แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านนั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจน อย่าเดินไปเดินมาอยู่ โยมนั่งเสียให้สบาย อากาศกำลังดี ฝนไม่ตก ฟ้าไม่ร้อง และก็ไม่ร้อน เราก็นั่งบำเพ็ญจิตให้สงบ ตั้งใจฟัง เพื่อจะได้รู้ ได้เข้าใจ แล้วจะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
วันอาทิตย์เป็นวันหยุดงาน เราก็มาวัดกัน การมาวัดสมัยก่อนนี้ เขามากันในวันพระ สมัยนี้วันพระก็มี วันอาทิตย์ก็มี เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง วันพระเราก็มา แต่วันอาทิตย์ก็มา คนมาในวันพระคือคนที่หมดธุระการงาน เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ไม่ทำงานอะไรที่เป็นเรื่องอาชีพแล้ว แต่วันอาทิตย์นี่สำหรับคนทั่วไป ที่ยังประกอบธุรกิจการงานตามแบบของชาวโลก แต่วันอาทิตย์ก็หยุดงานให้ เราก็ควรจะได้มาวัด มาศึกษาธรรมะมาปรับตัวเราให้เกิดปัญญา เกิดความเห็นแจ้งในสิ่งควรรู้ควรเข้าใจ และจะได้ทำชีวิตให้สมบูรณ์ขึ้น
ความสมบูรณ์ของชีวิตอยู่ที่การมีธรรมะ ถ้าไม่มีธรรมะชีวิตก็จะบกพร่อง เกิดปัญหาด้วยประการต่างๆ เมื่อแต่ละคนมีปัญหา สังคมก็มีปัญหา ประเทศชาติก็มีปัญหา โลกก็มีปัญหา ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกนี้ เกิดจากความพกพร่องของบุคคล เมื่อบุคคลมีความบกพร่อง ชีวิตครอบครัวตลอดจนถึงประเทศชาติและในโลกก็ย่อมจะบกพร่องไปด้วยในตัว เป็นปัญหาที่จะต้องแก้กันไม่รู้จบไม่รู้สิ้น แต่ถ้าหากว่าเรารู้จุดของความบกพร่อง ว่าความบกพร่องนั้นอยู่ที่ใจของเราบกพร่อง ใจบกพร่องก็เพราะขาดธรรมะเป็นเครื่องทำจิตใจให้สมบูรณ์ เราก็แสวงหาธรรมะ แสวงหาธรรมะด้วยการศึกษา ฟัง อ่าน คิดให้เกิดความเข้าใจ
เรามาฟังนี่ก็เรียกว่ามาศึกษาด้วยหู อ่านศึกษาด้วยตา คิดก็ศึกษาด้วยใจของเรา คิดก็ให้เกิดความรู้เกิดความเข้าใจ ถ้าเราไม่คิด ความรู้มันก็ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง เห็นอะไรไม่คิดก็ไม่เกิดปัญญา ไม่ศึกษาก็ไม่เกิดปัญญา เพราะฉะนั้นต้องคิดต้องค้นเพื่อให้เกิดปัญญา
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่าทำในใจให้ดี เวลาพระองค์จะพูดอะไรกับใคร พระองค์ก็ตรัสว่าทำในใจให้ดี คิดให้แยบคาย เราจะสอน ณ บัดนี้ เป็นอย่างนี้ ก็เพื่อจะให้คิด ไม่ให้เชื่อง่าย ไม่ให้เชื่อตามเขาบอก แต่ให้เชื่อตัวเอง เชื่อตัวเองก็คือคิดเข้าใจแล้วจึงเชื่อ ถ้ายังไม่เข้าใจก็ยังไม่เชื่อ คิดต่อไป คิดจนเห็นแจ้งด้วยตัวของเราแล้วจึงเชื่อ เหมือนเขาบอกว่าน้ำตาลหวาน เรายังไม่เชื่อ แต่เรารับรู้ไว้ก่อนว่าน้ำตาลนี่เป็นของหวาน เมื่อใดเราได้ชิมด้วยตัวของเราเอง ก็ประจักษ์แก่ลิ้นของเรา แก่ใจของเราว่า มันหวานแบบนี้ ก็รู้ว่ามันหวานจริงๆ เรื่องอื่นก็เหมือนกัน เราต้องคิด ต้องทดสอบด้วยตัวเรา
เช่น พระ เรื่องบาป เรื่องบุญนี่ ก็ต้องทดสอบ เขาบอกว่าทำบาปไม่ดี ลองไปทดสอบกันสิ ลองทำดูสิ แล้วจิตใจจะเป็นอย่างไร จะเดือดร้อน หรือว่าจะสงบเย็น เราก็เห็นด้วยตัวว่ามันร้อน ทำบาปนี่มันร้อน แต่ว่าถ้าเราทำดีตามที่พระท่านสอน เราก็เย็นใจสบายใจ เราก็รู้ด้วยตัวของเราเองว่า ใจสงบใจเยือกเย็น มีความสุขขึ้นในชีวิตประจำวัน คนจิตใจบกพร่องก็ต้องถูกลงโทษตามกฏหมาย ไปติดคุกติดตาราง
มาอาทิตย์นี้นี่ไปบางขวางทุกวัน แต่ว่าหลังจากเหตุการณ์แล้วก็พบท่านผู้บัญชาการ บอกว่าไม่ได้มาเทศน์เสียนานแล้วมันยุ่งกัน ต่อไปนี้จะมาเทศน์ เดือนสักครั้งหนึ่ง แต่ว่าเดือนนึงก็ต้องหลายครั้ง มันหลายแดน แดนหนึ่งวันหนึ่ง แดนสอง แดนสาม แดนสี่ แดนห้า แดนหก แดนพิเศษ มันขึ้นไปตั้งสัปดาห์แล้ว ก็ต้องไปเทศน์กับเขาหน่อย ให้เขาฟังให้เกิดความเข้าใจ เกิดความคิดถูก เวลาเทศน์เสร็จแล้วก็ถามเขาว่า ชอบใจไหมที่หลวงพ่อมาแสดงธรรมให้ฟังนี่ ใครไม่ชอบใจบ้าง หรือว่าใครอยากจะให้มาเทศน์บ่อยๆ ยกมือขึ้น อ้าว ยกขึ้นหมดแล้ว แสดงว่าชอบใจ ถ้าอย่างนั้นก็ไปเทศน์ได้อีก ถ้าไม่ยกมือให้รู้ เดี๋ยวเขาหาว่า แหม ยัดเยียด เอาธรรมะไปยัดเยียดให้ แต่ยัดเยียดธรรมะมันดีกว่าเรื่องอื่นนะ เหมือนลูกเราเป็นไข้ ไม่ค่อยกินยา ต้องหาวิธีให้กินจนได้ พอกินยาแล้วเด็กมันก็สบาย ไม่มีปัญหา สังคมมนุษย์เรามีปัญหา ก็ต้องเอาธรรมะไปให้เขา เพื่อให้เขาได้รู้ ได้เข้าใจ จะได้ประพฤติตนถูกต้องตามแนวทางที่ดีงามต่อไป
วันนี้ก็จะพูดเรื่องที่ค้างไว้ เกี่ยวกับเรื่องของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้พูดมาวันก่อนเรื่องความเป็นผู้บริสุทธิ์ นั่นก็คือพระอรหันต์ ความเป็นผู้มีปัญญาตรัสรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะ เรียกว่า สัมมาสัมพุทโธ แล้วก็ภควา คือ ทรงพระกรุณา สงสารเอ็นดูต่อชาวโลก ได้เสียสละความสุขส่วนพระองค์แบบชาวบ้าน ออกไปทนทุกข์ทรมานในป่า แสวงความรู้จนสำเร็จพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่อยู่นิ่งอยู่เฉย ได้นำธรรมะไปเที่ยวแจกแก่ประชาชนชาวโลกทั่วไปในประเทศนั้น
สมัยก่อนการเดินทางไม่สะดวก การติดต่อไม่สะดวก ถ้าพระพุทธเจ้าเกิดในสมัยนี้ ไม่ต้องไปไหน ไปนั่งอยู่ที่ห้องส่งแห่งเดียวก็พอ ถึงเวลาก็เทศน์ไปตามวิทยุ คนก็ฟังกันทุกหนทุกแห่ง อัดเทปไปด้วย มันก็สะดวกสบาย สมัยก่อนเครื่องประกอบมันไม่มี เราก็ต้องเดินไปตามที่ต่างๆ ไม่ใช่ระยะใกล้ๆ ไปดูเส้นทาง ดูประวัติการทำงานของพระองค์ที่เมืองนั้นเมืองนี้ ที่ปรากฎอยู่ในพระสูตรต่างๆ กว้างขวางมากไม่ใช่เล็กน้อย ใหญ่โตกว่าประเทศไทยหลายเท่า ที่พระองค์เที่ยวเดินสอน ๔๕ ปี ไม่ใช่เวลาเล็กน้อย ทรงบำเพ็ญพุทธกิจเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก แล้วพระองค์ก็นิพพานไป นิพพานไปแต่ร่างกายของพระองค์ แต่ธรรมะยังอยู่ ธรรมะยังอยู่ เรื่องอื่นหมดไปแต่ว่าธรรมะยังอยู่ เราสามารถจะอัญเชิญธรรมะมาใส่ไว้ในใจของเราได้ เชิญธรรมะมาใส่ไว้ในใจดีกว่าเชิญอย่างอื่นมาไว้ในใจ ส่วนนี้เป็นส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังจากพุทธปรินิพพาน เราจึงควรจะได้ศึกษาเรื่องของพระองค์ เพื่อนำมาเป็นหลักในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อเอาเรื่องของพระองค์มาเป็นเครื่องประกอบในการแก้ปัญหาชีวิต ทุกแง่ทุกมุม ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคม เรื่องการบ้านการเมือง
เราสามารถจะเอาตัวอย่างจากพระองค์มาใช้ได้ทั้งนั้น เอามาประยุกต์ เขาเรียกว่าประยุกต์ คือปรับใช้ให้เหมาะแก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมของพวกเราเพื่อแก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้นให้หายไปด้วยวิธีการต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา น่าสนใจ ญาติโยมฟังแล้วก็ลองเอาไปพิจารณา เพื่อเอามาใช้ในเรื่องอะไรต่างๆ
บทพระพุทธคุณเราก็ขึ้นต้นด้วย อรหัง สัมมา สัมพุทโธ แล้วก็ วิชชา จรณะ สัมปันโน เป็นบทหนึ่งสำคัญอยู่เหมือนกัน วิชชา จรณะ สัมปันโน หมายความว่าสมบูรณ์ด้วยวิชชาและสรณะ สมบูรณ์ด้วยวิชชาและสรณะ
สัมปันโน แปลว่า สมบูรณ์ ที่เราเอามาเขียนในรูปภาษาไทยว่า สมบูรณ์ สมบูรณ์ ก็มาจากคำว่าสัมปันโน แต่นี่เป็นคำบาลี คำสันสกฤตว่า (10.13) สัมบูรณะ เรียกว่า สมบูรณ์เพียบพร้อมในเรื่องอะไรต่างๆ พระผู้มีพระภาคเป็นสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ
วิชชา ก็คือความรู้ ความรู้ที่ทำพระองค์ให้พ้นจากความทุกข์ในชีวิตประจำวัน ให้หลุดพ้นด้วยประการทั้งปวงเพราะอำนาจวิชชา
สรณะ หมายถึง หลักปฏิบัติที่จะให้ถึงวิชชา
พระพุทธเจ้าของเรานั้นเป็นผู้ที่สมบูรณ์ทั้งวิชชาและจรณะ หมายความว่า สมบูรณ์ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ วิชชานั้นเป็นหลักวิชาการ หรือทฤษฎีที่ควรจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้ามีแต่วิชชาแต่ไม่มีการปฏิบัติ เราเรียกว่ามีวิชชา ไม่มีจรณะ
จรณะ คือ ตัวปฏิบัติ ตัวลงมือกระทำ เพื่อให้เกิดผลจากการปฏิบัตินั้น เช่นเราเรียนเรื่องการทำกับข้าวจากโรงเรียนที่สอนทำกับข้าว เรียนรู้แล้ว แกงอย่างนั้นทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ไม่แกง ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้แกง แล้วก็ไม่ได้กินอาหารที่เราแกง เพราะเราไม่รู้ เราไม่ทำ ไม่ถูก รู้แล้วไม่ทำ มันก็ไม่ได้เรื่อง แต่ถ้ารู้แล้ว เราก็ไปแกง เราก็ได้กินแกงนั้น
เรื่องอื่นก็เหมือนกัน เรียนเรื่องการเพาะปลูก เรื่องการเกษตร ก็ต้องไปทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่เรียนเอาแต่วิชาการ ต้องลงมือทำ เมื่อไปทำก็เกิดประจักษ์แก่ใจ ว่าสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ ทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง มีอะไรบกพร่องที่ควรจะปรับปรุงแก้ไขต่อไป ก็ได้วิชชาเพิ่มขึ้น
วิชชาที่เราเรียนมาจากผู้อื่นนั้น เป็นวิชชาชั้นพื้นฐาน แต่เมื่อเราไปปฏิบัติเข้า เราได้วิชาเพิ่มขึ้น วิชชาที่เพิ่มขึ้นจากการกระทำเรียกว่าเป็นวิชชาชั้นหนึ่งของเรา วิชชาที่เรียนจากตำรา จากการรับฟังจากคนอื่นนี่ เรียกเป็นวิชชาชั้นสอง แต่ถ้าเราไปทำอะไร แล้วเรามีประสบการณ์ในเรื่องนั้น มีความรู้เพิ่มขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติในหน้าที่นั้นๆ วิชชาเป็นวิชาชั้นหนึ่งที่อยู่ในตัวของเรา เพราะฉะนั้นเราก็รับวิชชาชั้นสองแล้ว ต้องเอาไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดวิชชาชั้นหนึ่งขึ้นในจิตใจของเรา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรเอามาใช้
และที่สำคัญอีกก็คือว่า เราต้องอยู่ด้วยวิชชา อย่าอยู่ด้วยอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้เรื่องอะไรต่ออะไร ไม่รู้เหตุไม่รู้ผล ไม่รู้ตน ไม่รู้ประมาณ ไม่รู้เวลา ไม่รู้บุคคล ไม่รู้จักประชุมชนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่รู้จักตัวเราเอง ไม่รู้จักหน้าที่ที่เราจะประพฤติปฏิบัติ ไม่รู้จักสังคมที่เราไปเกี่ยวข้องว่าเราควรจะทำอย่างไร ควรจะแสดงอาการอย่างไร ล้วนแต่เป็นพวกไม่รู้ทั้งนั้น คนไม่รู้นี่ก็เป็นคนตาบอดหูหนวก ใจก็ใช้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ
เราเป็นพุทธบริษัทต้องเป็นผู้รู้ ต้องเป็นผู้สมบูรณ์ทั้งวิชชาและจรณะ ตามแบบของชาวบ้าน หรือว่าตามแบบของนักบวช สุดแล้วแต่ว่าเรามีอะไรในอาชีพของเรา เราก็ต้องมีวิชชาในเรื่องนั้น มีการปฏิบัติในเรื่องนั้น เราอยู่บ้านก็ต้องมีวิชชาของชาวบ้าน แล้วก็ต้องปฏิบัติตามหลักวิชชานั้นๆ เราก็ตั้งตัวได้ มีความสุขในชีวิตครอบครัว หรือว่าเราเป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ อะไรก็ตามใจ เราก็ต้องมีวิชชาในการปฏิบัติงาน รู้ตัวบทกฎหมาย ระเบียบแบบแผน รู้วิธีการที่จะปฏิบัติในเรื่องอะไรต่างๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตมันไม่ซ้ำกัน มันหลายเรื่องหลายแบบที่จะเกิดขึ้นเป็นปัญหาให้เราแก้ไข เราก็ต้องรู้ว่าปัญหาคืออะไร มันเกิดขึ้นจากอะไร เราควรจะแก้ไขโดยวิธีใด ปัญหานั้นจึงจะดับรอบไป ไม่ลุกฮือขึ้นอีกต่อไป อันนี้มันก็ต้องใช้หลักการทั้งนั้น ใช้วิชชา และใช้ประสบการณ์ที่เราเคยปฏิบัติในชีวิตประจำวันมาก่อน
คนเรายิ่งมีอายุมากขึ้น ถ้าปฏิบัติตามหลักการนี้ เราก็มีวิชชาเพิ่มขึ้น มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น เรียกว่ามีทั้งวิชชา มีทั้งจรณะในตัวของเรา เพราะสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต มันก็มาสอนเราทั้งนั้น ความทุกข์เข้ามา ก็มาสอนให้เรารู้จักทุกข์ ความสุขผ่านมาก็มาสอนให้เรารู้จักความสุข ว่าสุขกับทุกข์นี่มันแตกต่างกันอย่างไรในจิตใจของเรา เราก็จะได้รู้ได้เข้าใจ และเราจะได้หาทางแก้ไข โดยรักษาสิ่งนั้นไว้ให้คงสภาพอยู่ในจิตใจของเราต่อไป เช่นเรามีความทุกข์นี่ เราก็ต้องแก้ แก้ตามหลักการที่เราได้ศึกษามาจากคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเราแก้ ทุกข์มันก็ดับไป หรือว่าเรามีความสุขแต่ก่อนนี้ ไม่ใช่หลงใหลเพลิดเพลินอยู่ในความสุขนั้น ความหลงใหลเพลิดเพลินนั้นไม่ใช่ตัวปัญญา ไม่ใช่ความคิดถูกต้อง เราจะต้องศึกษาสังเกตในเรื่องความสุขนั้น ว่ามันเกิดขึ้นมาจากอะไร และมันเที่ยงถาวรไหม มันอยู่กับเราตลอดไปหรือไม่ มันเปลี่ยนแปลงไปในรูปอย่างไร สาเหตุมันอยู่ที่อะไร เราก็ควรดู ควรพิจารณาเพื่อให้เข้าใจในเรื่องนั้นๆ
ปัญหาอื่นๆก็เหมือนกัน ปัญหาในครอบครัว ปัญหาในการงาน ปัญหาส่วนรวมของสังคมที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เราจะต้องใช้หลักวิชชา และหลักการปฏิบัติที่เราเคยผ่านมา เอามาแก้ไข บางครั้งก็แก้ได้ บางครั้งก็ไม่ได้ ไม่ได้ก็ต้องคิดต่อไป ว่าเราจะแก้เรื่องนี้อย่างไร ไม่ใช่ยอมจำนนแก่ปัญหา ยอมแพ้ปัญหา เพราะเราถ้ายอมแพ้ เราก็ต้องรับทุกข์เรื่อยไป พุทธบริษัทไม่ใช่คนยอมแพ้ปัญหา แต่เป็นคนสู้กับปัญหา ต้องเป็นคนมีความอดทนในการต่อสู้ ในการบังคับตัวเองเพื่อให้เกิดกำลังในการต่อสู้ และก็มีความคิดเฉียบแหลม รู้จักใช้อาวุธคือปัญญาของเราที่มีอยู่เป็นเครื่องต่อสู้กับปัญหานั้นๆ เราไม่ยอมแพ้ เราก็เอาตัวรอดปลอดภัย ก็อาศัยหลักการอย่างนี้ ฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตของเราทุกคนที่จะต้องแสวงหาวิชชาใส่ตัว เพื่อให้มีความรู้ในรู้ต่างๆ คือต้องสนใจการศึกษานั่นเอง
วันนี้ เขาเรียกว่าเป็นวันอะไรของกรมการศึกษานอกโรงเรียน มีการที่จะส่งรถเอาหนังสือไปแจกตามจังหวัดต่างๆ เมื่อวานนี้ก็เที่ยวเก็บหนังสือที่คนบริจาค คนให้มากมาย เอามาแล้วก็จะส่งออกไปทุกจังหวัดในวันนี้ นั่นก็คือส่งวิชชาไปให้แก่ประชาชน ให้ประชาชนได้เรียนได้ศึกษา
เพราะว่าสังเกตุดูคนเข้าห้องสมุดยังน้อย คนอ่านหนังสือยังน้อย ยังไม่ค่อยอ่าน เรียนวิชชาอ่านหนังสือมาแล้ว แต่ไม่ค่อยใช้วิชชานั้น คือไม่อ่านหนังสือที่ควรอ่านควรรู้ เขายังไม่รู้ว่าหนังสือเหล่านั้นเป็นประโยชน์อย่างไร ให้ความรู้อะไร เพราะไม่มีการชักจูง ไม่มีการโฆษณาคนในถิ่นนั้นๆให้เข้ามาอ่านหนังสือ ให้ได้สนใจ ให้ได้สนุกสนานในการอ่าน เขาก็เลยไปสนุกกันในเรื่องอื่น ไปหาความเพลิดเพลินกันในเรื่องอื่น บางทีก็ออกไปนอกลู่นอกทาง ไปในเรื่องอบายมุขอันเป็นเรื่องเสื่อมของแก่ชีวิต ครอบครัว และสังคม จึงควรจะได้มีการชักจูงแนะนำให้คนได้อ่านหนังสือ
สำนักต่างๆ ก็ควรจะมีตู้วิชชา คือห้องสมุดใช้ประจำวัด ให้เปิดโอกาสให้คนมาอ่าน ยืมไปอ่านก็ได้ แต่ว่าต้องส่งคืนตามกำหนด และแนะให้คนอ่าน ใครมาวัด เราก็บอกว่าหนังสือนี้ เล่มนั้นดีนะ น่าอ่าน น่ารู้ อ่านหรือยัง ถ้ายังไม่อ่านก็ไปเอาไปอ่านเสีย ถ้าเขาเอาไปอ่านแล้ว กลับมาเราก็ควรถามข้อความในหนังสือนั้นเป็นการทดสอบว่าอ่านแล้วได้รู้ขนาดไหน มีความเข้าใจขนาดไหน จะเอาไปใช้เป็นหลักในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ถ้าเราทำอย่างนี้คนก็จะสนใจในการอ่าน โดยเฉพาะในเยาวชนของชาติ ถ้าเขาได้อ่านหนังสือที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตบ่อยๆ เขาจะไม่ตกต่ำในชีวิตประจำวัน
ตัวอาตมานี่ ก็อยากจะคุยนิดหน่อยว่า เป็นนักอ่านหนังสือมาตั้งแต่เป็นเด็กอยู่โรงเรียนชั้นมัธยม ชั้นประถมนี่อ่านแต่หนังสือเรียน เพราะไม่มีห้องสมุดให้อ่าน แต่พอไปมัธยมหนึ่งนี่ก็ พักเที่ยงนี่ไม่ไปกระโดดโลดเต้นกับใคร ไม่ค่อยชอบเรื่องอย่างนั้นเท่าใด แต่หมกตัวเข้าไปในห้องสมุด ไปอ่านหนังสือ (20.45 วิทยาจารย์) หนังสือ (20.46 เสนาสาร) หนังสืออะไรที่เขาวางๆ วางไว้ก็หยิบมาอ่าน อ่านทุกวันก็ได้ความรู้เพิ่มเติมไว้ในสมองมากมาย ความรู้นั้นก็เป็นสิ่งช่วยเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เรากระทำสิ่งชั่วสิ่งร้าย ได้เห็นอะไรที่เพื่อนไปชวนให้ทำ เรานึกได้ว่าเคยอ่านในหนังสือเล่มนั้น เขาบอกว่ามันจะเกิดทุกข์เกิดโทษอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเพื่อนมาชวนไปเที่ยวกลางคืนนี่ ก็เคยอ่านในหนังสือแถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากคนชอบเที่ยวซุกซนอย่างนั้น พอเพื่อนชวน มันก็นึกไปถึงหนังสือที่อ่าน เห็นภาพหน้าปกที่เขาทำไว้ เป็นภาพที่ไม่น่าดู แผลแถบหน้าเป็นแผล อะไรไม่ดี นึกเห็นภาพนั้นแล้วก็ห้ามใจไม่ให้ไปเที่ยวเตร่สนุกสนานกับพวกเพื่อนฝูงมิตรสหายเหล่านั้น เอาตัวรอดมาได้ก็เพราะอ่านหนังสือนี่เองที่ช่วยให้ปลอดภัย
เวลาพอบวชเป็นสามเณรแล้วก็ชอบอ่านหนังสือ พุทธประทีปตอนพิมพ์หนังสือออกใหม่ๆก็สั่งซื้อมาอ่าน ทำความเข้าใจ ไปไหนก็ชอบอ่านแต่หนังสือ เวลานี้แม้อายุมากแล้ว ถ้ามีเวลาว่าง ไม่ได้ไปเทศน์ที่ไหน อยู่ในกุฏิก็อ่านหนังสือที่ไม่ได้อ่าน หรือเล่มที่อ่านแล้วแต่มันเลือนๆ ก็หยิบมาอ่านอยู่เรื่อยๆ เราจึงควรจะแนะนำลูกเต้าเหล่าหลานของเราให้เป็นนักอ่าน คุณยายควรจะให้หลานมาอ่านหนังสือให้ฟัง เอาหนังสืออะไรให้อ่านเราจะได้ทดสอบว่า การอ่านคล่องแคล่วไหม ออกเสียงถูกต้องไหม วรรณยุกต์ถูกต้องไหม เราจะได้สอบไปในตัว ให้เขาอ่าน อ่านเสร็จแล้ว ก็เพื่อเป็นกำลังใจ รางวัลนิดหน่อย เด็กก็ชอบอ่าน เราไม่เรียกให้อ่าน ก็จะมาอ่าน ยาย อ่านหนังสือไหม หนูจะอ่านให้ฟัง เพราะอะไร มันได้สตางค์นี่ อ่านแล้วมันได้กัณฑ์เทศน์ด้วย เด็กก็จะเพลินกับการอ่าน เราก็จะได้รู้ว่าเด็กเราอ่านหนังสืออะไร แล้วก็เลือกเรื่องที่ให้เด็กอ่านแล้วเป็นคติเตือนใจ เป็นข้อคิดเรื่องจริยธรรม เรื่องศาสนา เรื่องง่ายๆ ให้เด็กอ่าน ค่อยขยับเป็นเรื่องยากขึ้นไปโดยลำดับทุกครั้ง ถ้าเราทำอย่างนั้น ลูกหลานก็จะไม่ไปเที่ยวเตร่นอนบ้าน อยู่ใกล้คุณยายก็สนุก อยู่ใกล้คุณแม่ก็สนุก ใกล้คุณพ่อก็สนุกด้วยการอ่านหนังสือเรื่องนั้นเรื่องนี้ แทนที่เราจะอ่านเสียเอง เราก็ มาอ่านดูสิ อ่านได้ไหม ไปอ่าน อ่านผิด เราก็สอนก็เตือนไป เป็นการอบรมเด็กไปด้วยในตัว นี่เรียกว่าเราให้วิชชาแก่เด็ก ให้ความรู้แก่เด็ก แล้วก็ควบคุมให้ปฏิบัติตามความรู้นั้น เด็กนั้นก็จะมีทั้งวิชชา มีทั้งการปฏิบัติไปด้วยในตัว ชีวิตของเขาก็จะมีความแจ่มใสต่อไปในกาลข้างหน้า
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อยากจะฝากไว้กับญาติโยมทั้งหลายเหมือนกัน เพราะว่าปีนี้เขาสมมุติว่าเป็นปีเยาวชนสากล ปีเยาวชนสากลนั้นก็หมายความว่าให้ทุกชาติทุกประเทศสนใจในเรื่องเยาวชน ให้หาทางปลุกใจเยาวชนให้ตื่นตัวให้ก้าวหน้าในทางที่ถูกที่ชอบตามแนวทางที่ถูกที่ชอบของชาตินั้นๆประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะเมืองไทยเราก็ชอบเอาธรรมในพระพุทธศาสนานี่ ไปเป็นเครื่องมือที่จะปลุกจิตปลอบใจของเด็กเหล่านั้น ให้หันหน้าเข้าหาธรรมะ ให้เห็นประโยชน์ของธรรมะ แล้วก็จะได้นำธรรมะไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป
วันก่อนไปเทศน์กับพวกครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ครูแกก็ถามว่า จะทำอย่างไรให้เด็กชอบธรรมะ จะทำอย่างไรให้เด็กชอบธรรมะ ครูแกถามปัญหาอย่างนี้ หลวงพ่อก็เลยตอบว่า ต้องอธิบาย ทำความเข้าใจทุกโอกาส มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็ต้องชี้ให้เห็นว่า ที่เกิดเรื่องนี้เพราะขาดธรรมะ ขาดธรรมะอะไรก็ต้องบอกให้เด็กเข้าใจ มีอะไรเกิดขึ้นเป็นเรื่องดีเรื่องเจริญ เราบอกอย่างนี้นะ ถ้าเราประพฤติถูกต้อง เราใช้ธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ
ถ้าเราเดินไปบนถนน แล้วข้ามถนนรถชน เข่าแข้งหักเพราะอะไร เพราะเราไม่ประพฤติธรรมจึงถูกรถชน ถ้าเราประพฤติธรรม เราก็เดินตามทางม้าลายที่เขาขีดไว้ให้เราเดิน หาไม่เดินไปในทางอื่น แม้เดินทางนั้นก็ต้องดูไฟเขียวแดง แต่ถ้าหากไฟเขียว รถผ่านมา เราเดินไม่ได้ แม้มีสิทธิ์จะเดิน ก็เดินไม่ได้ เพราะไฟมันเขียวให้รถผ่าน ถ้าไฟแดง รถมันไม่ผ่าน เราก็เดิน ข้ามได้ ไปแนะเขาอย่างนั้น ผู้ใดทำอย่างนั้นผู้นั้นก็ประพฤติธรรมอยู่ในตัวแล้ว
ถ้าหากว่าเรากินขนมแล้ว เที่ยวทิ้งกระดาษห่อถุงพลาสติกเพ่นพ่านในสนามหญ้า ก็เรียกว่าเราไม่ประพฤติธรรม เมื่อเราไม่ประพฤติธรรม เราดูในสนามแล้วมันไม่เกิดสบายใจไหม ดูแล้วมันสกปรกนี่สบายไหม หากเราไม่สบาย เมื่อไม่สบายก็ไม่ประพฤติธรรม ถ้าเราประพฤติธรรมเราก็สบาย
ครูให้การบ้านไป แล้วไม่ทำการบ้าน แต่มาคัดลอกของคนอื่น โดยตัวไม่เข้าใจ เวลาครูถาม ตอบไม่ถูก ครูก็รู้ว่า ไอ้นี่มันตอบไม่ถูกเพราะไม่ได้ทำเอง ไม่ได้คิดเอง แต่ไปคัดลอกจากคนอื่น ไปก้อบปี้เขามา แล้วตัวก็ถูกลงโทษ ที่ถูกลงโทษเพราะอะไร เพราะเราไม่ประพฤติธรรม ถ้าเราประพฤติธรรม เราก็รักสิ่งที่เราจะต้องทำ เราขยัน เราเอาใจใส่ เราคิดเราค้นด้วยปัญญาของเราเอง เราก็สบายใจ ชี้แจงแนวทางว่าให้ทำอย่างนั้น หาโอกาสสอนให้เด็กรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก สิ่งถูกนั้นเป็นธรรม สิ่งผิดนั้นไม่เป็นธรรม เราต้องการสิ่งที่เป็นธรรมก็ต้องทำตัวให้เป็นธรรม อย่าทำตัวให้เป็นคนไร้ธรรมะ จะมีความทุกข์ความเดือดร้อนใจอะไรต่างๆ แนะนำเขาในเรื่องอย่างนั้น เด็กก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมะขึ้นทีละน้อยๆ แล้วหมั่นพูดบ่อยๆให้ได้ยินเสียงไว้บ่อยๆ ถ้าได้ยินเสียงพูดธรรมะบ่อยๆ เด็กก็จะชินกับสิ่งที่เขาได้ยิน
เราไม่ค่อยพูดถึงเรื่องธรรมะให้เด็กได้ยิน เด็กก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม เวลาเขาทุกข์เขาไม่รู้ว่าทุกข์เพราะอะไร เวลาสบายใจก็ไม่รู้ว่าสบายใจเพราะอะไร อันนี้คือความผิดพลาดที่เราไม่ได้สอน ให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องอะไรๆเป็นเบื้องต้น หรือให้เขาท่องธรรมะไว้บ้าง พุทธภาษิตเช่นท่องว่า
ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจารี ธรรมะรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธัมโม สุจินโน สุขาวะหาติ คนสะสมธรรมย่อมมีความสุข
ธัมมกาโม ภะวัง โหติ ผู้ใคร่ธรรมะเป็นผู้เจริญ
ธัมม เทสสี ปราภโว ผู้ชังธรรมะเป็นผู้เสื่อม
สิ่งเหล่านี้พุทธภาษิตที่เป็นธรรมะอยู่เยอะแยะ แต่คัดมา ให้ท่องไว้ ท่องๆจำไว้ก่อน เขายังคิดไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร เอาจำไว้ก่อน และต่อไปค่อยอธิบายทีละเล็กทีละน้อยให้เข้าใจว่านี่คือความเป็นธรรม อันนั้นคือความไม่เป็นธรรม
เช่น พี่กับน้องรังแกกัน น้องรังแกพี่ พี่รังแกน้อง หรือว่าน้องทุบตีพี่ เวลาน้องทุบตีพี่ พี่สบายใจไหม ไม่สบายใจ ที่ไม่สบายใจเพราะอะไร เพราะถูกตี การที่น้องตีเรานั่นมันเป็นธรรมไหม เด็กเขาก็เข้าใจว่ามันไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง พี่กับน้องต้องรักกัน ต้องช่วยเหลือกัน น้องรังแกพี่ พี่รังแกน้อง ก็ไม่ได้ น้องตีพี่ก็ไม่ได้ ทุบพี่ก็ไม่ได้ มีอะไรที่เราจะกิน อย่ากินคนเดียว แบ่งให้น้องกินบ้าง ถ้าน้องมีก็แบ่งให้พี่กินบ้าง อย่างนี้มันเป็นธรรม เป็นธรรมก็คือเรารักกัน เอ็นดูต่อกัน ช่วยเหลือกัน มันก็เป็นความสุขความเจริญ
เราอยู่บ้านใกล้กัน ถ้ามีอะไรเราก็แบ่งกันให้กินให้ใช้ อันนี้ก็มีธรรมะระหว่างบ้าน มีเครื่องเชื่อมให้ระหว่างบ้านได้เกิดความรักสามัคคีกัน เมื่อไม่รักกันก็ต้องใช้ธรรมะเชื่อม ใช้เสน่ห์อื่นไม่ได้ ใช้น้ำมนต์ก็ไม่ได้ ใช้อะไรก็ไม่ได้ นะหน้าทองหรือว่าอะไรลงเลขเสกยันต์อะไรมันก็เอาออกไปหมด พอฝนตกมันก็หายไป มันไม่มั่นคง สู้ธรรมะไม่ได้ ธรรมะนี่มั่นคงรักกันนาน อันนี้เราก็ต้องเอาธรรมะไปใช้ให้เขารัก ทำอย่างไร เราก็ต้องแบ่งปันสิ่งที่เรามีแก่เขาบ้างในบางโอกาส เราพูดจาปราศรัยกันด้วยไมตรีจิต เราประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกัน ทำตนเสมอกันคือไม่ถือเนื้อถือตัว นี่มันก็เป็นธรรมะ ทำให้เกิดความสุขความเจริญ พูดกับเด็กได้ง่ายๆเช่นว่า ถ้าหนูดื้อแล้วครูตี ชอบให้ครูตีหรือ ก็ไม่ชอบ อันนี้ครูตีเพราะอะไร ก็ดื้อ ดื้อนี่มันถูกต้องไหม ก็ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องมันก็ไม่เป็นธรรม ที่เป็นธรรมมันต้องเชื่อฟังครู อ่อนน้อมต่อครู รับคำเตือนคำสอนด้วยดี เอาไปปฏิบัติ เราก็มีความสุขความสบายใจ พูดให้อธิบายเล็กๆน้อยๆบ่อยๆในโอกาสที่เราจะพูดได้ แต่ผู้พูดต้องเข้าใจธรรมะถูกต้อง ต้องรู้จักพูดรู้จักใช้ในเวลาที่โอกาสเหมาะ โอกาสเหมาะแล้วเราใช้ได้ เหมือนเรามียา ใช้ให้เหมาะแก่โรค โรคมันก็หาย แต่ถ้าไม่ใช้ มันก็ไม่หาย หรือใช้ยาผิดโรคมันก็ไม่หาย ผิดเรื่องมันก็ไม่หาย ธรรมะก็เหมือนกัน เราใช้เป็น ใช้ให้ถูกแก่เวลาแก่โอกาสก็ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ธรรมะเป็นประโยชน์ เราพูดไปเขาเข้าใจอย่างนั้นก็เป็นวิชชาอันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาที่เราควรเอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
พระพุทธเจ้าท่านทรงศึกษาค้นคว้าวิชชานี้อย่างลึกซึ้งอย่างละเอียด ศึกษากันนานถึง ๖ ปี ไม่ใช่น้อยนะ เรียกว่าจะสำเร็จปริญญาเป็นพระพุทธเจ้านี่ ต้องว่ากันตั้ง ๖ ปีนี่ ไม่ใช่เล็กน้อยนะ แล้วก็ได้สำเร็จนะ เรียกว่าได้เป็นพระพุทธเจ้า ได้รู้ ได้เข้าใจ ได้เลิก ได้ละ ตัดขาดสิ่งไม่ดีไม่งาม แล้วก็เอาสิ่งนี้มาสอนแก่ชาวโลกให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อไป วิธีการที่พระองค์ได้รู้ คือเรียกว่าตรัสรู้นี่ ก็คือว่าทบทวน ค้นในเรื่องที่พระองค์จะคิดจะค้นด้วยอำนาจจิตที่เป็นสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิของพระองค์นี่ ได้ฝึกมานานเหมือนกัน คือได้ฝึกมาจนถึงขั้นฌาณสมาบัติ สามารถจะนั่งสงบๆเป็นวันๆก็ได้ ๓ วัน ๗ วัน นั่งเฉยเหมือนกับตอไม้ ไม่ไหวติง ฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมา ใกล้ที่พระองค์นั่ง ยังไม่รู้เลย ความที่เป็นมั่นอยู่ในสมาธิอันมั่นคง มันไม่รู้เรื่องว่ามีเสียงฟ้าผ่าหรือมีอะไรเดินมา ก็ไม่รู้ นี่เรียกว่าสมาธิอย่างลึกซึ้ง แต่นี่พระองค์เอาสมาธินี่ไปซื้อปัญหาในสิ่งที่พระองค์ต้องคิดค้น ปัญหาคือความทุกข์นี่ พระองค์ก็คิดไปค้นหาไปจนพบต้นตอรากเหง้าของความคิดนั้นอย่างแท้จริง แล้วได้รู้ตัวการที่สร้างเหตุความทุกข์ให้แก่ตัวชีวิต คือตัวตัณหา ที่พระท่านสวด (33.40) …… อ่านในหนังสือสวดมนตร์แปลก็มี ก็บอกว่า ดูก่อน นายช่างผู้สร้างเรือน นายช่างผู้สร้างเรือนคือตัณหา ไม่ใช่เรือนคือร่างกาย แต่สร้างความคิดลึกขึ้นในจิตใจที่ให้เป็นไปในรูปต่างๆ มันสร้างขึ้นด้วยตัวตัณหาคือความอยาก พระองค์ได้ติดตามมานาน เมื่อยังไม่พบเจ้า เราก็ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ คือเวียนว่ายอยู่ในกิเลสกรรมวิบาก ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น เวียนอยู่ในกิเลส เกิดทำกรรมเกิดวิบากคือผลของกรรม มันเป็นวงกลม เป็นวงกลมเขียนว่ากิเลสกรรมวิบาก มีกิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ทำกรรมแล้วก็เกิดผล พอเกิดผลแล้ว หลงใหลมัวเมาก็เกิดกิเลส เกิดแล้วก็ทำกรรม นี่เขาเรียกว่าวงล้อแห่งสังสาร ที่หมุนไปไม่จบไม่สิ้น ไม่รู้สักกี่ภพกี่ชาติ มันหมุนอยู่เรื่อยๆไป ทุกครั้งที่มันเกิดก็เป็นชาติหนึ่งๆ วันหนึ่งก็เป็นหมื่นชาติแสนชาติแล้วแต่ต่อวัน ก็เกิดอะไรขึ้นในใจเราเยอะแยะ ไม่จบไม่สิ้น เพราะยังไม่รู้ว่า ผู้สร้างคือใคร สภาพมันเป็นอย่างไรยังไม่รู้ แต่เมื่อคิดไปค้นไป ก็ได้พบว่า โอ้ อันนี้เอง พระองค์จึงได้กล่าวว่า ท่านนายช่างผู้สร้างเรือนเอ๋ย เพราะเราไม่พบเจ้าจึงต้องเวียนว่ายอยู่นาน พอบัดนี้เราเจอเจ้าแล้ว เรารู้แล้วว่าเจ้าคือใคร เรารื้อหลังคาทิ้งแล้ว เรารื้อโครงเรือนทิ้งแล้ว ถอนรากถอนโคนหมดแล้ว เจ้าจะมาสร้างอะไรให้เป็นปัญหาในชีวิตของเราต่อไปอีกไม่ได้อีก เราได้จักรื้ออย่างนั้น เพราะได้พบมันแล้ว เหมือนเราได้พบโจร เช่นว่าโจรขึ้นปล้นบ้านเรา ตำรวจจับมาได้ เราก็ชี้หน้ามันได้ ต่อหน้าตำรวจนะ แต่ว่าอย่าไปชี้นะเดี๋ยวมันโกรธพยาบาท ติดคุกแล้วมันออก กูออกมาวันไหน กูต้องเล่นงานล่ะ มันยุ่งเปล่าๆ ตอนไปชี้หน้าก็นึกในใจก็พอแล้ว กูรู้หน้าเจ้าแล้วนะ ว่ามาปล้นข้านะ เจ้าต้องเสวยกรรมนะ ไปติดคุกติดตารางกันไปตามเรื่องนะ ถ้าเจ้าจะมาปล้นข้าอีก ไม่ได้อีกหลายปี บางทีเจ้าออกจากคุก ข้าก็ลาโลกไปแล้วก็ได้ ไม่มีโอกาสปล้นต่อไป อันนี้พูดในใจได้ อย่าไปพูดออกไปดังๆให้เจ็บช้ำน้ำใจเขา เราพูดในใจ
แต่พระผู้มีพระภาคนั้นตรัสออกมาเป็นคำพูดเลย เพราะตรัสกับสิ่งภายใน ไม่ใช่สิ่งภายนอก ไม่ใช่เป็นบุคคล แต่เป็นนามธรรมที่เกิดในใจของเรา คือตัวความอยาก ตัวตัณหา มันสร้างภพสร้างชาติให้เกิดแล้วเกิดอีก ไม่รู้จักจบจักสิ้น เหมือนกับเราไปเที่ยว คนหนุ่มๆเรียกว่าไปเที่ยวบาร์ ไปเที่ยวนี่เพราะอะไร กิเลส อยากไปเที่ยว อยากจะไปดูหน่อยว่าบาร์นั้นเขามีชื่อ นักร้องเขามีเยอะแยะ ดนตรีก็เพราะ อะไรก็ดี เอ้า ต้องไปหน่อย กิเลสมันเกิด เกิดแล้วเราไป พอไปแล้วนั่งเพลินไป เรียกว่าทำกรรม คือเพลินอยู่ในการนั่งดูนั่งชม แล้วก็เกิดความสบายใจ เพราะหลงใหลมัวเมาในสิ่งนั้น แหม แล้วคิดว่า วันหน้าต้องมาอีก วันเบิกเงินเดือนต้องมาอีก พอเบิกเงินเดือนก็ไปอีก หนีเรียน โดดเรียนไปเที่ยวอยู่ในบาร์ ไม่จบไม่สิ้น เพราะไม่รู้ว่าเราไปเพราะอะไร แล้วมันได้อะไรขึ้นมา เราไม่เคยพิจารณา นึกแต่ว่ามันสนุก มันเพลิดเพลิน เราก็ไปอย่างนั้น
เหมือนโยมชอบเล่นไพ่ ก็เหมือนกัน พอถึงเวลาก็ต้องไป กิเลสมันเกิดแสดงว่าไปได้แล้ว เพื่อนเขาคงจะมาแล้วนะ มาหรือยัง โทรศัพท์หน่อย ยกหูโทรศัพท์ไปตามมา เป็นไงพร้อมหรือยัง มาแล้ว มาคอยอยู่ ๕ คนแล้ว ยังขาดเราคนเดียว ก็หกขา ยังขาดขา ก็รีบไปเพราะกิเลส กิเลสมันเกิดให้ไปวงไพ่ อันนี้ไปเล่นเพลินไป เพลินไป ปวดอะไรก็ยังไม่ไป ก็มันยังไม่จบ ขืนไปก่อน แล้วก็ชนะก็สบายใจ ถ้าแพ้ไม่ได้ ต้องสู้อีก ต้องเอาคืนมาให้ได้ นี่แพ้ ก็ต้องเล่นต่อไป เรียกว่าเวียนอยู่ในนั้น วันนี้ไป พรุ่งนี้ไป ไปไม่จบไปไม่สิ้น จนกว่าจะเจอปัญญา ว่า แหม ไอ้ที่กูไปๆนี่ มันไม่ได้เรื่องไม่ได้สาระอะไร หมดเปลืองเงินทองโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรต่างๆ เพราะไปเที่ยวเล่นการพนัน บางคนไปเล่นการพนัน ขาไปขี่รถนั่งรถไป ขากลับมารถแท็กซี่ แม่บ้านก็อ้าว เอารถไปไว้ไหน เขายึดไปเสียแล้วเพราะไม่มีสตางค์ให้เขา แพ้เขามาเอา ต้องหาเงินไปถ่ายรถคืน ไม่ถ่ายคืนเขาก็ยึดไว้เสีย นั่นมันก็เกิดปัญหา ไอ้ครั้นจะไปบอกตำรวจว่าเรื่องยึดรถก็ไม่ได้ เพราะว่าเราไปทำไม่ถูกต้อง เสียแพ้ เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
พวกเล่นแชร์นี่ก็เป็นกิเลสประเภทหนึ่งเหมือนกัน คืออยากได้ดอกเบี้ยมากๆ ฝากธนาคารดอกมันน้อย ไม่ได้ดังใจ แล้วคนที่มาพูดก็บอกว่าดอกมากนะ ได้อะไรก็ได้ อย่างโน้นอย่างนี้ อยากได้ หารู้ไม่ว่าคนที่มาพูดนั่นก็คือหน้าม้านั่นเอง ที่จะมาล่อให้เราเสียสตางค์ไป เขาก็ต้องไป ไปเล่น ไม่มีเงินก็ไปจำนำที่ดินบ้าง บ้านช่องไว้ หวังจะได้ดอกมา จะได้ไปซื้อรถยนต์ ทำอะไรต่ออะไร เข้าไปเล่นๆแล้วไม่ได้ดังใจ เจ้ามือแชร์หลบตัวไม่มาหา ไม่ส่งดอกให้ ไม่รู้จะทำอย่างไร ทำอย่างไรเป็นทุกข์ ก็มีคนป่าวร้องบอกว่าไปประชุมกันที่สำนักใหญ่ ประชุมกันแล้วก็จะได้เปลี่ยนอะไรต่ออะไร พอประชุมกันแล้วก็บอกว่า ไอ้ใบที่กู้เงินกันไว้ มันไม่ดีแล้ว เวลานี้เปลี่ยนเถอะ มาเปลี่ยนเป็นใบหุ้น หุ้นของบริษัทมหาชนต่อไป ก็ไปเปลี่ยน ก็ยังโง่อยู่อย่างนั้นแหละ เรียกว่ายังไม่ฉลาดอะไร ก็เปลี่ยนแล้วมันก็ไม่ได้อะไร ถือกระดาษไว้ใบหนึ่งซึ่งไม่มีความหมายอะไร ถ้าบริษัทล้มก็ล้มไป หรือถือไว้เรียกประชุมว่าเวลานี้กิจการบริษัทขาดทุนมากไม่สามารถจะดำรงตนอะไรต่อไปได้แล้ว ล้มละลาย ปิดช่องไปตามๆกัน ไม่รู้จะทำอะไร ไอ้กระดาษที่ถือไว้มันไม่มีความหมายแล้ว จะเอาไปฟ้องร้องกับใครก็ไม่ได้ เพราะมีคนไปฟ้องแล้ว ศาลตัดสินยกฟ้อง เพราะว่ามันเป็นเรื่องเข้าหุ้นกันนี่ อันนี้เป็นช่องทางให้คนที่จะโกงต่อไปต้องเดินทางนี้ แต่ความจริงยังเดินไม่ถูกนะ เรียกว่ายังไม่ถูกเป้า เพราะยังไม่ได้ทำอะไรถูกต้อง แม้ทำก็ไม่ได้ เพราะตัวเจ้าตัว ก็เที่ยวหลบเที่ยวหลีก กลัวของเก่าจะ (40.54 ฟิวส์) หลุด มันก็ไปไม่รอด ไอ้คนที่ไปนี่ ก็ไม่ฉลาดอะไร แล้วก็ยังมีพระสงฆ์องค์เจ้าก็ช่วยสอนคนให้โง่ไปอีกหน่อย เทศน์ให้ฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ อื้อฉาวกันทั้งบ้านทั้งเมือง นี่มันเรื่องอะไร มันไม่ใช่กิจกรรมของพระสงฆ์องค์เจ้าเรา เทศน์แบบท่านปัญญาเขาก็ไม่ว่าอะไรหรอก ก็ไม่เคยดุไม่เคยว่า เขาก็ไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไร อันนี้ไปพูดให้เขาไปซื้อนั่นซื้อนี่ ไปประชุมกัน ใช้ที่ของตัวเป็นสถานที่ประชุมอะไรกันไป มันก็เรียกว่ามันไม่ค่อยถูกต้อง ไม่ค่อยถูกค่อยตรง นี่ก็เรื่องอวิชชาทั้งนั้นแหละ นั่นมันโง่กัน ชาวบ้านก็ไม่ฉลาด พระก็ไม่ฉลาด มันต่างเรียกว่า กิเลส ตัวกิเลสทำให้เกิดการทำกรรม กรรมทำแล้วก็เกิดผล เกิดผลไม่ดีก็มี เกิดผลดีก็มี เกิดผลไม่ดีก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ก็หาทางแก้ตัว แก้ไม่รอด เอ้า เป็นทุกข์หนักเข้าไปอีก ซ้อนกันอยู่ สลับซับซ้อน เป็นปัญหา โอ้ย มากมายก่ายกอง นี่มันเป็นอย่างนี้นะโยม
กิเลสนี่มันเป็นตัวการใหญ่ที่เราไม่รู้ว่ามันสร้างพิษสงอะไรแก่เรา อันนี้จะแก้อย่างไร เราก็ค้นหาว่าวิธีการว่าจะตัดมันอย่างไร ไม่ให้กิเลสมันเกิดต่อไป มันมาทางไหน มันไปอย่างไร ก็นั่งคิดนั่งทุกข์ จนกระทั่งว่าเกิดความรู้แจ้งขึ้นมา แล้วก็จับออกมาว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญานัง ที่เราได้ยินพระท่านสวดในงานศพนั่นแหละ แต่ไม่รู้เรื่องหรอก สวดไปเถอะ ฟังกันมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ก็ยังไม่รู้ว่าพระสวดอะไร ไอ้สิ่งที่สวดนั้นเป็นหลักปัญญาอันลึกซึ้งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เองว่า ตัวอวิชชานี่เป็นเหตุให้เกิดการปรุงแต่งจิต ปรุงแต่งแล้วมันก็เกิดนั่นเกิดนี่มารวมเป็นลำดับๆ มันก็ต้องตัดสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้มันเกิดที่ตรงไหน พระองค์ก็รู้ว่ามันเกิดที่ตัวเราเอง ไม่ได้เกิดที่ตรงไหน ก็เกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ตัวเกิดมันอยู่ตรงนี้ หรือว่าพูดง่ายๆก็เกิดที่ใจของเรานั่นเอง ใจเรานี่เป็นดีก็ได้ เป็นชั่วก็ได้ เป็นสุขก็ได้เป็นทุกข์ก็ได้ เป็นวิชชาก็ได้ เป็นอวิชชาก็ได้ แต่มันอยู่ที่ใจของเรา ไม่ได้อยู่ที่ไหน
แล้วใจมันอยู่ตามลำพัง มีทางที่จะให้มากระทบอย่างไร เอ้า มีสายโยง สายโยงก็คือตา ดึงรูปเข้ามา หูดึงเสียงเข้ามา จมูกไปดมเอาดึงกลิ่นเข้ามา ลิ้นเอารสเข้ามา กายเอาเรื่องกระทบกายเข้ามา ซึ่งเรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันก็มากระทบประสาทของเรา เรามีตาไว้ดูก็เกิดเรื่องขึ้น เรื่องของตานี่ก็ทำให้เกิดอะไรขึ้นได้ เป็นบาปก็ได้เป็นบุญก็ได้ ถ้าเราดูสิ่งที่เป็นบุญ เราก็สบายใจ เช่นไปดูพระพุทธรูป เราก็สบายใจ ไปดูพระสงฆ์องค์เจ้าที่ประพฤติดีประพฤติชอบก็สบายใจ หูได้ฟังเสียงเพราะๆก็สบายใจ ได้ฟังธรรมะก็สบายใจ ถ้าได้ฟังเสียงด่า ไม่สบายใจ ฟังเสียงซุบซิบนินทาก็มาเล่าให้ฟัง ก็บาดหู ก็ไม่สบายใจ ไม่สบายใจเกิดกิเลสว่า แหม เจ็บใจนัก มันว่ากูได้ กูต้องแก้แค้นมัน ต้องทำให้เจ็บ กิเลสมันก็เกิดตามกันมาหลายตัวหลายเรื่อง เพราะไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นเลยไม่เข้าใจ เกิดซ้อนๆกันขึ้นมา ถ้าหูฟังเสียงได้ยินอย่างนั้นอย่างนี้ จมูกได้กลิ่น ชอบก็มี ไม่ชอบก็มี ลิ้นได้รส เช่นรสอาหาร บางอย่างชอบใจกินเพลิน บางอย่างไม่ชอบปัดจานข้าวออกไปเลย มันทำกับข้าวอะไร เหมือนกับใส่น้ำ ไม่ใส่อะไรเลย เกิดมาทำหาอะไร ดุคนใช้ ดุแม่บ้านอะไรไปตามเรื่อง แล้วเกิดกิเลส เกิดความเกลียด เกิดเพราะโมโห อวิชชาคือโมหะ มันก็พวกเดียวกัน เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เลยก็เกิดกิเลสอื่นตามกันมาเป็นแถว มีบริวาร ไอ้ตัวหน้านำบริวารมาเป็นแถว ไอ้โลภ โกรธ หลง เรียกว่าหัวหน้าโจรใหญ่ แล้วก็มีลูกน้องวิ่งเข้ามาเป็นแถว จะมาท้าเราทั้งนั้น ท้าให้เราเป็นทุกข์นะ ไม่ใช่เรื่องอะไร ทำให้เป็นทุกข์ ให้ไม่สบายใจ ให้เกิดปัญหาขึ้นมาในด้วยประการต่างๆ นี่แหละคือสิ่งที่มาเกิด ก็เกิดที่ใจของเรานั่นเอง
พระองค์จึงได้ตรัสว่า นรกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นิพพานก็อยู่ที่ตรงนี้เหมือนกัน คืออยู่ที่ในเราทั้งนั้น ดังนั้นพระองค์จึงพูดชัดเจนว่า ในกายยาววา หนาคืบหนึ่ง มีใจครอง มีทุกข์ มีเหตุให้เกิดทุกข์ มีความดับทุกข์ มีข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ รวมย่อว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น มันเกิดในนี้ เกิดในตัวเราแต่ละคน ไม่ได้เกิดที่ไหน ไม่ได้เกิดจากฟากฟ้า ไม่เกิดจากสิ่งนั้น ไม่ได้เกิดสิ่งนี้ แต่มันเกิดมีอยู่ในใจของเรา เพราะเราขาดปัญญาขาดวิชชาเป็นเครื่องประกอบที่จะรู้ให้มันลึกซึ้งในเรื่องอย่างนั้น สิ่งใดมากระทบเรารับรู้ด้วยอวิชชา มันก็ปรุงแต่งให้เกิดสังขาร วิญญาณ นามรูป ปรุงแต่งไปตามลำดับ แต่ถ้าเรารับเรื่องด้วยวิชชา หยุดปุ๊บเลย มันหยุดอยู่ตรงนั้น เหมือนกับเรารู้ มันหยุดปั๊บทันที พอรู้ปุ๊บมันก็หยุดปั๊บทันที มันไม่ทำให้เราเสียหาย เช่นเราจะไปจับอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เราก็ไม่รู้ เราก็ไปจับเข้า พอจับเข้า สมมุติว่ามันมีไฟฟ้า พอจับปุ๊บมันก็ดูดเรานี่ เพราะเราไม่รู้ไปจับมันก็ดูด แต่พอเรามองเหตุ เอ ไอ้นี่มันไฟฟ้านะ อย่าไปจับนะ จับแล้วมันจะแล่นเข้าร่างกายนะ ปัญญามี สติมี พอมีสติ ปัญญามี วิชชาเกิดขึ้น เราก็ไม่จับ เรานั่งดูเฉยๆ ไอ้สิ่งนั้นมันก็อยู่ตามรูปของมัน ตามเรื่องของมัน มันไม่มีพิษสงอะไรกับเรา เพราะเราไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง แต่ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอำนาจอวิชชา เราก็เป็นทุกข์ไม่ว่าเรื่องอะไรในวิถีชีวิตของเราแต่ละคนนั้น ถ้าเราไปเกี่ยวข้องด้วยอำนาจอวิชชา มันก่อให้เกิดความทุกข์ แต่ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยวิชชา มันก็ไม่เป็นทุกข์แก่เรา เพราะเรารู้ว่าอะไรมาจากไหน เป็นอย่างไร เรารู้ชัด รู้เกิดตลอดสาย รู้ตั้งแต่ต้นถึงปลาย เราก็ไม่เข้าไปยุ่ง ใจเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง คือไม่ไปยึดในสิ่งนั้น ไม่ไปแตะต้องสิ่งนั้น อันนี้แหละคือหลักการของพระพุทธเจ้า ที่ท่านสอนให้เราเอามาปฏิบัติแม้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เป็นหลักการสำหรับพระอรหันต์ ไม่ใช่ สำหรับชาวบ้านที่จะเอามาใช้เพื่อปราบความทุกข์ ที่ได้เกิดขึ้นจากความเข้าไปติดไปยึดเรื่องอะไรต่างๆ โดยไม่มีวิชชา เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรก็ได้ แต่ต้องมีวิชชากำกับ มีความรู้มีความเข้าใจในเรื่องนั้น เช่น คนจะไปทำไฟฟ้า มันต้องรู้เรื่องไฟฟ้าว่าอะไรเป็นสื่อที่จะทำให้เราชักดิ้นชักงอได้มีอะไรบ้าง
บางคนชอบเป็นช่างแต่งไฟฟ้าเอง แล้วก็ไม่รู้เรื่อง วันก่อนนี้ได้ยินข่าว ปีก่อนโน้น นายทหารนะมียศถึงพันโท ฝนก็ตกอยู่ตัวก็เปียกอยู่ไปแตะไฟ นี่คือไม่รู้ด้วยอำนาจอวิชชา อาจจะรู้แต่มันเผลอไปก็ได้เวลานั้น เลยไปแตะ ไฟก็ช็อต ทิ้งลงมาหมดเรื่อง ดับรูป เข้าแผลงเรียบร้อย นี่เพราะอวิชชา ทำให้เป็นอย่างนั้น
เด็กอยู่วัด มีอยู่คนหนึ่ง มันก็เรียนจบแล้วปีนั้น จะสอบครั้งสุดท้าย พ่อแม่ก็หวังอยู่ด้วยความภูมิใจว่าลูกชายจะเรียนจบแล้ว อ้าว มีญาติมาจากปักษ์ใต้ มาเยี่ยม แล้วก็ต้นขี้เหล็กในวัดมันมีดอกสวยๆก็ไม่มีใครกินมันหรอก แต่ว่าคนบ้านทุ่งบ้านนา เขามา เขาเห็นว่ามันน่าเก็บแกงส้มถวายพระ ก็เลยไปเก็บดอกขี้เหล็กมา พร้อมด้วยยอด เอามาแช่น้ำไว้ เพื่อให้สะอาด แล้วก็พอเด็กคนนั้นมา ก็บอก พี่ไปเก็บดอกขี้เหล็กมาแล้ว แต่มันยังขาดอย่างเดียว มะพร้าวไม่มี ไอ้แกงขี้เหล็กมันต้องใส่มะพร้าวด้วยถึงอร่อย มะพร้าว เรื่องมะพร้าวพี่ไม่ต้อง ผมจัดการเอง แล้วมันก็ไปขึ้นต้นมะพร้าว ไอ้มะพร้าวต้นนั้นมันอยู่ใกล้สายไฟ มันไปเที่ยวบอกใครในวัดว่า ฝนตกอย่าไปยุ่งกับมะพร้าวต้นนั้นนะ อย่าไปแตะต้อง ถ้าลมมันพัดถ้าใบมะพร้าวไปถูก ไฟช็อตแพล่บๆอยู่ทุกวันทุกเวลา ถ้าฝนตกไฟมันแล่นออกมาตามต้นมะพร้าว อย่าเข้าใกล้นะ มันไปเที่ยวบอกคนทุกคนว่าอย่าเข้าใกล้ ไอ้บทมันจะตาย อวิชชาครอบงำจิตใจ มันปีน ตอนนั้นมันไม่มีฝนนะเวลานั้น แต่มันลืมไปว่าขึ้นไปแล้วมันจะทำอะไร มันก็ขึ้นไป ขึ้นไปเหยียบใบมะพร้าว เหยียบใบมะพร้าว ใบมะพร้าวก็ทานน้ำหนักมันก็ไปถูกสายไฟ สายไฟมันก็แล่นมา เข้าตัวมัน เข้าตัวมันๆก็ตูมลงมาเลย ตีลังกาลงมาเอาหัวลงมาเสียด้วย หมอเขามาดู บอกว่า แหม คอมันคลอนไปหมดแล้ว นอนชักดิ้น ไม่ดิ้นแล้ว ลงมาถึงก็เรียบร้อย นี่มันตายง่ายเพราะอวิชชา คือมันไม่รู้ มันไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แล้วมันเผลอ เผลอก็คือความประมาท (51.29 อัตถิ อัปมา นัตถิโน ปทัง) ความประมาทเป็นฐานแห่งความตาย (51.33 อัปนา โธ มัตธัง ปทัง) ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย นี่คือลืมไปว่าไอ้ใบมะพร้าวนี้อยู่ใกล้สายไฟ แล้วตัวเองก็ยังไปเที่ยวบอกเด็กวัดทุกคน มึงอย่าไปยุ่งนะไอ้ใบต้นนี้นะ มันไปยุ่งเสียเอง แล้วก็หล่นตุ๊บลงมาตายเอง ด้วยความประมาท
เด็กวัดอีกคนหนึ่ง มันก็อยู่วัดนี่มันแอบ พอเผลอๆก็ต่อสายไฟไปในคูน้ำ หน้าวัดมีคู ช็อตปลา ปลาก็ตาย เอามาแกงกินเรื่อยไป น้ำท่วมใหญ่ไปอยู่บ้าน เห็นปลาว่ายเป็นแถวเป็นฝูง ตัวเคยใช้อวิชชามา ก็เลยหาสายไฟ แล้วหย่อนลงไปในน้ำ แล้วก็มาให้หลานเล็กๆเด็กน้อยๆหลาน บอกว่าอาลงไปแล้วเสียบตรงนี้นะ อาลงไปมันยังไม่ทันได้บอก เด็กมันก็เสียบแล้ว มันไปยืนในน้ำแล้วเด็กมันเสียบปุบเข้าให้ ลงไปเลย ลงไปในน้ำตาย ตายแล้วตำรวจเข้ามาสอบสวน บอกว่ามันเป็นลม ว่านั้น ถูกแล้วเป็นลม เป็นลมเพราะไฟช็อต แล้วก็เลยตาย เรียนหนังสือจะจบอยู่แล้ว จะได้ปริญญาแล้วนะ ตายไปเพราะความประมาท
อวิชชามันทำลายเรา แต่ถ้าเรามีวิชชา มีสติ มีปัญญากำกับ มันก็ไม่ผิดไม่พลาด ทำอะไรก็ไม่เสียหาย ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านค้นคว้าในเรื่องอย่างนี้อย่างลึกซึ้ง แต่ที่นำมาพูดนี่ พูดให้มันง่ายสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ว่าเราควรจะใช้วิชชาใช้จรณะอย่างไรให้มันเป็นการถูกต้อง จะไม่สร้างปัญหาขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ เป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจสำหรับเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเรา เราจะไปเกี่ยวข้องกับอะไรต้องใช้ปัญญาใช้วิชชา อย่าทำด้วยอวิชชา ด้วยความหลงใหลด้วยความเข้าใจผิด เราก็จะปลอดภัย
เวลานี้สิ่งทั้งหลายเป็นพิษเป็นภัยมาก เผลอไม่ได้ วันก่อนอาตมาก็เผลอไปเหมือนกัน มันแต่งตัวเรียบร้อย มาถึงนั่งอยู่บนกุฏิ กราบอยู่บนตักเลย หลวงพ่อจำผมได้ไหม ไอ้เราจะบอกว่าจำไม่ได้มันก็ไม่ดีนะ ก็อย่างนั้นนะ เคยเห็นหน้าอยู่ เคยเห็นหน้า ผมเคยนิมนต์หลวงพ่อไปสวดมนตร์ที่บ้านเปิดร้าน ไอ้เราก็นึกไม่ออกว่าสวดเมื่อไร แต่ก็เออ เอา มองๆหน้าอยู่ก็พอจำได้นะ นั่งคุยๆไป เอ ตู้เย็นของหลวงพ่อนี่เรียบร้อยหรือเปล่า ก็มีตู้เย็นอยู่นะ แต่มันถามว่าเรียบร้อยหรือยัง ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน ฉันมีแต่ใช้ ไม่รู้เรื่อง มันก็เข้าไปว่า อยู่ไหนๆ อยู่ในห้องนั้น ห้องไม้ (54.39) …… เข้าไปปุ๊บ โอ้ เลื่อนมาดู ตู้เย็นหลวงพ่อแย่แล้วนะ นี่ดูๆๆ รั่วแล้ว นี่รั่วแล้ว เอ้า แล้วเปิดดู นี่ข้างล่างมันเสียแล้ว มันต้องเปลี่ยนแล้ว โอ้ สายยางนี่ก็แย่แล้ว มันดึงสายยางออก ไอ้ยางที่ติดฝาตู้นั่นมันดึงออก เสียแล้ว ต้องซ่อมใหม่ ทำประเดี๋ยวเดียวก็เสร็จแล้ว แต่เดี๋ยวผมคิดดูก่อนต้องใช้เงินเท่าไร ไอ้เรามันซื่อ ซื่อแบบพระ ซื่อจนเซ่อ มันก็คิด สามพันห้าร้อยหลวงพ่อ เดี๋ยวๆเอามาจ่าย ผมจะไปจัดการ แต่ว่าสตางค์ไม่มี หลวงพ่อจ่ายแค่ของ แรงงานผมไม่คิด ผมมาเปิดร้านอยู่ตรงนี้ห้าแยกแถวนี้เอง ร้าน บอกชื่อร้านด้วยนะ ไอ้เราก็พาซื่อนะ แต่ก็ยังสังหรณ์อยู่เหมือนกันนะ เออ มันจะหลอกหรือเปล่าก็ไม่รู้ เลยไปเรียกนายน้อยกับแอ๊วมา มาดูว่ารู้จักกันหรือเปล่า คนๆนี้นะ ไอ้พวกนั้นไปไม่ทักไม่ว่าอะไร เออออห่อหมกกันไปเลยให้มันสามพันห้าร้อย ให้ไปสามพันห้า ก็นั่งคอยนะ มันมาเวลาบ่าย บ่ายโมงครึ่ง สามโมงก็ยังไม่มา สี่โมงก็ยังไม่มา ห้าโมงก็หายไป อ้า เรียบร้อยแล้ว เรียบร้อยแล้ว มันก็เก่งเหมือนกันต้มท่านปัญญาได้ เอาไปเลย เอาไปได้นะ จนบัดนี้นะ ตู้นั้นก็เลยไม่ได้ใช้ ต้องยกไปให้คนอื่นแทน ยังไม่กลับเลย เผลอๆก็ไม่ได้เหมือนกัน มันเอาไปเหมือนกัน ไอ้นี่ไม่ใช่เผลอเพราะเรื่องอะไร เพราะเรื่องนึกไว้ใจเขานั่นเอง ไอ้เรานึกว่าเราเป็นคนซื่อ ก็นึกว่าคนอื่นเป็นคนซื่อเหมือนเรา ก็ไว้ใจ ก็มันทำท่าน่าไว้ใจนะ เรียบร้อย กราบบนตักเลย อย่างนั้นอย่างนี้นะ เออ เราก็นึกว่ามันซื่อนะ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันคดเหมือนกับเขี้ยวเลย ตัดคอทีเดียวเอาไปสามพันห้า มันไม่มาก็นึกอโหสิมันไป ไม่ว่าอะไรหรอก ช่างมันเถอะ ของมันแล้วก็แล้วไป โยมๆตามบ้านก็อาจจะถูกได้ง่ายกว่านะ อาจจะถูกหลอกมากกว่านั้นนะ เผลอๆเดี๋ยวมันมาอย่างนั้นอย่างนี้ เอาไปบ่อยๆ แต่ว่าไม่กล้าบอกใคร ขายหน้า อาตมาไม่มีหน้าจะขาย เลยบอกเลย ให้โยมรู้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ นี่เป็นตัวอย่างวันนี้
หมดเวลาพอดี ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ นั่งสงบใจนั่งตัวตรง หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว กำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าหายใจออก คอยคุม มีสติคุมไว้ สตินี่คือตัวเครื่องคุม มีสติคุม สติคือกำหนดรู้ว่าอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงนี้ตลอดเวลา ๕ นาที เชิญได้