แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ หาที่นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ชัดเจน แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์เรามาวัดกัน มากันจนกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว เพราะว่ามันกันทุกวัน ๆ บ่อย ๆ ทำกันมาอย่างนี้เป็นเวลาตั้ง ๒๕ ปีแล้ว จึงถือว่าเป็นธรรมเนียม เป็นสถาบัน ว่าวันอาทิตย์ต้องมาวัดชลประทานรังสฤษดิ์ เพื่อปฏิบัติกิจศาสนา ปฏิบัติกิจคือไหว้พระสวดมนต์ ระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย กล่าวสวดธรรมะอันเป็นบทสังเวคะ สังเวคะหมายความว่าให้เกิดความสลดใจ สวดแล้วเกิดความสลดใจในเรื่องชีวิต ในเรื่องความเป็นอยู่ แล้วจะได้ปรับปรุงตัวเราเองให้ดีขึ้น พ้นจากนั้นก็เป็นเวลาของการฟังธรรม ฟังธรรมเสร็จแล้วก็ไปทำบุญตักบาตร เรียกว่าให้ทาน ถวายแก่ภิกษุสามเณรที่อยู่ประจำที่วัดนี้เสมอมา กิจอันเราได้กระทำนี้เรียกว่าเป็น บุญกริยา บุญกริยาแปลว่าการกระทำที่เป็นบุญ ทำบุญก็คือทำให้เกิดความสบายใจ ประโยชน์ตนก็ได้ ประโยชน์ผู้อื่นก็ได้ เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในทางพระพุทธศาสนา
ญาติโยมทั้งหลายที่สนใจในเรื่องการบำเพ็ญบุญดังที่กล่าว จึงได้ชักชวนกันมาวัดในวันอาทิตย์ โดยเฉพาะวันอาทิตย์นี้ก็เป็นวันพระด้วย วันพระก็เป็นวันประเสริฐสำหรับชีวิตของพวกเราทั้งหลาย เป็นวันที่เราสมาทานศีลเป็นพิเศษ คือยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ก็คือศีล ๘
ศีล ๘ นี่เรียกว่าพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นี่เป็นตัวหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เวลาพระผู้มีพระภาคเจ้าจะส่งสาวกไปประกาศธรรมะ ก็สั่งว่าเธอจงไปประกาศพรหมจรรย์ คือการครองชีวิตที่บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ให้แก่เขาได้ยิน ได้รู้ ได้เห็น พร้อมกับอธิบายให้เขาฟังด้วย เรียกว่าไปประกาศพรหมจรรย์ พรหมจรรย์เป็นตัวหลักของพระพุทธศาสนาที่เรานำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันของพวกเราทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชาวโลกทั้งหลาย เพราะการกระทำความดีย่อมทำให้คนอื่นเห็นแล้วสบายใจ การทำความดีทำให้คนอื่นสบายใจก็เรียกว่าเราเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ในทางตรงกันข้ามถ้าเราทำสิ่งชั่วร้าย คนใดเห็นก็ไม่สบายใจ ได้ฟังก็ไม่สบายใจ การกระทำอะไรให้คนอื่นเดือดเนื้อร้อนใจเป็นการผิดธรรมะในทางศาสนา เป็นเรื่องที่เราผู้นับถือศาสนาไม่พึงกระทำ เพราะการกระทำเช่นนั้นสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยประการต่าง ๆ
ผู้ที่มีชีวิตชอบก็คือผู้ที่ไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ใคร ๆ ไม่ทำตนให้เดือดร้อน เราประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งถูกต้องดีงาม อันจะช่วยให้คนมีความสุข มีความสงบในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในเรื่องศีลธรรมในทางพระศาสนาจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้เป็นตัวอย่างแก่คนทั้งหลายทั่ว ๆ ไป แล้วให้ทุกคนได้เห็นตัวอย่างในทางดี และช่วยกันประพฤติดีประพฤติชอบต่อไป
สังคมโลกเราในยุคปัจจุบันนี้ มันก็มีปัญหาด้วยประการต่าง ๆ มากมายหลายเรื่องหลายประการ เกิดขึ้นจากดวงจิตที่ไม่มีธรรมะเป็นหลักคุ้มครอง จิตที่ไม่มีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองก็จะถูกความโลภอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น หรืออยากได้ทรัพย์ในทางที่ผิดเกิดขึ้นในใจ แล้วก็กระทำความผิดอย่างอื่นอีกหลายอย่าง เกิดขึ้นเพราะความโกรธ ประทุษร้าย จิตใจไม่สงบ ไม่มีความกรุณาปรานีต่อใคร มันก็สร้างปัญหาขึ้นให้คนอื่นเดือดร้อน เกิดความหลงขึ้นในจิตใจ ทำอะไรก็ผิด ๆ ถูก ๆ ไม่ถูกไม่ตรงตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็สร้างปัญหาให้แก่คนอื่น ทำให้คนอื่นเกิดความหลงใหลมัวเมาในสิ่งนั้น แล้วก็ไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ
แม้การปฏิบัติธรรมะ ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกก็สร้างปัญหาเหมือนกัน คือไปหลงไปติดในสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง ไปติดอยู่ในสิ่งที่ไม่ก้าวหน้าในการยกระดับจิตใจเพื่อให้สูงขึ้นจนกระทั่งถึงจุดหมายคือความดับทุกข์ดับร้อนได้ แต่ไปติดอยู่ในสิ่งเป็นรูปเป็นภาพแห่งความเพลิดเพลินสนุกสนานด้วยประการต่าง ๆ ติดอยู่ในสวรรค์ในวิมานอะไรก็ไม่รู้ จนเวลานี้บางคนก็ไปจองสวรรค์กันแล้ว เพราะว่าในบางแห่งเขาสอนให้เห็นสวรรค์ แล้วก็เกิดไปจองไว้ กลัวเพื่อนจะไปแย่งเอาสวรรค์วิมานไป แล้วไปนั่งดูสวรรค์ดูวิมานอยู่ ซึ่งมันไม่ใช่หลักของพระพุทธศาสนา
หลักของพุทธศาสนาไม่ได้ให้ไปนั่งดูสวรรค์วิมานอย่างนั้น แต่ให้ดูตัวเราเอง ให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริง สภาพที่เป็นจริงของตัวเรานั้นคืออะไร คือมันไม่เที่ยงอยู่โดยธรรมชาติ มันเป็นทุกข์อยู่โดยธรรมชาติ มันเป็นอนัตตาคือไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ มันเป็นแต่ปรุงแต่งกันเข้าไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง ท่านให้ดูอย่างนั้น ให้เพ่งเรื่องนี้ ให้พิจารณาในเรื่องอย่างนี้ ถ้าเราไปพิจารณาในเรื่องอย่างนี้เราก็จะไม่ไปติดอยู่ในอะไร ๆ ก็เรามองเห็นว่าอะไรมันก็ไม่น่ารัก อะไรมันก็ไม่น่าเอา อะไรมันก็ไม่น่าเป็นทั้งนั้น เพราะไปรับเข้า ไปเอาเข้า ไปเป็นเข้า มันก็สร้างปัญหาคือความร้อนอกร้อนใจ มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจซึ่งเขาเรียกว่าวิมานทะลายไป ก็สร้างวิมานในอากาศ นี่มันก็วิมานทลายกันบ่อย ๆ แล้วก็มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ ไม่ถึงจุดหมายที่พระผู้มีพระภาคตั้งไว้
จุดหมายของการปฏิบัติธรรมมันอยู่ที่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ในชีวิตประจำวัน คำว่าพ้นทุกข์ก็เรียกว่านิพพาน นิพพานก็คือดับทุกข์ได้ นิพพานไม่ได้หมายถึงความตายของร่างกาย แต่หมายถึงว่าความทุกข์มันหายไปจากเรา มันตายไปจากเรา ดับไปจากจิตใจของเรา แล้วมันไม่กลับมาเกิดอีก ก็เรียกว่าถึงนิพพานถาวร แต่ว่าถ้ามันยังมาแอบเกิดกับเราอีก ก็เรียกว่ายังไม่ถาวร ดับได้เป็นครั้งเป็นคราว แต่ยังไม่ถาวร ที่ไม่ถาวรก็เพราะว่าจิตของเรานั้น ยังไม่ได้ก้าวไปในการปฏิบัติธรรมะ เพื่อไปถึงจุดที่เข้าใจถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง เราจึงยังติดยังหลงอะไรกันอยู่ และมีความต้องการอะไร ๆ อยู่ เมื่อไม่ได้สมใจก็มีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เหมือนบทสวดมนต์ที่เราสวดอยู่ตอนเช้านี้แหละ ว่าต้องการอะไรไม่สมหวัง อยู่ร่วมกับคนที่เราไม่พอใจ มันก็เป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อนใจ สิ่งเหล่านี้มันเกิดเพราะอะไร เป็นเรื่องที่เราควรจะพิจารณาศึกษาให้ละเอียด การพิจารณาละเอียดให้ลึกซึ้งก็พิจารณาตรงนี้ ตรงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ที่ตัวของเราที่เราสมมติว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล อันนี้แหละ เราติดอยู่ตรงนี้ เราถอนสมมติไม่ได้ เราถอนสิ่งที่บัญญัติไว้ไม่ได้ ไปติดอยู่ในคำสมมติ ไปติดอยู่ในสิ่งบัญญัติเหล่านั้น สำคัญว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งถาวร เป็นตัวเราอย่างแท้จริง แม้ตัวตายแล้วก็ยังจะมีอะไรอยู่อีก อย่างนี้คือความคิดที่ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น เพราะเราไม่เห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญา ไม่เข้าใจให้ถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง เราจึงต้องเป็นทุกข์ร่ำไป
ทุกครั้งที่เป็นทุกข์เราก็ควรจะถือว่าเป็นบทเรียนของเรา เป็นสิ่งเตือนใจเรา ให้เกิดความรู้ตามสภาพที่เป็นจริงในสิ่งนั้น ก็ต้องเอาความทุกข์นั้นขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญาแก่ตัวเราเอง อย่าให้ความทุกข์เกิดขึ้นผ่านไปเฉย ๆ แม้มันดับไปแล้วก็เอามาพิจารณาได้ พิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา สิ่งใดที่เราเอามาพิจารณา ไม่ได้ใช้ปัญญามันก็เป็นทุกข์ คิดแล้วเป็นทุกข์ เช่น เราคิดแล้วกลุ้มใจ มีความวิตกกังวลด้วยปัญหาต่าง ๆ นั่นแสดงว่าเราไม่ได้ใช้ปัญญาคิด จึงได้เกิดความกลุ้มใจ
ถ้าโยมญาติทั้งหลายคิดถึงอะไรแล้วเสียใจ ก็แสดงว่าไม่ได้ใช้ปัญญา หรือจะคิดแล้วดีใจ ตื่นเต้น ก็ไม่ได้ใช้ปัญญา เพราะว่ายังดีใจยังเสียใจอยู่ ยังยินดีอยู่ ยังยินร้ายอยู่ ยินดีมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ยินร้ายมก็เป็นทุกข์เหมือนกัน แต่ที่ไม่เป็นทุกข์คือไม่ยินดีและไม่ยินร้าย เมื่อไม่ยินดีไม่ยินร้ายมันก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจของเรา อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำเอาเอง ไม่มีใครจะมาเสกให้เราเป็นได้ หรือจะมาบันดาลให้เกิดขึ้นในใจเรา เราต้องสร้างมันขึ้น ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา อะไรเกิดขึ้นในชีวิตก็ต้องหยิบขึ้นมาพิจารณา มาวิเคราะห์ พูดภาษาปัจจุบันว่าวิเคราะห์วิจัย เพื่อให้รู้ให้เข้าใจสิ่งนั้นชัดเจนแจ่มแจ้ง ไม่ปล่อยให้สิ่งนั้นผ่านไปเฉย ๆ แต่เราหยิบเอาวัตถุนั้น เอาเรื่องนั้นขึ้นมาคิดพิจารณาในเวลาใจสงบ พิจารณาด้วยปัญญาเพื่อให้รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร ให้เห็นตามธรรมชาติที่เป็นจริงในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้แหละจะช่วยให้เราพ้นจากปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เพราะเมื่อใดเรามารู้ชัดด้วยใจของเราเองว่า สิ่งนั้นคืออะไร ความหลงใหล ความมัวเมา ความยึดถือ ในสิ่งนั้นมันก็เบาไปจางไป สิ่งนั้นจะไม่มีฤทธิ์มีพิษสงต่อจิตใจของเราอีกต่อไป อันนี้คือวิธีการที่ชอบที่เราจะพึงกระทำตามหลักการนี้ พระผู้มีพระภาคสอนให้เราทำอย่างนี้ ขอให้โยมเข้าใจไว้ประการหนึ่ง แล้วก็จะได้อธิบายต่อไปถึงเรื่องที่ได้พูดติดต่อกันมาค้าง ๆ กันไว้
เมื่อวันอาทิตย์ก่อนนี้ได้พูดว่า อนุตโร ปุริสทัมมสารถิ แปลว่า เป็นสารถีผู้ฝึกคนที่พอจะฝึกได้ ไม่มีใครเทียมเท่า อนุตโร เรียกว่าไม่มีใครยิ่งกว่าพระองค์ไปได้ พระองค์เป็นยอดคนยอดครูผู้ฝึกคน เป็นยอดสารถี สารถีก็คือผู้ที่ฝึกช้าง ฝึกม้า ฝีกอะไรต่าง ๆ ครูมวยนี่ก็เป็นสารถีเหมือนกัน ฝึกคนให้ชกกัน ให้ต่อยกัน แล้วก็ได้รับถ้วยรับรางวัล ดังที่เราเห็นกันอยู่ นั่นก็เป็นสารถีฝึกคนเหมือนกัน แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงฝึกคนทางด้านจิต หรือวิญญาณของผู้นั้น ให้ตื่นตัว ให้ก้าวหน้าในทางปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ผู้ใดที่พระองค์ให้การฝึกแล้ว จะไม่กลับไปสู่ภาวะตกต่ำทางจิตใจอีกต่อไป ฝึกแล้วได้ที่เลย แล้วจะไม่กลับไปสู่ความตกต่ำต่อไป ไม่ว่าจะเป็นใคร เมื่อได้รับการฝึกจากพระองค์อย่างแท้จริงแล้ว จะไม่ถอยหลัง มีแต่ก้าวไปข้างหน้า ก้าวเรื่อยไป จนถึงที่สุดของความทุกข์ เมื่อถึงที่สุดของความทุกข์ ก็เรียกว่าทุกข์ไม่มี มันหมด มันสิ้นแล้วก็ไม่มีความทุกข์ต่อไป นั่นแหละคือจุดหมายที่พระผู้มีพระภาคทรงฝึกคน
คนที่ไปฝึกก็มีหลายประเภท พวกสอนยากก็มี สอนง่ายก็มี พวกดื้อก็มี พวกอ่อนโยนก็มี ก็ทรงมีวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้คนเหล่านั้นเข้าใจเนื้อแท้ของธรรมะที่พระองค์ได้ค้นพบ ให้เขานำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป และเมื่อเขาเข้าใจ เอาไปปฏิบัติแล้ว ก็ไม่มีการกลับไปสู่ภาวะที่ตกต่ำอีกต่อไป มีแต่ว่าจะเดินไปข้างหน้า ผู้ที่เข้าถึงกระแสของธรรมะ ซึ่งเราเรียกท่านว่าพระโสดาบัน โสตาปันน แปลว่าผู้ถึงกระแส เมื่อถึงกระแสแล้วมันก็ไหลไปตามกระแสเรื่อยไป คล้ายกับไม้ที่อยู่ในป่า เขาตัดโค่นแล้วก็ทิ้งไว้ อันนี้ก็เกิดฝนตกหนักน้ำท่วม ไม้นั้นก็ไหลมาตามน้ำ จนมาสู่กระแสน้ำใหญ่ มาสู่กระแสน้ำใหญ่มันก็ไหลเรื่อยไป ไหลไปจนกระทั่งออกปากอ่าว คือออกทะเลลึก ฉันใด จิตใจคนที่เข้าถึงธรรมะแล้ว ก็ย่อมจะไหลเลื่อนไปโดยลำดับ ช้าหรือเร็ว สุดแล้วแต่ความเพียรความบากบั่นความตั้งใจจริงของบุคคลนั้น ผลที่สุดก็จะถึงที่สุดคือความดับทุกข์ได้ แต่พระองค์เรียกว่าที่สุดของความทุกข์ คือทุกข์มันจบกันที ไม่มารบกวนเราต่อไป นั่นเรียกว่าถึงที่สุด
จุดหมายของพระพุทธศาสนาอยู่ที่การปฏิบัติเพื่อให้ถึงที่สุดของความทุกข์ ให้เราเข้าใจไว้อย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องอื่น เรื่องที่สุดของความทุกข์ เดินไปด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยน้ำใจ ก็ไปถึงที่สุดของความทุกข์ ทุกข์ไม่มีอีกต่อไป เมื่อทุกข์ไม่มีแล้วก็ไม่รู้จะพูดว่าจะอย่างไร จะพูดว่าสุขมันก็ไม่ถูก จะพูดว่าอะไรมันก็ไม่ถูกทั้งนั้น คือไม่มีอะไรจะพูดต่อไป ไม่มีอะไรที่จะเอามาอวดอะไรต่อไป ก็มันถึงที่สุดเสียแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นในตัวในตนมันก็หมดไปแล้ว ตัวก็หมดไปเสียด้วย ก็ไม่มีอารมณ์อะไรที่จะอวดใครได้ ใครที่อ้างตนว่าเป็นผู้บรรลุคุณธรรมขั้นสูง เช่น บอกว่าเป็นพระอรหันต์อย่างนี้เป็นตัวอย่าง แล้วก็มาพูดจาอะไรไม่น่าฟังนั้น แสดงว่ายังไม่ถึง เพียงแต่พูดออกไปว่า ฉันได้บรรลุ มันก็ยังไม่บรรลุ ยังไม่บรรลุความเป็นพระอรหันต์ เพราะถ้าบรรลุแล้วมันไม่มีอารมณ์ที่จะอวด ไม่มีอารมณ์ที่จะคุยออกไปในรูปอย่างนั้น เป็นผู้ที่ปิดปากสนิท จะไม่พูดอะไร เรื่องเกี่ยวกับตัวของตัวอีกต่อไป พูดแต่เรื่องธรรมะ พูดธรรมะก็พูดเรื่องความดับทุกข์ให้คนเข้าใจ จะไม่พูดเกี่ยวกับเรื่องของตัว หรือพูดอวดอะไรออกมา
ถ้ายังมีการอวดอยู่แสดงว่ายังไม่ถึง เพราะยังมีอารมณ์อวด มีตัวให้อวด คนหมดตัวนั้นมันอวดไม่ได้ คือไม่มีอารมณ์จะพูดอวดอะไรกับใคร ๆ มันจึงไม่มีการอวดอะไรทั้งนั้น ดีก็ไม่อวด ชั่วก็ไม่อวด มันไม่มีจะอวดแล้วจะอวดได้อย่างไร ก็เรียกว่าใจเขาถึงที่สุดของสิ่งนั้น มีความสะอาดอยู่ มีความสว่างอยู่ มีความสงบอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความขุ่นมัว ไม่มีความเศร้าหมองในจิตใจ ไม่มีความติดอะไร ยึดอะไร ใจมันว่างอยู่ตลอดเวลา อะไรมันก็ไปจับไม่ได้ ขี้ฝุ่นมันไม่เกาะจับใจของบุคคลนั้นต่อไป กิเลสมันก็ไม่เกิด ที่ไม่เกิดก็เพราะว่าเขามองอะไรก็มองเป็นเรื่องเดียว คือมองเห็นว่ามันเหมือนกัน ไม่มีการแตกแยก เห็นเป็นเรื่องของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไปหมดในขณะเดียวกัน เห็นพร้อมกันไปหมดทั้ง ๓ ลักษณะ เกิดขึ้นในใจเมื่ออะไรมากระทบ รูปมากระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น กายได้ถูกต้องสิ่งใด ก็ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยสิ่งนั้น สิ่งนั้นจะไม่มีอำนาจเหนือบุคคลนั้นอีกต่อไป เพราะบุคคลนั้นมีปัญญา มีสติอยู่ตลอดเวลา อะไรมากระทบก็เห็นแจ๋วไปทุกเรื่องทุกประการ จึงไม่มีความทุกข์เพราะเรื่องนั้น นั่นแหละเรียกว่าถึงจุดหมายของการปฏิบัติ
จุดหมายของการปฏิบัติอยู่ที่ตรงนี้ พระผู้มีพระภาคเป็นนักสอนเรื่องนี้ ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ชี้ทางให้คนปฏิบัติ เพื่อไปถึงจุดหมายดังที่กล่าวนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้สอนอย่างยอดเยี่ยม ยิ่งกว่าครูใด ๆ ที่สอนอยู่ในโลกนี้ หลักธรรมของพระพุทธศาสนานี้ จะช่วยโลกให้เกิดความสงบอย่างแท้จริง ให้เกิดสันติสุขอย่างแท้จริง ถ้าคนเข้าใจธรรมะถูกต้อง ปฏิบัติกันให้ถูกต้อง ก็จะเกิดสันติขึ้นในใจของบุคคลนั้น เมื่อใจมันสงบ พูดมันก็สงบ ทำก็สงบ สร้างแต่เรื่องความสงบ จะไม่มีทะเลาะเบาะแว้งกันด้วยเรื่องปัญหาอะไรต่าง ๆ คนใจสงบไปอยู่ที่ใด ก็จะทำที่นั้นให้สงบ คบกับคนประเภทใดก็จะสอนชี้แนะแนวทาง ให้คนเหล่านั้นเกิดความสงบ ไม่ส่งเสริมการวุ่นวาย การเร่าร้อน การทะเลาะเบาะแว้งกันด้วยประการต่าง ๆ เขาจะไม่ส่งเสริมสิ่งเหล่านั้น จะส่งเสริมแต่เรื่องความสงบใจ
ดังนั้นคนที่ใจสงบไปเป็นหัวหน้าคน ก็จะทำคนให้สงบไปด้วย คนจิตวุ่นวายไปเป็นหัวหน้าคน ก็ทำคนให้วุ่นต่อไป สร้างปัญหาต่อไป โลกนี้เต็มไปด้วยปัญหา เพราะผู้นำโลกมันยังมีปัญหากันอยู่ ยังไม่เป็นผู้สงบทางใจ ยังไม่เข้าถึงธรรมะ อันเป็นตัวแห่งความสงบ จะไปประชุมกันก็ประชุมกันไปเถอะ แต่ประชุมกันที่องค์กรสหประชาชาติ ทุกคนที่ไปประชุมนั้น ไม่ได้ไปด้วยความสงบ แต่ว่าไปด้วยความยึดมั่นสำคัญว่าฉันมีฉันเป็นอยู่ตลอดเวลา แล้วก็จะต้องพูดในเรื่องที่เป็นประโยชน์ของตัว จะไม่ยอมกัน ไปประชุมกันก็จะไม่เกิดยินยอมอะไรกันทั้งนั้น เดือนหน้านี้ก็ประธานาธิบดีเรย์แกนก็จะไปพบกับประธานาธิบดีของรัสเซีย ไปคุยกันไม่มีเรื่องจะตกลงกันได้ เพราะตั้งป้อมไปตั้งแต่ในมุ้งแล้ว ว่าไปคุยกันก็เรียกว่าไม่ได้เรื่องอะไร คอยดูกันต่อไปก็แล้วกัน เพราะว่าผู้ไปประชุมนั้นใจมันยังไม่สงบ ยังยึดมั่นในลัทธิในอะไร ๆ มากมายของตัวอยู่ จิตมันไม่ว่าง ไม่เข้าถึงพุทธธรรม แล้วจะไปประชุมให้เกิดความสงบได้อย่างไร
แต่ถ้าชาวโลกได้นำหลักธรรมของพระพุทธเจ้านี้ไปใช้ ปฏิบัติกันอย่างแท้จริง จะเกิดความสงบอย่างแท้จริง ธรรมะในศาสนาอื่นนั้น ไม่สอนถึงจุดความสงบอย่างแท้จริง สอนแต่เพียงว่าให้จงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นเอง แล้วเวลารักมากเข้ามันก็ยุ่ง เหมือนเรารักใครสักคนหนึ่งมันยุ่งอย่างไร ลองนึกถึงความรักธรรมดา ๆ ที่เรารักกัน มันก็ยุ่ง รักพระผู้เป็นเจ้ามันก็ยุ่งเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้าของฉัน ไอ้นู่นพระผู้เป็นเจ้าของเขา ไม่รู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าคืออะไร ลักษณะเหมือนกันหรือเปล่า ชื่อเหมือนกันหรือเปล่า เนื้อแท้มันเป็นอย่างไร เขาไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจก็ถือพระผู้เป็นเจ้าคนละองค์ขึ้นมา แล้วก็เลยต่อยกันด้วยเรื่องพระผู้เป็นเจ้า รบกันด้วยเรื่องพระผู้เป็นเจ้า เหมือนกับที่เขารบกันอยู่แถวตะวันออกกลาง นี่เพราะเรื่องศาสนา ต่างคนต่างมีศาสนาแต่เปลือก แล้วก็ไปรบกันอยู่ หลายปีแล้วไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นกันสักที เพราะไม่มีคนที่ถึงความจริงของธรรมะ ก็เลยรบกันต่อไป จิตใจมันไม่สงบ
เมื่อใดจิตใจคนสงบ ถอนความยึดมั่นในตัวตนออกได้ เมื่อนั้นแหละโลกจะสงบ ถ้าว่าคนได้สนใจปฏิบัติธรรมะในทางพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแท้จริง โลกนี้จะดีขึ้นไปกว่านี้ ลองคิดดู ญาติโยมทั้งหลายลองคิดดูว่า ชาวพุทธเรานี้ไม่ก่อเรื่องอะไรกับใคร ๆ แม้ใครจะก่อเรื่อง เราก็ทำให้เรื่องมันสงบไปโดยวิถีทางแห่งการประนีประนอม การประนีประนอมก็คือการใช้ธรรมะ การแก่งแย่งแข่งดีคือการไม่ใช้ธรรมะ แล้วมันจะสงบขึ้นได้อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องน่าคิด เราทั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนาควรจะภูมิใจในเรื่องนี้ด้วย แล้วก็ควรจะได้หาวิถีทางที่จะให้คนทั่วโลกนี้ ได้รู้ได้เข้าใจแนวทางนี้ เขาจะเป็นพุทธบริษัทหรือไม่ก็ตามใจ แต่ให้เขารู้เส้นทางเดิน ให้เขาลองเดิน แล้วเขาจะรู้จะเข้าใจด้วยตัวเองว่า เส้นทางนี้เป็นทางเอก เป็นทางเดียวที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ดับร้อนได้อย่างแท้จริง ไม่มีทางอื่นที่จะทำให้ไปถึงจุดหมาย มีแค่ทางเดียวเท่านั้น
ท่านศาสตราจารย์ รีส เดวิดส์ ซึ่งแกศึกษาพุทธศาสนามาก จนไปตั้งสมาคมบาลีขึ้นในประเทศอังกฤษ แล้วก็จัดพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกเป็นอักษรโรมัน แล้วแปลออกเป็นภาษาอังกฤษ งานนั้นมันยังเหลืออยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ มีคนเข้าไปถามท่านว่า ท่านนี่นับถือศาสนาอะไร เพราะเห็นทำงานวุ่นแต่เรื่องศาสนาอื่น ไม่ได้ทำงานให้แก่คริสเตียน เขาก็สงสัยจึงไปถามแก ว่าท่านนี่นับถือศาสนาอะไร ท่านก็บอกว่าศาสนาอะไรก็ได้ ที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วฉันก็นับถือแนวทางนั้นแหละ คือศาสนาที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘
อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็คือ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ สัมมาวาจา การพูดชอบ สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้มีอยู่ในคำสอนใด ฉันนับถือคำสอนนั้น เธอจะเรียกฉันว่าอะไรก็ตามใจ แต่ฉันถือหลักคำสอนอันนี้ ท่านพูดออกไปชัดเจนอย่างนั้น ก็เพราะว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางเอก เป็นทางเดียวที่จะนำบุคคลผู้ปฏิบัติให้ไปถึงที่สุดของความทุกข์ได้ เขายืนยันอย่างนั้น ยืนยันจากประสบการณ์ จากการศึกษาตำรา แล้วจากการเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ก็รู้สึกว่าใจมันสงบ สะอาดขึ้น สว่างขึ้น จึงกล้าพูดยืนยันออกมาในรูปเช่นนั้น อันนี้จึงเป็นเรื่องที่เราชาวพุทธควรจะได้ช่วยส่งเสริมสิ่งนี้ให้มันแพร่หลายออกไป
ในเมืองบ้านของเรานี้คนนับถือพุทธโดยชื่อก็มีอยู่มาก เรียกว่าถือพุทธ แต่ว่าไม่ได้เรื่อง ยังไม่ได้เข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า ยังเลอะเทอะกันอยู่ในเรื่องของการนับถือ จนชาวต่างประเทศบางพวกก็บอกว่าคนไทยนี่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนาหรอก แต่ว่านับถือปนกันไปหมด นับถือไสยศาสตร์ นับถือผี นับถือเทวดา นับถือต้นไม้ นับถืออะไรต่ออะไร ปนเลอะกันไปหมด เรียกว่ามันเลอะเต็มทีแล้ว เลอะอย่างนี้แล้วจะเรียกว่าเป็นชาวพุทธได้อย่างไร เราก็ต้องหาอุบายชักจูงโน้มน้าวจิตใจคน ให้ทิ้งสิ่งซึ่งมันรุงรัง เดินทางไกลถ้าเอาของมากแบกเหนื่อย เอาแต่เท่าที่จำเป็น ที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เอาไปใช้ในการเดินทาง แต่นี่เราเอาฟางไปบ้าง ไปหินไปบ้าง เอาทรายไปบ้าง เอาหญ้าแห้งไปบ้าง หอบ ก็เรียกว่าบ้าหอบฟางกัน รุงรังไปหมด เดี๋ยวนี้ลำบาก วุ่นวายกันไปตาม ๆ กัน ทำไมไม่สลัดทิ้งไปเสียบ้าง ไอ้สิ่งที่มันไม่ใช่เนื้อ ไม่ใช่แก่นของพระพุทธศาสนา ตัดทิ้ง ๆ ไป อย่ามารุงรัง อย่าให้มันวุ่นวายเกินไป แล้วจะไม่ต้องไปเที่ยวกลัวอะไรให้มันมากเรื่อง กลัวอย่างเดียวคือกิเลสที่มันจะเกิดขึ้นในใจของเรา กลัวความโลภ กลัวความหลง กลัวความงมงายทั้งหลายทั้งปวงที่มันเกาะจับอยู่ในใจของเรา เราควรกลัวสิ่งนี้ แล้วอะไรที่มันทำให้งมงายอยู่ มัวเมาอยู่ ตัดทั้งไป ๆ โดยไม่ต้องอาลัยอาวรณ์กับสิ่งเหล่านั้น เราก็จะเบาขึ้น
อคล้ายกับเรือ ถ้าเราบรรทุกของมาก มันก็วิ่งช้า มันหนัก เรือพายสมัยก่อนนะ ของมากมันก็พายไปช้า ต้องประคองอยู่ตลอดเวลา น้ำมันปริ่มขอบเรือ กลัวมันจะจบ อันนี้ไม่อยากจม ให้เรือวิ่งเร็ว ก็เลือกอะไรที่ไม่จำเป็นทิ้งเสียบ้าง ของไม่จำเป็นนะ หยิบทิ้งไปเสียบ้าง เอาไปทำไม เอาแต่เท่าที่จำเป็นจริงๆ เพื่อให้เรือเบา ให้ไปถึงจุดหมายได้รวดเร็วขึ้น ฉันใด
ในชีวิตจิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน ไอ้ที่เราเที่ยวนับถือโน่น นับถือนี่ เที่ยวไหว้โน่นไหว้นี่ มันเสียเวลาเปล่า ๆ ไม่ได้สาระ ไม่ได้แก่นสารอะไร เขาเรียกว่าทำตามเขามา คนโบราณทำมาอย่างไรก็ทำกันไปอย่างนั้น ไม่ได้ใช้ปัญญา ไม่ได้ใช้เหตุผลว่าอะไรเป็นอะไร เห็นเขาไหว้อะไรเราก็ไหว้ตามเขา เห็นเขาทำอะไร เราก็ไปทำตามเขาอย่างนี้ ไม่สมกับความเป็นพุทธบริษัท คนอื่นที่เขาศึกษาเรื่องพุทธศาสนาเขามาเห็นเข้า เขาก็นึกว่า เอ..เขานับถือกันอย่างไร ประเทศไทยนับถืออะไรกันแน่ ไหว้มันเปะปะไปหมด เขาก็จะว่าได้ มันน่าขายหน้าไหมล่ะโยมคิดดู เราจึงควรจะสละสิ่งที่มันรุงรังออกไปเสียบ้าง ของไม่จำเป็นเอาออกไป เอาไว้แต่เนื้อแท้ของพระพุทธเจ้า ธรรมะที่เป็นของแท้ของจริง อะไรที่มันไม่ใช่พุทธศาสนาตัดทิ้งไป ๆ ก็เคยพูดบ่อย ๆ อะไรไม่ใช่ ก็พอจะรู้แล้ว ดูหนังสือเก่า ๆ ที่พิมพ์ ๆ แล้ว เอาเทปเก่า ๆ ที่อัดแล้วมาฟังดู ก็จะรู้ว่าอะไรไม่ใช่ แต่เราไหว้อยู่เพราะไหว้ตามกันมา นับถือตาม ๆ กันมา โดยไม่ได้ใช้ปัญญาอะไร ถ้าไม่ได้ใช้ปัญญาแล้วจะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าได้อย่างไร
ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าต้องเป็นผู้รู้ ต้องเป็นผู้ตื่น ต้องเป็นผู้เบิกบานแจ่มใสในธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่รู้ เราไม่ตื่น เราไม่มีความเบิกบานแจ่มใสในพระธรรม แต่เบิกบานแจ่มใสในเรื่องอะไรก็ไม่รู้ มันก็ไม่สมภาคภูมิของความเป็นพุทธบริษัท เราจึงควรจะได้คิดกันในข้อนี้ แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขความเชื่อความเข้าใจให้เข้าแนวของพระพุทธเจ้า ให้ใคร ๆ เขามองเราว่าเรานี้เป็นชาวพุทธจริง ๆ และตัวเราเองก็มีความกระหยิ่มในตัวเองได้ว่าฉันเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เป็นลูกศิษย์ที่จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ลูกศิษย์ชนิดหลายใจ เดี๋ยวมาไหว้พระพุทธเจ้า เดี๋ยวไปไหว้ผี เดี๋ยวไปไหว้เทวดา เดี๋ยวไปไหว้ต้นไม้ เดี๋ยวไปไหว้เสา ไหว้มันเปะปะไปหมด เรียกว่ามันหลายใจเกินไป แล้วมันลังเล ลังเลสงสัย ไม่ก้าวหน้า เพราะไปเที่ยวติดสิ่งเหล่านั้นอยู่ โยมจะกล้าไหมที่จะเลิกติดสิ่งเหล่านั้นเสียบ้าง ละสิ่งเหล่านั้นไปเสียบ้าง ไม่เหลียวแลสิ่งเหล่านั้นต่อไป ไม่สนใจต่อไป
แล้วเราก็ไม่ไปหาใครที่มันโง่ ๆ เช่นไปหาหมอดู เรียกว่าไปหาความโง่ ไปหาคนโง่ ไปสำนักทรงเจ้าเข้าผีทั้งหลายทั้งปวง นี่เขาเรียกว่าไปด้วยความโง่ ไปให้พวกนั้นมันหลอกมันต้มเล่น ย่อยยับกันไปตาม ๆ กัน ถ้าเราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าเราไม่ไป เราไม่ส่งเสริมสิ่งเหล่านั้น ไม่สนับสนุนสิ่งเหล่านั้น การไปก็เรียกว่าไปเป็นแนวร่วมให้เขา ไปเป็นแนวร่วมกับสำนักผีสำนักเจ้า สำนักนั้น สำนักนี้ ก็เป็นแนวร่วมกับคนเขลา กับคนไม่ฉลาด เราเป็นผู้ฉลาดแล้ว เข้าใจแล้ว เราก็ไม่ไปสู่แนวร่วมอย่างนั้น อันนี้จึงจะเป็นการถูกต้องตามวิธีการของพระพุทธศาสนา
ถ้าเราศึกษาให้ละเอียดก็จะพบว่าพระพุทธเจ้าท่านปฏิรูปกิจกรรมความเชื่อ ความนับถือของคนอินเดียสมัยนั้นมากมายก่ายกอง แต่ว่าคนอินเดียพอพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว เขาก็กลับไปสู่ภาวะเดิมต่อไป ไม่ก้าวหน้า เพราะไปติดอยู่ในสิ่งที่เขาติดกันมา ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมละ เวลานี้ประเทศอินเดียก็กำลังจะทิ้งธรรมะเข้าไปเรื่อย ๆเวลานี้ ทิ้งธรรมะ เพราะว่าไม่เข้าถึงแก่นของตัวแท้ของศาสนา ไปถือแต่เปลือก เปลือกมันเหี่ยว เปลือกมันแห้ง แล้วจิตใจก็ตกต่ำ จะรบกันเองอยู่เวลานี้ เพราะว่าความยึดติดเข้าใจผิดนั่นเอง ทำให้แตกพวกแตกเผ่า เอาเครื่องหมายบนหัวมาเป็นที่ยึดถือมั่ง เอากำไลยึดถือมั่ง เอากางเกงมายึดถือไว้มั่ง เอาอะไรต่ออะไรมายึดถือซึ่งไม่ใช่ตัวธรรมะ ไม่ใช่ตัวศาสนา ไม่เข้าถึงแก่นของศาสนา เลยก็เกิดแตกพรรคแตกพวก ไอ้คนนั้นแต่งตัวไม่เหมือนเรา ผมมันสั้นไอ้นี่เรามันผมยาว ไอ้นั่นแต่งอย่างนั้น ไอ้นั่นแต่งอย่างนี้ ทำให้เกิดความแตกแยกแตกร้าวในพวกกันเอง มันก็ยุ่งอีก ทำให้เกิดเป็นปัญหารบราฆ่าฟันกันด้วยประการต่าง ๆ ดังที่เราเห็นเป็นข่าว อันเป็นเรื่องน่าสลดใจ อาตมาได้ฟังข่าวก็ โอ..อินเดียนี่กำลังจะเดินออกจากเส้นทางของบรรพบุรุษ บรรพบุรุษนั้นเขานับถือธรรมะ ในคำสอนของพระศาสนา
ไม่ว่าของผู้ใดมาสอนในอินเดีย ก็เรียกว่า อริยธรรมของอินเดีย อริยธรรมของอินเดียนี้เขานับถือกันทั้งนั้น แต่เวลานี้กำลังแตกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นพรรคเป็นพวก ไม่เดินไปตามกระแสน้ำสายเดียวกัน แต่ว่าเดินคนละเส้นทาง พวกหนึ่งจะไหลไปด้านตะวันตก พวกหนึ่งจะไหลไปด้านตะวันออก มันกลายเป็นแม่น้ำคนละสายไป คนละสีไป คนละรสไป แล้วก็เกิดการถือเขาถือเรารุนแรงขึ้น ไม่เข้าถึงธรรมะอันเป็นดั้งเดิม ก็เกิดปัญหาเหมือนกัน
บ้านเมืองของเราก็น่ากลัว ในกาลต่อไปข้างหน้า เพราะว่าคนมันมีลัทธิ มีอะไรมากขึ้น แปลกปลอมมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นปัญหาอะไรต่าง ๆ ซึ่งความจริงก็ควรระวังเหมือนกัน คล้ายกับว่าเรามีบ้านอยู่หลังหนึ่ง คนในบ้านหลายคน เมื่อก่อนนี้มีความคิดเห็นตรงกัน ดำเนินชีวิตแบบเดียวกัน แล้วต่อมาก็มีคนอื่นเข้ามาในบ้านของเรา มาพูดกับคน ๆ หนึ่งในบ้านของเรา ดึงออกไป ให้ไปเป็นพวกเขา ให้ไปถือตามแบบเขา แล้วพอกลับมาก็ไม่เข้ากับพวกที่บ้าน กลายเป็นคนละพวกไป แล้วจะอยู่กันอย่างไร มันก็ไม่เป็นสุข คนในบ้านก็เป็นทุกข์ ไอ้เจ้าที่ออกไปก็ไม่สนิทกับพวกที่อยู่ในบ้านเดิม แต่ไปสนิทอีกกับคนกลุ่มอื่น ซึ่งต่างไปจากพวกของตัว มันก็กลายเป็นการสร้างพวกขึ้นอีกในหมู่ของคนเรา ในบ้านของเรา
ต่อไปก็ยิ่งมากขึ้นมันก็เป็นปัญหา น้อยยังไม่เป็นปัญหา มากขึ้นก็จะเป็นปัญหา เพราะการสอนเขาไม่ได้สอนเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม แต่ว่าสอนให้เกิดการแตกแยก แตกร้าว ให้ถือพวกของตัวเป็นใหญ่ ไม่เอาพวกอื่น ไม่ถือหลักสัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ได้ถือหลักนั้นไง แต่มันถือหลักของเขา พวกเขา พวกฉัน เวลามีปัญหาอะไรขึ้น เอาของไปแจก แจกแต่พวกของตัว แต่บ้านโน้นจะอดตายไม่แจก เพราะไม่ใช่พวกของตัว เคยมีที่เชียงใหม่ เวลาน้ำท่วมใหญ่ แถวนั้นท่วมมาก แล้วลงมาท่วมกรุงเทพฯด้วย แต่ว่าสมัยนั้นน้ำเดินทางช้า กว่าจะมาท่วมกรุงเทพฯก็ตั้งเดือนครึ่ง จึงมาท่วมกรุงเทพฯ ท่วมเชียงใหม่ก่อน แล้วก็เลื่อนมาโดยลำดับ ถึงนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท มาลำดับจนถึงกรุงเทพฯ นี้น้ำเดินทางตั้งเกือบสองเดือนจึงมาท่วมกรุงเทพฯ
อาตมาอยู่เชียงใหม่แล้วก็ไปแจกข้าวแจกของเหมือนกัน ไปแจก ถามว่าเป็นอย่างไร น้ำท่าจมบ้านจมเมือง ข้าวน้ำชามปลาเป็นอย่างไร ว่าโอ..แย่แล้ว ไม่มีอะไรจะกินแล้ว เมื่อวานนี้เขามาแจกกันก็พวกโน้น ไปขอรับแจกบ้าง เขาไม่ให้ เขาบอกว่านี่มันไม่ใช่พวกเรา เราไม่ให้ เขาถืออย่างนั้น เขาแจกแต่พวกเขา แต่คนพวกอื่นเข้าไปรับแจก เขาไม่ให้ อาตมาพอรู้เช่นนั้นก็เรียกมาทั้งหมด พวกเขาพวกเราไม่ว่า แจกหมดทุกคน ทุกครอบครัวในหมู่นั้น เอามาแจกทุกครอบครัว ให้เห็นว่าพระนี้ไม่ได้ถือพรรคถือพวก แต่ถือว่าคนไทยด้วยกัน ร่วมทุกข์กัน ร่วมสุขกัน มีอะไรก็แจกให้ทั่วกัน ทำอย่างนั้น แล้วไปแจกจนถึงบ้านของเขา ที่เป็นหมู่พวกเขา พวกเขาเฉพาะ ไปถึงก็ขึ้นที่โบสถ์เลย ตีระฆังชักระฆังดังขึ้นเลย เหง่งหง่าง ๆ ชาวบ้านตกใจ มันไม่ใช่วันอาทิตย์ ระฆังมันดังอย่างไร มาถึงเห็นพระชักระฆัง พระคุณเจ้าทำไมมาชักระฆัง ฉันบอกว่าพระผู้เป็นเจ้าสั่งให้มาตีระฆัง ให้พี่น้องมาประชุมกันเพื่อรับแจกข้าวสาร กลับไปบอกกันมาใหญ่เลย เลยแจกให้ทุกคน ทุกครอบครัวในหมู่บ้านนั้น แจกข้าวสาร กะปิ น้ำปลา ขัดข้องอะไรก็แจก หมากยังเอาไปแจกเลย ก็ไปไหนไม่ได้ มันถูกปล่อยเกาะ แจกให้ทั่วถึงกัน เราทำอย่างนั้น
เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้เราใจกว้าง ไม่ได้สอนให้เราคับแคบ ให้เรามองเห็นชาวโลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน ร่วมทุกข์กัน ร่วมสุขกัน มีอะไรก็ควรจะแบ่งกันกินกันใช้ หลักการนี้มันกว้างขวาง มันเป็นสากล แต่ในภาษาธรรมะเขาเรียกว่า อัปปมัญญา เมตตาที่เป็นอัปปมัญญา คือไม่จำกัดบุคคล ไม่จำกัดหมู่ ไม่จำกัดคณะ แผ่ไปเป็นวงกว้าง เหมือนแสงอาทิตย์ที่ส่องทั่วบ้านทั่วเมือง บ้านเศรษฐีดวงอาทิตย์ก็ส่องไป บ้านยากจน บ้านใครส่องทั้งนั้น แสงอาทิตย์ส่องทุกบ้าน แสงจันทร์ก็ส่องไปทุกบ้าน ไม่ใช่ส่องไอ้นี่บ้านเศรษฐีส่องมากหน่อย อันนี้ยากจนอย่าส่องให้มันเลย มันไม่มีอย่างนั้น แสงจันทร์ส่องทั่วถึง แสงอาทิตย์ก็ส่องทั่วถึง ไอ้ฝนนี่ไม่ได้ เอาเป็นแบบไม่ได้ ฝน มันตกที่วิภาวดีรังสิตได้ แต่ว่าถนนแจ้งวัฒนะไม่ตก ฝนนี่เอาเป็นอย่างไม่ได้ แต่ดวงอาทิตย์ แสงอาทิตย์ แสงจันทร์นี่เห็นเป็นตัวอย่างได้ว่า ไม่จำกัดบ้านใคร ไม่จำกัดฐานะบุคคล ส่องถึงทั่วกันทั้งนั้น ทุกหนทุกแห่ง ทุกประเทศทุกชาติด้วย
พระพุทธเจ้าของเรามีพระเมตตากว้างขวาง ไปแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้า พระองค์ตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า น้ำใจของตถาคตเสมอกันในพระราหุล ในเทวทัต ในช้างธนบาล เทวทัตนี่เป็นศัตรูของพระพุทธเจ้า พระราหุลคือพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาก็เป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็ในช้างธนบาล ช้างนี่เทวทัตให้ดื่มเหล้า เอาเหล้ากรอกเข้าไป ช้างกิน ช้างเมา เมาแล้วจะปล่อยให้มาแทงพระพุทธเจ้า น้ำพระทัยของพระองค์ในช้างธนบาล ในเทวทัต ในพระราหุล เหมือนกัน ไม่แตกต่างกัน สายตาที่มองไปยังสิ่งเหล่านั้นเท่าเทียมกัน น้ำพระทัยที่แผ่ไปเหมือนกัน เมตตาเท่ากัน นี่เขาเรียกว่าเป็นอัปปมัญญา ไม่มีขีดคั่นกำหนดว่าคนนั้นคนนี้ แต่ว่าแผ่ทั่วไป
พระองค์จึงได้พระนามว่า สัตถา เทวะมนุสสานัง เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย สอนทั้งมนุษย์ทั้งเทวดาด้วย เทวดาคือใคร นั่นเป็นปัญหาที่ควรจะวินิจฉัยกันในวันอื่น แต่ว่าพระองค์ก็สอนเหมือนกัน ถ้าพูดถึงเทวดาโดยสมมติก็คือพระราชามหากษัตริย์นั่นเอง พระราชามหากษัตริย์นี่เขาเรียกว่าสมมติเทวดา เวลาเขาใช้คำบาลี ก็สมมติเทวะ ข้าแต่สมมติเทพ พูดกับพระเจ้าแผ่นดิน เขาพูดอย่างนั้น พระเจ้าแผ่นดินเป็นเทวดาที่พระพุทธเจ้าไปสอนเหมือนกัน แล้วกลางคืนนี่เทวดาชอบไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดินนี่ไปหาพระพุทธเจ้ากลางคืน ไม่ไปกลางวัน เพราะกลางวันงานเยอะ อันนี้กลางคืนนี่ว่าง เวลาไปก็จุดประทีปโคมไฟคบเพลิง ถือไปทำให้วัดเชตวันสว่างไสวด้วยคบเพลิงของเทวดา ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปตอนดึก คนอื่นก็นอนแล้ว เทวดามาหาพระพุทธเจ้า มาคุยกัน ถามปัญหาเรื่องอะไรต่ออะไร มีปรากฏอยู่เยอะแยะ เช่นว่าในเรื่องโกสลสังยุตต์นี่เกี่ยวเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลล้วน มาสนทนากับพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเรื่องอะไร มาคุยกันกลางคืน พอคุยกันกลางคืนแล้วก็กลับวัง จะเช้าขึ้นก็ไปคุยกับประชาชน ว่าอย่างนั้นเป็นบาป อย่างนี้เป็นคุณเป็นโทษ
แม้เมืองไทยเรา พระเจ้าพ่อขุนรามคำแหงนี้ แห่งกรุงสุโขทัยนี่ ท่านไปหาพระกลางคืนเหมือนกัน เพราะกลางวันท่านยุ่งด้วยราชการบ้านเมือง ภาระมาก พอค่ำแล้วท่านก็ทรงช้างไป เขาเรียกว่าไปถึงที่อยู่ของพระอรัญญิก คืออยู่ในป่า ห่างจากวังที่ประทับ ไปถึงนั่น ก็เรียกว่าบันไดหิน เอาหินมาก่อเป็นทางยาวไป ไปถึงช้างหยุด ก็เสด็จลงจากหลังช้าง เดินไปตามบันไดหินนั้น สะพานหินนั้น คล้ายกับเป็นทางยาวแต่ก็สร้างไว้โดยเฉพาะ พระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จดำเนินไป คบเพลิงสว่างไสวนำ ไปหาพระคุณเจ้าที่พักอยู่ในกุฏิน้อย ๆ ทำด้วยศิลาแลง อยู่ที่เชิงเขา ไปนั่งสนทนากันตอนกลางคืน สนทนากันเสร็จแล้ว ท่านก็กลับวัง เช้าขึ้นประชาชนก็มานั่ง รอบแท่นมนังคศิลา แท่นมนังคศิลานี่เป็นแผ่นหินเรียบ ๆ ซึ่งไปเอามาจากภูเขา เอามาวางไว้หน้าวัง พ่อขุนรามคำแหงก็มาประทับนั่งบนแผ่นนั้น ประชาชนนั่งแวดล้อมเฝ้าแหนมากมาย แล้วพระองค์ก็เล่าให้ฟังว่าเมื่อคืนนี้ ฉันไปสนทนากับพระมา ท่านบอกว่าอย่างนี้เป็นกุศล ทำได้ อย่างนี้อกุศล ทำไม่ได้ อย่างนี้ทำแล้วเกิดทุกข์ อย่างนี้ทำแล้วเกิดสุข อย่างนี้ทำแล้วทำให้เกิดความมั่งคั่งมั่งมี อย่างนี้ทำแล้วจะยากจะจน พระเจ้าแผ่นดินท่านสอนธรรมะไปด้วยนะ
คนเมืองสุโขทัยนี่คุ้นเคยกับพระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน แล้วก็แขวนระฆังไว้หน้าวัง ใครเจ็บท้องข้องใจก็มาสั่นระฆัง กระดิ่ง ติ๊ง ๆ ๆ พระเจ้าแผ่นดินรู้ ใครมาสั่นอะไร ออกมาถาม ให้มหาดเล็กเข้ามาถามเรื่องอะไร ก็ไปกราบทูล มีเรื่องพระองค์ก็เสด็จมา พูดจาทำความเข้าใจกับคนเหล่านั้น อยู่กันเป็นกันเอง เมืองสุโขทัยเป็นเมืองที่เจริญด้วยธรรมะ มั่งคั่งด้วยศีลธรรม ท่านจึงมีในศิลาจารึกว่าเมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ประชาชนก็ถือศีลโอนทานทุกวันพระ กลางเดือน สิ้นเดือน วันเพ็ญ วันดับ ไปวัดไปวา รักษาศีลฟังธรรม ผู้ร้ายก็ไม่มี โจรก็ไม่มี เพราะคนถือธรรมะ เข้าถึงธรรมะ บ้านเมืองก็สงบสุข เพราะธรรมะคุ้มครองรักษา
พระพุทธรูปสร้างสมัยสุโขทัยก็เป็นพระพักตร์สวยงามยิ้มแย้มนิ่มนวล ไปดูจะเห็นแล้วประทับใจ เช่น พระพุทธชินราชพุทธรูปนี่ เรียกว่าปลายสมัยแล้ว ปลายสมัยสุโขทัยแล้ว แต่ก็ประทับใจมาก ถ้าเราเดินเข้าไปแล้ว ตั้งแต่ประตูนี่ เพ่งตา เพ่งเดินดูไป จะเห็นพระพักตร์ท่านสวยงามมาก น่าดู แต่คนไม่เข้าไปดูพระพักตร์ ไปนั่งสั่นกระบอก ขอหวยขอเบอร์กับหลวงพ่อพระพุทธชินราช มันเป็นเสียอย่างนี้ ไปนั่งสั่น ไอ้เราไปไหว้พระก็รำคาญ แกก็จะสั่นกรุกกริก ๆ อยู่นั่นแล
แล้วไปพบท่านสมภาร แหมหนวกหูเหลือเกิน เขาสั่นกันมานานแล้ว จะเอาออกก็ไม่ได้ เพราะมันขาดสตางค์รายได้ ไม่สอนธรรมะ ให้คนมาสั่นกระบอก หนวกหูเต็มที เป็นอย่างนี้ ไม่เข้าถึงธรรมะ ไม่เข้าถึงความงามแห่งพระธรรม ความงามแห่งศีลธรรมเราไม่เข้าถึง เราไปเข้าถึงวัตถุที่อยู่หน้าพระพุทธรูป ไปขออะไรต่ออะไรของท่าน เสร็จแล้วมา บนบานแล้วได้ เอาหมูมาถวาย ถวายเสร็จแล้วยกไปกินที่บ้าน ไม่ได้ยกไปถวายพระหรอก เอาไปกินเอง เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานกันต่อไป เป็นกันอย่างนี้ ก็เรียกว่า ไม่เข้าถึงเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา แต่ไปติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นครูของเทวดาก็สอนธรรม ให้เทวดาประพฤติธรรม มีอะไรก็สอน สอนเทวดาก่อน แล้วค่อยสอนประชาชน เพราะถ้าเทวดาทำดีแล้ว ประชาชนมันก็สบายแล้ว บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข แล้วก็สอนประชาชนต่อไป ทุกหมู่เหล่า เมื่อพระองค์ไปที่ไหนก็แจกแสงสว่างทางธรรมให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจ เสด็จไปไหนก็ไปด้วยน้ำพระทัยเมตตาปรานี ไปเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่ได้ไปเพื่อพระองค์ พระองค์ไม่ได้ต้องการอะไรแล้ว ไม่ได้ต้องการอะไร มีแต่ให้ ๆ ๆ ๆ ตลอดเวลา ไปไหนก็ไปให้ แล้วไปดี ไปเพื่อประโยชน์แก่เขา ประชาชนก็มาต้อนรับด้วยความชื่นอกชื่นใจ ได้เห็นพระองค์ก็สบายใจ ได้ฟังเสียงธรรมะก็สบายใจ เอาธรรมะไปปฏิบัติยิ่งสบายใจมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ประทับอยู่ในจิตใจของคน ในยุคนั้น ในสมัยนั้น สมัยต่อมาก็ค่อยเปลี่ยนไป ๆ เขาเรียกว่าไหลเลื่อนลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งห่างพระมากขึ้นทุกวันทุกเวลา มองพระไม่เห็นแล้วเวลานี้ เรียกว่ามองพระแท้ไม่เห็น มองเห็นแต่เปลือก ๆ อะไรกัน แล้วเราก็ไปเก็บเปลือกมากิน ท้องไส้เสียกันไปตาม ๆ กัน เนื้อไม่กินไปกินเอาแต่เปลือกได้อย่างไร ทุเรียนไม่กินเนื้อ แต่ไปกินเปลือกทุเรียน มันก็เกิดด่างขึ้นในกระเพาะ เปลือกทุเรียนนี่เขาเผาไฟแช่น้ำเป็นด่าง เอาไปซักผ้าได้ ถ้าเราไปกินเปลือกมันก็จะได้เรื่องอะไร มันต้องกินเนื้อ อันนี้มันต้องปอกเปลือกทิ้ง เข้าไปถึงเนื้อคำสอนอันเป็นข้อปฏิบัติ
ใครมีปัญหาชีวิตมีความทุกข์ มีความข้องใจ ลองหันเข้าหาธรรมะ เอาธรรมะไปใช้ เปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา เราก็จะเห็นว่า เออ!มันดีขึ้น ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติธรรมะนี่มันดีขึ้น อันนี้การปฏิบัติธรรมะก็คือว่า ทำใจของเราให้เข้าใจในเรื่องอะไรถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง ไม่ใช่ว่าจะต้องไปปฏิบัติกันที่โน่น ปฏิบัติกันที่นี่ ไอ้นั่นมันเรื่องพิเศษ เรื่องในชีวิตประจำวัน ที่เราอยู่บ้านนี่ ทิ้งบ้านไม่ได้ เราทิ้งครอบครัวไปก็ไม่ได้ เราทิ้งการงานไปก็ไม่ได้ แต่ว่าเราจะต้องทำสิ่งนั้นด้วยจิตใจที่มันไม่เป็นทุกข์ นี่คือปัญหา อยู่ในบ้านทำหน้าที่แม่บ้านโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ เป็นพ่อบ้านโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ไปอยู่ในสำนักงานบริษัทอะไร เราทำงานโดยไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวเศร้าหมอง ไม่มีความวิตกกังวล ไม่มีความเครียด นี่แหละจุดที่เราต้องการ ที่ธรรมะจะเข้าไปช่วยชีวิตในสังคม
แม้ว่าใครจะเป็นอะไร เป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรีก็เอาธรรมะไปใช้ แล้วมันก็สบายใจ บริหารงานเรียบร้อย ไม่เที่ยวทำให้เกิดปัญหา ไม่มีอคติ ไม่ถือพรรคถือพวก หรือไม่เห็นแก่ได้ ต้องการเงินตอบแทน ต้องการสิ่งนี้ตอบแทน เพราะใจมันเป็นธรรม พอใจเป็นธรรมแล้วมันเกิดความพอ ในเรื่องการเป็นอยู่ พอใจในอาหารที่เรามีเราได้ เสื้อผ้า บ้านเรือนที่เราอยู่อาศัย งานที่เราจะปฏิบัติ มันมีแต่เรื่องความพอใจ มีแต่ความพอดี คนเรามันสุขตรงนี้แหละโยม สุขตรงที่รู้จักพอ รู้จักพอดีเท่านี้พอแล้ว สบายใจ มีอะไรก็พูดว่าเท่านี้ดีถมไปแล้ว ก็สบายใจ แต่ถ้ามีเท่านี้มันไม่พอ ต้องหาอีก มันก็ยุ่งใจ กินด้วยความเป็นทุกข์ นอนด้วยความเป็นทุกข์ แต่งตัวด้วยความเป็นทุกข์ นั่งรถไปไหนก็นั่งเป็นทุกข์ เพราะรถมันไม่สวยเหมือนคันที่วิ่งผ่านเราไป แล้วเรื่องอะไรที่หาความทุกข์ใส่ตัว มันต้องหาความสงบใจ ไปอยู่ที่ไหน ไปทำอะไร เกี่ยวข้องกับใครให้ใจมันสงบ ให้ใจสบาย ไม่เกิดความวิตกกังวลจนกระทั่งปวดเศียรเวียนเกล้า เป็นโรคประสาทกันไปตาม ๆ กัน นี่เพราะว่าคิดมาก ไม่เอาธรรมะไปใช้ มันก็ยุ่งด้วยประการต่าง ๆ
จึงควรจะได้ศึกษาเรื่องนี้ด้วยตัวของเราเองทุกคน แก้ไขปัญหาชีวิตด้วยตัวเอง ถ้าว่าอัดอั้นตันใจก็มาปรึกษาพระ ท่านก็แนะแนวทางให้แง่คิดให้ แล้วเราก็ไปปรับของเราเอง เขาบอกวิธีกินให้ แต่เราต้องกินเอง เช่น เขาว่ากินกับตะเกียบ เขาจับอย่างไร ๆ ถ้าเราไม่กิน มันจะกินได้อย่างไร กินกับช้อน กินกับส้อม ก็ทำกันตามใจ พอบอกวิธีให้ บอกให้แล้วเราก็ต้องไปใช้ในชีวิตของเรา เมื่อเราใช้เราก็เห็นผลด้วยตนเอง เพราะธรรมะเป็นปัจจัตตัง เป็นสิ่งเฉพาะตัว ใครทำใครก็ได้ ใครรู้ใครก็เห็น เป็นเรื่องเฉพาะหน้า ขอให้ญาติโยมเข้าใจไว้อย่างนี้
วันนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยม นั่งสงบใจ เป็นเวลา ๕ นาที นั่งสงบใจเป็นการปฏิบัติอย่างหนึ่ง เพื่อให้ใจมันสงบ ให้ตั้งมั่น ให้มันอ่อนโยน สุภาพเรียบร้อย ไม่วุ่นวาย กำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก คุมไว้ให้อยู่ที่ลมเข้าลมออก เป็นเวลา ๕ นาที