ถูกต้อง เพียงแต่มีความเลื่อมใส ตามทัศนะของตัว ตัวมีความคิดความเห็นอย่างนั้น แล้วก็เลื่อมใสไปอย่างนั้น มันเข้าแบบที่ว่า ตรงกับความคิด ความเห็นของเรา แล้วเราก็เชื่อ
พอเชื่อแล้ว มันก็เท่านั้น ไม่ก้าวหน้าต่อไป อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง เมื่อเราจูงคนเข้ามาหาแนวทางแล้ว อย่ามาหยุดอยู่เพียงประตู แต่ต้องพาเดินต่อไป เดินต่อไปจนถึงเนื้อแท้ของพระศาสนา ให้คนนั้นได้เข้าถึงเนื้อแท้ จิตใจจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราเพียงไปหยุดอยู่ตรงเพียงประตู ไม่ได้เข้าลึกเข้าไปในธรรมะที่ละเอียดอ่อน อาจเปลี่ยนก็ได้ ทีหลังมีใครมาจูงในเรื่องอื่น ก็อาจจะเปลี่ยนใจไปก็ได้ ไม่นับถือเสียก็ได้ เอ่อ อันนี้มันก็เสียหาย เพราะฉะนั้น เมื่อเราจูงมาได้แล้ว ก็ต้องจูงต่อไป ต้องสอนให้คลายจากความเชื่อแบบนั้น ให้มีความเชื่อในรูปใหม่ ให้ทำอะไรถูกต้องขึ้น จึงจะเป็นการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในทางพระพุทธศาสนา
คำสอนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในคัมภีร์นั้น มีมากมาย ถ้าเราอ่านโดยไม่วินิจฉัย ไม่ได้ศึกษาให้ละเอียด จากสิ่งแวดล้อม จากเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ เราก็เชื่อไปในรูปที่เรียกว่า ค่อนข้างจะเชื่อง่ายไป แต่ถ้าได้ศึกษาให้ละเอียด ศึกษาสิ่งแวดล้อม สภาพความเป็นอยู่ของคนในยุคนั้น ๆ ก็จะเห็นว่า มันเป็นไปตามยุคตามสมัย ที่เขาแต่งขึ้น เพื่อให้คนได้... ได้เห็นได้คิดอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่นว่า ในคัมภีร์รุ่นหลังนี่ แต่งเรื่อง เกี่ยวกับเอ่อ ประวัติของคนสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เช่นว่า อนาถบิณฑิกะเศรษฐีนี่ สร้างวิหารถวายพระพุทธเจ้า สิ้นเงินไปหลายสิบโกฎิ หลายสิบโกฏินี่ มันโกฏิหนึ่ง มันก็ตั้ง ๑๐ ล้าน หลายสิบโกฏิ มันก็หลายร้อยล้าน
หรือนางวิสาขาสร้างบุพพารามวิหารนี่ สิ้นเงินไป ๒๗ โกฎิ เอ่อ ซึ่งมันมากมายเหลือเกิน อันนี้ หนังสือประเภทนี้เขาเขียนในประเทศลังกา ในยุคที่สร้างของใหญ่ ๆ เพราะเมื่อพุทธศาสนาเข้ามาสู่ลังกาแล้ว พระราชาเลื่อมใส ประชาชนเลื่อมใส ก็สร้างของใหญ่ ๆ เช่น สร้างเจดีย์ใหญ่ ๆ สร้างวิหารใหญ่ ๆ อะไรใหญ่ ๆ ตานี้คนเขียนหนังสือในยุคนั้น อ่า คือพระเถระนั่นแหละ ท่านจะเขียนในยุคก่อนมันเล็กได้อย่างไร เพราะสมัยนั้นมันใหญ่แล้ว แล้วจะเขียนให้เล็กได้อย่างไร เมื่อคนธรรมดาอยู่บ้านใหญ่โต จะเขียนให้พระราชาอยู่กระต๊อบได้อย่างไร ถ้าพระราชาอยู่กระต๊อบ คนธรรมดาอยู่บ้านใหญ่โต พระราชาก็เล็กไปเท่านั้นเอง มันไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเขียนวังพระราชาให้ยิ่งใหญ่กว่าบ้านของชาวบ้าน เป็นปราสาทใหญ่โตมโหฬาร นี่มันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น เมื่อการก่อสร้างในลังกานี่ ใหญ่โตทั่วไป เป็นอิฐ เป็นหินกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องที่เขียนไว้ในคัมภีร์ธรรมบทนี่ คัมภีร์ธรรมบทเกิดขึ้นในประเทศลังกา พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านมาลังกา พระพุทธโฆษาจารย์นี่เป็นชาวอินเดีย ชาวพิหารอ่ะ บ้านเกิดท่านก็อยู่แถวเมืองคยานั่นแหละ ทีหลังก็มาบวชในพุทธศาสนา เรียนบาลีช่ำชองมาก ศึกษากว้างขวาง แล้วท่านก็มาเขียนคัมภีร์วิสุทธิมรรคบ้าง เขียนคัมภีร์อื่นบ้างมากมาย อ่ะ ท่านเขียนอธิบายไว้เยอะแยะ แต่ว่าท่านเขียนก็เอาเรื่องของลังกา ความเป็นอยู่ในสมัยนั้นไปใส่ไว้ ก็ให้คนลังกาอ่าน
เพราะฉะนั้น เมื่อจะเขียนเรื่องสร้างวิหารถวายพระพุทธเจ้า มันก็ต้องใหญ่โตมโหฬาร สิ้นเงิน ๒๗ โกฎิ อ่า ก็ประมาณว่า ๒๗๐ ล้าน เอ่อ มันใหญ่ขนาดไหน เราลองคิดดู บ้านเมืองนี่ ถ้าสร้างใหญ่ขนาดไหน มันไม่ใช่น้อย อันนี้มันไม่ถูกต้องหรอก ความจริงอ่ะ แต่ว่าถ้าไม่คิดจะเชื่อไปตามนั้น แต่ว่าถ้าคิด ...
พระพุทธเจ้านี่ท่านอยู่ในกุฎิเล็ก ๆ ไม่ใหญ่โตอะไร แล้วก็ไม่ชอบให้ใหญ่ด้วย แล้วท่านไม่ได้อยู่นานอะไร อยู่เฉพาะในพรรษา ออกพรรษาแล้วท่านก็เดินทางต่อไป จะสร้างให้ใหญ่โตมโหฬาร นั้นเห็นจะไม่ได้ อ่า เหมือนวิหารที่พระพุทธองค์ประทับที่เขาคิชกูฎ นี่พอสมน้ำสมเนื้อ คือมันเล็กนิดเดียวอ่ะ ถ้าพระองค์ประทับ บรรทมลงไป ก็ศีรษะจรดฝาผนังด้านโน้น เท้าจรดประตูเลย มันก็เล็กอ่ะ มันไม่ใหญ่ เอ่อ นั่นก็พอสมน้ำสมเนื้อ แต่ถ้าสร้างใหญ่โตมากมายนั้น เป็นเรื่องของสมัยหลัง ซึ่งสมัยที่มีการก่อสร้างด้วยอิฐ ด้วยหินแล้ว ยุคพระพุทธเจ้านี่ ไม่ได้มีการสร้างด้วยอิฐ ด้วยหินอย่างนั้น สร้างด้วยไม้ เพราะว่าไม้หาง่าย มุงบังด้วยใบไม้ เอ่อ ก็เรียกว่า ปันนะกุฎิ ปันนะศาลา ศาลามุงบังด้วยใบไม้
ถ้าเป็นเมืองเหนือ ก็เรียกว่ามุงใบตอง อ่ะ ใบตองตึงอ่ะ เอามามุงแล้ว มันอยู่ได้ตั้ง ๒-๓ ปีนะ ใบตองอ่ะ ไม่ใช่ของง่าย ๆ มุงแล้วแข็งแรง เราเอาก้นบุหรี่ทิ้งลงบนหลังคาใบตองตึง นี่มันไม่ไหม้หรอก มันไม่ไวไฟ ไอ้ใบไม้อย่างนี้ มันก็อยู่ได้ นั่นแหละ แบบของพระพุทธเจ้า ประทับคงแบบอย่างนั้น ครั้งพุทธกาลคงจะเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเขียนให้อยู่ในเรือนเล็ก ๆ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ดูไม่ขึงขัง ไม่ขลัง ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นต้องอยู่วิหารใหญ่ อันนี้มันเกิดทีหลัง เกิดขึ้นในสมัยที่สร้างของใหญ่ ๆ สร้างเจดีย์ใหญ่ ๆ ในประเทศลังกา
เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานใหม่ ๆ แม้คนเอาพระบรมธาตุของพระองค์ คือกระดูกนี่อ่ะ ก็ไม่ได้สร้างเจดีย์ใหญ่อะไร พระองค์บอกว่าเอาไปใส่ไว้ เอ่อ ตามสี่แยก คนไปคนมาจะได้ไหว้ เขาก็ไปวางไว้ เอาเดินพูน ๆ ๆๆ ขึ้น แล้วก็ทำฉัตรปักกั้นไว้ข้างบน ทำฉัตรปักไว้เป็นเครื่องหมาย ถ้าหน้าฝน ก็ฝนมันชะดินไปบ้าง พอหน้าแล้งก็เอาดินมาพูนเข้าใหม่ เอ่อ เป็นกอง ๆ คล้ายกับกองเจดีย์ทรายที่เราทำกันในวันสงกรานต์ตามงานวัด คนไปคนมาก็ได้ไหว้ นั่นสมัยนั้น
ครั้นมาสมัยพระเจ้าอโศก ก็เริ่มใช้อิฐ ใช้หิน เริ่มมีศิลาจารึก อ่า ก็สร้างของใหญ่ ๆ แข็งแรงขึ้น แทนที่จะเป็นเนินดินพูนขึ้นมา กลายเป็นก่ออิฐขึ้นมา แล้วก็ทำวิจิตรพิสดารขึ้น มีการแกะสลัก มีลวดมีลาย ไอ้นี่เกิดขึ้นสมัยต่อมา หลังจากพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ตั้งสองสามร้อยปี หรือบางเรื่อง บางอย่างก็เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานตั้ง ๗๐๐ ปีก็มี เอ่อ มันเป็นอย่างนั้น เรามองอะไรก็ต้องศึกษา สถานการณ์สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ในสังคมในสมัยนั้น ว่าเขาทำกันอย่างไร ก็จะได้เห็นว่า เป็นการถูกต้องตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ ปูชนียสถานในประเทศอินเดีย ที่เราเห็นคนกันไปไหว้กันทุกปี ๆ นั้น ก็เป็นสิ่งที่ก่อสร้างขึ้นในตอนหลัง ๆ ไม่ใช่เป็นอยู่อย่างนั้น อย่างครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าอยู่
เช่น เจดีย์พุทธคยานี่ก็สร้างขึ้นทีหลัง เอ่อ ที่ไหน ๆ ก็สร้างกันขึ้นในยุคหลังทั้งนั้น ทำไว้เป็นอนุสรณ์ เป็นเครื่องเตือนใจ คนไปไหว้ ก็ต้องไปด้วยปัญญา ไม่ใช่ไปด้วยความยึดถืออะไรบางสิ่งบางอย่างมากเกินไป ไปแล้วก็ดูภูมิประเทศ ดูสิ่งแวดล้อม อ่า ดูขนบธรรมเนียมประเพณี ของประชาชนในท้องถิ่นนั้น เพื่อเอามาเป็นสิ่งประกอบการศึกษา อ่า ประวัติศาสตร์ทางพุทธศาสนา หรือธรรมะของพุทธศาสนา อ่า อย่างนั้นก็เรียกว่าไปด้วยปัญญา แต่ว่าโดยมากที่ไป ก็ไปด้วยความไม่ได้คิดอะไร พอไปถึงต้นโพธิ์ ก็เก็บใบโพธิ์แล้ว ใบเหี่ยวแห้งหล่นลงมาก็เก็บ อ่า คนมันรู้ พวกทิเบตที่อยู่ประจำรู้ว่าใครไปอยากได้ใบโพธิ์ เขาก็เก็บไปผึ่งแดดไว้ให้แห้ง ๆ แล้วก็เอามาขาย ใช้น้ำกรดสกัดเอาไอ้เยื่อออก ให้เหลือแต่โครงร่างของใบโพธิ์ มัดเป็นห่อ ๆ ห่อละ ๑ เหรียญ เอ่อ ๑ รูปี ๑๐ รูปี เอ่อ ซื้อกันมา เป็นเครื่องระลึก แจกลูก แจกหลาน ว่าได้ใบโพธิ์มาจากพุทธคยา หรือได้ใบโพธิ์สดมาบ้าง เอ่อ เอามา เก็บเอามา ความจริงเขาไม่ให้เก็บแต่ก็ไปเก็บ แอบเอามาหน่อย ไปลักเอา ว่างั้นเถอะ ลักเอามาเป็นที่ระลึก หน่อย
เอ่อ บางคนก็ได้ใบโพธิ์มาไม่พอ ต้องไปขุดดินเขา เพราะฉะนั้น ทุกคนไปขุดดิน มันก็ลึกลงไปเท่านั้นเอง เขาก็ห้ามขุดเหมือนกัน แต่ก็แอบขุดเอา บางคนเห็นเศษอิฐเก่า ๆ ก็เอามาก้อนหนึ่ง เอ่อ เอามาเป็นที่ระลึก ให้มันหนักกระเป๋าหน่อย อย่างนี้เขาเรียกว่าไปด้วยไม่ใช้ปัญญา ไม่พิจารณาว่าอะไรควรเอา อะไรไม่ควรเอา ก็เกิดเป็นปัญหาแก่คนทั่วไป
ทีนี้คนที่นำไปก็ไม่พยายามอธิบายในแง่ธรรมะ ก็ให้ไปอย่างนั้นแหละดี ทีหลังจะได้ไปอีก ถ้าไป ๗ ครั้งแล้วจะไม่ตกนรก ว่างั้น ใครไม่ตก คนนำมันไม่ตกนรก ได้เงินบ่อย ๆ มันก็สบายใจ เรื่องเป็นอย่างนั้น
เอ่อ คนก็เลยไปกัน ไปไหว้ ไปนมัสการ อาตมาถ้าไปด้วย ก็คนนำไม่ค่อยขอบเท่าไหร่ เพราะว่าไปเทศน์ให้คนไม่หลง ไม่งมงาย ให้เข้าใจเรื่อง เทศน์ใต้ต้นโพธิ์ก็ว่ากันให้มันถูกต้อง เทศน์ที่ไหนก็ว่ากันให้มันถูกต้องหน่อย เอ่อ คนจะได้รู้ ได้เข้าใจ บางคนก็ชอบใจ คนที่เข้าถึงธรรมะก็ชอบใจ คนชอบเปลือกก็ไม่ค่อยชอบใจ คือเอาเปลือกกลับบ้าน อ่า อย่างนั้นมันก็มี เพราะฉะนั้น ในการศึกษาเรื่องธรรม พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราต้องมีหลัก เอ่อ สำหรับตัดสิน หลักตัดสินพระธรรมวินัย อ่า มีปรากฏอยู่ในหนังสือ ในพระสูตรอ่ะ แต่ว่านี่เอามาจากหนังสือนวโกวาท เอ่อ เอามาไว้ ว่าอย่างไรบ้าง
คือให้พิจารณาตามหลัก ๘ อย่างนี้ ว่าอะไรเป็นพุทธศาสนา อะไรไม่ใช่พุทธศาสนา หรือว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อะไรมิใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เอ่อ จะว่าให้โยมฟังทั้ง ๘ ข้อก่อน แล้วจะได้อธิบายต่อไป
เอ่อ ลักษณะปัจฉิมธรรมวินัย ๘ ประการ ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ เอ่อ นี่ข้อหนึ่ง ว่าธรรมะ หรือการปฏิบัติอันใด เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ เป็นไปเพื่อความสะสมกองกิเลส เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษยินดีด้วยของมีอยู่ คือมีนั่นแล้ว อยากได้นี่ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีเป็นหมู่เป็นคณะ เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก เอ่อ ถ้าเข้าลักษณะนี้ ไม่ใช่พุทธศาสนา ๆ
แต่ถ้าธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อควา ม... เพื่อคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อปราศจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความไม่สะสมกองกิเลส เป็นไปเพื่อความอยากน้อย เป็นไปเพื่อความสันโดษ ยินดีในของที่มีอยู่ เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ เป็นไปเพื่อความเพียร เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ให้รู้ว่านั้นแหละเป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสอน ที่เรียกในภาษาบาลี เบญจคุปศาสตร์ คือเป็นคำสอนของพระศาสดาที่แท้จริง เอ่อ นี่หลักสำหรับตัดสิน ให้เราได้พิจารณา
อ่า พูดอธิบายให้เข้าใจว่า ขั้นแรกว่า ธรรม ธรรมในทีนี้ หมายถึงว่าหลักคำสอน หมายถึงการปฏิบัติ ที่เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ ไม่ใช่พุทธศาสนาอ่า
อะไรบ้างที่ว่าสอนให้เป็นไปเพื่อความกำหนัด ร้อนใจ เช่นว่า โยมจะไปทำบุญกับพระสงฆ์องค์เจ้าอะไรก็ตาม พระมักจะบอกโยมว่า จบซะ ๆ เอ่อ ให้จบเสียก่อน จบหมายความว่า ยกขึ้นทูนหัว อธิษฐานเอา จะเอาอะไรก็เอาซะ ว่าไป ๆ เอ่อ โยมก็ยกขึ้นทูนหัว เบา ๆ อยู่ในปากในใจแล้ว อธิษฐาน จะเอาอะไรต่ออะไรก็ไม่รู้อ่ะ เอามากเสียด้วยนะ เอามาก แม้ว่าจะทำบุญเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะเอามากมายอ่ะ ทำบุญสัก ๑๐๐ บาทนี่ โอ๊ย ไอ้เราจะจ้องรับประเคนอยู่นั่นแหละ บางทีจ้องจะรับประเคนจนเหนื่อย ก็ยังไม่เสร็จซะที เพราะยังธิษ... ยังเอาไม่หมด (หัวเราะ)
นี่เขาเรียกว่า เป็นไปเพื่อความกำหนัด ย้อมใจ หรือว่าทำบุญแล้ว อยากจะไปเกิดสวรรค์น่ะ อยากจะเกิดสวรรค์ เกิดในวิมาน อ่า เพราะว่าพระท่านสอนว่า สวรรค์นั้นมีวิมาน อ่า สมัยก่อนเขาเทศน์กันบ่อย ๆ สวรรค์นี่อ่ะ วิมานประดับด้วยแก้ว ประดับด้วยทอง ประดับด้วยเงิน ประด้วยด้วยรัตนะ ๗ ประการ แวว ๆ วาว ๆ ไปหมด วิมานนี่อ่ะ ถ้ากลางวันนะ เทวดาต้องเดินหลับตา ทำไมต้องเดินหลับตา แสบตาสิโยม แสงะสะท้อน ๆ พระอาทิตย์ส่องถึง วิมานก็แสงแพรวพราว ๆ
มันจะเป็นสุขอย่างไร ถ้าเราต้องเดินหลับตาอย่างนั้น มันจะเป็นสุขอย่างไร ไม่ต้องอะไรอ่ะ สมมุติว่า อาตมาเทศน์หันหน้าไปนี้ แล้วก็ใครเอารถยนต์มาจอดไว้ แสงพระอาทิตย์ส่อง ส่องแล้ว เอ่อ แสงสะท้อน ก็ส่องมาถึงตา ก็พูดลำบากแล้ว มันแสบตาต้องหลับตา หรือว่าก้มหน้าพูด เงยใม่ได้ แสบตาทุกที
วิมานมันก็รูปอย่างนั้น รูปนั้น มานั่งคิดดูว่า วิมานเทวดานี่ คอนโดมิเนียมนี่ เหมือนคอนโดมิเนียม รังนกพิราบ รังนกพิราบ แต่มันใหญ่ โยมเคยเห็นไหม ไอ้ตึกคอนโดมิเนียมสูง ๆ นั่นและวิมานเทวดา คือสูง ๑๐ ชั้น ๒๐ ชั้น เมืองไทยยังไม่มาก ถ้าอเมริกานี่ วิมาน ๕๐ ชั้น แหมขึ้นลงลำบาก ถ้าไฟฟ้าปกติ ไม่เป็นไร ถ้าวันไหนเกิดไฟเสียแล้ว โอ๊ย คุณยายเดือดร้อน ลงไม่ได้ ขึ้นไม่ได้ ลิฟท์มันเสีย ไฟฟ้าเสีย คือ ลิฟท์หมดทั้งเมืองเลย ไฟฟ้าเสีย เพราะไฟเป็นกำลังสำคัญของอะไรต่าง ๆ หุงข้าวต้มแกงก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ แล้วก็เกิดอะไรต่ออะไร วุ่นกันไปหมดอ่ะ วุ่นวายอ่ะ พอไฟฟ้าเสีย เรียกว่าพอไม่มีพลังงาน มันก็ยุ่งอ่ะ วิมานที่เขาสร้างสูง ๆ มันอย่างนั้น ลำบาก รูปร่างวิมานมันเป็นอย่างนั้น
แล้วก็เทวดาไปเกิด ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นเทพบุตร มีนางฟ้า ๕๐๐ เป็นบริวาร ยั่วให้เกิดกิเลส พวกอยากมีเมียมากทั้งนั้น อยากได้แบบวิมานอย่างนั้นอ่ะ นางฟ้า ๕๐๐ แล้วเราลองคิดดูว่าคนเดียวมีภรรยา ๕๐๐ คางเหลืองแน่ อยู่ไม่ได้ มันจะตายไว พวกนางฟ้ารบกวน มันอยู่ไม่ได้ นี่เขาเรียกว่าสอนให้คนอยาก ไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะเขารู้จิตวิทยา รู้ว่าคนนี่ ถ้าไม่อยาก ไม่ค่อยทำอ่ะ อันนี้ต้องยั่วให้อยากก่อน ทำนั้นได้วิมาน ทำนั้นได้สมบัติอย่างนั้น ทำนั้นได้อย่างนั้น ได้อย่างนี้
คำสอนอย่างนี้ไม่ใช่หลักการของพระพุทธเจ้า เพราะสอนให้เกิดกำหนัด ย้อมใจ ให้เกิดความยินดี ความเพลิดเพลิน ในวัตถุที่ตนจะมี จะได้ ในเรื่องนั้นๆ เราจะทำทาน เราจะรักษาศีล เราจะเจริญภาวนา อย่าไปมุ่งอย่างนั้น แต่เรามุ่งว่า ให้มันเบาบางจากกิเลส ให้มีกำลังใจเพื่อชนะทุกข์ ให้มีปัญญา เพื่อรู้จักเรื่องทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริง อันนี้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ มีหลายเรื่องที่เขาไปทำอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น อาจารย์ที่มีชื่อบางองค์นั้น สอนโดยวิธีอย่างนี้ อ่า แก้บาปแก้กรรมให้ ให้โยมจะได้ไปสวรรค์ อะไรต่ออะไร เอ่อ โยมก็ชอบกัน อ่า หรือว่าสะเดาะเคราะห์ให้ อะไรต่าง ๆ นี่ถ้าประกาศสะเดาะเคราะห์สักวันที่วัดชลประทานนี่นะ คนต้องมามากแน่เลย แต่ว่าคนมามาก ก็สมภารก็รับเคราะห์ไปเท่านั้นเอง เพราะเคราะห์ของคนอื่นเอามาทิ้งไว้ที่นี่ อาตมาก็แย่ไปตามกัน มันต้องยุ่งกันใหญ่ เพราะฉะนั้น อย่าไปรับเคราะห์ใครดีกว่า เอ่อ เพียงแต่เคราะห์ของตัวนี่ก็มันพอแล้ว
อย่างนี้เป็นตัวอย่างว่า สอนให้เกิดความอยาก ย้อมจิตย้อมใจ หรือว่าสอนให้นั่งกรรมฐาน แล้วก็ให้เห็นวิมาน เห็นวิมานแล้ว บอกว่า นี่แหละ วิมานของโยม เอาไว้เถอะวิมานนี้อ่ะ ตายแล้วจะไปอยู่หลังนี้นะ อ่า ก็สบายใจ แล้วพระบางทีท่านก็บอกว่า นั่งทางในดูแล้ว ในวิมานมันยังไม่ค่อยเรียบร้อย ยังไม่มีพัดลม เอ่อ บนสวรรค์ต้องใช้พัดลมด้วย ความจริงสวรรค์ มันไม่ร้อน ยิ่งสูงมันก็ยิ่งไม่ร้อน พระอยู่ได้นะ แต่ว่าอยู่ไม่ได้ ในอวกาศ มันไม่ร้อน แต่ต้องการพัดลม ต้องการสิ่งนั้น ต้องการสิ่งนี้ มันก็มีแต่วิมานเท่านั้นแหละ
โยมทำแต่อาคาร มันไม่พร้อม เพราะฉะนั้น ต้องทำอะไรบ้าง เครื่องปูลาด เอ่อ เตียง ตั่ง อาสนะ เก้าอี้ พัดลม เตาไฟฟ้า เตาแก๊ส สมัยนี้มันใช้หลายเรื่อง มันก็ต้องมีมาก ๆ คล้ายกับกงเต๊ก สมัยก่อนกับสมัยนี้ มัน ... มันจ่ายไม่เหมือนกันนะ สมัยก่อนไม่มีรถยนต์ใช้ เดี๋ยวนี้รถยนต์คันใหญ่ เบนซ์ด้วยนะ ทำแล้วเขียนเบนซ์ รถเบนซ์ เผาไปให้ ปู่ย่าตายายจะได้ขับ ไปไหนไม่รู้ มีรถเบนซ์ มีโทรทัศน์ มีวิทยุ ต่อไปต้องมีคอมพิวเตอร์ ไว้คิดบัญชี ตายไปแล้วก็ยังไปคิดค้าขายต่อไป ก็มีคอมพิวเตอร์เผาเป็นกงเต๊กไปด้วย นี่เขาเรียกว่า เป็นเครื่องย้อมใจให้เกิดกิเลสทั้งนั้น เป็นไปเพื่อความกำหนัด เพื่อความย้อมใจ หรือว่าเราทำอะไร อยากจะให้เป็นอย่างนั้น ให้รูปสวยบ้าง ให้รวยทรัพย์บ้าง อะไรต่ออะไรบ้าง ก็เป็นไปเพื่อความกำหนัด ย้อมใจ
มีคณะกลุ่มสุภาพสตรีสมัยโน้นอ่ะ ไปถือศีล นางวิสาขาเป็นหัวหน้า แล้วก็ตอนบ่ายก็นั่งประชุม คุยกัน นางวิสาขาถามว่า เธอนี่อ่ะ มาถือศีลอุโบสถเพื่ออะไร ทางโน้นก็บอกว่า ดิฉันมาถือศีลอุโบสถ เพื่อให้ได้สามีที่ดี เอ่อ คนหนึ่งถามว่า ถือศีลอุโบสถ เพื่อไม่ต้องการหญิงร่วมสามี คือไม่ให้สามีมีเมียน้อย หา ด้วยอำนาจอุโบสถที่ถืออ่ะ ความจริง มาถืออุโบสถน่ะ สามีจะมีเมียน้อย เพราะว่ามาวัดบ่อย ๆ สามีก็เหงานั่นเอง เหงาก็ต้องไปมีเมียน้อย มันจะไปให้ไม่มีได้ยังไง
ทีนี้ หลายคนถามไป อยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ ต่าง ๆ นานา ก็แสดงว่า ท่านเหล่านั้นน่ะ มาถือศีลนี่ เพื่ออย่างนั้น เพื่อวัตถุ เพื่อรูป เพื่อเสียง เพื่อกลิ่น เพื่อรส เพื่อสิ่งสัมผัสถูกต้องที่เพลิดเพลินเจริญใจ ไม่ได้เป็นไปเพื่อความหน่าย คลายความกำหนัด ยังก่อทุกข์ ก่อร้อนอยู่นั่นเอง
นี่ อันนี้ตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ ว่า ถ้าคำสอนเหล่านั้น เป็นไปในรูปอย่างนั้นก็ไม่ได้ อันนี้บางวัดเห็นแปลก ๆ ว่า คนวันนั้นต้องสร้างสิ่งนั้น เกิดวันอาทิตย์ ให้สร้างเรื่องนั้น วันจันทร์สร้างเรื่องนั้น วันอังคารสร้างเรื่องนั้น มีทุกวันเลย ให้สร้างทุกวัน สร้างโอ่งมั่ง สร้าง เอ กุฎิมั่ง สร้างศาลามั่ง สร้างพระพุทธรูปมั่ง อะไรต่ออะไร เขียนประกาศตัวโต ๆ คนก็ไปอ่าน ปัทโธ่ ฉันเกิดวันอาทิตย์ ต้องสร้างนั้น มีมีโอกาสจะสร้างไม๊ ก็ว่ามันก็มี ๆ เอาเงินมาสร้างสิ่งนั้น สิ่งนี้ นี่เพื่อให้ยั่วให้คนทำบุญ โดยไม่ให้เหตุผลว่า ทำเพื่ออะไร ไม่สอนให้คนเข้าใจว่า ทำอะไร เพื่ออะไร เพื่อประโยชน์อะไร ในปัจจุบันนี้อะ ไม่ต้องพูดให้มันยาวความ ให้เขาเห็นประโยชน์ เช่นว่า สร้างโรงเรียนเป็นประโยชน์อย่างไร อ่า สร้างศาลาพักร้อน จะได้ประโยชน์อย่างไร หรือว่าถวายของนั้น จะได้ประโยชน์ในทางสุขภาพ ทางร่างกาย ทางจิตใจอย่างไร
พูดอย่างนี้คนก็จะเข้าใจ แต่กลัวว่าคนจะไม่ทำ เอ่อ มันเป็นอย่างนั้น ความจริงเขาก็ทำอ่ะ เมื่อเขาเห็นเหตุผล เขาก็ทำ ถ้าเราให้เขาเกิดปัญญา แต่นี่ไม่อย่างนั้น กลับไปจูงเขาในเรื่องต่าง ๆ ลองไปในงานวัดสิ ที่งานผูกพัทธสีมานี่ อะไรต่ออะไร นี่ ตอนนี้เริ่มแล้ว ตามสี่แยกใหญ่ ๆ ป้ายเป็นแถว ยาวอันหนึ่ง ๓-๔ เมตรทั้งนั้น วัดนั่น วัดนี่ วัดโน้นอ่ะ
วันนั้นนั่งรถไปราชบุรี นับดู ไอ้ตรงทางแยก จะออกถนนสายเพชร...เพชรเกษมอ่ะ ออกไปจากนี่ พุทธมณฑล นับได้ ๗ วัดแล้วที่เตรียมตัวอยู่นี่ ตรง ๆ ตรุษจีนทั้งนั้น เรียกว่าจีนนี้ ตรงตรุษจีน คนจีนเขาว่างงาน ให้ไปผูกนิมิตวัดโน้น วัดนี้ มี ๗ วัด ยังจะเพิ่มอีก บางแห่งมีเพิ่ม แล้วถ้าไป ๗ วัดนี่เขาว่า ไม่ตกนรกแล้ว ว่างั้น นรกอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ที่ว่าไม่ตกแล้ว เขายั่ว แล้วพอไปถึงวัด จะมีนักโฆษณา แหม พูดไม่หยุดอ่ะเจ้านี่ นักโฆษณานี่ จด ๆๆๆพูดจะเอาทั้งนั้นน่ะ ให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ แล้วนายคนนั้นได้เปอร์เซ็นต์ วันละเท่าไร ที่พูด ๆ นะ ถามว่าที่พูด ๆ นี่ ถ้าพูด ๆ นี่เขาให้อะไรบ้าง มีเปอร์เซ็นต์ หลวงพ่อ เอ่อ ถ้างั้น เสียงมันไม่ค่อยแห้ง ว่าไปเถอะ ถ้าไม่ได้เปอร์เซ็นต์ มันก็ไม่มาว่าอ่ะ ตั้ง ๗ วัน ๗ คืน ใครจะว่าไหว ก็ยั่วให้คนกำหนัดเพลิดเพลิน นี่ อย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่แนวทางของพุทธศาสนา นี่อันหนึ่ง
อันที่ ๒ ว่าเป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ เอ่อ การทำอะไร การรักษาศีล การเจริญภาวนา บางเรื่อง บางประการ ทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจ ให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ สามเณรที่วัดองค์หนึ่ง แกก็ไม่ค่อยจะสมบูรณ์ทางจิตใจเท่าไรอ่ะ มาบวช บวชเณร แล้วต่อมาอยากจะบวชพระ พระในวัดก็ไม่อนุญาตให้บวช บอกว่าไม่ได้ ยังบวชไม่ได้ มันป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ยังไงพิกล ๆ อยู่
เอ้า เลยก็ วันหนึ่งก็ไป หายไป ไปเจออาจารย์ดีเข้าแล้ว ก่อน...ก่อนไปนี่แข็งแรง ร่างกายดี พอไปเจออาจารย์ดีเข้า คือไปกินผักเข้า กลับมา ผอมกร๋องไปเลย เข้ามาถึงนั่งไหว้ โอ้ หลวงพ่อจำผมไม่ได้เหรอ อ๋อ อ้าว แล้วกัน ทำไมเป็นอย่างนั้นอ่ะ ผมถือศีลกินผัก เดี๋ยวนี้ไม่กินปลา กินเนื้อ บอกว่า เอ่อ กินมากี่เดือนแล้วนี่ กินมา ๖ เดือนแล้ว๖ เดือนได้ขนาดนี้เหรอ วันนี้นิพพานแล้ว จะได้นิพพานแล้ว ถ้ากินแบบนี้อ่ะ
แล้วก็มาพักอยู่ไม่กี่วันอ่ะ เพราะว่าที่นี่มันหาผักกินลำบาก ก็เลยลาไป กลับมาอีกทีเหนึ่ง บอกว่าผมต้องเข้าโรงพยาบาลแล้วเวลานี้ เพราะว่าร่างกายมันไม่สมบูรณ์ หมอเขาบอกว่า ให้เลิกกินผักเสีย กินอย่างอื่นบ้างนะ อาหารมันไม่พอ แล้วไม่ใช่กินผักธรรมดา ไปอยู่บ้านนอกนี่ โน้น กินภูเขาชายแดนพม่านะ พวกกะเหรี่ยง พวกอะไรนี่ กินแต่ยอดไม้ มันไม่สมบูรณ์ อาหารนี่ ผักมันไม่สมบูรณ์ ถ้ากินผักแบบคุณจำลอง ศรีเมือง มันก็ไม่เป็นไร อะแกกินผักดี ๆ นี่นา แกมันกินผักดี ๆ น่ะ กินผักจะเป็นเจ้าเมืองแล้ว เพราะว่าเลือก เลือกจำลองคนดี เป็นศรีเมือง ว่างั้น โฆษณา ๆ ป้ายแผ่นใหญ่เหมือนกัน นะว่า เลือกจำลองคนดี เป็นศรีเมือง เขาว่างั้น ให้เลือกแต่คุณจำลอง แกกินผักได้ เพราะแกมีสตางค์ซื้อผักดี ๆ กิน
แต่คนธรรมดาน่ะ กินแต่ยอดผักบุ้ง กินผักพันธุ์ธรรมดา ถั่วงาก็ไม่ค่อยได้กิน มันแพงอ่ะ แล้วก็คนใส่บาตรนี่ ชาวบ้านป่า ๆ นี่เขากินอะไรนักล่ะ ยอดผัก ยอดหญ้า แล้วก็หน่อไผ่ กินแต่หน่อไผ่ มันก็ตัวอ้วน แต่อ้วนมันอ้วนน่ะโยมนะ หน่อไผ่นี่ แต่คนกินหน่อไผ่กลับไม่อ้วน ผอมซูบซีดลงไป วันนั้นมาแล้ว อ้าว ไปไหนเณร จะแย่แล้วหลวงพ่อ บอกว่าเลิกกินผักซะทีเถอะ มากินปลากินเนื้อต่อไปเถอะ พอจะได้มีอายุยืน กวาดขยะได้ต่อไป แล้วก็นี่เห็นหายไปอีกอ่ะตอนนี้ ไม่รู้ไปไหนอีกแล้ว แกป้ำ ๆ เป๋อ ๆ แล้วก็ถือเคร่ง ๆ อะ ไปไหนก็ไม่สวมรองเท้าเดี๋ยวนี้อ่ะ เดินเท้าเปล่า แล้วก็มาอ่ะ เท้าก็ช้ำเลือดช้ำหนอง บอกว่า เอ๊ นี่มันเรื่องอะไร เขาให้รองเท้าสวม จะได้เดินสะดวกสบายหน่อย ไม่ได้อ่ะ รังแกสัตว์ ว่างั้นอ่ะ รองเท้าทำด้วยหนัง บอกว่า เอารองเท้า ไม่สิ ไม่ต้องรังแกใคร เอ่อ นี่เขาเรียกว่า ปฏิบัติเพื่อให้เกิดความทุกข์ แล้วก็ยึดถือนะทีนี้ ยึดถือมั่น
เอ่อ เมื่อเช้านี่ โยมฟังกันหรือเปล่า ท่านเจ้าคุณเทศน์ทางวิทยุเมื่อเช้านี้ เรื่องความยึดมั่นถือมั่นนะ เอ่อ เทศน์ดีอ่ะ อาตมานอนฟังอยู่ในกุฎิ เพราะว่าวันนี้ (23.45) ถ้ายังไม่ได้ฟัง ก็ฟังเทศน์ที่กุฎิมหาเพียร ไปขอเทปอันนั้น แกคงอัดไว้เรียบร้อยแล้ว คงอัดไว้แล้ว เอาไปเปิดฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก ไอ้เรื่องความยึดมั่นถือมั่น มันหมายถึงอะไร สมาทานหมายถึงอะไร สัจจาพินิเวช อ่า หมายถึงอะไร การปฏิบัติอย่างไรเป็นความทุกข์ อ่า เป็นความเดือดร้อนใจ เพิ่มกิเลส ไม่ได้เบากิเลส อธิบายดีอ่ะเมื่อเช้านี่
เรื่องความยึดมั่นถือมั่นนี่ คงจะพูดตอบใครสักคนหนึ่ง ที่เคยว่าท่านก็ว่าได้ แต่ว่าท่านไม่ออกชื่อใคร พูดไปเรื่อย ๆ ของท่าน ตอบไปในอย่างนั้น อธิบายไป ให้เข้าใจ นี่ก็เหมือนกันน่ะ เณรน้อย เณรองค์นี้ไม่ใช่เณรน้อยแล้ว แกก็ไปยึดมั่นอยู่อ่ะ ทางเดียวทางนี้แหละที่จะถึงนิพพาน ไอ้นิพพานของแกนี่มันคงตายนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร ไม่ใช่ดับทุกข์ได้นะ ถ้านิพพานแบบนั้น เรียกว่าปฏิบัติอย่างนี้ก็นิพพานไว อ่ะ มันก็ไวอ่ะ ซีดลงไปเรื่อย ๆ นะ หน้าตาซีดเซียว ผอม มาอยู่นี่อ้วนท้วนแข็งแรง ร่างกาย อนามัยดี อ้าวนี่ก็ผอม ดูแล้วมันไม่ไหวแล้ว แต่นี่ไปแล้ว มาถึงแว็บหนึ่งหาย ไม่รู้ไปไหน ไปอย่างนั้น เพราะว่าแกไม่ค่อยสมบูรณ์ทางจิตใจเท่าไร มายึดมั่นถือมั่น
เอ่อ บางคนก็ปกติอ่ะ จิตใจ แต่ว่าไปจับอะไร ยึดอะไร แล้วก็ยึดในสิ่งนั้น ต้องอย่างนี้ ทางนี้ทางเดียว ที่จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เอ่อ มันก็ผิดหลัก ดูพระพุทธเจ้าสิ ท่านออกบวชใหม่ เรียกว่ายังใหม่ต่อเรื่องของนักบวช ต่อการปฏิบัติอ่ะ ก็ไปทดสอบ ไปบำเพ็ญทุกข์กรกิริยา ทรมานร่างกาย ผ่ายผอม จนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ผอมเหลือเกินอ่ะ แต่ผลที่สุดมานึกว่า เอ๊ ไม่ไหวแล้ว เป็นทุกข์เสียแล้ว ทรมานร่างกาย เมื่อร่างกายไม่สบาย ใจจะสบายอย่างไร แล้วจะมีกำลังที่ไหนไปทำอะไรได้ ต้องนอนแต้วอย่างนี้ เลยลุกขึ้น อาบน้ำอาบท่า ขัดสีฉวีวรรณใหม่ แล้วก็ไปเสวยพระกระยาหาร เหมือนที่ชาวบ้านเขากินกันต่อไป ร่างกายค่อยแข็งแรงขึ้น แล้วก็ไปตั้งต้นวิธีใหม่
เอ่อ อันนี้แสดงว่าพระองค์ไม่ได้ยึดมั่นว่า ทางนี้แหละ เป็นของจริงเป็น ของแท้ ที่จะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ แต่เห็นว่ามันเป็นไปเพื่อความก่อทุกข์ จึงเลิกจากการกระทำอย่างนั้น ถ้าพระพุทธเจ้าท่านไม่เลิกความเพียรน่ะ จะมีพุทธศาสนาเกิดขึ้นในโลกได้อย่างไร ไม่มีโอกาสอ่ะ พระองค์ก็ตายเสียคน ด้วยการบำเพ็ญความเพียรแบบทุกรกิริยานั่นเอง แต่เมื่อทำไปแล้ว ทรงรู้สึกพระองค์ว่า ไม่ได้เรื่อง เอ่อ เลยเลิก หันมาทำทางใหม่ต่อไป เอ่อ อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ว่าการปฏิบัติอันใด ที่เราสังเกตแก่ตัว มันทรมานเสียแล้ว ทรมานร่างกาย ทรมานจิตใจ ทำให้รู้สึกกระวนกระวาย ไม่สงบ ไม่ดีขึ้น เลิกได้แล้ว ทางนั้นหยุดได้ อย่าฝืนทำต่อไป ถ้าทำต่อไป มันก็จะหนักลงไปเรื่อย ๆ เพราะการปฏิบัติของพระพุทธศาสนานั้น มันพอดี ๆ ไม่ทรมานเกินไป อะไรเกินไป
เมื่อเช้านี้มีคุณโยมอายุก็มากแล้วล่ะ มาถึงบอกว่า ฉันจะรับวิปัสสนาไปทำที่บ้านได้ไหมเจ้าค่ะ บอกว่าได้โยม ไม่เป็นไรทำที่บ้านก็ได้ ทำที่บ้านนั่นแหละดี เพราะว่าที่บ้านนี่ มันมีเครื่องทดสอบตลอดเวลา เดี๋ยวลูกบ้าง เดี๋ยวหลานบ้าง เดี๋ยวเรื่องนั้น เรื่องนี้ มันจะได้ทดสอบกำลังใจ ว่าเรามีสติพอไหม มีปัญญาพอไหม มีความอดทนพอไหม ไอ้มานั่งอยู่ที่วัด ใม่มีใครแหย่เลย มันก็ไม่รู้อ่ะ มันก็สงบดีอ่ะ แล้วจะไปคุยว่า แหม ฉันไปวัดทีไร ใจก็สงบ แต่ไปพอถึงบ้านก็ปึงปังโผงผางต่อไป นี่ก็ว่ามันยังไม่ได้ผลอะไร
บอกว่าทำที่บ้านนั่นแหละดีแล้ว พอบอกอย่างนั้นเสร็จแล้วแกว่า จะรับไปเดี๋ยวนี้ได้ไหม เอ่อ ถามต่อไป บอกว่ารับอะไรอ่ะโยม รับวิปัสสนา บอกมันไม่มีให้รับวิปัสสนานี่ เรื่องวิปัสนานี่ไม่มีการให้ ไม่มีการรับอะไร โยม ให้เข้าใจเสียใหม่ แกนึกว่าเขาไปรับเอาจากวัดโน้น รับแล้วมาปฏิบัตินี่ ไปรับวิปัสสนามา
อาตมาว่า ไม่ได้รับอย่างนั้น ไม่ได้ให้อย่างนั้น มันอยู่ในตัวโยมแล้ว หัวใจนี่ก็อยู่ในโยม ร่างกายก็ของโยม ความรู้สึกนึกคิดมันก็มีอยู่ในตัวโยมแล้ว โยมทำอย่างเดียว คือระวังใจอย่าให้มันเกิดความทุกข์นะ อย่าให้เกิดความทุกข์ ใคร เกลียดใครริษยา ใครพยาบาทใคร อ่า ใครทำอะไรไม่สมควร ก็อย่าวู่วาม แต่ว่าไม่ใช่ว่าเฉยนะ ไม่เอาไหนนะโยมนะ ถ้าหลานทำผิด ก็เรียกมาสอน แต่ไม่สอนด้วยความโกรธ สอนด้วยใจสงบ ใจเยือกเย็น แนะนำเขาว่าอย่างนี้ไม่ดีหลานนะ อย่างนั้นอย่างนี้ พูดสอนพูดอธิบาย
ทำอะไรอย่าให้โยมเป็นทุกข์ ทำได้ไหม เอ่อ จะพยายาม ทำยังไง นั่นและ ปฏิบัติอย่างนี้ อ่าปฏิบัติอย่างนี้ แกก็พูดอีกอ่ะ ทำที่บ้านก็ได้นะเจ้าค่ะ บอกว่านี่แหละ ทำที่บ้าน ไม่ต้องไปทำที่ไหน ทำที่บ้าน แล้วต้องนั่งไม๊ ยอกไม่ต้อง นั่งมาก ๆ โยมปวดเอว เพราะแก่แล้ว คนแก่ ๆ ไปนั่ง... เครียดอ่ะ มันปวดสะเอว ปวดสันหลัง ปวดแข้งปวดขา ไม่ต้อง ตามสบาย เดิน ยืน นั่ง นอน ตามสบาย โยมทำอะไรก็ทำตามสบาย แต่ว่าอย่าให้เป็นทุกข์นะ อย่าให้ใจเกิดกิเลสนะ กิเลสคือความโกรธ อย่าให้เกิดความ อ่า ริษยา ความพยาบาท อะไรต่ออะไร อย่าให้เกิดในใจนะ ระวังใจเท่านั้นแหละ เอ่อ ไม่ต้องยุ่งกับใคร อ้าว ถามอีกแล้ว แล้วก็ต้องมาสอบกับท่านไหม บอกว่าไม่เป็นไรอ่ะ ว่าง ๆ ก็มาบ้างก็ได้
ไอ้นี่ก็คือว่า ไปจิกมาจากสำนักต่าง ๆ มันต้องสอบ อาจารย์ต้องมานั่งสอบ มานั่งถามอารมณ์ อะไรต่ออะไรนะ บอกว่าไม่ต้องอะ ว่าง ๆ โยมมาคุยกันก็ได้ เอ่อ มาคุยกัน ไม่เป็นไร ว่างก็มาอะ ถ้าไม่สะดวกก็ไม่ต้องมาก็ได้ แล้วก็ดูตัวเองก็แล้วกันว่า ใจมันดีขึ้นหรือเปล่า สมมุติว่าเมื่อก่อนเราเป็นคนมักโกรธ แล้วต่อก็มาคุมจิตใจ ความโกรธมันน้อยลงไป อ่ะ ก็เรียกใช้ได้แล้ว ๆ หุนหัน พลันแล่น ใจร้อน ใจเร็ว ไอ้สิ่งที่เคยมีมันมี มันเบาบางลงไป ก็ใช้ได้แล้ว มันดีขึ้นแล้ว แล้วก็ทำต่อไป จนกระทั่งว่า มันไม่เกิดเรื่องอย่างนั้นกับใจเราต่อไป เอ่อ โยมเข้าใจไหม อ่า เข้าใจก็ เอ้า ได้ ถ้างั้นทำได้ แล้วก็ลูกชายก็ว่า ไปได้แล้ว ลูกชายแก ไปได้แล้วล่ะ เลยก็ลาไปอ่ะ เอ่อ ยังงี้อ่ะ
คือว่าโยมไม่เข้าใจ เห็นเขาทำกันที่นั่น เขาทำกันที่นี่ ก็อย่างจะทำกับเขา แต่ไปทำแล้ว ก็ไม่ได้เรื่องอะไร ไม่ได้รู้เรื่อง เพราะไม่เข้าใจว่าทำอะไร ทำอย่างไร แล้วผลการกระทำนั้นเป็นอย่างไร ไม่ได้บอกให้เข้าใจ โยมก็เลยหลงใหลไปตามเรื่องตามราว ด้วยประการต่าง ๆ อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติอันใด ที่เป็นไปเพื่อมันเป็นทุกข์อ่ะ มันไม่สบาย ทำอะไรแล้วก็เป็นทุกข์ ถืออะไรกันแลัวมันก็เป็นทุกข์ มันไม่เหมือนคนอื่นเขา เข้ากับคนก็ไม่ได้ เข้ากับลูกกับหลานก็ไม่ได้ เอ่อ มันก็ลำบาก เช่นว่า เราอยู่ในครอบครัวนี่ เขากินปกติ ทุกคนเขากินปลา กินเนื้อ เราแอบกินผักอยู่คนเดียว เอ่อ แล้วจะกินอะไร กินแต่ข้าวกับหัวผักกาดดองอ่ะ ใส่กระป๋อง แอบไว้
มีพระองค์หนึ่ง ไป... พอถึงเวลาฉันนะ แกก็ไม่ฉันอ่ะ ล้วงย่ามก๊อกแก๊ก ๆ อ่ะ ถามอะไร ออกมาแก้ห่อ มัดยางเรียบร้อย อะไร ผักกาดเค็ม เอ๋ยยย เป็นพระนี่พกผักกาดเค็มอยู่เหรอ อ้าว เพราะว่าบอกว่ามันถือ ไม่กินปลากินเนื้อมัน นี่แหละ เรื่องนี้มันเป็นทุกข์อ่ะ เพราะว่าเที่ยวพกผักกาดเค็มอยู่ตลอดเวลา ไปไหนก็ผักกาดเค็มกระป๋องใส่ย่าม มันก็เป็นทุกข์อ่ะสิ แล้วมันจะหกใส่ย่ามอีกอ่ะ ยามก็เปื้อนอีกอ่ะ พกไปทำไม เราไปถึงปุ๋บ ถวายอะไรกิน ถวายปลากินปลา ถวายเนื้อกินเนื้อ ถวายผักก็กินผัก ปลาเนื้อปนกัน ก็กินผักมาก ๆ หน่อย เอ่อ อย่าไปถืออ่ะ ไม่ได้ อันนี้ผัก แต่ว่าแกงอยู่ในปลา ไมได้ กินแต่ปลา กินแต่ผักก็ไม่ได้ มันติดน้ำปลาเข้าไปด้วย เอ้ย มันมากไปแล้วอ่ะ อย่างนี้มันก็เดือดร้อนอ่ะสิ เป็นทุกข์ ก็ไปไหนต้องพาไป แล้วไปถึง พบใครก็บอกว่า โยม อาตมาไม่ฉันปลา ฉันเนื้อนะ อ้าว ยุ่งกับโยมอีกอ่ะ โยมเขามีแต่ปลา แต่เนื้อ เขาแกงกิน ไอ้เราไม่มี
เมื่อเช้านี้ฟังรายการเกี่ยวกับสุขภาพ เขาบอกว่าคนเป็นโรคหัวใจ นี่ ให้กินปลามาก ๆ แล้วโรคหัวใจจะบรรเทาไป กินปลามาก ๆ เพราะว่าสังเกตว่า คนในบางประเทศนี่ กินเนื้อปลามาก เป็นโรคหัวใจน้อย เอ่อ เขา ก็เลยเอาเอกสารค้นคว้า ทดสอบ ว่าคนที่กินปลามาก ๆ นี่ โรคหัวใจมันน้อย เอ
เพราะฉะนั้น ใครเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจอะไร ยังไง กินปลามาก ๆ ก็แล้วกัน ปลาปิ้งบ้าง ปลาทอดบ้าง ปลาต้มบ้าง อะไรต่ออะไรนะ ปลาทู ปลาอะไรก็ได้ กินเข้าไปเถอะโยม ไม่บาปไม่เวรอะไร เพราะเราไม่ได้ไปฆ่าปลาเอง ชาวประมงเขาไปฆ่า โยมก็ไม่ได้ไปสัญญาไว้ว่า ช่วยฆ่าปลานั้นนะ ช่วยทำปลานี้นะ ฉันจะซื้อนะ หรือไปตกลงกันบ้างหรือเปล่าโยม เขาฆ่าหมูขาย ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ เราไปตกลงกับเขาไว้บ้างหรือเปล่า ว่าให้เขาฆ่าเท่านั้นนะ เท่านี้นะ ฉันจะมาซื้อนะ เปล่า คือบาปมันไม่ได้เกิดขึ้นในใจของเรา
แต่ถ้าพูดในทางตรรกวิทยาบอกว่า คนกินเป็นเหตุให้มีการฆ่า ไอ้นั่นมันคนละเรื่อง มันไม่ได้เกี่ยวด้วยใจของเรา ใจเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ได้ไปผูกพัน สัญญาอะไรกับคนเหล่านั้น มันคนละเรื่อง เราไม่ต้องวิตกกังวลอ่ะ บางคนก็ว่า จะกินนั้นก็กลัวเป็นบาป กินนี่ก็บอก...เอ้ย ไม่ต้องหายใจแล้ว เพราะหายใจนี่ก็บาปเหมือนกัน เอ่อ บาปอย่างไรหายใจ เอาตัวโยมเข้าไปสักทีหนึ่ง เราหายใจน่ะ มันติดตัวโยมเล็ก ๆ น้อย ๆ อะ หายใจ มันติดตัวเข้าไป แต่ร่างกายเราต้านทานได้ มันถึงไม่ตาย ไอ้นี่ถ้ากลัวบาป บอกไม่ต้องหายใจ อยู่...ไม่ต้องอยู่ในโลกต่อไป ถ้ากลัวบาป ตายเสียเลย ยิงตัวตายก็แล้วกัน (หัวเราะ)
มันชักจะเละแล้วนะ หนัก ๆ เข้า มันชักจะทำให้เกิดปัญหา มันเป็นไปเพื่อความทุกข์ซะแล้ว เป็นไปเพื่อความร้อนใจ อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง ถืออะไร ให้เป็นไปพอดี เอ่อ ที่เราเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง พอดีพองาม ไม่ยึดมั่นถือมั่นอ่ะ
นี่ถ้าถือว่า ฉันจะต้องกินผัก ฉันจะต้องกินอย่างนั้น ฉันจะต้องกินอย่างนี้ ฉันจะต้องอย่างนั้น ฉันจะต้องอย่างนี่ มันเป็น เขาเรียกว่า ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาแล้ว ยึดมั่นแล้วก็เป็นทุกข์อ่ะ พอไม่ได้ทำอย่างนั้นก็เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ พอไม่ได้อย่างนั้น หงุดหงิดใจขึ้นมา นั่นแหละคือทุกข์ ที่เกิดเพราะยึดถือไว้ในทางที่ผิด ก็เกิดเป็นปัญหา เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตาม ที่เป็นไปเพื่อความทุกข์ เพื่อความร้อนใจ สิ่งนั้น ไม่ใช่หลักการของพระพุทธศาสนา
อันนี้อันที่ ๓ ว่า คงไม่จบวันนี้ เอา ๓ อันก่อน เป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส เอ่อ สะสมกองกิเลส คือ สะสมความโลภ สะสมความโกรธ สะสมความหลง ความริษยา ความพยาบาท อาฆาต จองเวร เพิ่ม ทำอะไร เอ่อ หรือคำสอน หลักการปฏิบัติ ทำแล้วมั่นเพิ่มกิเลสขึ้นมา กิเลสที่ตัวสำคัญนั้น มันอยู่ลึกนะโยมนะ ไอ้ตัวลึกน่ะคืออะไร สำคัญมั่นหมายว่าตัวฉัน ของฉันนี่ ที่ท่านเจ้าคุณพุทธทาสพูดง่ายเหลือเกินว่า ตัวกู ของกู นั่นแหละฟังง่ายดี
อหังการ มมังการ เอ่อ ภาษาพระเรียกว่า อหังการะ มะมังการะ อหังการคือถือว่า เอ่อ เอ่อ ฉันเป็น มะมังการะ ก็ถือว่าของฉัน เอ่อ มันมีฉันก่อน มีตัวฉัน แล้วก็มีของฉัน เอ่อ ตัวฉันมันใหญ่ ของฉันมันก็ใหญ่ ตัวฉันเล็ก ของฉันมันก็เล็ก ถ้าไม่มีตัวฉัน ก็ไม่มีของฉัน คนเราถ้ามีตัวแล้ว มันก็เพิ่มความยึดถือขึ้นมามากมาย มีตัว มีลูก มีทรัพย์ มีเหย้า มีเรือน มีเกียรติ มีชื่อเสียง อะไรต่ออะไร ตัวมันมาก มันก็เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ
ถ้าคนมีปัญญา ลดตัวลงไปให้มันน้อย ๆ เอ่อ นี่เรียกว่าพุทธศาสนาสอนให้ลดตัว ลดความเห็นแก่ตัวลงไป แล้วก็ลดความยึดมั่นว่า ตัวฉัน ลงไป ของฉันมันก็น้อยลงไป เบาอ่ะ มันเบา มันก็สบายอ่ะ เหมือนกับเรือนี่ ถ้าบรรทุกมาก มันก็หนักอ่ะ พายไปไม่ไหว แจวก็ไม่ไหว วิ่งก็ไม่ไหว เอาทิ้งเสียบ้าง รื้อของทิ้ง เอาออกเสียบ้าง ก็สบาย
พระองค์ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอจงยึดเรือนี้ เรือที่เธอยึดแล้วจะเบา ไปถึงฝั่งได้ง่าย เอ่อ คือให้ปลดเปลื้องความยึดมั่น ถือมั่น ภาระ หน้าที่การงาน แต่ว่าไม่ใช่ไม่ทำ ทำด้วยปัญญา ทำด้วยความไม่ยึดถือ อันนี้มันเป็นศิลปะของความสุข ตามหลักการทางพระพุทธศาสนา เราจะทำอะไรก็ได้ เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน ค้าขาย แต่อย่าให้เป็นทุกข์ นี่ ทำอะไรอย่างไรอย่าให้เป็นทุกข์ ถ้ารู้จักทำโดยไม่เป็นทุกข์เมื่อใด ก็เรียกว่าได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้ามีประโยชน์แก่เราแล้ว เอ่อ หลักการมันเป็นอย่างนี้
อ่า สำหรับวันนี้ ก็เอาอย่างนี้ก่อน เอา ๓ เรื่องนี้ก่อน ไว้ต่อวันต่อไป โอ้ มีอะไรอีกหลายข้อที่จะอธิบายต่อไป ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที