แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักธรรมในคำสอนของพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ อย่ามัวเดินไปเดินมาให้นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งที่สามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงได้ชัดเจน แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
ขณะนี้ดินฟ้าอากาศค่อนข้างจะแสดงอาการว่าจะมีฝน แต่ว่าวันอาทิตย์ตอนเช้าถึงเที่ยงขออย่ามาตกที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ให้ไปตกที่อื่นที่เขาต้องการน้ำมีถมไป อย่ามาตกรดญาติโยมให้ลำบาก ก็ปราศจากฝนมาเกือบทุกอาทิตย์ ไม่ค่อยจะเดือดร้อน ด้วยอำนาจคุณงามความดี ที่เราทั้งหลายตั้งใจจะกระทำกัน ตอนเช้าวันอาทิตย์ก่อนที่จะมาวัดนี้ ตื่นขึ้นถึงไหว้พระนึกถึงคุณพระรัตนตรัย แล้วก็อธิษฐานใจว่าวันนี้ขอฝนอย่าตกที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์เลย ให้ทุกคนทำในใจอย่างนั้น อำนาจจิตของคนมากๆนี้ ก็อาจจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง ถ้าเราทำพร้อมๆกัน เราก็จะได้รับความสะดวกในการบำเพ็ญกิจในทางศาสนา ในวันอาทิตย์ที่เราเคยมากระทำกันอยู่เป็นประจำ
ญาติโยนที่มาวัดในวันอาทิตย์นี้ ขอให้เข้าใจว่าเรามาเพื่อการศึกษาหาความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่ารู้แล้วเข้าใจแล้วเราต้องนำไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คือต้องเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ถ้าเราไม่ใช้เราก็ไม่ได้รับประโยชน์จากธรรมะ และเมื่อไม่ใช้ไม่ได้รับประโยชน์เราอาจจะคิดเขวไป คิดว่าแม้ไปวัดทำบุญมาก็มากแล้วยังไม่เห็นได้ผลอะไร ที่ไม่ได้ผลก็เพราะว่าเราไม่ได้ปฎิบัติ ถ้าเราปฏิบัติมันก็ต้องได้ผลปรากฎแก่จิตใจของเราเอง เพราะว่าผลของการปฏิบัตินั้นมันอยู่ที่ตัวเรา อยู่ในใจของเรานั่นแหละ เรารู้ว่าใจเราสงบขึ้น ใจเราสะอาดขึ้น ใจเราสว่างขึ้นด้วยปัญญา มีสติควบคุมตัวเองได้มากขึ้น การปล่อยใจไปตามอารมณ์ตามสิ่งแวดล้อม ก็ลดน้อยลงไป อันนี้ว่าเราได้ผลจากการปฏิบัติอยู่แล้ว และถ้าเราทำติดต่อกันไปไม่ว่าในเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เราก็จะได้ผลเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพราะการกระทำอะไรในรูปใด ผลมันก็จะเป็นไปในรูปนั้น ดังคำที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราหนีจากผลที่เรากระทำไว้ไม่ได้เป็นอันขาด เราทำสิ่งที่เป็นความดี ความดีมันก็เพิ่มมากขึ้นในใจของเราถ้าเราทำสิ่งที่เป็นความชั่ว ความชั่วมันก็เพิ่มมากขึ้นในใจของเรา การเพิ่มความดีเป็นเหตุให้เกิดความสงบใจ การเพิ่มความชั่วเป็นเหตุให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ อันนี้เป็นเรื่องกฎธรรมดาที่จะเกิดจะมีแก่เราทุกคน เราหนีไม่พ้น แต่ถ้าเราไม่สังเกตเราก็จะไม่รู้ ฉะนั้นให้หมั่นสังเกตที่ตัวเราเอง ว่าตั้งแต่เราเริ่มเข้าวัด เริ่มปฏิบัติกิจในทางศาสนา สภาพชีวิตของเราเป็นอย่างไร มีอะไรดีขึ้นบ้าง หรือมีอะไรคงอยู่ ถ้าดีขึ้นก็แสดงว่าเราได้ใช้ธรรมะถูกต้อง ถ้าไม่ดีขึ้นก็แสดงว่าเราใช้ธรรมะอย่างไม่ถูกไม่ต้อง เราต้องกลับตัวใหม่ ต้องปรึกษาพระสงฆ์ที่มีความสามารถในการจะแนะนำเราให้เกิดความรู้ความเข้าใจ แล้วเราก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติต่อไป ไม่ท้อแท้ ไม่อ่อนแอ ไม่ไปเลิกเสียกลางคันเราก็จะถึงจุดหมายที่เราต้องการได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้ทำไว้ในใจ ทำไว้ในใจก็หมายความว่าคิดถึงบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ในเรื่องนั้นๆ ที่เราต้องการกระทำ อะไรมันก็ดีขึ้น ขึ้นไปเรื่อยๆ ขอให้โยมเข้าใจอย่างนี้
เมื่อวันอาทิตย์ก่อนก็ได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับบทสวดมนต์ที่เราสวดกันอยู่นี่แหละ พูดในเรื่องบทอะระหัง บทสัมมาสัมพุทโธ มาแล้ว วันนี้ก็จะพูดต่อไปในเรื่องของบทที่เรียกว่า ภะคะวา อันเป็นบทสำคัญบทหนึ่งในคำที่เราสวด เราสวดว่าอะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา ภะคะวา นี้ก็เป็นบทสำคัญ คำว่าภะคะวานี่เป็นคำที่ชาวอินเดียเขาใช้เรียกบุคคลผู้ประเสริฐในทางคุณธรรมเช่น เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นผู้ที่นำประชาชนทางด้านจิตใจ เขามักจะเรียกว่า ภะคะวัน หรือภะคะวา แต่ว่าใช้ศัพท์ว่า ภะคะวันส่วนมาก เช่นพระพุทธเจ้า ชาวอินเดียเขาก็เรียกว่า ภะคะวัน พุทธะ หรือคนอื่นๆ ที่เขาให้เกียรติ เขาเคารพนับถือ เขาก็เรียกว่าภะคะวันเหมือนกัน คำๆนี้เป็นคำยกย่องบุคคลผู้มีคุณธรรมอันประเสิรฐ และได้ทำหน้าที่แนะนำชักจูงประชาชน ให้ได้เดินไปในทางที่ถูกที่ชอบ ก็ได้รับคำๆนี้จากประชาชน ไม่ใช่คำที่พระพุทธองค์ทรงตั้งเอง แต่เป็นคำที่ประชาชนเขาตั้งให้ ตั้งให้เพราะคุณธรรมคือ ความงาน ความดีที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากๆ เขาก็เรียกว่าภะคะวัน ขึ้นมา เหมือนภาษาเมืองเหนือเราได้ยินเขาเรียกว่าครูบา ครูบานี่ความจริงก็เห็นเหมือนกับว่าครูบานะ แต่ว่าตัว ร นี่เขาไม่ค่อยใช้ เลยเรียกว่าครูบา ครูบานั่น ครูบานี่ ถ้าพระองค์ใดที่ชาวบ้านเรียกว่าครูบา พระองค์นั้นมีคุณธรรมมีความงามความดี เป็นที่นับถือของประชาชนมากๆ เขาเรียกว่าครูบา เช่นว่าในสมัยก่อนนี้มีครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นพระที่เคร่งครัดในการปฏิบัติพระธรรมวินัย ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ฉันแต่ผัก ไม่ฉันปลา ฉันเนื้อ แล้วก็เป็นผู้ที่ไม่ต้องการอะไร เงินทองอะไรท่านไม่ต้องการแต่ชาวบ้านมักจะนิมนต์ท่านไปเป็นประธานในการก่อสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ในทางศาสนา ท่านก็ไปสร้างให้ คือไปนั่งนะ เขาเรียกว่าไปนั่ง นั่งอยู่ที่นั่นจนกว่าจะสร้างเสร็จ ท่านไปนั่งที่ใหนคนก็ไปกราบไปไหว้ เอาปัจจัยไปร่วมในการกระทำ ไม่ใช่เพียงแต่เอาปัจจัยไปร่วม ไปทำด้วย ใครจะไปร่วมในการก่อสร้างอะไรก็ไปช่วยทำ ช่วยผูกเหล็ก ช่วยกวนปูน ช่วยเทปูน ช่วยทำนั่งร้าน ช่วยทำทุกอย่าง ทั้งให้เงินให้เรี่ยวแรงการกระทำก็สำเร็จรวดเร็ว เป็นความสามัคคีของชาวบ้าน เราเคยไปเชียงใหม่นั่งรถไปขึ้นดอยสุเทพ ไปไหว้พระธาตุบนดอย นั่งรถสะดวกสบาย นั่นแหละผลงานของท่าน ท่านไปทำถนนขึ้นดอยใช้เวลาหนึ่งเดือนกับสิบห้าวันเท่านั้นเอง ถ้าใช้งบประมาณราชการคงจะหลายล้าน แล้วก็ทำกันเป็นปีกว่าจะเสร็จ แต่ครูบาเจ้าท่านทำเพียงหนึ่งเดือนกับสิบห้าวัน รถวิ่งขึ้นไปได้มีสะพานข้ามห้วย เป็นสะพานแข็งแรงเรียบร้อย ทำไมจึงสำเร็จอย่างนั้น ก็เพราะประชาชนมาร่วมแรงร่วมใจกันขุด ขั้นแรกแบ่งกันคนละวา ต่อมาแบ่งกันคนละศอกเท่านั้นเอง คนยืนตั้งแต่เชิงดอยจนกระทั่งถึงพระธาตุแล้ว ช่วยกันขุดถนน หนึ่งเดือนกับสิบห้าวันก็เสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านก็ยกย่องท่านว่าเป็นครูบาศรีวิชัย เขาให้เกียรติอย่างนี้ เป็นคำที่ชาวบ้านตั้งขึ้นไม่ใช่ว่าจะเรียกครูบาทุกองค์ พระบางองค์เป็นพระขลังๆ ชอบแจกเครื่องลางของขลัง แจกตะกรุดอะไรต่างๆ คนเชียงใหม่เขาไม่เรียกว่าครูบา เขาไม่ให้เกียรติว่าเป็นครูบาอะไร เขาเรียกว่าเป็นหลวงพ่อ หลวงอะไรไปตามเรื่อง แต่เขาไม่ให้คำว่าครูบา คำที่จะเป็นครูบานี่ ต้องเป็นพระที่ปฏิบัติเคร่งครัดในทางศีล ทางธรรม ไม่ใช่ทำเรื่องอื่น เช่นว่ามีพระสามองค์ สามพี่น้องเขาเรียกว่าครูบาน้ำบ่อหลวง ครูบาดอยน้อย ครูบาที่พระบาทตากผ้า นี่สามองค์พี่น้อง เป็นพระปฏิบัติเคร่งครัด ไม่มีเรื่องเหลวไหล ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับโชคลางหรือไสยศาสตร์อะไรเข้าไปปะปน สอนแต่ธรรมะสอนให้คนสงบ ให้ก้าวหน้าในทางปัญญา ชาวบ้านเค้าให้เกียรติว่าเป็นท่านครูบาเหมือนกัน เป็นอย่างนี้ อันนี้เอามาพูดให้ฟังเพื่อเป็นเครื่องเปรียบเทียบในภาษา ว่าภาษาที่เขาใช้สำหรับคนบางประเภทนี่ เป็นคำยกย่องเป็นคำบูชาในคุณงานความดี
สำหรับพระผู้มีพระภาคของชาวเราทั้งหลาย เขาใช้คำว่าภะคะวัน เป็นคำให้เกียรติอย่างสูงสำหรับผู้ที่ได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ผู้อื่นอย่างมากมาย และทรงพระนามว่าภะคะวา หรือภะคะวัน เราจึงเรียกในภาษาไทยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เรียกให้เต็มต้องเรียกอย่างนั้น และใช้คำนี้เรียก ก็เรียกว่าเรียกด้วยความเคารพ เรียกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเราจะเอ่ยชื่อพระองค์เราก็เอ่ยอย่างนั้น เราเอ่ยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เรานับถือพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นตัวอย่าง ที่ได้นามเช่นนั้นก็เพราะอะไร ก็เพราะพระองค์ทรงมากด้วยความกรุณาปราณีต่อสัตว์โลกทั้งหลาย เรื่องความกรุณาของพระองค์นั้น ไม่ใช่มีในเวลาที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นพระพุทธเจ้านี่เป็นผลของความกรุณาในเบื้องต้น ล้วเป็นเหตุให้ออกบวช บวชแล้วก็ทรงศึกษาค้นคว้าปฏิบัติธรรมะ จนกระทั่งเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง หมดกิเลสด้วยประการทั้งปวงเป็นพระอรหันต์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ นี่ก็เป็นผลเนื่องมาจากความกรุณาปราณี ที่มีอยู่ในน้ำพระทัยของพระองค์ก่อน เกิดตั้งแต่ยังเป็นเจ้าชาย ยังไม่ได้ออกบวชก็ทรงมีน้ำพระทัยกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ไม่เคยทำร้ายสัตว์ ไม่เคยเบียดเบียนสัตว์ให้เดือดร้อน แต่ว่าทรงกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น
ในหนังสือพุทธประวัติที่เป็นของชาวธิเบต ชาวธิเบตเขาเขียนพุทธประวัติไว้เก่าแก่เหมือนกัน วันก่อนนี้ไปประเทศอังกฤษไปพบหนังสือพุทธประวัติ ภาษาอังกฤษเขาเขียนตามเรื่องของธิเบต เมื่อไปดูศักราชที่เขาพิมพ์ วันที่ไปพบหยิบมาจากห้องสมุดนั้นเป็นวันที่ครบร้อยปีพอดี หนังสือเล่มนั้นพิมพ์มาร้อยปีแล้ว ยังมีอ่านอยู่ในห้องสมุดของวัดป่าจิตวิเวก ก็เลยเอามาอ่านมาศึกษา เป็นพุทธประวัติที่คล้ายๆเหมือนกันกับของเรา แต่ว่ามีบางสิ่งบางอย่างแทรกเข้าไป แทรกเข้าไปเพื่อให้เกิดความเคารพนับถือมากยิ่งขึ้นในพระองค์นั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร ยกตัวอย่างเช่นว่าเมื่อเจ้าชายยังเป็นหนุ่มน้อย ยังไม่ได้ออกบวช วันหนึ่งไปนั่งอยู่ในสวนหลังปราสาทแล้วก็ดูปลา ดูนกอะไรเพลินไป พระองค์ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายที่มันเที่ยวคลานอยู่ เที่ยวว่ายอยู่ในน้ำ บินไปในอากาศพระองค์ก็ทรงชื่นบานด้วยความเป็นอยู่ของสัตว์เหล่านั้น แล้วก็ทรงคิดว่าพวกสัตว์เหล่านี้มีอิสระ มีเสรีภาพอยากไปใหนก็ไปได้ตามชอบใจ บินไปในอากาศจะบินไปที่ใหนก็ได้ อยู่ในน้ำจะว่ายไปที่ใหนก็ได้ อยู่ในป่าจะท่องเที่ยวไปที่ใหนก็ได้ไม่ต้องถูกกักขังให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน พระองค์ก็นึกถึงพระองค์เอง ว่าเรานี่อยู่แต่ในวังไปใหนไม่ได้ จะไปก็ต้องขออนุญาตจากพระราชบิดา ก็คล้ายๆกับว่าถูกขังอยู่เหมือนกัน แต่ว่าขังอยู่ในความเพลิดเพลินเจริญใจด้วยสิ่งต่างๆ มีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ยั่วให้เกิดความเพลิดเพลินเจริญใจ แต่ว่าหาทรงพอพระทัยในความเพลิดเพลินนั้นไม่ ทรงเห็นว่ามันไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสารอะไรอยากที่จะออกไปดูโลกให้มันกว้างขวางยิ่งขึ้นไป แต่ยังออกไปไม่ได้ถ้าไม่ได้รับอนุญาต พระองค์จึงนึกว่านกสบายกว่า ปลาสบายกว่า สัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ในป่าสบายกว่าพระองค์ เพราะมีอิสระเสรีที่จะไปใหนไปได้ นั่งดูนั่งนึกไปในรูปอย่างนั้นก็พอดีเห็นห่านป่าฝูงหนึ่งบินมาในอากาศ ขณะบินมานั่นแหละก็มีห่านตัวหนึ่งถูกยิงด้วยลูกศรตกลงมาที่พุ่มกุหลาบในสวน พระองค์เห็นเช่นนั้นก็ตกพระอุระ นี่บอกว่าอนิจจาใครทำร้ายนกตัวนั้น แล้วก็รีบเสด็จไปที่พุ่มกุหลาบจับนกตัวนั้นมาอุ้มประทับไว้กับอก ถอนเอาลูกศรที่ติดอยู่ที่ร่างกายมันออกเสีย แล้วก็เอาใบไม้มาเคี้ยวให้แหลกอุดแผลให้ แล้วอุ้มประทับไว้กับอกประเดี๋ยวเดียวก็มีคนที่เป็นผู้ยิงนกนั้นวิ่งกระหืดกระหอบมา แล้วก็บอกว่านกนี้เป็นของหม่อมฉัน เจ้าชายก็บอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ของท่านแต่เป็นของหม่อมฉัน ฉันยิงมันตกลงมาจากฟ้าแล้วท่านจะมายึดเอาว่าเป็นของท่านได้อย่างไร พระองค์ก็บอกว่าผู้ทำลายไม่ควรจะเป็นเจ้าของ แต่ผู้คุ้มครองนั่นแหละควรจะเป็นเจ้าของ ไม่ว่าอะไรถ้าเราทำลายมันเราก็เป็นเจ้าของไม่ได้ แต่ถ้าเราคุ้มครองเราจึงจะเป็นเจ้าของ เจ้าชายได้ตอบอย่างนั้น แต่ว่าเจ้าชายที่ยิงนก คือเทวทัตก็ไม่ยอมแล้วก็ทำท่าจะแย่งแต่ก็ไม่กล้าเข้าไปแย่งเพราะว่าในเชิงกำลังนั้นเจ้าชายสิทธัตถะก็เก่งเหมือนกันไม่ยอมแพ้ใคร เจ้าชายเห็นว่าไม่ดี จะเอากำลังเข้าใส่กันไม่ดี เพราะการใช้กำลังเป็นวิสัยของเดรัจฉาน ไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ มนุษย์เรามันต้องใช้ปัญญา ใช้สมองไม่ใช่เอากำลังเข้าฟัดเข้าเหวี่ยงกัน การเอากำลังเข้าสู้กันนั้นเป็นวิสัยของเดรัจฉานไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ แต่ว่ามนุษย์บางทีก็สมัครเป็นสัตว์เดรัจฉานเหมือนกันคือรบกันนั่นเอง การรบกันนั่นก็เรียกว่าเอาวิสัยของเดรัจฉานมาใช้ ยิงกัน ฆ่ากัน ทำลายกัน วางลูกระเบิดให้ตายกันที่ละมากๆ วางลูกระเบิดแม้กระทั่งเรือบินที่บินไปในอากาศ โดยไม่นึกว่าคนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่จะพลอยตาย เป็นการกระทำด้วยอำนาจทิฐิมานะ ด้วยความพยาบาท อาฆาตจองเวร เราได้ยินข่าวอย่างนี้อยู่บ่อยๆ ว่ามีการกระทำที่นั่นที่นี่เกิดขึ้นในโลก นั่นเขาเรียกว่ามนุษย์เปลี่ยนร่างเป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วเอาวิสัยของสัตว์เดรัจฉานมาใช้ คนเราพอโกรธขึ้นมามันก็ไม่เป็นมนุษย์แล้ว พอเกลียดอะไรขึ้นมา พยาบาทริษยาผู้อื่นขึ้นมามันก็ไม่เป็นมนุษย์แล้ว ใจต่ำลงไปทันที ใจที่สูงเป็นมนุษย์ ใจที่ต่ำเป็นสัตว์เดรัจฉานไป แล้วประพฤติด้วยความโง่ คือชอบใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน ชกต่อยตีรันฟันแทงกัน สองคนครั้งแรก ต่อมายกพวกมาตีกันจนกลายเป็นสงครามประหัตประหารกัน แม้ว่าจะมีความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการต่างๆ แต่สมองปัญญายังไม่เจริญ จิตใจยังไม่เจริญ แม้จะคิดประดิษฐ์อะไรขึ้นมา ก็ประดิษฐ์เพื่อฆ่ากัน เพื่อทำลายกัน ลงทุนมากสูญเสียเงินทองไปไม่ใช่น้อยในเรื่องที่จะไปฆ่าไปแกงกันเท่านั้นเอง อันนี้คือความโง่ของสังคมมนุษย์ที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบัน เขาไม่เข้าถึงธรรมะของศาสนา แม้จะนับถือศาสนาแต่ไม่เข้าถึงธรรมะของศาสนา ไม่ได้เอาธรรมะมาใช้เป็นหลักปฏิบัติ ในทางจิตใจ จึงเต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดดุร้ายด้วยประการต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องที่เราทั้งหลายควรจะได้คิดไว้ในใจ เวลาใดมันจะลดความเป็นมนุษย์ เราคิดว่า เราเป็นมนุษย์ เราเป็นพุทธบริษัทหรือว่าเราเป็นคนไทย เราไม่ควรจะปล่อยใจให้ตกต่ำไปในเรื่องอย่างนั้น สภาพจิตก็จะดีขึ้น
เทวทัตนี่ชอบใช้กำลัง แต่เจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้มีปัญญาไม่ชอบใช้กำลัง เลยบอกว่าเราไปหาอาจารย์กันดีกว่า เพื่อให้อาจารย์ตัดสินว่านกนี้ควรจะได้แก่ใคร ตกลงก็ไปสู่สำนักอาจารย์ เทวทัตก็เดินพึมพำไปตามประสาคนขี้โมโหโทโส แต่เจ้าชายสิทธัตถะเดินเงียบๆ ไปถึงสำนักอาจารย์ อาจารย์ก็ตรัสว่ามีเรื่องอะไรกันอีก ก็เล่าเรื่องให้ฟังเมื่อได้ฟังแล้วอาจารย์ก็บอกว่า โดยหลักการในทางธรรม ผู้ใดคุ้มครองชีวิตสัตว์ผู้นั้นควรจะได้เป็นเจ้าของ ผู้ใดทำลายชีวิตสัตว์ผู้นั้นไม่ควรจะเป็นเจ้าของ คำตัดสินของอาจารย์ก็ต้องยอมรับกันทั้งสองฝ่าย เทวทัตก็เดินก้มหน้าลงส้นปึงๆ ไปด้วยความโกรธ ฝากไว้ก่อนเถอะ ว่าอย่างนั้นน่ะ นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในพุทธประวัติที่เขาเล่าไว้ คือแทรกเข้ามาเช่นนั้นก็เพื่อให้เห็นถึงน้ำพระทัย ว่ายังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าก็เรียกว่ามีน้ำพระทัยรักเพื่อนมนุษย์ รักสัตว์เดรัจฉาน ต้องการจะแผ่ความสุขไปยังสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั่วๆไป จึงได้แสดงเขียนเรื่องไว้ในรูปอย่างนั้น
แล้วการออกบวชของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรานั้น ออกบวชด้วยเรื่องอะไร ก็ด้วยน้ำพระทัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักเพื่อนมนุษย์นี่ คือกรุณาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลามันเกิดมากขึ้น มากขึ้น จนกระทั่งอยู่ในวังไม่ได้ต้องออกจากวังไป เรียกว่าออกบวช ออกไปเพื่ออะไร เพื่อไปแสวงหาสิ่งประเสริฐที่จะช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ก็พระองค์มองเห็นว่าชาวโลกนี้มีความทุกข์ มีความเดือดเนื้อร้อนใจด้วยเรื่องปัญหาต่างๆ แต่ยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร แต่ว่าทรงคิดไปได้ว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ย่อมมีของคู่กัน เช่นมีเย็นมีร้อน มีสูงต่ำ มีดำขาว มียาวมีสั้น มีอ้วนมีผอม มีกลางวันก็มีกลางคืน เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นทุกข์ ก็น่าจะมีสิ่งที่ไม่เป็นทุกข์ ท่านคิดในใจอย่างนั้น คาดคะเนนึกเอาว่ามันน่าจะมี แต่ว่ายังไม่รู้ว่ามันจะมีได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะได้พบสิ่งนั้น มันต้องแสวงหาเลยตัดสินพระทัยออกไปบวชเพื่อแสวงหาสิ่งนั้น การออกบวชนั้นเรียกว่าไปด้วยน้ำพระทัย ที่จะช่วยโลกให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน แต่ก่อนจะช่วยโลกต้องช่วยตัวเราก่อน ให้รู้เรื่องก่อนแล้วจึงจะไปสอนเขาได้ แม้คนจะไปช่วยคนตกน้ำนี่ ถ้าว่ายน้ำไม่เป็นอย่ากระโดดลงไปช่วย เพราะขืนไปช่วยมันจะตายสองคน แต่ถ้าเราว่ายน้ำเป็นเรากระโดดลงไปช่วยได้ ช่วยตัวเขาได้ตัวเราก็ปลอดภัย แต่ถ้าเราว่ายน้ำไม่เป็นคืนกระโดดลงไปแล้วก็จมน้ำ แล้วไอ้คนที่ตกน้ำตกใจเห็นอะไรเข้ามันก็เกาะเราลงไปอีก เลยตายสองคน นี่ฉันใดในเรื่องที่จะช่วยคนอื่นทางจิตทางวิญญาณก็ต้องช่วยตัวเองก่อน ต้องลงทุนล่ะ ต้องเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อศึกษาค้นคว้าให้ได้พบความจริงในสิ่งเหล่านั้น ความคิดอย่างนี้ไม่ได้เกิดมาจากอะไรเลย แต่เกิดขึ้นจากความรักเพื่อนชาวโลกทั้งหลาย เพราะทรงเห็นความทุกข์ของชาวโลกว่าเราจะต้องช่วยเขาให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน สมัยนี้เราก็ช่วยกันอยู่มากเหมือนกัน ช่วยชาวโลกนี่ แต่ว่าสังเกตดูแล้วเป็นการช่วยกันภายนอก ไม่ได้ช่วยเข้าไปถึงเนื้อในของคนๆนั้น ช่วยภายนอกนี่ช่วยอย่างไร แจกเสื้อ แจกผ้า แจกข้าวสาร แจกโน่น แจกนี่ แจกกันบ่อยๆ โดยเฉพาะนักสังคมสงเคราะห์ ชอบเอาไปแจกกันบ่อยๆ ออกโทรทัศน์กัน แจกแล้วออกโทรทัศน์กัน ว่าได้ไปช่วยที่นั่นไปช่วยที่นี่ การช่วยอย่างนี้มันก็ดีอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่ดีอะไร แต่ว่ามันยังไม่เป็นการช่วยที่แท้จริง เพราะว่าเราช่วยแต่เรื่องร่างกาย ไม่ได้ช่วยเข้าไปถึงจิตวิญญาณของผู้นั้นเป็นการช่วยภายนอก ให้เขามีความสุขเพราะวัตถุ แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องความสุขทางจิตใจ
พระผู้มีพระภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้นทรงช่วยคนทางด้านจิตใจ เพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้ ควรจะถือหลักไว้อันหนึ่งในการช่วยคน คือเราต้องช่วยเขาให้เขารู้จักช่วยตัวเอง ถ้าเราช่วยเขาไม่ทำให้เขารู้จักช่วยตัวเอง คนนั้นจะเป็นคนที่อ่อนแอไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ แล้วก็ต้องช่วยกันตลอดไป เหมือนพ่อแม่เลี้ยงลูก ไม่เลี้ยงลูกให้รู้จักช่วยตัวเองก็ต้องเลี้ยงมันเรื่อยไป อายุสามสิบ สี่สิบแล้วมันก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้ยังทำงานไม่เป็น ยังแบมือขอสตางค์คุณแม่ มันเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต ก็เราไม่ช่วยในทางที่ให้มันโต ช่วยให้อ่อนแอ มีเงินมีทองก็ให้มันเรื่องไป ให้มันกินให้มันใช้ มันต้องการอะไรก็ให้มันไปเรื่อยๆ แล้วเด็กนั้นก็จะไม่เติบโตทางจิตวิญญาณ กลายเป็นคนอ่อนแอแม้ร่างกายแข็งแรงแต่จิตใจอ่อนแอ คนที่ร่างกายแข็งแรงจิตใจอ่อนแอ อาจจะเอากำลังกายไปใช้ทำปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคม สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยประการต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเห็นกันอยู่ทั่วๆไป แต่ไม่ค่อยจะมีใครคิดถึงปัญหานี้ เราไม่ค่อยคิดถึงปัญหานี้เราพูดกันแต่เรื่องปากเรื่องท้องของประชาชนกันเป็นส่วนมาก ไม่ว่าในวงสังคมใหนๆ วงราชการงานเมืองพูดกันแต่เรื่องปากท้อง ให้คนมีกินมีใช้ แต่ก็ไม่ได้พูดว่าให้คนมันมีคุณธรรม มีความงานความดีประจำจิตใจ เราไม่คิดถึงเรื่องนั้น คิดแต่เรื่องกินเรื่องอยู่แต่ไม่คิดถึงเรื่องคุณค่าทางจิตใจ นี่เรียกว่าเป็นการช่วยที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ของการช่วยเหลืออย่างแท้จริง แล้วก็ต้องช่วยกันเรื่อยไป บางทีก็จะเกิดความเสียหายด้วยนะ เพราะประชาชนจะนั่งคอยการช่วยเหลือ มีอะไรเกิดขึ้นคอยก่อนคอยเดี๋ยวเขาจะมาช่วย เดี๋ยวรัฐบาลจะมาช่วย รัฐบาลก็คอยให้ชาตินั้นช่วยชาตินี้ช่วยกันอยู่ ขอพึ่งเขาเรื่อยไป ไม่รู้จักช่วยตัวเอง อันนี้มันก็เสียหายเหมือนกัน ไม่เอาหลักพระพุทธเจ้าไปใช้ ว่าอัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนจะเป็นที่พึ่งแห่งตนได้อย่างไร เมื่อตนไม่มีคุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ ไม่ปรับตัวให้มีธรรมะ และไม่ยุให้ประชาชนเกิดความสนใจในธรรมะ ได้เข้าหาธรรมะ มันก็มีปัญหาไม่รู้จักจบ เราจะต้องจ่ายเงินมากมายเพื่อแก้ปัญหา แต่ไม่ไปแก้ให้ถูกจุดอันแท้จริงของตัวปัญหา เหตุอันแท้จริงของตัวปัญหาก็อยู่ที่ใจคนมันตกต่ำ เมื่อใจคนตกต่ำ เศรษฐกิจตกต่ำ การเมืองตกต่ำ อะไรก็ตกต่ำไปหมดด้วยประการทั้งปวง นี่เราไม่ได้คิดเรื่องนั้นไม่ได้พูดกันให้มันแพร่หลายในเรื่องอย่างนี้ เราพูดกันแต่เรื่องอื่นอันเป็นเรื่องภายนอก แต่ไม่พูดถึงเรื่องภายใน ไม่สนใจที่จะปลุกระดมในทางด้านจิตใจ ให้คนตื่นตัวเข้ามาปรับตัวเอง ให้คนรู้จักพิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง สังคมมันก็เป็นสังคมอ่อนแอ เพราะไม่มีกำลังภายในเพียงพอที่จะต่อต้านกับสิ่งชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ อันนี้คือความเสียหาย
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขวนขวายในเรื่องที่จะช่วยคนทางด้านจิตใจ จึงเอาชีวิตของพระองค์เข้าแลกเพื่อศึกษาค้นคว้าธรรมะ เรียนจริงๆ จากสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆ แล้วก็ทดลองปฏิบัติอย่างจริงจังในสำนักนั้นๆ จนจบความรู้ของสำนักนั้น ถ้าพูดสมัยนี้ก็เรียกว่าจบหลักสูตร อาจารย์ก็ยกย่องว่าเธอมีความรู้เท่าฉันแล้ว ให้อยู่ร่วมกันสั่งสอนศิษย์ต่อไป แต่พระองค์รู้ด้วยพระองค์เองว่ามันยังไม่ได้อะไร ยังไม่ก้าวหน้าอะไรอย่างแท้จริง ยังมีความทุกข์ ยังมีปัญหาที่มากระซิบอยู่ในใจ มันยังไม่พ้นไปจากปัญหานั้น ก็เลยออกจากสำนักนั้นๆ เพื่อศึกษาค้นคว้าต่อไป เอาชีวิตเข้าแลกจริงๆ บางทีก็ทดลองปฏิบัติจนร่างกายผ่ายผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก อย่างนี้ก็มี ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ชาวโลกทั้งหลาย ไม่มีศาสดาใดที่จะมีเมตตาต่อมนุษย์มากยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงกระทำอย่างนี้ตลอดมา ครั้นเมื่อได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์จะนั่งเฉยๆอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใครจะไปว่าอะไร ใครจะไปประท้วง ใครจะไปเดินขบวนให้มาทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีหรอก พระองค์ก็นั่งสบาย คนก็ไปไหว้ไปกราบ ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่พระองค์ทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะความกรุณามันแรงอยู่ในจิตใจ ซึ่งเราเรียกว่าพรหมมาอาราธนา ที่เรียกว่าพรหมมาอาราธนานั้น ไม่ใช่พระพรหมองค์ใหนมาอาราธนาหรอก คือวคามคิดที่เต็มไปด้วยเมตตา กรุณาเกิดขึ้นในน้ำพระทัย แต่ว่าพูดให้เป็นตัวตนเป็นบุคคลขึ้นมา เราเรียกว่าพูดภาษาคน ไม่พูดภาษาธรรมะว่าอาศัยพรหมมาอาราธนา ว่า พรัมมา จะโลกาธิปะตี อะไรอย่างนี้ ที่เราว่ากันนี้ พระขึ้นนั่งธรรมมาสน์ แล้วก็ว่าอันนี้ก่อน ถ้าไม่ว่าอันนี้พระจะเทศน์ไม่ได้อย่างนั้น ก็เทศน์ได้เหมือนกัน ความจริงอาราธนาตั้งแต่ไปนิมนต์แล้ว อาตมาไปเทศน์ที่ใหนก็ไม่ค่อยให้ว่าพรัมมา บอกไม่ต้องว่าฉันรู้แล้วว่านิมนต์ฉันมาเทศน์ ตั้งใจฟังกันก็แล้วกัน แล้วก็เทศน์ จะไปเทศน์งานศพ ในโบสถ์ ศาลาก็ไม่ต้องอาราธนา เพราะว่ามาแล้วจะไปอาราธนาอะไรอีก
พระองค์ก็ไม่ใช่พรหมสี่หน้ามาอาราธนา แต่ว่าดวงจิตที่มีความรักเพื่อนมนุษย์นี้เกิดขึ้นอย่างแรงว่าเราสำเร็จแล้ว เราพ้นทุกข์แล้ว เราจะต้องช่วยคนอื่นให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนต่อไป ความคิดนี้มันเกิดขึ้นในน้ำพระทัยของพระองค์ในขณะนั้น จึงพูดเป็นภาษาคนว่าพรหมมาอาราธนา ความจริงพรหมนั้นก็คือคุณธรรมสี่ประการ ได้แก่เมตตา ปรารถนาความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ กรุณาทนอยู่ไม่ได้เมื่อเห็นใครเขามีความทุกข์ความเดือดร้อนต้องสอดแทรกเข้าไปช่วยเหลือ มุทิตา เพลินใจเมื่อได้กระทำสิ่งใดสำเร็จในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แล้ว หรือว่าเพลินใจเมื่อเห็นใครเขาได้มั่งมีศรีสุข มีความเจริญมีความก้าวหน้าในชีวิต แล้วก็มีความเพลินใจ อุเบกขานี่หมายความว่าจ้องดูอยู่ว่าจะทำอะไรได้อีกกับคนนั้นๆ กับเหตุการณ์นั้นๆ กับเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่เฉย ไม่ใช่อย่างนั้น เรามักจะพูดว่าอุเบกขาคือวางเฉย ไม่ได้ วางเฉยไม่ได้ มันไม่สมกับรู้ศัพท์ รู้ศัพท์อุเบกขาหมายความว่าเข้าไปจ้องดูอยู่ จ้องดูอยู่ ว่าเราควรจะทำอะไรกับสังคมนั้นต่อไป กับคนนั้นต่อไป กับเหตุการณ์นั้นต่อไป เหมือนพ่อแม่จ้องดูลูกอยู่ตลอดเวลาว่าลูกมีอะไรบกพร่อง มีอะไรไม่ดี มีอะไรไม่เหมาะ ควรจะสอนควรจะเตือน ครูก็เหมือนกันไม่ใช่นั่งเฉยๆ นั่งหลับตาไม่เอาใจใส่ ไม่ใช่อย่างนั้นครูก็ต้องเข้าไปจ้องดูว่าลูกศิษย์ของเราเป็นอย่างไรมีนิสัยใจคออย่างไร ดื้อด้านขนาดใหนควรจะสอนโดยวิธีใด เพื่อให้ลูกศิษย์ของเราดีขึ้น สมภารเจ้าวัดก็ต้องจ้องดูลูกวัดอยู่ ว่าใครไม่ดี ใครไม่เหมาะไม่ควร ก็ต้องเรียกมาสอนมาเตือนให้เกิดความสำนึกรู้สึกตัว รัฐบาลก็อุเบกขาไม่ได้ ต้องเอาหูใส่ใจฟังเรียกว่าต้องใช้หูเป็นต้องใช้ตาเป็น ต้องใช้ใจคิดไม่ใช่เป็นคนหูหนวกตาบอด ไม่รู้เรื่องอะไร คนทำอะไรมาตั้งหลายปียังไม่รู้เรื่อง อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช้หู ไม่ใช้ตา คือว่าคนที่ทำงานทั่วๆ ไปไม่ใช้หูใช้ตา อะไรเกิดขึ้นที่ใหนไม่สนใจ มัวมาถือหลักอุเบกขา อันนี้มันเสียนะ อุเบกขาแบบนี้มันใช้ไม่ได้ เราต้องเพ่งดูในขอบเขตของเรา เป็นนายอำเภอต้องดูในขอบเขตของอำเภอ ต้องกำชับกำชากำนันผู้ใหญ่บ้าน ต้องใช้หูใช้ตาเพราะทำหน้าที่ต่างหูต่างตาของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินท่านมีสองตาสองหู ท่านฟังไม่หมด เห็นไม่หมดจึงตั้งคนไปแทนไว้ ผู้ใหญ่บ้านก็ดูในหมู่บ้านของตัว มีเด็กหนุ่มอันธพาลเกิดขึ้นกี่คน มีบ่อนเถื่อนเกิดขึ้น มีอะไรเกิดขึ้นต้องรายงานให้กำนันรู้ กำนันรู้แล้วก็อย่าไปอุบไว้ นี่มันพวกของกู ไม่ได้ ต้องไปบอกทางนายอำเภอ นายอำเภอรู้แล้วต้องจัดการตามอำนาจหน้าที่แก้ไขปัญหา ถ้าทุกคนมีหูใช้หู มีตาใช้ตา มีใจใช้ใจ ไม่ถือหลักอุเบกขาบ้าๆบวมๆ งานการมันก็ดีขึ้นมันเจริญขึ้น ไอ้นี่เรามันไม่รู้ความหมายของศัพท์เลยไปนั่งเฉยกันหมด สมภารเจ้าวัดก็ถืออุเบกขา เสร็จแล้วลูกวัดเอาหัวขึ้นตีนลงอย่างไรก็ช่างหัวมัน วัดนั้นมันก็ไม่เป็นวัดเป็นวา กลายเป็นอะไรไปแล้ว ไม่ได้อย่างนั้นไม่ได้ อุเบกขามันต้องคอยจ้องดูอยู่ตลอดเวลาว่าคนใหนบกพร่อง คนใหนไม่ดีไม่งามอย่างไรต้องเอาใจใส่ ในวัดก็ต้องดู มันสกปรกตรงใหนไม่สะอาดตรงใหน ต้องจัดการปัดกวาดให้เป็นความสะอาด เป็นความเรียบร้อย หลัก (36.49) มันต้องเป็นอย่างนั้นเรียกว่าใช้เป็น รู้จักธรรมะใช้ให้เป็นประโยชน์
พระองค์พระผู้มีพระภาคของชาวเราทั้งหลาย ท่านมีสิ่งนี้อยู่ในน้ำพระทัย จึงเรียกว่า พูดเป็นภาษาชาวบ้านว่าพรหมมาอาราธนา คือน้ำพระทัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เกิดขึ้นมองเห็นความทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ต้องออกไปสอนแล้ว ออกไปสอนไปด้วยน้ำพระทัยเมตตาปราณี เดินไปพบใครก็นั่งคุยกันสอนกัน พอเจอหน้าก็นั่งลงพูดกันหน่อย สอน คนเดียวก็สอน สิบคน ห้าสิบคน ร้อยคน พันคนสอนเรื่อยไป พบใครสอนได้หมดพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่อย พบคนก็ต้องสอน พบนักบวชด้วยกันก็คุยกัน ทำความเข้าใจกันแต่ถ้านักบวชคนนั้นมันเป็นดอกบัวใต้น้ำ พูดกันไม่รู้ภาษา พระองค์ก็ไม่ว่าอะไร บอกท่านมันมีความคิดแบบนี้มานานแล้ว พอกันทีสำหรับวันนี้ไม่ต้องคุยกันต่อไป เพราะพูดอะไรมันก็ไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าพอพูดกันรู้เรื่องก็อธิบายลุ่มลึกไปโดยลำดับ จนคนนั้นรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะ อันนี้เป็นเรื่องของน้ำพระทัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาปราณี อันนี้เรามาคิดว่าพระพุทธเจ้าช่วยเหลือสังคมในด้านอื่นบ้างหรือไม่นอกจากช่วยเหลือทางจิตใจ ก็อยากจะกล่าวว่าทรงกระทำเหมือนกัน แต่ว่าทำแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ไม่ให้ใครเดือดร้อนไม่ให้กระทบกระเทือน ด้วยการกระทำอย่างไร ด้วยการไปสอนพระราชาให้ประพฤติธรรม เราจะเห็นว่าพระผู้มีพระภาคของเรานั้นทรงคุ้นเคยกับพระราชามหากษัตริย์ทุกรัฐ ทุกแคว้นในประเทศอินเดีย เริ่มต้นที่พระเจ้าพิมพิสาร สอนพระเจ้าพิมพิสารให้บรรลุโสดาบันเป็นพระอริยะบุคคลขั้นโสดาบัน แล้วก็พระราชาแคว้นอื่นก็ทรงสอนให้ใช้หลักธรรมะเป็นนโยบายในการปกครองบ้านเมือง ให้ใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานในการปกครอง อันนี้ก็ช่วยประชาชนอยู่แล้ว เพราะเมื่อพระราชาประพฤติธรรม ราษฏรก็อยู่เย็นเป็นสุข เพราะนั้นต้องไปสอนคนที่ปกครองคนคือ พระราชา เมื่อพระราชาประพฤติธรรม อำมาตย์ก็ประพฤติธรรม เกรงใจพระราชาเขาก็ประพฤติธรรมกันทรงอยู่ในศีลในธรรมเรียบร้อย ทำงานดีการงานก้าวหน้า ประชาชนก็อยู่เย็นเป็นสุข นี่ก็คือการช่วยเหลือประชาชนไปด้วยในตัว และอีกอันหนึ่งที่เห็นง่าย คือว่าพระองค์มักจะคุ้นเคยกับพวกเศรษฐี พวกคนที่มีความเป็นอยู่มั่งคั่ง เขาเรียกว่าเศรษฐี ไอ้คำว่าเศรษฐีๆ นี่ ไม่ใช่นายทุน เรามักจะบอกพวกนี้เป็นพวกนายทุน ไม่ใช่ คำว่าเศรษฐีแปลว่าผู้มีใจประเสริฐ ไม่ใช่หมายถึงคนมีทรัพย์มากอย่างเดียว คนมีทรัพย์มากแต่ใจมันตกต่ำเอาเงินไปใช้ในทางที่ผิด ไปตั้งบ่อนการพนัน ไปตั้งธุรกิจประเภทบ่อนทำลายสังคม อันนี้ไม่ใช่พวกเศรษฐี พวกเศรษฐีเขาไม่เอาเงินไปหมุนในทางที่จะทำให้สังคมเดือดร้อน เพราะเศรษฐีคนมีใจประเสริฐ มีคุณธรรม เพราะนั้นพระองค์ไปทำเศรษฐีให้เป็นเศรษฐีจริงๆ ไอ้เศรษฐีก่อนนี้มันเศรษฐีหน้าเลือด คิดเอาดอกเบี้ยรีดนาทาเล้นจากคนยากคนจน เป็นนายทุนมีที่ดินเยอะแยะ แล้วก็เก็บเอา ชาวนาเดือดร้อนกันไปตามๆ กัน นั่นมันไม่ใช่เศรษฐีคุณธรรม เศรษฐีมุ่งเงินกันเป็นส่วนสำคัญ เอาปัจจัยเป็นเรื่องใหญ่ มันก็ยุ่งสังคมวุ่นวายเดือดร้อน อันนี้พระองค์สอนเอง ไปสอนเศรษฐีให้มีธรรมะ สอนให้ให้ทาน สอนให้รักษาศีล สอนให้เห็นประโยชน์จากการทาน จากศีล สอนให้ออกจากกาม หมกมุ่นมัวเมา เพลิดเพลินในความสุขทางเนื้อทางหนัง เพราะคนมีสตางค์มันก็ชอบอย่างนั้น ชอบเพลิดเพลินไปเรื่อยไป จนเกิดปัญหาในครอบครัวลูกเต้าไม่ค่อยจะเรียบร้อย เพราะว่าพ่อมันไม่ค่อยเรียบร้อยมัวแต่ไปเที่ยวสนุกสนาน ลืมลูกลืมเต้า อันนี้แม่ก็ไม่ค่อยเรียบร้อยปัญหาทางจิตใจมันเยอะ สอนลูกไม่ได้มีแต่โมโหโทโส ลูกก็ต้องออกไปหาความสุขนอกบ้าน เอาเงินพ่อไปใช้ในทางเหลวไหล ไปซื้อรถยนต์ไปแข่งกัน เรียกว่ารถจริง แล้วก็ไปเที่ยวตามบาร์ตามไนท์คลับ หาความสนุกโง่ๆ เง่าๆ สังคมมันก็เฟะฟอนกันด้วยประการต่างๆ เพราะเศรษฐีมันไม่เป็นเศรษฐีโดยคุณธรรม จึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นดังที่กล่าว
พระองค์ทรงเห็นอย่างนี้ก็ไปสอนเศรษฐีให้เป็นคนดีขึ้น เช่นไปสอนเศรษฐีสุทัตตะ เมืองสาวัตถี ให้เป็นเศรษฐีถูกต้องแล้ว พอเป็นเศรษฐีถูกต้องแล้วกลายเป็นคนใจใหญ่ใจกว้าง ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารคนยากคนจน ใครต้องการที่ดินไปทำมาหากินให้ที่ดิน ให้วัว ให้เสื้อให้ผ้า ให้หยูกให้ยา ใครบากหน้ามาสู่บ้านท่านเศรษฐีแล้วไม่ผิดหวัง มาแล้วไม่ผิดหวังต้องการอะไรก็ได้ไปทั้งนั้น จนชาวบ้านเห็นว่า โอคนนี้เป็นคนที่เอื้อเฟื้อแก่คนยากคนจนมากก็เลยให้ชื่อใหม่ว่า อนาถบิณฑิก อนาถบิณฑิกแปลว่า (42.57) คนยาก คนยากคนจนไปแล้วได้กินท้องอิ่ม ได้เสื้อได้ผ้าได้ที่หลับนอน ได้ที่ดินทำมาหากิน ได้วัวเอาไปไถนา เศรษฐีให้ ใจคอกว้างขวางอย่างนี้แล้ว ในครอบครัวก็อยู่เย็นเป็นสุข ลูกเต้าก็ประพฤติดีประพฤติชอบเป็นโสดาบันบุคคลทั้งนั้น แต่ว่าแกมีลูกชายคนเดียว ไอ้ครอบครัวใหนมีลูชายคนเดียวมักจะไม่เรียบร้อย เพราะอะไรเอาใจมากไป ถนอมมากไป เลี้ยงลูกนี่อย่าถนอมเหมือนกับต้นไม้ในร่ม คือเราเพาะไว้ในร่มนี่มันไม่ค่อยดี ต้นไมในร่มมันอ่อนแอ พอออกไปสู่กลางแจ้งมันเหี่ยวตาย ก็มันไม่คุ้นกันอากาศแต่ถ้าเราเพาะไว้กลางแจ้งมันสู้ได้ โตขึ้นในกลางแจ้งทนแดดทนฝน ทนทุกอย่างเอาไปเพาะใหนๆ มันก็ไม่ตายต้มไม้เหล่านั้น เค้าจึงเปรียบเทียบว่าเหมือนต้นไม้ในร่ม มันตายง่าย เราเลี้ยงลูกแบบต้นไม้ในร่มทะนุถนอมกลัวลูกจะลำบาก ไม่ให้ทำอะไร ไม่ให้อะไรทั้งนั้นแหละ เด็กมาวัดหัดให้มันล้างถ้วยล้างจานวันอาทิตย์โยมรับประทานอาหารแล้วก็เอาถ้วยจานทิ้งไว้ เด็กก็เก็บไปล้าง มีคนนึงมาเห็นลูกล้างชาม ก็ว่าเอะนี่ท่านใช้ลูกล้างจาน คือว่าอยู่บ้านไม่เคยใช้ ไม่เคยใช้ให้ลูกล้างจานเห็นว่าการล้างจานเป็นงานคนใช้ไม่ใช่งานของลูก เลี้ยงไม่เป็นแล้วเลี้ยงแบบนี้ มันต้องสอนลูกให้ล้างจานได้ ให้ซักเสื้อผ้าได้ ให้กวาดขยะได้ ให้เทกระโถนได้ แล้วให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อย่าดูหมิ่นคนยากคนจน คนใช้แม้ว่าจะเป็นคนใช้แต่อายุมากกว่าก็สอนให้มันรู้จักใช้คำพูดที่สุภาพ ให้เรียกพี่เรียกอะไรต่ออะไร อย่าไปเรียกคำที่ไม่เหมาะไม่ควร นี่สอนลูกให้มีมารยาทให้เติบโตด้วยคุณธรรม เมื่อเขาเติบโตขึ้นด้วยคุณธรรม โตขึ้นเขาก็จะเป็นคนมีคุณธรรม เขาจะรักษามรดกที่พ่อแม่หาไว้ด้วยความยากลำบากได้ แต่ถ้าเราเลี้ยงลูกไม่ให้โตด้วยคุณธรรม พอมันโตขึ้นมันก็ผลาญแป๊บเดียวเงินหมดเลย มีสักกี่ล้านกี่ล้านมันผลาญแป๊บเดียว กรุงเทพเวลานี้ที่ผลาญเงินมันเยอะแยะวันหนึ่งจะใช้สักล้านก็ได้ถาจะผลาญกันจริงๆนะ ไปซื้อนั่นซื้อนี่ เที่ยวขับรถไปโน่นไปนี่ สบายใจ ชิบหายหมดแหละถ้าเราเลี้ยงลูกอย่างนั้น เลี้ยงไม่เป็น ไม่ได้เราต้องเลี้ยงให้ลูกเห็นความทุกข์ความยากลำบาก เด็กที่ไม่เห็นความทุกข์มันนึกว่าเกิดมาสบายเลยมันไม่คิดต่อสู้กับปัญหาชีวิต มันเอาแต่ความสะดวกความสบายไปอยู่ใหนก้จะเอาแต่ความสบายอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวนี้เด็กเราเสื่อมขนาดใหน ได้ฟังข่าวเมื่อวานซืนว่าเด็กโรงเรียนอำนวยศิลป์เดินขบวนไปประท้วงครู ถึงกระทรวงศึกษา ไปประท้วงว่าครูนี่กวดขัน แต่งตัวอย่างนั้นแต่งตัวอย่างนี้ แล้วก็บอกให้ครูใหญ่ออกไปมันจะได้ใหญ่กันเต็มโรงเรียนต่อไป นี่มันถูกต้องไหมที่เด็กทำอย่างนั้น
นี่คือความเสื่อมในสังคมไทยเรา เสื่อมถึงขนาดนั้นแล้วเมื่อสมัยเปลี่ยนการปกครองใหม่ๆ ก็มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แล้วก้มีเด็กสองคนนามสกุลก็ใหญ่โตเหมือนกันอยู่แถวโรงไฟฟ้าสามเสนอะไรนี่ นามสกุลว่าอย่างนั้นล่ะ ก็เดินไปชกต่อยครูบาอาจารย์เลย บาทหลวงหนวดเครายาวดึงหนวดเลย ดึงหนวดบาทหลวงแล้วก็ให้บาทหลวงออกไป ไปพูดอย่างนั้น บาทหลวงก็บอกว่ามันไม่มีที่ใหนในโลก ที่ลูกศิษย์จะขับครูออกจากความเป็นครู มีแต่ครูจะขับลูกศิษย์ออกไปเท่านั้นจึงจะถูกต้อง ลูกศิษย์มันใหญ่กว่าครูแล้วครูจะสอนได้อย่างไร ลูกมันโตกว่าพ่อแม่ แล้วพ่อแม่จะสอนลูกได้อย่างไร มันอยู่ไม่ได้ สังคมมนุษย์มันอยู่ไม่ได้ มันขาดพื้นฐานทางจิตใจผู้น้อยมันต้องเคารพผู้ใหญ่ ลูกศิษย์มันต้องเคารพครูบาอาจารย์ ลูกวัดต้องเคารพสมภาร ถ้าวัดใหนลูกวัดไม่เคารพสมภารวัดนั้นมันก็แย่เต็มทีแล้ว ไม่สมภารก็ลูกวัดมันแย่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว มันก็เสื่อมแล้วนะ มันอยู่ไม่ได้ อาตมานั่งอ่านข่าวแล้ว มันก็ยุ่งนี่ อ่านหนังสือพิมพ์นี่ ก็แน่รับไม่ได้ ฟังมันไม่ค่อยแน่เหมือนกันบางทีมันก็เขียนเลอะเทอะไป แต่ถ้าเป็นตามหนังสือพิมพ์ว่า ว่าให้อาจารย์ออกเด็กมันออก แต่ทางฝ่ายสช. บอกว่า อีกสักเดือนจะให้อาจารย์ออก ก็ไม่ได้พูดออย่างนั้นก็ไม่ได้ โรงเรียนมันต้องกวดขันเด็กให้อยู่ในระเบียบวินัย ถ้าไม่มีระเบียบวินัยแล้วจะอยู่กันได้อย่างไร ชาติที่ไม่มีระเบียบวินัยจะเป็นชาติได้อย่างไร เป็นประเทศอยู่ได้อยางไร ไม่ว่าชาติใหนประเทศใหนอยู่บนพื้นฐานของความมีระเบียบวินัยทั้งนั้น ไอ้ที่เขาเจริญมาเราไปศึกษาเถอะ ว่าญี่ปุ่นมันเจริญด้วยอะไร ชาติอังกฤษเจริญด้วยอะไร คนเยอรมันเจริญได้ด้วยอะไร ฐานมันอยู่ที่ระเบียบวินัย อยู่ที่การเคารพครูบาอาจารย์ เมืองอังกฤษแม้เจ้าฟ้าชายครูยังเฆี่ยนก้นเลย เฆี่ยนด้วยหวายด้วยนะ อาตมาอ่านหนังสือพิมพ์พบว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลถูกเฆี่ยนสิบที เฆี่ยนด้วยหวายนะ อาจารย์ยังมีอำนาจเฆี่ยนเจ้าฟ้าได้เลยเมืองอังกฤษนี่ ของเรานี่เฆี่ยนได้พอเฆี่ยนแล้วพ่อ แม่ ไปเล่นงานกับครูแล้ว จะเอาครูเข้าคุกเข้าตะราง หาว่าเฆี่ยนลูกชาย ไอ้อย่างนี้ให้พ่อแม่เอาไปสอนเองไม่ต้องมาเรียนกับครู ครูตีก็ไม่ได้ ครูไม่ตีถึงให้ลูกตายหรอก ตีพอสมควร ตีด้วยเมตตาธรรม แต่ว่าพ่อแม่บางทีก็รักลูกจนตาบอดไปเลย เลยลูกมันก็มีหวังว่าจะเสียคนถ้ารักแบบนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกันว่าเราควรจะทำอย่างไร พ่อแม่ควรจะไปจัดการกับลูกที่ทำอย่างนั้น อย่าไปเข้าข้างลูก ถ้าพ่อแม่ไปเข้าข้างลูกเรียกว่า พ่อแม่มีหุ้นกับลูกชายในการกระทำการฝ่าฝืนระเบียบของโรงเรียน โรงเรียนถ้าไม่มีระเบียบแล้วมันจะเป็นโรงเรียนอยูได้อย่างไร ทหารไม่มีระเบียบแล้วจะเป็นกองทัพอยู่ได้อย่างไร ประเทศชาติไม่มีระเบียบแล้วจะเป็นประเทศชาติอยู่ได้อย่างไร ญาติโยมลองคิดดู สำคัญอยู่ที่ตรงนี้ ตรงที่คุณธรรมในทางจิตใจ นี่เป็นเรื่องที่แทรกเข้ามานิดหน่อย เพราะว่ามันมีเหตุการณ์อยู่ ว่าไปพอดีก็เอาเข้ามาว่า ว่าเสียด้วยจะได้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้มันไม่ถูกต้องที่เราจะไปขับไล่ครู แต่ครูควรจะเอาศิษย์มาเทศน์มาสอนกันต่อไป แก้ไขปัญหากันต่อไปแล้วก็ไม่ตามใจเด็กถ้าตามใจเรื่องนี้ได้เรื่องอื่นต่อไป สมมุติว่าครูโรงเรียนนั้นออก ไม่เท่าไรโรงเรียนอื่นก็เอาอย่างแล้ว เดินขบวนขับไล่อาจารย์กันอีกแล้ว เลยมันก็ยุ่งกันทั้งเมือง ต่อไปไม่ขับไล่อาจารย์มันขับไล่นายกกันทีนี้ มันโตขึ้นมามันเดินขบวนขับไล่นายกล่ะทีนี้แล้วต่อไปมันจะขับไล่พระมหากษัตริย์ทีนี้มันก็ยุ่งละบ้านเมือง แล้วจะอยู่กันได้ยังงัย โยมลองคิดดูมันไม่ได้เรื่องอย่างนี้มันต้องมีระเบียบมีวินัย
พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราสอนมากในเรื่องระเบียบวินัย เราไปดูวินัยของพระโน้นมากมายถ้าปฏิบัติตามวินัยแล้วปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง วินัยจะคุ้มครองธรรมะจะคุ้มครอง ให้พระเราอยู่เย็นเป็นสุข พระพุทธเจ้าทรงทำอย่างนั้นเพราะนั้นพระองค์แผ่ความเมตตาไปยังประชาชน สอนพระราชาให้ประพฤติธรรม สอนเศรษฐี คฤหัสบดีทั้งหลายให้ประพฤติธรรม ก็เกิดความร่มเย็นเป็นสุขมีความสะดวกสบาย ดูพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของโลก คือเป็นมหาราชไม่รุกรานใครแล้ว วางดาบวางปืนเลย จะใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือในการแผ่พระราชอำนาจ แผ่โดยธรรม ไม่แผ่โดยอาวุธไม่แผ่โดยแสนยานุภาพต่อไป แล้วก็ทรงบำรุงความสุขของประชาชน สร้างโรงพยาบาลไม่เฉพาะแก่คน สร้างโรงพยาบาลสัตว์ด้วยนะเมื่อ พ.ศ.สองพันร้อยกว่าปีพระเจ้าอโศกเกิดขึ้นในโลก สร้างโรงพยาบาลสัตว์ ทรงห้ามการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตต่อไป ปลูกต้มไม้ริมถนนให้คนได้อาศัยร่มเงา ขุดบ่อน้ำ ขุดสระน้ำ สร้างศาลาพักร้อน แล้วก็ให้ข้าราชการอยู่ในศีลในธรรม ประพฤติดีประพฤติชอบ ถือศีลห้าเป็นระเบียบสำหรับชีวิต สังคมก็เป็นสุขเพราะพระราชาประพฤติธรรม แล้วก็ทรงส่งพระสงฆ์ออกไปเผยแผ่ธรรมะในต่างประเทศ ส่งมาจนถึงประเทศไทยนี้ แถวสุวรรณภมูินี้คือประเทศไทย พระโสณะ พระอุตตระ ได้มาขึ้นประเทศไทยแล้วก็มาเผยแผ่ธรรมะให้เราได้ประพฤติปฏิบัติกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ อันนี้ก็เป็นผลของการแผ่เมตตาบารมีที่พระองค์ได้ทรงกระทำอยู่ ในสมัยทรงพระชนมชีพอยู่ แล้วถ้าเราอ่านประวัติของพระองค์ในเรื่องพระสูตรต่างๆ ยิ่งอ่านก็ยิ่งเลื่อมใสยิ่งรักพระองค์มากขึ้นเพราะในที่เหล่านั้นเราพบแต่ความรักความเมตตาต่อประชาชนผู้เข้าใกล้พระองค์ ใครเข้าใกล้แล้วก็สบายใจไม่มีความทุกข์ไม่มีความเดือดร้อนใจ ได้เห็นก็สบายใจ ได้ฟังพระสุรเสียงก็สบายใจ สบายทุกโอกาส บางครั้งบางคราวคนอยากจะมาเฝ้าแต่ว่าพระอานนท์เห็นว่าพระองค์ไม่สบาย ก็เลยบอกว่าขอทีเถอะท่านพระองค์ประชวรอยู่เวลานี้อย่าเข้าไปเลย พระองค์ได้ยิน ได้ยินเสียงพระอานนท์ห้ามคนนั้นไม่ให้เข้าเฝ้า เลยบอก อานนท์อย่าไปห้ามเขา เขาปรารถนาจะมาเรียนมารู้เวลามันน้อยเต็มทีแล้ว ตถาคตจะนิพพานแล้วปล่อยให้เขาเข้ามาเถอะ คนนั้นก็ได้เข้าไปด้วยความเบิกบานใจ พอไปถึงนั่งลงก็ทูลถามปัญหาทั้งหลายข้อ มากมาย พระองค์บอกเวลามันน้อยอย่าถามปัญหามากๆ ตั้งใจฟังเราจะพูดให้ฟัง แล้วพระองค์ก็พูดเอาแต่เนื้อๆ แก่น เพราะเวลามันนั้นสั้นเต็มทีแล้วจะนิพพานแล้ว ก็พูดจนเข้าใจแล้วคนนั้นก็ขอบวชเป็นสาวกคนสุดท้ายในพระชนมชีพของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันนี้เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นว่าทรงมีน้ำพระทัยกรุณาอย่างไร ในเรื่องอื่นๆ ก็มีมากมายตามพระสูตรต่างๆ ถ้าเราอ่านแล้วเราจะเข้าใจ
หนังสือเล่มหนึ่งที่ควรอ่านเรียกว่าพุทธจริยา ท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านรวบรวมเอามาเขียนไว้ ปาฐกถาไว้ก็พิมพ์เป็นเล่ม ญาติโยมอยากสนใจเรื่องนี้ก็ไปดูว่าพระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติพระองค์ต่อบุคคลนั้นๆ อย่างไร วางพระองค์อย่างไรในคนเหล่านั้น ในพวกเดรัจถีย์ นักบวชอื่น ในพระราชามหากษัตริย์ ต่อพระญาติพระวงศ์ ต่อคนทุกประเภทที่เข้าไปเกี่ยวข้อง พระองค์ทรงกระทำอย่างไร เราอ่านแล้วจะเกิดความรักความบูชาในพระองค์มากขึ้นแล้วจะได้เกิดกำลังใจในการที่จะเข้าถึงพระองค์ด้วยการปฏิบัติธรรมะ จะได้มีพระองค์แนบสนิทอยู่ในใจของเราต่อไป นี้เป็นเรื่องที่มีประโยชน์เพราะฉะนั้นขอญาติโยมได้เข้าใจอย่างนี้ไว้ว่า พระคุณของพระองค์ในเรื่องที่เรียกว่าภะคะวา คือความพุทธกรุณานั้นมันยิ่งใหญ่ไพศาลเหลือเกิน เราก็ควรจะได้เจริญรอยพระยุคลบาทด้วยการแผ่ความกรุณาไปยังคนทุกคน อย่าไปโกรธใคร อย่าไปเคืองใคร อย่าไปริษยาใคร และเมื่อใดเราจะได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้แล้วอย่าละโอกาสนั้น อย่าละเรื่องนั้นให้มันผ่านพ้นไปเสีย ถือว่าเป็นบุญ เป็นบุญเหลือเกินที่ได้มีโอกาสรับใช้คนอื่น ได้ช่วยคนอื่นให้สบายให้มีความสุข ให้มีความเจริญทางด้านจิตใจ ถ้าทุกคนได้คิดไว้อย่างนี้โลกนี้มันจะสงบขึ้นกว่านี้ อาชญากรรมมันจะลดน้อยลงไปเราจะอยู่กันด้วยอารมณ์ยิ้มแย้มแจ่มใสใจเบิกบาน เพราะไม่มีความโกรธเกลียดริษยาพบาบาท อาฆาตจองเวรต่อกัน มีแต่ความรักคนอื่น สงสารคนอื่นก็อยู่กับด้วยความสุข ดังแสดงมาก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลาห้านาที นั่งสงบใจ นั่งตัวตรง หลับตาหายใจเข้ายาว พร้อมด้วยการกำหนดรู้ หายใจออกยาวด้วยความกำหนดรู้ว่าเราหายใจเข้าหายใจออก อย่าให้จิตไปนึกเรื่องอื่น คอยคุมไว้มีสติคุมไว้ที่ลมเข้าลมออกเป็นเวลา ๕ นาที