แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้หาที่พัก นั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจน แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดชลประทานรังสฤษฏ์ตามสมควรแก่เวลา วันนี้อากาศแจ่มใส พวกเราก็สบายใจ ในการที่จะมาบำเพ็ญกิจในทางศาสนาด้วยการฟังธรรม ด้วยการให้ทาน ด้วยการเจริญภาวนาในตอนบ่าย อันเป็นกิจที่เราทำเป็นประจำวันมาทุกวันอาทิตย์ ผู้ที่มาเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากธรรมะ ได้นำธรรมะไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แก้ไขปัญหายุ่งยากให้หายไป ก็มีความสุขทางกาย ทางใจ ตามสมควรแก่ฐานะ
ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า มีความเชื่อมั่นในพระองค์ และเชื่อว่าธรรมะที่พระองค์แสดงไว้ เป็นหลักปฏิบัติที่พาผู้ปฏิบัติตามให้หลุดพ้นความทุกข์ ความเดือดร้อนได้จริง เราเลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ เป็นผู้ช่วยสืบศาสนา สั่งสอนญาติโยมให้ได้รู้ได้เข้าใจ ให้ได้ปฏิบัติเพื่อทำตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนต่อไป ผลแห่งความเชื่อในคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างมั่นคงนี้ ทำให้เรามีเส้นทางชีวิตแน่วแน่ ที่จะเดินไปสู่ความดับทุกข์ดับร้อนในชีวิตประจำวัน การดับทุกข์ดับร้อนในชีวิตประจำวันได้นั่นล่ะ เป็นสิ่งที่เราต้องการ ดับทุกข์ดับร้อนได้แล้วเราก็สบายใจ ทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์เก่าดับไป เราไม่สร้างทุกข์ใหม่ให้เกิดขึ้นอีก ถ้าเรารู้เราเข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เราก็ไม่ทำเหตุนั้น อะไรเป็นเหตุให้พ้นทุกข์เราก็ทำเหตุนั้น ผลเกิดจากการกระทำของเราเอง ถ้าเราทำดีทำถูกเราก็ได้รับผลเป็นความสุข ถ้าเราทำไม่ดีไม่ถูก เราก็ได้รับผลเป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อน ผลนั้นไม่ได้มาจากอะไรแต่มาจาการกระทำของเราเอง เราเป็นผู้สร้างสิ่งต่างๆขึ้นในชีวิตของเรา สร้างสิ่งที่เป็นปัจจุบัน สร้างสิ่งที่เป็นอนาคตให้เกิดขึ้นในชีวิตเราด้วยประการต่างๆ สร้างอะไรมันก็ได้อันนั้นล่ะ เหมือนเราปลูกข้าวก็ได้ผลเป็นข้าว ปลูกถั่วได้ผลเป็นถั่ว ปลูกแตงก็ได้ผลเป็นแตง เราปลูกอย่างนี้จะได้ผลเป็นอย่างอื่นไม่ได้ฉันใด การกระทำกรรมอย่างใดลงไปผลก็เกิดขึ้นตามที่เราได้หว่านไว้ พระผู้มีพระภาคจึงสอนว่าหว่านพืชชนิดใด ได้ผลชนิดนั้น ทำดีเราก็ได้ความดีที่เกิดขึ้นในใจ ทำชั่วเราก็ได้ความชั่วเพิ่มขึ้นในใจ เพิ่มความดีทำให้ชีวิตสูงขึ้น เพิ่มความชั่วทำให้ชีวิตตกต่ำ เพิ่มความดีเรามีความสุขใจ เพิ่มความชั่วเรามีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ใครต้องการอย่างไหนก็เลือกเอาเถิด แต่คงไม่มีใครเลือกเอาความทุกข์ คงจะเลือกเอาแต่ความสุขความเจริญทางด้านจิตใจ เมื่อเราเลือกเอาความสุขความเจริญ เลือกได้แล้วจงเดินต่อไป ทำต่อไป ทำได้ผลเป็นสุขนิดหน่อยยังไม่พอ ต้องทำมากๆ ทำบ่อยๆ ในเรื่องนั้น ผลก็จะมากขึ้น จนกระทั่งว่าการกระทำนั้นเป็นนิสัย เป็นนิสัยหมายความว่าเราคุ้นกับสิ่งนั้น ชินอยู่กับสิ่งนั้น คิดแต่เรื่องทำดี คิดแต่เรื่องทำถูกตลอดเวลา ความชั่วจะไม่แอบมาเกิดขึ้นในใจของเรา เราก็มีความสุขพร้อมทั้งกายทั้งใจ การงานที่เรากระทำในชีวิตประจำวัน ก็จะเป็นการงานที่อำนวยความสุขให้แก่เรา เพราะคนใจดีก็ต้องทำงานดีขึ้น จะไปทำงานชั่วไม่ได้ เพราะมีความละอายแก่ใจ มีความกลัวต่อผลแห่งความชั่วที่จะเกิดขึ้น จิตใจจึงมั่นคงอยู่ในคุณงามความดี ไม่หนีไปจากคุณงามความดี เราก็เป็นสุข ใครยู่กับผู้นั้นก็เป็นสุข เช่นพ่อบ้านประพฤติธรรม แม่บ้าน ลูกทุกคนมีความสุข แม่บ้านประพฤติธรรม ลูกทุกคน และสามีก็มีความสุข เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงก็พลอยมีความสุขตามไปด้วย
ในทางตรงกันข้ามถ้าเราประพฤติสิ่งเสียหาย ตัวเราเองก็เดือนร้อน คนอื่นก็พลอยเดือดร้อน ใครพบเห็นเราก็มีความทุกข์ทางใจ อันนี้คือผลที่เราเห็นกันอยู่ทั่วๆไป แต่ว่าคนเราไม่ค่อยคิดถึงเรื่องอย่างนั้น มันผิดอยู่ตรงที่ว่าไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องของเรา เรานึกว่ามันเป็นเรื่องของคนอื่นไป และคิดจะไปแก้ที่เขา ไม่แก้ที่เรา การแก้อะไรนั้นมันต้องตั้งต้นที่ตัวเอง ตั้งต้นที่ตัวของเราเองจึงจะแก้ได้ ถ้าตัวเราเองเป็นคนยุ่ง จะไปแก้ความยุ่งได้อย่างไร เหมือนเราว่ายน้ำไม่เป็นจะไปช่วยคนตกน้ำได้อย่างไร มันจะนำเราให้ตกน้ำไปอีกคนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราว่ายเป็นเราก็ช่วยเขาได้ หรือว่าเรามีความไม่ยุ่งในใจ เราก็ช่วยทำคนอื่นให้หมดยุ่งได้ แต่ถ้าใจยังยุ่งอยู่ยังจะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร ดังนั้นกิจเบื้องต้นในการปฏิบัติธรรม ก็ต้องปฏิบัติที่ตัวเองเราก่อน ทำวาจา ทำกายให้ดี ให้งามให้เรียบร้อย ก็อยู่ใจล่ะ ถ้าใจเราดีแล้วอะไรก็ดีหมด ถ้าใจเราเสียอะไรมันก็พลอยเสียไปหมด เพราะฉะนั้นจึงควรจะควบคุมจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา คิดให้มันถูกต้อง พูดให้ถูกต้อง ทำให้ถูกต้อง ในตัวเราอย่างนี้เราก็จะเอาตัวรอดปลอดภัย ไม่เกิดปัญหาขึ้นในชีวิตของเราต่อไป อันนี้เป็นเรื่องที่อยากจะให้ญาติโยมทั้งหลายได้สนใจและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเราจะเป็นคนอยู่ในวัยหนุ่มสาว วัยกลาง วัยผู้เฒ่าผู้แก่ ถ้าใช้หลักนี้ไว้แล้วจะไม่ผิดพลาด จะไม่มีความเสียหายในชีวิต จะไม่ต้องนั่งเป็นทุกข์ร้อนอกร้อนใจภายหลัง เพราะเราได้กระทำถูกอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลาย มีพระคุณที่เราเคยสวดกันอยู่ทุกวันทุกเวลา อยู่บทหนึ่งว่า อนุตตโร ปุริสทัมสารถิ แปลว่าเป็นผู้ฝึกคนที่ฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นนักฝึกคนชั้นเยี่ยมที่ไม่มีใครจะยิ่งไปกว่าพระองค์ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นครูชั้นเยี่ยมยิ่งกว่าครูใดๆ เข้าใจในการฝึกคนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้ก้าวหน้าไปในทางที่ถูกที่ชอบ คนที่พระองค์พอฝึกได้เขาเรียกว่า เวไนย เวไนยสัตว์ ที่เราได้ยินพระสมัยก่อนท่านพูดว่าเป็นเวไนยสัตว์ เวไนยสัตว์แปลว่าผู้ที่จะจูงไปได้ หมายถึงคนและสัตว์เดรัจฉานด้วย สัตว์เดรัจฉานที่เป็นเวไนยเขาเรียกว่าอาชาไนยๆ ม้าอาชาไนย ช้างอาชาไนย โคอาชาไนย คนก็เป็นอาชาไนยได้ด้วยเหมือนกัน คือหมายความว่าเป็นผู้ที่พอฝึกได้ ไม่ดื้อด้านเกินไป ไม่ใจแข็งเกินไป พอจะดึงเข้ามาในทางที่ถูกที่ชอบได้ ก็เรียกว่าเป็นอาชาไนย คนก็เป็นอาชาไนยเพราะฝึกได้ แต่คนที่ฝึกไม่ได้นั้น มันเป็นพวกที่เรียกว่าโง่เง่าเกินไป โง่ในที่นี้ไม่ใช่ว่าเป็นปัญญาอ่อน แต่คนที่มีสมอง มีความคิดพอจะคิดได้ แต่ก็โง่ในแง่ธรรมะก็มีเหมือนกัน โง่ในแง่ธรรมะก็คือว่าไม่รับฟังธรรมะ ไม่เอาไปคิด ไม่เอาไปปฏิบัติ เป็นคนเกลียดธรรมะ เป็นคนเกลียดวัด เกลียดพระ แต่ไปชอบสิ่งชั่วร้ายสิ่งเหลวไหล คนประเภทนั้นเขาเรียกว่าเป็นอันธพาล ฝึกไม่ได้ก็ต้องปล่อยไปเหมือนกัน ใครฝึกได้ก็เอามาฝึก ใครฝึกไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคทรงสนทนากับนายเกสี นายเกสีนี้ก็เป็นนักฝึกม้าชั้นเยี่ยม เพราะในตอนสมัยก่อนนั้น กองทัพก็ใช้ม้า ใช้ช้าง ใช้คนเดินเท้า ใช้รถแต่ว่ารถก็ไม่มีเครื่องจักร ก็ต้องใช้ม้าลากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการฝึกสัตว์เดรัจฉานให้เชื่อฟังให้ทำอะไรได้เรียบร้อยนี้ก็เป็นศิลปะอันหนึ่ง เป็นวิชาชีพชนิดหนึ่งที่คนในสมัยนั้นศึกษาเล่าเรียนกัน นายเกสีนี้แกมีความชำนาญในการฝึกม้า สามารถจะฝึกม้าให้ใช้งานได้คล่องแคล่ว ให้เชื่อฟัง ให้ทำอะไรๆได้ทุกอย่าง มีความเชี่ยวชาญมาก ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็สนทนากันด้วยเรื่องการฝึกอะไรอย่างนี้ล่ะ พระองค์ก็ถามว่า เกสีได้ทราบว่าเธอเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการฝึกสัตว์เดรัจฉานคือม้า ให้เป็นม้าที่เชื่อง เป็นม้าออกศึกได้ ใช้งานการได้ดีใช่ไหม แกก็บอกว่าเป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า แล้วพระองค์ก็ถามว่าเธอฝึกม้าอย่างไร ก็กราบทูลว่ามีวิธีการหลายอย่าง ใช้วิธีการนิ่มนวลก็มี ใช้วิธีการข่มขู่ก็มี ใช้วิธีทุบตีเพื่อให้ม้าทำตามเราก็มี ทำแบบอย่างต่างกันตามนิสัยของม้า ต้องศึกษาเรื่องม้าให้เข้าใจ ศึกษาจิตใจของม้าเฉพาะตัว แล้วก็ควรจะฝึกอย่างไร แล้วก็ฝึกไปอย่างนั้น สำเร็จ พระองค์ถามว่าถ้าเธอฝึกม้าไม่สำเร็จเธอจะทำอย่างไร นายเกสีบอกว่าฆ่ามันเสียเลย เพราะถ้าเอาไว้เสียชื่อครูฝึก ม้าตัวใดฝึกไม่ได้ เอาไปให้ใครใช้มันก็เสียชื่อครูฝึก เสียชื่อสำนัก เลยฆ่าเสียเลย ฆ่าม้าตัวนั้นเสีย แล้วนายเกสีก็กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าพระองค์ทรงฝึกคนอย่างไร พระองค์ก็ฝึกคนหลายประเภท ดูนิสัยใจคอของเขา แล้วก็ให้ธรรมะที่เหมาะกับนิสัย มีนิสัยอย่างใด ก็ให้ธรรมะอันเหมาะแก่นิสัยนั้น เขาเอาไปฝึกฝนไปปฏิบัติก็ได้รับประโยชน์ใช้ได้ นายเกสีก็ถามว่าถ้าคนใดไม่รับการฝึกของพระองค์ พระองค์ทำอย่างไร พระองค์บอกว่าเราก็ฆ่าเขาเสียเท่านั้นเอง นายเกสีก็ทูลบอกว่าเป็นสมณะฆ่าคนได้หรือ พระองค์บอกว่าไม่ได้ฆ่าอย่างที่ชาวบ้านเขาฆ่า แต่เราฆ่าคือไม่สนใจคนนั้นต่อไป ไม่รับฝึกต่อไป ไม่สอนต่อไป เรียกว่าเหมือนกับถูกฆ่าแล้ว ฆ่าทางด้านจิตใจ เพราะไม่รับฝึกรับสอน อันนี้เรียกว่าเป็นฆ่าตามแบบธรรมะของพระพุทธเจ้า คือไม่สอนกันอีกต่อไป ตัดหางปล่อยไปอย่างนั้นเถอะ ได้สนทนากันในรูปอย่างนี้ อันนี้แสดงให้เห็นว่าการฝึกของพระผู้มีพระภาคได้ฝึกอย่างดีให้คนเป็นคนดีขึ้นมา ตามนิสัยของบุคคลผู้นั้น ใครพอฝึกได้ก็ทรงฝึกทรงสอน แต่ถ้าฝึกไม่ได้ก็ปล่อยไปตามเรื่อง
บางทีผู้ที่ไปปฏิบัติธรรมะ ไม่สำเร็จประโยชน์ก็มีเหมือนกัน เช่นว่าพระองค์หนึ่งนี้ให้เจริญกัมมัฏฐาน ไปเจริญกัมมัฏฐานเรื่องอสุภกัมมัฏฐาน อสุภคือแปลว่าไม่งาม “สุภะ”ก็แปลว่างาม ถ้า“อะ”อยู่ข้างหน้ามันก็ไม่งาม อันนี้ให้พระองค์นั้นไปฝึกเจริญกัมมัฏฐาน ดูซากศพในป่าช้า ดูแล้วท่านไม่สบายใจ ไม่สามารถจะทำใจให้สงบได้ เพราะไม่ชอบอารมณ์อย่างนั้น พระองค์ทรงทราบนิสัยของพระรูปนั้น ว่าเป็นผู้ที่ไม่ชอบสิ่งสกปรกอย่างนั้นเห็นแล้วมันสะอิดสะเอียน เหมือนเราบางทีไปเห็นอะไรเข้า มันสะอิดสะเอียนก็ทำอะไรไม่ได้ จะอาเจียนออกมาเสียเลยทีเดียว พระองค์ก็เปลี่ยนให้เอาดอกบัวมา พระองค์เนรมิตดอกบัวสีทองให้ แล้วก็เอาไปพิจารณา ครั้งแรกดอกบัวนั้นก็สดสวย แล้วให้นั่งดู ดูไปๆ ดอกบัวนั้นเริ่มเหี่ยวทีละน้อยๆๆ จนกระทั่งดอกบัวนั้นร่วงไปหมด เหลือแต่ก้านกับข้างในของมัน เท่านั้นล่ะเพ่งดู ดูไปๆ ก็เกิดปัญญามองเห็นอนิจจังคือความไม่เที่ยงจากดอกบัวนั้น แล้วก็นั่งพิจารณาต่อไปก็เห็นความทุกข์เห็นความเป็นอนัตตา จิตก็ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่น หลุดพ้นจากตัณหาด้วยประการทั้งปวงได้ อันนี้เป็นเรื่องที่พระองค์สอนให้ถูกตามอัธยาศัย คนอย่างใดควรสอนอะไรพระองค์ทรงทราบ
แม้จะไปในท้องถิ่นต่างๆก็รู้ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้น ควรจะพูดอะไรกับเขา เป็นพื้นฐานให้เขารับฟัง พระองค์เข้าใจในเรื่องอย่างนั้นถูกต้อง ก็เลยสอนคนได้ดีมีโอกาสที่จะให้เขาได้คิดได้ตรอง ได้เกิดปัญญาได้ ยกตัวอย่างเช่นว่า ชฎิล ๓ พี่น้อง เป็นผู้ชอบบูชาไฟ เมื่อพระองค์จะเทศน์ก็เทศน์เรื่องไฟนั้นล่ะ ให้เขาฟังเพราะมันถูกอัธยาศัย คนเหล่านั้นบูชาไฟ นึกถึงไฟมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ว่าบูชาในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ไหว้ไฟในฐานะให้เกิดปัญญา ทีนี้พระองค์มาเทศน์สอนให้นึกถึงไฟนั่นล่ะ แต่ว่าเป็นไฟข้างในไม่ใช่ไฟข้างนอก ไฟข้างนอกเราใช้วัตถุทำให้มันเกิดไฟ เช่นสมัยก่อนเขาเอาไม้ ๒ อันสีกัน นั่งสีจนกระทั่งเหงื่อไหลไคลย้อยกว่ามันจะลุกเป็นเปลวขึ้นมา เป็นเปลวขึ้นมาเพราะความร้อนที่มันครูดกัน ๒ อัน ถูๆๆ จนกระทั่งมันร้อน ร้อนแล้วก็ลุกเป็นไฟ เราเอาเหยื่อไปวางไว้ แล้วมันก็เอามาใช้ประโยชน์ได้ คนในสมัยก่อนสูบยา ไม่มีไม้ขีดไฟ เคยเห็นเมื่อสมัยเด็กๆ เขามี เหล็กอันหนึ่งยาวแค่นี้ เป็นเหล็กกล้าอย่างดี แล้วก็มีหินหลายก้อนหินนั้นรูปร่างมันคล้ายกับสีผึ้ง สีมันอย่างนั้น แข็งมาก เอาพวกเปลือกพวกขุยของต้นเต่าร้าง ไปเก็บมาแล้วก็ประสมกับดินประสิว บดผงไปคลุกกับไอ้ขุยต้นเต่าร้างนั้น แล้วเอามาวางลงบนหิน วางลงหินแล้วก็เอาเหล็กนี้มาตี ตีไปอย่างนี้ ปุ๊บ ตีเป็นประกายเลย อันนี้ประกายไฟนั้นกระเด็นมาถูกไอ้ขุยนั้นมันก็ลุกเป็นไฟขึ้น อย่างนี้ก็เป็นวิธีสร้างไฟ แล้วเอาไป เป่าให้มันลุกติดเหยื่ออื่นไปก่อติดไฟได้อย่างนั้นก็มี อีกชนิดหนึ่งก็ทำด้วยเขาควาย เอาปลายเขาที่มันตันน่ะ มันตันแล้วก็มาเจาะรูลึกเข้าไปประมาณ ๒ – ๓ องคุลี แล้วก็มีเขาควายอีก เอามาทำให้กลม แล้วก็เอามาใส่เข้าไปในรูนั้น เอาขี้ผึ้งทาให้มันฝืดหน่อย แล้วเอาขุยใส่เข้าไปที่ปลาย ที่ไม้อันนั้น แล้วก็ตบชับ ดึงออกมา เกิดไฟเหมือนกัน ความร้อนมันเสียดสี ก็เกิดไฟขึ้น เอาไปใช้ได้ คนสมัยก่อนไม่มีไม้ขีดไฟเหมือนเรา เราเวลานี้นอกจากมีไม้ขีด มีขีดไฟปุ๊บ ติดไฟได้รวดเร็ว เดี๋ยวนี้เร็วกว่านั้น กดสวิตซ์ปั๊บไฟก็สว่างออกไปเลย นับว่าสะดวกมาก
ความสะดวกมันก็ทำให้เราสบาย เมื่อสบายก็ติดสิ่งนั้น พอไม่มีก็เป็นทุกข์อีกเหมือนกัน ต้องการอะไรไม่ได้สมหวังก็เป็นทุกข์ หลอดไฟขาดก็เป็นทุกข์ เปิดไฟไม่ติดก็เป็นทุกข์แล้วนี่มันช่วยให้เกิดทุกข์ก็ได้ ให้เกิดความยินดีก็ได้ ชฎิล ๓ พี่น้องยุ่งอยู่กับเรื่องไฟ เพราะฉะนั้นเวลาพระองค์จะสอน ก็พูดเรื่องไฟ แต่ไม่ใช่ไฟดังที่กล่าว เป็นไฟภายใน ไฟภายในก็คือราคะ ความกำหนัดยินดีในสิ่งนั้นๆ โทสะคือความคิดประทุษร้าย คิดด้วยความโกรธ ความหงุดหงิดงุ่นง่าน รำคาญอะไรต่างๆ มันอยู่ในพวกนี้ทั้งนั้น เรียกว่าโทสะ แล้วก็ไฟคือโมหะ คือไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆตามที่เป็นจริง เกิดความหลงมัวเมาในสิ่งนั้น นี้ก็เป็นไฟ พระองค์ก็พูดถึงไฟ ๓ กอง เรียกว่าไฟราคะ ด้านบาลีว่าราคะ …… (21.49) ไฟคือราคะ โทสะ …… (21.50) ไฟคือโทสะ โมหะ …… (21.51) ไฟคือโมหะ มันเผาให้เร่าร้อน ร้อนหรือไม่เราลองนึกทบทวนดูในตัวเราเอง การเรียนธรรมะก็เรียนจากตัวเรานั้นล่ะ บทเรียนมันอยู่ในตัวของเราทั้งนั้น เราก็พิจารณาว่าเวลาเราอยากได้อะไรนี่ ใจมันเย็นหรือว่าใจมันร้อน ใจสงบหรือว่าใจวุ่นวาย นั่งพิจารณาดูเสียบ้างจะได้รู้ความจริง ถ้านั่งดูแล้วจะรู้ความจริงว่า อ๋อมันร้อน อยากจะได้อะไร มันร้อน อยากจะไปไหนก็ร้อน เช่นเรานัดใครให้มา ไม่มาเราก็ร้อน เดี๋ยวมองดูๆ ดูนาฬิกาบ่อยๆ เอ๊ นัดเก้าโมงทำไมไม่โผล่หน้ามาเสียที นี่คือความร้อนที่เกิดขึ้นในใจ พอเกิดความอยากได้อะไรขึ้นมา มันก็ร้อนขึ้นมาในใจ ถูกแผดเผาด้วยความอยากให้เร่าร้อน ถ้าเราโกรธใครก็ร้อนไปทั้งตัว เหงื่อไหล นัยน์ตาแดงหูแดง หน้าสั่น ปากคอสั่น พูดอะไรก็ไม่ชัดถ้อยชัดคำ มีอาการแปลกๆเพราะมันถูกเผาด้วยไฟคือโทสะ เวลาเราหลงใหลมัวเมาในอะไร มันก็ร้อนด้วยโมหะในใจของเรา นี่มันร้อนทั้งนั้น ร้อนอยู่บ่อยๆ แล้วยังมีแขนงของความร้อนออกไปอีก เช่นเราพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจ มันก็ร้อนใจเหมือนกัน ความทุกข์น่ะคือความร้อนใจ ที่ปรากฏอยู่ในใจของเราตลอดเวลา มันร้อน ไฟอย่างนี้มันร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนที่ไหน ร้อนที่ใจ ใจร้อนเพราะอะไร เพราะตาเห็นรูป ตาเป็นของร้อน รูปเป็นของร้อน ความรู้ทางตาก็เป็นของร้อน ความยินดียินร้ายก็เป็นของร้อน ความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในเรื่องนั้นก็เป็นของร้อน แล้วเอาไปนอนคิดให้ร้อนอยู่ที่บ้าน ร้อนใจอยู่ที่บ้าน บางทีคิดแล้วก็ร้องไห้ น้ำตาไหล บางทีก็ลุกขึ้นกินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ เรื่องร้อนทั้งนั้น สอนให้รู้จักลักษณะของความร้อนว่ามันเกิดอย่างไร ความร้อนนี่เป็นของน่ารักไหม น่าพอใจไหม น่าทำให้มันเกิดขึ้นในใจของเราหรือไม่ เขาก็รู้ว่ามันไม่ควรทำให้เกิดขึ้นเพราะมันร้อน อย่าหาเรื่องให้ร้อนใจ อย่าคิดให้ร้อนใจ อย่าไปในที่ร้อนใจ นี่ควรจะถือเป็นหลักไว้ คบใครก็อย่าคบให้มันร้อนใจ เราไปคบใครแล้วมันร้อนใจ ก็เรียกว่าคบกันไม่ดี ถ้าไปไหนกลับมาร้อนใจ มันก็ไม่ดีแล้ว ทำอะไรร้อนใจการกระทำนั้นมันก็ไม่ดีแล้ว เพราะเป็นการสร้างประกายเพลิงขึ้นเผาตัวเอง ทำให้เราเร่าร้อนอยู่ด้วยประการต่างๆ เราควรจะอยู่ด้วยความสงบเย็นไม่ควรจะอยู่ด้วยความร้อน อันนี้เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนชฎิลเพื่อให้เหมาะแก่คนเหล่านั้นที่ชอบของร้อนก็พูดเรื่องร้อนให้ฟัง
บางทีพระองค์ตอบกับคนบางคนด้วยอารมณ์ขันก็มีเหมือนกัน เช่นว่าคนเลี้ยงแพะคนหนึ่งเห็นพระองค์นั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้ ก็เข้าไปถามปัญหา คนอินเดียนี่จะเป็นคนอะไรก็มาสนใจธรรมะทั้งนั้น ถ้าเราพูดภาษาเขาได้จะถูกเขาถามเรื่องธรรมะตลอดเวลา เขาไม่ถามเรื่องอื่น แม้เป็นคนยากคนจน ก็ขอถามเรื่องธรรมะ แสดงว่าสมัยก่อนนี้อินเดียซึมซาบอาบใจอยู่ตลอดเวลาในเรื่องธรรมะ แต่เดี๋ยวนี้ก็ชักจะจางไปบ้างในหมู่คนบางประเภท จึงได้มีการรบราฆ่าฟันกัน สมัยก่อนนั้นเขาหมกมุ่นอยู่ในเรื่องธรรมะ จิตใจอยู่กับธรรมะตลอดเวลา เมื่อเข้าไปเห็นนักบวชคือพระพุทธองค์นั่งประทับอยู่ใต้ต้นไม้ก็เลยถามปัญหา คือถามปัญหาว่าคนที่เขาเรียกว่าเป็นพราหมณ์คือคนประเภทใด คนเป็นพราหมณ์นี่คือคนประเภทใดชักจะสงสัย เพราะว่าในอินเดียมันมีกษัตริย์ มีพราหมณ์ มีแพศย์ มีศูทร กษัตริย์คือนักรบเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง พราหมณ์นี่เป็นคนสอนธรรมะ สอนศาสนา สอนวิชาการต่างๆ เรียกว่านักวิชาการ ว่าอย่างนั้นเถอะ เวท ( 27.00) ก็คือพวกพ่อค้าพาณิชย์ทั้งหลายที่ทำการค้าขายกันอยู่ ศูทรนั้นเป็นพวกกรรมกรรับจ้างทำงานต่ำๆ ออกแรงอันนี้เป็นเรื่องที่เขาเขียนไว้ในคัมภีร์ เขาแบ่งชั้นไว้ว่ากษัตริย์นี้เกิดจากแขนพระพรหมมีหน้าที่เป็นนักรบ พราหมณ์นี้เกิดจากปากของพระพรหมมีหน้าที่สอนคน เวท (27.28) นั้นเกิดจากท้องของพระพรหมต้องทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง พวกศูทรนี้เกิดจากหน้าแข้งมันหนักหน่อย หน้าแข้งมันต้องทำงานหนักๆ ไม่ได้หยุดได้ยั้ง เพราะเขาเขียนไว้อย่างนั้น ทำให้เกิดการแตกแยกแตกร้าวในหมู่คนเหล่านั้น เพราะการถือชั้นวรรณะ ผู้ที่มีความสงสัยก็มักจะถามเรื่องนี้กับใครๆ บ่อยๆ เช่นพราหมณ์คนนั้นก็เข้าไปถามพระผู้มีพระภาคว่า คนที่ชื่อว่าเป็นพราหมณ์มีลักษณะอย่างไร พราหมณ์คนนั้นแกมีนิสัยชอบตวาดคนอื่น เวลาพราหมณ์พบใครแกมักจะทำ ฮึๆๆๆ อยู่ตลอดเวลา ตวาดนั่นล่ะ ทำฮึๆ อยู่ตลอดเวลา พระองค์ก็ตอบอย่างคมคายขำขันหน่อย บอกว่าคนที่ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องตวาดผู้อื่นว่า ฮึๆนั่นล่ะเป็นพราหมณ์ ฉลาดตอบด้วยอารมณ์ขัน เพราะว่าพราหมณ์คนนั้นแกมีกิเลสชอบตวาดคนอื่น เห็นเด็กก็ตวาดฮึๆ เรื่อย เห็นคนก็ตวาด กับแพะก็ฮึๆด้วยเหมือนกันคราวนี้พระองค์ก็เลยตอบแบบให้มันตรงเป้า ของคนๆนั้นว่า คนใดไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้ตวาดคนอื่นว่าฮึๆ นั่นก็เป็นพราหมณ์ละ แล้วยังอธิบายต่อไปว่าเป็นผู้ละบาปทั้งปวงได้ เรียกว่าลอยบาป เพราะว่าพราหมณ์เขาชอบลอยบาปในกระแสน้ำ แต่พระองค์บอกว่าละเลิกจากการทำบาป เลิกจากการฆ่าเขา จากการทำเขาให้เดือดร้อนทางกาย เลิกจากการถือเอาสิ่งของของผู้อื่น เลิกจากการประพฤติผิดในกาม เลิกจาการพูดโกหก คำหยาบ คำเหลวไหล เลิกจากการเสพของเสพติดมึนเมา ผู้นั้นล่ะเรียกว่าพรามหมณ์ นี้เรียกว่าตอบตรงความหมายของลักษณะคนคนนั้น พราหมณ์คนนั้นได้ฟังแล้วก็รู้ทันทีว่ากูนี่ไม่ใช่พราหมณ์แน่ เพราะชอบตวาดคนอื่น ว่าฮึๆ แกก็คิดเลิกไม่ตวาดใครอีกไป มันก็ได้ประโยชน์แก่คนนั้น อันนี้คือหลักการที่พระองค์สอนคน ให้เข้าใจธรรมะด้วยวิธีการอย่างนั้น
ถ้าเราดูคำสอนของพระผู้มีพระภาค เวลาพูดกับใครใช้คำเปรียบเทียบมากเหลือเกิน มีการเปรียบเทียบ เราพูดในภาษาว่า อุปมาอุปมัย อุปมาอุปมัยคือยกตัวอย่าง แล้วก็พูดให้ฟังเปรียบเทียบในเรื่องนั้นเรื่องนี้มากมายก่ายกอง เวลาสอนกับภิกษุนี่ มีข้อเปรียบเทียบทั้งนั้น เหมือนผ้าขี้ริ้วเหมือนงูเปื้อนคูต เหมือนอย่างนั้นเหมือนอย่างนี้เอามาเปรียบให้ฟัง ที่ดีก็เปรียบในเรื่องดีๆงามๆ เหมือนกับผ้าไหม ผ้าภูใส (30.40) อะไรต่างๆ หรือเหมือนกับทองคำแท่งทึบที่ไม่มีสนิม ไม่มีอะไรเจือปนอยู่ เป็นทองบริสุทธิ์ ยกวัตถุขึ้นมาเปรียบเทียบ เรียกว่าอุปมา แล้วก็เข้าข้ออุปมัยคือตัวบุคคลนั้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจ นี้คือการสอนที่ถูกหลักการสอน คือสอนด้วยการเปรียบเทียบ ให้เห็นด้วยเป็นรูปธรรม แล้วเอานามธรรมเข้ามาใส่ ให้คนฟังได้เกิดความรู้ความเข้าใจ เราจึงพบคำเปรียบเทียบมากมายในเรื่องเช่นนี้ ถ้าไปอ่านในพระสูตรแล้วจะพบเรื่องอย่างนี้มาก เป็นข้อเปรียบเทียบให้ฟัง น่าฟังน่าศึกษาทั้งนั้น นี่คือการสอน บางทีก็สอนง่ายๆ อย่างเช่นเวลาพระราหุลนี่ ท่านยกกะลา ภาชนะน้ำที่ตักน้ำขึ้นมา แล้วก็ถามว่านี่อะไร ภาชนะตักน้ำ ถ้าหากว่าเราคว่ำลงไปเสีย น้ำมันจะขังอยู่หรือไม่ ก็ตอบว่าน้ำจะไม่ขังอยู่ในภาชนะนั้น เพราะเราคว่ำปิดลงไปเสียแล้ว พระองค์ก็เปรียบเทียบว่า จิตใจของเรานี่ถ้าปิดเสียบ้าง เธอปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเสียบ้าง อารมณ์ภายนอกก็จะไม่เป็นพิษแก่บุคคลผู้นั้น เปรียบเทียบ บางทีก็เปรียบว่าผ้าขี้ริ้ว ถามพระราหุลว่านี่อะไร ผ้าขี้ริ้ว ผ้าขี้ริ้วนี่เป็นที่พอใจของใครๆหรือไม่ ไม่เป็นที่พอใจของใครๆพระเจ้าข้า คนเรานี่ถ้ามีสภาพเหมือนผ้าขี้ริ้วก็เป็นคนใช้ไม่ได้ ไม่เป็นที่ชอบใจของใครๆ มีแต่เขาจะย่ำเหยียดอยู่ตลอดเวลา ผ้าขี้ริ้วเราใช้เช็ดเท้า เราขึ้นเราก็เหยียบมัน ลงเราก็เหยียบมัน คนเราถ้าไม่มีคุณงามความดีก็เหมือนผ้าขี้ริ้วที่ใครๆเขาจะเหยียบย่ำอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นคำตรัสง่ายๆ ให้พระราหุลเข้าใจธรรมะ เพราะพระราหุลยังเป็นเด็กน้อย อายุ ๗ ขวบ เข้าไปบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาก็ใช้ถ้อยคำง่ายๆ อย่างนั้น เวลาไปสอนพระราชา มหากษัตริย์
เช่นว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลนี้เศร้าโศกมา เสียพระทัยเพราะพระนางมัลลิกาเทวี พระอัครมเหสีสวรรคตก็เป็นเรื่องเศร้าโศกเสียใจ ไม่เป็นอันออกว่าราชการมาหลายเวลา พระองค์ทรงทราบก็เสด็จไป แต่ไม่เสด็จขึ้นไปบนวังที่ประทับ หรือไม่ไปที่ตำหนักรับแขก พระองค์ไปที่โรงรถ อำมาตย์ก็ไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาที่โรงรถ พระเจ้าปเสนทรงเคารพมาก เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระองค์เสด็จมาที่โรงรถแม้จะทรงเศร้าโศกเสียพระทัยอย่างไรก็ต้องไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ไปเฝ้าที่โรงรถ พระองค์ก็พาเสด็จเดินไปดูรถเก่าๆ ดูรถเก่าแล้วก็ถามว่ารถคันนี้ดูเก่ามากทำในสมัยไหน ทำในสมัยพระเจ้าปู่ คันนี้ทำในสมัยพระเจ้าพ่อ คันนี้ทำในสมัยของหม่อมฉันเอง แล้วก็ทรงชี้ที่ตัวรถ ถามทีละชิ้นๆ นี่อะไร นี่งอนรถ (34.38) นี่ตัวถังรถ นี่เป็นล้อของรถ นี่เป็นนั่นเป็นนี่ ถามละเอียดเชียวนะ ถามให้รู้ว่าส่วนประกอบของรถมีอะไรบ้าง ทำไมจึงถามอย่างนั้น เราลองคิดดูสักหน่อย แล้วพระองค์ก็ถามว่ารถมันอยู่ตรงไหน ๆ พระเจ้าปเสนก็ยืนประทับนิ่ง ก็หาคำตอบแล้วก็ถามเรื่องที่ไม่เคยคิดว่าจะถาม รถมันอยู่ตรงไหน ก็เลยบอกว่ารถมันเป็นชื่อรวม ของสิ่งต่างๆที่รวมกันเข้าแล้วก็ได้ชื่อว่ารถ รถนั้นมันไม่มีใช่ไหม ใช่ แต่มีเพราะว่ารวมสิ่งเหล่านี้เข้ารถมันจึงมีขึ้น ทำไมพระองค์จึงได้ถามอย่างนั้น ถามเพื่อให้คลายจากยึดมั่นในอัครมเหสีที่ถึงแก่ทิวงคต ก็พระองค์ว่ายังนึกถึงพระมเหสีอยู่ แล้วนึกเป็นตัวเป็นตน เป็นรูปเป็นร่าง แล้วก็เสร้าโศกเสียพระทัยเพราะพระมเหสีจากไป เลยก็ต้องถามเพื่อให้เกิดปัญญา ว่าสิ่งนี้คืออะไรๆๆ ไปโดยลำดับ แล้วถามว่ารถมันอยู่ตรงไหนเพราะคลุมส่วนต่างๆเข้าจึงเรียกว่ารถ อ้าวถ้าถอดออกหมดรถมีหรือไม่ พระเจ้าปเสนก็รู้ว่ารถไม่มี ว่าถามอย่างนั้นเป็นข้ออุปมาแล้ว ก็อุปมัยต่อร่างกายของเรา มันประกอบด้วยอะไร ว่าร่างกายนี้ประกอบด้วยอาการ ๓๒ แยกออกไปแล้วเป็น ๓๒ อย่างที่โยมสวดล่ะ เกศา โลมา นขา ทันตาน่ะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ตับ ปอด ไต ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่าอะไรต่างๆ รวมแล้วมันก็มีตั้ง ๓๒ เรื่อง อ้าว คนมันมีตรงไหน คนมันก็ไม่มี พอรื้อออกไปแล้ว คนมันก็หายไป แล้วรถมันก็หายไป คนก็หายไป แล้วเราจะไปยึดว่าเป็นคนอยู่อย่างไร แล้วไปยึดว่าเป็นของฉันอยู่อย่างไร เพราะตัวฉันมันก็ไม่มี ตัวที่เรารักก็ไม่มีเหมือนกัน แล้วจะไปคิดอะไร ทรงเปรียบเทียบให้ฟังอย่างนั้น พระเจ้าปเสนทิโกสนก็คลายพระทัย คลายจากความเศร้าโศกจากความเสียใจ เพราะมานึกได้ว่า อ๋อ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันไม่มีอะไรที่เป็นของจริงของแท้ มันรวมเข้าจึงไหลไปเท่านั้นเอง เหมือนไฟฟ้า เปิดสวิตซ์มันก็สว่าง ที่มันสว่างเพราะมันมีเครื่องมาต่อกันเข้า แต่ถ้าเราปิดสวิตซ์ไฟมันก็มืดไป ไม่สว่าง นี่วันนี้เราเปิดมาก ทำไมถึงเปิดมากอย่างนี้ก็ไม่ทราบ ความจริงถึงไม่เปิดก็ฟังปาฐกถาได้ แต่ว่าไม่รู้ใครเปิดมากมายเสียสตางค์ไปเยอะแยะ นี่เขาเรียกว่าพอมันรวมปุ๊บแสงสว่างขึ้นมา แต่ถ้าว่ากดเปิดสวิตซ์ปุ๊บมันไม่เชื่อม มันก็ดับไป มันก็เท่านั้นเอง สิ่งทั้งหลายเกิดจากการประสมปรุงแต่ง ซึ่งเรียกว่าสังขารนี่คือของประสม เมื่อถอดของประสมออกไปมันก็ไม่มีอะไร เราเอาไปคิดมาก เวลาเราเสียอกเสียใจอะไรขึ้นมาคิดเอ๊ะ เสียใจเรื่องอะไร ของหาย แล้วของนั้นของใคร ของเรา เราคือใคร คิดไปเรื่อย นั่งคิดไป พิจารณาไป ก็เดี๋ยวก็ฮึๆ กูนี่มันแย่มานั่งร้องไห้ ไม่เข้าเรื่อง มันก็คลายไปเองล่ะ
เราเรียนธรรมะแล้วต้องเอาไปใช้ เป็นเครื่องประกอบ เครื่องมือดับทุกข์น่ะ เอาไปคิดไปตรองมันก็ดับทุกข์ได้ แต่บางทีมันมือตื้อจนนึกไม่ออก เพราะเรากลุ้มใจมาก เศร้าโศกมากก็นึกไม่ได้จึงต้องให้มีพระไปในงานศพด้วย พระไปในงานศพ ไม่ใช่ว่าจะไปสวด ไม่ใช่ ศพนี้ไม่ต้องสวดแล้ว ศพตายแล้วไม่ต้องสวด สวดก็ไม่รู้เรื่องอะไร แต่ว่าไปเพื่อพูดกับคนเป็น ไม่ใช่ไปพูดกับคนตาย เราไม่เข้าใจเขาตั้งประเพณีผิดไว้ก็ผิดกันไปเรื่อยไม่รู้จักแก้ไข ความจริงพระไปนั้นต้องการไปสอนพวกคนเป็น สอนให้รู้ให้คลายจากความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ จะไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจอะไรมากเกินไป พระผู้มีพระภาคไปสอนเขาอย่างนั้น ในเรื่องอะไรๆต่างๆ ก็ทรงสอนอย่างมีแยบคาย ใช้ความคิดนึก ให้แก่คนที่สอนอย่างดี คนสอนก็เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องอย่างนั้น แล้วการสอนของพระองค์นี่ คือสอนตั้งแต่สิ่งที่เขาเข้าใจอยู่บ้างแล้ว เขารู้อะไรบ้าง เอาสิ่งนั้นเป็นพื้นฐาน แล้วก็ค่อยก้าวขึ้นไปโดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูง ถึงพระนิพพานน่ะ สอนถึงพระนิพพาน เช่นว่าธรรมะชุดหนึ่งเขาเรียกว่าอนุปุพพิกถา คือการกล่าวโดยลำดับ กล่าวโดยลำดับก็คือพูดเรื่องทานการให้ เพื่อให้เห็นว่าคนเรามันต้องมีการให้ อยู่โดยไม่ให้นี่มันอยู่กันไม่ได้ ก็ต้องมีทานการให้ ก็มีศีลคือมีระเบียบในสังคม มีศีลมีระเบียบ แล้วก็เมื่อมีทานมีศีลมันก็ต้องมีความสุข ความสุขนั้นเรียกว่าเป็นสวรรค์ สัคคกถา คือสวรรค์ แต่ว่าไม่ให้เพลิดเพลินในสวรรค์ จึงตรัสต่อไปถึงเนกขัมมะคือผู้ขอออก สิ่งที่เรียกว่าเป็นทูตของสวรรค์ กามาทีนุก กามาทีนวะ นี่แปลว่าทูตของกาม ของความเพลิดเพลิน ความสนุกสนานด้วยสิ่งที่เรามีเราได้ ด้วยประการต่างๆ แล้วก็กลับให้ออกบวช ออกบวชในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เลิกบ้านเลิกเรือนไปอยู่ป่า ไม่ใช่อย่างนั้น พระองค์ไม่ได้ต้องการให้เราไปอยู่ป่าทั้งหมด คนไปอยู่ป่าไปเป็นนักบวชอย่างแท้จริงนั้น มันไม่มากอะไรหรอก เรียกว่าเลือกเฟ้นแล้วเฉพาะบางคนที่เขาตั้งใจจริง ๆ จึงจะไปบวชอยู่ป่าทำงานแก่พระศาสนา แต่คนที่ไม่ไปป่าก็ให้บวชใจ บวชใจก็คือว่าตั้งใจที่จะงดเว้นจากการกระทำที่ผิดในเรื่องอะไรต่างๆ เราตั้งใจงดเว้นอยู่ตลอดเวลา ไม่กระทำสิ่งชั่วร้าย ไม่สร้างปัญหาแก่ตนแก่ท่าน อยู่เพื่อให้คนอื่นเป็นสุข อยู่เพื่อให้คนอื่นเบาใจสบายใจ อย่างนี้เรียกว่าอยู่อย่างคนบวชเหมือนกัน ไม่ต้องนุ่งเหลืองห่มเหลือง ขูดหัวขูดคิ้วอะไร แต่ใจเรานั้นบวชคืองดเว้นจากความชั่ว เพราะตัวบวชที่แท้จริงนั้นก็คือตัวการงดเว้นจากความชั่ว ญาติโยมผู้หญิงก็บวชได้ ไม่ต้องไปตั้งสำนักภิกษุณีให้มันวุ่นวายหรอก เราบวชที่บ้านนั่นล่ะ บวชให้มันดีให้มันงาม อยู่ให้เรียบร้อย ทำหน้าที่แม่บ้านให้สมบูรณ์ อะไรที่เรามีหน้าที่ทำ ทำให้สมบูรณ์ให้เรียบร้อย ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว เราจะค้าจะขายทำไร่ไถนาก็ทำไปได้ แต่การกระทำนั้นไม่กระทบกระเทือนใคร ไม่ทำใครให้เดือดร้อนเราก็ทำได้ เมื่อแก่ตัวลงเรียกว่าทำงานทำการมานานแล้ว ครอบครัวเป็นหลักเป็นฐานแล้ว ลูกหลานก็เจริญเติบโตหมดแล้ว
เราจะบวชจริงก็ได้ทีนี้ คือว่าบวชจริงๆก็แปลว่าไม่ทำอะไรที่เป็นเรื่องยุ่งต่อไป อยู่อย่างสงบเป็นตัวอย่างแก่ลูกแก่หลาน แม้อยู่ในครอบครัวนั่นล่ะแต่ว่าเราอยู่ด้วยปัญญา ไม่อยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในอะไรต่างๆ มีลูกก็เหมือนไม่มี มีหลานก็เหมือนไม่มี มีทรัพย์ก็เหมือนกับไม่มี ใจมันไม่ยึดถือ เรียกว่าเหมือนกับไม่มี อย่างนี้ก็เรียกว่าบวชใจอยู่แล้ว ใจมันสงบอยู่แล้ว หัดให้ใจสงบเสียบ้าง อย่าให้อยู่ด้วยความวุ่นวาย วิตกกังวลด้วยปัญหาต่างๆอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าลำบากทุกข์ถองอยู่ตลอดเวลา ดับไฟคือกิเลส ดับทุกข์ในใจเราออกไปเสียบ้าง เราก็อยู่สบาย หลักการเป็นอย่างนี้ พระองค์ต้องการให้เราอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าผู้ใดตัดสินใจว่าจะออกไปบวชจริงๆ เพื่อช่วยงานพระศาสนา อ้าวก็ไปได้ไม่ขัดข้องอะไร บวชแล้วก็บวชเอาจริงเอาจัง ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนสัก ๕ พรรษาเรียกว่าเรียนให้รู้จักพระพุทธศาสนา ต่อจากนั้นก็ไปเที่ยวสอนประชาชนให้เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมะ ให้เขาได้ประพฤติดีประพฤติชอบต่อไป ถ้าหากว่าแก่ลงแล้วสอนไม่ไหวก็ไปนั่งเฉยๆ นั่งควบคุมจิตใจ แก่ไปนะอย่าไปนั่งเป่ากระหม่อมเสกเครื่องรางของขลังแบบพระแก่บางองค์ก็แล้วกัน ถ้าอย่างนั้นก็ทำคนให้หลงอีกเหมือนกัน ไม่ได้เรื่องอะไร ให้งมงายไป เหมือนกับในหนังสือพิมพ์ เขาจั่วหน้าเป็นข่าวในเดลินิวส์วันก่อน เขาเรียกว่าเป็นเรื่องแปลกในเมืองไทย คือมีทหารคนหนึ่งมียศถึงขั้นนายพลตรีเป็นเสนาธิการ แล้วไปหาพระองค์หนึ่งที่นครราชสีมา เป็นพระชั้นราช เป็นเจ้าคณะภาค แล้วก็เป็นหมอ พระเราก็เป็นหมอเยอะ เป็นหมอดูก็บอกแหมชื่อของท่านนายพลนี่ไม่ค่อยเรียบร้อย มันไม่เข้ากับวันเดือนปีเกิด เป็นอัปมงคล เป็นกาลกิณี แล้วนายพลคนนั้นก็หูเบาเหลือเกินเรียกว่านายพลปัญญาอ่อน คือไม่ได้คิดไม่ได้ว่าเราชื่อนี้มากี่ปีแล้ว คุณพ่อคุณแม่ให้ชื่อมากี่ปีแล้ว แล้วชื่อนี้มันเรียนชั้นประถมพ้นมามัธยม พ้นมาเข้าโรงเรียนนายร้อยจปร. แล้วก็เลยออกปฏิบัติการเป็นทหารประจำการ ดีมาได้จนเป็นนายพล เขาจะย้ายไปเป็นผู้บังคับการกองพลอยู่แล้ว มันก็ชื่อนี้
สมมติว่าชื่อไอ้ไข่นี่มันก็ดีอยู่แล้วไม่ต้องเปลี่ยนเป็นนายอะไร ถ้านึกได้มันก็ไม่ต้องเปลี่ยน แต่นี่มันเชื่อง่ายเกินไป เชื่องมงายไม่ควรจะเป็นเสนาธิการได้เลย ใจอย่างนี้จะไปเป็นเสธ.ได้อย่างไร ใจอ่อน ถ้าถูกใครหลอก ถูกคอมมิวนิสต์หลอกก็เชื่อเขา ก็ตายนั่นล่ะประเทศชาติก็แย่ เขาเชื่อ เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ พอเปลี่ยนเสร็จแล้วยังไม่พอ พระองค์นั้นยังหลอกต่อไปอีก บอกว่าเปลี่ยนเฉยๆไม่ได้มันต้องเผาเลย เรียกว่าสมมติว่าเผาตัว แต่ไม่ได้เผาตัว ไม่เหมือนกับพระญวนเผาตัว คือเผา เผาชื่อ แต่ว่าต้องทำเหมือนเผานะ ต้องใส่โลง แล้วก็ต้องยกขึ้นบนเชิงตะกอน ต้องนิมนต์พระมาบังสุกุล (46.43) แล้วก็ต้องบอกเพื่อนฝูงให้มาช่วยเผาบ้าง เพื่อนคุ้นเคยนะ แจกดอกไม้จันท์ ขึ้นไปเผา ให้เพื่อนพลอยบ้าไปด้วยหลายคนหน่อย บ้าคนเดียวมันไม่เข้าท่าเลยบ้าหลายๆคนหน่อย แล้วก็นิมนต์พระมาบังสุกุล (46.58) พระบังสุกุล (47.00) ก็ว่าไม่เห็นอะไร เห็นแต่กระดาษ มันจะว่าอนิจจาได้อย่างไร เห็นแต่กระดาษไม่เห็นโครงร่างกาย ก็ส่งเข้าเมรุเผา เผาเสร็จแล้วยังไม่หยุด พรุ่งนี้ต้องมาทำเก็บกระดูกนะ เก็บขี้เถ้า กระดาษเหลือเป็นขี้เถ้า เก็บถ่านไฟล่ะ เก็บแล้วก็นิมนต์พระมา ๑๐ รูป พระวัดนั้น วัดที่เป็นหมอ นิมนต์มา ๑๐ รูป เผาวัดนั้นล่ะ ๑๐ รูปนี่ต้องถวายสังฆทาน ถวายเครื่องปัจจัยไทยทาน ต่อไปอีก อาตมาอ่านแล้วมันโง่ทั้งพระทั้งลูกศิษย์ นี่เขาเรียกตาบอดจูงคนตาบอด เรียกว่าโง่ ๒ ฝ่าย พระก็โง่ ลูกศิษย์ชั้นนายพลก็โง่เหมือนกัน เอ๊ะ นึกแล้วน่าขำในใจ นี่เขาเรียกว่าเป็นความเชื่องมงาย ไม่คิดไม่ตรองอะไรเสียบ้าง ถ้าเราคิดบอกเอ๊ะ ชื่อนี้มันดีอยู่แล้ว ชื่ออย่างนี่น่ะมันไม่ได้เสียหายอะไร ก็ได้เป็นถึงนายพลแล้วมันไม่ได้อยู่ที่ชื่อนี่นา ไอ้ที่งามไม่ได้อยู่ที่ชื่อ มันอยู่ที่เรากระทำต่างหาก ไม่ได้แปลกอะไร คนบางคนชื่อไม่เพราะแต่ว่าการกระทำเขาสวยงามเรียบร้อย เป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองได้เหมือนกัน เจ้าพระยายมราช สุขุมแกชื่อปั้น ไม้โท ปอ ไม้หันอากาศ นอหนู ไม้โท แกได้เป็นถึงเจ้าพระยา มหาอำมาตย์ นายก ไม่ใช่เล็กน้อยนะ นั่นถ้าใครไปบอกว่า แหมชื่อนี้ไม่ดี ขอให้เปลี่ยนเสียหน่อย ท่านก็คงไม่เปลี่ยน ท่านเคารพพ่อแม่ พ่อแม่ให้เรามา เราก็ควรจะเคารพพ่อแม่ ตั้งชื่อให้มันก็ดีแล้ว อย่าไปเปลี่ยนเลย อาตมานี่ชื่อปั่น ไม้หันอากาศ ไม้เอก นอหนูหมอก็ว่าเหมือนกันบอกนอหนูนี่มันไม่ดีนะตัวนี้ แล้วจะเขียนยังไงถ้าไม่ใช้ นอหนู จะใช้ ญ หญิงสะกดมันก็วิตถารเกินไป จะให้เปลี่ยนได้ไง ไม่ต้องเปลี่ยนเราก็เลยบอกว่าชื่อนี้ล่ะมันวิเศษแล้ว คุณพ่อคุณแม่ให้มาแล้วก็ไม่ได้ชีวิตตกต่ำอะไร ศึกษาเล่าเรียนมาแม้ได้มากเพราะสมัยนั้นโรงเรียนมันน้อย แต่ก็อบรมตัวเองก้าวหน้ามาจนกระทั่งได้เป็นเจ้าคุณกับเขามั่งเหมือนกัน แล้วก็ได้ไปเทศน์ในวังกับเขาบ้างเหมือนกัน อย่างน้อยกัณฑ์หนึ่งแล้ว ในวัง มันก็ชื่อนี้ล่ะ ไม่ได้เสียหายอะไร เลยบอกหมอว่า ไม่เปลี่ยนให้โง่หรอก เราไปเปลี่ยนให้มันโง่ทำไม ไม่ได้เรื่องอะไร นี่เขาเรียกว่าเป็นของขำ ที่มันเกิดขึ้นในเรื่องอย่างนี้
พระพุทธเจ้าของเราไม่สอนให้เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่สอนให้งมงายอย่างนั้น ให้คิดให้ตรองให้มีเหตุมีผล เรียกว่าใช้ปัญญาคู่กับศรัทธา มีแต่ศรัทธาอย่างเดียวไม่มีปัญญา มันก็ใช้ไม่ได้ พระองค์สอนอย่างนี้ จึงเรียกว่าเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นครูเทวดาด้วยนะ สัตถาเทวะมะนุสสานัง เป็นผู้ที่ฝึกบุรุษอย่างยอดเยี่ยม ฝึกทุกคนให้ดีให้งามให้เรียบร้อย แม้องคุลีมาร (50.18) โจรใจร้ายแต่ไม่ได้เป็นโจรด้วยทิฏฐิชั่ว ไม่ได้เป็นโจรโดยสันดานนะ องคุลีมาร (50.25) เป็นด้วยความหลงผิดเพราะต้องการวิชาความรู้ อาจารย์ก็เลยบอกว่า อาจารย์นี่ก็เรียกว่าไปเชื่อคนยุนั่นเอง เลยบอกว่าถ้าเธอเอานิ้วคนมาได้สัก ๑๐๐๐ นิ้วฉันจะให้คาถาวิเศษ เหาะได้เลย อยากเหาะ ไม่ใช่เรื่องอะไร เลยเข้าไปเที่ยวฆ่าคนด้วยความหลงผิด ครั้นได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่ได้ตรัสอะไรมาก เพราะว่าแกวิ่งตามไม่ทัน วิ่งจนเหงื่อไหล ลิ้นห้อยแล้วก็ตามไม่ทัน ก็เลยว่าพระหยุดก่อน พระองค์ตอบว่าเราหยุดแล้วท่านไม่หยุด เอ๊ะ พระนี่พูดอะไร ยังวิ่งอยู่แท้ๆเลยแต่บอกว่าหยุดนะ ความจริงพระองค์ไม่ได้วิ่งแต่ว่าใช้อิทธิ ทางใจนี่เขาเรียกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งพระองค์ทำได้แต่ไม่ค่อยทำ ไม่ค่อยชอบทำ จำเป็นถึงจะทำ ก็เห็นเหมือนวิ่ง มาบอกว่าพระหยุดเถอะ เราจะไม่ทำร้ายแล้ว พอหยุด อ้าว ยืนอยู่ตรงนี้เอง ยืนต่อหน้ากันอยู่แท้ๆ แต่เห็นอย่างนั้น ก็ประหลาดใจ เลยสงสัยว่า เอ๊ะ หยุดอย่างไร เราไม่หยุดอย่างไร ก็ถาม พระองค์บอกว่า เราหยุดจากการกระทำความชั่วนานแล้ว ท่านยังไม่หยุดกระทำความชั่ว คนมันฉลาด พอฟังปุ๊บก็รู้ว่าเรานี่มันชั่วเที่ยวฆ่าคน เลยก็เลิกฆ่า บวช บวชเสียเลย บวชแล้วก็ไปบิณฑบาต เขาเอาก้อนหินขว้างไม้ขว้าง หัวแตกเลือดไหล ไคลย้อย กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า บอกว่าไม่ไหว ไปบิณฑบาตแทนที่จะได้ข้าวได้แต่ก้อนหิน ก้อนดิน ท่อนไม้ เธอทำกับเขามากกว่านี้ ทนเอาหน่อย ก็ทนต่อไป ผลที่สุดก็หมดเรื่อง เรียบร้อย ได้เป็นพระอรหันต์กับเขาองค์หนึ่งเหมือนกัน พระองค์สอนอย่างนั้น ทรมานเขาให้เข้าใจในธรรมะด้วยวิธีการต่างๆ
บางทีพระองค์ก็พูดน่าฟัง เช่นว่าชาย …… (52.34) เขาเรียกว่าพวกเจ้าสำราญน่ะ เจ้าสำราญเที่ยวไปๆ แล้วก็ไปเอาหญิงแพศยามาเป็นคู่นอน แต่ว่าคนหนึ่งมันไม่มีก็ไปเอาหญิงแพศยามาคนหนึ่งเอามาเป็นคู่นอนแล้วก็หลับไปก่อน หญิงแพศยาก็เอาหมด เครื่องเพชรเครื่องทองของเจ้านายเหล่านั้นเอาไปหมด หนีไปเลย ก็เที่ยวหา มาพบพระพุทธเจ้า เขาก็ถามว่าพระองค์ผ่านมาทางนี้เห็นหญิงคนหนึ่งถือของพะรุงพะรังไปหรือเปล่า พระองค์ไม่ตอบ แต่บอกว่าเธอทั้งหลายจะหาหญิงดีหรือจะหาตัวเองดี นี่เรียกว่าวิธีสอน ถามว่าหาหญิงดีหรือหาตัวดี ตัวก็คือตัวเองน่ะหาให้มันพบก่อน เพราะว่าเราไม่รู้ว่าตัวเราคือใคร เราไม่รู้เรื่อง บอกว่าหาหญิงดีหรือหาตัวดี พวกนั้นก็รู้ทันทีว่าหาตัวดีกว่า อ้าว หาตัวดีกว่า นั่งลง นั่งลงแล้วก็เทศน์ให้ฟัง เทศน์ให้ฟังก็บวชหมดทั้ง ๓๐ คนนั่นล่ะ ไม่มี บวชเลย อย่างนี้เรียกว่าสอนให้เหมาะแก่เรื่องแก่เหตุการณ์ มีอะไรเกิดขึ้นก็เอาเรื่องนั้นเป็นสาเหตุ แล้วก็สอนธรรมะให้คนเหล่านั้นเข้าใจ จึงเรียกว่าเป็นบรมครูของโลก เพราะเป็นครูที่สอนอย่างชนิดเข้าถึงคน เข้าถึงจิตใจคนทำให้คนได้เกิดปัญญาเกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง หลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนไปได้ สอนตั้งแต่พระราชาจนกระทั่งมาถึงยาจกเข็ญใจ นางทาสีที่มีความทุกข์ทางใจตอนกลางคืนพระองค์รู้ก็เสด็จไปบิณฑบาตตอนเช้า เขามีแต่ข้าว แป้งจี่ก้อนหนึ่งก็เอาไปใส่บาตร ใส่บาตรเสร็จแล้วก็นึกพระองค์คงไม่ฉันแต่รับไปให้เราสบายใจ พระองค์ทรงทราบก็เลี้ยวกลับมานั่งลงตรงนั้นแล้วก็ฉันอย่างเรียบร้อย แม่หญิงคนนั้นก็สบายใจ อย่างนี้เป็นตัวอย่างที่พระองค์ทรงกระทำเป็นการทำให้คนอื่นสบายใจ ผู้หญิงที่บ่อน้ำชอบใจพระอานนท์เพราะพระอานนท์ไม่ถือเชื้อไม่ถือวรรณะ ไม่ถือว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร ไปขอน้ำ แม่หญิงคนนั้นก็เจียมเนื้อเจียมตัว ดิฉันเป็นคนวรรณะศูทร ตักน้ำถวายพระคุณเจ้าไม่ได้ พระอานนท์บอกว่าเราต้องการน้ำ ไม่ต้องการวรรณะ ไม่เคยได้ยินใครพูดอย่างนั้นก็ชื่นใจ เลยตักน้ำถวาย แล้วก็รักพระอานนท์ตามมาจนถึงวิหาร มาพบพระพุทธเจ้า พระองค์ถามว่าเธอมาหาใคร มาหาพระอานนท์ ดิฉันรักพระอานนท์ เธอไม่ได้รักเนื้อหนังพระอานนท์หรอก เธอรักความมีใจดีของพระอานนท์ ให้รักคุณธรรมของพระอานนท์ แต่อย่าไปรักเนื้อหนังของพระอานนท์เลย แม่หญิงคนนั้นแม้เป็นศูทรก็ฟังเข้าใจ ว่าตัวรักผิดคือไปรักเปลือกไม่ได้รักเนื้อ รักเนื้อก็คือรักใจของคนนั้น รักคุณงามความดีของคนนั้นเรียกว่ารักเนื้อ ไม่ใช่รักเปลือก คนเราโดยมากชอบเปลือก เห็นรูปหล่อแต่งตัวสวยพอกสีเข้ามากๆก็ชอบอกชอบใจ นอนกลางคืนตื่นขึ้นมาสีหายหมดแล้ว เสร็จเลยดูเหมือนกับอะไรดี แต่เขาไม่ได้รักกันที่ผิวหนัง ที่ลิปสติก หรือว่าที่รูจที่อะไรที่เอามาทามันเลอะเทอะเปราะหน้า ไม่ใช่อย่างนั้น เขารักน้ำใจ ชอบคนนี้ใจดีใจงามมีความประพฤติเรียบร้อย รักตรงนั้น ถ้ารักน้ำใจ แล้วมันรักยืนยง ถ้ารักสีนี่พอแก่เหี่ยวเขาก็ไม่เอาแล้วก็หาใหม่ต่อไป มันเหี่ยวแล้ว เพราะไปรักเปลือก ให้รักเนื้อแท้ พระพุทธองค์บอกว่าเธอรักคุณธรรมของพระอานนท์ ไม่ใช่เนื้อหนังพระอานนท์ เข้าใจความหมาย นี่วิธีการ พระพุทธเจ้าท่านตอบทันท่วงที แก่คนที่มีปัญหาให้เกิดความรู้ความเข้าใจ นางวิสาขาร้องไห้เพราะหลานตายไปหาพระพุทธเจ้าทั้งน้ำมูกน้ำตา พระองค์ถามว่าเธอร้องไห้เรื่องอะไร หลานตาย เออ ถ้าเมืองสาวัตถีเป็นหลานเธอทั้งหมด เธอก็ไม่ต้องหลับต้องนอน นั่งร้องไห้วันยังค่ำ นางก็รู้ว่า อ๋อ เรามันร้องผิดเสียแล้ว เข้าใจความหมาย พูดคำง่ายๆ แต่ว่ากินใจซาบซึ้ง มีมากมาย อันนี้มีมากมาย แต่เวลาหมดเสียแล้วจึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ในที่สุดนี้ก็ขอให้ญาติโยมเอาไปใช้ในชีวิตต่อไป อ้าว ต่อนี้ไปเราก็มานั่งสงบใจกันเสียหน่อย นั่งตัวตรง หลับตา หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว กำหนดรู้ตามลมหายใจเข้าออก เป็นเวลา ๕ นาที อย่าให้ไปอื่น ให้อยู่ที่ลมเข้าลมออก