แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะแล้ว ขอให้หาที่นั่งที่สามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงชัดเจน แล้วก็นั่งให้สงบ นั่งลงไปแล้วให้อธิษฐานใจว่า จะนั่งอยู่ตรงนี้ไม่ลุกขึ้นจนกว่าจะเทศจบ ขณะที่กำลังเทศ อย่าเดินไปเดินมาให้พลุกพล่าน อย่าคุยกันด้วย ให้ใช้หู อย่าใช้ปาก เพราะถ้าใช้ปาก หูมันก็ใช้ไม่ได้ ฟังไม่ได้ยิน เลยไม่ได้เรื่อง อันนี้เมื่อพระพูดให้ฟังนี่ เราต้องใช้หูฟัง ปากไม่ใช้ แล้วก็ไม่เดินให้ยุ่ง นั่ง ณ ที่ใดก็ได้ แล้วตั้งใจฟังให้ดี ให้ได้ประโยชน์จากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เราทั้งหลายจะได้เห็นว่า มีการทำอะไรกัน ทั่วๆไป โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ เช้านี้ไปประชุมกันสนามหลวง ตักบาตร ตามธรรมเนียม และก็มีแสดงอะไรต่ออะไรมากมายที่โน่น เทศที่นี่จบแล้ว โยมจะไปดูก็ได้ ที่นี่ก็มีการแสดงนิทรรศการเหมือนกัน เด็ก ๆ เขาทำกันที่โรงเรียน เพราะว่า เขาทำวันแม่ด้วยวันนี้ มีอะไรสนุกครึกครื้นกันบ้างพอสมควร เมื่อตอนเช้านี้ก็ไปพบกับเด็กแล้ว ได้ให้โอวาท ตักเตือน ให้สำนึกในหน้าที่เล็กๆน้อยๆ พอสมควรแก่เวลา แล้วก็กลับมาที่นี่เพื่อพบปะญาติโยมทั้งหลายต่อไป ก็จะพูดไปตามเรื่องได้ที่ตั้งใจไว้
เมื่อวันอาทิตย์ก่อนได้อธิบายให้ญาติโยมได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการไหว้พระ บูชาพระ ว่าเราควรจะทำอย่างไร และสิ่งที่เราทำนั้น เตือนใจเราอย่างไร เราควรจะคิดในแง่ใด จากการกระทำของเรา เพราะเราเป็นพุทธบริษัท เราเป็นผู้รู้ เราเป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใสในธรรมะ เราไม่ทำอะไรสักแต่ว่าทำ หรือไม่ทำอะไรตามรูปที่งมงาย ไม่เข้าใจเหตุผล แต่เราทำเพราะเรารู้ เราเข้าใจ เราคิดมองเห็นสัจธรรม จากสิ่งที่เราทำนั้น สามารถจะนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้เข้าใจไว้ เพื่อจะได้ทำถูกต้อง ใครเขามาถามเราว่า ทำทำไม เราก็ตอบได้ตามหลักเกณฑ์ในทางพระพุทธศาสนา อย่าตอบว่า ไม่ทราบเหมือนกัน ทำมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่ทราบว่า ทำทำไม ทำเพื่ออะไร ทำได้อะไร อย่างนั้นก็เรียกว่า ยังไม่เข้าใจ ยังอยู่ในประเภทที่ขาดการศึกษาจากการกระทำ เพราะฉะนั้นเมื่อใครถามเราว่า ทำทำไม ทำเพื่ออะไร เราก็ต้องตอบเหตุผลให้เขาฟังได้เพื่อแสดงภูมิของความเป็นพุทธบริษัท ถ้าเราตอบไม่ได้ แสดงว่า เราไม่สมภูมิของพุทธบริษัท เพราะเราไม่สนใจศึกษา ไม่สนใจคิด ไม่ถามปัญหาตัวเอง ก็เลยไม่รู้ว่าจะตอบเรื่องนั้นอย่างไร
อันนี้เป็นการเสียเหลี่ยมของความเป็นพุทธบริษัท จึงควรจะได้รู้ทุกอย่างในเรื่องที่เรากระทำ ไม่ว่าพิธีกรรมประเภทใด เราทำลงไปแล้วต้องรู้ความหมาย ของการกระทำถูกต้องไม่ให้ใครเย้ยหยันเราได้ว่าเป็นผู้งมงาย ทำไปตามเขาว่า ไม่รู้ว่า ทำทำไม อันนี้ก็เรียกว่าเสียเหลี่ยมมากมาย จึงขอโยมได้เข้าใจไว้อย่างนี้
วันนี้ก็จะพูดต่อไปว่า ในการบูชาพระรัตนตรัยนั้น เราเริ่มด้วยคำว่า อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา มีคำแปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง พุทธัง ภควันตัง อภิวาเทมิ ข้าพเจ้าขออภิวาทผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบานพระองค์นั้น เราไหว้ไปตรงนั้น ไหว้ไปตรงที่พระผู้มีพระภาค ซึ่งมีลักษณะอย่างไร คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำที่เราเรียกพระบรมครูของเราทั้งหลาย เราไม่เรียกว่า พระพุทธเจ้า เพราะถ้าเรียกอย่างนั้นเรียกว่า ยังไม่เป็นการเคารพ เราต้องเรียกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อใดจะเอ่ยชื่อพระองค์ เราก็ต้องพูดว่า พระผู้มีพระภาค คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้มาจากคำว่า ภควา ภควา นี่เป็นคำที่เขายกย่องนักบวชมาตั้งแต่โบราณ ชาวอินเดียเรียกพระองค์ว่า ภควันพุทธะ เขาเห็นรูปอะไร เขาว่า รูปภควันพุทธะ คำว่า ภควัน หรือ ภควา นี่ เป็นคำยกย่องให้เกียรติแก่ผู้ที่มีความรู้ ดับทุกข์ได้ เป็นบรมครูของชาวโลก จึงได้เรียกอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ชาวอินเดียก็ยังเรียก ภควันพุทธะ อยู่เหมือนกัน เขายังเรียกกันอย่างนั้น เขาเรียกถูกต้องตามคำที่เขาใช้
เมื่อมาถึงเมืองไทย เราก็เพิ่มภาษาไทยเข้าไปอีกหน่อย เราเรียกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า คำว่า พระผู้มีพระภาค หมายถึง พระองค์ผู้มีความกรุณาต่อชาวโลก หมายถึงบุคคลผู้ดำเนินชีวิต เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลกทั้งหลาย ในทางพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน แล้วก็เป็นผู้ควรแก่การเคารพสักการะจากมหาชน เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์ สะอาด ด้วยประการทั้งปวง จึงได้นามว่า ภควา หรือภควัน เราจึงเรียกพระองค์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เราไหว้นี่ เราไหว้พุ่งไปที่พระองค์นั้น เราไม่ได้ไหว้รูปเคารพ ที่เขาทำๆไว้ รูปนั้นเป็นแต่เพียงเครื่องสะกิดใจ ให้เราได้ระลึกถึงพระคุณของพระองค์ เราก้มลงกราบนี่เรานึกถึงพระคุณ เราจึงกราบ ไม่ใช่กราบพระรูปเฉยๆ แต่เรากราบพระคุณของพระองค์ เราไหว้รูปใครๆ มันก็เหมือนกัน เช่น อนุสาวรีย์ของคนสำคัญในบ้านเมือง พระบรมรูปทรงม้า พระบรมรูปพระพุทธยอดฟ้า พระบรมรูปของในหลวงรัชกาลที่ ๖ ที่เขาสร้างไว้ ถ้าเราเดินไปถึงเราหยุดแสดงความเคารพ ก็แสดงว่า คนนั้นเป็นผู้นึกถึงพระคุณของท่านผู้นั้นอยู่ในใจ เคยนึกบ่อยๆ เคยคิดบ่อยๆ พอไปเจอรูปคล้ายกับรูปของพระองค์เข้า เราก็หยุดยืนถอดหมวกแสดงความเคารพ หรือเรายกมือไหว้แสดงความเคารพ หรือบางคนอาจจะนั่งลงที่พื้นแล้วก็กราบด้วยความเคารพก็ได้ การกระทำเช่นนั้นเป็นการแสดงถึงน้ำใจ ว่าบุคคลนั้นไม่ใช่เป็นคนใจเปล่า ใจเปล่าๆปลี้ๆ แต่เป็นใจที่นึกถึงบุญคุณของบุคคลผู้นั้นว่าได้ทำประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองมาอย่างไร แม้รูปร่างกายจะสลายไปแล้ว แต่คุณธรรมความงามความดีทั้งหลายยังไม่สลาย เห็นรูปเข้าเราก็นึกถึงพระคุณของท่าน แล้วเราก็กราบไหว้เคารพบูชา พระพุทธรูปนี่ก็เหมือนกัน เขาทำไว้เพื่อจุดหมายอย่างนั้น ไม่ได้ทำไว้เพื่อให้เราไปไหว้ขอหวย ขอเบอร์ หรือว่าไปติดสินบน ให้หัวหมู ให้ทองสามแผ่น หรือให้นั่นให้นี่ ดังที่เราไปไหว้กันอยู่ทั่วๆไป การไปไหว้แบบนั้นเรียกว่า ไหว้แบบคน ไม่รู้ไม่เข้าใจ ในการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา ยังเป็นเด็กอมมือกันอยู่ จึงไปไหว้แบบวิงวอนขอร้อง บนบานศาลกล่าว เพื่อจะได้อะไรจากรูปนั้นๆ มันยังไม่ถูกต้อง
ถ้าเรานึกว่าเราเป็นพุทธบริษัท เป็นผู้นั่งแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า เราก็จะไม่ไปทำการไหว้อย่างนั้น เราไหว้อย่างคนมีปัญญา ไม่ใช่ไหว้อย่างคนผู้ไร้ปัญญา การไปนั่งบนบานศาลกล่าว เสี่ยงทายอะไรต่าง ๆ นั้น มันไม่ถูกต้องตามเรื่องในทางพระพุทธศาสนา เราจะไม่ทำอย่างนั้น วัดวาอารามที่มีรายได้จากความโง่ของประชาชน ก็ควรจะเลิกกันเสียที อย่าเอาเลย หยิบแต่ของเหล่านั้นไปเผาไฟกันเสียให้หมด แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาสอนคนกันต่อไป ให้เข้าถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง จึงจะชื่อว่าเป็นการทำคนให้ฉลาด ให้คนได้เข้าถึงพุทธ คือความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส อย่าเห็นแก่ลาภเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้มาจากกระบอกเซียมซี ได้มาจากอะไรๆ ที่ทำให้คนไปติด แล้วก็ไม่สามารถจะช่วยตนให้พ้นทุกข์ได้ ยังไม่เติบโต ยังเป็นเด็กกันอยู่ แม้แก่หัวหงอกแล้วก็ยังเป็นเด็กอยู่นั่นเอง ใจมันยังไม่เติบโต ร่างกายเติบโตจนแก่จะตายแล้ว ใจมันยังไม่เติบโต ยังหลงผิด ยังเข้าใจผิด ยังไปกระทำอย่างนั้นอยู่เป็นการไม่ถูกต้อง ไม่ถูกหลักเกณฑ์ในทางพระพุทธศาสนา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจไว้
เพราะฉะนั้น เมื่อเราเข้าไปไหว้พระนี่ เราต้องไปนั่งสงบใจ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ต้องทำไว้ให้สะอาดให้เรียบร้อย ให้คนมีโอกาสเข้าไปนั่งกราบไหว้ได้ทันอกทันใจ เมืองเหนือนี้เขามีวิหารเล็กๆ เขาเรียกว่า วิหารพระเจ้าทันใจ ไปเห็นใหม่ๆ นี้ก็เอ๊ะ.. อะไร พระเจ้าทันใจ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ใครจะไปไหว้เมื่อใดก็ได้ ไหว้เช้า ไหว้สาย บ่าย เย็น กลางคืนก็ได้ เพราะเขาไม่ปิดประตู ไม่มีประตูปิด มีพระพุทธรูปวางไว้องค์หนึ่ง แล้วใครจะไปไหว้เวลาไหนก็ได้ ให้คนได้รับความสะดวก คือไปทำไว้อย่างนั้น
เมื่อใดเราเข้าไปไหว้พระ ก็หมายความว่าเราไปนั่งระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งนึกให้มันนานๆ จนกระทั่งเราซาบซึ้งในพระคุณเหล่านั้น แล้วก็น้อมนำเอาพระคุณเหล่านั้นมาใส่ไว้ในใจของเรา เขาเรียกว่า ไปสร้างพระไว้ในใจ อัญเชิญพระมาไว้กับใจของเรา ใจเราที่มีพระ เราจะไม่ตกต่ำ เราจะไม่ตกนรก ไม่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสูรกาย ซึ่งเขาเรียกว่า อบายภูมิ อบายภูมิก็คือ ฐานะทางจิตใจที่มันตกต่ำนั่นเอง ไม่ใช่อยู่ใต้ดิน เหมือนที่ละครเขาแสดงทางวิทยุ เรื่องอะไรต่ออะไรให้เราเห็น อันนั้นสำหรับเด็ก แต่สำหรับผู้มีความรู้ความเข้าใจแล้ว ก็หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นมันอยู่ในใจของเรา เมื่อใดเรามีพระอยู่ในใจ มารมันก็ไม่มี ผีมันก็ไม่มา เราก็ไม่ตกนรก ไม่เป็นอะไร ซึ่งเรียกว่า อบายภูมิ แต่เรามีสภาพจิตใจสูงอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เป็นเรื่องที่เราควรกระทำ
ถ้าเรานับถือพระพุทธศาสนา เรารู้จักอัญเชิญพระมาไว้ในใจของเรา เราก็ปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง การอัญเชิญพระมาไว้ในใจนั้น ไม่ใช่เชิญแบบปลุกเสกที่เขาทำกันอยู่ทั่วๆไป แต่หมายความว่า เราระลึกถึงพระคุณของพระองค์ ให้มองเห็นพระคุณเหล่านั้นชัดเจนแจ่มแจ้ง เรียกว่า เห็นธรรมะ อันเป็นเนื้อพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเมื่อเห็นแล้วเราก็สร้างพระคุณนั้นไว้ในใจของเรา เรียกว่า สร้างพระประจำจิตใจ
เราลองมาพิจารณาถ้อยคำที่เราสวดสักเล็กน้อย ที่เราสวดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง อันนี้ เป็นคำที่ควรคิดก่อนเป็นประการแรก ว่า พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ อรหันต์ นี่หมายความว่าอย่างไร เราจะได้ยินคำพูดว่า บรรลุอรหัต เป็นพระอรหันต์ อรหัต นั้นเป็นคุณธรรมที่บุคคลผู้ปฏิบัติเข้าถึง เมื่อเข้าถึงคุณธรรมแห่งความเป็นนั้นแล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า เป็นพระอรหันต์ ให้จำง่ายๆว่า อรหัต เป็นชื่อคุณธรรม อรหันต์ เป็นชื่อบุคคลที่เขาถึงคุณธรรมนั้น ที่เขาพูดว่า ได้บรรลุอรหัต เป็นพระอรหันต์ หัตกับหันต์ มันคนละตัว คนละเรื่อง ให้เข้าใจความหมายอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้บรรลุอรหัตเป็นพระอรหันต์ ก่อนใครๆในโลก
ความจริงนั้น ชาวโลกอินเดียก็ฝันอยู่เหมือนกัน ฝันมายุคก่อนพระผู้มีพระภาคเกิดขึ้นในโลกด้วยซ้ำไป ฝันที่จะเข้าถึงคุณธรรมข้อนี้ แต่ว่ายังเข้าไม่ถึง ปฏิบัติอย่างไรๆ มันก็เข้าไม่ถึง ไอ้ที่เข้าไม่ถึงนั่นเพราะอะไร เพราะมีความเชื่อบางอย่าง เป็นภูเขาขวางไว้ไม่ให้เจาะทะลุเข้าไป ไอ้ความเชื่อที่เป็นภูเขาคูเขา ขวางไว้นั้น คือความเชื่อเรื่อง อัตตา นั่นเอง มีอัตตา มีตัวตนอย่างมั่นคง ไม่ทำลายตัวตนได้ ไม่มีปัญญาที่จะทำลายอัตตาให้เป็นอนัตตา เมื่อยังติดอัตตาอยู่ก็บรรลุเป็นพระอรหัตไม่ได้ บรรลุคุณธรรมชั้นนั้นไม่ได้ ก็ติดอัตตา มีตัวมีตน แล้วความยึดในตัวตนนี้มันแรงมาก แรงมากก็เลยมีตัว มีของตัว มีอะไรยืดยาวไป แม้ตายแล้วก็ยังมีตัว เที่ยวล่องลอยไป เรื่อยๆไป นี่เป็นความเชื่อซึ่งมีอยู่ดั้งเดิม ไม่ใช่ความเชื่อทางทัศนะของพระพุทธศาสนา แต่เป็นความเชื่อเก่าที่มีในศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ก็เป็นอย่างนั้น เราก็มาพูดติดปากไปกับพวกนั้นด้วย เช่นพูดว่า วิญญาณล่องลอย วิญญาณออกจากร่างอะไรต่างๆ นั่นก็เอาแบบอัตตามาพูด พูดตามแบบอัตตาของพราหมณ์ ไม่ได้พูดตามแบบอนัตตาของพุทธศาสนา ความติดในอัตตาตัวตนนี่แหละ มันกีดขวางไม่ให้เราบรรลุอรหัตเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะไปติดสิ่งนั้นอยู่
ความเป็นอรหัตนั้นต้องทำลายอัตตา ต้องมองเห็นอนัตตาชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วความยึดถือมันก็ไม่มี อุปาทานในเรื่องนั้นหมดไป พออุปาทานเรื่องนั้นหมดไป ก็มองเห็นอะไรว่าเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเป็นสาระที่ควรไปยึดไปติด จึงหลุดพ้นไปได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงค้นคว้าในเรื่องนี้มานาน จึงได้เข้าพระทัยชัดเจนแจ่มแจ้ง ถอนความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้หมด บรรลุความเป็นพุทธะได้อย่างแท้จริง จึงเรียกว่าเป็นพระอรหันต์องค์แรกในโลกขึ้นมา
ในสมัยก่อนนี้ก็มี เช่นในเรื่องชาดกก็ยังพูดถึง บุคคลบางคนสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ เช่นว่า ไปค้าขายทางเรือ แล้วก็เกิดพายุใหญ่ เรือแตกอัปปาง ลงเกาะแผ่นกระดาน ว่ายน้ำมาในทะเลใหญ่ ก็ขึ้นฝั่งได้ เมื่อขึ้นฝั่งได้นี่ไม่มีผ้านุ่งแม้แต่สักชิ้นเดียว ก็ไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ นั่งตัวล่อนจ้อน ประชาชนได้เห็นเข้าก็นึกว่า นี่แหละพระอรหันต์ คือไม่นุ่งผ้า เพราะไม่มีผ้าจะนุ่ง คนก็เลยสำคัญว่าเป็นพระอรหันต์ นำของมาให้ ได้กินได้อยู่สบายแต่ไม่นุ่งผ้า เพราะว่าพอนุ่งแล้วเขาจะหาว่า ไม่เป็นอรหันต์ เดี๋ยวจะไม่ได้กิน ก็ไม่นุ่งดีกว่า ก็อยู่อย่างนั้น นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ตลอดมา
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคอุบัติเกิดขึ้นในโลก ข่าวมันก็ลือไปกระฉ่อนทั่วๆไป ว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะเกิดขึ้นในโลกแล้ว อะไรอย่างนี้ลือไป ก็ดังไปทั่วๆ ประชาชนสนใจเข้ามาศึกษาธรรมะปฏิบัติตามแนวที่พระองค์ชี้ให้เดิน ได้รับผลกันไปตามๆกัน
มีคนๆ หนึ่งเมื่อได้ไปฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าใจธรรมะ แต่ไม่บรรลุขั้นสูงสุดหรอก เป็นกัลยาณชน เป็นคนดีในสังคม แกก็เดินทางผ่านมาทางนั้น มาเห็นคนเข้าไปกราบไหว้บูชา แกก็เข้าไปดู อ้อ..นี่สำคัญผิดเสียแล้ว นายคนนี้นึกว่าตนเป็นพระอรหันต์ ครั้นคนออกไปหมดแล้ว คนๆนั้นก็เข้าไปกระซิบบอกว่า นี่..ท่านนี่อยู่อย่างแบบหลอกลวงเสียแล้วในเวลานี้ ท่านไม่ได้เป็นอะไร จิตใจก็ไม่ได้หลุดพ้นจากอะไร แต่เพราะท่านลอยทะเลมาไม่มีผ้าติดตัว คนเขาเข้าใจผิดนึกว่า เป็นคนสำคัญ เขามากราบมาไหว้ แล้วท่านก็นั่งให้เขากราบอยู่แบบนี้ตลอดเวลา ไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมะ พระอรหันต์จริงๆมีอยู่ในโลกแล้วสมัยนั้น ทำไมท่านไม่ไปศึกษา ไม่ไปหาความรู้ แล้วเอามาปฏิบัติ เพื่อจะได้เป็นอรหันต์จริงๆกันเสียบ้าง ท่านผู้นั้นก็ยังดีอยู่เหมือนกัน ยังดีที่ไม่ถือตัวเกินไป ยังยอมรับคำแนะของคนอื่น
คนเรามันดีตรงนี้ ญาติโยมจำไว้ ดีตรงที่ยอมรับคำแนะนำของคนอื่น คนเราถ้าไม่ยอมรับคำแนะนำของใครแล้วมันใช้ไม่ได้ เขาเรียกว่าเป็นคนมีทิฐิมานะจัด มีความยึดถือในตัวตนจัด ไม่ฟังใครทั้งนั้น ใครจะบอกใครจะสอนก็ไม่ฟัง ฉันเก่งแล้ว ฉันรู้แล้วปิดประตูตายเลย เรียกว่า ปิดประตูแห่งปัญญา ไม่ยอมแง้มออกสักนิดเดียว เพื่อจะให้ปัญญาเข้าไปถึง ปิดหมดไม่ยอมรับอะไรทั้งนั้น ใครพูดอะไรก็ไม่ยอมฟัง เพราะสำคัญตนว่ารู้หมดแล้ว ถ้าเราสำคัญตนว่าเรารู้หมดคือไม่รู้ แต่ถ้าเรานึกว่าเรามันยังไม่รู้นั่นแหละ จะดีขึ้น เพราะว่าคนที่นึกว่าไม่รู้มันยังคิดศึกษาเล่าเรียนอยู่ ก็จะก้าวหน้าต่อไป แต่นึกว่ารู้แล้วเลยหยุดเรียน หยุดศึกษา หยุดค้นคว้า ชีวิตมันจะก้าวหน้าได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องวัดความเป็นคุณค่าทางจิตใจของเราเหมือนกัน
เช่นว่า เราไปฟังอะไรแล้วนึกในใจว่า โอ้..ไอ้เรื่องนี้กูรู้แล้ว นี่แสดงว่า เรามีมานะอยู่ในตัว มีกิเลสตัวหนึ่งเขาเรียกว่า มานะถือตัว นั่นเอง มันไม่ค่อยรู้เรื่องตัวนี้ กิเลสตัวนี้คนไม่ค่อยรู้ แล้วก็สำคัญว่า รู้แล้ว เข้าใจแล้ว เลยไม่ฟังเสียงใคร ปิดประตูแห่งปัญญา ไม่เกิดความก้าวหน้าในเรื่องนี้ต่อไป อันนี้เสียหาย ผู้นั้นแม้ว่า จะเป็นสำคัญตนผิดอยู่ แต่ยังดีตรงนี้ ดีตรงที่ว่า เมื่อคนมาบอกว่า ท่านนี่ไม่ได้ถึงอะไร ไม่ได้มีคุณธรรมของความเป็นพระอรหันต์ รู้สึกตัวยอมรับคำแนะนำโดยดี ลดทิฐิ ลดมานะลงไป กลางคืนก็แอบหนีไปเลย จะไปกลางวันก็ไม่ได้ คนมันจะเห็นเลยแอบหนีไป แอบหนีไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ไปจนพบพระผู้มีพระภาค แล้วก็ได้ฟังธรรม ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์จริงๆขึ้นมา อันนี้เป็นตัวอย่าง
แล้วเราจะเห็นเรื่องในตอนที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จเข้าสู่กรุงราชคฤห์ ภายหลังที่ไปสอนปัญจวัคคีย์ทั้งห้าแล้ว ท่านเหล่านั้นก็ได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ส่งให้ไปเที่ยวสอนธรรมะแก่ประชาชน พระองค์เองก็เดินมาเพื่อจะไปสู่เมืองราชคฤห์ตามคำสัญญากับพระเจ้าพิมพิสารไว้ เพราะพระเจ้าพิมพิสารพบพระองค์เมื่อออกบวชใหม่ๆ แล้วก็ยังเชิญให้มาครองแผ่นดิน ยังพูดน่าฟังว่า มืออย่างนี้เหมาะแก่การจะถือบังเหียนครองเมืองดีกว่าจะไปถือบาตรเที่ยวขออาหาร ยังหนุ่มอย่างนี้ไปครองบ้านครองเมืองกันก่อนแก่แล้วค่อยบวช พระเจ้าพิมพิสารพูดอย่างนั้น แต่ว่าเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระโพธิสัตว์ไม่ยอมรับฟัง บอกว่า สิ่งเหล่านั้นเรามีทุกอย่างแล้ว เคยมีความสุขในวัง มีภรรยา มีลูกมีความสุขทุกอย่าง เราเบื่อแล้ว ไม่พอใจสิ่งนั้นแล้ว จึงออกบวชเพื่อแสวงหาธรรมะ บวชเพื่อแสวงหาธรรมะ แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล จะได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ท่านอย่ามาพูดขอร้องให้เสียเวลาเลย ใจเราดิ่งไปในสภาพเช่นนั้นแล้ว พระเจ้าพิมพิสารเห็นว่า เป็นเสาหินแท่งทึบยกไม่ไหว เลยบอกว่า ก็ขออนุโมทนาด้วย เมื่อใดท่านสำเร็จเป็นพุทธะหรือเป็นพระอรหันต์แล้ว มาสอนเราก่อนใครๆด้วย สัญญากันไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องกลับมาสู่แคว้นมคธ
ญาติโยมนึกว่า ทำไมตรัสรู้แล้วไม่ไปสอนเลย มันไม่ได้ ต้องไปทดสอบก่อน ทดสอบการสอนว่า คนฟังรู้เรื่องหรือเปล่าในสิ่งที่ทรงค้นพบ คนฟังพอจะรู้เรื่องไหม พอจะเข้าใจไหม ทดสอบกับปัญจวัคคีย์ทั้งห้าที่เมืองพาราณสี เมื่อทดสอบก็เห็นว่า อ้อ ... ฟังรู้เรื่อง เข้าใจความหมาย สอนคนอื่นได้ก็เลยตัดสินพระทัยเข้าสู่กรุงราชคฤห์ แต่ว่าก่อนจะเข้าสู่กรุงราชคฤห์ ต้องไปปราบหัวโจกใหญ่เสียก่อน การงานมันจะไม่ต้องเหนื่อยมากเกินไป
อันนี้เป็นวิธีการของพระองค์ ฉลาดมากในการที่จะไปสอนคน คือไปสอนคนฉลาดเสียก่อน ไปสอนหัวหน้าคนก่อน สอนพระเจ้าแผ่นดินแล้วประชาชนมันก็นับถือ หรือว่าไปสอนคนที่เก่งที่สุดในเมืองนั้น เมื่อคนเก่งในเมืองนั้นยอมถือบาตรตามหลังพระองค์ได้ คนมันก็เห็นเอง อ้อ..นี่สำคัญ เอาอาจารย์ใหญ่ของเราเป็นลูกศิษย์เสียแล้ว เขาก็อ่อนลงไปเท่านั้นเอง มันสอนง่าย นี่เป็นวิธีการของพระองค์ ซึ่งไม่เหมือนวิธีการของครูอื่นที่สอนศาสนาแล้วก็มีปัญหามาก คือไม่สอนผู้รู้ ไปสอนคนธรรมดา คนรู้มันไม่เชื่อเลยเกิดเป็นปัญหา ทุกศาสนาเป็นปัญหาทั้งนั้น แต่พระผู้มีพระภาคท่านฉลาดในเรื่องนี้ ต้องไปสอนคนฉลาดก่อน และเมื่อคนฉลาดเป็นลูกศิษย์แล้ว คนอื่นมันก็ตามง่าย จึงไปหาชฏิลสามพี่น้อง เมื่อไปก็ขออยู่ในโรงไฟ ชฏิลบอกว่าไม่ได้ ในโรงไฟนั้นมีงูพิษร้าย ขึ้นไปอยู่ก็ไม่ได้ออกมาเท่านั้นเอง พระองค์บอกว่าไม่เป็นไร เรานอนในนั้นก็ได้ เลยเข้าไปนอนอยู่ในเรือนไฟได้ งูพิษก็ไม่ได้ทำอะไร รุ่งเช้าขึ้นก็ออกมาเดินจงกรมได้ ชฏิลก็ อ้อ..เก่งเหมือนกัน คนนี้เก่งเหมือนกัน แต่ไม่เก่งเหมือนเรา ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา นี่..ความสำคัญผิดมันยังมีอยู่ ยังสำคัญตัวว่าเป็นนี่ มันยังเป็นไม่ได้ ยังสำคัญว่าตนเป็นพระอรหันต์กว่า แล้วก็มีอะไรหลายอย่างหลายเรื่องที่ทำให้เห็นความเก่งของพระองค์ แต่พวกนั้นก็ยังไม่ยอม ยังนึกว่า ถึงเก่งอย่างไรก็ยังสู้เราไม่ได้ แต่ผลที่สุดเอาชนะได้ ในที่สุดชนะได้เด็ดขาด ยอมเป็นลูกศิษย์ของพระองค์หมดทั้งสามพี่น้อง บริวารตั้ง ๑,๐๐๐ นะไม่ใช่เล็กน้อย ยอมหมดบริวารของพี่ ๕๐๐ น้องกลาง ๓๐๐ น้องน้อย ๒๐๐ รวมแล้ว ๑,๐๐๐ กับหัวหน้าอีก ๓ รวมเป็น ๑,๐๐๓ จำนวนก็ไม่ใช่น้อย เรียกว่า กองทัพธรรมมันเริ่มคึกคักขึ้นแล้ว ก็เดินบุกเข้าสู่กรุงราชคฤห์ แต่ไม่เข้าเมืองนะ คนมากเข้าเมืองไม่ไหว ไปเดินในเมืองลำบาก เลยพักอยู่นอกเมือง เรียกว่า สวนตาลหนุ่ม หรือว่าต้นตาลวัยรุ่น ยังไม่เติบโตเท่าใด ร่มมันก็สบาย ข่าวลือไปถึงพระเจ้าพิมพิสารก็เสด็จมาหา มาเพื่อจะต้อนรับแล้วก็พาคนมามากเหมือนกัน
คนที่มานั้น มาถึงก็ยืนตะโกนบ้าง พูดโหวกเหวก ออกชื่อโคตรชื่อแซ่ของตัวบ้าง ไม่ค่อยจะเรียบร้อย คนอินเดียมันอย่างนั้นแหละ ถ้าเราไปอินเดียจะเห็นว่า แหม ... มีแต่คนพูดไม่มีคนฟัง ตามสถานี ตามท่าเรือ เอะอะ พูดภาษาที่คนอื่นเขาฟังไม่รู้เรื่องทั้งนั้น แต่ก็พูดกันอยู่ได้ นิสัยเขาเป็นอย่างนั้น พระองค์ก็เห็นว่า พวกนี้ยังไม่เหมาะที่จะฟังธรรม ก็เลยถามท่านอุรุเวลกัสสปะ ทำไมจึงได้ทิ้งกองไฟมาเสีย ท่านก็ลุกขึ้นตอบว่า เพราะการบูชาไฟเป็นไปเพื่อกิเลส เป็นไปเพื่อการเกิดแล้วเกิดอีกไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น เมื่อท่านทิ้งไฟมาแล้ว ท่านชอบใจในธรรมะของใคร ท่านชฏิลคนหัวปีก็ลุกขึ้นทำผ้าห่มเฉลียงบ่า กราบแทบเท้าพระพุทธเจ้า แล้วก็บอกว่า ชอบใจในธรรมะของพระผู้มีพระภาค ไอ้พวกที่โหวกเหวกวุ่นวายนั้น เรียบลงไป เรียบลงไป นั่งเรียบร้อยหมดเลย แล้วก็ตั้งใจฟังธรรม นี่มันเป็นอย่างนี้ อันนี้เป็นเครื่องแสดงว่า คนสมัยนั้นก็อยากจะเป็นพระอรหันต์กันทั้งนั้น แต่ว่ายังเป็นไม่ได้ ยังไม่ถึง
สมัยนี้ก็เที่ยวอุปโลกน์กัน องค์นั้นเป็นอรหันต์ องค์นี้เป็นอรหันต์ มากมาย เดี๋ยวนี้มีมากมาย ท่านผู้หลักผู้ใหญ่บางคนบอกว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพระอรหันต์อยู่หลายองค์ เอาอะไรไปวัดว่า ท่านเป็นอย่างไร ไอ้เรามันปุถุชนคนธรรมดา จะไปรู้ว่าท่านเป็นได้อย่างไร เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเคยตรัสไว้ในภูมิจาลสูตรโดยละเอียดเลยทีเดียว คือว่าคนธรรมดานี้จะรู้จักบุคคลอื่นก็ในรูปธรรมดา อย่างมากรู้จักเพียงขั้นศีล ถ้าคนปฏิบัติในสมาธิก็มองลึกไปถึงขั้นสมาธิ ถ้าจิตไม่ถึงปัญญาจะไปมองปัญญาลึกซึ้งไม่ได้ รู้ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องทางจิตใจ แต่เราก็อุปโลกน์ให้ องค์นั้นเป็นพระอรหันต์ องค์นี้เป็นพระอรหันต์กันตามๆกัน เป็นพระอรหันต์ขี้ยาก็ยังมี เขาบอกว่า นี่แหละพระอรหันต์ แต่สูบบุหรี่มวนโต กินหมากปากเปียกปากแฉะ พระอรหันต์อะไรยังกินหมากอย่างนั้น ยังสูบบุหรี่อย่างนั้น พระอรหันต์มันต้องทิ้งหมดไอ้สิ่งเหล่านั้น ไม่เป็นกิเลสของความอยากบุหรี่อยากหมากแล้ว แต่คนมันอุปโลกน์ให้ ให้เป็นพระอรหันต์
เหมือนกับอาจารย์ไปชิคาโกองค์หนึ่งนะ โอ้ย..ทำคนให้ถึงนิพพานไปเยอะแยะ จดบัญชีไว้เลยลงในหนังสือแถลงการณ์ของตัวว่า ได้ถึงนิพพานเท่านั้น เห็นนิพพานเท่านั้นเท่านี้ นี่ก็เรียกว่าแต่งตั้งให้เป็น เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ในสำนักปฏิบัติธรรมบางแห่งก็ยกย่องผู้ปฏิบัติถึงขั้นนั้นแล้ว ถึงขั้นนี้แล้วให้โยมสบายใจแล้วจะได้ล้วงกระเป๋าโยมง่ายๆขึ้นไปอีกหน่อย ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก เพราะว่าโยมเป็นอริยบุคคลแล้ว ขออะไรก็ต้องให้ ไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว นี่เป็นอุบาย เรื่องนี้ไม่มีใครวัดได้ ไม่มีใครรู้ได้ มันเรื่องข้างในของใจ ผู้นั้นจะรู้ได้ด้วยตนเอง คือรู้ได้ด้วยตัวเองว่าเรานี่กิเลสมันลดลงไปขนาดไหน ความถือเนื้อความถือตัว ความพยาบาทอาฆาตจองเวร ความโกรธความริษยา กิเลสประเภทต่างๆ มันลดลงไปขนาดไหน หรือว่ามันยังมีกระซิบๆ อยู่ในใจของเราบ้าง มีกิเลสเกิดขึ้นกระซิบอยู่ในใจของเราบ้าง ถ้ามีกิเลสกระซิบอยู่ แม้ใครจะบอกว่าเป็นอะไร มันก็รู้ว่ายังไม่เป็นอะไร เรารู้ได้เอง แต่ว่ามักจะหลงไปตามคำของอาจารย์ อาจารย์พูดให้หลงไป ยกย่องชมเชย บางทีชมเชยกลางคนว่า นี่..โยมคนนี้เก่งมาก ปฏิบัติได้ขั้นโสดาแล้ว สกิทาคาแล้ว ประกาศให้คนรู้ เรียกว่าโฆษณาความเป็นอริยบุคคลเข้าไปในตัวด้วย อย่างนี้มันเป็นอุบาย ไม่ใช่เรื่องอะไร ความจริงนั้นเรื่องโฆษณาไม่ได้ หรือว่าคนเป็นก็ไม่พูดแล้ว
ถ้าสมมติว่าใครบรรลุอรหัตเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีอารมณ์จะบอกใคร ไม่มีความคิดจะบอกใครๆว่า ฉันเป็นอะไร เพราะความเป็นมันไม่มีแล้ว ความอยากมันก็หมดไปแล้ว ถ้ายังอยากจะอวดจะคุยอยู่นั้น แสดงว่า ยังไม่ได้เรื่องอะไร อยากอวดมันก็ยังไม่ได้ยังมีตัวให้อวดอยู่ ยังมีตัวให้อยากอวดมันก็ไม่ได้อะไร ยังไม่ถึงขั้นหลุดพ้นเด็ดขาด เพียงแต่ว่าเป็นคนอยู่ในศีลในธรรมพอสมควร ประพฤติตนเรียบร้อย แต่ถ้ามีอารมณ์ยั่วเข้าก็โกรธได้เหมือนกัน
เหมือนกับบ้านหนึ่งมีสาวใช้ แล้วคนก็ชมแม่บ้านบ้านนั้นเหลือเกิน สมัยครั้งพุทธกาลไม่ใช่เวลานี้ ชมว่า แหม..แม่บ้านนั้นเป็นคนใจดี ใจงาม ใจเย็น ไม่โกรธใครไม่เคืองใคร อะไรอย่างนี้เป็นตัวอย่างชมกัน สาวใช้ได้ฟังคำเขาชมนายก็นึกในใจว่า ไอ้..พวกนี้มันอยู่ห่างทั้งนั้น ไม่เคยเสวนาคบหากับนายของตัว ไม่รู้นิสัย เห็นในสังคม คนเราเวลาเข้าในสังคมก็ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว ต้องระมัดระวังกิริยามารยาทอะไรเรียบร้อย ใครเห็นก็แหม ..ท่านเรียบร้อย เห็นอย่างนั้น แต่ไม่ได้ไปเห็นที่บ้าน ไปที่บ้านอาจจะไม่เรียบร้อยก็ได้ พอกลับเข้าไปถึงได้อาจแหวคนใช้ก็ได้ อาจดุเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ได้ อะไรต่ออะไร คำไม่ดีไม่งามก็ปลิ้นออกมาก็ได้ คนไม่รู้ แต่พอคนเข้าบ้านก็สงบเสงี่ยมเจียมเนื้อเจียมตัวต่อหน้าแขก คนไม่รู้คนก็ชมกันอย่างนั้นอย่างนี้ สาวใช้จึงนึกว่า แหม..จะต้องประกาศให้ใครๆรู้ว่านายของเราเป็นอย่างไร แล้วก็ทำอย่างไร ก็แกล้งนอนตื่นสาย วันแรกก็นอนตื่นสายนิดหน่อย พอตื่นสายนิดหน่อยนายก็เข้าไปบ่น รุ่งขึ้นสายมากกว่านั้นอีก นายบ่นหนักเข้าไปอีก รุ่งขึ้นสายมากกว่านั้นอีก นายไม่บ่นแล้ว เอาไม้แพ่นกบาลเสียเลย ทุบหัวคนใช้แตกเลย คนใช้ก็วิ่งหลบไปหน้าบ้านทั้งที่เลือดอาบหัวนะ แล้วบอกว่า ดูเถิด..แม่นายของฉันที่ท่านทั้งหลายยกย่องว่าเป็นคนใจประเสริฐ มาดูศีรษะฉันสิ มันประเสริฐอย่างไรบ้าง คนก็มาเขาก็บอกว่า นี่แหละ นายของฉัน โกรธฉันว่านอนตื่นสาย แทนจะพูดกับฉันดีๆ กลับเอาไม้ทุบฉันจนหัวแตก พูดให้คนรู้ว่า นายของตัวนั้นยังไม่ดีตามที่เขาว่าหรอก ก็ยังมีโมโหโทโสอยู่ มีอะไรขัดอกขัดใจก็กล่าวคำผรุสวาทก็ได้ บางทีขัดใจหนักเข้าก็ยังแพ่นกบาลคนก็ยังได้ ชี้ให้เห็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องในใจนี่ไม่มีใครจะรู้ได้ ว่าอะไรของใครเป็นอย่างไร รู้ไม่ได้ว่ามีราคะ มีโทสะ มีโมหะอย่างไรเรารู้ไม่ได้ อย่าไปเที่ยวพยากรณ์ใครๆให้มันวุ่นวาย เรื่องนั้น อย่าไปพูดเลย เรานับถือใครก็นับถือไปเถิด แต่อย่าไปยกย่องว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มันวุ่นวาย มันมากเกินไป โฆษณามากเกินไป มันจะวุ่นวายไปเปล่าๆ อันนี้เป็นเครื่องนำมาพูดให้โยมรู้ว่า ใครๆก็อยากเป็นอรหันต์กันทั้งนั้น แต่ว่าเป็นจริงๆนั้นอย่างไรก็ยังไม่ทราบ แล้วก็ไม่รู้มักจะแสดงออกในรูปดังที่กล่าว พวกอวดวิเศษ แต่ว่าบางทีอวดแล้วมันก็เลอะเทอะ ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว กลายเป็นเรื่องไสยศาสตร์ไปบ้าง เรื่องอะไรไปบ้าง ในเรื่องที่ไม่สมควรอย่างนี้ก็มีอยู่บ่อยๆในสังคมของบ้านเมืองทั่วไป
จึงควรจะเข้าใจเสียใหม่ว่า คุณธรรมขั้นพระอรหัตนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะมองได้ด้วยตา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะนึกเอาว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของบุคคลผู้ได้บรรลุจะรู้ได้ด้วยตนเอง เขาเรียกว่าเป็นสันทิฏฐิโก ที่เราสวดในพระธรรมคุณ ว่า สันทิฏฐิโก ผู้ศึกษา ผู้ปฏิบัติจะรู้ชัดด้วยตนเอง หรือ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนคือคนมีปัญญา จะประจักษ์แก่ใจของตนเอง เรื่องอะไรๆมันรู้แก่ตัวเราเอง ไม่ต้องถึงเรื่องใจ เอาเพียงเรื่องลิ้นก็ได้ เขาบอกว่า แกงนั้นอร่อย กับข้าวนั้นอร่อย เขาพูดสักเท่าใดๆ เราก็ไม่รู้ถ้าเรายังไม่ได้ชิมเลย แต่ถ้าเราได้กินก็ อ้อ..รสชาติมันอย่างนี้ แล้วก็สมมติกันว่าอร่อย อร่อยแบบนี้เรารู้ได้เมื่อเราชิม ถ้าเราไม่ชิมเราจะรู้ได้อย่างไร
คุณธรรมทางจิตใจมันลึกซึ้งกว่านั้น ผู้ใดปฏิบัติแล้วก็รู้ได้เอง ทดสอบตัวเองได้ ว่าสภาพจิตใจเป็นอย่างไร การทดสอบก็รู้ได้ด้วยเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสิ่งใด ใจมันเป็นอย่างไร มันไหวไปตามสิ่งนั้นไหม เหมือนต้นไม้ลมพัดไหวหรือเปล่า ถ้าลมพัดไหว ต้นไม้นั้นก็ยังหวั่นไหว แต่ก้อนหินที่วางอยู่หน้าโรงเรียนนั้น ลมพัดเท่าใดก็ไม่ไหว เป็นก้อนแข็งอยู่อย่างนั้นเอง แต่ว่ามันก็สึกหรอไปเพราะอากาศกระทบเหมือนกัน เปลี่ยนแปลงเหมือนกันแต่มันเปลี่ยนช้า แต่ไม่หวั่นไหวด้วยลมที่มากระทบ
จิตของพระอรหันต์นั้นท่านไม่หวั่นไหวโยกโคลงด้วยอารมณ์ที่มากระทบ คือ ท่านไม่มีความยินดีแล้วก็ไม่มีความยินร้าย ลักษณะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราตัวเรารู้สึกไม่ยินดีไม่ยินร้ายในอารมณ์ที่มากระทบก็ใช้ได้ มันก็ใช้ได้ แต่บางทีมันก็ใช้ได้นิดหน่อย บางครั้งมันก็มีปัญญารู้ทัน นั่งเฉยไม่ยินดียินร้าย บางครั้งเผลอสติมันก็เกิดยินดียินร้าย ยังไม่ถึงคุณค่าแห่งความเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้นท่านมีสติตลอดเวลา เขาใช้ศัพท์บาลีว่า สทา สโต สทา สโต (40.16 ไม่ยืนยันตัวสะกด) หมายความว่า มีสติทุกเมื่อ ไม่ขาดสติ สติติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา อะไรมากระทบตีกลับออกไป ตีกลับออกไปได้ทันที เพราะมีสติเป็นเครื่องกั้นกระแสไม่ให้เกิดการสืบต่อเป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นภพเป็นชาติตามหลักปฏิจจสมุปบาทที่พระองค์ทรงแสดงไว้ สติมันมากั้นไว้ เพียงสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน ได้ดม ได้ชิม ได้ลิ้ม ได้ถูกต้องเท่านั้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นต่อออกไปจากนั้น เพราะมีสติคอยกั้นไว้ ตัวสตินี่แหละเป็นเครื่องกั้นกระแสไม่ให้เข้าไปเชื่อมถึงกัน เหมือนกับไฟฟ้ากับวัตถุที่มันจะช็อตได้ ถ้ามีอะไรมากั้นไว้มันก็ไม่ไปถึงกัน มีอะไรกั้นไว้ก็ไม่ถึง นักแต่งไฟฟ้าเขามียางมีอะไร ไม้ค้อนก็เป็นด้ามยาง เครื่องมือก็ด้ามยาง มันกันกระแสไม่ให้สืบต่อ กระแสนั้นก็ไม่เป็นภัยแก่บุคคลผู้นั้น อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเรามีสติรู้ทัน สิ่งนั้นไม่ก่อให้เกิดความยินดี ไม่ก่อให้เกิดความยินร้าย จิตเราก็คงที่ ใช้ภาษาศัพท์เทคนิคว่า ตาทีบุคคล (41.43 ไม่ยืนยันตัวสะกด) คนมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงด้วยอารมณ์ที่มากระทบ ก็เป็นคุณลักษณะของพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ความเป็นพระอรหันต์อยู่ตรงนี้ ถ้าเราเพ่งถึงศัพท์ว่า อรหันต์ อรหัต นี่แปลว่า ไร้ก็ได้ แปลว่า กวนก็ได้ แปลว่า หักกงกรรมแห่งสังสารจักรทิ้งไปเลยก็ได้ (42.06) แปลว่า จิตของพระอรหันต์นั้นไกลจากกิเลส กิเลสไม่อยู่ในใจของพระอรหันต์
ญาติโยมต้องเข้าใจให้ดีว่า ใจของคนเรานั้น ไม่ได้มีกิเลสอยู่ตลอดเวลา มันสงบมากกว่ามีกิเลส ถ้ามีกิเลสอยู่ตลอดเวลาเราก็เป็นลมตาย เรียกว่า มันบ้าจี้นะ มีกิเลสอยู่ตลอดเวลา นั่งไม่ได้ นอนไม่ได้ จิตใจมันวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ว่าเราสงบอยู่ ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง เป็นอยู่อย่างนั้นโดยปกติ เพราะธรรมชาติของจิตนั้นมันผ่องใสอยู่โดยธรรมชาติ ถ้าหมองเพราะอะไรจรมากระทบ รูปมากระทบ เสียงมากระทบ กลิ่นมากระทบ รสมากระทบ โผฏฐัพพะคือสิ่งที่กระทบกายประสาทมากระทบ แล้วใจก็เข้าไปยึดเอาสิ่งนั้นด้วยอำนาจอวิชชา ไม่มีสติปัญญามาใช้ แต่ไปใช้อวิชชา มันก็เศร้าหมองไปตามอำนาจสิ่งที่มีกระทบ กิเลสมันก็เกิดขึ้น แล้วกิเลสนั้นเมื่อเกิดมันก็ดับ เกิดมันก็ดับ เราไม่ให้มันดับไปเลยเพราะอะไร เราไปเติมเชื้อมันเข้า เชื้อนั้นก็คือความวิตกวิจารณ์ในเรื่องนั้น เราครุ่นคิดในเรื่องนั้นไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง จับได้แล้วไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง มันดับไม่ได้เพราะเราไม่ดับมัน ไม่รู้ธรรมชาติว่ามันดับโดยธรรมชาติ แต่ว่าเราสร้างภาพมันขึ้นอีก เราคิดถึง เอาเชื้อใส่ลงไป ไฟมันก็ดับไม่ได้ ไฟมันควรจะดับแล้ว เอาน้ำมันเบนซินไปราดลงไป เอาไม้ฟืนใส่ลงไป ไฟมันก็ลุกฮือต่อไป กิเลสประเภทต่างๆที่เกิด กลุ้มรุมจิตใจ มันเกิดแล้วมันก็ดับ เกิดทันทีมันก็ดับทันที มันไวเหลือเกิน ดับทันทีแต่เราไม่ยอมให้ดับ เพราะเราไม่มีสติปัญญามากั้นไว้ในขณะมันดับ ยังปล่อยให้มันเกิดขึ้น ประเดี๋ยวโกรธขึ้นมาอีก ประเดี๋ยวเกลียดขึ้นมาอีก ประเดี๋ยวพยาบาทคนนั้นขึ้นมา พอนึกขึ้นได้ แหม เจ็บใจนัก..มันก็เกิดนะสิ ก็เราไปนึกถึงสิ่งนั้นในสิ่งที่มันทำให้เราขุ่น เราเศร้าหมอง เรานึกถึงมันก็ขุ่นขึ้นมาทันที เศร้าหมองขึ้นมาทันที ถ้ามันดับไปแล้ว เรารู้ว่า อ้อ..ดับแล้ว มันเกิดเพราะอะไร มาทางไหนปิดประตูเสีย ไม่ให้มันเกิดต่อไป มันก็หยุดเกิดเท่านั้นเอง หยุดปรุงแต่ง นี่แหละเขาเรียกว่า เตสังโวปัสโมสุโข (44.57 ไม่ยืนยันตัวสะกด)
เวลาเราไปในงานศพนะ พระท่านบังสุกุล เอาผ้าทอด พระท่านว่า อนิจจาวัตสังขารา อุปปาปวยธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เตสัง วูปสโม สุโข (45.12 ไม่ยืนยันตัวสะกด) เรานึกว่า พระท่านว่าอะไรก็ไม่รู้ จับผ้าว่าอะไรก็ไม่รู้ ความจริงพระท่าน คือว่า ธรรมเนียมเดิมนั้น ไปพิจารณาที่ศพเลย เอาโลงไปตั้งกลางแจ้ง เปิดฝา สมัยก่อนไม่ต้องเปิดก็ไม่มีฝา โลงเมื่อก่อนไม่มีฝา เพราะเขาไม่ได้เก็บศพไว้นาน ตายแล้วก็ใส่โลง ห้องก็ไม่มี ฝาก็ไม่มี มีไม้ไผ่เป็นฟาก เขาเรียกว่า ฟาก ๗ ซี่ ทำเตียง ๗ ซี่ไม่เกินนั้น เขาเรียกว่า ฟาก ๗ ซี่ คือบันไดไปถึงความพ้นทุกข์ มีธรรมะหมวด ๗ อยู่หมวดหนึ่ง เขาให้นอนบนนั้น แล้วก็ไม่มีอะไรปิด ฝาก็ไม่มี มีผ้าปิดนิดๆหน่อยๆ แมลงวันก็ลงไปได้ แมลงวันก็ช่วยกันโหมเต็มไปหมด เปิดฝานี่ยุ่บยั่บไปเลย ผ้าไปพาดปากโลง พระไปยืน ผ้านี่คือเครื่องล่อให้พระไปดูศพ ไม่ใช่เรื่องอะไร พอเอาผ้าพาดเสร็จแล้ว คนนิมนต์นี่ก็พูดเก่งนะ ที่อื่นไม่ทราบ แต่ที่ปักษ์ใต้นี่เขาใช้คำถูกต้อง เขาพูดว่า นิมนต์พิจารณาเจ้าค่ะ ให้ไปพิจารณา ให้ไปพิจารณาซากศพ ไม่ใช่ไปพิจารณาผ้า แต่ว่า มือไปจับผ้า ตามันต้องดูศพไง ดูนานๆหน่อย ดูให้มันติดตา แล้วเอาไปดูที่กุฏิอีก ไปนั่งที่กุฏิก็หลับตาดูศพ ดูหัว ดูเต้า ดูตัวหนอนคลานยุ่บยั่บๆ ดูไปดูมา โอ้..มันปฏิกูลไม่น่ารักไม่น่าชม มันช่วยให้บรรเทากิเลส อุบายเขาทำอย่างนั้น
แต่เดี๋ยวนี้ไม่เปิดฝาให้ดูแล้ว ทันสมัยดึงสายสิญจน์มา ดึงมา ก็พิจารณาสายสิญจน์ก็เท่านั้นเอง มันไม่เกิดอะไร พิจารณาสายสิญจน์ไง ถ้าเราจะช่วยพระมันต้องเปิดฝาโลงให้พระดู เอาไปวางกลางแจ้ง วางดู นิมนต์มาดู ชุดละ ๔ องค์ ๕ องค์ ยืนรอบๆให้ดูนานๆ แล้วนิมนต์ก็ว่า นิมนต์พิจารณาเจ้าค่ะ อาตมาได้ยินตั้งแต่เป็นเด็กวัด เอ..พิจารณาอะไร ไม่รู้เหมือนกันว่าพระท่านว่าอะไร สมัยเด็กๆมันก็ไม่รู้ เห็นเขาทำกันอย่างนั้น แต่ก็ยังได้ประโยชน์เพราะว่าพระได้พิจารณาซากศพ การบังสุกุลคือการนิมนต์พระมาพิจารณาอสุภกรรมฐาน จะได้เห็นว่า ร่างกายนี้มันไม่สวยไม่งาม ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ เวลาไปเห็นของสวยของงามจะได้เกิดการเปรียบเทียบว่าเป็นอย่างนั้น จิตใจมันก็จะไม่วุ่นวายมากเกินไป ก็ทำอย่างนั้น
ในคำพิจารณาว่า อนิจจาวัตสังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ อุปปาทะวะยะธัมมิโน มีเกิดมีความเสื่อมเป็นธรรมดา เตสัง วูปสโม สุโข การสงบสังขารเป็นสุข (46.46 ไม่ยืนยันตัวสะกด) ไอ้คำหลังนี่สำคัญมาก ถ้าแปลผิดแล้วก็ยุ่ง เหมือนเจ้าหนุ่มคนหนึ่งมันเรียนจบ กสบ. มันแปลผิด มันแปลว่า ตายแล้วเป็นสุข มันหาเรื่องจะตายอยู่ตลอดเวลา หาเรื่องจะตายนะ แล้วก็ตายวางแผนด้วยนะ ประกาศว่าจะตายวันที่เท่านั้น เวลานั้น พวกญาติก็เลยจับส่งโรงพยาบาลศรีธัญญาไปเลย กลัวมันจะตาย แต่มันยึดในคำนี้มาก ออกไปแล้วมันก็ตายจนได้ ปืนของพ่อวางเผลอไว้ มันไปเจอเข้าก็คว้า เปรี้ยง เข้าให้ ตายไป ยิงตัวตาย นี่คือตายเพราะความโง่ ไม่ใช่ด้วยเรื่องอะไร
คนฆ่าตัวตายนี่พูดไปแล้ว มันโง่ทั้งนั้น ปัญญาอ่อนคนฆ่าตัวตาย ไม่ใช่ว่าพวกปัญญาแก่กล้าอะไร ถ้าว่าปัญญากล้ามันก็ไม่ฆ่าตัวตาย ตายทำไมมันยังไม่ถึงเวลา อยู่ไปก่อนทำประโยชน์ไปก่อน เรามีความรู้มีความสามารถ เราอยู่ทำประโยชน์ไปก่อน ตายแล้วได้ทำอะไร นอกจากเพิ่มงานให้สัปเหร่ออีกศพหนึ่งเท่านั้นเอง สัปเหร่อก็ได้ทำงาน ถ้าเป็นคนมีเกียรติก็พวกสนมในวังวิ่งกันว่อนต่อไป จัดโกฐบ้างอะไรบ้าง ว่ากันไปตามเรื่อง มันก็ได้เท่านั้นแหละ ตายแล้วมันก็ได้เท่านั้น อยู่ไปก่อนทำประโยชน์ไปก่อน เรายังมีโอกาสทำได้ วันนี้ทำไม่ได้ต้องรอโอกาสหน้ามันก็ทำได้สักวันหนึ่ง เรามีความคิดมีความอ่านยังพูดกันได้ ไปตายกันทำไม เขาเรียกคนปัญญาอ่อนทั้งนั้น คนฆ่าตัวตายนี่ปัญญาอ่อน ความจริงโง่กว่าสัตว์เดรัจฉานด้วยซ้ำไป ถ้าพูดให้หนักลงไปนั้น เพราะอะไรโยม เพราะหมามันไม่เคยฆ่าตัวตาย มีไหมในโลกนี้หมาฆ่าตัวตาย แมวหมาไม่เคยฆ่าตัวตาย วัวควายก็ไม่เคยฆ่าตัวตาย สัตว์เดรัจฉานนี้มันไม่เคยผูกคอตาย ไม่เคยยิงตัวตาย ไม่เคยวิ่งไปขวางทางรถไฟให้รถทับตาย มันวิ่งหางลิ่วไปเลย มันกลัวจะตาย มันไม่ฆ่าตัวตาย คนเราฆ่าตัวตายมันโง่กว่าสัตว์เดรัจฉานเท่านั้นเอง ไอ้คำพูดอย่างนี้ มันคือคนไม่ค่อยได้ฟัง ถ้าฟังซะบ้าง ก็แหม กูจะฆ่าตัวตาย เดี๋ยวเจ้าคุณปัญญาแกจะหาว่าโง่กว่าหมา กูไม่กล้าโว้ย กูต้องฉลาดกว่าหมาดีกว่า แล้วมันก็ไม่ฆ่าตัวตาย กัณฑ์นี้โยมซื้อแล้วก็ส่งๆไปให้คนมันที่เครียดๆ นะ ใครที่เครียดๆ คิดจะฆ่าตัวตายก็ซื้อส่งไปให้เป็นของขวัญ จะได้อ่านบ้างแล้วก็ไม่ต้องคิดฆ่าตัวตาย ละอายหมาก็แล้วกันให้คิดอย่างนั้น เรื่องนี้มันสำคัญเหมือนกัน พวกฆ่าตัวตายนี่คือเข้าใจผิดนั่นเอง
เช่นว่า เราไปในงานศพใด บางคนก็ว่า โอ้..ท่านสบายแล้วนะ สบายอะไร ตายแล้วมันจะสบายอะไร ความสุขความทุกข์มันเรื่องของคนเป็นไม่ใช่เรื่องของคนตาย แต่พูดไปอย่างนั้นเพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ เช่น ไปถึงบอกท่านสบายแล้ว พวกเราสิยังแย่กันเนี่ย ตายแล้วมันจะรู้สึกอะไร นอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืนไม่รู้สึกอะไร มันเป็นความสุขเมื่อเป็น เป็นความทุกข์เมื่อเป็น เป็นสุขเมื่อเรามีจิตใจรู้เท่าทันต่อสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง เป็นทุกข์เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ เข้าไปยึดถือติดพันในสิ่งนั้นๆ ไม่รู้ว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างไร ธรรมดามันเป็นอย่างไร เราไม่รู้ เราก็มีความทุกข์
เพราะฉะนั้นที่ว่า ระงับสังขารเป็นสุข เตสัง วูปสโม สุโข การสงบสังขารเป็นสุขเว้ย ยังมีคำว่าเว้ยอยู่ด้วยนะ ในบาลี ท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านชอบใช้ เว้ยๆ นี่ชอบใช้ เพราะว่าพูดแล้วมันชัดนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร เป็นสุขถาวร …… (50.44 เสียงไม่ชัดเจน) คือได้รับการปรุงแต่ง จิตไม่ปรุงแต่งเป็นกิเลส ไม่ปรุงแต่งเป็นความรักเป็นความชัง เป็นความโลภความโกรธความหลง ความริษยาพยาบาทอาฆาตจองเวร ใจมันสงบ อยู่ในสภาพเหมือนน้ำนิ่ง ไม่มีคลื่น น้ำนิ่งสงบ ถ้าเราไปอยู่หัวหินไปอยู่พัทยา เช้าๆ ลมมันนอนมันจะพัดมันไม่ตื่น น้ำนิ่งไม่กระเพื่อมเลย เขาเรียก ทะเลสงบ แต่ว่าพอสายขึ้นหน่อยลมมาแล้ว น้ำกระตุกๆจะเป็นคลื่นแล้ว ใจเราก็เหมือนกัน ถ้าเราควบคุมไว้ได้ มีสติปัญญาควบคุมจิตใจ ใจก็สงบเหมือนน้ำนิ่ง น้ำนิ่งเราสามารถมองเห็นอะไรชัด เช่นน้ำบ่อนิ่งไม่มีคลื่นเรามองเห็นก้นบ่อ แต่ถ้ากระเพื่อม มองไม่เห็น น้ำเดือดก็มองไม่เห็น น้ำขุ่นก็มองไม่เห็น น้ำมันต้องใสแล้วก็นิ่ง เราก็มองเห็น ใจเราก็เหมือนกันถ้ามันสงบนิ่ง เราสามารถจะน้อมไปเพื่อคิดอะไรง่าย เกิดปัญญาได้ง่าย ลักษณะมันเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นจิตของพระอรหันต์นี่คือ ไม่ถูกปรุงแต่งแล้วด้วยอารมณ์อะไรๆ ที่ไม่ถูกปรุงแต่งเพราะท่านรู้ชัดว่าไม่มีอะไรที่น่ารัก ไม่มีอะไรน่าเอา ไม่มีอะไรน่าจะเป็นต่อไป เท่านี้ก็พอแล้ว เป็นเท่านี้ก็เหลือเข็ญแล้ว ใจมันก็อยู่ในสงบ เป็นผู้ไกลจากกิเลส กิเลสไม่เข้ามา ไม่เข้ามาก็เพราะว่ามีสติเป็นเครื่องกั้นอยู่ตลอดเวลา ปัญญากั้นอยู่ตลอดเวลา อะไรเกิดขึ้นมองละลายไปเลย มองละลายไปเลย ละลายไปหมดเลย ไม่เห็นเป็นก้อนไม่เห็นเป็นตัวเป็นตน
มันผิดกับเราๆทั้งหลายที่เป็นปุถุชน เห็นอะไรเห็นเป็นก้อน เห็นคนเดินมาก็เห็นเป็นคนอยู่นั่นแหละ เห็นอะไรก็มันสวยมันงามมันน่ารักน่าชังอะไร มันเห็นไปอย่างนั้น เป็นก้อนเป็นกลุ่ม แต่ว่าพระอรหันต์ท่านเห็นมันละลายไปหมดเลย เห็นเป็นอนัตตาไปหมด แล้วเห็นเท่าเทียมกัน ผู้หญิงผู้ชายเห็นเท่าเทียมกัน คนแก่กับเด็กสาวเห็นเหมือนกัน อะไรมันเหมือนกันไม่มีความแตกต่าง ไม่เห็นเป็นสองเห็นเป็นเดียว เห็นเป็นอันเดียว เห็นเป็นเรื่องเดียว ไอ้เรานี่มันเห็นเป็นสอง พอเห็นเป็นสอง เกิดการเปรียบเทียบอันนี้สวย อันนี้ไม่สวย อันนี้อ้วน อันนี้ผอม อันนี้สูง อันนี้ต่ำ อันนี้มั่งมี อันนี้ยากจน โอ้ย..ยุ่งกันใหญ่ เปรียบเทียบให้มันวุ่นวายกันไปใหญ่โต จิตใจวุ่นวาย อรหันต์ท่านไม่มีการเปรียบเทียบ ท่านเห็นเป็นอันเดียว คือเห็นเป็นอนัตตาไปหมด ไม่สามารถจะรวมกลุ่มปรุงแต่งจิตใจของท่านได้ เรียกว่าเป็นผู้ไกลจากกิเลส พอไกลจากกิเลส ท่านก็เป็นผู้ควรที่จะได้รับการเคารพการบูชาของโลก ควรที่เราจะเข้าไปกราบไปไหว้ ควรที่จะสอนธรรมะแก่มหาชน เพราะสอนเรื่องใดท่านก็ทำเรื่องนั้นเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว ปฏิบัติเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว คำพูดของท่านก็มีน้ำหนักเพราะท่านพูดเหมือนกับที่ท่านทำอยู่ หรือว่าท่านทำเหมือนกับที่ท่านพูด พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ท่านก็ไม่พูด ควรแก่การเป็นครูเป็นอาจารย์
กงกรรมแห่งสังสารจักร ได้แก่ กิเลส กาม กรรมวิบาก สามเรื่องเป็นบ่วง เขียนเป็นวงกลม ก็ กิเลส ทำกรรม เกิดผล เกิดกิเลส ทำกรรม เกิดผล เกิดกิเลส นี่เขาเรียกว่า วงล้อแห่งสังสารจักร วงล้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ในเรื่องต่างๆ ทางจิตใจ มันเกิดมันเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เพราะเราไม่หักมันทิ้ง แต่พระอรหันต์ท่านหักมันพังไปแล้ว พังแล้วยังโยนไปเสียอีก ไม่เหลียวแลด้วยซ้ำไป เราบางทีนี่โยนไปแล้ว ตามไปเก็บกลับมาอีก สงบไปได้หน่อย เดี๋ยวมันจะไม่สบายมากไป ต้องให้มันครึกครื้นเสียหน่อยเลยหันไปหาความวุ่นวายต่อไป โยนแล้วทิ้งเอากลับมาอีก พระอรหันต์ท่านโยนแล้วท่านไม่เหลียวแล เหมือนคนโยนของหลับตาเหวี่ยงไปเลย ไม่รู้ตกตรงไหน ไอ้จะไปหามันก็ไม่ได้ พระอรหันต์ท่านหักทิ้งหมดแล้ว หักกิเลสหมดแล้ว หักกรรมหมดแล้ว วิบากมันก็ไม่มี แม้ทำอะไรก็ไม่เป็นกรรม พระอรหันต์นี่ทำกรรมไม่เป็นกรรม นี่แหละเขาเรียกว่า กรรมขาว เรานี่มันอยู่ในพวกกรรมดำ ของท่านกรรมไม่ดำไม่ขาวนี่พระอรหันต์ ไอ้ดำก็ไม่ใช่ไอ้ขาวก็ไม่ใช่ ไม่รู้จะเรียกอะไรเพียงสักแต่ว่ากระทำไปตามหน้าที่ แต่ไม่มีความยึดถือผลของการกระทำนั้น เรานี่ทำชั่วบ้างเป็นฝ่ายดำ เรานี่กรรมดีก็เป็นฝ่ายขาว พระอรหันต์นี่ท่านไม่ดำไม่ขาว ท่านไม่ยึดถือในการกระทำ ทำตามหน้าที่ ไปสอนตามหน้าที่ ทำงานตามหน้าที่ จิตเป็นสุขไม่มีเครียด ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาในชีวิตของท่าน นี่ชีวิตของพระอรหันต์เป็นอย่างนี้ เพราะท่านดับเพลิงกิเลสหมดแล้ว เพลิงทุกข์ก็หมดแล้ว ไม่เผาไม่ไหม้ต่อไป ใจเย็นใจสงบสุข จึงเรียกว่าเป็นผู้ควรแก่การเคารพสักการบูชา
ก็พอสมควรเวลาพอดี จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งทำใจให้สงบเป็นเวลา ๕ นาที นั่งตัวตรงหลับตาอยู่ในอาการสงบกายแล้วก็หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว เวลาหายใจเข้ากำหนดรู้ตามลมหายใจเข้า เวลาหายใจออกกำหนดรู้ตามลมหายใจออก มีสติควบคุมจิตไม่ให้คิดเรื่องอื่น คิดแต่เรื่องลมเข้าลมออกเป็นเวลา ๕ นาที
เอ้า ... ญาติโยมยืนขึ้นอยู่ในอาการสงบ วันนี้ ยืนๆ สงบ วันนี้..พรุ่งนี้เป็นวันที่คล้ายวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เราไม่ได้มาวัดพรุ่งนี้ วันนี้ได้มาพร้อมกันแล้ว ขอให้เราทุกคนทำใจให้สงบ อธิษฐานใจ อ้างคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นประธาน จงตามอภิบาลคุ้มครองรักษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นที่รักของชาวไทย เพราะพระองค์ได้ทรงกระทำกิจการต่างๆอันเป็นการสร้างประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า ขอให้พระองค์ทรงมีพระชนม์มายุยิ่งยืนนาน ปราศจากโรคาพยาธิภัยพิบัติ ทรงประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบเป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่ประชาชนพลเมืองในชาติ ขอให้พระองค์ได้สำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ